อย่าเป็นเด็กอ่อนตลอดกาล

การปฏิบัติธรรมต้องช่วยตัวเอง ครูบาอาจารย์ช่วยได้แค่บอกทางให้ พวกเราต้องเดินด้วยตัวเองให้ได้ อย่าทำตัวเป็นเด็กทารกแรกเกิดตลอดไป ไม่ได้ แรกๆ ก็อาจจะเหมือนเด็กทารก พ่อแม่ต้องประคบประหงมหน่อย พอโตได้ต้องโตด้วยตัวเองให้ได้ การปฏิบัติก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ช่วยเรา ตอนเรายังไม่รู้วิธีปฏิบัติ คล้ายๆ พ่อแม่สอนให้รู้จักยืน ให้รู้จักเดิน ส่วนจะยืนไหม จะเดินไหม จะวิ่งได้ไหม อยู่ที่ตัวเราเอง จะยืนหยัดอยู่ได้ไหม

อันนี้เรื่องสำคัญเลย หลวงพ่อเคยเห็นเยอะแยะเลย ตามวัดมีครูบาอาจารย์อยู่ ก็สดชื่น สดชื่นก็ไม่ได้ภาวนาเท่าไรหรอก มีความสุข วันๆ นึกถึงครูบาอาจารย์ มีความสุขกัน บางทีก็ยึดถือเป็นเจ้าข้าวเจ้าของครูบาอาจารย์ บางที่ก็มีการแบ่งสรรกัน คนนี้ช่วยดูแลครูบาอาจารย์ในเรื่องนี้ คนนี้เรื่องนี้ ห้ามก้าวก่ายกัน เดี๋ยวตีกัน บางที่ก็มีเจ้าพ่อเจ้าแม่ Absolute หนึ่งเดียว คนอื่นอยู่ในอำนาจหมด มีหลายแบบตามวัดต่างๆ มีทั้งระบบเจ้าแม่เจ้าพ่อคนเดียว ส่วนใหญ่เจ้าแม่ กับระบบพหุเจ้าแม่ มีเยอะ หลายคนอยู่ แบ่งงานกัน แบ่งพื้นที่กิจกรรม ห้ามก้าวก่าย ยังไม่มีใครชนะเด็ดขาดคนใดคนหนึ่ง

พวกนี้แต่ละคน ใหญ่มากเลย ใครเข้าไปในวัดแล้ว ต้องซูฮกเขา ต้องนอบน้อม เชื้อฟัง ไม่อย่างนั้นเข้าไปหัวเดียวกระเทียมลีบ ลำบาก กระทั่งข้าวยังไม่มีจะกินเลย ความใหญ่นั้นไม่ได้ใหญ่ด้วยศีล ด้วยธรรม ใหญ่ด้วยการสร้างอาณาจักรขึ้นมา พอสิ้นครูบาอาจารย์เท่านั้น หงอย อยากจะบอกว่าเหมือนหมาหงอย ก็ไม่ดี ไม่สุภาพ เฉาไปหมดเลย เพราะฉะนั้นที่ซู่ซ่าขึ้นมา อาศัยครูบาอาจารย์ คนเขาเคารพครูบาอาจารย์ เขาเกรงใจครูบาอาจารย์ เขาก็ยอม พอสิ้นครูบาอาจารย์ คราวนี้ความรู้สึกที่แท้จริงของคนอื่น ที่เขามีด้วย มันก็ออกมาแล้ว บางคนแกใจดี ช่วยเหลือ ใครไปก็ช่วยเหลือ พอสิ้นครูบาอาจารย์แล้วคนก็รัก วัดนั้นก็อยากได้ตัว วัดนี้ก็อยากได้ตัว ไม่ได้เอาไปทำอะไร เอาไปเลี้ยง อย่างนั้นมี แต่น้อยเต็มทีเลย ส่วนใหญ่ก็ไม่รู้จะไปไหน กลับบ้าน

ทำไมเอาชีวิตไปฝากไว้กับอะไร ที่ไม่มีสาระแก่นสาร คนซึ่งอยู่กับครูบาอาจารย์ มีครูบาอาจารย์ หรือเข้าไปเรียน เข้าไปศึกษา แล้วลงมือปฏิบัติให้จริงจัง พอไม่มีครูบาอาจารย์แล้ว ก็สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง เหมือนเด็กที่แข็งแรง แรกๆ นอนแบเบาะอยู่ แล้วก็ลุกพลิกตัวได้ พอพลิกตัวได้ก็ขึ้นคลานได้ ขึ้นเดินได้ ทีแรกก็เดินได้เอง พอเดินเป็นแล้วไม่อยากเดินแล้ว อยากให้คนอื่นอุ้มแล้ว เด็กอย่างนั้นก็ไม่ค่อยแข็งแรง ไม่เหมือนเด็กที่ช่วยตัวเองได้ นักปฏิบัติก็แบบเดียวกัน อยู่กับครูบาอาจารย์ พอไม่มีครูบาอาจารย์ ต้องยืนด้วยตัวเองให้ได้

