หน้าที่ของเราคือแหกคุกให้ได้

การปฏิบัติไม่มีใครช่วยใครได้หรอก ต้องช่วยตัวเอง ครูบาอาจารย์ได้แค่บอกว่าทำอย่างนี้ อย่าทำอย่างนี้ ส่วนจะทำหรือจะไม่ทำมันอยู่ที่ตัวเราเองแล้วล่ะ ช่วยกันได้แค่นี้ หน้าที่ของครูบาอาจารย์ก็คือบอกให้รู้เส้นทางที่จะเดินไป ก็ชักชวนให้มาเดินด้วยกัน เส้นทางนี้ เวลามีปัญหาในการปฏิบัติก็ช่วยแก้ไขให้ ก็ช่วยปลุกเร้า เชียร์ เชียร์อัพ ให้เดินไปข้างหน้า อย่าอยู่กับที่ ถึงภาวนาดีแล้วก็พอใจ หยุดอยู่กับที่ ก็ยังใช้ไม่ได้

ในโลกมันเต็มไปด้วยความทุกข์ ความทุกข์เรื่องหนึ่งยังไม่ทันจบ ความทุกข์เรื่องใหม่มันก็มาแล้ว การที่เราหัดภาวนา ทำความเข้าใจโลก โลกมันเป็นอย่างนี้ล่ะ มันไม่เที่ยง มันมีความทุกข์บีบคั้นอยู่เสมอ มันไม่เป็นไปตามใจอยาก นี่เรียนรู้โลก สิ่งที่เรียกว่าโลกก็เริ่มจากกายกับใจนี้ออกไป กายใจเรานี้ก็เป็นส่วนของโลก ฉะนั้นจริงๆ แล้วการเรียนรู้โลก จะเรียนโลกภายในคือกายกับใจของเรานี้ก็ได้ จะเรียนจากโลกภายนอกคือกายใจคนอื่น หรือสภาพแวดล้อมภายนอกก็ได้ ทั้งภายใน ทั้งภายนอก ธรรมะภายใน ธรรมะภายนอก มันก็สอนไตรลักษณ์เสมอกัน

 

ย้อนเข้ามาเรียนที่กายที่ใจของตัวเราเอง

ส่วนใหญ่ครูบาอาจารย์จะย้ำให้เราย้อนเข้ามาเรียนที่กายที่ใจของตัวเราเอง ในความเป็นจริงแล้ว ดูจากข้างนอกก็ได้ ในสติปัฏฐาน 4 ก็ยังสอนไว้ชัด มีธรรมภายใน ธรรมภายนอก ธรรมในที่ใกล้ ธรรมในที่ไกล มีสอน แต่การออกไปรู้ข้างนอกมันอันตราย เพราะเราเคยชินเวลารู้ออกไปข้างนอก กิเลสมันเกิด จิตมันเคยชินกับตาเห็นรูป จิตเคยชินที่จะเกิดราคะมันก็เกิด เคยชินจะเกิดโทสะมันก็เกิด

สิ่งที่เราไม่เคยชินคือการเรียนรู้ตัวเอง โลกข้างนอกเห็นมาตั้งแต่เกิด มันคล้ายๆ มันด้านมันชา มันเลยดูอะไรต่ออะไรยาก กายกับใจของเรานี่ล่ะที่คนทั้งหลายไม่เคยเรียนรู้ เวลารู้ก็รู้ออกข้างนอก ดูโลกข้างนอก ดูจนกระทั่งชาชินไม่รู้สึกอะไร อย่างเราเห็นคนอื่นตาย ถ้าบ้านอยู่ใกล้วัดอะไร เห็นมีงานศพทุกวันเลย หรือพระอยู่ในวัด มีสวดศพทุกวันเลย รู้ข้างนอก ถามว่าลดละกิเลสได้ไหม ไม่ได้ มันชาชิน ท่านก็เลยสอนให้น้อมกลับเข้ามาเรียนรู้ตัวเอง

เราไม่เคยเรียนรู้กายรู้ใจตัวเอง พอมาหัดรู้ เราเห็นว่าร่างกายเรานี้มันไม่เที่ยง เคยเป็นเด็ก ตอนนี้ไม่เป็น เคยเป็นวัยรุ่นตอนนี้ไม่เป็น เคยเป็นหนุ่มเป็นสาว ตอนนี้ไม่เป็น เคยแข็งแรง ตอนนี้ป่วย เดี๋ยวเป็นโรคโน้นโรคนี้ แล้วมันก็ดูออก เห็นคนทั้งหลายจุดหมายปลายทางสุดท้ายของชีวิตก็ตาย เอ๊ะ ตัวเรานี้มันก็จะต้องตาย

การที่เราย้อนมาดูตัวเอง เป็นของที่ไม่เคยเรียนรู้ จิตใจมันสะเทือน สะเทือนกิเลส ในขณะที่ดูออกข้างนอก มันชาชิน มันเลยเพลินตามกิเลสไป ดูยาก เราก็ดูแต่ว่าคนอื่นมีอารมณ์อย่างไร เราฝึกดูมานาน อยู่ในบ้านเราก็ดู วันนี้พ่อเราอารมณ์ดีหรืออารมณ์ร้าย เราก็หัดดู ถามว่ารู้ไหม วันนี้พ่ออารมณ์ดีหรืออารมณ์ร้าย รู้ได้ รู้ได้ทุกคน ไม่ใช่เรื่องอัศจรรย์อะไร วันนี้แม่ใจดีหรือแม่หงุดหงิด ก็ดูได้

เราก็หัดดูมากขึ้นๆ จากคนแวดล้อม ไม่มีอะไรจะดูก็ดูหนัง ดูละคร ดูหนัง ดูละครก็มีเรื่องกิเลสทั้งนั้นส่วนใหญ่ ดูหนังดูละครมันก็เป็นการกระตุ้น ราคะที่ไม่เคยเกิดก็เกิด ราคะที่มีแล้วก็แรงขึ้น โทสะที่ไม่เคยเกิดก็เกิด โทสะที่เกิดแล้วก็แรงขึ้น อย่างเราเอง ในชีวิตเราไม่เคยมานั่งร้องไห้ ไปดูหนังดูละคร นั่งร้องไห้สงสารนางเอก ถูกนางอิจฉาข่มเหงรังแก แล้วก็ดูไปเรื่อยๆ ก็ชักโมโหนางเอก ทำไมมันโง่ โทสะขึ้นแล้วจากสงสาร นี่ดูออกข้างนอก

เราจิตใจเราเป็นอย่างไรเราไม่ค่อยรู้หรอก เพราะมันเคยชิน เตลิดเปิดเปิงมาตั้งแต่เด็กแล้ว ฉะนั้นพยายามย้อนมาดูกายดูใจของเราเอง บางคนภาวนาก็เห็นจิตมันปรุงดีปรุงชั่วอะไรขึ้นมา แต่เดิมมันคิดว่าเราเป็นคนดี คนอื่นล่ะที่ไม่ดี พอมาหัดภาวนา หัดสังเกตจิต สังเกตใจตัวเอง โหย กิเลสเกิดทั้งวันเลย เราไม่ได้ดีอย่างที่เราคิดหรอก ที่จริงเราชั่วกว่าที่เราคิดเยอะเลย

