สติมีหน้าที่รักษาจิต

ธรรมะจริงๆ ไม่มีคำพูดหรอกนะ เมื่อก่อนหลวงพ่อเรียนกับครูบาอาจารย์ ท่านพูดไม่กี่คำ เราก็ต้องภาวนาเอาเอง ของที่พูดได้ไม่ใช่ของจริงหรอก ของจริงมันไม่พูด ไม่มีคำพูด ร่างกายของจริง ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ เป็นความรู้สึก ไม่มีคำพูด ความปรุงแต่ง ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความโกรธก็ไม่มีคำพูด มันมีลักษณะมีอาการของมันเอง ความโลภก็มีลักษณะมีอาการของมันเอง มีการทำงาน ความหลงก็เป็นอย่างเดียวกัน อย่างความโกรธเกิดขึ้นเป็นสภาวธรรมนามธรรม เป็นสังขารขันธ์ อยู่ในสังขารขันธ์ ไม่มีคำพูด แต่พอโกรธแล้วมันมาครอบงำจิตใจ พอเราเกิดความคิดขึ้นมา ถึงมีคำพูดขึ้นมา

 

เรียนวิปัสสนากรรมฐานต้องเรียนให้เห็นสภาวะ

ฉะนั้นสภาวธรรมจริงๆ ไม่มีคำพูดหรอก ไม่ว่ารูปธรรมหรือนามธรรม อย่างวิตก ความตรึก จิตมันตรึกขึ้นมา อาการตรึกนั่นล่ะตัววิตก เรื่องราวที่ตรึกไม่ใช่วิตก พูดออกมาเป็นคำๆ ได้ ไม่ใช่ของจริงหรอก เจ้าคุณนรฯ บอกของจริงนิ่งเป็นใบ้ ของพูดได้ไม่ใช่ของจริง ครูบาอาจารย์ที่ท่านภาวนาดีๆ พูดธรรมะออกมา แหม่ สะใจๆ ร่างกายมันก็ไม่ได้คิดอะไร ร่างกายนั่งอย่างนี้ เห็นไหมร่างกายหายใจออก มันมีหน้าที่หายใจออกก็หายใจ มันมีหน้าที่หายใจเข้าก็หายใจ มันทำหน้าที่ของมัน ทำงานของมันไป ความสุขก็ทำหน้าที่ของมัน ความทุกข์ก็ทำหน้าที่ของมัน กุศลก็ทำหน้าที่ของมัน โลภโกรธหลงก็ทำหน้าที่ของมัน จิตก็ทำหน้าที่ของมัน

จิตมีลักษณะอะไร มีลักษณะเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ลักษณะนี้เป็นลักษณะเฉพาะตัว ธาตุดินก็มีลักษณะเฉพาะตัวมีความแข็ง ธาตุน้ำมีความซึมซ่าน ธาตุไฟเป็นความอบอุ่นเป็นความร้อน แต่ละอย่างมันมีลักษณะเฉพาะตัว ทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรมที่เป็นสภาวธรรม สภาวธรรมทั้งหลายไม่ว่าจะรูปธรรมหรือนามธรรมมีลักษณะเฉพาะตัว นิพพานก็มีลักษณะเฉพาะตัว นิพพานมีลักษณะอะไร มีสันติลักษณะ นิพพานสงบ

เวลาเราจะภาวนา เราต้องหลุดออกจากโลกของความคิดให้ได้ ความคิดปิดบังความจริงเอาไว้ อย่างความรู้สึกโกรธเกิดขึ้น อันนี้เป็นสภาวธรรม เราโกรธคนนั้นโกรธคนนี้ มันทำเราอย่างนั้นอย่างนี้ อันนี้ไม่ใช่สภาวธรรม เป็นความฟุ้งความคิดของจิต เป็นเรื่องราวที่คิด เรื่องราวที่คิดเขาเรียกอารมณ์บัญญัติ สิ่งที่มีสภาวธรรมมีรูปธรรมนามธรรมแล้วก็นิพพาน มีสภาวะ

ในการที่เราจะเจริญวิปัสสนากรรมฐานจริงๆ ต้องทะลุสมมติบัญญัติเข้าไปเห็นสภาวะให้ได้ แล้วสภาวะที่เราจะใช้ทำวิปัสสนานี่ก็คือรูปธรรมกับนามธรรม นิพพานเอาไปทำวิปัสสนาไม่ได้ เพราะตอนที่เราทำวิปัสสนาเราจะดู มันจะแสดงไตรลักษณ์ให้ดูสภาวธรรมแต่ละตัวทั้งรูปธรรมนามธรรม นิพพานไม่มีไตรลักษณ์ นิพพานมีสภาวะมีลักษณะอันเดียวเป็นสันติ สงบสันติ นิพพานพ้นจากไตรลักษณ์ในแง่ของความไม่เที่ยง ในแง่ของความเป็นทุกข์คือการถูกบีบคั้น แต่นิพพานมีลักษณะอันเดียวคืออนัตตา จะแตกต่างกับสภาวธรรมตัวอื่น

ถ้าจิตของเรามีคุณภาพถึงขนาดเห็นนิพพาน ขณะนั้นไม่จำเป็นต้องทำวิปัสสนาแล้ว เราทำวิปัสสนามาเต็มภูมิแล้ว แล้วจิตรวมลงไปเห็นพระนิพพาน เห็นครั้งแรกก็ตอนที่เกิดโสดาปัตติมรรคโสดาปัตติผล เห็นต่อมาก็สกทาคามีมรรคสกทาคามีผล เห็นอย่างนั้นจนอรหัตตมรรคอรหัตตผล แล้วก็เวลาที่เราทำสมาธิใช้นิพพานเป็นอารมณ์ อันนี้เฉพาะพระอริยบุคคลถึงทำได้ สมาธิที่ใช้นิพพานเป็นอารมณ์เรียกผลสมาบัติ ผลสมาบัติ พวกเราทำไม่ได้ เราเป็นปุถุชน

ฉะนั้นเวลาเราจะเรียนวิปัสสนากรรมฐาน ต้องเรียนให้เห็นสภาวะของรูปธรรมสภาวะของนามธรรม เราจะเข้ามาเห็นสภาวะของรูปธรรมนามธรรมได้ จิตต้องตั้งมั่นขึ้นมา จิตตั้งมั่นนี่เป็นจิตที่พ้นจากความคิดแล้ว ถ้าจิตยังคิดอยู่ จิตก็ยังแกว่งไปแกว่งมา กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลงไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นก่อนที่เราจะมาเดินวิปัสสนาได้ เราจะต้องมาฝึกจิตให้ทรงสมาธิที่ถูกต้องเสียก่อน ฉะนั้นบทเรียนของพระพุทธเจ้ามีลำดับมีขั้นตอนที่งดงาม

 

