รู้ทุกข์แจ่มแจ้ง คือถึงที่สุดแห่งทุกข์

เวลาเรานั่งเฉยๆ คอยรู้ทัน รู้ทันร่างกายก็ได้ เห็นร่างกายมันนั่ง เห็นร่างกายมันหายใจ เห็นร่างกายกระดุกกระดิก รู้ละเอียดเข้าไปอีก เห็นจิตใจมันมีความรู้สึกต่างๆ เกิดขึ้น แล้วก็มันมีการทำงานเกิดขึ้น

เวลาเราดูจิตๆ พูดถึงคำว่าดูจิต เราจะดูได้ 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือดูความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับจิต อย่างเรารู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ รู้สึกโลภ โกรธ หลง รู้สึกมีศรัทธา รู้สึกขยันภาวนา มีวิริยะ คอยรู้ทันความรู้สึกของตัวเองบ่อยๆ ดูบ่อยๆ

อีกอันหนึ่งก็ดูพฤติกรรมของจิต คือดูการทำงานของจิต จิตมันทำงาน เดี๋ยวมันก็วิ่งไปดู จิตที่ดูเกิดชั่วขณะก็ดับ เดี๋ยวจิตก็ไปฟัง จิตที่ฟังเกิดขึ้นชั่วขณะแล้วก็ดับ จิตที่ไปดมกลิ่น จิตที่ไปรู้รส จิตที่ไปรู้สัมผัสทางกาย จิตที่ไปคิดนึกปรุงแต่งทางใจ เกิดแล้วก็ดับ ดูพฤติกรรมของมัน พฤติกรรมของมันคือ เดี๋ยวก็ไปดู เดี๋ยวก็ไปฟัง เดี๋ยวก็ไปดมกลิ่น เดี๋ยวก็ไปลิ้มรส เดี๋ยวไปรู้สัมผัสทางกาย เดี๋ยวไปรู้อารมณ์ทางใจ จิตมันมีพฤติกรรมของมัน

ดูพฤติกรรมไม่ออก ก็ดูความรู้สึกเอา อย่างใจเราตอนนี้สุขหรือใจเราตอนนี้ทุกข์ ก็รู้แค่นี้ล่ะง่ายๆ หรือตอนนี้กลางๆ ไม่ทุกข์ ไม่สุข ความรู้สึกทางใจ เวทนาทางใจ มี 3 อัน มีความสุข มีความทุกข์ และก็เฉยๆ มี 3 อัน แล้วเวทนาในกายนี่ ถ้าไม่สุขก็ทุกข์ไม่ทุกข์ก็สุข แล้วมันสลับไปสลับมา ถ้าสติปัญญาเราแก่กล้า เราจะเห็น สุขกับทุกข์ จริงๆ มันตัวเดียวกัน ช่วงไหนร่างกายเราทุกข์น้อย เราก็รู้สึกว่าสุข ช่วงไหนมันทุกข์มากขึ้นก็รู้สึกว่าทุกข์

จิตใจนี้ก็เหมือนกัน ในความเป็นจริงแล้ว จิตใจมันทุกข์อยู่ตลอดเวลา ช่วงไหนทุกข์มากเราก็ว่ามันทุกข์ ช่วงไหนทุกข์น้อยเราก็ว่ามันมีความสุข คนทั่วๆ ไปก็เห็นได้แค่ว่าเดี๋ยวมันก็สุขเดี๋ยวมันก็ทุกข์ กายนี้เดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็ทุกข์ จิตนี้เดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็ทุกข์ นี่คนทั่วๆ ไป แต่เป็นทั่วๆ ไปชนิดดี คนทั่วๆ ไปชนิดไม่ดีไม่อยากใช้คำว่าอย่างเลว ประเภทไม่ดี กายสุขหรือกายทุกข์ก็ไม่รู้ ใจสุขหรือใจทุกข์ก็ไม่รู้ ไม่รู้อะไรสักอย่างเลย หลงอย่างเดียว อย่างนี้ไม่ดี ทีนี้ถ้าเราภาวนาเราก็เห็น กายนี้เดี๋ยวก็สุขกายนี้เดี๋ยวก็ทุกข์ ใจนี้เดี๋ยวก็สุขใจนี้เดี๋ยวก็ทุกข์

พอภาวนามากขึ้นไปอีก ภาวนาได้เก่งแล้วเราจะเห็นว่า สุขไม่มีจริงหรอกมีแต่ทุกข์ กายนี้เป็นทุกข์ล้วนๆ แต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย จิตเป็นทุกข์ล้วนๆ แต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ช่วงไหนร่างกายเราทุกข์น้อย เราก็ว่ามันมีความสุข ช่วงไหนจิตใจมันทุกข์น้อย เราก็ว่ามันมีความสุข

แต่ภาวนาได้ละเอียดจริงๆ เราจะรู้ว่า นอกจากทุกข์แล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์แล้วไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์แล้วไม่มีอะไรดับไป มีทุกข์เท่านั้นที่เกิด ทุกข์เท่านั้นที่ดับ ที่ว่าสุขๆ ถ้าเราภาวนาถึงขั้นละเอียด เวลาใจมันมีความสุขขึ้นมา อย่างกระทั่งเข้าฌาน จิตเข้าฌานมีปีติมีความสุขขึ้นมา ในโลกถือว่าดีวิเศษเหลือเกิน นักปฏิบัติที่มีญาณทัศนะแหลมคมก็จะรู้ เวลาที่จิตใจมีความสุขหรือจิตใจทรงฌานขึ้นมา มันก็เป็นภพๆ หนึ่ง เป็นภาระเครื่องบีบคั้นจิตใจ จิตใจไม่มีความสุขหรอก จิตใจมีภาระ

 

เห็นตามความเป็นจริง จะเบื่อหน่าย คลายความยึดถือ แล้วก็หลุดพ้น

ถ้าเราภาวนาจะเห็นความจริงของกายของใจ ว่ามันไม่ใช่สุขบ้างทุกข์บ้างอย่างที่เคยรู้หรอก ในความเป็นจริงแล้ว กายนี้มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย จิตนี้มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย พอเห็นอย่างนี้ มันถึงจะคลายความยึดถือได้ เรียกว่าเห็นตามความเป็นจริง ก็จะเบื่อหน่ายคลายความยึดถือ แล้วก็หลุดพ้น

พวกเรารู้สึกไหม ร่างกายเราสุขบ้างทุกข์บ้าง รู้สึกอย่างนี้ยังไม่ได้พระอนาคามี ยังปล่อยวางกายนี้ไม่ได้ ก็รู้สึกกายนี้สุขบ้างทุกข์บ้าง พอมี 2 ทางเลือก เราก็เลือกอยากให้มันสุข เลือกหนีความทุกข์ เกิดตัณหาอยากสุขไม่อยากทุกข์ขึ้นมา เพราะไม่เห็นความจริงว่าร่างกายนี้คือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย เราไม่เห็นความจริง เราไปเห็นว่า ร่างกายนี้มีทุกข์บ้างสุขบ้าง ใจก็เกิดตัณหา เพราะมีอวิชชาไม่รู้ความจริง ไม่รู้ในกองทุกข์ก็เลยเกิดตัณหา อยากให้ร่างกายมีความสุขตลอดไป อยากให้ร่างกายไม่ทุกข์

ความไม่รู้ว่ากายนี้คือทุกข์ล้วนๆ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ก็เลยเกิดความอยาก อวิชชาก็เลยทำให้เกิดตัณหาขึ้นมา เกิดอยาก อยากมีความสุขมากๆ นานๆ นิรันดรได้ยิ่งดี อยากไม่ทุกข์ ทันทีที่ความอยากเกิดขึ้นความดิ้นรนของจิตจะเกิดขึ้น จิตจะอยู่เฉยไม่ได้แล้ว จิตมันจะดิ้นไปตามแรงอยาก ฉะนั้นมีตัณหา ตัณหาเป็นผู้สร้างภพ ภพคือความดิ้นรนปรุงแต่งของจิต

