ทำในรูปแบบทุกวันหรือเปล่า คนไหนทำยกมือให้ดูหน่อย มีไหมที่ทำในรูปแบบ ต้องแบ่งเวลาปฏิบัติ ต้องทำ ถ้าไม่ทำจิตมันจะไม่มีกำลัง พอจิตไม่มีกำลังแล้วไปเจริญปัญญา วิปัสสนูปกิเลสจะเกิดขึ้น พอวิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้น บางทีคิดว่าได้มรรคผล เป็นขนาดนั้น ใจสบาย ใจโล่ง ใจว่าง หรือแตกฉานธรรมะ สติไวมาก ดูผิวเผินเหมือนบรรลุมรรคผล บรรลุพระอรหันต์ไปเลย การทำในรูปแบบเราละทิ้งไม่ได้ ถ้าสมาธิมันตก เราเจริญปัญญา วิปัสสนูปกิเลสมันจะเกิด มี 10 ชนิด วิปัสสนูปกิเลส ไปดูกูเกิลดูอะไรก็ได้ มีเยอะแยะตำรา ตำรามันไม่ได้บอกรายละเอียดว่ามันเกิดอย่างไร ดับอย่างไร
หลวงพ่อก็เคยผิด เคยเสียเวลาเป็นปี เพราะภาวนาชอบลองผิดลองถูกไปเรื่อย ชอบลอง ทำอย่างนี้ดูสิ จะได้ผลไหมอะไรอย่างนี้ ค่อยๆ สังเกตไป มีอยู่คราวสงสัยว่า เอ๊ะ กิเลสมันเกิดขึ้นที่ไหน ก็สังเกตมันผุดขึ้นมาจากกลางอก แล้วพอมันผุดขึ้นมา พอสติเรากระทบมัน ก็ดับทันทีเลย ก็เลยไม่สามารถสาวไปหาต้นตอของมันได้ คราวนี้เอาใหม่ พอกิเลสผุดขึ้นมา ดูเบาๆ ดูเบาๆ ก็เห็นมันเคลื่อน จิตมันแนบเข้าไป สติมันแนบ กิเลสมันแอบเคลื่อนออกมาข้างนอกแล้ว แล้วมันดับ ตอนนั้นเราไม่รู้ว่าจิตออกนอกไปแล้ว จิตไม่เข้าฐานแล้ว ไม่มีสมาธิที่ถูกต้องแล้ว กิเลสดับไป มันว่างๆ
สัมมาสมาธิคือความตั้งมั่นของจิต
ถึงจะเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา
เราก็คิดว่าจิตยังอยู่ที่ฐานอยู่ เพราะไม่ทันสังเกตตอนที่จิตมันเคลื่อนตามกิเลส พอกิเลสดับไป จิตก็อยู่ข้างนอก เรานึกว่าอยู่ข้างใน มีแต่ความว่าง สว่าง ว่าง เป็นโอภาส สว่าง ว่าง สบาย มีแต่ความสุข ทีนี้อยู่มานาน รอดูว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไหม ดูไปเรื่อยๆ เสียเวลาไปเป็นปี พบว่ามันไม่ใช่ มันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องแน่นอน เรามีโยนิโสมนสิการพิจารณาอย่างแยบคาย พิจารณาอย่างแยบคายคือพิจารณาว่าสิ่งที่มีที่เป็นอยู่ตอนนี้ มันสอดคล้องกับคำสอนในพระพุทธศาสนาไหม
หลวงพ่อบางทีก็ไม่อยากใช้คำว่าสอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้าไหม ในพระไตรปิฎกมีคำสอนของพระพุทธเจ้า มีคำสอนของพระอรหันต์สาวกที่มีความรู้ความสามารถสูงอยู่จำนวนหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นคำสอนในพระศาสนานี้ ดูไปแล้วมันขัด พระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์บอกว่าจิตไม่เที่ยง ทำไมจิตเราเที่ยง สว่าง ว่าง คงที่อยู่อย่างนั้น ท่านว่าจิตหรือขันธ์ 5 มันเป็นทุกข์ ทำไมเราไม่ทุกข์ มีแต่ความสุข ท่านบอกจิตหรือขันธ์ 5 เป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ ทำไมเราบังคับได้ ทรงตัวอยู่ได้อย่างนั้นนานมากๆ เลย เราต้องมีอะไรผิด ไม่ได้คิดว่าพระไตรปิฎกผิด ไม่ได้คิดว่าคำสอนของครูบาอาจารย์ผิด แต่คิดว่าเราต้องทำอะไรผิด
พยายามสังเกตมันผิดอย่างไร ตอนนั้นมันผิดอยู่แล้ว จิตมันไม่ถึงฐาน แล้วพยายามไปสังเกต มันดูไม่ออกว่าผิดตรงไหน คล้ายๆ คนมันผิดอยู่แล้วล่ะ หลงทางอยู่แล้ว แล้วก็นึกว่า มองไม่ออกว่ามันหลงอีท่าไหน พอดีมีโอกาสขึ้นไปทางอุดรฯ หนองคาย
ยุคนั้นบ้านตาดคนยังไม่เยอะ ท่านฉันข้าวกันบนศาลาไม้ ไม่ใหญ่เท่าไร หลังย่อมๆ ก็ขึ้นไปได้ ขึ้นไปถึงท่านกำลังควบคุมพระให้จัดอาสนะเตรียมฉันข้าว เสียงเอะอะเชียว ท่านเสียงดัง ดุองค์โน้น ว่าองค์นี้ สั่งองค์นั้นอะไรอย่างนี้ หลวงพ่อก็คลานเข้าไปข้างๆ ท่าน พอท่านหันมามอง เราก็บอกขอโอกาสพ่อแม่ครูอาจารย์ ท่านบอก “เดี๋ยวก่อนๆ เรายังไม่ว่าง” ไม่ว่างของท่านก็คือยังควบคุมพระจัดอาสนะเตรียมฉันข้าวยังไม่เสร็จ
