สร้าง New Normalให้เคยชินที่จะรู้สึกตัว

เวลาเราอยู่ว่างๆ มีเวลาว่าง อย่างมานั่งรอฟังเทศน์อย่างนี้ อย่านั่งเปล่าๆ เสียเวลา มันเคยตัว ให้นั่งไปหายใจไป รู้เนื้อรู้ตัวไป ดีกว่านั่งเลื่อนลอย จิตมันมีธรรมชาติที่ไหลไปตามความเคยชิน ที่ผ่านมาเราปฏิบัติยาก เพราะเราเคยชินที่จะหลง เคยชินที่จะขาดสติ เราพยายามมาสร้างความเคยชินใหม่ ทำอะไรก็คอยรู้สึกตัว

จุดที่สำคัญที่สุดของการปฏิบัติ คือความรู้สึกตัว รู้สึกตัวไม่ได้ทำกรรมฐานไม่ได้ กรรมฐานเป็นเรื่องการเรียนรู้ตัวเอง เรียนรู้กายเรียนรู้ใจ ถ้าเราลืมเนื้อลืมตัว มีกายเราก็ลืม มีใจเราก็ลืม ทำกรรมฐานไม่ได้ กรรมฐานนี้หมายถึงวิปัสสนากรรมฐาน สมถกรรมฐานก็ต้องทำด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว คนส่วนใหญ่อย่างนั่งสมาธิ นั่งแล้วก็เคลิ้มๆ ขาดสติ ขาดสติไม่มีความรู้สึกตัวไม่รู้เนื้อรู้ตัว ใช้ไม่ได้ มันเป็นมิจฉาสมาธิ น้อยคนที่จะรู้สึกตัวได้

สมัยก่อนหลวงพ่อยังบอกพรรคพวกเพื่อนฝูง บอกในโลกนี้หาคนรู้สึกตัวได้นี่หายากจริงๆ มันมีแต่คนหลง เดี๋ยวก็หลงดู หลงฟัง หลงดมกลิ่น หลงลิ้มรส หลงรู้สัมผัสทางกาย หลงคิดนึกทางใจ มันมีแต่หลง เมื่อในโลกมันมีแต่คนหลง คนที่ภาวนาจริงๆ มีน้อย เพราะฉะนั้นการที่จะภาวนาจนบรรลุมรรคผลได้นั้นยิ่งน้อยหนักเข้าไปอีก แต่ถ้าเรารู้สึกตัวได้ เป็นจุดตั้งต้นเลย

หลวงพ่อเคยสอนเพื่อนไว้ตอนเป็นโยมได้จำนวน 10 คน ไปไหนก็นั่งรถตู้ไปด้วยกัน เข้าไปหา ครูอาจารย์ เข้าไปถึงวัดครูบาอาจารย์ บางทีท่านออกปากว่า ไปรวมตัวกันมาได้ขนาดนี้ได้อย่างไร พวกที่ไปไม่ใช่ว่าบรรลุมรรคผลอะไรหรอก แค่รู้สึกตัวได้ ไม่ล่องลอย แล้วก็ไม่ได้นั่งเพ่งเอาไว้เคร่งเครียด ไม่ทำ 2 อย่าง อันหนึ่งหลงไป อันหนึ่งเพ่งไว้ เผลอกับเพ่งเป็นศัตรูสำคัญ

ถ้าเรารู้เนื้อรู้ตัวอยู่ หายใจอยู่รู้สึกอยู่ ยืนเดินนั่งนอนอยู่รู้สึกอยู่ เคลื่อนไหวหยุดนิ่งรู้สึกอยู่ นี่คอยรู้สึกเรื่อยๆ ให้มันเคยชินที่จะรู้สึก ไม่ใช่เคยชินที่จะหลง นี่พอเราเคยชินที่จะรู้สึกตัวแล้วจิตมันมีธรรมชาติไหลไปตามความเคยชิน เราเคยชินที่จะรู้สึกตัว มันจะสามารถรู้สึกตัวได้โดยไม่เจตนา รู้สึกตัวได้เอง อย่างหลวงพ่อตั้งแต่เป็นโยม พยายามฝึกตัวเอง หลงแล้วรู้ หลงแล้วรู้เรื่อยๆ มันจะหลงไม่นาน หลังๆ ยังเคยแซวพวกพระในวัดหลวงพ่อเลยว่า ทำอย่างไรถึงจะหลง อยากหลงบ้าง ลืมไปแล้วว่าหลงเขาทำอย่างไร เพราะเราฝึกรู้สึกตัวมาตลอด จะหายใจก็รู้สึก จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอนก็รู้สึก กระทั่งนอนหลับ นอนหลับนี่จะปวดจะเมื่อยตรงไหนก็รู้สึก จะพลิกซ้ายพลิกขวาก็รู้สึก แต่มันสั่งร่างกายไม่ได้ตอนที่หลับ

อย่างมันปวดอยู่มันเห็นร่างกายมันปวด ใจไม่ได้ปวด ทีนี้พอร่างกายมันปวด ร่างกายมันขยับตัว มันพลิกไป เป็นกลไกของร่างกาย มันทำงานด้วยไขสันหลัง ไม่ได้เจตนาทำหรอก ร่างกายมันขยับไปได้เอง หรือบางทีเราหลับอยู่ เราลองสั่งให้ขยับมือ มันสั่งร่างกายไม่ได้ จิตมันรู้ตัวอยู่ แต่มันก็สั่งร่างกายไม่ได้ ฉะนั้นตอนที่นอนหลับ แต่ถามว่าเราขาดสติไหมมันก็ยังมีสติอยู่ ช่วงที่ไม่มีสติคือช่วงที่จิตลงภวังค์ จิตตกภวังค์ลงไปอยู่ในภพภูมิเดิมของจิต อยู่ในสภาพเดิมของจิต พวกเราเคยสังเกตไหมเวลาเราฝัน บางทีเราฝันในบรรยากาศที่ซ้ำๆ ใครเคยเป็นไหม ฝันแล้วเวลาฝันมันจะรู้สึกเหมือนอยู่ตรงนี้ ในสภาพที่คล้ายๆ อย่างนี้ บางคนฝันแล้วจะต้องวังเวง ไปอยู่ในที่ที่มันวังเวง ที่ มันน่ากลัวอะไรอย่างนี้ บางคนฝันก็จะฝันไปอยู่ในที่สบายๆ อะไรอย่างนี้ นี่จิตมันทำงาน ภวังค์มันเคยชินอย่างไร สะสมมาอย่างไรมันก็เป็นอย่างนั้น

สะสมมาอย่างไรมันก็เป็นอย่างนั้น

ตัวภวังค์เป็นพื้นของจิตของเรา ตอนที่เราเกิดมา เกิดมาด้วยจิตชนิดไหน ตอนที่ลงภวังค์มันก็เป็นอย่างนั้น เราเลือกไม่ได้หรอก แต่ไม่ใช่ว่าจะต้องตายด้วยจิตแบบเดิม บางคนเรียนปริยัติบอกว่าจิต 3 อันนี่เหมือนกัน ปฏิสนธิจิตที่จิตเกิด ภวังคจิต จิตที่ลงอยู่ในภพของจิตในภวังค์ และก็ตอนตายจุติจิต ภพ 3 อันนี่คือเหมือนกัน ถ้าเรียนตื้นๆ อย่างนี้มนุษย์จะไม่มีพัฒนาการ เพราะตอนเกิดกับตอนตายนี่มันจะเหมือนกัน

ที่จริงมันเหมือนกันอย่างนี้ คือตายในชาติก่อนจิตอย่างไร เกิดในชาตินี้จิตก็อย่างนั้น ภวังคจิตเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น แล้วพอเรามามีชีวิตอยู่ในปัจจุบันเรามาสร้างคุณความดีหรือสร้างความชั่ว สะสมของเราไป ตอนจิตดวงสุดท้ายในชีวิตนี้ มันก็เป็นไปตามกรรมที่เราสะสมมา ไม่ใช่ว่าเกิดอย่างไรแล้วต้องตายดวงนั้น ต้องบอกว่าตายอย่างไรก็เกิดดวงนั้นต้องอย่างนี้ แต่ถ้าเราภาวนาจนถึงจุดที่จิตมันไม่ตาย มันก็ไม่มีจิตที่เกิด เพราะฉะนั้นเราภาวนาไปเรื่อยๆ แล้วถึงจุดหนึ่งมันจะเป็นอย่างนั้นได้

