ธรรมะของพระพุทธเจ้าชัดเจนแจ่มแจ้ง

เมืองไทยก็ไม่มีโรคระบาดเกือบ 3 เดือนแล้วมีแต่เฉพาะเข้ามาจากต่างประเทศ ถ้าคุมตัวนี้อยู่ก็พวกเราไม่ต้องลำบากมากแต่บางอาชีพก็ลำบากหน่อย พวกที่หากินกับธุรกิจท่องเที่ยวอะไรอย่างนี้ แต่ตอนนี้จริงๆ ก็ไม่ค่อยมีคนอยากเที่ยวเท่าไหร่ เป็นบุญของพวกเราได้เกิดในยุคที่มีโรคระบาด เขาบอกร้อยปีมีรอบหนึ่ง รอบร้อยปีมีครั้งหนึ่งแสดงว่าเราเก่ง รอดศึกใหญ่ในรอบร้อยปี แต่ก่อนโรคระบาดคนตายเยอะกว่านี้ เมืองไทยโรคอหิวาต์เคยระบาด กาฬโรคเคยระบาดตายกันจนเผาศพไม่ทันเลย ฝังไม่ทันทิ้งไว้ให้อีแร้งกิน ศพทิ้งแต่ว่าไม่ได้ทิ้งเรี่ยราด ทิ้งในป่าช้า

จริงๆ ธรรมะจะว่ายากก็ยากง่ายก็ง่าย เมื่อก่อนหลวงพ่อยืนยันว่ามันง่ายมากเลย พวกเราหลายคนภาวนาตั้งนานแล้วรู้สึกทำไมมันยาก ที่รู้สึกยาก มันยากด้วยเหตุผลหลายข้อนะ

อันแรกพื้นฐานของเราไม่มี ศีลเรายังกระพร่องกระแพร่งด่างพร้อย สมาธิของเราก็ไม่มี ใจไม่ได้ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน สิ่งเหล่านี้ถ้าเราเคยภาวนามาสะสมข้ามภพข้ามชาติได้ บางคนตอนเด็กๆ จิตมันก็ดีดตัวออกมาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว ต้นทุนเขาเยอะ อีกอันหนึ่งเขาก็ต้องมีบุญพอสมควร ได้พบครูบาอาจารย์ที่ดี แล้วก็สอนได้ตรงจริตของเรา

หลวงพ่อตอนเด็กๆ ไปเรียนสมาธิกับท่านพ่อลี วัดอโศการาม ท่านสอนอานาปานสติ มันถูกกับจริต ชอบ ทุกวันนี้ตอนนอนยังนอนหายใจเข้าพุท หายใจออกโธอยู่เลย ทำทุกคืนทำอย่างนั้นบางทีทำจนมันไม่นอนไม่หลับ ใจมันเบิกบานมีความสุข จิตใจได้พักผ่อนร่างกายก็นอนอยู่

เวลาจะมาเดินปัญญา ครูบาอาจารย์องค์แรกที่หลวงพ่อเข้าไปเรียนด้วยหลวงปู่ดูลย์ ท่านสอนให้หลวงพ่อเจริญปัญญาด้วยการดูจิต ท่านไม่สอนสมถะหลวงพ่อเลย กับคนอื่นกับท่านอื่นบางทีท่านสอนเรื่องสมถะ สอนให้พุทโธ แล้วก็คอยรู้จิตที่เป็นคนท่องพุทโธ ไม่ใช่พุทโธเฉยๆ พุทโธแล้วรู้ทันจิตที่ท่องพุทโธ ไม่ใช่ท่องพุทโธๆ เฉยๆ ครูบาอาจารย์รุ่นเก่าจริงๆ ท่านมุ่งมาที่จิต จะพุทโธก็ให้ได้จิต บางองค์ท่านสอนให้พิจารณาผมเส้นเดียว บางองค์ให้พิจารณากระดูก อันนั้นเป็นเรื่องของสมาธิทั้งหมด แต่หลวงพ่อเข้าไปหาท่าน ท่านไม่สอนเรื่องสมาธิก็ท่านพ่อลีสอนมาแล้ว แล้วหลวงพ่อทำอย่างที่สอน

แล้วท่านก็สอนเรื่องให้ดู “จงทำญาณเห็นจิต ให้เหมือนตาเห็นรูป” ไปเลย ดูตรงนี้มีญาณเห็นจิต ไม่ใช่มีสติเห็นจิต มีสติเห็นจิตก็คือเห็นตัวสภาวะของจิต สติเป็นตัวรู้สภาวะ แต่นี้ท่านบอกให้มีญาณเห็นจิต ญาณเป็นตัวปัญญาเห็นไตรลักษณ์ของตัวสภาวะ เพราะฉะนั้นทีแรกก่อนที่ปัญญาจะเห็นไตรลักษณ์ของสภาวะได้ ก็ต้องเห็นตัวสภาวะก่อนก็ฝึกสติ สติเกิดจากจิตจำสภาวะได้แม่น จิตจำสภาวะได้แม่นเพราะเห็นสภาวะบ่อยๆ

ฉะนั้นเราต้องทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ดูกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมก็ได้ ธรรมในธรรมเล่นยากเอาไว้ทีหลัง เอาของง่ายก่อน

ดูกายในกาย คำว่ากายในกายไม่ใช่ดูเข้าไปข้างในกาย กายในกายมันเป็น technical term เป็นภาษาเฉพาะ ภาษาวิชาการ คำว่ากายในกายก็คือ เรียนกายบางอย่าง ถ้าเข้าใจแล้วจะเข้าใจกายทั้งหมด อย่างร่างกายเราประกอบด้วยรูปตั้ง 28 อย่าง มีรูปประกอบกัน 28 อย่าง เยอะ ไม่ต้องเรียนทั้งหมด เรียนทั้งหมดแล้วไปเรียนปริยัติเอาไว้สอบ สอบเสร็จแล้วก็ลืม ยังลดละกิเลสอะไรไม่ได้หรอก ในทางปฏิบัติ เราสุ่มตัวอย่างเรียนรูปบางอย่าง เช่น ไม่ต้องเรียนเรื่องรูปผู้หญิง รูปผู้ชายอะไรแบบนี้ เราแค่เรียนรูปหายใจออกรูปหายใจเข้าเรียนรูปง่ายๆ

ในสติปัฏฐานเริ่มจากอานาปานสติ หายใจออกรู้สึกตัว หายใจเข้ารู้สึกตัว หลวงพ่อเน้นหายใจออกก่อน ในพระไตรปิฎกท่านก็สอน “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ให้เธอคู้บัลลังก์” คู้บัลลังก์คือนั่งขัดสมาธิ “ตั้งกายตรงดำรงสติเฉพาะหน้า” สติเฉพาะหน้าไม่ใช่รู้เฉพาะหน้าตัวเองนี้ “เฉพาะหน้า” หมายถึง “รู้ปัจจุบัน” สิ่งที่กำลังปรากฏขึ้นต่อหน้าต่อตานี้เรียกว่า “รู้เฉพาะหน้า” ถ้าอ่านไม่ดี นึกว่าให้รู้แต่หน้านี้ ไม่รู้ที่อื่น ไม่ใช่