ท่านเอะอะๆ นั่นเป็นวาสนาของท่าน ก็งาม ดูท่านยึกยักๆ ว่องไว แต่งาม เพราะท่านไม่ได้เสแสร้ง บางคนก็เสแสร้งทำเป็นนุ่มนวล บางคนก็เสแสร้งทำเอะอะตึงตัง อยากเลียนแบบครูบาอาจารย์ เรื่องนี้หลวงตามหาบัวท่านเคยพูดไว้เองว่าท่านหลุกหลิกอะไรอย่างนี้ มันเป็นวาสนาท่าน งามแบบของท่าน คนอื่นเลียนแบบแล้วไม่งาม แต่ถ้าเลียนแบบหลวงปู่เทสก์แล้วงามแน่นอนเลย หลวงปู่เทสก์จะดูเรียบร้อย พอท่านควบคุมพระถูกใจท่านแล้ว ท่านก็หันมาถาม “ว่าไง มีอะไร”
บอกท่าน บอกพ่อแม่ครูอาจารย์ให้ผมดูจิต ผมก็ดูจิตอยู่ แต่ผมรู้สึกว่ามันไม่พัฒนาเลย ไม่ทราบมันผิดตรงไหน ท่านมองหน้าปั๊บ ท่านพูดเลย “ที่ว่าดูจิต ดูไม่ถึงจิตแล้ว ต้องเชื่อเรา เราผ่านมาด้วยตัวเราเอง อะไรๆ ก็สู้บริกรรมไม่ได้” ท่านพูดอย่างนี้ พอฟังแล้วเราก็เก็ต นี่แสดงว่าสมาธิเราไม่พอแล้ว ท่านเลยมาบอกให้บริกรรม หลวงพ่อก็ถอยห่างออกมานิดหนึ่ง ห่างสัก 2 เมตรเท่านั้นล่ะ ยุคนั้นคนไม่ว่า ก็มานั่งพุทโธๆๆ ท่านให้บริกรรม แต่จิตมันไม่ชอบ จิตมันรำคาญมาท่องพุทโธๆ ก็เลยนึกได้ เอ๊ะ เราก็ทำสมถะแบบที่เราถนัดสิ
ปัญหาของเราตอนนี้ก็คือสมถะไม่พอ ทำสมาธิไม่พอ เลยมาหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับ 1 หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับ 2 ตามที่เคยเรียนกับท่านพ่อลีตั้งแต่เด็ก หายใจไปไม่กี่ที จิตก็รวมเข้าฐาน จิตเข้าฐานแล้ว พอมันถอนขึ้นมา โอ๊ย แทบเขกหัวตัวเองเลย จิตเราไปหลงอยู่ข้างนอกตั้งปี มองไม่เห็น มีแต่ความสุขความสบาย เลยรู้เลยว่าสมาธิ สมถะดูถูกมันไม่ได้ แต่หลวงพ่อชอบดูถูกสมาธิ ดูถูกสมถะ ไม่ใช่ดูถูกสมาธิ ดูถูกการทำสมถะ เพราะทำสมถะมาแต่ 7 ขวบ แล้วก็ได้แต่ความสงบ
ทำอยู่ 22 ปี ถึงมาเจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านให้มาดูจิตดูใจ ก็เจริญปัญญาได้ เลยไม่ชอบทำสมถะ ดู เจริญปัญญารวดไปเลย กำลังสมาธิที่สะสมมา 22 ปี เอามาเจริญปัญญาได้ 2 ปี ได้ 2 ปีหน่อยๆ สมาธิก็หมด กำลังของสมถะก็หมด พอกำลังหมด จิตออกนอกเราไม่เห็น เราก็คิดว่าจิตเราถูกแล้ว จิตเราดีแล้ว จิตที่มันออกนอกมันไม่เข้าฐาน มันเจริญปัญญาไม่ได้จริง เพราะฉะนั้นอย่างบางคนไม่ทำสมาธิเลย บางที่เขาก็สอนกัน ไม่ต้องทำสมาธิ ให้คิดพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา คิดๆๆ ไปเรื่อยๆ แล้วหวังว่าวันหนึ่งจะเกิดปัญญา มันไม่เกิดปัญญาหรอก เพราะมันไม่มีสมาธิ
สัมมาสมาธิคือความตั้งมั่นของจิต ถึงจะเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา แต่ถ้าคิดๆๆ ไปช่วงหนึ่ง แล้วหยุด น้อมจิตให้ลงไปพัก แล้วออกมาคิดใหม่ อย่างนี้ได้ คือคิดพิจารณาไปสักช่วงหนึ่ง ก็น้อมจิตกลับเข้ามาสู่ความสงบ ให้ชาร์จ เหมือนกับชาร์จแบต พอชาร์จแบตจิตมีเรี่ยวมีแรง แล้วออกไปคิดพิจารณาต่อ อันนี้เดินได้แบบนี้ คิดๆๆ ตรงที่คิดนั้นยังไม่ใช่วิปัสสนา แต่ว่าคิดโดยที่มีกำลังสมาธิหนุนหลังอยู่ ถึงจุดหนึ่งจิตรวม จิตจะรวมเข้าไปแล้วก็จะเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของร่างกายโดยไม่ได้เจตนา ตรงนั้นจิตเดินวิปัสสนาแล้ว ตรงนี้สั้นนิดเดียวเลย บางทีคิดๆๆ ไปแล้วจิตรวมปุ๊บละกิเลสไปเลย ไม่ได้ล้างเพราะการคิด แต่อาศัยการคิดพิจารณาสลับกับการที่พาจิตเข้าฐาน