เราภาวนา เมื่อไรเราเห็นความจริงของร่างกาย ว่าร่างกายนี้เป็นทุกข์ล้วนๆ เห็นความจริงของจิตใจ ว่าจิตใจเป็นทุกข์ล้วนๆ เห็นกายก่อน เพราะกายเป็นของหยาบดูง่ายกว่า เห็นได้ง่ายกว่าจิต เวลาภาวนานี่มันจะผ่านกายก่อน เห็นว่ากายเป็นทุกข์ล้วนๆ ความอยากให้กายเป็นสุขก็ไม่เกิด ความอยากให้กายไม่ทุกข์ก็ไม่เกิด เมื่อความอยากไม่เกิด ความดิ้นรนของใจก็ไม่เกิด เมื่อความดิ้นรนของใจคือภพไม่มี การที่จิตจะหยั่งลงสู่ความเกิดมันก็ไม่มี เกิดอะไร เกิดความรู้สึกมีตัวมีตนขึ้นมา เกิดตัวเราของเราขึ้นมา แล้วก็ดิ้นรนไปด้วยความทุกข์

เคยเห็นปลามันอยู่บนบกไหม ปลามันบางทีมันตกอยู่บนบก หรือบางทีฝนตกนะมันไถๆ ตัวขึ้นมาตามน้ำมา แล้วอยู่ๆ น้ำมันแห้งลงไป อย่างน้ำแถวนี้ลงจากภูเขา ลงประเดี๋ยวเดียวก็แห้งแล้ว ปลาอุตส่าห์ไถๆๆ ทวนน้ำมา ปลาก็แห้ง น้ำแห้งแล้วปลาก็ลำบาก นอนดิ้นกระด๊อกกระแด๊กๆ จิตก็เหมือนกัน จิตมันไม่มีความสุข มันดิ้นไปเรื่อยๆ ร่างกายเราก็ไม่มีความสุข มันถึงดิ้นไปเรื่อยๆ ใครเห็นร่างกายดิ้นไปเรื่อยๆ บ้าง ดูเป็นไหม นั่งนิ่งๆ ไม่กระดุกกระดิกได้ไหม ไม่ได้ มันทุกข์ มันทุกข์มันต้องขยับ มันดิ้นหนีความทุกข์ไปเหมือนปลาที่ตกอยู่บนบก ดิ้นกระแด่วๆ ไปเรื่อย

ร่างกายนี้จริงๆ แล้วเต็มไปด้วยความทุกข์ ขอให้เรามีสติรู้ลงมาในกาย เราจะเห็นเลย มันทุกข์มากบ้างน้อยบ้าง อย่างตอนที่เราเปลี่ยนอิริยาบถใหม่ๆ มันทุกข์น้อย เรารู้สึกตอนนี้สุข นั่งนิ่งๆ นานๆ มันเมื่อยแล้ว เมื่อยทุรนทุรายขึ้นมา พอความเมื่อยเกิด ทุกข์มันเกิดชัดเจนขึ้นมาแล้ว ตัณหาก็เกิดอยากหายเมื่อย ก็เกิดความปรุงแต่งทำอย่างไรจะหายเมื่อย ต้องกระดุกกระดิกแก้เมื่อย จิตมันทำงาน มันปรุงแต่งต่อกันมาเป็นทอดๆๆ

เรามาภาวนาเพื่อให้เห็นทุกข์ ให้เห็นว่าขันธ์ 5 มันเป็นตัวทุกข์ ย่อลงมาก็คือรูปนามกายใจนี้ ตราบใดที่เรายังไม่เห็นว่ากายนี้คือตัวทุกข์ล้วนๆ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ความอยากให้กายเป็นสุขก็ยังมีอยู่ ความอยากให้กายไม่ทุกข์ก็ยังมีอยู่ ความดิ้นรนของจิตก็ยังมีอยู่ ภาระของจิตซึ่งเป็นตัวทุกข์ของจิต มันก็มีอยู่ ตราบใดที่เรายังไม่เห็นความจริงของจิตว่าจิตคือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย เราก็อยากให้จิตมีความสุข อยากให้จิตไม่ทุกข์

ทุกวันนี้เราไปสำรวจตัวเอง ทำไมเราต้องไปดูหนังฟังเพลง ทำไมต้องไปหาของอร่อยกิน ทำไมต้องเมาท์กับเพื่อน ไม่มีใครคุยด้วยก็อุตส่าห์ส่งไลน์ไปคุย แล้วก็รอเมื่อไรเขาจะอ่าน เมื่อไรเขาจะตอบ มันเป็นภาระของใจทั้งนั้นเลย ที่เราต้องดิ้นรนต่างๆ มากมาย เพื่อดิ้นรนหาความสุขให้กับจิตใจ ดิ้นรนหนีความทุกข์

อย่างกลุ้มใจก็อยากจะไปคุยกับคนแก้กลุ้ม ไปปรับทุกข์อะไรอย่างนี้ บางทีกลุ้มมากๆ ไปปรับทุกข์ เพื่อนก็ช่วยเราไม่ได้ ใครเคยอกหักบ้างมีไหม ไม่รู้จักอกหักมันบรรลุมรรคผลยาก ไม่ค่อยเห็นทุกข์ เวลาอกหักเพื่อนจะมาปลอบเรา ทำใจซะเถอะ ไม่เป็นไรหรอก ถามว่าหายทุกข์ไหม ไม่หาย บางทีคนที่มาปลอบนี่มันมาเพิ่มแรงกดดันเรา เลิกคบกับเขาไปเลย ที่เรารักอยู่เราทุกข์อยู่เพราะเรายังไม่เลิกรัก เพื่อนก็มาแนะนำว่าเลิกคบกับมันไปเลยอะไรอย่างนี้ ยิ่งกดดันมากขึ้นยิ่งทุกข์เยอะขึ้น บางคนไปเที่ยวปรับทุกกับเพื่อน ยิ่งทุกข์มากกว่าเก่าอีก หมอดูเลยหากินง่าย หมอดูจะคอยปลอบๆ เราก็สบายใจให้สตางค์เขา

เรายอมรับความจริงไม่ได้ว่าจิตมันคือตัวทุกข์ เราก็อยากให้มันมีความสุข หรืออยากไม่ให้มันทุกข์ เราก็ดิ้นรนต่างๆ นานา เช่น มันกลุ้มใจขึ้นมาก็ไปกินเหล้า หรือไปเที่ยว หรือไปคุยกับเพื่อน ไปปรับทุกข์กับคนโน้นคนนี้ คนที่เราไปปรับทุกข์ด้วย เขาก็ทุกข์ ตัวเขาเองก็ทุกข์เยอะอยู่แล้ว ยังมาฟังเรื่องทุกข์ของเราอีก น่าสงสารจริงๆ เลย คนที่ทุกข์มันก็น่าสงสารอยู่แล้ว แต่คนที่เราไปปรับทุกข์ด้วยน่าสงสารยิ่งกว่า เพราะไม่ได้ทำอะไรเลย อยู่ๆ ก็เอาความทุกข์มาทุ่มใส่ พวกพระนี่จะเจอเยอะ เวลาโยมกลุ้มใจขึ้นมาจะมาปรับทุกข์กับพระ พระบางองค์ท่านก็ใจดี โยมมาปรับทุกข์อกหัก พระก็สงสาร ปลอบไปปลอบมาเลยสึกไปอยู่ด้วยกันเลย แก้อกหักให้โยมสำเร็จแล้ว นี่มันวุ่นวาย

 

