วิธีปล่อยวาง

เจริญพรทุกคน ปีนี้หมดไปจะเข้าเดือนที่สามแล้ว หนึ่งในสี่ของปี เร็วมากวันหนึ่งๆ เราเผลอแวบหนึ่งก็ผ่านไปปีหนึ่งๆ หมดไปเรื่อยๆ ถ้าเราไม่ได้ปฏิบัติก็น่าเสียดายเวลา หมดแล้วหมดเลย

เราเป็นชาวพุทธ เป็นแต่ชื่อไม่ได้ เราต้องรู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร คำสอนที่พระพุทธเจ้าท่านสอนมันเยอะแยะไปหมด เป็นพระไตรปิฎกก็ตู้หนึ่ง บางทีเราก็จับประเด็นไม่ชัดว่าท่านสอนอะไรแน่ ส่วนใหญ่ก็จะกรุ๊ปว่าท่านสอนบอก อย่าทำชั่ว ทำความดี ทำจิตให้ผ่องแผ้ว อันนี้ก็แยกเป็น 3 อย่าง มีเรื่องต้องทำ 3 อย่าง เคยมีคนถามพระพุทธเจ้าว่า ท่านสามารถสรุปคำสอนของท่านทั้งหมดในประโยคเดียวได้ไหม ท่านบอกได้ ประโยคเดียวก็คือ “ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น” นี่เป็นหัวใจแท้ๆ เลย เป็นแก่นแท้ๆ ของคำสอนของพระพุทธเจ้า

ส่วนเรื่องทำทานถือศีลอะไรนี่เป็นรายละเอียดแล้ว นั่งสมาธิอย่างไร ทำจิตตั้งมั่นอย่างไร มันเป็นรายละเอียด หรือเจริญปัญญา ทำวิปัสสนากรรมฐานอย่างไร แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน อย่างสมถะแต่ละคนก็ทำด้วยวิธีแตกต่างกัน ทางใครทางมัน วิปัสสนาก็แต่ละคนถนัดไม่เหมือนกัน

อย่างหลวงพ่อถนัดสมถะ หลวงพ่อถนัดอานาปานสติบวกกับพุทโธ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ในขั้นเจริญปัญญา ทำวิปัสสนา หลวงพ่อใช้การดูนามธรรม มันไม่ใช่แค่การดูจิต มันครอบคลุมถึงเวทนา คือความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ครอบคลุมถึงสังขาร ความปรุงดีปรุงชั่ว ครอบคลุมถึงจิต เป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ คือจะครอบคลุมสติปัฏฐาน 3 หมวด เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หลวงพ่อทำแบบนี้ แต่ละคนไม่เหมือนกัน

บางคนพยายามจะดูจิต ดูอย่างไรก็ดูไม่รู้เรื่อง ดูไม่เห็น ก็เข้าใจผิด จิตไม่มีรูปร่าง ไม่มีตัวตน มันเป็นอรูป แล้วเราจะไปเห็นมัน เห็นไม่ได้ เราแค่รู้สึกถึงความมีอยู่ของมัน ถ้าเราอ่านจิตใจตัวเองไม่ออก เราก็รู้สึกกายไปก่อน หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนหลวงพ่อว่าให้อ่านจิตตนเอง ไม่ได้ไปดูว่ามันเป็นตัวเป็นตนอะไรขึ้นมา เป็นแสงเป็นสี ไม่ใช่จิตหรอก มันเป็นนิมิต จิตไม่มีรูปร่างแสงสีอะไรทั้งสิ้น

 

ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

เพราะฉะนั้นวิธีปฏิบัติของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แล้วความรู้ความเข้าใจธรรมะก็แตกต่างกัน เรารู้ไม่ทั่วถึงคำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้า ถ้าเราศึกษาว่าสรุปเลยที่พระพุทธเจ้าสอน ใจความทั้งหมดก็คือธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น “สัพเพธัมมานาลัง อภินิเวสายะ” ครูบาอาจารย์ที่ค้นคว้าเรื่องนี้ขึ้นมาพูดองค์แรกคือท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านเก่ง ไม่ใช่ธรรมดา หลวงพ่อก็เคยไปกราบท่านหลายครั้ง

มีครั้งหนึ่งจะไปหาเรื่องท่าน เพราะว่าเราภาวนา อ่านหนังสือท่าน อ่าน โน่นก็ไม่ยึด นี่ก็ไม่ยึด เราก็เลย โอ้ ธรรมะ ง่ายจังเลย ไม่ยึดสักอย่าง โน่นก็ไม่ยึด นี่ก็ไม่ยึด อดีตก็ไม่มี อนาคตก็ไม่เอา ตายแล้วเทวดาก็ไม่มี ผีก็ไม่มี นรกก็ไม่มี สวรรค์ก็ไม่มี ถ้าเราไม่ยึดเราไม่มีอะไรสักอย่าง ตอนนั้นอ่านหนังสือท่านอาจารย์พุทธทาสเยอะ ชอบธรรมะของท่าน ถูกอกถูกใจ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรถือมั่น เราเตลิดไปถึงขนาดโลกนี้โลกหน้าไม่มี สัตว์ต่างๆ ในภพภูมิต่างๆ ไม่มี เป็นมิจฉาทิฏฐิ

ตอนนั้นยังไม่เจอหลวงปู่ดูลย์ ทำได้แต่สมาธิ แต่เห็นเทวดาเห็นผี เราก็ เออ… นิมิต เราไม่สนใจ ไม่ยึด วันหนึ่งไปเจออาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ องค์นี้ท่านเก่ง ท่านแต่ง ย่อพระไตรปิฎกสำหรับประชาชน อันนี้เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่หลวงพ่อแนะนำให้พวกเราชาวพุทธทุกคนควรจะอ่าน ใครเคยอ่านยกมือให้ดูสิ พระไตรปิฎกสำหรับประชาชน เคยไหม ยกสูงๆ เลย ส่วนใหญ่ยังไม่ได้เคยอ่าน ไม่เคยอ่าน ไปดูในอินเทอร์เน็ตก็มี ไม่เสียตังค์หรอก ดูฟรี ลองไปอ่านดูคำสอนของพระพุทธเจ้า

