ใจที่พร้อมรับธรรมะ

พูดเรื่องการปฏิบัติ การเทศน์ในเชิงปฏิบัติกับเทศน์ในเชิงปริยัติ มันแตกต่างกันมาก อย่างเทศน์ในภาคปริยัติ ก็ไปเตรียมสคริปต์ไว้ วันนี้จะพูดเรื่องนี้ๆ แต่การแสดงธรรมในภาคปฏิบัติเป็นอีกอย่างหนึ่งเลย อย่างสมัยที่พระพุทธเจ้ายังอยู่ ตอนเช้ามืดนี่ท่านจะพิจารณาแล้ว ว่าวันนี้ควรจะไปโปรดใคร ควรจะสอนใคร บางทีท่านพิจารณาไว้ตั้งแต่ตอนเช้ามืด ตอนเย็นๆ ชาวบ้านก็เข้ามาวัดมาฟังธรรมกัน บางทีท่านก็รอ ไม่เทศน์ รอ พระอานนท์ก็บอกว่าตอนนี้โยมพร้อมแล้ว นิมนต์เทศน์ได้แล้ว ท่านบอกยังไม่พร้อม พอมีผู้หญิงคนหนึ่งเข้าไป ท่านก็เริ่มเทศน์เลย แล้วผู้หญิงคนนั้นก็ได้โสดาบัน อันนี้เป็นแบบอย่างของพระพุทธเจ้า

การแสดงธรรมภาคปฏิบัติ ไม่ใช่ต้องการถ่ายทอดความรู้หรอก แต่ต้องการถ่ายทอดธรรมะ ธรรมะมันออกไปจากจิตของพระพุทธเจ้า ไปสู่จิตของคนที่เป็นเป้าหมายของท่าน คนนั้นได้ประโยชน์สูงสุด ในขณะที่คนที่แวดล้อมนี่ได้ประโยชน์รองลงมา มันยังไม่ถึงเวลาของเขา

ฉะนั้นเวลาครูบาอาจารย์ท่านจะสอนกรรมฐาน มันก็ต้องมีอะไรมากระทบใจท่าน อยู่ๆ ให้พูดเฉยๆ พูดไม่ได้หรอก มันต้องมีสิ่งที่มากระทบใจ สมัยพุทธกาลสำหรับพระด้วยกัน ก็มีพระบางองค์มีเรื่องกระตุ้นธรรมะของพระพุทธเจ้าได้ดี ท่านถามในสิ่งซึ่งมีสาระแก่นสาร องค์นั้นชื่อพระราธะ ก็เป็นพระเอตทัคคะชั้นยอดองค์หนึ่ง บวชเมื่อแก่ องค์นี้เก่งในทางกระตุ้นธรรมะของพระพุทธเจ้า เวลาท่านถาม ท่านมาอยู่ใกล้ๆ พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านจะเทศน์ได้คล่องแคล่วเลย มีธรรมะออกมาจากใจของท่าน ท่านไม่ได้ทรงจำธรรมะไว้ ถ้าทรงจำธรรมะไว้ก็แค่เรียนปริยัติ พอมีคนสมควรธรรมะจะถ่ายทอดออกมา

 

ธรรมะจากจิตสู่จิต

อย่างเวลาเราไปอยู่กับครูบาอาจารย์ ไม่ต้องไปนั่งถามอะไร เสียเวลา ภาวนาของเราให้ดี ไปนั่งอยู่กับท่านนี่ไม่ต้องพูดหรอก เราก็ภาวนาของเราไป พอมีธรรมะที่ท่านสมควรบอกท่านก็บอกเอง อย่างหลวงพ่อไปนั่งอยู่กับหลวงปู่ดูลย์ เราก็ภาวนาของเราไป ท่านก็นั่งของท่านไป เงียบๆ ไม่ค่อยพูดกัน พอมีอะไรไปกระทบจิตท่าน ธรรมะก็ถ่ายทอดออกมา มันจะตรงกับสิ่งที่เราต้องการ เป็นประโยชน์

หรือบางทีใจเราก็ตั้งใจ จะไปถามกรรมฐานครูบาอาจารย์ เดินขึ้นเขาไป พอเจอหน้าท่าน ยังไม่ทันถามเลยท่านตอบแล้ว ครูบาอาจารย์อย่างนี้หลวงพ่อก็เจอหลายองค์ หลวงปู่สิมอย่างนี้ เจอปุ๊บท่านตอบได้เลย ท่านรู้แล้ว เพราะใจเราภาวนาจริงๆ ใจที่ภาวนา ใจอยู่กับครูบาอาจารย์ ไม่ใช่ใจหลงโลก

อีกองค์หนึ่งที่หลวงพ่อเคยเจอ ก็คือหลวงปู่สุวัจน์ ตั้งใจจะไปถามท่านเรื่องการปล่อยวางจิต ยังไม่ทันจะถาม ท่านก็พูดเองเลย พูดเหมือนสิ่งที่เราภาวนาเป๊ะเลย ตอนนั้นหลวงพ่อภาวนา จิตมันปล่อยวางจิต ตอนนั้นยังเป็นโยม จิตมันวางแล้วเดี๋ยวมันก็หยิบอีก เดี๋ยวก็วางแล้วก็หยิบอย่างนี้ ก็สงสัยว่าทำอย่างไรมันจะวางตลอด ในขันธ์ 5 นั้น สิ่งที่ปล่อยวางยากที่สุดคือจิต ถ้าวางจิตเสียตัวเดียว มันก็ไม่มีอะไรให้หยิบฉวยอีกแล้ว มันวางแล้วก็หยิบ วางแล้วก็หยิบ วันหนึ่งมันวางลงไป พอดีได้ข่าวว่าหลวงปู่สุวัจน์ท่านกลับมาจากอเมริกา ก็ดีใจ ขึ้นรถชวนคุณแม่นุชจะไปกราบท่าน จะไปส่งการบ้านเรื่องนี้ จะไปถามว่าทำอย่างไรจะวางได้ พอขึ้นรถเท่านั้นเองจิตก็หยิบฉวยจิตขึ้นมาอีก

