ทำอย่างไรจะไม่ทุกข์

ศาสนาพุทธก็เป็นศาสตร์อันหนึ่ง สิ่งที่ศาสนาพุทธตอบโจทย์ก็คือ ทำอย่างไรจะไม่ทุกข์ การหาคำตอบว่าทำอย่างไรจะไม่ทุกข์ คนทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายก็แสวงหา บางคนก็มองแค่ว่ามีกินมีใช้อะไร ก็ไม่เจ็บป่วย ก็ไม่ทุกข์ พอเราได้รับความมั่นคงระดับพื้นฐานแล้ว มีกินมีใช้ มีที่อยู่อาศัย บางคนก็ยังทุกข์อีก ที่จริงก็คือ ทุกคนก็ยังทุกข์อยู่อีก มีแต่คำสอนของพระพุทธเจ้า ที่จะตอบโจทย์ให้ทุกคนสามารถจะมีชีวิตอยู่ โดยไม่ทุกข์ได้

อย่างคนจนๆ อดอยาก ถึงยากจนอย่างไรจิตใจก็สามารถมีความสุขอยู่ได้ ไม่ทุกข์ อย่างบางคนร่ำรวยก็รู้สึกยังไม่พอ มันก็ยังทุกข์อีก คนเจ็บป่วยถ้าเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้า ร่างกายมันเจ็บป่วย แต่ใจมัน ก็ไม่ทุกข์ เราจะเจอสิ่งที่ชอบใจหรือสิ่งที่ไม่ชอบใจอะไร ใจมันก็ไม่ทุกข์ได้ ฉะนั้นไม่มีใครสามารถตอบโจทย์ว่า ทำอย่างไรจะไม่ทุกข์ได้เท่ากับที่พระพุทธเจ้าตอบโจทย์อันนี้

บางคนก็มองว่าศาสนาพุทธดูไม่เห็นมีประโยชน์อะไรเลย เลิกไปก็ได้ อย่างพระวันๆ ก็ขอข้าวเขากิน ก็ไม่เห็นทำประโยชน์อะไร อันนี้เรายังไม่เข้าใจ ที่จริงพระก็มีหน้าที่ของพระ คือการศึกษาปฏิบัติจนเข้าใจความจริง ว่าทำอย่างไรเราจะสามารถมีชีวิตอยู่โดยไม่มีความทุกข์ เมื่อเข้าใจความจริงอันนี้แล้ว พระก็มีหน้าที่อันต่อไปคือถ่ายทอด เผยแพร่แสดงออกถึงเส้นทางแห่งความไม่ทุกข์ เพราะฉะนั้นพระที่ทำหน้าที่ของพระอย่างสมบูรณ์ ถ้าทำกิจส่วนตัวก็คือการศึกษา พระต้องมีหน้าที่ศึกษา

ศึกษาอย่างน้อยที่สุดศึกษาปริยัติ อย่างถ้าเราศึกษาปริยัติดีพอ เราก็จะรู้ว่าอะไรถูกอะไรไม่ถูก พระที่ทำอะไรเหลวไหลอันนั้นถือว่ายังขาดการศึกษา ยังไม่ได้เป็นพระ ฉะนั้นพระจริงๆ ท่านมีหน้าที่แรกเลย คือหน้าที่ศึกษาว่าพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น มีเนื้อหาสาระ มีแก่นสารอย่างไร ศึกษาด้วยการเล่าเรียนท่องจำเอาไว้ ก็เป็นการศึกษาในเบื้องต้น ถามว่ามีประโยชน์ไหม มีประโยชน์ ถ้าไม่มีพระปริยัติ มีแต่พระปฏิบัติ ถึงวันหนึ่งมันจะคุยกันไม่รู้เรื่อง นักปฏิบัติแต่ละสำนัก จนทุกวันนี้เราก็เห็น ต่างก็มีภาษาของตัวเอง มีการตีความ ของตัวเองแตกต่าง กันไปมากมาย แล้วก็บลัฟกันไปบลัฟกันมา (อวดข่ม) ว่าอันนั้นถูกอันนี้ผิด สิ่งที่จะชี้ถูกชี้ผิดได้ก็ต้องไปดูว่าพระพุทธเจ้าสอนอย่างไร ซึ่งหน้าที่ของพระปริยัติท่านต้องทรงจำตัวนี้ ต้องเรียนตัวนี้

เมื่อรู้เรียนปริยัติเพื่อให้รู้วิธีปฏิบัติแล้ว รู้วิธีปฏิบัติแล้วลงมือปฏิบัติ มันก็คล้ายๆ อาจารย์มหาวิทยาลัย ก่อนจะออกมาเป็นอาจารย์สอนคนอื่นได้ ก็ต้องศึกษามาก่อน ลงมือศึกษาตำรับตำรา ลงมือทำวิจัยจนได้องค์ความรู้มาแล้วถึงจะมาสอนคนอื่นได้ อย่างพระเราก็เหมือนกัน เบื้องต้นก็เรียนปริยัติว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร วิธีปฏิบัตินั้นปฏิบัติอย่างไร สิ่งเหล่านี้มีอยู่ในพระไตรปิฎกทั้งหมดเลย พอรู้แล้วก็ลงมือปฏิบัติ ลงมือเจริญสติไป พัฒนาศีล สมาธิ ปัญญาให้สมบูรณ์ขึ้นมา ในที่สุดก็ตอบโจทย์ตัวเองได้ อ๋อ ทำอย่างนี้แล้วมันไม่ทุกข์ หรือทำอย่างนี้มันทุกข์น้อยลงๆ จิตใจมันก็เกิด ความเชื่อมั่น มั่นคงในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์

พอจิตใจมันเข้าใจแล้ว งานต่อไปของพระก็คือการเผยแพร่ การถ่ายทอด การแสดงออกให้คนอื่นเข้าใจตาม ฉะนั้นหน้าที่ของพระเป็นอย่างนี้ บางคนมองว่าพระไม่เห็นมีประโยชน์อะไรเลย ข้าวก็ขอเขากิน แล้ววันๆ ก็ก่อเรื่องวุ่นวาย เล่นการเมืองบ้าง ทำธุรกิจบ้าง อันนั้นก็คือคน คนมาบวชก็เป็นพระสมมติ ถ้าอยากเป็นพระจริงๆ ก็ต้องทำหน้าที่ศึกษาแล้วลงมือปฏิบัติ เข้าใจแล้วก็ถ่ายทอดต่อ นั่นคือหน้าที่ พระที่ท่านทำหน้าที่ของท่านก็ยังมีอยู่ไม่ใช่น้อย

 

