ฝึกจนเป็นอัตโนมัติ

ธรรมะฟังเฉยๆ ไม่มีประโยชน์เท่าไรหรอก เหมือนอย่างพระเรียนนักธรรม เรียนอะไรกัน แล้วไม่ได้เอามาปฏิบัติ ไม่มีประโยชน์เท่าไร สู้กิเลสไม่ได้ ฉะนั้นพวกเราฟังธรรมะแล้วต้องเอาไปทำ ลงมือปฏิบัติให้จริงจัง จริงจังไม่ได้แปลว่าเคร่งเครียด เมื่อก่อนหลวงพ่อเคยไปกราบครูบาอาจารย์องค์หนึ่งอยู่กาฬสินธุ์ ลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ท่านได้เปรียญ 9 ประโยค อาจารย์มหาเขียน ท่านจำพระไตรปิฎกได้ ท่านท่อง จำได้หลายสิบเล่ม ตอนที่เจอท่าน พระไตรปิฎก 45 เล่ม ตอนนั้นได้สัก 30 เล่มแล้ว

ท่านเป็นคนชอบพิสูจน์ว่า ข้อความต่างๆ ข้อมูลต่างๆ มันเป็นไปได้จริงหรือ อย่างบอกพระอานนท์จำพระสูตรได้เยอะแยะเลย ท่านสงสัยว่าคนๆ หนึ่งมันจะจำได้หรือ พระสูตรนี้ยาวมาก ท่านก็เลยลองท่องดู จำได้ ท่องพระวินัย ท่องพระสูตรอะไรอย่างนี้ ตอนเจอท่าน ท่านเริ่มท่องอภิธรรมแล้ว แล้วท่านบอกมาประโยคหนึ่ง น่าฟัง ท่านบอกธรรมะทุกๆ ข้อของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมะเพื่อการปฏิบัติทั้งสิ้น ไม่ว่าเรื่องอะไรที่สอน เป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติทั้งนั้น เอามาปฏิบัติได้ ไม่ใช่ฟังเล่นๆ ท่านไม่ได้แสดงธรรมเพื่อให้เราแตกฉาน มีความรู้เยอะ ท่านแสดงธรรมเพื่อให้เราลดละกิเลส จนพ้นทุกข์ได้

 

ขั้นแรกตั้งใจรักษาศีล 5 ไว้ให้ดี
ถัดจากนั้นฝึกสมาธิ

เพราะฉะนั้นธรรมะ ถ้าเราฟังแล้วเอาไปทำ ลงมือทำเข้า มันไม่ยากอะไรนักหรอก ขั้นแรกก็ตั้งใจรักษาศีล 5 ไว้ให้ดี เอา 5 ข้อพอแล้ว เอาไว้ได้สกทาคามีแล้วอยากขึ้นมาอนาคามี ก็ไปถือศีล 8 เอา ศีล 5 สำคัญ ในองค์มรรคทั้ง 8 ในส่วนของศีล ไปดูให้ดี มันเรื่องศีล 5 ทั้งนั้น สัมมาวาจา มันก็ศีลข้อ 4 สัมมากัมมันตะ ศีลข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 สัมมาอาชีวะ คือเอาศีลข้อ 1 2 3 4 มา ทำงานเลี้ยงชีวิตตัวเอง ส่วนศีล 5 ข้อ 5 มันเป็นเรื่องของการเจริญสติแล้ว ถ้าเราติดสารเสพติดอะไรพวกนี้ เจริญสติยาก

ตัวศีลที่จำเป็นจริงๆ ก็คือศีล 5 ข้อ ตั้งใจรักษาไว้ไม่ต้องขอกับพระ ขอไปหมดเดี๋ยวพระไม่เหลือศีล ลำบาก เราตั้งใจเอาเอง เราจะรักษาศีล 5 ให้ดีที่สุด บางครั้งมันก็พลาด บางทีก็ศีลขาด บางทีไม่ถึงกับขาดแต่ด่างพร้อย ให้เราค่อยๆ ฝึกตัวเอง ขั้นแรกตั้งใจรักษาศีลไว้ แล้วเราจะรักษาศีลได้ดี ถ้าเรามีสติ ถ้าเราขาดสติเมื่อไร ความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็มาครอบงำเรา ทำให้เราทำผิดศีล ฉะนั้นศีล หัดเบื้องต้นรักษา 5 ข้อ แต่พอรักษาเป็นแล้ว รักษาข้อเดียว คือมีสติรักษาจิตเอาไว้ แล้วศีลทั้งหมดมันจะมาเอง

อันนี้หลวงพ่อไม่ได้โมเม สมัยพุทธกาลเคยเล่าหลายทีแล้ว มีพระมาบวชด้วยศรัทธา แล้วท่านพบว่าพระมีศีลเยอะ มีวินัยเยอะ ท่านทำไม่ได้หมด ท่านจำไม่ได้ ก็เลยไปหาพระพุทธเจ้าไปลาสึก บอกว่าท่านจำไม่ไหว แล้วอยู่ต่อไปท่านกลัวเป็นพระไม่ดี ทำให้ศาสนาเสียหาย พระพุทธเจ้าบอก ถ้าศีลจำนวนมากรักษาไม่ได้ รักษาข้อเดียวไหวไหม ท่านบอกถ้ามีศีลข้อเดียว ท่านรักษาได้ บอกให้มีสติรักษาจิตไว้ คอยดูแลจิตใจตัวเองไว้ จิตใจเราโลภขึ้นมา เรารู้ จิตใจเราโกรธขึ้นมา เรารู้ จิตใจเราหลงขึ้นมา เรารู้ จิตใจฟุ้งซ่าน เรารู้ จิตใจหดหู่ เรารู้ พอกิเลสเกิด แล้วเรามีสติรู้ทัน กิเลสจะดับ เมื่อกิเลสดับ ก็ไม่มีตัวผลักดันให้เราทำผิดศีล

อย่างความโกรธเกิดขึ้น ถ้าเราไม่มีสติ ความโกรธก็ครอบงำจิตใจ เราก็ไปด่าเขา ไปตีเขา ไปฆ่าเขา ไปทำลายทรัพย์สินของเขา ก็ไปผิดศีล แต่เรามีสติ ความโกรธเกิด เรามีสติ ความโกรธก็ดับ เราก็ไม่ไปทำร้ายใคร ไม่ไปลักทรัพย์ใคร ไม่ไปประพฤติผิดในกาม ฉะนั้นเราผิดศีลเพราะกิเลสมันครอบงำจิตได้ แต่ถ้าเรามีสติคอยรู้ทันจิตใจตัวเอง กิเลสอะไรเกิดแล้วรู้ กิเลสอะไรเกิดแล้วรู้ จะได้ศีลอัตโนมัติ เรียนกับหลวงพ่อ มันต้องเรียนจนถึงขั้นอัตโนมัติ ถึงจะเรียกว่าภาวนาเป็น ศีลก็ต้องเป็นศีลอัตโนมัติ ไม่ได้เจตนาต้องรักษาอีกต่อไปแล้ว เบื้องต้นต้องเจตนาไว้ก่อน ที่จะไม่ทำชั่ว 5 ข้อ แต่พอเรามีสติรักษาจิตจริงๆ ไม่ต้องเจตนารักษาศีล มันไม่ทำชั่วเอง