ตรงที่จิตมันมีกำลังสมาธิพอ แล้วมันคิดพิจารณาไป จิตมันค่อยๆ รวมเข้ามา แล้วมันเดินปัญญาที่แท้จริงในสมาธิขึ้นมา นิดเดียวเท่านั้นก็ขาดแล้ว อย่างนี้ก็ได้ หรือทำสมาธิเสียก่อน แล้วก็ถอยออกมาอยู่ข้างนอกนี้ แล้วค่อยเจริญปัญญา อย่างทำความสงบเข้ามา ออกจากสมาธิมาก็มารู้สึกร่างกาย ร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก แต่รู้สึกด้วยจิตที่ตั้งมั่นด้วยกำลังของสมาธิ มันเดินปัญญาไปได้เลยตรงนั้น
การทำสมาธิกับการเจริญปัญญาทำได้หลายรูปแบบ
ฉะนั้นการทำสมาธิกับการเจริญปัญญาทำได้ตั้งหลายรูปแบบ ใช้ปัญญานำสมาธิ คิดพิจารณาไปก่อน แล้วทำความสงบเป็นระยะๆ ไป แล้วถึงจุดที่กำลังมันพอ สติ สมาธิ ปัญญาพอ ก็จะเกิดอริยมรรคได้ หรือใช้สมาธินำปัญญา ทำความสงบลึกลงไปก่อน พอถอนออกมา ให้ดูกาย อย่าดูจิต ดูจิตมันจะว่างๆ เพราะจิตมันยังทรงกำลังของสมาธิอยู่ พอพิจารณาลงไปในร่างกาย ไม่ต้องพิจารณามากอันนี้ ไม่ต้องคิดเยอะเลย พอจิตทรงสมาธิแล้วพอถอยออกมาปุ๊บ มันเห็นเลยร่างกายไม่ใช่เราหรอก เป็นแค่วัตถุ เป็นแค่ก้อนธาตุ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ มีเวทนาเกิดขึ้นในร่างกายก็รู้ เห็นเวทนาในร่างกายดับไปก็รู้ จิตตั้งมั่น เป็นคนรู้ อันนี้เราใช้สมาธินำปัญญา
อีกแบบหนึ่ง แบบที่สาม ใช้ปัญญากับสมาธิควบกัน อันหนึ่ง ใช้ปัญญานำสมาธิ พิจารณาไปก่อนแล้วจิตรวมเป็นระยะๆ ไป อีกอันหนึ่งสมาธินำปัญญา เข้าฌานไป ออกจากฌานแล้วมารู้สึกลงในร่างกายนี้ บางทีร่างกายมันก็สลายให้ดูเลย รู้เลยว่าร่างกายนี้ว่างเปล่า ไม่มีอะไร ใจก็รู้ความจริง ตรงนี้เดินไปได้ถึงพระอนาคามีเลย พัฒนาขึ้นไปได้เรื่อยๆ อีกอันหนึ่ง ใช้สมาธิและปัญญาควบกัน เป็นวิธีที่สาม สมาธิและปัญญาควบกันจะทำได้ต้องมีเงื่อนไขมีคุณสมบัติที่เพียงพอ คุณสมบัติของคนที่จะใช้สมาธิกับปัญญาควบกัน อันที่หนึ่ง ต้องทรงสมาธิจนเป็นวสี ชำนาญ
วสีในสมาธิมี 4 ลักษณะ ชำนาญในการเข้าสมาธิ นึกจะเข้าเมื่อไรก็เข้าได้เลย ชำนาญในการทรงอยู่ในสมาธิ ไม่ใช่เข้าปุ๊บก็กระเด้งออก เข้าปุ๊บกระเด้งออก อย่างนั้นไม่เรียกว่าวสี เข้าได้เร็ว แต่ว่าอยู่ไม่ได้ พวกเราหลายคนก็มี ดูปุ๊บ รวบปุ๊บแล้วกระเด้งออกมาเลย ต้องมีวสีในการทรงอยู่ ในสมาธิ ต้องมีวสีในการเจริญปัญญาในสมาธิ อันนี้เว้นไว้ก่อน เดี๋ยวจะเล่า
อีกอันหนึ่งก็มีวสีในการออกจากสมาธิ เห็นไหมการจะออกจากสมาธิก็ต้องมีความชำนาญ ถ้าจิตเรารวมเป็นสมาธิแล้วอยู่ๆ พรวดพราดออกมา ปวดหัวเลย หัวแทบแตกเลย ก็ต้องรู้จักออกจากสมาธิอย่างนิ่มนวล ถอยออกมาอย่างนิ่มนวล แต่ความนิ่มนวลของบางท่าน ท่านมีวสีสูงสุดยอดเลย ท่านเข้าปุ๊บ ไปทำงานในสมาธิ เสร็จแล้วออกปั๊บได้เลย เข้าออกๆ ได้รวดเร็วที่สุด
ในบรรดาสาวก คนที่ทำได้ชำนาญที่สุดคือพระมหาโมคคัลลานะ พวกเราเคยได้ยินเรื่องพระโมคคัลลานะที่พระพุทธเจ้าให้ทรมานพญานาคไหม เคยได้ยินไหม ในบทสวดพาหุงฯ มี ในบทสวดพาหุงฯ ก็มี มีพญานาคมิจฉาทิฏฐิตัวหนึ่ง เขาคิดว่าเขาเก่งมากเลย ไม่มีใครสู้เขาได้ ฤทธิ์เขามาก พ่นควันก็ได้ พ่นไฟก็ได้ ทำอะไรได้สารพัด ก็เกิดพระพุทธเจ้าท่านสงสาร มันเป็นมิจฉาทิฏฐิรุนแรง ท่านก็อยากสงเคราะห์ ท่านก็พาพวกพระไป ไปดวลกับพญานาค ก็เกิดท้าทาย พญานาคเขาก็ท้า บอกเขาจะอ้าปาก ถ้าพระองค์ไหน พระพุทธเจ้าแน่จริง ให้เข้ามาในปากเขา แล้วหนีออกมาให้ทัน เขาจะงับเลย คิดดูงูมันงับเร็วขนาดไหน ปุ๊บ งับเร็ว
