เห็นทุกข์ด้วยสติปัฏฐาน

การภาวนาจริงๆ มันไม่ยากหรอก ตั้งใจที่จะปฏิบัติ ก่อนจะตั้งใจปฏิบัติก็ต้องตั้งเป้าหมายของการปฏิบัติให้ถูกเสียก่อน วัตถุประสงค์เรียก Objective สูงสุดคือความดับทุกข์หรือพ้นทุกข์ มันพ้นทุกข์ก่อนแล้วมันค่อยดับทุกข์ คนที่พ้นทุกข์พร้อมๆ ดับทุกข์เรียกสมสีสี พ้นทุกข์ก็คือพ้นขันธ์ ดับทุกข์ก็ดับขันธ์ จุดหมายปลายทางของเราก็คือความดับสนิทของทุกข์

เราจะไปสู่จุดนั้นได้ เราต้องเรียนรู้ทุกข์ สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือตัวขันธ์ 5 ของเรานี่เอง อุปาทานขันธ์ทั้ง 5 นี้ล่ะคือตัวทุกข์ ท่านบอกอย่างนี้ สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา โดยสรุป อุปาทานขันธ์ทั้ง 5 คือตัวทุกข์ ทำอย่างไรเราจะดับขันธ์ ขันธ์มันเป็นวิบาก กรรมเก่าส่งผลมาให้เราได้ขันธ์อันนี้มา เราไปดับตัวขันธ์ไม่ได้ ดับตัวทุกข์ไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็เลยสอนบอก ทุกข์ให้รู้ ไม่ใช่ให้ละ ให้รู้ทุกข์

 

สติปัฏฐานเป็นเรื่องใหญ่ เป็นวิธีการปฏิบัติ

รู้ทุกข์ก็คือรู้กายอย่างที่กายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็น รู้ความจริงของขันธ์ 5 นั่นล่ะที่เรามีอยู่ เราจะรู้ความจริงของขันธ์ 5 ได้ เราก็ต้องพัฒนาญาณทัสสนะของเราที่จะมาเรียนรู้ ญาณทัสสนะคือการเห็นที่มีปัญญา ต้องเห็น เห็นขันธ์ 5 แต่เห็นแบบมีปัญญา คือรู้ความจริงของขันธ์ 5 มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา การภาวนาของเราจะมามุ่งพัฒนาความสามารถในการเห็นความจริงของรูปนามกายใจนี้ จุดหมายสูงสุดเรียกวัตถุประสงค์หรือ Objective คือดับทุกข์ พ้นทุกข์ จะไปสู่จุดนั้นได้ก็มีเป้าหมาย ก็คือการต้องเรียนรู้ทุกข์ให้ได้ รู้กายรู้ใจของตัวเองให้ได้ ทีนี้การจะรู้กายรู้ใจของตัวเองให้ได้ ก็ต้องมีการพัฒนาเครื่องมือที่จะเรียนรู้กายใจของตัวเอง เครื่องมือสำคัญก็คือตัวสัมมาสติกับสัมมาสมาธิ

สัมมาสติก็คือตัวสติปัฏฐานนั่นล่ะ แล้วถ้าเราทำสัมมาสติให้มาก สัมมาสมาธิจะสมบูรณ์ขึ้นมาเอง คือความตั้งมั่นของจิต จิตที่มันตั้งมั่นจริงๆ มันจะเห็นความปรุงแต่ง สติระลึกรู้ความปรุงแต่งที่เกิดขึ้น แต่มันไม่ใช่จิต จิตมันตั้งมั่นอยู่ มันแยกตัวเองออกจากความปรุงแต่งได้ พอมันแยกตัวออกจากความปรุงแต่งได้ มันเป็นแค่คนรู้เท่านั้นเอง มันตั้งมั่นอยู่อย่างนี้ พอจิตมันทำตัวเป็นแค่คนรู้คนเห็น มันก็เห็นกายเห็นใจตามความเป็นจริงได้ ถ้าจิตเราไม่ตั้งมั่น จิตเราอินเข้าไปในความปรุงแต่ง หลงไปในความปรุงแต่ง การที่จะเห็นความปรุงแต่งตามความเป็นจริง เห็นไม่ได้ เหมือนอย่างเราตกน้ำลงไปแล้ว ไหลตามน้ำไป เราจะเห็นสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในน้ำไม่ชัดแล้ว แต่ถ้าเราอยู่บนบก เราไม่ตกลงไปในน้ำ อะไรลอยผ่านมาในน้ำ เราก็จะเห็น

ฉะนั้นการที่เราจะเห็นกายเห็นใจตามความเป็นจริงได้ เราต้องพัฒนาเครื่องมือ 2 ตัวคือสติกับสัมมาสมาธิ วิธีพัฒนาก็คือทำสติปัฏฐานนั่นล่ะ ทำสติปัฏฐานไป ถ้าทำถูกสัมมาสมาธิมันมา เกิดเองง่ายๆ ฉะนั้นการทำสติปัฏฐานเป็นเรื่องใหญ่ เป็นวิธีการปฏิบัติ มันคนละตัวกับจุดมุ่งหมายสูงสุดของการปฏิบัติ อันนี้เป็นวิธีการ

สติปัฏฐาน ให้เราพัฒนาสติแล้วเอาสตินั้นระลึกรู้รูปนามกายใจของเรานี้ สติปัฏฐานมันก็เป็นเรื่องรูป เวทนา ความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ รู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ สังขารก็คือความปรุงแต่ง จิตตานุปัสสนาจะเรียนสังขาร จิตที่ประกอบด้วยสังขาร จิตโลภ จิตไม่โลภ จิตโกรธ จิตไม่โกรธอะไรนี่ เราไม่ได้เรียนตัวจิตตรงๆ เพราะจิตไม่มีร่องรอยให้เห็น เราก็อาศัยการเรียนรู้ความเกิดดับของจิตผ่านทางเจตสิก เช่น สุขทุกข์ทางใจ หรือกุศลอกุศลที่เกิดขึ้น จิตดวงนี้เป็นกุศล เกิดแล้วก็ดับ จิตดวงนี้เป็นอกุศล เกิดแล้วก็ดับ จะเห็นอย่างนี้ เราก็จะเห็นว่าจิตทุกข์ดวงมันเกิดดับได้ ถ้าเราทำอย่างนี้ เราก็จะเห็นความจริงของจิตใจได้