หลวงพ่อภาวนามาตั้งแต่เด็กก็จริง แต่ว่าเรียนกับท่านพ่อลีไม่กี่ปี ไปเรียน 2502 รู้สึก 2505 – 2506 อะไรนี้ท่านก็สิ้นแล้ว แต่ตอนนั้นไม่รู้สึก ไม่ได้รู้สึกอะไร รู้แต่เรื่องทำอานาปานสติ ตอนที่ท่านสิ้นไปเราก็ยังเล็ก ยังไม่รู้เรื่องอะไร ตอนมาเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ เดิน เรียกว่าเป็นเด็กที่เดินได้ด้วยตัวเองแล้ว ครูบาอาจารย์ท่านให้เดินได้แล้ว ท่านมรณภาพไป ขนาดนั้นใจยังหายเลย ใจว้าเหว่ มีความรู้สึกว่าเราเป็นลูกกำพร้าเสียแล้ว ตอนพ่อแท้ๆ ตาย ใจไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น รู้สึกว่ามันเป็นธรรมดาของโลก แต่ตอนที่หลวงปู่ดูลย์มรณภาพ ใจหายเลย มีความรู้สึกว่าเราเป็นลูกกำพร้า ต่อไปนี้เราต้องช่วยตัวเองให้มาก อาศัยสิ่งที่ท่านให้ไว้เป็นมรดกธรรมะ ต้องเดินไปข้างหน้า ไม่ให้ท้อแท้ล้มเหลวไปด้วย

คนจำนวนมากเลย ที่หลวงพ่อเห็นตามวัดต่างๆ พอสิ้นครูบาอาจารย์ ก็ล้มละลายในการปฏิบัติ เลิกเลย ไม่มีแล้ว อันนั้นเพราะว่ามันเป็นเด็กที่ไม่โต ต้องป้อนน้ำป้อนข้าวกันอยู่เรื่อย ต้องเอาอกเอาใจ แต่ตอนหลวงปู่ดูลย์ท่านสิ้น หลวงพ่อรู้สึกใจหายเลย พ่อแม่ของเราที่แท้จริงในวัฏสงสารนี้ตายไปแล้ว ต่อไปนี้เราต้องช่วยตัวเองให้ได้ ตั้งแต่นั้นไม่เคยหยุด สมัยที่หลวงปู่ยังมีชีวิตอยู่ บางวันเรายังรู้สึกเถลไถลบ้าง เพราะรู้สึกว่ามีปัญหาขึ้นมา ก็วิ่งไปหาครูบาอาจารย์ได้ ให้ท่านช่วย ให้ท่านแก้ได้

แต่พอไม่มีครูบาอาจารย์ ใจมันรู้สึกว่าเราต้องช่วยตัวเองให้ได้ แล้วความรู้สึกที่เกิดขึ้น มันแปลก รู้สึกว่าหลวงปู่ดูลย์อยู่กับหลวงพ่อทั้งวันเลย ทั้งคืน คล้ายๆ หันซ้ายก็เจอ หันขวาก็เจอ เราคิดอย่างนี้ รู้เลยว่าหลวงปู่จะพูดอะไร ถ้าเราพูดแบบนี้ หรือเราทำแบบนี้ หลวงปู่จะชม หรือหลวงปู่จะตำหนิ หลวงปู่ดูลย์ไม่ค่อยตำหนิใคร จะตำหนิด้วยสายตาเป็นหลัก ไม่ค่อยพูด ท่านไม่ค่อยพูด แต่ลงท่านพูด เอาดีไม่ได้แล้ว คือต้องสุดวิสัยจริงๆ ท่านถึงจะออกปาก

หลวงพ่อตักตวงประโยชน์จากครูบาอาจารย์ ตั้งแต่ท่านยังมีชีวิตอยู่ จนท่านสิ้นชีวิตไป เราก็ยังได้รับประโยชน์จากท่าน เราจะคิดอย่างนี้ จะพูดอย่างนี้ จะทำอย่างนี้ เหมือนอยู่ในสายตาของหลวงปู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นไม่มีความรู้สึกว่าเราไม่มีหลวงปู่ หลวงปู่กลับอยู่ใกล้ชิดเรามากกว่าเก่าเสียอีก ฉะนั้นหลวงพ่อจะไม่มีคำว่าขี้เกียจภาวนา เถลไถล สิ่งเหล่านี้ไม่มี มันเป็นนิสัย เป็นสันดานที่สะสมมาอย่างนั้น เวลาทำอะไร ต้องทำให้ถึงที่สุด ให้สุดฝีมือ สุดกำลัง อันนี้หมายถึงทำความดี ทำความชั่ว คิดจะชั่วเท่านั้น เห็นหลวงปู่ตาเขียวใส่แล้ว ทำไม่ได้

ใจของนักปฏิบัติมันผูกพันอยู่กับครูบาอาจารย์ เหมือนอยู่ในสายตาท่านตลอดเวลา ถ้าเรารู้สึกอย่างนี้ได้ การปฏิบัติเราจะเจริญเร็วเลย เราไม่กล้าเถลไถล ฉะนั้นหลวงพ่อ ตลอดเวลาที่ผ่านมา ที่ภาวนามา ใช้เวลาคุ้มค่าที่สุด ตื่นนอนมาก็ภาวนาแล้ว ตอนที่ตื่นเห็นจิตขึ้นจากภวังค์ เห็นมันขึ้นมาเลย กระทบเข้ากับความรู้สึกนึกคิด ถัดจากนั้นจิตก็ขยายความรับรู้ออกไป จากจิตก็กระทบเข้ากับความรู้สึกนึกคิด คือเวทนา สัญญา สังขาร ถัดจากนั้นจิตก็ขยายความรับรู้ออกไปอีกชั้นหนึ่ง เข้าไปที่กาย คราวนี้มีขันธ์ 5 ครบแล้ว

 