“ภิกษุทั้งหลายให้เธอคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า หายใจออกยาวรู้ว่าหายใจออกยาว หายใจเข้ายาวรู้ว่าหายใจเข้ายาว” หายใจออก-หายใจเข้า หายใจออก-หายใจเข้า มันจะกลับข้างกับที่พวกเราเคยชิน เราจะเคยชินหายใจเข้าก่อน เพราะเราเคยเรียน หายใจเข้าพุธ หายใจออกโธ ถ้ามันหายใจเข้าโธ แล้วมาหายใจออกโธ แล้วมาเข้าพุทแบบนี้ รู้สึกติดขัดทำไม่ได้

เราก็ถือว่าพระพุทธเจ้าบอก หายใจออกยาวรู้ว่าหายใจออกยาว เราก็หายใจออกแล้วมันขัดกับพุทโธแล้วจะทำอย่างไร เราก็หายใจทิ้งไปทีหนึ่งก่อน หายใจออกทิ้งไปยังไม่ต้องบริกรรม แล้วตอนที่หายใจเข้า นี่พุท หายใจออกอีกทีก็โธไปเลย เพราะฉะนั้นช็อตแรกจังหวะแรกหายใจออก หายใจออกทิ้งไปเหมือนระบายลมในตัวออกไป

การหายใจออกก่อนจะทำให้จิตผ่อนคลาย ถ้าการหายใจเข้าก่อน นี่จะทำให้จิตแข็ง มันจงใจมากไป พวกเราลองถอนหายใจซิ ถอนใจคนละเฮือกซิ ถอนใจดู เฮ้อ…

สังเกตไหมเวลาถอนใจแล้วรู้สึกผ่อนคลาย ฉะนั้นการที่หายใจออกก่อนมันจะทำให้ผ่อนคลาย จิตที่ผ่อนคลายมันเกิดสมาธิง่าย เพราะความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ หายใจทิ้งไปหน่อยหนึ่ง แล้วก็ค่อยหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ แต่ถ้าอยู่ๆ ก็หายใจเข้าพุทออกโธเลย หายใจเข้าฮืดๆๆ เฮ้อ… มันจะแน่นใจมันจะอึดอัด นี่ trick พวกนี้ค่อยๆ ภาวนาแล้วเราค่อยเก็บเกี่ยว

หลวงพ่อทำอานาปานสติมาตั้งแต่ 7 ขวบ มาถึงวันนี้ 61 ปีที่ทำอานาปานสติ ทำทุกวันไม่เคยเลิกเลยทำมา 61 ปีแล้ว เลยจับเคล็ดลับจับอะไรของมันได้หลายตัว วิธีที่จะภาวนาให้จิตมีสมาธิขึ้นมามีสติมีสมาธิขึ้นมามันก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ถ้าเราจับหลักมันยังไม่ได้ ไม่รู้จัก trick ของมันก็ลำบากนิดหนึ่ง แต่ใหม่ๆ ก็ลำบากไปก่อนอดทนทำไปเดี๋ยวมันก็จับหลักได้ จับได้แล้วไม่ใช่เรื่องยาก อย่างเราจะไปหายใจออกรู้สึก-หายใจเข้ารู้สึก อย่าทำด้วยความโลภ ถ้าทำด้วยความโลภจิตจะไม่สงบ

เราตั้งหลักว่าเราหายใจเป็นเครื่องบูชาพระพุทธเจ้า ไม่ต้องโลภ ไม่ได้อยากให้พระพุทธเจ้ามาให้อะไรเรา เราบูชาท่านในฐานะที่ท่านเป็นครูของเรา อย่างเราหายใจออกไปทิ้งทีหนึ่ง หายใจเข้าพุทหายใจออกโธไป นึกถึงพระพุทธเจ้าไปใจเราจะค่อยๆ สงบมีเรี่ยวมีแรงขึ้นมากับการนึกถึงพระพุทธเจ้า การนึกถึงลมหายใจเป็นอนุสติ ทำให้ได้สมาธิ และการหายใจนั้นได้สมาธิถึงรูปฌาน การดูขน ผม เล็บ ฟัน หนังได้รูปฌาน ถ้าบริกรรมพุทโธๆๆ ได้อุปจารสมาธิ ทีนี้เราเอาพุทโธประกอบเข้ากับลมหายใจเราก็เข้ารูปฌานได้ เราหายใจไปถือว่าเราหายใจเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ไม่ใช่หายใจเอาดีเอาสุขเอาสงบ ถ้าหายใจแล้วหวังความดีความสุขความสงบ มันโลภ ตราบใดที่โลภ สติจะไม่เกิด เพราะสติจะไม่เกิดร่วมกับกิเลส กิเลสก็ไม่เกิดร่วมกับสติเกิดด้วยกันไม่ได้

ฉะนั้นเวลาภาวนาอย่าโลภ ถ้าโลภแล้วใจมันเครียดสมาธิไม่เกิดหรอก หายใจสบายๆ ไป หายใจแล้วรู้สึกไป หรือไม่ชอบหายใจก็มีเครื่องอยู่อย่างอื่น เช่นรู้ร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ในสติปัฏฐานทั้งนั้น การรู้ร่างกายหายใจมีสติรู้การหายใจเรียกว่าอานาปานสติ มีสติรู้ร่างกาย ยืน เดิน นั่ง นอน เรียกว่าสัมปชัญญะ มีสัมปชัญญะ ถ้าร่างกายเคลื่อนไหวก็รู้ร่างกายหยุดนิ่งก็รู้ อันที่ยืน เดิน นั่ง นอนเรียกว่ารู้อิริยาบถ ส่วนถ้าเคลื่อนไหวรู้สึก หยุดนิ่งรู้สึกเรียกว่ามีสัมปชัญญะ นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนเราก็อย่าไปคิดมาก บางคนคิดกรรมฐานใหม่ๆ ขึ้นมาเยอะแยะเลย กรรมฐานชนิดใหม่ๆ ที่พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนไว้มันจะเก่งอะไรนักหนา มันจำเป็นอะไรต้องไปคิดกรรมฐานชนิดใหม่ๆ ขึ้นมา

อย่างบางคนทำสมาธิหมุนไปหมุนมา โยกๆ อะไรนั่นมันทำไม่ได้จริง หรือบางคนมาถามหลวงพ่อว่า จะรำมวยจีนแล้วเจริญสติ เห็นกายมันรำได้ไหม บอกถ้าทำเป็นก็ทำได้ ทำเป็นหมายถึงเจริญสติเป็น แต่ถ้าเริ่มต้นมาจากการรำไทเก๊กอะไรอย่างนี้ ใจมันจะคล้อยตาม ใจมันจะเลื่อนลอยตามไป ใจมันไม่ตั้งมั่น คล้ายๆ สะกดตัวเองออกไป อย่างพวกนั่งโยกเล่น โยกไปเรื่อยมันเหมือนสะกดตัวเอง มันไม่ใช่สมาธิที่พระพุทธเจ้าสอนหรอก ไม่ใช่ของเขาไม่ดี เขาก็ดีอย่างของเขา แต่เราลูกศิษย์พระพุทธเจ้า เราก็ดูว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร

 

