ที่พักของจิต

เวลานั่งสมาธิ อย่าไปนั่งแต่งจิต เกือบร้อยละ 100 ของคนนั่งสมาธิไปนั่งแต่งให้จิตมันนิ่งๆ ทื่อๆ นั่งด้วยความรู้สึกตัว แล้วจิตมันไม่ดิ้นรน มันก็สงบ ตรงที่เราไปปรุงแต่งจิต จิตมันก็ต้องทำงาน มันเลยไม่ได้พัก สมาธิชนิดพักผ่อนไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย ฉะนั้นเราอย่าไปปรุงแต่งจิต ทำกรรมฐานของเราไปเรื่อยๆ จิตจะสงบหรือจิตจะฟุ้งซ่าน ก็ช่างมัน เรื่องของมัน ไม่ใช่เรื่องของเรา

อย่างเรานั่งหายใจ หายใจไป หายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึกไป แล้วใจฟุ้งซ่าน รู้ว่าฟุ้งซ่าน หายใจไป ไม่ไปบังคับให้จิตนิ่งๆ ให้จิตสงบ ส่วนใหญ่คนทำสมาธิ มันไม่ได้หลักตัวนี้ ก็ไปเพ่งเอาๆ บังคับเอาๆ จิตใจไม่สบาย ถ้าจิตใจไม่สบาย จิตใจจะไม่สงบ เพราะความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ จิตของเรา ถ้าเราไม่ไปวุ่นวายกับมัน มันก็สงบ สบาย มันผ่องใสโดยตัวของมันเอง พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า ธรรมชาติของจิตมันประภัสสร มันผ่องใสแต่เศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรมา หมายถึงกิเลสมันไม่ได้อยู่ประจำ มันก็ผ่านเข้ามา

อย่างเราคิดถึงการนั่งสมาธิ เรามีกิเลส เราอยากสงบ ตัวนี้ตัวโลภ อยากสงบ นี่กิเลสจรมาแล้ว จิตมันก็ไม่ผ่องใส ไม่ประภัสสร เดิมจิตมันประภัสสร มันสว่าง มันผ่องใส แต่มันไม่บริสุทธิ์ ฉะนั้นจิตโดยตัวของมันเอง มันผ่องใสอยู่แล้ว เราเอากิเลสเข้าไปใส่มัน จิตที่ผ่องใสก็ดับ กลายเป็นจิตที่มีกิเลสขึ้นมา

ฉะนั้นเวลาจะทำสมาธิ อย่าให้กิเลสมันครอบงำ ทำก็ทำไปเลย ใช้ใจปกติ ใช้ใจที่ปกติอันนี้ รู้ร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึกไป สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง หายใจไปสบายๆ ไม่ไปบีบ ไม่ไปเค้นจิต ถ้าไปเค้นจิตให้สงบ จิตจะเครียด จิตเครียดคือจิตมันทำงานแล้ว มันไม่ได้สงบแล้ว มีงานทำแล้ว หรืออยากดี ภาวนาแล้วอยากดี อยากสุขอะไรอย่างนี้ อันนั้นจิตมันต้องทำงาน จิตไม่ได้พักผ่อน

 

สมาธิเป็นของจำเป็น

เราทำสมาธิ เราไม่เข้าไปแทรกแซงจิต จิตมันจะได้พักผ่อนบ้าง มันถึงจะสงบ มันไม่ยากหรอก อาศัยสติสังเกตไปว่าที่เราลงมือปฏิบัติ เรานั่งสมาธิ อะไรอยู่เบื้องหลัง อยากสงบหรือเปล่า อยากดีหรือเปล่า หรือบางคนยิ่งหนักกว่านั้นอีก อยากรู้อยากเห็น เห็นผี เห็นเทวดา เห็นชาติหน้า เห็นชาติก่อนอะไรอย่างนี้ อย่างนั้นจิตมันทำงาน จิตไม่ได้พัก จิตก็เหมือนร่างกาย ก็ต้องการพักผ่อน ร่างกายทำงาน เราก็พามันพักผ่อนไป อาบน้ำอาบท่า พามันนอน ร่างกายก็สดชื่นขึ้นมา จิตทำงานหนักทั้งวัน คิด นึก ปรุง แต่งทั้งวัน ถ้าไม่ให้มันพักบ้าง จิตใจก็ไม่มีกำลัง

ฉะนั้นเราทำกรรมฐานก็แค่ว่าพาจิตมาพักอยู่กับอารมณ์กรรมฐานของเรา อย่างหลวงพ่อใช้อานาปานสติบวกกับพุทโธ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ให้จิตมันมาพักอยู่กับกรรมฐานนี้ล่ะ ไม่ได้หวังว่ามันจะดี มันจะสุข มันจะสงบ พอจิตมันมาอยู่กับอารมณ์กรรมฐานแล้วมันไม่ดิ้นรนปรุงแต่ง จิตมันก็อยู่ในสภาพเดิมของมัน คือมันประภัสสร มันผ่องใส สว่างอยู่ในตัวเอง ไม่มืดๆ ทึบๆ หนักๆ แน่นๆ แข็งๆ ซึมๆ ทื่อๆ อันนั้นของเก๊ทั้งหมดเลย

เราใช้ใจที่ปกติ แล้วอยู่กับอารมณ์กรรมฐานไป ไม่นานก็จะสงบ แล้วจิตจะมีกำลังขึ้นมาเพราะว่าเราหยุดใช้งานให้จิตทำงาน อย่างเวลาเรามีกิเลสขึ้นมา จิตก็ทำงานอุตลุดเลย มีราคะขึ้นมา จิตก็ดิ้นรนใหญ่ หาทางสนองราคะ มีโทสะขึ้นมาก็ดิ้นรน หาทางสนองโทสะ อย่างโกรธคน จิตก็ดิ้น ทำอย่างไรจะไปแก้แค้นมันได้ จิตที่มันดิ้นรน มันทำงานตลอดเวลา มันจะสูญเสียพลังงาน ไม่มีกำลัง ไม่ได้พักผ่อน

ฉะนั้นการปฏิบัติ เราทิ้งการฝึกจิตให้สงบไม่ได้ อันนี้เป็นสมาธิชนิดหนึ่ง เรียกว่าอารัมมณูปนิชฌาน เป็นของจำเป็น ถ้าจิตเราไม่เคยพักเลย ทำงานตลอดเวลา จิตมันจะไม่มีกำลัง โอกาสที่มันจะตั้งมั่น มันไม่ตั้งหรอก เพราะมันหมดแรง มันก็ล้มกลิ้งไปกลิ้งมา เหมือนคนไม่แข็งแรง ยืนอยู่ ก็ยืนไม่ได้นาน เดี๋ยวก็ล้มแล้ว

เพราะฉะนั้นทุกวันควรจะแบ่งเวลาทำความสงบจิตบ้าง ใช้กรรมฐานอะไรก็ได้ที่เราถนัด น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์กรรมฐานอันนั้นอย่างต่อเนื่อง แค่น้อมจิตหมายถึงเราไประลึกถึงอารมณ์กรรมฐานอันนั้นอย่างต่อเนื่อง เครื่องมือในการระลึกเรียกว่าสติ เพราะฉะนั้นทำสมถะให้จิตสงบก็ต้องอาศัยสติ ขาดสติจิตก็แอบไปทำงาน อยากดี อยากสุข อยากสงบ อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้