ถัดจากนั้นสิ่งที่เราต้องฝึกคือสมาธิ สมาธิมันมี 2 ตระกูลใหญ่ๆ ตระกูลหนึ่งจิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง ต้องเป็นอารมณ์ที่มีความสุข อันนี้จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว ก็เรียกว่าอารัมมณูปนิชฌาน อารัมมะก็คืออารมณ์นั่นล่ะ จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว วิธีที่จะให้จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว ก็ไม่ยากอะไร เราก็เลือกดูจิตเราชอบอารมณ์ชนิดไหน ที่อยู่แล้วมีความสุข อยู่แล้วมันไม่ยั่วให้กิเลสรุนแรง เราก็อยู่กับอารมณ์อันนั้นไป อันนี้เป็นการทำสมาธิเพื่อให้จิตสงบ มันไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าเรารู้จักเลือกอารมณ์

อย่างหลวงพ่อถนัดอานาปานสติ หายใจออก หายใจเข้า ถนัด เพราะฝึกมาตั้งแต่เล็กๆ ตั้งแต่ 7 ขวบฝึกอานาปานสติ หายใจแล้วมีความสุข ฉะนั้นเวลาต้องการให้จิตใจพักผ่อน หลวงพ่อก็มาอยู่กับลมหายใจ จิตเพ่ง ภาษามันไม่ดี คำว่า “เพ่ง” คือจิตนั้นระลึก ตรึกอยู่กับลมหายใจ ไม่ได้เพ่งหรอก นี้คนไทยแปลคำว่า “ฌาน” ว่า “เพ่ง” ที่จริงอาการจริงๆ มันไม่ได้เพ่งหรอก ถ้าขืนเพ่งมันยังมีโลภะเจืออยู่ มันไม่สงบ จิตใจมีความอยากสงบ ไม่มีวันสงบหรอก เพราะอะไร เพราะจิตใจไม่มีความสุข

ฉะนั้นเราใช้จิตใจธรรมดาๆ ไปรู้อารมณ์กรรมฐาน ที่เราอยู่แล้วมีความสุข อะไรก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ทำให้กิเลสเราแรง อย่างบางคนเล่นไพ่แล้วมีความสุข อย่างนั้นจิตไม่สงบ บางคนบอกอยู่ในอารมณ์อันเดียว ดูตลาดหุ้น ช่วงนี้กำลังเป็นขาลงแล้ว ลง ตัวแดงขึ้นเยอะแยะ บอกวันๆ หนึ่งอยู่ในอารมณ์เดียวคือดูตลาดหุ้น อันนี้ไม่ได้หรอก อย่างดูตลาดหุ้น เดี๋ยวก็เกิดราคะ เดี๋ยวก็เกิดโทสะ มันยั่วกิเลสมากไป เราเลือกอารมณ์กรรมฐานที่มันไม่ยั่วกิเลส

ในตำราเขาก็ยกตัวอย่างมาให้ 40 ข้อ เรียกกรรมฐาน 40 เอาไว้ทำสมถะ ที่จริงไม่ได้มีแค่ 40 หรอก มีนับไม่ถ้วน อย่างถ้าเราชอบกลางคืน บางคนก็ชอบกลางคืน แล้วสงบๆ เงียบๆ อากาศไม่ร้อนจัด มีพระจันทร์ขึ้น มีดาวขึ้น นั่งดูพระจันทร์มีความสุข จิตก็สงบ หลวงพ่อตอนเด็กๆ บ้านอยู่ริมคลอง หลวงพ่อก็ชอบไปนั่งริมคลอง ดูระลอกน้ำ รู้จักไหม “ระลอก” ก็คลื่น คลื่นขนาดจิ๋วๆ เวลาลมมันโชย มันก็เกิดระลอกน้ำเล็กๆ พลิ้วๆๆ นั่งดูรู้สึกมีความสุข จิตถ้ามีความสุข จิตก็สงบเลย ดูระลอกน้ำก็ไม่ได้ว่ายั่วกิเลสรุนแรง เพราะฉะนั้นมันไม่ได้มีแค่ 40 ข้อหรอก ถ้าเราฉลาด เราก็อาจจะมีกรรมฐานเฉพาะตัวของเราเอง แต่อย่าค้นคว้าเยอะ มัวค้นคว้ามากไป ฟุ้งซ่าน

สังเกตเอา เราอยู่กับอะไรแล้วเรามีความสุข เราก็อยู่กับอันนั้น แต่สิ่งที่อยู่นั้นต้องไม่ยั่วกิเลส ด่าคนแล้วมีความสุข เล่นเฟซบุ๊ก เล่นไลน์อะไรทั้งวันแล้วมีความสุข อย่างนี้มันยั่วกิเลส ไม่มีทางสงบ มีแต่ฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้นเราเลือกอารมณ์ที่ดี แล้วเราก็รู้อารมณ์นั้นไปด้วยจิตใจธรรมดาๆ อย่างเวลาเราจะรู้ ทำอานาปานสติ ตอนนี้เรานั่งอยู่ เราใช้ใจปกติของเราตอนนี้ เห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า ไม่ได้ถลำลงไปเพ่งลมหายใจ ถ้าเราไปเพ่งลมหายใจ มันจะออกไปทางกสิณ มันไปได้แต่อ้อมมากเลย

 

อารัมมณูปนิชฌาน

ถ้าเราเอาสมาธิชนิดสงบ สบายอยู่ รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ อันนี้เรานั่งหายใจไป เห็นร่างกายเราหายใจ ร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก รู้ด้วยจิตใจธรรมดา คนเกือบทั้งหมด ทำสมาธิอย่างไรก็ไม่สงบเสียที เพราะว่าจิตมันไม่ถูกต้อง เรามักจะมีจิตที่โลภ หรือไม่ก็มีจิตที่โกรธ คือเคร่งเครียด เครียด ทำกรรมฐานไปด้วยจิตใจที่เคร่งเครียด จิตก็ไม่มีความสุข จิตไม่มีวันสงบหรอก ฉะนั้นเราใช้จิตใจธรรมดาๆ นี้ล่ะดีที่สุด แล้วเวลาที่เราทำสมถะ สิ่งที่เราได้มา เราจะได้จิตที่ผ่องใส สงบ ผ่องใส ประภัสสร ถ้าเราทำสมาธิ เราจะได้จิตพวกนี้ขึ้นมา

แต่ถ้าเราทำสมาธิ ใจเราเคร่งเครียด มุ่งอย่างเดียว ทำอย่างไรจะสุข ทำอย่างไรจะสงบ ทำอย่างไรจะดี ทำอย่างไรจะเกิดสติ เกิดปัญญา ทำด้วยโลภ เพราะฉะนั้นเกือบร้อยละร้อยของนักปฏิบัติ ไปสังเกตดูตัวเราเองนี่ล่ะ ทันทีที่เราคิดถึงการทำกรรมฐาน เราจะเริ่มดัดแปลงจิตใจตัวเอง จิตใจธรรมดาๆ นี้ จะถูกทำลายไปอย่างรวดเร็ว เราคิดว่าการปฏิบัติที่ดี เราต้องทำจิตให้แข็งๆ ทื่อๆ แน่นๆ เพราะฉะนั้นเวลาลงมือปฏิบัติ ใจมันก็แน่นไปหมด ถ้าอย่างนั้นทำอย่างไรก็ไม่สงบหรอก เพราะไม่มีความสุข มันทำไปด้วยความเคร่งเครียด