ตอนนั้นหลวงพ่อเมาคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาส อะไรๆ ก็ไม่มี ว่างไปหมด เอาความว่าง อาจารย์สุชีพท่านบอกว่ามันเป็นมิจฉาทิฏฐิ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น เราตีความคำสอนของท่านพุทธทาสผิด ไม่ใช่ท่านสอนผิด แต่เราอ่านแล้วเรามันโง่ เราตีความคำสอนของท่านผิด อาจารย์สุชีพท่านก็ยกบาลีให้ฟัง ท่านเก่ง ท่านจำพระไตรปิฎกได้มากมาย ท่านก็ยกภาษาบาลีแล้วก็แปลภาษาไทย ยกบาลีแล้วก็แปลภาษาไทย บอกพระพุทธเจ้าท่านก็สอนเรื่องชาตินี้ชาติหน้ามี ไม่ใช่ไม่มี เทวดามี ผีมี แล้วก็สอนการปฏิบัติ ไม่ใช่ไม่ต้องทำอะไรเลย ปล่อยวางไปเฉยๆ

หลวงพ่อฟังอาจารย์สุชีพ พอเข้าใจ ทำไมอาจารย์พุทธทาสสอนอย่างนี้ สอนแล้วเรากลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ คิดอย่างนี้ พอดีไปสัมมนาแถวสุราษฎร์ฯ แถวไชยา เลยเข้าไปกราบท่าน ก็ไปถามท่านว่า “ท่านอาจารย์ครับ ท่านอาจารย์สอนว่าตายแล้วสูญหรือ” ไม่ได้ไปด่าท่าน ไปถามก่อน ท่านบอก “คุณเห็นเราเป็นมิจฉาทิฏฐิหรือ” ท่านพูดอย่างนี้ เราก็ โอ๊ย เราโง่เอง ครูบาอาจารย์ไม่ได้สอนอย่างนี้ ความที่เราอ่านแล้วเราแปลความหมายผิดกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่ใช่ท่านสอนผิด

หลวงพ่อเลยถามท่านต่อบอก “ท่านอาจารย์ครับ ถ้าผมอ่านหนังสือทุกเล่มของท่านอาจารย์ ผมจะได้โสดาบันไหม” ตอนนั้นยังไม่เจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านตอบชัดเจน “ไม่ได้หรอก” อ่านทั้งหมดที่ท่านเขียนมากมายมหาศาล อ่านทั้งหมดจะได้โสดาบันไหม ท่านบอกไม่ได้หรอก ต้องปฏิบัติเอา เพราะฉะนั้นท่านไม่ธรรมดา ตอนภาวนาเป็นถึงได้รู้ว่าท่านภาวนาดี ไม่ใช่ท่านภาวนาไม่เป็น

ตรงคำสอนของท่านที่ว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ไม่ใช่คิดเอาเองว่า โน่นก็ไม่ยึด นี่ก็ไม่ยึด อันนั้นเรากำลังยึดทฤษฎี ยึดทิฏฐิว่าอะไรๆ เราก็ไม่ยึด ก็คือยึดความเห็นว่าจะไม่ยึดนั่นล่ะ มันก็ยังยึดอยู่ ทีนี้ทำอย่างไรเราจะเข้าใจคำว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น เราต้องปฏิบัติ อ่านหนังสือไม่มีทางเข้าใจ ท่านพุทธทาสท่านยังบอกเลยว่า อ่านหนังสือของท่านทุกเล่มก็ไม่เข้าใจหรอก ธรรมะต้องปฏิบัติเอา ท่านพูดอย่างนี้เลย “ต้องปฏิบัติเอา”

เราจะปฏิบัติอย่างไรเราถึงจะเห็นว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น อันแรกต้องเข้าใจ ก่อน อะไรที่เรียกว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวง แยกได้หลายแบบ ธรรมที่เป็นกุศลก็มี ธรรมที่เป็นอกุศลก็มี ธรรมที่ไม่ใช่กุศลอกุศลก็มี เพราะฉะนั้นกุศลเราก็ไม่ได้เอาไว้เพื่อยึด อกุศลก็ไม่ได้เอาไว้ยึด ธรรมที่ไม่ใช่กุศลอกุศลก็ไม่ได้เอาไว้ยึด

ธรรมะแยกอีกมุมหนึ่ง มีรูปธรรม มีนามธรรม ก็มีธรรมะที่พ้นจากรูปธรรมนามธรรม คือนิพพาน เขาเรียกมีนาม มีรูป มีนิพพาน เป็นสภาวธรรมคนละอันกัน ฉะนั้นเวลาภาวนา ไม่ต้องนั่งคิดว่ากุศลอกุศลอะไร ให้เรียนรู้รูปธรรมนามธรรมนี้ สำคัญมากเลย ถ้ามัวคอยละกุศลอกุศลในใจ งานนี้ไม่จบ เพราะว่าเราไม่รู้แจ้งแทงตลอดว่าจริงๆ ตัวเราไม่มี เราไม่รู้ความจริงว่ารูปธรรมนามธรรมไม่ใช่ตัวเรา เราก็จะวุ่นวายอยู่กับการที่จะไม่ยึดกุศลไม่ยึดอกุศล วุ่นวาย ฉะนั้นทางที่เราจะสามารถละความยึดถือในรูปในนามได้ ก็คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

อะไรเป็นรูปธรรม พวกเราก็รู้จักอยู่แล้ว ร่างกายของเราอย่างนี้ วัตถุสิ่งของทั้งหลาย คนที่เรารัก หมาที่เรารัก แมวที่เรารัก บ้านที่เรารัก รถยนต์อะไรต่ออะไรพวกนี้ มันเป็นรูปธรรม สิ่งที่สัมผัสได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย รูปธรรมบางอย่างก็สัมผัสด้วยใจ อันนี้เข้าใจยากนิดหนึ่ง ก็เว้นไปก่อน เอาง่ายๆ ก็คือร่างกายเรานี้กับวัตถุสิ่งของ ผู้คนที่แวดล้อมตัวเราอยู่ การที่เรารักใคร่ผูกพันในร่างกาย ในผู้คน วัตถุสิ่งของรอบตัวเรา มันเป็นไปด้วยอำนาจของกาม มีกามราคะ รักใคร่ผูกพัน ในสิ่งเหล่านี้ เราก็ยึดถืออยู่ ปล่อยไม่ได้

 

ต้องเห็นทุกข์เห็นโทษ ถึงจะวางได้

เมื่อก่อนมีน้องคนหนึ่ง ออกไปเรียนธรรมะพร้อมๆ กับหลวงพ่อ เขาไปถามหลวงปู่เทสก์บอก “หลวงปู่ครับ ผมอยากละกาม แต่จิตมันยังอาลัยอาวรณ์อยู่ จะทำอย่างไร” หลวงปู่อุทานว่า “อ้าว อาลัยอาวรณ์มันก็ละไม่ได้สิ” ต้องเห็นโทษ เห็นโทษหรือเห็นทุกข์นั่นล่ะ เราต้องเห็นทุกข์ เราถึงจะวางได้ อันนี้ไม่เฉพาะทางวัตถุ ทางร่างกายหรือทางเรื่องของกาม สิ่งทั้งหลายทั้งปวงถ้าเราเห็นโทษ เราก็จะวางได้