พอมาภาวนาก็จะเห็นความจริงในร่างกาย ความจริงในจิตใจ มันดูได้ง่าย ดูของคนอื่นมันไม่ชัดหรอก ดูได้ไม่ชัด ฉะนั้นดูของตัวเราเอง ไปดูของคนอื่นกิเลสเกิด ถ้าดูของเราเอง กุศลมันจะเกิดได้ง่าย ดูคนอื่นกิเลสเกิด อย่างเราดูหนัง มีดาราสวยๆ ใจมันก็มีราคะขึ้นมา ชอบ ชอบนางเอกคนนี้ เกลียดพระเอกคนนี้ เจ้าชู้ ไม่ชอบ ใจมันก็แกว่งตามโลกไปเรื่อยๆ ดูยาก

เพราะฉะนั้นให้เวลาในการเรียนรู้กายรู้ใจตัวเองให้มาก ดูไปเรื่อยๆ ร่างกายนั่งอยู่ รู้สึก ร่างกายยืน ร่างกายเดิน ร่างกายนอน รู้สึกไป ร่างกายนี้ มันมีความสุขจริงไหม ดูไป ในทุกๆ อิริยาบถ หรือดูร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า ดูสิ ร่างกายนี้มันเที่ยง จริงหรือไม่จริง ร่างกายที่หายใจออก อยู่ชั่วคราวก็ดับ เกิดร่างกายที่หายใจเข้า ร่างกายนี้มันไม่เที่ยงหรอก เปลี่ยนแปลงอยู่ทุกๆ ลมหายใจเข้าออก

หรือร่างกายนี้มันถูกความทุกข์บีบคั้น มันถึงต้องเปลี่ยนอิริยาบถ นั่งนานก็ทุกข์ ยืนนานก็ทุกข์ เดินนานก็ทุกข์ นอนนานก็ทุกข์ อย่างนอนนึกว่ามีความสุข นอนพลิกไปพลิกมา ทำไมต้องนอนพลิกไปพลิกมา เพราะว่ามันทุกข์ พอดูเข้ามาที่ตัวเอง ดูร่างกาย เราก็เห็นร่างกายมีแต่ของไม่เที่ยง มีแต่ทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา

ร่างกายนี้ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ เราสั่งไม่ได้ สั่งว่าจงเป็นหนุ่มเป็นสาว ตลอดไปก็ไม่ได้ สั่งว่าอย่าเจ็บก็ไม่ได้ สั่งว่าอย่าแก่ก็ไม่ได้ สั่งว่าอย่าตายก็ไม่ได้ สั่งอะไรไม่ได้สักอย่างหนึ่ง สั่งว่าอย่าหิวก็ไม่ได้ กินมากไป ท้องคัดท้องแข็งขึ้นมา สั่งว่าให้ท้องโปร่งๆ โล่งๆ ก็สั่งไม่ได้ กินอาหารเข้าไปแล้วไม่ขับถ่าย สั่งว่าไม่ต้องถ่าย ไม่ต้องขับถ่าย สั่งไม่ได้

 

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

เฝ้ามาเรียนรู้ความจริงในร่างกาย มันก็สอนอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ในจิตใจเราก็เหมือนกัน มีแต่ของไม่เที่ยง จิตสุขก็ไม่เที่ยง จิตทุกข์ก็ไม่เที่ยง จิตดีก็ไม่เที่ยง จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลงก็ไม่เที่ยง จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่อะไรไม่เที่ยงสักอย่างหนึ่ง เฝ้ารู้เฝ้าดู จะเห็นจิตนี้มันไม่เที่ยง เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ หมุนเวียนเปลี่ยนไปทั้งวันทั้งคืน ไม่เคยหยุดนิ่งเลย

ส่วนการจะเห็นจิตเป็นตัวทุกข์ดูยากนิดหนึ่ง เพราะจิตมันเกิดดับเร็ว ไม่เหมือนร่างกาย ร่างกายมันเกิดดับช้ากว่าจิต อายุมันยืนกว่าจิต มันก็เห็นความบีบคั้นได้ง่าย ร่างกายนี้ ดูตัวทุกข์ ดูง่าย ส่วนจิตนั้นเกิดดับรวดเร็วมาก ยังไม่ทันจะทุกข์เลย มันก็ดับไปแล้ว คนที่จะเห็นจิตเป็นทุกข์ได้ ก็ต้องทรงฌาน

ทำไมทรงฌานแล้วจิตไม่เกิดดับหรือ ไม่ใช่ จิตเกิดดับ แต่จิตที่เกิดใหม่ มันรูปร่างหน้าตาเหมือนจิตดวงเดิม พวกฌานจิตทั้งหลาย เวลาเกิดเกิดนับจำนวนไม่ถ้วนติดต่อกันไป เพราะฉะนั้นมันจะดูได้ง่ายว่ามันทนอยู่ไม่ได้จริงหรอก จิตในปฐมฌานก็ทนอยู่ไม่ได้ จิตในทุติยฌาน ฌานที่สองก็ทนไม่ได้ ในฌานที่สาม สี่ ห้า หก เจ็ด แปด ก็ทนไม่ได้ ถ้าทรงฌานมันถึงจะเห็นจิตเป็นทุกข์ได้ง่าย ถ้าไม่ได้ทรงฌาน จิตเกิดดับ เปลี่ยนอารมณ์ไปเรื่อยๆ ไม่ทันเห็นทุกข์

แล้วคนทั้งหลายมันมีสัญชาตญาณ พอเวลาอยู่กับอารมณ์นี้ พอจวนจะเห็นทุกข์ มันก็เปลี่ยนอารมณ์ อย่างฟังเพลงนี้ ฟังไปแล้ว ชักเบื่อ เอ้า เปลี่ยนไปฟังเพลงอื่น ฟังไปหลายๆ เพลง เบื่อ ก็เปลี่ยนอารมณ์อีกแล้ว ไปคุยกับเพื่อนดีกว่า มันเปลี่ยนอารมณ์ มันเลยไม่เห็นว่าจิตนั้นมันเป็นทุกข์ เพราะพอมันทุกข์ขึ้นนิดเดียว มันก็เปลี่ยนอารมณ์ไปแล้ว

ร่างกายนี้ก็คล้ายๆ กัน ถึงจะเปลี่ยนแปลงช้ากว่าจิตก็ตาม อย่างที่เรานั่งอยู่แล้วมันเมื่อย เราก็ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ จิตนั้นมันเปลี่ยนอารมณ์แต่ร่างกายมันเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อจะหนีทุกข์ การเปลี่ยนอารมณ์นั้นมันเปลี่ยนง่าย เปลี่ยนปั๊บๆ ปั๊บๆ