ธรรมะของพระพุทธเจ้าชัดเจนแจ่มแจ้ง

เราเชื่อไหมว่าพระพุทธเจ้ามีสัพพัญญุตญาณ มีญาณทัศนะครอบคลุมหมดแล้ว ฉะนั้นสิ่งที่ท่านเลือกมาสอนเรา ไม่ใช่ธรรมะทั้งหมดที่ท่านรู้ แต่ท่านเลือกมาสอนเราเท่าที่จำเป็น ที่มีประโยชน์ ที่เราทำได้ ฉะนั้นสิ่งที่ท่านเลือกมาให้แล้วนั้นเราก็เรียนตามพวกนี้ ง่ายดี ถ้าอาจารย์รุ่นหลังเลือกมาให้เรา มันจะสับสนวุ่นวาย อย่างบางอาจารย์เขาบอกให้เราไปขอขมาแก้กรรมโน้นแก้กรรมนี้แล้วจะภาวนาดี แค่เชื่อว่าคนนั้นเป็นเจ้ากรรมนายเวรของเราก็ต้องฟังคนอื่นแล้ว ฟังคนอื่นเขาบอกคนนี้ล่ะเจ้ากรรมนายเวรของเรา ชาวพุทธเราไม่มีอย่างนั้น

ธรรมะของพระพุทธเจ้าชัดเจนแจ่มแจ้งไม่มีความกำกวม ถ้ายังมีกำกวม ใช่เหรอๆ ไม่ใช่ของพระพุทธเจ้าแล้ว ฉะนั้นธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่มีความกำกวม ยกตัวอย่างถ้าเรามีอบายมุขกินเหล้า กินยาเสพติดเที่ยวเตร่เฮฮาปาร์ตี้ทุกคืน เพลิดเพลิน ดูซีรีส์ ดูทีไรก็ดูโต้รุ่งเลย อย่างนี้มันเจริญได้ไหม ในทางธรรมไม่มีทางเจริญหรอก มันเป็นทางเสื่อมมันเจริญไม่ได้ มันเป็นอบายมุข ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน ดูการละเล่น เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้านในการงาน นี่คือพระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นทางเสื่อม ลองไปทำแล้วให้เจริญดู มันทำได้ไหม? มันทำไม่ได้ สิ่งที่ท่านสอนมันตรงไปตรงมาที่สุดเลย

ถ้าเราอยากอยู่ในสังคมแล้วอยู่กันได้อย่างสงบสุขในสังคม ก็ต้องมีธรรมะในการอยู่กับสังคม มีการให้ การให้คือการแชร์กัน แชร์ในสิ่งที่มีประโยชน์ภาษาบาลีเรียกว่าทาน ทีนี้คนไทยใช้ทานเป็นเครื่องให้วัตถุสิ่งของไปแล้ว จริงๆ มันไปตรงกับคำว่าแชร์มากกว่า มีทานคือมีการเผื่อแผ่เอื้อเฟื้อกัน คนนี้ไม่มีความรู้ให้ความรู้อะไรอย่างนี้ แชร์กัน โกรธกันก็เปิดใจแชร์กันคุยกันอภัยให้กัน นี่มันก็อยู่ในคำว่าอภัยทาน ฉะนั้นคำว่าทานมันกว้าง ถ้าเราใช้คำว่าแชร์จะใกล้คำนี้มากเลย

ถ้าเราเห็นแก่ตัวมีอะไรไม่ยอมแชร์เพื่อน เพื่อนจะรักไหม อย่างตอนเรียนหนังสือ บางคนเพื่อนยืมเลคเชอร์ตลอดเลย ก็ให้ เพื่อนมันก็รัก บางคนงกเพื่อนให้ติว แกล้งติวที่สิ่งที่คิดว่าจะไม่ออกสอบ แกล้งติวเรื่องอื่นเลยอย่างนี้ไม่เรียกว่าแชร์ อย่างนี้เรียกว่าชั่ว หลอกเขา หรือบางทีกรรมสนองมันไปออกที่ไปบอกคนอื่นมันมีเหมือนกัน ในวัดยังเคยเจอเลยเก็งหลักสูตรนักธรรมกัน อันนี้ไม่ออกๆ ปรากฏว่ามันออก

แชร์สิ่งที่มีประโยชน์ แชร์ด้วยความเมตตาต่อกัน พูดจาต่อกันให้ดีๆ ปิยวาจา แปลว่าพูดจาน่ารัก ไม่ใช่แปลว่าพูดเพราะ แปลว่าพูดจาน่ารัก อย่างกับเพื่อนเรา บางทีก็ทักทายกัน “ไอ้เหี้ย พ่อมึงตายหรือยัง” นี่ปิยวาจาฟังแล้วมีความสุข เออ นี่เพื่อนเราเพื่อนซี้เรา ถ้าเราเคยคบกันมาคุยกันแบบหนึ่ง พอมาเจอหน้า “สวัสดีครับผม” เพื่อนผวาเลยมันไม่ใช่ปิยวาจาแล้ว มันห่างเหินเกินไป

คิดดูถ้าเรามีทาน มีการแชร์ มีปิยวาจา พูดให้เขารักพูดในทางที่น่ารัก อัตถจริยา ทำตัวให้มีประโยชน์ ถ้าทำตัวถ่วงโลกถ่วงเพื่อน ไม่มีใครเขารักหรอก

คนหนึ่งไม่สบาย เรียกร้องจะเอาโน่นจะเอานี่ เรียกร้องเอากับเพื่อนตลอดเลยอย่างนี้เพื่อนไม่รักเพื่อนก็หนีหมด นี่ทำตัวไม่ได้เป็นประโยชน์ บางทีไปหลอกคนอื่นเขา ในวงกรรมฐานมีเยอะเลยเที่ยวหลอกกรรมฐาน “นี่จิตเธอเป็นอย่างนี้แล้ว ต้องไปทำอย่างนี้นะ” อะไรอย่างนี้หลอกให้เขานับถือ อันนี้ไม่ใช่อัตถจริยาไม่ได้ทำตัวให้เป็นประโยชน์แต่มันหลอกลวงเขา

แล้วตัวสุดท้ายที่เขาจะรัก สมานัตตา เสมอต้นเสมอปลาย วันนี้ดีพรุ่งนี้ร้ายไม่มีใครเขารักหรอก นี่ธรรมะของพระพุทธเจ้าเถียงได้ไหม คนอารมณ์หวือหวาไบโพลาร์ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เดี๋ยวเศร้าเดี๋ยวคึกอะไรขึ้นมา ไม่มีใครอยากเข้าใกล้หรอก เวียนหัวไม่รู้มันจะเอาอย่างไร มันยิ้มหวานๆ อยู่ ฉับพลันมันควักมีดออกมาแทงเราแล้วก็ได้ ฉะนั้นเรื่องเสมอต้นเสมอปลายก็สำคัญ แล้วต้องเสมอต้นเสมอปลายในทางที่เป็นประโยชน์ด้วย ในทางทาน ในทางคำพูดที่น่ารัก ในการทำตัวให้เป็นประโยชน์อย่างเสมอต้นเสมอปลาย

เพราะฉะนั้นเวลาเราจะช่วยคนอื่นเราต้องพิจารณาให้ดี เดี๋ยวจะเกิดปัญหาทีหลัง อย่างคนมายืมเงินเรา เราให้ตลอดเลย ทีนี้พอมีเรื่องโควิดขึ้นมาเราหากินไม่ได้ เขามายืมเราไม่ให้ ความดีที่ให้ยืม 100 ครั้งนี่หายไปทันทีเลย อีนี่งกชั่วเห็นแก่ตัว ฉับพลันอย่างนี้เลย เพราะไม่เสมอต้นเสมอปลายแล้ว ฉะนั้นเวลาทำดีก็ต้องระวังเหมือนกัน ต้องประกอบด้วยสติ ประกอบด้วยปัญญาเหมือนกัน ทำแล้วอย่าเดือดร้อนทีหลัง ทำดีทำไปเถอะ ทำแล้วอย่าให้เดือดร้อนทีหลัง