อย่างกายานุปัสสนาจะเห็นความจริงของกาย ตามรู้ตามเห็น อย่างเรามีสติระลึกรู้กายเนืองๆ เราจะเห็นว่าร่างกายเราไม่เที่ยง อย่างหยาบที่สุดเลยก็คือเกิดแล้วตาย อย่างกลางๆ ก็เห็นว่าช่วงชีวิตแต่ละช่วงผ่านมาแล้วก็ผ่านไป อย่างช่วงทารกผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ของเรานี้เรียกร้องเอาความเป็นทารกกลับมาไม่ได้แล้ว ยกเว้นเป็นเฒ่าทารก อันนั้นเป็นเรื่องสำนวน

เราเรียกร้องวัยที่ผ่านมาแล้วไม่ได้ เราผ่านชั้นของวัยมาเยอะแล้ว จากทารกมาเป็นเด็ก จากเด็กมาเป็นวัยรุ่น จากวัยรุ่นมาเป็นหนุ่มสาว จากหนุ่มสาวก็มาเป็นคนกลางคน มาเป็นคนแก่ เป็นคนหง่อม แก่หง่อม สังเกตดู คนจะแก่มากๆ แบบช่วยตัวเองไม่ไหว ประมาณ 90 ฉะนั้นไม่ต้องกังวล น้อยคนที่อยู่ถึง 90 คือถ้ายังเดินได้ก็ยังช่วยตัวเองได้อยู่ เราจะเห็นชั้นของวัยผ่านไปเกิดแล้วดับไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ เอาคืนไม่ได้แล้ว นี่คือการเห็นความจริงของร่างกายในระดับปานกลาง ถ้าระดับหยาบก็เห็นว่าเกิดแล้วตายแน่นอน ระดับปานกลางเราเห็นชั้นของวัย ผ่านไปเป็นลำดับๆ เอาคืนไม่ได้ สุดท้ายก็หมด

อย่างละเอียด เราก็ดูได้ละเอียดขึ้นไปอีก ดูเป็นขณะๆ ขณะที่หายใจออกเกิดแล้วก็ดับไป ขณะที่หายใจเข้าเกิดแล้วก็ดับไป ขณะที่นั่งอยู่ ต่อไปเดี๋ยวมันก็ดับ ขณะที่ยืน ที่เดิน ที่นอนเกิดแล้วก็ดับ ขณะที่เคลื่อนไหวเกิดแล้วก็ดับ ขณะที่หยุดนิ่งเกิดแล้วก็ดับ ดูกาย ดูอย่างนี้ไป ไม่ยาก ดูกายมันก็มีหลายระดับ อันนี้สำหรับง่ายๆ ดูง่ายๆ ก็ดูอย่างที่หลวงพ่อบอกนี้

ถ้าคนทรงฌาน ทรงอะไร เขาก็ดูกายได้ละเอียดขึ้นไปอีก เขาไม่ได้เห็นกายเป็นก้อนๆ อย่างนี้หรอก กายเป็นก้อนๆ จริงๆ แล้วประกอบด้วยรูป รูปจำนวนมากที่ประชุมกันอยู่ จิตทรงสมาธิสูงๆ ก็จะเห็นร่างกายก็มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ประชุมกันอยู่ อยู่ในอะไร อยู่ในอากาศธาตุ ในช่องว่าง ในสเปซ ก็เห็นว่ามันเป็นสักแต่ว่าธาตุ มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออก เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง อันนั้นดูยากนิดหนึ่ง จะดูจนเห็นธาตุ จิตต้องทรงสมาธิมากๆ อย่างที่หลวงพ่อเคยเล่าให้ฟัง ขี้หมากองเดียว มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ในผมเส้นเดียวก็มีดิน น้ำ ไฟ ลม ดูยากแล้วล่ะ ดูขนาดนั้นไม่ไหว ไม่ต้องเอา เอาเท่าที่เราทำได้

 

ดูจิต

พระพุทธเจ้าสอนธรรมะไว้หลากหลาย บางคนดูละเอียดไม่ได้ ก็ดูหยาบๆ บางคนดูหยาบๆ แล้วไม่สะใจ ก็ดูละเอียด แล้วแต่จริตนิสัย แต่ไม่ว่าธรรมะที่หยาบหรือธรรมะที่ละเอียด ถ้าเราภาวนา เราตามรู้ตามเห็นไปเรื่อย สุดท้ายมันก็ไปลงที่เดียวกัน คือทุกสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ฉะนั้นเรามีสติทำสติปัฏฐานไป ระลึกรู้ร่างกายไปก็ได้ หรือจะเริ่มต้นด้วยการรู้เวทนาก็ได้ บางคนให้ดูกายไม่ชอบ ก็ดูเวทนา รู้กาย รู้สึกดูกายมันตื้นไป ก็ดูเวทนาในร่างกาย หรือดูเวทนาในจิตใจ ในร่างกายเราเดี๋ยวก็เมื่อยตรงนั้น เดี๋ยวก็ปวดตรงนี้ เดี๋ยวก็คันตรงนั้นตรงนี้ เราจะเห็นเวทนาเกิดดับหมุนเวียนอยู่ในกาย

