มีสติรักษาจิต

การรับผิดชอบต่อส่วนรวม มันก็เป็นการฝึกตัวเองไม่ให้เห็นแก่ตัว ไม่ให้ยึดถือแต่ความคิดความเห็นของตัวเองเป็นใหญ่ ถ้ายึดถือความคิดความเห็นเรา ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ สังคมมันถึงวุ่นวาย คนที่รับผิดชอบต่อส่วนรวม จิตใจมันไม่เห็นแก่ตัว มันภาวนาง่าย คนเห็นแก่ตัวมันภาวนาไม่ได้จริงหรอก เราก็หัดฝึกของเราทุกวันๆ ธรรมะที่ง่ายๆ ครูบาอาจารย์หลายองค์ท่านจะพูด การดูจิตเป็นการปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด ครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่หลายองค์เลยพูดเหมือนกันว่า การดูจิตเป็นการปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด ใครจะชอบหรือใครไม่ชอบ เรื่องการดูจิตก็เรื่องของเขา แต่ถ้าเราได้ยินได้ฟังครูบาอาจารย์ผู้หลักผู้ใหญ่ท่านสอนก็จะรู้ การดูจิตมันดีอย่างไร

พระพุทธเจ้าท่านสอนเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้เยอะ ประโยชน์ที่จะได้รับท่านก็สอนไว้เยอะแยะเลย “ผู้ใดมีสติรักษาจิต ก็จะพ้นจากบ่วงแห่งมาร” เราค่อยๆ ฝึกตัวเอง มีสติรักษาจิตไปเรื่อยๆ ไม่ใช่เรื่องยากอะไร เราก็รักษา เราก็ได้ประโยชน์ตามชั้นตามภูมิของเรา เรารักษาน้อยๆ ก็ได้ประโยชน์น้อยๆ รักษาเยอะๆ ก็ได้ประโยชน์เยอะ รักษาอย่างยิ่งเราได้ประโยชน์อย่างยิ่ง ได้มรรคผล ไม่ใช่เรื่องยากอะไร จิตนั่นล่ะเป็นตัวสำคัญ ถ้าจิตมันชั่วมันก็ไปสร้างภพที่ชั่วๆ ขึ้นมา จิตมันดีมันก็ไปสร้างภพที่ดีๆ ขึ้นมา จิตนั่นล่ะเที่ยวเวียนว่ายตายเกิด ในภพน้อยภพใหญ่ไปเรื่อยๆ มันอยู่ที่กุศล หรืออกุศลจะผลักดันไป

ฉะนั้นเรามีสติรักษาจิตของตัวเองไว้ให้ดี การรักษาจิตนั้น ก็อาศัยสติรักษา ไม่ใช่เรารักษา สติทำหน้าที่อารักขา หลวงพ่อพูดเรื่อยๆ สติเป็นผู้รักษาจิต ถ้าเรามีสติรักษาจิตอยู่ อกุศลที่มีอยู่มันจะดับ อกุศลใหม่จะเกิดขึ้นไม่ได้ในขณะที่มีสติ การที่เรามีสติรักษาจิตนั้น จิตมันจะเป็นกุศลอัตโนมัติ ทีนี้พอเรามีสติเนืองๆ กุศลมันก็เจริญขึ้นมา งอกงามขึ้นมาเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา เป็นวิมุตติ หัดสังเกตจิตใจตนเองเนืองๆ หัดดู หัดรู้สึกจิตใจของตัวเองไป การดูจิตไม่ได้เอาตาไปดู เมื่อก่อนหลวงพ่อภาวนาใหม่ๆ หลวงพ่อดูจิตเสียปวดตาเลย ปวดๆ จริงๆ เราดูผิด เราพยายามจะไปเพ่งจิต พยายามเอาตาไปดู จิตเป็นนามธรรมเรารู้ด้วยใจ นามธรรมทั้งหลายไปรู้ด้วยรูปไม่ได้ ตามันเป็นรูปไปดูนามธรรมไม่เห็น เรารู้ด้วยใจของเรา จิตมันสุข จิตมันทุกข์เราก็รู้เอา จิตมันดี จิตมันชั่ว เราคอยรู้เอา

 

“ผลไม้มันเปรี้ยวหรือหวาน มันเกิดจากเนื้อในของมัน คนเราจะดีหรือไม่ดี อยู่ที่จิตของตัวเอง”

 

หลวงพ่อเคยเล่าให้ฟังบ่อยๆ เมื่อตอนหลวงพ่อไปเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ ก่อนจะไปเรียนหลวงพ่อเห็นท่านในนิมิตอยู่แล้ว ในนิมิตท่านก็ยื่นผลไม้มาให้หนึ่งลูก แล้วท่านก็สอนบอกว่า “ผลไม้มันเปรี้ยวหรือหวาน มันเกิดจากเนื้อในของมัน คนเราจะดีหรือไม่ดี อยู่ที่จิตของตัวเอง” แล้วต่อมาไปอ่านหนังสือเจอคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ว่า “จิตส่งออกนอกเป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอกเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค ผลที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นนิโรธ” ใจหลวงพ่อมันสะเทือนกับคำสอนอันนี้ มันสะเทือนขึ้นมา รู้ขึ้นมาเลยว่า เออหนอ ถ้าจิตไม่ทุกข์ ใครจะทุกข์ ฉะนั้นจิตนั่นล่ะตัวสำคัญ พอไปหาท่านครั้งแรก เข้าไปกราบท่าน ไปบอกท่านว่า “ผมอยากปฏิบัติ” หลวงปู่ท่านก็นั่งพิจารณาอยู่นาน ค่อนๆ ชั่วโมง ว่าควรจะสอนอะไร เสร็จแล้วท่านก็สอน “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง”

