ธรรมะของพระพุทธเจ้า สอนการปฏิบัติให้เรา ท่านสอนเอาไว้กว้างขวางมาก เยอะแยะ แต่ธรรมะเพื่อการปฏิบัติสำหรับคนๆ หนึ่ง จริงๆ มีไม่มาก ท่านสอนคนจำนวนมากธรรมะมันก็เลยมาก เมื่อก่อนหลวงพ่อเคยไปกราบครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ชื่ออาจารย์มหาเขียน เป็นเจ้าคุณอริยเวทีอยู่วัดรังสีปาลิวัน ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ องค์นี้เป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น เป็นน้องอาจารย์มหาปิ่น ท่านเป็นครูบาอาจารย์รุ่นใหญ่ ตอนเข้าไปกราบท่าน ท่านก็เล่าให้ฟังว่า ท่านสงสัยว่าในตำราบอกพระอานนท์จำพระสูตรได้หมดเลย ท่านสงสัยว่ามันจะเป็นไปได้หรือ พระสูตรมีตั้งเยอะ ท่านก็เลยลองท่องดู ท่านเป็นมหาเปรียญเหมือนกัน เปรียญ 9 ตอนนั้นท่านก็บอกว่าท่านท่องได้ 30 กว่าเล่มแล้ว ท่องไปถึงอภิธรรมแล้ว แล้วท่านก็สรุปอย่างหนึ่ง ธรรมะทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าสอน หรือที่อยู่ในพระไตรปิฎก ไม่ใช่มีแต่เฉพาะของพระพุทธเจ้า ของสาวกรุ่นใหญ่ทันพระพุทธเจ้า บอกธรรมะทั้งหมดทุกข้อเป็นเรื่องของการปฏิบัติทั้งสิ้น ไม่ได้สอนเพื่อให้รอบรู้อย่างเดียว แต่ถ้ามองเป็นก็จะพบว่า เป็นหลักของการปฏิบัติทั้งนั้น หลากหลายมาก เพราะว่าจริตนิสัยของคนมันแตกต่างกันมาก ธรรมะที่ต้องแสดงก็เลยเยอะมาก
องค์นี้คนไม่ค่อยรู้จักท่านลืมท่านไปแล้ว เป็นน้องอาจารย์มหาปิ่น อาจารย์มหาปิ่นนั้นรุ่นใหญ่ รุ่นไล่ๆ ตามหลังอาจารย์สิงค์ ขันตยาคโม อาจารย์สิงห์เป็นลูกศิษย์เบอร์หนึ่ง คนแรกของท่านอาจารย์มั่น หลวงปู่ดูลย์ยังถัดจากอาจารย์สิงห์ลงมานิดหน่อย เป็นกลุ่ม 4-5 องค์ถัดจากอาจารย์สิงห์ ท่านอาจารย์มหาปิ่น น้องชายท่านคืออาจารย์มหาเขียน ท่านมาเจอหลวงปู่มั่น อาจารย์มหาปิ่นมาเจอหลวงปู่มั่น ภาวนา ก็เห็นว่าดีจริงๆ ภาวนาแล้วละความทุกข์ได้จริงๆ ก็ไปชวนอาจารย์เขียนให้มาภาวนาอย่าไปเรียนเลย อาจารย์มหาเขียนท่านบอกว่าท่านอยากเรียนก่อน จะได้เรียนทั้งปริยัติแล้วไปปฏิบัติ แล้วค่อยปฏิเวธ เอาให้ครบเลย เรียนน้อยๆ ไม่ได้ไม่ใช่นิสัยท่าน แล้วท่านก็บอกถ้าได้เปรียญ 9 แล้วท่านจะออกภาวนา พอได้เปรียญ 9 ท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่วัดสุทธจินดา อาจารย์มหาปิ่นก็ไปทวงสัญญา ว่าเคยตกลงกันไว้ว่าจะออกภาวนา ท่านก็ลาออกจากตำแหน่งเลย ออกภาวนาจริงๆ
ครูบาอาจารย์รุ่นนั้นท่านเด็ดเดี่ยวจริงๆ พวกเราเทียบไม่ติดเลย สวดมนต์นิดๆ หน่อยๆ ยังจำไม่ค่อยจะได้เลย ไปเจอท่าน ท่านก็สอนว่า “ธรรมะในพระไตรปิฎกทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องพูดเล่นๆ ไม่ใช่เพื่อความฉลาดรอบรู้ แต่เพื่อการปฏิบัติทั้งสิ้นเลย” ธรรมะมันก็มีหลายระดับ ธรรมะของคนที่อยู่กับโลก ก็มีธรรมะมากมายที่จะดำรงชีวิตอยู่กับโลกแบบทุกข์น้อยๆ ไม่ถึงขนาดไม่ทุกข์หรอก เพราะโลกมันเป็นทุกข์ ตราบใดที่ยังอยู่กับโลกก็ยังทุกข์อยู่ แล้วธรรมะระดับสูง เป็นธรรมะเพื่อจะพ้นจากโลก
ทุกวันนี้คนไม่สนใจธรรมะ กระทั่งเรื่องโลกๆ อยู่กับโลกก็ไม่ได้อยู่ด้วยธรรมะ ไม่เห็นคุณค่าของศีลของธรรม เอาผลประโยชน์เป็นที่ตั้ง มองผลประโยชน์เฉพาะหน้า ไม่ได้รู้จักผลประโยชน์ระยะยาว ผลประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ หวังผลประโยชน์เฉพาะหน้า ได้เงิน ได้ทอง ได้ตำแหน่ง ได้ชื่อเสียง ได้สมัครพรรคพวก แย่งกัน ชาวโลกก็อย่างนั้นล่ะ ธรรมชาติธรรมดาสัตว์โลกก็เป็นอย่างนั้น หมามันก็กัดกันแย่งเป็นหัวหน้าฝูง ธรรมดา แต่พวกเราชาวพุทธเราไม่ใช่ระดับสัตว์เดรัจฉาน ทำตามสัญชาตญาณอย่างนั้น เราก็รู้จักพัฒนาจิตใจตัวเอง ยังเป็นฆราวาสอยู่ ก็เรียนธรรมะที่เหมาะกับฆราวาส ส่วนธรรมะภาคปฏิบัติถ้ารู้ไว้บ้างก็ดี แล้วลงมือทำไป
