เจริญจิตตสิกขา

วันนี้หลวงพ่อนิมนต์หลวงปู่สุจินต์ วันเกิดท่าน ปีนี้อายุ 80 ปี เดี๋ยวเราก็จะสรงน้ำท่านกัน หลวงปู่ท่านมีพระมาแจก ต้องบอกก่อน พระรุ่นนี้หลวงพ่อเพิ่งเห็นเมื่อกี้นี้เอง ท่านแจก อย่าให้เกิดข่าวลือว่ารุ่นนี้หลวงพ่อเสก แล้วจะได้เอาไปขายกันแพงๆ หลวงพ่อไม่ได้ยุ่ง ของครูบาอาจารย์ เรื่องอะไรเราจะไปเสกทับเข้าไปอีก

หลวงปู่ท่านภาวนามานาน ตั้งแต่ท่านเป็นนักศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วก็ไปเรียนกรรมฐานกับหลวงปู่หลุย หลวงปู่หลุยท่านสอนดี ท่านสอนให้ม้างกาย แยกกายเป็นส่วนๆ ทำลายลงไป เบื้องต้นหลวงปู่สุจินต์ท่านเล่าให้ฟังว่า หลวงปู่หลุยสอนให้เรามีสมาธิ ระดับอุปจาระ สมาธิเบื้องต้น ขณิกะ อุปจาระ แล้วก็เดินปัญญาเลย ใช้สมาธิไม่มาก ครูบาอาจารย์บางองค์ก็จะให้ ทำให้ได้อัปปนาสมาธิก่อน แล้วถึงจะเดินปัญญา วิธีไหนก็ได้ เพราะว่าจริตนิสัยของคนแตกต่างกัน

 

แนววิธีการพิจารณากาย

บางคนต้องทำสมาธิให้ได้ฌาน โดยเฉพาะต้องถึงฌานที่ 4 จิตถึงจะมีแรง ฌานที่ 4 มีองค์ธรรม 2 ตัว มีความเป็นหนึ่ง เรียกเอกัคคตาแล้วอุเบกขา 2 อัน แล้วฌานที่ 5 6 7 8 ซึ่งเป็นอรูปฌาน ก็มีองค์ธรรมอย่างเดียวกัน มีเอกัคคตากับอุเบกขา ก็จัดอยู่ในกลุ่มฌานที่ 4 ได้เหมือนกัน พระพุทธเจ้าท่านก็สอนให้เราเข้าฌาน พอถึงฌานที่ 4 แล้วก็บอกว่า ออกจากฌานที่ 4 แล้ว ให้โน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ ครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่น แต่ดั้งเดิมจำนวนมาก หลายองค์ท่านก็เล่นแนวนี้ โดยทำฌาน ออกจากฌานแล้วมาพิจารณากาย ทำไมออกจากฌานแล้วต้องมาพิจารณากาย ก็เพราะจิตจะไม่มีอะไรให้พิจารณา จิตที่ผ่านฌานมา มันสงบ นิ่ง สบายอยู่ได้หลายๆ วัน แล้วจะดูความเป็นไตรลักษณ์ของมันยาก ท่านก็เลยบอกว่า ออกจากสมาธิมาให้พิจารณากาย แนวนี้ก็ใช้ได้

ส่วนอีกแนวหนึ่งที่ท่านม้างกาย คิดเลย คิดจับร่างกายฉีกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จิตก็จดจ่ออยู่กับงานอันเดียว คือการม้างกาย ตามหลักที่หลวงพ่อเคยสอน สมถกรรมฐานให้น้อมจิต ไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นการที่มาคอยดูแลร่างกาย มาฉีกร่างกายออกไป ก็อยู่ในอารมณ์อันเดียว ก็ได้สมาธิขึ้นมา แล้วท่านก็เดินปัญญาต่อ ต้องหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ลงไป ไม่ใช่ทำสมาธิเฉยๆ ไปรู้ร่างกายอยู่เฉยๆ ไปรู้ร่างกายเฉยๆ ก็ได้สมถะ แล้วน้อมจิตลงไปพิจารณา อาศัยสัญญาเข้าไปหมายรู้ร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้าไม่มีสัญญาไปหมายรู้ให้ถูก ยังไม่ใช่วิปัสสนาหรอก

บางท่านบอกว่า โอ๊ย ปัญญากับสัญญาเป็นศัตรูกัน อันนั้นไม่ใช่ สัญญาที่เป็นศัตรูกับปัญญา ก็คือสัญญาที่เรียกว่าสัญญาวิปลาส สัญญาวิปลาสมี 4 อัน เห็นของไม่สวยไม่งาม ว่าสวยว่างาม เห็นของไม่เที่ยงว่าเที่ยง เห็นของเป็นทุกข์ว่าเป็นสุข เห็นของไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน ปุถุชนทั้งหลายมันมีสัญญาวิปลาส เวลาคิดอะไรต่ออะไร ก็คิดแบบวิปลาส แล้วก็เลยเชื่อแบบวิปลาส ว่าเรามีตัวมีตนจริงๆ

สัญญาที่ถูกต้อง คือหมายรู้ร่างกายเรานี้ ไม่สวยไม่งาม ร่างกายจิตใจไม่เที่ยง ร่างกายจิตใจเป็นทุกข์ ร่างกายจิตใจเป็นอนัตตา ต้องหมายรู้ถูก มีจิตที่ตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิ มีสติระลึกรู้รูปธรรมนามธรรม มีสัญญาหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ ของรูปธรรมนามธรรมที่สติไประลึกนั้น แล้วปัญญาถึงจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นสัญญาไม่ใช่ศัตรูของปัญญา ถ้าไม่มีสัญญาหมายรู้ถูก ปัญญาจะไม่เกิดหรอก

เพราะฉะนั้นอย่างท่านพระสารีบุตรท่านบอกว่าคนที่เข้าสมาบัติที่ 8 เนวสัญญานาสัญญายตนะ เป็นอรูปฌานสูงสุด อรูปฌานที่ 4 ยังมีสัญญาเหลืออยู่นิดหนึ่ง ไม่ใช่ว่าไม่มีสัญญาเลย ยังมีสัญญาอยู่หน่อยหนึ่ง ยังสามารถเดินวิปัสสนาได้ในเนวสัญญานาสัญญายตนะ เดินวิปัสสนาได้ก็คือ ยังสามารถเห็นไตรลักษณ์ของนามธรรมทั้งหลายได้ ท่านบอกว่าวิปัสสนาถ้าเป็นสัญญาสมาบัติ เป็นสมาบัติคือเป็นสมาธิเป็นฌานที่ยังมีสัญญาอยู่ แล้วสัญญานั้นถูกต้อง อันนั้นเดินวิปัสสนาได้ นี้ถ้าเราไม่มีสัญญาที่ถูกต้อง เรามาดูกาย เราก็หมายรู้ว่านี่คือตัวเรา มาดูจิตนี่ก็จิตเรา เราสุข เราทุกข์ รู้อะไรเข้าไปก็เป็นเราหมดเลย อันนี้มันหมายรู้ผิดๆ

