วิ่งหาความสุข

พวกจะส่งการบ้าน พอหลวงพ่อมานั่ง มีความรู้สึกเหมือนนักโทษกำลังจะถูกประหาร ใกล้เวลาขึ้นเขียง รู้สึกกลัวอะไรนักหนา เรียนธรรมะอยู่กับครูบาอาจารย์ไม่ต้องกลัวพร่ำเพรื่อ ครูบาอาจารย์ไม่ได้โหดร้ายอะไร มีแต่ความเมตตาอยากให้เราดี เวลาเราอยากให้คนดีก็มีวิธีการหลากหลาย บางคนก็ประคบประหงมให้น้ำให้ขนมให้อะไรอย่างนี้ บางคนต้องลงไม้เรียว ที่จริงแล้วใจครูบาอาจารย์เสมอกัน ไม่มีว่ารักคนนี้ เกลียดคนนี้ แต่การปฏิบัติต่อแต่ละคนไม่ได้เหมือนกัน พื้นฐานจิตใจนั้นเสมอกันเท่าเทียมกัน แต่การปฏิบัติบางคนก็ต้องแบบนี้บางคนก็ต้องสอนแบบนี้ แล้วคนที่อดทนได้ สุดท้ายก็จะได้ดี

สิ่งที่สำคัญคือเรียนแล้วต้องเอาไปทำ ก็ต้องตั้งอกตั้งใจปฏิบัติจริงๆ ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นวิริยวาที ต้องมีความเพียร เป็นกรรมวาที เชื่อเรื่องกรรมเรื่องผลของกรรม ไม่งมงาย เป็นกิริยวาที 3 อัน ลักษณะ พระพุทธเจ้าตรัสรู้มาท่านเป็นพุทธะ แปลว่าผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน ทำไมท่านเป็นพุทธะ ท่านเรียกตัวเองพุทธะๆ ท่านตรัสรู้มาเพื่อสู้กับความไม่รู้ ในโลกนั้นเต็มไปด้วยความไม่รู้ พระพุทธเจ้าเลยตรัสรู้ขึ้นมา ประกาศธรรมะเพื่อสร้างคนให้รู้ขึ้นมา

คนไม่รู้เขาก็ไม่ได้ชั่วทุกคน แต่เขาไม่รู้เส้นทาง ไม่รู้ตั้งแต่ว่าชีวิตเกิดมาทำอะไร คนส่วนใหญ่ก็เกิดมาแล้วก็แล้วกัน ไม่รู้ว่าเกิดมาทำอะไร ก็เที่ยวเอาอย่างคนอื่น เขาเรียนหนังสือก็เรียน เขาทำงานก็ทำ เขามีครอบครัวก็มีตามๆ กันไป สุดท้ายก็ตาย ตายไปอย่างว่างเปล่า ไม่ได้คุณงามความดีอะไรติดเนื้อติดตัวไปเท่าไร ไม่รู้เป้าหมายของชีวิต

 

ความสุขเหมือนภาพลวงตา

ทีนี้บางคนก็รู้ ฉลาดขึ้นมา เออ ชีวิตเราไม่ควรจะทุกข์ ควรจะมีความสุข เป้าหมายแรกเลย พวกแรกไม่มีเป้าหมาย พวกที่ 2 นี้มีเป้าหมายต้องการความสุข อะไรที่จะนำความสุขมาให้ การได้สัมผัสกับสิ่งที่ชอบอกชอบใจอย่างมีความสุข ก็เลยเที่ยวแสวงหารูปที่น่าพอใจ แสวงหากลิ่นหารสหาสัมผัสที่น่าพอใจ หาเรื่องราวอะไรสนุกสนานเพลิดเพลิน มีความสุขทางจิตใจไป ให้จิตใจมีความสุข พวกนี้แสวงหาความสุข คนในโลกส่วนใหญ่มาได้แค่นี้ ดิ้นรนหาความสุขไปตลอดชีวิต คิดว่าถ้ามีอย่างนี้ ถ้าเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่มีอย่างนี้ ถ้าไม่เป็นอย่างนี้ แล้วจะมีความสุข ก็เกิดการดิ้นรนให้ได้สิ่งที่พอใจ ดิ้นรนหนีจากสิ่งที่ไม่พอใจ ชีวิตเหน็ดเหนื่อยลำบากยากแค้นมากมาย หวังว่าจะได้ความสุข

ถ้าเราพิจารณาดู ชีวิตเรามีความสุขตรงไหน ช่วงไหนของชีวิตมีความสุข ตอนเด็กๆ ไม่มีภาระต้องทำมาหากิน เด็กเล็กๆ มีความสุขไหม ทำอะไรก็ไม่ได้ด้วยตัวเอง ถูกควบคุมถูกบังคับ อยากไปวิ่งเล่น ฝนตกอยากไปวิ่งเล่นน้ำฝนอะไรอย่างนี้ ทำไม่ได้ ถูกควบคุมมาก ไม่ต้องทำมาหากินอะไร แต่ไม่มีอิสระเลย ถูกผู้ใหญ่บังคับตลอดเวลา

โตขึ้นมาหน่อย ตอนเล็กๆ ก็คิดว่าถ้าโตแล้วคงมีความสุข พอโตขึ้นมาต้องไปเรียนหนังสือ เวลาเรียนหนังสือบางวิชาที่เราชอบ เราก็มีความสุข บางวิชาที่ไม่ชอบก็มีความทุกข์ เราก็กะว่าเดี๋ยวเรียนหนังสือจบแล้วคงจะดี ไปทำมาหากินได้ด้วยตัวเองน่าจะมีความสุขแล้ว ชีวิตตอนเรียนหนังสือนี่ แหม เหน็ดเหนื่อย จะสอบได้สอบไม่ได้ บางคนสอบได้เฉยๆ ไม่พอ ต้องได้เกียรตินิยม ต้องได้เหรียญทอง มีหลานหลวงพ่อคนหนึ่งหลานคุณแม่นั่นล่ะ เรียนหมอศิริราช ไม่ได้ที่ 1 วิชาหนึ่ง ร้องไห้เลย ได้ทุกวิชาไม่ได้ไป 1 วิชา ทุกข์ๆ ชีวิตนี้ทุกข์เหลือเกิน ก็น่าขำ ขณะที่บางคน เออ ถ้าสอบผ่านได้ก็มีความสุขแล้ว คนหนึ่งถ้าไม่ได้เหรียญทองมีความทุกข์ แต่รวมความแล้วไปเรียนหนังสืออยู่ก็ไม่ได้มีความสุข ไม่ได้มีเวลา เวลาถูกใช้ไปเพื่อการเรียน ไม่ได้ทำสิ่งที่อยากจะทำเท่าไร ก็คิดต่ออีกว่าเรียนจบแล้ว ทำมาหากินได้ด้วยตัวเองแล้วจะมีความสุข

