ต้องปฏิบัติให้ครบทั้งศีล สมาธิ ปัญญา

การปฏิบัติเราต้องทำให้ครบ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าขาดอันใดอันหนึ่ง การภาวนาก็จะล้มเหลว ศีลก็ฝึกตัวเอง ไม่ตามใจกิเลส สมาธิก็ฝึกให้จิตใจสงบจากกิเลสชั่วครั้งชั่วคราว แล้วอาศัยช่วงเวลานั้นมาเจริญปัญญา ถ้าเราเอาใจที่ปนเปื้อนกิเลสไปเจริญปัญญา มันทำไม่ได้จริง ฉะนั้นศีล สมาธิ ปัญญา เป็นของสำคัญ ขาดไม่ได้

มีศีล มีสมาธิ แล้วไม่เจริญปัญญา มันก็ไปเกิดที่ดีๆ ได้ มีศีลก็เป็นมนุษย์ได้ เป็นเทวดาได้ มีสมาธิมากๆ ก็ไปเป็นพรหมได้ แต่ถ้ามีปัญญาแล้วไม่มีศีล มันเป็นปัญญาจอมปลอม เราจะเห็นในโลก มันมีคนฉลาด ฉลาดอย่างโลกๆ แต่ไม่รักษาศีล อย่างเอาเปรียบคนอื่นได้ก็เอาเลย หายใจเข้า หายใจออกก็คิดแต่จะเอาเงินคนอื่น ไม่มีศีล ความฉลาดอย่างนั้นทำร้ายคนอื่น ทำร้ายตัวเอง สุดท้ายตัวเองก็ไม่เหลืออะไร ไม่เหลือคุณงามความดี

ศีลไม่มีเสียอย่างเดียว ฉลาด ครูบาอาจารย์ท่านบอกฉลาดแบบมหาโจร ฉลาดในทางเบียดเบียนล้างผลาญ เอาเปรียบ ฉลาดในทางโกงบ้านโกงเมือง โดยไม่ผิดกฎหมาย ความฉลาดที่ไม่มีศีลหนุนหลัง ถามว่าจิตใจจะเข้าถึงความสุขความสงบที่แท้จริงได้ไหม เข้าไม่ได้ ถ้ามีแต่สมาธิ ไม่มีศีล ก็นึกถึงตัวอย่างไอดอลในเรื่องนี้คือเทวทัต เทวทัตพัฒนาจิตใจมีสมาธิขึ้นมา แต่ศีลเสีย สุดท้ายสมาธิก็เสื่อม ฉะนั้นศีล สมาธิ ปัญญา มันช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ขาดอันใดอันหนึ่งไม่ได้ ก็ล้มทั้งระบบเลย

 

ฝึกลด พยายามละ สู้กับกิเลส

เพราะฉะนั้นทุกวันเราต้องตั้งใจรักษาศีล ไม่ต้องรักษาเยอะหรอก เอาศีล 5 ข้อก็พอ คนโบราณเขาก็ถือศีล 5 แล้วก็ถึงวันพระทีหนึ่ง เขาไปถืออุโบสถศีล ไปอยู่วัด อันนั้นก็เป็นอุบายของคนโบราณ เป็นอุบายที่ดี ที่จะหัดให้ตัวเองออกจากกาม อย่างน้อย 8 วัน 15 วันออกครั้งหนึ่ง ไปถือศีลประพฤติพรหมจรรย์ ไม่กินข้าวเย็น ฝึกตัวเอง ไม่ได้ทำทุกวัน ถ้าทำทุกวัน เป็นฆราวาสถือศีล 8 ไม่กินข้าวเย็นทุกวัน แล้วทำงานหนักๆ บางทีก็เป็นโรคกระเพาะ ป่วยไป แต่อย่างคนโบราณวันพระเขาไม่ทำงานอะไร เขาไปอยู่วัดกัน ไปภาวนา ก็มีวันหยุดของเขาเหมือนกัน พอไม่ต้องใช้กำลังมาก ก็ไม่จำเป็นต้องกินอาหารตอนเย็น ก็ฝึกตัวเอง

เคยนอนสบายๆ ไปอยู่วัดก็นอนเสื่อ ก็ฝึกตัวเอง นอนเสื่อ นอนไม้กระดาน ดีนะ หลวงพ่อฝึกตัวเองตั้งแต่เป็นโยม นอนบนไม้กระดาน ที่นอนหนาๆ มีอยู่ แต่หลวงพ่อไม่ชอบนอน นอนแล้วมันหลับยาวเกินไป เอาไม้กระดาน จริงๆ เป็นบานประตู ยัดไว้ใต้ผ้าปูที่นอนอีกทีหนึ่ง ทำไมต้องทำพิลึกพิลั่น ถ้าคนเห็นเรานอนไม้กระดาน มันเรื่องใหญ่ วุ่นวาย ถามโน่นถามนี่ ดูว่าเราเพี้ยนมาก เราก็เลยซ่อนไม้เอาไว้ นอนไม้มีข้อดี จะพลิกซ้าย จะพลิกขวา รู้ตัวตลอดเลย คนโบราณเขาไปอยู่วัด เขาก็ไปนอนกับเสื่อ นอนกับพื้น ก็เป็นการฝึกไม่ให้ติด ความสุขความสบายจากการนอน

สิ่งที่เราติด คนทั่วโลกติด สัตว์ทั้งหลายติด ก็ติดเรื่องกิน ติดเรื่องนอน ติดเรื่องกาม 3 ตัวนี้ กิน แล้วก็เรื่องกิน เรื่องนอน เรื่องกาม เวลาถือศีล 8 ก็เป็นการฝึกตัวเอง ออกจากความเคยชิน 3 อย่างนี้ล่ะ ไม่กินข้าวเย็น ก็ฝึกควบคุมตัวเองเรื่องการกิน นอน ไม่นอนที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ นอนเสื่อ นอนไม้ ก็เป็นการฝึกไม่ให้ติดความสุขจากการนอน อยู่วัดมันก็ไม่มีแฟนไปด้วยก็ไม่ได้เสพกาม ฉะนั้นนั่นเป็นเรื่องอุบายของคนโบราณ วันพระเขาก็ไปอยู่วัดกัน ก็ได้ถือศีล 8 ก็เป็นการฝึกตัวเองให้ลดละปัญหาเรื่องการกิน การนอน แล้วก็ลดละเรื่องกาม ของเราจะฝึกบ้างก็ได้ วันเสาร์ วันอาทิตย์อะไรอย่างนี้ ถ้าไม่ได้ใช้กำลังมาก ก็ฝึก ลองดูบ้างก็ได้ ไม่เสียหลายหรอก อย่างน้อยดูแลตัวเองเรื่องกิน เรื่องนอน

เวลาหลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อฝึกตัวเอง กินง่าย นอนง่าย อยู่ง่าย พอมาเป็นพระ สบายมากเลย ไม่ลำบาก นอนบนเสื่อ เฉยๆ สบาย ที่วัด พวกเราจะเห็น อาหารมาที่วัดมากมายมหาศาล แต่ละวัน หลวงพ่อไม่เคยเลือกเลย ไม่เคยเลือกเลย พระอาจารย์อ๊าเป็นคนตักอาหารให้ทุกวัน ออกไปข้างนอก ไปแวะฉันข้าวกลางทาง หลวงพ่อก็ไม่ได้เป็นคนสั่ง พระอาจารย์อ๊าก็สั่งให้ เราก็กินตามมีตามได้ ไม่ได้เลือก นั่นเป็นการฝึก กระทั่งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็พยายามฝึกตัวเอง แต่ไหนแต่ไรก็ฝึกอย่างนั้น อยู่ง่าย กินง่าย ไม่เรื่องมาก

ภาวนาบ่อยๆ จิตใจสงบสุข จิตใจมีสมาธิมากขึ้น เรื่องกามมันก็ลดลงไปเอง เป็นเรื่องเล็กเลย ถ้าจิตใจเราไม่มีสมาธิ เรามีแต่ศีล เจอกาม บางทีสู้ลำบาก แล้วถ้าจิตมีสมาธิ สู้กับกามไม่ใช่เรื่องยาก เพราะว่าที่เราหิวโหยในกาม เพราะติดในความสุข คิดว่ากามนำความสุขมาให้ แต่ถ้าเราเคยภาวนา จิตใจเราเคยสงบ มีสมาธิขึ้นมา เรามีความสุขที่เหนือกว่ากาม เพราะฉะนั้นอย่างถ้าพระภาวนาตั้งอกตั้งใจ เรื่องกามไม่ใช่เรื่องน่ากลัว

อย่างพระหนุ่มๆ มา เดือดร้อน เวลากามคุณอารมณ์มันเกิดรุนแรง โอ๊ย สู้กันแทบเป็นแทบตาย แล้วภาวนา ถ้าเราได้สมาธิ ก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ใจมีความสุขกับความสงบแล้ว มันจะไปยุ่งอะไรกับกาม กามนั้นจิตมันกระเพื่อมหวั่นไหว สมาธิก็ชนะกามได้ ที่พูดมาทั้งหมดก็จะบอกเราว่า สิ่งที่เราติด ก็ติดเรื่องกิน เรื่องนอน เรื่องกาม ถ้าเราถือศีล โดยเฉพาะถ้าได้ศีล 8 แล้วก็ฝึกสมาธิเอาไว้ มันจะไม่ใช่เรื่องลำบาก ถ้าใจไม่มีสมาธิ ลำบาก

เมื่อก่อนหลวงพ่อไปอยู่วัดครูบาอาจารย์ บางทีตามกุฏิมันไม่สงบ ผู้คนพลุกพล่าน หลวงพ่อก็เอากลดเอาเต็นท์ไปนอนใต้ต้นไม้ นอนกับดิน สบาย ไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย นอนกลางแจ้ง นอนในที่โล่ง สติก็ไว สติมันก็ไว อะไรแกรกๆ กรากๆ นิดหนึ่ง ก็จะรู้ตัวขึ้นมาแล้ว ไม่นอนเป็นหมูเป็นหมา นอนไปเรื่อยๆ ไม่รู้เรื่องอะไร พยายามฝึก ที่ผ่านมาฝึกตัวเองมาอย่างนี้ ไม่ได้ฝึกมาว่าอยากกินก็กิน อยากนอนก็นอน อยากเสพกามก็เสพ ไม่ใช่ ก็ต้องพยายามฝึกลด พยายามละ สู้กับกิเลส ถ้ากิเลสมันรุนแรง มันจะทำผิดศีล ตั้งใจไม่ทำ ข่มใจ

ศีลเป็นเครื่องข่มใจ ไม่ให้ไหลตามกิเลส สมาธิเป็นเครื่องข่มกิเลส ไม่ให้มีอำนาจเหนือใจ ปัญญาเป็นเครื่องล้างผลาญทำลาย ขุดรากถอนโคนกิเลส 3 สิ่งนี้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ขาดอันใดอันหนึ่งก็สู้ยาก สู้ไม่ไหว

 

ถึงพร้อมทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา

เมื่อก่อนมีคนไปถามหลวงปู่เทสก์ ในเมืองนอก ในต่างประเทศ เขามีสำนักใช้ปัญญา ปัญญาอย่างเดียวเลย ก็คือ เอ้า พูดตรงๆ ก็เซน มันมีอยู่ช่วงหนึ่งที่คนไทยเห่อเซน ชอบคิดว่าฟังอะไรนิดเดียว สะกิดก็บรรลุเลย คือเซน ต้นตอเขาจริงๆ ไม่ได้ชุ่ยๆ อย่างที่เราได้มา ของเราได้มาส่วนเดียวของเซน คือการเจริญปัญญา จริงๆ เซน ชื่อมันก็แปลว่าฌาน เพราะฉะนั้นเขาทำสมาธิด้วย เขารักษาศีลด้วย เพราะฉะนั้นแล้วเขาเจริญปัญญา การที่เขาได้มรรคผลก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เซนพอเข้ามาเมืองไทย มาแต่ง เอาหนังสือเซนมาแปลกัน กลายเป็นเรื่องปัญญาล้วนๆ เลย คนไปถามหลวงปู่เทสก์ว่า ถ้าปฏิบัติแนวเซนใช้ได้ไหม ท่านบอกไม่ได้หรอก มีแต่ปัญญา ไม่มีศีล ไม่มีสมาธิ อันนี้ท่านเห็นหนังสือเซน คนไปเล่าให้ท่านฟัง บอกอย่างนี้ใช้ไม่ได้ มันต้องถึงพร้อมทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ถึงจะใช้ได้

