คอยรู้ทันความปรุงแต่ง

การปฏิบัติ ให้เราคอยรู้ทันความปรุงแต่งเอาไว้ จิตเรามันปรุงแต่งตลอดเวลา ปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงดี ปรุงชั่ว ถ้าเราไม่รู้เท่าทัน ความปรุงแต่งก็ครอบงำจิตใจเรา มันปรุงสุขขึ้นมา เราก็หลง ระเริง ปรุงทุกข์ขึ้นมา เราก็กลุ้มอกกลุ้มใจ เสียอกเสียใจ ปรุงกุศล คนไม่มีสติปัญญาพอ จิตปรุงดีขึ้นมาก็หลง หลงดี หลงดีก็ทุกข์อย่างคนดี จิตปรุงชั่วร้ายที่สุด มันปรุงโลภขึ้นมา เราไม่เห็น ปรุงทิฏฐิขึ้นมา ไม่เห็น ปรุงโกรธ ปรุงหลง

 

พอไม่รู้ทันความปรุงแต่ง จิตจะหลงในความปรุงแต่ง

พอเราไม่รู้ทันความปรุงแต่งที่เกิดขึ้นในใจเรา ความปรุงแต่งก็จะมีอำนาจเหนือจิตใจ มีความสุข เราก็เพลิดเพลินหลงระเริงไป มีความทุกข์ เราก็เศร้าโศกเสียอกเสียใจ มีกุศลเกิดขึ้นมา มัวเมา เคยได้ยินไหมพวกบ้าบุญ หลงบุญมากๆ มันก็ขวางปัญญาเหมือนกัน หลวงพ่อเห็นจำนวนมากเลย พวกเราตระเวนไหว้พระ 9 วัดอะไรอย่างนี้ ไม่ถึงพระสักวัดหนึ่ง ก็ไหว้ไปอย่างนั้นล่ะ บางทีไม่ได้ไหว้พระ เข้าไปไหว้เทวรูป ไหว้รูปปั้นต่างๆ ไหว้ตอไม้ก็ไหว้ ไหว้มันหมด อันนั้นโมหะ หลง ไม่รู้เหตุผล

ฉะนั้นจุดสำคัญ เราจะต้องคอยรู้เท่าทันความปรุงแต่งที่เกิดขึ้นในจิตใจเรา มันไม่ยากหรอก อย่างขณะนี้ใจเราสุขหรือใจเราทุกข์ ยากไหมที่จะรู้ ส่วนใหญ่พอมีความสุขมันก็เผลอเพลิน มีความทุกข์ก็มัวแต่เศร้าโศก หดหู่ ท้อแท้ แทนที่มีความสุขก็รู้ว่ามีความสุข เห็นว่าความสุขเป็นของที่แปลกปลอมผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านออกไป ความทุกข์เกิดขึ้นมาก็ไม่ต้องไปหดหู่ท้อแท้ ก็เห็นว่าความทุกข์ทั้งหลายผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เหมือนกันหมด จะสุขหรือจะทุกข์ก็คือมาแล้วก็ไป กุศลหรืออกุศลก็เหมือนกัน ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป

ฉะนั้นเราไปยึดกุศล อยากได้ อันนี้ก็หลงผิดแล้ว เห็นอกุศล เกลียดชัง อันนี้ก็หลงผิดแล้ว ให้รู้ทัน ความปรุงแต่งไป อะไรก็ได้ที่มันปรุงขึ้นมา มันมีทั้งวัน ถ้าเราไม่เห็นมันจะครอบงำใจเรา แล้วใจเราก็จะดิ้นไปตามอำนาจของความปรุงแต่ง อย่างมันปรุงสุขขึ้นมา เราก็จะดิ้น ชอบอกชอบใจ อยากให้มันอยู่นานๆ ความสุขหายไป ก็เศร้าโศกเสียใจ อยากให้มันกลับมา

อย่างบางคนมีแฟน แฟนทิ้ง ก็เศร้าโศกเสียใจ อยากให้แฟนกลับมา ถ้ามันยังไม่ตายมันอาจจะกลับมา บางคนมันจากแล้วตายจากกัน ไม่อยากให้เขาตาย อยากให้คืนกลับมา พอกลางคืน พอหมาหอน กลัวแล้ว ไปที่ชอบๆ เถอะ โห รักกันจะตาย สุดท้ายบอกให้ไปที่ชอบๆ เมื่อก่อนหลวงพ่อยังเคยนึกว่าถ้าเราตาย ใครมาบอกว่าให้เราไปที่ชอบๆ เราจะบอกเราชอบตรงนี้ล่ะ เราจะอยู่ตรงนี้ล่ะ เอาให้เข็ดเลย

ถ้าเราไม่รู้ทันความปรุงแต่ง จิตจะหลงในความปรุงแต่ง แล้วจิตเรามันจะยึดถือ ยึดถือจิตขึ้นมา ถ้ามีความปรุงแต่งเกิดขึ้น เรามีสติมีปัญญา จิตไม่เข้าไปยึดถือความปรุงแต่ง จิตก็ไม่เข้าไปยึดถือจิต