คราวนี้ดูตั้งแต่บ้านอยู่ในตัวเมืองนนทบุรี ขับรถไปจนถึงปากเกร็ดจะเข้าซอยที่หลวงปู่อยู่แล้ว ดูอย่างไรๆ จิตก็ไม่ยอมวาง ในที่สุดก็ถอดใจ “เฮ้อ จิตมันเป็นอนัตตาน้อ เราบังคับมันไม่ได้” พอมองว่าจิตเป็นอนัตตา เราก็เลิกไปเคี่ยวเข็ญบังคับจิตจะให้วาง พอเห็นอนัตตาจิตก็วางจิตลงไป พอเข้าไปหาท่าน ไปกราบท่าน ไปนั่งรออยู่พักหนึ่ง พระก็เข็นรถเข็นท่านออกมา ท่านเป็นอัมพาต เราก็กราบ มีคนเข้าไปหลายคน ท่านก็ไม่มองหน้าใครสักคน ท่านมองไปข้างๆ อย่างนี้ คนนั่งอยู่ข้างหน้า กุฏิท่านไม่ใหญ่เท่าไหร่ ท่านมองแล้ว ท่านมอง ไม่ได้มองคน ท่านก็ยิ้ม ท่านบอกว่า ”จิตนะ บางทีมันก็ปล่อยวางจิต พอปล่อยวางแล้วก็หยิบฉวยขึ้นมาอีก ทำอย่างไรๆ ก็ไม่ยอมวาง จนเห็นไตรลักษณ์ จิตมันก็วาง”

 

เราต้องมีสมาธิที่เพียงพอ มีศีลที่ดี
มีสมาธิที่เพียงพอ จิตใจสงบตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว
อย่างนั้นเราเข้าไปหาครูบาอาจารย์ เราจะได้ธรรมะ

 

ธรรมะภาคปฏิบัติ มันเป็นเรื่องของจิตสู่จิตจริงๆ ไม่ใช่เราไปนั่งคิดธรรมะ คิดคำถามแล้วก็ไปถามครูบาอาจารย์ ถ้าคำถามที่เกิดจากการคิดแล้วมาถาม ธรรมะจะไม่ออกจากใจของครูบาอาจารย์ เราต้องมีใจที่รองรับธรรมะได้ ใจที่รองรับธรรมะได้ต้องมีศีล 5 ศีลสกปรก ศีลด่างพร้อย ใจไม่พร้อมจะรับธรรมะหรอก นอกจากศีล 5 แล้ว เราต้องมีสมาธิเพียงพอ มีจิตอยู่กับเนื้อกับตัว จิตใจ รู้สึกกาย รู้สึกใจไป เวลาเข้าไปหาครูบาอาจารย์ ก็รู้สึกกายรู้สึกใจของเราไป พอไปนั่งอยู่กับท่านก็รู้สึกไป ภาวนาไปดูกายดูใจของเราทำงานไปเรื่อยๆ เดี๋ยวถึงเวลาสมควรแล้ว ท่านก็ถ่ายทอดธรรมะ บางทีต้องไปนั่งอยู่พักใหญ่ เพราะว่าจิตเราเวลาเข้าไปกราบครูบาอาจารย์ จิตมันตื่นเต้น จิตที่ตื่นเต้นนั้นยังรับธรรมะไม่ได้ ท่านก็ให้นั่งภาวนาไป อาการอย่างนี้เป็นเรื่องปกติของการปฏิบัติ

สมัยพุทธกาล พาหิยะจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า อยากฟังธรรม ตามไปถึงในตลาด คือพระพุทธเจ้าไปบิณฑบาต เจอพระพุทธเจ้าก็ถามธรรมะเลย พระพุทธเจ้าก็บอกยังไม่ใช่เวลา ตอนนี้ท่านจะบิณฑบาต พาหิยะก็เซ้าซี้ขอครั้งที่ 2 ท่านก็บอกยังไม่ใช่เวลา ใจที่กระเหี้ยนกระหือจะฟังมันก็เริ่มลดลง ถามครั้งที่ 3 ท่านก็บอกให้ พอท่านพูดจบ พาหิยะก็เป็นพระอรหันต์เลย ใจมีความพร้อมแล้ว อย่างใจกระสับกระส่ายดิ้นรนอยากฟังธรรมะอะไรอย่างนี้ มันรับธรรมะยังไม่ได้ ฉะนั้นเราต้องมีสมาธิที่เพียงพอ มีศีลที่ดี มีสมาธิที่เพียงพอ จิตใจสงบตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว อย่างนั้นเราเข้าไปหาครูบาอาจารย์ เราจะได้ธรรมะ

บางคนมันค่อนข้างแย่ ใช้วิธีอธิษฐานท้าทาย ถ้าแน่จริงให้ตอบเรื่องนี้ ให้ทำอย่างนี้ๆ อะไรอย่างนี้ ครูบาอาจารย์ก็ไม่เล่นด้วยหรอก อย่างบางคนตั้งใจไว้ ไปกันเป็นกลุ่ม อธิษฐานเลยถ้าครูบาอาจารย์แน่จริง ขอให้คุยกับผมเป็นคนสุดท้าย จิตอย่างนี้มันเป็นจิตที่ไม่ได้ใฝ่ธรรมะ แต่มันใฝ่ปาฏิหาริย์ จิตอย่างนี้ฟังธรรมไม่ได้ พอจิตอย่างนี้ฟังธรรมไม่ได้ ครูบาอาจารย์ก็ยังไม่สอน ก็สอนคนอื่นไปก่อนจนหมดแล้ว ท่านถึงหันมาหาคนนี้ บอก โห นี่ครูบาอาจารย์นี้ขลังจริงๆ เลย อธิษฐานไว้ขอเป็นคนสุดท้าย ได้คนสุดท้ายจริงๆ