ศาสตร์แห่งความพ้นทุกข์

ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ใช่เรื่องเล่นๆ กว่าพระพุทธเจ้าจะค้นพบมานี่ ยากลำบากมาก มันเป็นธรรมะที่ฝืนกระแสของโลก ฝืนกระแสกิเลสอย่างรุนแรง ก็ต้องอดทน ต้องกล้าหาญ ต้องอดทน ต้องเสียสละจริงๆ ถึงจะเรียนรู้ได้ พอเรียนรู้ได้ก็เสียสละอีก ออกมาสั่งสอน มาเผยแพร่ เพื่อสืบทอดศาสตร์แห่งความพ้นทุกข์ ศาสตร์แห่งความดับสนิทแห่งทุกข์ ถ้าศาสตร์อันนี้สูญหายไปจากโลก คนทั่วไปอาจจะไม่รู้สึก แต่คนที่เห็นคุณค่า จะเสียดายแทน เสียดายแทนคนรุ่นหลังว่าเสียของดีของวิเศษไปเสียแล้ว มีชีวิตอยู่ดีกว่าสัตว์นิดหน่อย ชีวิตของสัตว์มันก็คือโตขึ้นมา หาอยู่หากิน หาผัวหาเมีย ออกลูกออกหลานอะไรอย่างนี้ แล้วก็ตาย ในชีวิตคนมันมีอะไร ที่สูงกว่านั้น มันเรียนธรรมะได้

อย่างการที่เราใส่บาตรให้พระอย่างนี้มีประโยชน์ทั้ง 2 ด้าน ด้านหนึ่ง เราลดละความเห็นแก่ตัว คล้ายๆ เราซัพพอร์ตให้คนที่กำลัง ศึกษาหาความรู้ เราก็ต้องซัพพอร์ตเหมือนให้ทุนการศึกษา พอเขาศึกษาแล้ว เขาก็มา ทำงานใช้ทุน ถ้าเทียบกับทางโลก พระจริงๆ ไม่ได้ต้องการอะไร มากมาย แค่มีข้าวกินวันหนึ่งๆ เสื้อผ้าก็มีอยู่ชุดเดียวเท่านั้น มีผ้าอยู่ 3 ผืน ที่อยู่อาศัยก็อยู่ตามมีตามได้ มีที่มุงที่บังอะไรแค่นี้ พระก็อยู่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว พระไม่ได้ต้องการอะไรเยอะ พระต้องการความพ้นทุกข์ ถ้าเราฝึกตัวเองเราก็จะเห็นการที่เราให้กับพระเหมือนกับให้ทุนการศึกษา

อย่างพวกหมอ คนหนึ่งๆ กว่าจะเรียนจบหมอไม่รู้ว่ารับทุน ของสังคมไปอีกเป็นสิบๆ ล้าน พอรับทุนแล้วเป็นหมอแล้ว ไปรักษาคน ก็ไปทำหน้าที่ พระก็แบบเดียวกัน เรียนพอเข้าใจแล้ว รู้วิธีที่จะปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์แล้ว ก็ถ่ายทอดศาสตร์อันนี้ออกไป ก็คือศาสตร์ๆ หนึ่งเท่านั้นเอง ที่ว่าด้วยทำอย่างไรจะไม่ทุกข์ ศาสตร์อันนี้เป็นศาสตร์ที่มีเหตุมีผล สมบูรณ์ อยู่ในตัวเอง

 

 

ถ้าเรามองว่าอะไรคือทุกข์ เราก็จะเห็นว่ากายนี้คือทุกข์ ความรู้สึกนึกคิด จิตใจคือตัวทุกข์ ถ้าร่างกายไม่ทุกข์ จิตใจไม่ทุกข์อะไรจะทุกข์ ร่างกายจิตใจนี้ มีกายมันก็มีทุกข์ขึ้นมาแล้ว มีจิตใจมันก็มีทุกข์ขึ้นมาแล้ว ทำอย่างไรจะอยู่กับมันโดยไม่ทุกข์ เป็นศาสตร์ที่ลึกซึ้ง อย่างมีร่างกาย ร่างกายแก่ ร่างกายเจ็บ ร่างกายตายห้ามไม่ได้ แต่ร่างกายแก่ ร่างกายเจ็บ ร่างกายตาย แต่จิตใจเรา ไม่ทุกข์ได้ ความทุกข์ทางใจ พระพุทธเจ้าท่านก็วิเคราะห์ให้ฟัง สิ่งที่เป็นทุกข์ กายนี้เป็นตัวทุกข์ ใจนี้เป็นตัวทุกข์ แต่ถ้าเราไปหยิบฉวยเอากายขึ้นมา เป็นตัวเราของเรา มันก็เป็นเราทุกข์ ไปหยิบฉวยจิตใจมาเป็นตัวเราของเรา มันก็เป็นเราทุกข์ขึ้นมา ไม่ใช่กายทุกข์ ไม่ใช่จิตใจทุกข์ แต่มันเป็นเราทุกข์

ทำไมจิตใจมันไปหยิบฉวยเอากายเอาใจขึ้นมาเป็นเรา ตรงนี้ที่ พระพุทธเจ้าสอนให้เราดูความจริงว่าจริงๆ มันตัวเราจริงหรือเปล่า วิธีดูท่านก็สอนวิธีไว้ สอนวิธีปฏิบัติไว้ให้มีจิตที่ตั้งมั่น คือมีสมาธิที่ถูกต้อง มีสัมมาสมาธิ สมาธิจะต้องมีคำว่า สัมมาอยู่ด้วย เพราะสมาธิที่เป็นมิจฉาสมาธินั้น มีเยอะมากเลย สัมมาสมาธิคือสภาวะที่จิตตั้งมั่น จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว รู้เนื้อรู้ตัวอยู่โดยไม่ได้เจตนาโดยไม่ได้บังคับ ถ้าบังคับอยู่จะเครียดๆ สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนเรา มีจิตที่ตั้งมั่นควรแก่การงาน ควรแก่การงาน คือพร้อมแล้ว สมควรที่จะเจริญปัญญาได้ ที่จะไปเรียนรู้ความจริง ของกายของใจได้

ถ้าจิตตั้งมั่นแล้วให้มีสติระลึกรู้กายเนืองๆ ระลึกรู้เวทนาคือความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉยๆ อย่างนี้เนืองๆ ระลึกรู้จิตใจที่เป็นบุญบ้าง เป็นบาปบ้าง เป็นกุศล อกุศลเนืองๆ ท่านสอนวิธีเรา คือการวิจัย นี่อยู่ในขั้นการทำวิจัยแล้ว ถ้าเทียบพระหรือนักปฏิบัติเหมือนนักศึกษานี่เรียนตำรับตำรา แล้วก็ลงมือวิจัย ลงมือวิจัยธรรมะก็คือลงมือเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง เรียนรู้ความจริงของกาย จะเรียนรู้ความจริงของกายได้ จิตต้องตั้งมั่นไม่มีอคติ อย่างเป็นนักวิชาการ แต่มีอคติ นี่ล้มเหลวแล้ว ผลงานวิจัยออกมาก็จะทำไปด้วยอคติ มันจะเพี้ยน เพราะฉะนั้นท่านสอนให้เรามีสมาธิที่ถูกต้องเพื่อให้จิตใจไม่มีอคติ