อันนี้ก็ดูยากหน่อย สมาธิไม่พอ ไม่รู้หรอก ยิ่งถ้าไม่มีสติ คันขึ้นมาก็เกาไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อยขึ้นมาก็ขยับไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ทันเห็นทุกข์เห็นโทษอะไร ถ้ามีสมาธิดีๆ มีสติดีๆ ร่างกายมันคัน สมมติมันคันตรงนี้ มันอยากเกา แค่ร่างกายคัน ถ้าสติเราดี เราก็จะเห็นร่างกายก็อันหนึ่ง ความรู้สึกคันก็อีกอันหนึ่ง ความรู้สึกอยากเกาก็เป็นอีกอันหนึ่ง จิตที่เป็นคนดูก็เป็นอีกอันหนึ่ง นี่แค่จะเกา ขันธ์ยังแยกเลย ดูลงไป หมายรู้ลงไป ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ เป็นแค่วัตถุ ถ้าจิตเราละเอียดพอ สมาธิเรามากพอ สติเรามากพอ แค่จะเกาสักที่เดียวยังเห็นขันธ์ 5 เลย มันก็ละเอียด มันก็ยาก ฉะนั้นเราดูของที่ทำได้ ไม่ต้องละเอียดมาก

แต่อย่างหลวงพ่อ หลวงปู่ดูลย์ท่านให้ดูจิต เพราะหลวงพ่อดูกายแล้วจืด ใจมันรู้สึกจืดชืด มีแค่นี้เอง ดูไปๆ มันก็สลายตัวไป ระเบิดออกไป กลายเป็นแสงสว่าง สลายไป ดูแล้วจืดชืด ไม่สนุก จริตนิสัย ไม่ชอบดูอย่างนั้น พอหลวงปู่ให้ดูจิต ก็เห็นจิตมันวิจิตพิสดารมาก อันแรกเลย จิตมีตั้งหลายชนิด จิตที่เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศลก็มี มีหลายอย่าง แล้วจิตทำงานได้วิจิตพิสดาร จิตไปดูรูปก็มี จิตไปฟังเสียง จิตไปดมกลิ่น จิตไปลิ้มรส จิตไปรู้สัมผัสทางกาย จิตไปทำงานทางใจก็มี จิตที่ทำงานทางใจก็มีหลายแบบอีก

อันหนึ่ง พอมันรับสัญญาณ ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันกระทบอารมณ์ พอกระทบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะแล้ว หน้าที่ของจิตที่รับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันนั้นดับ จิตดวงนั้นดับแล้ว มันมีจิตอีกดวงหนึ่ง เป็นแมสเซนเจอร์ มันรับข้อมูล แพ็กเกจข้อมูล ส่งเข้ามาที่ใจ ส่งข้อมูลเข้ามาที่ใจ มันทำหน้าที่ส่งเสร็จแล้วมันก็ดับไป

มีจิตที่แปลความหมายทางใจของเราอีก อันนี้คืออันนี้ๆ อาศัยสัญญา สัญญานี่ความจำก็เกิดความคิดขึ้นมาว่านี่ดี นี่ไม่ดี ให้ค่า มีจิตดวงหนึ่งเป็นตัวให้ค่า ตัวหนึ่งเป็นตัววินิจฉัย อีกตัวหนึ่ง เป็นตัวตัดสิน เสร็จแล้วมันก็จะเกิดจิตที่ทำกรรมขึ้นมา จิตที่ปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงสุขปรุงทุกข์ขึ้นที่ใจ ตรงนี้ที่มันทำงาน กุศลเกิดตรงนี้ล่ะ อกุศลเกิดตรงนี้ล่ะ สังเกตตรงนี้ กระทั่งมรรคผลก็เกิดตรงนี้ล่ะ ไม่ได้ไปเกิดที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้นหรอก ไม่ได้เกิดที่ร่างกาย มันรวมลงมาเกิดที่ใจ

พอหัดดูจิตดูใจ โอ้ สนุกจังเลย ทำไมมันวิจิตพิสดาร รู้สึกจิตมันทำงานได้หลากหลาย มันตกภวังค์ก็ได้ ขึ้นจากภวังค์ก็ได้ ออกมารับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เลือกไม่ได้เสียอีก มีจิตตัวหนึ่งเป็นตัวเลือก พอกระทบอารมณ์แล้วส่งสัญญาณมาที่ใจ มีการแปลความหมาย มีการให้ค่า ก็เกิดกุศล เกิดอกุศลขึ้นมา จิตก็ทำกรรมไป จิตทำกรรมแล้วก็เริ่มเซฟข้อมูล เก็บข้อมูล แล้วก็ตกภวังค์ลงไปอีก รู้สึก โอ้ สนุกจังเลย ดูจิตดูใจ เรามีจิตมาแต่ไหนแต่ไร แต่เราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นเลย

อย่างกายนี้มันเห็นมานานแล้วว่าร่างกายไม่ใช่เรา ดูอย่างไรที่เห็นกายไม่ใช่เรา อย่างพอนั่งสมาธิไป บางทีร่างกายมันหายไป เหลือแต่ใจ แล้วพอกลับมามีร่างกาย เราจะรู้เลย ร่างกายไม่ใช่เรา ร่างกายกับจิต มันคนละอันกัน แล้วถ้าภาวนาถึงจุดอย่างนี้ที่กายมันหายไป เหลือแต่จิต ต่อไปขันธ์มันแยกตลอดชาติเลย ไม่ต้องพยายามแยกแล้ว มันแยกเลย มันสนุก ตอนหลวงพ่อหัดดูจิตดูใจตัวเอง สนุกจังเลย มีความพอใจที่จะดูจิตดูใจตัวเอง บางท่านท่านก็พอใจที่จะดูกาย บางท่านพอใจดูเวทนา อย่างหลวงพ่อพอใจดูจิต พวกเราไม่ต้องเหมือนหลวงพ่อ ทางใครทางมัน เพราะจิตมันว่องไวมาก พิสดาร

ตอนหัดดูจิตแล้วก็ขึ้นไปส่งการบ้านหลวงปู่ ไปบอกหลวงปู่บอกว่าผมดูจิตได้แล้ว ท่านถามจิตเป็นอย่างไร บอกจิตมันวิจิตพิสดาร มันทำอะไรได้หลากหลายเหลือเกิน เป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศลก็ได้ แล้วทำงานได้ ตำราบอกได้ 14 อย่าง ไม่ใช่หลวงพ่อเก่งรู้ได้เองหรอก ภาวนาแล้วไปอ่านตำราดู เทียบเข้าไป เออ มันตรงจริงๆ ตำราตรงนี้เก่ง ก็เลยสนุก ดูจิตใจ