อย่างถ้าเราติดในฌานสมาบัติ เรารู้สึก แหม มันมีความสุขมาก ถ้าเราภาวนาดีๆ เราจะรู้เลย จิตที่ทรงฌานที่ว่ามีความสุข มันก็ยังไม่เที่ยง มันเสื่อมได้อีก อย่างนี้ พอเห็นซ้ำๆ เห็นไตรลักษณ์ซ้ำๆ ไป ของรูปธรรม ของนามธรรมไป มันก็จะเห็นความไม่มีสาระแก่นสารของรูปธรรมนามธรรม ถ้าไม่เห็นสาระแก่นสาร ไม่เห็นคุณค่า จิตมันก็จะวาง เพราะฉะนั้นการที่เราจะให้จิตปล่อยวางกายหรือให้จิตปล่อยวางจิต ไม่ใช่คิดเอา แล้วไม่ใช่ สั่งให้จิตวาง จิตเป็นอนัตตา สั่งไม่ได้ แต่จิตเป็นธรรมชาติที่ฝึกได้

เพราะฉะนั้นเรามาฝึกให้จิตเรียนรู้ความจริงของร่างกาย ให้จิตเรียนรู้ความจริงของจิตใจไปซ้ำแล้วซ้ำอีก ฝึกอย่างนี้ซ้ำๆๆ ไปเรื่อยๆ การที่เราเรียนรู้ความจริงของกายของใจ เรียกว่าการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ปัสสนะ แปลว่าการเห็น ไม่ใช่การคิด ไม่ใช่การแทรกแซงบังคับ วิปัสสนาก็คือการเห็นจริงเห็นแจ้งว่า รูปธรรมนามธรรมทั้งหลายล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ อันนี้ถึงจะเป็นวิปัสสนา ถ้าไม่เห็นไตรลักษณ์ ไม่เป็นวิปัสสนา เป็นได้แค่สมถะ

อย่างเราเห็นร่างกายหายใจ เราจ้องอยู่ที่ลมหายใจเราอย่างนี้ อันนี้คือกสิณลม ถ้าเราจ้องร่างกายทั้งตัวอย่างนี้ ก็เป็นกสิณดิน กสิณ สิ่งที่ได้ก็คือความสงบ ไม่เห็นทุกข์เห็นโทษอะไร หรือเราฝึกจิตให้นิ่งให้ว่าง มีแต่ความสุข เราก็ไม่เห็นทุกข์เห็นโทษ แต่ถ้าเราเห็นร่างกายนี้เต็มไปด้วยของไม่เที่ยง มีความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา เป็นของบังคับไม่ได้ตามใจปรารถนา สั่งไม่ให้แก่ไม่ได้ สั่งไม่ให้เจ็บก็ไม่ได้ สั่งไม่ให้ตายก็ไม่ได้ เห็นซ้ำๆ แล้วมันจะรู้ว่าร่างกายไม่ใช่ของดีของวิเศษหรอก

การที่เรารักร่างกาย ถ้าแยกละเอียดหน่อยก็คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่เรารักมันเพราะเรารู้สึกว่ามันนำความสุขมาให้ มีตาเราก็ได้ดูรูปที่ถูกอกถูกใจ มีหู เราก็ได้ยินเสียงที่ถูกอกถูกใจ มีจมูก มีลิ้น มีร่างกาย ก็ได้กระทบสิ่งที่ถูกอกถูกใจ มีความสุขได้ คนและสัตว์ทั้งหลายก็หาความสุขจากการสัมผัสทางร่างกาย แต่ถ้าเราเจริญสติให้ดี มีสติรู้สึกกายไปเรื่อยๆ จะรู้สึกกายในมุมใดมุมหนึ่ง ในกายานุปัสสนาก็ได้ทั้งนั้น อย่างจะรู้สึกกายที่หายใจออก กายที่หายใจเข้า เราเห็น ทั้งวันมีแต่หายใจออก หายใจเข้า ถ้าดูไปเรื่อยๆ เราจะรู้สึกว่าน่าเบื่อ เห็นไหม เราจะรู้สึกว่าร่างกายนี้น่าเบื่อจริงๆ

หรือเราดูเรื่องธาตุ เรากินอาหารเข้าไปแล้ว เราก็ต้องขับถ่ายออกมา แต่ละวันๆ ยุ่งกับเรื่องกินเรื่องขับถ่ายอะไรนี่เยอะแยะไปหมดเลย ร่างกายนี้น่าเบื่อ หรือเราเห็นร่างกายนั่งอยู่ก็ทุกข์ ก็ต้องขยับตัว ยืนอยู่ก็ทุกข์ ยืนนานๆ ก็เมื่อย ก็ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ เป็นลงไปนั่งลงไปนอนอะไรอย่างนี้ นอนนานๆ ยังทุกข์อีก ถ้าใครคิดว่านอนแล้วไม่ทุกข์ ลองสังเกตอย่างนี้ เวลานอน เราพลิกซ้ายพลิกขวาไหม ทำไมเราต้องพลิก เราหนีทุกข์ เพราะนอนอยู่ในท่าเดียว มันทุกข์ ขยับตัวเปลี่ยนท่าไป ถ้าเรามีสติอยู่ในกาย เราก็จะเห็น

ถ้าเรามองในแง่ของลมหายใจ เราก็จะเห็นร่างกายหายใจมันเป็นภาระ เป็นทุกข์ ร่างกายต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอนอยู่ตลอดเวลา ก็เพราะถูกความทุกข์บีบคั้น ร่างกายต้องทำมาหากิน ต้องขับถ่าย ต้องอาบน้ำ ต้องหาเสื้อผ้ามาใส่ ต้องหวีผม ต้องตัดผม ต้องย้อมผมอะไรนี่ มันทุกข์ทั้งนั้นเลย หลวงพ่อตั้งแต่เป็นโยม หลวงพ่อรู้สึกเบื่อหน่ายร่างกาย เห็นร่างกายนี้มีแต่ภาระ ตื่นนอนมาก็มีภาระแล้ว ตื่นนอนมาต้องเก็บที่นอน ปัดที่นอน แล้วพาร่างกายนี้ไปขับถ่าย พาร่างกายนี้ไปอาบน้ำ พาร่างกายนี้ไปทำมาหากิน เหน็ดเหนื่อยแต่ละวันๆ ร่างกายนี้ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลาเลย เห็น เดี๋ยวหิว เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวปวด เดี๋ยวเมื่อย