เวลาจิตมันมีสมาธิถูกต้องเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตจะไม่หลงไป ด้วยอำนาจของความชอบ ความเกลียดชัง ความลำเอียงนานาชนิดมันจะไม่มี จิตมันจะซื่อตรง จะรู้ทุกอย่างอย่างซื่อตรง ไม่ใช่รู้แบบอคติ อย่างนักวิชาการ ของเรา ของเราหมายถึงชาวโลก ไม่ใช่ของไทย นักวิชาการถ้าคนไหน มันมีอคติมาก งานวิจัยออกมาก็ใช้ไม่ได้ ถ้ามันซื่อตรงมันก็ใช้ได้ อย่างบางคนอาจจะรับทุนของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาแล้วก็มาทำวิจัย ก็ลำเอียง ลำเอียงเพราะรัก บางทีก็ลำเอียงเพราะเกลียด ลำเอียงเพราะกลัว

พระพุทธเจ้าสอนให้เราฝึกให้จิตมีสมาธิที่ถูกต้อง มีสัมมาสมาธิ จิตที่มีสัมมาสมาธิจะไม่ลำเอียง มันจะเป็นกลาง มันจะซื่อตรงในการเรียนรู้ เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกให้ได้จิตตัวนี้มา วิธีฝึกหลวงพ่อสอนมามากมายแล้ว ฝึกขั้นแรกก็ฝึกให้จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวให้มันมีแรง ต่อมาก็สังเกตไป อย่างเรารู้สึกร่างกายหายใจออก รู้สึกร่างกายหายใจเข้า รู้สึกอย่างนี้ จิตสงบในการรู้กาย ร่างกายที่มันกำลังหายใจ จิตมันจะสงบเป็นคนดู เห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า แล้วต่อไปก็พัฒนาขึ้นมา เห็นร่างกายที่หายใจเป็นของถูกรู้ถูกดู จิตเป็นคนรู้คนดูขึ้นมา จิตก็จะหลุดออกมาจากความคิดว่าจิตกับกายเป็นอันเดียวกัน

พอมันหลุดออกมาปุ๊บเป็นคนดู มันก็จะเริ่มเห็นความจริงของร่างกาย ว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ที่จิตมันตั้งมั่นขึ้นมา มันจะทำให้เราเห็นไตรลักษณ์ได้ เห็นความจริงว่ากายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ถ้าดูจิตใจก็จะเห็นเลย จิตใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา จิตที่สุข จิตที่ทุกข์ จิตที่ดี จิตที่ชั่ว เป็นของถูกรู้ถูกดู เกิดแล้วดับทั้งสิ้น ตัวนี้เรามีปัญญาเห็นไตรลักษณ์

 

 

เราจะมีสมาธิตั้งมั่นอย่างเดียวไม่พอ เครื่องมือหลักอีกตัวหนึ่งคือ ต้องมีสติ สติเป็นตัวรู้ทันความเคลื่อนไหวของกาย ความเคลื่อนไหวของจิตใจ อันนี้เรียกว่าสติปัฏฐาน ไม่ใช่สติอย่างโลกๆ อย่างเขียนไว้ข้างขวดเหล้า กินเหล้าทำให้ขาดสติอะไรอย่างนี้ ขับรถให้มีสติอะไรอย่างนี้ คอยสอนปิดป้าย สติอย่างนั้นเป็นสติอย่างโลกๆ ส่วนสติเพื่อความพ้นทุกข์ที่พระพุทธเจ้าสอน นี่คือสติปัฏฐาน เป็นสติที่รู้กาย สติที่รู้ใจ เพราะฉะนั้นเวลาจิตเราตั้งมั่นเป็นคนดู นี่เราคอยหมั่นระลึกรู้กายระลึกรู้ใจไว้ ถ้ารู้กายรู้ใจด้วยจิตที่ตั้งมั่น และก็เป็นกลาง ปัญญาจะเกิด มันจะเห็นความจริงของกายของใจว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันไม่ใช่ตัวเรา

พอเห็นแล้วอะไรจะเกิดขึ้น พอเห็นแล้วจิตจะคลายความยึดถือกาย ยึดถือใจ ตรงนี้ก็จะเริ่มตอบโจทย์เราแล้วว่าทำไมร่างกายแก่ ร่างกายเจ็บ ร่างกายตายแล้วจิตใจไม่หวั่นไหว ก็เพราะสติปัญญามันแหลมคม มันรู้ว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา มันเป็นสมบัติของโลก แล้วเราก็ไม่ได้ฆ่ามันทิ้ง ไม่ยึดถือเลยฆ่าทิ้งอะไรอย่างนี้ มันไม่ใช่ของเรา ไปฆ่ามันทำไม มันเหมือนทำลายสมบัติ ทำลายทรัพยากรของส่วนรวม เพราะฉะนั้นอย่างมีชีวิตอยู่นี่เราไม่ได้อยากตาย แต่ถ้าจะต้องตาย เราก็ไม่หวั่นไหว ถ้าฝึกแล้วมันจะเป็นอย่างนี้ ถ้ายินดีพอใจในการตาย อันนี้ยังยึดถืออยู่ ยังไม่เข้าใจ แต่จิตมันจะเข้าสู่ความเป็นกลาง ฉะนั้นอย่างที่ว่าตัดคอตัวเองอะไรนี้ มิจฉาทิฏฐิทั้งนั้นเลย ไปทำลายสมบัติ ของโลกเพราะร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา ไปฆ่าเขา ไปทำลายเขาได้อย่างไร มิจฉาทิฏฐิมันทำให้เกิดการกระทำอะไรที่เพี้ยนๆ ออกไป

พระพุทธเจ้าสอนเส้นทางที่ถูกต้องเรียกอริยมรรค มรรคก็คือมรรคา คือเส้นทางของพระอริยเจ้าทั้งหลาย อริยะแปลว่าผู้เจริญ เส้นทางของผู้ที่ เจริญด้วยศีลด้วยธรรม เพราะฉะนั้นเราก็มาฝึกให้จิตมันตั้งมั่นขึ้นมา แล้วมีสติรู้กาย มีสติรู้ใจไป พอมันเห็นความจริงของร่างกายมันก็ไม่ยึดถือกาย เห็นความจริงของจิตใจมันก็ไม่ยึดถือจิตใจ ความจริงของกายคือมันต้องแก่ มันต้องเจ็บ มันต้องตาย ความจริงของจิตใจก็คือมันไม่เคยคงที่เลย เราบังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้