ฉะนั้นเราเลือกอารมณ์ อารมณ์อันไหนที่เราอยู่แล้วมีความสุข แล้วเราก็อยู่กับอารมณ์อันนั้น ด้วยจิตใจที่มีความสุข ไม่เคร่งเครียด ใช้ใจธรรมดานี้ล่ะ อย่างขณะนี้ใจของเราธรรมดา เรายังไม่ได้คิดเรื่องการปฏิบัติ ใจเราเป็นธรรมดา เราก็เห็นร่างกายหายใจไปด้วยใจธรรมดา แป๊บเดียวก็สงบแล้ว เพราะเรารู้อารมณ์ สมมติเราชอบหายใจ หายใจแล้วมีความสุข เราก็รู้อารมณ์ที่มีความสุข รู้ด้วยจิตใจที่มีความสุข จิตใจธรรมดาๆ ไม่เคร่งเครียด สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง เพราะฉะนั้นเรารู้อารมณ์กรรมฐาน ด้วยจิตใจปกติ จิตใจธรรมดา อย่าแทรกแซงจิตให้เคร่งเครียด ถ้าเราจับหลักตรงนี้ได้ เวลาเราต้องการทำความสงบ นาทีเดียวก็สงบแล้ว ถ้าชำนาญจริงแวบเดียวก็สงบแล้ว

ค่อยๆ ฝึก ทีแรกมันไม่สงบง่าย เพราะว่าใจมันเต็มไปด้วยความโลภ แล้วมันก็ฟุ้งซ่านมาก มันก็สงบยาก นี้เรา สมมติเราถนัดหายใจ ก็หายใจไป สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง เรารู้ลมหายใจไปด้วยจิตใจสบายๆ จิตใจธรรมดา หลวงพ่อก็ไม่อยากใช้คำว่าจิตใจสบาย เดี๋ยวก็ไปแกล้งทำใจสบายๆ เคลิ้มๆ ขึ้นมาอีก รู้อารมณ์กรรมฐานไป ตัวนี้ต้องรู้จักเลือก รู้ด้วยจิตใจธรรมดาๆ รู้ไปอย่างธรรมดาๆ ไม่นานหรอก สมาธิชนิดสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวก็จะเกิดขึ้น เรียกว่าได้อารัมมณูปนิชฌาน อารัมมณูปนิชฌานมีประโยชน์อะไร มันทำให้จิตมีกำลัง ถ้าจิตไม่มีกำลัง ไม่มีเรี่ยวไม่มีแรง จิตล้มเหลว ล้ม พลิกไปพลิกมา ระทดระทวย มันเดินปัญญาไม่ได้หรอก มันไม่มีแรง

ฉะนั้นเวลาที่เราเดินปัญญา ถึงจุดหนึ่งจิตมันเหนื่อย จิตมันเหนื่อย เราก็กลับมาอยู่กับอารัมมณูปนิชฌาน พอจิตมีแรงเราก็ไปเดินปัญญาต่อ นี้สมาธิชนิดที่หนึ่ง มันทำให้จิตมีเรี่ยวมีแรง จิตสดชื่น มีกำลัง แล้วของแถมมี พวกอภิญญาทั้งหลาย ก็มาจากอารัมมณูปนิชฌานนี้ล่ะ เป็นส่วนใหญ่ พวกฤทธิ์ทั้งหลาย ส่วนใหญ่ก็มาจากอารัมมณูปนิชฌาน มันมีฤทธิ์ที่ไม่ได้เกิดจากอารัมมณูปนิชฌานเหมือนกัน พวกบุญฤทธิ์ ไม่ได้อาศัยกำลังของฌาน แต่อาศัยกำลังของบุญ

สมาธิมีอีกชนิดหนึ่งชื่อลักขณูปนิชฌาน ลักขณูปนิชฌาน เป็นสมาธิที่สามารถทำให้จิตมีความสามารถที่จะเห็นลักษณะ คือไตรลักษณ์ของรูปนามกายใจ ลักขณูปนิชฌาน ตำราเขาชอบไปแปลว่า “เพ่งลักษณะ” ก็ติดคำว่า “เพ่ง” พอแปลคำว่า “ฌาน” ว่า “เพ่ง” แล้วทำฌานเป็นแล้ว ไม่ได้เพ่งหรอก จิตมันทรงตัวอยู่เอง ไม่ได้เพ่งให้อยู่ ถ้ายังเพ่งอยู่ ไม่ได้เรื่องหรอก มันทรงตัวอัตโนมัติ

 

ลักขณูปนิชฌาน

เมื่อกี้บอกแล้วว่าต้องการอารัมมณูปนิชฌาน สมาธิชนิดที่ทำให้จิตสงบสุข ได้พักผ่อน รู้จักเลือกอารมณ์ที่เหมาะกับตัวเอง แล้วรู้อารมณ์นั้นด้วยใจธรรมดาๆ ไม่บังคับจิตใจ แป๊บเดียวสงบ ตรงที่เราไปบังคับจิตใจ จิตจะต้องทำงานมากขึ้น ถ้าจิตทำงานมากขึ้น จิตก็ไม่ได้พักผ่อน แต่ถ้าเราใช้จิตธรรมดา ไม่ได้ดิ้นรนไปด้วยความโลภ โกรธ หลงอะไร จิตใจธรรมดาๆ ไม่ดิ้น จิตก็ได้พักผ่อน เราก็ได้สมาธิชนิดที่หนึ่ง สมาธิชนิดที่หนึ่งยังไม่พอ การที่เราจะเจริญปัญญานั้นเป็นงานหลัก งานทำความสงบของจิตเป็นงานสนับสนุน งานหลักของเราคือการเจริญปัญญา ผลที่ได้จากการเจริญปัญญาคือวิมุตติ ความหลุดพ้น เพราะฉะนั้นงานหลักก็คืองานเจริญปัญญา

การเจริญปัญญานั้นจะทำได้ ถ้าเรามีสมาธิคือความตั้งมั่นของจิต ที่สามารถเห็นความเป็นไตรลักษณ์ได้ ที่เรียกลักขณูปนิชฌาน คือเห็นลักษณะ คือเห็นไตรลักษณ์ ไม่ใช่เห็นตัวอารมณ์ อันแรกทำเพื่อความสงบ จะเห็นตัวอารมณ์ มุ่งไปที่ตัวอารมณ์ แต่ลักขณูปนิชฌาน ไม่ได้มุ่งไปเพ่งตัวอารมณ์ ไม่ได้จ้องตัวอารมณ์ แต่มุ่งไปที่การเห็นไตรลักษณ์ วิธีที่เราจะฝึกให้ได้ลักขณูปนิชฌาน ไม่ยากหรอก เราปรับนิดหนึ่ง ใช้กรรมฐานอันเดิมที่เราทำเพื่อความสงบนั่นล่ะ ไม่ต้องไปหากรรมฐานใหม่หรอก แต่เราเปลี่ยนตัวเอก