หลวงพ่อก็อ่านพระไตรปิฎก แต่ไม่ได้อย่างอาจารย์มหาเขียน ท่านจำภาษาบาลีได้ หลวงพ่ออ่านภาษาไทยแล้วก็เอามาฝึกตัวเอง ทำทาน รักษาศีล ภาวนา ย่อลงมามันก็มีเท่านี้ ธรรมะมากมายย่อลงมา ก็เหลือที่เราต้องปฏิบัติเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ฆราวาสก็เน้นไปที่ทำทาน รักษาศีล ไม่ได้หยุดแค่นั้น ให้เจริญภาวนาด้วย ถ้าเป็นพระเป็นนักปฏิบัติจริงๆ เน้นไปที่ศีล สมาธิ ปัญญา เช่นมีศีลฆราวาสก็ต้องมี ฆราวาสเริ่มต้นจากทานก่อน ทานมีประโยชน์อะไร บางทีสอนเรื่องทานแล้วก็บอกว่า เป็นอุบายของพระหลอกให้คนทำทาน พระจะได้บริโภคเยอะๆ นี่มองทางวัตถุมากไป อย่างคนมาทำทานกับหลวงพ่อมหาศาล เยอะมาก ทั้งข้าวของจีวรอะไรพวกนี้ หลวงพ่อก็ใช้อยู่ชุดเดียวนี่ล่ะ ที่เหลือเราก็แจกไป แล้วก็ทำทานต่อไปอีก
การทำทานเป็นการฝึกจิตขั้นพื้นฐาน
การทำทานนั้นทำไปเพื่อลดละความเห็นแก่ตัว ลดละความตระหนี่ ลดละความเห็นแก่ตัว รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้คนที่ลำบาก ให้สัตว์ที่ลำบาก ใจที่รู้จักให้มันมีความสุขมากกว่าใจที่อยากได้ ฉะนั้นการทำทานนั้นก็เป็นการพัฒนาจิตใจเหมือนกัน ไม่ใช่ทำทานแล้วผลประโยชน์มาอยู่ที่พระ พระจะบริโภคอะไรได้เยอะ ฉันข้าวได้อย่างมากก็แค่ไม่เกินเที่ยง ไม่ได้มีมื้อค่ำมื้อดึกอย่างพวกเรา จะกินข้าววันหนึ่งจะกินได้สักเท่าไรเชียว เสื้อผ้าของพระก็มีอยู่ชุดเดียว เพราะฉะนั้นการทำทานจริงๆ วัตถุประสงค์หลักมันไม่ใช่แค่เพื่อบำรุงรักษา ให้พระมีกำลังที่จะศึกษาสืบทอดศาสนาเท่านั้น คนแรกที่ได้ประโยชน์คือตัวเราเอง
การทำทาน สิ่งที่เราจะได้คือลดความเห็นแก่ตัวลง นี่เป็นเรื่องใหญ่ โลกที่วุ่นวายทุกวันนี้ก็เพราะความเห็นแก่ตัวนี่ล่ะ ไม่มีเรื่องอื่นเลย บางทีกัดกันเหมือนหมูเหมือนหมา ก็เพราะเรื่องเห็นแก่ตัว ฉะนั้นถ้าเราฝึกตัวเองให้รู้จักให้ อะไรที่เป็นส่วนเกินในชีวิตเรานั้น ให้ ทุกครั้งที่ให้จิตใจเรามีความสุข ไปสังเกตดูเวลาเราอยากได้ของๆ คนอื่น กับเวลาที่เรารู้จักแบ่งปันให้คนอื่น อันไหนจะมีความสุขมากกว่ากัน จิตใจที่รู้จักแบ่งปันมีความสุขมาก แบ่งปันไม่ใช่แค่วัตถุหรอก แบ่งปันความรู้ความเข้าใจ แต่การแบ่งปันความรู้ความเข้าใจ ก็เหมือนการแบ่งปันวัตถุ จะต้องฉลาดในการแบ่งปัน ไม่ใช่มีอะไรก็แจกๆ ไปเรื่อย คนที่รับอาจจะได้รับโทษไปด้วย อย่างรัฐบาลถ้าเอะอะอะไรก็แจกเงินๆ ไปเรื่อยๆ หลายประเทศเป็นอย่างนั้น คนไม่ยอมทำงาน คนจำนวนมากไม่ทำงานรอรับสวัสดิการ วันๆ ก็เดินไปเดินมา หลวงพ่อเคยไปเห็นบางประเทศพวกฝรั่งนี่ล่ะ ไม่ทำงานหรอกเดินไปเดินมาทั้งวัน เราก็ถามคนในประเทศเขาบอกว่าตกงานรัฐบาลเลี้ยง บางประเทศเลี้ยงกันจนล่มจมเลย ประเทศล้มละลาย จากประเทศที่เคยรุ่งเรืองกลายเป็นประเทศรุ่งริ่งเลย ไปเป็นขอทานในประเทศอื่นๆ เยอะเลย ฝรั่งนี่ อันนี้ได้รับมากไป ได้รับจนเคยตัว
ฉะนั้นเรารู้จักทำทาน ทำทานที่ดีคือทำให้เขาช่วยตัวเองได้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านบอกนี่สำคัญ สำคัญกว่าเอาของไปให้เขาโดยตรงอีก อย่างเอาข้าวไปให้เขา เอาปลาไปให้เขา สู้สอนเขาแนะนำเขาให้ปลูกข้าว ให้เลี้ยงปลา ทำทานด้วยความรู้ของคนที่เหนือกว่า ไม่ได้ทำให้เขาโง่ลง หรือทำให้เขาขี้เกียจมากขึ้น ฉะนั้นการให้วัตถุมันก็ยังง่าย แล้วก็ต้องมีสติปัญญาด้วย ให้ที่ดีกว่าให้วัตถุก็คือให้ความรู้เรียกว่าธรรมทาน การให้ความรู้ท่านถือว่าสูงสุด เป็นทานที่สูงสุด คือให้แล้วเขาพึ่งตัวเองได้ เขาช่วยตัวเองได้ ไม่ใช่ให้เพื่อให้เขาพึ่งเราไปตลอดกาล ถ้าเราช่วยคนแล้วเขาต้องพึ่งเราตลอดกาล ไม่ใช่การช่วยที่ดี จะเกิดความผูกมัดเกาะเกี่ยววุ่นวาย