อย่างในโลกทุกคนก็อยากได้ความสุข แต่ดิ้นรนหาความสุขมา ความสุขมันอยู่ได้แป๊บเดียวก็หนีไปแล้ว ก็ต้องดิ้นรนต่อไปอีก เพราะฉะนั้น การดิ้นรนหาความสุขให้จิตใจมีความสุขอะไรอย่างนี้ที่ชาวโลกทำ มันไม่มีทาง สำเร็จหรอก อย่างจีบสาวสำเร็จแล้วจะมีความสุข พอจีบสำเร็จจริงๆ มันก็เริ่มไม่สุขแล้ว มันก็อยากอย่างอื่นต่อไปอีก ฉะนั้นถ้าเราค่อยๆ ภาวนาเราจะเห็นเลย ตัวที่ทำให้มันไม่มีความสุขคือตัวความอยากนี่ล่ะ ที่ทำให้จิตใจเราไม่มีความสุข ตัวตัณหานี้ล่ะเป็นตัวสมุทัย เป็นต้นเหตุ ทำให้จิตใจไม่มีความสุข เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าอยากเมื่อไหร่ ยึดเมื่อไหร่ ก็ทุกข์เมื่อนั้น

เราค่อยๆ ดู ค่อยๆ สังเกตไปเราก็จะเห็นจิตมันมีความอยากเกิดขึ้นแล้ว เรามีสติรู้ทันมันก็ดับ มันมีความยึดถือเกิดขึ้นแล้วเรามีสติรู้ทันมันก็ดับ มันสุขขึ้นมา เรามีสติรู้อยู่ เราก็จะเห็นความสุขก็ของชั่วคราว ความทุกข์ก็ของชั่วคราว กุศล อกุศลก็ของชั่วคราว การที่จะดิ้นรน หาความสุขถาวร มันเลยเป็นเรื่องของความไม่ฉลาด ไม่อยากใช้คำว่าโง่ จริงๆ คือยังไม่ฉลาด ยังไม่ได้เรียนรู้ ถ้าเรียนรู้แล้วเราจะรู้เลย ความสุขถาวรไม่มีหรอกในโลก มีแต่ความสุขชั่วคราวแต่เราอยากได้ ความสุขที่ถาวร ตะเกียกตะกายดิ้นรนทุกสิ่งทุกอย่างไป ดิ้นรนแสวงหา สิ่งซึ่งไม่มีทางเป็นจริง ตัวนี้คือความไม่ฉลาด ตัวไม่ฉลาด เขาเรียกตัวโง่ ตัวอวิชชา ไปดิ้นรนแสวงหาสิ่งซึ่งมันไม่มีทางเป็นไปได้

แต่ถ้าใจมันยอมรับความจริงได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเรานี่เป็นของชั่วคราว ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปๆ ทุกสิ่งทุกอย่าง เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ที่เรียกว่าเห็นเนืองๆ เห็นกายในกายเนืองๆ เห็นเวทนาในเวทนาเนืองๆ เห็นจิตในจิตเนืองๆ อะไรอย่างนี้ คือเห็นสภาวะทั้งหลายทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรมผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก นานแค่ไหนนี่แล้วแต่ว่าอินทรีย์ของเราแก่กล้าแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวที่จะทำให้เร็วเขาเรียกว่าปัญญินทรีย์ คือตัวปัญญา

บางคนอินทรีย์ตัวอื่นเข้มแข็ง อย่างศรัทธาเข้มแข็งอะไรอย่างนี้ แต่ว่าหย่อนปัญญา ก็ต้องใช้เวลา อย่างได้เป็นพระโสดาบัน บางท่านต้องอีก 7 ชาติ บางท่านอีก 3 ชาติ บางท่านอีกชาติเดียว พวกชาติเดียวนี่ คือพวกที่ปัญญินทรีย์แก่กล้า พวกปัญญาแก่กล้า จิตใจมันแก่กล้า มันเห็นสภาวะทั้งหลายเกิดดับๆ ไป สุขมาแล้วก็ดับไป ทุกข์มาแล้วก็ดับไป ดีชั่วมาแล้วก็ดับไป มันเห็นอยู่ไม่นาน จิตมันก็ปิ๊งเลยว่าทุกสิ่งทุกอย่าง เกิดแล้วก็ดับไป แล้วก็เข้าใจธรรมะอย่างรวดเร็ว ถ้าศรัทธาแก่กล้าอะไรอย่างนี้ ก็ได้ธรรมะเหมือนกัน แต่ต้องใช้เวลา กว่าจะค่อยๆ พัฒนาไปอะไรอย่างนี้ ใช้เวลา

 

ไม่ว่าพระพุทธเจ้าองค์ไหนมาตรัสรู้ ท่านก็จะสอนธรรมะอันเดียวกัน คือสอนอริยสัจ สอนเรื่องทุกข์

 

อย่างพระพุทธเจ้าท่านก็มีตั้ง 3 ประเภทใช่ไหม บางองค์ท่านเป็น วิริยาธิกะ อย่างพระเมตไตรยอย่างนี้ ท่านทำไปด้วยความพากเพียร อดทน พากเพียรทำ ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ อย่างพระพุทธเจ้าอังคีรส พระโคดมของเรา ท่านเป็นพระพุทธเจ้าชนิดปัญญาธิกะ ปัญญินทรีย์ ท่านแก่กล้า ฉะนั้นท่านเดินด้วยปัญญานี่ท่านใช้เวลาสั้น สั้นกว่า พระเมตไตรยถึง 4 เท่า ใช้เวลาสั้น ตรงนี้มันอยู่ที่จริตนิสัย วาสนา บารมีแต่ละองค์ไม่เหมือนกัน บางทีพวกเราก็เพ้อว่าพระเมตไตรย ท่านจะบุญบารมีสูงสุดอะไรอย่างนี้ ที่จริงท่านสะสมนานมากเลย พระพุทธเจ้าของเรานี่เป็นพระพุทธเจ้าที่เลิศ ชนิดที่เลิศที่สุดแล้ว ฉะนั้นถ้าท่านสอนแล้วเรายังไม่เอา จะไปรอองค์ต่อๆ ไปอะไรอย่างนี้ เพื่อจะมาเรียนธรรมะอันเดิม อันที่พระพุทธเจ้าองค์นี้สอนนั่นล่ะ ไม่ว่าองค์ไหนมาตรัสรู้ก็จะสอนธรรมะอันเดียวกัน คือสอนอริยสัจ สอนเรื่องทุกข์