เมื่อก่อนเคยสงสัย ภาวนาแล้วบางทีจิตก็ปล่อยวางจิต พอปล่อยวางจิตแล้วมันก็หยิบฉวยจิตขึ้นมาอีก ทำอย่างไรหนอมันจะวางได้ถาวร ใจมันก็ปรุงแต่ง ปรุงแต่งว่าทำอย่างไรจิตใจจะปล่อยวางได้ ไม่ยึดถือกระทั่งจิตตัวเอง ทำอย่างไรๆ มันก็ไม่วาง ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ไป จิตเราไม่เป็นกลาง จิตเราอยากพ้นจากความปรุงแต่ง จิตเราอยากพ้นจากจิต อยากปล่อยวางจิต ที่จริงเราปล่อยวางจิตไม่ได้ เพราะเราหลงในความปรุงแต่ง ถ้าเราไม่หลงในความปรุงแต่ง จิตจะปล่อยวางจิต

ตรงนี้ไม่ได้พูดเอาเอง มันอยู่ในปฏิจจสมุปบาท แต่ไม่ภาวนาก็ไม่เข้าใจ ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ ตำราว่าอย่างนี้ เราก็นึกไม่ออกมันเป็นอย่างไร ภพก็คือความปรุงแต่งของจิตนั่นล่ะ ทันทีที่เกิดความปรุงแต่งก็เกิดชาติ คือการที่จิตหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยเฉพาะการหยิบฉวยจิตขึ้นมา มันได้มา ได้จิตมา แล้วทันทีที่มันไปหยิบฉวยจิตขึ้นมา มีชาติแล้วมีอะไรต่อไป มีทุกข์ นี่คือปฏิจจสมุปบาท

แต่เราไม่ได้เรียนแบบปริยัติ ปริยัติเขาจะไปท่อง ภพเป็นอย่างไร ภพมีกี่อย่าง มีกามภพ รูปภพ อรูปภพ ชาติคืออะไร ชาติคือความได้มาซึ่งอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทุกข์คืออะไร ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก การประสบกับสิ่งที่ไม่รัก ปรารถนาแล้วไม่สมปรารถนา ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ นี่คือทุกข์ นี่เรียนอย่างปริยัติ เรียนแล้วก็ไม่รู้จะไปทำอย่างไร คลำอย่างไรก็คลำไม่ถูกหรอก

 

เรียนปฏิจจสมุปบาทจากการปฏิบัติ

ถ้าเรียนอย่างการปฏิบัติ เราก็รู้ ภพมันคืออะไร ภพมันคือความปรุงแต่งของจิต ตัวนี้ถ้าปริยัติ เขาจะเรียกว่ากรรมภพ จิตมันทำงาน จิตมันปรุงขึ้นมา ทันทีที่จิตมันปรุงขึ้นมา จิตมันจะหยิบฉวยจิตทันทีเลย อันนี้ถ้าไม่ภาวนา เราจะไม่เห็นหรอกว่าการได้มาซึ่งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ การได้มาซึ่งจิต มันเป็นอย่างไร มันคือการที่จิตตะครุบเอาจิตขึ้นมา แล้วทันทีที่มันหยิบฉวยจิตขึ้นมา ความทุกข์ก็เกิดทันทีเลย ทำไมความทุกข์ถึงเกิดทันที ก็จิตนั่นล่ะคือตัวทุกข์ ไปหยิบมันขึ้นมา มันก็ทุกข์สิ เราภาวนา เราถึงจะเห็นปฏิจจสมุปบาท ไม่ใช่เรื่องพูดเล่นๆ แต่ละอันๆ แต่ละองค์ธรรมมีสภาวะทั้งสิ้น

ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ สังเกตไป เบื้องต้น ช่วงง่ายๆ ก็คือตรงที่มีผัสสะ คือมีตา มีรูป มีความรับรู้ทางตา มีองค์ประกอบ 3 อย่าง เรียกว่าผัสสะ คือการกระทบอารมณ์ จะกระทบอารมณ์ได้ ก็ต้องมีอายตนะภายนอก คือสิ่งที่ถูกกระทบ ตัวที่ไปกระทบก็อายตนะภายใน ตัวที่รับรู้การกระทบ รับรู้อารมณ์ คือตัวจิต มี 3 อันประกอบกัน เขาเรียกผัสสะ พอมีการกระทบอารมณ์ เราจะเห็นว่ามันจะเกิดเวทนาขึ้น สังเกตไหมสุขทุกข์มันก็ตามหลังการกระทบอารมณ์มา อย่างเรามองเห็นสิ่งนี้ แหม มันชอบใจ มันก็มีความสุขขึ้นมา เราได้ยินเรื่องนี้ไม่พอใจ มันก็มีความทุกข์ขึ้นมา อันนี้พูดแบบหยาบ ถ้าพูดละเอียด มันละเอียดกว่านี้อีกเยอะเลย พูดอย่างหยาบก็คือตาไปเห็นสิ่งที่ชอบใจก็เกิดความสุข หูได้ยินเสียงที่ไม่ชอบใจก็เกิดความทุกข์ ผัสสะทำให้เกิดเวทนา ในความเป็นจริงละเอียดกว่านั้นเยอะเลย