ก่อนที่จะมาเจริญปัญญาด้วยการดูจิตใจ ทำแต่สมาธิ ทำสมาธิมันก็ได้แต่ดูข้างนอก ดูเข้ามาไม่ถึงจิตถึงใจตัวเอง ดูผีดูสางดูอะไร ไร้สาระ เห็นผีไหม เห็น แต่สิ่งที่เห็นนั้นจริงไหม ไม่รู้ จิตมันหลอนได้ จิตมันสร้างนิมิตได้ ฉะนั้นอย่างบางคนภาวนาแล้ว โอ้ เห็นอดีต ระลึกชาติได้ ระลึกไหม เออ เขาระลึกจริงๆ เขาไม่ได้มโน แต่สิ่งที่ระลึกจริงไหม ไม่แน่ กิเลสพาระลึกกันได้เยอะเลย ของจริงไม่ค่อยมีหรอก ฉะนั้นอย่าไปเชื่อมัน ดูของจริงๆ ของจริงๆ อยู่เดี๋ยวนี้ ไม่ต้องไปอยู่ในอดีตหรอก

ถูกเขาด่า แล้วใจเราโกรธขึ้นมา ดูใจ เห็นใจมันโกรธ ดีกว่ารู้อีกว่าชาติก่อนเคยเป็นอะไร เป็นพญานาคเป็นอะไร ไร้สาระ หาสาระแก่นสารไม่ได้ ปัจจุบันสำคัญที่สุด รูปนามกายใจของจริงอยู่ในปัจจุบัน ในอดีตไม่มี ในอดีตมันจบไปแล้ว อย่างร่างกายเราที่หายใจออกหายใจเข้าเมื่อกี้ มันก็จบไปแล้ว เอาคืนไม่ได้ ของจริงอยู่ที่ปัจจุบัน

 

ภาวนาเริ่มต้นจากกายก็ได้ เวทนาก็ได้ จิตก็ได้

ฉะนั้นถ้าเราอยากเห็นความจริงของรูปนามกายใจ ต้องดูในปัจจุบัน ไปดูในอดีต ดูในอนาคต ไม่ได้เรื่องหรอก จิตมันหลอนเอา เคยเกิดเป็นโน่นเคยเกิดเป็นนี่ ดีตรงไหน อย่างเคยเกิดเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็ตอนนี้ไม่ได้เป็น แล้วมันดีตรงไหน

ถ้ามีสติปัญญาจริง จะระลึก สมมติระลึกได้จริงๆ ระลึกชาติไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ เราจะไม่เห็นอย่างอื่นเลยนอกจากทุกข์ เกิดทีไรก็ทุกข์ทุกทีล่ะ ทุกข์เพราะความเจ็บ ความแก่ ความตาย ทุกข์เพราะความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ทุกข์เพราะเผชิญกับสิ่งที่ไม่รัก ไม่ชอบใจ ทุกข์เพราะอยากแล้วก็ไม่สมอยาก ทุกข์แบบเศร้าโศก ร่ำไรรำพัน คร่ำครวญ น้ำตา พระพุทธเจ้าท่านบอก น้ำตาของเราในภพในชาติทั้งหลายรวมแล้วมากกว่าน้ำในมหาสมุทรอีก ถ้าระลึกชาติแบบชาวพุทธ จะไม่ระลึกว่ากูเก่งอย่างโน้น กูดีอย่างนี้ ถ้าระลึกไปจะเห็นแต่ทุกข์เห็นแต่โทษ ไม่ใช่ของดีเลย เห็นแล้วทำให้เบื่อหน่าย ก็ไม่อยากเกิด

มีครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ท่านเคยเล่าให้หลวงพ่อฟัง ชื่อหลวงพ่อกิม อยู่วัดป่าดงคู ลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ แต่สิ้นไปนานแล้ว หลังหลวงปู่ดูลย์สิ้นไม่นาน หลวงพ่อกิมๆ สิ้นไป ท่านเคยเล่า ที่ท่านมาบวชแล้วไม่สึก เพราะท่านภาวนาแล้วท่านระลึกชาติได้ แหม ระลึกดีจัง ระลึกว่าท่านเคยเกิดเป็นวัว แล้วเจ้าของเขาพาไปที่ทุ่งนาให้กินหญ้า ก็อยู่กลางแจ้ง หญ้าไม่ได้อยู่ในร่มหรอก เขาเอาไม้หลักตอกลงไปในนาแล้วเอาเชือกผูกๆ คอท่านไว้ ก็เดินกินหญ้าได้รอบๆ เป็นวงกลม รอบๆ ไม้ที่ปักไว้

เจ้าของเขาคิดว่าเดี๋ยวเขาไปธุระ เดี๋ยวเดียวจะกลับมา ปรากฏว่าไปธุระแล้วติดลมไม่กลับมา ท่านตื่นแต่เช้ายังไม่ได้กินน้ำเลย กินแต่หญ้าแห้งๆ กิน ยิ่งกินก็ติดคอ กระหายน้ำ เจ้าของก็ไม่มาสักที พอเห็นคนอื่นเขาเดินมา ไม่ใช่เจ้าของ ก็ดีใจ เห็นคนมา ท่านบอกดีใจ นึกว่าเขาจะรู้ว่าหิวน้ำ เขาจะพาไปกินน้ำอะไรอย่างนี้ เห็นคนมาก็กระโดดโลดเต้นใหญ่ ดีใจๆ คนบอก อุ๊ย วัวตัวนี้น้ำลายฟูมปากแล้ว เป็นวัวบ้า ยิ่งหนีออกไปใหญ่ ไม่มีใครเข้าใกล้ จนตกเย็นเจ้าของถึงกลับมา พาไปกินน้ำ