ความอยากเกิด จิตก็เกิดความดิ้นรน จิตเกิดความดิ้นรน จิตก็ไม่ได้พักผ่อน นานๆ จิตก็หมดแรง แล้วถ้าเราเจริญปัญญาในขณะที่จิตไม่มีกำลัง วิปัสสนูปกิเลสจะเกิดขึ้น จะหลอกเรานึกว่าบรรลุมรรคผลแล้ว บรรลุอะไร ยังทำสมาธิไม่เป็นเลย จะไปบรรลุมรรคผลอะไร เพราะฉะนั้นใช้จิตใจธรรมดาไปรู้อารมณ์ รู้กรรมฐานของเราไป

หลวงพ่อตอนเด็กๆ เรียนกับท่านพ่อลี ตอนนั้น 7 ขวบเอง เมื่อปี 2502 พ่อพาไปกราบท่านพ่อลี ตัวยังเล็ก ท่านชอบเด็ก เห็นเด็กๆ บางทีก็ให้นั่งตักแล้วก็สอนโน่นสอนนี่ บางทีท่านก็แจกขนม ท่านก็สอนหลวงพ่อ ท่านบอกกลับบ้านไป หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับหนึ่ง หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับสอง นับไปถึงเก้าหรือถึงสิบ จำไม่ได้แล้ว แล้วก็นับถอยหลัง เหมือนปล่อยจรวด พุทโธเก้า พุทโธ หายใจเข้าพุทออกโธเจ็ด เข้าพุทออกโธหก นับไล่ขึ้นไล่ลง

หลวงพ่อตอนนั้นยังเด็กมาก ยังไม่ได้เข้าโรงเรียนด้วยซ้ำไป นับถอยหลังไม่เป็น นับถอยหลังไม่เป็น ถ้านับถอยหลังจิตใจคิดวุ่นวาย มันก็รู้สึกว่าไม่ชอบ นับถอยหลังไม่ชอบ เราก็มาหายใจเข้าพุท หายใจออกโธนับหนึ่ง หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับสอง นับไปถึงร้อย แล้วก็เริ่มนับหนึ่ง ใหม่ ปรับกรรมฐานให้มันเหมาะกับจิตใจของเรา กรรมฐานอย่างนี้เราไม่ชอบ ทำไปก็ไม่สงบหรอก

เหมือนตอนไปเรียนกับหลวงตามหาบัว ตอนนั้นหลวงพ่อมีปัญหา คือหลวงพ่อทิ้งสมถะ ไม่ทำสมาธิเลย เดินปัญญารวดไปเลย จิตมันไปสว่างไปว่างอยู่ข้างนอก ไม่เห็น เป็นวิปัสสนูปกิเลสตัวหนึ่ง เรียกว่าโอภาส ไปถามท่าน ท่านบอกว่า พอท่านมองปร๊าด แล้วท่านก็ตอบเลย บอกว่า “ต้องเชื่อเรานะ ที่ว่าดูจิตนั้นดูไม่ถึงจิตแล้ว” เริ่มต้นอย่างนี้เลย บอกว่าดูจิตๆ ท่านบอก “ที่ว่าดูจิตนั้นดูไม่ถึงจิตแล้ว ต้องเชื่อเรานะ ตรงนี้สำคัญนะ เราผ่านมาด้วยตัวเราเอง อะไรๆ ก็สู้การบริกรรมไม่ได้” เพราะหลวงตาท่านถนัดพุทโธๆๆ ไปเรื่อยๆ

หลวงพ่อก็มาลองทำดู ท่านให้ทำบริกรรม เรามาบริกรรมพุทโธๆๆ ใจมันอึดอัด พุทโธเฉยๆ ใจไม่ชอบ เมื่อมาพิจารณาว่าทำไมท่านให้พุทโธ แสดงว่าสมาธิเราไม่พอแล้ว สมถะไม่พอ จิตไม่มีกำลังพอ จิตก็ไหลออกไปอยู่ในความว่าง เราก็กลับมาทำกรรมฐานที่ตัวเองถนัด หายใจเข้าพุท ออกโธ นับหนึ่ง หายใจอยู่ 28 ครั้ง จิตก็รวม ไม่ได้เจตนาให้จิตรวม จิตรวมเข้าที่เลย เข้าฐานเลย พอจิตรวม ถอยออกจากสมาธิมา แทบเขกหัวตัวเองเลย ที่ผ่านมาเรานึกว่าเราดูจิต เปล่า จิตไหลไปสว่างอยู่ข้างนอก ดูไม่ถึงจิตจริงๆ

เพราะฉะนั้นตัวสมาธิจำเป็น ถ้าจิตใจเราไม่มีสมาธิ อันแรกเลย ไม่มีกำลัง พอไม่มีกำลังแล้ว เราไปอุตริเดินปัญญา มันจะเกิดวิปัสสนูปกิเลส อย่างที่หลวงพ่อเจอเรียกว่า โอภาส เป็นวิปัสสนูปกิเลสตัวที่หนึ่งเลย แล้วนักดูจิตทั้งหลายจะเจอตัวโอภาส ส่วนใหญ่ที่เห็น มันสว่าง ว่างอยู่อย่างนั้น ฉะนั้นจิตต้องเข้าที่เข้าฐาน

การที่จิตเราตั้งมั่นเข้าฐานได้ ถึงฐาน อาศัยการทำสมาธินี่ล่ะช่วย เพราะฉะนั้นทุกคนต้องทำสมาธิ ถ้าอยากได้มรรคผลในชีวิตนี้ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด อะไรก็ได้ เพราะการทำสมถะไม่เลือกอารมณ์กรรมฐาน ใช้อารมณ์บัญญัติก็ได้ เช่น พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนังก็ได้ พิจารณาความตายก็ได้ พิจารณาคุณของพระพุทธเจ้า พิจารณาคุณของพระธรรม พิจารณาคุณของพระสงฆ์ พิจารณาคุณงามความดีของเทพเทวดา เทวดามีความดีอะไร ก็มีหิริโอตตัปปะ มีความละอายใจที่จะทำชั่ว มีความเกรงกลัวผลของการทำชั่ว นี่คุณสมบัติของเทวดา

หรือเราเจริญเมตตา กำหนดจิตคิดถึงสัตว์ทั้งหลาย ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ ขอให้มีความสุขอะไรอย่างนี้ อันนี้คือเจริญเมตตา เราคิดถึงสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ขอให้มันพ้นจากความทุกข์ อันนี้คือเจริญกรุณา กำหนดจิตให้ยินดีพอใจเวลาคนอื่นเขาได้ดี อันนั้นเรียกว่ามุทิตา แล้วถ้าเวลากำหนดลงไป ไปเจอเปรต อสุรกาย สัตว์นรก หรือเจอคนที่ลำบากอะไรอย่างนี้ เราพิจารณาแล้วเราช่วยไม่ได้ เราก็รู้ สัตว์ทั้งหลายเป็นไปตามกรรม เราช่วยเต็มที่แล้ว เขาลำบาก เราช่วยเต็มที่ เราช่วยไม่ได้ เราต้องมีอุเบกขา