เรื่องของการทำทานไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องเรียนเหมือนกัน อย่านึกว่าทำทานคือมีของเอาไปแจกอะไรอย่างนี้ ไม่ใช่ ผู้ให้ก็ต้องมีปัญญาด้วย รู้จักให้ของที่ควรให้กับคนที่ควรรับ ไม่ใช่นึกจะให้อะไรก็ให้ส่งเดชไป ให้เมื่อจำเป็นที่จะให้ ที่ให้สำคัญที่สุดคือให้ความรู้เขา ให้เขาช่วยตัวเองให้ได้ อย่างลูกศิษย์มาเรียนกับหลวงพ่อ หลวงพ่อไม่ให้มาเกาะเกี่ยวอยู่กับหลวงพ่อ บอกอยู่เรื่อยๆ ไม่ต้องเอาอะไรมาให้หลวงพ่อหรอก หลวงพ่ออยู่ของหลวงพ่อได้ ภาวนาให้มากๆ มาเรียนกับหลวงพ่อขืนมาติดหลวงพ่อ หลวงพ่อไล่ ใจร้ายไหม ไล่ ใจไม่ร้ายไล่ให้ไปภาวนา ไม่ได้ไล่ให้ไปลงนรก จะมาเกาะแข้งเกาะขาออดอ้อน ขอโน่นขอนี่ อันนั้นมันลูกศิษย์ชูชก นักขอทั้งหลาย
ลูกศิษย์พระพุทธเจ้าพึ่งตนเองให้ได้ เรียนกับหลวงพ่อ หลวงพ่อพยายามสอนพวกเราให้พึ่งตัวเองให้ได้ ไม่ใช่พึ่งหลวงพ่อ อย่างสอนก็บอกวิธีปฏิบัติให้ บอกให้ละเอียดไม่มีใครเขาบอกละเอียดเท่านี้แล้ว อยู่ที่เราต้องเอาไปทำเอา ประเภทมานั่งตาปรอยๆ มองหลวงพ่อ หลวงพ่อไล่ เสียเวลา ไม่เกิดประโยชน์อะไร แต่ถ้าพวกอินทรีย์อ่อนจริงๆ หลวงพ่อก็ไม่ไล่ มานั่งดูเราแล้วก็เคลิ้มๆ มีความสุขไป ชาตินี้เขาจะได้แค่นี้ก็ให้เขาแค่นี้ แต่คนไหนมีโอกาสจะได้สิ่งที่ดีกว่านั้น หลวงพ่อไม่ปล่อยไว้หรอก อย่างพระก็เหมือนกันไม่ปล่อยไว้หรอก ต้องภาวนา ต้องพึ่งตัวเองให้ได้ วันนี้ยังพึ่งไม่ได้ก็อาศัยครูบาอาจารย์ก่อน อาศัยครูบาอาจารย์เพื่อรู้วิธีปฏิบัติ แล้วก็ลงมือทำเอา ถึงวันหนึ่งก็พึ่งตัวเองได้ พอพึ่งตัวเองได้แล้ว ก็สามารถเป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้ต่อไปอีก แบบนี้ศาสนามันถึงจะอยู่ได้ มาผูกพันอยู่กับครูบาอาจารย์อย่างเดียว พอครูบาอาจารย์ตายไป ก็ไปเที่ยวหาครูบาอาจารย์อื่นๆ ต่อไปอีกไปเกาะต่อไปอีก ตลอดชีวิตทำอยู่แค่นั้น มันจะได้อะไรขึ้นมา
ฉะนั้นเราพยายามพัฒนาตัวเองให้ดี ทำทานก็ทำแบบรู้เหตุรู้ผล เห็นอานิสงส์นะ อย่างเราเห็นคนลำบาก เห็นสัตว์ลำบากเราให้ความช่วยเหลือ ให้อาหารเขา ให้ที่อยู่ เห็นเขามีความสุขเราก็พลอยมีความสุขด้วย นี่มีมุทิตาจิต ต่อไปจิตมันคุ้นเคยที่จะมีมุทิตาจิต ไปเห็นคนที่เขาดีกว่าเรา เขามีความสุขมันยังมีมุทิตาจิตได้ ไม่ใช่อิจฉา ค่อยๆ ฝึกตัวเองจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างเราไปปล่อยปลา เอาปลาลงไปในน้ำปลาดีใจ ทีแรกถูกขังจะเอาไปฆ่าแล้วเห็นมันดีใจ มันดีใจเราก็พลอยมีความสุขไปด้วย ดีใจไปด้วย แต่ก็ต้องมีปัญญา ทุกวันนี้เราปล่อยปลาแบบเบียดเบียนธรรมชาติ อย่างเอาปลาดุก ปลาช่อน ซึ่งไม่ใช่ปลาเมืองไทยไปปล่อย มันไปกินปลาพื้นบ้านหมด กลายเป็นไปเบียดเบียนสัตว์ที่ตัวเล็กกว่า ฉะนั้นอย่างปล่อยปลาไม่ใช่ภูมิใจ ไปซื้อปลาดุกมา 100 โล 1,000 โลไปปล่อย ระบบนิเวศเสียหมดเลย สัตว์เล็กสัตว์น้อยถูกทำลายหมด สุดท้ายปลาพวกนี้ก็อยู่ไม่ได้ มันไปกินกุ้งกินปลาเล็กๆ อะไรกินหมด จะปล่อยปลาให้ดีก็ปล่อยปลาพื้นบ้าน ถามกรมประมงดู ปลาไทยๆ เดี๋ยวนี้หายาก มันมีแต่ปลาเศรษฐกิจ
เวลาเราทำทานเรามีความสุข แล้วเรามองให้ออกระยะยาวด้วย ทำอย่างไรเขาจะอยู่ได้ ทำอย่างไรสัตว์นั้นจะอยู่รอด จิตใจที่รู้จักให้มันจะพัฒนา อันแรกเลยมันลดความเห็นแก่ตัว ลดความตระหนี่ อันที่สองมันมีความอ่อนโยน ใจที่รู้จักเกื้อกูลมันจะอ่อนโยน ใจที่อ่อนโยนใจมันเป็นกุศลง่าย อ่อนแอไม่ใช่ ต้องอ่อนโยน ใจที่อ่อนแอเป็นอกุศล ใจที่อ่อนโยน นุ่มนวล เป็นกุศล ฉะนั้นฝึกเป็นการพัฒนาจิตใจขั้นพื้นฐาน พัฒนาด้วยทาน ใจก็เกิดมุทิตาจิต เคยขี้อิจฉาก็หายไป ลดลง ค่อยๆ เปลี่ยนตัวเอง เป็นการพัฒนาใจขั้นต้น