ก่อนที่จิตจะตั้งมั่นได้ ต้องฝึกจิตให้มีศีลก่อน

ขั้นตอนแรกก่อนที่จิตเราจะตั้งมั่นได้ เราต้องฝึกให้จิตมีศีลเสียก่อน ศีลโดยตัวมันแปลว่าปกติ เห็นไหมเป็นปกติ จิตเราปกติไหม จิตเราไม่ปกติ จิตเราถูกกิเลสจับเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาทั้งวันทั้งคืน ตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลส เราก็มาตั้งใจรักษาศีลให้ดี ทีแรกก็ยังเป็นศีลขั้นต้น เป็นศีลเที่ยวไปขอมาจากพระ ศีลที่ขอ ไม่แข็งแรง เราไปขอมาแล้วตั้งใจว่าเราจะไม่ทำบาปอกุศล 5 ประการ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ทำร้ายสัตว์ ไม่ขโมยคนอื่น ฉ้อโกงอะไรพวกนี้ไม่เอา อันนี้คือประทุษร้ายต่อทรัพย์

อันแรกศีลข้อ 1 ห้ามประทุษร้ายต่อชีวิตและร่างกาย ศีลข้อที่ 2 ห้ามประทุษร้ายต่อทรัพย์ ศีลข้อที่ 3 ไม่ให้ประทุษร้ายต่อคนที่เขารัก ทำร้ายจิตใจเขาไหม ไปแย่งคนที่เขารัก ทำร้ายจิตใจเขา อันที่ 4 ไม่ประทุษร้ายด้วยคำพูดด้วยการสื่อความหมาย อาจจะไม่ต้องพูดก็ได้ อย่างหลวงพ่อเห็นมีข่าวเด็กอ้วนๆ อะไรนั่น จะด่ารัฐบาล ชูนิ้ว อันนี้ผิดข้อไหน ด่าเขาล่ะแต่ไม่ออกเสียง แต่ว่าใช้สัญลักษณ์ด่า อันนี้ก็มุสาเหมือนกัน มุสาวาทแต่ว่าใช้สัญลักษณ์ ศีลข้อที่ 5 ไม่ประทุษร้ายต่อสติของตัวเอง 1-2-3-4 ไม่ทำร้ายคนอื่น ข้อ 5 ไม่ทำร้ายตัวเอง ถ้าเราประทุษร้ายสติของตัวเอง โอกาสจะทำผิดศีลข้อ 1-2-3-4 ไม่ยาก มันเป็นเรื่องประทุษร้าย

ฉะนั้นเรามาถือศีล ตั้งใจเราจะไม่ประทุษร้ายคนอื่น ไม่ประทุษร้ายสัตว์อื่น ไม่ว่าจะชีวิตร่างกายเขา ทรัพย์สินของเขา หรือคนที่เขารัก ก็ไม่ทำร้ายเขาด้วยคำพูด บางทีไม่ได้ประทุษร้ายทางร่างกาย ประทุษร้ายด้วยคำพูด แล้วก็ตัวสำคัญไม่ประทุษร้ายสติของตัวเอง ถ้าเราฝึกตัวเองเราจะรู้เลยศีลมีคุณค่ามาก ถ้าเรายังคิดประทุษร้ายต่อคนอื่น คิดประทุษร้ายต่อสัตว์อื่น จิตเราจะไม่มีความสงบ คนที่คิดจะฆ่าเขา คิดจะขโมยเขา คิดจะเป็นชู้กับเขา คิดจะปลิ้นปล้อนหลอกลวงเขา จิตใจไม่มีทางสงบหรอก มันคิดไปในทางไม่ดี พยาบาทวิตก กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก คิดไปทางนั้น ฉะนั้นศีลจำเป็นนะ จำเป็น

ถ้าเราตั้งใจรักษาศีล เบื้องต้นก็ตั้งใจรักษาศีล 5 ข้อ ต่อไปเราพัฒนาการถือศีลของเราให้สูงขึ้น เราไม่ต้องรักษาศีล 5 ข้อ เรารักษาจิตดวงเดียว ศีลจะมีกี่ร้อยข้อก็ตาม ถ้าเรารักษาจิตของเราไว้ได้ ศีลตัวอื่นก็ไม่ผิดหรอก สมัยพุทธกาลมีพระองค์หนึ่งมาบวช มีคน โยมมาบวชคนหนึ่ง ก็เป็นพระองค์หนึ่ง แล้วพระองค์นี้ตั้งใจดี ตั้งใจว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร พระพุทธเจ้าห้ามอะไร เราจะปฏิบัติตามทุกอย่าง ไม่บิดพลิ้ว แล้วท่านพบว่าพระวินัยมีเยอะมากเลย วินัยมีทั้งวินัยในปาติโมกข์ วินัยนอกปาติโมกข์ก็ยังมีอีก แล้วก็มีข้อวัตรต่างๆ อีกตั้งเยอะตั้งแยะ สิ่งที่พระต้องทำมากมายมหาศาล

ท่านพบว่าตัวเองทำไม่ไหว ศีลเยอะเกิน ทำไม่ไหวนะ ถ้าขืนเป็นพระต่อไปเดี๋ยวจะทำให้หมู่สงฆ์เสียหาย ทำให้พระพุทธเจ้าเสียหาย ท่านก็เลยไปทูลลาพระพุทธเจ้า บอกข้าพระองค์ถือศีลจำนวนมากไม่ได้ ขอสึก เวลาสึกก็เลยเรียกว่าลาสิกขาๆ ขอลาออกจากการศึกษา สิกขาคือคำว่าศึกษานั่นเอง ลาออกจากการศึกษาในสำนักของพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าบอกถือศีลจำนวนมากไม่ได้ แล้วถ้าถือข้อเดียวได้ไหม ท่านบอกถ้ามีข้อเดียวท่านรักษาได้ พระพุทธเจ้าบอกให้มีสติรักษาจิตเอาไว้ข้อเดียวล่ะ ท่านก็เลยทำ มีสติรักษาจิตอยู่ เวลาจิตเกิดความโกรธ อยากทำร้ายคนอื่น อยากทำร้ายสัตว์อื่น อยากลักขโมย อยากเป็นชู้กับเขาอะไรขึ้นมา อยากจะไปด่าเขา ท่านมีสติรักษาจิต ท่านเห็นจิตมันถูกกิเลสครอบงำ ทันทีที่เรามีสติรักษาจิตอยู่ กิเลสอะไรเกิดเรารู้ทันปั๊บ กิเลสจะขาดสะบั้นอัตโนมัติ จิตก็ไม่ถูกกิเลสครอบงำ เมื่อจิตไม่ถูกกิเลสครอบงำ จิตไม่ทำผิดศีลหรอก คนเราทำผิดศีลได้เพราะจิตถูกกิเลสครอบงำ

