ปฏิจจสมุปบาท

ชีวิตคนมันไม่ยาวนานนัก อย่าเสียเวลาจมอยู่กับความทุกข์ พยายามฝึกตัวเอง ความทุกข์ทั้งหลายมันมาจากกิเลส ถ้าเราคอยสังเกตจิตใจตัวเองให้ดี กิเลสที่อยู่เบื้องหลังความคิดของเรา มันทำงานไม่ได้ กิเลสมันทำงานไม่ได้ ใจมันก็ผ่องใส ตัวที่เป็นศัตรู นำความทุกข์มาสู่ใจเรา ไม่มีคนอื่นไม่มีสิ่งอื่นหรอก คือตัวกิเลสนั่นล่ะ เราคอยดูแลจิตใจของเรา

มีครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง หลวงพ่อเคยได้ประโยชน์จากท่าน ไม่ใช่สายวัดป่า คือหลวงพ่อเกษม เขมโก ท่านสอนสั้นนิดเดียว ท่านบอกว่า “การเห็นเป็นเหตุแห่งความคิด ความคิดเป็นเหตุแห่งความเห็น คิดดีก็เป็นทางเย็น คิดไม่เป็นจะเย็นสบาย” เคยเข้าไปกราบท่านครั้งหนึ่ง ไปราชการที่ลำปาง ตอนค่ำๆ ก็เข้าไปสุสานไตรลักษณ์ ได้ยินว่าท่านเป็นพระกรรมฐาน ก็เข้าไปที่วัด โอ้ คนเต็มวัดเลย ไม่ใช่วัด เป็นสุสาน เข้าไปถึงกลางคืน คนยังเยอะแยะไปหมด ก็เข้าไป เราก็ เอ๊ะ เราจะเจอท่านได้อย่างไร ประเดี๋ยวเดียวลูกศิษย์ท่านก็เดินมาบอกว่า “วันนี้เป็นวันพระ ท่านตั้งสัจจะไม่รับแขก” คือวันพระงดรับแขก หลวงพ่อก็บอก “ไม่เป็นไร เดี๋ยวขอภาวนา นั่งภาวนา หายเหนื่อยแล้วก็จะกลับ”

นั่งภาวนาไปก็นึก นึกถึงท่าน สักพักใหญ่ๆ ลูกศิษย์ท่านก็มาเรียกให้ไปพบท่าน เขาก็สั่งว่าให้ไปนั่งที่ระเบียงกุฏิ ท่านจะอยู่ในห้องแล้วเปิดประตู หลวงพ่ออย่าเข้าไปในห้องท่าน แล้วท่านก็จะไม่ออกมาจากห้อง คุยกันอยู่ตรงประตูนี่ล่ะ แล้วท่านจะได้ไม่เสียสัจจะ ก็เข้าไปคนเดียว ไปนั่ง ท่านก็คว้าไมค์มา ท่านก็เทศน์ ก.เอ๋ย ก.ไก่ ข.ไข่อยู่ในเล้า แล้วก็ท่องกลอนบทนั้นบทนี้ เราฟังเราก็กลุ้มใจ เอ๊ะ นึกในใจบอกท่าน รู้ว่าท่านรู้ บอก “หลวงพ่อเทศน์แบบนี้ให้ผมฟังไม่เป็นไร อย่าไปเทศน์ให้คนต่างชาติ ต่างศาสนาเขาฟังแบบนี้ เดี๋ยวศาสนาพุทธจะเสียหาย” มีการไปบอกท่านอย่างนี้อีก ซ่าน่าดูเลย

แล้วท่านก็ท่องอะไรของท่านไปสักพัก แล้วก็ยิ้มๆ ท่านก็บอก “การเห็นเป็นเหตุให้เกิดความคิด ความคิดเป็นเหตุให้เกิดความเห็น คิดดีก็เป็นทางเย็น คิดไม่เป็นจะเย็นสบาย” ท่านว่าอย่างนี้ 4 ประโยค พอฟังนี้หลวงพ่อรู้เรื่อง ฟังแล้วรู้เรื่อง คนทั่วไปก็นึกว่าเป็นกลอนอะไรสักบทหนึ่งเหมือนกัน เพราะท่านท่องมาตั้งนาน “การเห็นเป็นเหตุของการคิด” หมายถึงอะไร การเห็นตัวนี้ ก็คือการที่เรากระทบผัสสะ กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบเข้ามาสู่จิตใจเรา จิตใจเราก็เกิดความคิดนึกปรุงแต่งขึ้น

การเห็นเป็นเหตุให้เกิดความคิด แล้วความคิดก็เป็นเหตุให้เกิดความเห็นขึ้นมา เราคิดนึกปรุงแต่งไป ถ้าเราไม่มีสติกำกับอยู่ ความเห็นของเรามันก็เป็นความเห็นผิด ถ้าหากจิตใจมันคิดนึกอยู่ เรามีสติรู้เท่าทันอยู่ ความเห็นที่เกิดขึ้นก็เป็นความเห็นถูก ท่านพูดสั้นๆ แต่เราเข้าใจว่า ท่านต้องการสื่ออะไร “คิดดีก็เป็นทางเย็น” อะไรที่เป็นทางเย็น ทางของบุญ ถ้าเราคิดในสิ่งที่ดี จิตใจเราเป็นบุญเป็นกุศล จิตใจมันร่มเย็น แล้ว “คิดไม่เป็นจะเย็นสบาย” คิดไม่เป็นก็คือ ไม่คิดปรุงแต่ง ไม่ปรุงแต่งตัวตนอะไรขึ้นมา คิดแล้วไม่เป็นอะไร คิดแล้วไม่เป็นตัวเป็นตน “จะเย็นสบาย” เย็นสบายตัวนี้คือความดับ  คือพระนิพพาน