ทำอะไรมันต้องมีเหตุมีผล อย่างถ้าใจเรางมงายนี่เรียนธรรมะยากที่สุดเลย เพราะศาสนาพุทธนี่ไม่ใช่ศาสนาของความงมงาย เป็นศาสนาของผู้มีสติ มีปัญญา เป็นศาสนาของคนที่จะช่วยตัวเอง

 

อยากได้ธรรมะที่ดี ก็ต้องฝึกจิตฝึกใจของเราให้ดี

ฉะนั้นเวลาเราจะฟังธรรมจากครูบาอาจารย์ เราไปด้วยใจที่อ่อนโยน ด้วยใจที่อ่อนน้อม ด้วยใจที่ใฝ่ธรรม เราถึงจะได้ธรรมะ ไม่อย่างนั้นเราไม่ได้ เราก็จะได้อย่างอื่นไป เช่น ได้ความปลื้มใจ พอเห็นครูบาอาจารย์แล้วก็ปลื้ม น้ำหูน้ำตาไหลอะไรอย่างนี้ หรือได้บุญ ไปทำบุญ ไปทำทาน ถวายอาหารอะไรอย่างนี้ ถามว่าได้ประโยชน์ไหม ได้ประโยชน์ การได้พบครูบาอาจารย์ อย่างไรก็มีประโยชน์ แต่ถ้าจิตแย่จริงๆ เกิดโทษนะ เกิดโทษเสียอีก แทนที่จะไปเอาธรรมะ เอาบุญกุศลอะไรอย่างนี้ มันกลายเป็นหาเรื่อง หาอกุศลใส่ตัวเอง ถ้าจิตใจเราใฝ่ธรรมจริงๆ เราจะรู้สึกว่าครูบาอาจารย์กับเราอยู่ด้วยกัน ไม่เคยหายไปไหนเลย เวลาเราจะคิด เราจะพูด เราจะทำอะไร เหมือนอยู่ในสายตาของครูบาอาจารย์ตลอดเวลา

อย่างหลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อเป็นคนที่ไม่ศรัทธาใครง่ายๆ เลย ความเชื่องมงายอะไรนี่ไม่มีหรอก เป็นลูกจีนที่บ้านเขาไหว้เจ้า เขาอยากไหว้เราก็ไหว้ตามเขาไป แต่ถามว่าเชื่อไหม ไม่เชื่อหรอก ตอนหลังถึงจะรู้ขึ้นมา โตขึ้นมาแล้ว ตอนเด็กๆ ก็คิดว่าเมื่อไหร่ผีมันจะกินอิ่มเสียที เราจะได้กินบ้าง รอลุ้นให้ธูปหมดเร็วๆ โตขึ้นมาถึงรู้ว่า เป็นการสอนเรื่องความกตัญญู สอนให้ลูกหลานรู้จักกตัญญูกตเวที ก็เป็นอุบายที่ดีอันหนึ่ง อย่างเรื่องเช็งเม้งอะไรนี่ มีโยมคนหนึ่งเขาท้วง หลวงพ่อบอกว่าเอาศพไปเผาดีกว่า ฝังไว้ไม่มีประโยชน์อะไรหรอก กินที่ดินเสียที่ดินเปล่าๆ อะไรอย่างนี้ เขาบอกมันมีประโยชน์อย่างอื่น ลูกหลานจะได้กตัญญู ถึงปีก็มาชุมนุมกันทีหนึ่ง บอก เออ ถ้ามองแง่นั้นก็ฉลาดหรอก ถ้าคิดว่าผีจะมากินข้าว ไม่ฉลาดหรอก ผีอะไรมันจะไปอยู่ในดิน ไม่ใช่ไส้เดือนนี่ คือมองให้ออก แล้วก็เข้าใจวัตถุประสงค์จริงๆ อย่างนั้นก็จะฉลาดขึ้น

ถ้าเรางมงายเราก็ไม่ได้ธรรมะหรอก เราก็จะได้แต่ความงมงาย ฉะนั้นศีลเราต้องรักษา สมาธิเราต้องมี ความศรัทธาที่จะต้องการฟังธรรมะ ศรัทธาในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ต้องมี แต่ถ้างมงายไม่ใช่ศรัทธา ธรรมะจะหนีหมดเลย เข้าไปหาครูบาอาจารย์แล้วเราก็ลุ้น เดี๋ยวจะขอวัตถุมงคลอะไรอย่างนี้ หรือไปซื้อเหรียญ ซื้อพระเครื่องใส่ถุงไป เดี๋ยวได้จังหวะจะให้ท่านเสกให้อะไรอย่างนี้ อย่างนี้จะไม่ได้ธรรมะ ฉะนั้นต้องไม่งมงาย เข้าไปด้วยใจอ่อนโยน เข้าไปด้วยใจอ่อนน้อม แล้วเราก็จะได้ของดี

ถ้าพวกเราอยากได้ธรรมะที่ดี ก็ต้องฝึกจิตฝึกใจของเราให้ดี ถ้าใจเราไม่มีคุณภาพ ธรรมะมันก็ไม่มาที่ใจเรา ไม่อยู่ในข่ายที่ครูบาอาจารย์จะช่วยได้ จะให้ครูบาอาจารย์ช่วย สิ่งที่สำคัญที่สุดช่วยตัวเองเสียก่อน ช่วยรักษาศีลหน่อยสิ ช่วยฝึกจิตใจให้อยู่กับเนื้อกับตัวหน่อย ช่วยมีความเชื่อมั่นศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่งมงาย

แล้วพอได้ยิน ได้ฟังธรรมะแล้วก็ต้องช่วยตัวเองอีก มีความเพียรที่จะปฏิบัติ ลูกศิษย์หลวงพ่อบางคนไม่มีความเพียร เวลามาฟังธรรมะในใจตั้งความปรารถนาไว้ ว่าขอให้ได้ฟังธรรมะเด็ดๆ เรียกว่าวรรคทอง ได้ฟังวรรคทองแล้วก็ปิ๊งเลย ไม่ต้องปฏิบัติ บรรลุเลย นี่เหลวไหลที่สุด ไม่รู้จักคำว่ากฎแห่งกรรมเลย ไม่ทำเหตุอย่างไรก็ไม่มีผล