ตัวเอกตอนทำอารัมมณูปนิชฌาน คือเราใช้อารมณ์เป็นตัวตั้ง สนใจไปที่อารมณ์กรรมฐาน แต่ถ้าเราจะทำลักขณูปนิชฌาน เราปรับมาสนใจที่จิตใจตัวเอง ที่เป็นคนรู้อารมณ์กรรมฐาน ธรรมชาติของจิตกับอารมณ์เป็นของคู่กันเสมอ เมื่อไรมีจิต เมื่อนั้นต้องมีอารมณ์ กระทั่งโลกุตตรจิตก็มีอารมณ์คือนิพพาน ฉะนั้นมีจิตต้องมีอารมณ์ มีอารมณ์ต้องมีจิต เวลาเราจะทำอารัมมณูปนิชฌาน เราน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง

ถ้าเราจะทำลักขณูปนิชฌาน เราคอยรู้ทันจิตไว้ เราก็ทำกรรมฐานอย่างเดิม แต่แทนที่จะเพ่งเล็งความสนใจไปที่อารมณ์ ให้เราคอยรู้เท่าทันจิตตัวเองไว้ อย่างหลวงพ่อถ้าจะทำลักขณูปนิชฌาน สมัยก่อนเวลาจะทำลักขณูปนิชฌาน หลวงพ่อก็มาหายใจ หายใจนั้นเคยใช้ทำอารัมมณูปนิชฌาน เพ่งอารมณ์มาแต่เด็ก เราก็ปรับนิดเดียวเอง เราเห็นร่างกายหายใจไป ใจเราเป็นคนรู้สึกอยู่ แล้วพอเราหายใจไป หายใจไป ใจเราหนีไปคิดเรื่องอื่น เรารู้ว่าจิตใจเราหนีไปคิดเรื่องอื่นแล้ว ตัวหลักที่เราจะรู้คือจิต ไม่ใช่อารมณ์

ถ้าสนใจในตัวอารมณ์ เราจะได้สมาธิชนิดที่หนึ่ง อารัมมณูปนิชฌาน แต่ถ้าเราสนใจที่จิตของเราเอง เราจะได้สมาธิชนิดที่สองคือลักขณูปนิชฌาน อันนี้ในตำราไม่มีหรอก หลวงพ่อสรุปออกมาจากการปฏิบัติ จากประสบการณ์จริงๆ ไม่ได้กางตำรามาสอนพวกเรา ฉะนั้นพูดด้วยความมั่นใจ แล้วเอาหลักนี้ไปสอนพวกเราทั้งพระ ทั้งชี ทั้งโยม จำนวนมากที่เข้าใจขึ้นมา สามารถเข้าใจได้ เข้าใจธรรมะ

ฉะนั้นเวลาเราจะต้องการสมาธิชนิดตั้งมั่น เห็นไตรลักษณ์ได้ เราก็ทำกรรมฐานอย่างเดิม แต่ให้ความสนใจมาที่ตัวจิต หายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป สมมติ จะใช้อารมณ์อื่นก็ได้ แล้วก็คอยรู้ทันจิตไว้ อย่างดูท้องพอง ดูท้องยุบ ถ้าจิตจมลงไปที่ท้อง รู้ทัน จิตหลงไปคิดลืมท้องแล้ว รู้ทัน อย่าไปเพ่งท้อง ถ้าเพ่งท้องมันก็เป็นอารัมมณูปนิชฌาน ท้องเป็นของถูกรู้ เราไปเพ่งสิ่งที่ถูกรู้ เพ่งอารมณ์ มันก็เป็นสมาธิที่หนึ่ง ฉะนั้นถ้าเราทำกรรมฐาน ถ้าเป็นอย่างหลวงพ่อทำก็หายใจ จิตหนีไปคิดก็รู้ จิตจมลงไปอยู่ที่ลมหายใจก็รู้ หรือคนไหนดูท้องพองยุบ ก็ดูไป อะไรก็ได้ ไม่ยากหรอก ดูท้องพองยุบแล้วจิตหนีไปคิด ก็รู้ จิตจมลงไปแช่อยู่ที่ท้อง ก็รู้

ตรงที่จิตมันเคลื่อนไป ตรงนั้นล่ะจิตมันมีกิเลสชื่ออุทธัจจะ มันฟุ้งซ่าน มันฟุ้งซ่านแล้วเรามีสติรู้ทัน จิตเราเคลื่อน เรารู้ จิตเราเคลื่อน เรารู้ จะเคลื่อนไปคิด หรือเคลื่อนไปเพ่ง ก็เหมือนกัน เคลื่อนแล้วรู้ๆ ทุกครั้งที่รู้ ทุกครั้งที่สติรู้เท่าทัน จิตที่เคลื่อนไปเคลื่อนมา จิตที่เคลื่อนจะดับ จิตที่ตั้งมั่นจะเกิด จะเกิดอัตโนมัติเลย อย่างพระอาจารย์ท่านก็ชอบสอนเมื่อก่อน เดี๋ยวนี้สอนอะไรไม่รู้ เมื่อก่อนเคยเห็นท่าน ท่านสอนเรื่องหลงกับรู้ หลงกับรู้ ฉะนั้นเราหลงก็รู้เอา พอรู้ว่าหลง เช่นรู้ว่าหนีไปคิด นี่คือรู้ว่ามันหลงไปคิดแล้ว หรือมันหลงไปเพ่ง ถ้าเรารู้ทันตรงนี้ จิตหลงจะดับ ถ้าจิตหลงดับ จิตรู้จะเกิดขึ้นเอง

จิตรู้นั่นล่ะ เป็นจิตที่จะใช้เดินปัญญาต่อไป จิตตัวนี้ตั้งมั่น สงบด้วย ตั้งมั่นด้วย บางดวงมีความสุข บางดวงเป็นอุเบกขา ตัวนี้ในตำราเขาเรียก “มหากุศลจิต ญาณสัมปยุต อสังขาริกัง” “ญาณสัมปยุต” ก็คือประกอบด้วยปัญญา เดินปัญญาได้ด้วย อสังขาริกังคือไม่ได้เจตนาให้เกิด เกิดอัตโนมัติ อัตโนมัติเพราะว่าเรามีสติรู้ทันจิตที่หลง จิตที่หลงก็จะดับ ก็จะเกิดจิตที่รู้ขึ้นโดยอัตโนมัติ นี่สมาธิอัตโนมัติ