พอท่านให้อ่านจิตตนเอง หลวงพ่อก็ปลื้มเลย เพราะก่อนหน้าจะเจอองค์ท่าน จิตมันก็รู้แล้วว่าตัวสำคัญอยู่ที่จิต “ถ้าจิตไม่ทุกข์ ใครจะทุกข์” รู้อย่างนี้มาก่อนแล้ว พอท่านสอนให้ดูจิต ใจมันเลยยอมรับเลย เปิดเต็มที่ ออกจากท่านมาขึ้นรถไฟ จะลงมาเยี่ยมหลวงพ่อพุธที่โคราช หลวงพ่อเจอหลวงปู่ดูลย์ครั้งแรก กับเจอหลวงพ่อพุธครั้งแรก วันเดียวกัน วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2525 ตอนที่นั่งรถไฟลงโคราช ก็เลยสงสัยว่า เอ๊ะ จิตเป็นอย่างไร จิตมันอยู่ที่ไหน ท่านให้ดูจิตจะดูอย่างไร จะเอาอะไรไปดู ไม่รู้สักอย่าง เราเลยค่อยๆ ทำความสงบเข้ามา หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ

เวลาเราปฏิบัติไม่ถูก หลักที่สำคัญที่สุดเลย กลับไปทำสมถะไว้ก่อน ถ้าเดินปัญญาต่อไปไม่ถูก ทำสมถะไว้ พอหายใจเข้าพุท ออกโธ จิตใจมันสงบลงมาแล้ว มันก็เริ่มใช้ปัญญา จิตฟุ้งซ่านไม่มีปัญญาหรอก คิดอะไรเลอะเทอะไป พอจิตสงบก็เริ่มพิจารณา จิตต้องอยู่ในตัวเรานี้ จิตไม่อยู่ที่อื่น ต่อไปนี้เราจะรู้ไม่เกินกายออกไป จะรู้อยู่ในกายนี่ล่ะ

เสร็จแล้วก็พิจารณาต่อไป จิตอยู่ในกายนี้ แต่อยู่ตรงไหนของกาย ดูลงไปที่ผม ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ดูไปทีละส่วนๆ ตั้งแต่หัวถึงเท้า ไล่จากเท้าถึงหัว ไล่ขึ้นไล่ลง จิตอยู่ในกาย แต่จิตไม่ได้อยู่ตรงไหนของกาย จิตกับกายคนละอันกัน พอเห็น ดูผมนี้ จิตมันมีสมาธิมาก ดูผมผมสลายตัวไปเลย ไม่เห็นมีจิตโผล่ขึ้นมา ดูขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก แต่ละอย่างๆ กำลังสมาธิมันแรง มันก็ละลายผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ละลายไปหมด ไม่เห็นมีจิตโผล่ขึ้นมา ฉะนั้นจิตอยู่ในกาย แต่จิตไม่ได้อยู่ตรงไหนของกาย

ได้เข้าใจเพิ่มขึ้นๆ เกิดสงสัย หรือว่าจิตอยู่ในเวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ หลวงพ่อก็ทำใจให้มีความสุข หายใจ ใจมีปีติมีความสุขขึ้นมา แล้วก็ดูลงไป ปีติ สุขอะไรก็ดับ ก็ไม่เห็นมีจิตโผล่ขึ้นมา ก็นั่งนิ่งๆ ไม่กระดุกกระดิก นานๆ มันปวดมันเมื่อยขึ้นมา ดูลงไปที่ปวดเมื่อย ความปวดเมื่อยก็ค่อยๆ ดับไป ก็ไม่เห็นมีจิตโผล่ขึ้นมา หลวงพ่อก็ เอ๊ะ หรือว่าจิตมันอยู่ในความคิด ก็จงใจคิด “พุทโธ สุสุทโธ กะรุณามะหัณณะโว พระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์ มีพระกรุณาดั่งห้วงมหรรณพ” พอคิดนะเห็นกระแสความคิดมันไหลขึ้นมาจากกลางอก ไหล เห็นอาการที่จิตมันไหวตัวขึ้นมา ไม่ใช่เห็นเรื่องที่คิด ทันทีที่เห็นอาการที่จิตมันไหว เหมือนงูเลื้อยออกจากถ้ำ พอเห็นปุ๊บ ตัวรู้เด่นดวงขึ้นมาเลย เพราะตัวรู้ กับตัวคิด มันตรงข้ามกัน ถ้าเรารู้จักตัวคิด เราไม่หลงในตัวคิด ตัวคิดก็ดับตัวรู้ก็เกิด ได้ตัวรู้ขึ้นมา จิตนั่นล่ะคือตัวรู้ จิตคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ นี้พอมีจิตแล้วก็ดูมันไปทำงาน ทีแรกก็ดูผิดไปเพ่งให้มันนิ่งๆ จ้องไม่ให้คลาดสายตา ขึ้นไปส่งการบ้านหลวงปู่บอก “ทำผิดแล้ว” ก็ปล่อยให้มันทำงาน ท่านบอก “ให้ไปดู ไม่ใช่ให้บังคับ”