ท่านบอก นี่ท่านระลึกแล้วท่านเห็นแต่ทุกข์ ไม่เห็นอย่างอื่นเลย แล้วท่านเข็ดขยาด ท่านไม่อยากเกิดอีกต่อไปแล้ว ฉะนั้นท่านมาบวช ท่านไม่คิดจะสึกเลย ท่านจะสู้ตายแล้ว เพราะระลึกลงไปแล้ว นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเลย นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรดับไป ถ้าจะระลึกชาติ ระลึกให้ได้แบบนี้ เป็นคุณเป็นประโยชน์ ถ้าระลึกอย่างอื่น ไม่ได้เรื่อง ส่วนใหญ่หลงโลก พวกเราก็มีบางคนนั่งภาวนาแล้วระลึกได้ อุ๊ย คนนี้เคยเป็นสามีเรา นี่เป็นเมียเราอะไรอย่างนี้ ภาวนาอย่างนั้นยิ่งผูกมัด แทนที่จะลดละ ปล่อยวาง

ถ้าเราภาวนา ค่อยๆ ดูของเราไป จะเริ่มจากดูกายก็ได้ ถนัดดูกายก็ดูกายไป เริ่มด้วยการดูกาย ถนัดดูเวทนาก็เริ่มด้วยเวทนา ถนัดดูจิตก็เริ่มด้วยการดูจิตไป แต่ธัมมานุปัสสนามันละเอียดลึกซึ้ง ยังไม่ค่อยอยากแนะนำให้ทำหรอก ทำเดี๋ยวฟุ้งซ่าน อย่างในธัมมานุปัสสนาสูงสุดเลยคือสัจจบรรพ สอนเรื่องอริยสัจ สอนเรื่องปฏิจจสมุปบาทนั่นล่ะ บางคนก็ไปจะเอาของสูงสุดเลย ไปปฏิบัติด้วยการดูปฏิจจสมุปบาท สภาวะหยาบๆ ยังไม่เคยเห็นเลย จะไปเห็นปฏิจจสมุปบาทได้อย่างไร มันไม่เห็น ก็ได้แต่มโนเอา คิดเอาเรื่องปฏิจจสมุปบาท พูดก็พูดปฏิจจสมุปบาท แต่ใจมันไม่เห็น มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ก็ได้แต่ความจำรกรุงรังในสมองเอาไว้เท่านั้นเอง

ค่อยภาวนา เริ่มจากกายก็ได้ เวทนาก็ได้ จิตก็ได้ แล้วสุดท้ายมันจะลงมาที่ปฏิจจสมุปบาท ลงมาที่อริยสัจทุกคน เพราะถ้ายังไม่ถึงรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ยังไม่จบกิจในพระพุทธศาสนา เรียกว่ายังไม่รู้ทุกข์ ยังไม่ได้รู้ทุกข์ ฉะนั้นเราดูกายก็ได้ แล้วต่อไปเราก็เข้ามาเห็นทุกข์ได้ ดูเวทนา ดูจิตแล้วก็เข้ามาเห็นทุกข์ได้ เห็นทุกข์ก็เห็นธรรมนั่นล่ะ พอเรารู้ความจริงแจ่มแจ้ง กาย เวทนา จิต ธรรมไม่มีอะไร มีแต่ทุกข์ล้วนๆ มีแต่ของไม่เที่ยง มีแต่ของถูกบีบคั้น มีแต่ของที่อยู่นอกเหนืออำนาจบังคับ พอเห็นอย่างนี้จิตมันจะวาง พอจิตมันปล่อยวางได้ รู้ทุกข์จนมันละสมุทัยแล้ว มันก็แจ้งนิโรธ

ตรงที่มันวางได้ มันจะเห็นนิพพาน อย่าไปมโนนิพพานว่าเป็นโลกๆ หนึ่ง อันนั้นเขาไว้หลอกเด็กให้มีกำลังใจภาวนา นิพพานไม่ใช่โลกๆ หนึ่ง นิพพานคือสภาวะที่สิ้นตัณหา สิ้นอยาก ทันทีที่สิ้นอยาก ก็สิ้นความยึดถือ เพราะถ้าอยากแรงๆ แล้วก็เข้าไปยึด ทันทีที่สิ้นความยึดถือ ก็หมดความจงใจ ความจงใจคือตัวกรรมหรือตัวภพนั่นเอง พอหมดความจงใจ คราวนี้จิตก็ไม่ต้องไปหยิบฉวยอายตนะตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ได้หยิบจิตขึ้นมา

เมื่อไม่หยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกไม่มีชาติ ๆ ชาติคือการที่ได้มาซึ่งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วตัวที่วางได้เร็วก็คือส่วนของตา หู จมูก ลิ้น กาย พระอนาคามีวางได้ ส่วนตัวใจต้องถึงที่สุดถึงจะวางได้ถาวร วางแล้วก็หยิบๆ ก็ยังไม่พ้นหรอก ต้องทำอีก พอมันเห็นแจ่มแจ้ง ตัวชาติ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไม่ใช่อย่างอื่น คือตัวทุกข์ ถ้าเราหยิบฉวยไว้ก็คือมีชาติแล้วก็เลยเกิดทุกข์ขึ้นมา เพราะเราไปหยิบฉวยเอาตัวทุกข์ขึ้นมากอดเอาไว้ มันไปอุ้มงูเห่าขึ้นมาอย่างไรก็โดนมันกัด

ค่อยภาวนา เริ่มต้นจากกายก็ได้ เวทนาก็ได้ จิตก็ได้ สุดท้ายมันก็เข้ามาที่ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน สูงสุดก็คืออริยสัจ อริยสัจเป็นธรรมะที่ประณีตลึกซึ้งมาก ปฏิจจสมุปบาทลึกมาก ท่านพระอานนท์ ตอนนั้นท่านได้โสดาบัน แล้วท่านเป็นคนที่มีปัญญามาก มีความจำเป็นเลิศ มีปัญญามาก ฟังธรรมะอะไรที่พระพุทธเจ้าแสดง จำได้หมดเลย วันหนึ่งก็เข้าไปทูลพระพุทธเจ้า บอกคนทั่วๆ ไปบอกว่าปฏิจจสมุปบาทยาก แต่ปฏิจจสมุปบาทปรากฏแก่ข้าพระองค์เป็นของง่าย พระพุทธเจ้าบอกว่า อานนท์อย่าพูดอย่างนั้น ปฏิจจสมุปบาทนี้ลึกซึ้งนัก ถ้ายังไม่รู้แจ้งแทงตลอด ยังไม่พ้นการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏนี้ พระพุทธเจ้าบอกว่ามันยาก เพราะฉะนั้นมันไม่ง่ายหรอก