ฝึกไปเรื่อยๆ ต่อไปเคยหลงยาว ก็จะหลงสั้นลงๆ ต่อไปจิตขยับแป๊บหนึ่งก็เห็นแล้ว เพราะฉะนั้นจิตก็จะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา มีกำลัง พอจิตเราตั้งมั่นมีกำลังแล้ว เราก็ต้องเดินปัญญา แล้วศีลเราก็ทำแล้ว ด้วยการมีสติ รู้ทันจิตใจของตัวเอง กิเลสอะไรเกิด รู้ทัน กิเลสอะไรเกิด รู้ทัน ศีลก็เกิด แล้วพอเรามาทำสมาธิ จิตเราเคลื่อน เรารู้ จิตเราเคลื่อน เรารู้ ก็อาศัยสติรู้ทันจิตไป สมาธิก็จะเกิด ฉะนั้นสติสำคัญ ถ้าไม่มีสติ ไม่มีศีล ไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ ฉะนั้นสติเป็นตัวสำคัญ แล้วสติที่สำคัญมาก คือสติที่รู้เท่าทันจิตใจตัวเอง อย่างถ้าเรารู้ว่าจิตใจเรามีกิเลสเกิดขึ้น กิเลสจะดับ เราจะไม่ผิดศีล เราจะมีศีลอัตโนมัติ ศีล 1 ข้อ ไม่ใช่ศีล 5 ข้อ 8 ข้อ แล้วถ้าเราทำกรรมฐานแล้ว จิตเราเคลื่อน เรารู้ เคลื่อน เรารู้ จิตมันก็จะไม่เคลื่อนยาว ไหลขยับตัวนิดหนึ่งก็เห็นแล้ว จิตก็ค่อยๆ ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา เราจะได้สมาธิชนิดที่สอง

 

การแยกรูป แยกนาม แยกธาตุ แยกขันธ์ เป็นการเจริญปัญญาในเบื้องต้น

พอเรามีสมาธิชนิดที่สอง ต่อไปเราก็ถึงขั้นการเจริญปัญญา การเจริญปัญญานั้น มันยังมี 2 ส่วน ในขั้นภาคปฏิบัติ ส่วนหนึ่งเป็นการเจริญปัญญาเบื้องต้น ส่วนหนึ่งเจริญวิปัสสนาปัญญา การเจริญปัญญาเบื้องต้น พอจิตเราตั้งมั่นแล้ว เรารู้สึก อย่างขณะนี้จิตพวกเรามีกำลัง มีสมาธิ อาศัยที่ฟังหลวงพ่อเทศน์ จิตมันเป็นกุศล จิตมันมีความสุข มีความตั้งมั่นขึ้นมา รู้สึกไหมร่างกายมันนั่งอยู่ ลองพยักหน้า รู้สึกไหมร่างกายมันขยับ เห็นไหมร่างกายที่เคลื่อนไหว เป็นของถูกรู้ถูกดู ร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู คนที่เป็นผู้รู้ผู้ดู ก็คือจิตที่มันตั้งมั่นอยู่นั่นล่ะ มันเป็นผู้รู้ผู้ดู เราไม่ต้องหาตัวจิตที่ตั้งมั่น หลวงปู่ดูลย์บอก “ใช้จิตแสวงหาจิต อีกกัปหนึ่งก็ไม่เจอ” เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปหามัน เอาแค่ว่าหลงแล้วรู้ หลงแล้วรู้ มันจะได้จิตที่ตั้งมั่น

พอได้จิตตั้งมั่นแล้ว อย่าตั้งอยู่เฉยๆ เดินปัญญาต่อด้วยการดูลงไปเลย ร่างกายนี้เป็นของถูกรู้ถูกดู ร่างกายไม่ใช่จิต จิตเป็นผู้รู้ผู้ดู หรือดูละเอียดต่อไป ในร่างกายก็มีเวทนา คือความรู้สึกสุขทุกข์อยู่ ความสุขความทุกข์ไม่ใช่ร่างกาย อย่างเรานั่งทีแรกมันยังสบายๆ อยู่ นั่งไปนานๆ มันปวดมันเมื่อยขึ้นมา เห็นไหม ความปวดความเมื่อยกับร่างกาย คนละอันกัน ร่างกายมันตั้งอยู่ ความปวดความเมื่อยมันแทรกเข้ามา แล้วทั้งร่างกาย ทั้งความปวดความเมื่อยในร่างกาย ก็เป็นของถูกรู้ จิตเป็นผู้รู้ผู้เห็น

เราดูต่อไป ละเอียดต่อไปอีก เราก็จะเห็น ความสุขความทุกข์ไม่ได้มีเฉพาะในร่างกาย แต่ที่มีอยู่ตลอดเวลาคืออยู่ที่จิต จิตนี้เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวไม่สุขไม่ทุกข์ มี 3 แบบ เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวไม่สุขไม่ทุกข์ เฉยๆ เราก็จะเห็นเวลาจิตเรามีความสุขเกิดขึ้น ถ้าเรามีจิตที่ตั้งมั่น เราก็จะเห็นเลย ความสุขในใจเราเป็นของถูกรู้ ไม่ใช่ตัวเราหรอก มันเป็นของถูกรู้ จิตเป็นคนไปรู้มันเข้า ความทุกข์ในจิตใจก็เป็นของถูกรู้ จิตเป็นคนไปรู้มันเข้า ค่อยๆ ฝึก มันคือการแยกขันธ์

แยกขันธ์ แยกรูป แยกนาม อย่างเราเห็นร่างกายอยู่ส่วนหนึ่ง จิตเป็นคนรู้อยู่ส่วนหนึ่ง นี่เราแยกรูปกับนามได้ เราเห็นว่าร่างกายกับความสุข ความทุกข์ในร่างกาย ก็เป็นคนละอันกัน จิตที่เป็นคนรู้ก็เป็นอีกอันหนึ่ง อันนี้เราก็แยกรูปแยกนามได้ หรือเราเห็นความสุขความทุกข์ในจิตใจ เห็นกุศลอกุศลในจิตใจเกิดขึ้น หมุนเวียนเปลี่ยนไป เราก็จะเห็นสุขทุกข์ก็เป็นของถูกรู้ถูกดู สุขทุกข์ยังไม่ใช่จิต เป็นของที่ผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านไป ดีหรือชั่ว เช่น โลภ โกรธ หลง หรือจิตที่เป็นบุญเป็นกุศล ก็ยังไม่ใช่ตัวเราของเรา มันเป็นของถูกรู้

อย่างเวลาความโกรธเกิดขึ้น ถ้าเราภาวนาเป็น เราจะเห็นว่าจิตมันโกรธ ไม่ใช่เราโกรธ มันมีความโกรธเกิดขึ้น ในความรู้สึก ความโกรธมันผุดขึ้นมา เป็นของถูกรู้ถูกดู ความโกรธไม่ใช่จิต จิตเป็นคนรู้ว่าโกรธ พอแยกตรงนี้ได้ เรียกว่าเราเดินปัญญาในเบื้องต้นแล้ว ถัดจากนี้ก็จะขึ้นสู่วิปัสสนาปัญญาแล้ว จะเห็นไตรลักษณ์แล้ว ตรงนี้ยังไม่เห็นไตรลักษณ์ ตรงนี้แค่แยกสิ่งที่เรียกว่าตัวเราออกเป็นส่วนๆ ร่างกายส่วนหนึ่ง เวทนาทางกาย เวทนาทางใจเป็นอีกขันธ์หนึ่ง อีกส่วนหนึ่ง ความปรุงดีปรุงชั่วก็เป็นอีกขันธ์หนึ่ง เรียกสังขารขันธ์ จิตเป็นวิญญาณขันธ์ เราแยกขันธ์ได้

 