พวกพระก็อาสา องค์นั้นก็อาสาองค์นี้ก็อาสา พระพุทธเจ้าไม่อนุญาต พระสารีบุตรก็อาสา พระพุทธเจ้าก็ไม่อนุญาต พระมหาโมคคัลลานะอาสา พระพุทธเจ้าอนุญาต แต่เตือนบอกนาคตัวนี้มีฤทธิ์มากต้องระวัง พระมหาโมคคัลลานะบอกว่านาคตัวนี้ สำหรับข้าพระองค์ นาคฝีมือขนาดนี้ 100 ตัวก็สู้ได้ พวกเราโดนงูกะปะกัดยังแทบตายเลย เข้าโรงพยาบาล ท่านไม่กลัว ท่านก็เข้าสมาธิ ถอยออกมาจากสมาธิกำหนดจิตที่จะเข้าไปในปากพญานาค จิตรวมปุ๊บ เข้าไปอยู่ในปากพญานาค ถอนจิตออกจากสมาธิ แล้วก็เข้าสมาธิอีกที ออกจากปากพญานาค ช่วงที่เข้าออก พญานาคงับ งับโน่น ออกไปอยู่ข้างล่างแล้วทุกทีเลย งับไม่ทัน
อันนี้ท่านมีวสีเห็นไหม ชำนาญในการเข้า แล้วเข้าไปแล้วก็อธิษฐาน อธิษฐานแล้วก็เข้า แล้วก็ออก ออกแล้วก็เข้า แล้วอธิษฐาน แล้วก็เข้าอีก แล้วก็ออกมาข้างนอก ชำนาญ พวกเราทำไม่ได้หรอก ตายฟรี คนที่ชำนาญจริงๆ วสีของสมาธิ ชำนาญในการเข้า ชำนาญในการทรงอยู่ ชำนาญในการเจริญปัญญาหรือทำงานในสมาธิ แต่อันนั้นคนละอันกัน ของพระมหาโมคคัลลานะ หลวงพ่อพูดในแง่ที่ว่าท่านชำนาญในการเข้าออก ในการอธิษฐาน ในการแสดงฤทธิ์ แต่ที่หลวงพ่อพูดจะเป็นเรื่องของการเจริญวิปัสสนา ไม่มีฤทธิ์มีเดชหรอก
เราจะเข้าไปเจริญปัญญาในฌานได้ เราต้องเข้าฌานได้ เข้าฌานไม่ได้ก็จบกันแล้ว ทำไม่ได้ เข้าฌานก็เป็นวสี นึกจะเข้าก็เข้าได้ เข้าแล้วก็ไม่ได้เด้งออกมาทันที ทรงอยู่ได้ แล้วก็ออกได้ สมควรแก่เวลาที่จะออก จิตก็ถอนออกมา เวลาจิตทรงสมาธิแล้วจะถอนออกมา มันมี 2 อย่าง อันหนึ่ง จิตมันถอนเอง อีกอันหนึ่งอธิษฐานไว้ ถึงเวลาขณะนี้ให้ถอน แต่การถอนมีศิลปะ ออกมาแล้วไม่ปวดหัว
การเจริญปัญญาในสมาธินอกจากจะต้องมีวสี 4 อย่างในการทำฌานแล้ว ต้องดูจิตเก่งเพราะเวลาทรงฌานเข้าไปแล้วไปเจริญวิปัสสนา เราดูความเกิดดับขององค์ฌาน อย่างรวมเข้าไปปุ๊บ จิตเรายังจับอยู่ที่แสงสว่างที่ปฏิภาคนิมิต จิตจับอยู่ อันนี้เรียกวิตก จิตเคล้าเคลียอยู่กับปฏิภาคนิมิตเรียกว่าวิจาร มีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่งเกิดขึ้น แล้วจิตมันเห็นการที่จิตยังออกไปจับที่แสง ไปเคล้าเคลียอยู่ที่แสงยังเป็นภาระของจิต จิตก็วางแสงสว่าง ละวิตกละวิจาร ทวนกระแสเข้ามาที่จิต ก็เกิดเอโกทิภาวะคือจิตผู้รู้ที่เข้มแข็งขึ้นมา จิตมีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่ง จิตมันเป็นผู้ดูเลย แข็งแรง
ผู้ดูที่ผ่านฌานที่สองขึ้นไปแล้ว ผู้รู้ตัวนี้จะแข็งแรงมาก อยู่ได้เป็นวันๆ เลย แต่ผู้รู้ของเราอยู่ได้เป็นขณะๆ หลงแล้วรู้ๆ ทีละขณะ อันนั้นเป็นขณิกสมาธิ แต่ถ้าเข้าฌานไปถึงฌานที่สอง ผู้รู้ตัวนี้แข็งแรงมาก เสร็จแล้วมันยังเห็นต่อว่าปีติก็เป็นเครื่องเสียดแทงจิต จิตวางปีติ จิตเข้าสู่ฌานที่สาม มีเอโกทิภาวะ มีความเป็นหนึ่ง คือเอกัคคตา แล้วก็มีความสุข จิตรู้ความสุข แล้วสติปัญญาแก่กล้าขึ้น ก็ยังเห็นอีกความสุขก็เป็นภาระ เป็นเครื่องเสียดแทง จิตวางความสุข เป็นอุเบกขา ขึ้นสู่ฌานที่สี่
พอถึงฌานที่สี่แล้ว บางคนจิตวางรูปฌาน รูปธรรมทั้งหลาย ทิ้งไปหมดเลย จิตจับเข้าไปในความว่างอันนี้ขึ้นฌานที่ห้า เป็นอรูปฌานที่หนึ่ง จิตเข้าไปจับความว่าง ไม่ใช่ไปจับแสง จับว่าง พอจับความว่างแล้วก็ยังเห็นว่าเป็นภาระอีก จิตวางความว่าง ทวนกระแสเข้าหาตัวจิต เกิดจิตผู้รู้ซ้อนจิตผู้รู้ไปเรื่อยๆ อันนี้เป็นอรูปฌานที่สอง เป็นฌานที่หก เสร็จแล้วก็ยังเห็นอีก การที่มาคอยรู้ผู้รู้อยู่เป็นภาระ ก็วางการรู้ผู้รู้ วางแสงสว่างที่ถูกรู้ วางผู้รู้ วางทั้งหมดเลย ไม่เอาอะไรสักอย่าง จิตไม่เอาอะไรสักอย่าง
