เข้าใจจิตแล้วเข้าใจธรรมทั้งหมด

เรียนเรื่องจิตใจมันเป็นแก่น สำคัญมากเลย ครูบาอาจารย์ผู้หลักผู้ใหญ่ท่านก็สอน “ได้จิตก็ได้ธรรม ไม่ได้จิตก็ไม่ได้ธรรมะ” หลวงปู่มั่นท่านสอน ได้จิตเป็นอย่างไรถึงจะได้ธรรมะ มันก็หลายระดับ เบื้องต้นเราต้องมีจิตผู้รู้เสียก่อนเพื่อจะได้ธรรมะ หมายถึงสามารถไปเจริญสติ เจริญปัญญาได้อย่างแท้จริง ถ้าเราไม่ได้จิต เรียกว่าเรายังไม่มีเครื่องมือสำคัญไปปฏิบัติ ปฏิบัติไม่ได้หรอก ครูบาอาจารย์รุ่นก่อนๆ ที่หลวงพ่อเรียนกับท่าน ท่านเน้นท่านย้ำเรื่องจิตมากเลย บางองค์ช่วงท่านอายุยังไม่มาก ท่านก็สอนพุทโธพิจารณากายอะไรอย่างนี้ หลายองค์ส่วนใหญ่ก็อย่างนั้น พอท่านภาวนาได้เต็มภูมิของท่านแล้ว ท่านลงมาที่จิต ตัดตรงมาเลย คล้ายๆ ช่วงแรกเป็นช่วงแสวงหาเส้นทาง พอไปถึงจุดหมายปลายทางแล้ว มองลงมา ย้อนกลับมามอง ทางลัดมันมี แต่เดินทางอ้อมมา

ได้จิตก็ได้ธรรมะ ไม่ได้จิตก็ไม่ได้ธรรมะ เพราะจิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในธรรมะทั้งปวง ถ้าเรียนเข้ามาให้ถึงจิตถึงใจตัวเอง จิตมันเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่าง จิตมันทำหน้าที่รู้ แต่ในขณะที่ทำหน้าที่รู้ จิตโดยตัวของมันเอง มันรู้ซื่อๆ แต่มันจะเป็นจิตที่ดีหรือจิตที่เลว จิตที่สุขหรือจิตที่ทุกข์ เกิดจากสภาวธรรมอย่างอื่นที่เข้ามาประกอบจิต สภาวะที่ประกอบจิตเขาเรียกว่าเจตสิก ทำให้จิตซึ่งเป็นธรรมชาติรู้มีลักษณะแตกต่างกัน จิตดวงนี้เป็นกุศล จิตดวงนี้เป็นอกุศล จิตดวงนี้เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา หรือเป็นกุศลเฉยๆ รู้อยู่เฉยๆ ไม่มีปัญญา หรือเป็นจิตที่มีความสุข มีความทุกข์

จิตที่เป็นอกุศลมีหลากหลาย จิตโลภก็ไม่เหมือนจิตโกรธ จิตโกรธก็ไม่เหมือนจิตหลง ไม่เหมือนจิตโลภ สิ่งที่เข้ามาประกอบจิตทำให้จิตแสดงอาการที่แตกต่างกันออกมา จิตที่มีความสุข มันก็มีอาการของมัน จิตที่มีความทุกข์ก็มีอาการของมัน จิตที่เป็นกุศลก็มีลักษณะ มีอาการของมัน จิตที่เป็นอกุศลก็มีลักษณะเฉพาะของมัน อย่างจิตโกรธก็มีลักษณะผลัก พยายามผลักอารมณ์ทั้งหลายออกไป จิตโลภก็พยายามดึงอารมณ์ทั้งหลายเข้ามา ฉะนั้นจิตนั้นอาศัยธรรมะที่มาประกอบกับจิตทำให้จิตวิจิตรพิสดารขึ้นมา

เราเรียนไปแล้วมันได้ประโยชน์อะไร ถ้าเราเรียนเห็นว่าจิตสุขก็อย่างหนึ่ง จิตทุกข์ก็อย่างหนึ่ง จิตดีก็อย่างหนึ่ง จิตชั่วก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ในจิตชั่วก็มีแยกออกไป จิตโลภก็อย่างหนึ่ง จิตโกรธก็อย่างหนึ่ง จิตหลงก็อย่างหนึ่ง จิตซึ่งเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ งานหลักมีอันเดียว แต่แสดงกิริยาอาการต่างๆ ออกมาได้มากมาย เพราะธรรมะที่มาประกอบมันทำให้เราเห็นว่าจิตเองไม่เที่ยง จิตสุขก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็หายไปแล้ว กลายเป็นจิตทุกข์ หรือเป็นจิตเฉยๆ จิตทุกข์ก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็กลายเป็นจิตสุข หรือเป็นจิตเฉยๆ จิตเฉยๆ ก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็กลายเป็นจิตสุขหรือจิตทุกข์ขึ้นมาอีก เพราะฉะนั้นองค์ธรรมที่มาประกอบจิต มันทำให้จิตมีความต่างกัน แต่ละดวงๆ

 

ดูจิตผ่านเจตสิกทั้งหลาย

ฉะนั้นการที่เราเห็นจิตดวงหนึ่งกับอีกดวงหนึ่งเป็นคนละดวงกันได้ อาศัยว่าจิตดวงนี้มันเกิดร่วมกับสุข จิตดวงนี้มันเกิดร่วมกับทุกข์ มันไม่เหมือนกัน จิตดวงนี้ไม่สุขไม่ทุกข์ จิตดวงนี้ดีๆ ก็มีดีหลายระดับ จิตมีศรัทธาในพระรัตนตรัย มีศรัทธาเข้ามาประกอบก็อย่างหนึ่ง จิตมีความเพียรมีวิริยะ มันก็มีอาการอย่างหนึ่ง อย่างจิตไม่มีความเพียรก็หดหู่ ห่อเหี่ยว เซื่องซึมไป จิตมีความเพียรก็คึกคัก เข้มแข็งขึ้นมา จิตมีสติ จิตไม่มีสติ จิตมีสมาธิที่ดีกับจิตมีสมาธิที่เลว จิตมีสติกับจิตไม่มีสติต่างกันได้ ส่วนจิตมีสมาธิ จิตทุกดวงมีสมาธิ แต่สมาธิมันเป็นสมาธิที่ดีหรือสมาธิที่เลว มันแตกต่างกันอีก