ท่านสอน 4 ประโยค ครอบคลุมการปฏิบัติตั้งแต่ผัสสะ จนกระทั่งเกิดความทุกข์ขึ้น แล้วก็สอนจนถึงความดับสนิทของทุกข์ ครูบาอาจารย์รุ่นเก่าบางทีสอนอะไรสอนสั้นๆ ไม่สอนยาว คนไหนอินทรีย์แก่กล้า ฟังรู้เรื่อง คนไหนยังไม่รู้เรื่อง ท่านก็ปล่อยไปก่อน ให้เขาสะสมบุญบารมี สะสมพละให้เข้มแข็ง กำลัง ไม่ใช่คนทุกคนได้ฟังธรรมะแล้วจะเข้าใจธรรมะในชีวิตนี้ ไม่แน่ บางคนสะสมมาน้อย ยังไม่พอ ฟังธรรมะแล้วมันก็ยังไม่ปิ๊งขึ้นมา ไม่เข้าใจ ถ้าคนที่อินทรีย์แก่กล้าขึ้น ฟังแล้วก็เข้าใจ

“คิดดีเป็นทางเย็น” เป็นทางของความสุข บุญเป็นชื่อของความสุข ถ้าคิดไม่เป็น เห็นไหมท่านย้ำอยู่ตรงคำว่า “คิด” “คิดไม่เป็น” คิดแล้วไม่เป็นตัวเป็นตน ไม่คิดนึกปรุงแต่งเตลิดเปิดเปิง ผิดทำนองคลองธรรมไป ก็จะเป็นทางไปสู่พระนิพพานได้ เพราะฉะนั้นเรื่องของการคิดเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าเรารู้หลักของการปฏิบัติ ว่าเราจะต้องรู้ทุกข์ คือรู้รูปนามกายใจ ถ้าเราเห็นรูปนามกายใจตามความเป็นจริงแล้ว มันก็เป็นอันละสมุทัย ความอยากไม่เกิด อันนี้เป็นตัวสัมมาทิฏฐิเบื้องต้น

เราต้องทำความเข้าใจตรงนี้ก่อน ว่าสิ่งที่เรียกว่าทุกข์ ก็คือรูปนาม คือกาย คือใจ หน้าที่ต่อทุกข์คือรู้ ถ้าเรารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยก็เป็นอันถูกละอัตโนมัติ สมุทัยถูกละ นิโรธคือนิพพานก็ปรากฎขึ้นต่อหน้าต่อตาอัตโนมัติ นิพพานไม่ได้เกิดขึ้น นิพพานแค่ปรากฎขึ้นให้เราเข้าใจเรารับรู้ กิจต่อทุกข์คือการรู้ กิจต่อสมุทัยคือการละ กิจต่อนิโรธคือการทำให้แจ้ง เรียกสัจฉิกิริยา แล้วแจ้งพระนิพพาน ไม่ใช่ทำพระนิพพานให้เกิด แล้วจะทำให้แจ้งพระนิพพานได้ ก็ต้องเจริญมรรค มรรคมีองค์ 8 ย่อลงมาก็คือศีล สมาธิ ปัญญา การรู้ตรงนี้เรียกว่าสัมมาทิฏฐิในเบื้องต้น

 

กระบวนการของปฏิจจสมุปบาท

เราสังเกตไป ทำไมตัณหามันเกิดได้ มันมีผัสสะเกิดขึ้น พอมีผัสสะเกิดขึ้น มันก็มีความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ รู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์เกิดขึ้น ถัดจากนั้นจิตมันก็ปรุงแต่ง คิดนึกปรุงแต่งต่อ ถ้าเวลามีความสุขเกิดขึ้น ราคะแทรก จิตก็ปรุงแต่งไปด้วยอำนาจของราคะ มีผัสสะเกิดทุกขเวทนาขึ้น จิตก็ปรุงแต่งไปด้วยอำนาจของโทสะ เวลามีอุเบกขาเวทนา ไม่ชัดเจนว่าสุขหรือทุกข์เกิดขึ้น ก็มักจะมีโมหะเกิดขึ้น มีโมหะแทรกเข้ามา

เราจะคิดอะไรเรื่อยเปื่อย ไม่มีเหตุ ไม่มีผลอะไร คิดไปตามใจกิเลส คิดไปตามความเคยชิน พอเราคิดนึกปรุงแต่ง ตรงที่จิตมันคิดนึกปรุงแต่งขึ้นมา เรียกว่าจิตมันสร้างภพ ตัณหา ความอยาก เวทนาเป็นปัจจัยของตัณหา ตัณหาก็ทำให้จิตสร้างภพ ตัณหาอย่างรุนแรงก็เรียกอุปาทาน ก็เป็นผล ตัณหา อุปาทานมันก็อันเดียวกัน อุปาทานมันเป็นตัณหาที่มีกำลังรุนแรง ก็ผลักดันให้จิตเราสร้างภพขึ้นมา คิดนึกปรุงแต่งนั่นล่ะ