เราก็เลยดู จิตมันเป็นอย่างไรรู้ว่ามันเป็นอย่างนั้น จิตมันสุขรู้ว่าสุข จิตมันทุกข์รู้ว่าทุกข์ จิตไม่สุขไม่ทุกข์ รู้ว่าไม่สุขไม่ทุกข์ จิตมันโลภรู้ว่าโลภ จิตมันโกรธรู้ว่าโกรธ จิตมันหลงรู้ว่าหลง รู้อย่างที่มันเป็นไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก ใครๆ ก็รู้ได้ แต่มันละเลยที่จะรู้ หลวงปู่ถึงบอก “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ” ฉะนั้นเราคอยสังเกตจิตใจของเราไป จิตขณะนี้สุขเราก็รู้ จิตขณะนี้ทุกข์เราก็รู้ จิตขณะนี้เฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์เราก็รู้ จิตโลภ จิตไม่โลภ จิตโกรธ จิตไม่โกรธ จิตหลง จิตไม่หลง รู้อย่างที่จิตเป็น นั่นล่ะเรียกว่าการดูจิต ดูจิตไม่ใช่เพ่งจิต

ถ้าเราไปเพ่งตัวผู้รู้อยู่เฉยๆ ได้สมาธิ เป็นสมถกรรมฐาน ถ้าเราเพ่งตัวผู้รู้ ตัวผู้รู้ที่ถูกเพ่งก็จะกลายเป็นตัวถูกรู้ แล้วตัวผู้รู้ใหม่มันจะเกิดขึ้น จะเกิดตัวผู้รู้ซ้อนๆๆ ไม่มีที่สุด เรียกว่าวิญญาณเป็นอนันต์ วิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด คือเกิดดับๆๆ ซ้อนๆ ไปเรื่อยๆ จากผู้รู้กลายเป็นสิ่งถูกรู้อะไรอย่างนี้ มีผู้รู้ใหม่ อันนั้นก็เป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่ง เรียกว่าวิญญานัญจายตนะ วิญญาณเป็นอนันต์ ไม่ใช่วิธี

วิธีดูจิตที่จะให้เกิดปัญญา ก็คือดูความเปลี่ยนแปลงของมันไป จิตสุขก็รู้ จิตทุกข์ก็รู้ จิตดี จิตชั่วก็รู้ รู้ไปเรื่อยๆ แล้วจิตทุกชนิดมันจะเกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับไปเรื่อยๆ หัดรู้สึกเอา ไม่ใช่เรื่องยากอะไร อย่างใจเราโกรธขึ้นมาอย่างนี้จะยากอะไร ก็รู้ว่าตอนนี้กำลังโกรธขึ้นมาแล้ว คนทั่วไปมันละเลย มันไม่รู้ ไม่รู้เพราะว่าไม่สนใจจะรู้ เวลาโกรธขึ้นมาก็มัวแต่สนใจสิ่งที่ทำให้โกรธ โกรธหมาก็จ้องหมา จับผิดหมา โกรธแมวก็จ้องแมว โกรธคนโน้นคนนี้ก็ไปจ้องคนโน้นคนนี้เขา เวลาโลภก็เหมือนกัน คนทั่วไปเวลาโลภ มันก็ไปสนใจของที่ชอบ สนใจคนที่ชอบ ไม่สนใจว่าตอนนี้จิตกำลังชอบอยู่ เวลาโกรธก็รู้ว่าจิตกำลังโกรธอยู่ เวลาชอบก็รู้ว่าจิตมันชอบอยู่ ก็เห็นอย่างที่มันเป็น หรืออย่างแม่เพิ่งเสียอย่างนี้ จิตมันเสียใจเรารู้ว่าเสียใจ อย่างนี้เรียกว่าเราดูจิต การที่เราดูจิตเนืองๆ

 

มีสติรักษาจิต ก็คือคอยรู้เท่าทันจิต

การดูจิตไม่ใช่เรื่องยากพิสดารอะไรเลย ก็รู้ทันความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับจิตใจของตัวเองเรื่อยๆ ไป เวลาสุขขึ้นมาอย่างนี้ จิตมันยินดีพอใจ รู้ทันเข้าไปอีก อีกช็อตหนึ่ง ทีแรกจิตมีความสุขเรารู้ เราก็รู้ลึกลงไปอีก พอฝึกชำนาญก็เห็น ตอนที่มีความสุขมันชอบ ยินดีพอใจรู้ว่ายินดีพอใจ ตอนที่จิตมันมีความทุกข์ ทีแรกเราก็รู้ว่าจิตมันมีความทุกข์เกิดขึ้น ต่อไปก็ประณีตลึกซึ้งขึ้นไปอีก ก็เห็นเลยจิตมีความทุกข์เกิดขึ้นแล้ว จิตไม่ชอบรู้ว่าไม่ชอบ นี่รู้สเต็ปที่สอง สเต็ปแรกรู้สภาวะที่เกิดขึ้นกับจิต สเต็ปที่สอง รู้ปฏิกิริยาของจิตต่อสภาวะอันนั้น นักดูจิตเขาดูกันอย่างนี้