ถ้าเราไม่มีอุเบกขา จิตที่มีเมตตา กรุณา มุทิตามันจะกลายเป็นอกุศลจิตแทน อย่างเรามีเมตตา มีความเป็นมิตรกับคนอื่นอะไรอย่างนี้ ไปๆ มาๆ บางทีเราไปหลงรักเขาเข้า อย่างเราเมตตาคนนี้มากๆ เมตตาไปเมตตามา กลายเป็นราคะ รักใคร่ผูกพันเขา อันนี้ต้องรู้ให้ทัน ถ้ารู้ทันแล้ว จิตมันจะเป็นกลาง มีอุเบกขา หรือเราเห็นคนตกทุกข์ได้ยาก เห็นหมาถูกรถชนอะไรอย่างนี้ เราก็พยายามช่วย อันนั้นเรียกว่ามีกรุณา อยากให้เขาพ้นทุกข์ แต่ช่วยไม่ได้จริงๆ มันตาย

หรือเราเห็นคนตกน้ำ เราก็ว่ายน้ำไม่เป็น ตะโกนให้คนอื่นช่วย ก็ไม่มีใครอยู่แถวนั้น จะหาไม้หาอะไรโยนไปให้ก็ไม่มี เห็นเขาจมน้ำตายต่อหน้าต่อตา เราพยายามเต็มที่แล้ว ช่วยเต็มที่ ช่วยเต็มที่ไม่ใช่ว่ายน้ำไม่เป็น โดดลงไปช่วย อันนั้นโง่ เรียกว่าไม่ประมาณตัวเอง ถ้าเราช่วยเต็มที่แล้วก็ไม่สำเร็จ เขาตาย เราก็ต้องพิจารณา สัตว์โลกมีกรรมเป็นของตัวเอง นี่เราคิดพิจารณาลงไป

ถ้าเรามีการคิดพิจารณาอยู่ เรียกว่าเป็นอารมณ์บัญญัติ ใช้ทำสมถะได้ พิจารณาความตาย พิจารณาปฏิกูลอสุภะ จิตก็จะสงบได้ อันนี้เป็นอารมณ์บัญญัติ ใช้อารมณ์รูปธรรมก็ได้ เช่น หายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก ลมหายใจเป็นตัวรูป เราน้อมจิตมาอยู่กับลม จิตไม่หนีไปที่อื่น จิตรู้ลมอย่างสบายๆ มีความสุข ใช้จิตใจที่สบายๆ เห็นร่างกายหายใจไป ใจก็จะรวมสงบ อย่างนี้เราใช้รูปธรรม ลมหายใจเป็นตัวรูปธรรม

หรือเราเดินจงกรม เราเห็นร่างกายมันเดินไป ไม่คิดนึกปรุงแต่งอะไร เห็นร่างกายมันเดินไปเรื่อยๆ อันนั้นเราได้สมถะ ได้ความสงบด้วยการดูรูป หรือเราใช้นามธรรมก็ได้ เช่น อย่างที่หลวงพ่อทำ เราดูจิตเรา เราเห็นจิตมันปรุงแต่ง พอรู้ทัน จิตมันก็ว่าง สว่างขึ้นมา เราน้อมจิตไปอยู่ในความว่าง ความสว่าง ก็พักอยู่ตรงนั้นได้ ตรงนั้นก็เป็นสมถะ ใช้นามธรรมได้

ตรงนี้มีสติ ถ้าขาดสติมันจะเหมือนที่หลวงพ่อเล่าเมื่อกี้ที่ต้องให้หลวงตามหาบัวแก้ให้ อันนั้นจิตไหลออกไปสว่างว่าง แต่ไม่มีสติ รู้ไม่ทันว่าจิตออกไปแล้ว อันนั้นใช้ไม่ได้ แต่ถ้าเราต้องการพักผ่อน เราน้อมจิตไปอยู่กับความว่าง มีสติรู้ว่าจิตอยู่กับความว่าง ใช้ได้ จิตก็สงบ หรือใช้อารมณ์อีกชนิดหนึ่ง คืออารมณ์นิพพาน

 

“พอเรามีที่อยู่ จิตใจเราก็มีความสุข มีเรี่ยวมีแรงขึ้นมา พร้อมที่จะต่อสู้กับกิเลสต่อไป”

 

อารมณ์มี 4 อัน สิ่งที่เรียกว่าอารมณ์ แปลว่าสิ่งที่ถูกรู้ สิ่งที่คู่กับอารมณ์ก็คือจิต จิตคือผู้รู้อารมณ์ อารมณ์คือสิ่งที่ถูกรู้มี 4 จำพวก อารมณ์บัญญัติคือเรื่องราวที่เราคิด อารมณ์ที่เป็นรูปธรรมอย่างเรานั่งอยู่ เห็นร่างกายมันนั่งอยู่ ตัวร่างกายเป็นตัวรูปธรรม เห็นร่างกายหายใจอยู่ ลมหายใจเป็นรูปธรรม หรือนามธรรม เช่น ดูจิตที่มันว่าง ดูจิตที่มันเป็นผู้รู้ซ้อนผู้รู้ไปอะไรอย่างนี้ อันนั้นเล่นยาก อันนั้นไม่แนะนำ ดูตัวผู้รู้ ถ้าติดสมาธิตัวนี้แล้วแก้ยากเลย แก้เป็นปีเลย

ฉะนั้นเวลาภาวนาดูจิตดูใจแล้วอยากพักผ่อน ก็น้อมลงไปอยู่ที่ รู้สึกไหม เวลาใจเราสบาย มันสว่าง มันเหมือนมีความสว่าง เหมือนเรานั่งอยู่ท่ามกลางแสงสว่าง แสงสว่างของพระจันทร์ วันเพ็ญอะไรอย่างนี้ นั่งอยู่ก็เยือกเย็น มีความสุข เราอยู่กับแสงสว่างอย่างนี้ น้อมใจไปอยู่ในช่องว่าง ในความว่าง เราใช้นามธรรม ตัวแสงเป็นตัวรูป แต่ว่าช่องว่างที่แสงมันอยู่ เป็นนามธรรม

หรือน้อมจิตไปอยู่กับความไม่มีอะไรเลย เช่น จิตเราจะเคลื่อนเข้าไปหาอารมณ์ เราก็วางอารมณ์ ไม่เอาอารมณ์ จิตทวนกระแสเข้าหาผู้รู้ เราก็ไม่เอาผู้รู้ เราก็วางผู้รู้ จิตก็ปล่อยวางทั้งจิต ปล่อยวางทั้งอารมณ์ รวมลงไป พ้นจากรูปจากนามอะไร อันนั้นเป็นอีกอันหนึ่ง จิตไปอยู่กับอารมณ์ที่ไม่ใช่รูปธรรม ไม่ใช่นามธรรม ไม่ใช่บัญญัติ คืออารมณ์นิพพาน