ฉะนั้นเราฟังธรรมะของครูบาอาจารย์แล้ว เราก็ต้องลงมือปฏิบัติเอา ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม ปฏิบัติธรรมอย่างไรถึงจะสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติตั้งแต่ตื่นจนหลับ ตอนที่เราทำได้ ยกเว้นตอนไหนที่ทำไม่ได้ ปฏิบัติไม่ได้

ตอนที่ทำงานที่ต้องใช้ความคิด เวลาเราทำงานใช้ความคิดนี่ สติ สมาธิ ปัญญามันจะไปจดจ่ออยู่ที่งาน มันไม่ได้มาจดจ่ออยู่ที่กายที่ใจ เพราะฉะนั้นตอนนั้นภาวนาไม่ได้ แต่ถามว่ามีสมาธิได้ไหม มีได้ แต่เป็นสมาธิออกนอก อย่างหมอจะผ่าตัดคนไข้ก็ต้องมีสมาธิ สติ สมาธิอะไรมันก็จดจ่อออกไปข้างนอก มันไม่ใช่สติ สมาธิที่ย้อนเข้ามาดูตัวเอง ฉะนั้นความเพียรเราต้องมี ต้องพยายามปฏิบัติ ตื่นนอนมารู้สึกเลย รู้สึกกาย รู้สึกใจ ถ้าสติเราเร็วตื่นนอนปุ๊บรู้สึกใจ รู้สึกกาย ไม่ใช่รู้สึกกาย รู้สึกใจนะ รู้สึกใจ รู้สึกกาย

ถ้าสติเราเร็วจริงๆ พอจิตมันตื่น มันขึ้นจากภวังค์มาอย่างนี้ มันจะเห็นจิตเคลื่อนขึ้นจากภวังค์ สติมันเร็วถึงขนาดนี้ เห็นจิตเคลื่อนขึ้นมา แล้วเสร็จแล้วมันก็จะสัมผัสกระทบเข้ากับสัญญา ตัวจิตใจนี้ก็จะทำงานขึ้นมา ปรากฏชัดขึ้นมา เกิดรู้เรื่องต่างๆ ขึ้นมา คิดนึกอะไรก็เข้าใจขึ้นมา เสร็จแล้วความรู้สึกมันจะขยาย มันเหมือนเปิดสวิตช์ไฟครั้งที่ 2 แสงสว่างครั้งที่ 2 กระทบเข้ากับกาย กายก็ปรากฏขึ้น เพราะฉะนั้นตอนที่จิตมันเคลื่อนขึ้นจากภวังค์นี่ สัญญามันเข้าไปหมายกระทบ จิตมันก็สว่างขึ้นมา เกิดความรับรู้ที่จิต เหมือนเปิดไฟเปิดหลอดที่ 1 สว่างขึ้นมา คราวนี้คิดนึกปรุงแต่งได้แล้ว ถัดจากนั้นมันจะเปิดช็อตที่ 2 มันสว่างขึ้นอีกทีหนึ่ง ปึ้บๆ อย่างนี้ กระทบเข้าถึงกายก็จะรู้สึกกาย กายอยู่ในท่าไหน นอนอย่างไรอะไรจะรู้สึกขึ้นมา

ตอนภาวนาแล้วมาเห็นตรงนี้ หลวงพ่อก็นึกถึงธรรมะอันหนึ่งในตำรา ในพระสูตรก็มีที่บอกว่าตอนสิ้นกัป สัตว์ทั้งหลายมันไม่มีที่อยู่ โลกธาตุทั้งหลายแตกสลายหมด สัตว์ทั้งหลายมันไปเกิดเป็นอาภัสราพรหม อาภัสราพรหมเป็นแสงสว่าง เสร็จแล้วก็จะบอกว่าพอมีแผ่นดินขึ้นมาแล้ว อาภัสราพรหมนี่มันลงมากินง้วนดิน ง้วนดินหน้าตาเป็นอย่างไรหลวงพ่อก็ไม่รู้จัก ในตำราเขาบอกว่าเป็นโอชะ เป็นรสชาติของดิน เสร็จแล้วก็ติดใจในรสของง้วนดิน ก็เลยกลับไปเป็นพรหมไม่ได้ มีกายหยาบขึ้นมา ในตำราพูดไว้อย่างนี้ ตอนที่มาภาวนาจิตอยู่ในภวังค์ ตอนที่จิตเคลื่อนขึ้นมามันเป็นแสงสว่าง แสงสว่างนี้มันกระทบเข้ากับนามธรรม นามธรรมก็ปรากฏ กระทบเข้ากับรูปธรรม รูปธรรมก็ปรากฏ มันกระทบนามธรรม ก็ยึดนามธรรม มันกระทบเข้าถึงรูปธรรม ก็ยึดรูปธรรม คราวนี้ยึดแล้วออกไม่ได้แล้ว มันเหมือนอาภัสราพรหมมากินดิน ก้อนนี้ก้อนดิน ออกมาไม่ได้แล้วติดอยู่เลยตอนนี้ ติดในรสชาติของร่างกายนี้ รสชาติของกาย ก็คือกามนั่นเอง ก็ติดอยู่ในกาม ก็เลยพลาดออกจากพรหมโลก หล่นลงมาอยู่ในกาม กามาวจร เรียกว่ากามโลกเดี๋ยวบางคนก็คิดมากอีก กามโลก กามภพ จิตมันหล่นลงมาอยู่ตรงนี้

 