อะไรคือทุกข์ กายนี้ ใจนี้คือทุกข์ ถ้ากายนี้ใจนี้มีอยู่ แต่เราไม่เข้าไปหยิบฉวย ไม่เข้าไปยึดถือ คือไม่มีสมุทัย มันก็ไม่เดือดร้อน กายมันทุกข์ก็ทุกข์ของกาย ไม่ใช่เราทุกข์ ใจมันทุกข์ก็ทุกข์ของใจ ไม่ใช่เราทุกข์ ฉะนั้นตัวที่ทำให้เราทุกข์ๆ ขึ้นมาคือตัวตัณหา ตัวสมุทัย พระพุทธเจ้ากี่องค์ก็สอนอย่างนี้ล่ะ แล้วก็สอนความดับสนิทแห่งตัณหานั้น คือความดับสนิทแห่งทุกข์ เราภาวนา เราจะเห็น อยากเมื่อไหร่ ยึดเมื่อไหร่ ทุกข์เมื่อนั้น ไม่อยาก ไม่ยึด ไม่ทุกข์หรอก นี่ความดับสนิทของตัณหา คำว่าดับสนิทหมายถึงดับแล้วไม่เกิดขึ้นมาอีก อย่างเวลาไฟไหม้ ไหม้ป่าอะไรนี่ เราดับๆ ไปแล้วแต่ข้างใต้มันยังคุอยู่ หันไปที่อื่นเผลอไปแป๊บเดียว ไฟนี้ขึ้นมาอีกแล้ว ตัณหาของเราก็เหมือนกัน เราภาวนาได้นิดๆ หน่อยๆ อะไร เรารู้สึกเราชนะแล้วความอยากนี้ เผลอแป๊บเดียว ขึ้นมาใหม่แล้ว เหมือนไปดับไฟป่า แต่ดับไม่เป็น ไฟมันยังซ่อนอยู่ อันนั้นตัณหามันยังขึ้นมาอีก

กี่องค์ๆ ท่านก็สอนเรื่องทุกข์ อะไรคือทุกข์ รูป นาม กาย ใจนี้คือทุกข์ จิตที่ไปหยิบไปฉวยไปยึดไปถือ มันมีความอยากขึ้นมามันก็ไปยึดถือขึ้นมา ไปหยิบฉวยเอากายเอาใจมาเป็นตัวเราของเราขึ้นมา มันก็เลยทุกข์ไปด้วย นี้ถ้าจิตไม่เข้าไปอยาก ไม่เข้าไปยึด จิตก็ไม่ทุกข์

นิพพานคืออะไร นิพพานคือสภาวะที่สิ้นตัณหา ถ้ามีคนมาถาม เราว่านิพพานๆ เป็นอย่างไร แสดงให้ดูสิ เราต้องตอบเขาได้ เพราะเราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า สิ่งที่เรียกว่านิพพาน คือสภาวะที่สิ้นตัณหา ลองดูสิเวลามีความอยากขึ้นมา ทุกข์ ไม่ทุกข์ ลองดู เวลาความอยากมันดับไป ความทุกข์มันดับไป จริงไม่จริง ดูจากของจริง นี้การดับของตัณหา มันก็ดับได้ตั้งหลายแบบใช่ไหม ตอบสนองมันไปมันก็ดับ แต่เดี๋ยวมันก็เกิดอีก ไปข่มมันไว้มันก็ดับ ประเดี๋ยวมันก็เกิดอีก แต่เข้าใจเหตุ เข้าใจผล ของมัน มันดับสนิทได้ พระพุทธเจ้าสอนถึงการดับสนิทของตัณหา ซึ่งเป็นการดับสนิทของความทุกข์

ทำอย่างไรจิตใจจะเข้าถึงความดับสนิทของตัณหา คือเข้าถึงนิโรธ เข้าถึงนิพพาน พระพุทธเจ้าทุกองค์ก็สอนเรื่องอริยมรรคมีองค์ 8 ย่อลงมาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา นี่คือศาสตร์ที่พระพุทธเจ้าใช้เวลายาวนานแต่ละพระองค์ๆ เพื่อจะค้นคว้าขึ้นมา เข้าใจขึ้นมา คือทุกข์ หน้าที่ต่อทุกข์คือทำอย่างนี้ วิธีทำทำอย่างนี้อะไรอย่างนี้ ท่านจะสอน เราได้ศาสตร์อันนี้มาแล้ว เราก็ลงมือดู ลงมือทำ อริยมรรคมีองค์ 8 ย่อลงมาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าดูให้ดี เวลาลงมือปฏิบัติจริง ท่านเริ่มด้วยสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ อันนี้คือตัวปัญญา เพราะฉะนั้นก่อนจะลงมือปฏิบัติของชาวพุทธเรา ต้องมีปัญญาขั้นต้นก่อน ฉะนั้นตัวสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะคืออะไร คือความเห็นถูก คือมีทฤษฎีที่ถูก มีความคิดถูก มีความคิดความเห็นที่ถูกต้องนั่นเอง ถ้ามีความคิด ความเห็นที่เพี้ยน เป็นมิจฉาทิฏฐิรุนแรง มันก็ไม่สามารถเจริญมรรคตัวอื่นๆ ต่อไปได้

อย่างที่เราเห็นโลกทุกวันนี้วุ่นวายเห็นไหม มีแต่มิจฉาวาจา ทำไมมีแต่ มิจฉาวาจา ด่ากันไปด่ากันมา ใส่ร้ายกัน หลอกลวงกัน มีแต่เฟคนิวส์ เต็มบ้านเต็มเมืองไปหมดเลย ทำไมเต็มไปด้วยมิจฉาวาจา คนที่ทำมิจฉาวาจาได้ เพราะมันมีมิจฉาทิฏฐิ มีมิจฉาสังกัปปะ แต่ถ้ามันมี ทฤษฎีที่ถูก มีความคิดที่ถูก คำพูดมันถึงจะถูก ทฤษฎีที่ถูกก็คือ ความรู้แจ้งอริยสัจ ความเข้าใจอริยสัจในภาคปริยัตินั่นล่ะ แล้วเสร็จแล้ว เราก็คอยสังเกตจิตใจเอา จิตใจมันจะคอยวิตก คอยตรึก คอยคิดอย่างโน้น คิดอย่างนี้ไป คนทั่วไปมันก็คิดไปตามทิฏฐิที่ผิด คิดไปตามมิจฉาทิฏฐิ กูมีอยู่จริงๆ กูอยากใหญ่ กูอยากเป็นหนึ่งอะไรอย่างนี้ เวลาคิดมันก็คิด เพื่อสนองความเป็นกู คิดสนองแสวงหาผลประโยชน์อะไรนี่ พอคำพูดที่ออกมา มันก็พูดไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ เพื่อไปล่อลวงคนอื่น

ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านชี้ลงมาเลยว่าเบื้องต้นเราต้องมีสัมมาทิฏฐิในภาคปริยัติเสียก่อน คือรู้หลักของการปฏิบัติ รู้ว่าเราจะปฏิบัติธรรม คือปฏิบัติอะไร ปฏิบัติเพื่ออะไร ปฏิบัติอย่างไร ปฏิบัติแล้วมีผลอย่างไร อย่างนี้เรียกว่า เรามีปัญญาขั้นต้น ตัวนี้อาศัยการได้ยินได้ฟังธรรมะ ของพระพุทธเจ้า พวกเราไม่ใช่พระพุทธเจ้า ไม่ใช่พระปัจเจกพระพุทธเจ้า น้อยคนที่จะเป็น พระพุทธเจ้า เป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้าได้ พวกเราอย่างมากก็เป็นอนุพุทธะ คือเป็นผู้รู้ตามพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นเราก็อาศัยการได้ยินได้ฟัง ธรรมะแล้วเราก็สังเกตตัวเอง มีสติไปเวลาใจมันคิดขึ้นมา มันคิดไป ด้วยความหลงผิด หรือมันคิดไปด้วยมีสัมมาทิฏฐิ คิดถูก คิดถูกเพราะว่ามีความเห็นถูก

ถ้าเรามีความเห็นถูกคือตัวสัมมาทิฏฐิ มีความคิดถูกคือสัมมาสังกัปปะ วาจาของเรามันก็จะถูกอัตโนมัติ สัมมาทิฏฐิที่สมบูรณ์ก็จะทำให้เกิดสัมมาสังกัปปะ คือความคิดถูกที่สมบูรณ์ เมื่อเราคิดถูก ความคิดถูกมีแล้ว การพูดถูกคือสัมมาวาจามันก็จะเกิดขึ้น ที่มันพูดผิดเพราะมันคิดผิด ที่มันคิดผิดเพราะมันเห็นผิด มันเห็นว่าโลกนี้กูต้องใหญ่ที่สุด ถ้ามีอำนาจแล้วก็จะถือว่าตอบโจทย์ในชีวิต ได้ทุกสิ่งทุกอย่าง มันมีความคิดผิดอย่างนี้ มันก็คิดอะไรแต่ผิดๆ วันๆ หนึ่งคิดให้คนบาดเจ็บ ล้มตายอะไรก็ได้ ขอให้กูใหญ่ก็แล้วกัน แล้วคำพูดออกมามันก็เป็นคำพูด ปลิ้นปล้อนหลอกลวง ใส่ร้ายป้ายสีอะไร มันก็ตามมาเลยอัตโนมัติ โลกก็จะหาความสงบไม่ได้ สังคมจะหาความสงบสุขไม่ได้ เพราะว่ามิจฉาทิฏฐิมันมีอยู่

 

 

นี่คือศาสตร์ของพระพุทธเจ้า สอนเราจนกระทั่งเรามีความเข้าใจ ความเห็นถูก มีความคิดถูก มีการพูดที่ถูกแล้วก็มีการกระทำที่ถูก ตัวการกระทำที่ถูกเรียกว่าสัมมากัมมันตะ มีการกระทำที่ถูกต้อง การกระทำที่ไม่เบียดเบียนตนเอง การกระทำที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น การกระทำที่กระทำด้วยการเห็นประโยชน์ ทำไปด้วยการเห็นประโยชน์ ไม่ใช่เห็นแก่ตัว ไม่ใช่เห็นแต่ผลประโยชน์ ผลประโยชน์อาจจะไม่ใช่ประโยชน์ ทุกวันนี้หาแต่ผลประโยชน์ อยากมีอำนาจอย่างนี้ มันเป็นประโยชน์จริงไหม มีอำนาจแล้วพ้นทุกข์ได้ไหม มีอำนาจแล้วทำให้คนอื่นไม่ทุกข์ด้วย ได้หรือเปล่าอะไรอย่างนี้ ก็ไม่ได้ ส่วนใหญ่มีอำนาจแล้วก็ไปเบียดเบียนคนอื่น

อย่างพระเจ้าอโศก พระเจ้าอโศกแต่เดิมเป็นมิจฉาทิฏฐิ อยากใหญ่ อยากมีอำนาจครอบครองชมพูทวีป ยกทัพไปไล่ฆ่าฟันคนอื่นเสียมากมายเลย วันหนึ่งเกิดสลดสังเวช ไปฆ่าพวกกลิงคะ พวกกลิงคะตายไปเป็นล้านเลย ฆ่าฟัน ศพเต็มสนามรบเลย ใจก็สลดสังเวช เราจะขึ้นมาเป็นใหญ่ท่ามกลาง ซากศพเลือดเนื้อกองกระดูกของผู้คนมากมาย มันได้ประโยชน์อะไรหรือเปล่า ช่วงที่ใจของท่านเริ่มอ่อนลง ท่านได้พบพระองค์หนึ่งหรือเณรอะไรอย่างนี้ หลวงพ่อจำไม่ได้แล้ว แล้วท่านก็ได้ฟังธรรมะ ท่านเกิดความเห็นถูก ขึ้นมาว่าสิ่งที่ทำอยู่นี่ เบียดเบียนตัวเอง เบียดเบียนคนอื่นทั้งหมดเลย อยากมีอำนาจ เพื่อจะได้ให้ทุกคนที่อยู่ใต้ปกครองมีความสุขอะไรอย่างนี้ แต่การกระทำนั้นมันทำลายความสุขของคนไปจำนวนมากแล้ว ท่านก็กลับใจ

พอเกิดความเห็นถูกแล้ว ไม่อยากเบียดเบียนแล้ว ถ้าทุกคนเข้าใจธรรมะของพระพุทธเจ้า โลกนี้ก็อยู่กันอย่างสันติสุข ไม่เบียดเบียนกัน ท่านเลยพยายามเผยแพร่ ถ่ายทอดธรรมะ ประชุมพระก่อน สังคายนาได้ธรรมะ ที่ถูกต้องแล้วก็ส่งพระสมณทูตออกไปเผยแพร่ธรรมะในพื้นที่ต่างๆ ทางด้านเรา นี้เขาเรียกสุวรรณภูมิ ยังเถียงกันอยู่ว่าสุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน พวกพม่า เขาบอกว่าอยู่ที่พม่า คนไทยแต่ก่อนก็บอกอยู่แถวนครปฐมแถวอะไรนี้