อย่างหลวงพ่อชอบไปทำบุญกับโรงพยาบาลกับมูลนิธิอะไรพวกนี้ เมื่อก่อนนี้ทำบุญโรงพยาบาลกับพวกธนาคารวัวธนาคารควาย หลังๆ นี่คนยากคนจน คนลำบากเยอะขึ้น หลวงพ่อก็เปลี่ยนไปทำโรงพยาบาลเยอะขึ้น เราไปทำที่โรงพยาบาลไม่มีใครมายุ่งกับเราทีหลัง แต่ถ้าเราเอาเงินไปให้คนนี้ คนอื่นอยากจะได้แล้วก็จะเริ่มด่าเราแล้วว่าไม่ยุติธรรม ฉะนั้นมันจะวุ่นวาย ทำแล้วก็สร้างความผูกพันกับคนบางคนขึ้นมา

อย่างบางคนเป็นพวกผู้ช่วยสอนแต่ผู้ช่วยสอนรุ่นนี้ยังไม่มี เมื่อก่อนหลวงพ่อสอนกรรมฐานเพื่อนไว้แล้วมันไปสอนต่อ ไปสอนๆ ไปบ้านเขา โทรศัพท์คุยกันไปมา สุดท้ายเลิกกับสามีอยากมีสามีใหม่ แล้วเอาลูกศิษย์เป็นสามี หรือเอาลูกศิษย์เป็นภรรยา ฉะนั้นหลวงพ่อจะมีหลักเกณฑ์ ผู้ช่วยสอนไม่นัดสอนกันส่วนตัว ตัวต่อตัวไม่ได้เด็ดขาดเลย สอนก็สอนในที่เปิดเผยเพื่อความปลอดภัยทั้งสองฝ่าย ในฐานะที่ยังไม่พ้นกิเลสยังไว้ใจไม่ได้ต้องระวังตัวเอง จะต้องฉลาดในการรักษาตัวเอง

ธรรมะของพระพุทธเจ้าชัดเจน เช่น ถ้าเรามีตัณหาเราจะต้องทุกข์ทางใจ ถ้ามีตัณหาเมื่อไรต้องทุกข์ทันที อันนี้ไม่มีใครเถียงได้ ถ้าเรามีศีล สมาธิ ปัญญาถึงจุดหนึ่ง โลกุตตรธรรมก็ปรากฏขึ้น เกิดมรรคเกิดผลขึ้นมา อันนี้คนที่มันยังไม่ถึงมันก็เถียง ฉะนั้นท่อนหลังของอริยสัจจ์นี่เอาไว้ให้คนที่รู้เรื่องฟังกันคุยกัน อย่างพระคุยกัน ไปหาครูบาอาจารย์คุยธรรมะกันมันมากเลย บางทีท่านออกปากเลยว่าไม่ได้คุยสนุกอย่างนี้มาเป็น 10 ปีแล้วไม่มีใครคุยด้วย คุยธรรมะกัน นอกนั้นก็มาเรื่องโลกๆ เรื่องโลกๆ คุยแล้วจืดๆ

แต่พวกเรายังเป็นชาวโลกอยู่ เราดูให้ดีเถอะทุกครั้งที่มีความอยาก ใจจะมีความทุกข์จริงหรือไม่จริง ไปพิสูจน์ด้วยตัวเองเลย ถ้าไม่ใช่ก็แสดงว่าพระพุทธเจ้าไม่ใช่สัพพัญญูแล้ว พระพุทธเจ้าสอนผิดแน่นอนแล้ว แต่เรากล้าท้า ไปทำให้ถูกเถอะ แล้วอย่างไรเถียงพระพุทธเจ้าไม่ออกหรอก ศิโรราบกับพระพุทธเจ้าเลย

 

ทำกรรมฐานที่พอดี ที่เราทำได้

ฉะนั้นเราค่อยๆ สังเกตไป ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งก่อนแล้วก็ดูสภาวะที่เกิดขึ้น กรรมฐานอะไรก็ได้ที่เราถนัดที่เราทำแล้วสบายใจ หายใจเข้าพุทหายใจออกโธก็ได้ พุทโธอย่างเดียวก็ได้ หายใจอย่างเดียวก็ได้ ดูท้องพองยุบก็ได้ ขยับมืออย่างหลวงพ่อเทียนก็ได้ ทำอานาปานสติทำอะไรก็ได้ กรรมฐานพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนังก็ได้ เอาที่เราถนัดทำแล้วสบายใจเอาอันนั้น ถ้าทำแล้วเครียดไม่เอา

หลวงพ่อก็เคยทำกรรมฐาน เคยทำมาแล้วแทบทั้งนั้นล่ะ กายคตาสติก็เคยทำ ดูผมลงมามันสลายเลยเห็นหนังหัวดูหนังหัวสลาย นี่ผม ขน เล็บ ฟัน หนังนะสลายไปหมด เนื้อ เอ็นถึงท้ายกระดูกก็ระเบิดออกไปสลายไปอีก เห็นไตรลักษณ์ได้เหมือนกัน ฉะนั้นกรรมฐานนะลองทำมาเยอะแยะแล้ว ก็เลยรู้กรรมฐานอะไรก็ได้ถ้าทำถูกแล้วใช้ได้ทั้งนั้น ขอให้ถูกเท่านั้น แล้วแต่จริตนิสัย จริตนิสัยเหมาะกับการดูรูปธรรมก็ดูรูปธรรม เหมาะกับการดูนามธรรมก็ดูนามธรรม

การปฏิบัติมันมี 2 ขั้น ขั้นของสมถะกับขั้นของวิปัสสนา ขั้นของสมถะเราก็ดูตัวเอง อย่างหลวงพ่อสามารถทำสมถะด้วยการดูจิตได้ จับเข้าไปในความว่างจับเข้าไปที่ตัวผู้รู้ จับเข้าไปในความไม่มีอะไรแบบนี้ ใช้สิ่งเหล่านี้เป็นอารมณ์กรรมฐานก็ทำได้ ทีนี้พอพวกเราได้ยินอย่างนี้เรามาทำแล้วหาไม่เจอแล้วมันละเอียดเกินไป เป็นนามธรรมที่ละเอียดเกินไปในขั้นอรูป เราก็ใช้ของที่หยาบขึ้นมาอย่างใช้รูป เช่นหายใจเข้าหายใจออกแล้วรู้ไป หายใจไปแล้วก็ยังเคลิ้มยังขาดสติแสดงว่าการหายใจ นี่ยังเป็นของที่ละเอียดเกินไปสำหรับเรา

สังเกตตัวเอง ละเอียดเกินไปทำให้มันหยาบขึ้นโดยเติมคำบริกรรมลงไป หายใจเข้าพุทหายใจออกโธ ถ้ามันยังเคลิ้มขาดสติอีกก็เติมลงไปอีกอันหนึ่งหายใจเข้าพุทหายใจออกโธนับหนึ่ง หายใจเข้าพุทหายใจออกโธนับสองอะไรอย่างนี้ ฝึกไปเรื่อยๆ พอจิตเริ่มสงบการนับก็หายไป พอสงบพุทโธก็หายไป พอสงบเต็มที่ลมหายใจก็หายไปกลายเป็นแสงสว่าง ใจมันก็เดินไป แต่ขั้นต้นดูที่เราทำได้