 

วิธีฝึกให้มีสัมมาสติและสัมมาสมาธิ

ฉะนั้นเราก็มาหัดหมายรู้ให้ถูก ขั้นแรกเราต้องประกอบด้วย สมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่น ตัวนี้อาภัพที่สุดเลย สมาธิที่จิตตั้งมั่น ไม่ค่อยมีคนมี สมาธิแบบเคลิ้มๆ ลืมเนื้อลืมตัวนี้มีเยอะ สมาธิออกรู้โน่นรู้นี่มีเยอะ แต่สมาธิที่จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นับตัวได้เลย มีน้อยจริงๆ ต้องอาศัยการฝึกให้ถูกต้อง ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไว้ อันนี้เรียกว่าเราฝึกเจริญจิตตสิกขา ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไป อย่างหลวงพ่อทำก็หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไปคิด รู้ทัน จิตถลำลงไปเพ่งลมหายใจ รู้ทัน ต่อไปลมระงับกลายเป็นแสงสว่าง จิตหนีไปคิดเรื่องอื่นก็รู้ จิตไปคิดเรื่องแสงสว่างก็รู้ จิตไปเพ่งแสงสว่างก็รู้ ฉะนั้นทำกรรมฐานแล้วรู้เท่าทันจิตตนเองไว้ แล้วเราจะได้จิตที่ตั้งมั่นขึ้นมา

ถ้าเราไม่มีจิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่สามารถเจริญปัญญาได้จริง เพราะเราไม่ได้มีสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิคือความตั้งมั่นของจิต ไม่ใช่ความสงบของจิต ความสงบของจิต หมาแมวมันก็สงบ บางทีคนนอกศาสนาพุทธ ทำกรรมฐานก็สงบเหมือนกัน แต่จิตมันไม่ได้ตั้งมั่น อย่างตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะออกจากวังมา ท่านก็ไปเรียนกับฤๅษี ฤๅษีเขาก็ฝึกสมาธิมาก่อนแล้ว แต่ว่ามันไม่ใช่สัมมาสมาธิ มันเป็นสมาธิสงบเฉยๆ เจ้าชายสิทธัตถะก็ไปนึกถึง สมาธิที่ท่านได้ตอนเด็กๆ อยู่ตามลำพัง นั่งสมาธิอยู่ใต้ต้นไม้ แล้วจิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา ท่านนึกถึงสมาธิตัวนี้ได้ ก็เลยปฏิบัติต่อ ทำอานาปานสติ แล้วก็มีจิตที่ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา ไม่ใช่มีจิตที่เคลิบเคลิ้มลืมเนื้อลืมตัว

ฉะนั้นต้องฝึกสมาธิที่ถูกต้อง จะเดินปัญญาได้ นอกจากสมาธิที่ถูกต้องแล้ว ต้องมีสติด้วย สติเป็นตัวรู้ทัน ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง รู้สึก สตินั้นเราก็สั่งให้เกิดไม่ได้ สติก็เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นเราสั่งให้เกิดไม่ได้ เราก็ต้องทำเหตุของสติ เหตุของสติ ก็คือการที่จิตจำสภาวะได้แม่น อย่างจิตมันจำสภาวะที่จิตหลงได้แม่น พอจิตหลงปุ๊บ สติจะเกิดเอง สติจะรู้เลยว่า เฮ้ย หลงแล้ว แวบเดียว หลง ไหลไปแวบเดียว สติรู้แล้ว เพราะจิตมันจำสภาวะที่หลงไปได้แม่น

จิตจะจำสภาวะได้แม่น เราก็ต้องเห็นสภาวะบ่อยๆ ในสติปัฏฐานท่านใช้คำว่ารู้เนืองๆ อาจจะใช้ร่างกายก็ได้ ใช้เวทนา ใช้จิต ใช้ธัมมานุปัสสนาก็ได้ แต่ให้รู้เนืองๆ ไม่ใช่นานๆ รู้ทีหนึ่ง รู้บ่อยๆ แล้วสติจะเกิด นี่ต้องฝึก เพราะฉะนั้นต้องทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไว้ ดีที่สุด จิตไหลไปแล้วรู้ จิตไปเพ่งแล้วรู้ เผลอก็รู้ เพ่งก็รู้ ฝึกไป ต่อไปจิตมันจำสภาวะที่เผลอได้ มันจำสภาวะที่เพ่งได้ พอเผลอปุ๊บ สติจะเกิดเอง รู้ทันว่า เฮ้ย เผลอแล้ว หรือจิตถลำลงไปเพ่ง สติมันรู้ทันว่านี่ถลำลงไปเพ่งแล้ว มันจำสภาวะการเพ่งได้ สติก็จะเกิดเอง เป็นตัวรู้ทันขึ้นมา

นี่เรามีองค์ธรรม 2 ตัวแล้ว มีสัมมาสมาธิ คือความตั้งมั่นของจิต มีสัมมาสติ เป็นสติที่ระลึกรู้รูปธรรมนามธรรม พวกเรียกปริยัติเขาบอกว่า สัมมาสมาธิ คำนี้ใช้ได้ เพราะสมาธิมีมิจฉาสมาธิ แต่คำว่าสัมมาสติไม่ควรจะมี ในพระไตรปิฎกมีคำว่าสัมมาสติ ไม่ใช่ไม่มี สัมมาสติมันต่างกับสติทั่วไปอย่างไร สัมมาสติคือสติที่ระลึกรู้รูป รู้นาม รู้กายรู้ใจ คือสติปัฏฐานนั่นเอง นั่นล่ะคือตัวสัมมาสติ ถ้าเป็นสติอย่างอื่น ขับรถไม่ชนคนอื่น เดินไม่ตกท่อไป อันนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน ไม่ใช่สัมมาสติ มันเป็นสติโลกๆ นี่เราต้องฝึก

สมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา เราก็ต้องมาฝึกให้จิตมีสัมมาสมาธิ ตั้งมั่น ก็ทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง จิตไม่ตั้งมั่น คือไหลไปก็รู้ทัน จิตถลำลงไปเพ่งก็รู้ทัน ตรงนี้เราจะได้ควบเลย ทั้งสัมมาสติ ได้ทั้งสัมมาสมาธิ เพราะฉะนั้นที่หลวงพ่อสอนพวกเรา มันรวบย่อมากที่สุดแล้ว ทำกรรมฐานไปสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง ทันทีที่จิตหลงแล้วรู้ สมาธิที่ถูกต้องจะเกิด แต่เกิดชั่วขณะเป็นขณิกสมาธิ ทำบ่อยๆ สุดท้ายมันจะทรงตัวตั้งมั่นขึ้นมาได้ เหมือนกับเป็นอุปจารสมาธิได้เลย แล้วก็อีกตัวหนึ่ง จิตหลงไปคิดแล้วรู้ จิตมันจำสภาวะที่หลงได้ จะหลงไปคิด หรือหลงไปเพ่ง จิตจำสภาวะอันนี้ได้ สติจะเกิดเอง

เพราะฉะนั้นการที่เราจะมาฝึก ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตัวเอง เราจะได้ทั้งสัมมาสติ ได้ทั้งสัมมาสมาธิ คราวนี้พอเรามีสัมมาสติ มีสัมมาสมาธิ จิตมันจะตั้งมั่นเด่นดวง เห็นสภาวะ สักว่ารู้ว่าเห็น แต่แค่นี้ยังไม่พอ บางทีมันก็ไปเห็นทุกอย่างว่างหมดเลย แล้วจิตก็ติดอยู่ในว่าง ต้องมีการหมายรู้ที่ถูกด้วย ต้องมีสัญญาที่ถูกต้องด้วย ปัญญาที่แท้จริงถึงจะเกิดขึ้น ถ้าจิตไม่มีสัญญา จิตเดินปัญญาไม่ได้จริง ฉะนั้นเราจะต้องฝึก ให้เราได้องค์ธรรมเหล่านี้

 

ต้องมีสัญญาที่ถูกต้องด้วย ปัญญาที่แท้จริงถึงจะเกิดขึ้น

สัญญาเราจะฝึกอย่างไร เราก็หัดหมายรู้เอา เวลาเราระลึกถึงร่างกาย จิตเราตั้งมั่น อย่างขณะนี้ฟังหลวงพ่อเทศน์ จิตจะมีสมาธิ เพราะหลวงพ่อไม่ได้เทศน์ส่งเดช หลวงพ่อเทศน์ด้วยจิตใจจริงๆ เพราะฉะนั้นเวลาเราฟัง จิตเราจะมีสมาธิขึ้นมาอัตโนมัติ เราลองระลึกลงในร่างกายเลย รู้สึกไหมร่างกายจะไม่ใช่เราแล้ว เป็นของถูกรู้ถูกดู ถ้าเรารู้ร่างกายเฉยๆ อันนี้เป็นการเพ่งกาย เป็นสมถะ แต่ถ้าเรารู้กาย แล้วมีการหมายรู้ลงไป อืม มันไม่ใช่เรา นี่หมายรู้ความเป็นอนัตตาของมัน จิตจะเริ่มเดินปัญญา การเดินปัญญาในเบื้องต้น มันจะแยกขันธ์ได้ มันจะเห็นว่ากายกับจิตคนละอันกัน กายที่ทรงตัวอยู่ในรูปร่างอย่างนี้ ในอิริยาบถอันนี้ เพราะจิตมันสั่ง รู้เหตุรู้ผล

ส่วนจิตของเราจะชั่ว จะดี จะสุข จะทุกข์อะไร เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป เป็นกระบวนการที่สืบเนื่องจากผัสสะ การกระทบอารมณ์ แล้วจะเห็นว่าร่างกายเราอันนี้ ก็มีเหตุ ที่มานั่งอยู่ในนี้เพราะมีเหตุ จิตมันพามานั่ง มันสั่งให้นั่ง จิตใจของเราก็มีเหตุ เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวชั่ว อาศัยผัสสะกระตุ้น แล้วจิตมันทำงานต่อไป มันก็ปรุงเป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นดี เป็นชั่ว ขึ้นมา ตรงที่เราเห็นว่ารูปธรรมก็มีเหตุ นามธรรมก็มีเหตุ เป็นปัญญาที่ยกระดับขึ้นอีก เบื้องต้น ปัญญาเบื้องต้นก็จะแยกรูปนามได้ แยกกายแยกใจได้ แยกธาตุแยกขันธ์ได้

หลวงตามหาบัวท่านเคยสอนว่า “ถ้าแยกธาตุแยกขันธ์ไม่เป็น อย่ามาคุยอวดเราว่าเดินปัญญา” เพราะฉะนั้นเราต้องแยกธาตุแยกขันธ์เป็น เราจะแยกธาตุแยกขันธ์ได้ จิตต้องตั้งมั่น จิตต้องมีกำลัง อย่างเวลาฟังหลวงพ่อเทศน์ จิตมันจะมีกำลัง ไม่ใช่กำลังของเราหรอก อาศัยการเหนี่ยวนำกัน ฟังหลวงพ่อไป จิตมีกำลังสงบขึ้นมา ก็มีเรี่ยวมีแรงขึ้นมา พอออกไปยุ่งกับโลก ฟุ้งซ่าน สมาธิก็เสื่อมอีก ก็ต้องพยายามฝึก ให้จิตมีกำลังด้วยตัวเองให้ได้ พอจิตมีกำลังแล้ว เราหมายรู้ลงในร่างกายเลย ร่างกายที่นั่งอยู่ เป็นของถูกรู้ถูกดู ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ร่างกายที่หายใจออก ก็ถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ร่างกายที่หายใจเข้า ก็ถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา

นั่งไปๆ ฟังเทศน์ไป จิตมีความสุข ก็เห็นอีกความสุขก็ถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ฟังเทศน์ไม่รู้เรื่อง อยากจะไปเที่ยวแล้ว เบื่อแล้ว ใจมีความทุกข์ขึ้นมา แล้วเรามีใจที่ตั้งมั่น ยังเหลือความตั้งมั่นอยู่ โห ใจมันทุกข์ขึ้นมา มันเห็น ความทุกข์ก็ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในจิตใจ กุศลอกุศลทั้งหลายก็ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในใจ

หัดรู้หัดดูเรื่อยๆ ไป ต่อไปเราก็ดูได้ละเอียดลึกซึ้งขึ้นไป เราก็เห็นกระทั่งตัวจิตเอง ตัวจิตเองก็เกิดดับเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เดี๋ยวก็เป็นจิตผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นจิตผู้คิด เดี๋ยวก็เป็นจิตผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นจิตผู้เพ่ง เดี๋ยวเป็นจิตผู้รู้ เป็นจิตหลงไปดู เดี๋ยวเป็นจิตผู้รู้ เป็นจิตหลงไปฟัง เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โอ้ จิตนี้มันไม่เที่ยง แล้วมันจะเป็นอย่างโน้น มันจะเป็นอย่างนี้ เราสั่งไม่ได้ มันเป็นอนัตตา หมายรู้อย่างนี้ หมายรู้ลงเป็นไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆ ถ้าจิตทำสมาธิแล้วมันสงบนิ่งเฉยอยู่ ต้องช่วยมันหมายรู้

อย่างครูบาอาจารย์วัดป่าแต่ดั้งเดิม หลักสูตรของท่านเลย คือพุทโธแล้วพิจารณากาย ท่านพุทโธไปเรื่อยๆ ฝึกกันแรมปี บางทีหลายปี จิตรวมลงไปแล้ว ออกจากสมาธิแล้วจิตก็เฉยๆ จิตเฉยๆ ไม่ดี ไม่เดินปัญญา ครูบาอาจารย์ก็บอกให้ไปพิจารณาร่างกาย อันนี้ถูกเลย ถ้าจิตผ่านฌานมา มาดูจิต ไม่มีอะไรให้ดูหรอก มันว่าง แต่ร่างกายอย่างไรมันก็ไม่ว่าง ร่างกายอย่างไรมันก็ทุกข์ให้เราดูได้ เฝ้ารู้ลงมา หัดหมายรู้ลงมาในกาย เพราะฉะนั้นกายานุปัสสนา จะทำได้ดีกับสมถยานิก คนทรงฌานต้องมาดูกาย

 

ตามรู้ตามเห็นจิตใจเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง

แต่ถ้าเราเดินวิปัสสนายานิก สิ่งที่เหมาะกับวิปัสสนายานิก คือจิตใจของเรานี้ มันกลับกลอก มันเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพราะฉะนั้นเราก็ตามรู้ตามดู เห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของมันเรื่อยๆ ไป อย่างเรานั่งฟังหลวงพ่อเทศน์ ใจเรามีความสุขเราก็รู้ ใจเราทุกข์เราก็รู้ ใจเราเฉยๆ เราก็รู้ รู้แค่นี้ก็พอ หรือบางคนรู้ละเอียดเข้าไปอีก ใจเป็นกุศลก็รู้ ใจโลภ ใจโกรธ ใจหลง ก็รู้ อันไหนก็ได้ ขอให้รู้เท่านั้น แล้วดูไป ทุกสิ่งที่เกิดล้วนแต่ดับทั้งสิ้น

คอยดูไป ร่างกายที่หายใจออก เกิดแล้วก็ดับ ร่างกายที่หายใจเข้า เกิดแล้วก็ดับ ร่างกายที่นั่งอยู่ อีกสักพักหนึ่งก็ต้องดับ ร่างกายที่ยืน ยืนได้ชั่วคราวมันก็ต้องดับไป กลายเป็นร่างกายนั่งอะไรอย่างนี้ ดูไปเรื่อยๆ มีแต่เกิดดับๆ ไปเรื่อย จิตใจนี้เกิดดับรวดเร็วกว่าร่างกายอีก อายุของกาย อายุของรูปยืนกว่าอายุของจิต ถ้าเต็มภูมิเลยก็คือรูปๆ หนึ่ง มีจิต 17 ขณะจิต มีจิตตั้ง 17 ดวง ที่เรารู้รูปๆ หนึ่ง

เพราะฉะนั้นตัวนามธรรมเกิดดับรวดเร็ว รูปธรรมเกิดดับช้ากว่า เปลี่ยนแปลงช้ากว่า แล้วถ้าทรงฌานก็จะดูได้ แล้วก็พวกดูจิตดูใจ มันวอกแวกๆ ตลอดเวลา ไม่ต้องไปทำฌานมากหรอก ทำความสงบพอสมควร เช่น ไหว้พระสวดมนต์ไป เรื่องอะไรที่รกรุงรังจิตใจ โยนทิ้งมันไปก่อน สวดมนต์ไปเรื่อยๆ สวดยาวๆ ไม่เป็น ก็สวดสั้นๆ พุทโธ ธัมโม สังโฆ อะไรก็ได้ ให้จิตมันสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว ให้จิตมีแรงขึ้นมา เดี๋ยวมันจะไปเดินปัญญาต่อ แล้วเราก็จะเห็น ขณะที่พุทโธ ธัมโม สังโฆ แป๊บเดียวหนีไปคิดเรื่องอื่นแล้ว หนีไปคิดเรื่องก่อการร้าย หนีไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ หนีไปคิดเรื่องเงินดิจิทัล ใจวอกแวกๆ หนีไป ให้ตามรู้ตามเห็น จิตใจเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากเลย เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย ให้เราคอยรู้ไว้

เมื่อก่อนหลวงพ่อเคยพาเพื่อนกลุ่มหนึ่ง เรียกว่าเพื่อนก็ไม่เชิง ไปเรียนหลักสูตรสถาบันจิตวิทยาความมั่นคงด้วยกัน คนที่มาเรียนส่วนใหญ่ใกล้เกษียณแล้ว ก็ไปเรียนด้วยกัน แล้วขึ้นไปทางเชียงใหม่ หลวงพ่อก็พากลุ่มหนึ่ง พี่ๆ กลุ่มหนึ่ง ขึ้นถ้ำผาปล่อง ขึ้นไปถึงหลวงปู่สิมท่านก็ให้นั่งขัดสมาธิเพชร แล้วท่านก็เทศน์ให้ฟัง เทศน์ๆๆ ไป มีพี่คนหนึ่งลูกแกไปเรียนอยู่อเมริกา แกก็นึกในใจว่า เอ๊ะ หลวงปู่เทศน์ดีเหลือเกิน เสียดายลูกเราไปเรียนที่อเมริกา ไม่ได้ฟังเทศน์ คิดอย่างนี้ปุ๊บ หลวงปู่หยุดปั๊บเลย หันมาจวกเลย “ตัวนั่งสมาธิอยู่ถ้ำผาปล่อง จิตหนีไปคิดถึงลูกที่อเมริกา เหลวไหล ไม่มีสติแล้ว” จิตใจมันเป็นของรวดเร็ว ฉะนั้นเราจะต้องหมั่นรู้ หมั่นดู หมั่นเรียนมัน

หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อสั้นนิดเดียว ท่านบอก “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” เพราะงานที่หลวงพ่อเรียนจากหลวงปู่ดูลย์ คืองานอ่านจิตตัวเอง ทำไมอยู่ๆ ท่านให้อ่านจิตตัวเอง เพราะหลวงพ่อทำสมาธิมาตั้งแต่เด็กแล้ว จิตมันเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอยู่แล้ว ท่านก็สอนมาดูจิตตัวเองเลย เราก็เห็นจิตเดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย เหมือนเราดูละคร เราดูละครแสดงอยู่ที่เวทีคือจิต จะเห็นตัวละครมากมาย หมุนเวียนกันเข้ามาแสดงบทบาท

เฝ้ารู้เฝ้าดูไปเรื่อยๆ วันหนึ่งก็เข้าใจ จิตไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราหรอก มีแต่ของไม่เที่ยง หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปต่างๆ นานา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ จิตมันก็เข้าใจ ค่อยๆ ฝึก ตามรู้ตามดูความเปลี่ยนแปลงของจิตไป สำหรับคนซึ่งเข้าฌานไม่ได้ ถ้าเข้าฌานได้ ก็ไปทำสมาธิเข้าฌาน ออกจากฌานมา ให้ไปพิจารณากายลงเป็นไตรลักษณ์ หมายรู้ร่างกายลงเป็นไตรลักษณ์ไป ถ้าดูจิตดูใจ ก็หัดหมายรู้จิตว่าเป็นไตรลักษณ์

 

ดูจิตเป็นไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งก็จะวางได้

คราวหนึ่งหลวงพ่อภาวนา ตอนนั้นยังไม่ได้บวชหรอก จิตมันวางจิตลงไปแล้ว จิตมันวางจิตแล้ว มันก็หยิบฉวยจิตขึ้นมาอีก หลวงพ่อก็นึกทำอย่างไร มันจะไม่หยิบอีก วางแล้ววางเลย วันหนึ่งได้ข่าวว่าหลวงปู่สุวัจน์ กลับมาจากอเมริกา มาอยู่ที่สวนทิพย์ในข้างๆ วัดกู้ที่ปากเกร็ด หลวงพ่อก็ดีใจจะรีบไปกราบท่าน วันนั้นจิตมันวางจิตอยู่พอดี จะรีบเอาจิตที่วางจิตไปให้ท่านดู ว่าทำอย่างไรจะวางแล้วไม่หยิบอีก ปรากฎว่าพอขึ้นรถ ขับออกจากบ้านเท่านั้นเอง จิตก็หยิบฉวยจิตขึ้นมาอีก แล้วคราวนี้ทำอย่างไร จิตก็ไม่ยอมวางจิต

ดูมาเรื่อยๆ จากเมืองนนท์ฯ วิ่งไปปากเกร็ด ก็ไม่นานเท่าไรหรอก แต่ว่าในความรู้สึกของเรานานเหลือเกิน เพราะเราต่อสู้ดุเดือดมากเลย เพื่อจะให้จิตมันปล่อยวางจิต แล้วมันไม่ยอมวาง จนกระทั่งรถมันมาถึงปากซอยวัดกู้แล้ว ตอนนั้นก็ถอดใจ เราทำไม่ได้ จิตมันเป็นอนัตตา เราสั่งไม่ได้ สั่งให้วางก็ไม่ได้ พอมองว่าจิตมันเป็นอนัตตา เราสั่งมันให้ปล่อยวางไม่ได้ จิตก็วางจิตเลย เอ้า วางแล้ว คราวนี้เอาไปให้หลวงปู่ดูได้แล้ว ก็เข้าไปนั่งรอท่านสักพัก เขาก็เข็นรถเข็นท่านออกมา ท่านเป็นอัมพาต เข็นรถเข็นออกมา เราก็กราบ คนก็เข้าไปนั่งกันเต็มห้องนั้น

หลวงปู่ก็ยิ้มไปยิ้มมา มองหลวงพ่อแวบเดียว แล้วท่านก็พูดเลยบอก “การปฏิบัติ บางทีจิตมันก็ปล่อยวางจิต พอจิตมันปล่อยวางจิต แล้วมันก็หยิบฉวยจิตขึ้นมาอีก ทำอย่างไรๆ มันก็ไม่ยอมวางจิต จนกระทั่งเห็นมันเป็นไตรลักษณ์ มันก็วาง” ท่านพูดอย่างนี้เลย ไม่ได้ถามอะไรท่านสักคำ แล้วท่านก็หันมามองหน้า แล้วท่านก็ยิ้มๆ หลวงพ่อก็เข้าใจแล้ว เพราะฉะนั้นการที่เราเห็นจิตหยิบฉวยจิตอยู่ ถ้าเราดูจิตเป็นไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งก็วางได้ ตัวนี้ เพราะฉะนั้นเราก็หัดดูจิต ให้มันเป็นไตรลักษณ์เสีย ถ้าเราดูจิต

บางคนอ้างว่าเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ด้วยซ้ำไป แต่ว่าไม่ใช่หรอก เป็นแต่ชื่อ ก็จะสอนให้เราทำจิตให้ว่าง ให้จิตสว่าง ให้ว่างแล้วนิ่งๆ ความคิดเกิดขึ้นให้ปัดทิ้งให้หมดเลย ให้ว่างๆ นี่ล่ะจะได้นิพพาน มันไม่นิพพานหรอก มันรู้สึกว่าจิตเป็นของบังคับได้ ควบคุมได้ตามใจชอบ จะวางได้ก็ต้องเห็นไตรลักษณ์ จะเห็นจิตไม่เที่ยง ไม่เที่ยงเป็นอย่างไร “ไม่เที่ยง” หมายถึงของที่มีอยู่ แล้วมันกลับไม่มี ของที่ไม่มีแล้วมันกลับมี เรียกมันไม่เที่ยง อย่างจิตเราเป็นผู้รู้อยู่ แล้วมันก็หมดความเป็นผู้รู้ กลายเป็นผู้หลงไป อย่างนี้เรียกว่ามันไม่เที่ยง หรือหลงอยู่แล้วก็ความหลงก็ดับไป เกิดเป็นผู้รู้ขึ้นมา อย่างนี้เรียกว่ามันไม่เที่ยง