เราต้องฝึก ของฟรีไม่มี ทุกวันตื่นมาก็ตั้งใจว่า ตลอดวันนี้เราจะรักษาศีล กลางวันก่อนจะกินข้าว เอามันให้ได้ทุกมื้อเลย ก่อนจะกินข้าวทุกมื้อ ตั้งใจว่าเราจะรักษาศีล ก่อนนอนเอาอีกสักมื้อหนึ่ง อีกสักรอบหนึ่ง คล้ายๆ กินยาวันละ 4 รอบ ตั้งใจไว้ว่าเราจะรักษาศีล ก่อนนอนก็ต้องตั้งใจ ถ้าเราบอกตัวเอง เตือนตัวเอง ว่าเราจะต้องรักษาศีล เกิดฝันมาไม่ดี ฝันจะผิดศีล ศีลมันจะเตือนเรา กระทั่งในฝัน มันเข้าไปเตือนเราเอง เฮ้ย อย่างนี้ผิดศีลนะ คือถ้าเราเคยถือศีลจนกระทั่งชำนาญ ชิน

เพราะฉะนั้นทุกวันเตือนตัวเองเรื่อยๆ ว่าเราจะต้องรักษาศีล เตือนเป็นระยะๆ ส่วนสมาธิต้องฝึก การฝึกสมาธิก็ทำได้ ต้องทำในรูปแบบ จะฝึกสมาธิ ถ้าเราทิ้งการทำในรูปแบบ สมาธิเราจะไม่มีแรง หลวงพ่อทำสมาธิตั้งแต่เด็ก ทำอยู่ 22 ปีด้วยอานาปานสติ จิตสงบ แล้วมันไม่ได้ประโยชน์อะไร ได้แต่ความสงบ รู้สึกดูถูกสมาธิ พอหลวงปู่ดูลย์สอนเรื่องเจริญปัญญา เลยเจริญปัญญารวดเลย ดูจิตดูใจ เห็นความเกิดดับเปลี่ยนแปลง

ดูไปเรื่อย เลยไม่ยอมทำสมาธิ รู้สึกไร้สาระ ใช้เวลาตรงนี้ เดินปัญญาอยู่ได้ดีๆ ประมาณ 2 ปี หลังจากนั้นสมาธิที่สะสมไว้ มันไม่พอแล้ว เดินปัญญาไป จิตก็สว่างว่าง แล้วก็ไปหลงอยู่อย่างนั้น จิตมันไม่เข้าฐาน กว่าจะรู้ใช้เวลาหลงผิดเป็นปีเลย เกิดสงสัยตัวเองว่า เอ๊ะ พระพุทธเจ้าว่าจิตไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทำไมจิตเราเที่ยง ทำไมจิตเรามีแต่ความสุข ทำไมจิตเราบังคับได้ มันผิดตรงไหน ดูไม่ออกว่าผิดตรงไหน ดีมีโอกาสถามหลวงตามหาบัว ท่านก็ไม่ได้บอกว่า การดูจิตมันผิด ท่านไม่เคยบอกอย่างนั้น

ท่านบอกหลวงพ่อบอกว่า “ที่ว่าดูจิตนั้น ดูไม่ถึงจิตแล้ว ต้องเชื่อเรานะ ตรงนี้สำคัญนะ เราผ่านมาด้วยตัวเอง อะไรๆ ก็สู้บริกรรมไม่ได้” ท่านสอนอย่างนี้ หลวงพ่อก็นึกขึ้นได้ โอ้ ท่านให้บริกรรม เราก็บริกรรมพุทโธๆ ใจมันไม่ชอบ รำคาญ ก็พิจารณาว่า เอ๊ะ ท่านให้บริกรรม แสดงว่าสมาธิเราตก ก็เลยมาทำสมาธิที่เราคุ้นเคย หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ทำไม่นานจิตก็รวมลงมา จิตเข้าฐาน ก็เลยรู้เลย โอ๊ย เราพลาด เราทิ้งสมาธิไปนาน จนกระทั่งสมาธิหมด เสื่อม จิตไม่เข้าฐาน แล้วบอกว่าเจริญปัญญาอยู่ มันไม่เจริญหรอก มันก็นิ่งๆ ว่างๆ หลงๆ อยู่อย่างนั้น เผลอๆ เพลินๆ ไป

เพราะฉะนั้นการทำสมาธิก็สำคัญ ทิ้งไม่ได้ การทำสมาธิ เราจะต้องมีอารมณ์กรรมฐานสักอย่างหนึ่ง เอาอารมณ์ที่เราถนัด ถ้าอย่างหนึ่งน้อยไปก็ 2 อย่าง 2 อย่างน้อยไปก็ 3 อย่าง อย่าให้เกินนั้นไป ถ้ามากๆ เกินไป ใจจะฟุ้งซ่าน จับจด ใจจับจด คือเดี๋ยวก็จะเอาอันนี้ เดี๋ยวก็อันนี้ จิตไม่รวมหรอก หลวงพ่อเคยใช้ 3 อย่าง ใช้หายใจเข้า หายใจออก นี่รู้ลมหายใจอันหนึ่ง บริกรรมพุทโธเข้าไปด้วย นี่อันที่ 2 อันที่ 3 นับเลขด้วย หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับ 1 หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับ 2 สังเกตดูถ้ามากกว่านี้ ฟุ้งซ่าน ไม่มีทางสงบ

เราใช้กรรมฐานที่เราถนัด ถ้าถนัดอย่างที่หลวงพ่อบอกก็ใช้อย่างนี้ ถ้าไม่ถนัดก็ใช้อย่างอื่น คือหลักของมันมีอันเดียว น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง แล้วอารมณ์นั้นต้องไม่ยั่วให้เกิดกิเลส อย่างถ้าบางคนก็พิจารณาความตาย พิจารณาอยู่เรื่อย ต่อไปเราก็ตาย คนโน้นก็ตาย คนนี้ก็ตาย หมาก็ตาย แมวก็ตาย ต้นไม้ยังตายเลย พิจารณาไปเรื่อย มองอะไรก็เห็นความตายแทรกอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง มองต้นไม้ก็เห็น มีความตายแทรกอยู่ เออ เดี๋ยวใบไม้มันก็ตายแล้ว มันร่วงลงมา ช่วงนี้ต้นสาละ ต้นอะไรก็ร่วงเยอะ มองเห็น โอ้ มันก็ตายเหมือนกัน ดูหมา ดูแมว ดูสัตว์ ก็เห็นมันก็ตาย ดูคนที่เรารู้จักก็ตายอยู่เรื่อยๆ ต่อไปเราก็ตายเหมือนกัน ตอนนี้ก็ตายเล็กตายน้อย ต่อไปก็ตายทั้งตัว