อารมณ์ของสมถะมีให้เลือกเยอะแยะ อารมณ์บัญญัติคือสิ่งที่เราคิดขึ้น เช่น คิดถึงความตาย อารมณ์รูปธรรม อารมณ์นามธรรม นามธรรมมีเยอะแยะ เช่น เราเจริญเมตตา อันนี้ไม่ใช่คิดแล้ว เราทำใจ ทีแรกก็ทำใจให้สว่างไสวขึ้นมา เหมือนจิตใจเราเป็นพระอาทิตย์ พระจันทร์ดวงหนึ่ง ลอยอยู่ในความว่าง เสร็จแล้วเราก็แผ่ความรู้สึกเมตตาออกไปไม่มีประมาณ ทุกทิศทุกทาง ไม่ได้เจาะจงตัวคน อันนี้เรียกว่าเมตตาอัปปมัญญา เราใช้การเจริญเมตตาทำสมาธิ ทำสมถะ

แต่ถ้าเกิดเจาะจงตัวคน เรานึกถึงใครสักคนหนึ่งก่อน แล้วเราก็ลืมเขาไป แล้วก็ทำจิตให้ว่าง แล้วก็เจริญเมตตาขึ้นมา จิตที่เราโปรแกรมไว้ก่อนที่จะเข้าสมาธิว่าเราจะแผ่เมตตาไปให้คนนี้ จิตมันจะทำงานได้เอง มันจะแผ่กระแสเมตตาพุ่งตรงที่คนๆ นั้นได้เอง ด้วยการที่เราอยู่กับการเจริญเมตตา เราใช้อารมณ์นามธรรมเป็นอารมณ์ของนามธรรม

ส่วนอารมณ์นิพพานพวกเราทำไม่เป็น เพราะเรายังไม่เคยเห็นนิพพาน เราก็ใช้อารมณ์ที่เรารู้จัก จะอารมณ์บัญญัติก็ได้ อารมณ์รูปธรรมก็ได้ อารมณ์นามธรรมก็ได้ อย่างการเจริญเมตตา ถ้าเรายังคิดอยู่ บริกรรมอยู่อะไรนี่ เป็นอารมณ์บัญญัติ แต่ถ้าจิตมันเกิดความเมตตาแล้วแผ่กระแสความเมตตาออกไป นี่เป็นอารมณ์นามธรรม ไม่เหมือนกัน คุณสมบัติ คุณภาพแตกต่างกันมาก

พวกเราควรจะมีที่พักของจิต มีบ้านให้จิตพักผ่อนบ้าง เวลาเราทำงานตรากตรำมาก เรายังต้องกลับมาบ้าน ไม่มีบ้าน เราก็มีห้องเช่า เราไปอยู่ที่โน่นที่นี่ ไม่มีจริงๆ เราก็อยู่ใต้ต้นไม้ มันก็ต้องมีที่อยู่ พอเรามีที่อยู่ จิตใจเราก็มีความสุข มีเรี่ยวมีแรงขึ้นมา พร้อมที่จะต่อสู้กับกิเลสต่อไป ถ้าเป็นร่างกาย เราเหน็ดเหนื่อย เราก็พักผ่อน มีแรงแล้วเราก็พร้อมที่จะไปทำงานต่อ ส่วนจิตใจ งานของจิตใจของเราคือกรรมฐานทั้งหลายนั่นล่ะ

เพราะฉะนั้นขอแนะนำพวกเราไปสังเกตตัวเอง เราทำกรรมฐานอะไรแล้วจิตใจเราสงบง่าย เราเอาอันนั้นล่ะเป็นเครื่องอยู่ ถ้าเป็นอย่างหลวงพ่อ หลวงพ่อก็หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตก็สงบง่าย เพราะใจมันชอบ มันคุ้นเคย ให้เราไปท่องพุทโธอย่างเดียว อะไรนี่ใจไม่ชอบ แต่ตอนนี้ใช้ได้หมด พอเราฝึกชำนาญ กรรมฐานอะไรก็เหมือนกันหมดล่ะ เพราะเรารู้จักดูแลรักษาจิตของเราด้วยสติแล้ว จะน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์บัญญัติก็สงบได้ น้อมจิตไปอยู่กับรูปก็สงบได้ น้อมจิตไปอยู่กับนามก็สงบได้ ทำอะไรก็ทำได้ แต่ตอนเบื้องต้นก็ต้องมีเครื่องอยู่สักอย่างหนึ่งก่อน

ลองซ้อมดูไหม ใครชอบอานาปานสติ ยกมือให้หลวงพ่อดูสิ มีไหม ยกมือเลย กล้าหาญหน่อย เอามือลง ใช้ใจที่ปกติ ใจเหมือนตอนนี้ล่ะ ไม่ต้องดัดแปลงใจ เห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้าด้วยจิตใจปกติ มันแอบไปคิดเสียเยอะ ต้องไปฝึกใหม่ หายใจ 2 – 3 ทีก็ลืมการหายใจ หนีไปคิด หนีไปคิดไม่เป็นไร กลับมาหายใจใหม่

ใครชอบดูท้องพองยุบ ยกมือสิ มีไหม ยกมือ กล้าหาญหน่อย มีคนเดียวหรือ ดูท้องพองยุบไป รู้ท้องพองยุบด้วยจิตใจที่ธรรมดาๆ อย่าไปเค้นจิตให้สงบ จุดที่ตายเลย จุดแตกหัก จุดสำคัญเลย ที่เราทำสมาธิแล้วมันไม่สงบสักที คือเริ่มต้นมันก็ไปบังคับจิตแล้ว ไปเค้นจิต เอ้า ทุกคนลองทำสมาธิ อยู่กับเครื่องอยู่ของเราไปด้วยจิตใจธรรมดา ใช้จิตใจธรรมดา หนุ่มเสื้อเทาๆ แมสก์ขาวตรงนี้ อันนั้นจงใจมากไป มันจะแน่นๆ ผ่อนคลาย สบายๆ แต่ไม่ใช่แกล้งผ่อนคลายจนนั่งหลับ อันนั้นใช้ไม่ได้ รู้ตัวไปเรื่อยๆ ไปทำเอา

ไปลองทำเอาที่บ้าน ให้จิตเราได้มีที่พักบ้าง มิฉะนั้นเราโหดร้ายกับจิตตัวเอง เคี่ยวเข็ญมันมากไปจนมันไม่เคยมีความสงบเลย เหมือนเรามีทาสอยู่คนหนึ่ง เราก็ใช้มันทำงานทั้งวันทั้งคืน ไม่ให้มันพักเลย ไม่นานมันก็ตาย จิตนี้เราใช้งานมันตลอดเวลา ใช้คิด ใช้นึก ใช้ปรุง ใช้แต่ง แล้วมันก็ปนเปื้อน กระทบฝุ่นละออง คือกิเลส มอมแมมทั้งวัน ไม่มีความสุข ไม่มีความสงบ แล้วมันก็เสียธรรมชาติเดิมของมันที่มันประภัสสร ธรรมชาติเดิมของจิตประภัสสร ผ่องใส ฉะนั้นการที่เราทำสมาธิ เพื่อให้จิตมันรวมเข้ามาสงบ ประภัสสร แล้วถัดจากนั้นจิตเรามีกำลังมากพอแล้ว ก็จะก้าวไปสู่ขั้นการเจริญปัญญา