เราต้องฝึก จะให้สติมันเร็วขึ้นๆ มันเร็วเอง มันเร็วจนถึงขนาดเห็นจิตเคลื่อนขึ้นจากภวังค์เลย อย่างเกิดความรู้สึกขึ้นมา เกิดร่างกายขึ้นมา ถ้าจิตมันเคลื่อนขึ้นมาอย่างนี้ เราก็จะเริ่มเห็นแล้ว จิตใจก็ไม่ได้ของที่มีอยู่ตลอดเวลา ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย ไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา ตัวร่างกายนี้ก็เหมือนกัน ไม่ใช่ตัวเรา แต่จิตมันแค่ไปรู้ถึงร่างกายที่มันมีอยู่ พอเห็นอย่างนี้ มันก็จะรู้ว่าร่างกายมันไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นสมบัติของโลก แต่จิตนี้มันเข้ามาครอบครอง ฉะนั้นถึงวันหนึ่งมันจะต้องคืนเจ้าของ ต้องคืนกายให้โลก ถ้าใจมันยอมรับความจริงได้แล้ว ร่างกายเป็นสมบัติของโลก ไม่ใช่ของเรา เราแค่เข้ามายืมใช้ มาครอบครองอยู่ชั่วครั้งชั่วคราว เหมือนเป็นบ้านเช่า ถึงวันหนึ่งเราก็ต้องคืนเจ้าของบ้านเขาไป คืนร่างกายนี้ให้โลกไป เราก็ไปหาบ้านใหม่ ไปเช่าบ้านหลังอื่นต่อ เวียนว่ายตายเกิดไป ไม่รู้จักจบจักสิ้น

จนภาวนาไปเรื่อยๆ ถึงวันหนึ่งนี่จิตเราเข้าถึงพระนิพพาน สัมผัสพระนิพพาน เราจะรู้เลยบ้านต่างๆ ที่เราเคยมี มันเป็นบ้านชั่วคราวทั้งหมดเลย แต่บ้านที่แท้จริงนั้นต้องภาวนาแล้วเราจะเห็น พอเราภาวนาไป ทีแรกเราก็จะรู้สึกเลยว่า ตรงนี้เดิมเราคิดว่าบ้านของเราจริงๆ แล้วเราก็รู้ว่าไม่ใช่ ถึงวันหนึ่งเราก็ต้องคืนเจ้าของไป ย้ายบ้านไปกี่ครั้งๆ ไปอยู่แรกๆ ก็อาจจะรู้สึกว่าของเราๆ อยู่ไปนานๆ แล้วก็จะรู้สึกอีก ตรงนี้ก็ที่ชั่วคราว นี่ก็ชั่วคราวที่นั่นก็ชั่วคราว ไม่มีตรงไหนเลยที่เป็นอมตะที่จะอยู่ได้ตลอด ค่อยภาวนา อย่างหลวงพ่อตั้งแต่เด็กๆ อยู่ในบ้านพ่อบ้านแม่ ตอนเด็กๆ เราก็รู้สึก มันรู้สึกเองไม่มีใครเสี้ยมสอนเลย มันรู้สึกว่าเราจะอยู่ตรงนี้ชั่วคราวเท่านั้นล่ะ เดี๋ยวโตขึ้นเราก็จะไปหาบ้านของเราอยู่เองอะไรอย่างนี้ พอย้ายบ้านก็รู้สึกว่า เราไปเช่าเขาอยู่ เราก็รู้สึกมันไม่ใช่ของเราหรอก เดี๋ยวต่อไปเราจะไปหาบ้านใหม่อีก ไปหาๆ จนไปซื้อบ้าน ซื้อโน่น ซื้อนี่ไป มันก็รู้สึกอีกว่ามันอยู่ชั่วคราว มันไม่ใช่ที่อยู่ถาวรของเราได้หรอก ฉะนั้นบ้านทั้งหลายที่เราอยู่ในโลกนี้ เป็นของที่เราจะอยู่กับมันชั่วคราวเท่านั้นเอง

จนออกมาบวช ไปอยู่ที่สวนโพธิ์ ลงทุนสร้างสวนโพธิ์ ก็มีพวกลูกศิษย์มาช่วยบ้างอะไรบ้าง ลงทุนสร้าง สร้างขึ้นมาแล้วเราก็กะว่า เราคงจะอยู่ตรงนี้ไปนานเลย คงไม่ต้องย้ายไปไหนแล้ว อยู่ไปสักพักหนึ่งเราก็รู้สึกว่า นี่ก็ยังไม่ใช่บ้านที่แท้จริงของเรา ตรงนี้ก็ที่อยู่ชั่วคราวนี่เอง ค่อยภาวนาไปเรื่อยๆ ถึงจะรู้จักบ้านที่แท้จริงได้ พอรู้แล้วเราจะรู้เลย โลกนี้เป็นของอาศัยชั่วคราว ไม่นานเราก็ต้องทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไว้ ให้คนอื่นเขามาอาศัยต่อ อย่างบ้านที่พวกเราอยู่ทุกวันนี้ ถ้ามันไม่พังไปเสียก่อน ถ้าไฟไม่ไหม้ไปเสียก่อน วันหนึ่งมันก็เป็นของคนอื่น คนอื่นมาอยู่ อาจจะไม่ใช่คนที่เรารัก ลูกหลานเราหรอก อาจจะเป็นคนที่เราเกลียดเลย แต่มันมาซื้ออะไรอย่างนี้ ฉะนั้นสมบัติมันไม่ใช่ของเราที่แท้จริง

 