ตายเล็กตายน้อย อย่างผมเรายาวขึ้นมา เราก็ไปตัดออกไป มันก็ตายไปส่วนหนึ่งแล้ว ผมที่ตัดไปแล้ว มันก็ไม่งอกแล้ว มันก็ไม่รู้สึกว่าเป็นผมเราแล้ว เล็บนี้เราตัดออกไป หรือฟันหัก ฟันหลุด ถอนฟันออกไป หรือหนังถลอกออกไป หนังส่วนที่ถลอกออกไป เราก็ไม่เห็นว่ามันเป็นเราแล้ว กรรมฐาน 5 ตัว ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ดูลงไปก็จะเห็น ร่างกายเราตายอยู่ตลอดเวลา ตาย ผมก็ตาย ขนก็ตาย เล็บก็ตาย ฟันก็ตาย หนังก็ตาย พิจารณาเรื่อยๆ ไป อย่างนี้ใจมันก็จะเคล้าเคลีย คนเราถ้าคิดถึงความตาย ความบ้าหลงโลกมันก็จะลดลง แล้วมันคิดว่ามันต้องตาย

แต่มันก็มีคน 2 จำพวก พวกหนึ่งมันคิดว่ามันจะต้องตาย มันก็เลยทำชั่วตามสบายใจ อยากทำอะไรก็ทำเลย เมื่อก่อนมีประเทศหนึ่ง ไม่อยากเอ่ยชื่อ เป็นจุดเริ่มต้นที่โรคเอดส์ระบาด คนเป็นเอดส์เต็มบ้านเต็มเมืองเลย พวกนักศึกษาพวกอะไรก็เป็น คราวนี้มันก็รู้ว่า มันจะต้องตายแล้ว เจอใครมันก็ข่มขืนแหลกลาญไปเลย มั่วไปทั้งประเทศเลย ไหนๆ จะตายแล้ว ทำชั่วให้เต็มที่ อยากทำอะไรก็ทำ นี้กลุ่มหนึ่ง อีกกลุ่มหนึ่งคิดว่าเราจะต้องตาย ก็พยายามมาฝึกตัวเอง ไหนๆ จะตายทั้งทีแล้ว ใช้ชีวิตส่วนที่เหลืออยู่ให้ดีที่สุด

คนมีปัญญาสัมมาทิฏฐิกับคนมิจฉาทิฏฐิ อยู่ในสถานการณ์อันเดียวกัน ก็เลือกเดินคนละเส้นทางกัน พวกมิจฉาทิฏฐิก็เดินไปในทางที่เลวลง พวกสัมมาทิฏฐิคิดถึงความตายแล้ว ก็เดินในทางที่ดีขึ้น ถ้าเราตายแล้วเราจะโลภไปทำไม ถ้าจะต้องตายอยู่แล้ว เราจะโกรธคน จะอาฆาตคนไปทำไม อีกหน่อยก็ตายเหมือนกันหมด แล้วไม่รู้จะสะสมสมบัติอะไรไปเท่าไร อีกหน่อยก็ต้องทิ้งไปหมด กลายเป็นของคนอื่นหมด

พวกมีสัมมาทิฏฐิก็จะมองกลับข้างกับพวกมิจฉาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิคิดถึงความตายแล้ว ก็จะรีบเสพทุกอย่างที่ต้องการ พวกสัมมาทิฏฐิก็จะเห็นว่า จะวิ่งหาอะไรมากมาย ไม่มีสาระแก่นสาร พอใจมันไม่ดิ้นรนแสวงหาอะไรมากมันก็สงบ จิตใจมันก็สงบ เพราะฉะนั้นแค่คิดถึงความตาย ใจเราก็สงบได้ ก็เป็นสมาธิอย่างหนึ่ง จิตสงบ

ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง เอาที่เราถนัด ชอบพระพุทธเจ้า คิดถึงพระพุทธเจ้า ก็นึกถึงพระพุทธเจ้าบ่อยๆ พุทโธๆ แล้วก็คิดถึงพระพุทธเจ้าไป พระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พิจารณาคิดไปเรื่อยๆ มีบทหนึ่ง หลวงพ่อชอบ บทที่บอกว่า “พุทโธ สุสุทโธ กะรุณามะหัณณะโว พระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์ มีพระกรุณาดังห้วงมหรรณพ” คือเหมือนมหาสมุทรเลย ความกรุณาของท่านพอเราคิดถึงตรงนี้ คิดถึงความกรุณาของพระพุทธเจ้า จิตใจมันอิ่มเอิบเบิกบาน มีความสุข มีเรี่ยวมีแรงที่จะทำคุณงามความดี อันนี้เป็นจริตนิสัย จริตนิสัยของหลวงพ่อ มันเคยปรารถนาพุทธภูมิ

เพราะฉะนั้นตัวที่กระตุ้นให้จิตใจเข้มแข็งคือตัวกรุณา แล้วเวลาภาวนาในบทสรรเสริญพระพุทธเจ้า ถ้าเป็นบทกรุณาของท่าน โอ๊ย มันจะซาบซึ้ง มีปีติ บางทีน้ำตาร่วงเลย เราก็รู้จักวิธีทำทำให้จิตสงบ วิธีให้จิตสงบเยอะแยะไปหมดเลย ที่เล่ามานี้เป็นตัวอย่าง แท้จริงแล้วการทำจิตให้สงบ ทำได้ไม่นับวิธีเลย นับไม่ถ้วน ในตำราเขาก็รวมไว้ 40 อย่าง อันนั้นเป็นตัวอย่าง ในความเป็นจริงนั้น นับไม่ถ้วนเลย

 