อย่างความสุขเกิดขึ้น รู้ว่าจิตมีความสุข ความสุขเกิดขึ้นแล้วจิตยินดีพอใจชอบ รู้ว่าชอบ มันจะเข้ามารู้ตรงที่ชอบไม่ชอบ ที่ยินดี ที่ยินร้าย เพราะฉะนั้นการที่เราเห็นสภาวะอันนั้น ลึกลงไปก็จะเห็นความยินดียินร้ายต่อสภาวะอันนั้น พอความยินดียินร้ายต่อสภาวะอันนั้นดับ จิตก็เข้าถึงความเป็นกลางเพราะสติ กลางมีหลายกลาง กลางเพราะสติ เพราะสมาธิ เพราะปัญญา ทำได้หลายแบบ แต่การที่เรารู้สภาวะแล้ว จิตยินดีรู้ทัน จิตยินร้ายรู้ทัน จิตจะเข้าถึงความเป็นกลางด้วยสติ คราวนี้จิตเรามีคุณภาพสูงในการดูแล้ว จิตที่ยังหลงยินดี หลงยินร้าย คุณภาพในการดูยังต่ำ ถ้าเทียบกับนักวิชาการ ก็คือนักวิชาการที่ทำวิจัย โดยมี bias (อคติ) จิตที่ยินดียินร้าย คือจิตที่มีอคติ มี bias นี้เรามีสติรู้ จิตยินดีรู้ จิตยินร้ายรู้ลงไป ต่อสภาวะทั้งหลายทั้งปวง ความยินดียินร้ายจะดับ จิตก็จะตั้งมั่นเป็นกลางขึ้นมา

คราวนี้เราจะเห็นสภาวะทั้งหลาย โดยจิตไม่เข้าไปแทรกแซงแล้ว ความสุขเกิดยินดีพอใจรู้ทัน ความยินดีพอใจดับ จิตเป็นกลางต่อความสุข ก็จะเห็นความสุขเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ด้วยจิตใจที่เป็นกลาง เวลามีความทุกข์เกิดขึ้น ไม่พอใจรู้ว่าไม่พอใจ จิตจะเข้าสู่ความเป็นกลาง ไม่เกลียดความทุกข์ เรียกว่าเราสามารถรู้สภาวะโดยไม่มีอคติ ตัวนี้สำคัญ รู้โดยไม่มีอคติก็คือรู้ด้วยความเป็นกลาง จิตตั้งมั่นแล้วก็เป็นกลาง ก็เห็นสภาวะทั้งหลายหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไป เราเป็นคนดู เหมือนเรายืนอยู่บนบก เห็นอะไรต่ออะไรไหลผ่านน้ำมา ไหลตามแม่น้ำมา เราไม่โดดลงไปในน้ำ เป็นคนดูเฉยๆ ไม่หลงยินดี ไม่หลงยินร้าย จะเห็นสภาวะทั้งหลายผ่านมา แล้วก็ผ่านไป ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป นั่นคือการเจริญปัญญา

เฝ้ารู้เฝ้าดูไป มีสติรักษาจิต ก็คือคอยรู้เท่าทันจิต จิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว รู้ทัน จิตยินดี จิตยินร้ายรู้ทัน รู้เข้าไปเรื่อยๆ จิตจะเป็นกลาง ตรงที่จิตเป็นกลาง เรียกว่าสติมันรักษาจิตได้ดีแล้ว ไม่อย่างนั้นจิตไม่เป็นกลาง เดี๋ยวก็ยินดี เดี๋ยวก็ยินร้าย แกว่งขึ้นแกว่งลงไปเรื่อยๆ ถ้าเรามีสติรักษาจิตเนืองๆ สิ่งที่เราจะได้มา อันแรกเลยเราจะได้ศีล อย่างเราเห็นกิเลสมันเกิด เราไม่เกลียดมัน เห็นจิตมันมีราคะ โทสะ โมหะเกิดขึ้นมา พอเรามีสติกิเลสมันก็ดับ พอกิเลสดับเรามีศีลอัตโนมัติเกิดขึ้นแล้ว คนที่ทำผิดศีลได้ เพราะว่ากิเลสมันครอบงำจิต ราคะเกิดมันก็ไปขโมยเขา ไปเป็นชู้เขา ไปปลิ้นปล้อนหลอกลวงเขาอะไรอย่างนี้ บางทีก็ไปฆ่า ไปตีเขา แย่งทรัพย์สินเขา หรือมีความสุขกระดี๊กระด๊า กินเหล้าฉลอง มีความสุขต้องกินเหล้า เมืองไทยบอกเป็นเมืองพุทธๆ พุทธแต่ปาก มันเมืองขี้เหล้าเมายา เมืองอบายมุขชัดๆ เลย