เข้าสู่การเจริญวิปัสสนาปัญญา

การแยกรูป แยกนาม แยกธาตุ แยกขันธ์ เป็นการเจริญปัญญาในเบื้องต้น ก่อนที่เราจะก้าวเข้าสู่การเจริญวิปัสสนาปัญญา พอเราแยกได้แล้ว ต่อไปเราก็ดู ทุกตัวที่เราแยกออกมา ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ทั้งสิ้น ร่างกายที่นั่งอยู่ ดูสิ เดี๋ยวก็หายใจออก เดี๋ยวก็หายใจเข้า ร่างกายที่หายใจออก ไม่เที่ยง ร่างกายที่หายใจเข้า ไม่เที่ยง ทำไมต้องหายใจออก ทำไมต้องหายใจเข้า ก็เพื่อหนีทุกข์ หายใจออกอย่างเดียวก็ทุกข์ ก็ต้องหายใจเข้าแก้ทุกข์ หายใจเข้าก็ทุกข์ ก็ต้องหายใจออกแก้ทุกข์ โอ้ ร่างกายนี้มีแต่ความทุกข์ ร่างกายเป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ มีธาตุไหลเข้าไป มีธาตุไหลออกมาตลอดเวลา

ร่างกายเป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ร่างกายไม่เคยบอกเลยว่ามันคือตัวเรา มือเคยบอกไหมว่ามือคือเรา ไม่บอกหรอก จิตต่างหากเป็นคนไปพูดเอาเอง ไปตู่เอาว่ามือเป็นตัวเรา ที่จริงมือเป็นอะไร เป็นวัตถุ เป็นวัตถุธาตุของโลก เราหัดดูอย่างนี้เรื่อยๆ เราจะเห็นร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา นี้อยู่ในขั้นการเจริญวิปัสสนาแล้วคือเห็นไตรลักษณ์ เวลาเห็นเวทนา คือความสุขความทุกข์เกิดขึ้นในกาย เห็นความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์เกิดขึ้นในจิตใจ เราก็ดูไป

เราเห็นมาแต่แรกแล้วว่า สุขทุกข์ หรือเฉยๆ มันไม่ใช่จิตหรอก มันเป็นของถูกรู้ถูกดู แล้วพอเราดูต่อไป เราก็จะเห็นความสุขมันก็ไม่เที่ยง มาแล้วมันก็ไป ความทุกข์มันก็ไม่เที่ยง จิตใจที่เฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ มันก็ไม่เที่ยง นี่เราเห็นอนิจจัง หรือเราเห็นว่าความสุขมันก็ไม่ยั่งยืนหรอก มันถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ความทุกข์ก็ไม่ยั่งยืน ตัวนี้เรียกว่าทุกขัง ทุกขตา มันถูกบีบคั้นให้แตกสลาย จิตใจเราจะสุข จิตใจเราจะทุกข์ หรือร่างกายเราจะสุขจะทุกข์ เราสั่งไม่ได้ ตรงที่เราสั่งไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ เรียกว่าเราเห็นอนัตตา ตรงนี้เราขึ้นวิปัสสนาแล้ว เราเห็นไตรลักษณ์

“เห็น” ไม่ใช่ “คิด” ถ้าคิดไม่ใช่วิปัสสนา ต้องเห็นเอา เห็นจริงๆ ว่าร่างกายนี้มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เห็นจริงๆ ว่าเวทนาคือสุขทุกข์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เห็นจริงๆ ว่ากุศล อกุศลทั้งหลาย โลภ โกรธ หลงทั้งหลาย ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เฝ้ารู้เฝ้าดูไป อย่างเวลาเราโกรธ บางคน เอ๊ะ ทำไมมันเที่ยง มันโกรธอยู่ได้นาน ที่จริงเพราะสติกับสมาธิยังไม่พอ ถ้าสติสมาธิพอ สติระลึกรู้ความโกรธปุ๊บ ดับทันทีเลย แต่ถ้ากำลังมันไม่พอ สติมันยังไม่มีกำลังจริง สติตัวเก๊ๆ หน่อย โกรธรู้ว่าโกรธแล้วไม่ดับ ถ้าไม่ดับแล้วทำอย่างไร สังเกตไป ความโกรธไม่คงที่ เดี๋ยวโกรธแรง เดี๋ยวโกรธเบา เดี๋ยวก็โกรธแรง เดี๋ยวก็โกรธเบา มันก็ไม่เที่ยงให้ดูได้

ค่อยๆ ดูไป สุดท้ายก็รู้ สภาวะทั้งหลายล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรมทั้งหลาย เฝ้ารู้เฝ้าดูเรื่อยๆ ต่อไปจิตมันก็สรุปได้ สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นดับ ตัวเราไม่มี ร่างกายไม่ใช่เรา สุขทุกข์ไม่ใช่เรา ดีชั่วไม่ใช่เรา จิตที่เป็นคนไปรู้ก็ไม่ใช่เราอีก ค่อยๆ ฝึก ต่อไปมันเห็นอย่างนี้ ถ้าจิตไม่เป็นเรา ไม่มีอะไรเป็นเราอีกแล้ว เราจะเห็นจิตไม่เป็นเราได้ ก็ดูง่ายๆ เห็นไหมจิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ สั่งให้จิตสุขก็ไม่ได้ ห้ามจิตทุกข์ก็ไม่ได้ จิตดีเกิดแล้วก็ดับ จิตชั่วเกิดแล้วก็ดับ สั่งให้จิตดีเกิดอย่างเดียว ไม่ให้ชั่วเกิด มันก็ห้ามไม่ได้ บังคับไม่ได้ หรือจิตจะเป็นผู้รู้ จิตจะเป็นผู้คิด ก็ห้ามมันไม่ได้ สั่งมันไม่ได้ จิตจะไปดูรูป หรือไปฟังเสียง หรือไปดมกลิ่น หรือไปลิ้มรส หรือไปรู้สัมผัสทางกาย หรือไปคิดทางใจ ก็สั่งไม่ได้ เราทำอะไรไม่ได้เลย มันทำงานของมันได้เอง ถ้าเห็นอย่างนี้มันจะรู้เลย ตัวจิตเองก็เป็นอนัตตา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ แล้วก็บังคับมันไม่ได้

ที่เราภาวนามาตั้งแต่เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นสังขาร เห็นอะไรเข้ามา เพื่อวันหนึ่งจะเห็นเข้าถึงตัวจิต เพราะจิตนั้นเป็นหัวหน้าของธรรมะทั้งปวง ลำพังเราเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นสังขาร ไม่ใช่ตัวเรา ของเรา บางทียังเห็นจิตเป็นตัวเราของเราอยู่ อันนี้ยังไม่ได้ ต้องดูไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งจิตก็ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ตรงนั้นล่ะเราจะเข้าใจธรรมะ เข้าใจว่าสิ่งใดเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนถาวร อันนั้นเรียกว่าเราได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน

 