พอจบมาต้องทำมาหากินจริง โอ้โห ชีวิตนี้ต้องต่อสู้หนักหน่วงเหลือเกิน มีเงินใช้มากขึ้น ทำมาหากินได้ด้วยตัวเอง มีอิสระมากขึ้น แต่ไม่มีเวลา เวลาเกือบทั้งหมดถูกใช้ไปทำงาน ก็คิดนะรีไทร์ไปแล้วเมื่อไรก็คงมีความสุข ตอนนี้ทำงานเก็บเงินไป พอแก่รีไทร์ออกไป มีปัญหาสุขภาพแล้ว สุดท้ายป่วยหนัก คิดว่าเมื่อไรหายป่วยก็จะมีความสุข พอป่วยหนักจริงๆ ทรมานมากๆ ก็คิดถ้าตายเสียได้คงจะมีความสุข นี่หาความสุขมาตั้งแต่เกิดจนตาย ยังหาไม่ได้เลย หาไม่ได้จริง

ฉะนั้นทฤษฎีเราเกิดมาเพื่อหาความสุข ความสุขอยู่ตรงไหน จับต้องไม่ได้ ไม่ชัดเจน สิ่งหนึ่งคนนี้สุข อันเดียวกันอีกคนไม่สุข บางคนคิดว่ามีชื่อเสียงแล้วจะมีความสุข มีคนรู้จักเยอะๆ แล้วมีความสุข เหมือนเจ้าหญิงไดอานา คนรู้จักเยอะ มีชื่อเสียง มีความสุขไหม ไม่มี ไม่ได้เป็นตัวของตัวเองเลย ทำอะไรคนก็คอยจ้องถ่ายรูปอยู่เรื่อย พยายามหนีๆ แล้วไปรถชนกันตายอยู่ในอุโมงค์อะไรนั่น

ดูๆ ไป เกิดมาวัตถุประสงค์เพื่อหาความสุข ความสุขเหมือนภาพลวงตาเหมือนเหยื่อที่อยู่ข้างหน้า หลอกให้เราวิ่งไปหาตลอดเวลา แล้วก็ไม่เจอ พระพุทธเจ้าท่านมีสติมีปัญญาสูง ท่านไม่ได้สอนให้เราวิ่งหาความสุขซึ่งมันเหมือนภาพลวงตา หาเท่าไรก็ไม่เจอเสียที ท่านบอกว่าเป้าหมายสูงสุดในชีวิตเรา ต้องพ้นจากความทุกข์ให้ได้ คือท่านมีสติมีปัญญาสูง ท่านรู้ว่าทุกสิ่งที่เกิดมาไม่ใช่ของดีของวิเศษหรอก ทันทีที่เกิดมาเราก็มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย ติดตัวมาทันทีละ เรามีจิตใจ เเล้วก็มีความสมหวังความผิดหวังกำกับอยู่ในใจเราตลอดเวลา ถ้าสังเกตให้ดีนะวันหนึ่งๆ เรามีความหวังมากมายในแต่ละวันถี่ยิบเลย ความอยาก อยากนั้นอยากนี้มีทั้งวัน

 

ชีวิตเราที่เต็มไปด้วยความอยาก จริงๆ ก็คือเต็มไปด้วยความทุกข์

อากาศร้อนหวังว่าฝนจะตก อยากให้ฝนตก ฝนตกไปอากาศชื้น ไม่สบาย อยากให้ฝนหยุดเสียบ้าง ในวันหนึ่งๆ ความอยากก็มากมายหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวอยากกินโน้นอยากกินนี่ อยากฟังเพลงโน้นเพลงนี้ อยากเจอคนนั้นอยากเจอคนนี้ ความอยากเกิดถี่ยิบเลยในใจเราตลอดวัน พระพุทธเจ้าท่านก็มองเห็น ความอยากเกิดทีไร ความทุกข์ก็เกิดขึ้นทุกที ฉะนั้นชีวิตเราที่เต็มไปด้วยความอยาก จริงๆ ก็คือเต็มไปด้วยความทุกข์ ท่านบอกว่าเกิดทีไรก็เป็นทุกข์ทุกที

ตอนที่ท่านตรัสรู้ท่านอุทานทักตัณหา ตรัสรู้ขึ้นมาไม่ได้ไปทักใครเลย ไม่ได้ทักเทวดาอินทร์พรหมอะไรทั้งสิ้น ท่านทักตัณหา แน่ะ ตัณหาที่เป็นนายช่างผู้สร้างเรือน สร้างเรือนคือสร้างภพขึ้นในจิตใจนั่นเอง ตัณหาผู้เป็นนายช่างผู้สร้างเรือน เอ็งสร้างเรือนให้เรามามากแล้ว เราผ่านความทุกข์มามากมาย ตอนนี้เรารู้ทันแล้ว เราทำลายตัณหาได้แล้ว เราทำลายเรือนที่ตัณหาสร้าง คือทำลายภพลงได้แล้ว นี่ท่านร่าเริงใจ ท่านพ้นจากอำนาจตัณหา พ้นจากภพ ตัณหาเป็นผู้สร้างภพ

มีภพทีไรก็มีทุกข์ทุกที จะภพที่ชั่วก็ทุกข์แบบคนชั่ว ภพที่ดีก็ทุกข์แบบคนดี พระพุทธเจ้าท่านดูความเกิดทีไร มีความเกิดเกิดขึ้นทีไร ก็มีความทุกข์ทุกที ความเกิดทางร่างกายพอเกิดมาก็มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย ประกบเข้ามา เกิดความรู้สึกทางจิตใจขึ้นมา ก็มีสมหวังผิดหวัง มีความอยากเกิดขึ้น แล้วจิตใจนี่ถูกเคี่ยวเข็ญถูกทรมานด้วยอำนาจของความอยากตลอดเวลา

โอ้ มีจิตใจเกิดขึ้น ก็มีความทุกข์เกิดขึ้นใช่ไหม มีกายก็ทุกข์เพราะกาย มีจิตใจก็ทุกข์เพราะจิตใจ เพราะฉะนั้นมีความเกิดขึ้นคราวใด ก็มีความทุกข์เกิดขึ้นคราวนั้น ที่เราบอกเรามีชีวิต สิ่งที่เรียกว่าชีวิตก็มาจากความเกิดของเรานั่นเอง แล้วชีวิตนี้เกิดมาเพื่ออะไร พวกหนึ่งไม่รู้ว่าเกิดมาทำอะไร ตามๆ เขาไปเรื่อยๆ พวกที่ 2 คิดว่าเกิดมาหาความสุข ก็ดิ้นรน พวกมีสติมีปัญญามากเกิดมาแล้วก็เรียนรู้ได้ ความเกิดเกิดขึ้นทีไร ความทุกข์เกิดขึ้นทุกที เกิดมีร่างกายก็ทุกข์ เกิดมีจิตใจก็ทุกข์ ฉะนั้นทำอย่างไรถึงจะพ้นจากทุกข์ มันน่าเบื่อ เกิดมาแล้วก็มีแต่ความทุกข์ มันน่าเบื่อ