ท่านเผยแพร่ออกไป คราวนี้เปลี่ยนจากพระเจ้าอโศกผู้โหดร้าย เลยเป็นธรรมาโศกราช อโศกผู้ทรงธรรม แล้วถ่ายทอดๆ ออกไป หน้าที่เห็นไหม ตัวเองเข้าใจแล้วก็ถ่ายทอดออกไป เพื่อให้คนอื่น ได้รับประโยชน์ ได้รับความสุขด้วย แทนที่จะเอามีดไปจ่อคอเขา เอาธรรมะไปให้เขา เปลี่ยนจิตใจของเขาให้มันดีขึ้นมา สังคมมันก็ร่มเย็น เป็นสุขได้ นี่คือศาสตร์ของพระพุทธเจ้า แต่ศาสตร์อันนี้เข้าใจยาก ถ้าไม่ลงมือฝึกฝนตัวเองให้ถ่องแท้ก็จะไม่เข้าใจหรอก

 

ถ้าเราค่อยๆ เรียน การฟังหลวงพ่อเราจะได้สัมมาทิฏฐิในภาคปริยัติ แล้วเราก็คอยสังเกตใจเรา สิ่งที่เรากำลังคิดกำลังนึกอยู่นี่ มันคิดไปนึกไปด้วยกำลังของสัมมาทิฏฐิ หรือคิดไปด้วยกาม ด้วยการหิวโหยในผลประโยชน์อะไรพวกนี้ หรือคิดไปด้วยความไม่พอใจ พยาบาทเบียดเบียนอะไรอย่างนี้ หรือคิดไปด้วยความโง่ๆ นี่ค่อยๆ เรียน สังเกตความคิดของเรา ความคิดของเราแต่ละเรื่องนี่อะไรอยู่เบื้องหลัง เป็นกามวิตก หรือเป็น พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตก

วิหิงสาวิตกนี่คือเบียดเบียนด้วยโมหะ อย่างเราเบียดเบียนด้วยโมหะ เช่น แหม เราชอบประชาธิปไตยที่สุดเลย แต่ถ้าใครคิดต่างกับเรา ไม่ชอบ ประชาธิปไตย เราเกลียดมันเลย หาทางฆ่ามันให้ตาย อย่างนี้เรียกว่า วิหิงสาวิตก เบียดเบียนด้วยอำนาจของโมหะ คิดว่าความเห็นของเราถูก คนอื่นผิดหมดเลยอะไรอย่างนี้ นี่ถ้าเรารู้ทันตัวนี้ คำพูดของเรา มันก็จะสะอาดหมดจดขึ้นมา เฟคนิวส์อะไรพวกนี้จะไม่มี แล้วการกระทำ ของเราก็จะดีขึ้น การดำรงชีวิตทำมาหากินก็จะไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่เบียดเบียนคนอื่น แล้วต่อไปคือเรื่องของการฝึกจิตฝึกใจ

ทางปัญญาของเราถูกต้องแล้วในเบื้องต้น คำพูด การกระทำของเรา การเลี้ยงชีวิตของเราถูกต้องแล้ว มันก็เอื้อต่อสัมมาวายามะ ความเพียรชอบ เมื่อความคิดถูก ความเห็นถูก คำพูดถูก การกระทำถูก การเลี้ยงชีวิตถูก การทำความเพียรมันจะถูก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำนี่ทำไปเพื่ออะไร เราปฏิบัติธรรมไม่ใช่เพื่อเอาชนะคนอื่น ไม่ใช่เพื่อทำลายกลุ่มอื่น สำนักอื่นอะไรอย่างนี้ ไม่ใช่เพื่อบังคับคนอื่นให้เห็นด้วย ที่เราปฏิบัติธรรมนี้ เราปฏิบัติเพื่อลดละกิเลสของตัวเอง เรียกว่าสัมมาวายามะ ถ้าปฏิบัติแล้ว กิเลสแรงขึ้นนั่นไม่ใช่สัมมาวายามะแล้ว

เรามีความเพียรที่ถูก เพียรลดละกิเลส ตรงที่เราลดละกิเลสไปได้นั้น กุศลมันก็จะเจริญขึ้นมา เพราะฉะนั้นจิตมันไม่เป็นอกุศลแล้ว มีสติรู้ทัน เวลาอกุศลเกิดแล้ว มันก็ทำให้อกุศลเก่าดับ อกุศลใหม่ไม่เกิด ทันทีที่มีสติ กุศลเกิดแล้ว แล้วก็มีสติบ่อยๆ กุศลก็จะเจริญขึ้นไปเป็นศีลที่ดี สมบูรณ์ สมาธิที่สมบูรณ์ ปัญญาที่สมบูรณ์ สติเราก็จะสมบูรณ์ขึ้นมา มีความเพียร ที่ถูกต้อง สติที่ถูกต้องมันก็เกิด สมาธิที่ถูกต้องก็เกิด เมื่อองค์มรรคนี้ เพียบพร้อมแล้ว ถูกต้องสมบูรณ์แล้ว

ต่อไปสัมมาทิฏฐิในภาคปฏิบัติมันจะเกิดขึ้น คือความรู้ถูก ความเข้าใจถูก ในขั้นโลกุตตระ อย่างที่เราเป็นสัมมาทิฏฐิในเบื้องต้น ฉะนั้นเราต้องมี ทีแรกเรามีสัมมาทิฏฐิในภาคทฤษฎี เราก็ลงมือปฏิบัติไปในศีล สมาธิ ปัญญานี้ล่ะ มีจิตตั้งมั่น มีสติรู้ทันสภาวะทั้งหลายต่อไปปัญญามันเกิด ปัญญาตัวนี้เป็นปัญญาในขั้นโลกุตระ มันจะล้างกิเลสหยาบๆ ออกไป กิเลสละเอียดก็ถูกทำลายไปเป็นบางส่วน ค่อยๆ ทำลายไป ค่อยๆ หมดจด จิตใจเข้าถึงความร่มเย็นเป็นสุขมากขึ้นๆ เป็นลำดับไป

เราก็จะรู้ว่าคำสอนของพระพุทธเจ้านี้มีประโยชน์จริง แต่เดิมกิเลสเราก็เยอะ ไม่ได้ต่างกับคนอื่น แต่ว่าตอนนี้กิเลสเราลดน้อยลง แต่เดิมเรามีความทุกข์ในชีวิตมาก มีความทุกข์อยู่ในชีวิตยาวนาน ตอนนี้ความทุกข์เราก็สั้นลง ความทุกข์เราก็เบาลง น้อยลง สั้นลง เราจะเห็นอย่างนี้แล้ว เราก็จะยิ่งเชื่อมั่นมีความศรัทธาอันประกอบด้วยปัญญา ไม่ใช่ศรัทธางมงาย อีกต่อไปแล้ว ศรัทธางมงายนี่มันน้อมใจเชื่อ หลวงพ่อไม่อยากเรียกว่าศรัทธาหรอก เรียกว่าความเชื่อมั่น ความเชื่อมั่นแบบงมงาย แต่ศรัทธาจริงๆ ต้องประกอบด้วยปัญญามันถึงจะศรัทธาที่แท้จริง