พระพุทธเจ้าท่านเก่งนะ ท่านเห็นว่าศีลเป็นข้อๆ ที่บัญญัติไว้มากมาย พระองค์นี้ทำไม่ได้ ให้ทำข้อเดียว มีสติรักษาจิตตัวเองไป อ่านจิตตัวเองไป แล้วสิ่งที่ได้คือศีล ได้ศีลอันงามครบบริบูรณ์ แล้วองค์นี้ไม่นานท่านก็บรรลุพระอรหันต์ได้ ฉะนั้นพวกเราถือศีลให้เป็น ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เรามีสติรู้เท่าทัน กิเลสอะไรเกิดขึ้นในจิตใจเรา รู้เท่าทัน แล้วกิเลสมันระงับไป จิตใจเราก็เป็นปกติ เห็นไหม จิตมีศีลแล้ว ศีลคือความเป็นปกติความเป็นธรรมดาของจิต ไม่ถูกกิเลสซัดเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง

 

ฝึกสมาธิด้วยจิตใจที่ปกติ

ฉะนั้นการที่เรามีสติรักษาจิต เราจะได้ศีลอัตโนมัติ แล้วการที่เรามีสติรักษาจิตอยู่นั้น เราจะได้สมาธิอัตโนมัติด้วย พอจิตใจเราเป็นปกติ ไม่ยากเลยที่จะทำสมาธิ พวกเราสังเกตไหม เรียนสมาธิกับหลวงพ่อ หลวงพ่อบอกอยู่เรื่อยๆ ใช้ใจธรรมดารู้อารมณ์ไป อารมณ์ใดที่มีความสุขก็รู้อารมณ์นั้นไป อารมณ์นั้นต้องไม่ยั่วให้เกิดกิเลส รู้ไปธรรมดา รู้ด้วยใจธรรมดา ถ้าเราทำคำว่าธรรมดาได้ สมาธิเกิดอย่างรวดเร็วเลย ที่สมาธิเราไม่เกิด เพราะเราเอาใจไม่ธรรมดาไปทำ เช่นเอาใจที่เคร่งเครียดไปนั่งปฏิบัติด้วยใจเครียดๆ เมื่อไรจะสงบ ไม่สงบหรอก หรือใจเราฟุ้งซ่านไปนั่ง เมื่อไรจะหายฟุ้งซ่าน ไม่หายหรอก ถ้าเราสามารถใช้ใจที่ปกติ ใจที่ทรงศีลเป็นใจที่ปกติอยู่แล้ว ฉะนั้นใจที่ปกติใจที่ธรรมดานี่ล่ะเอาไว้ทำสมาธิ สมาธิเกิดง่ายมากเลย เพราะใจที่ปกติมีความสุขมีความสงบอยู่ในตัวเอง มันมีความสุขแล้วไปรู้อารมณ์ที่มีความสุข สุขกับสุขเจอกัน ความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ

ถ้าเรามีอารมณ์ที่มีความสุข สมมติอย่างหลวงพ่อหายใจแล้วมีความสุข หลวงพ่อหายใจแล้วมีความสุข แต่ว่าหลวงพ่อมีใจที่โลภอยากสงบเร็วๆ นี่ใจไม่มีความสุข ถึงจะเป็นอารมณ์ที่เคยมีความสุข แต่ใจไม่สงบเสียอย่างเดียว ใจไม่มีความสุขเสียอย่างเดียว ความสงบไม่เกิด สมาธิไม่เกิดหรอก เพราะฉะนั้นเราพยายามมีสติรักษาจิตของเราไว้ พอจิตใจเราเป็นปกติ จิตใจเราเป็นธรรมดา เอาจิตปกติเอาจิตธรรมดาล่ะไปทำสมาธิ ถนัดกรรมฐานอะไรก็รู้อารมณ์กรรมฐานอันนั้นด้วยจิตใจปกติ

พอเรารู้อารมณ์กรรมฐานอันนั้นด้วยใจปกติแล้ว ต่อมาใจเริ่มไม่ปกติ ไม่ปกติมันทำอะไรบ้าง มันหลงไปคิดอย่างนี้ เริ่มไม่ปกติแล้ว หลงไปอยู่ในโลกของความคิดไหลๆๆ ไป ให้เรามีสติอีก รู้ทัน อาการที่ไหลไปก็จะดับ จิตที่ไหลไปมันเกิดจากอำนาจของกิเลสชื่ออุทธัจจะ ทำให้ใจเราฟุ้ง หรือเรานั่งภาวนา เราเพ่ง เพ่งอารมณ์กรรมฐานนี่ ใจไม่ปกติแล้ว เวลาเราเพ่ง ใจจะแน่นๆ จะอึดอัด เกือบร้อยละร้อยของนักปฏิบัติมีใจที่ไม่ปกติ ไม่เผลอก็เพ่ง ถ้าภาวนาไม่เก่งก็จะเผลอนั่งสมาธิแพล็บเดียวก็ใจลอยไปแล้ว ถ้าภาวนามานานๆ แหม่ เพ่งเก่ง พอเริ่มนั่งก็เพ่งเลย จิตก็แน่นๆ อึดอัดขึ้นมา โถน่าเสียดาย ทำลายจิตที่ปกติของตัวเองไปเสียแล้ว ด้วยอะไร ด้วยอำนาจของโลภะ อยากดี อย่างใจฟุ้งๆ ไปด้วยอำนาจของโมหะ หรือบางทีเกิดสัญญาคิดถึงคนที่เกลียด ใจฟุ้งซ่านไปด้วยความเกลียด ด้วยความโกรธ ด้วยโทสะ

สิ่งเหล่านี้มันมารบกวน ฉะนั้นให้เราทำกรรมฐานเสียอย่างหนึ่ง แล้วก็ใช้ใจที่ปกติรู้ไป สงบก็ได้ ไม่สงบก็ได้ ช่างมันๆ สงบก็ทำ ไม่สงบก็ทำไป ขยันก็ปฏิบัติ ขี้เกียจก็ปฏิบัติไป อยู่ในอารมณ์กรรมฐานของเราไป แล้วถ้าจิตหนีไปจากอารมณ์กรรมฐาน หลงไป เผลอเพลินไป มีสติรู้ทัน ถ้าจิตถลำไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน อันนี้ก็หลง แต่ว่าเป็นการหลงเพ่ง แล้วเราก็รู้ทัน ตรงที่เรารู้ทันจิตที่หลงไปคิดหลงไปเพ่ง จิตก็หายหลง พอหายหลงจิตก็เป็นปกติอีกล่ะ พอจิตเป็นปกติรู้อารมณ์ที่เป็นธรรมดา มีความสุข แพล็บเดียวก็สงบแล้ว ตรงนี้ที่จะเป็นวสีหรือไม่เป็นวสี คือชำนาญในสมาธิหรือไม่ชำนาญในสมาธิ เคล็ดลับมันอยู่แถวนี้ล่ะ

ฉะนั้นบางคนนั่งสมาธิแล้วเครียด ไม่มีสมาธิสักที ถ้าภาวนาเป็น ใช้ใจปกติ นี่ยังไม่ทันอึดใจ จิตก็รวมแล้ว ฉะนั้นฝึกนะ อาศัยเริ่มต้นก็คือทำใจให้เป็นปกติก่อน ใจที่เป็นปกติก็คือใจมันมีศีล ศีลแปลว่าความปกติ ก็มีสติดูแลจิตใจของตัวเองไป จิตใจโลภรู้ทัน จิตใจโกรธรู้ทัน จิตใจหลงรู้ทัน จิตฟุ้งซ่านรู้ทัน จิตหดหู่รู้ทัน รู้ไปอย่างนี้ แล้วศีลเกิดเอง พอศีลเกิด ใจเราก็เป็นธรรมดา