เพราะฉะนั้นเราจะดูจิตเป็นทุกข์ก็ดูยากหน่อย การดูจิตเป็นอนัตตาไม่ยาก ตัวร่างกายนี้ เราดูตัวทุกข์กับตัวอนัตตาง่าย แต่จิตเราจะดูตัวอนิจจัง กับอนัตตาง่าย ส่วนจิตถ้าจะดูตัวทุกข์ง่าย จะต้องทรงฌาน จะเกิดจิตชนิดเดียวกันนับจำนวนไม่ถ้วน ก็เลยจะเห็นว่าจิตมันเป็นทุกข์ มันไม่ได้เปลี่ยนอารมณ์ไป อยู่ในอารมณ์อันเดียว

จิตมันเป็นอนัตตาอย่างไร เราสั่งไม่ได้ สั่งว่าจงมีแต่ความสุข สั่งไม่ได้ จงอย่ามีความทุกข์ สั่งไม่ได้ จงอย่าโลภ อย่าโกรธ อย่าหลง สั่งไม่ได้ จงสงบ สั่งไม่ได้ อย่าฟุ้งซ่าน สั่งไม่ได้ เพราะฉะนั้นจิตเป็นของสั่งไม่ได้ ให้เราเรียนรู้ลงไปแล้วเราก็จะเห็นทั้งกายทั้งจิตล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

พอเห็นมากๆ มันก็จะเบื่อ ไม่ใช่ของดี ร่างกายนี้มีแต่ความทุกข์ ทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้น ทุกข์เพราะไม่อยู่ในอำนาจบังคับ จิตใจนี้มีแต่ความทุกข์ ทุกข์เพราะความไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้น ทุกข์เพราะไม่เป็นไปตามใจปรารถนา

เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป มันก็จะรู้สึกกายนี้ใจนี้มันของน่าเบื่อ มันก็จะลดละความรักใคร่หวงแหนในร่างกายในจิตใจ เบื้องต้นมันก็จะลดละความหวงแหนในร่างกาย เพราะร่างกายถึงมันเปลี่ยนแปลงช้า แต่มันเปลี่ยนแปลง พอเปลี่ยนแปลงแล้วมันเห็นง่าย มันดูง่าย เวลาไม่สบาย ไม่สบายทีหนึ่งตั้งหลายวัน บางคนไม่สบายตั้งหลายเดือน

หลวงพ่อเคยไม่สบายเป็นปีเลย เมื่อปี 2559 เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ไม่สบายนาน ร่างกาย เดี๋ยวหมอก็ตรวจโน่นตรวจนี่ เจาะโน่นเจาะนี่อยู่เรื่อยๆ ร่างกายนี้มีแต่ทุกข์ ดีที่เราฝึกจิตใจมาแต่เด็ก แยกขันธ์ได้ ร่างกายมันทุกข์แต่ใจมันไม่ทุกข์ ใจมันก็สงบสุขอยู่อย่างนั้น แต่คนทั้งหลายที่ไม่ได้ฝึกจิตฝึกใจ พอร่างกายเป็นทุกข์ จิตใจก็เป็นทุกข์ไปด้วย

แต่ทุกข์แบบนี้ไม่เกิดปัญญา ทุกข์อย่างนี้มันทุกข์ทรมาน แล้วมันก็คิดว่าเดี๋ยวก็หายๆ มันมองไม่เห็นหรอกว่าร่างกายนี้มีแต่ทุกข์ล้วนๆ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย มันเห็นร่างกายเวลาไม่สบาย ร่างกายเป็นทุกข์ เดี๋ยวหายป่วยแล้วร่างกายก็เป็นสุขขึ้นมาอีกแล้ว มันเลย ไม่หมดความยึดมั่นถือมั่นหรอก

 

ทุกอย่างมีความทุกข์ซ่อนอยู่

ถ้าเราเจริญสติเจริญปัญญา เรียนรู้กายรู้ใจเรื่อยๆ เห็นความจริงของมัน ร่างกายที่มีความสุขมันก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ร่างกายที่มีความทุกข์มันก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ร่างกายเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์อะไร เดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็ทุกข์ขึ้นมาอีก ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์อีก จะสั่งให้ร่างกายมีแต่ความสุขอย่างเดียวก็สั่งไม่ได้ มันน่าเบื่อ ทำไมเราต้องอยู่กับงูพิษ มันจะรู้สึกอย่างนั้น

ร่างกายนี้ที่เรารักเราหวงแหน เหมือนเรากำลังกอดงูเห่าอยู่ ตอนงูเห่ามันอารมณ์ดี มันก็ไม่ว่าอะไรเรา อารมณ์ร้ายมันก็กัดเรา ร่างกายนี้ตอนมันยังไม่เจ็บป่วย เราก็รู้สึก แหมดี ยังหนุ่มยังสาวจะรู้สึกดี พอเจ็บป่วยพอแก่ คราวนี้ร่างกายที่เราอุตส่าห์เลี้ยงอย่างดี ประคบประหงมอย่างดี ตื่นเช้าขึ้นมา พาไปอาบน้ำ พาไปอึไปฉี่ พาไปกินข้าว เลี้ยงดูอย่างดี หาเสื้อผ้าสวยๆ มาให้ใส่ หารถยนต์มาให้มันนั่ง ปรนนิบัติดูแลอย่างดี เหมือนเราเลี้ยงงูเห่าไว้ตัวหนึ่ง เลี้ยงดูอย่างดี มันก็ยังไม่อาละวาด ถึงจุดหนึ่งมันก็อาละวาด ร่างกายนี้มันก็อาละวาดเราแล้ว มันแก่ มันเจ็บ มันตาย ดูลงไปเรื่อยๆ ร่างกายไม่ใช่ของดีหรอก เหมือนเราเลี้ยงงูเห่าอยู่ทั้งตัว อย่างไรวันหนึ่งก็ต้องกัดเราแน่นอน พอเห็นอย่างนี้ มันก็เบื่อร่างกาย ร่างกายไม่ใช่ของดี ของวิเศษ

เพราะฉะนั้นการที่เราอยู่กับโลก ไม่ได้เรียนธรรมะ เราจะเห็นว่าร่างกายนี้สุขบ้างทุกข์บ้าง แต่ถ้าเราเรียนธรรมะ เราจะรู้เลย มันไม่ได้มีความสุขที่แท้จริง ทุกอย่างมีความทุกข์ซ่อนอยู่ บางครั้งก็ซ่อนมิด บางครั้งก็ซ่อนไม่มิด โผล่ขึ้นมาให้เรารู้ ฉะนั้นเรียนรู้มัน แล้วก็รู้สึกร่างกายไม่ใช่ของดีของวิเศษอะไรหรอก ใจมันก็จะคลายออก ใจมันไม่ยึดถือในร่างกาย