ขณะที่ตาเห็นรูป จิตไม่มีสุขมีทุกข์ ขณะที่เห็นจริงๆ จิตจะเป็นอุเบกขา ขณะที่หูได้ยินเสียง ก็สักแต่ได้ยิน ยังไม่ได้แปลความหมาย จิตยังเป็นอุเบกขา ขณะที่จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส จิตก็ยังเป็นอุเบกขาอยู่ ตรงที่กายกระทบสัมผัส เกิดสุขเกิดทุกข์ที่กาย แต่ยังไม่ได้เกิดสุขเกิดทุกข์ที่จิต มีขั้นตอนของมันอีก ก่อนที่จะเกิดเวทนาขึ้น มีกระบวนการ แต่พระพุทธเจ้าแสดงปฏิจจสมุปบาทเอาไว้อย่างย่อๆ แสดงละเอียดเกินไปเรียนยาก แล้วมันเกินความจำเป็น ท่านก็สอนแบบย่อๆ ง่ายๆ แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้สั้นอย่างนั้นหรอก กระบวนการแต่ละตัวๆ มีสภาวะรองรับทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องคิดเอา

อย่างพวกที่เรียนมากๆ คิดว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้เพราะท่านคิดปฏิจจสมุปบาท ถ้าคิดเอายังไม่ใช่ของจริง ท่านเห็น ชาติ ทุกข์มีเพราะมีชาติ ชาติมีเพราะมีภพ ภพมีเพราะมีอุปาทาน อุปาทานมี เพราะมีตัณหา ตัณหามีเพราะมีเวทนา มีเวทนา เวทนามีเพราะมีผัสสะ ท่านจะเห็น ท่านเห็น ไม่ใช่คิด ไม่ใช่ว่าบารมีมาก คิดเอาแล้วได้ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น ท่านบอกว่าสติปัฏฐานเป็นทางสายเดียวเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น เพราะฉะนั้นท่านก็เดินในสติปัฏฐาน

เราค่อยๆ เรียน สังเกตไป เอาแบบง่ายๆ ก็คือเวลาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเรากระทบอารมณ์ ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ เกิดขึ้นที่ร่างกายก็มี ถ้ามันกระทบทางกาย แต่ถ้ากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น มันไม่มีสุขทุกข์ที่ตา หู จมูก ลิ้น มันจะส่งสัญญาณ มันมีการส่งสัญญาณ พอกระทบทางตาอย่างนี้ กระทบปุ๊บ ในขณะนั้นจิตยังเป็นอุเบกขาอยู่ มันจะส่งสัญญาณเข้ามาที่จิตใจเรา แล้วก็มีการแปลความหมายสัญญาณภาพอันนั้น สัญญาณภาพเวลาส่งเข้ามาที่ใจเราเป็นภาพไหม ไม่ถามดีกว่าละเอียดไป มันส่งสัญญาณ เข้ามาที่ใจเรา อย่างอินเทอร์เน็ตมันส่งรูปมา มันส่งมาเป็นรูปไหม มันมามีการประมวลผล จิตนี้ก็เหมือนกัน มันส่งสัญญาณเข้ามา แล้วมันมีการประมวลผล มีการแปลความหมาย จิตมันทำงานอย่างนี้

เพราะฉะนั้นอย่างเทวดา เทวดาเขาจะคุยกับเรา หรือผีจะคุยกับเรา คนหลายประเทศ เทวดาไม่ใช่มีแต่คนไทยเมื่อไรล่ะ เขาพูดภาษาของเขา แต่ว่าสัญญาณคลื่นของจิตที่ส่งสัญญาณที่เขาพูดออกมา มากระทบกับจิตเราแล้วจิตเราแปลงสัญญาณนี้ออกมาเป็นภาษาของเรา ฉะนั้นเวลาพูดกับโอปปาติกะ เราก็พูดภาษาไทยล่ะ เขาก็พูดภาษาของเขาแล้วรู้เรื่อง จิตมันจูนได้ มันมีเครื่องแปล ฉะนั้นเวลาตา หู จมูก ลิ้น กายกระทบอารมณ์ มันจะส่งสัญญาณเข้ามาที่จิตอีกทีหนึ่ง ถ้า ตา หู จมูก ลิ้น กระทบ ขณะที่กระทบจิตเป็นอุเบกขา แล้วส่งสัญญาณเข้ามาเกิดการแปลความหมาย พอแปลความหมายคราวนี้ก็จะเกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศล อกุศลขึ้นที่จิตเรา

บางทีการกระทบที่ร่างกาย ร่างกายมีสุขมีทุกข์ แล้วก็ส่งสัญญาณเข้ามาที่ใจ ก็แปลความหมายต่อไปอีก อุ๊ย กูเจ็บ แปลงอย่างนี้ กูเจ็บขึ้นมา จิตใจหงุดหงิดเลย โทสะแทรกเลย นี่กระบวนการที่มันทำงาน ดูจากของจริง ไม่ใช่ไปท่องตำราแล้วก็ไม่รู้จักของจริง สู้กิเลสไม่ได้หรอก เมื่อวันพฤหัสบดีหลวงพ่อไปงานศพคนรู้จักกัน รุ่นพี่ที่ทำงานเก่าเคยมีอุปการคุณ เคยเลี้ยงข้าวหลวงพ่อ 2 – 3 ครั้ง เขาตาย เราก็ไปงานศพเขา ก็ไปเจอพี่อีกคนหนึ่ง เขาไปเรียนอภิธรรมมา แต่คนนี้ฉลาด เขาบอกเขาไปเรียนอภิธรรมมา กำลังจะได้ปริญญาแล้ว จะได้ประกาศนียบัตรแล้ว จบแต่เขารู้ว่านี่คือแผนที่ เขายังปฏิบัติไม่เป็น เขายังล้างกิเลสไม่ได้ อย่างนี้ฉลาด