ถ้าเราไม่เคยฝึกตัวเอง จิตมันก็คิดนึกปรุงแต่งไปตามอำนาจกิเลส เสียใจ เศร้าใจ โกรธ โลภ หลงอะไรขึ้นมา มันก็คิดไป ปรุงแต่งไปตามอำนาจของกิเลส เมื่อจิตมันดิ้นรน มันปรุงแต่ง จิตมันก็เกิดการหยิบฉวย ยึดถือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา เป็นตัวกูของกู พอไปหยิบฉวยเอาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา มันก็เท่ากับจิตนั้นไปหยิบฉวยตัวทุกข์ขึ้นมา เพราะตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันคืออะไร มันก็คือรูปธรรมนามธรรมนั่นเอง

ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นตัวรูปธรรม ใจเป็นตัวนามธรรม การที่จิตเราโง่ ไปหยิบฉวยรูปธรรมนามธรรมขึ้นมา ตัวนี้เรียกว่าชาติ การที่จิตไปหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูปธรรม นามธรรม เรียกว่าชาติ ทันทีที่เกิดการหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขึ้นมา ทุกข์ก็เกิดขึ้นทันที เรียกว่าชาติเป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ ฉะนั้นเราสังเกตให้ดี ตรงที่มีผัสสะ มีการกระทบอารมณ์ เราเลือกไม่ได้ การกระทบอารมณ์เลือกไม่ได้ เป็นวิบาก ไม่ใช่ดี ไม่ได้ชั่ว กระทบอารมณ์แล้วเกิดเวทนา จะเกิดสุข หรือทุกข์ หรือเฉยๆ เราก็เลือกไม่ได้

แต่ตรงที่เกิดเวทนา แล้วก็ปรุงแต่งเป็นกิเลสขึ้นมาตรงนั้น ถ้าเรามีสติว่องไว เราจะเห็นจิตเกิดความอยากขึ้นมาแล้ว เราก็รู้ทัน กระบวนการสร้างความทุกข์ก็ดับ ต่อไปไม่ได้ ถ้าจิตเกิดความอยาก เราไม่เห็น เราก็จะ จิตมันจะเดินขั้นต่อไป มันก็อยากแรงขึ้นๆ แล้วมันก็ผลักดันให้จิตนั้นคิดนึกปรุงแต่งไป เรียกว่าสร้างภพขึ้นมา ตัวภพเป็นการกระทำกรรมของจิต ตัวตัณหาอุปาทานเป็นตัวกิเลส กิเลสนั้นผลักดันให้เกิดการกระทำกรรม คือความคิดนึกปรุงแต่ง กรรมนั้นเป็นเหตุให้เกิดวิบาก ก็คือตัวทุกข์

ถ้าสติเราเร็ว พอมีผัสสะ มีเวทนา เราก็มองเห็นกิเลสที่แทรกตามเวทนาได้ กระบวนการของปฏิจจสมุปบาทก็ขาด เวลาตัด ตัดตรงที่กิเลส ตัดที่ตัวกิเลส ในปฏิจจสมุปบาทนั้นจะมีสภาวธรรม 3 ลักษณะ อันแรกเป็นส่วนของกิเลส ต่อมาเป็นส่วนของกรรม คือพฤติกรรมของจิตนั่นล่ะ อีกส่วนหนึ่งก็เป็นตัววิบาก เป็นผล มีกิเลส มีกรรม มีวิบาก ในปฏิจจสมุปบาทนั้น ก็คือวนเวียนอยู่ในเรื่องเหล่านี้ ลึกที่สุดอะไรเป็นกิเลส อวิชชาเป็นกิเลส อวิชชาเป็นหัวโจก เป็นหัวหน้าของกิเลส คือความไม่รู้แจ้งอริยสัจเป็นหัวโจก แล้วอวิชชาก็ทำให้ผลักดัน มันเป็นกิเลส ก็ผลักดันให้เกิดการกระทำกรรม การกระทำกรรมตัวนี้เรียกว่าสังขาร

“อวิชชา ปัจจยา สังขารา” อวิชชาเป็นปัจจัยของสังขาร สังขารเป็นการกระทำกรรมของจิตแล้ว เพราะมีสังขารก็เกิดวิบาก มีการกระทำกรรมแล้วก็เกิดวิบาก อะไรบ้างที่เป็นวิบาก ตัวจิต ตัววิญญาณ ที่หยั่งลงสู่ความรับรู้อารมณ์เป็นวิบาก ตัวอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นวิบาก ตัวผัสสะ การกระทบอารมณ์เป็นวิบาก เราเลือกไม่ได้ว่าจะกระทบอารมณ์ดี หรืออารมณ์ไม่ดี ถ้าอกุศลวิบากให้ผลมา เรากระทบอารมณ์ไม่ดี กุศลวิบากให้ผลมา เราก็กระทบอารมณ์ดี มันเป็นวิบาก ผัสสะเป็นวิบาก ถัดจากนั้นก็เกิดเวทนาขึ้นอัตโนมัติ เวทนาก็เป็นวิบาก