พระพุทธเจ้าไม่ได้มองโลกแง่ร้าย ที่มองว่าชีวิตเราเป็นทุกข์ ท่านมองโลกตามความเป็นจริงเพราะจริงๆ มันทุกข์ มีร่างกายก็ทุกข์เพราะร่างกายใช่ไหม มีจิตใจก็ทุกข์เพราะจิตใจด้วยความอยาก มีความอยากบงการจิตใจ จิตใจก็ดิ้นไปเรื่อยๆ ทุกข์ไปเรื่อยๆ อยากโน้นอยากนี้ อยากใหญ่ อยากโต อยากร่ำอยากรวย อยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตาย ใจดิ้นตลอด อยากให้คนรักเยอะๆ อยากดัง อยากแล้วก็ทุกข์ อยากเป็นนายกก็ทุกข์ จะหัวหงอกตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นเลย

เมื่อก่อนมีท่านหนึ่ง ท่านก่อนจะเป็นนายก ท่านหนุ่มฟ้อหล่อเฟี้ยวเลย ขออนุญาตเอ่ยชื่อท่าน ท่านพลเอกเปรม ท่านเป็นนายกไม่นาน ผมหงอกเลย เครียดน่ะ ฉะนั้นจริงๆ แล้วชีวิตเกิดมานี่มีแต่ความทุกข์ทั้งนั้นเลย พระพุทธเจ้าเห็นสิ่งนี้ ท่านเลยไม่ใช่คนมองโลกแง่ร้าย แต่ท่านมองโลกตามความเป็นจริง คนที่ว่าชีวิตเกิดมานั้นมีแต่ความสุข ไม่ได้มองโลกตามความเป็นจริง แต่มองโลกแบบเคลิ้มฝัน เพราะความจริงไม่ได้สุขเลย

ฉะนั้นการที่พระพุทธเจ้าบอกชีวิตเป็นทุกข์ บางคนมองบอกว่าท่านมองโลกแง่ร้าย ถ้ามาถกกันด้วยเหตุผลจริงๆ จะพบว่าท่านไม่ได้มองโลกแง่ร้าย แต่ท่านมองโลกตามความเป็นจริง พอท่านเห็นความจริงว่า กายนี้คือตัวทุกข์ จิตนี้คือตัวทุกข์ เพราะเห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายกำหนัด คลายความอยาก คลายความยึดถือ พอหมดความอยาก หมดความยึดถือ จิตก็พ้นจากความทุกข์ เพราะความอยากทำให้จิตดิ้นรนเป็นทุกข์ขึ้นมา

 

ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

เพราะฉะนั้นการที่เราจะคอยเรียนรู้กายเรียนรู้ใจ ถึงเป็นงานหลักของพวกเราชาวพุทธ เกิดมาทั้งที รู้กายไม่เป็น รู้ใจไม่เป็น ถึงจะเกิดมาในสังคมพ่อแม่เป็นพุทธ บ้านเมืองไทยบอกส่วนใหญ่เป็นพุทธ ถ้าเราไม่เคยรู้สึกกายไม่เคยรู้สึกใจ เรายังห่างไกลจากความเป็นพุทธมาก ถ้าเมื่อไรเราเจริญสติเจริญปัญญาแก่รอบ จิตเรารู้ความจริง จิตเรานั่นล่ะคือพุทธะ เป็นผู้รู้ความจริง เป็นผู้ตื่นขึ้นมาจากโลกของความฝัน เป็นผู้เบิกบานพ้นจากความทุกข์

ฉะนั้นชาวพุทธเราไม่ได้ตั้งเป้า ปล่อยชีวิตล่องลอยตามยถากรรมแล้วแต่พรหมลิขิต ไม่ได้มุ่งเอาชีวิตนี้แสวงหาแต่ความสุขอย่างเดียว พวกที่ไม่รู้อนาคตไม่รู้เป้าหมายของชีวิต ก็ฝากชีวิตไว้กับพรหมลิขิต ฝากไว้กับโชคชะตา ฝากไว้กับดวงดาว พวกนี้ค่อนข้างอย่างไรดี ให้สุภาพหน่อย อึม ค่อนข้างสติปัญญายังไม่แก่กล้า ถ้าเราเชื่อว่ามีชีวิตเราถูกลิขิตมาแล้ว ปล่อยตามเลยตามเวรตามกรรมอะไร ต่ำที่สุดเลย

ถ้าเขยิบขึ้นมาก็มีเป้าหมายแล้ว แต่เป็นเป้าหมายที่ผิด เป้าหมายคืออยากให้ชีวิตมีความสุข เป็นเป้าหมายที่ผิด เพราะว่าทำอย่างไรก็หาความสุขไม่เจอ ได้รับอารมณ์ที่พอใจมีความสุขแวบเดียวก็หายไปแล้ว เพราะความอยากอย่างอื่นเกิดขึ้น ความทุกข์ก็เกิดขึ้นมาอีกแล้ว อย่างทีแรกอยากเป็น ส.ส. ได้เป็น ส.ส.แล้ว อยากเป็นรัฐมนตรี อยากเป็นนายก อยากมันก็ขยายตัวไปเรื่อยๆ เพราะตัณหานั้นมันไม่มีที่สิ้นสุด

แต่พระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้ทุกข์ เรียนรู้กาย ทุกข์อยู่ที่กาย เรียนรู้จิตใจ ทุกข์อยู่ที่จิตใจ เรียนรู้ลงไป พอรู้ตามความเป็นจริง ก็จะเบื่อหน่ายคลายความอยากคลายความยึดถือ จิตก็กลายเป็นพุทธะขึ้นมา เป็นผู้รู้แล้ว รู้อะไร รู้ความจริงของชีวิต ชีวิตนี้ รูปนามนี้ กายใจนี้ ไม่มีอย่างอื่น มีแต่ทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย หาสาระแก่นสารอะไรไม่ได้ นี่ล่ะเป็นผู้รู้แล้ว เป็นผู้ตื่น ตื่นจากความหลับใหล คนที่เที่ยวแสวงหาความสุขอะไรนั้นคือพวกฝันเอา ฝันๆ ไปเรื่อยๆ มันไม่มีจริง ความสุข