เวลานิพพานนี่มันไม่ได้มีจิตที่ตาย มันก็ไม่มีจิตที่เกิด ฟังดูเหมือนยาก แต่การลงมือปฏิบัติจริงไม่ได้ยากอะไร จิตของเราในขณะนี้เป็นอย่างไรคอยรู้สึกไปเรื่อยๆ หัดรู้สึก หัดที่จะรู้สึก ไม่ใช่หัดที่จะหลง มาฝึกความเคยชินใหม่ที่จะรู้สึก จิตใจเรามีความสุขก็รู้ จิตใจเรามีความทุกข์ก็รู้ จิตใจจะดีก็รู้ จิตใจจะโลภ จะโกรธ จะหลงอะไรอย่างนี้ก็รู้ อย่างเวลาอยากฟังเทศน์ อยากมาวัด เห็นเขาเปิดจองลงทะเบียนก็ลงบ้าง ตอนนั้นจิตเป็นกุศล อยากมาฟังธรรม พอถึงเวลาจะมาวัดจริง มันขี้เกียจตื่น นี่อกุศลมันเกิดแล้ว

ถ้าเราเคยฝึกของเราดี จิตเราเป็นกุศลเราก็รู้ จิตมันขี้เกียจขี้คร้านขึ้นมาเราก็รู้ หัดรู้มันไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันจะเห็นว่าความรู้สึกทุกชนิดมันไม่ใช่จิต จิตเป็นคนรู้สึก แต่ความรู้สึกไม่ใช่จิต คนละอันกัน เพราะฉะนั้นเราฝึกมากๆ เราก็จะเห็นว่าจิตก็อันหนึ่งความรู้สึกก็อันหนึ่ง จิตเป็นแค่คนรู้ ส่วนความรู้สึกนั้นมันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป จิตทำหน้าที่ธรรมชาติรู้เท่านั้นเอง

 

กรรมฐานไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไร

เราค่อยๆ ฝึกตัวเอง จิตเราเป็นแค่คนดู มีอะไรให้ดูก็ดูอันนั้น สิ่งที่ถูกดูถูกรู้นั้นเรียกว่าอารมณ์ เพราะอย่างนั้นจิตกับอารมณ์นี่เป็นของคู่กัน มีจิตต้องมีอารมณ์ มีอารมณ์ต้องมีจิต อารมณ์มีหลายอย่าง อย่างบางทีใจมันคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้มันฝันเรื่องโน้นเรื่องนี้ ความคิดความฝันเป็นอารมณ์อย่างหนึ่ง เรียกอารมณ์บัญญัติ ไม่ได้มีสภาวธรรมรองรับ ใครเป็นคนรู้ จิตก็เป็นคนรู้ อารมณ์รูปธรรมก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้ อย่างร่างกายเรานั่งอยู่ รู้สึกไหมร่างกายเรานั่งอยู่ ตอนนี้รู้สึกไหม ยากไหมที่จะรู้ว่าตอนนี้นั่งอยู่ ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย ลองส่ายหน้าสิ รู้สึกไหมร่างกายมันส่ายหน้า ยากไหมที่จะรู้สึก ไม่ยาก ฉะนั้นกรรมฐานจริงๆ ไม่ใช่เรื่องยากเลย

หลวงปู่ดูลย์ท่านถึงบอกหลวงพ่อ ประโยคแรกที่ท่านสอนหลวงพ่อเลย ไปกราบท่านไปเรียนท่านเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ปี 2525 หลายคนยังไม่เกิด บอกหลวงปู่ “ผมอยากปฏิบัติ” หลวงปู่นั่งเงียบๆ ไปนานเกือบชั่วโมง ท่านลืมตามาท่านก็บอกเลย “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” ที่ท่านนั่งหลับตาเงียบๆ ท่านสอบประวัติหลวงพ่อ

ท่านรู้ว่าหลวงพ่อไปอ่านพระไตรปิฎกมา อ่านพระไตรปิฎกหลายรอบเลย แต่จริงๆ อ่านได้ 2 ปิฎก พระวินัยปิฎกกับพระสุตตันตปิฎก อภิธรรมปิฎกอ่านไม่รู้เรื่อง อภิธรรมนี่อ่านไม่รู้เรื่อง มีอาจารย์อภิธรรมท่านหนึ่งท่านเคยพูดไว้บอก “ถ้าอยากมีปัญญาแตกฉานให้เรียนอภิธรรม อ่านอภิธรรม แต่ถ้าอยากพ้นทุกข์ อยากได้มรรคผลนิพพาน ให้เรียนพระสูตร” ท่านว่าอย่างนี้ ให้อ่านพระสูตร เพราะพระสูตรนี่คือธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนมนุษย์อย่างเราๆ นี่ล่ะ สอนจนบรรลุมรรคผลนิพพานไปเยอะแยะเลย ไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไร อย่างธรรมะที่หลวงพ่อสอนพวกเรานี่ไม่เห็นมันจะยากตรงไหนเลย

อย่างมีคนหนึ่งคัน คันก็เกา นี่มันคันเรารู้ว่าคัน อยากเการู้ว่าอยาก ลงมือเการู้ว่ากำลังเกาอยู่ คอยรู้สึกไป รู้สึกเป็นช็อตๆๆ ไป มีไหมกำลังรู้สึกคันตอนนี้ ใครรู้สึกคันบ้าง ลองนึกถึงในร่างกาย มันจะมีเยอะเลย ถ้าไม่นึกถึงบางทีไม่คัน พอนึกถึงแล้ว โอ้ย มันคันไปหมดเลย คันโน้นคันนี้ นี่พอมันรู้สึกคัน มันอยากเกา นี่รู้สึกคัน มันอยู่ที่กาย กายมันมีทุกขเวทนาเกิดขึ้น เรารู้ว่ามันมีความรู้สึกคันเกิดขึ้นในร่างกาย ความรู้สึกคันไม่ใช่กาย เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นในกาย เป็นเวทนาทางกาย เป็นทุกขเวทนา พอมีทุกขเวทนาเกิดขึ้นทางกาย อยากให้หายๆ มีความอยากเกิดขึ้น ก็เกิดการกระทำคือการเกา นี่คนส่วนใหญ่มันไม่เคยฝึกที่จะรู้เนื้อรู้ตัว เพราะคันปุ๊บเกาปั๊บ แล้วบอกว่าไม่คันเลย นั่งมาตั้งชั่วโมงแล้วไม่คันเลย ความจริงคันแล้วไม่รู้สึกบ้าง คันแล้วเกาไปเรียบร้อยแล้วบ้าง ไม่มีสติต่างหากล่ะ

ถ้ามีสติอยู่เราจะเห็นการทำงานเป็นช็อตๆ เลย อย่างร่างกายนั่งอยู่ดีๆ มันเกิดคันขึ้นมา ร่างกายมีความเปลี่ยนแปลงแล้ว มีความคันเกิดขึ้น พอมีความรู้สึกเกิดขึ้นในร่างกายมีเวทนาเกิดขึ้น ใจก็ทำงาน ใจก็เกิดตัณหา อยากเกา อยากให้หายคัน ก็อยากเกา ตอนที่เกาก็มัน ใครเคยเกาตัวเองจนหนังถลอกบ้าง มีไหม ตอนเกานี่มันไหม มันใช่ไหม ถลอกแล้วมันไหม ไม่มัน นี่ดูมันเป็นช็อตๆ ไป มันอยากเกาก็รู้ มันเกาอยู่ก็รู้ ถ้าเกาอย่างมีสติหนังไม่ถลอก เกาอย่างมีสติมันจะรู้ว่าแค่ไหน ทำได้แค่ไหนทำไม่ได้ ถ้าเกาจนหนังถลอกนี่ไม่มีสติหรอก ในวัดก็มีแมวตัวหนึ่ง มันถูกตัวอะไรกัดมัน มันคันมากเลยมันเกาจนหนังเป็นแผลเต็มไปหมดเลย นี่แค่เรื่องเกายังทำกรรมฐานได้เลย เพราะฉะนั้นกรรมฐานไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไรหรอก เรื่องง่ายๆ