จิตเข้าสู่ฌานที่เจ็ด อรูปฌานที่สาม เป็นฌานที่เจ็ด ฌาน 8 มันมีรูปฌาน 4 อรูปฌานอีก 4 รวมเป็น 8 ตรงที่ไม่เอาอะไรเลยเป็นอรูปฌานที่สามก็เลยเป็นฌานที่เจ็ด ตรงนี้สัญญามันอ่อนตัวลง มันจะเคลิ้มเลย เหลือความรู้สึกเบาบาง แต่ไม่ขาดสติ ความรู้สึกบางเฉียบที่สุดเลย แล้วตรงนี้ก็ยังเดินวิปัสสนาได้ มันเห็นความไหวตัวบางๆ ของจิต มันไหวตัวขึ้น แต่ไม่มีภาษา ไม่รู้อะไร เห็นสิ่งบางสิ่งเกิดขึ้น แต่ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร เพราะมันเลยขั้นที่จะมาเรียก เป็นแค่นามธรรมบางอย่างที่ปรากฏขึ้น
ตรงนี้ท่านพระสารีบุตรท่านบอกว่า ในสมาธิทั้งหลาย ถ้ายังมีสัญญาเหลืออยู่ กระทั่งในฌานที่แปด ก็สามารถทำวิปัสสนาได้ ซึ่งพวกเราทำไม่ไหว เพราะพวกเราเข้าฌานที่หนึ่งยังไม่ค่อยจะได้เลย ฌานที่แปดยังเหลือสัญญาอยู่ ทำได้ ในฌาน 8 ตัวมันมีฌานที่สี่อยู่อันหนึ่ง ฌานที่สี่จิตมันดับลงไป ฌานที่สี่มันมี 2 กลุ่ม พวกหนึ่งยังมีสติอยู่ พวกหนึ่งดับลงไปเลย เป็นพรหมลูกฟัก มีแต่ร่างกายนั่งนิ่งๆ ไม่รู้เนื้อรู้ตัวอะไรทั้งสิ้น พรหมลูกฟักเดินวิปัสสนาไม่ได้ เพราะไม่มีจิตๆ ไม่มีสัญญา ไม่มีเวทนา ไม่มีสังขารอะไรเลย เหลือแต่รูป เขาเรียกเป็นสัตว์ขันธ์เดียว
พวกเรารุ่นหลังๆ ก็มีที่หลุดเข้าไปอยู่ตรงนี้ ไปทำกรรมฐานแบบโหดๆ มหาโหดมหาหินอะไรอย่างนี้ กดดันจนจิตมันเครียดๆๆ เครียดถึงที่สุด จิตมันก็หนี มันทนไม่ไหวแล้ว มันก็หนีด้วยการดับความรู้สึกลงไป วูบ หมดความรู้สึก ถ้าไม่ระมัดระวังให้ดี ก็เลยคิดว่าตรงนี้บรรลุมรรคผล วูบครั้งที่หนึ่งโสดาบัน ครั้งที่สองสกิทาคามี ครั้งที่สามได้อนาคามี วูบไปครั้งที่สี่เป็นพระอรหันต์ อันนั้นจิตมันหลุดเข้าไปที่พรหมลูกฟัก ไม่มีอะไรดีขึ้นมาเลย ออกมากิเลสเหมือนเดิม หรือกิเลสหนักกว่าเดิม พวกเป็นพรหมลูกฟักเกิดตายไปแล้วกลับมาเกิด แล้วระลึกชาติได้ พวกนี้จะเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่งว่าทุกอย่างที่เกิดมานี้เกิดจากความว่าง ไม่มีเหตุ ทุกอย่างเกิดโดยไม่มีเหตุ พวกที่เข้าเป็นพรหมลูกฟักสุดท้ายกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ ว่าทุกอย่างเกิดเองเป็นเอง ไม่มีเหตุให้เกิด กลายเป็นมิจฉาทิฏฐิที่ร้ายแรงเลย
การเจริญปัญญาทำได้ 3 แบบ
อันนี้เล่าให้ฟังเฉยๆ ประดับความรู้พวกเราไว้ว่า การเจริญปัญญาทำได้ 3 แบบ อันที่หนึ่ง ใช้ปัญญานำสมาธิ เดินปัญญาไปก่อน พิจารณาไปอะไรไป แล้วรวมจิตเข้ามาพักเป็นระยะๆ ไป ถึงจุดหนึ่ง พิจารณาไปจิตรวมเอง ตรงนี้เรามาล้างกิเลส มาเดินปัญญานิดเดียวแล้วล้างกิเลสเลย
อีกอันหนึ่ง ใช้สมาธินำปัญญา ทำสมาธิไปถึงอัปปนาสมาธิ ถอยออกมาอยู่ที่อุปจารสมาธิ ถ้าอยู่อุปจารสมาธิยังมีนิมิตได้ ตอนที่เราเดินปัญญา เราเข้าสมาธิ แล้วถอยออกมาที่อุปจารสมาธิ แล้วเราเคยดูกายชำนิชำนาญ บางทีดูลงไปในร่างกาย ร่างกายแตกสลายเลย ร่างกายสลายเลย ตรงนี้อยู่ในอุปจารสมาธิ อย่างเรานึกถึงผมปุ๊บ ออกจากสมาธิ นึกถึงผมปุ๊บ ผมหายไปเลย สลายตัว เห็นหนังศีรษะ ดูหนังศีรษะ หนังศีรษะหาย เห็นหัวกะโหลก ดูหัวกะโหลก หัวขาดไปเลย เหลือแต่ตัว ดูตัว เนื้อหนังหาย เหลือแต่กระดูก ดูกระดูก กระดูกระเบิดเลย กลายเป็นก้อนกรวด ดูก้อนกรวดที่ทำมาจากกระดูก สลายเป็นคลื่นแสง สลายออกไป กลืนเข้ากับจักรวาล อันนี้มันเกิดตรงนี้ได้ด้วยกำลังของอุปจารสมาธิ