เรียนธรรมะให้ถึงแก่น คือเรียนให้ถึงทุกข์

เราเรียนธรรมะ เรียนให้มันถึงแก่น เรียนถึงแก่นคือเรียนให้มันถึงทุกข์ ถ้าไม่รู้ทุกข์ก็ไม่รู้ธรรมหรอก ลงมาเรียนให้รู้ลงมาให้ได้ กายนี้คือตัวทุกข์ล้วนๆ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย มันจะไม่เกิดตัณหา อยากสุข อยากไม่ทุกข์ เรียนรู้ลงมา จิตใจนี้เดี๋ยวมันมีอารมณ์อย่างนั้น เดี๋ยวมีอารมณ์อย่างนี้ หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็วิ่งไปดู วิ่งไปฟัง วิ่งไปคิด มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ทำไมมันต้องดิ้นรนอย่างนั้น ก็เพราะตัวมันทุกข์ แต่เรายังไม่เห็น

ถ้าเราเห็น พยายามรู้สึกอยู่ในกายรู้สึกอยู่ในใจ เดี๋ยววันหนึ่งเราก็เห็นความจริง ร่างกายนี้คือตัวทุกข์ จิตนี้คือตัวทุกข์ นี่เรียกว่าเรารู้ทุกข์ รู้ว่ารูปนามขันธ์ 5 คือตัวทุกข์ รูปนามเป็นคำใหญ่ รูปธรรมนามธรรม แยกย่อยออกไป ถ้าแยกแบบนามธรรมมากหน่อย ก็แยกเป็นขันธ์ 5 มีรูปหนึ่ง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ 4 อันนี้เป็นตัวนามธรรม ทีนี้บางคนชอบแยกรูปธรรมมากกว่านามธรรม ก็แยกเป็นอายตนะ 6 ตัวรูปนามนี้ แยกในมุมของขันธ์ 5 ก็ได้ แยกในมุมของอายตนะ 6 ก็ได้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี่เป็นส่วนของรูปธรรม ใจนี้เป็นส่วนของนามธรรมค่อยๆ แยกๆๆ ไป แยกเป็นขันธ์ 5 ก็ได้ แยกเป็นอายตนะ 6 ก็ได้แล้วแต่ถนัด

พอแยกแล้ว เราจะค่อยๆ ดู รูปมันเที่ยงหรือมันไม่เที่ยง เวทนามันเที่ยงหรือมันไม่เที่ยง ความรู้สึกสุขทุกข์มันเที่ยงไหม สัญญาความจำได้หมายรู้มันเที่ยงไหม บางทีก็จำได้ บางทีก็จำไม่ได้ เอาแน่เอานอนไม่ได้ หลวงพ่อเคยสัญญาดับแบบซึ่งหน้าเลย ไม่ใช่โรคอัลไซเมอร์ แต่มันเป็นกลไกที่จิตมันแสดงให้ดู

ตอนนั้นทำงานอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล ตอนเย็นมาลงเรือด่วนที่เทเวศร์มาขึ้นที่ท่าน้ำนนทบุรี เพราะขึ้นจากท่าน้ำเดินมาไม่กี่ก้าวเลย จิตรวมพรึบลงไป แล้วพอมันถอนขึ้นมานี่เราคือใครก็ไม่รู้ เราอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ เราจะไปไหนก็ไม่รู้ ไม่มีความจำอะไรเหลือเลยสักอย่างเดียวเลย แต่หลวงพ่อไม่ได้มีความตกใจ ถ้าพวกเราเกิดเจอสภาวะอย่างนี้อาจจะตกใจ หลวงพ่อไม่ตกใจ ไม่รู้จะไปไหนเราก็ยืนอยู่ตรงนี้ เรารู้อย่างหนึ่งว่าสภาวะอันนี้ก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน ปัญญามันรู้ลงไปว่านี่สัญญามันดับให้ดู สัญญาดูยาก สังขารดับยังดูง่าย อย่างสุขทุกข์ก็อยู่ในกลุ่มของสังขตะ เขาเรียกอยู่ในกลุ่มของเวทนาขันธ์ ดูง่าย เวทนาเกิดแล้วดับ เป็นนามธรรมก็จริง มันเกิดดับ

นามธรรมไม่ได้มีแต่ความรู้สึกทางใจอย่างเดียว ไม่ใช่สุขทุกข์ดีชั่วอย่างเดียว มีสุขทุกข์นี่ส่วนของเวทนา ดีชั่วส่วนของสังขาร มีส่วนของความจำได้หมายรู้ อยู่ๆ ดับไปเฉยเลย ไม่เคยพบไม่เคยเห็นมาก่อน ไม่ตกใจ ยืนเฉยๆ เรารู้อย่างหนึ่งว่าสภาวะทั้งหลายนี่ เกิดได้ก็ดับได้ไม่น่าตกใจหรอก ก็ยืนนิ่งๆ อยู่สักพักหนึ่ง เดี๋ยวหนึ่งสัญญามันก็ผุดขึ้นมา อ้อ เรากำลังจะกลับบ้าน แต่มันยังผุดไม่เต็มที่ บ้านอยู่ไหนยังไม่รู้ เมื่อบ้านอยู่ไหนยังไม่รู้ยังไม่เดิน เดี๋ยวเดินไปคนละทางแล้วต้องเดินกลับไกล ก็รู้สึกตัวอยู่อย่างนี้ เดี๋ยวมันก็ผุดความจำได้ขึ้นมาความหมายรู้ขึ้นมา ฉะนั้นสัญญาเองก็เกิดดับได้ แต่ดูยากนิดหนึ่ง ถ้าใจมันทรงสมาธิลึกๆ ลงไป มันละสัญญาลงไป มันเหมือนไม่มีสัญญาแต่มันมีสัญญาอยู่นิดหนึ่ง

ใจค่อยๆ ภาวนา เดี๋ยวค่อยรู้ค่อยเห็น แต่ตัวเวทนากับตัวสังขารดูง่าย อย่างความสุขความทุกข์อะไรอย่างนี้ดูง่ายจะตายไป ขณะนี้สุขหรือขณะนี้ทุกข์ ดูไม่ยากหรอก หรือกุศลอกุศลในส่วนของสังขารขันธ์ ใจเป็นบุญหรือใจเป็นบาปอะไรอย่างนี้ ดูไม่ยากหรอก ใจกำลังโกรธอย่างนี้ มันก็มีกิเลส มีโทสะ ใจกำลังโลภ อยากโน้นอยากนี้ ก็โลภแล้ว ใจมันลืมเนื้อลืมตัว ใจมันหลงฟุ้งซ่านไป นี่ตัวหลง

ค่อยๆ เรียนค่อยๆ รู้สภาวะทั้งหลายไป สุขเป็นอย่างนี้ ทุกข์เป็นอย่างนี้ เฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์เป็นอย่างนี้ ดีเป็นอย่างนี้ โลภเป็นอย่างนี้ โกรธเป็นอย่างนี้ หลงเป็นอย่างนี้ ฟุ้งซ่านเป็นอย่างนี้ หดหู่เป็นอย่างนี้ หัดรู้สภาวะเรื่อยๆ แล้วต่อไปสติเกิด พอสภาวะเกิดสติก็เกิดเลย สภาวะที่เป็นอกุศลหรือเป็นผลของอกุศลจะดับทันที แต่สภาวะที่เป็นกุศล พอเรามีสติแล้วไม่จำเป็นต้องดับทันที อย่างใจเราอยากฟังธรรม ใจเราอยากปฏิบัติ บางทีมันอยากได้เป็นหลายชั่วโมง อย่างนี้ก็ได้ แต่ถ้าใจขี้เกียจ เรามีสติรู้ว่าขี้เกียจปั๊บ มันจะดับทันทีเลยความขี้เกียจค่อยๆ เรียนค่อยๆ รู้ลงมาในกาย ค่อยๆ รู้ลงมาในใจ ถึงวันหนึ่งเราจะเห็นความจริง กายนี้ทุกล้วนๆ ใจนี้ทุกล้วนๆ