ลองพยักหน้าซิ พยักหน้ารู้สึกไหม ร่างกายเคลื่อนไหว ใครเป็นคนรู้ ใจเป็นคนรู้ ไม่ต้องหาว่าใจอยู่ตรงไหน ไม่ต้องหา แค่เห็นร่างกายมันเคลื่อนไหวเท่านั้น มันมีใจเป็นคนรู้โดยอัตโนมัติแล้ว อย่าไปหาว่าใจมันอยู่ตรงไหน หาอย่างไรก็ไม่เจอ หลวงปู่ดูลย์เคยสอนหลวงพ่อว่า “อย่าใช้จิตแสวงหาจิต อีกกัปหนึ่งก็ไม่เจอ” ท่านสอนอย่างนี้ ฉะนั้นไม่ต้องไปหามัน แค่รู้ว่ามันมีอยู่

ยิ้มซิ ลองยิ้มหวานๆ อยู่ในมาสก์ก็ยิ้มได้ ลองยิ้มดู รู้สึกไหมร่างกายยิ้ม ต้องถอดมาสก์ออกมาส่องกระจกไหมถึงจะรู้ ไม่จำเป็น รู้ด้วยความรู้สึก รู้ด้วยความรู้สึกเอา รู้สึกๆๆไป ฉะนั้นเราพยายามให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว จะทำอะไรก็ทำด้วยความรู้สึกตัว อย่าทำแบบหลงลืมตัว อย่างเกาจนหนังถลอกนี้ เกาด้วยความหลงลืมตัว ตอนตื่นอยู่ต้องมีสติ แต่ตอนหลับอยู่นี่สติมันไม่ได้ทำงาน สมบูรณ์อย่างตอนตื่น บางทีร่างกายมันคัน ร่างกายมันเกา จิตห้ามมันไม่ได้ สั่งมันไม่ได้ มันเกาจนหนังถลอกได้เหมือนกัน มันคนละแบบกัน เราพยายามรู้สึกตัวๆ ให้มันเคยชินที่จะรู้สึกตัว แล้วความรู้สึกตัวจะไม่ใช่ของยากอีกต่อไป

เมื่อ 30 ปีก่อนที่หลวงพ่อพาเพื่อนๆ เข้าวัด ครูบาอาจารย์ออกปากเลยว่า พวกนี้มันไปรวมตัวมากันมาได้อย่างไรเยอะ 10 คนท่านว่าเยอะแล้ว เพราะยุคนั้นคนรู้สึกตัวไม่ค่อยมี แต่คนภาวนานี่มีเยอะ คนเข้าวัดนั่งสมาธิ เดินจงกรมนี่มีเยอะมหาศาลเลย แต่ละวัดมีเป็นร้อย บางวัดมีหลายร้อยเลยวันๆ หนึ่ง แต่คนที่ทำไปแล้วรู้สึกตัวได้นี่มีนับตัวได้เลย คนที่บรรลุมรรคผลมันถึงน้อย ส่วนคนที่ไปเป็นเทวดาเฉยๆ มีเยอะอยู่ พวกเข้าวัดทำบุญ จิตใจเป็นกุศลอะไรอย่างนี้ ตายไปแล้วก็ไปเป็นเทวดาได้ อย่างพวกเราส่วนหนึ่งก็จะไปเป็นเทวดา พวกชั่วมากๆ ความชั่วให้ผลตอนจะตาย มันเคยชินจะชั่ว มันชั่วขึ้นมา อย่างบางคนเป็นคนอาฆาต อาฆาตมากเลย พอใจคิดถึงอะไรขึ้นมาแล้วอาฆาต คุมไม่อยู่เลยอยากฆ่าอะไรแบบนี้ ตอนตายไปตายด้วยจิตดวงนั้น อย่างไรก็ตกนรกไป ไม่ดี ห้ามมันไม่ได้เพราะมันเ เคยชินที่จะโกรธ หรือบางคนเคยชินที่จะโลภ ตายไปก็ไปเป็นเปรต ห้ามมันไม่ได้

 

พัฒนาความเคยชินที่จะรู้เนื้อรู้ตัว สร้างความเคยชินใหม่

ฉะนั้นพยายามพัฒนาความเคยชินที่จะรู้เนื้อรู้ตัว สร้างความเคยชินใหม่ เขาเรียก new normal ใช่ไหม เออเราเป็น normal ของเราคือรู้ตัว หลวงพ่อทำได้ตั้งแต่เป็นโยม ทำอะไรก็รู้สึกตัวๆ ไปเรื่อย โมโหก็รู้ ไม่ใช่ไม่โมโห โกรธก็รู้ อะไรอยากมาหักคอมันแล้ว ก็รู้ว่าอยาก เลยไม่เคยไปตีใครสักทีหนึ่ง

ตอนเรียนประถม เพื่อนมันมาขโมยยางลบหลวงพ่อไป เราก็ต่อว่ามัน บอกให้เอามาคืนนะ มันแก้ปัญหาด้วยการท้าชก ดูคนละเรื่องเลย มันขโมยยางลบเราไปแล้วมาท้าเราชกอีก เราก็ตกลง กะว่าสบายอยู่แล้วไอ้นี่เล็กกว่าเรา ดูท่าทางตัวมันเล็กกว่าเรา นัดกันไปชก เรียนอยู่วัดพลับพลาชัย เราไม่ชกที่วัดพลับพลาชัย เดี๋ยวครูเห็น ไปท้าชกกันที่วัดเทพศิรินทร์ วัดเทพศิรินทร์ตอนนั้นคนไม่เยอะเหมือนยุคหลังนี่ ยุคหลังนี้มีงานศพคนเยอะแยะไปหมดเลย ไปชกกันข้างสระเต่า มีสระน้ำ มีเต่าอยู่เยอะแยะเลย น้ำเขียวอื๋อเลย พอถึงเวลาจะชกกันจริง เราชกไม่ได้ สงสารมัน กลัวมันเจ็บ มันก็ชกเรา เราก็หลบได้บ้าง หลบไม่ได้บ้าง แล้วเสร็จแล้วมันก็หายโมโห มันก็เอายางลบมาคืน พอเราจะชกมันจริงๆ ทำไม่ลง สงสารกลัวมันเจ็บ ทุกวันนี้ไม่รู้มันไปไหนแล้ว แต่หลวงพ่อก็มีความสุขอยู่แล้วตอนนี้ ไปชกกับเขาตอนนั้นนิสัยคงเคยชิน ไม่พอใจใครก็ไล่ชกไปเรื่อยๆ คงจะมีประวัติอยู่บางขวาง มีอะไรอย่างนั้นเป็นเกียรติประวัติ

สร้างความเคยชินใหม่ เคยชินที่จะรู้สึกตัว ทำอะไรก็รู้สึกๆ อย่างหลวงพ่อไม่ค่อยทำข้าวของแตก มันทำอะไรมันก็รู้สึกอยู่ แต่ตอนแก่นี่บางทีมือมัน control ได้ไม่สมบูรณ์เหมือนแต่ก่อน บางทีมือมันหลุดมือมีเหมือนกันนานๆ ทีหนึ่ง หกล้มก็เคยหกล้ม เดินปกติไม่หกล้มหรอก มีวันหนึ่งเดินมาที่ศาลานี่ มาทางถนนนี่ล่ะ หมาในวัดมันคึกมันวิ่งชนหลวงพ่อ แล้วมันวิ่งชนเก่งมันวิ่งชนตรงข้อพับทั้ง 2 ข้างเลย เท้าเราหลุดจากพื้นลอยกลางอากาศ หลวงพ่อรู้สึกตัวทุกช็อต พอตัวลอยขึ้นมานี่หลวงพ่อรวบ รวบผ้าสบงก่อน ไหนๆ จะหกล้มแล้วต้องไม่โป๊ ดูมารยาทงามขนาดนั้น ทั้งๆ ที่อยู่กับพวกพระด้วยกันถึงโป๊เขาก็เฉยๆ นี่เรารวบ แล้วก็ลงพื้น ม้วนแบบยูโด เคยหัด ก็ไม่เป็นไร ไม่มีอันตรายอะไร แล้วสติมันทำงานเร็ว