คราวนี้ร่างกายแก่ก็เรื่องของร่างกาย ไม่ใช่เราแก่ ร่างกายเจ็บก็เรื่องของร่างกาย ไม่ใช่เราเจ็บ ร่างกายตายก็เรื่องของร่างกาย ไม่ใช่เราตาย มันไม่มีเรา ร่างกายมันก็เป็นแค่สมบัติของโลก ยืมเขาใช้เดี๋ยววันหนึ่งก็ต้องคืนเขาไป ความรักความหวงแหนในร่างกายไม่มี พอเราหมดความรักความหวงแหนในร่างกายแล้ว ความทุกข์เพราะร่างกายจะไม่มี

การปฏิบัติขั้นต่อไปมันก็จะลงมาที่จิต มันจะรักมันจะหวงแหนจิต สังเกตไหมพวกเรา พยายามป้อนจิตด้วยอารมณ์ที่ดีเสมอ พยายามป้อนมัน พยายามเลี้ยงมัน หาอารมณ์ที่ดีมาให้มันตลอดเวลา อะไรที่ตัณหามันบอกว่าทำอย่างนี้สิแล้วจิตจะมีความสุข เราก็ดิ้นรนแสวงหามาป้อนให้จิต ไปหาเมียสวยๆ สิ จะได้มีความสุข ก็ดิ้นรนหามา หาเงินเยอะๆ แล้วจะมีความสุข ตอนหาเงิน เครียดจะตายไป หาๆๆ ไป ยิ่งหายิ่งเมา หาเท่าไรก็ไม่หยุด เพราะกลัวว่ามีเงินน้อยเดี๋ยวความสุขจะน้อย นี่ถูกมันหลอก

เราถูกตัณหาหลอกให้ดิ้นๆๆ เที่ยวแสวงหาอารมณ์ที่น่าพอใจมาป้อนให้จิตมันบริโภค พออันนี้ป้อนเสร็จมันก็บอกแล้ว อันนี้ไม่มีความสุขแล้ว หาอารมณ์อื่นดีกว่า ทำไมป้อนเข้ามาแล้ว ได้มาแล้ว ไม่มีความสุข จิตมันก็เป็นของที่แปรปรวนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ได้อย่างนี้มานึกว่าจะมีความสุข มีความสุขแวบเดียว เดี๋ยวก็อยากอย่างอื่นอีกแล้ว

จิตใจนี้มันไม่มีความสุขหรอก เพราะจิตใจมันเป็นทาส จิตใจของเราที่เกิดมามันเป็นทาสโดยที่ไม่รู้สึกตัว มันไม่เคยเป็นอิสระเลย มันเป็นทาสของตัณหา ตัณหาสั่งมันตลอดเวลา ทำโน่นสิ อย่าทำนี่สิ สั่งเราตลอดเวลา จงแสวงหาอารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจ ได้อารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจมา จงรักษาอารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจไว้ จงหลีกเลี่ยงอารมณ์ที่ไม่เพลิดเพลินไม่พอใจ

ตัณหามันสั่งตลอดเวลา ไปสังเกตจิตตนเองสิ ตัณหาเกิดทั้งวันเลย วันหนึ่งนับครั้งไม่ถ้วน เดี๋ยวอยากนั้นเดี๋ยวอยากนี้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจิตไม่เคยเป็นอิสระ จิตเป็นทาสของตัณหาอยู่ตลอดเวลา คนที่เป็นทาสมันจะมีความสุขได้อย่างไร แล้วมันไม่ใช่ทาสที่ได้รับความเมตตากรุณา อย่างเมืองไทย ทาสเมืองไทยกับทาสยุโรป ทาสอเมริกาไม่เหมือนกัน เมืองไทยถึงจะมีทาส แต่มันอยู่เหมือนกับคนในครอบครัวกัน ดูแลซึ่งกันและกัน เราไม่ได้มากดขี่ทาส

อย่างฝรั่งอยู่ๆ มันก็ไปจับคนมาเป็นทาส ของเราคนมาสมัครเป็นทาสจะได้ไม่ต้องไปเสียภาษีมาก อย่างฝรั่งเที่ยวไปจับคนแอฟริกาไปเป็นทาส คนอังกฤษก็เคยจับคนไอร์แลนด์ไปเป็นทาสอะไรอย่างนี้ แยก แยกผัวแยกเมีย แยกลูก แยกพ่อ แยกแม่ ทาสไทยไม่เคยถูกแยกอย่างนั้น ก็อยู่กันเป็นครอบครัว ช่วยกันทำมาหากิน อยู่กับเจ้านาย ตัณหามันเป็นนายทาสแบบฝรั่ง ไม่ใช่นายทาสแบบไทย เป็นนายทาสอย่างฝรั่ง มันกดขี่ มันบังคับจิตใจของเราทั้งวันทั้งคืนเลย ไม่เคยได้หยุดเลย

เพราะฉะนั้นเราสังเกตดูสิ จิตใจเราไม่มีอิสระ จิตใจเราเป็นทาส ไม่มีความสุขที่แท้จริง เฝ้ารู้เฝ้าดู เวลาตัณหาเกิดทีไรความทุกข์เกิดทุกที ดูลงไปอย่างนี้เลย แล้วเราจะเห็นจิตใจนี้ไม่เคยมีความสุข เพราะจิตใจนี้ไม่ค่อยว่างจากตัณหาหรอก มีความทุกข์เกิดขึ้นตลอดเวลา เฝ้ารู้เฝ้าดู

ตอนหลวงพ่อเป็นโยมภาวนา หลวงพ่อพบว่าจิตเหมือนคนติดคุก มันถูกขังอยู่ในคุก แล้วมันก็เป็นคุกที่ป่าเถื่อน ตัณหาเป็นผู้คุมเราอีกที แล้วสั่งงานเราอยู่ในคุกตลอดเวลา คุกที่ขังจิตมันเคลือบครอบคลุมจิตอยู่ ตัวนี้คือตัวอาสวกิเลส มันครอบคลุมจิตใจเราไว้ ห่อหุ้มจิตใจเราไว้ แทรกซึมเข้าไปในจิตใจ แล้วก็ผลักดันให้เกิดตัณหาบงการบังคับจิตใจทั้งวันทั้งคืน

พอภาวนามาเห็นตรงนี้ หลวงพ่อยอมไม่ได้แล้ว แต่เดิมคิดว่าเราอิสระ แต่ตอนนี้รู้ความจริงแล้วว่าจิตใจเราไม่ได้อิสระ จิตใจเราเกิดมาก็เป็นทาสแล้ว ยอมไม่ได้ ต้องแหกคุกนี้ให้ได้ ถ้ายังทำลายคุกอันนี้ไม่ได้ จะไม่เลิกปฏิบัติหรอก คล้ายๆ หน้าที่ของเราคือแหกคุก แหกคุกก็คืออาสวกิเลสมันห่อหุ้มจิตใจเราไว้ แล้วตัณหามันก็บงการจิตใจเรา

เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป เรียนรู้ลงไป ในที่สุดก็ทำลายนายทาสตัวนี้ลงไป แต่มันทำลายเป็นระดับๆ ไป อยู่ๆ ไปทำลายตัณหา ทำไม่ได้ จะทำลายตัณหาได้ต้องทำลายอวิชชาได้ ความไม่รู้ ของเราตอนนี้ยังไม่ถึงจุดนั้น ของเราภาวนาไป เห็นไปร่างกายไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง จิตใจไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง เพราะจิตใจเป็นของที่เราสั่งอะไรก็ไม่ได้ ดูอย่างนี้ก่อน แล้วขั้นปลายค่อยไปดูว่าร่างกายคือตัวทุกข์ จิตใจคือตัวทุกข์

ในเบื้องต้นที่พวกเราจะฝึกกัน ฝึกแค่ว่า ให้เห็นว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา จิตใจไม่ใช่ตัวเรา ฝึกเอาตรงนี้ก่อน การปฏิบัติก็ต้องฝึกเป็นขั้นเป็นตอนไป เหมือนเรียนหนังสือ ก็ต้องเรียนประถมก่อนแล้วไปเรียนมัธยม แล้วไปเรียนปริญญาตรี โท เอกอะไร เป็นขั้นๆ ไป เรียนข้ามขั้นทำไม่ได้ มันเรียนไม่สำเร็จ ฉะนั้นเบื้องต้นพยายามดูลงไปร่างกายนี้ มันเป็นตัวเราที่แท้จริงหรือเปล่า เราสั่งมันได้จริงๆ หรือเปล่า จิตใจนี้เป็นตัวเราที่แท้จริงไหม เราสั่งมันได้ไหม

อย่างร่างกายเรานั่งอยู่ เราสั่งได้ไหมว่าอย่าเมื่อย สั่งได้ไหมว่าอย่าหิว อย่าหนาว อย่าร้อน อย่ากระหายน้ำ อย่าปวดอึ อย่าปวดฉี่ อย่าเจ็บไข้ได้ป่วย ดูสิ เราสั่งได้จริงไหม ดูของจริง เรียนรู้เข้ามาที่ร่างกายของเรา หรือบางคนก็ตัดตรงเข้าไปที่จิตใจเลย แล้วแต่ความถนัด ถ้าตัดตรงเข้าที่จิตได้ ก็เข้าที่จิตเลย ถ้าเข้าที่จิตไม่ได้ เข้ามาทางกาย เพราะกายไปบ้านของจิต จิตเป็นเจ้าของบ้าน เราจะไปตีหัวเจ้าของบ้าน เราหาตัวมันไม่เจอ เราก็ไปเฝ้าหน้าบ้านมัน เดี๋ยวก็เจอตัวมัน

 

ดูกายก็เพื่อให้เห็นจิต ดูจิตเพื่อให้เห็นธรรม

ฉะนั้นถ้าเราดูจิตได้ เราดูจิตไปเลย หลวงพ่อเรียนจากหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์ไม่สอนหลวงพ่อให้ดูกาย ท่านสอนตัดตรงเข้ามาที่จิตเลย เพราะว่ากำลังจิตของหลวงพ่อมันแข็งแรง หลวงพ่อฝึกสมาธิมาแต่เด็ก จิตมันเป็นผู้รู้ ไม่ใช่ผู้หลง จิตมันเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอยู่โดยอัตโนมัติ ไม่ได้เจตนาแล้ว เพราะฉะนั้นพอหลวงปู่ดูลย์ท่านบอกให้ดูจิต ท่านไม่ได้ให้หลวงพ่อไปดูกายแล้ว หลวงพ่อก็ดูจิต ดูไม่นานก็เข้าใจ จิตไม่ใช่เราหรอก

ถ้าจิตไม่ใช่เรา ทุกอย่างที่จิตรู้มันจะเป็นเราได้อย่างไร มันก็ไม่ใช่เราไปด้วย อันนี้ไม่ใช่ตรรกะ มันเป็นความเข้าใจของจิตเอง แล้วก็รู้ตัวเรามันไม่มีจริงหรอก มีแต่ของที่เกิดแล้วก็ดับ มีแต่ของที่บังคับไม่ได้ เฝ้าดูจิต ก็เห็นจิตมันเกิดดับตลอดเวลา เห็นจิตมันเป็นของบังคับไม่ได้ เห็นอนิจจัง เห็นอนัตตานั่นล่ะ ดูไปเรื่อยๆ จนมันเข้าใจความจริง จิตไม่ใช่เราหรอก

ตอนที่มันเข้าใจทีแรก มันตื่นเต้น มันอุทานเสียงดังเลยว่า เอ๊ะ จิตไม่ใช่เรา เป็นของที่ไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น ไม่เคยนึก จิตไม่ใช่เรา ไม่เคยคิดถึงเลย ไม่เคยได้ยินด้วย พอภาวนาเห็นไตรลักษณ์ของจิตก็เข้าใจ จิตมันไม่ใช่เรา พอเห็นตรงนี้แล้วก็ออกไปดูไปฟังครูบาอาจารย์องค์อื่นๆ บ้าง หาประสบการณ์เพิ่ม

พอหลวงปู่ดูลย์ท่านรับรองแล้วว่าหลวงพ่อไม่หลงทางแล้ว หลวงพ่อก็เลยกล้าออกไปดูโน่นดูนี่ ก็เข้าใจแต่ละแห่งเขาภาวนา บางที่มีอาจารย์ที่ดี มีลูกศิษย์ที่ดีบางที่มีอาจารย์ดี แต่ไม่มีลูกศิษย์ดี บางที่ไม่มีทั้งลูกศิษย์และอาจารย์ที่ดี ตาบอดจูงคนตาบอดไปด้วยกัน อย่างนั้นก็มี เราเห็นเราก็ไม่ว่าอะไรหรอก ก็แค่รู้แค่เห็นไป

ไปดูสำนักต่างๆ ที่มีชื่อเสียง สายท่านพุทธทาส ท่านสอนอานาปานสติ อานาปานสติก็เรื่องกาย สายโกเอนก้าก็ทำอานาปานสติก่อนแล้วก็มาดูกาย สายพองยุบ เขาก็ดูท้องพอง ดูท้องยุบ อันนี้ก็กาย สายวัดป่าทั่วไปก็พุทโธ แล้วก็พิจารณากาย ไปที่ไหนๆ มีแต่กาย เอ๊ะ เราทำไมภาวนาผิดชาวบ้านเขา ทำไมเรามาดูที่จิต คนอื่นเขากายทั้งนั้นเลย ไปที่ไหนก็มีแต่กาย สำนักไหนก็กายทั้งนั้นล่ะ