คำว่า “เป็นทุกข์” ก็หมายถึงว่า สิ่งซึ่งกำลังมี กำลังถูกบีบคั้นให้หมดไปสิ้นไป อย่างจิตที่เป็นผู้รู้ ก็ถูกบีบคั้นให้หมดไปสิ้นไป เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด หมุนเวียนอย่างนี้ เรียกว่าทุกขัง ทุกขตา “อนิจจัง” หมายถึงสิ่งทั้งหลาย เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับไป “ทุกขัง” สิ่งซึ่งกำลังมีอยู่ กำลังถูกบีบคั้นให้ดับไป มันจะละเอียดขึ้นไปอีกนิดหนึ่ง แล้วก็อนัตตาก็คือ สิ่งทั้งหลายจะมีอยู่ จะเกิดขึ้น จะตั้งอยู่ หรือจะดับไป ไม่ใช่เพราะเราสั่ง เราสั่งไม่ได้ “อนัตตา

“อนิจจัง” เห็นสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ ล้วนแต่ดับไปทั้งสิ้น “ทุกขัง” เห็นว่าสิ่งที่มีอยู่ กำลังถูกบีบคั้นให้ดับไป “อนัตตา” เห็นว่าสิ่งทั้งหลายจะมีอยู่ หรือจะดับไป ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ การเห็นอย่างนี้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วถึงจุดหนึ่งมันจะวางได้ ถ้าเราเห็นร่างกายเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จุดหนึ่งมันก็วางร่างกายได้ ถ้าเห็นจิตเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถึงจุดหนึ่งมันก็วางจิตได้

ตอนหลวงพ่อบวชพรรษาแรก นึกถึงหลวงปู่สุวัจน์ คิดว่าท่านใกล้มรณภาพแล้ว ยังไม่ได้ 5 พรรษา แต่ว่าจำเป็นต้องขึ้นไปหาท่าน ไปถึงเขาก็เข็นท่านออกมา ก็ไปเล่าถวายท่านบอก “พ่อแม่ครูอาจารย์ให้ผมดูจิต ผมก็ดูจิตอยู่” จิตท่านจากที่ถูกยาโด๊ปไว้จนเบลอหมดแล้ว จิตท่าน Alert ขึ้นมาตื่นตัวเลย แล้วบอก “ผมก็วางจิตลงไป” ท่านร้อง “หือ” ขยับตัวขึ้นมานั่งได้ ขยับจากเก้าอี้ “แล้วผมก็หยิบขึ้นมาอีก” ท่านก็ “เฮ้อ” กลับไปพิงเก้าอี้อย่างเดิม ท่านก็บอก “ไม่มีอะไรหรอก ทิ้งมันไปเลย” ทิ้งมันไปเลย ท่านพูดง่าย เราก็นึกในใจ โอ้ หลวงปู่ทิ้งแล้ว หลวงปู่ก็ว่าทิ้งง่ายๆ เรายังทิ้งไม่ได้

มันก็ไม่ง่ายหรอก ของเคยทำ มันก็ทำได้แล้ว มันก็ง่าย ของยังไม่เคยทำ มันทำไม่ได้ มันก็ยากล่ะ มันก็รู้อยู่ ก็ค่อยๆ ฝึก ดูจิตดูใจให้เห็นไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งมันก็วางของมัน ไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะปล่อยวาง จิตมันวางของมันเอง เราสั่งจิตให้วางไม่ได้ ฉะนั้นการภาวนา เราก็ค่อยๆ ทำของเราทุกวันๆ ศีล 5 ต้องรักษา ทุกวันทำในรูปแบบ คือทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไว้ วันไหนจิตฟุ้งซ่านไม่ต้องเดินปัญญา น้อมจิตให้สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว วันไหนจิตมีกำลังแล้วเจริญปัญญาไป ดูความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย แล้วก็เวลาที่เหลืออยู่ในโลกธรรมดานี้ เจริญสติในชีวิตประจำวันให้ได้

ตอนเราทำในรูปแบบ เราหัดดูจิตใจตัวเอง อย่างทำกรรมฐานแล้ว จิตหลงไปคิด เรารู้ จิตถลำไปเพ่ง เรารู้ พอเราฝึกชำนาญ เรามาฝึกกรรมฐานในชีวิตประจำวัน ตาเห็นรูป จิตไหลไปทางตา เรารู้ทัน จิตไหลไปทางหู เรารู้ทัน จิตไหลไปทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เรารู้ทัน จิตไหลไปคิด เรารู้ทัน จิตถลำลงไปเพ่ง เรารู้ทัน อยู่ในชีวิตประจำวัน เราเจริญสติในชีวิตประจำวัน การเจริญสติในรูปแบบ เราทำกรรมฐานในห้องพระ ในห้องของเราเอง เราจะลดอายตนะ เวลาเราอยู่ในห้องของเรา ในบ้านของเรา อายตนะที่เราเหลืออยู่ในการทำกรรมฐาน ก็คือกายกับใจ ร่างกายนั่งอยู่ จิตใจเป็นคนรู้อะไรอย่างนี้ แต่เวลาเรามาอยู่ในชีวิตจริง เจริญสติในชีวิตประจำวัน เราใช้อายตนะ 6 ตัวเลย ไม่ใช่เหลือ 2 ตัว แต่ก่อนจะมา 6 ตัวได้ เราซ้อมจาก 2 ตัวมาก่อน

รู้สึกกาย รู้สึกใจไป ทำกรรมฐาน จิตไหลไปที่กาย รู้ จิตหนีไปคิดก็รู้ รู้ทันไว้ ต่อไปพอมาอยู่ในชีวิตจริง ตาเห็นรูป จิตหลงไปดูรูป รู้ทัน รู้ตรงไหน รู้ที่จิต ตอนนี้จิตหลงแล้ว หลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือหลงไปคิด นี่หลงทางใจ หรือถลำลงไปเพ่ง นี่หลงไปเพ่ง การที่เราเคยฝึกในรูปแบบ เป็นการฝึกรู้เท่าทันจิตที่หลง พอเรามาอยู่ในชีวิตจริง อยู่ในชีวิตประจำวัน จิตมันไหลไปทางอายตนะใดก็ตาม สติเกิดเองเลย นี่เรียกว่าการเจริญสติในชีวิตประจำวัน ศีล สมาธิ ปัญญาของเราจะสมบูรณ์ขึ้นอย่างรวดเร็ว