ต่อมาพอกิเลสมายั่ว นิวรณ์ทั้งหลายมายั่วมากระตุ้นให้จิตเราทำงานขึ้นมา ผิดธรรมดาอีกแล้ว แล้วเราก็มีสติรู้ทันเข้าไปอีก กิเลสนิวรณ์อะไรพวกนั้นก็ดับ จิตก็กลับมาเป็นธรรมดา รู้อารมณ์ที่มีความสุขไปด้วยจิตใจธรรมดา ไม่ทำด้วยโลภ ไม่ทำด้วยโกรธ โกรธแล้วอย่างไร ภาวนาแล้วหงุดหงิด โมโหตัวเอง ทำไมมันดื้อนัก ทำไมมันไม่รู้เรื่อง ทำไมมันไม่สงบอะไรอย่างนี้ อันนี้ทำด้วยโทสะ ใช้ไม่ได้แล้ว จิตไม่มีวันสงบหรอก ถ้าจิตไม่มีราคะโทสะโมหะ จิตสงบเอง สงบอยู่ในตัวของมันเอง ที่มันกระเพื่อมหวั่นไหวก็เพราะกิเลสที่จรมานั่นเอง

 

จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้แล้วให้เดินปัญญา

จิตที่มันสงบเป็นจิตที่ตั้งมั่นรู้ตื่นเบิกบาน จิตที่ดีตัวนี้ หรือที่ครูบาอาจารย์ท่านเรียกว่าจิตผู้รู้ มีจิตผู้รู้ ทีนี้ถ้าเราฝึก จิตเราไหลแล้วรู้ ไหลแล้วรู้ ในที่สุดจิตผู้รู้จะเกิดขึ้น พอจิตผู้รู้เกิดขึ้นแล้ว คราวนี้จิตเราพร้อมที่จะเจริญปัญญาแล้ว เห็นไหมว่าการปฏิบัติตั้งแต่ต้นสายตั้งแต่การรักษาศีล เราจะทำได้ดีถ้าเรามีสติคุ้มครองรักษาจิต สมาธิจะเกิดเมื่อเราใช้จิตใจที่ปกติ จิตใจปกติเพราะมีสติคุ้มครองรักษา แล้วจิตจะสงบเอง เป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน

จิตนั้นโดยธรรมชาติของมันนั้น ประภัสสร สว่าง ผ่องใส สงบ มีความสุข ทีนี้จิตตัวนี้ สงบ สว่าง แต่ไม่สะอาด จิตผู้รู้มีความสงบคือมีสมาธิมีความสว่าง ไม่ถูกกิเลสครอบงำ ไม่ถูกโมหะย้อม สว่างไสว สบาย แจ่มใส กลางวันก็สว่าง กลางคืนก็สว่าง แต่ไม่สะอาด เคยได้ยินไหมท่านพุทธทาสท่านชอบพูดว่า สงบ สว่าง สะอาด สะอาดต้องเจริญวิปัสสนาถึงจะสะอาด

ฉะนั้นจิตผู้รู้ หลวงตามหาบัวท่านบอก จิตผู้รู้คือจิตอวิชชา มันคือที่ซ่อนของหัวหน้ากิเลส หัวหน้ากิเลสทั้งหมดก็คืออวิชชา เป็นพระราชาของกิเลส เป็นประธานาธิบดีของกิเลส กิเลสทั้งหมดก็ตกอยู่ใต้อำนาจของหัวหน้ากิเลสคืออวิชชา อวิชชาไม่ได้อยู่ที่อื่น อวิชชาอยู่ที่จิตผู้รู้นั่นเอง คือจิตที่ประภัสสร จิตที่สงบ จิตที่สว่าง แล้วเราค่อยมาฟอกให้จิตดวงนี้ ด้วยสติด้วยสมาธิด้วยปัญญาซ้ำลงไปอีก ในที่สุดจิตที่สกปรกก็กลายเป็นจิตที่สะอาดขึ้นมา คราวนี้เราก็ได้ทั้งจิตที่สงบ ได้จิตสว่างสงบสะอาด ได้ครบหมด ฉะนั้นจิตใจที่บริสุทธิ์ผุดผ่องมันสว่างไสวอยู่ทั้งวันทั้งคืน ไม่มืดไม่มัวหรอก มันมืดมัวเพราะกิเลสที่แทรกเข้ามา

ฉะนั้นงานปฏิบัติถึงจะมี 3 อย่าง 3 ขั้นตอน คือขั้นศีลสิกขา การฝึกศีล ฝึกให้มีศีล จิตตสิกขา การฝึกให้จิตมีสมาธิที่ถูกต้อง ปัญญาสิกขา การฝึกให้จิตที่มีสมาธิถูกต้องแล้ว ไปเรียนรู้ความจริงของรูปธรรมนามธรรม ต้องมารู้รูปนาม ไม่ใช่ไปรู้บัญญัติ อย่างถ้าจิตเรามีกำลังตั้งมั่นแล้ว ดูลงมาในกายนี่ดูให้เห็นไตรลักษณ์ ไม่ใช่ดูปฏิกูลอสุภะ ปฏิกูลอสุภะมันทำให้จิตสงบ เป็นอุบายให้จิตสงบ แต่ถ้าเราดูไตรลักษณ์ จิตถึงจะยอมวาง อย่างเราดูร่างกายเป็นปฏิกูลอสุภะ แล้วเราดูไปปุ๊บ กายของเทวดาไม่เห็นจะเป็นปฏิกูลอสุภะเลย กายมนุษย์ไม่ดี แต่กายเทวดาดี เห็นไหม ยังไปอย่างโน้นอีก มีทางตะแบงหนีไปหาภพภูมิอื่นๆ ที่ประณีตยิ่งขึ้น

แต่ถ้าเราเห็นกายนี้เห็นใจนี้ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เป็นเทวดาร่างกายก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์จิตใจก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เป็นพรหมร่างกายก็อยู่ใต้ไตรลักษณ์จิตใจก็อยู่ใต้ไตรลักษณ์อีก หาสาระแก่นสารไม่ได้เลยในภพภูมิต่างๆ อย่างนี้มันเห็นรวบยอดเลยนะว่า ไม่ว่าจะไปอยู่ในภพภูมิใดๆ ก็หาความสุขความสงบที่แท้จริงไม่ได้หรอก ยังถูกเบียดเบียนถูกย่ำยีด้วยไตรลักษณ์ตลอดเวลา ฉะนั้นเวลาจิตของเราจะเจริญปัญญา จิตเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้แล้วนี่ให้เดินปัญญา