เพราะฉะนั้นสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน สุดท้ายมันก็มาลงที่การพัฒนาใจทั้งนั้น ที่อาจารย์มหาเขียนท่านบอกว่า “ธรรมะทั้งหมดที่ท่านสอนนั้น เป็นไปเพื่อการปฏิบัติ” ปฏิบัติมันคืออะไร ก็คือการลดละกิเลส การเจริญกุศล ก็อย่างนั้นล่ะ อย่างวันนี้ที่แจกแจงให้ฟังเรื่องทาน มันนึกถึงอาจารย์มหาเขียนขึ้นมา ธรรมะทั้งหมดเกี่ยวกับการปฏิบัติ เรานึกว่าทำทานไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติ ที่แท้การทำทานเป็นการฝึกจิตขั้นพื้นฐาน ต่อมาเราก็ฝึกให้เข้มข้นขึ้น รักษาศีล การรักษาศีลจะต้องต่อสู้กับกิเลสตัวเอง กิเลสมันจะพาเราผิดศีลตลอดเวลา เราก็พยายามรักษาศีลไว้ ไม่ตามใจกิเลสที่จะทำผิดศีล โกรธคนอื่นขึ้นมา โกรธสัตว์อื่นขึ้นมา ก็ไม่ทำร้ายเขา เห็นใจที่เดือดเร่าๆๆๆ ก็บังคับไว้ ข่มไว้ว่านี่มันไม่ดีพระพุทธเจ้าห้าม ถ้าเราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า เราก็ต้องรู้อันไหนพระพุทธเจ้าห้าม เราก็อย่าทำ อันไหนที่ท่านให้ทำ เราก็พยายามทำเข้า
รักษาศีลแล้วสิ่งที่เราได้ก็คือธรรม เรียกว่าศีลธรรม
ในการทำร้ายผู้อื่น ทำร้ายสัตว์อื่น หรือการฆ่า การทรมาน เราจะต้องไม่ทำ อย่างบางคนชอบตีไก่ ทุกวันนี้ไม่เฉพาะในคนธรรมดา คนส่วนใหญ่จำนวนมากเลยก็ยังชอบตีไก่กันอยู่ ตีมาตั้งแต่ก่อนยุคพระนเรศวร ถึงวันนี้ก็ยังมีบ่อนไก่ วันไหนบ่อนไก่เปิดหน้าบ่อน โอ้โห รถยนต์จอดเพียบเลย ไม่ใช่คนจนๆ ไปตี คนมีสตางค์ก็ไปตี ไปเล่นกัน ไก่มันก็ไปสู้กันบาดเจ็บล้มตาย ตัวไหนแพ้เคยเป็นที่รักของเจ้าของ ทุกเช้าประคบประหงมดูแลอย่างดี อาบน้ำ เช็ดตัว ให้กินอาหารอย่างดี พาเอ็กเซอร์ไซส์ พอตีแพ้จับหักคอต้มเลย แค้นมันทำให้เราขาดทุนเล่นพนันแล้วแพ้ นี่มันความเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจเลย หาความสุขบนความเจ็บปวดของสัตว์ พอสัตว์แพ้ก็โมโหสัตว์อีก ไม่โมโหตัวเองว่าใจบาปหยาบช้า นี่ไม่เห็น
ฉะนั้นเราเป็นชาวพุทธ อะไรที่ทรมานสัตว์เราก็อย่าไปทำ ฝึกตัวเองไปให้มันรู้จักเมตตาสงสารเขา พอใจเรามีศีล เราไม่ยอมทำผิดศีลกุศลมันก็เกิด รักษาศีลแล้วสิ่งที่เราได้ก็คือธรรม เรียกว่าศีลธรรม อย่างเราไม่ทำร้ายสัตว์อื่น ไม่ทำร้ายผู้อื่น ใจเรามันจะค่อยอ่อนโยนลง ทีแรกมันต้องกดข่มบังคับมากเลย อยากทำร้ายมาก อยากฆ่ามัน ฝึกตัวเองอดทนรักษาศีล นี่พระพุทธเจ้าห้ามเราไม่ทำ พอเรารักษาศีลไปนานๆ ใจมันคุ้นเคยที่จะไม่เบียดเบียน ใจมันจะเริ่มอ่อนโยน มันจะเกิดความเมตตากรุณาขึ้นในใจ รักษาศีลข้อ 1 พอเรารักษาศีลข้อ 2 เราไม่ขโมยเขา เป็นศีลคืองดเว้นการไปขโมยเขา ไปฉ้อโกงเขา ไปล่อลวงเอาทรัพย์สินเงินทองของเขา สิ่งที่เราจะได้คือความไม่โลภ ถ้าโลภอย่างรุนแรงก็ไปลักเขา ขโมยเขา ไปโกงเขา ไปล่อลวงเขา
ฉะนั้นถ้าเรารักษาศีลให้ดีมันจะเกิดธรรม อย่างศีลข้อ 1 เราไม่ทำร้ายสัตว์ เราจะเกิดความเมตตากรุณาขึ้นมาในใจเรา เราไม่ลักขโมยฉ้อโกงใครเขา ต่อไปใจเราก็รู้จักแบ่งปัน รู้จักให้ ใจมันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มันค่อยๆ พัฒนาไป เราไม่ประพฤติผิดในกาม ซื่อสัตย์อยู่ในคู่ของเรา ฝึกเรื่อยๆ ข่มใจ เห็นเมียคนอื่นสวยอยู่เรื่อย เมียเราไม่สวย หรือสามีเรา ยุคนี้ไม่เฉพาะผู้ชายมีชู้ ผู้หญิงก็มี เสมอภาคกัน ถ้าเราซื่อสัตย์ในคู่ของเรา เราไม่มักมากในกาม โอกาสที่เราจะภาวนาให้จิตใจสูงขึ้นไป ถึงระดับพ้นกามก็มีโอกาส ทีแรกก็สันโดษในกาม สันโดษในคู่ของเรา ไม่ตามใจกิเลส ถ้าตามใจกิเลส กิเลสมันมีลักษณะเด่นอย่างหนึ่ง ถ้าเราตามใจมันจะยิ่งแรงกว่าเก่า นี่ธรรมชาติของกิเลสเลย ถ้าตามใจเมื่อไรมันจะยิ่งแรงขึ้นๆ อย่างเราโกรธคน เราไปด่าคน มันจะด่าหยาบคายมากขึ้นๆ ต่อไปก็เริ่มลงไม้ลงมือมากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายไปฆ่าเขาตาย