ก่อนจะง่ายก็ยากมาแล้วทั้งนั้น

ในชีวิตจริงที่หลวงพ่อเคยทำมา ก็มีหลายอย่าง ตอนเด็กๆ บ้านอยู่ริมคลอง ไปนั่งอยู่ริมคลอง ริมน้ำ เห็นน้ำไหลไป แล้วเวลาลมมันพัด น้ำมันพลิ้วเป็นระลอกเล็กๆ พลิ้วๆๆๆ เราก็ดูไปๆ จิตก็สงบ จิตก็รวม ดูน้ำกระเพื่อมไหวๆๆ จิตก็รวมได้ มีความสุข เพราะใจมันชอบ บางคนก็ไม่ได้ชอบริมน้ำ มีคนหนึ่งเขาชอบอยู่ในที่มืดๆ ที่อับๆ แคบๆ เขาจะภาวนาดี เข้าไปอยู่ในโบสถ์ ปิดประตูหน้าต่างหมดเลย แล้วก็ภาวนาอยู่อย่างนั้น ร้อนจัดๆ กลางวันร้อนมากๆ ก็ไม่เป็นไร เหงื่อท่วมตัว แล้วก็ภาวนาอยู่อย่างนั้น เขาถนัดที่จะอยู่อย่างนั้น เขาก็ภาวนาได้ดี ถ้าให้หลวงพ่อไปอยู่ตรงนั้น ถ้าฝึกเริ่มต้นอย่างนั้น ภาวนาไม่ได้หรอก

เราก็ดูตัวเอง ที่ไหนเหมาะกับเรา กรรมฐานอันไหนเหมาะกับเรา ที่ไหนเหมาะกับเรา สังเกตตัวเองเอา เวลาไหนเหมาะกับเรา ในวันหนึ่งๆ มันมีเวลาที่เหมาะกับเรา ต้องสังเกตเอา อย่างของหลวงพ่อ ตั้งแต่ 3 โมงครึ่งไปแล้ว เป็นเวลาที่เหมาะ อันนี้เป็นมาแต่ไหนแต่ไรเลย คล้ายๆ ภารกิจของวันนี้ใกล้จะจบแล้ว จิตใจเริ่มผ่อนคลายแล้ว มาทำงานตอนทำงานรับราชการ เลิก 4 โมงครึ่ง ก็ทำมาทั้งวัน เหนื่อย แต่พอใกล้ๆ จะ 4 โมงแล้ว 3 โมงครึ่งกว่า ใจมันเริ่มผ่อนคลาย งานที่ทำก็ไม่เสีย ทำได้ดีด้วยซ้ำไป เพราะจิตใจเราสงบสุข มีความสุข

เวลาภาวนาก็เหมือนกัน ภาวนาได้ดีช่วงเย็นๆ นี้ล่ะ 3 – 4 โมงเย็น 4 โมง 5 โมง ช่วงนี้ดีที่สุด เพราะฉะนั้นช่วงนี้เป็นเวลาหลวงพ่อ สำหรับหลวงพ่อมันเป็นนาทีทอง ตอนนี้จะภาวนา แล้วภาวนาท่าไหน ยังไม่ถึงบ้านเลย บางทีขึ้นรถเมล์อยู่ ก็ภาวนามันตรงนั้นล่ะ อยู่ที่ไหนก็ภาวนาตรงนั้น ไม่เลือกหรอก ไม่เลือกสถานที่หรอก ทำตรงไหนมันก็ทำได้ ถ้าเราทำเป็น รู้จักดูตัวเอง อยู่ตรงไหน สถานที่ไหนเหมาะกับเราเอาตรงนั้น แต่ฝึกชำนาญแล้วไม่เลือกสถานที่แล้ว

เราก็ดูตัวเอง เวลาไหนที่จิตเราสงบง่าย รวมง่าย เวลานั้นเราก็สงวนไว้ พยายามสงวนเอาไว้ ไม่เอาเวลานั้น ไปใช้ในทางโลกให้เสียเปล่าๆ เอาเวลาอื่นไปวุ่นวายกับโลกต่อ แต่เวลาที่จิตใจเราจะสงบ เอามารีบภาวนา คล้ายๆ เป็นช่วงจังหวะที่ดี แล้วต่อไปพอเราภาวนาชำนาญ เราก็ไม่เลือกเวลาเหมือนกัน ไม่เลือกสถานที่ ไม่เลือกเวลา แล้วชำนาญขึ้นจริงๆ ไม่เลือกกรรมฐาน

ถ้าเราทำกรรมฐานอะไร ชำนาญสักอย่างหนึ่งแล้ว ต่อไปหยิบกรรมฐานอื่นมาทำ มันก็ทำได้เหมือนกันหมด เพราะความสงบมันก็เหมือนกันนั่นล่ะ หรือการเจริญปัญญา จะดูกาย ดูเวทนา ดูจิต ดูสภาวธรรม ทั้งรูปทั้งนาม ทั้งกุศล ทั้งอกุศล ผลออกมามันก็เหมือนกัน เห็นทุกสิ่งเป็นไตรลักษณ์เหมือนกัน ปล่อยวางเหมือนกัน เกิดมรรคเกิดผลอย่างเดียวกัน เกิดความสุขความสงบอันเดียวกัน

เพราะฉะนั้นทางใครทางมัน ถนัดอะไรก็เอา เบื้องต้นก็ดูตัวเองถนัดอะไรเอาอันนั้น ภาวนาอยู่สถานที่นี้ดี ก็ภาวนาตรงนี้บ่อยหน่อย มีโอกาสก็ภาวนาตรงนั้น อย่างหลวงพ่อภาวนาริมคลองแล้วดี มีโอกาสไปอยู่ริมคลองก็ภาวนา ไม่ได้ไปนั่งชมวิวทิวทัศน์ ดูเรือผ่านไปมาเพลินๆ ไม่ได้ทำอย่างนั้น ช่วงเวลาไหนดีเอาเวลานั้นภาวนา กรรมฐานอะไรเหมาะกับเรา เอากรรมฐานอันนั้น เลือก ทีแรกก็เลือก หาส่วนที่ดีที่เหมาะกับเรา แล้วพอชำนาญแล้ว ไม่ต้องเลือกแล้ว อยู่ที่ไหนก็ภาวนาได้ อยู่เวลาไหนก็ภาวนาได้ อยู่ในอารมณ์กรรมฐานอะไรก็ใช้ได้ อยู่ที่การฝึกของเรา