ฉะนั้นเราปฏิบัติธรรม เราอยากมีความสุข อันนี้ผิดแล้ว ความสุขเป็นวิบาก เราต้องไปทำเหตุของความสุข คือทำบุญทำกุศลไป แล้วจิตก็มีความสุขขึ้นมา พอมีตัววิญญาณ ตัวรูปธรรมนามธรรม ตัวตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตัวความรู้สึกสุขทุกข์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉยๆ ทางใจ เรียกตัวเวทนา พวกนี้เป็นวิบากทั้งนั้น แล้วมันผลักดันให้จิตเราทำงานขึ้นมา ก็ปรุงกิเลสขึ้นมา ก็ปรุงตัณหาขึ้นมา ตัณหามันก็เป็นราคะที่มีกำลังแรง

อย่างเรากระทบอารมณ์ที่ถูกใจ เราพอใจ ทีแรกพอใจเล็กๆ ยังไม่ได้อยาก พอใจเฉยๆ นี้ความพอใจเข้มข้นขึ้น แก่กล้าขึ้น มันก็เกิดความอยาก อยากได้มา อยากรักษาไว้ ทีแรกอยากเฉยๆ พอใจเฉยๆ ตัวกิเลสพอมันมีกำลังแรงขึ้น ราคะมีกำลังแรงขึ้น ก็ผลักดันแปรสภาพ จากราคะธรรมดามาเป็นตัณหา พอตัณหารุนแรงขึ้นมาอีกก็เป็นอุปาทาน ตัวตัณหา ตัวอุปาทาน เป็นกิเลสอีกแล้ว เป็นอีกรอบหนึ่งแล้ว ทีแรกอวิชชาเป็นกิเลส แล้วก็สังขารเป็นกรรม วิญญาณ อายตนะ นามรูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา อันนี้เป็นวิบาก วิบากนั้นก็ผลักดันให้กิเลสทำงานขึ้นมา

วัฏสงสารมันเกิดอย่างนี้ ผลักดันให้จิตเราเกิดความอยากขึ้นมา พอความอยากรุนแรงก็กลายเป็นความยึดถือ ความยึดถือรุนแรงก็หยิบฉวยเอาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมากอดเอาไว้ ตัวตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้นคือตัวทุกข์ คือตัวขันธ์ 5 อายตนะ 6 อินทรีย์ 22 อันนี้ไม่ต้องจำก็ได้ เยอะ เพราะว่าขันธ์ 5 อายตนะ 6 อันนี้เราคุ้นๆ พวกนี้คือส่วนใหญ่ก็คือตัวทุกข์ พอเราไปหยิบตัวทุกข์ขึ้นมา จิตไปยึดตัวทุกข์ขึ้นมา จิตมันก็เลยพลอยทุกข์ไปด้วย

จิตโดยตัวของมันไม่สุขไม่ทุกข์อะไรหรอก มันเป็นความรับรู้อารมณ์ พอมันไปหยิบสิ่งที่ไม่ดีไม่งามขึ้นมา มันก็เลยพลอยทุกข์ไปด้วย เวลามันยึดกาย จิตมันก็ทุกข์เพราะกาย มันยึดจิต มันก็ทุกข์เพราะจิต มันยึดเวทนา ยึดสัญญา สังขาร มันก็ทุกข์เพราะเวทนา สัญญา สังขาร มันทุกข์ได้เพราะมันยึด ถ้าไม่ยึดมันก็ไม่ทุกข์หรอก ถ้าพวกเราหัดภาวนา เราคอยรู้เท่าทันจิตใจตนเองเนืองๆ พอมันกระทบอารมณ์แล้ว มันจะผลักดัน เกิดกระบวนการผลักดัน ให้จิตมันคิดนึกปรุงแต่ง ให้เรารู้ทันเลย อะไรอยู่เบื้องหลังความคิดนึกปรุงแต่งอันนี้ หรือภพอันนี้ ความคิดนึกปรุงแต่งนั่นล่ะคือตัวภพ

 

วิธีที่จะไม่ถูกกิเลสครอบงำคือรู้ทัน

อะไรอยู่เบื้องหลังกุศลหรืออกุศล ถ้าเป็นอกุศลนั้นโลภ หรือโกรธ หรือหลง ที่อยู่เบื้องหลังความปรุงแต่ง ถ้าเป็นความปรุงแต่งฝ่ายดีแล้วเราไม่รู้ ก็ถือว่ายังล้มเหลวในการปฏิบัติ ใจเรา สมมติเราเห็นคนยากคนจน เราสงสาร จิตมันปรุงความเมตตากรุณาขึ้นมา แล้วเราก็ถูกความเมตตากรุณาครอบงำ เรารู้ไม่ทันว่าจิตถูกกุศลครอบงำไปแล้ว อันนี้ก็ยังเวียนว่ายตายเกิดไม่เลิกหรอก แต่ก็เกิดในภพภูมิที่ดี แต่ถ้าถูกอกุศลครอบงำก็จะไปอบาย จิตใจมันก็จะตกต่ำ

ฉะนั้นเวลาเราภาวนา เราจะภาวนาแบบสั้นๆ ไม่วุ่นวายมาก เวลาที่ใจเราคิดนึกปรุงแต่งอะไรขึ้นมา สังเกตไป มันคิดอันนี้เพราะกุศลหรืออกุศล มันคิดนี้เพราะโลภ เพราะโกรธ หรือเพราะหลง อย่างเรายึดถือในความคิดความเห็นของตัวเอง คนอื่นเขาก็มีระบบเหตุผลของเขา ซึ่งต่างกับเรา เราคิดแล้วเรา เอ๊ะ มีความต่าง เราก็ไม่พอใจ เราก็มีความทุกข์ขึ้นมา หรือเราเห็นเขาคิดเหมือนเรา เห็นไหม โอ้ เราชอบ นี่พวกเดียวกัน เราก็ไม่เห็นว่าราคะมันแทรกแล้ว