หลวงพ่อภาวนาตอนนั้นเพิ่งบวช ในพรรษาที่สาม อยู่กับพระอาจารย์อ๊า พระอาจารย์อ๊าเป็นนักปลูกต้นไม้ อยู่กัน 3 คนกับหมาตัวหนึ่ง หมาไม่ช่วยรดต้นไม้หรอก นานๆ ไปฉี่ใส่ต้นไม้ทีหนึ่ง เรา 3 คนรดต้นไม้ เหนื่อยมากเลย แดดเปรี้ยงๆ เลย รดต้นไม้กัน เช้าก็สอนโยม พอโยมไปแล้วได้พักช่วงหนึ่ง เหนื่อย ตอนนั้นสอนโยมจะเหนื่อยมากเลย เพราะยังสอนด้วยเจือความโลภ คืออยากให้โยมรู้เรื่อง

เดี๋ยวนี้หลวงพ่ออุเบกขาแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ค่อยเหนื่อยหรอก สอนไปแล้วโยมรู้เรื่องก็บุญของโยม โยมไม่รู้เรื่องก็อุเบกขา วันนี้ยังไม่รู้เรื่องไม่เป็นไร ฟังแล้วฟังอีก ภาวนาดูของจริงไป เดี๋ยววันหนึ่งก็รู้เรื่องเอง ไม่ใช่ทุกคนจะรู้เรื่องได้ในการฟังครั้งเดียวหรอก บางคนฟังครั้งเดียวรู้เรื่อง บางคนฟังทั้งปีเลยไม่รู้เรื่อง นานหลายๆ ปี 10 ปี 20 ปี ค่อยๆ กระเตื้องๆ ขึ้นมา แต่ละคนมันช้าเร็วไม่เหมือนกัน อินทรีย์มันแก่อ่อนไม่เหมือนกัน

หลวงพ่อไปสอนโยมตอนเช้า ใจก็อยากให้เขารู้เรื่อง เอาพลังของเราเข้าไปช่วยเขา ช่วยให้เขามองเห็น วิธีนี้ไม่ได้ผลหรอก พอเราหยุดช่วยเขาก็มองไม่เห็นเหมือนเดิม ทีแรกเราอยากให้เขารู้เรื่อง สงสารเขา ใช้พลังของใจเรากระตุ้นความรู้สึกของเขา เหนื่อย แล้วเป็นความเหนื่อยเปล่า หาสาระแก่นสารไม่ได้ พอเหนื่อยแล้วไม่รู้จะทำอย่างไร ตอนกลางวัน หมดแรงลงไปนอน พอบ่าย 2 โมงกว่าๆ จำเป็นต้องลุกขึ้นมาเตรียมออกไปรดต้นไม้แล้ว ปรากฏว่ามันลุกไม่ขึ้น จิตมันตื่นแต่ร่างกายมันไม่ยอมกระดิก สั่งให้ร่างกายลุกขึ้นมา ไปอาบน้ำ แล้วไปรดต้นไม้ มันไม่ยอมกระดุกกระดิกเลย ดีว่ามันยังหายใจอยู่

หลวงพ่อก็ค่อยๆ ขยับเท้า ขยับนิ้วเท้า เหยียดนิ้ว ค่อยๆ ขยับทีละนิ้วๆ อย่างกับคนเป็นอัมพาตแล้วก็หัด exercise อย่างนั้น ค่อยๆ หัดขยับๆ พอมันขยับนิ้วได้แล้ว เปลี่ยนมาขยับเท้า โยกอย่างนี้ อยู่ๆ จิตมันก็รวมเลย มันเห็น โอ๊ย กายนี้มันทุกข์ กายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่อยู่ในอำนาจ กายนี้มันทุกข์จริงๆ นี่ก็เห็นเอา กายมันทุกข์ สบาย ต่อไป กายมันเป็นไงก็ เออ เรื่องของกายแล้วล่ะ ไม่ใช่เรื่องของใจ

ตอนไม่สบายไปอยู่โรงพยาบาล ร่างกายมีความทุกข์ มีความทุกข์เยอะมากเวลาไปอยู่โรงพยาบาล อย่างหมอบางคนห่วงเรามาก อยากรู้รายละเอียดยิบเลย สั่งเจาะน้ำตาล วันหนึ่ง 5 ครั้ง เจาะมันทุกนิ้วเลย แล้วยังทำท่าจะเจาะอีกมือหนึ่ง อยากเจาะอีก บอกแค่นี้ก็พอแล้ว หรือตอนเรานอนหลับกลางคืน พยาบาลก็เข้ามาขอวัดไข้หน่อย ขอวัดความดันหน่อย เรายังนึกเลย ความดันกูคงขึ้นตอนนี้ล่ะ กำลังหลับๆ มาเรียกให้ลุกมาวัดความดัน มันทุกข์เยอะนะ เดี๋ยวก็เจาะนู่น เดี๋ยวก็ผ่านี่ เดี๋ยวก็ตรวจนั่นไปเรื่อยๆ เราเห็นกายมันทุกข์ แต่ใจมันรู้สึกว่าธรรมดา ธรรมดาที่กายนี้จะเป็นอย่างนี้ บางทีก็มีพยาบาลมีอะไรมาถาม หลวงพ่ออยู่โรงพยาบาลตั้งหลายเดือนแล้วเบื่อไหม บอกว่า “ไม่เบื่อหรอก เบื่อมันเป็นโทสะ” เขาฟังไม่รู้เรื่องหรอก ก็แล้วไป

ฉะนั้นเราพยายามฝึกจนกระทั่งเรารู้เลย กายนี้อย่างไรก็ทุกข์ เวลาเราเจ็บหนัก มันก็ทุกข์ จนกระทั่งถึงตาย มันทุกข์สุดขีดมันก็ตายเอง บางทีไปผ่า ผ่าแล้วก็หมอเขาก็ทำโน้นทำนี้ไปเรื่อยๆ หลวงพ่อก็นอนนิ่งๆ เสร็จแล้วหมอก็เกิดสงสัยหลวงพ่อหลับหรือเปล่า บอกไม่หลับหรอก หมอถามว่าทำไมหลวงพ่อนิ่งเหลือเกิน บอกว่าจะให้หลวงพ่อดิ้นรนดิ้นเร่าๆ โอ๊ยๆ อย่างนั้นเลยเหรอ

เราเคยฝึกมาดี ร่างกายมันเจ็บมันส่วนของกาย ใจมันไม่ได้เจ็บด้วย นี่ฝึกไว้ วันหนึ่งเราอาจจะได้มีบุญได้เข้าโรงพยาบาล แล้วก็ได้เจ็บโน่นเจ็บนี่ สติปัญญามันเกิด คนไหนไม่เคยอกหัก ไม่เคยผิดหวัง ไม่เคยมีความเจ็บป่วยอะไรเลย ไม่รู้บุญหรือบาป ไม่รู้เวลาดูทุกข์ไม่รู้จะดูอย่างไรเลย มันสบายไปซะทุกสิ่งทุกอย่าง ฉะนั้นเวลาเรามีความทุกข์อย่าโกรธมัน อย่าเสียใจ ทุกข์ก็ทุกข์ ทุกข์เป็นครูของเรา ทุกข์มันอยู่ที่ไหน ทุกข์มันอยู่ที่กาย ทุกข์มันอยู่ที่ใจ

อย่างช่วงโควิด เขาไม่ให้ออกจากบ้าน ร่างกายทุกข์ไหม ร่างกายก็ไม่ทุกข์เท่าไหร่หรอก ก็ยังมีข้าวกินอยู่ใช่ไหม แต่ใจมันทุกข์ไหม มันไม่ได้ออกไปเที่ยว มันก็หิว อยากออกไปเที่ยวข้างนอก หิวอารมณ์ ใจก็มีแต่ความทุกข์ เคร่งเครียด หลวงพ่อเคยดูที่เขาถ่ายรูปมานะ พวกที่อยู่ state quarantine อยู่โรงแรมสบายออก บางคนก็มีจิตสำนึกดี อุตส่าห์โพสต์รูปแล้วก็บอกรัฐบาลดูแลดี อยู่ก็ไม่ลำบากอะไร บางคนมันไม่ถูกใจซักอย่าง นี่ก็ไม่อร่อย อาหารนี่ก็จืด อาหารนี่ก็เย็น ไม่มีอะไรที่พอใจซักอย่างเลย คน 2 คนนี้ถูกขัง 14 วันเท่ากัน อยู่โรงแรมเดียวกัน ห้องเหมือนกันเปี๊ยบเลย แต่ 2 คนนี้ทำไมสุขทุกข์ไม่เท่ากัน เพราะส่วนหนึ่ง คนไหนที่ฝึกจนจิตมันยอมรับสภาพที่กำลังเป็นอยู่ได้ มันจะไม่ทุกข์ คนไหนที่มันยอมรับสภาพที่กำลังเป็นอยู่ไม่ได้ มันก็ทุกข์ ก็แค่นั้นเอง