อยู่กับโลกอย่างเข้าใจ รักษาจิตของตัวเองให้ดีที่สุด

หลวงพ่อไปหลายประเทศมา เคยไปดูอยากรู้ว่าแต่ละประเทศ คนเขาเป็นอย่างไร เขาอยู่กันอย่างไร เขามีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร เป็นทรัพยากร เป็นข้อมูล ที่เราจะมองถึงการที่จะทำงานต่อไป เผยแพร่ธรรมะอะไรพวกนี้ ก็ไปเห็นตามวัง ตามคฤหาสน์ ตามปราสาทใหญ่ๆ อะไรอย่างนี้ ไปเห็นแล้วก็รู้สึกสลดสังเวช เจ้าของมันไปอยู่ที่ไหนหมดแล้ว เจ้าของไม่อยู่แล้ว ครั้งหนึ่งใครก็เข้าไปไม่ได้ ทุกวันนี้ตีตั๋วแล้วก็เข้าไปได้ สมบัติของโลกมันเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นเราก็เข้าใจ ค่อยๆ ฝึกตัวเองไปให้มันฉลาดขึ้นๆ ทุกอย่างในโลกนี้เป็นของอาศัยชั่วคราว อย่าว่าแต่บ้านช่อง ทรัพย์สมบัติเลย กระทั่งร่างกายนี้ก็เป็นของที่เราอาศัยอยู่ชั่วคราว ไม่นานเราก็ต้องคืนเจ้าของ คืนให้โลก ร่างกายมันก็คือธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม พอมันแตกสลายลงไป จิตวิญญาณไม่สามารถครอบครองต่อไปได้แล้ว มันไม่เหมาะที่จะอยู่ต่อไป ดินมันก็ไปสู่ดิน น้ำก็ไปสู่น้ำ ไฟก็ไปสู่ไฟ ลมก็ไปสู่ลม ธาตุทั้งหลายมันก็สลายตัวแยกย้ายกันไป ตามที่มันเป็น

พอเราค่อยเข้าใจๆ มันไม่เห็นมีสาระแก่นสารเลย เราภาวนาไปถึงจุดหนึ่งเราจะเห็น กายนี้ก็ว่าง ใจนี้ก็ว่าง โลกนี้ก็ว่าง มันว่างเสมอกันไปหมด พอเราภาวนาเป็นลำดับๆ ไป แล้วเราเข้าไปหาครูบาอาจารย์ บางทีเราไม่ได้ต้องการให้ท่านรับรองอะไร เข้าไปเฉยๆ เข้าไปกราบ มีธรรมะสมควรบอกเดี๋ยวท่านก็บอกเอง ท่านก็บอกเอง มันอยู่ที่เราแล้วล่ะ ฝึกตัวเองให้ดี อย่ามัวแต่หลงโลก ทุกวันนี้กระแสโลกนี้เชี่ยวกรากมากเลย ก็คนเห็นแก่ตัวมันมีมาก คนเห็นแก่ตัวมันฉลาด มันมีกำลัง มันฉลาดอย่างโลกๆ มันมีกำลัง ก็ครอบงำความคิด ครอบงำสิ่งที่ถูกต้องไว้ได้ ก็ถ่ายทอดสิ่งที่ไม่ถูกต้องออกไป เต็มไปหมดเลย เราอยู่กับโลกก็เข้าใจมัน โลกมันเป็นอย่างนี้ อย่าไปโกรธมัน

คนที่มันทำอะไรไม่ถูกต้อง ไม่สมควรวันนี้ วันข้างหน้ามันก็ต้องรับผลของมัน เราอย่าไปเกลียด แต่อย่าไปเชื่อ ไม่ต้องไปเชื่อ เชื่อเหตุ เชื่อผล ไม่ใช่เชื่อตามที่เขาบอก ไม่ใช่เชื่อตามเสียงข้างมาก เสียงข้างมากก็เชื่อไม่ได้ อย่างคนหนึ่งมันไปเขียนอะไรขึ้นมาแล้วไปลงเฟซบุ๊ก คนอื่นก็แชร์ๆๆ ไป เราก็เชื่อเลย โอ้โห นี่เห็นไหมเขาแชร์ตั้ง 10,000 ครั้งแล้ว แสดงว่าจริง นี่โง่แล้ว ฉะนั้นเราไม่ได้เชื่อเสียงข้างมาก เชื่อเหตุผล เชื่อข้อมูล ต้องใช้ข้อมูล ต้องใช้เหตุผลในการดำรงชีวิต ไม่ใช่ใช้ความเชื่อ ไม่ใช้เสียงข้างมาก พวกมากลากไป เราไม่ใช่วัวใช่ควาย อย่างวัวควายอย่างนี้ หัวหน้ามันตัวเดียวเดินไป ที่เหลือมันก็เดินตามไปหมดเลย ฉะนั้นถ้าเราไม่ใช่ควายก็ต้องมีเหตุผลในการดำรงชีวิต เรารู้ว่าอะไรมีเหตุผล อะไรถูกต้อง อะไรสมควรกับเรา มีประโยชน์อะไรอย่างนี้ อะไรถูก อะไรผิด รู้ แต่ไม่ต้องไปโกรธไอ้คนที่มันต่างกับเรา

ถ้าเราโกรธ โกรธ เกลียด สมมติเราเกลียดนักการเมืองคนนี้มากเลย มันพูดอะไรเราก็เกลียดมันหมด ถึงมันพูดถูกเราก็ยังเกลียดมัน เพราะว่าจริงๆ เราเกลียดมัน มันตัดสินไปตั้งแต่ก่อนที่มันจะพูดแล้ว พอเรา take sides ชอบอันนี้ไม่ชอบอันนี้อะไรอย่างนี้ กรรมให้ผลทันที สำหรับนักปฏิบัติ กรรมจะให้ผลเราทันทีเลย อย่างเราเกลียดคนนี้ขึ้นมาปุ๊บ จิตเราเป็นอกุศลแล้ว ความคิดของเราก็จะชั่วแล้ว คำพูดของเราก็ชั่วแล้ว การกระทำของเราก็ชั่วตามไป เช่นเราเป็นเกรียนคีย์บอร์ด ด่าคนโน้น ด่าคนนี้อะไรนี่ เรื่องที่เราพูดถูกหรือผิดไม่สำคัญหรอก ที่สำคัญคือจิตเรามีกิเลส ถ้าจิตเรามีกิเลส จิตเราก็ไม่คู่ควรกับธรรมะ ฉะนั้นต้องรู้เท่าทันมัน รู้เท่าทัน อย่าหลงโลก รู้โลก แต่ไม่หลงโลก เข้าใจว่าทำไมเขาต้องคิดอย่างนี้ อย่างตอนนี้พยายามล็อบบี้กันไม่ให้ฉีดวัคซีน เราก็ต้องเข้าใจว่าทำไมเขาต้องการอย่างนี้ เรารู้เหตุรู้ผล สมควรฉีดเราก็ฉีด ถ้าไม่สมควรเราก็ไม่ฉีด อยู่ที่เหตุผล ไม่ใช่เชื่อตามๆ กัน