ไปดูตอนดูข่าว ดูข่าว ข่าวเดี๋ยวนี้ทุกคนเขียนข่าวได้ด้วยตัวเอง จริงบ้างโกหกบ้าง เวลามีใครเขียนอะไรขึ้นมา ก็จะมีคนไปออกความเห็น เห็นสนับสนุนบ้างคัดค้านบ้าง พอเขาเห็นสนับสนุน เขาคิดเหมือนที่เราคิด เราก็ยินดีพอใจ เรียกพวกเดียวกัน ชอบคนนี้ พอเขาคิดไม่เหมือนเรา วิธีคิดต่างกัน ข้อสรุปต่างกัน โทสะเราก็เกิด เราก็สังเกตเอาว่าเราคิดต่อคนๆ นี้ เพราะอำนาจของราคะ หรือเพราะโทสะ หรือเพราะโมหะ ไม่รู้เหตุรู้ผล ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี

สังเกตไปเรื่อยๆ อะไรอยู่เบื้องหลังความคิดของตัวเอง ถ้ารู้ทันตัวนี้ปฏิจจสมุปบาทก็จะขาดสะบั้นลง ยังไม่ทันปรุงทุกข์ขึ้นมาหรอก เพราะตอนที่มันคิดตามอำนาจกิเลสนั้น ยังไม่ถึงวิบาก ยังไม่ทันจะทุกข์ แต่ถ้าการคิดของเรา มันคิดด้วย เบื้องหลังมันเป็นกุศล อันนี้ที่หลวงพ่อเกษมท่านบอก “คิดดีก็ใจเย็น คิดดีก็เป็นทางเย็น” ทางเย็น คือทางของกุศล ทางของบุญ ฉะนั้นเราคอยรู้เท่าทันใจที่คิด อะไรอยู่เบื้องหลังความคิด ถ้ากุศลอยู่เบื้องหลังความคิด ก็ให้รู้ ถ้าไม่รู้ก็คือหลง ดีแต่ดีไม่ตลอด ตัวที่ผลักดันให้คิดนั้นเป็นตัวดี แต่เสร็จแล้วถูกตัวดีนั้นครอบงำจิตเข้าไปอีกทีหนึ่ง อันนี้เรียกว่าดีไม่ตลอดรอดฝั่ง

เพราะฉะนั้นรู้ทันจิตตนเอง มันคิดอันนี้ด้วยกุศลก็รู้ทัน หรือมันคิดด้วยอกุศลก็รู้ทัน อย่างมันคิดด้วยราคะ เวลาราคะมันเกิด มันอยากเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ อันนี้ของเรา อันนี้คนนี้ของเรา อันนี้คิดด้วยราคะ ถ้าคิดด้วยโทสะ ก็คิดในทางผลักดันทำลายล้าง คิดด้วยโมหะ คิดแบบไม่มีเหตุไม่มีผล ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ ที่หลวงพ่อชอบยกให้ฟัง ก็คืออย่างตอนหมูป่าติดถ้ำ 13 คน ก็มีนักการศาสนาบางคนบอกว่าไม่ต้องไปช่วย ไปช่วยทำไม เขากำลังรับอกุศลวิบากของเขา ต้องปล่อยให้เขารับ อันนี้เบียดเบียน เที่ยวพูดๆ บอกไม่ต้องไปช่วย ไม่ต้องไปช่วย ถ้าคนอื่นเขาเชื่อ พวกนี้ก็ตายหมด

มันไม่ได้ตายเพราะอกุศลของตัวเองหรอก เพราะตัวเองถูกขังในถ้ำ ยังมีคุณงามความดีก็เลยมีคนเข้าไปช่วย เห็นไหมมันมีวิบากอื่น มันไม่ใช่ว่าไปติดถ้ำแล้วต้องชั่วอย่างเดียว วิบากที่ดีมันก็ยังมีก็ยังมีคนไปช่วย แต่ถ้าเราปลุกปั่น บอกอย่าไปช่วย ให้เขารับกรรมของเขาไป อย่างนั้นเขาตายเพราะปากของเรา นี่เราเบียดเบียนอย่างนี้เรียกว่าวิหิงสาวิตก คือเบียดเบียนโดยไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ตีความธรรมะเพี้ยนๆ แต่ไม่แปลก ปุถุชนตีความธรรมะเพี้ยนตลอดล่ะ เป็นเรื่องปกติ

 

 

เราคอยสังเกตตัวเรา เวลาที่มันคิดอะไรต่ออะไรขึ้นมา อะไรอยู่เบื้องหลังความคิดของเรา กุศลอยู่เบื้องหลังก็ต้องรู้ทัน แล้วก็อย่าให้กุศลมันครอบงำ อย่างบางคนอยากให้คนอื่นได้บุญ เที่ยวแจกซองผ้าป่า ซองกฐิน เบื้องต้นก็อยากให้เขาได้บุญ พอเขาไม่ทำก็โมโห โดนกิเลสหลอกแล้ว เศร้าหมองแล้ว เพราะอยากทำดีแต่เศร้าหมอง อันนี้ต้องรู้ทัน ถ้ารู้ไม่ทันก็แย่เลย ก็ตกอยู่ในความทุกข์ ตกในอบายได้ หรือเราจะทำชั่ว เราต้องรู้ทัน อันนี้ที่เรากลุ้มใจอยู่นี่ อะไรอยู่เบื้องหลัง เพราะความคิดอย่างนี้ ความคิดอย่างนี้อยู่เบื้องหลัง เราก็เลยกลุ้มใจ เราก็เลยมีความทุกข์ รู้ทัน