เมื่อขาดเจตนาที่เจือด้วยโลภะ
จิตจะเข้าถึงความเป็นกลาง จิตจะสักว่ารู้ สักว่าเห็น

เพราะฉะนั้นเส้นทางนี้เราจะต้องฝึก ฝึกให้มีศีลอัตโนมัติ ฝึกจนกระทั่งเราได้สมาธิอัตโนมัติ แล้วการที่เราคอยดูเกิดดับไปเรื่อยๆ วันหนึ่งมันเห็นเกิดดับโดยไม่เจตนา นั่นล่ะปัญญาอัตโนมัติ ทีแรกมันยังไม่อัตโนมัติหรอก ดูบ่อยๆๆ ไป ต่อไปมันอัตโนมัติ ไม่ได้เจตนาจะรู้สึก มันก็รู้สึก ไม่ได้เจตนาจะเห็นสภาวะ มันก็เห็น ปัญญาอัตโนมัติมันเกิดแล้ว เมื่อศีลอัตโนมัติ สมาธิอัตโนมัติ ปัญญาอัตโนมัติ ทำงานอยู่อย่างนี้ เราขาดตัวสำคัญไป ตัวนี้มันถูกทำลายไป คือตัวโลภเจตนา

โลภเจตนา อย่างเราถือศีล มีความโลภซ่อนอยู่ อยากได้เป็นคนดี อยากเป็นเทวดา ทำสมาธิก็มีความโลภซ่อนอยู่ อยากมีฤทธิ์มีเดช อยากไปเป็นพระพรหม เจริญปัญญาก็อยากรอบรู้ อยากแตกฉาน อย่างนี้กิเลสแทรกอยู่ ถ้ากิเลสแทรกอยู่ จิตใจก็ยังจะดิ้นรน สร้างภพสร้างชาติต่อไป ฉะนั้นแต่ถ้าเราภาวนา จนกระทั่งศีลอัตโนมัติ สมาธิอัตโนมัติ ปัญญาอัตโนมัติ คือเห็นไตรลักษณ์โดยไม่ได้เจตนาจะเห็น ตรงนี้เราไม่มีเจตนา ไม่มีความโลภ เจตนาที่เจือด้วยความโลภ เรียกว่าโลภเจตนา

โลภเจตนา เป็นเจตนาทางจิตใจ เป็นเจตนาทางจิตใจ มันทำให้จิตใจนี้เกิดการทำงาน การทำงานของจิตใจนั้นเรียกว่าภพ ฉะนั้นตัวโลภเจตนาซึ่งมันเป็นเจตนาทางใจ มันมีชื่อ ชื่อมโนสัญเจตนา เจตนาทางใจ มโนสัญเจตนา เป็นปัจจัยให้เกิดกรรม กรรมก็คือการที่จิตดิ้นรนทำงานนั่นเอง ตรงที่จิตดิ้นรนทำงานนั่นล่ะ จิตสร้างภพไปเรียบร้อยแล้ว ก็ไม่เกิดโลกุตตระ เพราะมันเกิดภพเสียแล้ว แต่ถ้าศีลอัตโนมัติ สมาธิอัตโนมัติ ปัญญาอัตโนมัติ ไม่มีโลภเจตนา เมื่อขาดเจตนาที่เจือด้วยโลภะตัวนี้ จิตก็จะไม่ดิ้นรน ไม่ปรุงแต่งต่อ จิตจะเข้าถึงความเป็นกลาง จิตจะสักว่ารู้ สักว่าเห็น

พวกเราชอบพูด “สักว่ารู้ ว่าเห็น” มันยากมากกว่าจะสักว่ารู้ว่าเห็นจริง นอกนั้นก็พูดแต่ปาก มันไม่สักว่ารู้ว่าเห็นหรอก จะสักว่ารู้ว่าเห็นได้ มันต้องเดินปัญญาจนแก่รอบเต็มทีแล้ว มันถึงจะสักว่ารู้ว่าเห็น เป็นกลางจริงๆ เป็นกลางต่อรูปธรรมนามธรรม ต่อสังขารทั้งหลายทั้งปวง ด้วยปัญญาอันยิ่ง คือการที่เราเห็นไตรลักษณ์ ของรูปธรรมนามธรรมทั้งหลายนั่นล่ะ จนกระทั่งจิตเข้าสู่ความเป็นกลาง ตัวนี้เรียกว่าสังขารุเปกขาญาณ มีปัญญา ทำให้เกิดความเป็นกลาง ต่อความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง สุขทุกข์ ดีชั่วเสมอกัน เมื่อมันเสมอกัน จิตมันก็ไม่ดิ้นรนต่อ ไม่ปรุงแต่งต่อ เมื่อจิตมันไม่ปรุงแต่ง จิตมันก็เข้าสู่ภาวะที่พ้นจากความปรุงแต่ง พระนิพพาน

พระนิพพานคืออะไร พระนิพพานคือสภาวะที่พ้นจากความปรุงแต่ง นิพพานเป็นสภาวะที่พ้นจากกิเลสตัณหา ถ้ายังมีโลภเจตนาอยู่ ไม่มีวันเจอนิพพาน ถ้าจิตใจยังดิ้นปรุงแต่งอยู่ กระทั่งแต่งดี หรือพยายามจะไม่ปรุงแต่ง นั่นก็ปรุงแต่ง จิตก็ไม่นิพพาน เพราะจิตยังหลงในความปรุงแต่งอยู่ ไม่ใช่วิสังขาร เพราะฉะนั้นนี้คือเส้นทาง วันนี้ที่หลวงพ่อพูดให้ฟัง เหมือนกับคลี่แผนที่ให้พวกเราดู ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง เมื่อรู้แล้วต้องเอาไปทำ ถ้าไม่ทำก็อย่างนั้นๆ ถ้าไม่ปฏิบัติ กิเลสไม่กลัวคนที่รู้ธรรมะเยอะ กิเลสกลัวสติปัญญา เพราะฉะนั้นพัฒนาสติปัญญาขึ้นมา

เอ้า แล้วสมาธิหายไปไหน สมาธิเป็นตัวหนุนเสริมให้เกิดปัญญา เพราะฉะนั้นจริงๆ ก็ต้องมีสติ มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา พูดง่ายๆ มีสติ มีปัญญานั่นล่ะสำคัญ เคยได้ยินไหม ธรรมะที่มีอุปการะมาก คือสติสัมปชัญญะ สติปัญญานั่นล่ะ ฉะนั้นถ้าเราฝึกอย่างนี้ วันหนึ่งเราก็จะพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง เราก็จะเห็นโลกมันเคลื่อนไหวไป โลกมันก็ไปอย่างโน้น ไปอย่างนี้ เจริญแล้วเสื่อม ไม่ได้เป็นไปตามใจปรารถนา มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ที่มาปรุงแต่งมันไป ทุกหนทุกแห่ง

ตั้งแต่จิตใจของเรา เดี๋ยวก็เจริญ เดี๋ยวก็เสื่อม ในร่างกายเรา เดี๋ยวก็ถึงจุดเจริญจุดเสื่อม เดี๋ยวก็เจ็บไข้ เดี๋ยวก็แข็งแรง ในครอบครัวเรา หน้าที่การงานเรา บางช่วงก็เจริญ บางช่วงมันก็เสื่อม ชาติบ้านเมือง บางทีก็เจริญ บางทีก็เสื่อม เพราะนั่นคือโลก โลกมันเป็นอย่างนั้น มันไม่มีหรอก ดีอย่างเดียว มีดีได้มันก็ยังมีเสื่อมได้ เจริญได้ก็เสื่อมได้ เพราะฉะนั้นใจเราต้องหนักแน่นมั่นคงไว้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในจิตใจของเรา จนถึงในบ้านเมือง ในภูมิภาค ในโลก อะไรจะเกิดขึ้น จิตใจเราต้องหนักแน่นมั่นคงไว้ เผชิญทุกสิ่งทุกอย่าง ด้วยความเข้มแข็ง ต้องเข้าใจว่าทุกอย่างที่เราเจอ มันเป็นวิบาก