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าถึงสอนเราให้มาเรียนรู้ทุกข์ เรียนรู้ความจริง กายนี้มันคือตัวทุกข์ ใจนี้มันคือตัวทุกข์ พอเรียนรู้ความจริงแล้วมันก็หมดความอยาก พอหมดความอยากใจก็หมดความดิ้นรน ใจที่หมดความดิ้นรน ใจนั้นก็หมดความทุกข์ เราค่อยๆ ฝึกตัวเราไป ทุกข์มันก็จะลดลงๆ ไปเรื่อย จิตใจก็มีความสุขมากขึ้นๆ แต่สุขอย่างนี้เราไม่ติด มันไม่เหมือนสุขที่เราเคยเห็น อย่างสุขเวทนา จริงๆ แล้ว มันคือทุกข์น้อย แต่สุขของธรรมมันสุขจริงๆ มันสุข มันเย็น มันฉ่ำ มันชื่น มันร่มเย็นอยู่ในใจเรา มันไม่หิว มันไม่ดิ้น ใจที่มีธรรมะคุ้มครอง มีสติ มีปัญญา มีศีลคุ้มครอง มันก็มีความสุขมากขึ้นๆ ถ้าใจเราถึงความหลุดพ้น ใจมันก็มีความสุขถึงขีดสุด เริ่มจากหลุดพ้นจากกาย ไม่ยึดถือกาย ต่อไปก็ไม่ยึดถือในนามธรรม

นามธรรมมี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นจิตตสังขารทั้งหลาย ส่วนหนึ่งคือตัวจิต ตัวจิตนั้นเป็นตัวอรูป ตัวจิตตสังขารทั้งหลายเป็นรูปละเอียด อย่างราคะนี่มีรูปร่างหน้าตาไหม ราคะก็มีรูป มีรูปร่างของมัน เราถึงแยกได้ว่า อันนี้คือราคะ โทสะมีรูปร่างของมันไหม โทสะมันพุ่งขึ้นมาใช่ไหม มันพุ่งถ้าแรงมันขึ้นหัวเลย นี่มันก็มีรูปร่างหน้าตาของมันที่เราสังเกตเห็นได้

พอเราภาวนาแตกหักขั้นสุดท้าย ตัวรูปราคะตัวอรูปราคะก็ดับพร้อมกัน หมดความยึดถือทั้งจิตทั้งเจตสิกไปพร้อมๆ กันเลย อันนี้อาจจะไม่ตรงตำรา ฟังประดับความรู้ไว้ก็พอ ตำราก็พูดถึงรูปราคะได้แก่ รูปฌาน อรูปราคะได้แก่ อรูปฌาน ยังตอบโจทย์ไม่ได้ว่า ทำไมบรรลุพระอรหันต์แล้วทั้งรูปราคะอรูปราคะดับพร้อมกัน แต่ถ้าเราเห็นว่าตัวรูปราคะคือความติดอกติดใจในอารมณ์ทั้งหลายของจิต ตัวอรูป ราคะ อรูปราคะคือความติดอกติดใจในตัวจิต พอปล่อยวางจิตทีเดียว ปล่อยวางทุกตัวหมดเลย เพราะฉะนั้นขาดไปพร้อมๆ กัน ทั้งรูปราคะ อรูปราคะก็ขาดพร้อมกัน เช่นเดียวกับกาม ราคะ กามราคะ และปฏิฆะขาดพร้อมกัน ขาดพร้อมกันตอนเป็นพระอนาคามี รูปราคะ อรูปราคะขาดพร้อมกันตอนเป็นพระอรหันต์ ธรรมะยิ่งเรียน โอ๊ย มันประณีต อ่านหนังสือเอาก็อย่างนั้นๆ ล่ะ ตื้น อ่านแล้วมันไม่ถึงอกถึงใจ

ถ้าเราภาวนาไปเรื่อยๆ เราจะรู้ว่านามกายก็มี กายของนามธรรม ตัวเวทนาก็เป็นกายของนามธรรม อย่างสุขมีรูปร่างของมันไหม มันก็มีรูปร่างที่เราสังเกตได้ มีลักษณะอาการที่เราสังเกตได้ ทุกข์ก็มีอาการที่เราสังเกตได้ โลภ โกรธ หลง ก็มีอาการที่เราสังเกตได้ สิ่งเหล่านี้มันก็เป็นนามกายทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเวลาใจมันไม่ยึดในตัวจิตมันก็ไม่ยึดตัวนามกาย ไม่ยึดนามทั้งหมด

สนุกนะการเรียนกรรมฐาน ภาวนาทุกวันๆ ของไม่เคยเห็นก็ได้เห็น ของไม่เคยรู้ก็ได้รู้ ของไม่เคยเข้าใจก็ได้เข้าใจ ของไม่เคยปล่อยวางก็ได้ปล่อยวาง ใจก็จะพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ฟังหลวงพ่อพูดอาจจะฟังแล้วรู้สึกยาก แต่จริงๆ ไม่ยาก

หลวงพ่อสอนวันนี้ก็คือ ให้รู้ทุกข์ ก็คือคอยรู้กายรู้ใจตัวเองบ่อยๆ ร่างกายหายใจก็รู้ ร่างกายยืนเดินนั่งนอนก็รู้ ร่างกายเคลื่อนไหวหยุดนิ่งก็รู้ รู้บ่อยๆ เดี๋ยวก็เห็นเองว่าร่างกายมันทุกข์ จิตใจก็รู้มันไปเรื่อยๆ เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย หาสาระแก่นสารอะไรไม่ได้ ดูมันไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันก็รู้เอง นามธรรมทั้งหลายทั้งจิตทั้งเจตสิก สุดท้ายมันก็ทุกข์ทั้งหมด มันไม่มีสาระแก่นสาร ใจก็หมดความยึดถือ เข้าสู่ความพ้นทุกข์ ดับสนิทแห่งทุกข์ ถึงพระนิพพาน

คนจำนวนมาก ทำบุญก็ “นิพพาน ปัจจโย โหตุ” ให้เป็นปัจจัยแห่งพระนิพพาน ทำอะไรก็อ้างให้เป็นปัจจัยแห่งพระนิพพาน แต่ไม่เคยเจริญสติ ไม่มีนิพพานหรอก ได้แต่ขอ ลองเจริญสติรู้กายรู้ใจไปเรื่อยๆ สิ แล้วจะรู้ว่านิพพานมีจริง การที่เรามีสติรู้กายรู้ใจเรื่อยๆ ไป เรียกว่าเราทำสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าถ้าเรายังทำสติปัฏฐานอยู่ ยังมีผู้รู้ธรรมอยู่ ผู้รู้ธรรมไม่ใช่ใคร ก็พวกเราที่ทำสติปัฏฐาน มีสติคอยรู้กาย มีสติคอยรู้ใจ ฝึกให้มากๆ ไม่ใช่ขาดสติลืมกายขาดสติลืมใจอย่างนี้ทั้งวัน กี่ปีกี่ชาติก็ไม่ได้บรรลุอะไรหรอก