อย่างหัดภาวนาทีแรก นั่งสมาธิแล้วเคลิ้มๆ ลืมเนื้อลืมตัวอย่างนี้ พอเราฝึกนั่งสมาธิ จิตตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา เราจะรู้เลยว่าจิตที่เคลิ้มๆ สงบแบบโง่ๆ กับจิตที่สงบตั้งมั่น รู้ตื่น เบิกบาน มันคนละดวงกัน ฉะนั้นธรรมะที่มาประกอบจิตทำให้เห็นว่าจิตมันเป็นดวงๆ แยกต่างหากจากกัน แล้วมีอาการ ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป เป็นอย่างนี้ตลอดเวลา จิตไม่ได้มีดวงเดียว ถ้าใครเห็นว่าจิตเที่ยง หรือเห็นว่าผู้รู้เที่ยง ยังไม่เข้าใจ ยังใช้ไม่ได้ ถ้าเราเห็นสภาวะของจิตจริงๆ เราจะเห็นจิตนี้ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็จิตสุขเกิดแล้วก็ดับ เกิดจิตทุกข์ จิตทุกข์เกิดแล้วก็ดับ เกิดจิตเฉยๆ จิตเฉยๆ เกิดแล้วก็ดับ จิตที่เป็นกุศลมีศรัทธา เดี๋ยวก็เสื่อมศรัทธา มีความเพียร ประเดี๋ยวก็ ขี้เกียจอะไรอย่างนี้ ก็จะเห็นว่าจิตนี้เกิดดับๆเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตรงนี้เราเห็นจิตเกิดดับผ่านสิ่งที่มาประกอบจิต เรียกว่าเกิดดับได้

จิตแต่ละอย่างๆ หลากหลายวิจิตรพิสดารมาก จิตดวงนี้เข้าฌานระดับนี้ๆ จิตดวงนี้อาศัยช่องว่างอยู่ จิตดวงนี้อาศัยการรู้จิตอยู่ จิตดวงนี้อาศัยการที่จะไม่เกาะเกี่ยวอะไรอยู่ วิจิตรพิสดารมาก จิต แต่พอเราเฝ้ารู้เฝ้าดูไปเรื่อยๆ ดูเท่าที่ดูได้ ดูคู่เดียวก็พอแล้ว อย่างถ้าเราขี้โมโหก็เห็นจิตโกรธแล้วก็จิตไม่โกรธ จิตโกรธแล้วก็จิตไม่โกรธ ดูอย่างนี้ เราก็จะเห็นว่าจิตนั้นมันเกิดดับ จิตโกรธเกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไม่โกรธเกิดแล้วก็ดับ

ฉะนั้นการดูจิตไม่ใช่ไปนั่งดูจิตว่างๆ นิ่งๆ อยู่ อันนั้นดูจิตไม่เป็น คนที่ไม่เป็นก็อย่างหลวงพ่อนี้ล่ะ หลวงปู่ดูลย์บอกให้หลวงพ่อดูจิต หลวงพ่อก็ไปดูมัน เห็นจิตมันทำงาน มันไปปนเปื้อนเข้ากับความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย ปนเปื้อนกับเจตสิกทั้งหลาย บางทีก็ปนเปื้อนกับความรู้สึกทั้งหลาย ปนเปื้อนกับตัวอารมณ์ จิตมันไหลเข้าไปจับตัวอารมณ์ บางทีมันก็ปนเปื้อน มันถูกปรุงแต่งด้วยตัวเจตสิก สุข ทุกข์ ดี ชั่วทั้งหลาย นี้เข้าใจผิดว่าดูจิตต้องดูให้ถึงตัวจิตจริงๆ ไม่มีตัวอื่น ก็ค่อยๆ ดูๆๆ ค่อยๆ แยกๆๆๆ ไป ในที่สุดจิตก็สงบ ตั้งมั่น รู้ นิ่งๆ อยู่อย่างนั้น ดูจิตไปก็มีแต่ความนิ่งความว่าง ดูทีไรก็นิ่งๆ ว่างๆ ทุกทีเลย

ฝึกดูอยู่ 3 เดือน ขึ้นไปกราบหลวงปู่ดูลย์บอก “หลวงปู่ครับ ผมดูจิตได้แล้ว” หลวงปู่ถามว่า “จิตเจ้าเป็นอย่างไร จิตเป็นอย่างไร” บอกท่านว่า “จิตนี้มันวิจิตรพิสดารมาก มันปรุงแต่งได้นานาชนิด แต่ผมรู้ทันมันหมดเลย ผมทิ้งหมดเลย” สิ่งที่มาปรุงจิตเข้ามาอยู่ที่จิตอันเดียว มารักษาอยู่ ดูจิตได้แล้ว มีแต่จิตอย่างเดียวเลย ไม่ดูเจตสิก ไม่ดูสุข ทุกข์ ดี ชั่ว ไม่เอาทั้งสิ้นอารมณ์ทั้งหลายก็ไม่สนใจมัน สนใจอยู่ที่ตัวจิตอย่างเดียว” หลวงปู่บอกว่าทำผิดแล้ว ให้ไปดูจิต ไม่ได้ให้ไปแทรกแซงจิต จิตมีธรรมชาติคิด นึก ปรุง แต่ง ไม่ได้ไปฝึกให้มันไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่งแล้วอยู่กับความว่าง ไปดูใหม่ ทำผิดแล้วไปดูใหม่

ฉะนั้นอย่างพวกเราภาวนาผิด ไม่ต้องเสียใจ ใครๆ ก็ผิดมาก่อน ก่อนจะถูกก็ผิดมาทั้งนั้น หลวงพ่อก็ทำผิดมาเยอะ ถึงได้มาสอนพวกเราได้ ถ้าประเภททำทีเดียวถูกโพละ ปุ๊บเลย สอนอะไรใครไม่ได้หรอก รู้แต่ว่าดูๆ แล้วมันหลุดไปเลย ไม่รู้เหตุรู้ผล ทำผิด รู้ว่าอย่างนี้ผิดๆ เลยมาดูใหม่

 

“สิ่งทั้งหลายมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา
อันนั้นเป็นภูมิความรู้ของพระโสดาบัน
ฉะนั้นการที่เราเฝ้าดูจิตที่มันเกิดดับ เปลี่ยนแปลงไป
เรากำลังเดินเข้าไปสู่เส้นทางของพระโสดาบัน”

 