อย่างความเจริญ หรือความเสื่อมของบ้านเมือง มันเป็นวิบากร่วมกันของคนจำนวนมาก ทำกรรมมาด้วยกัน เลยเกิดอยู่ที่เดียวกันนี่ล่ะ เวลาบ้านเมืองเจริญ มีความสุขด้วยกัน เวลาเสื่อมก็มีความทุกข์ด้วยกัน มันเป็นเรื่องของกรรม เรื่องของวิบาก ฉะนั้นสู้ไป รู้ อยู่กับมันด้วยความรู้เท่าทัน อย่าหวั่นไหวไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ฟังเลยตกใจเลย อะไรๆ มันก็ไม่เกินแค่ตายหรอก “คิดถึงความตายสบายนัก มันหักรักหักหลงในสงสาร” เรื่องอะไรที่ใหญ่โต ถ้าเราคิดถึงอีกหน่อยเราก็ตาย สมมติเราห่วงบ้านห่วงเมือง อีกหน่อยเราก็ตาย คนที่เขาอยู่เขาก็ต้องดูกันไป วางใจ รู้จักปลดปล่อยจิตใจของเรา ให้มันสงบสันติ ก้าวไปข้างหน้า อย่าให้โลกธรรม 8 ประการ โลกธรรม คือเจริญแล้วเสื่อม มากระทบใจเราได้ ด้วยสติ ด้วยปัญญา

 

 

มีคนถามไปทางมูลนิธิฯ เรื่อยๆ อยากจองมาอยู่วัดทำได้ไหม ตอนนี้ไม่มีกุฏิแล้ว ช่วงโควิดกุฏิมันว่าง กุฏิที่ให้โยมเข้ามาพักแต่ก่อนนี้ พอมีโควิดก็ไม่ได้รับโยม หลวงพ่อเลยไปรับพระมาเต็มไปหมดแล้วตอนนี้ ก็เลยไม่ได้รับโยมเข้ามาตอนนี้ ภาวนาที่บ้านเอาก็แล้วกัน จับหลักให้แม่นแล้วไปทำเอาเอง บางคนก็อยากบวช ถ้าถ้าอยากบวชแล้ว เคยฟังหลวงพ่อเคยอะไร มาบวชก็ไม่ว่าอะไร แต่บวชก็ให้บวชชั่วคราวก่อน ให้คนหนึ่ง 3 เดือน อย่างถ้าลาราชการมา 120 วันก็ตามนั้น ไม่ได้รับพระประจำ ถ้ารับพระประจำเดือน 2 เดือนก็เต็มหมดแล้ว

สิ่งที่หลวงพ่ออยากให้พวกเรามากที่สุด คือหลักของการปฏิบัติ แล้วเราก็ไปปฏิบัติเอา เราไม่จำเป็นว่าต้องมาอยู่ที่นี่ด้วยกันทั้งหมดหรอก อย่างไรมันก็ไม่พอ เมื่อก่อนวัดครูบาอาจารย์จริงๆ พระอยู่ตั้งหลายร้อยองค์ 200 – 300 องค์ วัดครูบาอาจารย์ ทุกวันนี้รับแบบนั้นไม่ไหว เยอะ ฉะนั้นบวชหลวงพ่อก็ให้บวชชั่วคราว แต่ประเภทพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา อยากให้บวช เจ้าตัวไม่รู้จักหลวงพ่อ ไม่รู้จักการปฏิบัติ ไม่เคยฟัง ไม่เคยศึกษาเลย แบบนี้หลวงพ่อก็ไม่รับ ประเภทพ่อแม่เคี่ยวเข็ญให้มาบวช ลูกไม่ได้อยากบวช มันภาวนาไม่ได้หรอก เสียเวลา มีเคยรับมาแล้วก็อยู่ได้ 5 วัน หนีไปแล้ว ทนไม่ไหว อยู่ที่นี่ไม่ได้เล่นอินเทอร์เน็ต ทนไม่ได้แล้วคนยุคนี้

หรือบางพวกทิฏฐิมานะแรง ยึดถือความคิดความเห็นตัวเองรุนแรงอะไรพวกนี้ พวกนี้มีการสอบสัมภาษณ์ จะเข้ามาที่นี่ เซลฟ์จัดมากๆ ก็ไม่รับเหมือนกัน เข้ามาแล้ววงการสงฆ์เขาเร่าร้อนไปด้วย มีคนวุ่นวายมาสักคนหนึ่ง วัดก็ยุ่ง หลวงพ่อพยายามให้วัดสงบ ฉะนั้นไม่ใช่ทุกคนมาสมัครบวชแล้วให้บวช แต่คนที่มีใจพร้อมจะบวช หลวงพ่อให้บวช พร้อมที่จะฝึกตัวเอง พร้อมที่จะขัดเกลาตัวเอง พร้อมที่จะเรียนรู้ก็จะให้บวชได้ ส่วนใหญ่ก็ให้บวช 3 เดือน พอให้รู้หลักที่จะปฏิบัติ ฆราวาสที่ว่าปฏิบัติดีๆ พอมาบวชแล้วจะรู้เลยว่า มันดีคนละแบบ ดีอย่างฆราวาสเอาแค่ไม่ผิดศีล ไม่อะไร ทำสมาธิ เดินจงกรมบ้าง ก็ดีแล้ว

แต่ดีอย่างพระนี้ต้องดี หลวงพ่อคุมเป็นขณะ ไม่ได้คุมเป็นวันๆ ฉะนั้นบางคนทนไม่ได้หรอก พอบวชได้ช่วงหนึ่งจะรู้เลยว่า ที่เคยทำอยู่มันไกลจากคำว่า “รู้สึกตัว” ยังไกลมากเลย ยกเว้นบางคน ฆราวาสบางคนอินทรีย์แก่กล้า ภาวนานิดๆ หน่อยๆ ก็เข้าใจธรรมะได้ ฆราวาสก็ทำได้ แต่ต้องแข็งแรงจริง ต้องอดทนจริง ถ้าใจวอกแวก โลเล ไม่ได้กินหรอก แล้วพวกโลเล เหลวไหล ยิ่งมาบวชเป็นพระเหลวไหล ยิ่งบาปมากกว่าเก่า เป็นโยมดีกว่า ถ้าเราไม่ได้พร้อมจะบวช เราก็ปฏิบัติเอาที่บ้าน ฟังยูทูปเอา ก็ทำได้ คนที่ฟังยูทูปหลวงพ่อแล้วภาวนาเป็นมีเยอะ มีเยอะแยะเลย ฉะนั้นพวกเราก็ฝึกเอา

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
20 พฤษภาคม 2566