อาศัยจิตดวงเดียว เป็นปัจจัยให้นามรูปปรากฎขึ้น

คนอื่นเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่สภาวะขันธ์ 5 ที่มันปรากฎให้หลวงพ่อเห็น มันขึ้นมาจากจิตดวงเดียวนั่นล่ะ แล้วกระทบกับนาม คือสุขทุกข์ ดีชั่ว ความจำได้หมายรู้ นามธรรม เวทนา สัญญา สังขาร จิตมันผุดขึ้นมา แล้วมันก็แผ่ความรับรู้ออกไป กระจายออกไปกระทบเวทนา สัญญา สังขาร รู้สึกขึ้นมา มีความรู้สึกนึกคิดขึ้นมา มีจิต มีเจตสิกแล้ว แล้วความรับรู้ก็ขยายออกไป ก็เกิดรูป ฉะนั้นอาศัยจิตดวงเดียว เป็นปัจจัยให้นามรูปปรากฎขึ้น

เคยได้ยินไหมจิตเป็นปัจจัย วิญญาณนั่นล่ะ เป็นปัจจัยของนามรูป วิญญาณะ ปัจจะยา นามะรูปัง วิญญาณเป็นปัจจัยของนามรูป ไม่ได้ท่องเอา แต่เห็น แล้วไม่มีความสงสัย พอมีรูปธรรม มีนามธรรม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็พร้อมจะทำงาน มีนามธรรมแต่ว่ายังไม่มีตา ก็ไม่สามารถรู้รูปอย่างที่มนุษย์รู้ได้ แต่รู้รูปที่เป็นทิพย์ได้ ถ้ามีแต่จิตกับเจตสิก สามารถรู้รูปที่เป็นรูปทิพย์ทั้งหลายได้ แต่จะรู้รูปอย่างที่เราเห็นอย่างนี้ ก็ต้องมีเครื่องมือคือตา มีแต่จิตกับเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิต สามารถได้ยินเสียงได้ แต่เสียงที่ได้ยินนั้นมันเป็นเสียงทิพย์ เสียงของผี ของเทวดา ของพรหม หรือเสียงในความคิดของคนอื่น

ที่จริงพวกเราก็เคยได้ยินเสียงทิพย์ทุกคน แต่ไม่ได้สังเกตเอง เวลาใจเราพูด รู้สึกไหม ใจเราพูดเคยได้ยินไหม นี่ล่ะเสียงทิพย์เบสิกที่สุด ใจเราพูดได้ยินทุกคน แต่ละเลยที่จะสนใจ มัวแต่สนใจเนื้อหาที่จิตพูดขึ้นมา ที่จริงถ้าสังเกตให้ดี ได้ยินเสียงของจิต ฉะนั้นถ้ามันมีจิต แต่มันไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็สัมผัสได้แต่ของที่เป็นทิพย์ ถ้ามีตา หู จมูก ลิ้น กาย มันก็สัมผัสโลกที่หยาบๆ นี้ เป็นโลกที่มีมหาภูตรูป ยังมีดิน น้ำ ไฟ ลม ทำงานขึ้นมาเต็มที่ ชัดเจนขึ้นมา ไม่ใช่โลกของภายใน โลกทิพย์

อาศัยจิตดวงเดียวก็เกิดนามรูป มีนาม มีรูป ก็เกิดอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันจะทำงานได้ ก็ต้องมีทั้งรูปธรรม คือมีตัวประสาทตา ประสาทหู ประสาทจมูก ประสาทลิ้น ประสาททางกาย อันนี้เป็นวัตถุ ถ้ามีแต่วัตถุไม่มีนาม ไม่มีจิต มันก็รับรู้อะไรไม่ได้ อย่างเรามีตาอยู่ เราลืมตาอยู่ แต่ใจลอยไปที่อื่น เราไม่มีวิญญาณเกิดขึ้นทางตา คือไม่มีการรับรู้อารมณ์ทางตา รูปภายนอกก็ไม่ปรากฎเข้ามา อย่างเวลาเราใจลอยเหม่อๆ คนเดินผ่านหน้าเราไป ไม่รู้เลย ไม่รู้เรื่องเลย หรือนั่งเล่นไพ่อยู่ กำลังจะจั่วตัวสำคัญแล้ว ตานี้ได้เงินแน่ จิตใจจดจ่ออยู่อย่างนี้ ตำรวจมาจนเพื่อนหนีไปหมด ยังไม่รู้เลย มีตาแต่มองไม่เห็น ตำรวจจะมาจับแล้ว ยังไม่เห็นเลย เสียงก็ไม่ได้ยิน หูก็ไม่ทำงาน เพื่อนยังตกใจวิ่งกัน เผ่นกระจัดกระจายไปหมดแล้ว ยังไม่รู้เลย ไม่ได้ยิน

เพราะฉะนั้นตามันจะทำงานได้ มันก็ต้องมีจิตเป็นตัวรับรู้อารมณ์ทางตา หูจะทำงานได้ ต้องมีจิตรับรู้อารมณ์ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็เหมือนกัน มันต้องมีจิตเป็นตัวรับรู้ เพราะจิตเป็นธรรมชาติรับรู้ เพราะฉะนั้นการที่อายตนะของเราเกิดขึ้นได้ ทำงานได้เต็มที่ อาศัยนาม อาศัยรูปเป็นปัจจัย นามก็คือจิตที่จะไปรับรู้ หรือวิญญาณที่จะไปรับรู้ แล้วก็อาศัยรูปคือประสาทตา ประสาทหู ประสาททางร่างกายเป็นต้น เพราะฉะนั้นอาศัยวิญญาณเป็นปัจจัยของนามรูป อาศัยนามรูปเป็นปัจจัยของอายตนะ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