ก็เลยกลับมาหาหลวงปู่ ไปถามหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ครับ ผมไปไหนๆ ก็เห็นแต่ครูบาอาจารย์ที่โน่นที่นี่ สอนแต่เรื่องกาย หลวงปู่ให้ผมดูจิตแล้วผมจะต้องกลับไปดูกายไหม ไปถามท่านอย่างนี้เลย เพราะเห็นใครๆ เขาก็ดูกาย หลวงปู่มองด้วยสายตาสังเวช สายตา จำสายตาท่านได้เลยเวลาเราถามอะไรโง่ๆ ท่านมองแบบสังเวชใจ สงสาร ท่านบอกว่า “ถ้าดูจิตได้แล้วจะเอาอะไรกับกาย กายเป็นของทิ้ง” ท่านบอกอย่างนี้

พอหลวงพ่อได้ยินอย่างนี้ เราก็หมดความดิ้นรนที่ว่าจะต้องไปดูกาย เพราะเรามาถึงจิตแล้ว จะไปดูกายทำไม เข้าไปหาครูบาอาจารย์ กระทั่งหลวงตามหาบัว เข้าไปหาหลวงตามหาบัว ไปถามเรื่องดูจิต ท่านก็สอนดูจิต ไม่เคยมาสอนหลวงพ่อดูกายเลย หลวงปู่เทสก์เข้าไป ท่านก็ให้ดูจิต ครูบาอาจารย์แต่ละองค์ๆ ท่านก็สอนให้หลวงพ่อดูจิต กระทั่งหลวงปู่สิม หลวงปู่สิมก็สอน อย่าเอาจิตไว้ตรงนั้น กิเลสไม่ได้อยู่ข้างในอย่างนี้ สอน ก็เรื่องของจิตทั้งนั้นล่ะ

เพราะฉะนั้นเราดูจิตได้ก็ดูจิตไป ถ้าดูจิต เราดูอะไรบ้าง เราก็ดูความไม่เที่ยงของจิต จิตบางดวงสุข บางดวงทุกข์ บางดวงไม่สุขไม่ทุกข์ บางดวงดี บางดวงโลภ บางดวงโกรธ บางดวงหลง บางดวงฟุ้งซ่าน บางดวงหดหู่ บางดวงเป็นผู้รู้ บางดวงเป็นผู้คิด บางดวงเป็นผู้หลงไปดู หลงไปดูรูป ไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย หลงไปคิดนึกทางใจ หลงไปเพ่งทางใจ เห็นจิตมันเกิดดับๆ หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงทั้งวันทั้งคืน

มันเกิดดับอยู่ที่ไหน เกิดดับอยู่ที่ใจเรานี่เอง เกิดดับ แล้วก็อีกส่วนหนึ่งก็ไปเกิดดับที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย รวมความแล้วจิตเกิดดับอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทางอายตนะทั้ง 6 จิตมันก็เกิดดับอยู่ที่อายตนะทั้ง 6 นั่นล่ะ เฝ้ารู้เฝ้าดู ก็รู้เลยจิตไม่เที่ยง จิตไม่ใช่ตัวเรา จิตจะดี หรือจิตจะเลว จิตจะสุข หรือจิตจะทุกข์ จิตจะดูรูป หรือฟังเสียง หรือดมกลิ่น หรือลิ้มรส หรือรู้สัมผัสทางกาย หรือคิดนึกทางใจ หรือเพ่งทางใจ สั่งไม่ได้ จิตมันทำงานได้เอง

หลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อดูจิตๆ หลวงพ่อเห็นจิตมันทำงานได้เอง เราไม่ได้สั่งให้ดูเลย มันก็ไปดู ไม่ได้สั่งให้คิด มันก็คิดได้เอง เฝ้ารู้เฝ้าดูไปเรื่อยๆ ใช้เวลาไม่มาก จิตมันก็ยอมรับความจริง มันจำนนกับข้อเท็จจริง จิตไม่ใช่เราๆ ไม่อยู่ในอำนาจ เป็นอนัตตา เห็นอย่างนี้ เฝ้ารู้เฝ้าดูไป

บางท่านเข้ามาดูจิตตรงๆ ไม่เห็น เพราะจิตเป็นของละเอียด เป็นของประณีต ถ้าสติเราไม่ว่องไว สมาธิเราไม่มากพอ เรายังเห็นจิตไม่ได้ ท่านก็บอกให้ดูกายไปก่อน หลวงปู่สุวัจน์ ท่านเล่าให้หลวงพ่อฟัง ท่านไปเรียนกับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นก็สอนท่านบอก “ดูจิตได้ให้ดูจิต ดูจิตไม่ได้ให้ดูกาย ดูจิตไม่ได้ ดูกายไม่ได้ ให้ทำความสงบไว้” ทำความสงบเพื่อให้เกิดกำลังจะมาดูกายดูจิตอีก

ดูกายก็เพื่อให้เห็นจิต ดูจิตเพื่อให้เห็นธรรม ท่านสอนอย่างนั้น ดูจิตแล้วเห็นธรรมอะไร ธรรมะ กุศลก็เกิดที่จิต อกุศลก็เกิดที่จิต มรรคผลก็เกิดที่จิต ธรรมะมันก็อยู่ที่จิต คอยรู้คอยดูอยู่ ถ้ายังเห็นจิตไม่ได้ ดูกายไปก่อน คล้ายๆ หาเจ้าของบ้านไม่เจอ ไปเฝ้าหน้าบ้านมันก่อน เดี๋ยวก็เจอ กายเป็นบ้าน จิตเป็นเจ้าของบ้าน เป็นเรือนที่อาศัยอยู่

ฝึก ฝึกเอา จนกระทั่งรู้แจ้งเห็นจริง มันก็จะทุกข์น้อยลงๆๆ มันก็ห่างโลกมากขึ้นๆ โลกก็ไกลๆ ออกไปสุดท้าย มันก็พ้นโลก พวกเราภาวนา ที่หลวงพ่อสังเกตดู พวกเราจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้โสดาบัน แต่จิตมันเริ่มพ้นโลกออกมาแล้ว ห่างโลกออกมาแล้ว รู้สึกไหม จิตกับโลกมันห่างกันออกมาๆ เราไม่ได้ดึงมัน มันห่างเอง

เพราะจิตมันไม่โง่ที่จะเข้าไปคลุก มันไม่ใช่แมลงวันที่จะจมลงไปในอุจจาระ ไม่ใช่หนอนที่จะไปไชขี้หมาอะไรอย่างนี้ จิตมันเริ่มฉลาดขึ้น มันก็ถอนตัวออกมาจากของสกปรก อะไรสกปรกก็ขันธ์ 5 นั่นล่ะ เป็นก้อนทุกข์ จิตที่ฉลาดมันก็คลายตัวออกจากขันธ์ 5 ถึงยังไม่ได้โสดาบันก็คลายออกมาบ้าง หลงเข้าไปบ้าง คลายออกมาบ้าง

 