อะไรอยู่เบื้องหลังความคิดของเรา ไม่ว่ากุศลหรืออกุศล ก็ต้องรู้ทัน ไม่ใช่รู้ทันเฉพาะอกุศล กุศลก็ต้องรู้ กุศลที่รู้ไม่ทัน มันเป็นกุศลที่ไม่ดีงาม ไม่ถึงพร้อม ท่านบอกว่า “ให้ทำกุศลให้ถึงพร้อม” ไม่ใช่ทำกุศลครึ่งๆ กลางๆ แล้วตอนปลายกลายเป็นอกุศล ฉะนั้นทำกุศลให้ถึงพร้อมได้ อะไรเป็นตัวผลักดันให้คิดที่เป็นกุศล ให้พูดที่เป็นกุศล ให้ทำที่เป็นกุศล ต้องรู้ทัน ถ้ารู้ไม่ทันกุศลนี้ไม่ถึงพร้อมแล้ว ยิ่งอกุศลต้องรู้ บางทีเราคิดว่า เราคิดอย่างนี้เป็นเรื่องดี ช่วยเหลือเผื่อแผ่คนอื่น แต่พอคิดแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้น มันกระทบคนอื่น คนกลุ่มอื่นกระทบ

เมื่อก่อนในวัดหลวงพ่อก็มีพระองค์หนึ่ง สึกไปแล้ว เขารู้ว่าในวัดตอนนั้นไม่ค่อยมีน้ำ น้ำไม่มีรดต้นไม้ เขาก็บอกเวลาฝนตก ให้เราไปอุดท่อระบายน้ำ แล้วก็ไปตั้งเครื่องสูบน้ำจากท่อนั้น กลับเข้ามาในวัด ฟังแล้วฉลาดไหม คล้ายๆ รีไซเกิลน้ำ คิดอย่างนี้ ไม่ยากที่จะคิด ว่าทำอย่างนี้ดี ทำอย่างนี้ดี แต่ใครเป็นคนทำ ไปใช้พระอื่นหรือใช้คนงานไปตั้งเครื่องสูบน้ำ ฝนกำลังตกฟ้าผ่าเปรี้ยงๆ เกิดฟ้าผ่าตายขึ้นมาจะทำอย่างไร ไม่ได้คิดเลย ฉะนั้นบางทีการเสนอไอเดียที่ดีๆ ก็ต้องดูว่ามันสมจริงไหม ทำแล้วผลกระทบที่ตามมาเป็นอย่างไร

หลักอันนี้อย่าว่าแต่เรื่องของการปฏิบัติเลย ทางโลกก็จะใช้ได้ เวลาทำงานทางโลก เราก็ต้องประเมิน อย่างสมมติบริษัทเรา ทำกิจการอย่างนี้มานานแล้ว มีแนวโน้มที่จะเป็นขาลงแล้ว เราต้องทำกิจการอย่างอื่นเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนทิศทางของบริษัท ก็ต้องดูข้อมูลจำนวนมากในการวิเคราะห์ เราเคยผลิตรถยนต์ แล้วเราบอก ต่อไปรถยนต์ถ้าจะแย่แล้ว ไปทำยาขายดีกว่า สมมติอย่างนี้ เรามีแต่ช่างทำรถยนต์ เราไม่มีคนมีความรู้เรื่องทำยาอะไร

เราคิดอันนั้นเพ้อเจ้อ มองไม่ออกว่าเรามีทรัพยากรอะไร มีจุดเด่นอะไร มีจุดด้อยอะไร เราก็จะไปเคี่ยวเข็ญให้ช่างซ่อมรถยนต์ ไปเรียนเภสัชกรอะไรอย่างนี้ คงตายเลย ย่ำแย่ ก็จะได้เภสัชกรที่ไม่เก่ง เสียช่างซ่อมรถยนต์เก่งๆ ไป เพราะฉะนั้นเวลาเราคิด ถึงจะคิดดีแต่ก็ต้องมีเหตุมีผล ไม่ได้คิดเอาตามใจชอบ ถ้าคิดเอาตามใจชอบ บางทีองค์กรเสียหายได้ เราต้องดู หลักอันนี้ไม่เฉพาะเรื่องของศาสนา การใช้ชีวิตในโลกเราก็ต้องมีเหตุมีผลอย่างนั้น