อย่างพวกพระหลวงพ่อจะบอกให้เลย ในวัดหลวงพ่อ พระหลวงพ่อ ส่วนมากหลวงพ่อให้ดูกายด้วยซ้ำไป ไม่ใช่ดูจิต เห็นร่างกายหายใจ เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน เพราะทำอานาปานสติก็ละเอียดไปเคลิ้ม ดูจิตก็เคลิ้มไปมันละเอียดเกินไป

ฉะนั้นเราทำกรรมฐานที่พอดีที่เราทำได้ ถ้าสติสมาธิเรายังไม่พอเราทำกรรมฐานที่หยาบๆ อย่างรู้ร่างกาย นี่ เห็นร่างกายมันยืน เดิน นั่ง นอน เห็นร่างกายมันขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวอะไรก็รู้สึกมันไปเรื่อยๆ จิตมันจะทรงพลังขึ้นมาพอจิตมันทรงพลังเด่นดวงขึ้นมาแล้ว นี่ก็เดินปัญญาได้ การทำสมถะ เราก็ทำเลือกสมถะที่เราทำได้พอดีที่จะทำได้ ไม่ใช่ทำกรรมฐานที่ละเอียดเกินไปแล้วทำไม่สำเร็จ ฟุ้งซ่านหลงไปเลยหลับไปเลยอย่างนั้นไม่ดีเลือกที่พอดีกับเรา

 

ไหลแล้วรู้ๆ แค่นี้ก็เดินปัญญาได้แล้ว

พอถึงขั้นวิปัสสนา พอเราทำสมถะมาแล้วจิตมันตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูได้แล้ว มันตั้งขึ้นเองเราไม่ได้เจตนาตั้ง ถ้าเรายังเจตนาตั้งยังไม่ใช่ของจริง ค่อยๆ ฝึกไปจิตมันจะค่อยมีกำลังขึ้น มีกำลังขึ้น ในที่สุดมันตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา หลวงพ่อตอนฝึกง่ายมากเลย หลวงพ่อเห็นจิตไหลเท่านั้นจิตก็ตั้งมั่นแล้ว เพราะหลวงพ่อฝึกสมาธิมาเยอะแล้ว นี้ถ้าพวกเราเห็นจิตไหลแล้วจิตตั้งมั่นได้โอเคก็เล่นได้ แต่จิตไหลไปแล้วก็ไหลตามจิตเลยหายไปเลยทั้งวันอย่างนี้ อันนั้นเล่นไม่ไหว สติไม่พอสมาธิไม่พอ

ฉะนั้นถ้ามีใจที่ตั้งมั่นแล้ว ก็ถึงขั้นเจริญปัญญา เวลาเจริญปัญญาไม่ต้องสนใจหรอกว่าสายกายหรือสายจิต สติระลึกรู้อะไรก็รู้อันนั้น สติมันชอบรู้กายมันก็ไปรู้กายบ่อยๆ สติมันชอบรู้นามธรรมมันก็ไปรู้นามธรรมบ่อยๆ ก็แล้วแต่มันจะเป็น ไม่ห้ามมัน ถ้าจงใจจะรู้อันเดียว จะกลายเป็นการเพ่งทันที กลายเป็นสมถะอีกแล้ว ตกจากวิปัสสนากลายเป็นสมถะไป

ฉะนั้นเรารู้ไปสบายๆ พอใจมันตั้งมั่นแล้วเราก็อยู่กับกรรมฐานของเราไป เช่นอยู่กับลมหายใจอยู่กับพุทโธของเรา แต่เราไม่บังคับใจให้นิ่ง สักพักหนึ่งใจมันจะทำงานมันจะปรุงชั่วบ้าง ปรุงดีบ้าง ปรุงความว่างๆ คือความไม่ปรุงบ้าง

ปรุงมีสามอัน ปรุงชั่ว ปรุงดี ปรุงความไม่ปรุงแต่ง ก็คือปรุง ก็ปรุงทั้งสามอัน ตัวพ่อตัวแม่มันคือตัวอวิชชาด้วยกันทั้งหมด ตัวปรุงทั้งหมดเป็นลูกของอวิชชา เราไม่บังคับมันว่าจะต้องปรุงดีตลอดห้ามปรุงชั่ว หรือทำใจปรุงว่างๆ ไม่ต้องทำอย่างนั้น รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ใจเป็นแค่คนรู้คนดู รู้บ้างเผลอบ้างก็ได้ ไม่ต้องรู้ตลอดเวลา รู้ตลอดเวลายังไม่ใช่ภูมิที่เราจะทำได้ รู้บ้างเผลอบ้าง แต่อย่าเผลอนานจนน่าเกลียด ถ้าเรามีเครื่องอยู่เราจะไม่เผลอนาน ไหลปุ๊บก็จะรู้ๆ ในที่สุดใจก็จะมีพลัง ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา

คราวนี้พอใจมันไหลปุ๊บก็จะเห็นจิตมันไหล ทันทีที่เห็นจิตไหลจิตผู้รู้ก็ตั้งขึ้นมาอีก นี่เห็นเดี๋ยวหลง-เดี๋ยวรู้ เห็นสภาวะที่เป็นคู่แล้ว หลงกับรู้เป็นของคู่กัน รู้ไปเรื่อยๆ ต่อไปปัญญามันจะเกิด “เออ จิตรู้มันก็ไม่เที่ยงเว้ย เดี๋ยวมันก็กลายเป็นจิตหลงจิตไหล จิตไหลมันก็ห้ามไม่ได้ มันจะไหลมันก็ไหลของมันเองเป็นอนัตตา”

การเดินปัญญาไม่ใช่การคิดต้องมีสภาวะรองรับ เช่นเราเห็นจิตมันเคลื่อนไป เห็นจิตมันเด่นดวงขึ้นมา เคลื่อนไปตรงที่เคลื่อนไปพอเรารู้ทันว่ามันเคลื่อนตัวที่เคลื่อนจะดับ เกิดจิตใหม่เป็นผู้รู้ขึ้นมาใหม่คนละตัวกัน จิตไม่ได้มีตัวเดียว ไม่ได้มีดวงเดียว ไม่ใช่ตัวนี้ไหลไปแล้ว พอรู้ว่าไหลแล้วดึงคืน อย่างนี้ไม่ถูกแล้ว จิตนั้นเกิดดับตลอดเวลา ฉะนั้นไหลแล้วรู้ๆ แค่นี้ก็เดินปัญญาได้แล้ว

หลวงพ่อตอนเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ ช่วงหลังๆ ดูอยู่แค่นี้เอง จิตไหลแล้วรู้ ไหลแล้วก็รู้มันครอบคลุมกรรมฐานทั้งหมดอยู่แล้ว ถ้าตรงนี้ไม่เห็น อย่างเราขี้โกรธเราเห็นเดี๋ยวก็โกรธเดี๋ยวก็หายเดี๋ยวก็โกรธเดี๋ยวก็หาย ก็เป็นธรรมะที่เป็นคู่กันมีโกรธกับไม่โกรธสลับกันไป โกรธก็ไม่เที่ยงไม่โกรธก็ไม่เที่ยง โกรธก็ห้ามไม่ได้ไม่โกรธก็รักษาไม่ได้ เห็นไตรลักษณ์นี่คือตัวปัญญา หรือเห็นร่างกายที่ยืน ที่เดิน ที่นั่ง ที่นอนอยู่ ร่างกายเต็มไปด้วยความทุกข์บีบคั้นอยู่ นั่งนานๆ ก็ปวด นอนนานๆ ก็เมื่อยทนไม่ไหวก็ต้องขยับไปขยับมาหนีความทุกข์ ทำไมร่างกายต้องเคลื่อนไหว ไม่คงที่เพราะว่ามันถูกความทุกข์บีบคั้น เราเห็นความจริง กายนี้ไม่ใช่ของดี กายนี้คือตัวทุกข์ หรือบางทีก็เห็นร่างกายไม่ใช่เราหรอกเป็นวัตถุ มีธาตุไหลเข้าแล้วก็มีธาตุไหลออก ดูอย่างนี้ก็ได้แล้วแต่จิตมันจะเห็น