เรารู้ลงไป กิเลสอะไรเกิดขึ้นในจิตใจเรารู้ กิเลสจะครอบงำจิตไม่ได้ ศีล 5 อัตโนมัติมันจะเกิดขึ้น ศีลที่เกิดโดยอัตโนมัติเป็นศีลสบาย ส่วนศีลที่ตั้งใจบังคับตัวเองเป็นข้อๆ ไป เป็นศีลลำบาก แต่ดีกว่าไม่มีศีล อย่างยุงมากัด โกรธมันแล้วอยากตบมันให้ตาย ก็ฝืนใจไม่ตบๆๆ หือไม่ตบๆๆ อย่างนี้ เครียดจัดเลย อย่างนี้ศีลลำบาก ถ้าศีลสบาย ยุงกัดเจ็บ โมโหรู้ว่าโมโห ความโมโหครอบจิตไม่ได้ ก็ปัดๆ ไล่ๆ เพราะฉะนั้นศีลมันจะเกิดโดยอัตโนมัติ ถ้าเรามีสติรักษาจิต แล้วถ้าเรามีสติรักษาจิต นิวรณ์ ศัตรูของสมาธิมันจะครอบงำจิตไม่ได้ อย่างจิตมันฟุ้งซ่านขึ้นมา เรามีสติรู้ว่ามันฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านมันจะดับไป จิตไม่ฟุ้งซ่าน หรือจิตมีกามฉันทะ ยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสอะไรอย่างนี้ เรารู้ว่ายินดีพอใจ ไม่ต้องไปห้ามมัน จิตมันจะยินดี ก็ไม่ต้องไปห้ามมัน จิตมันไม่ชอบอันนี้ ชอบอันนี้ ก็ไม่ต้องไปห้ามมัน ก็แค่รู้ทันมัน

จิตมันยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย นี้เรียกว่ามันมีกามฉันทะ พอเรารู้ทัน ความยินดีพอใจนั้นก็ดับ จิตก็เป็นกลาง สมาธิก็เกิด เราเห็นสิ่งที่ไม่ชอบ จิตมันเกิดพยาบาทขึ้น พยาปาทะ อยากทำลายล้าง เรามีสติรู้ทันไว้ จิตมันหงุดหงิดอยากทำลายแล้ว รู้ทันความหงุดหงิด ความพยาบาทอันนั้นหายไป ก็ไม่ทำร้ายอะไรใคร กระทั่งสัตว์เล็กสัตว์น้อย ใจมันจะเมตตาไปหมดเลย ยิ่งเราภาวนามันจะเมตตาเข้ามาแทนที่ มันเป็นอัตโนมัติเลย จิตมันเป็นกุศลอัตโนมัติ อย่างกระทั่งสัตว์เล็กสัตว์น้อย หรือสัตว์ใหญ่ก็ตาม เราทำร้ายมันไม่ลง ใจมันมีความเมตตาสงสาร สัตว์นี่มันก็รักชีวิตของมัน มันก็รู้จักเจ็บ มันก็รู้จักลำบากอะไรอย่างนี้มันก็รู้จัก แต่มันพูดมันโต้เถียงเราไม่ได้ เรามีอำนาจเหนือมัน ก็กดขี่บังคับมันอะไรอย่างนี้ มันทุกข์ทรมาน พอรู้สึกอย่างนี้ สัตว์มันก็รักชีวิตของมัน ไม่ได้ต่างกับคนหรอก

 

อาศัยสติรักษาจิต ศีลที่ไม่เคยมีก็จะมี
ศีลที่มีแล้วก็จะเป็นศีลที่สะอาดหมดจดมากขึ้นๆ
จิตใจก็เต็มไปด้วยความเมตตากรุณา

 

คนชอบโมเมเอาเองว่าตัวเองเหนือกว่าสัตว์ บางคนก็บอกสัตว์มันเกิดมาเพื่อรับใช้มนุษย์ สัตว์มันเกิดมาเพื่อเป็นอาหารของมนุษย์ พูดเอาเองทั้งหมด เคยไปถามประชามติสัตว์ไหม ก็ไม่เคยถาม คิดเอาเอง คิดเอาเปรียบ เหมือนแต่ก่อนบางประเทศ ก็ไปไล่จับคนต่างผิวมา ไม่ได้รู้สึกว่าเขาเป็นคน จับเขามา พรากพ่อ พรากแม่ พรากลูก พรากเมียเขาอะไรอย่างนี้ จิตมันเป็นอกุศล จิตไม่มีความเมตตากรุณา แต่ถ้าเรามีสติรู้ลงไป เห็นกิเลสมันไม่มีแล้ว จิตมันเป็นกลาง มันจะรู้จักเอาใจเขา มาใส่ใจเรา ที่เราโกรธ เราแค้นคนอื่น เราไม่รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ยิ่งพวกข่มเหงรังแกสัตว์นี่แย่มาก อาจจะไม่ผิดกฎหมาย แต่มันทำจิตใจตัวเองให้เสื่อมลงไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็ลงอบาย

ถ้าเรามีสติ รู้จิตรู้ใจของตัวเองเรื่อยๆ กามฉันทะ ความยินดีพอใจเกิดเรารู้ พยาปาทะ ความไม่พอใจ พยาบาทขัดเคือง อยากทำลายล้างเกิดขึ้น เรารู้มันจะดับ ความฟุ้งซ่าน อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจเกิดขึ้น เรามีสติรู้ทันมันก็ดับ ความลังเลสงสัยอะไรเกิดขึ้น เรารู้ทันมันก็ดับ เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป มีสติรู้เท่าทันจิต นิวรณ์อะไรเกิดขึ้นเรารู้ เมื่อนิวรณ์ดับ สมาธิก็เกิดเอง เพราะสมาธิกับนิวรณ์เป็นศัตรูกัน เหมือนเหรียญด้านหัวด้านก้อย ไม่ด้านนี้ก็ด้านนี้ ฉะนั้นเรามีสติคุ้มครองรักษาจิตไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตฟุ้งซ่าน มันเคลื่อนอย่างนั้นเราเห็น มันจะตั้งมั่น จิตจะตั้งมั่น สงบ รู้ตื่น เบิกบานขึ้นมา