อายตนะเป็นปัจจัยของผัสสะ สิ่งที่เรียกว่าผัสสะคือการกระทบอารมณ์ มันจะต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย 3 อย่างรวมกัน ถึงจะเรียกว่าผัสสะ คือมีตาซึ่งเป็นเครื่องมือในการเห็นรูป มีรูปคือสี สีคือสีต่างๆ อย่างเราเห็นคน ที่จริงตาเราไม่ได้เห็นคน ตาเราเห็นสีที่ตัดกันเป็นรูปร่างอย่างนี้ แล้วสัญญาไปแปลว่านี่คน สิ่งที่ตาเห็นจริงๆ คือสี แค่นั้นเอง ตาทำหน้าที่เห็นสีเท่านั้นเอง ถ้าสีมันตัดกัน ออกมาเป็นรูปร่างอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เป็นสมมติบัญญัติขึ้นมา อาศัยตากระทบกับรูป แล้วมีองค์ประกอบอันที่ 3 อันแรกมีตา อันที่ 2 มีรูปคือตัวสี อันที่ 3 มีความรับรู้ทางตาเกิดขึ้น มีความใส่ใจ มีมนสิการ อันนั้นจิตก็เกิดที่ตา ก็เรียกว่าผัสสะ

การประชุมกันขององค์ธรรม 3 ประการ เรียกว่าผัสสะ ก็คืออายตนะภายใน อายตนะภายนอก แล้วก็วิญญาณที่เกิดทางอายตนะ คือจิตที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นามรูปเป็นปัจจัยของอายตนะอายตนะเป็นปัจจัยของผัสสะ พอมีการกระทบอารมณ์แล้ว คราวนี้ก็จะเกิดเวทนาขึ้นมา ตา หู จมูก ลิ้น กระทบอารมณ์ กระทบรูป เสียง กลิ่น ในขณะที่กระทบนั้น มีเวทนาชนิดเดียวคืออุเบกขา เฉยๆ ในขณะที่ตาเราเห็นรูป ใจเฉยๆ ขณะที่หูได้ยินเสียง ใจเฉยๆ ขณะที่จมูกได้กลิ่น ใจยังเฉยๆ อยู่

เวทนามีอันเดียว ไม่มีสุขมีทุกข์อะไร มีแต่เฉยๆ ตรงที่กระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น เฉยๆ ต่อเมื่อมันมีการแปลความหมาย สัญญาเข้าไปแปลความหมาย มันถึงจะเกิดความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉยๆ ทางใจ เกิดกุศลอกุศลทางใจ ตามหลังการกระทบอารมณ์ พอกระทบอารมณ์เกิดเวทนา อย่างตาเราเห็นรูป ใจมันเฉยๆ มีการแปลความหมายของรูปอันนี้ ใจเป็นคนทำ พอมันแปลความหมายของรูป รูปนี้คือสาวงาม ก็เกิดความสุขขึ้นมา ที่ได้เห็นรูปสวยงาม ถูกอกถูกใจ ได้อารมณ์ที่ชอบใจ ก็เกิดโสมนัสเวทนา เรียกสุขทางใจเกิดขึ้น

พอตาเห็นรูปแล้ว ก็แปลความหมายได้ว่านี่คือศัตรูเรา ก็เกิดเป็นอารมณ์ที่ไม่ถูกใจ มีความทุกข์ใจ พอเห็นหน้าคนที่เราเกลียด ใจเราทุกข์ทันทีเลย แล้วตรงที่ใจเราทุกข์ กิเลสมันแทรก ขณะที่ใจมีความทุกข์เกิดขึ้น โทสะเกิดร่วมด้วยเสมอ จำไว้เลย นี่เป็นกฎ เป็นกฎของธรรมะเลย ขณะใดที่จิตของเรามีความทุกข์ ขณะนั้นจิตเราเป็นโทสมูลจิต มีโทสะเกิดร่วมด้วยเสมอ แต่เวลาที่กระทบอารมณ์แล้วใจเรามีความสุข อาจจะมีราคะเกิดขึ้นก็ได้ ไม่มีราคะก็ได้ แต่ไม่มีโทสะแน่นอน

อย่างเวลาจิตใจเรามีความสุข มันสุขเพราะ สุขร่วมกับกิเลสก็ได้ สุขเพราะกุศลก็ได้ แต่ทุกข์เกิดร่วมกับอกุศลเสมอ ฉะนั้นถ้าใจเราเศร้าหมอง ให้รู้เลยถูกกิเลสครอบงำอยู่ จมแช่อยู่กับกิเลสตลอดเวลา แต่ตอนที่เรามีความสุข ให้สังเกตให้ดี สุขอันนี้มีราคะแทรกหรือเปล่า อย่างเรานั่งสมาธิ หรือเราไม่นั่งก็ได้ ปฏิบัติอย่างที่หลวงพ่อสอน มีสติรู้สึกตัว รู้สึกกาย รู้สึกใจไปเรื่อยๆ ไม่เคร่งเครียด บางทีเราก็จะรู้สึกมีความสุขผุดขึ้นมาเอง ไม่ได้ทำอะไร มีความสุขผุดขึ้นมาได้ อันนั้นไม่ได้มีกิเลสแทรก จิตเราเป็นบุญ เป็นกุศลอยู่ ก็มีความสุขเกิดขึ้นได้

 

“อาศัยวิญญาณคือจิต เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป
อาศัยนามรูปทำให้อายตนะพร้อมที่จะทำงาน”

 