สะสมของเราไป แรกๆ ก็อาจจะยากหน่อย ต่อไปมันก็ง่าย ก่อนจะง่ายมันก็ยากแล้วทั้งนั้น อย่างเราหัดขี่จักรยาน กว่าจะขี่เป็นล้มตั้งหลายที หัวเข่าถลอก มือถลอก เอามือยันพื้นไว้ ขี่มอเตอร์ไซด์ไวหน่อย คุมรถไม่อยู่ลงคูอะไรอย่างนี้ ต่อไปก็เก่งๆ ก็ขี่ง่าย ขี่จักรยานชำนาญแล้ว พื้นที่ตรงนี้ก็ชำนาญ ไม่ต้องจับแฮนด์เลยก็ยังวิ่งได้ กรรมฐานเหมือนกัน หัดใหม่ๆ ล้มลุกคลุกคลาน ทั้งๆ ที่พยายามทำกรรมฐาน ก็ยังล้มลุกคลุกคลาน อย่างจิตใจเราฟุ้งซ่านไป ขนาดหายใจเข้าพุท หายใจออกโธแล้ว จิตก็ยังฟุ้งซ่าน เอาไม่อยู่ แต่ต่อไปพอชำนาญขึ้น มันก็ง่าย นึกถึงจะทำความสงบเมื่อไร มันก็สงบไปเลย ไม่เรื่องมาก นึกถึงการเจริญปัญญา มันก็เจริญเลย ไม่ยาก แค่หมายรู้ลงไปในรูปนามทั้งปวงว่าเป็นไตรลักษณ์ จิตมันก็เดินวิปัสสนาไปเลย

เมื่อเช้าก็มีพวกทิด พวกเคยบวชกับหลวงพ่อมาส่งการบ้าน หลวงพ่อก็สอนให้บอกว่า คน 3 คนสัมผัสหรือกระทบกับสิ่งเดียวกัน แต่จิตใจของคน 3 คนนี้ไม่เหมือนกัน พลิกแพลงไปตามชั้นตามภูมิ คนหนึ่ง สมมติว่าเห็นผู้หญิงสวยมา 3 คนนี้นั่งอยู่ด้วยกัน เห็นผู้หญิงคนหนึ่งสวย อารมณ์อันเดียวกัน คือผู้หญิงสวยๆ เหมือนกันนี่ล่ะ คนเดียวกันด้วยเดินมา

คนหนึ่งเกิดราคะ ชอบ คนที่ 2 มองไปก็เห็น โอ้ มันสวยแต่เปลือก ข้างในมันก็สกปรก มีแต่ของปลอมหลอกๆ อยู่ข้างนอก อย่างสวยๆ อย่างนี้ ถ้ามันไม่สระผมสัก 3 วัน มันก็ไม่สวยแล้ว ไม่อาบน้ำสักวันเดียว ก็ไม่สวยแล้ว คนนี้มองอย่างนี้ มองเห็นปฏิกูล เห็นอสุภะ อันนี้เขาได้สมาธิ ได้ความสงบ ข่มราคะได้ คนแรกเกิดราคะไปเลย นี่เป็นอกุศลเต็มที่ คนที่ 2 พิจารณาอสุภะไป จิตใจสงบ ได้สมาธิ

อีกคนที่ 3 ก็เห็น นี่ก็แค่รูปที่ผ่านมา แล้วเดี๋ยวก็ผ่านไป เห็นรูปผ่านมา แล้วรูปนี้ก็ผ่านไป เกิดแล้วก็ดับ เห็นความรู้สึกในใจตัวเอง ชอบ เห็นผู้หญิงแล้วชอบ ก็เรื่องปกติ ไม่ต้องไปทำเป็นไม่ชอบ ถ้าชอบก็รู้ว่าชอบเท่านั้นเอง ไม่ต้องแกล้งไม่ชอบ เห็นผู้หญิงสวย ก็เห็นว่าเป็นรูปที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เห็นที่จิตตัวเองยินดีพอใจ เดี๋ยวพอเขาผ่านไป ลืม ไปเห็นอย่างอื่น ก็เกิดพอใจ เกิดไม่พอใจเรื่องอื่นต่อไปอีก เออ รูปก็ไม่เที่ยง จิตมันก็ไม่เที่ยง คนนี้เห็นผู้หญิงคนเดียวกัน แต่คนนี้ขึ้นวิปัสสนาได้

เพราะฉะนั้นในสถานการณ์อย่างเดียวกัน ถ้าคนซึ่งมีอินทรีย์แก่อ่อนกว่ากัน จิตใจมันจะพัฒนาไปคนละด้าน พวกหนึ่งสะสมแต่กิเลส กระทบอะไรมันก็เกิดแต่กิเลส ใจมันก็ต่ำลงไปเรื่อยๆ อีกพวกหนึ่งกระทบไปแล้วก็มีสมาธิขึ้นมา ได้ความสุขได้ความสงบ อีกพวกหนึ่งกระทบแล้วเห็นไตรลักษณ์ก็ได้ปัญญา ในอารมณ์อันเดียวกัน ในสิ่งๆ เดียวกัน แต่คนซึ่งคุณภาพจิตใจไม่เหมือนกัน ไปเห็นของอันเดียวกัน ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ไม่เหมือนกัน

เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ พวกเราก็ลองฝึกตัวเองดู เวลาเรากระทบอารมณ์ ใจเราเป็นแบบคนที่หนึ่ง หรือใจเราเป็นแบบคนที่สอง หรือใจเราเป็นแบบคนที่สาม ลองดู ลองสังเกตดู ไม่ใช่ไปบังคับมัน ไม่ใช่บังคับ ดูอย่างที่มันเป็น แล้วก็สังเกตตัวเอง นี่มันเป็นเบอร์ 1 หรือเบอร์ 2 หรือเบอร์ 3 ฝึกเรื่อยๆ นี่กรรมฐานจริงๆ

 

กรรมฐานมีหลากหลาย แต่หลักมีอันเดียว

กรรมฐานจริงๆ การเจริญวิปัสสนาจริงๆ ไม่ใช่ต้องรู้แค่รูปนามกายใจของตัวเองเท่านั้น ที่จริงรูปนามภายนอกก็แสดงไตรลักษณ์อันเดียวกัน แต่ครูบาอาจารย์ท่านจะสอนให้ดูรูปนามภายใน เพราะมันปลอดภัยกว่า อย่างเราดูกายดูใจตัวเองมันปลอดภัยหน่อย ออกไปดูข้างนอกเผลอนิดเดียวเลย อย่างไปเห็นผู้หญิงสวย จะไปพิจารณาอสุภะ ดูปุ๊บมันไม่อสุภะแล้ว มันสวยจริงๆ มันอันตราย เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่ท่านก็เลยไม่สอนให้ออกดูข้างนอก แต่ถามว่าในทางปฏิบัติจริง ดูข้างนอกได้ไหม ดูข้างนอกก็ได้