การดูจิตก็คือจิตเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้น จิตมันเป็นอย่างไรบ้าง จิตมันเดี๋ยวมันก็มีจิตสุขเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เดี๋ยวก็มีจิตทุกข์เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เดี๋ยวก็มีจิตเฉยๆ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เดี๋ยวก็มีจิตที่มีศรัทธาเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เกิดจิตไม่ศรัทธา ลังเล สงสัย อันนี้จริงหรือ พระพุทธเจ้ามีจริงไหมอะไรอย่างนี้ ลังเลสงสัยธรรมะที่ท่านสอนจะช่วยให้เราพ้นทุกข์ได้จริงหรือ

คำว่าลังเลสงสัย ต้องลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย ถ้าลังเลสงสัยว่าถนนหน้าวัดหลวงพ่อมันวิ่งจากไหนไปไหน อันนั้นไม่เรียกว่าวิจิกิจฉา วิจิกิจฉาตัวนี้ต้องลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย การสงสัยทางโลกพระอรหันต์ก็สงสัยได้ อย่างท่านเดินธุดงค์ เดินๆ ไปสงสัยว่า เอ๊ะ หลงเข้ามาในป่าลึก จะออกมันจะออกทางไหน ทางไหนมันทิศเหนือ ทิศใต้ ตะวันออก ตะวันตก อย่างนี้สงสัยได้ สงสัยอย่างนี้ไม่ใช่กิเลส เป็นความสงสัยธรรมดา ฉะนั้นจิตเกิดลังเลสงสัยในพระรัตนตรัยก็รู้ จิตมีศรัทธางมงายในพระรัตนตรัยก็รู้

เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป บางทีจิตก็เกิดสติถี่ยิบเลย อีกวันหนึ่งไม่ยอมเกิดเลย หลงตลอดเลย จิตมีสติก็รู้ จิตหลงไปก็รู้ เราก็จะเห็นเลย จิตมันวิจิตรพิสดาร มีหลากหลายเหลือเกิน เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย สารพัดจะเป็น แล้วหัดรู้หัดดูเรื่อยๆ ต่อไปมันก็จะเข้าใจเลย จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับทั้งสิ้น จะจิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว จิตผู้รู้ จิตผู้หลง เกิดแล้วดับทั้งสิ้น เฝ้ารู้อย่างนี้ ปัญญามันถึงจะเกิด มันจะรู้ว่าจิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราหรอก อย่างมันจะสุข เราสั่งมันไม่ได้ว่าจงสุข มันจะทุกข์ ห้ามมันไม่ได้ว่าอย่าทุกข์ ห้ามมันได้ แต่มันไม่ฟังหรอก บอกว่าอย่าทุกข์ มันก็จะทุกข์ เหมือนบางคน ผู้หญิงบางคน แฟนมันหลอกอย่างนู้นอย่างนี้ แล้วจับได้ ต่อไปนี้จะไม่รักมันแล้วล่ะ ประเดี๋ยวมันมาอ้อนใหม่ก็รักมันใหม่อีก ใจเราเราสั่งไม่ได้ ตรงที่สั่งไม่ได้ บังคับไม่ได้ อันนั้นมันแสดงคำว่าอนัตตาให้เห็น ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ

ฉะนั้นการที่เราเห็นจิตเกิดดับร่วมกับเจตสิกธรรมต่างๆ มันทำให้เห็นว่าจิตแต่ละดวงไม่เหมือนกัน ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน เป็นอย่างนี้ เราจะเห็นจิตเกิดทีละดวงแล้วก็ดับ แล้วไปเกิดแล้วก็ดับอยู่อย่างนี้ ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ ไม่ขาดสาย ในที่สุดก็จะเห็นจิตทุกดวงเกิดแล้วดับ จิตทั้งหลายมันไม่เที่ยง ต่อไปปัญญามันแก่รอบ รู้ว่าสิ่งทั้งหลายมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา อันนั้นเป็นภูมิความรู้ของพระโสดาบัน ฉะนั้นการที่เราเฝ้าดูจิตที่มันเกิดดับ เปลี่ยนแปลงไป เรากำลังเดินเข้าไปสู่เส้นทางของพระโสดาบัน

สุดท้ายจิตมันก็ฉลาด จิตมันก็รู้เลย จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ เฝ้ารู้เฝ้าดูไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าใจความจริง จิตไม่ใช่เรา บางคนก็เห็นจิตมันไม่เที่ยง คือมันเกิดแล้วดับ บางคนก็เห็นจิตบังคับไม่ได้ สั่งไม่ได้ สั่งให้ดีไม่ได้ ห้ามชั่วไม่ได้ สั่งให้สุขไม่ได้ ห้ามทุกข์ไม่ได้ รู้เลยว่าจิตนี้ไม่อยู่ในอำนาจบังคับเรียกว่าเห็นอนัตตา มันไม่ใช่ตัวเรา ถ้าตัวเรา เราคงสั่งได้ แต่เราสั่งมันไม่ได้ ฉะนั้นมันไม่ใช่ตัวเรา บางคนก็เลยเห็นจิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา เพราะว่ามันไม่เที่ยง บางคนเห็นว่ามันไม่ใช่ตัวเรา เพราะมันบังคับไม่ได้ มันสั่งไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ ถ้าเห็นอย่างนี้ มันก็เข้าใจความจริง จิตไม่ใช่ตัวเรา เป็นแต่สภาวธรรมที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป สืบเนื่องกันไป แค่นั้นล่ะ ไม่มีอะไรแปลกประหลาดเลย

ทันทีที่เราเห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเรา เจตสิกทั้งหลายก็ไม่ใช่ตัวเรา กระทั่งตัวจิตยังไม่ใช่เราเลย ความสุข ความทุกข์ที่จิตไปรู้เข้า มันก็แค่ของถูกรู้ กุศล อกุศลทั้งหลาย มันเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ก็แค่ของถูกรู้ถูกดู มันไม่มีเรา พอจิตไม่เป็นเรา เจตสิกก็พลอยไม่เป็นเราไปด้วย รูปคือร่างกายนี้ ก็พลอยไม่เป็นเราไปด้วย ร่างกายก็เป็นของถูกรู้ ฉะนั้นถ้าเข้าใจจิตตัวเดียว ก็จะเข้าใจเจตสิก เข้าใจรูป เข้าใจไปหมด ต่อไปก็จะเข้าใจรูปนามภายนอกด้วย เป็นอันเดียวกันหมดเลย กระทั่งร่างกายนี้ยังไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา แล้วบ้านมันจะเป็นตัวเราของเราได้อย่างไร