กิเลสหยาบๆ มันก็มาจากกิเลสละเอียดทั้งนั้น ก่อนที่มันจะหยาบ มันละเอียดมาแล้วทั้งนั้น เพราะฉะนั้นกิเลสเล็กกิเลสน้อย อย่านึกว่าไม่สำคัญ ต้องตั้งใจต่อสู้กับมัน ถ้าตามใจมันละก็ กิเลสจะโตวันโตคืนเลย โตเร็วมากเลย ไม่เหมือนกุศล กุศลโตช้า มันเหมือนต้นไม้พันธุ์ดีกับวัชพืช กิเลสมันเหมือนวัชพืช ไม่รดน้ำพรวนดิน ไม่ต้องใส่ปุ๋ยก็งามเอาๆ กุศลมันเหมือนต้นไม้พันธ์ดี มีคุณค่า มีประโยชน์ เลี้ยงยาก รอดยาก เลี้ยงไม่นานก็ตาย อย่างพวกหญ้ารกๆ ไม่รู้จักหมดเสียที ตัดอย่างไรเดี๋ยวก็งอกอีกแล้ว ปลูกต้นไม้ไว้ ที่วัดจะไปปลูกป่า พระอาจารย์อ๊าพาพระไปทำ คนงานไปตัดหญ้าไว้ พระก็รีบเอาต้นไม้ไปปลูก รดน้ำ ใส่ปุ๋ย ต้นไม้ขึ้นมานิ้วหนึ่ง หญ้าขึ้นมา ศอกหนึ่ง
กิเลสมันเหมือนวัชพืชโตเร็ว ไม่ต้องการการดูแลมากก็โตพรวดพราดๆ เลย ส่วนกุศลเตาะแตะๆ ล้มลุกคลุกคลานอยู่นั่นล่ะ ฉะนั้นจะให้กุศลเจริญจริงๆ ต้องอดทนจริงๆ ต้องต่อสู้กิเลสจริงๆ เลย เหมือนเราปลูกต้นไม้คอยตัดหญ้าไว้ ถ้าตัดหญ้าก็ต้องมีสติด้วย บางทีเด็กๆ ไปตัดหญ้า มันก็ตัดต้นไม้ที่เราปลูกไว้ด้วย แหว่งเป็นแถบๆ เพราะมันต้นเล็กกว่าหญ้า กุศลนี้ก็เหมือนกัน พัฒนาขึ้นมา ใช้เวลา สิ่งที่เรียกว่ากุศลก็คือ ความไม่โลก ไม่โกรธ ไม่หลง นั่นล่ะคือตัวกุศล
ฉะนั้นศีลเป็นการฝึกลดละความโลภ ความโกรธ ความหลง อย่างศีลหลง กินเหล้าเมายามันหลง พวกบ้าผู้หญิง พวกบ้ากามก็หลงกาม ฉะนั้นศีลก็จะข่มกิเลส ราคะ โทสะ โมหะที่หยาบๆ เอาไว้ แล้วก็เป็นช่องทางที่ให้กุศลคือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ มันเกิด เห็นไหมว่าทานก็สำคัญ ศีลก็สำคัญ ถัดไปที่ฆราวาสต้องเรียนนั้นคือภาวนา เมื่อก่อนหลวงพ่อสอนกรรมฐาน สอนกรรมฐานให้พวกเราเจริญสติ ทำวิปัสสนา เคยมีพระท่านติงบอกว่าปราโมทย์สอนยากไป ฆราวาสสอนมันทำทานถือศีลก็พอแล้ว นี่ทัศนะของท่าน หลวงพ่อก็ครับๆ ครับหมายถึงทราบแล้วว่าท่านว่าอย่างไร ถามว่าเชื่อไหม ไม่เชื่อ ทำไมไม่เชื่อ พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกเลยว่าฆราวาสทำทาน ถือศีล ท่านสอนให้เรารู้จักทาน รู้จักศีล รู้จักภาวนา เห็นไหมมีภาวนาด้วยไม่ใช่ไม่มี ฆราวาสก็มีภาวนาเหมือนกัน ภาวนาได้ถึงขนาดไหน พระโสดาบัน พระสกทาคามี ไม่ได้มีปัญหาเลย พระอนาคามีเริ่มดำรงชีวิตอยู่ในโลกลำบากนิดหนึ่งแล้ว เริ่มไม่เหมือนชาวบ้านเขาแล้ว ถ้าเป็นพระอรหันต์ก็ไม่ควรจะเป็นฆราวาสอยู่ต่อไปแล้ว ไม่เหมาะ เดี๋ยวจะพาคนอื่นตกนรกไปเยอะแยะเลย เขาเดินมาทักทายเรา เขกหัวเล่นอะไรอย่างนี้ ฉะนั้นไม่ได้เหมาะ ควรจะไปบวชมากกว่า
ภาวนาแปลว่าเจริญ เจริญสมถะกับเจริญวิปัสสนา
แต่ฆราวาสจะต้องภาวนา การภาวนามันมี 2 อันคือสมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา ฉะนั้นสิ่งที่หลวงพ่อสอน ไม่ได้เกินจากที่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้สอนฆราวาสเลย มันอยู่ที่ว่าฆราวาสจะเอาแค่ไหน ฆราวาสพอใจที่จะภาวนาให้สงบ ให้จิตมีกำลังเพื่อจะไปสู้กับโลกก็ฝึกไป เป็นสมถภาวนา อย่างที่มีสำนักสอนเยอะแยะเลย สาขาท่านอาจารย์วิริยังค์ ท่านสอนทั้งในประเทศ ทั้งต่างประเทศ มีสาขา ชื่อสถาบันพลังจิตตานุภาพ ฝึกพลังจิต นั่นคือเรื่องของการทำสมาธิทั้งหมด ฝึกจิตตานุภาพ ฝึกจิตให้มันมีกำลัง ก็คือไปนั่งสมาธิจิตมันสงบ มันก็มีเรี่ยวมีแรง ก็เอาแรงนั้นไปต่อสู้ดำรงชีวิตอยู่กับโลก ก็ได้เปรียบคนในโลกซึ่งไม่มีพลังจิต คนมีพลังจิตมันก็ได้เปรียบ เจอเรื่องเครียดๆ มากมันก็เครียดน้อย เดี๋ยวนี้ฝรั่งก็เรียน พวกอังกฤษเขาเรียนนั่งสมาธิกัน จริงจังกว่าพวกเราอีก