จิตที่เป็นกุศลนั้น มันจะมีเวทนาได้ 2 อย่างเท่านั้น คือมีความสุขกับอุเบกขา แต่ตัวความสุขนี้ จิตที่มีความสุขนี้ เกิดกับจิตที่เป็นกุศลก็ได้ เกิดกับจิตที่มีราคะก็ได้ มันคร่อม 2 อันเลย ส่วนจิตที่เป็นโทสะอันนั้น มีอันเดียวคืออกุศล เราค่อยๆ ดู ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจของเราไป บางทีจิตมีความสุขขึ้นมา ไปทำบุญมาจิตมีความสุข แล้วความสุขก็ยังยาวๆ ไม่หยุด สังเกตให้ดี มันมีความสุขหลายระดับเกิดขึ้นต่อเนื่องกัน อย่างตอนที่เราไปทำบุญทำกุศล ไม่ได้เจตนาจะสุข มันมีความอิ่มอกอิ่มใจ มีความสุข อันนั้นเป็นความสุขที่เป็นบุญ เกิดจากบุญ แล้วถัดจากนั้นเราติดอกติดใจในความสุขอันนั้น ติดในรสของความสุข การที่เราติดในรสของความสุขนั้นคือราคะ

ฉะนั้นในขณะแรกมีความสุขขึ้นมานั้น จิตใจเป็นบุญเป็นกุศล จิตมีความสุข เสร็จแล้วก็เกิดติดอกติดใจในความสุข นึกแล้วก็ปลื้มไม่รู้จักเลิก หลายคนจะเป็น ปลื้มไม่รู้จักเลิก ที่อื่นเขาไม่ว่า แต่เจอหลวงพ่อ หลวงพ่อว่า มันจะสุขอะไรนักหนา มันจะสุขแรมเดือนแรมปีหรือ ทำไมไม่เดินปัญญาเข้าไปให้เห็นความจริง มันไม่สุขจริงหรอก มันสุขเพราะว่ามันหลงอยู่ เพราะว่ามันมีราคะแทรกอยู่ ฉะนั้นให้รู้เท่าทัน ค่อยสังเกตเอา อาศัยวิญญาณคือจิต เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป อาศัยนามรูปทำให้อายตนะพร้อมที่จะทำงาน

อายตนะจะทำงานเมื่อมีผัสสะ เริ่มทำงานก็จะมีผัสสะ ผัสสะก็คือมีอายตนะข้างนอก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มีอายตนะภายใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พอกระทบกันก็จะเกิดเวทนา ในขณะที่กระทบ ถ้าเป็นการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น เวทนาที่เกิดขึ้นตรงที่กระทบ เป็นเวทนาทางร่างกาย มีแต่อุเบกขา แต่ถ้ามีการกระทบทางใจ มีเวทนาที่เกิดขึ้นคือสุขกับทุกข์ได้ แต่การกระทบทางใจนี้มีสุข มีทุกข์ มีอุเบกขาได้ เวทนาที่เกิดกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น ก็แบบหนึ่ง เวทนาที่กระทบทางกาย มีสุข มีทุกข์แล้ว เวทนาที่กระทบทางใจ เกิดสุข ทุกข์ เฉยๆ ได้แล้ว มีความหลากหลาย

เห็นไหม เรื่องเวทนาก็มีให้เราสังเกตเล่าเรียน ด้วยการเรียนรู้ ไม่ได้ไปท่องตำราเอา ท่องตำราแล้วมันไม่ลึกซึ้ง มันไม่จำหรอก แต่ถ้าเราเคยเห็นของจริง มันจำข้ามภพข้ามชาติได้ ถ้าไปเอาท่องตำราแล้วสอบเสร็จก็ลืมแล้ว มันไม่แน่นแฟ้น ข้ามภพข้ามชาติไม่ได้ อย่าว่าแต่ข้ามภพข้ามชาติเลย ไปเรียน สมมติเราเรียนอภิธรรมจบมหาปัฏฐาน เก่งมากเลย ยังไม่ทันตายเลย แก่ๆ ก็ลืมหมดแล้ว เริ่มเลอะเลือนแล้ว แต่ธรรมะที่เราเห็นด้วยตัวของเราเอง เห็นด้วยจิตอย่างถ่องแท้ มันไม่ลืม มันจำข้ามภพข้ามชาติเลย

บางครั้งกระทั่งคำสอนของครูบาอาจารย์ ในชาติในภพโน้นๆ ไกลๆ จิตมันยังจำได้เลยๆ แต่เรื่องอย่างนี้ นักปฏิบัติเขาไม่คุยกัน เพราะมันพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นไม่ได้ ไม่เหมือนเรื่องอริยสัจ มันพิสูจน์ได้เลยด้วยตัวเอง ไม่มีอะไรกำกวม เรื่องชาติก่อน ชาติโน้น ชาตินี้อะไรต่ออะไร เป็นของกำกวม ฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็เลยไม่สนับสนุนให้สนใจเรื่องพวกนี้ รู้ได้ไหม รู้ได้ แต่ถ้าจิตยังมีกิเลส รู้ได้ไหม ได้ แต่สิ่งที่รู้อาจจะไม่ถูก รู้ไปตามกิเลส สังเกตไหมอย่างระลึกชาติ ระลึกทีไรเป็นคนใหญ่คนโตทุกทีเลย ยังไม่เห็นมีใครระลึกว่าเป็นหมาขี้เรื้อนเลย มีอยู่ท่านเดียวที่หลวงพ่อเคยได้ยิน ระลึกแล้วเป็นสุนัข 500 ชาติ คือหลวงปู่มั่น เห็นไหม นี่ของจริงของแท้ ไม่ได้ระลึกเป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินอย่างเดียว เคยเกิดเป็นอะไร เป็นสัตว์เป็นอะไร ท่านระลึกอย่างนั้นได้ ไม่ใช่ต้องเป็นคนใหญ่คนโตเสมอไปหรอก

 