ทีนี้จิตเรามันมีธรรมชาติจะหลงจะลืม ห้ามมันไม่ได้หรอก เราก็ต้องมีเครื่องช่วย หาเครื่องอยู่ให้มันอยู่ อยู่กับพุทโธ อยู่กับลมหายใจ หรือหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ดูท้องพอง ดูท้องยุบ เห็นร่างกายพองเห็นร่างกายยุบ เห็นร่างกายหายใจ เห็นร่างกายขยับเขยื้อน ขยับไปขยับมา รู้สึกไปเรื่อยๆ เดี๋ยววันหนึ่งปัญญามันก็เกิด แต่อย่ารู้สึกแล้วเพ่งให้จิตนิ่ง อันนั้นไม่เกิดอะไร งี่เง่าไปยังอย่างนั้นเท่านั้นเอง ไม่ได้เรื่อง ปล่อยให้กายมันทำงาน ปล่อยให้จิตมันทำงาน มีสติตามระลึกรู้มันไป เดี๋ยววันหนึ่งก็รู้ความจริง กายนี้คือตัวทุกข์ ใจนี้คือตัวทุกข์

รู้ทุกข์เมื่อไรก็เห็นธรรมเมื่อนั้น รู้ทุกข์แจ่มแจ้งก็คือถึงที่สุดแห่งทุกข์ไป สิ้นโลก สิ่งที่เรียกว่าโลกก็คือรูปกับนาม รูปธรรมนามธรรม หลวงปู่เทสก์ท่านก็สอนว่า สิ้นโลกเหลือธรรม ไม่ใช่สิ้นโลกก็สิ้นธรรม สิ้นโลกแล้วเหลือธรรม เป็นอย่างนั้นจริงๆ ฉะนั้นพวกเราเอาการบ้านไปทำ รู้สึกกายรู้สึกใจบ่อยๆ

 

 

คำถาม 1: เมื่อปลายปีที่แล้ว หลวงพ่อให้การบ้านว่าไปเดินเยอะๆ แล้วสังเกตจิตตัวเอง ตอนนี้รู้ว่าตัวเองเป็นคนฟุ้งซ่าน โทสะเยอะ ขี้หงุดหงิด คำถามคือหลวงพ่อให้ไปเดินต่อ หรือต้องเพิ่มคำบริกรรมไหมคะ กราบขอบพระคุณค่ะ

หลวงพ่อ: จะไปเพิ่มมันทำไมล่ะ ที่เขาต้องเพิ่มบริกรรมลงไปเพราะสติมันไม่พอ ถ้าเราเดินแล้วเราเห็นทุกอย่างเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้ก็ดีแล้ว ก็เดินไปเรื่อยๆ เมื่อก่อนหลวงพ่อมีเพื่อนคนหนึ่ง เขา เป็นเมียของคนที่ทำงานด้วยกัน คนนี้ทำกรรมฐานอะไรไม่ได้เลย เดินได้อย่างเดียว ถ้านั่งก็หลับ ถ้าทำอย่างอื่นก็ไม่ได้ หลวงพ่อก็เคี่ยวเข็ญให้เดินเรื่อยเลย กลางค่ำกลางคืนบางทีโทรไปเตือน เดินหรือยัง ไปเดินซะ คนนี้เดินจนเท้านี่บวมใส่รองเท้าไม่ได้เลย ส้นสงส้นสูงอะไรไม่ได้ใส่เลย ผู้หญิงนะ เขาก็เดินไปเรื่อยนะ เขาเดินจนดีของเขา

หรือรุ่นหลังๆ เรามาก็มีเป็น head ของบริษัท งานหนัก กลับบ้านก็ทำหน้าที่ของแม่บ้านอีก ดูแลครอบครัว อาหารการกิน เสื้อผ้า ตัวบ้าน ดูแลหมดเลย มีเด็กช่วยงาน แต่นิสัยละเอียด ก็ดูหมดเลย กว่าจะว่างงานนี่ 5 ทุ่ม ทุกคนเข้านอนหมดแล้ว ตอนนี้แกว่างงาน ว่างงานถ้านั่งสมาธิก็หลับเลย เหนื่อยเต็มทีมาตั้งแต่เช้ามืดแล้ว เดินๆ ไปด้วยรู้สึกตัว เดินไปเห็นกายนี้มันเดิน ใจเป็นคนดู เดินไปเรื่อยๆ ถึงตี 1 ตี 2 อะไรนั่นล่ะถึงได้นอน พอตี 3 ตี 4 อะไรก็ลุกขึ้นเดินอีกแล้วเขาสู้อย่างนี้ คนที่เขาได้ดิบได้ดี ไม่ใช่กินๆ นอนๆ แล้วบรรลุ ต้องอดทน

ของหนูเดินได้วันละกี่ชั่วโมง 1 ชั่วโมง ก็เก่งเหมือนกัน ก็พัฒนาของเราไปเรื่อยๆ ต่อไปนี่ทุกก้าวที่เดินคือการปฏิบัติ สมมติเราจะเดินไปขึ้นรถเมล์ นี่ก็คือการเดินจงกรม เราจะไปเดินซื้อของตามห้าง จำเป็นต้องไปซื้อของ นี่ก็คือการเดินจงกรม เราจะรวมการปฏิบัติเข้าในชีวิตจริงๆ ของเราเลย พอตกเวลาตกค่ำอะไรอย่างนี้ ก็เดินตามรูปแบบที่เคยเดิน ระหว่างวันทุกก้าวที่เดินก็มีสติ ฝึกอย่างนี้อดทนไป

คนที่เขาได้ดี เขาก็อดทนเอา ไม่ใช่อยู่ๆ ก็ได้ดีเองหรอก เวลาสอนหลวงพ่อสอนทุกคนเหมือนๆ กัน สอนพร้อมๆ กันอย่างนี้ คนเอาจริงมันก็ได้ดี คนที่ฟังเล่น เดี๋ยวก็เลิกแล้ว พอหลวงพ่อบอกเลิก ก็เมาท์กันกระจุยกระจาย เตรียมไปเที่ยวต่ออะไรอย่างนี้ อีกนาน ทำตัวเองไม่มีใครเขาทำหรอก

 

คำถาม 2: ส่งการบ้านในรอบ 1 ปีค่ะ คราวที่แล้วหลวงพ่อให้ไปดูแต่ละขันธ์ทำงาน แต่หนูรู้สึกว่าหนูดูด้วยใจที่สบายมากขึ้น เข้าใจตนเองมากขึ้น เห็นกิเลสตัวเองมากขึ้น ทุกข์สั้นลง แต่ก็ยังรู้สึกว่าตัวเองยังกระเพื่อมขึ้นลงอยู่ อยากให้หลวงพ่อชี้แนะให้ลูกด้วยค่ะ

หลวงพ่อ: ถูกแล้ว จะไม่กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลงได้อย่างไร เราไม่ใช่พระอรหันต์ ตราบใดที่ยังไม่จบกิจ จิตก็ยังกระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลงตลอด เป็นธรรมดา อย่าไปเกลียดมัน มันฟูบ้างแฟบบ้าง มีสติตามรู้ไป เดี๋ยวปัญญามันก็แหลมคม รู้ว่าทุกอย่างเกิดแล้วดับ จิตกระเพื่อมขึ้นเกิดแล้วก็ดับ จิตกระเพื่อมลงเกิดแล้วก็ดับ จิตทุกชนิดเกิดแล้วก็ดับ ไปฝึกอย่างนี้อีก ฝึกไปอีก ทำไป

 

คำถาม 3: ส่งการบ้านในรอบ 3 ปี ทุกวันสวดมนต์เช้าเย็นวันละ 30 นาที ไม่ถนัดนั่งสมาธิ แต่ใช้คำบริกรรมพุทโธในใจเป็นฐาน หลวงพ่อเคยบอกว่า แยกธาตุขันธ์ได้แล้ว ให้ดูธาตุขันธ์ทำงาน เห็นทุกข์มากขึ้นและกิเลสบ่อยขึ้น แต่ใจยังไม่เป็นกลาง ยังมีความฟุ้งอยู่ คำถามคือ ปฏิบัติมานี่ มาถูกทางไหมคะ และควรปฏิบัติเพิ่มอย่างไร

