รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ

ธรรมะมันอยู่กับตัวเราเอง แล้วก็อยู่ทุกอย่างที่แวดล้อมเราอยู่ มันล้วนแต่แสดงธรรมะทั้งหมด แต่เรามองข้าม ไม่ค่อยสนใจมัน อย่างใบไม้ใบเดียวมันก็แสดงธรรมะให้เราดูได้ เริ่มแต่ใบเล็กๆ อ่อนๆ มันโตขึ้นมาสวยงาม ค่อยเหี่ยว แก่ลงไป ก็หลุดล่วงไป ไม่ต้องมีลมกระโชก ถึงเวลา หมดอายุ มันก็ร่วง ใบไม้ใบเดียวก็สอนไตรลักษณ์แล้วให้เราเห็น อยู่ที่เราจะมองไหม ส่วนใหญ่ก็มองไม่เห็น ก็คิดว่าธรรมะอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ต้องแสวงหายากเย็นแสนเข็ญ ที่จริงไม่ต้องดูที่อื่นหรอก ดูดีที่สุดก็ดูกายดูใจของเรา ถ้าบางคนไม่ได้ดูที่กายที่ใจตัวเอง ดูข้างนอกอย่างนี้ก็เข้าใจธรรมะได้

ฉะนั้นในสติปัฏฐาน ท่านจะพูดถึงธรรมภายในธรรมภายนอก ล้วนแต่แสดงไตรลักษณ์ทั้งนั้น ทุกอย่างที่เราเห็นมันก็แสดงไตรลักษณ์ รูปที่เราเห็นก็ไม่เที่ยง เสียงที่เราได้ยินมันก็ไม่เที่ยง กลิ่นที่เราสัมผัสก็ไม่เที่ยง รสต่างๆ ก็ไม่เที่ยง สิ่งที่มาสัมผัสร่างกายก็ไม่เที่ยง จริงๆ ธรรมะมันอยู่ภายในกายในใจของเรา แล้วก็อยู่ในทุกสิ่งที่แวดล้อมเราอยู่ ถ้าดูให้เป็น ก็ไม่ต้องไปหาธรรมะที่อื่นเลย เรียนอยู่ที่ตัวเอง

 

ธรรมภายในธรรมภายนอก
ล้วนแต่แสดงไตรลักษณ์

เราฟังธรรมเพื่อให้รู้วิธีปฏิบัติ เมื่อรู้วิธีปฏิบัติ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง แล้วถ้าเราชำนาญเข้มแข็งจริง กระทั่งธรรมภายนอกมันก็แสดงธรรมะบทเดียวกับธรรมภายใน คือกายกับใจของเรานี่เอง แต่ส่วนใหญ่ครูบาอาจารย์จะบอกให้เราดูกายดูใจตัวเอง ไม่ค่อยแนะนำให้เราดูของข้างนอก แต่พระพุทธเจ้าท่านแสดงธรรมครอบคลุมทั้งหมด ธรรมภายในธรรมภายนอก ธรรมในที่ใกล้ ธรรมในที่ไกล

ถ้าบางคนอินทรีย์แก่กล้าเห็นของข้างนอก ถ้าจิตมีสมาธิพอ จิตมันตั้งมั่นเป็นคนเห็น ก็เห็น อย่างนั่งในห้องนี้มีคนหลายร้อยคนนั่งอยู่ ถ้าจิตเราทรงสมาธิจริงๆ ปัญญาเราพอ พอเราเห็นรูป เราก็เห็นสักแต่ว่ารูปเท่านั้นเอง ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ฉะนั้นธรรมะอันเดียวกันย้อนลงมาดูที่ร่างกาย ก็เห็นสักแต่ว่ารูป ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขาเหมือนกัน

ดูนามธรรมในจิตใจของเรา ใจเราเดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย อันนี้ดูเข้ามาที่ตัวเอง เขาเรียกดูธรรมภายใน ดูนามธรรมภายนอก ดูได้ไหม ถ้าจิตเราไว เราก็ดูได้ คนนี้อารมณ์ดี คนนี้อารมณ์ร้าย บางทีหมามันยังรู้เลย มันก็อาศัยการสังเกตเอา เห็นวันนี้เจ้าของอารมณ์ดีอะไรอย่างนี้ วันนี้เจ้าของอารมณ์ร้าย หมามันก็สังเกตเป็น เราก็สังเกตดูบ้างสิ แต่ละคนอารมณ์ก็แกว่งขึ้นแกว่งลง คนที่อยู่รอบๆ ตัวเรา นามธรรมนี้ก็ไม่ยั่งยืนหรอก บางทีเขาก็มีความสุข บางทีเขาก็มีความทุกข์ บางทีเขาก็มีจิตใจเป็นบุญเป็นกุศล บางทีเขาก็โลภ โกรธ หลง ในส่วนของนามธรรม เราสังเกตเอา เราก็พอดูได้อยู่

ส่วนรูปธรรมก็ดูไป คนนี้สวยมากเลย เราเคยเห็นตั้งหลายปีมาแล้ว พอผ่านวันผ่านเวลามา ความสวยก็ถูกธรรมชาติเรียกคืนไป ไม่สวยแล้ว หรือเราเห็นคนนั้นไม่สบาย คนนี้ไม่สบาย คนนั้นแก่ คนนี้เจ็บ คนนี้ตายอะไรอย่างนี้ เฝ้ารู้เฝ้าดูเรื่อยๆ มันก็เข้าใจธรรมะได้เหมือนกัน อย่างเวลาเราเห็นเด็กเกิด ถ้าเป็นชาวโลกก็ดีใจว่ามีเด็กเกิด หรือบางคนไม่อยากให้เด็กเกิดเด็กเกิดแล้วเสียใจ กลุ้มใจ แต่ถ้าเราภาวนา เราเห็นเด็กมันเกิด ใจมันสงสาร มันเริ่มต้นความทุกข์บทใหม่ของชีวิตแล้ว มันทุกข์จริงๆ

อย่างพวกเราพออายุเยอะขึ้นมา เราเห็นเด็กรุ่นหลังๆ บางทีรู้สึกสงสาร จะหาอยู่หากิน จะทำอะไร ต้องแย่งชิงกันเหน็ดเหนื่อย ตรากตรำลำบากตั้งแต่เล็กๆ เลย สมัยก่อนเด็กๆ ยังไม่ลำบากเท่าสมัยนี้ สมัยนี้มีอยู่มีกิน มีเงินมีทองอะไรมาก แต่ชีวิตมันเครียด ลำบาก เด็กเล็กๆ ก็ต้องแย่งกันเข้าอนุบาลอะไรอย่างนี้ เตรียมอนุบาลใช่ไหม เล็กลงเรื่อยๆ ชีวิตดูไม่มีความสุข ไม่มีอิสระอะไร โตขึ้นทำมาหากิน ก็แย่งกันอยู่แย่งกันกิน อุตลุดไปหมดเลย

ครอบครัวยุคใหม่ก็ไม่มีความอบอุ่น สมัยก่อนเราจะเห็นครอบครัว กว่าจะแต่งงานกันได้ โห ยาก ผู้หลักผู้ใหญ่ต้องดูให้ความเห็นชอบด้วย คู่หนุ่มคู่สาวก็ต้องดูใจกันนานๆ แต่งงานก็ยาก แต่ว่าก็เลิกกันยาก ยุคนี้แต่งงานง่ายก็เลิกง่าย อยู่กันแป๊บๆ มีคนที่หลวงพ่อรู้จัก บางคนลงทุนแต่งงานเป็นล้านเลย อยู่ได้ 2 – 3 เดือนหย่ากันแล้ว ชีวิตมันไม่ได้มีความอบอุ่น ครอบครัวมันแตกสลาย ถ้าเราดูเป็น เราจะรู้เลยว่า โอ้ ในโลกมันมีแต่ทุกข์