อาศัยสติรักษาจิต ศีลที่ไม่เคยมีก็จะมี ศีลที่มีแล้วก็จะเป็นศีลที่สะอาดหมดจดมากขึ้นๆ จิตใจก็เต็มไปด้วยความเมตตากรุณา ก็ไม่ผิดศีล ไม่อยากทำร้ายอะไรใครทั้งสิ้น กระทั่งสัตว์เล็กสัตว์น้อยก็เมตตาหมด จิตรู้เท่าทันกิเลสที่ละเอียดขึ้นไป บวกนิวรณ์ทั้งหลาย สมาธิมันก็เกิดเอง นิวรณ์มันเป็นศัตรูของสมาธิ บางคนบอกทำสมาธิไม่ได้สักที ตอนนั้นมันฟุ้งซ่านรำคาญใจอยู่ รู้สึกไหมตอนที่บ่นตัวเองว่า ทำไมมันไม่สงบสักที ตรงนั้นคือกุกกุจจะ ความรำคาญใจ ฉะนั้นเรามีสติรู้ มันฟุ้งซ่านรำคาญใจอยู่รู้ทัน ฟุ้งซ่านรำคาญใจก็ดับ จิตก็มีสมาธิขึ้นมา ค่อยๆ ฝึก สมาธิที่ไม่มีก็จะมีขึ้นมา ที่มีแล้วจะชำนิชำนาญ ต่อไปจิตเราจะทรงสมาธิอยู่ได้ทั้งวันเลย อาจจะไม่ได้เข้าฌาน เข้าฌานกับสมาธิที่หลวงพ่อพูด มันคนละอันกัน

 

หลวงปู่เทสก์ท่านแยกชัดเลย เรื่องฌานกับสมาธิ สมาธิ ถ้าพูดไปก็คือตัวลักขณูปนิชฌาน จิตที่ตั้งมั่น เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แล้วก็สามารถเห็นสภาวธรรมทั้งหลายเกิดดับ หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงได้ ส่วนฌาน อันนี้หลวงปู่เทสก์ท่านเรียกฌาน คือจิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว จิตเป็นหนึ่ง อารมณ์เป็นหนึ่งอยู่อย่างนั้น นี้ถ้าเรารู้ทันนิวรณ์ได้ จิตเราจะมีสมาธิที่ตั้งมั่นขึ้นมา แล้วก็สามารถเดินปัญญาได้ ไม่ใช่สงบนิ่งๆ ซื่อบื้ออยู่เฉยๆ ฉะนั้นเราฝึกให้ได้สมาธิอย่างนี้ หลวงพ่อฝึกสมาธิชนิดตั้งมั่นนี้ ที่จิตเคลื่อนปุ๊บรู้ปั๊บ เคลื่อนปุ๊บรู้ปั๊บ ในที่สุดจิตผู้รู้นี้ตั้งมั่นเด่นดวง ตั้งแต่เป็นโยม ทำได้ตั้งแต่เป็นโยมแล้ว หลวงปู่สิมท่านถึงเรียกหลวงพ่อว่าผู้รู้ ผู้รู้ ไม่ได้รู้หวยรู้เบอร์อะไร แต่คือผู้รู้ตัวจิตมันตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอยู่ อาศัยสติรักษาจิต สมาธิที่ดี ที่วิเศษอย่างนี้จะเกิดขึ้น

ส่วนการจะเข้าฌาน หรือไม่เข้าฌาน ต้องฝึกเอา อย่างครูบาอาจารย์ท่านก็พูดเรื่อยๆ ว่า บางทีท่านก็นั่งสมาธิ นั่งสมาธิหมายถึงท่านเข้าฌาน อย่างหลวงปู่มั่นท่านก็ยังเข้าฌาน ท่านบอกสมาธิอย่างนั้นเอาไว้ใช้ประโยชน์ เพราะท่านหมดกิเลสกันแล้ว แต่ท่านก็ยังฝึกสมาธิให้จิตมีสมาธิ จิตจะได้มีกำลัง เอาไว้ทำงานไปสงเคราะห์โลก คนละประเด็นกัน อย่างเราเข้าฌานไม่ได้ไม่สำคัญหรอก ฝึกเป็นขณะๆ ไป มีสติรู้ทัน จิตฟุ้งซ่านรู้ว่าฟุ้งซ่าน จิตออกนอกรู้ว่าออกนอก จิตก็ตั้งมั่นเองเป็นขณะๆ ไป แล้วถัดจากนั้นการที่เรามีสติรักษาจิตอยู่ สิ่งที่เราได้ต่อมา คือตัวปัญญา เราก็จะเริ่มเห็นความจริง จิตโลภอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ จิตโกรธ จิตหลงอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ จิตสุขจิตทุกข์ จิตไม่สุขไม่ทุกข์อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ

ค่อยๆ เห็นไป จิตมีกามฉันทะอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ จิตมีพยาบาทอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ จิตฟุ้งซ่านรำคาญใจอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ จิตลังเลสงสัยอะไรก็ดับ จิตเซื่องซึม เซื่องซึมซื่อบื้อ รู้ทันมันก็ดับเหมือนกัน ตัวนี้เราก็ได้สมาธิที่ดี แล้วเราก็เห็นทุกอย่างเกิดแล้วดับ ทุกอย่างเกิดแล้วดับ นั่นคือการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน อย่างเราเห็นจิตเราตั้งมั่นแล้ว เราเห็นสภาวะอะไรเกิด ความสุขเกิดขึ้นเราจะเห็นเลย ความสุขไม่ใช่จิตหรอก เป็นสิ่งที่จิตมันรู้ ความสุขมันมีเหตุมันก็เกิด หมดเหตุมันก็ดับ บังคับมันไม่ได้ เห็นมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เห็นมันทนอยู่ตลอดไปไม่ได้ ถูกบีบคั้นให้สลายตัว เห็นว่ามันเป็นไปตามเหตุ ไม่ใช่ตามที่เราสั่ง นั่นคือการเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอย่างนี้ คือการทำวิปัสสนากรรมฐาน

 

การที่มีสติรักษาจิตเป็นทางปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด

เพราะฉะนั้นเราดูจิตดูใจเรานี่มีสติเกิดขึ้น เราก็ได้ศีลที่สบาย เราได้สมาธิที่ถูกต้อง ที่เอาไว้เดินปัญญา แล้วเราก็เดินปัญญาต่อไปได้เลย เห็นทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ไม่มีอะไรเที่ยง เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นไปตามเหตุ ไม่ใช่ตามที่เราสั่ง อย่างจิตจะโกรธก็ต้องมีเหตุ ต้องกระทบอารมณ์ อารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ที่ไม่พอใจ ในขณะนั้นเราไม่มีสติ แล้วเราก็คิดไปในทางพยาบาทวิตก โทสะมันก็เกิด เพราะฉะนั้นโทสะจะต้องมีเหตุถึงจะเกิด ความจริงแล้วทุกสิ่งต้องมีเหตุถึงจะเกิดขึ้นมา อย่างตามองเห็นรูป เราเห็นรูปได้เพราะอะไร เพราะมีเหตุ มีเหตุปัจจัยอะไรบ้าง เรียกว่าถ้าใช้ศัพท์ให้ถูก ก็คือมีปัจจัยอะไรบ้าง มีเงื่อนไขอะไรบ้าง อันแรกมีรูป อันที่สองมีตา มีรูปแต่ไม่มีตามันก็ไม่เห็น มีแสงสว่างที่มากพอ มีความสนใจ alert ของจิตที่จะดู รูปมันก็เกิดขึ้น เพราะว่าตามันสนใจที่ไปดู ใจมันสนใจก็ไปดู ก็เห็นรูป

อย่างเราลืมตาแป๋วๆ อยู่อย่างนี้ แต่ใจเราคิดเรื่องอื่น คนมาเดินผ่านหน้าเรา เรายังไม่เห็นเลย เพราะว่าจิตมันไม่มนสิการถึงรูป จิตมันมัวมนสิการถึงความคิดอะไรอย่างนี้ เรื่องราวที่คิด มันมีองค์ประกอบตั้งเยอะตั้งแยะ ตาจะเห็นรูปสักรูปหนึ่ง ยังมีองค์ประกอบตั้งเยอะ ฉะนั้นสุขทุกข์ ดีชั่ว อะไรที่เกิดขึ้นในจิตใจก็มีองค์ประกอบ ทำให้เกิดขึ้น เราไม่ต้องไปคำนวณมากมาย ว่ามีองค์ประกอบกี่ตัวอะไร ไม่ต้องหรอก หัดรู้ซื่อๆ รู้ง่ายๆ จิตสุขก็รู้ ทุกข์ก็รู้ ดีก็รู้ ชั่วก็รู้ ยินดีก็รู้ ยินร้ายก็รู้ แล้วจะเห็นทุกอย่างมาแล้วไป ทุกอย่างมาแล้วไป ตรงที่ยินดียินร้ายแล้วรู้ จิตจะเป็นกลาง คราวนี้ถึงจะเห็นทุกอย่างมาแล้วไป ทุกอย่างมาแล้วไป ถ้าจิตไม่เป็นกลางปัญญายังไม่เกิดหรอก มันจะมีอคติ มันจะไปเห็นความจริงได้อย่างไร

ฉะนั้นการดูจิตดูใจ ถ้าเราดูเรื่อยๆ ไป สุดท้ายปัญญามันก็เกิด เราจะเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา การที่เรามีสติรักษาจิต นอกจากได้ศีล ได้สมาธิแล้ว ยังได้ปัญญาด้วย ถ้าปัญญาเราแก่กล้าพอ วิมุตติคือมรรคผลจะเกิดขึ้นเอง อริยมรรค อริยผลจะเกิดเอง ไม่ใช่เราสั่ง ฉะนั้นตัวที่จิตมันมีสมาธิที่ถูกต้อง เรียกว่ามันมีสัมมาสมาธิ มันเป็นที่ประชุมขององค์ธรรมฝ่ายกุศลทั้งหลายทั้งปวง จะรวมตัวกันลงมาที่จิตดวงเดียวกัน ในขณะเดียวกัน แล้วอริยมรรคจะเกิดเอง ไม่มีใครสั่งอริยมรรคให้เกิดได้ อริยมรรคเกิดเอง เมื่อศีล สมาธิ ปัญญานั้นมันสมบูรณ์แล้ว เวลาที่มันสมบูรณ์ กำลังของสมาธิที่ถูกต้อง ท่านเปรียบสมาธิที่ถูกต้องเหมือนภาชนะ เหมือนหม้อ หม้อเป็นที่รวมของเครื่องแกงจำนวนมาก ใส่ลงไป ใส่น้ำลงไป ใส่อะไรลงไปต้ม ก็ได้แกงที่อร่อยขึ้นมา