สิ่งที่เราต้องพิสูจน์

ฉะนั้นถ้าเรายังมีกิเลสอยู่ สิ่งเหล่านี้แขวนไว้ รู้แล้วแขวนไว้ จริงหรือเปล่าไม่รู้ แล้วไม่ต้องเสียเวลาพิสูจน์ สิ่งที่เราต้องมาพิสูจน์ก็คือ ถ้าเรามีตัณหาแล้วเราเกิดทุกข์ จริงหรือไม่จริง ถ้ามีความอยาก มีความยึด แล้วมีความทุกข์ อันนี้จริงไม่จริง อันนี้พิสูจน์ได้ด้วยตัวเราเอง เป็นสาระ เป็นแก่นสารของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ตรงที่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ เรียกว่าผัสสะ มีองค์ 3 คือมีตา มีรูป แล้วก็มีจิตรับรู้ทางตา มีผัสสะเกิดเวทนา พอมีเวทนาแล้วจิตมันก็ทำงานต่อ พอกระทบอารมณ์ทางตาแล้ว มันจะส่งสัญญาณเข้ามาที่จิต มีการส่งสัญญาณเข้ามาที่จิต พอมีสัญญาณภาพอันนี้ส่งเข้ามาที่จิต จิตก็จะมีการแปลสัญญาณ มีการแปลสัญญาณว่านี้คือรูปอะไร รูปอะไร อันนี้อาศัยสัญญาแปล อุ๊ย นี่ผู้หญิงสวย

ตอนที่ตาเห็นรูปนั้น ก็เห็นสีที่ตัดกัน เป็นรูปร่างอย่างนี้ เป็นเส้นโค้งเส้นเว้าอะไรอย่างนี้ มันตัดกัน แต่ตอนที่สัญญาไปแปล อันนี้เป็นการทำงานทางใจแล้ว มีการส่งสัญญาณเข้ามาที่ใจ ที่จิต แล้วก็มีการแปลความหมายของรูป ถัดจากนั้นก็มีการให้ค่า เกิดพอใจ เกิดไม่พอใจ เกิดชอบ เกิดไม่ชอบอะไรขึ้นมา ตรงนี้ล่ะบุญบาปอะไร มันเกิดขึ้นตรงนี้ ตรงที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียงอะไร ไม่มีบุญ ไม่มีบาป เป็นอุเบกขาเฉยๆ ตรงที่จิตมันทำงาน มันตีค่าขึ้นมา บางทีจิตก็ปรุงเป็นกุศล อย่างมันแปลได้ อุ๊ย รูปที่เห็นนี้คือพระพุทธรูป แปลความหมายว่าพระพุทธรูปเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า เห็นแล้วก็ปลื้มใจขึ้นมา ให้ค่าขึ้นมา แล้วจิตเป็นกุศลขึ้นมา

อีกคนหนึ่งเห็นรูปอันเดียวกัน เห็นพระพุทธรูป โอ้ สวย ถ้าตัดเอาเศียรไปขายฝรั่ง น่าจะได้หลายสตางค์ จิตเกิดอกุศลขึ้นมา เห็นรูปอย่างเดียวกัน หรือได้ยินเสียงอย่างเดียวกัน คนหนึ่งจิตเป็นกุศลก็ได้เป็นอกุศลก็ได้ เพราะกำลังของจิตตนเอง ไม่ใช่เพราะใครบงการ เพราะจิตมันทำงานขึ้นมาตามอนุสัย ตามความเคยชินของตัวเอง พอจิตมันมีกิเลสแทรกขึ้นมา มันก็ผลักดัน กิเลสมันมีความรุนแรงขึ้น มันก็เลยเกิดตัณหา อาศัยเวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ที่เกิดขึ้น กิเลสก็แทรก

เวลามีความสุข บางทีก็เป็นกุศล แต่ถ้ามีกิเลสก็จะเป็นราคะ เวลามีความทุกข์ ก็มีอกุศลแน่นอนคือมีโทสะ เวลาเฉยๆ อาจจะเป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ เวลาจิตเราเฉยๆ การทำงานของมัน พอกิเลสมันมีแรงมากขึ้นๆ มันก็จะผลิตตัณหาขึ้นมา อย่างเราเห็นผู้หญิงสวย ใจมันรักมันชอบ รูปอันนี้ใจมันชอบ นี่เรียกว่ามีราคะ พอใจมันชอบอย่างรุนแรงแล้วเกิดความอยาก อยากเดินตามดูเขา อยากจีบเขา อยากขอแอดไลน์ แอดเฟรนด์เขา อยากขอเบอร์ ความอยากเกิดแล้ว ทันทีที่ความอยากเกิด ใจจะดิ้นรนเร่าร้อนขึ้นมา

ไม่ต้องสมอยาก หรือไม่สมอยากหรอก ทันทีที่ความอยากเกิดแล้ว จิตใจก็เกิดความดิ้นรนเร่าร้อน ตรงที่จิตใจดิ้นรนนั้นเรียกว่าภพ ตัณหาเป็นผู้สร้างภพขึ้นมา ทันทีที่จิตใจดิ้นรนคือมีภพขึ้นมา จิตมันจะหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขึ้นมา แต่มันหยิบทีละอัน ไม่หยิบทีละ 6 อันหรอก อย่างจิตมันอยากเห็นผู้หญิงคนนี้ มันก็หยิบฉวยตาขึ้นมาดู ยึดอยู่ที่ตา จับอยู่ที่ตา ชอบเสียงอันนี้ มันก็จะไปจับที่หู มันจับ ไปหยิบฉวยตา หยิบฉวยหูขึ้นมาใช้งาน หยิบฉวยจมูก ลิ้น กาย ใจ ขึ้นมาใช้งาน