 

จิตมีกำลังมากพอแล้ว ก็จะก้าวไปสู่ขั้นการเจริญปัญญา

การเจริญปัญญาเบื้องต้นคือการแยกรูปนาม รูปธรรม อย่างร่างกายเรานั่งอยู่ เรารู้ว่าร่างกายนั่งอยู่ ร่างกายหายใจออก รู้ว่าร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า รู้ว่าร่างกายหายใจเข้า แล้วเราเห็นว่าร่างกายกับจิตใจคนละอัน ร่างกายที่หายใจ ร่างกายที่เคลื่อนไหว เป็นสิ่งที่ถูกรู้ถูกดู พอเราเห็นว่ากายกับใจมันเป็นคนละอันกัน เราเริ่มการเจริญปัญญาแล้ว การเจริญปัญญาในจุดที่หนึ่งคือการแยกรูปแยกนาม นามที่สำคัญที่จะต้องมีทุกครั้งก็คือจิต จิตอยู่ในวิญญาณขันธ์ เป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง เป็นพระเอก จิตเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า เป็นประธานในธรรมะทั้งปวง

ฉะนั้นการแยกรูปนาม เราจะเห็นร่างกายมันนั่งอยู่ จิตเป็นคนรู้ คอยดูสิ ร่างกายนั่งอยู่ตอนนี้ รู้สึกไหม ร่างกายที่นั่งอยู่ มันถูกรู้ รู้สึกไหม ร่างกายมันถูกรู้อยู่ หลวงพ่อไล่แมลงหวี่อย่างนี้ ร่างกายเราเคลื่อนไหว ร่างกายนี้มันถูกรู้ พัดนี้กับแขนนี้เหมือนกัน เสมอกัน มันเป็นวัตถุ เป็นของถูกรู้ อย่างนี้เรียกว่าเราแยกรูปนามได้ หรือเราเห็นความสุขความทุกข์ เป็นของถูกรู้ จิตเป็นคนรู้ ไม่ต้องไปหาว่าจิตอยู่ที่ไหน เอาแค่ให้เห็นว่าร่างกายมันถูกรู้ แล้วต่อไปมันก็จะเห็นเองว่าจิตเป็นคนรู้

ลองยิ้มสิ ลองยิ้ม เห็นไหมร่างกายที่ยิ้มมันถูกรู้ จิตนั้นมันเป็นคนรู้ หัดอย่างนี้แยกรูป รูปธรรมคือร่างกาย กับจิตใจ เป็นคนละอันกัน หรือแยกนาม เช่น ความสุข ความทุกข์ เวลาเรามีความสุขเกิดขึ้นในใจ เราเห็นว่าความสุขในใจก็เป็นของถูกรู้ จิตก็เป็นคนรู้ เวลามีความทุกข์เกิดขึ้นก็เห็นความทุกข์ถูกรู้ จิตเป็นคนรู้ เวลาความโลภเกิดขึ้น เราก็เห็นความโลภถูกรู้ จิตเป็นคนรู้ ความโลภไม่ใช่จิต เราสามารถเห็นร่างกายไม่ใช่จิต สุขทุกข์ไม่ใช่จิต ดีชั่วไม่ใช่จิต

ดูไปเรื่อยๆ แล้วต่อไป มันถึงจุดหนึ่ง จิตก็ไม่ใช่จิต ตรงที่จิตไม่ใช่จิต ก็คือเราจะเห็นจิตมันก็เกิดดับทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตเกิดที่ไหน จิตก็ดับที่นั่น จำไว้เลย จิตไม่ได้มีดวงเดียว อย่างจิตหลงไปดูรูปอย่างนี้ ไม่ต้องไปดึงคืน ทันทีที่เรามีสติรู้ว่าเมื่อกี้หลงไปดูรูป จิตหลงไปดูรูปดับไปแล้ว เกิดจิตที่รู้แล้ว จิตมันเกิดดับอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้เรียกว่าเราสามารถแยกได้ แล้วต่อไปปัญญามันเกิด

ทีแรกเราเห็นร่างกายกับจิตเป็นคนละอัน ต่อไปมันเห็นร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เห็นเวทนากับจิตมันแยกออกจากกัน ก็เห็นสุขทุกข์ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า เห็นกุศลอกุศลเกิดขึ้น จิตไปรู้เข้า กุศลอกุศลไม่ใช่จิต จิตไม่เคยดี จิตไม่เคยชั่ว จิตคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ธรรมชาติรู้ไม่เคยดี ไม่เคยชั่ว แต่ว่ามันปนเปื้อนด้วยความดี ด้วยความชั่ว มันถูกความปรุงแต่งเข้ามาครอบงำ จิตที่ผ่องใสก็เลยหายไป

ค่อยๆ ฝึก ฉะนั้นทีแรกต้องฝึกให้จิตมีกำลัง ตั้งมั่น เป็นธรรมชาติธรรมดา แล้วโน้มน้อมจิตอันนี้ไปเพื่อญาณทัศนะ พอลงไปเห็นกายกับจิตเป็นคนละอัน เวทนากับจิตเป็นคนละอัน กุศล อกุศลกับจิตเป็นคนละอันกัน หลวงตามหาบัวท่านเคยพูดประโยคหนึ่ง ดีมากๆ เลย ท่านบอกว่า “ถ้ายังแยกธาตุแยกขันธ์ไม่ได้ อย่ามาคุยอวดเรานะว่าเจริญปัญญา”

การแยกธาตุแยกขันธ์ ร่างกายอันหนึ่ง จิตอันหนึ่ง ขันธ์มี 5 ขันธ์ รูปคือร่างกาย เวทนา ความสุขทุกข์ สัญญา ความจำได้หมายรู้ สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่ว วิญญาณ ความรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือจิตนั่นล่ะ จิตกับวิญญาณคือตัวเดียวกัน คำว่าใจก็อันเดียวกัน แต่ทำงานต่างที่ก็เรียกชื่อต่างกัน

ค่อยๆ ดู เราจะเห็นมันแยก แต่การแยกเบื้องต้นไม่ต้องแยกทั้ง 5 ขันธ์ ไม่ต้องตั้งอกตั้งใจแยกทั้ง 5 ขันธ์หรอก มันเรื่องมากเกินไป แยกคู่เดียวพอแล้ว แยกกายกับจิตออกจากกันได้ แยกเวทนาคือสุขทุกข์กับจิตออกจากกันได้ แยกสังขารคือความปรุงดีปรุงชั่วกับจิตออกจากกันได้ แยกอย่างนี้ เห็นไหม ในการแยกทุกครั้ง จะมีตัวสำคัญอยู่คือมีจิต ไม่ใช่แยกกายกับเวทนา ไม่มีจิต อันนี้ทำไม่ได้จริง ฉะนั้นจิตเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า เป็นประธานในธรรมะทั้งปวง