แต่ถ้าพวกเราไม่มีสมาธิระดับอัปปนาสมาธิ ไม่มีอุปจารสมาธิ เราใช้ขณิกสมาธิ ถ้าเราจะใช้ขณิกสมาธิ เราก็เดินปัญญา วิธีก็คือรู้สึกตัวขึ้นมาเป็นขณะๆ นี้ล่ะ แต่รู้สึกให้บ่อยๆ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด ไม่ต้องเลียนแบบคนอื่น อย่างได้ยินว่าหลวงพ่อทำอานาปานสติกับพุทโธ ไม่ต้องมาเลียนแบบ ทางใครทางมัน ถนัดอันไหนเอาอันนั้น ทำกรรมฐานอะไรก็ได้ที่เราถนัดสักอย่างหนึ่ง เคล็ดลับกุญแจสำคัญอยู่ที่ว่ารู้ทันจิตตนเองไว้ อย่างเราทำกรรมฐาน หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไปคิด รู้ทัน จิตถลำลงไปเพ่งลมหายใจ รู้ทัน ดูท้องพองยุบ จิตหนีไปคิด รู้ทัน จิตไปเพ่ง รู้ทัน ตรงที่จิตมันทำงานออกไป มันหลงไปคิด หรือมันหลงไปเพ่ง เพ่งก็คือหลง หลงไปคิดหรือหลงไปเพ่ง เรามีสติรู้ทัน จิตหลงดับ จิตรู้เกิด เราจะได้ขณิกสมาธิขึ้นมาแล้ว เป็นขณะๆ ไป
ขณิกสมาธิพอเกิดถี่ยิบขึ้นมา จิตมันจะทรงตัวขึ้นมา อย่างพวกเราหลายคนที่ภาวนาแล้วบางช่วงจิตมีแรง ที่หลวงพ่อบอกจิตมันมีกำลังแล้ว จิตมันทรงตัวขึ้นมาแล้ว อันนั้นเกิดจากขณิกสมาธิที่ถี่ยิบขึ้นมา หลงแล้วรู้ๆๆ แล้วพอจิตมันทรงตัวขึ้นมา คราวนี้มันเดินปัญญาได้แล้ว ทำวิปัสสนาได้แล้วในโลกข้างนอกนี้ล่ะ เห็นไหมว่าขณะที่บอกว่าใช้ปัญญานำสมาธิ ก็ต้องมีสมาธิ คือมีขณิกสมาธิ ถ้าไม่มีขณิกสมาธิก็เดินปัญญาไม่ได้
สำหรับถ้าเราอยู่ข้างนอกนี่ ฉะนั้นหลงแล้วรู้ๆๆ ไป จิตมีแรง ตั้งมั่น เด่นดวง ขึ้นมา คราวนี้เราจะเดินปัญญาแล้ว สติระลึกรู้ร่างกายที่กำลังนั่งอยู่ ขณะนี้นั่งอยู่ การที่ฟังหลวงพ่อเทศน์ด้วยความตั้งใจฟัง ไม่ฟังไปคิดไป ฟังไปสบายๆ ฟังไปเรื่อยๆ จิตมันจะเกิดสมาธิขึ้นมา เพราะจิตอยู่ในอารมณ์อันเดียวคือการฟังธรรม ไม่วอกแวกไปที่อื่น พอจิตมันมีสมาธิ บางทีก็ไหลแวบแล้วก็กลับมาฟัง ไหลแวบแล้วก็กลับมาฟัง ทำบ่อยๆ บ่อยๆ จิตจะมีกำลังขึ้นมา ถ้าเราสังเกตให้ดี เวลาเราฟังหลวงพ่อเทศน์ ผ่านไปสักช่วงหนึ่ง จิตเราจะมีกำลังตั้งมั่นขึ้นมา แต่อันนี้ตั้งมั่นเกิดจากการฟังธรรมไม่วอกแวกไปไหน ไม่ได้เจตนาให้เกิดสมาธิด้วย
พอจิตเรามีกำลังตั้งมั่นพอสมควรแล้ว สติระลึกรู้กายอย่างนี้ เราจะเห็นทันที ร่างกายเป็นของถูกรู้ ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ปัญญามันเกิดแล้ว ตรงที่เห็นร่างกายเป็นของถูกรู้ ร่างกายไม่ใช่จิต เป็นปัญญาขั้นต้น เรียกว่านามรูปปริจเฉทญาณ แยกรูปนามออกจากกันได้ แล้วตรงที่เห็นว่าทุกอย่างมันเกิดดับ อันนี้ขึ้นวิปัสสนาญาณแล้ว ตั้งแต่อุทยัพพยญาณขึ้นไป เห็นสิ่งใดเกิดแล้วดับ เกิดแล้วก็ดับ ค่อยๆ ทำ เราเดินปัญญาอย่างนี้ล่ะ
พอใจเราอยู่กับเนื้อกับตัว จิตที่ทรงสมาธิ ทรงขณิกสมาธิ เป็นจิตใจที่อยู่กับเนื้อกับตัวโดยไม่ได้เจตนา แต่อาศัยการที่คอยรู้ทันจิตที่หลงไปไหลไป จิตมันตั้งมั่น เดินปัญญา สติรู้กายจะเห็นกายไม่ใช่เรา สติรู้เวทนาในร่างกาย ก็เห็นเวทนาก็ไม่ใช่เรา สติระลึกรู้เวทนาทางใจ เห็นเวทนาทางใจก็ไม่ใช่เรา สติรู้สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่ว ก็เห็นว่าความปรุงดีปรุงชั่วไม่ใช่เรา
ดูเรื่อยๆ แล้วต่อไปเราจะเห็นลึกลงไปอีก จิตของเราที่เป็นผู้รู้ไม่ได้เที่ยง เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้หลง หลงอะไร เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวหลงไปดู เดี๋ยวเป็นผู้รู้ เดี๋ยวหลงไปฟัง เดี๋ยวเป็นผู้รู้ หลงไปรู้รส ไปรู้สัมผัสทางกาย หลงไปคิดทางใจ หลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน สารพัดหลงเลย จิตผู้รู้เกิดแล้วก็ดับ กลายเป็นจิตผู้หลงนานาชนิด แล้วเรามีสติระลึกขึ้นเมื่อไร จิตผู้หลงดับ จิตผู้รู้ก็เกิดอีก ฝึกอย่างนี้เรื่อยๆ เราก็สามารถเดินปัญญาได้ด้วยขณิกสมาธิ