เวลาไปตัดผมก็เห็นแต่ทุกข์ ไม่เลือกทรงผมแล้ว เวลาตัด บอกตัดสั้นๆ จะได้ไม่ต้องตัดบ่อย เวลาไปตัดผมสมัยก่อนไม่มีการนัด มันไม่มีเครื่องมือสื่อสารอะไร ต้องไปนั่งรอ บางทีคนไปร้านตัดผม ส่วนใหญ่เขามาตัดเสาร์อาทิตย์ แห่มาตัดกัน นั่งรอ เบื่อแล้วเบื่ออีก รู้สึกมีผมก็มีภาระเพราะผม มีผมมีภาระอะไรบ้าง ต้องคอยสระ ต้องคอยหวี ต้องคอยตัด ภาระทั้งนั้นเลย นี่แค่ผมอย่างเดียว เล็บมือเล็บเท้า ใครตัดเล็บแล้วรู้สึกเบื่อบ้างมีไหม มันน่าเบื่อ ตัดเล็บเมือเล็บเท้าอะไรนี่ ตัดเดี๋ยวก็งอกอีกแล้ว น่าเบื่อ ตั้งแต่หัวถึงเท้ามีแต่ภาระทั้งนั้นเลย

การที่เรามีสติระลึกอยู่ในกาย เราจะเห็น กายนี้ไม่ใช่ของวิเศษอะไรหรอก มีแต่ภาระ มีแต่ทุกข์ ภาระนั้นก็คือทุกข์นั่นล่ะ “ภารา หะเว ปัญจักขันธา” ขันธ์ทั้ง 5 เป็นภาระ บุคคลแบกภาระไว้ก็ไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวง พระอริยเจ้าคือพระอรหันต์วางภาระลงแล้ว คือไม่ยึดถือในขันธ์ 5 แล้ว ก็วางภาระลงไป แล้วไม่หยิบฉวยมันขึ้นมาอีก ท่านถึงจะพ้นจากทุกข์ ตรงนี้ที่สอนว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว ไม่ยึดมั่นถือมั่นได้เพราะเห็นทุกข์ เห็นไตรลักษณ์

อย่างร่างกายเรา เรารู้สึกไปเรื่อย อย่าใจลอย อย่าฟุ้งซ่าน อย่าเพลิดเพลิน อย่าหลงโลก มีสติรู้สึกอยู่ในกายเนืองๆ มันจะรู้ มันทุกข์ ทำไมต้องดิ้นรนทำมาหากิน หาข้าวมาให้ร่างกาย เลี้ยงดูอย่างดีเลย ประคบประหงมอย่างดี สุดท้ายก็ทรยศเรา ร่างกายเป็นเพื่อนคู่ชีวิตเรา อยู่ด้วยกันตั้งแต่เกิด เราดูแลอย่างดีที่สุด สุดท้ายทรยศ ป่วย ตาย ทิ้งเราไป

เรามีสติเรียนรู้ความจริงในร่างกาย ดูให้เห็นไตรลักษณ์ของกาย ดูเรื่องทุกข์ เห็นชัดง่าย จะเห็นเลย พอเราเห็นความจริงว่าร่างกายไม่มีอย่างอื่น ร่างกายมีแต่ทุกข์ จิตมันก็วาง เรื่องอะไรมันจะไปหยิบก้อนทุกข์เอาไว้ แต่เดิมเราเคยรักเคยหวงแหนร่างกายนี้มาก แต่พอเราภาวนา มีสติรู้สึกกายเรื่อยๆ กายนี้มีแต่ภาระ กายนี้มีแต่ทุกข์ มีแต่ของบังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ มีแต่ของที่ชำรุดทรุดโทรมไปเรื่อยๆ จิตมันก็เบื่อหน่าย คลายความยึดถือ มันก็วาง มันวาง วางได้จริงๆ ถ้าเราภาวนายังไม่ถึงขั้น เราก็ไม่รู้สึกว่าจิตมันวางกายได้อย่างไร จริงๆ มันวาง

 

วิธีที่เราจะไม่ถือมั่นในธรรมทั้งหลาย

วิธีที่เราจะไม่ถือมั่นในธรรม ธรรมทั้งหลายไม่ควรถือมั่น อันนี้แค่รูปธรรม พอนามธรรม นามธรรมก็ประกอบด้วยจิตและเจตสิก คือจิต ธรรมชาติคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ทั้งหลาย เจตสิกคือสภาวธรรมที่เกิดร่วมกับจิต เช่น ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ตัวจิตเองไม่ได้สุขไม่ได้ทุกข์ แต่ที่มันสุขมันทุกข์ เพราะความรู้สึกสุขมันแทรกเข้ามา ความรู้สึกทุกข์มันแทรกเข้ามา ตัวจิตเองไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล จิตมันเป็นกุศล ก็เพราะว่ามีองค์ธรรมฝ่ายกุศลแทรกเข้ามา เช่น มีศรัทธาเกิดขึ้น มีวิริยะเกิดขึ้น จิตดวงนั้นก็เลยเป็นจิตที่มีศรัทธา มีวิริยะ มีสติ มีปัญญาขึ้นมา กลายเป็นจิตที่เป็นกุศล หรือบางทีจิตโดยตัวมันไม่ได้เป็นกุศลอกุศลหรอก แต่ว่าพอราคะ โทสะ โมหะมันผ่านเข้ามา แล้วมันมาครอบงำจิต มันก็เลยกลายเป็นจิตโกรธ จิตโลภ จิตหลงขึ้นมา

ฉะนั้นจิตโดยตัวของมันไม่ดีไม่เลวอะไร เป็นกลางๆ มันดี มันเลว หรือมันสุข มันทุกข์ เพราะว่าความดี ความเลว ความสุข ความทุกข์มันแทรกเข้ามา เวลาเราภาวนา เราค่อยๆ หัดสังเกตให้ดี ความสุขไม่ใช่จิต ที่หลวงพ่อสอนบ่อยๆ สังเกตไปสิ ความสุขมันของถูกรู้ ของถูกรู้ไม่ใช่จิต จิตเป็นคนที่ไปรู้ ความทุกข์ก็ไม่ใช่จิตอีก เป็นของที่จิตไปรู้เข้า หัดดูไป อย่างจิตของเราทั้งวันไม่สุขก็ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ก็เฉยๆ ทั้งวัน มีเวทนา 3 ชนิดนี้หมุนอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราหัดรู้หัดดูไปเรื่อย เราก็จะเห็น ทีแรกเราก็เห็นว่าจิตตอนนี้เรามีความสุข จิตตอนนี้เราทุกข์ จิตตอนนี้เราเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ ทีแรกเห็นอย่างนี้