เรียนรู้ความปรุงแต่ง จนวันหนึ่งพ้นจากความปรุงแต่ง

ฝึกไป แล้วชีวิตมันจะค่อยร่มเย็นเป็นสุขมากขึ้นๆ เบื้องต้นก็เคยทุกข์นาน ก็จะทุกข์สั้นลง เคยทุกข์มากๆ ทุกข์หนักๆ ก็จะทุกข์น้อยๆ ทุกข์เบาๆ ทุกข์พอกระเส็นกระสาย ฝึกเรื่อยๆ ไป ต่อไปจิตชำนิชำนาญในการปฏิบัติ มันก็จะเห็นอะไรต่ออะไรได้เยอะแยะเลย มันจะเห็นสภาวะ 2 อัน อันหนึ่ง เห็นสภาวะที่ปรุงแต่ง เวลาเราภาวนามันจะมีความปรุงแต่ง อะไรที่เป็นความปรุงแต่ง ก็ขันธ์ 5 รูปธรรม นามธรรมนี่ล่ะคือความปรุงแต่ง แล้วถ้าเราฝึกดีเราจะเห็นการวาง

เพราะฉะนั้นความปรุงแต่งเราห้ามไม่ได้ จิตมันจะปรุงหรือร่างกายมันก็เป็นสังขาร เป็นความปรุงแต่ง จิตก็เป็นความปรุงแต่ง เราไปห้ามมันไม่ได้ เราไปเปลี่ยนมันไม่ได้ แต่เราหัดวางมันได้ ถ้าเราเห็นมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ในที่สุดเราก็จะวางสิ่งปรุงแต่ง คือวางขันธ์ 5 วางรูปวางนามได้ ขอให้เห็นไตรลักษณ์เถอะ แล้วสุดท้ายจะวางได้

หรือเวลาเราภาวนา ถ้าพูดในมุมที่เล็กๆ อย่างเวลาโทสะมันเกิดอย่างนี้ โทสะเป็นความปรุงแต่งผุดขึ้นมาในใจเรา เราไม่ต้องนั่งแก้ เราภาวนารู้ไป แต่ต่อไปพอชำนาญ ความปรุงแต่งคือโทสะผุดปุ๊บ จิตวางปั๊บเลย รู้ปุ๊บวางปั๊บเลย ไม่ไปหยิบไว้ ไม่ไปหยิบ ไม่ไปฉวยมัน เราเรียนรู้ความปรุงแต่ง สิ่งที่เรียกว่าความปรุงแต่งก็คือขันธ์ 5 คือรูป คือนาม เรียนรู้ให้มันเห็นว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

การที่เห็นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นั่นล่ะเรียกว่าเห็นทุกข์ พอเราเห็นความจริงของมันคือเห็นทุกข์แล้ว จิตมันจะวางของมันเอง มันจะมีปัญญาตัวที่ทำให้วางคือตัวปัญญา เพราะฉะนั้นมันทำหน้าที่ของมัน เราสะสมของเราไป พอไหวไหม เรียนรู้ความปรุงแต่ง จนวันหนึ่งพ้นจากความปรุงแต่ง

สรุปง่ายๆ แต่ทำยาก สรุปง่าย เรียนรู้ความปรุงแต่ง ก็คือกายใจเรานี่ล่ะ คือความปรุงแต่ง เรียนรู้จนกระทั่งพ้นความปรุงแต่ง วางได้ ที่พ้นได้วางได้ เพราะเห็นทุกสิ่งที่ปรุงแต่งไม่มีอะไร เป็นทุกข์ นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเลย เป็นทุกข์เพราะไม่เที่ยง เป็นทุกข์เพราะถูกบีบคั้น เป็นทุกข์เพราะไม่อยู่ในอำนาจบังคับอะไร เฝ้ารู้ลงไป รู้ทันความปรุงแต่งจนกระทั่งจิตปล่อยวางพ้นจากความปรุงแต่งได้ ย่อๆ ก็แค่นี้ล่ะ การปฏิบัติ

รู้อะไร รู้ความปรุงแต่ง อะไรที่เรียกว่าความปรุงแต่ง ขันธ์ 5 รูปนาม รู้ตัวนี้ ส่วนเรื่องที่คิดมโนอะไรนั่น ไม่จัดว่าเป็นความปรุงแต่ง นั่นเป็นอาการที่จิตมันฟุ้งซ่านออกไปเท่านั้น อย่างจิตมันฟุ้งซ่าน ตัวนี้มีสภาวะแต่มันไปฟุ้งเรื่องอะไร อันนี้ไม่มีสภาวะแล้ว เขาเรียกอารมณ์บัญญัติแล้ว ฟุ้งๆ ไป เพราะฉะนั้นจิตคิด รู้ว่าจิตคิด อันนี้ดี จิตคิดเรื่องอะไร ไม่สำคัญ เรื่องที่จิตคิดไม่มีสภาวธรรมรองรับ เขาเรียกอารมณ์บัญญัติ แต่อาการที่จิตคิด มีสภาวะรองรับ

ฉะนั้นเราเรียนเข้ามาให้เห็นสภาวธรรม รูปธรรม นามธรรม คือความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง ความปรุงแต่งตัวนี้คือคำว่าสังขาร เป็นสังขารที่ครอบคลุมกว้างขวางทั้งขันธ์ 5 ในขันธ์ 5 ยังมีสังขารอยู่อีกตัวหนึ่ง เรียกว่าสังขารขันธ์ อันนั้นคือความปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงไม่ดีไม่ชั่ว แต่สังขารในภาพรวม ภาพใหญ่ก็คือรูปธรรมนามธรรมทั้งหมด รวมเรียกว่าสังขาร หรือบางทีเรียกสังขตธรรม สังขตธรรม พ้นจากสังขารก็เป็นอสังขต อสังขตคือนิพพาน เราจะพ้นจากสังขารได้ ก็ต้องรู้สังขารตามความเป็นจริง เรียกรู้โลกแจ่มแจ้งก็วางโลก รู้สังขารจนวันหนึ่งวางสังขารไปก็พ้นจากทุกข์ทั้งปวง

ง่ายๆ เออ พูดง่าย แต่ทำก็ยากเหมือนกันล่ะ ทำลำบาก ต้องถือศีล 5 ทุกวันต้องปฏิบัติในรูปแบบ ทำในรูปแบบก็คือทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วเกิดอะไรขึ้นกับจิตใจให้รู้ทัน ทำกรรมฐานไป จิตไปคิด รู้ทัน จิตไปเพ่ง รู้ทัน ฝึกอย่างนี้เรื่อยๆ แล้วงานที่สามก็คือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน งานที่หนึ่ง ตั้งใจรักษาศีล งานที่สองฝึกในรูปแบบ จนกระทั่งรู้เท่าทันจิต จนกระทั่งจิตตั้งมั่น เด่นดวงขึ้นมา งานที่สามคือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน

เจริญสติในชีวิตประจำวัน ก็คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ก็ให้มันกระทบ แต่กระทบแล้วมันเกิดความดิ้นรนปรุงแต่ง เกิดความสั่นสะเทือนขึ้นในจิตใจให้รู้ทัน เช่น ตาเห็นผู้หญิงสวยๆ จิตเกิดราคะอย่างนี้ ไม่ได้รู้ที่ผู้หญิงสวย แต่รู้ที่ราคะ โทสะเกิดขึ้น รู้ว่ามีโทสะ ไม่ใช่ไปรู้คนนี้ทำให้เราโกรธแล้วเราดูคนที่ทำให้โกรธ อันนั้นดูออกนอก ให้ดูที่ความรู้สึกโกรธ พอเราดูความรู้สึกโกรธ ความรู้สึกโกรธเป็นนามธรรม เป็นของถูกรู้เข้ามาอีกแล้ว จิตก็เกิดปฏิกิริยาถัดไปอีก เกิดไม่ชอบมัน อยากให้มันหาย ให้รู้ทันที่ไม่ชอบแล้วคราวนี้

อย่างทีแรกเราขับรถอยู่คนมาปาดหน้าเรา คนที่ขับรถปาดหน้าเราเป็นรูปที่เราไม่พอใจ เป็นสิ่งที่เราเห็นแล้วเราไม่พอใจ ความไม่พอใจเกิดขึ้น ไม่ต้องไปดูที่คนปาด ให้ดูที่ใจของเรา ใจเราโกรธแล้ว ให้รู้ที่ใจที่โกรธ พอใจเราโกรธแล้ว เราเป็นนักปฏิบัติ เราเห็นแล้วใจโกรธ อุ๊ย ไม่ดีเลย อยากละ ไม่ชอบความโกรธ ความโกรธเป็นอดีตไปแล้ว เป็นของถูกรู้ไปแล้ว เหมือนคนที่ขับรถนั่นล่ะ เป็นอดีตไปนานแล้ว ความโกรธก็เป็นอดีต ให้เรารู้ทันใจที่ไม่ชอบความโกรธนี้ อันนี้เป็นปฏิกิริยาล่าสุด ดูอย่างนี้

เพราะฉะนั้นเวลาเห็นสภาวะ เห็นของข้างนอก ให้รู้เข้ามาที่จิต จิตเรามีปฏิกิริยาอย่างไร พอรู้ที่จิตแล้ว เกิดยินดีให้รู้ทัน เกิดยินร้ายให้รู้ทัน เข้าไปอีกชั้นหนึ่ง ไม่ต้องจงใจรู้ ค่อยๆ ปฏิบัติ เดี๋ยววันหนึ่งก็รู้เอง ถ้าจงใจรู้ จะเที่ยวแสวงหา จะไปควานๆๆ หาแล้วฟุ้งซ่าน ใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นหัดรู้สภาวะ คือรู้กายรู้ใจของตัวเองไป รู้จนกระทั่งมันฉลาด มันเห็นไตรลักษณ์แล้วมันวาง วางมันก็ไม่ทุกข์แล้ว เพราะขันธ์ 5 มันคือตัวทุกข์ วางแล้วมันก็ไม่ทุกข์

 

 

เทศน์ให้ฟังเท่านี้ล่ะ วันนี้มีผู้ช่วยสอนหลายคน ผู้ช่วยสอนก็เหมือนเป็นพี่ พวกเรามาเรียนกับผู้ช่วยสอนก็เหมือนเป็นพี่ชายพี่สาวเรา เขาเกิดมาก่อนเรา คือเขาเห็นเส้นทางนี้ก่อนเรา เขาก็สอนเรา ก็อย่าดื้อ แล้วถนัดจะเรียนกับผู้ช่วยสอนคนไหนก็เอาคนนั้น อันนี้เป็นวิธีที่มีมาตั้งแต่พุทธกาล

สมัยเริ่มต้น พระพุทธเจ้าท่านสอนเอง ทุกคนพระพุทธเจ้าสอนหมดเลย พอคนมาเรียนมากขึ้นๆ พวกพระสาวกก็แบ่งเบาภาระท่าน คนก็เลือกเอา บางคนอยากแตกฉานมีความรอบรู้มากเป็นพหูสูต ก็ไปเรียนกับพระอานนท์ บางคนอยากได้ทิพยจักษุ มีตาทิพย์ก็ไปเรียนกับพระอนุรุทธ บางท่านชอบธุดงค์ ชอบแบบขัดเกลาตัวเองแบบรุนแรง ก็ไปเรียนกับพระมหากัสสปะ บางคนชอบมีฤทธิ์ก็ไปเรียนกับพระโมคคัลลานะ บางคนชอบมีปัญญาไปเรียนกับพระสารีบุตร มีอยู่คนหนึ่งคือเทวทัต ก็มีคนไปเรียนด้วยไม่ใช่น้อย พวกนี้พระพุทธเจ้าท่านชี้ กลุ่มนี้คือพวกปรารถนาลามก ท่านใช้คำว่าพวกนี้ปรารถนาลามก ก็ตามเทวทัตไป

ถ้าปรารถนาดีแต่ละด้านๆ ก็ไปเรียนกับผู้ช่วยสอนของพระพุทธเจ้า มันก็ที่หลวงพ่อนำมาใช้ทุกวันนี้ มันก็แบบที่พระพุทธเจ้าท่านเคยทำมา ไม่ใช่เราเป็นพระพุทธเจ้า แต่รูปแบบที่ท่านทำมาดีๆ เราก็เอามาใช้เท่านั้น แล้วทุกคนก็เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้านั่นล่ะ แต่ว่าอาศัยไปเรียนกับคนนี้ถูกกับจริตนิสัย หลวงปู่มั่นก็เหมือนกัน ยุคแรกท่านก็สอนเอง พอคนไปเรียนเยอะๆ ก็มีลูกศิษย์ที่เก่งๆ ขึ้นมา แต่ละคนก็ช่วยแบ่งเบาภาระครูบาอาจารย์ไป แต่ละองค์ก็มีหน้าที่ตามความถนัดไป อันนี้มันเป็นวิธีที่ชาวพุทธเราช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เราช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ประคับประคองช่วยเหลือกันด้วยความเมตตาสงสาร เพราะแต่ละคนก็ผ่านความทุกข์มาแล้ว

อย่างผู้ช่วยสอนเขาก็ผ่านความทุกข์มาเยอะ ภาวนาพอรู้หลักบ้างแล้ว พอเอาตัวรอดได้บ้าง ก็ช่วยพวกเราได้บ้างเท่าที่ทำได้ ช่วยกันประคับประคองกันไป ดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รักษาพระศาสนาเอาไว้ให้ได้ วิธีรักษาพระศาสนาเอาไว้คือเอาศาสนามาอยู่ในจิตเราให้ได้ ถ้าเราเข้าใจธรรมะแล้วเราก็ค่อยๆ ถ่ายทอดออกไป ถ้ายังไม่เข้าใจก็อย่ารีบถ่ายทอด เดี๋ยวเพี้ยน เพราะธรรมะไปอยู่ในจิตปุถุชนแล้วจะกลายเป็นสัทธรรมปฏิรูป หลวงปู่มั่นท่านบอกอย่างนี้

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
13 สิงหาคม 2566