ขอให้มีสติระลึกรู้รูปธรรม นามธรรมด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลางเท่านั้น เดี๋ยวปัญญามันเกิดเอง พอสติระลึกรู้กายมันก็เห็นไตรลักษณ์ของกายและจิตที่เป็นคนรู้กาย พอมันเห็นความรู้สึกสุขทุกข์ดีชั่วเกิดขึ้นจิตเป็นคนรู้ มันก็จะเห็นว่าทั้งสุขทุกข์ดีชั่วทั้งจิต ล้วนแต่ไม่เที่ยง ล้วนแต่บังคับไม่ได้ ก็เห็นทางเดียวกับดูกาย ก็คือเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั่นล่ะ ฉะนั้นตรงนี้คือตัวปัญญา จิตมันเห็นของมันเอง ไม่ต้องทุรนทุรายไหนมานั่งไม่กระดิกแล้ว จะดูทุกข์ซิ โอย ทุกข์มากเลย ร่างกายนี้เต็มไปด้วยความทุกข์อะไรแบบนี้ แต่พอขยับก็หายแล้ว อย่างนี้จิตไม่เชื่อ จิตไม่เชื่อยกเว้นแต่ใจแข็งจริงๆ

ครูบาอาจารย์หลายองค์ท่านใจแข็งจริงๆ เวลากายทุกข์ท่านให้มันทุกข์เลย กี่ชั่วโมงท่านก็จะดูมันอย่างนั้นไม่กระดุกระดิก ท่านบอกว่ามันทุกข์เหมือนภูเขาลงทับบดขยี้ลงในกายนี้ มันทุกข์จริงๆ สุดขีดของท่าน จิตก็สลัดโลกธาตุทิ้งไปเลย พ้นโลกไปเลยเข้าถึงธรรมแท้ ถึงจิตแท้ธรรมแท้ไปเลย บางท่านก็ดูจิต สุดท้ายจิตรวมตัวลงมาที่ตัวผู้รู้ ก็เห็นมันเป็นตัวทุกข์ ทุกข์หนักหนาสาหัสเหมือนภูเขาลงมาขยี้เหมือนกันเลย ไม่ได้แตกต่างกันที่ดูกาย บางองค์ท่านเห็นอย่างนี้ บางองค์ก็ดูง่ายๆ เห็นมันไม่ใช่เรา แล้วท่านก็วางมันไปเลยแล้วแต่จริตนิสัย

ถ้าพวกทรงฌานจะเห็นมันประกอบด้วยทุกข์ถึงจะผ่านได้ เพราะเข้าฌานมันมีแต่ความสุข เพราะฉะนั้นจิตที่ทรงฌานที่มีความสุขจะไปดูให้มันทุกข์มันดูไม่ได้ ใจมันไม่ปล่อยจิตหรอก มันจะไปยอมปล่อยต่อเมื่อปัญญามันแทงตลอดลงไปว่าตัวจิตนั่นล่ะตัวทุกข์ ถ้าเห็นอย่างนี้ถึงจะยอมปล่อย แต่ถ้าเราเป็นพวกมีศรัทธามากอะไรอย่างนี้ เห็นเกิดดับไม่เที่ยงจิตก็ไม่เที่ยงกายก็ไม่เที่ยงอะไรแบบนี้ เห็นเที่ยงไม่เที่ยงก็ยอมวางแล้ว ยอมง่ายพวกนี้ยอมง่ายพวกปัญญาเยอะ เห็นนั่นก็ไม่ใช่เรานี่ก็ไม่ใช่เราแล้วก็ยอมวาง แต่พวกสมาธิเห็นทุกข์แสนสาหัสถึงจะยอมวาง

ค่อยๆ ฝึกไป ธรรมะของจริงไม่มีวันล้าสมัยไม่ต้องเปลี่ยน อย่างวิชาแพทย์นี่เปลี่ยนอยู่เรื่อยเดี๋ยวต้องทำอย่างนี้ เดี๋ยวให้ทำอย่างนี้ เดี๋ยวให้กลับมาทำอีกแล้ว แค่กินไข่ยังกลับไปกลับมาเลยยุคหนึ่งให้กินไข่ ยุคหนึ่งไม่ให้กินไข่ ยุคนี้ให้กินไข่อีกแล้ว นี่ขนาดวิชาทางแพทย์ยังแกว่งไปแกว่งมาเลย ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่มีแกว่ง อย่างไรก็อย่างนั้นกี่พันปีมาแล้วก็ทรงคุณค่าอยู่อย่างนี้ไม่มีทางเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นเราไม่ต้องซ่าคิดธรรมะใหม่ๆ ขึ้นมาหรอก ที่ท่านสอนทำให้ได้ก็แล้วกัน แค่นั้นก็พ้นทุกข์แล้ว มัวแต่ซ่าคิดวิธีใหม่ๆ ขึ้นมาไม่เห็นจะรอดสักราย มีแต่กิเลสยิ่งหนักกว่าเก่า กูเก่งๆ อย่างนั้น

 

 

คำถาม 1: หลวงพ่อให้การบ้าน คือให้หนูกลับไปบริกรรมพุทโธ แล้วรู้ทันจิตที่ไหลไปคิด หนูปฏิบัติในรูปแบบเช้าเย็นตามที่หลวงพ่อสอน พอพุทโธไปจะเห็นจิตไหลไปคิดตลอด สลับกับเห็นจิตที่มีโทสะ แต่สังเกตช่วงก่อนหน้านี้จะสามารถรู้ทันโมหะและโทสะได้ดีกว่านี้ ช่วงนี้รู้สึกจิตไม่ตั้งมั่น อยากขอเมตตาหลวงพ่อช่วยชี้แนะการปฏิบัติด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

หลวงพ่อ: สมาธิมันไม่พอแล้วต้องทำกรรมฐานเพิ่มสมาธิหน่อย รู้สึกลงในร่างกายเลย ไม่ต้องไปนั่งทำสมาธิด้วยจิตหรอก เพราะจิตของเราหมดพลังไปแล้ว เอามาลงมาที่กายอย่างนี้ กายยืนอยู่รู้สึก กายพยักหน้ารู้สึก รู้สึกถึงกายที่เคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันจะได้กำลังขึ้นมาแล้วกลับไปดูจิตดูใจได้ชัดขึ้นมาอีก หลวงปู่มั่นถึงบอกดูกายเพื่อให้เห็นจิต ฉะนั้นกลับไปดูกายเพิ่มขึ้นสมาธิจะได้เพิ่ม ตอนนี้สมาธิไม่พอ

คำถาม 2: ส่งการบ้าน 2 ปีก่อนหลวงพ่อให้หายใจแล้วรู้สึก เพราะจิตติดความสุขไม่เข้าฐาน ช่วงนี้เห็นทุกขเวทนาในกายเยอะมาก เห็นภาระของร่างกาย เวลาจิตมีแรงจะเห็นเวทนาเกิดดับอยู่ในกาย เห็นจิตเดี๋ยวฟุ้งเดี๋ยวซึมเปลี่ยนแปลงได้เอง ขอคำแนะนำด้วยค่ะ