ทีแรกเราภาวนา เราจะเห็นช่วงกลางๆ เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอยู่แล้ว กระทบอารมณ์ มีผัสสะ อันนี้พอรู้ง่าย พอมีผัสสะแล้วก็ปรุงมาเป็นเวทนา ปรุงมาเป็นตัณหา ปรุงมาเป็นอุปาทาน ตรงนี้ยังพอดูได้ ตรงที่ปรุงเป็นภพเป็นชาติก็ดูยากแล้ว อย่างเมื่อก่อนหลวงพ่อสงสัย ทำไมเราวางจิตแล้วเราก็หยิบอีก ทำไมวางแล้วก็หยิบๆ อยู่อย่างนั้น ตรงที่เราหยิบฉวยจิตขึ้นมา มันชาติ เพราะอะไร เพราะมันมีเจตนา มันมีการกระทำกรรม มีภพ การกระทำกรรมคือตัวภพ มีเจตนาคือตัวกรรมนั่นล่ะ อยากปฏิบัตินั่นล่ะ เจตนาจะดูก็สร้างภพขึ้นมา จิตก็คว้าจิตขึ้นมาอีก เอามาใคร่ครวญพิจารณา ไม่ยอมวาง ตรงนี้ยากแล้ว

ท่อนกลางๆ พอง่ายๆ ท่อนปลายยากแล้วที่จะเห็น จิตมันไปสร้างภพ สร้างภพแล้วจิตก็หยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขึ้นมาเป็นตัวชาติแล้วก็เป็นตัวทุกข์ พูดง่าย แต่มันเห็นยาก แล้วที่เห็นยากกว่าท่อนนี้ คือท่อนแรก อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยของนามรูป ดูยาก โดยเฉพาะตัวอวิชชา ดูยาก ดูจนกระทั่งต้องเห็น อะไรทำให้อวิชชาเกิด อะไรเป็นปัจจัยของอวิชชา อาสวะ อาสวะเป็นปัจจัยของอวิชชา แล้วอะไรเป็นปัจจัยให้เกิดอาสวะ ก็อวิชชา อวิชชากับอาสวะมันหล่อเลี้ยงกันอยู่

ถ้าเราภาวนา จิตเราถอนออกมาแล้ว เราจะเห็น ถ้าเราไม่จบ อาสวะมันจะเข้ามาครอบจิตอีก มันจะเข้ามาครอบจิตเหมือนเราเห็นบ่อน้ำมีจอกแหนเขียวๆ เต็มปิดมองไม่เห็นน้ำ เราหาไม้ท่อนใหญ่ๆ ทุ่มโครมลงไป มันแหวก มันแหวกเดี๋ยวเดียวมันเข้ามาปิดอีกแล้ว นี่อาสวะมันเข้ามาย้อมจิตอยู่อย่างนั้น แล้วเราดูไม่ออก ดูไม่ออกก็ยังเกิดอีกล่ะ เพราะว่าความปรุงแต่งก็ยังจะมีอีก ฉะนั้นธรรมะจริงๆ ไม่ใช่ของพูดเล่น โดยเฉพาะอริยสัจ โดยเฉพาะปฏิจจสมุปบาท ไม่ได้เอามาพูดเล่นๆ กัน เอาของที่เราทำได้ อันนี้เหลือวิสัย อินทรีย์พวกเราไม่ได้แก่กล้า ที่เคยได้ยินมามี 1 ท่านที่บรรลุพระอรหันต์ เพราะเข้ามาที่สัจจบรรพ คือพระพุทธเจ้า เจ้าชายสิทธัตถะ

 

สติปัฏฐานเป็นทางสายเอก เป็นทางสายเดียว

เจ้าชายสิทธัตถะท่านทำสมาธิ ทำสมถะ ด้วยอานาปานสติ จนจิตเข้าถึงฌานที่สี่ ทำไมต้องฌานที่สี่ เพราะจิตเป็นอุโบกขา แล้วในฌานที่สี่ของท่าน ท่านมีผู้รู้ตั้งแต่ฌานที่สอง ในฌานที่สี่ก็มีตัวรู้แล้วก็เป็นอุเบกขา เสร็จแล้วท่านโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ ญาณทัสสนะเป็นการเห็นอย่างมีปัญญา เห็นจากของจริง ไม่ใช่มโน ไม่ใช่มโนทัศน์ แต่เป็นญาณทัศน์ ท่านเห็น อะไรมีอยู่ ทุกข์ถึงมีอยู่ ท่านเห็น คือเห็นอะไร เห็นสภาวะ ไม่ใช่ไม่เห็น ไม่ใช่นั่งคิด

คนรุ่นหลังบางทีก็บอก พระพุทธเจ้าไม่ได้ทำวิปัสสนาหรอก ไม่ได้ทำสติปัฏฐานหรอก ท่านคิดพิจารณาออกมาได้ ก็พระพุทธเจ้าท่านบอกเอง สติปัฏฐานเป็นทางสายเอก เป็นทางสายเดียว ท่านไม่ได้บอกว่ามีทางเฉพาะสำหรับพระพุทธเจ้า บางทีเข้าไม่ถึงสภาวะจริงๆ ก็มโนอย่างโน้นอย่างนี้ จริงๆ ท่านเห็นสภาวะ พวกเราจะเห็นสภาวะตามท่านตรงนี้ไม่ใช่ง่าย เอาของที่เห็นได้ก่อน ร่างกายนี้ของเห็นง่าย รู้สึกร่างกายบ่อยๆ สิ ขณะนี้ร่างกายนั่งอยู่ รู้สึกไหม เห็นไหมพอหลวงพ่อพูดก็รู้สึกได้ เห็นไหม