มีอยู่คราวหนึ่ง ขับรถพาคุณแม่ไป ตอนนั้นยังไม่ได้บวช เดี๋ยวจะว่าพระขับรถพายายชีไปเที่ยว ตอนนั้นยังไม่ได้บวช ขับรถพาคุณแม่ไปดูนกปากห่าง ขับรถไป ถนนบ้านนอกไม่ค่อยมีรถ มันวิ่งสบาย ไปเจอสะพานบ้านนอก สะพานหัวตัดแบนๆ ใครเคยเห็นไหม สะพานกรุงเทพมันจะโค้งตลอดใช่ไหม นี่สะพานขึ้นไปถึงปุ๊บข้างบนนี่ตรงๆ แบนๆ รถนี่วิ่งมาเต็มที่ รถลอย 4 ล้อเลย รถลอยอยู่กลางอากาศเลย หัวนี้ขึ้นไปชนหลังคารถ ขึ้นไปชนเพดาน มองลงไปข้างหน้านี่พ้นสะพานไปไม่ไกลเป็นโค้งหักศอก สติมันทำงานอัตโนมัติหมดเลย หลวงพ่อเหยียบเบรกเต็มเหนี่ยวเลยกลางอากาศ ลดเกียร์ลงเกียร์หนึ่งเลย ในชั่ววูบนั้นทำได้ พอรถกระแทกพื้น ไม่เบรกแล้วปล่อย ปล่อยรถมันก็ครืดไปดังลั่นเลย เพราะรถมันโดนเกียร์ถ่วง พอใกล้ๆ ถึงทางเลี้ยวแล้วก็แตะเบรก ค่อยๆ เลี้ยวได้ สติที่เราฝึกไว้ดีแล้ว อุบัติเหตุเกิดขึ้นยังพอช่วยตัวเองได้

เหมือนหลวงตามหาบัวท่านก็เคยเล่า รถมันคว่ำ ท่านบอกรถมันพลิก ท่าไหนนี่ท่านรู้หมดเลย ตอนนั้นหลวงพ่อยังเป็นโยมอยู่ เราก็นึกมันเป็นไปได้เหรอ จนตัวเองมีปัญหาเรื่องรถนี่ ก็เลยเข้าใจท่าน ก่อนหน้านั้นเคยฟังหลวงพ่อพุธ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาละวัน เป็นครูบาอาจารย์อีกองค์หนึ่งของหลวงพ่อ ท่านชอบสอนว่าให้ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิดให้มีสติ ท่านสอนอย่างนี้เรื่อยๆ เจอทีไร ก็พูดแต่ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด สอนอยู่แค่นี้เป็นส่วนใหญ่ ท่านเคยเล่าให้ฟังว่าท่านนั่งรถไปแล้วรถมัน นั่งรถตู้รถมันตกเหวไถลลงไป คนก็ร้องวี้ดว้ายให้หลวงพ่อช่วย ไปกับหลวงพ่อหลายคนนะทั้งรถน่ะ ท่านบอกว่ารถมันพุ่งลงไป ท่านเห็นต้นไม้ขวางหน้าอยู่ ท่านบอกพอรถจะชนต้นไม้ จิตท่านมันมีสมาธิอยู่ รถมันหลบต้นไม้ รถมันโยกหลบต้นไม้ไป พอหลบไป วิ่งไปอีกนิดหนึ่ง ไปเจออีกต้นหนึ่งแล้วมันก็ หลบไปหลบมาอย่างนี้ ท่านบอกต้นสุดท้ายนี่ท่านหมดแรงแล้ว สติ สมาธิ ท่านหมดกำลังแล้วเลยชน มองไม่เห็น ท่านบอกอย่างนี้ ต้นสุดท้ายมองไม่เห็นรถเลยชน แต่ว่ารถมันเบาแล้วมันลงมาข้างล่างแล้ว ก็ไม่มีใครเป็นอะไร

จิตที่มันฝึกไว้ดีแล้ว สติมันทำงานอัตโนมัติ เคยชินที่จะมีสติ เพราะอย่างนั้นเวลาเกิดอะไรขึ้น จะไม่ตกอกตกใจร้องวี้ดว้ายกระตู้วู้ ขับรถบนมอเตอร์เวย์เกิดอุบัติเหตุอะไรจำไม่ได้แล้วรถมันหมุน จิตมันถอนตัวออกมาเป็นคนดู มีสติไม่ตกใจ เห็นรถมันหมุนๆๆ ไป แล้วมันก็หยุด มันไม่ทันจะชนกับใคร เขาบอกเขาเห็นผลของการภาวนาเลย การที่เจริญสติคอยรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ พอเกิดฉุกเฉินขึ้นมาสติมันทำงานอัตโนมัติ มันเคยชินที่จะมีสติขึ้นมา มันก็มีสติในยามฉุกเฉิน พอมีสติแล้วสมาธิก็เกิด ใจมันก็ตั้งมั่น มีสมาธิเกิดปัญญาก็เกิด รู้ว่าตอนนี้ควรจะทำอย่างไร ควรจะแก้ปัญหาอย่างไร อย่างหัวกำลังจะโขก ผนังรถด้านนี้ หัวกำลังโยกไปแล้วจะโขกแล้ว ก็หลบสักหน่อยหนึ่ง แทนที่จะหัวแตกก็กระแทกเบาๆ นี่มันทำงานอย่างนี้ มันทำงานอัตโนมัติ

ฉะนั้นพวกเราพยายามฝึกไว้ มันใช้ได้ทั้งทางโลก ใช้ได้ทั้งทางธรรม ในทางธรรมถ้าไม่มีสติเราจะไม่มีศีล ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา ในทางโลกถ้าเราขาดสติ เราก็ไม่มีเครื่องป้องกันตัวเอง สติเหมือนโล่ห์ป้อง มีโคลงโบราณ อาจแกล้วกลางสนาม กลางสนามรบ แกล้วกล้า สามารถป้องกันตัวเองได้เพราะมีสติ เพราะฉะนั้นสติจำเป็นในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ อยู่กับโลกก็จำเป็น อยู่ในทางธรรมก็จำเป็น ประโยคที่ว่าสติจำเป็นทุกสถานในกาลทุกเมื่อ ครูบาอาจารย์องค์หนึ่งของหลวงพ่อคือหลวงปู่เทสก์ ท่านสอนว่าสติจำเป็นในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ หลวงพ่อเลยเห็นคุณค่าของสติมาก พยายามจะมีสติเรื่อยๆ

 

เรียนจนสติ สมาธิ ปัญญาอัตโนมัติเกิด ถึงจะคุยได้ว่าเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อ

วิธีฝึกก็คือทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้สภาวะ เช่น หลวงพ่อชอบดูจิต หลวงพ่อก็ดูจิตใจตัวเองไปเรื่อย สุขขึ้นมาก็รู้ทุกข์ขึ้นมาก็รู้ ดีขึ้นมาก็รู้ ชั่วขึ้นมาก็รู้ เรารู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ นี่บ่อยๆ ต่อไปความรู้สึกอะไรเกิดขึ้นเราก็รู้ได้โดยไม่เจตนาจะรู้ ตรงที่รู้โดยเราไม่ได้จงใจจะรู้นี่สติตัวจริงมันเกิดแล้ว แต่ถ้าเราไปนั่งเฝ้าอยู่แล้วรอดูว่าเมื่อไหร่ จะมีอะไรเกิดขึ้นในใจเรา ไปนั่งจ้อง ไม่มีอะไรเกิด มันเฉยๆ อันนั้นไม่ใช่วิธีฝึก วิธีฝึกก็คือปล่อยให้จิตมันทำงานไปแล้วเรา มีสติไป เราคอยอ่านจิตตนเองไป ที่หลวงปู่ดูลย์บอก “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” อ่านจิตใจตนเอง ตอนนี้มีความสุขก็รู้ มีความทุกข์ก็รู้ ดีก็รู้ โลภ โกรธ หลงก็รู้ รู้บ่อยๆ ไป ต่อไปพอมีความรู้สึกอะไรแปลกปลอมขึ้นมาในจิต นิดเดียวเท่านั้น สติจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ มันจะระลึกรู้ได้โดยอัตโนมัติ ไม่ได้เจตนาจะรู้เลย

ถ้าเรียนกรรมฐานกับหลวงพ่อ ถ้าอย่างเป็นพวกพระ พวกทิดอะไรอย่างนี้ จะได้ยินหลวงพ่อสอนเรื่อยๆ ว่าตราบใดที่ยังไม่สามารถมีสติอัตโนมัติ ไม่สามารถมีสมาธิอัตโนมัติ ไม่สามารถมีปัญญาอัตโนมัติ ยังเรียนไม่จบหลักสูตร ยังไม่ใช่ลูกศิษย์ตัวจริงของหลวงพ่อหรอก เรียนได้แค่ผิวเผิน ต้องเรียนจนสติอัตโนมัติเกิด สมาธิอัตโนมัติเกิด ปัญญาอัตโนมัติเกิด ถึงจะเรียกว่ามีกึ๋น คุยได้ว่าเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อ สติอัตโนมัตินี่ก็อยู่ที่การฝึกรู้สภาวะ อย่างถ้าเราจะฝึกทางนามธรรมนี่สภาวะอะไรเกิดขึ้นในจิตใจคอยรู้ไปเรื่อยๆ อย่าหลงอย่าลืมมันไป คอยรู้มันบ่อยๆ มันโมโหก็รู้ มันฟุ้งซ่านก็รู้ มันสงสัยก็รู้ มันเป็นอย่างไรก็รู้ หัดรู้บ่อยๆ พอจิตมันจำสภาวะที่ปรุงแต่งขึ้นมาได้ ต่อไปพออะไรปรุงขึ้นมา สติก็เกิดหมด เกิดอัตโนมัติ