มันจะเห็น ฉะนั้นถ้าเราตัดตรงเข้ามาเห็นความจริงของจิตได้ เวลาที่มันรู้แจ้งแทงตลอดในตัวจิตว่าจิตไม่ใช่ตัวเรา เจตสิกทั้งหลายก็พลอยไม่ใช่เราด้วย เป็นแค่ของถูกรู้ถูกดู รูปทั้งหลายมันก็ไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นแค่ของถูกรู้ถูกดูเท่านั้น ตัวนี้มันก็ถูกรู้ รูปภายในหรือรูปภายนอก รูปคนอื่นอะไรอย่างนี้ รูปสัตว์อื่น มันก็อาการเดียวกัน มีลักษณะอันเดียวกัน คือมันเป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ เหมือนๆ กัน สุดท้าย มันก็ตายก็เน่าไป กลับไปเป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นเข้าใจที่จิตตัวเดียวจะเข้าใจธรรมทั้งหมด

 

อย่าไปตัด อย่าไปเติมพระไตรปิฎก

หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนหลวงพ่อมาบอกว่า ธรรมะ 84,000 พระธรรมขันธ์ออกมาจากจิตนี้เอง หรือว่าธรรมะทั้งหมดมันออกมาจากจิต พระพุทธเจ้าบุญบารมีสติปัญญาท่านมาก ท่านเลยรู้ ธรรมะ 84,000 พระธรรมขันธ์ สาวกรู้ไม่ทั่วถึงหรอก อย่างมากก็รู้ตามท่าน ฟังท่านอย่างนี้ สาวกจะรู้เป็นส่วนๆ จะรู้ได้ไม่ทั่วถึง แต่ว่าถามว่าเชื่อสาวกได้ไหม สาวกจำนวนมาก ยิ่งสาวกในครั้งพุทธกาล ที่ดีๆ ท่านแสดงธรรม พระพุทธเจ้าโอเค

บางครั้งพระพุทธเจ้าตอนท่านอายุเยอะขึ้นแล้ว ท่านแสดงธรรมเช้า ตั้งแต่เช้ามามีธุระตลอดเลย ตอนค่ำๆ ต้องแสดงธรรมให้พระฟังอีก ตอนเย็นๆ แสดงให้โยมฟัง เขาทำงานเสร็จแล้ว เขาก็เข้ามาวัด มาฟังธรรม ตอนค่ำๆ ท่านก็ต้องเทศน์ให้พระฟังอีก แล้วตอนดึกๆ คนอื่นนอนแล้ว พวกเทพก็จะมา ไม่ใช่เรื่องประหลาด พวกเทพที่จะมาฟังธรรม จะมาตอนดึกๆ บางทีท่านนอนอยู่ หรือท่านภาวนาอยู่ บางทีท่านหลับอยู่ เขาจะมา ท่านก็จะตื่น จิตท่านจะตื่น กายท่านจะตื่นหรือเปล่าไม่รู้ แต่จิตนั้นแสดงธรรมได้

ท่านเหนื่อยมากตั้งแต่เช้า เช้ามืด ทำงานตลอด เพราะเป็นพระพุทธเจ้า เช้ามืดขึ้นมาท่านจะพิจารณาแล้ว วันนี้ท่านจะไปสอนใคร จะสอนที่ไหน จะสอนอย่างไร สอนแล้วจะได้ผลอย่างไร ท่านจะพิจารณาก่อน ตอนออกไปบิณฑบาต ท่านก็จะแวะไปสำนักโน้นสำนักนี้ ไปคุยกับปริพาชกคนนี้ ไปคุยกับฤๅษีคนนี้ หรือแวะไปโปรดฆราวาสญาติโยม อย่างบางคนไปอาบน้ำในแม่น้ำอยู่ พระพุทธเจ้าก็ไปโปรด คือท่านพิจารณาตั้งแต่เช้ามืดเลย ในขณะที่พวกเรายังนอนไม่ตื่น พระพุทธเจ้าทำงานแล้ว ออกไปบิณฑบาตไม่ใช่ไปขอข้าวเขากินอย่างเดียว ออกไปโปรดสัตว์จริงๆ ไปสงเคราะห์ว่าวันนี้ควรจะไปสงเคราะห์ใคร บางคนยังไม่ควรจะได้ธรรมะตอนนี้ หมายถึงอินทรีย์ยังไม่แก่กล้า ท่านไปให้โอกาสเขาได้ทำทาน เป็นการทำประโยชน์

กลับมาท่านฉันอะไรอย่างนี้ หลังจากนั้นก็รับแขกแล้ว เดี๋ยวคนโน้นมาคนนี้มา ตกเย็นๆ ญาติโยมก็เข้าวัดเยอะแยะ ถัดจากนั้นก็สอนพระ ตรงที่สอนพระ บางทีท่านเหนื่อยมากแล้ว ร่างกาย ถึงท่านจะเป็นพระพุทธเจ้า จิตท่านจะวิเศษวิโสแค่ไหน แต่ร่างกายท่านมันก็คือธาตุขันธ์แบบเดียวกับพวกเรานี้ ไม่ได้ต่างกันหรอก มันก็แก่ได้ เจ็บได้ ตายได้เหมือนกัน ฉะนั้นท่านเหนื่อย ท่านก็จะใช้สาวก เอ้า องค์นี้แสดงธรรมให้ที ท่านจะพักผ่อนแล้ว ท่านจะต้องเอนหลังอะไรอย่างนี้ ก็ลงไปนอนพักข้างๆ พระสารีบุตรบ้าง องค์โน้นองค์นี้ก็แสดงธรรมไป พอแสดงธรรมจบแล้ว พระพุทธเจ้าท่านก็ลุกขึ้นมาบอกว่าแสดงได้ดี ถ้าให้ท่านเทศน์ ท่านก็เทศน์อย่างนี้ล่ะ หรือบางวันท่านเห็นว่า ท่านมีสาวกที่เก่งๆ มาอยู่ด้วย อย่างมีพระมหากัจจายนะมาอยู่ด้วยอย่างนี้ ท่านก็แสดงธรรมย่อๆ พูดไม่กี่คำ บอกว่าวันนี้เราเหนื่อยแล้ว จะพัก แล้วท่านก็พัก เข้ากุฏิท่านเลย พระอื่นๆ ก็ฟัง แล้วยังไม่เข้าใจ ยังไม่จุใจอะไรอย่างนี้ ไปถามพระมหากัจจายนะ ท่านก็ขยายความให้ฟัง แจกแจงธรรมะให้ฟัง