แล้วท่านก็เป็นผู้เบิกบาน เบิกบานจากการรู้ความจริง เบิกบานจากสติปัญญาที่แก่รอบ หมดความยึดถือ จิตใจมีความสุขอันมหาศาล มันสุขมันอิ่มอยู่ในตัวเอง โดยไม่ต้องสนองความอยากใดๆ ทั้งสิ้น สุขอันนี้เกิดจากสิ้นอยาก คนในโลกไม่รู้จัก รู้จักแต่ความสุขที่เกิดจากความสมอยาก ไม่รู้จักความสุขที่เกิดจากการสิ้นอยาก เราจะสิ้นอยากได้ เราต้องเห็นความจริง ต้องเป็นผู้รู้ รู้แจ้งเห็นจริงในคำว่าโลกวิทู ผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง

สิ่งที่เรียกว่าโลกคืออะไร รูปนามนี้เอง เรารู้รูปรู้นามอย่างแจ่มแจ้งว่า นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป นี่คือผู้รู้แล้ว ทันทีที่รู้เราก็หลุดออกจากโลกของความฝัน ฝันถึงความสุขลมๆ แล้งๆ เราก็เป็นผู้ตื่น ไม่ใช่ผู้หลับผู้ฝันผู้เคลิบเคลิ้มลืมตัว มาอยู่ในโลกของความตื่น คือโลกของความเป็นจริง

เมื่อจิตใจเข้าใจความเป็นจริงของรูปนามกายใจ หมดสิ้นตัณหา ตัณหาหมดได้เพราะว่าเราเห็นความจริงของกายของใจ จำตรงนี้ไว้ก่อน ตัณหาดับไปได้ไม่ใช่เพราะสนองตัณหาได้ สนองไปเดี๋ยวก็มีตัณหาใหม่ขึ้นมาทันทีเลย หรืออยากได้เงิน 1,000 บาท พอได้เงิน 1,000 บาท ก็ขยายขึ้นไปอยากได้ 10,000 บาท ตัณหาขยายตัวไม่มีที่สิ้นสุดหรอก

แต่พอเห็นความจริง ชีวิตนี้มีแต่ทุกข์ หาสาระแก่นสารที่แท้จริงไม่ได้ เราถูกหลอก เราถูกหลอกเหมือนสัตว์ที่เขาเอาไปเล่นละครสัตว์ ถูกบังคับให้กระโดดให้ตีลังกา ให้กระโดดผ่านห่วงไฟ กระโดดผ่านห่วงมีด บางทีกระโดดผ่านไปได้ เขาก็ให้รางวัลนิดหนึ่ง กระโดดไม่ได้ก็เจ็บตัว ได้รับความทุกข์

ในโลกนี้เป็นอย่างนี้ ตัณหาสั่งให้เราทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ พอเราทำตามที่มันสั่งมันก็โยนเศษเนื้อให้เราชิ้นหนึ่ง แล้วมันก็สั่งงานใหม่ต่อทันที ให้อยากอย่างอื่นต่อทันที แต่ถ้าตัณหาเกิดขึ้น ใจเรามีความอยากแล้วเราไม่ตอบสนอง มันลงโทษเลยนะ มันทุกข์ทันทีเลย ไม่ได้อย่างที่อยากแล้ว ทุกข์เลย พอได้อย่างที่อยาก รู้สึกมีความสุข สุขแวบเดียวเอง เดี๋ยวก็ต้องอยากเรื่องอื่นอีกแล้ว

เพราะฉะนั้นชีวิตมีแต่ความเคร่งเครียด ไม่มีความเบิกบาน ผู้ที่ถึงจุดที่สิ้นตัณหาแล้ว มีความเบิกบานอยู่ในตัวเอง มีความสุขมีความเบิกบานไม่มีอะไรเหมือน เดิมเราภาวนาไม่เป็น เราก็รู้จักความสุขที่เกิดจากการที่ตัณหาได้รับการตอบสนอง อยากอะไรแล้วได้อันนั้น รู้สึกมีความสุข แต่พอเราภาวนาเป็นอย่างแท้จริงอย่างถ่องแท้แล้ว เราพบว่าตัณหาไม่ได้พาให้เราสุขหรอก ตัณหาพาให้เราดิ้นพล่านๆ ไป ดิ้นพราดๆ ดิ้นพล่าน เหมือนหมาถูกน้ำร้อน มีแต่นำความทุกข์มาให้ เอาความสุขที่เป็นภาพลวงตามาหลอกให้เราเชื่อฟังมัน พอเห็นความเป็นจริง เห็นตามความเป็นจริง มันหมดอยาก หมดอยากจิตหมดความดิ้นรน จิตที่หมดความดิ้นรน จิตเข้าถึงสันติสุข เข้าถึงความสงบ ในความสงบนั้นมีบรมสุข ความสงบนั้นคือพระนิพพาน

นิพพานคือความสิ้นตัณหาๆ พอจิตเราสิ้นตัณหา จิตเราก็เข้าถึงนิพพาน นิพพานมีลักษณะสงบ สงบจากกิเลส สงบจากทุกข์ สงบจากขันธ์ สงบจากความปรุงแต่งทั้งหลาย สงบ ในความสงบนั้นจะมีความสุขอันมหาศาลที่เราไม่เคยสัมผัส

เวลาภาวนานะอันนี้ครูบาอาจารย์ท่านเล่าให้ฟัง เวลาที่แตกหักลงไปแล้ว ทำลายตัณหา ทำลายวัฏจักรวัฏสงสารลงไปจากจิต ถล่มลงจากกลางอกเรานี่เอง จิตจะสัมผัสความเบิกบานซึ่งไม่มีอะไรเหมือน ความสุขความเบิกบานในขณะแห่งอริยผล มันสุขปางตาย สุขเหมือนจะตายเลย สุขหนัก ไม่ใช่สุขน้อยๆ ความสุขอันนี้รุนแรงมาก

ท่านถึงสอนว่า ถ้าเป็นฆราวาสแล้วมาถึงจุดนี้ก็จะตายในวันนั้นเลย แต่ถ้าบวชอยู่นี่ไม่เป็น ไม่ตาย ไม่ถึงตาย ทำไมบวชแล้วไม่ตาย ไม่บวชแล้วตาย เพศของฆราวาสไม่เหมาะกับสิ่งที่สะอาดหมดจดระดับนั้น ไม่เหมาะกันเอง จิตท่านมาถึงจุดนั้น ท่านก็รู้สึกเป็นฆราวาสต่อไปนี่ จะทำให้คนอื่นได้รับทุกข์ได้รับโทษมากมาย อาจจะปรามาสล่วงเกินได้ แล้วก็ถ้าท่านไม่มีปณิธานจะทำอะไรต่อ ท่านก็นิพพานไป ท่านก็จะนิพพานไป