ไม่ถนัดดูจิตก็ดูกาย หายใจออกก็รู้ หายใจเข้าก็รู้ ยืนก็รู้ เดินก็รู้ นั่งก็รู้ นอนก็รู้ ต่อไปพอร่างกายขยับ มันรู้เอง สติจะเกิดเอง สติมันเกิดจากจิตจำสภาวะได้แม่น จิตจำสภาวะได้แม่น เราหัดรู้สภาวะบ่อยๆ สภาวะของรูปธรรมอย่างนี้ ขยับเขยื้อนอย่างนี้ ค่อยรู้ไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ทำอะไรลืมเนื้อลืมตัว แคะขี้ฟันอะไร ทำเรื่อยเปื่อยไม่รู้เนื้อรู้ตัว อย่างนั้นอีกกี่ชาติสติก็ไม่เกิด

ถ้าเราเคลื่อนไหวอะไรเราคอยรู้สึก เห็นร่างกายมันทำงาน แค่เห็น อย่าไปเพ่ง เอาแล้วจะกระดุกกระดิกแล้ว อย่างนี้สติไม่เกิดหรอก มันเคร่งเครียด มันเป็นมิจฉาสติ มิจฉาสมาธิไปหมด มิจฉาสติมี ไม่ใช่ไม่มี มิจฉาสมาธิมันไม่มีสติ มันเป็นมิจฉาสมาธิ มิจฉาสติมันไปเพ่งไปจ้อง จมอยู่ในอารมณ์ต่างๆ โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว ไปเพ่งอยู่ อย่างไปเพ่งท้องอยู่อะไรอย่างนี้ ก็ได้สมาธิเหมือนกันแต่ว่าไม่มีคุณภาพ

สติที่ดีคือสติปัฏฐาน สติที่รู้กาย สติที่รู้ใจ ถึงจะเรียกว่าสัมมาสติ ถ้าสติรู้อย่างอื่นไม่เรียกว่าสัมมาสติ อันนี้หลวงพ่อไม่ได้พูดเอง พระพุทธเจ้าสอนสติปัฏฐานสูตร เวลาสอนถึงสัมมาสติท่านพูดถึงสติปัฏฐาน 4 เพราะฉะนั้นสัมมาสติคือการเจริญสติปัฏฐาน 4 รู้กาย รู้เวทนา รู้จิตของเราไป 3 อันนี้เบื้องต้น สุดท้ายจะเข้าไปรู้ธรรม

เพราะฉะนั้นเราพยายามรู้สึกกายก็ได้ เห็นกายหายใจ ใจเป็นคนดู กายยืนเดินนั่งนอน ใจเป็นคนดู กายยิ้มหวานใจเป็นคนดู กายหน้าบึ้ง ใจเป็นคนดู ดูไปอย่างนี้ ตอนหลวงพ่อเป็นโรคปากเบี้ยวนะ เป็นอัมพฤกษ์ หมอบางท่านก็บอกให้หลวงพ่อทำกายภาพ หลวงพ่อยักคิ้วสิ หลวงพ่อไม่เคยยักคิ้ว หลวงพ่อทำหน้าบึ้งสิ หลวงพ่อทำไม่เป็น ทำหน้าเด๋อมากกว่าทำหน้าบึ้ง ให้หลวงพ่อแยกเขี้ยวยิงฟันอะไรอย่างนี้ เราก็ทำไม่เป็น เราไม่เคยชินที่จะยักคิ้วหลิ่วตา ทำตาถลนตาเหลือกอะไร ฝึกยากมากเลย ฝึกลำบาก สุดท้ายก็ทำเป็น ฝึกไปหลายๆ วันเริ่มยักคิ้วได้แล้ว ต่อไปถ้ามีคิ้วจะยักให้ดู เพราะเคยชินที่จะมีจริยวัตร มีอากัปกิริยาของพระ มายักคิ้ว หลิ่วตา แลบลิ้น ปลิ้นตา มันไม่ใช่เรื่องของพระ เราเคยชินอย่างนี้มันก็เป็นอย่างนี้

เพราะฉะนั้นเราคอยรู้สึกในร่างกาย แล้วต่อไปสติจะเกิด ถ้าคอยรู้สึกถึงความรู้สึกต่างๆ ที่ผุดขึ้นมาในใจเรา รู้สึกเฉยๆ อย่าไปบังคับ ต่อไปสติก็จะเกิด สติเกิดจากจิตจำสภาวะได้ สภาวะจะเป็นรูปธรรมก็ได้ นามธรรมก็ได้ ตัวที่เกิดขึ้นก็สติตัวเดียวกันนั่นล่ะ พอมีสติแล้ว แนะนำรู้จิตได้ให้รู้จิต รู้จิตไม่ได้ถึงจะรู้กาย ถ้ารู้อะไรก็ไม่ได้ค่อยทำสมถะ ไหว้พระสวดมนต์ไป หายใจเป็นพุทธบูชาไป ทำอย่างนั้นไป ถ้าดูจิตได้ก็ดูจิตมันทำงานไป เห็นมันสุขมันทุกข์มันดีมันชั่ว ก็ดูมันไป ต่อไปทุกครั้งที่เราเห็น จิตมันทำงาน สติก็เกิดเอง ตรงที่เราเห็นจิตมันเคลื่อนไป จิตก็ตั้งมั่นเอง แล้วก็ต่อไปปัญญามันก็เกิดเอง มันก็จะเห็นเลย รูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ล้วนแต่ไม่เที่ยง รูปธรรมนามธรรมทั้งหลายล้วนแต่เป็นทุกข์ เป็นภาระ เป็นของถูกบีบคั้น รูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ห้ามไม่ได้ บังคับไม่ได้ เป็นไปตามเหตุ ไม่ใช่ตามที่เราสั่ง เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตามที่เราสั่ง

มีคำอยู่ 2 คำ คำว่าเหตุปัจจัย เหตุก็เป็นปัจจัยชนิดหนึ่ง สิ่งที่เรียกว่าเหตุจริงๆ ในทางปริยัติ มี 6 อย่าง โลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ปัจจัยหมายถึงตัวแปรตั้ง มันก็มี ทำให้เกิดตัวแปรตามมา เปลี่ยนไป มีอีก 23 อย่าง ไม่ต้องเรียนนะ เรียนของปัจจุบันที่ใจของเรานี่ล่ะ พยักหน้าซิ ยิ้มหวาน ไม่ได้บอกให้ส่ายหน้า บอกให้ยิ้มหวาน นี่แสดงว่าใจลอย ได้ยินหลวงพ่อพูดว่าส่ายหน้าหลายทีแล้ว พอบอกยิ้มหวานก็ (หลวงพ่อส่ายหน้า) อย่างนี้เคยชินที่จะส่ายหน้า พอได้ยินให้ยิ้มหวานนึกว่าให้ส่ายหน้า หรืออ่านใจตัวเอง ขณะนี้สุขหรือทุกข์อะไรอย่างนี้ แค่รู้แค่ดูไป ดูมันเคลื่อนไหว ดูมันเปลี่ยนแปลง สุดท้ายศีลก็เกิด สมาธิก็เกิด ปัญญาก็เกิด วิมุตติก็เกิด ค่อยๆ ฝึก

เอ้า เท่านี้พอ ต่อไปส่งการบ้าน

 

 

คำถาม 1: ส่งการบ้านครั้งที่สาม รายงานการปฏิบัติ เวลาทำในรูปแบบรู้สึกมีสมาธิมากขึ้น เวลาดูจิตในชีวิตประจำวัน รู้สึก เกิดสติอัตโนมัติบ่อยขึ้นกว่าเดิม รู้สึกสติที่เกิดขึ้นเป็นกลางมากขึ้น ไม่ไปดักดูสภาวะ ได้เห็นกายเคลื่อนไหวทำงานได้เอง ได้เห็นกิเลส เกิดดับ เกิดขึ้นเอง บังคับไม่ได้ สภาวะที่เห็นบ่อยๆ หลงคิด ตัวกู เทียบเขาเทียบเรา อิจฉา โลภ