หลวงพ่อ : ถูกแล้วล่ะ ทำอีก ทำถูกแล้วก็ทำบ่อยๆ ทำเรื่อยๆ ไป แต่ระมัดระวังอันหนึ่งก็คือ การเพ่งจิตให้นิ่ง การควบคุมจิตให้สงบเรียบร้อย อย่างขณะนี้เราเพ่งจิตไว้แล้ว จิตจะนิ่งๆ รู้สึกไหม เวลาเจอหลวงพ่อแล้วมันนิ่งมันก็เรื่องธรรมดา มันน่ากลัว แต่ว่าเวลาอยู่ของเราคนเดียวอย่าไปเพ่งแบบนี้ ปล่อยให้มันเคลื่อนไหวแล้วมีสติตามรู้ไป ใช้ได้แล้วล่ะ ดี ไปฝึกอีก
นี่มีจับฉลากใช่ไหม เหรอ รู้สึกมีแต่ผู้หญิงจับได้ ผู้ชายจับไม่เป็นหรือ มีแต่ผู้หญิงทั้งนั้นเลย

 

คำถาม 4: ปฏิบัติตามคำสอนหลวงพ่อประมาณ 3 ปี สวดมนต์ไหว้พระเดินจงกรมเช้าเย็น ก่อนนอน ครั้งละประมาณ 1 ชั่วโมง เห็นจิตเคลื่อนทางหูชัด เห็นจิตถูกบีบคั้นกลางหน้าอก เห็นการหมุนๆ อยู่กลางอก เห็นจิตตื่น มี 2 คำถามนะครับ คำถามแรก ขอกรรมฐานในการแก้กามราคะครับ

หลวงพ่อ: กามราคะมันก็มีเครื่องมือในการต่อสู้หลายตัว อันแรกก็คือวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าเราเห็นกามราคะเกิดขึ้น เราสักว่ารู้ว่าเห็น ก็เห็นมันเกิดแล้วก็ดับไป อันนี้อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งใช้สมถกรรมฐาน เวลากามราคะเกิด เราพิจารณาปฏิกูลอสุภะอะไรไป พอเราเห็นว่าร่างกายเรานี้มีแต่ของสกปรกโสโครก ร่างกายของคนที่เรามีราคะด้วย เต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก มันก็หายได้

แต่ถ้าทำสมถะก็ไม่สำเร็จ ทำวิปัสสนาก็ไม่สำเร็จ เราก็มีท่าไม้ตาย ไม้ตายก็คืออย่างไรราคะก็ต้องเกิด ยังหนุ่มอยู่เลย กามราคะมันยังมีอยู่ เป็นธรรมชาติ แต่พอกามราคะมันทำงาน มันจะกระตุ้นให้เราคิดไปในกาม มันจะกระตุ้นให้เกิดกามวิตกคือการตรึกในกาม เราอย่าไปคิดต่อ เวลาความรู้สึกทางเพศผุดขึ้นมา แค่รู้แค่เห็น แต่มันผุดขึ้นมาแล้วมันจะกระตุ้นให้เราคิด นึกออกไหมตัวนี้ ดูออกไหม มันจะกระตุ้นให้เราไปคิดในเรื่องกาม ยิ่งเราไปคิดพลังของกามราคะก็จะยิ่งแรงขึ้น คล้ายๆ ได้อาหารดี ฉะนั้นเราอย่าให้อาหารมัน มันผุดขึ้นมา ร่างกายยังมีฮอร์โมนเพศอยู่ มันก็ผุดขึ้นมาเป็นธรรมชาติ ผุดขึ้นมาแล้วมันจะกระตุ้นให้เราไปคิด ลามกขึ้นมาอย่างนี้ เราไม่คิด เรารู้ทันว่าใจกำลังอยากคิด ดูตรงนี้

ถ้าเราสามารถตัดตรงกามวิตกได้ กามราคะจะสลายไป หมดฤทธิ์หมดเดชไปเลย ตรงนี้หลวงพ่อสอนพระในวัดด้วยซ้ำไป เพราะพระเวลากามเกิดขึ้นมานี่ทรมานมากเลย ถ้าพระดีก็ทรมานมาก พระไม่ดีก็อย่างนั้นๆ ล่ะ พระดีนี่ทุกข์มากเวลากามมันเกิด บางทีแทบจะเอาหัวโขกข้างฝาเลย สู้มันไม่ไหว หลวงพ่อบอกไม่ต้องไปกลัวมัน อย่าไปคิดต่อเท่านั้น พอเราไม่ให้อาหารคือไม่คิดในกาม มันก็ค่อยๆ สลายตัวไป อ่อนกำลังลง แล้วต่อไปพอผุดขึ้นมาเราดูปุ๊บมันก็ดับ ใช้สมถะใช้วิปัสสนาสู้ไป ถ้าสู้ไม่ได้ก็ตัดมันที่กามวิตก เคยมีคนถามพระพุทธเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์มีกามราคะหรือไม่” พระพุทธเจ้าตอบว่า “เราไม่มีกามราคะ เพราะเราไม่มีกามวิตก”

เพราะฉะนั้นเราดูตรงกามวิตกนั่นล่ะ กามราคะก็เรื่องจิ๊บจ๊อย กระจอก

 

คำถาม 5: ปฏิบัติในชีวิตประจำวันโดยการดูความคิด ดูความพอใจและไม่พอใจที่เกิดขึ้น พยายามที่จะไม่ยึด ปล่อยวางกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น ปฏิบัติในรูปแบบ สมาธิเหมือนจะสงบ แต่ไม่สงบ เพราะมีความคิดผุดขึ้นมาตลอด แต่ก็ไม่มีความรำคาญ สามารถอยู่กับความคิดนั้นได้

หลวงพ่อ: ก็ฝึกไปเรื่อยๆ สงบก็ช่างไม่สงบก็ช่าง เราไม่ได้ฝึกเอาสงบ ไม่ได้ฝึกเอาสุข ไม่ได้ฝึกเอาดี เราฝึกให้เห็นความจริงว่าไม่มีอะไรที่เราควบคุมได้จริงหรอก ร่างกายนี้ก็ไม่ใช่ตัวเราจิตใจนี้ก็ไม่ใช่ตัวเรา ดูมันไปเรื่อยๆ ดี ไปทำต่อไป อย่าประคองจิตให้นิ่งก็แล้วกัน

 

คำถาม 6: หลวงพ่อให้ไปดูตัณหา เพราะตัวนี้บงการพฤติกรรมอยู่ เห็นว่าทุกครั้งที่เกิดตันหา ความทุกข์ก็จะตามมา และเพราะความไม่รู้จึงปรุงความคิดปรุงแต่ง แล้วตัวตนก็ใหญ่ขึ้น เป็นตัวปรุงให้ตัวตนใหญ่ขึ้น ขยายความทุกข์ให้ใหญ่ขึ้น ตอนนี้จิตโดนครอบงำด้วยกิเลส โมหะ โทสะ ความอยากที่จะพ้นทุกข์ จะผ่านจุดนี้ไปได้ด้วยวิธีไหนคะ

หลวงพ่อ: รู้อย่างที่มันเป็น แล้วใจเราไม่เป็นกลางรู้ว่าไม่เป็นกลาง

Keyword ที่หลวงพ่อสอนนี่ใช้จนตลอดสายของการปฏิบัติได้เลย “มีสติรู้กาย รู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง” ตัวนี้ใช้ได้ตลอดเลย ถ้าเคลื่อนไปจากหลักนี้ก็ไม่มีวิปัสสนากรรมฐานแล้ว อดทนเอา อย่าไปอยาก ว่าอยากพ้นเร็วๆ ยิ่งอยากยิ่งไม่พ้น เพราะความอยากเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เราจะอยากแล้วหวังว่าจะพ้นทุกข์นี่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะเราไปทำเหตุของทุกข์ ฉะนั้นรู้ทันใจที่อยากไป อยู่กับปัจจุบันไป ดีบ้างชั่วบ้าง ดูไป