ต่อไปพอสติสมาธิของเราเข้มแข็ง จิตเราตั้งมั่นจริงๆ เราจะมีปัญญาที่ละเอียดชัดเจนขึ้น ที่ว่าจิตของเราสุข ไม่ใช่แล้ว จิตเป็นคนรู้ แต่ว่าความสุขมันแทรกเข้ามาในจิต จิตกับความสุขเป็นคนละอันกัน เรียกคนละอัน ก็เรียกคนละขันธ์นั่นล่ะ ขันธ์ก็คือเป็นอันๆ เป็นกองๆ เป็นกลุ่มๆ เป็นคนละอย่างกัน เพราะฉะนั้นจิตก็เป็นขันธ์อย่างหนึ่ง เป็นวิญญาณขันธ์ เป็นความรับรู้อารมณ์ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่าวิญญาณขันธ์ ส่วนความรู้สึกสุขรู้สึกทุกข์เรียกว่าเวทนาขันธ์ ทีแรกเรารู้สึกว่าเราสุขเราทุกข์ ดูไปเรื่อยๆ เราก็จะเห็น จิตมันรู้สึกสุข จิตมันรู้สึกทุกข์ ดูต่อไปอีกก็เห็นละเอียด โอ้ ความสุขก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง ความทุกข์ก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง มันแยกออกจากกัน เรียกว่าเราแยกขันธ์ได้แล้ว

กุศลอกุศลก็เหมือนกัน แต่เดิมก็คิดว่ากูโกรธๆ พอหัดภาวนาไปเรื่อยๆ เราเห็นจิตมันโกรธ เราเป็นแค่คนเห็นว่าจิตมันโกรธ พอภาวนาเก่งขึ้นไปอีก เห็นว่าจิตไม่ได้โกรธ จิตเป็นคนรู้ ความโกรธเป็นสภาวธรรมอีกอย่างหนึ่งที่แทรกเข้ามา ความโกรธกับจิตก็เป็นคนละอันกัน จิตไม่ใช่ความโกรธ แต่จิตพอมีความโกรธ ความโกรธมันครอบงำจิตได้ เราเลยรู้สึกจิตโกรธ แล้วถ้าคนไม่ได้ภาวนา มันก็เป็นกูโกรธ มีลำดับ มีขั้น ความหยาบ ความละเอียดของจิตก็จะเห็นสภาวะแตกต่างกันไป

ฉะนั้นเราหัดภาวนา เรื่องกาย หลวงพ่อเล่าไปเมื่อกี้แล้ว หัดมาดูจิตใจของเรา จิตใจเรา เราอยากได้ความสุข ทุกคนอยากมีความสุข ดิ้นรนแสวงหาความสุขตามสติตามปัญญา บางคนคิดว่ามีเงินเยอะๆ แล้วมีความสุข มีเงินเยอะๆ ไปดูคนรวยๆ มันสุขไหม ก็ไม่ค่อยสุขเท่าไร มันก็มีเรื่องกลุ้มใจมากมาย เอาเงินไปลงทุนไว้ ไม่รู้จะเจ๊งหรือเปล่า เขาจะโกงหรือเปล่า บางทีหมดตัวเอาง่ายๆ หรือเรามีเงิน เผลอไปกดปุ่มโทรศัพท์ทีเดียว เงินหายไปหมดแล้ว ฉะนั้นมีเงินยังไม่ได้ตอบโจทย์ ตอนยังหนุ่มๆ สาวๆ ก็คิดว่าหาเงินไว้เยอะๆ ชีวิตมั่นคงปลอดภัย มีเงินแล้วจะมีความสุข เก็บเงินไว้เยอะแยะเลย พอแก่มีเงินเท่าไรก็เอาไปจ่ายให้โรงพยาบาล ให้หมอหมด มันไม่ได้มีความสุขจริง

เพราะฉะนั้นความสุขที่เกิดขึ้น มันหลอกเราให้เราวิ่ง เราวิ่งหาอะไร เราวิ่งหาความสุข เราวิ่งอะไรอีกอย่าง เราวิ่งหนีความทุกข์ ถ้าเรามาหัดภาวนา เราก็จะเห็นความสุขกับจิตก็คนละอันกัน ความสุขผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ความสุขก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เราภาวนาเราก็จะเห็นความทุกข์กับจิตก็คนละอันกัน ความทุกข์ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ความทุกข์ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เฝ้ารู้เฝ้าดู ต่อไปเราก็จะเห็นจิตสุขก็ไม่ยั่งยืนอะไร ดิ้นรนหามาแทบตาย มีความสุขแป๊บเดียว ความสุขก็หายไปแล้ว

อย่างเราคิดว่าถ้าเรามีเมียสวยๆ แล้วจะมีความสุข ไปพยายามจีบเขา จีบผู้หญิงสักคนหนึ่ง หรือผู้หญิงอาจจะอยากได้ผู้ชายหล่อๆ สักคนหนึ่งอะไรอย่างนี้ ไปจีบมา ตอนยังไม่ได้มาก็ลุ้น ใจไม่ได้มีความสุข แค่อยากจะได้คนนี้เป็นแฟนเรา ใจเราก็ไม่มีความสุขแล้ว พอความอยากเกิดขึ้น ใจก็ดิ้น จะได้ไม่ได้ๆ พอได้มา สมอยาก มีความสุขอยู่แป๊บเดียว ต่อไปมันก็เริ่ม จืด ไม่มีหรอกในโลกความสุขที่อมตะ เพราะทุกอย่างในโลกไม่มีอมตะ กระทั่งสามีภรรยาอยู่ด้วยกัน รักกันดี ความรู้สึกยังเปลี่ยนเลย ตอนเป็นแฟนกัน ความรู้สึกหวือหวามากเลย

พอแต่งกันแล้ว ช่วงแรกๆ ก็ยังตื่นเต้น แปลกใหม่ อยู่ด้วยกันอย่างดี ทะนุถนอมกันดี พออายุเยอะๆ ขึ้น ความรู้สึกก็เปลี่ยน เหมือนเป็นเพื่อนร่วมชีวิตกัน เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ความหวือหวามันไม่เป็นแล้ว เพราะเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นความรู้สึกในใจเราเป็นของไม่ยั่งยืนหรอก เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราสังเกตไหม คนแก่ๆ ที่เขายังอยู่ด้วยกัน แล้วเขาก็ยังทะนุถนอมกัน ไม่นับคนแก่ที่ทะเลาะกัน ความรู้สึกตอนที่เขาแก่ๆ แล้วอยู่ด้วยกัน ชีวิตคู่ กับตอนที่เขาเป็นหนุ่มสาว ความรู้สึกไม่เหมือนกันหรอก แตกต่างกัน