ฉะนั้นเวลาเราจะแยกขันธ์ จะแยกธาตุแยกขันธ์ จิตเป็นคนรู้ รูปถูกรู้ นี่แยก เรียกว่าแยกแล้ว ไม่ต้องแยกหมดทั้ง 5 อันหรอก แยกคู่เดียวก็แยกแล้ว พอแยกคู่เดียวได้ ต่อไปมันก็แยกทั้งที่เหลือได้หมด ไม่ยากแล้ว มันรู้จักแยกแล้ว อย่างพวกเราคนไหนขี้โมโห หลวงพ่อแนะนำ คนไหนขี้โกรธ โกรธตลอดเวลา หงุดหงิดตลอดเวลา ให้หัดดูไป ความโกรธเป็นของถูกรู้ ความหงุดหงิดเป็นของถูกรู้ ทำใจไว้อย่างนี้เลยว่ามันเป็นของถูกรู้ เดี๋ยวจิตมันก็จะเป็นคนรู้ขึ้นมาเอง ง่ายๆ แค่นี้ล่ะ

ถ้าคนไหนขี้โลภ เดี๋ยวเจออันโน้นก็อยาก เจออันนี้ก็อยาก อยากได้ อยากมี อยากเป็นอะไรอยู่ตลอดเวลา พอใจมันโลภขึ้นมาก็รู้ ใจที่โลภ ความโลภ มันถูกรู้ ความโลภไม่ใช่จิต ไม่ใช่ใจ เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาแล้วมาครอบงำใจเรา ค่อยๆ แยก ค่อยดูไป

เพราะฉะนั้นเบื้องต้น จะแยกกายกับจิตออกจากกันก็ได้ อันนั้นเป็นการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือไม่ชอบ ไม่ถนัด จะแยกเวทนากับจิตออกจากกันก็ได้ เรียกว่าเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดูสุขทุกข์ ถ้ายังไม่ชอบ ก็เจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็เห็นกุศลอกุศลทั้งหลายเป็นของถูกรู้ถูกดู อย่างนี้เรียกว่าเราแยกได้ แล้วพอขั้นละเอียดขึ้นไป เราแยกจิตได้อีกทีหนึ่ง จิตเดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด จิตที่เป็นผู้รู้กับจิตที่เป็นผู้คิด มันคนละดวงกัน จิตที่ไปดูรูปก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง เป็นคนละดวงกันกับจิตที่รู้ จิตที่ไปฟังเสียงก็เป็นคนละดวงกับจิตที่รู้

เราต้องมีจิตรู้ก่อน เราถึงจะแยกได้ว่าจิตที่หลงไปคิดกับจิตที่รู้คนละดวงกัน แต่ถ้าจิตหลงไปดูแล้วก็หลงไปฟัง แล้วก็หลงไปคิด ไม่มีรู้เรื่องเลย จิตจมอยู่ในอารมณ์บัญญัติ คือเรื่องราวที่คิดตลอดเลย ใช้ไม่ได้ ฉะนั้นมันต้องมีจิตที่เป็นคนรู้ขึ้นมาให้ได้ก่อน แล้วมันจะเห็นจิตมันก็เกิดดับ ตรงนั้นล่ะที่เรียกว่าเราเจริญปัญญาได้

เราเห็นจิตแต่ละดวงๆ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา สั่งไม่ได้ บังคับไม่ได้ ถ้าดูตัวนี้เห็น ดูตัวนี้เข้าไปเลย ตรงนี้เป็นวิธีปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด แต่ถ้าเราดูจิตเกิดดับอย่างนี้ไม่ได้ ก็ดูจิตที่ไปรู้ร่างกาย อันนี้หยาบที่สุด เห็นร่างกายกับจิตมันคนละอันกัน ถ้าประณีตละเอียดขึ้นมา ก็เห็นสุขทุกข์กับจิตคนละอันกัน

อย่างขณะนี้จิตของเราต้องมีเวทนาเกิดร่วมเสมอ จิตของเราขณะนี้ถ้าไม่สุขก็ทุกข์ ถ้าไม่สุขไม่ทุกข์ก็เฉยๆ เวทนาทางใจมี 3 ตัว สุข ทุกข์ เฉยๆ 3 ตัวนี้หมุนอยู่ทั้งวัน แล้วเราเห็นจิตที่สุขอยู่ชั่วคราวแล้วดับ จิตที่ทุกข์อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ จิตที่เฉยๆ อยู่ชั่วคราวแล้วดับ ตรงนี้เราขึ้นวิปัสสนาแล้ว หรือเราเห็นร่างกาย เราเห็นร่างกายไม่ใช่เรา อันนี้ขึ้นวิปัสสนาแล้ว เห็นอนัตตา ร่างกายไม่ใช่เรา เห็นร่างกายถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา อันนี้ขึ้นวิปัสสนาแล้ว

เพราะฉะนั้นทีแรกแยกขันธ์ออกมาเพื่อจะได้เห็นว่าขันธ์แต่ละขันธ์นั้นตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ถ้าแยกขันธ์ออกมาไม่ได้จะไม่มีวันเห็นไตรลักษณ์หรอก แล้วจะแยกขันธ์ไม่ได้เลย ถ้าจิตไม่ตั้งมั่น แล้วก็จิตไม่มีกำลัง เห็นไหมมันมีเหตุมีผล จิตมีกำลังอย่างเดียวก็ไม่พอ เดี๋ยวมันกำลังออกไปข้างนอก ต้องให้เข้าบ้าน ตรงที่จิตมันเข้าบ้านได้ เรียกมันตั้งมั่นขึ้นมา พอจิตมันตั้งมั่นได้แล้ว มันจะแยกขันธ์ได้ พอมันแยกขันธ์ได้แล้ว ทุกสิ่งที่จิตไปรู้เข้าล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ทั้งสิ้น ยกเว้นเรื่องที่คิด ไม่มีไตรลักษณ์ ถ้าเป็นรูปธรรมนามธรรม อยู่ใต้ไตรลักษณ์ทั้งสิ้นเลย

แล้วพอเราเห็นซ้ำแล้วซ้ำอีกๆ ถ้าเราเริ่มต้นถนัดดูกาย เราก็ทำกายกับจิต นี่เรียกว่าเจริญกายานุปัสสนา ถ้าถนัดรู้สุข ทุกข์ เฉยๆ กับจิต จิตเป็นคนรู้ อันนี้เรียกว่าเจริญเวทนานุปัสสนา ถ้าเราถนัดรู้กุศล อกุศล อย่างถ้าเราขี้โมโห เราเห็นจิตโกรธแล้วจิตไม่โกรธ จิตเป็นคนรู้ เห็นความโกรธกับจิตเป็นคนละอัน แยกอย่างนี้ เราจะเห็นความโกรธเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป อันนี้ไม่เที่ยง เราเห็นความโกรธมันเกิดได้เอง มันดับได้เอง ไม่ได้ทำอะไรเลย สั่งให้ดับก็ไม่ได้ ห้ามโกรธก็ไม่ได้ อันนั้นอนัตตา นี่คือการเจริญวิปัสสนา

 