ฉะนั้นชาวพุทธเราอย่างมงาย อย่ามีศรัทธาที่งมงายเชื่ออะไรตามๆ กันไป ก็ใช้ไม่ได้หรอก ต้องใช้เหตุใช้ผลเอา แล้วรักษาจิตของตัวเองให้ดีที่สุด พระพุทธเจ้าท่านบอก “ผู้ใดตามรักษาจิต ซึ่งรักษาได้ยาก ผู้นั้นจะพ้นจากบ่วงของมาร” ตามรักษาจิต อะไรคือเครื่องมือรักษาจิต สติ คือเครื่องมือรักษาจิต เพราะสตินี่ในลักขณาทิจตุกะจะระบุไว้ชัดเลย สติทำหน้าที่อารักขา อารักขาก็คือ ทำหน้าที่รักษา คอยคุ้มครองจิตใจของเรา อย่างเราอ่านข่าวปุ๊บ ต้องรีบมีสติรักษาจิตไว้ก่อน ข่าวนี้ชอบ ข่าวนี้เกลียด ข่าวนี้โกรธอะไรอย่างนี้ มีสติรู้ทันจิตของตัวเองไป จิตมันมีราคะแล้ว ชอบคนนี้ชอบเป็นเน็ทไอดอลของเรา พูดอะไรก็จริงหมดเลย ใจมันชอบรู้ทันเข้าไปเลย ใจมันชอบแล้ว เราฟังคนที่เราชอบจิตเราก็มีอคติ เขาเรียก ฉันทาคติ เราชอบคนนี้ล่ะ พอเขาพูดเราก็เชื่อเลย คนนี้เราเกลียด ถึงมันพูดความจริง 1+1 เป็น 2 สมมติอย่างนี้ เราก็บอกไม่จริงหรอก ไม่เห็นจะต้อง 1+1 เป็น 2 เลย 0.9 + 1.1 ก็เป็น 2 เหมือนกัน หาเรื่องจนได้

เราก็รู้ทัน ใจเรามีโทสะ โทสะแทรกอยู่ มีอคติเพราะความโกรธ บางทีเราก็มีอคติเพราะความกลัว บางทีก็มีอคติเพราะความหลง ฉะนั้นใจเราจะลำเอียงไปด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง แล้วก็ความกลัว 4 ตัวนี้ จะเป็นอคติ 4 ตัว บางทีเราก็กลัว เราก็มีอคติ อย่างกลัวเกินเหตุ กลัวเกินเหตุอะไรๆ ก็กลัวไปหมดเลยไม่มีเหตุมีผลเลย ฉะนั้นเราต้องมีสติรักษาจิตของเราไว้ในยามนี้ เวลานี้บ้านเมืองวิกฤติ ไม่ใช่บ้านเมืองปกติ เป็นวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกแล้ว มีสติรักษาจิตไว้ คอยรู้ทันจิตของตัวเองไป กิเลสอะไรเกิดก็รู้ๆ ตอนนี้สำคัญมาก ไม่อย่างนั้นเราจะพากันตกนรกทั้งประเทศเลย เพราะจิตใจเราจะเดือดเร่าๆ ไปหมด พยายามมีสติรู้ทันจิตตัวเองไปเรื่อยๆๆ โลภขึ้นมาก็รู้ โกรธขึ้นมาก็รู้ หลงขึ้นมาก็รู้ ใจเราก็จะเข้าสู่ความสงบสุข พอใจมันสงบสุขจริงๆ มันก็จะเห็น โลกมันก็เป็นอย่างนี้ โลกจริงๆ แล้วกระเพื่อมไหวอยู่ตลอดเวลา โลกไม่เคยหยุดนิ่งในจุดใดจุดหนึ่ง ไม่ว่าจุดนั้นจะดีหรือเลว เจริญหรือเสื่อม

อย่างหลายๆ คนชอบคิดว่าบ้านเมืองแต่ก่อน ร่มเย็นเป็นสุขอะไรอย่างนี้ ไม่จริงหรอก หลวงพ่อเกิดมาในยุคเบบี้บูม หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงแรกๆ เราก็เห็น ว่าบ้านเมืองผู้คนลำบากเยอะแยะเลย ทีนี้พอบ้านเมืองพัฒนาขึ้นมา เราก็เห็นอีกบางคนก็ลำบากอย่างเดิม หรือลำบากมากกว่าเดิม บางคนสบายขึ้น มันก็เป็นอย่างนี้ โลก อย่างแต่ก่อนชาวไร่ชาวนา ดูแล้วน่าสงสารลำบาก เขาเรียกหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินอย่างนี้ ทำไร่ทำนาลำบาก พอพัฒนาเศรษฐกิจดีขึ้น ชาวนาจำนวนมากเลยสูญเสียที่ดินไป เช่าเขาทำยิ่งลำบากกว่าเก่าอีก จริงๆ แล้วความทุกข์ ไม่ว่ายุคใดสมัยใดก็ทุกข์ทั้งสิ้น มันทุกข์กันคนละแบบ ทุกข์กันคนละอย่างเท่านั้นเอง สมัยก่อนโจรผู้ร้ายเยอะ นักเลงอันธพาลเยอะ บ้านเมืองไม่ได้สงบสุขหรอก มันวุ่นวายแล้วมันก็สงบ สงบอยู่ช่วงหนึ่งมันก็กลับมาวุ่นวาย มันเหมือนในเรื่องสามก๊ก สามก๊กเขาบอกว่า “แผ่นดินจีน มีศึกแล้วก็มีสุข มีสุขแล้วก็มีศึก” สลับกันไปอย่างนี้ ที่จริงไม่ใช่แผ่นดินจีนต้องเป็นอย่างนั้นเสมอไป ทั้งโลกก็เป็นอย่างนั้น