แต่อย่างพระนี้ จิตใจคุ้นชินกับความสุขความสงบจากสมาธิภาวนา พอมาสัมผัสความสุขของพระนิพพาน มันสูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ยังพอทนไว้ ยังพอรับได้ จิตไม่แตกเสียก่อน ก็เลยมีชีวิตอยู่ได้ แต่บางท่าน ท่านพิจารณาแล้วท่านไม่ได้มีภาระอะไรต่อ ไม่ได้มีปณิธานอะไรต่อ ท่านก็นิพพานไปเลยก็มี อันนี้เล่าให้ฟัง เล่าให้ฟังเฉยๆ

 

หน้าที่เราคือเรียนรู้กายเรียนรู้จิตใจไป

หน้าที่เราคือเรียนรู้กายเรียนรู้จิตใจไป พอเราเรียนรู้ร่างกายมากๆ เรียนรู้จิตใจมากๆ ต่อไปเราก็จะเริ่มเห็นความจริง ร่างกายไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง เป็นแค่ของที่ถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา แต่ความยึดถือยังมีอยู่ มีความเห็นถูกแล้วว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา แต่ความยึดถือยังมีอยู่ เหมือนอย่างเรารู้เราตระหนักว่า คอนโดห้องนี้เราเช่าอยู่ ไม่ใช่ของเรา แต่เราก็ยังยึดถืออยู่ นี่ห้องของเรา เราเช่าบ้านอยู่ เราก็บอกนี่บ้านของเรา ร่างกายนี้เหมือนกัน เรารู้แล้วไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราหรอก แต่ก็ยังยึดถืออยู่

ตรงที่เห็นความจริงว่าไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ตัวเราไม่มี เรียกว่าละสักกายทิฏฐิได้ ทิฏฐิคือความเห็นผิด สักกายะคือความเห็นผิดว่าตัวเรามีอยู่ นี่พระโสดาบันก็จะละความเห็นผิดได้ว่าตัวเราไม่มี ร่างกายไม่ใช่เรา เวทนาคือความสุขทุกข์ไม่ใช่เรา กุศลอกุศลไม่ใช่เรา สังขารคือตัวสังขารสัญญาความจำได้หมายรู้ไม่ใช่เรา อย่างเราจำได้บ้าง จำไม่ได้บ้าง เลือกไม่ได้หรอกว่าจะจำได้หรือไม่ได้ สั่งไม่ได้

แล้วจิตเองก็ไม่ใช่เรา เราสั่งจิตไม่ได้ จิตเดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด เดี๋ยวก็เป็นผู้เพ่ง เดี๋ยวก็เป็นกุศล เดี๋ยวก็เป็นอกุศล เดี๋ยวก็ไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล สั่งไม่ได้ เดี๋ยวก็เกิดที่ตา แล้วก็ดับที่ตา เกิดที่หู ดับที่หู เกิดที่จมูกที่ลิ้นที่กายที่ใจ เกิดที่ไหนก็ดับที่นั้น มันเห็นแล้ว ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ไม่มีอะไรที่เป็นอมตะอยู่ ไม่มีสิ่งที่เป็นอมตะ

ปุถุชนจะรู้สึกว่ามีอะไรที่เป็นอมตะ เห็นง่ายๆ เลย เวลามีครูบาอาจารย์มรณภาพหรือถึงแก่กรรม บางคนก็ใช้ถึงแก่กรรม ไม่ใช่พระ บางองค์ก็มรณภาพ เราก็จะไปเขียนไว้อาลัยกัน ถ้าไม่ใช่พระก็จะไปเขียนว่า ขอน้อมส่งกลับสู่ธรรมชาติ ฟังประโยคนี้ให้ดี ขอน้อมส่งท่านนี้ท่านนี้กลับคืนสู่ธรรมชาติ หรือเวลาครูบาอาจารย์ตาย ก็บอกขอน้อมส่งสู่พระนิพพาน

ประโยคนี้สะท้อนอะไรรู้ไหม สะท้อนสักกายทิฏฐิ ปุถุชนหรอกที่จะพูดอย่างนั้น เพราะอะไร เพราะคิดว่ามีจิตวิญญาณที่เป็นอมตะอยู่ แล้วพอร่างกายตาย เราก็น้อมส่งจิตวิญญาณนี้ไป คิดว่ามีอะไรที่อมตะอยู่อย่างหนึ่ง อันนี้ประณีตไป แต่ว่าพูดให้ฟังว่า แค่คำพูดที่หลุดออกมานี่ ก็สะท้อนถึงภูมิจิตภูมิธรรมได้ พระอรหันต์ทั้งหลายนั้นท่านถึงนิพพานอยู่แล้ว ไม่ต้องน้อมส่งเพราะท่านถึงอยู่แล้ว เหมือนท่านอยู่ในบ้านท่านอยู่แล้ว เราก็บอกเราจะไปส่งท่านเข้าบ้าน

ที่จริงแค่เราคิดว่าท่านมีอยู่ ก็คิดผิดแล้วล่ะ พระอรหันต์ไม่ได้คิดว่าตัวท่านมีอยู่ ท่านเห็นแต่ว่าขันธ์ 5 มีอยู่ แล้วขันธ์ 5 ก็ดับไป ไม่คิดว่าพอขันธ์ 5 ดับแล้ว จิตวิญญาณของเรานี้จะไปเข้านิพพาน อันนั้นไม่ใช่ ไม่ใช่

เราค่อยภาวนา เบื้องต้นเราก็จะเห็นว่าตัวเราไม่มี ต่อไปสติปัญญาเราแก่กล้าขึ้น เพราะเราคอยรู้สึกกายคอยรู้สึกใจ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง แล้วสิ่งที่ได้มาคือโลกุตตรปัญญาแต่ละชั้นๆ โลกุตตรปัญญาเบื้องต้นก็จะเห็นว่าตัวเราไม่มี เพราะฉะนั้นตัวเราไม่มี ไม่ต้องส่งใครไปนิพพานหรอก ไม่มีตัวตั้งแต่ตอนนี้แล้ว จะเอาตัวอะไรไปนิพพาน

เราก็มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางต่อไป ต่อมาสติปัญญาก็แก่กล้าขึ้น จะเห็นเลย ร่างกายที่ไม่ใช่ตัวเรา แท้จริงแล้วเป็นตัวอะไร ร่างกายนี้เป็นตัวทุกข์ เห็นความจริงของกาย พอรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง จิตก็หมดสมุทัย รู้ทุกข์รู้กายว่าเป็นทุกข์อย่างแจ่มแจ้ง จิตก็หมดตัณหาเกี่ยวกับกาย อยากให้กายเป็นสุข อยากให้กายไม่ทุกข์ ตัณหาอย่างนี้ไม่มีอีกต่อไปแล้ว อันนี้เป็นภูมิจิตภูมิธรรมของพระอนาคามี