เห็นไหมสาวกสอนไม่ใช่เรื่องธรรมดา อย่าดูถูก โง่มากๆ เลยที่ดูถูกพระสาวก พระสาวกสอนพระสาวกบรรลุพระอรหันต์อะไรต่ออะไร มีเยอะแยะ หรือบรรลุโสดาบัน พระสารีบุตรเก่งในการสอนพระสอนโยมให้บรรลุพระโสดาบัน พระโมคคัลลานะเก่งในการสอนภิกษุด้วยกันหรือญาติโยมอะไรนี่ให้บรรลุพระอรหันต์ พระโมคคัลลานะสอนแล้วบรรลุพระอรหันต์ได้เยอะ พระสารีบุตรสอนแล้วบรรลุโสดาบันได้เยอะ ฟังแล้ว งงไหม เอ๊ะ ทำไม เป็นเอตทัคคะ เป็นอัครสาวกฝ่ายขวามีปัญญามาก สอนได้โสดาบัน สอนปุถุชนให้เป็นพระโสดาบันยากที่สุดเลย ยิ่งกว่าต้อนควายขึ้นภูเขาอีก พร้อมจะแว้งเอา ส่วนคนที่เป็นพระโสดาบันแล้ว อย่างไรๆ วันหนึ่งก็ต้องเป็นพระอรหันต์ มันง่ายกว่ากัน เพราะฉะนั้นความยากที่สุดอยู่ในขั้นแรกนี้ล่ะ

 

“คัมภีร์ของเราจะสอนไว้รอบทิศทาง
ฉะนั้นอย่าไปตัดพระไตรปิฎก อย่าไปเติมพระไตรปิฎก
เอากิเลสของเราไปใส่ ทำไม่ได้หรอก”

 

ฉะนั้นในพระไตรปิฎกจะมีทั้งคำสอนตรงของพระพุทธเจ้า และคำสอนของพระสาวก ซึ่งเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ทั้งสิ้น เรียนพระไตรปิฎกก็ต้องรักษาเอาไว้ให้ครบ ไปนึกตัดทิ้งตามใจชอบไม่ได้หรอก ถ้าคนนี้ก็ตัดตรงนี้ คนนี้ก็ตัดตรงนี้ สุดท้ายก็หมดเท่านั้น เพราะว่าพวกโง่ไปตัด ก็ไม่รู้ว่าอันไหนควรตัด อันไหนไม่ควรตัด ที่ควรตัดเขาตัดกันไปหมดแล้ว ที่เหลืออยู่ต้องรักษาเอาไว้ บางพวกตัวเองก็ภาวนาแล้วก็เพี้ยนไป เอ๊ะ สิ่งที่เราเพี้ยนในพระไตรปิฎกไม่มี ก็บอกเลยว่า เอ๊ะ พระไตรปิฎกขาดตรงนี้ ไม่สมบูรณ์ ขาดตรงนี้ ต้องเติมธรรมะของตัวเองลงไป อันนี้ก็เพี้ยนสุดๆ ไปอีกแบบหนึ่ง ฉะนั้นพระไตรปิฎก เติมไม่ได้และก็ตัดไม่ได้ ต้องรักษาเอาไว้ มิฉะนั้นจะเพี้ยน คนกิเลสหนาปัญญาหยาบ จะไปตัดธรรมะของพระพุทธเจ้าหรือของพระอรหันต์สาวกทั้งหลายได้อย่างไร ตัวเองไม่ได้มีภูมิอะไรที่จะทำอย่างนั้นได้หรอก

เราต้องค่อยๆ เรียน ค่อยๆ พัฒนาไป พอเราเข้าใจธรรมะ เข้าใจทั้งหมด เข้าใจจิตแล้ว จะเข้าใจทั้งหมด แล้วก็เราเป็นสาวก เราก็จะเข้าใจบางด้าน แต่เราก็ศึกษาก็เห็น เออ มีแง่มีมุมที่เราภาวนา เราไม่รู้ เราไม่เห็น มีอีกเยอะแยะ ซึ่งท่านอื่นท่านผ่านมาเส้นนั้น เราไม่ได้ผ่านเส้นนั้น อย่างเราจะไปเที่ยวเชียงใหม่อย่างนี้ เราก็ไปในเส้นทางของเรา นั่งเรือไป จากแม่น้ำเจ้าพระยาไปเข้าแม่น้ำปิงอะไรอย่างนี้ ค่อยๆ ตามน้ำไปก็ไปได้ นั่งเครื่องบินไปก็ได้ เดินไปก็ได้ อยากขี่ควายไปก็ไม่มีใครเขาว่าหรอก ไปอย่างไรก็ได้ หรือจะบินไปสิบสองปันนาแล้ว นั่งเรือย้อนกลับมาเชียงแสน แล้วก็มาเดินตัดลงมาเชียงใหม่ ก็ไม่มีใครว่า แต่ว่าสาวกก็จะเห็นในเส้นทางของตัวเอง ไม่รู้รอบในเส้นทางของท่านผู้อื่น ในคัมภีร์ของเราจะสอนไว้รอบทิศทาง ฉะนั้นอย่าไปตัดพระไตรปิฎก อย่าไปเติมพระไตรปิฎก เอากิเลสของเราไปใส่ ทำไม่ได้หรอก

อย่างสาวกภาวนาก็จะเห็นเลย เมื่อไหร่รู้ทุกข์ เมื่อนั้นละสมุทัย แจ้งนิโรธ เกิดอริยมรรค สาวกเห็นอย่างนี้ ส่วนใหญ่ก็เห็นอย่างนี้ พระควัมปติท่านก็บอกกับเพื่อนสาวก เพื่อนพระ พระอรหันต์ของท่าน พระอรหันต์ท่านไปอยู่ด้วยกันหลายองค์ เช้าขึ้นมาก็ไปบิณฑบาตๆ ฉันเสร็จแล้ว ท่านก็มา สนทนาธรรมกัน องค์หนึ่งท่านก็บอก “ผมภาวนา ผมเห็นว่าถ้ารู้ทุกข์ ก็เป็นอันละสมุทัย แจ้งนิโรธ เจริญมรรค” ทุกองค์เห็นด้วย นี่ภูมิของสาวก พระอรหันต์ เห็นด้านเดียว พระควัมปติ ท่านบอกว่าท่านได้ยินพระพุทธเจ้าสอนมาบอกว่า ถ้ารู้ทุกข์ก็เป็นอันละสมุทัย แจ้งนิโรธ เจริญมรรค ถ้าละสมุทัยก็เป็นอันรู้ทุกข์ แจ้งนิโรธ เจริญมรรค ถ้าเมื่อไหร่แจ้งนิโรธ ก็เป็นอันรู้ทุกข์ ละสมุทัย เจริญมรรคขึ้นมา ถ้าเมื่อไหร่เกิดอริยมรรค เมื่อนั้นรู้ทุกข์ ละสมุทัย แจ้งนิโรธ