กระทั่งในชีวิตเราคนเดียว เดี๋ยวก็มีสุข เดี๋ยวก็มีศึก เดี๋ยวก็วุ่นวาย เดี๋ยวก็สงบ ถ้าเราเข้าใจโลก เข้าใจชีวิตจริงๆ เราจะรู้ว่ามันไม่มีสาระแก่นสารอะไรหรอก อาศัยอยู่กับมันไป รู้เท่าทันมันไป พัฒนาจิตใจตนเองไป งานหลักของพวกเราชาวพุทธ คืองานพัฒนาตัวเอง ในการจะอยู่กับโลกนั้น ก็อยู่กับมันอย่างรู้ทันมัน ไม่เป็นเหยื่อ อยู่กับโลก รู้ทันโลก เข้าใจโลก ไม่ติดในโลก ยิ่งฝึกใจเราก็ยิ่งสงบสันติมากขึ้นๆ เราก็จะยิ่งเคารพศรัทธาแน่นแฟ้น ธรรมะของพระพุทธเจ้านี้ท่านดีจริงๆ เราปฏิบัติแล้วเราทุกข์น้อยลง ทุกข์สั้นลง เห็นผลจริงๆ ด้วยตัวเอง ตรงกับคำว่า “ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ” วิญญูชน รู้ด้วยตนเอง แต่ทรชนไม่รู้หรอก ต้องวิญญูชนถึงจะรู้

 

ฝึกจิตให้พร้อมกับธรรมะ แล้วธรรมะก็จะมาสู่จิต

เราฝึกไปอย่างนี้เรื่อยๆๆ รักษาใจของเราไว้ให้ดี ถ้าเรารักษาใจของเราดี เวลาเราเจอครูบาอาจารย์ ธรรมะที่ท่านถ่ายทอดให้ก็จะประณีต หรือบางทีเราไม่ได้เจอ ไม่ได้เจอครูบาอาจารย์นานๆ หลายเดือนหรือเป็นปี เวลาเราภาวนาจิตเราสงบตั้งมั่น คอยรู้เนื้อรู้ตัว มีสติรักษาจิตอยู่เนืองๆ ตรงไหนที่ติดขัด ธรรมะจะถ่ายทอดมาสู่จิตของเราได้

บางทีเวลาธรรมะถ่ายทอดมาสู่จิตเรานี่ มันเกิดนิมิตเห็นรูปครูบาอาจารย์ปรากฏขึ้น ได้ยินเสียงว่าท่านสอนอย่างนี้ๆ ถ้างมงายก็ “โอ้ นี่ครูบาอาจารย์ส่งจิตมาช่วยแล้ว” เมื่อก่อนก็มีฝรั่งคนหนึ่งมันไม่สบาย มันก็อธิษฐานให้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรในโลก ให้มาช่วยด้วยอะไรอย่างนี้ แล้วมันก็นิมิตเห็นพระผอมๆ องค์หนึ่งมา มาทำอะไรหลวงพ่อจำไม่ได้แล้ว แล้วมันก็หาย จิตมันเกิดปีติ โรคบางอย่างนะจิตมีปีติก็หายแล้ว แต่บางอย่างไม่หาย ทีนี้พอหายแล้ววันหนึ่งมาเที่ยวเมืองไทย ไปที่บ้านเพื่อนไปเห็นรูปเข้า “โอ้ พระองค์นี้ล่ะ” ถามองค์นี้เป็นใคร บอกเจ้าคุณนรฯ (พระยานรรัตนราชมานิต วัดเทพศิรินทราวาส) ท่านเจ้าคุณนรฯ ก็พากันไปกราบท่าน เพื่อนก็พาฝรั่งไปกราบ พอไปแล้วคนก็ไปถามท่านเจ้าคุณนรฯ ว่าท่านส่งจิตไปช่วยเขาหรือ ท่านบอกว่า ตัวท่านเหมือนสถานีวิทยุ จิตของพระ จิตของครูบาอาจารย์ เหมือนสถานีวิทยุ มันแผ่กระแสธรรม แผ่กระแสเมตตาออกไปครอบโลก ครอบจักรวาลอยู่แล้ว อยู่ที่ใครจะรับได้ ถ้ายังมีบุญอยู่ก็รับได้ หรือมีการปฏิบัติที่ดี มันก็รับได้ คล้ายๆ เครื่องรับมันดี

อยู่กับครูบาอาจารย์ แต่เครื่องรับมันไม่ดี เครื่องรับมันบอด มันก็รับไม่ได้ มาเกาะชายจีวรอยู่ก็รับธรรมะไม่ได้ จะอยู่ที่ไหนก็ได้ อยู่ที่ไหน ก็ไม่เป็นไร ถ้าใจมันสมควรแก่ธรรมะ มันก็รับธรรมะได้ เพราะจริงๆ แล้วครูบาอาจารย์ท่านก็แผ่เมตตา แผ่ส่วนบุญส่วนกุศลนะอยู่ตลอดทั้งวัน วันหนึ่งไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง นี้สัตว์โลกทั้งหลายถ้าใจมันเปิดรับ มันจะรับได้ บางทีเราภาวนาติดขัดอยู่ เราก็นิมิตเห็นท่านมาสอนธรรมะเรา เราภาวนาแก้ไขตัวเองออกไปได้ อย่างนี้ก็มี แต่ถ้าจิตของเราสกปรก นิมิตว่าพระพุทธเจ้ามาบอกเรา สมมตินิมิตขนาดนั้นเลย ที่จริงมารมันหลอกเอา เพราะฉะนั้นจิตเราต้องคู่ควร ถ้าจิตเราคู่ควรกับมาร มารมันก็มาหา จิตเราคู่ควรกับพระ พระก็ไปหา ที่จริงก็คือใจเราไปหาพระ หรือใจเราไปหามาร

พยายามฝึกตัวเอง แล้วเราจะได้เข้าใจในธรรมะ สะอาดหมดจดมากขึ้นไปเรื่อยๆ ฝึกจิตให้พร้อมกับธรรมะ แล้วธรรมะก็จะมาสู่จิต

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
15 พฤษภาคม 2564