ถัดจากนั้นการปฏิบัติจะบีบวงกระชับเข้ามาที่จิต กระชับเข้ามาที่จิตแล้วทำอย่างไรล่ะ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ทำอย่างนั้นล่ะ แต่สติปัญญานี่จะจดจ่อลงมาที่จิต มาเรียนรู้อยู่ที่จิต แล้วก็จะเกิดปรากฏการณ์ บางครั้งจิตก็ปล่อยวางจิต ปล่อยวางแป๊บเดียวก็หยิบฉวยจิตขึ้นมาอีกแล้ว ปล่อยไม่ได้เด็ดขาด พิจารณาลงไปทำไมจิตถึงปล่อยวางจิตไม่ได้ เพราะเราไม่รู้อะไรบางอย่าง จิตมันรู้เลยว่ามันมีอะไรอย่างหนึ่งที่มันไม่รู้ เพราะฉะนั้นมันปล่อยไม่ได้ เพราะยังมีสิ่งหนึ่งที่มันไม่รู้

ในพรรษาแรก หลวงพ่อภาวนาพรรษาแรก หลวงพ่อก็คิดถึงครูบาอาจารย์องค์หนึ่งคือหลวง ปู่สุวัจน์ ครูบาอาจารย์อื่นก็มรณภาพไปเกือบหมดแล้ว คิดถึงท่าน โอ๋ ท่านใกล้จะมรณภาพแล้ว ออกพรรษาหลวงพ่อขึ้นไปกราบท่าน ก็ไปรายงานท่าน พ่อแม่ครูบาอาจารย์ให้ผมดูจิต ท่านกำลังอาพาธ ฉันยาเข้าไปแล้วจะเบลอแบบไม่ค่อยรู้สึก พอหลวงพ่อไปกราบเรียนท่านว่าผมดูจิต ท่าน Alert ขึ้นมาเลย จิตท่านตื่นตัวขึ้นมาจากสภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น ก็ตื่น แล้วผมก็ปล่อยวางจิตลงไป แล้วผมวางจิตลงไป ท่าน ฮึม ท่านอย่างนี้ ท่านยืดตัวขึ้นมาได้หน่อยหนึ่ง ฮึม ยืดอย่างนี้ แล้วผมก็หยิบฉวยมันขึ้นมา ท่าน เฮ้อ ท่านี้เลยนะ หยิบมันทำไม ทิ้งมันไปเลย มันไม่มีอะไรแล้ว ท่านบอกอย่างนี้ ทิ้งมันไปเลย เราก็นึกในใจ หลวงปู่พูดง่ายว่าทิ้งมันไปเลย แต่ผมทิ้งไม่ได้

ดูลงมา มันมีอะไรอย่างหนึ่งที่มันยังไม่รู้ ถ้าไม่รู้สิ่งนี้ ไม่สามารถทิ้งได้ ก็ค่อยภาวนา ภาวนาเรื่อยๆ ไป วันหนึ่งจะมาสู่จุดที่เรียกว่า จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง ที่หลวงปู่ดูลย์ท่านพูด จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งได้เพราะมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง สุดท้ายเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง มันแจ่มแจ้งในกายมาก่อนแล้ว แล้วปล่อยวางกาย กายนี้คือตัวทุกข์ ก็ปล่อยวางกาย จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งว่าจิตนั่นล่ะคือตัวทุกข์ ทุกข์ยิ่งกว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกเลย กระทั่งตัวจิตผู้รู้ก็คือตัวทุกข์ พอแจ่มแจ้งอย่างนี้มันก็จะวาง มันรู้แล้วนี่ตัวทุกข์ แล้วจะอุ้มเอาไว้ทำอะไร จะหิ้วเอาไว้ทำอะไร

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นติ่งอยู่นิดหนึ่ง ที่ทำให้ปล่อยวางจิตไปไม่ได้ ก็คือความไม่รู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจ ยังไม่สามารถเห็นทุกข์ได้เต็มร้อย ถ้าเห็นทุกข์เต็มร้อย กายก็ทุกข์ จิตก็ทุกข์ แต่ว่าผู้ปฏิบัติจะเห็นกายเป็นทุกข์ ก็วางกายไปก่อน เพราะกายเป็นของหยาบ เห็นผ่านมาก่อน แล้วจะกระฉับการปฏิบัติเข้ามาที่จิต แล้วถึงจุดที่เห็นจิตนั้นล่ะคือทุกข์ ทุกข์เพราะความไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้น ทุกข์เพราะบังคับไม่ได้

 

“เราต้องเดินมาตามลำดับ ขึ้นบันไดมาทีละขั้น ไม่ใช่ก้าวกระโดด เอะอะก็จะปล่อยวางจิต
ตอนนี้อย่าปล่อยวางจิต ให้สร้างจิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมาก่อน ให้จิตสร้างจิตที่ตั้งมั่นขึ้นมาก่อน”

 

เมื่อเช้ายังถามทีมงานทีมไลฟ์ของหลวงพ่อว่า เห็นไหมจิตถูกบีบคั้นอยู่ทั้งวัน เคยเห็นไหม บางคนเห็น เออ มันถูกบีบคั้น พอมีความอยากอันนี้ขึ้นมามันก็บีบ มีความอยากอันนี้ ตากระทบรูป จิตก็ถูกบีบคั้น หูได้ยินเสียง จิตก็ถูกบีบคั้น ใจกระทบความคิด จิตก็ถูกบีบคั้น แต่รายนี้บอกหลวงพ่อว่าเห็นเป็นคราวๆ นี่กำลังไม่พอ

แต่พวกเราได้ยินตรงนี้แล้ว ไม่ใช่เราจะต้องทำตรงนี้ เราต้องเดินมาตามลำดับ ขึ้นบันไดมาทีละขั้น ไม่ใช่ก้าวกระโดด เอะอะก็จะปล่อยวางจิต ตอนนี้อย่าปล่อยวางจิต ให้สร้างจิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมาก่อน ให้จิตสร้างจิตที่ตั้งมั่นขึ้นมาก่อน แล้วมีจิตที่ตั้งมั่นจะเห็นกายกับจิตคนละอันกัน เวทนา สุข ทุกข์ กับจิตคนละอันกัน สัญญาความจำได้หมายรู้กับจิตนั้นคนละอันกัน สังขารความปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงไม่ดีไม่ชั่วกับจิตนั้นคนละอันกัน จิตเองก็ไม่ได้มีดวงเดียว ดวงหนึ่งเกิดขึ้นดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน บางดวงเป็นสุข บางดวงเป็นทุกข์ บางดวงเฉยๆ บางดวงเป็นกุศล บางดวงเป็นอกุศล บางดวงเป็นผู้รู้ บางดวงเป็นผู้หลง บางดวงเป็นผู้ไปดูรูป เป็นผู้ไปฟังเสียง คนละดวงกัน ฉะนั้นจิตเองเกิดดับๆ ไม่ได้มีดวงเดียว