พวกเราคนไทยไม่ค่อยทำ ไม่ค่อยภาวนาเท่าไรหรอก หลงโลกไปวันๆ หนึ่ง เล่นเฟซบุ๊ก เล่นไลน์ หลงโลกไปไม่ค่อยภาวนา พวกฝรั่งเขามีข้อดี เวลาเขาตั้งใจทำอะไร เขาทำจริง เขาฝึกสมาธิเขาฝึกกันจริงจังเลย ของเราทำบ้างไม่ทำบ้าง ถือว่าเรียนเมื่อไรก็ได้ ฝรั่งไม่ได้ เสียสตางค์ด้วยที่จะไปเรียน ก็เลยต้องตั้งใจเรียนหน่อย ฝรั่งมันทำอะไรมันทำจริง ของเราอะไรที่ควรจริงเราเล่นหมด การเมืองเป็นเรื่องจริงๆ เราก็ไปเล่นการเมือง อยากเล่นไปหมดล่ะ ภาวนาก็ภาวนาเล่นๆ ภาวนาเล่นๆ บางคนขยันแล้วก็ภาวนาเล่นๆ เล่นอย่างไร ภาวนาไปแล้วเห็นโน่นเห็นนี่ ระลึกชาติ มันของเล่นทั้งนั้น อย่างระลึกชาติได้ดีใจไหมระลึกชาติ แหมกูเก่งๆ ที่จริงไม่ได้มีสาระอะไรเลย พิสูจน์ไม่ได้ว่าจริงหรือไม่จริง ไม่เหมือนธรรมะ ธรรมะไม่มีข้อสงสัยเลย พิสูจน์ได้ เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ แต่นั่งแล้วเห็นผี เห็นโน่นเห็นนี่ เห็นอดีต เห็นอนาคต ถามว่าพิสูจน์ได้ไหม พิสูจน์ไม่ได้ หลวงปู่ดูลย์ท่านก็ไม่ได้ว่า ไปนั่งแล้วเห็นโน่นเห็นนี่ มีคนไปถามท่านว่าเขาเห็นจริงไหม ท่านบอกเขานั่งสมาธิเขาก็เห็นจริง แต่สิ่งที่ถูกเห็นมันไม่จริง ระลึกได้โน้นนี้ ครูบาอาจารย์ที่ท่านพ้นโลก พ้นสงสาร ท่านไม่เห็นมีสาระอะไร ของพวกนี้ มันทำให้หลง
ฉะนั้นเราภาวนา ถึงขั้นภาวนา ภาวนาให้มันได้หลัก ภาวนามี 2 อัน สมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา ภาวนาแปลว่าเจริญ เจริญสมถะกับเจริญวิปัสสนา ก็รู้หลัก ถ้าจะทำสมถกรรมฐาน หลักของมันอันแรกเรื่องอารมณ์ อารมณ์ที่ใช้ทำสมถกรรมฐาน ไม่เลือกอารมณ์ ใช้อารมณ์บัญญัติคือเรื่องราวที่เราคิดก็ได้ เช่นเราคิดพิจารณากายเป็นปฏิกูลอสุภะอะไรอย่างนี้ อันนี้เป็นเรื่องอารมณ์บัญญัติ เรื่องคิดๆ เอา บริกรรมพุทโธ นะ มะ พะ ทะ อะไรนี่เป็นเรื่องบัญญัติทั้งหมดเลยคิดๆ เอา ทำแล้วถ้าจิตมันสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้บังคับไว้ จิตมันก็มีสมาธิขึ้นมา หรือใช้อารมณ์รูปนามก็ได้ เห็นรูปเคลื่อนไหวใจเป็นคนรู้ไปเรื่อยๆ เห็นร่างกายหายใจ ใจเป็นคนรู้ไปเรื่อยๆ ก็ได้สมาธิ จิตจะสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว อยู่ในกายบ้าง อยู่ในลมหายใจ หรือใช้อารมณ์นามธรรมก็ได้ เช่นอ่านความรู้สึกของตัวเองไป เพ่งลงไป แล้วทำใจสบายดูลงไปในใจ แล้วจะเห็นมันมีความว่างๆ อยู่ เราเพ่งลงไปในความว่าง นี่เราใช้นามธรรมมาทำสมถะ เพ่งลงไปในความว่าง เราก็จะเข้าสู่อากาสานัญจายตนะ เราวางความว่างย้อนกลับมาเพ่งตัวผู้รู้ เราก็เกิดวิญญานัญจายตนะ เราวางทั้งความว่าง วางทั้งผู้รู้ ทรงตัวอยู่กับความไม่จับทั้งอารมณ์ ไม่จับทั้งจิต มันก็เป็นอากิจจัญญายตนะ ก็เป็นเรื่องของสมาธิทั้งหมด
สมถภาวนา
ฉะนั้นใช้อารมณ์บัญญัติก็ได้ รูปธรรมก็ได้ นามธรรมก็ได้ ใช้อารมณ์นิพพานก็ได้ แต่พวกเราปุถุชนจะทำไม่ได้ คนที่จะทำสมถะโดยใช้อารมณ์นิพพาน จะต้องเป็นพระอริยบุคคล เขาเรียกว่าการเข้าผลสมาบัติ ใช้นิพพานเป็นอารมณ์ ฉะนั้นหลักของการทำสมถะข้อแรกคืออารมณ์ ไม่เลือกอารมณ์ อารมณ์บัญญัติก็ได้ อารมณ์รูปนามก็ได้ อารมณ์นิพพานก็ได้ ได้ทั้ง 4 อย่าง แต่เราต้องรู้จักเลือก อารมณ์ชนิดไหนที่เราอยู่ด้วยแล้วมีความสุข เราอยู่กับอารมณ์ชนิดนั้น หายใจแล้วมีความสุขเราก็หายใจไป พุทโธแล้วมีความสุขเราก็พุทโธไป ยืน เดิน นั่ง นอนแล้วมีความสุข เราก็ยืน เดิน นั่ง นอนไป
เคล็ดลับก็คือรู้จักเลือกอารมณ์ที่มีความสุข ที่จิตอยู่ด้วยแล้วมีความสุข เมื่อจิตมันอยู่ในอารมณ์ที่มีความสุข มันก็ไม่หิว ไม่หนีไปหาอารมณ์อื่น จิตที่ฟุ้งซ่านคือจิตที่หิวอารมณ์ วิ่งไปหาอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ วิ่งพล่านๆๆ ไปเรื่อยๆ เหมือนหมาขี้เรื้อนอยู่ตรงนี้ก็คัน ก็วิ่งไปที่โน้น ที่โน้นก็คันวิ่งไปที่นี้อีก ถ้าจิตเรามีอารมณ์ที่พึงพอใจมีความสุข อยู่กับอารมณ์นั้นไปสบายๆ จิตจะสงบเอง แต่ก็มีเงื่อนไขว่าอารมณ์ที่เรามีความสุข ต้องเป็นอารมณ์ที่ดี เป็นอารมณ์ฝ่ายชั่วใช้ไม่ได้ อย่างด่าคนแล้วมีความสุข เล่นไพ่แล้วมีความสุข อย่างนี้เอาไปทำสมถะ ไม่ได้