เมื่อก่อนหลวงพ่อทำงานสภาความมั่นคงฯ งานจริงๆ งานเซ็ตนโยบายว่าจะมุ่งไปทางไหน อย่างเวลาบ้านเมืองมีปัญหาทางนี้ ถ้าคิดว่าบ้านเมืองมีปัญหาอย่างนี้ เราจะแก้อย่างไร อันนี้ยังแย่ ยังใช้ไม่ได้ ดีกว่านั้นก็คือมีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาอะไร ต้องคิดล่วงหน้าอย่างนี้ถึงจะใช้ได้ รอให้เกิดปัญหาแล้วมาคิดทางแก้ ถือว่าด้อยมาก ใช้ไม่ได้ หรือรอให้บริษัทเจ๊งก่อนแล้วค่อยหาทางแก้ อันนี้ใช้ไม่ได้ ต้องมองไกล มองเป็น มองแล้วก็ต้องดู เราจะเดินไปทางไหนดี อย่างระดับชาตินี้ เราควรจะมีทิศทางอย่างไร เราต้องดู เรามีพันธมิตรไหม เรามีคนที่จะทำงานไหม เรามีทรัพยากรอะไรบ้าง สิ่งเหล่านี้ต้องคิดทั้งหมดเลย

ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างเรื่องรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง บางชาติก็คิดง่ายๆ ไปกู้เงินเขามาเยอะแยะ เราก็คิดว่าบ้านเมืองจะเจริญ กลายเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจโดยไม่รู้ตัว เมืองไทยเก่งไม่ยอมไปกู้เงิน มาทำรถไฟความเร็วสูงอันนี้ เราค่อยๆ ทำของเราไป ไม่ทำอะไรเกินตัว รู้จักประเมินตัวเอง รู้จักประมาณตัวเอง ไม่ทำอะไรตามใจชอบ นี่ระดับบ้านเมือง บ้านเมืองเราก็อยู่ได้ ระดับบริษัทฯ ของเรา เราก็ไม่คิดตามใจชอบ ต้องดูว่าเราทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ บางอย่างเราทำได้ แต่ใครๆ ก็ทำได้ ก็ไม่มีประโยชน์เท่าไร ทุกคนทำได้เหมือนกันหมด เราขืนไปทำ ต้องไปลดราคาแข่งกัน แล้วก็เจ๊งไปด้วยกัน มันต้องดู เรามีจุดเด่นอะไรที่จะเป็นจุดขายของเรา เรามีทรัพยากรอะไรที่จะทำได้ อันไหนจะเป็นอุปสรรคปัญหา

คนทำงานจริงต้องมองข้ามช็อตไปเลยว่า ข้างหน้าในอนาคตข้างหน้า จะมีปัญหาอะไรรออยู่ ถ้าเราเดินแนวนี้แล้ว จะต้องมีผลกระทบอะไร มีปัญหาอะไร จะแก้ได้ไหม หรือปัญหาเล็กน้อย ถ้าปัญหาใหญ่ก็ต้องเปลี่ยนทางเดิน สมมติว่าเราเดินในป่า เรารู้ว่าเส้นทางนี้ ถ้าเดินไปเรื่อยๆ ต้องเจอเสือ เจอช้าง แล้วเจอเหวเจออะไรอย่างนี้ ก็ต้องเดินทางอื่น อ้อมหน่อยแต่ว่าปลอดภัย ประสบความสำเร็จ สิ่งเหล่านี้ต้องรู้จักคิด ต้องรู้จักคิด ต้องรู้จักพิจารณา ไม่ได้ทำตามอยาก

ลำพังคิดแล้วอยากโน้นอยากนี้ ใครๆ มันก็ทำได้ เหมือนคิดแบบเด็กๆ มันอยากกินขนม อยากได้มือถืออย่างนี้ พ่อแม่จนจะตายอยู่แล้ว อยากได้โน้นอยากได้นี้ ใครๆ มันก็อยากได้ แต่ว่ามันรู้จักประมาณไหม รู้จักคิดไหม ว่ามันทำได้จริงหรือเปล่าหัดรู้ทัน อะไรอยู่เบื้องหลังความคิดของเราต้องรู้ทัน หลักอันนี้ใช้ได้ทั้งทางโลกทางธรรม ถ้าในทางธรรมก็คือ เวลามันคิดไปด้วยอกุศล รู้ทัน มันก็ดับ เราก็ไม่คิดไปตามอกุศล เวลามันคิดในทางกุศล อันนี้จิตใจเราจะมีความสุข คิดไปทางบุญทางกุศล จิตใจเราจะมีความสุข แต่ถ้าความสุขแล้วเราก็เพลินอีก อันนี้อกุศลแทรกแล้ว

 

 

การทำกุศลนั้นต้องทำให้ถึงพร้อม ตั้งแต่เบื้องต้น เบื้องกลาง เบื้องปลาย เบื้องปลายก็คือปลายทาง ก็ต้องเป็นกุศลด้วย ไม่ใช่ตั้งต้นเป็นกุศล ตอนกลางอกุศลเอาไปกิน หรือตอนปลายอกุศลเอาไปกิน ทำไม่ถูก ไม่ถูกหลัก ยิ่งถ้ามันคิดด้วยอกุศล ต้องรีบรู้ทัน เพราะตัวนี้ล่ะนำมาความทุกข์มาให้เราเป็นคนที่ 1 นำความทุกข์ไปสู่คนใกล้ตัวเป็นระดับ 2 นำความทุกข์แผ่ออกไปในวงกว้างเป็นอันดับที่ 3 อย่างทุกวันนี้คนมีความคิดทางการเมืองใหม่ๆ เยอะแยะ อย่างนั้นน่าจะดี อย่างนี้น่าจะดี นโยบายต้องเป็นรัฐสวัสดิการ ให้ทุกสิ่งทุกอย่าง นี่คิดแบบเพ้อ มันทำได้ไหม ประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการแล้วล้มละลายมีไหม เยอะแยะเลย มันทำไม่ได้จริง