พวกที่จะน้อมส่งไปสู่นิพพาน คือพวกที่คิดว่าจิตมีดวงเดียวเป็นอมตะ ตายแล้วส่งไปนิพพาน ฉะนั้นเบื้องต้นรู้กายรู้ใจไว้ รู้สึกตัว อย่ามัวแต่เผลอไป แล้วก็อย่ามัวแต่เพ่งอยู่ รู้สึกตัวไป แล้วดูกายทำงาน ดูใจทำงาน ทีแรกหัดรู้สึกตัวไปเรื่อย ทำสมาธิ ทำกรรมฐานในรูปแบบ จนจิตมีพลังตั้งมั่นเด่นดวง อย่างวันนี้หลวงพ่อบอกทิด ทิดจิตมีกำลังมาก ตั้งมั่นเด่นดวงอย่างนี้ก็เดินปัญญาแล้ว เดินปัญญาได้ ตรงที่จิตเขาเดินปัญญาได้แล้ว เขาก็สามารถเห็นสภาวะได้ เห็นสภาวะต่างๆ เกิดดับได้ทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรม

ฉะนั้นเบื้องต้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้เท่าทันจิตตนเอง ในที่สุดจิตจะได้สมาธิตั้งมั่นขึ้นมา ทำให้มากจิตจะมีกำลัง จิตมีกำลังแล้วขันธ์จะแยก จะเห็นว่ากายกับจิตคนละอัน สุขทุกข์กับจิตเป็นคนละอัน ดีชั่วกับจิตเป็นคนละอัน จิตก็มีหลายดวง เกิดดับ ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ทั้งวันทั้งคืน

เฝ้ารู้เฝ้าดูไป จิตผู้รู้ก็ไม่เที่ยง จิตผู้หลงก็ไม่เที่ยง แต่ต้องพัฒนาจิตผู้รู้ ถ้าไม่พัฒนาจิตผู้รู้ ก็จะมีแต่จิตผู้หลง ก็เลยไม่รู้ว่าตัวเองหลงอยู่ แต่พอมีจิตผู้รู้จะรู้จักจิตผู้หลง หรือรู้จักจิตผู้หลงก็จะเกิดจิตผู้รู้ 2 อัน จับตัวหนึ่งได้ก็จะเข้าใจอีกตัวหนึ่ง

 

คุณสมบัติที่ดีของผู้ภาวนา

ฉะนั้นทำกรรมฐานแล้วรู้เท่าทันจิตตนเองไป เดี๋ยวจิตจะมีกำลังตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา แล้วขันธ์จะแยก แล้วถัดจากนั้นจะเห็น สติระลึกรู้กายก็เห็นไตรลักษณ์ของกาย ระลึกรู้เวทนาก็เห็นไตรลักษณ์ของเวทนา ระลึกรู้จิตก็เห็นไตรลักษณ์ของจิต ระลึกรู้รูปธรรมนามธรรมกุศลอกุศลทั้งปวงก็เห็นแต่ไตรลักษณ์ เห็นได้ เรียกรู้ตามความจริง จะละตัณหาไป ใจก็เข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นเป็นลำดับๆ ไป นี่หลวงพ่อเทศน์ให้ฟังแบบไม่ออมแล้ว เทศน์ ฟังแล้วก็เอาไปภาวนาเอา อย่ามัวแต่เถลไถล

คุณสมบัติที่ดีของผู้ภาวนา มักน้อย อย่ามักมาก มีเมีย 1 ไม่ใช่มีเมีย 2 นี่มักมาก มักน้อย

สันโดษ ยินดีพอใจในสิ่งที่มีที่เป็น อย่างเราทำงานเต็มที่แล้ว เราได้ผลประโยชน์ตอบแทนเท่านี้ ก็โอเค มันเต็มที่แล้ว เต็มฝีมือแล้ว ไม่กลุ้มใจแล้ว อย่างนี้สันโดษ

ฝักใฝ่ในความวิเวก รู้จักปลีกตัว ปลีกตัวทางร่างกาย ยุ่งกับคนอื่นเท่าที่จำเป็น ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ไปยุ่งด้วย ถ้าเป็นพระท่านจะสอนบอกให้อยู่ในที่นั่งที่นอนอันสงัด ถ้าเป็นโยมอยู่บ้าน บ้านก็ติดๆ กัน ไม่สงัด บ้านนั้นมีเสียง บ้านนี้มีเสียง ก็ฝึกจิตให้สงัด อย่าไปสนใจของข้างนอกเยอะนัก มีสติระลึกรู้จิตใจของตัวเอง เราก็จะสามารถวิเวกอยู่ท่ามกลางการวิวาทของคนอื่นได้

มักน้อย สันโดษ รู้จักวิเวก การรู้จักหลีกตัวออกมาสู่ความสงบสงัด

เงื่อนไขข้อที่ 4 ไม่คลุกคลี ถ้าคลุกคลีไปไม่รอดหรอก อย่างหลวงพ่อเห็นคนชอบเดี๋ยวทอดกฐินเดี๋ยวทอดผ้าป่าอะไร โอ้ย คลุกคลีวุ่นวายเฮฮา จะได้บุญสักเท่าไรเชียว ได้บุญนิดหนึ่ง ไปแล้วหลงตลอดทางเลย อย่างนั้นจะไม่ได้บุญเท่าไรหรอก ไปรถคว่ำตายเสียก็เยอะ ฉะนั้นอย่าคลุกคลี ถ้าอยากพ้นทุกข์ ให้เวลาเรียนรู้ตัวเองมากๆ

ข้อที่ 5 ปรารภความเพียร เตือนตัวเองทุกวัน ชีวิตเรานี้สั้น รีบภาวนา รีบตักตวง สิ่งที่สำคัญสูงสุดก็คือความเข้าใจชีวิตเข้าใจโลก ความเข้าใจชีวิตเข้าใจโลกตามความเป็นจริงนั่นล่ะ ทำให้เราวาง มันคือทุกข์ คือเห็นทุกข์ เรียนรู้กายเรียนรู้ใจให้เยอะๆ จะวางได้

5 ข้อนี้ ถ้าเรามี เราจะพัฒนาได้เร็ว ถ้าเราไม่มี ก็งมไปก่อน งมไปเรื่อยๆ มักน้อยไหมหรือมักมาก อยากไม่มีที่สิ้นสุด สันโดษไหม ยินดีพอใจในสิ่งที่มีสิ่งที่เป็น แต่ไม่ใช่เป็นโจรอยู่ก็ยินดีพอใจ อย่างนั้นไม่ใช่นะ หมายถึงในสิ่งที่ดีๆ เราทำเต็มที่แล้วเราได้ขนาดนี้ เราทำงานเต็มที่แล้วล่ะ กะว่าจะกำไร 100 ล้าน แล้วมันกำไรล้านเดียว พอใจแล้วล้านเดียวก็ยังดี หรือปีนี้ขาดทุน ขาดทุนก็ยังดี ยังมีข้าวกิน ปีนี้แย่มากเลย ข้าวก็ไม่มีจะกิน ยังดีมีมาม่ากิน เห็นไหม อย่างนี้รู้จักยินดีพอใจในสิ่งที่มีที่เป็น ใจจะไม่เร่าร้อน