บางคนได้ยินว่าให้อยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง แล้วจะได้สมถะ บอกว่าเล่นหุ้นเปิดเน็ตดูทั้งวันเลย หุ้นตัวนี้ขึ้นตัวนี้ลง นี่อยู่ในอารมณ์อันเดียวไม่ได้หลุดออกจากจอเลย อันนี้ทำสมถะไม่ได้ จิตจะแกว่งตลอดเวลาเลย เดี๋ยวก็ดีใจ เดี๋ยวก็เสียใจ ตัวนั้นขึ้นตัวนี้ลงอะไรอย่างนี้ ฉะนั้นอารมณ์นั้นอยู่แล้วมีความสุขจริงๆ ไม่ยั่วกิเลส ไม่ทำให้จิตแกว่งไปแกว่งมา เราไปดูตัวเราเองว่าเราเหมาะกับอารมณ์ชนิดไหน สังเกตตัวเองเอา แล้วเราอยู่กับอารมณ์นั้นเนืองๆ เนืองๆ คืออยู่บ่อยๆ ไม่ใช่อยู่ตลอดเวลา อยู่บ่อยๆ แล้วใจมันจะสบาย ใจมีความสุข นี่เคล็ดลับอันที่หนึ่ง รู้จักเลือกอารมณ์
เคล็ดลับอันที่สองก็คือใช้จิตที่ธรรมดา รู้จักลักษณะของจิตที่จะทำสมถะ จิตที่จะทำสมถะได้คือจิตธรรมดาๆ นี่ล่ะ อย่าไปเค้นมันจนมันเครียดๆ อย่าไปกดข่มจิต อย่าไปทำจิตให้เบลอๆ เคลิ้มๆ ใช้จิตปกติ บางคนจะทำสมถะไปทำจิตให้เคลิ้ม เคลิ้มๆ อย่างนี้ไม่ได้เรื่องหรอก หรือบางคนก็ทำผิด เคร่งเครียด ใช้จิตธรรมดา ต้องรู้จักไปเลือกอารมณ์ที่ถูกต้อง จิตที่จะไปรู้อารมณ์เป็นจิตที่ธรรมดาๆ มีอารมณ์ที่ถูกต้อง มีจิตที่ปกติ ไม่เค้นมัน แล้วก็ไม่ไปบีบ ไปน้อมให้เคลิ้มอะไรอย่างนี้ จิตปกติ รู้อารมณ์ เวลารู้ก็รู้ไปตามธรรมดา อย่ารู้ด้วยความโลภ เมื่อไรจะสงบๆ รับรองว่าไม่สงบ รู้เล่นๆ ไป รู้ไปสบายๆ ไม่ได้เจตนาจะสงบหรอก แต่จิตที่มันมีความสุขในตัวของมันเอง มันไปรู้อารมณ์สุขที่มีความสุข สุขกับสุขเจอกันสมาธิเกิดทันทีเลย
ถ้าเลือกอารมณ์ที่มีความสุข แต่จิตที่ไปดูอารมณ์นั้นไม่มีความสุข จิตนั้นเคร่งเครียด หรือจิตนั้นเคลิบเคลิ้ม ลืมเนื้อลืมตัว นี่จิตไม่ดีไปรู้อย่างไรสมาธิก็ไม่เกิด จิตใจปกตินี่ล่ะเป็นจิตใจมีความสุข ไปรู้อารมณ์ที่เรารู้แล้วเราสังเกตเอา อยู่กับอันนี้แล้วมีความสุข สุขกับสุขเจอกัน “ความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ” ในคัมภีร์สอนไว้ อารมณ์นั้นก็เป็นอารมณ์ที่ให้ความสุข จิตที่จะไปรู้อารมณ์ก็รู้อย่างมีความสุข เราจะสงบอย่างรวดเร็วเลย ต่อไปเราก็ชำนาญ ต้องการพักจิตเราก็ สบาย ใช้จิตปกตินี่ล่ะ เมื่อทำกรรมฐานที่เราถนัด บางคนหายใจ 2-3 ทีจิตก็รวมแล้ว บางคนชำนาญจริงๆ หายใจปุ๊บรวมแล้ว ยังไม่ทันจะหายใจสุดเลย อย่างนั้นฝึกจนมันชำนาญ มีวสี
วิปัสสนาภาวนา
อีกอันหนึ่งคือวิปัสสนาภาวนา ก็มีหลัก อาศัยสติไปรู้รูปนาม รู้กายรู้ใจ รู้อย่างที่มันเป็น รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็น เราใช้จิตซึ่งมันมีพลังแล้ว ทำสมาธิมามีพลังสงบ ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูแล้ว อาศัยจิตที่เป็นผู้รู้ผู้ดูไปเจริญวิปัสสนา จิตผู้รู้มันก็มีวิธีพัฒนาขึ้นมาที่ต่างจากจิตสงบนิดหนึ่ง จิตสงบเราน้อมจิตลงไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่องแล้วมันสงบ แต่จิตผู้รู้ให้รู้ทันจิตไว้ ถ้าจิตสงบก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตหนีไปคิดก็รู้ คอยรู้ทันจิตไป แล้วเราจะได้จิตผู้รู้ พอเรามีจิตที่เป็นคนรู้แล้ว เราจะทำวิปัสสนาได้แล้ว เราสามารถเห็นกายเห็นใจตามความเป็นจริง กายเป็นอย่างไรรู้ไปอย่างนั้น จิตใจเป็นอย่างไรรู้ว่าเป็นอย่างนั้น รู้อย่างที่มันเป็น แล้วถามว่ามันเป็นอะไร มันเป็นไตรลักษณ์ มันไม่เป็นอย่างอื่นหรอก เห็นกายแสดงไตรลักษณ์ เห็นใจแสดงไตรลักษณ์ เครื่องมือที่เราต้องพัฒนาก็คือสติกับสมาธิ สติเกิดจากการที่เราเห็นสภาวะบ่อยๆ จิตจำสภาวะได้แม่น แล้วต่อไปพอสภาวะอันนั้นเกิด สติจะเกิดเอง