ปริยัติมันก็เรียนเพื่อเป็นแค่แผนที่หรอก ต้องลงมือปฏิบัติจริงๆ ดูของจริง ปฏิบัติต้องดูของจริง ไม่ใช่คิดเอา ดูของจริง เวลาตาเห็นรูป มันมีการแปลความหมาย เฮ้ย หมาขี้เรื้อนกำลังวิ่งเข้ามา จิตก็เกิดปรุงแต่ง เกิดขยะแขยง จิตขยะแขยงปุ๊บ รู้สึกไหมมันจะดึงเข้ามาหาตัวเองทันทีเลย มันหวงแหน มันกลัวหมามาสีเรา หรือหมาบ้าวิ่งมา จิตมันกลัว มันจะมากัดเอา ตรงนั้นรู้สึกไหม มันมีเราแล้ว มันมีชาติเกิดขึ้นแล้ว มันหยิบฉวยเอาร่างกายมาเป็นตัวกูของกูแล้ว เพราะว่าชาติก็คือการหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พอเห็นหมาบ้ามา ใจกลัว ตรงนั้นความปรุงแต่งเกิดปุ๊บ ร่างกายของกู เดี๋ยวถูกหมากัด นี่กระบวนการที่มันทำงาน

ค่อยภาวนาเรื่อยๆ แล้วเราจะพบว่าเราไม่ได้ละความเป็นตัวตน ความเป็นตัวตนไม่เคยมีหรอก จิตเราปรุงขึ้นมาเป็นคราวๆ ตรงที่เราไปหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไปหยิบร่างกายขึ้นมา ก็กายของกู นี่ตาของกู หูของกู จมูก ลิ้นของกู ตัวที่แสบที่สุด ละยากที่สุด คือใจของกู จิตของกู ภาวนาก็ค่อยรู้ทันไปเรื่อย เห็นกระบวนการไป เห็นอย่างย่อๆ ก่อน แล้วต่อไปมันเห็นละเอียด ลึกซึ้ง ประณีตเป็นลำดับไป เห็นย่อๆ ก็คือ พอตาเราเห็น เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นที่จิต ย่อที่สุดแล้ว ตาเราเห็นผู้หญิงสวย เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นที่จิต จิตมันชอบ จริงๆ ก่อนจะมาถึงตรงนี้ ผ่านกระบวนการตั้งเยอะแยะที่เล่าให้ฟัง เห็นศัตรู จิตก็โกรธขึ้นมา เห็นไหม ตาเห็นรูป มีความเปลี่ยนแปลงที่จิต รู้ทัน เห็นรูปที่ถูกใจ จิตพอใจ เห็นรูปที่ไม่พอใจ จิตไม่ชอบใจ จิตมีโทสะ

เพราะฉะนั้นเวลาที่ตาเห็นรูป เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จิต ให้มีสติรู้ทัน หูได้ยินเสียง เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จิต ให้มีสติรู้ทัน มันก็เกิดอะไรที่จิต เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศล เกิดอกุศล คอยรู้อย่างนี้ ได้ยินเสียงเพลงนี้ เพลงนี้เพราะมาก ได้ยินแล้วมีความสุข รู้ว่ามีความสุข ไม่ใช่รู้ว่านักร้องชื่ออะไร มีความสุข รู้ว่ามีความสุข เพลงนี้ เคยชอบ เคยฟังกับแฟนเรา แต่แฟนเราตอนนี้ทิ้งเราไปแล้ว พอได้ยินแล้วเศร้าเลย เพลงเดิม ครั้งหนึ่งฟังแล้วมีความสุข ครั้งหลังฟังแล้วเศร้าเลย พวกอกหักชอบฟังเพลงเศร้าๆ รู้สึกไหม เออ เศร้าอย่างเดียวยังไม่พอ ยังขยายความเศร้าให้มันยืดเยื้อออกไปอีก รู้สึกแสบๆ เจ็บๆ อยู่แล้วสะใจตัวเอง อย่างนี้เรียกว่ามาโซคิสม์ สะใจ เจ็บ เจ็บแล้วสะใจ

 

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์แล้ว
มีอะไรเปลี่ยนแปลงที่จิตใจตัวเอง ให้รู้ทัน

อ่านจิตตัวเองไปเรื่อยๆ ตาเห็นรูป เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นที่จิตให้มีสติรู้ทัน หูได้ยินเสียง เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นที่จิต ให้มีสติรู้ทัน จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นที่จิต ให้มีสติรู้ทัน ใจกระทบอารมณ์ กระทบธรรมารมณ์ อย่างใจเราคิดขึ้นมา อยู่ๆ มันคิดขึ้นมา แต่ก่อนที่มันจะคิดรู้เรื่อง มันก็มีกระบวนการเยอะแยะ ก่อนที่จะคิดแล้วรู้ว่าคิดเรื่องอะไร แต่เอาย่อๆ