ทีแรกฟัง ก็ฟังไปคิดไปเพลินๆ ฟังธรรมะ รู้สึกตื่นเต้น ธรรมะอย่างนี้ น่าฟังอะไรอย่างนี้ ลืม ลืมกายลืมใจของตัวเอง พอหลวงพ่อบอก รู้สึกไหมร่างกายมันกำลังนั่งอยู่ มันก็รู้สึกได้ทันที ต้องทำจิตให้นิ่งๆ ก่อนไหม ถึงจะรู้ว่าร่างกายนั่ง ไม่ต้องทำอะไรเลย การที่จะรู้ว่าขณะนี้ร่างกายนั่ง ไม่เห็นต้องทำอะไรเลย แค่ใส่ใจที่จะรู้ ใส่ใจที่จะรู้ เขาเรียกมนสิการ มีมนสิการที่จะรู้สึกกาย ระลึกถึงร่างกาย มันก็รู้สึกได้เลย มนสิการถึงความรู้สึก ลองสิ ขณะนี้เราสุขหรือเราทุกข์ อย่างนี้เห็นไหมเรามีมนสิการ เข้าไปดูเวทนา หรือขณะนี้ใจเราเป็นกุศลหรืออกุศล อาศัย ไม่เห็นจะมีอะไรมากมายเลย แค่นึกถึงมัน เราก็รู้สึกได้แล้ว

อย่างร่างกายนั่ง จะรู้สึกว่าร่างกายนั่ง จะรู้สึกว่าร่างกายหายใจออก หายใจเข้า ไม่เห็นมีอะไรเลย แค่นึกถึงมันเท่านั้นเอง นึกได้ไหม ตอนนี้หายใจออกหรือหายใจเข้า ยากไหม ไม่เห็นยากอะไรเลย ตอนที่หลวงพ่อพูด หายใจออกหรือหายใจเข้า ใครรู้บ้าง หายใจออก ลองหายใจเข้าแล้วพูด ไม่มีใครทำได้หรอก หายใจเข้าด้วยพูดด้วย พวกเราพูดมาตั้งแต่เด็กแล้ว พูด ร้องแว้ๆ มาตั้งแต่เกิดแล้ว รู้ไหมว่าตอนที่ออกเสียงไม่ได้หายใจเข้า

รู้ไหมตอนที่กลืนอาหาร หายใจเข้าหรือหายใจออก ไม่ได้หายใจ ขืนหายใจสำลักเลย ร่างกายของตัวเอง หัดรู้บ้าง เห็นไหม เรานึกว่า แหม ร่างกายเรา เรารู้ทุกกระเบียดนิ้ว จริงๆ ไม่ค่อยจะรู้อะไรเท่าไรหรอก ทำอะไรอยู่ยังไม่รู้เลย ฉะนั้นหัดรู้ๆ ไป ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง ร่างกายหายใจออก หายใจเข้า รู้สึกด้วยจิตใจธรรมดานี่ล่ะ มันรู้สึกได้อยู่แล้ว บางคนก็เดินสติปัฏฐาน 4 เรียง 4 อันเลย อย่างดูกาย ดูเวทนา ดูจิต ดูธรรมอะไรอย่างนี้

อย่างมีธรรมะอันหนึ่งคืออานาปานสติ 16 ขั้น อานาปานสติเต็มสูตร 16 ขั้น อันนี้จะครอบคลุมกาย เวทนา จิต ธรรม เหมาะสำหรับบางคน ไม่ใช่ทุกคนต้องทำ คนส่วนใหญ่ดูกายก็พอแล้วก็เข้าถึงธรรม ดูจิตก็เข้าถึงธรรม ดูเวทนาก็เข้าถึงธรรม แต่บางคนรู้สึกไม่พอ ไม่สะใจก็ดูกาย เช่น หายใจๆ แล้วก็รู้สึกไปๆๆ รู้กายที่หายใจไป เสร็จแล้วพอดูกายที่หายใจ พอจิตมันเริ่มสงบ มันมีความสุข มีปีติเกิดขึ้น ก็รู้ว่ามีความสุขเกิดขึ้น นี่ขึ้นมาเวทนานุปัสสนาแล้ว พอมีความสุข หายใจแล้วมีความสุข เกิดความยินดีพอใจ นี่คือจิตตานุปัสสนาแล้ว แล้วก็จะเห็นสภาวะทั้งหลายทั้งปวง ความยินดีพอใจเกิดแล้วก็ดับไป นี่ขึ้นธัมมานุปัสสนา เห็นสภาวธรรม สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป เห็นธรรม

บางคนเดิน ต้องเดินเรียงๆ อย่างนี้ กาย เวทนา จิต ธรรม แต่ส่วนใหญ่ไม่มีความจำเป็นขนาดนั้น เอาที่เราถนัดอันใดอันหนึ่งก็ได้ แล้วก็เข้าถึงธรรมะอันเดียวกัน เข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นอันเดียวกันนั่นล่ะ

เมื่อวานซืนก็มีโยมคนหนึ่งเขาบอกว่าฟังหลวงพ่อมานานแล้วบอกว่าเมื่อก่อนหลวงพ่อเทศน์ง่ายๆ เขาฟังแล้วง่าย หลังๆ ทำไมยิ่งเทศน์ยิ่งยาก บอกหลวงพ่อเทศน์ทิ้งไว้ให้อย่างนั้นล่ะ วันข้างหน้าพวกที่ตอนนี้เรียนง่ายๆ วันหนึ่งก็จะไปถึงตรงนี้ เหมือนที่หลวงปู่ดูลย์ท่านทิ้งไว้ให้ ท่านสอนหลวงพ่อว่า “พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง” ท่านทิ้งร่องรอยไว้ให้