หลวงพ่อ: ภาวนาดีขึ้นเยอะแล้ว ที่เห็นนั่นเห็นถูกแล้ว รู้ลงในกายนั่นล่ะไม่เห็นมีอะไรเลย มีแต่ทุกข์ แต่ถ้าดูกายแล้วทุกข์จนทนไม่ไหว กลับมาหายใจเข้าพุท-หายใจออกโธไว้ แต่ถ้าดูกายแล้วจิตสงบได้ก็ใช้ดูกายทำสมถะไปเลย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ถ้าทำแล้วจิตยังไม่มีเรี่ยวมีแรงก็หายใจเข้าพุท-หายใจออกโธ ดูร่างกายหายใจไป เอากายมาช่วยหน่อย ดูจิตอย่างเดียวรวดไปนี่กำลังไม่พอ

อาการที่คุณเป็น หลวงพ่อเคยเป็นแล้วหลวงตามหาบัวท่านแก้ให้ เราดูจิตไปเรื่อยแล้วเราว่าเราเดินปัญญาอยู่ สุดท้ายมันไม่พัฒนา มันเหมือนมันไม่มีกำลัง มันมีแต่ความสุขสบายว่างๆ ไป หลวงตาท่านบอกว่ามันดูไม่ถึงจิตแล้ว ต้องเชื่อเรานะ เราผ่านมาได้ด้วยตัวเราเอง อะไรๆ ก็สู้บริกรรมไม่ได้ ฉะนั้นเราไปหายใจเข้าพุท หายใจออกโธสักช่วงหนึ่ง ให้จิตมีกำลังก่อน จิตมีกำลังแล้วก็กลับมาดูกายกลับมาดูจิตได้ ไม่อย่างนั้นไม่มีกำลังพอ สมาธิของฆราวาสมันน้อย วันหนึ่งๆ ยุ่งกับเรื่องอื่นซะเยอะ ฉะนั้นเพิ่มสมถะขึ้น

คำถาม 3: ขอถวายการปฏิบัติบูชาแด่หลวงพ่อค่ะ รายงานการปฏิบัติในรูปแบบทุกวัน 40 นาทีอย่างน้อย ระหว่างวันใช้การสวดมนต์ในใจเป็นฐาน ขอหลวงพ่อเมตตาให้การบ้านค่ะ สาธุ

หลวงพ่อ: เวลาสวดมนต์แล้วใจมันหนีไปคิดแล้วรู้ไหม ถ้าอย่างนี้ก็ใช้ได้ คือเราใช้จิตของเราเป็นวิหารธรรม จิตหนีไปเราก็รู้ จิตตั้งมั่นอยู่เราก็รู้ อย่างตอนนี้จิตหนีไปคิดแล้วรู้ไหม ถ้ารู้ก็ใช้ได้ แต่ช่วงไหนดูจิตไม่ชัดก็มาดูกาย อย่าไปรังเกียจร่างกาย ร่างกายมันดูง่ายมันไม่เคยหนีไปไหน แต่จิตหนีเก่ง ฉะนั้นดูจิตบางทีจิตมันหนีไปแล้วหามันไม่เจอแล้ว หาไม่เจอก็ไม่ต้องไปหามัน มารู้สึกร่างกายไว้ประเดี๋ยวหนึ่งก็มีแรง มีแรงก็ดูจิตได้ต่อ

ที่ฝึกอยู่ใช้ได้ แต่จิตนี้มันกระจายกว้างออกไปนิดหนึ่ง ขณะนี้รู้สึกไหม มันกว้างๆ ออกไป ฉะนั้นสมาธิมันยังไม่ทรงตัวเข้ามา ก็ให้รู้ทันแล้วทำสมถะของเราไปพอใจตั้งมั่นแล้วก็เดินปัญญาต่อ มันจะเห็นว่าความรู้สึกทุกอย่างเกิดแล้วดับจิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ ดูอย่างนี้ก็ได้

คำถาม 4: ภาวนาด้วยการเจริญสติรู้กายเคลื่อนไหว รู้ใจ เพิ่มกำลังสติแก้อาการจิตแช่ง่วง การภาวนาแบบนี้ถูกต้องเหมาะสมแล้วหรือยัง มีอะไรควรเพิ่มเติมในการภาวนา

หลวงพ่อ: ภาวนาของเราต่อไป ที่ทำอยู่ถูกต้องแล้ว แล้วเวลาจิตมันเกร็งขึ้นมาเราก็รู้ มันเกร็ง อย่างขณะนี้มันไม่เป็นธรรมชาติแล้ว เราก็รู้มันตื่นเต้นแล้วก็เลยไปบังคับตัวเองไว้ จิตหนีไปคิดเราก็รู้จิตเป็นอย่างไรเราก็รู้ไป ดี จิตมีพลังขึ้นเยอะแล้ว หนูใช้กรรมฐานอะไรจิตถึงมีแรงขึ้นมา ใช้ได้ รู้สึกไปเรื่อยๆ เอ้า ต่อไป

คำถาม 5: กราบหลวงพ่อครับ ส่งการบ้านในรอบเกือบ 1 ปีครับ ปฏิบัติในรูปแบบตลอดครับ รู้สึกว่าจะถนัดดูร่างกายที่เคลื่อนไหวมากกว่าดูจิต ขอหลวงพ่อเมตตาแนะนำการปฏิบัติเพื่อให้เจริญยิ่งขึ้นไปครับ

หลวงพ่อ: ทำถูกแล้ว ดูกายไปเรื่อยๆ แล้วจิตมันเป็นคนดู เดี๋ยวมันก็รู้จิตเอง ที่เราฝึกอยู่นี่ใช้ได้แล้ว จิตมันมีพลังขึ้นมาแล้วรู้สึกไหม จิตใจที่มันมีพลังมันจะรู้ตื่นเบิกบานโดยเราไม่ต้องบังคับ ถ้าเราไปบังคับมันเมื่อไหร่มันเครียด ใจมันจะหนัก แน่น แข็ง ซึมทื่อไป ไม่ดี ที่ฝึกอยู่นั่นใช้ได้ดีแล้ว ทำให้มากทำสม่ำเสมอ ไปตัดตัวนี้ออก ตัวโลภอยากได้ผลเร็วๆ ตัวนี้ยังขวางเราอยู่ดูออกไหม ระวังตัวนี้ไว้ มันภาวนาแล้วมันอยากได้ผลเร็วๆ รู้ไป

คำถาม 6: รู้สึกตัวเองไม่คืบหน้าในการภาวนา คล้ายเข้าใจบนความคิด ขอการบ้านที่เหมาะกับตัวเองโดยเฉพาะครับ

หลวงพ่อ: รู้ร่างกายไป ดูมันทีละส่วนเลย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก แต่ละส่วนๆ ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเราคิดพิจารณาเข้าไปเลย ใจมันชอบคิดก็พามันคิดเลยแต่คิดอยู่ในเรื่องของอนุสตินี่ล่ะ ลองทำดูนะแล้วมาส่งการบ้าน