ฉะนั้นตัวสมาธิสำคัญ ถ้าเราไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง ไม่มีตัวสัมมาสมาธิ ไม่มีสภาวะที่จิตตั้งมั่น เป็นกลาง อริยมรรคไม่มีที่จะเกิด อริยมรรคเกิดขึ้นได้ ประชุมลงที่จิตดวงเดียวได้ในขณะจิตเดียวได้ ด้วยกำลังของสัมมาสมาธิ เป็นที่รวมของสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ทั้งหมดนี้รวมลงที่สัมมาสมาธิ รวมลงที่ไหน รวมลงที่จิตดวงเดียวนี้เอง

ถ้าเราฝึกจิตฝึกใจเราเรื่อย เข้ามาที่จิตจนชำนิชำนาญแล้ว ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ได้มรรคผลหรอก แล้วยิ่งเราภาวนามากขึ้นๆ เวลามรรคผลมันเกิด มันก็จะรู้นะ ค่อยๆ รู้ไป เราจะเห็นเลยพอเกิดมรรค เกิดผลแต่ละรอบๆ มันจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า วิมุตติญาณทัสสนะ ตามมา มีสติก็มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา มีวิมุตติ คือมรรคผล มีวิมุตติญาณทัสสนะ วิมุตติญาณทัสสนะ ถ้าเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ก็จะเห็นว่าตอนนี้เราล้างกิเลสตัวไหนได้เด็ดขาดลงไปแล้ว เป็นสมุจเฉท เด็ดขาดแล้ว กิเลสตัวไหนยังเหลืออยู่ แต่ตอนที่เกิดอรหัตตมรรค อรหัตตผล วิมุตติญาณทัสสนะย้อนลงไป ก็จะเห็นธรรมะที่สูงกว่านั้น ไม่มีกิเลสเหลืออยู่แล้ว สิ้นเชื้อก็รู้ว่ามันสิ้นเชื้อแล้ว ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นไม่มีอีกแล้ว มันจะรู้ ตัวนี้เรียกว่า วิมุตติญาณทัสสนะ

สิ่งเหล่านี้เป็นผลพวงมาจาก การที่เรามีสติรักษาจิตทั้งสิ้นเลย การที่มีสติรักษาจิตครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่หลายองค์เลยท่านบอก เป็นทางปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด อย่างถ้าเราถือศีลเป็นข้อๆ มีเท่านั้นข้อ เท่านี้ข้อ เราเครียด แต่ถ้าเรามีสติรักษาจิต ศีลเกิดขึ้นโดยเราไม่เครียดเลย สมัยพุทธกาลก็มีพระองค์หนึ่ง ท่านฟังปาฏิโมกข์ โอ๊ยทำไมพระวินัยเยอะแยะเหลือเกิน ตั้ง 227 ข้อ ยังมีอภิสมาจาร วินัยนอกปาฏิโมกข์อีก อะไรต่ออะไรเยอะแยะไปหมดเลย พอท่านฟัง ท่านเป็นคนดีนะ ท่านเป็นพระที่ดี ท่านรู้สึกว่าท่านไม่มีความสามารถ จะรักษาศีลจำนวนมากอย่างนี้ได้ เมื่อรักษาศีลไม่ได้ก็อย่าบวชเลย ท่านก็ไปทูลลาพระพุทธเจ้า ว่าจะขอสึก

พระพุทธเจ้าถามว่า “ทำไมถึงสึก” ท่านบอก “มีศีล มีวินัยมากเกินไป ท่านไม่สามารถจะรักษาให้ดีได้ ถ้ารักษาศีลให้ดีไม่ได้ อย่าบวชเลยเดี๋ยวเป็นพระไม่ดี ทำศาสนาเสียหาย” ใจท่านสูง พระพุทธเจ้าท่านก็บอกว่า “ถ้ารักษาศีลเยอะแยะไม่ได้ ถ้ารักษาข้อเดียวจะทำได้ไหม” พระองค์นี้ท่านบอก “ถ้ามีข้อเดียวรักษาได้ ถ้า 200 – 300 ข้ออะไรอย่างนี้รักษาไม่ไหว” ข้อเดียวที่ท่านให้ก็คือให้มีสติรักษาจิตไว้ องค์นี้ปฏิบัติไม่นาน มีสติรักษาจิตอยู่ไม่นาน ท่านก็เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง เพราะมีสติรักษาจิต ท่านได้ทั้งศีล ได้ทั้งสมาธิ ได้ทั้งปัญญา ได้ทั้งวิมุตติ มีวิมุตติญาณทัสสนะ คือรู้ว่าตัวเองเป็นอย่างไร

ฉะนั้นการที่เรามีสติรักษาจิต ไม่ใช่เรื่องเล็ก แล้วก็ไม่ใช่งานที่ยุ่งยากซับซ้อนอะไร หลวงปู่ดูลย์ถึงบอก “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเองไป” คอยรู้ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป ทีแรกก็รู้สภาวะ รู้ละเอียดขึ้นไปก็เห็นความยินดียินร้ายต่อสภาวะอันนั้น ในที่สุดจิตก็เป็นกลาง รู้ทุกอย่างด้วยจิตที่เป็นกลาง แล้วมรรคผลก็จะเกิด

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
22 พฤษภาคม 2564