เพราะฉะนั้นความรู้สึกทั้งหลายที่มันหลอกให้เราวิ่ง ความสุขที่เราเที่ยวแสวงหา ถ้าเรามีสติปัญญา เราก็จะรู้ ไม่ยั่งยืนหรอก เหนื่อยแทบตายเพื่อได้มา ได้มาเพื่อจะเสียไป ความทุกข์ทั้งหลายก็เป็นของไม่ยั่งยืน ห้ามมันก็ไม่ได้เวลามันจะมา มาแล้วไล่มันก็ไม่ไป ถ้าเราภาวนาเรื่อยๆ เราก็จะพบว่าธรรมดา ความทุกข์กลายเป็นธรรมดาไป ฉะนั้นความทุกข์ไม่ใช่เรื่องผิดธรรมดา ความทุกข์ก็เรื่องธรรมดา ธรรมดาที่จะต้องเป็นอย่างนี้ ธรรมดาที่จะต้องทุกข์

 

ถ้าใจเราเป็นกลางกับความสุขความทุกข์ ใจก็วางได้

ถ้าใจเราเป็นกลางกับมัน ถ้าใจเราเป็นกลางต่อความสุข ใจมันก็วางได้ ความสุขมา หรือความสุขจะไป ใจก็ยอมรับได้ มันเป็นกลางแล้ว ใจเป็นกลางต่อความทุกข์ ความทุกข์จะมา หรือความทุกข์จะไม่ไป ใจก็ยอมรับได้ ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยกำหนด ไม่ใช่ตามที่เราสั่ง พอใจเราเป็นกลางต่อความสุขความทุกข์ อันนี้เราก็ฉลาดขึ้นมาส่วนหนึ่งแล้ว

เวลาภาวนาก็ควบกันไป ถ้าใจเรามีความสุขก็รู้ ทุกข์ก็รู้ เฉยๆ ก็รู้ ใจเราเป็นกุศลก็รู้ เป็นอกุศลก็รู้ พอใจเราเป็นกุศลขึ้นมา เราก็สังเกตไปเรื่อย ก็เห็นกุศลมันก็ไม่ใช่จิต เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้าแล้วกุศลเองก็ไม่ยั่งยืน ไม่เที่ยง อย่างเวลาเราอยากฟังธรรมะ ใจมีฉันทะ อยากฟังธรรมะ ความปรารถนาในแง่ดี เรียกว่าฉันทะ ฉันทะก็ไม่ยั่งยืน ฟังธรรม พอยาวเกินไปก็เบื่อแล้ว อยากเลิก คอยดูไป ความดีก็ไม่ยั่งยืน วิริยะเป็นความดี ตั้งใจจะนั่งสมาธิสักชั่วโมง หรือเดินจงกรมสัก 2 ชั่วโมง นั่งก็ได้ประเดี๋ยวเดียวเบื่อแล้ว ความเพียรหายไปแล้ว ฉันทะที่จะทำก็หายไป ความเพียรก็หายไป ขี้เกียจแล้วไปทำอย่างอื่นดีกว่า

บางคนเดินจงกรม ในวัดก็มี หลวงพ่อเห็น พวกญาติโยมที่มาเดินจงกรมนั่งสมาธิในวัด ไม่รู้ว่าหลวงพ่อก็เห็นอยู่ เดินจงกรมไป มือก็ไถโทรศัพท์ไปเรื่อยๆ เดินหาสวรรค์อะไร หาสวรรค์วิมานอะไร เดินแล้วก็ไถโทรศัพท์ไปเรื่อยๆๆ โอ๊ย ถ้าเป็นลูกเป็นหลานจะฟาดกบาลให้ เคาะหน้าแข้งเสียที มึงเดินอย่างไรของมึง เดินเลอะเทอะ นี่เพราะว่ามันหลง ใจทีแรกก็เป็นกุศล อยากเดินจงกรม เดินไปๆ ขี้เกียจแล้ว อยากไปดู เปิดโน่นเปิดนี่ดู กุศลก็ไม่ยั่งยืน

อกุศลยั่งยืนไหม รักก็ไม่ได้รักยั่งยืน มันเปลี่ยนแปลงไป โกรธก็ไม่ยั่งยืน อย่างเวลาอกหัก อกหักครั้งแรก โอ๊ย เจ็บปวดมากเลย แล้วก็คิดว่าชีวิตนี้คงไม่มีความสุขอีกแล้ว อกหักแล้ว คนนี้ทิ้งเราไปแล้ว พอผ่านวันผ่านเวลาไป ใจมันก็เฉยๆ บางทีดีใจ หลุดจากคนนี้มาได้ บุญแท้ๆ เลย มีบางคนลูกตาย ลูกตาย เขาบอกว่าเจ็บปวดที่สุดเลย จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ หลวงพ่อไม่เคยมีลูก ลูกไม่เคยตายให้ดู เพราะว่าไม่มี เขาบอกลูกตายทุกข์ที่สุด ชีวิตนี้มืดมน จากหน้าตาสดใสสวยงาม โทรมไปเลย ผมเผ้าหงอกไปเลย ทุกข์มาก ผ่านมาหลายๆ ปี หัวเราะได้แล้ว

ฉะนั้นความทุกข์เองก็ไม่ยั่งยืน เพราะฉะนั้นเวลาความสุขเกิดขึ้น มันไม่ยั่งยืน ไม่ต้องไปหลงยินดีกับมัน ความทุกข์ก็ไม่ยั่งยืนเหมือนกัน ไม่ต้องไปเกลียดมันหรอก มันมาได้ เดี๋ยวมันก็ไปได้ ใจก็จะเป็นกลางต่อความสุขและความทุกข์ ตรงนี้ใจมันก็จะฉลาดขึ้นๆ สุดท้ายมันก็ไม่ยึดถือ

เพราะฉะนั้นถ้าเราภาวนา เรามีสติระลึกรู้กายด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของกายเรื่อยๆ ต่อไปเราก็ไม่ยึดถือกาย เรามีสติระลึกรู้จิตใจ รู้นามธรรมที่เกิดร่วมกับจิตใจ ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ต่อไปเราก็ไม่ยึดถือ เพราะเราเห็นความจริง สุข ทุกข์ ดี ชั่ว ไม่ยั่งยืน กระทั่งจิตที่ทรงฌาน แหม วิเศษเหลือเกิน ทรงฌานสมาบัติ ก็ไม่ยั่งยืน เพราะฉะนั้นพระพรหมก็ยังตายได้ เสื่อมได้ พวกพรหมจำนวนมากพอหมดอายุแล้วตาย บางทีลงอบายๆ ไม่ใช่ว่าเป็นพรหมแล้วจะต้องดีตลอดไป เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรยั่งยืน