มักน้อย สันโดษ ฝักใฝ่ในความวิเวก รู้จักปลีกตัว วิเวกนี่คือการปลีกออก หลีกออก ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร สอนตัวเองไป เตือนตัวเองไป ชีวิตเราสั้นนะ ต้องหาสิ่งที่สูงสุดคือธรรมะให้ได้ ถัดจากนั้นก็ตั้งใจรักษาศีล

ข้อที่ 6 มีศีล พัฒนาจิตให้ตั้งมั่นคือสมาธิ เจริญปัญญา แยกธาตุแยกขันธ์ แล้วเห็นไตรลักษณ์ของแต่ละธาตุแต่ละขันธ์ สุดท้ายก็จะเกิดมรรคผลวิมุตติเป็นตัวที่ 9

ตัวที่ 10 เรียกวิมุตติญาณทัสสนะ นี่องค์ธรรม 10 ข้อ ที่เวลาเราภาวนามันจะเดิน ถ้ามี 5 ข้อแรก จะเข้า 5 ข้อหลังได้ ถ้าไม่มี 5 ข้อแรก 5 ข้อหลังไปไม่รอดหรอก ฉะนั้นไม่ใช่เรื่องเล็กๆ หลวงพ่อถึงพร่ำบอกพวกเรา กิจกรรมอะไรที่ไม่จำเป็น งดเสียเถอะ กระทั่งกิจกรรมบุญ กิจกรรมบุญเป็นอุบายเอาไว้ดึงคนที่อินทรีย์อ่อนให้หันเข้ามาหาพระศาสนา วันหนึ่งอินทรีย์แก่กล้าขึ้น เขาก็จะมาเดินในเส้นทางที่หลวงพ่อบอกนี่ล่ะ แต่ถ้าเราควรจะอินทรีย์แก่กล้า แล้วเรายังพากันเดินในเส้นทางที่เป็นอุบายหลอกล่อพวกที่อินทรีย์อ่อน ให้รู้จักทำบุญทำทาน ให้รู้จักเสียสละ เป็นการฝึกเสียสละขั้นต้น ส่วนสิ่งที่หลวงพ่อบอกนี่เป็นเสียสละระดับบนแล้ว เสียสละความเห็นผิด ตัวสำคัญเลย กล้าล้างความเห็นผิด กล้าล้างความยึดถือ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

ฉะนั้นสิ่งที่สอนมาเอาไปทำนะ ต้องช่วยตัวเอง ครูบาอาจารย์ทำได้แค่บอกทางให้ พวกเรามีหน้าที่เดินทาง รีบเดินทางนะ ก่อนที่ร่องรอยของธรรมะนี้หายไป

 

 

อ่านกิเลสตัวเองให้ออก เราทุกคนมีกิเลสทั้งนั้นล่ะ กิเลส คนทั่วๆ ไปก็นึกว่าเป็นศัตรู ที่จริงกิเลสก็เป็นครูของเราได้ ราคะเกิดเรารู้ ราคะก็ดับให้ดู โทสะเกิดเรารู้ โทสะก็ดับให้ดู โมหะหลงไป ฟุ้งซ่านไป เรารู้ ความหลงความฟุ้งซ่านก็ดับไป ความลังเลสงสัยเกิดขึ้นเรารู้ ไม่ต้องหาคำตอบ นักปฏิบัติมาตายตรงความสงสัยนี่ พอสงสัยจะเที่ยวหาคำตอบ ตรงนั้นพลาดแล้ว ความสงสัยเกิดรู้ว่าสงสัยไป มันก็คือสภาวะอันหนึ่งเหมือนสภาวะอย่างอื่นนั่นล่ะ ให้คอยรู้เท่าทันกิเลสของเราเองไป ต่อไปเราก็จะรู้เลยที่เราทำอะไรต่ออะไรอยู่นี่ บางทีทำไปเพราะกิเลสบงการ เราคิดว่าเป็นกุศล แต่สิ่งที่ซ้อนเร้นอยู่เป็นกิเลส อย่างบางคนเป็นหัวหน้าไปทอดผ้าป่าทอดกฐินอะไรอย่างนี้ คิดว่าได้บุญใหญ่ ลึกๆ ลงไปรู้สึกเท่มากเลย ได้เป็นหัวหน้าไปทอดกฐิน อย่างนี้ไม่ฉลาดในจิตของตน ฉลาดอะไรก็ไม่สำคัญเหมือนฉลาดในจิตของตน จะได้ไม่แพ้กิเลส

ฉะนั้นเฝ้ารู้ เฝ้าดู เฝ้าสังเกต ทุกวันรักษาศีล 5 ทำในรูปแบบ สังเกตจิตใจของตัวเองไป แล้วการภาวนาจะไปได้เร็ว โดยเฉพาะถ้าไม่ไปทำผิดเงื่อนไข 5 ข้อแรกนั้น

มักน้อย สันโดษ ฝักใฝ่ในความวิเวก รู้จักปลีกตัวออกมา ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร เล่นเน็ตนี่คลุกคลี ไม่วิเวก เราบอกไม่ได้ยุ่งกับใครอยู่ในห้องคนเดียว แต่ใจนี้เที่ยวรอบโลก อันนั้นฟุ้งซ่านแล้ว คิดถึงความตาย ชีวิตเราสั้น ฉะนั้นเราจะต้องได้สิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตเรา เงินทองหรือ เงินทองพอตายก็ต้องยกให้คนอื่น ชื่อเสียงเดี๋ยวคนเขาก็ลืม ครอบครัวเราเดี๋ยวก็ไปเป็นครอบครัวคนอื่น มีลูก ลูกอยู่ในครอบครัวเรา วันหนึ่งก็ไปมีครอบครัวของมัน ไม่ได้อยู่ในครอบครัวเรา ทุกอย่างในโลกไม่ไช่ของควรค่าที่จะยึดถือเลย เตือนตัวเอง ชีวิตนี้สักนัก ต้องแสวงหาสิ่งที่เป็นสาระแก่นสารที่แท้จริงให้ชีวิตเราให้ได้ คือธรรมะ เชิญกลับบ้าน เห็นไหม เชิญกลับบ้าน ไม่ได้เชิญให้ไปปิกนิก

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
16 กรกฎาคม 2566