แง่มุมภูมิปัญญาของพระพุทธเจ้า สาวกไม่มีทางเทียบหรอก แต่สาวกก็อาศัยศึกษาตัวเองภาวนาพ้นทุกข์แล้ว ก็ศึกษาประดับความรู้ไว้ได้ ของดีๆ ทั้งนั้นธรรมะ ถ้าเราภาวนาให้ถึงจิตถึงใจ แล้วจะเข้าใจธรรมะ จะไม่เอากิเลสของเราไปตัดสินธรรมะของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ ครูบาอาจารย์ทั้งหลายหรอก หลวงพ่อภาวนา เวลาครูบาอาจารย์สอนอะไรที่หลวงพ่อไม่เข้าใจ หลวงพ่อจะแขวนไว้ก่อน จะไม่ปฏิเสธว่าไม่จริงหรอก แล้วก็จะไม่ยอมรับ ศรัทธาแล้วเชื่อเลย ไม่เป็นอย่างนั้น หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อว่า พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิตจึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง เชื่อไหม หลวงพ่อบอก “ผมยังไม่เห็น ผมยังไม่เห็นครับ ผมจะจำไว้แล้วเอาไปปฏิบัติ” ท่านบอก “เออ จำไว้นะ” เราจะไม่บอกว่าครูบาอาจารย์ผิด พระไตรปิฎกผิดอะไรอย่างนี้ ไม่ว่าอย่างนั้น พอเราภาวนา แล้วมันเห็นไม่เหมือนพระไตรปิฎก เห็นไม่เหมือนที่ครูบาอาจารย์สอน ก็ต้องรีบสำรวจตัวเองเลย เราผิดตรงไหน สำรวจตัวเอง

อย่างหลวงพ่อภาวนาไปถึงจุดหนึ่ง เห็นกิเลสมันผุดขึ้นมา เราก็ดูมัน ดูแบบเนียนมากเลย ถ้าดูแบบสติแรงนิดเดียว ขาดสะบั้นเลย นี้ไม่ให้มันขาด อยากดูมันจะมีลีลาอะไร ตัวโทสะมันผุด มันเคลื่อนออกมาอย่างนี้ สติเราก็ตามมันไปๆ มันก็ดับวับไป แล้วเราก็สติยังตั้งข้างนอก แต่เราไม่รู้ว่าจิตออกข้างนอกแล้ว ตอนที่มันไหลตามกิเลสไป ไม่ได้สังเกตว่าจิตมันเคลื่อนไป จิตมันก็ไปสว่างว่างอยู่ข้างนอก อยู่อย่างนั้น สบาย กิเลสก็ไม่เกิด ไม่เห็นกิเลสเลย มีแต่ความสุข รู้สึกว่าบังคับได้ ควบคุมได้ ภาวนาอยู่อย่างนั้นนาน จิตใจดีจังๆ สุดท้ายก็สังเกต พระพุทธเจ้าบอกจิตไม่เที่ยง ทำไมจิตดวงนี้เที่ยง พระพุทธเจ้าว่าจิตเป็นทุกข์ ทำไมจิตดวงนี้มันสุข พระพุทธเจ้าว่าจิตเป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ ทำไมเราบังคับได้ เราจะทำตรงนี้ขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ ต้องมีอะไรผิด แต่มันผิดอย่างไรไม่รู้ หาทางรู้ ไม่รู้หรอก

มาเจอหลวงตามหาบัวท่านสะกิดให้บอก ดูจิตไม่ถึงจิตแล้ว ท่านไม่ได้บอกว่าการดูจิตผิด แต่ท่านบอกว่า ที่ว่าดูจิตนั้นดูไม่ถึงจิตแล้ว เห็นไหม ถ้าดูถึงจิตท่านไม่ว่า ฉะนั้นไม่ใช่ว่าท่านห้ามดูจิต หลวงพ่อไปเจอท่าน ดูไม่ถึงจิตต่างหาก ปัญหาคือดูไม่ถึงจิต ไม่ใช่ปัญหาคือการดูจิต พอเรารู้ทัน ทำสมาธิ จิตกลับเข้าฐาน ถึงรู้ว่าผิดอย่างไร สังเกตจิตตัวเองไปเลย จิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่วอะไร สังเกตไปเรื่อยๆ เลย แล้วพอสังเกตไปช่วงหนึ่ง เห็นว่ามันต่างกับคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือต่างจากคำสอนของพระอรหันต์สาวก ของครูบาอาจารย์ที่ท่านภาวนา เรารู้สึกว่าท่านสะอาดหมดจด ถ้ามันต่างกัน เราต้องรีบสังเกตว่ามันพลาดตรงไหน ไม่ใช่พระไตรปิฎกผิดตรงไหน เราโง่ตรงไหน ดูตัวนี้ ดูตัวเอง มันไม่ได้เรื่องตรงไหนสังเกตเอา ท่านบอกว่าจิตไม่เที่ยง ทำไมเราเที่ยง เราผิดตรงไหน ไม่ใช่บอกว่าพระไตรปิฎกไม่สมบูรณ์ ยังมีจิตที่เที่ยงอยู่ด้วย พระไตรปิฎกไม่ได้เขียนเอาไว้อะไรอย่างนี้ อันนี้มันมิจฉาทิฏฐิ พวกเซลฟ์จัด มันคิดอย่างนั้นได้

 