เคยมีบางคน นึกถึงยังขำเลย ตอนนั้นยังทำงานอยู่ พวกหนึ่งเขาก็เห็นหลวงพ่อเลิกงานแล้วก็กลับบ้าน นี่รู้มาก ตกเย็นเขาก็ชวนบอกว่า เราไปเที่ยวผับเถอะ เที่ยวผับกัน เที่ยวบาร์ ตอนนั้นไม่ใช่ผับ เป็นบาร์ บอกไม่ไป ไม่ชอบ หนวกหู เสียงก็ดัง บุหรี่ก็เหม็น เคยหลุดเข้าไปครั้งหนึ่ง เคยหลงเข้าไปครั้งหนึ่ง ไปสัมมนา แล้วกลางคืนเขาไปกันหมดเลย เราหลุดเข้าไปดู มันมีอะไรห้องนี้ โอ้โห ทั้งเสียงดัง ทั้งควันบุหรี่ ไฟวูบๆ วาบๆ บอก เฮ้ย นี่มันนรกชัดๆ เลย คิดถึงนรกทันทีเลย โอ้โห เปลวเพลิงนี้ฟุบฟับๆ มีแต่คนบ้าคลั่ง ตั้งแต่นั้นไม่ยอมเข้าไปเลย เขาถามว่าทำไมไม่ไป บอกแพ้บุหรี่ เราก็ไม่ชอบจริงๆ เข้าไปได้กลิ่น

พวกนี้มันมีอยู่คนหนึ่ง เจ้าเล่ห์ มันก็บอก โอ๊ย กรรมฐานทำไมจะต้องเลือก อยู่ในบาร์ อยู่ในซ่อง มันก็ต้องภาวนาได้สิ ถ้าเก่งจริง มันบอกอย่างนี้เสียอีก รู้มาก ก็เลยบอกมัน กูยังไม่เก่ง กูยังไม่เก่งเหมือนมึง มึงไปเถอะ กูไม่เก่ง กูดูตัวเองก่อนแล้ว ขืนให้ตามไปเรื่อยๆ เดี๋ยวใจเตลิดแล้วเอาไม่อยู่ เพราะฉะนั้นเลยมีวินัยในตัวเอง ศีลรักษา สมาธิฝึก แล้วก็มองทั้งข้างในข้างนอก เห็นไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆ นี่เล่าให้ฟังนะ เพื่อเราจะได้รู้ว่าจริงๆ แล้ว การปฏิบัติธรรมมันหลากหลายมาก แต่ศีลต้องตั้งใจรักษาไว้ก่อน สมาธิมีวิธีการที่หลากหลายมาก การเจริญปัญญาก็ทำได้เยอะแยะ

ในหนังสือเซนก็มี มียายชีคนหนึ่งเขาไปตักน้ำ ญี่ปุ่นมันมีกระบวยตักน้ำเป็นไม้ ใครเคยไปญี่ปุ่นจะเห็น จะมีกระบวยใช้ตักน้ำ ยายชีคนนี้กลางคืนออกมาตักน้ำ ตักแล้วเห็นพระจันทร์สวยงามอยู่ที่กระบวยนี้ แล้วกระบวยมันเป็นไม้เก่าๆ ดูกำลังเพลินกับพระจันทร์ กระบวยนี้มันหัก ไม้มันหัก พระจันทร์ในน้ำก็หายไป เอ้า เขาบรรลุธรรมไปเลย บรรลุธรรมไปเลย เขาเห็นทุกสิ่งเกิดแล้วดับ จิตก็บรรลุธรรม เห็นของข้างนอก ถ้าพวกเราได้ยินนิทานเรื่องนี้ เราก็ไปตัก หากระบวยมาตักน้ำ แล้วก็ดูทุกวัน ไม่ได้กินหรอก มันเรื่องเฉพาะตัว ทางใครทางมัน เลียนแบบกันไม่ได้

เพราะฉะนั้นกรรมฐานมันหลากหลายมาก ดูตัวเอง ทำอันไหนได้ก็ทำไป เรื่องของสมาธิไม่เลือกหรอก อันไหนที่ทำแล้วจิตใจสงบได้ก็ทำไป หลักมีอันเดียว สมาธิมี 100 อย่าง 1,000 อย่าง แต่หลักมันมีอันเดียว มีสติน้อมจิต น้อมจิตให้ไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง แล้วอารมณ์นั้น ต้องไม่ยั่วให้เกิดกิเลส หลักก็มีข้อเดียวนี่ล่ะ แล้วถ้าจะเจริญปัญญา จะดูภายใน ดูภายนอก จะดูให้เห็น จะดูรูป หรือจะดูนาม จะดูรูปดูนามในมุมของอนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตา อันนี้แล้วแต่ความถนัดของเรา ถนัดอันไหนก็เอาอันนั้น แต่ไม่แนะนำให้ดูข้างนอกหรอก อันตราย ดูข้างนอกแล้วมันเผลอเพลินยาว

ดูข้างในค้นคว้าเข้าไปในร่างกาย สำนวนครูบาอาจารย์แต่ก่อน บอกให้เรียนอยู่ในกาย ยาววา หนาคืบ กว้างศอก กว้าง 1 ศอก อย่างหลวงพ่อก็จะเกินศอกหน่อยหนึ่ง หนาคืบหนึ่ง บางคนก็คืบกว่า ยาววาหนึ่ง วาหนึ่งก็คือ 2 เมตร แต่คำว่า “วา” ของโบราณก็คือแค่นี้ 1 วา หรือลองเหยียดแขนออกไป แล้ววัดจากหัวถึงเท้า จะไล่ๆ กัน ฉะนั้นร่างกายเรา เขาเรียกยาววา หนาคืบ กว้างศอก ให้เรียนกรรมฐานอยู่ในนี้ อย่าไปเรียนเกินนี้ออกไป