การเจริญปัญญา 3 ระดับ

การเจริญปัญญามันมี 3 ระดับ เบื้องต้นเป็นปัญญาที่ยังเจือการคิดอยู่ อย่างเราคิดไป ร่างกายมันถูกรู้ ร่างกายกับจิตเป็นคนละอัน ยังเจือคิด แต่พอจิตมันมีกำลังขึ้นมา มันเห็นเอง มันรู้สึกเอง ร่างกายกับจิตมันคนละอัน บางทีขยับมืออยู่ มันเห็นตัวนี้ไม่ใช่เราแล้ว มันเห็นอย่างนั้นได้เองเลย มันขึ้นเป็นปัญญาในระดับวิปัสสนา คือเห็นไตรลักษณ์โดยไม่ได้เจตนาจะเห็น แล้วถัดจากนั้นก็มีปัญญาอีกขั้นหนึ่ง เรียกโลกุตตรปัญญา เกิดในอริยมรรค

โลกุตตรปัญญา ทำหน้าที่ของเขาในการล้างกิเลส ล้างสังโยชน์ กิเลสชั้นละเอียด สังโยชน์เป็นกิเลสที่ผูกเราไว้กับภพ กับโลก เป็นเครื่องผูกมัดเราไว้ อาสวะเป็นเครื่องย้อม ใจเราจะย้อมด้วยอาสวะ มันคุ้นเคย อย่างเราคุ้นเคยกับกาม มันจะมีกามย้อมเยิ้มอยู่อย่างนั้น หรือเราคุ้นเคยกับการสร้างภพ จิตมันจะสร้างภพตลอดเวลา คือปรุงโน่นปรุงนี่ไปเรื่อย แล้วจิตเราหลงเข้าไปอยู่ในความปรุงแต่ง จิตมันคุ้นเคย อันนั้นตัวอาสวะ ตัวนิวรณ์เป็นกิเลสที่ทำหน้าที่ขัดขวางคุณงามความดี

กิเลสมีหลายตัว กิเลสธรรมดา โลภ โกรธ หลง กิเลสระดับสังโยชน์ที่พระอริยะจะต้องละ อาสวกิเลสเป็นกิเลสที่ย้อม ย้อมใจ ย้อมจิต นิวรณ์เป็นสิ่งที่มันเกิดขึ้นมาทำลายคุณงามความดี กำลังทำสมาธิอยู่ นิวรณ์ก็เกิดมาขวาง สมาธิก็แตก เจริญวิปัสสนาอยู่ นิวรณ์เกิดขึ้นมา เกิดขี้เกียจขึ้นมาอย่างนี้ มันก็กรรมฐานเลิกกันไป นิวรณ์เป็นกิเลสที่ขัดขวางคุณงามความดีทั้งหลาย แล้วกิเลสที่ละเอียดที่สุด ชื่ออนุสัย สันดาน อนุสัย กิเลสตัวนี้ต้องอาศัยกำลังของอริยมรรคถึงจะละได้

อนุสัยดูไม่ได้ อนุสัยไม่มีให้ดู ไม่มีร่องรอย มันซ่อนตัวเองมิดชิดเลย ฉะนั้นเวลาถ้าไปดูให้ดี ถ้าเวลาท่านสอน ท่านสอนให้ดูอะไร ดูของที่ดูง่ายๆ โลภ โกรธ หลงอย่างนี้ ดูง่ายๆ ดูไป ส่วนอนุสัย มันดูไม่เห็น มีอยู่ 7 ตัว ไปถามกูเกิ้ลเอา เป็นสันดาน มันดูอะไรไม่เห็นหรอก มันมี แต่มันไม่ทำงานให้เห็น แต่เวลามันทำงาน มันก็จะปรุงเป็นนิวรณ์บ้าง เป็นสังโยชน์ เป็นราคะ โทสะ โมหะอะไรขึ้นมา แล้วก็ไปรู้พวกนี้เอา เป็นผลงานของอนุสัย แล้วตอนที่อริยมรรคเกิด มันเข้าไปล้างอนุสัยเอง ไปล้างสังโยชน์เอง ส่วนนิวรณ์ทั้งหลาย ถ้าจิตมีสมาธิขึ้นมา มีกำลังขึ้นมา นิวรณ์ก็กระเด็นออกไปหมด เราต้องสู้กับกิเลสหลายชนิด เราก็มีเครื่องมือหลายอย่างต่อสู้กับมัน

ยากไปไหมวันนี้ ถ้ายากก็ช่วยไม่ได้ ต้องเรียน ยากก็ต้องเรียน มิฉะนั้นมันก็เตาะแตะๆ เบบี๋ไม่เลิก เหมือนเด็กเล็กๆ คอยอ้อนครูบาอาจารย์ อ้อนคนโน้นอ้อนคนนี้ไปเรื่อยๆ ต้องเข้มแข็ง ต้องสู้ ก่อนที่ครูบาอาจารย์แต่ละองค์ท่านจะได้ดี ท่านลำบากมาแล้วทั้งนั้นล่ะ อยู่ๆ ไม่ดีหรอก ต่อสู้มาแล้วทั้งนั้นล่ะ เปลี่ยนจากจิตที่มืดมัว เพราะกิเลสที่จรมา ด้วยกำลังของสมาธิ กลายเป็นจิตที่ประภัสสรผ่องใส ถัดจากนั้นเจริญปัญญาเพื่อให้จิตเข้าถึงความบริสุทธิ์

คำว่าประภัสสรกับคำว่าบริสุทธิ์ไม่เหมือนกัน จิตที่ประภัสสรคือจิตที่ผ่องใส ไม่ใช่จิตที่บริสุทธิ์ มันเหมือนน้ำใสๆ ที่เราเห็นน้ำในตุ่มเราใสๆ อย่างนี้ น้ำใสแต่ไม่บริสุทธิ์ มีเชื้อโรคอยู่ได้ตั้งหลายชนิด มีตะกอนอย่างละเอียดซ่อนอยู่ บางทีก็มีสีอะไรลงไปเจือปน ฉะนั้นของที่ดูว่าใสๆ ไม่ได้บริสุทธิ์

จิตนั้นโดยตัวของมันเอง มันใส มันผ่องใส มันหมองเพราะกิเลส ทีนี้เราทำสมาธิขึ้นมา มันข่มกิเลสลงไปชั่วครั้งชั่วคราว จิตก็สว่างผ่องใสขึ้นมา เราไม่ไปยุ่งกับมัน มันเหมือนเรามีตุ่มน้ำ เดี๋ยวนี้มันไม่มีตุ่มใช้แล้ว เขามีถังพลาสติกอะไรอย่างนี้ เรารองน้ำเก็บไว้นานๆ มันจะมีตะกอนอยู่ที่ก้นถัง แล้วเราเอามือไปแกว่งๆ กวนน้ำ ตะกอนมันก็ขึ้นมา พอเราไม่ไปกวนมัน ตะกอนมันก็ตก มันก็ใส นั่นล่ะจิตก็อย่างนั้นล่ะ

เวลาเรามีผัสสะ เราก็ไปกวน จิตให้มันทำงานขึ้นมา จิตก็เศร้าหมอง ตะกอนที่ซ่อนอยู่ในจิตมันก็ขึ้นมา ถ้าเรานั่งสมาธิ เราไม่ไปกวนจิต ตะกอนมันก็ตก จิตมันก็ผ่องใส แต่ผ่องใสแล้วต้องเดินปัญญาต่อเพื่อทำให้มันบริสุทธิ์ ระหว่างประภัสสรกับบริสุทธิ์ คนละอันกัน ประภัสสรด้วยกำลังของสมาธิ บริสุทธิ์ด้วยปัญญา พระพุทธเจ้าบอก บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา

ปัญญาเบื้องต้นเจือการคิดพิจารณาลงไป ถัดขึ้นมาเป็นปัญญาในขั้นที่เห็นไตรลักษณ์ เป็นวิปัสสนาปัญญา ตรงที่ยังเจือการคิด เรียกจินตามยปัญญา แล้วถัดขึ้นมามันเป็นโลกุตตรปัญญา เป็นความรู้ถูกเข้าใจถูกที่ไม่ได้เจตนาให้เกิดเลย มันรู้เอง นี่เส้นทางของเรา วันหนึ่งเราจะเข้าถึงความบริสุทธิ์ ก่อนจะถึงจุดนั้น ให้มันประภัสสรเสียบ้าง ถ้าจิตมอมแมมอยู่ทั้งวัน มันแยกธาตุแยกขันธ์ไม่ออก

ถ้าจิตมันประภัสสร มันไม่วุ่นวาย มันสงบอยู่ แล้วสังเกตนิดเดียว ร่างกายกับจิตมันคนละอัน มันแยกขันธ์ได้เลย แล้วจิตมันจะตั้งมั่นได้เลย หรือเราทำกรรมฐานของเราไปสบายๆ จิตเราเคลื่อนไป เราเห็นว่าจิตเคลื่อนไป จิตที่เคลื่อนจะดับ จิตที่ตั้งมั่นจะเกิด จิตที่ตั้งมั่นเกิดจากการที่เรามีสติเห็นสภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น

อย่างเราโกรธขึ้นมาแล้วสติระลึกได้ว่าโกรธ ความโกรธดับ จิตตั้งมั่นอัตโนมัติ รู้ว่ากำลังหลงไปคิด สติระลึกได้ว่านี่หลงแล้ว ความหลงก็ดับ จิตก็ตั้งมั่นอัตโนมัติ ค่อยๆ ฝึก แล้วจิตมันตั้งมั่นด้วย ประภัสสรด้วย ประภัสสรด้วยการทำสมถะ ตั้งมั่น ใช้สติไปสังเกตจิตที่ไม่ตั้งมั่น เคล็ดลับมีนิดเดียวเอง ยกเว้นคนที่เล่นฌาน ถ้าจิตเข้าถึงฌานที่สองเป็นต้นไป ถึงฌานที่แปดโดยมีสติกำกับ เราจะได้จิตผู้รู้ที่แข็งแรงอยู่ได้ไม่เกิน 7 วัน แต่จิตหลงแล้วรู้ๆ อยู่ได้ชั่วขณะ เลยเรียกขณิกสมาธิ

 

 

ค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ ฝึกไป เรียนกรรมฐาน เจอครูบาอาจารย์ เก็บเขี้ยวเก็บเล็บไว้ พวกเราส่วนใหญ่ไม่เป็น บางคนเป็น อย่าว่าแต่โยมเลย พระยังเป็นเลย มาบวชแล้วซ่อนเขี้ยวซ่อนเล็บไว้ หลวงปู่มั่นท่านเลยเตือนพวกพระที่เขี้ยวเล็บเยอะ ท่านบอกอวดเขี้ยวเหมือนหมา อวดงาเหมือนช้าง ยังมาอวดอยู่ ก็เดรัจฉานทั้งคู่ล่ะ ฉะนั้นเรียนธรรมะ เปิดใจตัวเอง เปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ คือถ้าจิตเราดีแล้วก็ไม่ต้องมาเรียน ที่เรามาเรียนเพราะจิตเราไม่ดี เราก็อย่าไปปกป้องกิเลสเอาไว้ เปิดใจให้มันรับธรรมะให้ได้

ใจที่เปิด มันจะอ่อนน้อม อันแรกเลย มีศรัทธาในครูบาอาจารย์ อ่อนน้อมต่อคำสั่งสอน พอเรามีศรัทธา เราก็อยากเข้าใกล้ พออยากเข้าใกล้ ก็ตั้งใจฟัง บาลีในพระไตรปิฎกบอก พอมีศรัทธาก็เข้าไปใกล้ เข้าใกล้แล้วก็เงี่ยโสตเพื่อสดับธรรม ภาษาโบราณ จริงๆ ก็คือพอเรามีศรัทธา เราก็เข้าไปหาครูบาอาจารย์ เราตั้งใจฟัง ตั้งใจฟังแล้วก็น้อมนำกลับเข้ามาซักฟอกใจของเรา

บางคนเก่ง ในขณะที่ฟังธรรมฟอกใจตัวเอง บรรลุมรรคผลในขณะฟังธรรมก็มี ครูบาอาจารย์บางองค์ท่านเทศน์ๆ อยู่ ธรรมะถ่ายทอดจากจิตของท่านอยู่ แล้วจิตท่านมันเจริญปัญญาในแวบเดียวเอง ท่านก็บรรลุมรรคผลที่สูงขึ้นไปๆ อย่างนี้ก็มี เพราะฉะนั้นเวลาบรรลุมรรคผล บางคนบรรลุมรรคผลในขณะที่ฟังธรรม บางคนบรรลุมรรคผลในขณะที่แสดงธรรม บางคนบรรลุมรรคผลในระหว่างปฏิบัติธรรม มันเกิดตอนไหนก็ได้ ถ้ามันพร้อม

ฉะนั้นใจของเรารู้จักคำว่าอ่อนน้อมอ่อนโยนเสียบ้าง กูเก่งๆๆ มึงไม่เก่งจริงหรอก ถ้ามึงเก่งจริง มึงไม่ทุกข์หรอก ถ้ายังมีความทุกข์ได้ จิตใจยังเร่าร้อนได้ ไม่เก่งหรอก ตรงที่มาอวดก๋าๆ มาเหมือนที่หลวงปู่มั่นว่า อวดเขี้ยวเหมือนหมา อวดงาเหมือนช้าง ท่านไม่ได้ใช้คำนี้ ท่านภาษาอีสาน อวดเขี้ยวคือหมา คือแปลว่าเหมือนๆ อวดเขี้ยวเหมือนหมา อวดเขี้ยวคือหมา อวดงาคือช้าง

เหมือนมีคนมาแต่งเพลง จำได้ไหมเพลงนกแล นกแลก็คือนกแก้ว หม่อมคึกฤทธิ์บอกว่าเขียนผิดเพลงนี้ นกแลก็คือนกแก้ว ก็แปลว่านกแลมันเหมือนๆ กับนกแก้ว ไม่ใช่ นกแล มันคือนกแก้วเลย ตัวมัน ไม่ใช่ นกแลก็คือตัวเดียวกับนกแก้ว แต่ถ้าเป็นภาษาอีสาน นกแลก็คือนกแก้ว นกแลก็เหมือนๆ นกแก้ว ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นมาเรียนธรรมะอย่ามาอวดเขี้ยวอวดงา นั่นเป็นเรื่องของเดรัจฉาน ใจมันปิดมืดบอด ไม่มีทางรับธรรมะได้หรอก

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
16 เมษายน 2566