พอใจเราคิด คิดเรื่องนี้มีความสุขขึ้นมาอย่างนี้ คิดเรื่องนี้มีความทุกข์ คิดเรื่องนี้จิตเป็นกุศล คิดเรื่องนี้จิตเป็นอกุศล โลภ โกรธ หลง มันจะเกิดอะไรก็ไม่สำคัญหรอก สำคัญที่ว่ามันเกิดอะไรแล้วเรารู้ เพราะฉะนั้นใจกระทบธรรมารมณ์ เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จิต มีสติรู้ทัน จับหลักตัวนี้ให้แม่นๆ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ คือกระทบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์คืออารมณ์ที่รู้ด้วยใจ เมื่อตากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์แล้ว เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ ขึ้นที่จิต ให้มีสติรู้ทัน นั่นล่ะความปรุงแต่งมันเกิดขึ้นแล้ว มันจะเริ่มดิ้นรนปรุงแต่งไป ให้เรารู้ทัน

ถ้ารู้ไม่ทัน จิตจะหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา มันหยิบทีละอัน มันไม่ได้หยิบทีละ 6 อัน มันไม่ได้มี 6 มือ หยิบตัวไหนขึ้นมา ตัวนั้นก็เป็นเรา ส่วนใหญ่ก็คือกายกับใจที่จะมองได้ นี่ตัวกู จิตใจก็คือกูเหมือนกัน รู้สึกไหม เรามีกู 2 ตัวซ้อนกันอยู่ นี่กูข้างนอก จิตใจเราเป็นกูข้างใน อันนี้เกิดจากจิตเข้าไปหยิบฉวย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมาทั้งสิ้นเลย หยิบฉวยขึ้นมาได้เพราะว่ามีความปรุงแต่งเกิดขึ้น แล้วเราไม่รู้ทัน เราก็เลยหลงกลไปคว้าเอาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา

แต่ภาวนานานกว่าจะเห็นการหยิบฉวยอายตนะขึ้นมาได้ ฉะนั้นการจะเห็นชาติไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ไม่ใช่โมเม ตอนนี้เป็นภพมนุษย์ มีชาติ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พูดง่าย แต่เห็นไหม มันไม่เห็น ไม่เห็นมันล้างกิเลสไม่ได้ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ พยายามฝึก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์แล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่จิต ให้มีสติรู้ทันไว้ รู้ไปทุกวันๆ หัดแรกๆ ก็นานๆ จะรู้ ไม่ค่อยรู้เร็วหรอก แต่หัดรู้บ่อยๆ กระทบแล้วรู้ๆ บ่อยๆ ต่อไปไม่เจตนาจะรู้ก็รู้ได้เอง จิตมันจะเร็วมากเลย สติมันไว ทีแรกกระทบไปตั้งนานแล้ว

อย่างเห็นสาวสวยเดินมา โห ชอบจังเลย มัวแต่ดูสาวตั้งนาน ถ้าเป็นคนไม่เคยปฏิบัติ มันก็ดูแต่สาวล่ะ แล้วก็เกิดอยากได้ เกิดอะไรต่ออะไรวุ่นวายมากมาย ก็ทะเลาะกับคนอื่น แย่งกัน อย่างแต่ก่อน ก่อนหลวงพ่อบวช มันมีสาวรำวง หลวงพ่อไม่เคยไปรำวง ไม่ชอบหรอก แต่รู้ว่ามันมีสาวรำวง เดี๋ยวนี้มีหรือเปล่าไม่รู้ เมื่อก่อนตามงานวัดจะมีสาวรำวง ทำไมมันไปรำในวัด ความผิดของวัดล่ะ ดันไปให้เขารำในวัด แล้วมันก็จะต้องมีการตีกันในวัด แย่งสาวรำวง ทำไมมันต้องแย่งกัน เพราะมันไม่เห็นจิตตัวเอง ถ้ามันเห็นจิตตัวเอง เห็นผู้หญิงคนนี้ชอบ รู้ว่าชอบ จบแล้ว ไม่ไปเป็นหมาบ้าไล่กัดกับใครเขาหรอก เคยเห็นหมาตัวผู้ไหม มันกัดแย่งตัวเมียเคยเห็นไหม อันนั้นมันไม่มีสติ มันอ่านจิตตัวเองไม่ออก

เพราะฉะนั้นอย่าทำแบบนั้น ทำให้มันสูงกว่านั้น ฉะนั้นตาเห็นรูป จิตเราเกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศล เกิดอกุศล รู้ทัน ถ้ารู้ไม่ทัน สิ่งเหล่านี้คือความปรุงแต่ง มันจะครอบงำจิตใจเรา ถ้าถูกครอบงำเมื่อไร มันก็มีตัวกูขึ้นมาทันทีเลย ทั้งๆ ที่เราไม่ต้องไปละตัวกู เราละความโง่ของเราเท่านั้น มันไม่มีตัวกูให้ละหรอก ตาเห็นรูป จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบอารมณ์ทางใจ เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่จิต ให้มีสติรู้ทัน ฝึกอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกไป หัดทีแรกก็นานๆ จะรู้ได้ทีหนึ่ง หัดไปเรื่อยๆ ก็รู้ได้เร็วขึ้น ๆ ต่อไปความไหวตัวของจิตนิดเดียวก็เห็นแล้ว