อย่างตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์แล้ว เรารู้เท่าทันจิตตัวเอง เราจะเกิดศีลชนิดหนึ่ง เรียกว่าอินทรียสังวรศีล สูงกว่าศีลเป็นข้อๆ อินทรียสังวรศีล เป็นศีลที่จะเกิดจากการสำรวมอินทรีย์ สำรวมอินทรีย์ อินทรีย์ก็คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำรวมอินทรีย์ ไม่ใช่ว่ามีตาแล้วไม่ดู มีหูไม่ฟัง มีใจไม่คิด สำรวมอินทรีย์ก็คือ เมื่อมีการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจแล้ว เกิดอะไรขึ้นกับจิตใจให้รู้ทัน นั่นล่ะเราสำรวมอินทรีย์เรียบร้อยแล้ว เรามีศีลที่ดี

แล้วขณะที่เรารู้ทันสภาวะ จิตหลงไปอย่างไรเรารู้ จิตก็จะตั้งมั่นขึ้น เราก็จะเกิดสัมมาสมาธิอัตโนมัติขึ้น ต่อไปเราก็จะเห็น จิตเดี๋ยวก็ไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เที่ยง จิตที่ไปทางตาก็ไม่เที่ยง ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ไม่เที่ยง จิตจะไปทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็สั่งไม่ได้ อันนี้คืออนัตตา

การดูจิตจะเห็นอนิจจังกับอนัตตาได้ชัด ส่วนทุกขตา การเห็นจิตเป็นตัวทุกข์ อันนี้เหมาะกับคนทรงฌาน ถ้าเราทรงฌาน เวลาภาวนาจะแตกหักข้ามภพข้ามชาติ มันจะเห็นตัวทุกข์ เรียกหลุดพ้นด้วยการเห็นทุกข์ เรียกอัปปณิหิตวิโมกข์ หลุดด้วยการเห็นทุกข์ แต่อย่างพวกเราไม่ได้ทรงฌาน เราก็ดูจิตไป จิตไม่เที่ยง จิตเป็นอนัตตา ดูไปอย่างนี้ ดูเรื่อยๆ ไป เดี๋ยววันหนึ่งมันก็เข้าใจ จิตทั้งหมด ทั้งสุขและทุกข์ ทั้งดีและชั่ว ทั้งรู้ ทั้งหลง ล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตทั้งหมดไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา พอเห็นจิตไม่ใช่เราแล้ว ขันธ์ 5 มันก็ไม่เป็นเรา โลกก็ไม่เป็นเรา เพราะขันธ์ 5 ปรากฎขึ้นมาได้ด้วยจิต โลกทั้งโลกก็ปรากฎขึ้นมาด้วยจิต ถ้าจิตไม่เป็นเรา อย่างอื่นมันก็ไม่เป็นเราด้วย

 

สะสมต้นทุนการปฏิบัติให้มาก แล้วการปฏิบัติจะง่าย

ฉะนั้นเราตัดลงที่จิตเลย มันไม่ยากหรอก พูดอีกแล้วว่าไม่ยาก หลวงพ่อแต่เดิมก็พูดมาตลอด โอ๊ย การปฏิบัติไม่ยากหรอก อ่านจิตอ่านใจตัวเองไปเรื่อยๆ มันฟุ้งซ่านก็มาทำความสงบเข้ามา สงบแล้วก็อ่านจิตใจเองไปเรื่อย ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย หลวงพ่อพูดอย่างนี้เรื่อยๆ วันหนึ่งครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ หลวงปู่ทุย หลวงปู่ทุยอยู่บึงกาฬ ลูกศิษย์ท่านเอาซีดีหลวงพ่อ เอาหนังสือหลวงพ่อไปให้ท่าน ท่านก็ดู ท่านก็อ่าน ท่านก็อ่าน แล้วท่านบอกเลย ท่านเห็นด้วยกับอาจารย์ปราโมทย์ทุกข้อเลย ไม่เห็นด้วยข้อเดียว คือมันยาก มันไม่ง่ายหรอก หลวงพ่อตอนนั้นรู้สึกมันง่าย เอ๊ะ ท่านบอกมันยาก เราก็ อืม ท่านว่ายากก็ยาก แต่สำหรับเรา เรารู้สึกง่าย

พอสอนพวกเรามาเรื่อยๆ เห็นพวกเราภาวนา โอ๊ย ทำไมมันล้มลุกคลุกคลาน มันยากนัก เออ มันก็ยากจริงๆ อย่างที่ท่านว่า เมื่อเช้าก็มีทิด 4 คนมาส่งการบ้าน ก่อนที่หลวงพ่อจะเทศน์ พวกที่เคยบวชกับหลวงพ่อมี 4 คนมาส่งการบ้าน คนหนึ่งฟุ้งซ่านยังไม่เป็นเลย อีกคนหนึ่งยังเพ่งอยู่ มี 2 คนที่จิตตื่นขึ้นมาแล้ว แล้วเขาพูดเลยว่า เขาไม่รู้สึกยากอะไร รู้สึกง่ายจะตายไป การปฏิบัติ จิตมันตั้งมั่นเด่นดวง มันเห็นทุกสิ่งทุกอย่างผ่านมาผ่านไป

คนหนึ่งเป็นพระเอกซีรีส์ พระเอกละคร คนนี้เขาเล่นละครเก่ง เขาดูโลกนี้ เห็นคนทั้งโลก เห็นตัวเองอยู่ในโลกนี้ กำลังเล่นละครอยู่ ละครนี้ไม่ใช่อยู่ในเวที ไม่ได้มีผู้กำกับอะไรหรอก แต่คนทั้งหลาย กำลังเล่นละครอยู่ทั้งโลกเลย โลกนี้คือละครโรงใหญ่ แล้วพอมาดูจิตใจตัวเอง ก็เห็นละครในจิตใจอีก เพราะฉะนั้นใจนี้จืด ใจนี้จืดกับโลก ใจที่จืดๆ นี้ คือใจมันเป็นอุเบกขาเพราะปัญญา จืดนี้ไม่ใช่ใจแห้งแล้ง เป็นทุกข์ทรมาน ไม่ใช่ ใจมันเห็นโลกตามความเป็นจริงแล้ว โลกนี้เหมือนฝันอยู่ โลกนี้เหมือนละคร ไม่ได้มีอะไรจริงจังเลย มีแต่ของที่เล่นๆ หลงๆ กันไปวันๆ ใจเห็นอย่างนี้ โลกก็กลายเป็นของจืด ใจก็ไม่หลงกับโลก ฉะนั้นคนนี้ก็เลย โอ้ ภาวนาถูกใจหลวงพ่อจัง แล้วเขาบอกว่าการภาวนาง่าย