พอเราเจริญวิปัสสนากรรมฐานมากๆ เราก็จะเห็นข้อบกพร่องของกาย มันบกพร่องคือมันไม่เที่ยง มันถูกความทุกข์บีบคั้น มันเป็นแค่วัตถุธาตุ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา จิตก็วาง เห็นความจริงทางนามธรรมทั้งหลาย ล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ ควบคุมไม่ได้ พอเห็นความจริง จิตก็วาง เรื่องอะไรต้องไปดิ้นรนแสวงหาความสุขในโลกให้วุ่นวาย ในเมื่อมันเป็นของที่ไม่ยั่งยืน เรื่องอะไรจะต้องเกลียดความทุกข์มากมาย ในเมื่อจริงๆ แล้วโลกนี้ก็มีแต่ทุกข์ ไม่มีอย่างอื่นหรอก

พอเราเดินปัญญาจริงๆ จิตเราก็จะเป็นกลางต่อสุขและทุกข์ ต่อดีและชั่ว สุดท้ายเราก็ปล่อยวาง เห็นความไม่ได้สาระแก่นสารก็วาง เพราะฉะนั้นการที่เราจะปล่อยวางรูปธรรมนามธรรมได้ เราต้องเดินวิปัสสนา ดูไตรลักษณ์ของรูปธรรมของนามธรรม ดูแล้วดูอีก ไม่ใช่คิดเอาเองว่ามันเป็นไตรลักษณ์ ต้องรู้สึกเอา ต้องดูจนซาบซึ้งถึงอกถึงใจ ถึงจะปล่อยวางได้

ธรรมะ บอกแล้วธรรมะมีอะไรบ้าง มีรูปธรรม มีนามธรรม อีกอันหนึ่งคือนิพพาน คนปฏิบัติล้วนแต่อยากได้นิพพาน นิพพานเป็นอย่างไรก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่อยากได้ ถ้าคนที่เขาถึงนิพพานจริงๆ จะไม่ได้อยากได้นิพพาน เพราะถ้ายังอยากได้นิพพานอยู่ ไม่นิพพานหรอก ยังไม่เห็นนิพพาน เพราะจิตยังมีตัณหา ยังมีความอยากอยู่ ฉะนั้นนักปฏิบัติจำนวนมาก อันนี้ไม่ใช่หลวงพ่อพูดเอง หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยเล่า นักปฏิบัติจำนวนมากอยากได้นิพพาน ก็พยายามทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ ก็ไปแต่งจิต ส่วนใหญ่ก็ไปแต่งจิตให้นิ่งๆ ว่างๆ ปรุง ปรุงแต่ง จิตนิ่งๆ ว่างๆ เราคิดว่านี่เป็นโลกนิพพานแล้ว

บางทีก็สร้างนิมิตขึ้นมา นิพพานเป็นเมืองแก้ว คนโบราณชอบแต่งกลอนท่องกัน “ขอให้ถึงเมืองแก้ว ขอให้แคล้วบ่วงมาร ให้ถึงพระนิพพาน ในอนาคตกาลนานไกลเทอญ” หลวงพ่อฟัง นานจริง นานแน่นอนถ้าเราเห็นว่านิพพานเป็นเมืองแก้ว นิพพานไม่มีรูปธรรม นามธรรม นิพพานจริงๆ คือสภาวะที่สิ้นตัณหา เมื่อใดที่เราเห็นความจริงของกาย เห็นความจริงของใจ จนหมดความยึดถือในกายในใจแล้ว ความอยาก ความอยากไม่มีที่จะยึดถือกายยึดถือใจ แล้วก็ไม่หิวนิพพาน ถ้ายังเหลือความหิวนิพพานอยู่ ยังไม่จบดี ยังเหลืออีกนิดหนึ่ง

 

ว่างเพราะจิตพ้นจากความปรุงแต่ง

เพราะฉะนั้นจริงๆ ถ้าเราภาวนา พอถึงจุดที่เราเข้าใจธรรมะจริงๆ ตรงที่เราจะเห็นนิพพาน มันก็แค่ที่ว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่ต้องพูดแล้วว่านิพพานเป็นอย่างไร เพราะจริงๆ แล้ว นิพพานอยู่ต่อหน้าต่อตาเรานี่เอง จิตที่มีตัณหาผลักดันให้ดิ้นรน มันก็หมกมุ่นอยู่กับการทำงาน มันไม่หยุดๆ มันไม่ว่าง หลวงปู่ดูลย์ท่านพูดถึงสภาวะของจิตที่สัมผัสพระนิพพาน ทรงพระนิพพาน ว่าง สว่าง บริสุทธิ์ หยุดความปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาของจิต ไม่มีอะไรเลย ไม่เหลืออะไรสักอย่าง

พระพุทธเจ้าก็สอนในพระไตรปิฎก นิพพานไม่มีพระอาทิตย์พระจันทร์ ไม่มีกลางวันกลางคืน ไม่มีอากาสานัญจายตนะ ไม่มีความว่างช่องว่าง ไม่มีจิต วิญญานัญจายตนะ ไม่มีความไม่มี อากิญจัญญายตนะ นี่เขาสอน แต่ว่าเข้าใจยากๆ นิดหนึ่ง ต้องภาวนาถึงจะเข้าใจ มิฉะนั้นเราจะสุดโต่ง ไปข้างสูญ โน่นก็ไม่มี นี่ก็ไม่มี เหมือนที่หลวงพ่อเคยเป็น อ่านตำราเอา โน่นก็ไม่ยึด นี่ก็ไม่ยึด นั่นก็ไม่มี นี่ก็ไม่มี มันก็เลยมีความไม่มี ยึดความไม่มีอยู่ อยากได้ความไม่มี มันก็เลยมี มีอะไร มีความยึดที่จะไม่มี แต่ถ้าเราภาวนาจนเราปล่อยวางจิตได้ ปล่อยวางกายได้ จิตยังทรงพระนิพพานไม่ได้จริง เพราะจิตยังเที่ยวทำงานอยู่ แต่ถ้าเรารู้แจ้งแทงตลอดลงในจิต เรียกว่ามันตกอยู่ในไตรลักษณ์

การที่รู้แจ้งแทงตลอดว่าทั้งกาย ทั้งจิต หรือขันธ์ 5 เป็นตัวทุกข์ เรียกว่าเรามีวิชชา ล้างอวิชชาได้ ทันทีที่อวิชชาดับ ตัณหาก็ดับ เมื่อตัณหาดับ ภพก็ดับ จิตของเรามันสร้างภพอยู่ตลอดเวลา ถ้าสังเกตให้ดี มันสร้างตลอดเวลาเลย เดี๋ยวก็เป็นภพของคนดี เดี๋ยวก็เป็นภพของคนเลว เดี๋ยวเป็นภพของพ่อ เดี๋ยวเป็นภพของแม่ เดี๋ยวเป็นภพของลูก เดี๋ยวเป็นภพนายจ้าง เดี๋ยวเป็นภพลูกจ้าง เดี๋ยวเป็นภพเปรต เดี๋ยวเป็นภพสัตว์เดรัจฉาน เวลาเราใจลอย เราอยู่ในภพสัตว์เดรัจฉาน จิตมันสร้าง มันเข้าไปเกาะเกี่ยวอยู่