เรียนให้รู้จิตรู้ใจของตัวเอง

ฉะนั้นเราภาวนา เรียนรู้จิตตัวเองเข้าไปให้เยอะๆ เถอะ ถ้ารู้จิต ก็จะรู้เจตสิก แล้วจะรู้รูป แล้วรู้รูป รู้นามทั้งหมด ก็คือรู้โลกทั้งหมดนั่นล่ะ สิ่งที่เรียกว่าโลกก็คือรูปกับนามทั้งนั้น จะเป็นรูปนามภายใน คือตัวนี้ รูปนามภายนอก คือตัวนั้น มันก็คือสิ่งเดียวกันนั่นล่ะ มันเสมอกันหมด ฉะนั้นเรียนๆ ค่อยๆ สังเกตจิตใจตัวเองไป จะเข้าใจธรรมะทั้งหมด หลวงปู่ดูลย์ท่านบอกอย่างนี้ หลวงพ่อไม่เข้าใจธรรมะทั้งหมดหรอก หลวงพ่อเป็นพระโง่ๆ เท่านั้นเอง เป็นสาวกปลายแถว จะไปรู้ธรรมะทั้งหมด เป็นไปไม่ได้ หลวงปู่ดูลย์ท่านก็รู้บางส่วน แต่ท่านรู้เยอะ หลวงพ่อรู้นิดเดียว

ที่จริงการภาวนาไม่ต้องรู้เยอะหรอก รู้นิดเดียวก็พอแล้ว รู้ว่าสิ่งใดเกิดสิ่งนั้นดับ นี่ขั้นต้น ถัดจากนั้นก็เห็นเลยว่า ในบรรดาสิ่งที่เกิดที่ดับ มันคือตัวทุกข์ มันคือทุกข์ รูปนี้ กายนี้ เป็นสิ่งที่เกิดดับ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา แล้วมันเป็นตัวอะไร มันเป็นตัวทุกข์ จิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา แล้วมันเป็นตัวอะไร มันเป็นตัวทุกข์ ถ้าเห็นตัวรูปเป็นตัวทุกข์ จิตจะวางรูป ก็จะวางตา หู จมูก ลิ้น กาย พอวางตา หู จมูก ลิ้น กายมันก็วางรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะในทันทีนั้น เพราะฉะนั้นรูปภายใน รูปภายนอกนี้ เวลาวาง วางทีเดียวหมดเลย พร้อมกันไปหมดเลย พอวางได้แล้ว ความยินดีในรูปทั้งหลายก็ไม่มี ความยินร้ายในรูปทั้งหลายก็ไม่มี ความยินดีในรูปทั้งหลายก็คือตัวกาม ความยินร้ายทั้งหลายในรูปทั้งหลายก็คือตัวปฏิฆะ

ฉะนั้นทันทีที่เราเห็นความจริงว่ารูปนี้ เบื้องต้นเห็นว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา แล้วมันเป็นตัวอะไร มันเป็นตัวทุกข์ พอเห็นแจ่มแจ้งว่าเป็นตัวทุกข์ มันจะสลัดทิ้งเลย จะไม่ยึดถืออีก จิตก็ละกามและปฏิฆะได้ อันนี้เป็นภูมิธรรมระดับกลาง แล้วสุดท้ายมันจะลงมาที่จิต ก็จะเห็นเลย จิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา เห็นมาตั้งแต่ขั้นต้นแล้ว แล้วมันไม่ใช่เรา แล้วมันเป็นตัวอะไร จิตนี้เป็นตัวทุกข์ มันจะเห็น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป พอเห็นอย่างนี้ จิตก็จะสลัดคืนจิต จิตมันจะสลัดคืนจิตให้โลกไป คราวนี้เราจะเข้าถึงธรรมแท้ๆ เข้าถึงธาตุแห่งธรรม ธรรมธาตุ เข้าถึงธาตุที่บริสุทธิ์อันนี้ขึ้นมา ใจที่มันพ้นขันธ์แล้ว อันนี้มันพ้นขันธ์แล้ว ถามว่าขันธ์ทุกข์ไหม ขันธ์ของพระพุทธเจ้าก็ทุกข์ แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้ยึดขันธ์ ท่านปล่อยวางขันธ์ไปแล้ว ธาตุธรรมของท่านนั้นมันไม่มีทุกข์ มันไม่มีเกิด แก่ เจ็บ ตายอะไรอีกต่อไป

เราค่อยภาวนา เรียนๆๆๆ เริ่มต้นเรียนให้รู้จิตรู้ใจของตัวเองไป จนกระทั่งรู้จิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา รูปที่จิตมาอาศัยอยู่นี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา โลกภายนอกก็ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่มีตัวเราของเราที่ไหนเลย ค่อยเรียนตัวนี้ให้มันแจ่มแจ้ง พอรู้แจ่มแจ้งแล้ว จิตมันจะพัฒนาขึ้นไปอีก มันจะเรียนไปอีก สุดท้ายมันเห็นว่ากายนี้คือตัวทุกข์ แล้วขั้นสุดท้ายเลยก็คือมันจะรู้ว่าจิตคือตัวทุกข์ ไม่มีอะไรทุกข์เท่าตัวจิตเลย

จิตที่ทุกข์ที่สุดก็คือตัวจิตผู้รู้นั่นล่ะ ส่วนจิตผู้หลง พอมันทุกข์นิดหน่อย มันก็ดับไปแล้ว มันไปสร้างจิตที่สุขๆ ขึ้นมาหลอกเราอีก แต่จิตผู้รู้แสนวิเศษ แจ่มแจ้งลงไป มันคือตัวทุกข์ มันจะสลัดทิ้งเลย มันไม่มีตัวอะไรจะเป็นที่พึ่งอีกต่อไปแล้ว เพราะที่ภาวนามาตั้งแต่ต้น เราเห็นจิตสารพัดชนิด เอาเป็นที่พึ่งไม่ได้ เราเห็นจิตผู้รู้เป็นที่พึ่งที่อาศัยของเรา พอเห็นจิตที่ผู้รู้ก็เป็นที่พึ่งไม่ได้ มันสลัดทิ้ง นั่นล่ะจิตมันพ้นขันธ์จริงๆ เห็นไหมมันก็ลงที่จิตอีก การภาวนาเริ่มจากจิต เรียนรู้จิตแล้วก็จบลงที่จิตนั่นล่ะ

 