อีกคนหนึ่งก็ดีเหมือนกัน เขาก็บอกภาวนานี้ง่าย ใจมันรู้ มันตื่น มันเบิกบาน แต่ก่อนที่ 2 คนนี้จะง่าย มันยากมาแล้วทั้งนั้น เมื่อเช้าเลยสรุปให้เขาฟัง ทำไมบางคนภาวนาแล้วง่าย บางคนภาวนาแล้วยาก อยู่ที่อินทรีย์ของเรา อินทรีย์ของเราแก่กล้า บุญบารมีเราแก่กล้า เราสะสมของเรามามาก การปฏิบัติง่าย ถ้าต้นทุนของเราต่ำ การปฏิบัติก็ยาก ต้นทุนของการปฏิบัติ ก็คล้ายๆ ต้นทุนในโลก เราเกิดมายากจน ต้นทุนไม่มี จนมากเลย หาอยู่หากินไปวันๆ หนึ่ง โอกาสที่จะไปลงทุนแล้วร่ำรวย หายาก บางคนต้นทุนเยอะ เกิดมาพ่อแม่รวย ทำอะไรก็ โอ๊ย สบาย ไม่ต้องทำมาหากินเลย ใช้เงินทำงานแทน ตัวเองไม่ต้องทำ หากินง่าย ทำไมเขาหากินง่าย ก็ต้นทุนเขาเยอะ

ในทางธรรมก็เหมือนกัน พวกเราขณะนี้ สะสมต้นทุนของเราไว้ให้ดี วันนี้ยาก วันข้างหน้าก็ง่าย แล้วจริงๆ เราจะพบเลย ถ้าจิตเราตั้งมั่นพอแล้วก็ การปฏิบัติมันง่ายจริงๆ เราไม่ได้ทำอะไร จิตมันตั้งมั่น แล้วมันก็เห็นรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย เป็นแค่ปรากฎการณ์ เป็นปรากฎการณ์ที่ไหลมาไหลไป ไหลมาไหลไป โลกนี้เหมือนความฝัน โลกนี้เหมือนโรงละคร โลกนี้เป็นภาพลวงตา ใจมันก็คลายออกจากโลก ง่ายๆ มันคลายของมันเอง ไม่ได้ทำอะไร ฉะนั้นก่อนที่มันจะง่าย มันก็ยาก แล้วพอเราภาวนาเป็น เราสะสมพอ มันก็ง่ายแล้วคราวนี้ รู้อะไรก็สักว่ารู้ว่าเห็นได้

อย่างองค์ที่ท่านเรียนเรื่องสักว่ารู้ว่าเห็น ก็คือพระพาหิยะ พระพาหิยะ เมื่อเช้าหลวงปู่สุจินต์ ท่านก็พูดถึงพาหิยะ พระพุทธเจ้าสอน “ดูกร พาหิยะ เมื่อตาเห็นก็สักว่าเห็น เมื่อได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน เมื่อทราบก็สักแต่ว่าทราบ ในการใดที่สักแต่ว่า สักแต่ว่า ตัวท่านย่อมไม่มี เมื่อไม่มีตัว ไม่มีตน ก็ไม่มีที่ตั้งของความทุกข์” ฟังเท่านี้ก็บรรลุพระอรหันต์แล้ว ทำไมง่ายจัง ก่อนจะเป็นพาหิยะ เกิดมาในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ก่อน พระกัสสปพุทธะ เกิดในยุคปลายศาสนาของพระกัสสปะ ท่านภาวนาขึ้นภูเขาไปภาวนา จนกระทั่งตายเลย สู้ตายก็ตายจริงๆ สะสมบุญบารมีมาเต็มเปี่ยมแล้ว พอมาชาตินี้ได้ฟังธรรมะนิดเดียวปิ๊งเลย ง่าย เป็นเอตทัคคะทางรู้เร็ว

ฉะนั้นพวกเราเห็นคนอื่นเขาง่าย ก็เพราะเขาเคยทำมาแล้ว เรายากก็เพราะเราสะสมมาน้อย เราก็อย่ายอมแพ้ สะสมของเราไปให้มาก ทำทุกวันๆ นั่นล่ะ ถือศีล 5 ทุกวันทำในรูปแบบ กรรมฐานอะไรก็ได้ แต่ขออย่างเดียว ให้คอยรู้เท่าทันจิตตัวเอง เช่น หายใจจิตหนีไปคิดก็รู้ จิตถลำไปเพ่งลมหายใจก็รู้ ฝึกอย่างนี้ให้มาก แล้วต่อไปมาเจริญสติในชีวิตประจำวันได้ หลวงปู่มั่นท่านบอก “ทำสมาธิมากเนิ่นช้า คิดพิจารณามากฟุ้งซ่าน หัวใจสำคัญของการปฏิบัติ คือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน” หลวงปู่สุวัจน์ท่านเคยเล่าให้หลวงพ่อฟังอย่างนี้ ว่าท่านเรียนจากหลวงปู่มั่นมาอย่างนี้

เพราะฉะนั้นหัวใจของการปฏิบัติ คือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน แต่เราทำตรงนี้ได้ เพราะเราเคยฝึกในรูปแบบมาแล้ว อยู่ๆ มาเจริญสติในชีวิตประจำวัน ทำไม่ได้หรอก จิตมันไม่ตั้งมั่น สติก็ไม่มี มีแต่หลงคิด เพราะฉะนั้นวันนี้ยอมลำบากเสียก่อน แล้ววันข้างหน้าจะได้สบาย วันนี้เอาแต่สุข เอาแต่สบาย เอาแต่เพลิดเพลิน มันก็ลำบากไปเรื่อยๆ แล้วยิ่งลำบากมากขึ้นๆ เพราะจิตใจมันคุ้นเคยกับความหลง มันจะมารู้สึกตัวนี้ยากมาก เมื่อเช้าก็เตือนทิดคนหนึ่ง บอก “เฮ้ย ตั้งใจจริงบ้าง ทุ่มเทลงไปกับการปฏิบัติ อย่าเอาแต่หลงโลก สนุกเพลิดเพลินไปวันๆ ยิ่งแก่ยิ่งทำยาก”

ต่อไปเราจะทำบุญ สรงน้ำหลวงปู่สุจินต์ ท่านเป็นพระดี ลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ที่หลวงพ่อกราบไหว้ก็มีองค์นี้ล่ะ

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
11 พฤศจิกายน 2566