เมื่อเช้าก็มีทิด 2 คนมาส่งการบ้าน พวกทิดคือไม่ใช่ทิดวัดอื่น หมายถึงพวกที่เคยเรียน เคยบวชที่นี่ หลวงพ่อไม่มีเวลาช่วงอื่น ก่อนหลวงพ่อจะฉันข้าว ช่วงพระอาจารย์อ๊าตักข้าวให้หลวงพ่อ มีเวลาอยู่สัก 20 นาที หลวงพ่อก็ให้พวกที่เคยเรียนกับหลวงพ่อมาส่งการบ้าน เมื่อเช้าก็มีอยู่คนหนึ่ง บอกเขาเห็นในอกของเขามันไหวอยู่ตลอดเวลา แล้วก็มีตัณหาเสียดแทงพุ่งขึ้นมา เห็นความไหว มันเห็นแต่ทุกข์ ทำอย่างไรดี ไหวๆ อย่างนี้ก็คือสังขาร คือความปรุง คือภพ แล้วแต่จะเรียกชื่อ ภพนี้ไหวๆๆ วัฏฏะหมุนอยู่กลางอก เห็นแต่ทุกข์ ทำอย่างไรจะพ้นมันไปได้เสียที

เห็นไหมคำถามนี้ คำถามนี้สะท้อนอะไรรู้ไหม เห็นสภาวะที่ไหวๆ เห็นทั้งวันทั้งคืนแล้วรำคาญเต็มที ทำอย่างไรจะพ้นมันไปได้เสียที ประโยคนี้ก็บอกอยู่แล้วว่ามีโทสะ เพราะฉะนั้นทำอะไร มันไหวๆ ขึ้นมา จิตมีโทสะ รู้ว่ามีโทสะ แล้วถ้ามันเหนื่อย เห็นทั้งวันทั้งคืนแล้วมันเหนื่อย เหนื่อยแล้วทำอย่างไร เหนื่อยแล้วก็พักสิ วิธีพักของนักปฏิบัติก็คือทำสมาธิ ทำความสงบเข้ามา เพราะฉะนั้นไม่ใช่พวกเราไม่รู้ อย่างทิดนี้เขาก็รู้ บอกไหวๆ แล้วมันทุกข์ แต่มันคล้ายๆ ผงเข้าตา โทสะเกิดแล้ว ไม่เห็นว่ามีโทสะ หรือรู้หลักที่หลวงพ่อสอนว่าถ้าจิตมันเหนื่อย ให้ทำความสงบเข้ามา พอเผชิญหน้ากับปัญหาจริงๆ มันลืมตำรา มันจะต้องคลำอย่างโน้นคลำอย่างนี้ ลองผิดลองถูกเป็นทุกคน หลวงพ่อก็เป็นแต่ก่อนนี้ แทนที่จะรู้ซื่อๆ ครูบาอาจารย์บอกรู้ซื่อๆ เรารู้ไม่ซื่อซักทีเลย เพราะมันรู้ซื่อๆ ไม่ได้ มันทนไม่ได้

คนที่หนึ่ง จิตมันปรุง โอ๊ย มันทุกข์ทั้งนั้นเลย ทำอย่างไรจะพ้นมันไปได้ มีโทสะแล้วไม่เห็น แล้วมันเหนื่อยเต็มทีแล้วทำอย่างไร ควรจะทำสมถะแล้วไม่ทำ คำตอบเห็นไหมไม่ยากหรอก เพราะฉะนั้นถ้าภาวนาจริงๆ แล้วหัดสังเกตตัวเองจริงๆ รู้ทันกิเลส รู้ทันความปรุงแต่งของตัวเองจริงๆ แทบจะไม่ต้องถามครูบาอาจารย์

 

ธรรมะฟังแล้วต้องทำ ถ้าไม่ทำไม่มีวันเข้าใจ

พวกถามมาก เมื่อเช้าหลวงพ่อเจอ บอกว่าคนส่งการบ้านเยอะ ส่งซ้ำๆ แล้วไม่ค่อยทำ ส่งไปอย่างนั้นล่ะ ถึงเดือนก็มาส่งอีกแล้ว แล้วก็ยังมีหน้ามาบอกว่ายังไม่ได้ทำเลยของเก่า หลวงพ่อก็เลยบอกก็ไล่ไปเลย เกะกะ ถ้ายังไม่ทำก็ไม่ต้องมาส่ง ไม่มีการบ้านแล้วจะมาส่งอะไร เอาการบ้านเก่ามาส่งเสียเวลา เพราะฉะนั้นเราพยายามฝึกตัวเอง ฝึกไป