สิ่งที่ผมกล่าวมาข้างต้น ผมเข้าใจถูกไหมครับ มีอะไรต้องเพิ่มหรือยังติดตรงไหนไหมครับ

หลวงพ่อ: ถูก ถูกเป็นบางอย่าง มีไม่ถูกอีกอย่างหนึ่ง อย่างร่างกายที่เคลื่อนไหว เพราะจิตมันเป็นคนสั่ง แต่ว่าจิตใจมันจะสุขจะทุกข์จะดีจะชั่วอะไรนี่ เราสั่งมันไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่ว่า สั่งไม่ได้หมด แต่ว่ามันไม่อยู่ในอำนาจบังคับเรา อย่างร่างกายนี้สั่งได้ แต่สั่งได้ชั่วคราว ถึงจุดหนึ่งบางทีก็สั่งไม่ได้ เพราะฉะนั้นอย่างถ้าเราบอกว่าร่างกายเป็นของที่สั่งไม่ได้ มันพูด jump ไปนิดหนึ่ง มันสั่งไม่ได้ในภาพสุดท้าย ภาพรวม อย่างสั่งไม่ให้แก่นี่ สั่งไม่ได้ สั่งไม่ให้เจ็บนี่ไม่ได้ สั่งไม่ให้ตายไม่ได้ แต่ถ้าสั่งให้ยืน เดิน นั่ง นอน นี่ยังสั่งได้อยู่ ค่อยๆ ดูไป ที่ภาวนามาถูกแล้วล่ะ ที่เห็นน่ะถูก ตอนนี้สติก็ว่องไวขึ้นแล้ว สมาธิก็ดีขึ้น แต่ขณะนี้จิตไม่ตั้งมั่น จิตไม่เข้าฐาน ตรงนี้ดูออกไหม ดูออกไหม ถ้าดูออกพยักหน้า เออ ถ้าดูออกก็ใช้ได้ เอ้า ข้อ 2

“โรคกลัววิตกกังวลที่ผมเป็นอยู่ เป็นเครื่องขัดขวางการภาวนาของผมไหมครับ”

หลวงพ่อ: วิตกกังวลก็รู้ว่าวิตกกังวล รู้ด้วยความเป็นกลาง ไม่ขัดขวางหรอก อย่างพวกวิตกจริต อะไรก็วิตก กังวลไปหมดเลย วิตกจริตมันเป็นพวกชอบคิด วิตกเป็นพวกตรึก แต่เราอย่างนี้เรียกวิตกกังวล ใช่ไหม วิตกกังวล มันวิตกกังวลขึ้นมา ถ้าเหตุของมันยังอยู่ ห้ามมันไม่ได้ เหมือนอย่างเราทำธุรกิจแล้ว ลูกค้าโกงเงินเราไปอย่างนี้ จะห้ามไม่ให้เราวิตกกังวล ห้ามไม่ได้หรอก แต่ว่าวิตกกังวลแล้วเรามีสติ รู้ทัน เป็นกลางกับมัน พอเป็นกลางกับมันแล้วใจมันมีสมาธิ มันจะเกิดปัญญา หาลู่ทางแก้ปัญหาได้ ฉะนั้นพยายามแยกค่อยๆ ค่อยๆ ดูค่อยๆ ค่อยๆ ฝึกไป เพราะฉะนั้นความวิตกกังวลนี่ เป็นพิษเป็นภัยกับคนที่ภาวนาไม่เป็น แต่กับคนภาวนาเป็น มันก็คือเครื่องมือในการฝึกตัวเราเองอีกอย่างหนึ่งนะ อย่าไปเกลียดมัน มันคือครูของเรา

 

คำถาม 2: 2 ปีที่แล้วเคยมาอยู่วัดวันธรรมดา หลวงพ่อบอกว่าใจลอยอยู่ 3 วัน วันก่อนกลับหลวงพ่อบอกว่าได้แล้ว คำถาม ปัจจุบันปฏิบัติเป็นอย่างไรบ้าง ต้องทำอะไรต่อ

หลวงพ่อ: ปฏิบัติเป็นอย่างไร มันก็ต้องดูด้วยตัวเอง วิญญูชนต้องรู้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่รอถามคนอื่น อย่างกี่ปีมาเจอหลวงพ่อครั้งหนึ่ง มารอถามหลวงพ่อมันใช้ไม่ได้ ยิ่งไปถามสะเปะสะปะไปยิ่งอันตรายใหญ่ อะไรอะไรก็สู้โยนิโสมนสิการไม่ได้ สังเกตตัวเองไป ทุกวันนี้อกุศลลดลงไหม กุศลเจริญขึ้นไหม สังเกตมันไป ถ้าอกุศลมันลดน้อยลงมันเกิดยากขึ้น กุศลมันเกิดได้ง่ายขึ้น เกิดได้บ่อยขึ้น มันก็เป็นการวัดว่าเรามีพัฒนาการ อย่างตอนนี้ใจหนีไปคิดหรือเปล่า ดูออกไหม ใจมันหนีไปคิดเราก็รู้ว่ามันหนีไปคิด ใจก็ยังล่องลอยเก่ง ยังฟุ้งซ่านเก่งอยู่ เพราะฉะนั้นต้องมีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ จะอยู่กับพุทโธ อยู่กับลมหายใจ หรืออยู่กับกรรมฐาน อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ แต่ต้องมีเครื่องอยู่ แล้วเวลาเรามีเครื่องอยู่นี่พอจิตเราหนีไปจากเครื่องอยู่ เราจะรู้ได้เร็วประเภทหลงปุ๊ปรู้ปั๊ปหลงปุ๊ปรู้ปั๊ปเลย สติจะถี่ยิบขึ้นมา สุดท้ายจิตมันจะตั้งมันเด่นดวงขึ้นมาได้

อย่างตอนนี้ใจลอยไปอีกหรือยัง ดูออกไหม นี่หัดดูอย่างนี้เรื่อย อยู่กับกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แต่อย่าเพ่ง ขณะนี้เพ่งอยู่มันอึดอัด มันจะแน่นๆ นิ่งๆ นี่วิธีดู เพ่งดูไม่ยากหรอก ดูหน้า ก็รู้แล้ว หน้าตาอย่างนี้ (หลวงพ่อทำหน้าให้ดู) ใจลอยหรือยัง ให้การบ้าน หาเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ แล้วรู้ทันการทำงานของจิตไป เดี๋ยวมันก็หนีไปคิด เดี๋ยวมันก็หนีไปดู เดี๋ยวมันก็หนีไปฟัง ฝึกอย่างนี้ให้มากๆ เอ้า คนต่อไป

 

คำถาม 3: ตอนนี้ปฏิบัติโดยการนั่งสมาธิ พุทโธครั้งละ 30 นาที 3 ครั้งต่อวัน แล้วฟุ้งไปคิดเรื่องอื่น จิตไม่มี จิตไม่มั่นคง ขอเมตตาหลวงพ่อช่วยชี้แนะ ทางปฏิบัติที่เหมาะสมต่อไป เนื่องจากปัจจุบันอายุ 68 ปีแล้ว ปฏิบัติมาได้ประมาณ 1 ปีแล้ว

หลวงพ่อ: อายุเท่ากันแต่หลวงพ่อปฏิบัติมา 61 ปีแล้ว ที่คุณฝึกอยู่ใช้ได้ ที่ฝึกอยู่น่ะดี ไม่ได้ไปกดมัน ไม่ได้ไปเพ่งมัน แต่รู้สึกมันไปเรื่อยๆ ฉะนั้นที่ฝึกอยู่ใช้ได้ ที่ฝึกอยู่ดี แต่เราจะอยากให้มันดีเร็วๆ มันไม่ได้อย่างใจหรอก ค่อยๆ ฝึกไป ชาตินี้ไม่เสียชาติเกิดอยู่แล้ว ค่อยๆ ภาวนาไป ของคุณภาวนา ที่หลวงพ่อบอกว่าดีเพราะว่าไม่เพ่ง ถ้าเพ่งแล้วใจมันอึดอัด อย่างนี้ใจเป็นธรรมชาติ เราก็รู้มันไป ส่วนจะเข้าใจมันเมื่อไหร่ ก็แล้วแต่จิต ไม่ใช่เรื่องของเราแล้ว เรามีหน้าที่ทำเหตุคือรู้สึกตัว แล้วเรียนรู้กายเรียนรู้ใจไป และที่เหลือเขาเป็นไปเอง อนุโมทนาด้วย