ตรงที่จิตเราหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ละอันเติมคำว่า “หรือ” ตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย หรือใจ ตรงที่หยิบฉวยนั้นเรียกว่า “ชาติ” “ชาติ” ก็คือการที่จิตเข้าไปหยิบฉวยอายตนะขึ้นมา มีภพ มีภพก็ผลักดันให้เกิดการหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา ถ้าไม่มีภพ ก็จะไม่มีการหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา ฉะนั้นสิ้นภพก็จะสิ้นชาติ สิ้นภพเมื่อไรก็สิ้นชาติเมื่อนั้น ตรงที่เราหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา มันจะรู้สึกตัวกู มีตัวเราขึ้นมาแล้ว มีตัวเรา มีของเราขึ้นมา แล้วสิ่งที่มีแน่นอน คือมีความทุกข์เกิดขึ้นทันที

ยึดรูปก็ทุกข์เพราะรูป ยึดนามก็ทุกข์เพราะนาม ยึดบุญกุศลทุกข์ไหม ทุกข์ บุญกุศลไม่ได้เอาไว้ยึด บุญไม่ได้เอาไว้ยึด เอาไว้เป็นเสบียง ไว้เป็นกำลัง สำหรับการเดินทางไกลในสังสารวัฏ ถ้าเราไม่มีบุญหนุนหลัง ชีวิตก็ลำเค็ญแร้นแค้น ยากเย็นเข็ญใจ อะไรก็มีอุปสรรคไปหมด แต่เรามีบุญหนุน ก็เหมือนเรามีเสบียงดี การเดินทางในสังสารวัฏก็สะดวก แต่ถ้าเราเอาแต่สะสมเสบียง แล้วเราไม่เดินทาง เราอย่างมากก็เป็นพ่อค้าขายอาหาร มีคลังสินค้า แต่ไม่ได้ประโยชน์อะไรเท่าไรหรอก ก็นั่งเฝ้าสมบัติ นั่งเฝ้าบุญของตัวเองอยู่อย่างนั้น เดินทางไม่ได้

บุญเป็นเสบียงเพื่อการเดินทางออกจากสังสารวัฏ ตั้งใจไว้อย่างนี้เลย เสบียงนั้นเราพกไปพอประมาณ ไม่ใช่คนเดียวแบกข้าวไปเกวียนหนึ่ง แล้วจะเดินทางขึ้นภูเขา อย่างนี้มันไปไม่รอดหรอก แค่พอมีข้าวกิน แล้วก็เดินทางไปได้ อันนั้นดีวิเศษ ก้าวหน้าไปข้างหน้า ภาวนาไป แล้วก็มีโอกาสทำบุญรายทาง ระหว่างเดินทาง มีโอกาสทำก็ทำ คล้ายๆ เราเดินทางไกล เดินในป่า เริ่มต้นเราก็มีเสบียงติดตัวพอกินได้สัก 3 วัน ระหว่างที่เดินไปนั้นก็เก็บผักเก็บอะไรกิน ระหว่างทางเสบียงเก่าหมดไปก็ไม่เป็นไร หาเสบียงใหม่ ไม่ใช่สะสมเสบียง จนกระทั่งเป็นยุ้งฉางใหญ่ๆ แล้วก็เลยไปไหนไม่ได้ ต้องเฝ้ายุ้งฉางไว้

เพราะฉะนั้นต้องอาศัยความฉลาดในการเดินทางในสังสารวัฏนี้ อะไรที่เราไปติดไปข้อง ไปยึดไปถือ สังเกตให้ออก อย่าว่าแต่ความชั่วเลย กระทั่งบุญกุศลอะไร บุญ กุศลไม่ติดหรอก กุศลเป็นความฉลาด ไม่ว่าเราจะติดอะไร สิ่งนั้นก็คือเครื่องผูกมัดเราไว้กับภพทั้งสิ้นเลย พาเราเวียนว่ายตายเกิดทั้งสิ้นเลย ฉะนั้นเราค่อยๆ ภาวนา ค่อยๆ ศึกษาของเราไป เรียนรู้ลงที่กาย เรียนรู้ลงที่ใจ แล้วความรู้ความเข้าใจ มันก็จะกระจ่างแจ่มแจ้งขึ้นมา

แรกๆ เราก็เข้าใจปฏิจจสมุปบาทส่วนปลาย เราเห็นเลยว่ามีความอยากแล้วก็มีความทุกข์ เห็นอย่างนี้เห็นตื้นๆ ต่อมาเราก็เห็นได้ละเอียดขึ้นมาระดับกลางๆ เราเห็นเลยว่า มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ เริ่มเห็นละเอียดขึ้นแล้ว ก่อนที่จะเกิดความอยาก ก่อนที่จะเกิดความยึด เห็นตั้งแต่มีอายตนะแล้ว เราภาวนาเรื่อยๆ ต่อไปเห็นละเอียดขึ้นไปอีก โอ้ ก่อนจะได้อายตนะมา จิตนั่นล่ะมันผุดขึ้นมา กระทบนามธรรม นามธรรมก็ปรากฏ กระทบรูปธรรม รูปธรรมก็ปรากฏ

พอภาวนาละเอียดลึกซึ้งลงไปอีก ก็เห็นว่าจิตผุดขึ้นมาได้เพราะสังขารๆ สังขารนั้นเกิดจากอวิชชา ความไม่รู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจ ภาวนาแรกๆ นึกถึงคำว่าอวิชชาแล้วงงไปหมดเลย อวิชชาคืออะไร ไปกางตำราดู คือความไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้สมุทัย ไม่รู้นิโรธ ไม่รู้มรรค ไม่รู้เหตุในอดีต ไม่รู้อนาคต ไม่รู้อดีต ไม่รู้อนาคต ไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท ตำราสอนไว้ อะไร แล้วเวลาภาวนาจะภาวนายังไง ตอนนั้นหลวงพ่อคิดอย่างนี้ แล้วจะเรียนรู้อย่างไร มันเยอะแยะไปหมดเลย