 

รู้ทุกข์ ก็คือรู้ความจริง ว่ากายนี้คือตัวทุกข์ จิตใจนี้คือตัวทุกข์ ขันธ์ 5 คือตัวทุกข์
ถ้าเข้าใจแล้ว สมุทัยคือความอยากจะไม่เกิดขึ้น

 

สิ่งเหล่านี้จะค่อยๆ เกิด มันจะเข้าใจ ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา จิตใจนี้ไม่ใช่เรา เมื่อร่างกายไม่ใช่เรา จิตใจไม่ใช่เรา เวลาร่างกายมันแก่ มันเจ็บ มันตาย มันก็ไม่ใช่เราแก่ เราเจ็บ เราตาย แต่มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ ถ้าเราเห็นอีกแล้วถ้าจิตใจนี้จะกระทบอารมณ์ที่พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง ก็เป็นเรื่องธรรมดา อันนั้นใจก็จะไม่กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง หิวแต่ความสุข เวลาเจอความทุกข์ก็ทุรนทุราย เกลียดชัง เวลาเจอความสุข ก็ทุรนทุราย อยากครอบครองไว้นานๆ อะไรอย่างนี้ จิตใจไม่มีสมดุล กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลงตลอดเวลา มีแต่ความทุกข์

พอเราปฏิบัติธรรม ลงมือดูกายดูใจตามความเป็นจริงด้วยที่จิตที่ตั้งมั่น และเป็นกลางไปเรื่อย เห็นความจริงของกาย เห็นความจริงของใจ เรียกว่าเรารู้ทุกข์ที่พระพุทธเจ้าสอนว่าทุกข์ให้รู้ ตรงที่จะรู้ทุกข์ก็คือ รู้ความจริงว่า กายนี้คือตัวทุกข์ จิตใจนี้คือตัวทุกข์ ขันธ์ 5 คือตัวทุกข์ ถ้าเข้าใจแล้ว สมุทัยคือความอยากจะไม่เกิดขึ้น ความอยากทั้งหลาย มันมีความอยากอะไร มันก็มีแค่ความอยากให้กายเป็นสุข ความอยาก ให้กายไม่ทุกข์ ความอยากให้ใจมีความสุข ความอยากให้ใจไม่ทุกข์ มันก็มีอยู่แค่นั้นล่ะที่อยากๆ กัน ที่บอกกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด ย่อลงมา ก็คือ อยากให้กายให้ใจเป็นสุข อยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์ ทั้งๆ ที่กาย มันคือตัวทุกข์ ใจมันคือตัวทุกข์ เพราะฉะนั้นความอยากนั้นเป็นเรื่องไร้เดียงสา เกิดจากอวิชชา ตัณหามันก็มาจากอวิชชา ความโง่ของเราเอง

การที่เรามาเจริญสติ เจริญปัญญานั้น ทำให้เราเกิดความรู้ถูก ความเข้าใจถูก มีสัมมาทิฏฐิ มีตัววิชชา รู้ความจริงของธาตุของขันธ์ รู้ความจริงจนมันหมดความยึดถือ เมื่อมันหมดความยึดถือจิตใจมันก็ เข้าถึงความสงบสันติ คือเข้าถึงพระนิพพาน เราก็รู้แล้วเส้นทางที่เดินนั้น ต้องเดินด้วยศีล สมาธิ ปัญญาหรืออริยมรรคมีองค์ 8 ไม่มีทางที่สองให้เดิน ตัวนี้เรียกว่าเรารู้จริงแล้วว่า อ๋อ มรรคนี้ที่ต้องเจริญนี่ต้องเป็นอย่างนี้ เจริญๆ อย่างนี้ ฉะนั้นทุกข์เราก็รู้ สมุทัยเราก็ละ นิโรธคือนิพพานเราก็ทำให้แจ้งแล้ว สภาวะที่สิ้นตัณหา มรรคเราก็ได้เจริญแล้ว นี่คือเส้นทางที่ พระพุทธเจ้าสอนเอาไว้

ถ้าเราปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมเราก็เข้าใจ พอเข้าใจเราก็ มีหน้าที่บอกต่อ พระพุทธเจ้าท่านก็สอน บอกว่าให้ทำประโยชน์ของตนเอง ทำประโยชน์ของผู้อื่นให้ถึงพร้อม ไม่ใช่บอกว่าให้พระเห็นแก่ตัว ท่านบอกให้ทำประโยชน์ อย่างน้อยทำประโยชน์ให้ผู้อื่นยังไม่ได้ ก็ทำประโยชน์ให้ตนเองให้ได้ก่อน ถ้าทำประโยชน์ของตนเองได้แล้ว จิตใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มันจะทำงานออกมาเอง มันจะเกิดความเมตตากรุณา สงสารเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน สงสารสัตว์ด้วยกัน ความรู้สึกเมตตาสงสาร ไม่ได้ต่างกับการรู้สึกเมตตาสงสารสัตว์ตัวนี้เลย (หลวงพ่อชี้ตัวเอง) อย่างเรา เห็นสัตว์ตกทุกข์ได้ยาก เราจะมีความรู้สึกเหมือนเห็นตัวนี้ตกทุกข์ได้ยาก มันจะเสมอกันไปหมดเลย ความเมตตานี้แผ่ไม่มีประมาณ ความเมตตาคือ ความรู้สึกเป็นมิตรจะเกิดขึ้นอัตโนมัติ

ศาสตร์อันวิจิตรพิสดารอย่างนี้ ถ้าไม่รักษาไว้ไม่นานก็หมดไป การที่เราช่วยกันอุปถัมภ์พระ ดูแลพระ ให้อาหาร ก็เพื่อให้พระมาทำงานวิจัยธรรมะ ถ้าท่านทำหน้าที่ของท่านถูก ท่านก็เรียนปริยัติหรือลงมือปฏิบัติ บางท่านก็เรียนปริยัติเยอะแยะเลย ได้เปรียญ ได้อะไรไปมากมาย ได้นักธรรม บางท่านเรียนพอให้รู้ทางปฏิบัติ หรือว่าอาศัยฟังครูบาอาจารย์ แล้วก็ลงมือปฏิบัติ นี้คือการเรียนปริยัติ การฟังคำสอนของครูบาอาจารย์แล้วก็ลงมือปฏิบัติ แล้วเราก็จะเห็นผล ด้วยตัวเอง นี่คือศาสตร์ของศาสนาพุทธ.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
16 พฤษภาคม 2564