ค่อยๆ ฝึก ทำทุกวันๆ พยายามรักษาศีล พยายามฝึกตัวเอง ไม่เคยถือศีล 5 ก็ถือเสีย วันหยุดวันอะไร ลองถือศีล 8 ดูบ้าง เพื่อสู้กับนิสัยชอบกิน ชอบนอน ชอบกาม ลองฝึกดู ไม่ต้องฝึกทุกวัน ฝึกเป็นบางครั้งบางคราว แล้วก็สมาธิต้องทำทุกวัน ทำกรรมฐานที่เราถนัด ทำทุกวันๆ พอได้อันหนึ่งแล้ว ต่อไปจะทำสมาธิ หรือใช้อะไรก็ได้หมดเลย กรรมฐานอะไรก็ใช้ได้ ให้ได้อันหนึ่งที่ชัดเจนแจ่มแจ้งก่อน แล้วอันอื่นก็เหมือนกัน

การเจริญปัญญาก็ทำไป ทั้งในรูปแบบก็เจริญปัญญาได้ อยู่ในชีวิตจริงก็ต้องเดินปัญญาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเจริญปัญญาในชีวิตประจำวันสำคัญมาก ถ้าทำตัวนี้ไม่ได้ เก่งเฉพาะตอนนั่งสมาธิ แล้วพิจารณาร่างกายเป็นปฏิกูลอสุภะอะไรนั้น สงบเฉยๆ หรือดูกายดูใจแสดงไตรลักษณ์ แต่ทำได้เฉพาะตอนที่อยู่คนเดียว นั่งสมาธิเงียบๆ อยู่คนเดียว แล้วดูไตรลักษณ์ของกายของใจ อันนี้ก็ดีเหมือนกัน แต่มันยังไม่แน่จริง ถ้าฝึกในรูปแบบชำนาญแล้ว ออกมากระทบอารมณ์ข้างนอกนี่ มาทำสงครามจริง ถ้าเราอยู่ในชีวิตจริง เรายังภาวนาได้ โอ๊ย ตอนนี้สุดยอดเลย ถ้าเก่งเฉพาะอยู่ในห้องกรรมฐาน มันก็อย่างนั้นๆ แต่ก็ดีกว่าไม่ทำเลย

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติ ถือศีลไว้ ทำในรูปแบบทุกวัน เป็นการฝึกตัวเองให้ชำนิชำนาญ ทั้งสมถะทั้งวิปัสสนา แล้วก็ออกมากระทบอารมณ์จริงๆ เวลามาอยู่กับโลกข้างนอกนี้ เราเห็นไตรลักษณ์ได้ก็เห็นไปเลย ถ้าตอนไหนจิตเราหมดแรง หรือมันวุ่นวายมาก เราสู้ไม่ไหว ก็ทำสมถะไปเลย อย่างเราอยู่ หนีไปไหนไม่ได้ ต้องอยู่ที่คนเยอะๆ เราทำสมถะได้นะ เราปรับมุมมองของจิตนิดเดียว เราก็เห็นทุกอย่างนี้ว่าง มองปั๊บ โลกที่กำลังเคลื่อนไหววุ่นวาย กลายเป็นความว่างเปล่า ไม่ใช่ว่ามันหายไป มันก็กระดุกกระดิกอย่างนั้น แต่ใจเราที่มองไปมันเห็นทุกอย่างว่างเปล่าไปหมด ใจมันมีสมาธิขึ้นได้

เพราะฉะนั้นถ้าเราฝึกตัวเอง รักษาศีล ทำในรูปแบบ ในรูปแบบ วันไหนจิตฟุ้งซ่านทำสมถะ วันไหนจิตมีแรงแล้วก็เดินวิปัสสนา ซ้อมไว้ แล้วออกมาสู่สนามรบจริงคือข้างนอกนี้ล่ะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ จิตใจเราเกิดความเปลี่ยนแปลง รู้สึกไป ร่างกายเราเปลี่ยนแปลง รู้สึกไป นี่เราเดินปัญญา แล้วถ้ามันรู้สึกไม่ไหวจริงๆ เราก็ทำสมถะ

อย่างเวลาเราไปทำฟัน ยกตัวอย่าง เมื่อวานก็มีคนมาเล่า เวลาทำฟันเอาจิตหนีไปไว้ที่อื่น เราอยู่ในชีวิตจริง เวลาไปทำฟัน ไม่ได้อยู่ในโลกของความฝัน มันเจ็บจริงๆ เจ็บมากทนไม่ไหว ย้ายจิตไป เคยฝึกสมาธิชำนาญ ย้ายจิตไปอยู่ที่หัวเข่า เขาบอกเขาไปอยู่ที่หัวเข่า หลวงพ่อบอก โอ๊ย บางทีหลวงพ่อลงไปอยู่หัวแม่เท้าเลย ไม่แค่หัวเข่า บอกหลวงตามหาบัว เวลาท่านฉันยาเหม็นๆ กลิ่นแรงๆ ท่านบอกท่านเอาจิตไปไว้บนขื่อ นี่เรื่องของสมถะนะ เรื่องของสมถะ

เพราะฉะนั้นถ้าเราฝึกในรูปแบบชำนาญ ทั้งสมถะ ทั้งวิปัสสนา พออยู่ในชีวิตจริงควรทำสมถะก็ทำ ควรทำวิปัสสนาก็ทำมันไปเลย ถ้าเราทำในชีวิตจริงได้มรรคผลอยู่ไม่ไกลแล้ว เพราะชีวิตส่วนใหญ่เราอยู่ข้างนอกนี้ ไม่ได้อยู่ในห้องพระ ฉะนั้นไปทำเอา ที่เล่าให้ฟังวันนี้ อาจจะเยอะแยะหลากหลาย ไปฟังดู ไม่ใช่ทุกคนต้องทำทุกอย่าง ถนัดอันไหน เอาอันนั้น พอได้อันหนึ่งแล้ว อีกอันหนึ่งจะได้เอง ได้สมถะอย่างหนึ่งอันอื่นก็ไม่ยาก ทำวิปัสสนาเห็นไตรลักษณ์ของรูปนามได้อันหนึ่ง ต่อไปไปเห็นรูปนาม มันก็แสดงไตรลักษณ์ไม่ยากแล้ว อดทน ทีแรกมันก็ยาก อดทนไป แล้วต่อไปมันก็ง่าย

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
1 มิถุนายน 2567