ตัวอวิชชา จะเรียนรู้อย่างไร ไม่รู้เลย แล้วจะไปทำลายมันได้อย่างไร ไม่รู้เลย อาศัยได้ยินได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า เรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งครูบาอาจารย์ท่านแจกแจงออกมา ให้หลวงพ่อดูจิตเป็นหลัก ดูจิตมันก็อยู่ในสติปัฏฐานนั่นล่ะ อยู่ในเวทนานุปัสสนา ถ้าเป็นการดูเวทนาทางใจ อยู่ในจิตตานุปัสสนา ถ้าดูกุศลอกุศลอยู่ในธัมมานุปัสสนา ถ้าดูกระบวนการทำงานของจิต เพราะฉะนั้นที่หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อดูจิตๆ มันครอบคลุมเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน กว้าง ครอบคลุมหมดเลย

แล้วถ้าเราเจริญสติปัฏฐานพวกนี้ มันจะแจ้งในรูปไปด้วย เพราะบอกแล้วเวทนาจำนวนมาก เริ่มต้นมาจากรูป ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นรูป รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นรูป กระทบ ฉะนั้นก็จะจัดเจนในอริยสัจทั้ง 4 เลย สุดท้าย แต่ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ชี้ หลวงพ่อก็เดินไม่ถูก หลวงพ่อพยายามเดินมาตั้งนานแล้วทำสมาธิมาจนจิตมันตั้งมั่นเด่นดวงแล้ว มันไปไหนไม่ถูก อาศัยบุญคุณครูบาอาจารย์ท่วมหัว ท่วมศีรษะ ชี้เส้นทางปฏิบัติให้ ให้ดูที่จิตนี่ หลวงพ่อก็ดูไม่เลิกเลย ดู ไม่ต้องสั่งครั้งที่ 2 ไม่วอกแวกไปที่อื่น เรื่องอื่นทิ้งหมดเลย คอยเรียนรู้อยู่ที่จิต เห็นจิตมันเปลี่ยนแปลง เพราะการกระทบอารมณ์ ต่อไปมันค่อยละเอียดประณีตลึกซึ้งขึ้นไป

วันใดที่เราเห็นว่าขันธ์ 5 เป็นตัวทุกข์นั่นล่ะ เราจะรู้แจ้งอริยสัจ รู้แจ้งอริยสัจก็ทำลายอวิชชาได้ ไม่ต้องรู้อะไรเยอะหรอก ในตำราพูดถึงอวิชชาไว้ตั้งเยอะแยะ ตั้ง 8 ข้อ ขอเพียงเรารู้แจ้งในความจริง กายนี้ ใจนี้คือตัวทุกข์ รู้เท่านี้ล่ะ รู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไร ที่เหลือมาเองเลย รู้เอง เคล็ดลับมันอยู่ตรงนี้ ตรงที่รู้ทุกข์ให้ได้ รู้ทุกข์คือรู้กายรู้ใจของเรานั่นล่ะ

 

 

วันนี้เทศน์ให้ฟังพอสมควร ว่าจะเทศน์อย่างง่าย ก็ละเอียดขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ไม่แปลกหรอก พวกเราฟังมานานแล้ว แล้วคนที่ทำให้ธรรมะหลวงพ่อ error เทศน์ทีไรสูงขึ้นๆ ก็คือพระอาจารย์นั่นล่ะ มานั่งอยู่ข้างหน้าสุด จิตท่านสูง ธรรมะก็สูงขึ้นๆ

วันนี้หลวงพ่อเทศน์ให้ฟังเท่านี้ พวกเราต้องไปทำเอาเอง ต่อไปหลวงพ่อคงจะไม่จ้ำจี้จำไชพวกเรามากเกินไปแล้ว ที่ผ่านมาหลวงพ่ออยากให้พวกเราภาวนาเก่ง ภาวนาดี ไม่เถลไถล หลวงพ่อเข้าไปควบคุมเยอะ เมื่อคืนวันพฤหัสนั่งสมาธิอยู่ ก็ได้ยินเสียงครูบาอาจารย์ ท่านบอกให้หลวงพ่ออุเบกขาได้แล้ว กรรมใคร กรรมมัน ถ้าหลวงพ่อไปจู้จี้กับพวกเรา อยากให้พวกเราดี อยากให้ได้ธรรมะอะไรอย่างนี้ จู้จี้มากไป บางคนเข้าใจก็ดี บางคนไม่เข้าใจ โกรธ บาปกรรมเปล่าๆ ท่านว่าอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ดูแลตัวเองให้ดีหน่อย คนไหนใจเปิดรับธรรมะ ก็ไม่ยากอะไรหรอก ถ้าใจไม่รับก็ปล่อยแล้วนะ ปล่อยแล้ว แบกพวกเราไม่ไหวแล้ว ชรามากแล้ว ถ้าเป็นฆราวาสนี้เกษียณไปนานแล้ว ช่วยตัวเองให้ได้ เดินด้วยตัวเองให้ได้ อย่าเป็นเด็กอ่อนตลอดกาล ยังเดินไม่ได้ ยังยืนไม่ได้ คลาน คลานไป แล้ววันหนึ่งต้องยืนขึ้นให้ได้ ยืนแล้วต้องเดินให้ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องให้ครูบาอาจารย์ คอยประคับประคองอีกต่อไป ต้องช่วยตัวเองให้ได้

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
15 กรกฎาคม 2566