ธรรมะที่ประณีตลึกซึ้งจริงๆ เขาไม่ค่อยสอนกัน ครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่ท่านไม่สอนกัน ท่านบอกเหนื่อยเปล่า มันเหมือนตักน้ำใส่หลังหมา เอาน้ำไปราดใส่หลังหมา หมาสะบัดปุ๊บๆๆ หมดแล้ว ราดตั้งนาน หมาสะบัดทีเดียวก็หมดแล้ว ท่านมองอย่างนี้ก็ถูกของท่าน แต่บางคนมันก็เป็นหมาฉลาด มันพัฒนาเป็นหมาเก่งๆ ได้เหมือนกัน ก้าวกระโดดได้ คือทีแรกทุกคนมันก็ต่ำตมเหมือนกันล่ะ มันขึ้นมาจากสัตว์เดรัจฉาน ขึ้นมาจากนรก ขึ้นมาจากอะไร ค่อยๆ พัฒนาการจนมาเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบ มีอาการ 32 ครบถ้วน ไม่พิกลพิการ จนกระทั่งภาวนาไม่ได้ อย่างบางคนสมองเสื่อมหมดเลย ไม่รู้เรื่องอะไร อันนั้นไม่รู้จะเรียนธรรมะอย่างไรแล้ว

ถ้าพวกเรายังมีความเป็นปกติอย่างนี้ ก็ถือว่าเรามีบุญ เราได้ขันธ์ 5 ที่ดี เพียงแต่เราเอาขันธ์ 5 ที่ดีมาต่อยอด มาเรียนธรรมะ ทีแรกก็ลำบาก รู้สึก แหม มันยากจังเลย ทีแรกมันก็ยากทุกคนล่ะ ค่อยๆ ฝึกไปเรื่อยๆ มันก็ง่ายขึ้นๆ อย่างแต่เดิมเวลาความทุกข์เกิด ดูทีเป็นวันๆ เลยกว่าจะหาย เดี๋ยวนี้ความทุกข์เกิด ดูนาที 2 นาทีก็หาย ถ้าเราชำนาญกว่านั้น ความทุกข์เกิดปุ๊บรู้ปั๊บ ดับปั๊บเลย ก็อยู่ที่การฝึกฝนของเราเอง

 

 

ค่อยๆ ฝึกไป มีสติรู้สึกกาย มีสติรู้สึกจิตใจของตัวเองไป ทำเรื่อยๆ ต่อไปวันนี้ไม่เก่ง วันข้างหน้ามันก็เก่ง ถ้าวันนี้ไม่ทำ วันข้างหน้ามันก็โหลยโท่ยตามเดิม หรือยิ่งกว่าเดิม เพราะธรรมชาติของจิตไหลลงต่ำ ถ้าเราไม่เร่งภาวนาแต่ชาตินี้ ชาติต่อไปภาวนายากกว่านี้อีก เพราะฉะนั้นเราลงมือทำแต่ชาตินี้ล่ะ อย่าไปปล่อยให้จิตมันไหลต่ำลงๆ จนถึงอเวจีแล้วกว่าจะดีดขึ้นมาอีกไม่ใช่ง่าย

เพราะฉะนั้นลงมือปฏิบัติเสียแต่วันนี้ แล้วชาตินี้ถ้าบุญบารมีเราพอ เราก็ได้มรรคผล ได้โสดาบัน เราก็ปลอดภัยแล้ว ได้มากกว่านั้นก็เป็นกำไรชีวิตแล้ว ได้โสดาบัน โอ้ ดีมากๆ เลย ค่อยๆ ฝึก แล้วถ้าหากชาตินี้เราไม่ได้มรรคผล อย่าท้อใจ ฝึกไปเถอะ แล้วชาติหน้ามันง่าย คนที่เขาง่ายเพราะเขาเคยยากมาแล้วล่ะ เขาสู้

อย่างพระเราบางทีมาบวช คิดว่าจะได้มรรคผลเร็วๆ ไม่ได้สักที ผ่านไป 10 ปี 20 ปี หมดแรงแล้ว ไม่อยากภาวนาแล้ว มรรคผลมันเหลือวิสัย ก็คิดอย่างนั้นมันก็เหลือวิสัยล่ะ ถ้าคิดว่าเราจะใช้ชีวิตในปัจจุบันให้คุ้มค่าที่สุด มีสติรู้กายรู้ใจอยู่กับปัจจุบัน จะได้อะไรไม่ได้อะไรก็เรื่องของมึง ไม่ใช่เรื่องของกู มึงหมายถึงจิต จิตมันไม่ใช่เราหรอก เรื่องของแก เรามีหน้าที่เจริญสติเจริญปัญญาอยู่กับปัจจุบันไป แล้วผลที่ได้มันก็สมควรแก่เหตุเอง เราเอาเวลาไปท้อใจ เป็นความคิดที่ล้างผลาญตัวเอง

ทั้งพระทั้งโยมภาวนาไปช่วงหนึ่ง โอ้ ไม่ได้แล้ว ท้อใจ เลิกดีกว่า นิสัยอย่างนี้มันถึงได้วัฏฏะไม่รู้จักจบจักสิ้น มันต้องห้าวหาญ ต้องต่อสู้ ต้องเข้มแข็ง ได้ไม่ได้ไม่เป็นไร ขอเจริญสติ รู้กายรู้ใจอยู่กับปัจจุบันไปเรื่อยๆ ถึงเวลาสมควร มันก็ได้เองล่ะ ถ้าชาตินี้บารมีพอก็ได้เลย ถ้ายังไม่พอยังไม่เต็ม ก็ไปต่อเอาชาติหน้า ถ้าชาตินี้ท้อแท้อ่อนแอ ชาติหน้ายิ่งอ่อนแอกว่านี้อีก เพราะจิตมันไหลลงต่ำ เพราะฉะนั้นต้องสู้ ถอยไม่ได้ ศัตรูกำลังโจมตีเรา เตรียมบดขยี้เราแล้ว ศัตรูก็คือมัจจุมาร เตรียมฆ่าเราอยู่แล้ว ถ้าเราไม่ฝึกตัวเองให้ดี วันที่จะตายจะทุลักทุเล รวมแล้วทุเรศ สุดท้ายไม่มีอะไรแล้ว ตอนจะตายก็ทุรนทุราย

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
2 มิถุนายน 2567