การที่เราเห็นกิเลสมากมายขึ้นมานี้ อันนี้เป็นเพราะสมาธิของเราตก กำลังสมาธิเราไม่พอ ใจมันฟุ้งแล้วกิเลสมันเลยฟุ้ง ผุดๆ ขึ้นมาเยอะแยะไปหมดเลย ต้องแบ่งเวลาไว้ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ทำทุกวันๆ มีเวลาทำได้ทุกชั่วโมงยิ่งดี ชั่วโมงหนึ่ง 5 นาทีก็ยังดี ใจจะมีพลังมากกว่านี้ ตอนนี้ใจยังไม่ค่อยมีพลัง พอใจไม่มีพลังใจมันจะไหลแฉลบไปแฉลบมา กิเลสมันจะพาเราไปกิน ไปเพิ่มสมาธิขึ้นอย่างที่บอก ไม่ได้มุ่งเอาสงบ แต่ทำกรรมฐานไป หายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป ทำไปเรื่อยๆ ทุกชั่วโมงทำให้ได้ชั่วโมงละ 5 นาทีก็ยังดี เอ้า ต่อไป

 

คำถาม 7:  จิตไม่ตั้งมั่น ทำสมาธิผิด เลยไม่กล้าทำอีก ขอหลวงพ่อเมตตาด้วย ไปเข้าสมาธิแล้วรู้ไม่ทันจิตเจ้าค่ะ จิตเห็นจิตเข้าไปอยู่ในช่องว่าง พยายามจะถอยออกแต่ถอยไม่ได้ค่ะ

หลวงพ่อ: ไม่ต้องถอยหรอก จิตไปอยู่ที่ช่องว่างก็รู้ว่าจิตอยู่ในช่องว่าง มันไม่เที่ยงเดี๋ยวมันก็ออกมาเอง ถ้าเราไปหวังว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นจะต้องไม่เป็นอย่างนี้ จิตเราจะวุ่นวาย ฉะนั้นเราภาวนาไป จิตลงไปอยู่ในช่องว่าง รู้ว่าไปอยู่ที่ช่องว่าง ถ้ายินดีพอใจในช่องว่าง ให้รู้ว่ายินดี ถ้ายินร้ายไม่พอใจที่มาอยู่ในช่องว่าง ให้รู้ว่ายินร้าย

เพราะฉะนั้นมันจะอยู่ตรงไหนไม่สำคัญ สำคัญที่ว่ายินดีแล้วรู้ทัน ยินร้ายแล้วรู้ทัน ไม่ใช่ไปปฏิเสธมัน การที่จิตเราไปอยู่ตรงนั้นได้จิตมันสูงแล้ว ไม่จำเป็นต้องทิ้งไป แค่อยู่กับมันด้วยความเป็นกลางเท่านั้น อย่างพระบางองค์ท่านมีความสุข ภาวนาเดินจงกรมแล้วมีความสุข แล้วเพลินในความสุข อันนี้ถือว่าไม่ดีแล้ว แต่ถ้ามีความสุข ใจท่านเพลิดเพลิน ท่านรู้ว่าเพลิดเพลินอยู่ อันนี้ดี ไปภาวนาต่อไม่ต้องเลิก

 

คำถาม 8: เห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวเอง มีความก้าวหน้าตามลำดับ ขอให้หลวงพ่อโปรดชี้แนะด้วยว่า มีสิ่งใดยังติดอยู่หรือไม่ ที่ปฏิบัติอยู่ หนูพอช่วยเหลือตัวเองได้หรือยัง และหนูพอจะให้คำแนะนำคุณแม่ได้หรือไม่

หลวงพ่อ: เอาซีดีหลวงพ่อไปให้ฟังดีกว่านะ จิตของเรายังไม่ได้สะอาดพอหรอก มันยังเจือโลภ เจืออะไรอยู่ อย่างขณะนี้ จิตก็ยังบังคับอยู่รู้สึกไหม เรายังเพ่ง มันยังเครียดๆ อยู่เลย

วิธีสอนพ่อแม่ที่ดีที่สุด คือเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เขาดู อย่างเราสมมุติเราเคยเป็นคนโมโหร้าย เดี๋ยวนี้โมโหไม่ร้าย มีความแตกต่างอย่างนี้ เราก็ไปบอกแม่ได้ ว่านี่เดี๋ยวนี้เราฝึก เรามีสติ เราเปลี่ยนไปแล้ว ต้องมีหลักฐานไปให้เขาเห็น ลำพังอธิบายเฉยๆ เขาไม่เชื่อหรอก เด็กเมื่อวานซืน ฉะนั้นเราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ได้ซะก่อน แล้วเอาความเปลี่ยนแปลงนี้ไปให้แม่ดู แล้วไปบอกแม่ว่าเราเปลี่ยนแปลงได้เพราะอะไร เขาถึงจะเชื่อ ไปดูตัวนี้ด้วย ตัว self ตัวอัตตา ตัวนี้ไปดูด้วย มันจะแรงอยู่เหมือนกัน คอยรู้ทันมัน

 

 

หลวงพ่ออนุโมทนานะ อาทิตย์ก่อนมีคนมาโวยวายใช่ไหม หรืออาทิตย์ถัดไป เราสงบสันติของเราอยู่ได้ อย่างนี้สมเป็นลูกศิษย์มีครู ถ้าเราไปชกกับเขาก็อย่างนั้นๆ ล่ะ คนอื่นก็ทำเป็น แก้ปัญหาแก้อะไร มีคนบุกมา ไม่ได้จองนะ คนบุกมา ไปเห็นชื่อของคนที่จอง อยากจะซื้อที่ของคนนี้ อยากจะซื้อที่ดินเขา แล้วทำท่าทางน่ากลัว เขาก็พยายามหนีอยู่ มาตามที่วัด ก็โวยวายๆ แต่พวกเราก็แก้ปัญหากันด้วยดี สงบไป ที่วัดไม่ใช่ที่จะมาตื๊อ ซื้อที่ดินใครและไม่ใช่ที่ขายที่ดินด้วย

วัดไม่ใช่สถานที่ซื้อขายอะไร วัดไม่ใช่สถานที่รณรงค์ทางการเมืองด้วย ถ้าใครรณรงค์ทางการเมืองไม่ว่าฝ่ายไหน ก็เชิญ (หลวงพ่อทำมือเชิญออกไป) วัดเป็นที่ของพระพุทธเจ้า ที่ๆ สงบสันติ ความวุ่นวายทิ้งมันไว้นอกวัด ตอนนี้เข้ามาในวัด มาสัมผัสความร่มเย็นเป็นสุขของธรรมะ อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าเราเข้าวัดเป็น อย่างถ้าเข้าวัดมาเพื่อจะมาหลอกคน มีนะ เข้ามาแล้วเที่ยวทายจิตคนโน้นอย่างนี้จะให้เขานับถือ หาลาภสักการะอะไรอย่างนี้ก็มี หลวงพ่อก็ต้องไล่ออกไปถ้าเห็น มีแปลกๆ

ถ้าเราเข้าวัดมาเพื่อจะมาเรียนรู้ธรรมะ เพื่อลดละกิเลสตัวเอง อย่างนี้ดี มีผู้หญิงบางคน มานี่ด้วยการนั่งรอ ว่าเมื่อไหร่หลวงพี่องค์นี้จะสึก มีนะไม่ใช่ไม่มี อย่านึกว่าไม่รู้ แต่ว่าไม่อยากว่าหรอก ไปหาเอาที่อื่นไป๊ อย่ามาสึกพระไปเลย พวกที่บวชอยู่ทำมาหากินไม่ค่อยเป็นหรอก เอาไปเป็นภาระเปล่าๆ เอาไปเหมือนหาลูกไปเพิ่ม เป็นภาระ อย่าเอาเลย พวกบวชแล้วนี่ ทิ้งไว้ที่วัดนี่ล่ะ เอ้า เชิญกลับบ้าน

 

 

พระธรรมเทศนาหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
23 สิงหาคม 2563