มีทิดอีกคนหนึ่ง มีอยู่ 2 คน คนหนึ่งมองไม่ออกว่าจะทำอย่างไรดี ทั้งๆ ที่รู้ตำรา อีกคนหนึ่ง ภาวนาเฉียบมากเลย จิตตั้งมั่นเด่นดวงดี ไม่ต้องประคองไม่ต้องรักษาจิต ทรงตัว ขันธ์แตกกระจายออกไปหมดแล้ว แล้วก็เห็นแต่สภาวะทั้งหลายผ่านมาผ่านไปๆ จิตรู้สึกว่าหาสาระแก่นสารอะไรไม่ได้เลย มีแต่ทุกข์ มีแต่โทษ น่าเบื่อ ใจมันเบื่อ ใจมันเบื่อหน่าย ใจมันห่อเหี่ยวแบบไม่มีอะไรที่เร้าใจ ให้น่าสนใจเลย

หลวงพ่อบอกว่าภาวนาดี มันถึงมาเห็นตรงนี้ ตรงที่เห็นว่าสภาวะทุกสิ่งทุกอย่างเอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ บกพร่อง มันก็เป็นญาณอันหนึ่ง อาทีนวญาณ เห็นมันน่าเบื่อ อันนั้นชื่อนิพพิทาญาณ เห็นว่ามันเป็นที่พึ่งอาศัยไม่ได้ มันไม่มีความปลอดภัยเลยในสังสารวัฏนี้ อันนั้นเรียกว่าภยตูปัฏฐานญาณ ญาณ 3 ตัวนี้เกิดจากการทำวิปัสสนาที่ถูกต้อง ดูไปเรื่อยๆ แล้วมันจะเกิดวิปัสสนูปกิเลสช่วงหนึ่ง เพิ่มสมาธิเข้าไปแล้วจิตจะก้าวมาสู่ตรงนี้ได้ ฉะนั้นภาวนาแล้วบางทีโลกนี้แห้งแล้งเลย จืดสนิทเลย เมื่อก่อนหลวงพ่อเป็น มีอยู่ช่วงหนึ่ง โห โลกนี้จืดสนิทเลย ไม่มีอะไรเลย แห้งแล้ง รู้สึกว่าเอาอะไรเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้เลย จิตอยากจะพ้นจากตรงนี้ไป แล้วก็พ้นไม่ได้ มันคล้ายๆ เราเห็นแล้ว จิตใจเรามันมีแต่ทุกข์ มีแต่ของน่าเบื่อ เราอยากจะพ้นไป มันพ้นไม่ได้ ร่างกายนี้ก็มีแต่ทุกข์ มีแต่ความน่าเบื่อ อยากพ้นจากกาย มันก็ยังพ้นไม่ได้ เพราะเรายังมีขันธ์อยู่

มันเป็นกระบวนการพัฒนาการทางปัญญา จะเห็น แล้วทำอย่างไรดี เห็นไหมใจกำลังดิ้นขลุกขลัก ทำอย่างไรจะพ้นจากโลกอย่างนี้ อันนั้นอยากพ้นออกไป เป็นญาณอีกตัวหนึ่ง จำชื่อไม่ได้ เมื่อกี้จำได้ ตอนนี้ลืมแล้ว ช่างมัน อยากพ้นออกไปก็หาทาง ทำอย่างไรจะพ้นๆๆ ในหัวสมองเต็มไปด้วยคำว่า จะทำอย่างไรๆๆ แล้วทำอะไรก็ไม่พ้นหรอก เพราะอะไร จะพ้นอะไรกับกาย กายนี้อย่างไรก็อยู่ จะพ้นอย่างไรกับจิตล่ะ เข้าฌานไปอยู่ในพรหมโลก จิตมันก็ยังไปอยู่ด้วย มันพ้นไม่ได้ พอสติปัญญาแก่รอบขึ้น ใจค่อยยอมรับความจริงได้ มันมีเหตุมันก็มี มันหมดเหตุมันก็ดับ นี่มันเห็นไตรลักษณ์ สิ่งทั้งหลายมีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ เห็นซ้ำๆ ใจก็ปล่อยวาง

เห็นไหมพวกทิดที่มาเรียน พวกนี้เรียนเป็นปีๆ หลายปีแล้วกว่าจะก้าวมาถึงจุดนี้ มีเด็กอีกคน ทิดอีกคนหนึ่ง มานั่งปรับกล้องอยู่นี่ล่ะ ปรับแล้วปรับอีกๆ อยู่นั่น อันนี้จิตตั้งมั่นเด่นดวงอยู่ โดยไม่ต้องรักษาแล้ว ตัวอย่างของคนซึ่งภาวนาแล้วมีผล พวกนี้ยังไม่ถึงมรรคผลหรอก แต่ก้าวไปในเส้นทางของวิปัสสนาญาณ เข้มแข็ง บางคนถึงขนาดว่าจิตมันเป็นกลางแล้ว เป็นกลางต่อสุขต่อทุกข์ ต่อดีต่อชั่ว มันเดินวิปัสสนาเต็มที่ มันผ่านวิบาก 3 ตัวนั้นมา ตัววุ่นวาย 3 ตัวนั้นมา

ทำไมเขามาได้ เขาอดทนๆ ฟังแล้วทำ ไม่ใช่ฟังแล้วก็อีกเดือนหนึ่งมาฟังอีก เดือนหน้าก็มาฟังอีกแล้วก็ไม่เอาไปทำ แล้วมันจะดีได้อย่างไร ฉะนั้นธรรมะ ธรรมกับทำ ต้องทำ ออกเสียงเดียวกัน ธรรม – ทำ คนไทยออกเสียงเดียวกัน แต่แขกออกเสียงไม่เหมือนกัน ตัว ธ. ธง กับ ท. ทหาร เสียงไม่เหมือนกันหรอก แต่เราออกเสียงอย่างแขกไม่ได้ เพราะฉะนั้นธรรมะฟังแล้วต้องทำ ถ้าไม่ทำไม่มีวันเข้าใจหรอก