วิธีเดินปัญญาทำอย่างไร ขั้นต้นหัดแยกรูปแยกนามให้ได้ก่อน อย่างเวลาพวกเรามาเรียนกับหลวงพ่อ หรือเวลาเข้าใกล้หลวงพ่อ หรือเวลาเรานึกถึงหลวงพ่อ เราอยู่บ้านแล้วเรานึกถึงหลวงพ่อ จิตเราจะตั้งมั่น มันคือสังฆานุสตินั่นล่ะ อย่างหลวงพ่อแต่ก่อนนี้ทำงานมากๆ หัวหมุนติ้วๆ เลย หายใจไปนี่จิตไม่รวมนะบางที จิตไม่สงบ เพราะว่าคิดมาเป็นหลายชั่วโมงแล้ว เรื่องเครียดๆ หลวงพ่อแค่นึกถึงหลวงปู่ดูลย์ นึกถึงหลวงปู่ดูลย์ พอเรานึกถึงหน้าท่านปุ๊บ ใจเรามีความสุขแล้ว ใจเรามีความสงบ สมาธิเกิดแล้ว ง่ายๆ เลย

ฉะนั้นอย่างพวกเรามานั่งฟังหลวงพ่อ รู้สึกไหมจิตมีพลัง ไม่ใช่หลวงพ่อเก่งหรอก แต่เพราะว่าพวกเราตั้งใจฟัง ตั้งใจฟังธรรมะด้วยจิตใจที่สบายๆ จิตใจปกติ จิตใจเราก็มีสมาธิขึ้นมา พอจิตเรามีสมาธิขึ้นมา เราก็เริ่มเดินปัญญาแยกรูปนาม เห็นไหมรูปมันนั่งอยู่ รู้สึกไหมร่างกายมันนั่งอยู่ รู้สึกไหม ยากไหมที่จะรู้ว่าตอนนี้ร่างกายกำลังนั่ง ใครไม่รู้ว่าร่างกายกำลังนั่งอยู่บ้าง มีไหมในห้องนี้ ถ้ามีหลวงพ่อแนะนำ ปรึกษาจิตแพทย์อย่างเร่งด่วนเลย ถ้าเรื่องอย่างนี้ไม่รู้ก็บ้าแล้ว กำลังนั่งอยู่ไม่รู้ว่านั่งอยู่ สังเกตไหมว่าร่างกายมันนั่ง ใครเป็นคนรู้ว่าร่างกายนั่ง จิตเป็นคนรู้ นี่แยกรูปธรรมแยกนามธรรม

 

จุดตั้งต้นของการเจริญปัญญาคือการแยกรูปแยกนาม

จุดตั้งต้นของการเจริญปัญญาคือการแยกรูปแยกนาม ร่างกายส่วนหนึ่ง จิตเป็นคนรู้อยู่ส่วนหนึ่ง ร่างกายเคลื่อนไหว จิตก็เป็นคนรู้ ร่างกายหายใจ จิตก็เป็นคนรู้ ไปทำนะ ไปทำ ไม่ว่าเราจะเคลื่อนไหวอย่างไร จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะกิน จะดื่ม จะทำ จะพูด เห็นร่างกายเคลื่อนไหว จิตเป็นคนรู้ไป ดูสิมันจะเอาดีไม่ได้หรือ เป็นไปไม่ได้หรอกที่จะหาดีไม่ได้ ถ้าทำอย่างที่หลวงพ่อบอก ที่จริงไม่ใช่หลวงพ่อบอก หลวงพ่อพุธท่านสอน ยืนเดินนั่งนอนกินดื่มทำพูดคิด มีสติ ยืนเดินนั่งนอนกินดื่มทำพูดเห็นไหมเป็นเรื่องทางกาย คิดเป็นเรื่องทางใจ ยืนเดินนั่งนอนกินดื่มทำพูด ร่างกายมันทำจิตเป็นคนเห็น นี่คือการแยกรูปแยกนาม หรือจิตมันคิด เราเห็นความคิดก็อันหนึ่งจิตก็อันหนึ่ง นี่แยกละเอียดเข้าไป แยกนามธรรม แยกนามธรรมละเอียดเข้าไปอีก

ฉะนั้นเบื้องต้นทำอะไรไม่ได้ นึกถึงพระพุทธเจ้าก็ได้ นึกถึงครูบาอาจารย์สักองค์หนึ่ง แต่ตรงนี้เสี่ยง ตรงนี้เสี่ยง ไปนึกถึงผีเปรตเข้า จิตเราย่ำแย่เลย นึกถึงพระพุทธเจ้าล่ะปลอดภัย อย่างถ้าเรียน หลวงพ่อเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ ฝากเป็นฝากตายกับท่าน หลวงพ่อนึกถึงหลวงปู่ดูลย์ ทันทีที่นึกถึงหลวงปู่ดูลย์ จิตมีสมาธิขึ้นทันทีเลย จิตใจสงบ นี่เรียกสังฆานุสติ

นึกถึงพระพุทธเจ้าก็ได้ ทีนี้นึกถึงพระพุทธเจ้า เรานึกหน้าพระพุทธเจ้าไม่ออก จะนึกถึงพระพุทธเจ้าตัวจริง พระพุทธเจ้าตัวจริงคืออะไร คือคุณธรรมที่ทำให้ท่านเป็นพระพุทธเจ้า นั่นล่ะคือพระพุทธเจ้า ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจริงๆ คือตัวธรรมะ ส่วนพระพุทธเจ้าที่มีขน ผม เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก มีพระธาตุอะไร นี่เป็นวัตถุ เป็นวัตถุ ไม่ใช่พระพุทธเจ้าหรอก พระพุทธเจ้าก็อาศัยฉันอาหารเข้าไปมันก็กลายมาเป็นเลือดเป็นเนื้อ เป็นกระดูกอะไรต่ออะไรขึ้นมา นี่สมบัติของโลก

พระพุทธเจ้าตัวจริงคือคุณธรรม นี่เรานึกถึงพระพุทธเจ้าที่เป็นคุณธรรม นึกไม่ออก เป็นอย่างไร นึกถึงพระพุทธเจ้านึกไม่ออก ลองนึกถึงพระพุทธเจ้าสิ นึกออกไหม ที่นึกออกนะคือนึกถึงพระพุทธรูป นึกถึงพระพุทธรูปได้ไหม ก็ได้เหมือนกันล่ะ สมมติว่าเราชอบพระสักองค์ อย่างหลวงพ่อชอบพระชินราช นึกถึงพระชินราชใจก็สงบได้ อันนี้ไม่ใช่พุทธานุสติแท้ๆ แล้วนะ อาศัยสัญลักษณ์ ไม่ใช่รู้จักพระพุทธเจ้าโดยตรง แต่ว่าสร้างสัญลักษณ์ขึ้นมาแทนพระพุทธเจ้า เอาไว้นึกถึง อย่างครูบาอาจารย์ทำพระเครื่อง ท่านบอกมีพระเครื่องท่านต้องถือศีล 5 นะ อันนี้อุบายของท่านล่ะ