แต่ทุกวันต้องทำในรูปแบบ ถ้าเราไม่ทำในรูปแบบถึงจุดหนึ่งจิตเราแรงไม่พอ พอกำลังไม่พอ จิตมันจะเคลื่อนออกไป ไม่เข้าฐานที่หลวงพ่อบอกจิตไม่เข้าฐานๆ สมาธิมันไม่พอแล้ว ตรงนั้นไม่ต้องเดินปัญญา เดินปัญญาให้ตายก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา นอกจากความฟุ้งซ่านในธรรมะ ถึงตรงนั้นทำความสงบกลับเข้ามา ทำความสงบได้ระดับไหนเอาระดับนั้นล่ะ เข้าอัปปนาสมาธิได้ก็เข้า เข้าไม่ได้มาอยู่ตรงอุปจารสมาธิก็ยังได้ ถ้าอุปจารสมาธิก็ไม่ได้ ทำขณิกสมาธิ ทำกรรมฐานของเราไป จิตหนีไป จิตหลงไปแล้วรู้ จิตหลงไปคิดรู้ จิตหลงไปเพ่ง รู้ สมาธิก็จะแข็งแรงขึ้น
ทิ้งไม่ได้การทำในรูปแบบ หลวงพ่อเคยผิดพลาดหลายครั้งเลย เพราะทิ้งการทำสมถะ ดูถูกสมถะ จิตใต้สำนึก เพราะมันทำ 22 ปี ไม่เห็นได้อะไรขึ้นมาเลย ได้แต่สงบ สงบแล้วก็ฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านแล้วก็สงบ ก็มีอยู่แค่นั้นตั้ง 22 ปี พอมาทำวิปัสสนาเราเห็นพัฒนาการอย่างรวดเร็ว ลืมไปอย่าง ที่เราทำวิปัสสนาได้ เราพัฒนาได้ เพราะกำลังของสมาธิเรามากพอ
เข้าไปหาหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์ให้หลวงพ่อดูจิตเลย แล้วก็ไม่ใช่ทุกคนที่หลวงปู่ดูลย์สอนให้ดูจิต ส่วนใหญ่ลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ที่ท่านสอน ให้ดูกายให้ทำสมาธิก่อน บางคนก็ให้พุทโธ บางคนให้ดูกระดูก บางคนให้ดูผม อย่างหลวงพ่อคืนแปลกกว่าคนอื่น ให้ดูผมเส้นเดียว 2 เส้นไม่ได้ ต้องดูเส้นเดียวด้วย สิ่งเหล่านี้ท่านสอนตรงนี้เพื่อปรับสมาธิ แต่หลวงพ่อทำสมาธิมาแล้ว พอท่านพิจารณาแล้ว ท่านก็เลยให้ดูจิตไปเลย พอจิตมันมีสมาธิพอ มันก็เห็นจิตเกิดดับได้ จิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ จิตเป็นกุศลเกิดแล้วดับ จิตโลภ โกรธ หลงเกิดแล้วดับ จิตรู้เกิดแล้วดับ จิตที่ไปดูรูปเกิดแล้วดับ จิตรู้เกิดแล้วดับ จิตที่ไปฟังเสียงเกิดแล้วดับ จิตรู้เกิดแล้วดับ จิตที่ไปดมกลิ่นเกิดแล้วดับ อย่างนี้
ทำไมต้องมีจิตรู้แทรกอยู่ทุกอัน พอจิตหลงไปดู พอมีสติรู้ขึ้นมา เป็นจิตรู้ จิตรู้อยู่ชั่วคราวก็ดับ อาจจะเป็นจิตที่ไปฟังเสียง หรือจิตที่หนีไปคิด เราให้จิตมันทำงานไป แล้วเราตามรู้ตามเห็น เรารู้ว่าจิตนี้ไม่เที่ยง จิตนี้เป็นอนัตตา จิตจะไปดูรูป หรือไปฟังเสียง หรือไปคิด เราสั่งไม่ได้ๆ จิตมันทำงานของมันได้เอง มันจะไปดูรูปอย่างนี้ ขณะที่จิตมันจะดูรูป เราจะไปคิดว่าจะฟังเสียง เราฟังไม่ได้ยินแล้ว เพราะจิตมันไปดูรูป เราก็จะเห็น โอ๊ย จิตมันก็เป็นอนัตตา จิตไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราอะไรอย่างนี้ เดินปัญญาเดินกันอย่างนี้
วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ พอสมควร สิ่งที่หลวงพ่อบอกพวกเราไม่ใช่ว่าทำวันเดียวเสร็จ ธรรมะที่ครูบาอาจารย์สอนหลวงพ่อ บางเรื่องหลวงพ่อใช้เวลาย่อยธรรมะนั้นตั้ง 20 กว่าปี บางเรื่องใช้เวลาย่อยตั้ง 20 กว่าปี