อย่างทุกวันนี้บางประเทศเห็นไหม ที่เคยให้สวัสดิการ คนเขาทำงานเสียภาษีสูง แล้วพอแก่มาถึงวันนี้ คนแก่เยอะ ก็จะต้องยืดอายุการเกษียณออกไป เพราะอะไร เพราะไม่มีเงินจะมาเลี้ยงคนแก่ เพราะฉะนั้นให้คนแก่ทำงานต่อไปอีก เพราะฉะนั้นเรื่องเวลาคิดอะไร ต้องมองให้ตลอดรอดฝั่ง คิดให้ไกล มองให้ไกล คนไหนมองได้เฉพาะหน้า อันนี้ก็เป็นระดับปฏิบัติการ เขาสั่งแล้วก็ทำ ส่วนคนที่มองได้ไกลข้ามช็อตไปได้ แต่ไม่ได้เพ้อฝัน อันนั้นถึงจะเป็นนักบริหารที่ดี หรือเป็นนักปฏิบัติธรรมที่ดี เพราะรู้เท่าทันสถานการณ์ รู้เท่าทันจิตใจตัวเอง รู้เท่าทันกิเลสตัวเอง

เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วธรรมะเอามาใช้กับโลกก็ได้ อยู่ที่เรารู้จักหยิบมาใช้ อย่างเรามีตัณหา เราอยากรวยเร็วๆ เราอยากทำกิจการอะไรดีที่รวยเร็ว เอาเงินไปฝากกลุ่มนี้ล่ะ อย่างเมื่อก่อนก็มีแชร์ชม้อย เดี๋ยวนี้ก็มีนายชะม้าย เอาเงินไปให้เขา ค่าตอบแทนเท่านั้นเท่านี้ มันเป็นไปไม่ได้ในทางเศรษฐศาสตร์ เป็นไปไม่ได้ ต้องมีเหตุมีผล แต่ถ้าเราถูกความโลภครอบงำ การวิเคราะห์ก็ผิดแล้ว การวิเคราะห์ก็ผิด เพราะฉะนั้นเราดูแลรักษาจิตใจเรา อย่าให้กิเลสมันครอบงำได้ ไม่ว่าความโลภ หรือความโกรธ หรือความหลง วิธีที่จะไม่ถูกกิเลสครอบงำคือรู้ทัน ตัวนี้เราคิดเพราะอะไร เพราะโลภ นี่คิดเพราะโกรธ นี่คิดเพราะหลง รู้ทันตัวนี้

ถ้าความคิดเราไม่ผิด ความคิดเราถูก คำพูดและการกระทำ การทำมาหากินของเราก็จะถูก แล้วตรงนั้นล่ะเรียกว่าสัมมาวายามะ มีความเพียรชอบ ความเพียรชอบไม่ใช่นั่งสมาธินานๆ เดินจงกรมนานๆ ไม่ใช่แค่นั้นหรอก ฉะนั้นนั่งสมาธิ นั่งมีเหตุผล ทำไมต้องนั่ง นั่งเพื่ออะไร ถ้าจิตใจฟุ้งซ่านก็นั่งเพื่อความสงบ ถ้าจิตใจสงบแล้วก็นั่งเพื่อให้จิตตั้งมั่น ถ้าจิตตั้งมั่นแล้ว เราก็นั่งดูความจริงของกายของใจ เจริญปัญญาไป

ฉะนั้นต้องรู้จักว่าตอนไหนควรทำอะไร ความรู้ที่ว่าตอนนี้ควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร ตัวนั้นคือสัมปชัญญะ รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ มีสติ มีสัมปชัญญะแล้ว ก็จะประสบความสำเร็จได้ง่าย แล้วมีความเพียรให้เยอะๆ ตรงที่เรามีสติถี่ๆ นั้นล่ะ คือการทำความเพียร ไม่ใช่นั่งสมาธิแต่ไม่มีสติ อันนั้นไม่ใช่ความเพียร อันนั้นพัฒนาโมหะ เพราะฉะนั้นไปศึกษาจิตใจตนเองให้ดี อะไรอยู่เบื้องหลังความคิด อะไรอยู่เบื้องหลังคำพูด อะไรอยู่เบื้องหลังการกระทำ แล้วทางโลกก็จะเจริญ ทางธรรมก็จะเจริญ

วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ ยากไปหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ไม่น่าจะยาก เพราะเทศน์แบบนี้มาหลายทีแล้ว ถ้าฟังแล้วฟังอีก เดี๋ยวก็รู้เรื่อง ฟังทีเดียวอาจจะไม่รู้เรื่อง ไม่แปลกหรอก ธรรมะมันไม่สามารถรู้ได้ด้วยการฟัง ถ้าอยากจะรู้เรื่อง ว่าหลวงพ่อพูดนี้หมายถึงอะไร ก็ไปหัดสังเกตจิตใจตัวเอง เราคิดเพราะโลภ เพราะโกรธ เพราะหลงหรือเปล่า หัดสังเกตเรื่อยๆ แล้วต่อไปจะเข้าใจสิ่งที่หลวงพ่อบอก และสุดท้ายเราจะเข้าใจอริยสัจ เข้าใจปฏิจจสมุปบาท

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
22 กรกฎาคม 2566