ทีนี้หลวงพ่อแต่ก่อนใช้วิธีทำอานาปานสติ หรือไม่อย่างนั้นก็นึกถึงหลวงปู่ดูลย์ ใจก็จะสงบ ได้สมาธิแล้ว พอมีสมาธิแยกขันธ์ ร่างกายส่วนหนึ่งจิตใจอยู่ส่วนหนึ่ง แยกกัน ต่อไปก็แยกได้ละเอียดขึ้น จิตใจนั้นยังมี 2 ส่วน มีจิตที่เป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์กับอารมณ์ที่เป็นนามธรรมทั้งหลาย เช่นความรู้สึกสุขทุกข์ ความจำได้หมายรู้ ความปรุงดีปรุงชั่ว อันนี้เป็นตัวนามธรรมที่ไม่ใช่จิต นามธรรมนี่มี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเรียกว่าจิต ส่วนหนึ่งเป็นธรรมะที่เกิดร่วมกับจิตเรียกว่าเจตสิก เจตสิกมี 3 อย่าง คือเวทนา ได้แก่ความรู้สึกสุขความรู้สึกทุกข์ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ สัญญาคือความจำได้ความหมายรู้ จำได้กับหมายรู้ 2 อันไม่เหมือนกัน แล้วสังขารคือความปรุงดีความปรุงชั่วความปรุงไม่ดีไม่ชั่ว สิ่งเหล่านี้เกิดร่วมกับจิต

 

แยกขันธ์ออกไปได้ จะเห็นไตรลักษณ์ได้

ถ้าเราหัดภาวนา ใจเราขี้โกรธ เราก็เห็นใจมันโกรธขึ้นมาเราก็รู้ ความโกรธหายไปเราก็รู้ ทีแรกเราก็เห็นอย่างนี้ ต่อมาเราฉลาดขึ้น จิตใจเราพัฒนาขึ้น ความโกรธผุดขึ้นมา เราเห็นความโกรธเป็นของถูกรู้ถูกดู จิตเป็นผู้รู้ผู้ดู ความโกรธไม่ใช่จิต จิตไม่เคยโกรธ เราสามารถแยกความโกรธกับจิตออกจากกันได้แล้ว เหมือนที่เราแยกกายกับจิตออกจากกัน ร่างกายนั่งอยู่ ร่างกายไม่ใช่จิต แต่ว่าจิตเป็นคนรู้ว่าร่างกายกำลังนั่ง รู้ว่าร่างกายกำลังหายใจ จิตเป็นคนรู้

พอมาถึงนามธรรม ถ้าเราขี้โกรธ ความโกรธผุดขึ้นมา เราก็จะเห็นความโกรธก็อันหนึ่งจิตก็อันหนึ่ง จิตเป็นคนรู้ ความโกรธเป็นของถูกรู้ พอเราเห็นอย่างนี้ความโกรธไม่เกี่ยวอะไรกับจิต เป็นของแปลกปลอมเข้ามาชั่วคราวแล้วมันก็ไป เหมือนแขก แขกไม่ใช่แขกอินเดียอะไรนะ หมายถึงคนซึ่งมาเยี่ยมเรา เดี๋ยวคนนั้นมาเดี๋ยวคนนี้มา หรือเหมือนคนเดินผ่านหน้าบ้าน เราอยู่ในบ้านเราเห็นคนโน้นมาคนนี้มา เขาเดินไปเดินมา หรือบ้านอยู่ริมถนนเห็นรถคันนั้นมารถคันนี้มา เห็นไหลไปไหลมา คนที่เดินผ่านหน้าบ้านเรา ไม่ใช่เรา รถยนต์ที่วิ่งอยู่ในถนนวิ่งไปวิ่งมา ไม่ใช่เรา เหมือนกับที่ความโกรธไม่ใช่เรา มันเป็นของที่แปลกปลอมผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านออกไป ความโลภก็เป็นของแปลกปลอมผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านออกไป เราแยกอย่างนี้เรียกว่าเราแยกขันธ์ได้ ถ้าเราแยกขันธ์ได้เรียกว่าเราเริ่มเจริญปัญญาแล้ว

ของง่ายที่สุดก็คือแยกกายกับใจออกจากกัน ถัดจากนั้นก็แยกละเอียดต่อไป จิตใจยังมี 2 ส่วน คือจิตกับธรรมชาติที่เกิดร่วมกับจิต ภาษาปริยัติเรียกว่าเจตสิก ความรู้สึกสุขความรู้สึกทุกข์ความจำได้ความหมายรู้ แล้วก็ความปรุงดีความปรุงชั่วปรุงไม่ดีไม่ชั่ว สิ่งเหล่านี้มันผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ผ่านมาแล้วผ่านไป ตรงที่ผ่านมาแล้วผ่านไปนั้นมันกำลังสอนไตรลักษณ์เรา สังเกตไหมความโกรธจะมาหรือความโกรธจะไป สั่งไม่ได้ มันไม่ใช่ตัวเรา นี่มันแสดงอนัตตาให้ดู ความโกรธเมื่อกี้ไม่มี ตอนนี้มี มีอยู่ประเดี๋ยวหนึ่งหายไปอีกแล้ว อันนี้แสดงอะไร อันนี้กำลังสอนอนิจจังให้เรา

เพราะฉะนั้นถ้าเราแยกขันธ์ออกไปได้ เราจะเห็นไตรลักษณ์ได้ แต่ถ้าเราแยกขันธ์ไม่ได้ จะเห็นไตรลักษณ์ไม่ได้ อย่างตัวนี่เป็นกลุ่มเป็นก้อน เราจะรู้หรือว่ามันเกิดดับ ไม่รู้หรอก แต่ถ้าเราแยกส่วนออกมาได้ เราจะเห็นมันไม่ใช่เราหรอก มันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ทั้งหมดเลย ร่างกายเป็นอะไร ร่างกายเป็นวัตถุ ร่างกายคงที่ไหม ไม่คงที่ ร่างกายเป็นวัตถุเป็นก้อนธาตุ มีธาตุไหลเข้ามีธาตุไหลออกตลอดเวลา ธาตุไหลเข้าเช่นหายใจเข้าหายใจออก กินอาหารขับถ่ายดื่มน้ำเข้าไปแล้วเป็นเหงื่อออกมา นี่ธาตุมันหมุนนะ มันไม่เที่ยงให้ดู แล้วร่างกายนี่ดูแลรักษาให้ดีวิเศษแค่ไหน มันก็ถูกบีบคั้นให้ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ห้ามไม่ได้หรอก มันเป็นทุกข์ มันถูกบีบคั้นให้ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ร่างกายนี้เป็นวัตถุธาตุไม่ใช่ตัวเราของเรา นี่คืออนัตตา