ทีนี้ครูบาอาจารย์เวลาสอนธรรมะจะมี 2 แบบ แบบหนึ่งคือท่านสอนว่าก้าวต่อไป ต้องทำอะไร ถ้าก้าวที่หนึ่งยังไม่ผ่านจะไม่พูดก้าวที่สองให้ฟังเลย ฉะนั้นธรรมะที่สูงขึ้นไปมันเลยหายไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่ก็ตายไปพร้อมกับครูบาอาจารย์ เพราะลูกศิษย์เดินได้ก้าวหนึ่ง 2 ก้าว ธรรมะก้าวถัดไปไม่รู้แล้ว ไม่เคยได้ยิน ไม่เคยได้ฟัง ครูบาอาจารย์อีกแบบหนึ่งท่านจะสอนแบบชี้เป้า หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนแบบชี้เลย ชี้ มอง ยิงไปไกลเลย แบบขีปนาวุธ ไม่ใช่หนังสติ๊ก ยิงแล้วตกแปะๆ ไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่หลวงปู่ดูลย์สอน บางเรื่องใช้เวลานานกว่าจะเข้าใจ
หลวงพ่อสอนพวกเราแบบคนสมัยใหม่แล้ว ถ้าสอนให้เดินทีละก้าว มันไม่เดินหรอกๆ เพราะมันไม่รู้ว่าใช่ไม่ใช่ เดินไปแล้วมันจะได้อะไร จะคิดอยู่อย่างนี้ ไม่มีปัญญา ไม่มีความเข้มแข็งพอที่จะก้าวเดินไปได้ เพราะว่าศรัทธาของพวกเรายุคนี้น้อย ส่วนคนที่ว่ามีศรัทธา มันคือศรัทธางมงาย ไม่ใช่ศรัทธาแท้จริงด้วย อย่างพวกเรามีศรัทธา แต่ศรัทธาของเราก็ไม่ได้เข้มแข็งอะไร ครูบาอาจารย์พาให้ดูสภาวะดูอะไร เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเองได้แล้ว ศรัทธามันถึงจะเพิ่มขึ้น ฉะนั้นพวกเรายุคนี้ เริ่มต้นด้วยศรัทธาไม่ค่อยได้เรื่อง ไม่งมงายไปเลยก็คือไม่เชื่อไปเลย ก็เลยต้องใช้ปัญญานำ สอนให้พวกเราเห็นแผนที่ทั้งแผนที่ ทั้งหมดเป็นอย่างนี้
เหมือนเราดูแม็ป กูเกิลแม็ป จีพีเอสอะไรพวกนี้ เราจะไปเชียงใหม่ ก็ตั้งไปเชียงใหม่ กดปุ๊บมันจะเห็นเส้นทางทั้งหมดก่อน แล้วจะเดินจริงค่อยมาขยายดูเป็นส่วนๆ ไป หลวงพ่อก็บอกภาพรวมให้ดู ถ้าไม่บอกภาพรวมมันจะสงสัยไม่เลิก ไปทางนี้ได้จริงหรือ ทำไมไม่ไปทางนี้ๆ อะไรอย่างนี้ นิสัยของคนยุคเรามันไม่ได้มีศรัทธาแน่นแฟ้นจริงจัง พวกที่บอกว่าศรัทธานั่นคือพวกงมงาย พวกเราหลวงพ่อชี้เป้าให้เดินแล้ว บอกทางให้พวกเราทำ ทดลองทำ ทำแล้วมันเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง พวกนี้ศรัทธาถึงจะเกิด มีศรัทธาเพราะเห็นผล ไม่ใช่ศรัทธาเพราะเชื่อคนสอน หลวงพ่อเองไม่เชื่อใครง่ายๆ แต่ว่าครูบาอาจารย์บอกให้ทำ ทำ ทดลองดู
ค่อยฝึกเอาแล้ววันหนึ่งมันก็ดี อย่างน้อยก็จะมีชีวิตที่ทุกข์น้อยลง ถึงมีความทุกข์ก็ทุกข์สั้นลง ทุกข์ไม่รุนแรง ก็ทุกข์สั้นลง ไปทำเอา แล้วเราจะเห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา แล้วเราจะรู้เลยว่าพระพุทธศาสนาของเราไม่ได้มั่นคงแข็งแรงเลย สัทธรรมปฏิรูปเต็มไปหมดเลย ธรรมะที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติ มีเนื้องอกอะไรนี่มากมายเหลือเกิน
ธรรมะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการปฏิบัติจริงๆ มันอยู่ในธรรมะหมวดหนึ่งชื่อโพธิปักขิยธรรม โพธิปักขิยธรรมมี 37 ข้อๆ ฟังแล้วไม่ต้องตกใจ มันก็มีเรื่องสติปัฏฐาน 4 เข้าไปแล้ว สัมปปทานคือตัวสัมมาวายามะ อีก 4 ก็เป็น 8 เข้าไปแล้ว เรื่องอะไร เรื่องอิทธิบาท 4 กลุ่ม 4 มีสติปัฏฐาน 4 สัมปปทาน คือสัมมาวายามะ 4 แล้วก็อิทธิบาท 4 กลุ่ม 5 มีอินทรีย์ 5 พละ 5 กลุ่ม 7 มีโพชฌงค์ 7 กลุ่ม 8 มีอริยมรรคมีองค์ 8 นี่ 37 ประการ ที่หลวงพ่อสอนพวกเราก็วนเวียนอยู่ในธรรมะ 37 ประการนี้ทั้งนั้น แต่ว่าส่วนใหญ่จะพูดตัวเดียวคือสติปัฏฐาน ถ้าทำสติปัฏฐานถูกต้อง ที่เหลือมาเอง ได้มาหมด
ฉะนั้นจริงๆ ถ้าขยายสิ่งที่หลวงพ่อพูดออกไปให้ละเอียดก็คือโพธิปักขิยธรรม 37 ข้อ แต่ฟังแล้วมันน่าตกใจ หลวงพ่อเลยตัดเอาแค่สติปัฏฐาน 4 ถ้าทำสติปัฏฐาน 4 ได้ที่เหลือมันมาเอง ฉะนั้นไปทำเอา ใครทำกรรมอย่างใดก็จะได้ผลอย่างนั้นล่ะ
วัดสวนสันติธรรม
26 พฤษภาคม 2567