ถ้าจิตมันมีปัญญาแก่รอบ รู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจ ขันธ์ 5 เป็นทุกข์ รูปนามขันธ์ 5 เป็นทุกข์ จิตมันไม่เกาะเกี่ยว จิตมันวาง เมื่อมันวางแล้วมันว่าง จิตก็ว่าง ร่างกายก็ว่าง โลกธาตุก็ว่าง ทั้งๆ ที่มันมีอย่างนี้ แต่มันว่าง มันว่างจากความเป็นตัวตน บุคคล สัตว์ เรา เขา มันว่างเพราะจิตพ้นจากความปรุงแต่ง โลกมันก็กระโดดโลดเต้นไปตามโลกนั่นล่ะ แต่จิตมันพ้นจากความปรุงแต่งได้ มันก็เลยว่าง แต่จิตที่ไม่ว่างเพราะจิตมันยังปรุงแต่ง ที่จิตมันยังปรุงแต่ง เพราะจิตมันไม่รู้ความจริง ตรงที่จิตมันปรุงแต่งนั่นล่ะเรียกว่าภพ

เราภาวนา เราต้องล้างอวิชชาให้ได้ คือความเห็นผิดว่ารูปนามขันธ์ 5 นี้ เป็นของดีของวิเศษ เรียนลงไปจนเห็นว่ามันเป็นทุกข์ ละอวิชชาได้ ความอยากให้กายให้ใจเป็นสุข ไม่มีแล้ว ความอยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์ก็ไม่มีแล้ว จิตก็พ้นจากความอยาก เมื่อจิตพ้นความอยาก จิตก็จะไม่สร้างภพ จิตจะไม่ดิ้น มิฉะนั้นมันจะดิ้น สร้าง เข้าไปจับ จับแล้วก็แต่ง ปรุงแต่งไปเรื่อยๆ

ค่อยๆ สังเกต ธรรมะอันนี้ประณีต ไม่ลึกลับแต่ลึกซึ้ง ถ้าลึกลับ เราก็ไม่รู้จัก เข้าไม่ถึงหรอก อันนี้แค่ลึกซึ้ง ขอให้เราตั้งอกตั้งใจภาวนาให้สม่ำเสมอ รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็นไป ตอนไหนไม่มีกำลังจะรู้กายรู้ใจ ทำความสงบเข้ามา ไม่ต้องกลุ้มใจ อย่างเราดูจิตดูใจ ดูไม่ออกแล้ว ดูกาย ดูกายแล้วก็ฟุ้งซ่านขึ้นมา ดูไม่รู้เรื่อง ไม่ต้องตกใจ จิตฟุ้งซ่านก็ทำความสงบไป พุทโธไป หายใจไปอะไรก็ได้ ให้จิตอยู่ในอารมณ์อันเดียว จิตฟุ้งซ่านเพราะมันจับอารมณ์นั้นทีอารมณ์นี้ที เราจับอารมณ์อันเดียว จิตไม่ฟุ้งซ่าน เดี๋ยวเดียวจิตก็มีกำลัง

มีกำลัง เราก็ไปดูความจริงของกายของใจต่อ ถ้าเราเดินอยู่ในเส้นทางอย่างนี้ วันหนึ่งไม่น่าจะนานเกินไป เพราะคนที่ยอมมาเดินในเส้นทางนี้ไม่ใช่คนที่เริ่มนับหนึ่ง ต้องมีบุญมีบารมีมากพอสมควรถึงได้สนใจธรรมะ คิดดู คนในโลก มีตั้ง 7 – 8 พันล้าน คนที่เป็นชาวพุทธมีสักกี่เปอร์เซ็นต์ แล้วเป็นพุทธจริงๆ สักกี่เปอร์เซ็นต์ เปอร์เซ็นต์หนึ่งยังไม่ถึงเลย ไม่ต้องคนทั้งโลก ในเมืองไทย คนเข้าวัดมีเยอะ เข้าไปหาหวย เข้าไปขอพร มันไม่ใช่เรื่องของชาวพุทธเลย มีไหมเข้าวัดแล้วได้สติได้ปัญญาออกมา มีน้อย อย่างที่พวกเราอุตส่าห์มาฟัง เพื่อให้เกิดสติ เกิดปัญญาขึ้นมา คนที่จะเดินตัดตรงเข้าสู่ความพ้นทุกข์ มีไม่มาก

เมื่อมีโอกาสแล้วอย่าละเลย อย่าปล่อยเวลาให้ผ่านไป จนแก่หมดเรี่ยวหมดแรง ภาวนาไม่ไหว อดทนทำตั้งแต่ตอนนี้ ดูกายดูใจของเราไปเรื่อย อย่าเอาแต่หลงโลก โลกไม่มีอะไรหรอก ถ้าภาวนาเป็นแล้วจะรู้ โลกไม่มีอะไร มีแต่ทุกข์ มีแต่ของไม่แน่นอน ไม่ยั่งยืน ฉะนั้นขอให้พวกเราตั้งอกตั้งใจ ตั้งใจ วันหนึ่งเราจะได้ลิ้มรสธรรมะ รสของธรรมะชนะรสทั้งปวง พระพุทธเจ้าบอก ถ้าได้รับรสของธรรมะแล้ว รสอื่นไม่มีเรื่องไม่มีสาระเลย รสของกาม รสของฌาน ไม่ได้เรื่อง เจือทุกข์อยู่ทั้งนั้น

วันนี้หลวงพ่อเทศน์ให้ฟังเท่านี้ ยากไปไหม ยากก็ต้องไปฟังหลายๆ รอบ ขอให้ขยัน ขอให้อดทน ตั้งอกตั้งใจ แล้ววันหนึ่งจะได้พ้นทุกข์ ชีวิตจะมีความสุขมากขึ้นๆ โดยไม่ต้องอาศัยคนอื่น ไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่น เราจะได้ความเป็นตัวของตัวเอง ได้อิสระที่แท้จริง แล้วเราจะมีเสรีภาพที่แท้จริง ใจเราไม่มีอะไรมาผูกมัดเรา เราก็มีเสรีที่แท้จริง ขอให้เจริญในธรรมทุกคน

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
17 มีนาคม 2567