พอเราแยกธาตุแยกขันธ์ได้ เราจะเห็นเลยแต่ละอย่างนั่นมันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ นี่คือวิปัสสนากรรมฐาน ฉะนั้นถ้าแยกธาตุแยกขันธ์ไม่เป็น รวมเป็นก้อนอยู่อย่างนี้ ยังทำวิปัสสนาไม่ได้หรอก ต้องแยกให้ได้ก่อน จะแยกได้จิตต้องเป็นผู้รู้ พอจิตเป็นผู้รู้ร่างกายนั่งอยู่นี่เห็นไหม ร่างกายอยู่ส่วนหนึ่ง จิตเป็นคนรู้อยู่อีกส่วนหนึ่ง นี่แยกได้แล้ว แล้วต่อไปก็หมายรู้ลงไป ร่างกายนี้เป็นแค่วัตถุธาตุ มีธาตุไหลเข้าไหลออกตลอดเวลา ไม่เที่ยง ร่างกายนี้ถูกบีบคั้น มีความทุกข์บดขยี้อยู่ตลอดเวลา นี่เรียกทุกขตา ร่างกายนี้จะสุข จะทุกข์ จะดี จะเจ็บ จะตาย อะไรอย่างนี้ ห้ามไม่ได้ บังคับไม่ได้ สั่งว่าอย่าแก่มันก็แก่ อย่าเจ็บมันก็เจ็บ อย่าตายมันก็จะตาย อันนี้คืออนัตตา

พอเราแยกขันธ์ได้ แล้วเราจะเห็นเลยว่ามันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ถ้าเราแยกเวทนาได้ เราก็จะเห็นความสุขกับจิตคนละอันกัน ความทุกข์กับจิตก็คนละอัน ความไม่สุขไม่ทุกข์เฉยๆ กับจิตก็คนละอันกัน เราก็จะเห็นพอเรากระทบอารมณ์ที่ถูกใจ ความสุขก็เกิด ความสุขเกิดอยู่ชั่วคราวแล้วก็ผ่านไป เมื่อกี้ไม่มีความสุข ตอนนี้มีความสุข นี่สภาวะที่เฉยๆ กลายเป็นสภาวะที่สุข ฉะนั้นสภาวะเฉยๆ ก็ไม่เที่ยง นี่พอมีสภาวะสุขเกิดขึ้นอยู่ชั่วคราวก็หายไป สภาวะที่สุขก็ไม่เที่ยง ดูเรื่อยๆ แล้วจะเห็นเลย สุขก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ สั่งให้สุขก็ไม่ได้ นี่เป็นอนัตตา ความสุขไม่มีสั่งให้มีก็ไม่ได้ ความสุขกำลังมีอยู่สั่งให้อยู่ตลอดก็ไม่ได้ นี่คืออนัตตา นี่คือวิปัสสนากรรมฐาน คือการเห็นไตรลักษณ์ของรูปธรรมนามธรรม

ฉะนั้นเราจะเห็นไตรลักษณ์ของรูปธรรมนามธรรมได้ ต้องแยกรูปแยกนามได้ก่อน จะแยกรูปแยกนามได้จิตต้องตั้งมั่น จิตจะตั้งมั่นได้จิตต้องมีศีลหนุนหลังอยู่ ถ้าจิตไม่ปกติถูกกิเลสเหวี่ยง ไม่ปกติ จิตก็ไม่ตั้งมั่นไม่สงบ จิตไม่สงบไม่ตั้งมั่นขันธ์ไม่แยก ถ้าขันธ์แยกแล้วเราถึงจะเห็นไตรลักษณ์ได้

 

มีสติคอยรู้เท่าทันจิตตัวเอง แล้วสติจะเป็นผู้รักษาจิตเอง

เห็นไหมธรรมะของพระพุทธเจ้าเรียงลำดับงดงามมากเลย เราก็หัดดูไป ถนัดดูกายก็ดูไป ร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถนัดดูเวทนาก็ดูไป เวทนาทางกายทั้งสุขทั้งทุกข์ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถนัดดูเวทนาทางใจเราก็ดูไป เวทนาทางใจทั้งสุขทั้งทุกข์ทั้งเฉยๆ ล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถนัดดูสังขาร เช่น จิตโกรธกับจิตไม่โกรธ จิตมีความโกรธเกิดขึ้นความโกรธหายไป หรือจิตโลภเกิดขึ้นจิตโลภหายไป ตัวความโกรธ ความโลภ ความหลง ความฟุ้งซ่าน หดหู่ หรือความดีงามทั้งหลายคือสังขาร คือความปรุงของจิต เราจะเห็นสังขารทุกชนิดเกิดแล้วดับทั้งสิ้น เห็นอย่างนี้ ดูเรื่อยๆ แล้วต่อไปพอชำนิชำนาญมากขึ้น กำลังของเรามากพอ เราจะเห็นจิตเกิดดับได้

ทีแรกเราก็เห็นจิตเกิดดับผ่านทางเจตสิก จิตสุขเกิดแล้วก็ดับ จิตทุกข์เกิดแล้วก็ดับ จิตดีเกิดแล้วก็ดับ จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลงเกิดแล้วก็ดับ นี่เราเห็นจิตเกิดดับโดยเกิดดับร่วมกับเจตสิก จิตกับเจตสิกเกิดด้วยกันดับด้วยกัน ถ้าเราชำนาญการปฏิบัติมากขึ้น เราดูจิตเกิดดับทางอายตนะทั้ง 6 แล้วเราจะเห็นเลย จิตเดี๋ยวก็เป็นตัวรู้อยู่ อ้าว ตอนนี้เป็นตัวคิดไปแล้ว อ้าว ตอนนี้เป็นตัวไปดูรูป ตอนนี้ไปฟังเสียง ตอนนี้ไปดมกลิ่น ตอนนี้ไปลิ้มรส ตอนนี้ไปรู้สัมผัสทางกาย จิตรู้ก็ไม่เที่ยง จิตดูรูปก็ไม่เที่ยง จิตดมกลิ่น ลิ้มรส รู้สัมผัสทางกายก็ไม่เที่ยง จิตคิดนึกทางใจก็ไม่เที่ยง จิตเพ่งก็ไม่เที่ยง นี่เห็นอนิจจัง

จิตจะเป็นผู้รู้หรือผู้คิด เราก็เลือกไม่ได้ จิตจะออกไปรับอารมณ์ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย เราก็เลือกไม่ได้ อย่างเราจงใจ ลองตั้งใจดูพระพุทธรูปสิ ดูอย่างเดียวนะ ไม่คิด ลองทำดูสิ ทำได้ไหม ทำไม่ได้ เราสั่งจิตว่าจงรู้รูปอย่างเดียว ทำไม่ได้ เดี๋ยวมันก็ พอดีได้ยินเสียงไก่ขันอย่างนี้ อ้าว ลืมดูพระแล้ว จิตวิ่งไปที่ไก่แล้ว หรือคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ขึ้นมา จิตเปลี่ยนตลอดเวลา