 

คำถาม 4: ตอนนี้พยายามใช้วิหารธรรมพุทโธอยู่ครับ ไม่ทราบว่าที่ปฏิบัติอยู่เป็นอย่างไรบ้างครับ ขอหลวงพ่อแนะนำการปฏิบัติเพิ่มเติมด้วยครับ

หลวงพ่อ: จิตมันก็มีกำลังขึ้นนะ เราพุทโธ พุทโธ ไปเรื่อยๆ ใจมันจะมีกำลังขึ้น สมาธิมันจะดีขึ้นเอง แล้วถัดจากนี้เราก็ดูไป อย่างร่างกายเราขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวเรากรู้ จิตใจเราเขยื้อนเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเราก็รู้ แล้วพอดูไม่รู้เรื่องแล้ว ก็กลับมาอยู่กับพุทโธของเราต่อ อยู่กับพุทโธให้เยอะๆ ดูการทำงานเป็นระยะๆ ไม่ได้ดูตลอด การเจริญปัญญานี่ไม่เจริญตลอด แต่การทำสมถะนี่ ทำยืนพื้นไว้ก่อน จิตจะได้มีกำลัง ตอนนี้จิตมีกำลังมากกว่าเก่าเยอะเลย ดีเชียวล่ะ ก็ดูกายมันทำงาน อย่างมือมันขยับ เราก็รู้ ใจมันไหลไปคิดเราก็รู้ หรือดูไปเรื่อยๆ ใช้ได้ ดี

 

คำถาม 5: มาส่งการบ้านครั้งที่สอง ยังหลงบ่อย เห็นราคะ เห็นโทสะ เห็นมานะเกิดบ่อย ขอการบ้านเพิ่มครับ

หลวงพ่อ: ก็ไปเห็นบ่อยๆ นั่นล่ะดีแล้ว ไม่ได้มีอะไรมากกว่านั้นหรอก แต่พอเราเจริญปัญญาเห็นสภาวะเกิดดับไปเรื่อยๆ จิตมันจะเริ่มหมดแรง ตรงนี้เราต้องกลับมาทำสมถะ กลับมาอยู่กับลมหายใจกลับมาอยู่กับพุทโธของเราไป ให้ใจมันแช่มชื่นเบิกบานแล้วก็ไปดูสภาวะต่อ เวลาเดินก็เดินสองขา เดินด้วยสมาธิกับปัญญา การปฏิบัติของเราก็จะราบรื่นไม่กระโดกกระเดก

อย่างตอนนี้ใจเราหนีไป เราก็รู้ว่าใจมันหนีไป รู้อย่างที่มันเป็นนะ หนีไปอีกแล้วนะรู้ไหม มันไหลไปคิด เวลามันไหลไปคิดเราก็รู้สึกเอา สังเกตไหมใจมันหนีไปคิดบ่อย ที่มันหนีไปคิดบ่อยก็เพราะว่ามันฟังหลวงพ่อพูด พอฟังแล้วมันต้องคิด ไม่ฉะนั้นมันไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้นใจไปฟังก็รู้ ใจไปคิดเราก็รู้เอา อันนี้สำหรับการปฏิบัติ ถ้าจะฟังให้รู้เรื่อง เรียกว่าเรียนเชิงปริยัติ ก็ต้องฟังไปคิดไป อันนี้ถูกแล้ว ถ้าฟังเฉยๆ แล้วไม่คิด จะฟังไม่รู้เรื่อง สังเกตไหมเราฟังต้องฟังสลับกับคิดไปเรื่อยๆ มันถึงจะรู้เรื่อง ทีนี้พอรู้เรื่องแล้วเวลาลงมือปฏิบัตินี่ไม่คิดเอา แต่รู้สึกเอา คนละส่วนกัน คนละแบบกัน เพราะฉะนั้นการเรียนปริยัตินี่ จะอ่านจะฟังอะไรก็ต้องคิด ต้องมีความคิด มันถึงจะเกิดปัญญาในภาคปริยัติ แต่ในภาคปฏิบัตินี้ให้รู้สึกเอา ร่างกายเคลื่อนไหวรู้สึกเอา จิตใจหนีไปคิดรู้สึกเอา ใช้รู้สึกเอา ไปฝึกต่อไป มาได้ดีอยู่

 

คำถาม 6: วันนี้ส่งการบ้านครั้งแรก ที่ผ่านมาฟังธรรมที่หลวงพ่อแสดงผ่าน YouTube และปฏิบัติโดยการตามดูสภาวะของกายและจิต ทันตามสภาวะอารมณ์บ้าง ไม่ทันบ้าง มีสิ่งใดที่หลวงพ่อจะแนะนำเพิ่มเติมให้หนูได้บ้างคะ

หลวงพ่อ: ควรจะเพิ่มเรื่องสมาธิขึ้น ใจมันยังฟุ้งซ่านง่ายอยู่ เพราะฉะนั้นทุกวันต้องแบ่งเวลา ไหว้พระสวดมนต์ไป หายใจไป พุทโธไปอะไรอย่างนี้ เวลาเราหายใจไปพุทโธไป หายใจเข้าพุท ออกโธ อะไรอย่างนี้ เราอย่าหวังว่าจะสุขจะสงบจะดี ถือว่าตอนนี้เป็นการบูชาพระพุทธเจ้า แทนที่จะบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน เรามาบูชาด้วยลมหายใจของเรา หายใจออก คิดถึงพระพุทธเจ้า หายใจเข้าคิดถึงพระพุทธเจ้า คอยทำอย่างนี้เรื่อยๆ ไป คิดว่าเรากำลังบูชาพระพุทธเจ้าอยู่ ส่วนจิตจะดีจิตจะเลว จิตจะสุข จิตจะสงบ เป็นเรื่องของจิต ขอให้เราได้ปฏิบัติบูชาแค่นี้พอใจแล้ว ถ้าทำอย่างนี้ไม่นาน จิตจะสงบ จิตจะมีพลัง มันไม่ได้ทำเพราะโลภ ถ้าทำเพราะอยากดีอยากสุขอยากสงบนี้ทำเพราะโลภ ไม่ยอมสงบง่ายหรอก แต่เราทำแล้วเราตั้งใจว่าเป็นพุทธบูชา มันจะสงบง่าย พอใจมันมีความสงบมีเรี่ยวมีแรง เราก็ดูสภาวะทั้งหลายเกิดดับเปลี่ยนแปลงไป สลับกันไปแบบนี้ ระหว่างสมถะกับวิปัสสนา ค่อยๆ ฝึก แล้วตอนนี้ใจมันยังฟุ้งเก่งอยู่

 

คำถาม 7: มาส่งการบ้านครั้งแรก ฟังซีดีที่บ้าน จิตติดเฉย โทสะเกิดบ่อย

หลวงพ่อ: จิตที่ติดเฉย พอมันไม่เฉยเมื่อไหร่โทสะมันจะขึ้น เพราะฉะนั้นคนที่ติดสมาธิเพ่ง ชอบเพ่งนิ่งๆ อยู่เฉยๆ พอออกจากสมาธิแล้วนิสัยมันจะร้ายกว่าคนธรรมดา กิเลสมันจะคิดดอกเบี้ย มันจะโมโหแรง เพราะตอนที่นั่งสมาธิมันสงบเงียบมันสบายไม่มีอะไรรบกวน พอใจมันถอยออกมา กระทบอะไรนิดหน่อยมันทนไม่ไหว มันเหมือนคนซึ่งอยู่แต่ในห้องปลอดเชื้อ ไม่มีเชื้อโรคเลย พอออกมาเจอเชื้อโรคนิดเดียว ป่วยหนักไปเลย เพราะฉะนั้นเราอย่าไปติดในสมาธิเฉยๆ มันไม่ได้มีประโยชน์เท่าไหร่หรอก พยายามทำสมาธิที่สบายๆ อย่าทำแบบเคร่งเครียด รู้เนื้อรู้ตัวไปสบายๆ สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง ทำกรรมฐานไปเรื่อยๆ ถือว่าเรากำลังปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า ไม่หวังผลอะไร ทีนี้พอเราภาวนาไปเรื่อยๆ ใจเรามีสมาธิที่นุ่มนวลอ่อนโยน สบาย ออกจากสมาธิมา เราก็ดูกายมันทำงาน ดูใจมันทำงานไป อย่างโทสะมันขึ้นนี่ก็ใจมันทำงาน เราก็เห็นเมื่อกี้ไม่มีโทสะ ตอนนี้มีโทสะพุ่งขึ้นมา เออ โทสะนี่เป็นของห้ามไม่ได้ โทสะนี้มาเอง โทสะนี้ไปเอง นี่เราดูอย่างนี้เรื่อยๆ มันก็ได้ปัญญา