ถ้าดูจิตไม่ได้ ดูกายไปก่อน

เพราะฉะนั้นถ้าเราทำอย่างนี้ได้ เราก็ทำไป ถ้าทำไม่ได้เราก็ไปเริ่มต้นจากสิ่งที่หยาบกว่าจิต ไปดูกายเอา เพราะกายเป็นบ้านของจิต จิตเป็นเจ้าของบ้าน เราอยากหาเจ้าของบ้าน แต่หาเจ้าของบ้านยังไม่เจอ เราไปเฝ้าหน้าบ้านไว้ เดี๋ยววันหนึ่งเราก็เจอเจ้าของบ้าน ฉะนั้นอย่างเราคอยรู้สึกอยู่ในกายเรื่อยๆ วันหนึ่งเราจะเห็นจิต ครูบาอาจารย์สอนหลวงพ่อมา หลวงปู่สุวัจน์ท่านเล่าเลย ท่านเคยไปเรียนกับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นสอนท่าน บอกว่าดูจิตได้ให้ดูจิต ดูจิตไม่ได้ให้ดูกาย ดูจิตไม่ได้ดูกายไม่ได้ให้ทำสมถะ ที่ทำสมถะเพื่อให้มีกำลัง มาดูกาย มาดูจิตได้ ดูกายได้ก็จะเห็นจิต ดูจิตได้ก็จะเห็นธรรม หลวงปู่ดูลย์ก็สอนอย่างเดียวกัน สุดท้ายมันก็ลงมาที่จิตนั่นล่ะ ฉะนั้นถ้าดูจิตไม่ได้ ดูกายไปก่อน

ในวัดนี้พระหลายองค์หลวงพ่อให้ดูกาย ไม่ได้ให้ดูจิต หลวงปู่ดูลย์ก็เหมือนกัน ลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ที่ท่านชี้ตัดเข้ามาที่จิตด้วย มีไม่กี่องค์หรอก ส่วนใหญ่ท่านก็ให้เริ่มจากกายก่อน บางองค์ท่านก็ให้เริ่มจากพุทโธก่อน บางองค์ท่านก็สอนให้พิจารณาผม พิจารณาผมเป็นสมถะ พิจารณาผมเส้นเดียว 2 เส้นก็ไม่ได้ให้ดูเส้นเดียว เป็นเรื่องเฉพาะตัวว่าท่านผู้นี้จะต้องดูผมเส้นเดียวถึงจะเข้าใจธรรมะ จะได้จิตรวม พอจิตรวมแล้วก็เดินวิปัสสนา แป๊บเดียวก็เข้าใจธรรมะ

เพราะฉะนั้นดูกาย ถ้าดูจิตไม่ได้ ดูกายไป ร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึกไป รู้สึกๆๆ ไป แล้วถึงจุดหนึ่ง จิตไหวตัวขึ้นมา สุข ทุกข์ ดี ชั่ว เกิดขึ้นมา รู้สึกได้ พอสุข ทุกข์ ดี ชั่ว เกิดขึ้น เรารู้สึกปุ๊บ ผู้รู้มันจะเด่นดวงขึ้นมาเลย จะได้ตัวจิตขึ้นมา พอมีตัวจิต ต่อไปก็ดูไป จิตเองก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วรูปที่จิตอาศัยอยู่ ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สิ่งทั้งหลายที่ปรุงแต่งกันเกิดขึ้น จะเป็นรูปธรรม หรือนามธรรมก็ตาม เหมือนกันหมดเลย คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ภาวนาไป ค่อยๆ ทำไป สะสมไป วันนี้ยังไม่เข้าใจไม่สำคัญ จำไว้ก่อนก็แล้วกัน แล้วลงมือภาวนา ตอนภาวนาอย่ามานั่งนึกถึงสิ่งที่หลวงพ่อสอน ภาวนาดูความจริงเลยว่า จริงๆ กายเราเป็นอย่างไร จริงๆ ใจเราเป็นอย่างไร ดูความจริงเข้าไป ดูของจริงเข้าไป แล้วสุดท้าย มันจะเข้าใจเลยว่า ที่ครูบาอาจารย์สอน มันอย่างนี้เอง เราโง่งมงายเสียตั้งนาน คลำมาตั้งนาน ทั้งๆ ที่ครูบาอาจารย์บอกซื่อๆ เลย บอกตรงๆ เลย เราไปอ้อมมาเสียไกลเลย เพราะเราไม่รู้ เราไม่เข้าใจที่ครูบาอาจารย์บอก พอเข้าใจ ก็จะอุทาน “แจ่มแจ้งนัก” ถ้าเป็นพุทธกาล ฟังพระพุทธเจ้าเทศน์แล้วเข้าใจ “แจ่มแจ้งนักพระเจ้าข้า” ธรรมะที่พระองค์แสดงมันเหมือนเปิดของคว่ำให้หงาย ยากอะไรนี่ ถ้วยนี้ฝามันคว่ำอยู่ หงายแค่นี้ก็แจ่มแจ้งแล้ว ข้างในมีอะไรก็รู้หมดแล้ว

ฉะนั้นธรรมะจริงๆ ที่พระพุทธเจ้าสอนที่พระสาวกสอนอะไรอย่างนี้ ไม่ใช่เรื่องลึกลับ บางคนชอบบอกหลวงปู่ดูลย์สอนปรัชญาธรรมของหลวงปู่ดูลย์ พวกที่คิดว่าคำสอนหลวงปู่ดูลย์เป็นปรัชญาคือพวกภาวนาไม่เป็นเท่านั่นล่ะ พวกคิดเยอะ ถ้าภาวนาเป็นจะรู้เลย ความจริงก็คือความจริงไม่ใช่ปรัชญา สัจจะคือสัจจะ เราต่างหากที่เข้าไม่ถึง ภาวนาไปเรื่อยๆ แล้วเข้าถึงจะรู้ โอ้ มันแค่นี้เองๆ จิตพอมันส่งออกไปแล้วเราไม่มีสติ กิเลสมันก็ปรุงจิตขึ้นมา จิตก็เร่าร้อนทุกข์ขึ้นมา ถ้าจิตมันส่งออกไปกระทบอารมณ์ กิเลสเกิด เรามีสติรู้ทัน กิเลสก็ดับ จิตก็สงบสุขไปชั่วคราว เดี๋ยวกระทบอารมณ์ใหม่ ก็เกิดสุขเกิดทุกข์อะไรขึ้นมาใหม่ เฝ้ารู้เฝ้าดูไปเรื่อย สุดท้ายก็รู้ไม่มีตัวเราหรอก มีแต่ของเกิดแล้วดับๆ ค่อยๆ ฝึก รู้จิตได้ก็รู้ไป รู้จิตไม่ได้ดูกายไป ทำไปเถอะ แล้ววันหนึ่งก็จะได้ของดี.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
30 มกราคม 2565