จิตมันมีพลังขึ้นมามากพอสมควรแล้ว มันดีกว่าแต่ก่อนเยอะแล้ว ทีนี้เรามันไม่ยอมเดินปัญญา เวลาจะเดินปัญญามันฟุ้งซ่านแทนทุกทีไป เราก็มาช่วยมันนะพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนังของเราไปเรื่อยๆ ผมมีรูปร่างอย่างนี้ มีสีอย่างนี้ มีกลิ่นอย่างนี้ ไม่เที่ยงอย่างนี้ บังคับไม่ได้อย่างนี้ค่อยๆ ดูเป็นส่วนๆ ไป ขนรูปร่างเป็นอย่างนี้ มีสีอย่างนี้ มีกลิ่นอย่างนี้ บังคับไม่ได้อย่างนี้ไม่เที่ยง หลุดร่วงไปอะไรอย่างนี้ ค่อยๆ ดูแต่ละส่วน แต่ละส่วนไป ดูพิจารณาอยู่ในกายนี่ล่ะจะได้ดีกว่านี้อีก ดี

คำถาม 7: เห็นดับมากขึ้น เห็นมุมมองของอนัตตามากขึ้น อะไรคือเหตุให้พละ 5 เข้มแข็ง และสมดุลมากยิ่งขึ้นครับ

หลวงพ่อ: ตัวที่ทำให้สมดุลคือตัวสติของเรา ทำให้พละสมดุล ที่เหลือก็อยู่ที่การฝึกของเราแล้ว นานๆ ฝึกทีมันก็ไม่เข้มแข็งหรอก พยายามมีสติอยู่กับปัจจุบันเรียนรู้กายรู้ใจของเราไปเรื่อย ยิ่งรู้ความจริงมากเท่าไหร่ศรัทธาเราก็ยิ่งแน่นแฟ้น ยิ่งเห็นความจริงวิริยะเราก็ยิ่งขยัน ทำไปแล้วไม่เห็นผลสักทีขี้เกียจ

ฉะนั้นมีสติเป็นตัวสำคัญ เป็นตัวที่ทำให้พละ 5 สมดุลกันอยู่ที่ตัวสตินี้ แล้วบางทีภาวนาไปแล้วใจมันฟุ้งซ่าน ดูอะไรไม่รู้เรื่อง กลับมาทำสมาธิ ทำสมาธิแล้วจิตมันสงบนิ่งเฉยอยู่ไม่ดี ออกมาเจริญปัญญาพาจิตมันคิดพิจารณาลงในร่างกายไปเลย แล้วศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญามันจะค่อยๆ แก่กล้าขึ้น ยิ่งพอเราภาวนาเห็นผลแล้ว ใครจะมาให้เราบอกว่าพระพุทธเจ้าสอนผิด เราพูดไม่ได้เลยใจเราไม่เชื่อ เพราะศรัทธาของเราแน่นแฟ้นแล้วพระพุทธเจ้าสอนถูก แล้วศรัทธาแน่นแฟ้นขึ้นมาก็เพราะปัญญามันสมบูรณ์ขึ้นมาแล้ว

ฉะนั้นพละ 5 อินทรีย์ 5 นี่มันเกี่ยวโยงกันช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แต่ว่าทำอะไรก็ต้องมีสติ ถ้าไม่มีสติบางทีสมาธิล้ำไป หรือความเพียรมากไปสมาธิก็ตกอย่างนี้ ศรัทธามากไปปัญญาก็ตก มันเป็นคู่ๆ ของมัน ตัวที่จะทำให้สมดุลนี่มีสติไป เจริญสติเจริญปัญญาไปเรื่อย เห็นความจริงมากเท่าไหร่ศรัทธาก็มากเท่านั้น ยิ่งเห็นความจริงความเพียรก็มากเท่านั้น ภาวนาแล้วไม่เห็นผลไม่เห็นความจริงสักที มันก็ขี้เกียจ วิริยะมันก็ไม่มี ฉะนั้นเราเพิ่มพละ 5 ด้วยการปฏิบัติเอา

คำถาม 8: การปฏิบัติในรูปแบบใช้การเดินจงกรมอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง และสวดมนต์ไหว้พระตามสะดวก เครื่องอยู่เวลาฟุ้งหนักคือพุทโธ ในแต่ละวันดูสภาวะโดยการไหลแล้วรู้ค่ะ อยากกราบเรียนถามหลวงพ่อว่าที่ปฏิบัติมาถูกต้องไหมคะ

หลวงพ่อ: ถูก แต่ต้องทำอีก ทำไปเรื่อยๆ อย่าอยากอยากได้ผลเร็วๆ มันจะยิ่งช้า ทำไปสบายๆ การปฏิบัติทั้งหลายทำเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าเท่านั้นไม่ได้ทำเพื่อเอาอะไร ตั้งใจไว้อย่างนี้ ใจเรายังโลภอยู่ ฉะนั้นเราค่อยๆ สังเกตไปอย่าทำด้วยความโลภ ทำด้วยความเสียสละนี่ยอมเดินเหน็ดเหนื่อยทีละชั่วโมงอะไรอย่างนี้ถือว่าเป็นพุทธบูชา บูชาคุณพระพุทธเจ้า วางใจอะไรให้มันออกนอกตัวเอง ไม่ใช่ส่งจิตออกนอก หมายถึงไม่ได้ทำอะไรเพื่อสนองอัตตาตัวตน ไม่ใช่นั่งสมาธิได้เยอะกูเก่งอะไรอย่างนี้ อย่างนี้ล้มเหลวแล้ว

นั่งสมาธิก็ถือว่านั่งบูชาพระพุทธเจ้า เดินจงกรมบูชาพระพุทธเจ้าอะไรอย่างนี้ ไม่เอาผลประโยชน์เข้าตัว การภาวนามันจะราบรื่นแล้วมันจะไม่รู้สึกว่าช้า ก็เราไม่ได้หวังอะไรถ้าเราหวังมันจะช้าตลอด เพราะมันไม่ได้เร็วเท่าที่หวังหรอก ถ้าภาวนาแล้วหวังนะช้า ถ้าภาวนาแล้วไม่ได้หวังจะเร็ว

ที่พูดอย่างนี้ พูดมาจากประสบการณ์จริงเลย มีอยู่ช่วงหนึ่งหลวงพ่อจะเร่งภาวนา ตั้งแต่เป็นโยมไม่อยากกลับมาเกิดในโลกแล้ว ก็พยายามๆ ใจมันโลภไม่ได้ผลหรอก ค่อยมาภาวนาทีหลังนี่ใจมันไม่โลภแล้ว จะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่มันจะเป็นจะได้อะไรไม่ได้อะไรก็ไม่ใช่เรื่องของเรา เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไปสิ่งที่เกิดขึ้นมันก็เป็นความชุ่มฉ่ำเบิกบานจิตใจของเรา โดยที่เราไม่ต้องแสวงหา ยิ่งเราอยากได้ยิ่งทุกข์ใจยิ่งฟุ้งซ่าน

ฉะนั้นทำกรรมฐานทำไปสบายๆ บูชาพระพุทธเจ้า จะได้ผลไม่ได้ผลก็เรื่องของมัน เรื่องของจิตไม่ใช่เรื่องของเรา จิตมันไม่ใช่เรา จิตนี้มันยังโง่อยู่ก็ให้มันเรียนนานหน่อย จิตนี้มันฉลาดแล้วมันเคยเรียนมานานแล้ว มันฉลาดแล้วก็เรียนอีกไม่มาก มันก็ได้มรรคผล เราเลือกไม่ได้ว่าจะช้าหรือเร็ว อยู่ที่กรรมของเราอยู่ที่การกระทำของเรา ฉะนั้นอย่าโลภ ของคุณยังโลภอยู่

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
ณ วัดสวนสันติธรรม
22 สิงหาคม 2563