เหมือนพี่อีกคนที่หลวงพ่อเล่า เขาบอกเขาเรียนปริยัติจบแล้ว แต่เขารู้ว่านี่คือแผนที่ เขายังไม่ได้ลงมือปฏิบัติเลย เขาถามว่าจะลงมือปฏิบัติอย่างไร จะปฏิบัติได้ จิตเธอต้องตั้งมั่น มิฉะนั้นเดินปัญญาไม่ได้ เรียนมาแล้ว สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ท่องได้ แต่สัมมาสมาธิเป็นอย่างไรไม่รู้ แล้วมันจะได้มรรคผลอะไร รู้ชื่อสภาวะแต่ละตัวรู้หมดเลย มีอะไรเป็นปัจจัย เป็นปัจจัยชนิดไหน ในปัจจัยทั้งหมดจะเป็นตัวไหนๆ รู้หมดเลย สภาวะหนึ่งมีปัจจัยหลายตัว ไม่ใช่ปัจจัยตัวเดียวส่งมา รู้หมด แต่ไม่เคยเห็นสักตัวหนึ่ง เรียกว่ามีแผนที่แต่เดินไม่เป็น เดินทางไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องทำ

สรุปวันนี้ที่สอนก็คือฟังธรรมะแล้วต้องเอาไปปฏิบัติเอา ปฏิบัติอย่างง่ายที่สุดก็คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์แล้ว เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นที่จิต ให้มีสติรู้ทันไว้ ตาเห็นรูป จิตเกิดสุขเกิดทุกข์ เกิดกุศลอกุศล รู้ทัน หูได้ยินเสียง ไม่ใช่มัวแต่ได้ยินเสียง หูได้ยินเสียงแล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงที่จิต เกิดสุขเกิดทุกข์ เกิดกุศลอกุศล ให้มีสติรู้ทัน จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส จิตใจเกิดความเปลี่ยนแปลง เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศล อกุศล ให้มีสติรู้ทัน

จิตกระทบความคิด ธรรมารมณ์ที่เรารู้จักส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่จิต มันคิดเอา พอจิตกระทบธรรมารมณ์ เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นที่จิต อย่างเราคิดถึงคนนี้ขึ้นมา โทสะเกิด พอคิดถึงคนนี้ขึ้นมา ราคะเกิด คิดถึงสิ่งนี้มีความสุข คิดถึงสิ่งนี้มีความทุกข์ พอใจเรากระทบความคิด เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จิต เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศล เกิดอกุศล ให้มีสติรู้ทัน ไปทำเท่านี้ล่ะ ไปทำแค่นี้

 

 

จำได้ไหมที่สอนเยอะแยะ สรุปออกมา สอนตรงนี้ ให้ทำตรงนี้ เวลาลงมือทำก็คือเวลาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์แล้ว มีอะไรเปลี่ยนแปลงที่จิตใจตัวเอง ให้รู้ทัน ถ้ารู้ไม่ทัน จิตจะเข้าไปยึดถือแล้วความทุกข์มันจะเกิดทางใจ อันนั้นไม่ต้องคิดถึง เดี๋ยววันหลังก็เข้าใจเอง

ปฏิจจสมุปบาทลึกซึ้งนัก เราภาวนาแล้วเราจะอัศจรรย์ในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า อัศจรรย์จริงๆ เลยว่าท่านพ้นมาได้อย่างไรหนอ มันลึกเหลือเกิน มันประณีตเหลือเกิน แต่เราทำเริ่มต้นอย่างที่หลวงพ่อบอก วันหนึ่งเราก็จะแจ้ง รู้แจ้งแทงตลอดปฏิจจสมุปบาทได้ ล้างอวิชชาได้ อาสวะห่อหุ้มจิตไม่ได้ ชีวิตเข้าถึงความสงบสุขที่แท้จริง โลกนี้ว่าง ขันธ์ 5 ก็ว่าง จิตก็ว่าง มันไม่มีที่ตั้งของความทุกข์ ในว่างมันเป็นความบรมสุข เพราะไร้เครื่องเสียดแทง สุขในโลกมีความเสียดแทงแทรกอยู่เสมอ

มีโอกาสได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้วอย่าขี้เกียจ อย่าเอาแต่ฟัง ลงมือทำให้ได้ ถ้าหลวงพ่อนิสัยเหมือนพวกเราส่วนใหญ่ ป่านนี้หลวงพ่อก็ไม่ได้เรื่องเหมือนเดิม หลวงพ่อฟังหลวงปู่ดูลย์ ท่านบอกว่า “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” อ่านจิตตนเองก็คือสิ่งที่หลวงพ่อบอกเรานี่ล่ะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์แล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงที่จิตมีสติรู้ทันไป ใช้เวลาไม่มากที่จะเข้าใจจิตใจตัวเอง วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
10 มีนาคม 2567