กลับมาทำความรู้สึกตัว อย่างเมื่อกี้เราดูพระพุทธรูป จิตออกนอก เพราะฉะนั้นพอจิตออกนอกแล้ว กลับมารู้สึกตัวสิ รู้สึกไป ทำอย่างไรจะรู้สึกตัว ทำใจปกติ รู้ไปธรรมดาๆ ถ้าอยากสงบอยากให้จิตใจอยู่กับตัว ไม่สงบ จิตใจไม่อยู่กับตัว แต่จิตจะไปหลงอยู่ในโลกของความคิดเลย ฉะนั้นธรรมะที่ให้วันนี้ มีสติรักษาจิตไว้ กิเลสอะไรเกิดกับจิตใจรู้ไว้ แล้วเราจะได้ทั้งศีล ได้ทั้งสมาธิ ได้ทั้งปัญญา ถ้าศีล สมาธิ ปัญญาของเราสมบูรณ์แล้ว ไม่ต้องห่วง อย่างไรวิมุตติคืออริยมรรคอริยผลต้องเกิด ถ้าศีล สมาธิ ปัญญาสมบูรณ์แล้วอริยมรรคอริยผลก็จะเกิดขึ้น ถ้าศีลยังกระพร่องกระแพร่ง ไม่ได้กินหรอก อย่างบางคนโอ้อวด อวดด้วยตัวเองบ้าง ใช้พรรคพวกอวดบ้างว่าเป็นพระอรหันต์ แต่ใจยังโลภใจหิวอยากโน้นอยากนี้ ไม่ใช่หรอก ใจยังถูกกิเลสฟัดเหวี่ยงกระเด็นไปกระเด็นมา ไม่ได้กินหรอก ใจไม่ปกติ ใจถูกกิเลสครอบงำ

ฉะนั้นเรามีสติคุ้มครองรักษาจิตตนเองไปเรื่อยๆ คุ้มครองไม่ใช่ไปเฝ้าไม่ให้จิตกระดุกกระดิก มีสติคอยรู้เท่าทันจิตตัวเองนั่นล่ะ คอยอ่านจิตตัวเองนั่นล่ะ แล้วสติจะเป็นผู้รักษาจิตเอง เราไม่ต้องรักษาจิต รักษาอย่างไรก็ไม่ได้ สติจะทำหน้าที่อารักขา อารักขาคือมันทำหน้าที่คุ้มครองจิตใจไม่ให้ตกไปสู่ที่ชั่ว เพราะฉะนั้นเรามีสติอ่านจิตอ่านใจตัวเองไปเรื่อย จิตก็ได้รับความคุ้มครองได้รับการดูแล ไม่ทำผิดศีล ไม่ฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความตั้งมั่น แล้วการที่เรามีสติ ถ้าจิตเราตั้งมั่น แล้วสติระลึกรู้อะไรก็ตาม อันนั้นจะแสดงไตรลักษณ์ได้ ถ้าจิตเราไม่ตั้งมั่น เราคิดถึงไตรลักษณ์ ไม่ใช่วิปัสสนา

ถ้ายังคิดอยู่ไม่ใช่วิปัสสนา วิปัสสนานั้นเหนือความคิดแล้ว ได้เห็นของจริง ความคิดไม่ใช่ของจริง ไม่ใช่รูปธรรมไม่ใช่นามธรรม แต่ทำวิปัสสนาบอกแล้วต้องรู้รูปธรรมต้องรู้นามธรรม ไปดูแลรักษาจิตตัวเองให้ดี จิตใจของสำคัญ เป็นของวิเศษประจำตัวเรา หลวงปู่มั่นท่านบอกใจเป็นของวิเศษ เป็นดวงวิเศษ เป็นของประจำตัวเรา เรามีอยู่ทุกคน สัตว์ทั้งหลายก็มีใจ ยกเว้นพรหมลูกฟัก สัตว์อื่นๆ มีใจทั้งนั้น ฉะนั้นพวกเราก็มีใจอยู่แล้วล่ะ เพียงแต่ใจของเราไม่มีสติปัญญาคุ้มครองรักษา มันปนเปื้อนกิเลส ก็แค่นั้นล่ะ

ฉะนั้นเรามีสติดูแลจิตใจของตัวเอง ไม่ได้บังคับ กิเลสจะมาก็ได้ให้มันมา เราแค่รู้ ไม่ต้องไปไล่มัน แล้วมันก็ไปเองเพราะมันไม่เที่ยง เวลาเราปฏิบัติกับกิเลส เหมือนเรือ เรือไม่ไหลตามน้ำไป แล้วก็เรือไม่ขวางน้ำ ถ้าเราขวางกิเลสเมื่อไร เราเครียดตายเลย ถ้าเราไหลตามกิเลสไป เหมือนเรือไม่มีเครื่องยนต์ ไม่มีหางเสือ ลอยไปตามยถากรรม เดี๋ยวก็ไปเกยหินโสโครกแตก เพราะฉะนั้นเรือไม่ได้ฝืนน้ำ ไม่ได้ไหลตามน้ำไป แล้วก็ไม่ได้ต้านน้ำ จิตเราก็เหมือนเรือ เวลากิเลสมาเราไม่ฝืนกิเลส ไม่ต้านกิเลส แต่ก็ไม่ตามกิเลส คอยรู้เท่าทันกิเลสที่มันมาแล้วมันก็ไป ฝึกอย่างนี้ล่ะแล้วต่อไปศีลสมาธิปัญญามันจะมาเอง

เมื่อก่อนมีครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง หลวงพ่อเจอท่าน ท่านบอกว่า หลวงพ่อคำเขียนท่านบอกว่า ถ้ามีสติก็มีศีล ถ้ามีสติก็มีสมาธิ ถ้ามีสติก็มีปัญญา ท่านบอกอย่างนี้ ท่านพูดดีมากเลย ตอนนั้นท่านไม่สบาย หลวงพ่อก็ไปเยี่ยมท่านที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ไม่เคยเจอกัน ไปเห็นท่านครั้งแรกท่านนอนลุกไม่ได้ อาพาธหนักเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ท่านเห็นหน้าหลวงพ่อ ท่านก็บอกว่าไปได้แล้ว ไปได้แล้ว ไม่ใช่บอกให้หลวงพ่อไป ท่านหมายถึงตัวท่านไปได้แล้ว ท่านบอกมีคนสืบทอดคำสอนเรื่องการเจริญสติแล้ว ฉะนั้นท่านคล้ายๆ ท่านไปเมื่อไรก็ได้แล้ว ท่านไม่กังวลแล้ว

แล้วท่านก็เล่าให้ฟังว่าท่านไปเทศน์ ท่านก็สอนให้มีสตินี่ล่ะ แล้วเจ้าภาพที่นิมนต์ไปเทศน์ พอท่านเทศน์จบก็มาว่าท่าน ทำไมไม่สอนเรื่องศีลสมาธิปัญญา สอนอยู่ได้แต่เรื่องสติ ท่านพูดเสร็จแล้วท่านก็ขำ ขำๆ บอกเขาก็ถูกของเขา เราก็ถูกอย่างของเรานะอาจารย์ปราโมทย์ เพราะว่ามีสติก็มีศีล มีสติก็มีสมาธิ มีสติก็มีปัญญา สติตัวนี้จะมีศีล สมาธิ ปัญญา มีสติดูแลจิตตัวเองไว้ ไม่ใช่มีสติเดินไม่ตกท่อ ไม่ได้มีศีลสมาธิปัญญาอะไรหรอก

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
12 พฤศจิกายน 2566