สมาธิตัวนี้ไม่ใช่แค่สงบ สงบนั้นเป็นส่วนประกอบอันหนึ่ง จิตที่ไม่สงบยังไม่มีแรง ถ้าจิตมันสงบแล้วมีแรง แต่ไม่รู้จักใช้งานก็โง่ เรียกว่ามีแรงเฉยๆ แต่ทำอะไรไม่เป็น เรียกสมาธิโง่ๆ ก็ต้องพัฒนาอีกนิดหนึ่ง ต่อยอดจากสมาธิสงบนิดหนึ่ง อย่างใจเราสงบแล้ว เราจะเห็นสักพักหนึ่งมันจะเริ่มไม่สงบ จิตมันจะเริ่มไปคิด เรามีสติรู้ว่าจิตไหลไปคิดปุ๊บ จิตผู้รู้มันจะเกิด ฉะนั้นเราทำสมาธิเหมือนเดิม แต่แทนที่จะให้จิตสงบอยู่ในอารมณ์ของกรรมฐานนั้น เราคอยรู้ทันจิต หายใจไปพุทโธไปแล้วจิตหนีไปคิดเรื่องอื่น รู้ว่าจิตหนีไป หรือจิตไหลเข้าไปที่ลมรู้ว่าจิตไหล ตรงที่เรารู้ทันจิตที่เคลื่อนไปเคลื่อนมานั่นล่ะ เราจะได้จิตผู้รู้โดยง่ายดาย จะได้อัตโนมัติเลย
ฉะนั้นสิ่งที่ต้องฝึกมีสติกับสมาธิ สมาธิตัวนี้คือจิต สภาวะที่ทำให้จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู สติเป็นตัวระลึกได้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในกายในใจ สมาธิเป็นตัวที่ทำให้ใจตั้งมั่น สักว่ารู้ว่าเห็น สักว่ารู้ว่าเห็นก็คือไม่มีอคติ ไม่มี bias จิตปกติอย่างนี้ ไม่ทรงสมาธิ ไม่ทรงฌาน ไม่มีอะไรอย่างนี้ หรือไม่ได้เป็นจิตผู้รู้ มันจะมี bias มันจะชอบอันนี้ เจออารมณ์อันนี้ชอบ เจออารมณ์อันนี้เกลียด มันไม่เป็นกลาง ฉะนั้นมันไม่เห็นสภาวะตามความเป็นจริงหรอก ฉะนั้นจิตต้องตั้งมั่นแล้วก็เป็นกลาง ฉะนั้นคีย์เวิร์ดของหลักของวิปัสสนาที่หลวงพ่อสอนก็คือ ให้เรามีสติรู้กายรู้ใจ ให้มีสติแล้วไปรู้ ไม่ใช่ไปเพ่ง ไม่ได้ไปบังคับ ไม่ได้ไปแทรกแซง มีสติรู้อะไร รู้กายรู้ใจ รู้อย่างไร รู้ตามความเป็นจริง กายเป็นอย่างไรรู้ว่าเป็นอย่างนั้น ใจเป็นอย่างไรรู้ว่าเป็นอย่างนั้น แล้วเราจะเห็นว่าที่มันเป็นๆ มันเป็นอะไร มันเป็นไตรลักษณ์ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เราจะเห็นตัวนี้ได้ จิตเราจะต้องตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู แล้วก็เป็นกลาง
ฉะนั้นหลวงพ่อจะสรุปให้เรา “มีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง” วงเล็บ “ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง” หลักของมันมีเท่านี้ เมื่อรู้หลักแล้วก็เดินเอา ช่วยตัวเองพยายามพัฒนาตัวเองไป ฝึกทุกวันมันไม่โง่ตลอดชาติหรอก วันนี้ล้มลุกคลุกคลาน วันหน้ามันก็เก่งขึ้น พวกเราจำไม่ได้เอง ก่อนที่เราจะเดินได้ ก่อนที่เราจะยืนได้ เราล้มลุกคลุกคลานมาเท่าไรแล้ว ตอนเด็กๆ ก็นอน นอนอยู่ต่อมาก็เริ่มขยับหัวได้ ขยับหัวพลิกซ้ายพลิกขวาได้ ต่อมาก็พลิกตัวได้ ต่อมาก็ลุกขึ้นนั่งแล้วก็คลานได้ จากคลาน 4 เท้า จากเดรัจฉาน 4 ขา จะขึ้นมายืน 2 ขา ขึ้นมาเดี๋ยวก็ล้ม เดี๋ยวก็ต้องยืนอีกแล้วก็ล้มอีก ยืนได้แล้วเดิน เดินได้ 2-3 ก้าวล้มแผละอีกแล้ว กว่าจะวิ่งได้ทุกวันนี้ กว่าจะเดินได้ ผ่านกระบวนการฝึกปรือมาเยอะแล้ว จิตนี้ก็เหมือนกัน กว่าเราจะเดินได้ถูกต้องเข้มแข็ง มันก็ล้มลุกคลุกคลาน แต่มันต้องสู้ ถ้าไปเจอเด็กอ่อนแอ ลุกขึ้นเดินนิดเดียวหกล้ม ชาตินี้ไม่ยอมเดินอีกแล้ว มันก็พิการอยู่อย่างนั้น
ฉะนั้นจิตเราตอนนี้ล้มลุกคลุกคลาน ไม่เป็นไร ฝึกตัวเองให้มันเข้มแข็ง ล้มแล้วก็ลุกขึ้นมา คลานไปให้ได้ อย่าอยู่นิ่ง อย่ายอมแพ้ ฝึกตัวเองอย่างนี้ทุกวัน มันก็จะอยู่ในเรื่องทาน ศีล ภาวนา สุดท้ายมันก็ลดละอกุศลลงไป แล้วก็เจริญกุศลให้ถึงพร้อม สิ่งที่เรียกว่ากุศลคือไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง อโลภะ อโทสะ อโมหะ ตัวที่จะฝึกให้เราไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ก็คือศีล สมาธิ ปัญญานั่นล่ะ ฝึกให้เราไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงได้.
วัดสวนสันติธรรม
29 มกราคม 2565