ค่อยๆ ฝึกไป อย่าไปฝึกจิตให้มันนิ่งเฉยๆ ไม่มีประโยชน์ มีโทษเยอะ ทำให้คนเป็นคนขี้โมโห เพราะฉะนั้นปล่อยให้จิตมันทำงานไป ไหว้พระ สวดมนต์ไปเรื่อยๆ สงบก็ช่าง ฟุ้งซ่านก็ช่าง ดีก็ช่าง ไม่ดีก็ช่าง แล้วใจมันจะมีสมาธิที่ดีขึ้นมา นุ่มนวลอ่อนโยน เบา สบาย เพราะใจมันมีความสุข ความสบายแล้ว เราก็ดูกายมันทำงาน ดูใจมันทำงานไป จิตใจไม่เกี่ยวข้อง ร่างกายก็ไม่ใช่จิตใจ ความรู้สึกทั้งหลายก็ไม่ใช่จิตใจ เราแค่รู้แค่ดู ก็เห็นทุกอย่างมาแล้วก็ไป ทุกอย่างบังคับไม่ได้ ดูอย่างนี้เรื่อยๆ ตอนแรกนี่ปรับสมาธิให้ถูกเสียก่อน อย่าทำแบบเพ่งๆ มันเครียด มันเหนื่อย แล้วมันจะโมโหง่าย

 

คำถาม 8: ทำรูปแบบทุกวัน มีภาวนาไม่ถูกต้องตรงไหนหรือไม่ และบางครั้งรู้สึกไม่ค่อยสบาย เพราะมีสิ่งรบกวน ขอหลวงพ่อเมตตาให้คำแนะนำ

หลวงพ่อ: ที่ภาวนานะถูกต้องถูกเป๊ะเลย ภาวนาได้ดี ส่วนสิ่งรบกวน มันเป็นเรื่องธรรมชาติ ห้ามมันไม่ได้ เหมือนเราอยู่วัดนี้ หลวงพ่อสร้างวัดสร้างป่า ในป่าเต็มไปด้วยต้นไม้เต็มไปด้วยดอกไม้หอมๆ อะไรอย่างนี้ เพื่อนบ้านเขามาตั้งฟาร์มเลี้ยงไก่ วัดเราเหม็นไปครึ่งวัดอย่างนี้ เราห้ามกลิ่นไม่ได้ เราห้ามลมพัดไม่ได้ สภาวะที่ไม่ดีที่มันผ่านมาผ่านไปนี่ เราก็แค่รู้แค่ดู อย่าไปโมโหมัน อย่าไปเกลียดมัน มันเป็นสภาวะธรรมดาๆ อันหนึ่ง เหมือนลมพัดกลิ่นดอกไม้มาบ้าง กลิ่นขี้ไก่ลอยมาบ้างอะไรนี่ เราเลือกไม่ได้ เราก็แค่รู้แค่ดูด้วยใจที่เป็นกลางไป อย่าไปกังวล

แล้วสมมุติว่าความมืดมันครอบงำเรามาก ไม่ยากอะไร นึกถึงพระ นึกถึงพระพุทธเจ้า มันก็หาย แทนที่เราจะไปนึกถึงความมืด ยิ่งนึกถึงก็ยิ่งมืดเพราะใจไปเชื่อมต่อ ถ้าเราไม่สนใจมัน เรานึกถึงสิ่งที่ดีงาม นึกถึงพระพุทธเจ้า นึกถึงครูบาอาจารย์อะไรอย่างนี้ ใจเราร่มเย็นเป็นสุข ใจเราก็สว่างไสวขึ้นมา พลังมืดๆ มันก็สลายตัวไป มันก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน ฉะนั้นไม่ต้องไปกลัว ไม่ต้องไปเกลียดมัน เป็นกลางกับมัน แต่ว่าอย่าไปใส่ใจ อย่าไปสนใจมัน สนใจเข้ามาที่จิตของเรา จิตเราไม่ชอบรู้ว่าไม่ชอบ

ถ้ามันแก้ไม่หายจริงๆ ดูแล้วไม่ชอบแล้วมันก็รำคาญอะไรอย่างนี้ แทนที่จะดูให้หาย ให้ใจมันเป็นปกติ มันไม่ยอมหาย เรานึกถึงพระพุทธเจ้า นึกถึงครูบาอาจารย์ไปเลย เป็นการทำสมถะ เราแก้ด้วยวิปัสสนาไม่ได้ เราก็แก้ด้วยสมถะ แก้ด้วยวิปัสสนาเช่น ใจมันกังวลว่าความมืดมันมา ใจกังวลเรารู้ว่ากังวล มันจะขาดปั๊บเลย ความกังวลดับ ความกังวลดับ จิตก็สงบเบิกบานขึ้นมา ความมืดก็สลายไป อันนี้เราแกด้วยวิปัสสนา แต่ถ้าทำอย่างนี้ไม่ได้เราก็ใช้สมถะ นึกถึงครูบาอาจารย์ นึกถึงพระพุทธเจ้า นึกถึงด้วยใจที่สบาย ใจที่อ่อนโยน ถ้าเรานึกอย่างนี้ได้ ใจเรามีสมาธิเกิดขึ้นปุ๊บ สิ่งชั่วร้ายก็สลายไปเอง ไม่ต้องกลัวหรอก เราภาวนาดี มารมันก็ต้องผจญ ถ้าเราภาวนาผิด มารมันไม่ผจญเราหรอก มารมันหัวเราะเยาะเรา แต่อย่างนี้มาก็มา มาได้เธอก็ไปได้ อยู่ที่ใจเราต่างหาก เป็นกลางกับมัน ถ้าใจไม่เป็นกลางก็คิดถึงพระพุทธเจ้าไป

 

 

วันนี้สมควรแก่เวลา วันนี้มีผู้ช่วยสอน มีใครบ้าง พวกเราอยากเรียนในรายละเอียดเพิ่มเติม ก็ถามกับท่านเหล่านี้ อย่าไปเรียนซี้ซั้วส่งเดช เรียนมั่วๆ ไม่ได้ บางคนมันโกหกเรา มันภาวนาไม่เป็นหรอก แต่ว่ามันมีมิจฉาสมาธิ มีฤทธิ์มีเดช มันเที่ยวทายจิตเราอย่างนั้นอย่างนี้ ทายอดีตทายอนาคตเราอะไรอย่างนี้ เราก็ไปตื่นเต้นยินดี พอเขามาสอนกรรมฐานเรา ตัวเขายังทำไม่เป็นเลย เพราะฉะนั้นอย่างผู้ช่วยสอนที่หลวงพ่อชี้ให้เมื่อกี้นี้ พวกนี้ภาวนาได้หลักแล้ว ไม่พาเราหลงทางหรอก แล้วแต่ละคนที่เห็นอยู่นี่ก็ไม่ใช่พวกแสวงผลประโยชน์อะไร ถ้าเป็นพวกแสวงผลประโยชน์เราก็อย่าไปเชื่อมัน ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นของสะอาดหมดจด พระพุทธเจ้าแจกธรรมะให้เราฟรี ได้ชื่อว่าภควโต ผู้จำแนกแจกธรรม ถ้าใครเอาธรรมะของพระพุทธเจ้าไปขายหาผลประโยชน์อะไรนี่ ไม่ใช่ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าที่แท้จริงหรอก เพราะฉะนั้นเราก็ต้องรู้จักเลือก ไม่ใช่ว่าไปเรียนบ้าบอคอแตกอะไรมาจากใครก็บอกว่าเรียนมาจากกัลยาณมิตรอะไรอย่างนี้ ไม่รู้ว่าใคร ที่แท้เป็นปาปมิตร ไม่ใช่กัลยาณมิตร มิตรที่พาเราบาปพาเราผิด

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
16 สิงหาคม 2563