ทีนี้คนทั่วไปมันไม่ค่อยมองว่าคนอื่นทุกข์ ชอบมองคนที่เขามีความสุข คนนี้เขารวย เขาขี่รถหรูๆ เขาเป็นอย่างนั้นเขาเป็นอย่างนี้ เราชอบดูคนแบบนี้ เราไม่ค่อยมองเห็นคนทุกข์คนยาก ซึ่งแวดล้อมเราอยู่มากมายเหลือเกิน ถ้าเราหัดรู้หัดเห็น เราก็จะรู้เลย โลกนี้ไม่มีอะไรนอกจากทุกข์ มันเต็มไปด้วยความทุกข์ทั้งหมดเลย

ถ้าเราภาวนา ใจเรามีศีลมีธรรม เวลามองอะไร มันก็มองเป็นศีลเป็นธรรมไปหมด ถ้าเราไม่ได้ศึกษาไม่ได้ปฏิบัติ มองอะไรมันก็หลงไปหมด หลงโลก บางทีเอาธรรมะไปอ้างก็มี อย่างเราเห็นคนลำบากอย่างนี้ เราก็เฉยเมย แล้วก็บอกกรรมของมัน ชาติก่อนมันทำไม่ดี อันนั้นยังไม่ใช่ชาวพุทธที่แท้จริง ชาวพุทธที่แท้จริงต้องมีเมตตา มีกรุณา มีมุทิตา มีอุเบกขา ถ้าอยู่ๆ ก็อุเบกขาเฉยๆ อันนั้นไม่ใช่อุเบกขา อันนั้นเป็นความเย็นชา ใจไม้ไส้ระกำ

ฉะนั้นถ้าเราหัดภาวนา หัดดูไตรลักษณ์ หัดดูความจริงของกายของใจเราแล้ว คราวนี้ย้อนออกไปดูข้างนอก เราก็จะเห็นธรรมะอันเดียวกัน ที่ไหนๆ ก็มีแต่ความทุกข์ ไม่มีอะไรเลยในโลกนี้ ในโลกมนุษย์เรียกร้องอยากได้เสรีภาพ แต่ไม่เคยมี ทุกหนทุกแห่งก็มีแต่พันธนาการ เรียกร้องสันติภาพ ในโลกไม่เคยมีสันติภาพ มีแต่การกระทบกระทั่งกันตลอดเวลา ถ้าเรามีสติปัญญา เราดูโลก ไม่มีอะไรหรอกนอกจากทุกข์ ดูแล้วก็เอือมระอา

เจ้าชายสิทธัตถะ ตอนที่จะออกมาบวชแสวงหาสัจธรรม ท่านก็ดูข้างนอก ท่านออกไปเห็นคนแก่ ท่านไปเห็นคนเจ็บ ท่านไปเห็นคนตาย คนทั่วไปก็บอก โอ๊ย ธรรมดา ธรรมดาของคนซึ่งไม่มีศีลมีธรรม กับการเห็นว่าธรรมดาของคนมีศีลมีธรรม ไม่เหมือนกันหรอก ธรรมดาของคนไม่มีศีลธรรม เห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย มันธรรมดาแบบยอมจำนน

ในขณะที่ธรรมดาของคนมีศีลมีธรรมมันเข้าใจลึกซึ้งลงไป เข้าใจว่านี่ล่ะธรรมดาจริงๆ ทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ใจมันก็เป็นกลางบ้าง บางครั้งใจก็สลดสังเวชบ้าง อย่างเจ้าชายสิทธัตถะ ไปเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย คนอื่นเขาเฉยเมย รู้สึกธรรมดา นี่ธรรมดาแบบชาวโลก คือเฉยเมย ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะจริงๆ ไม่มีทางหนี เกิดแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ไม่มีทางหนี ก็ยอมจำนน ในขณะที่เจ้าชายสิทธัตถะเห็นแล้วเกิดสลดสังเวช แล้วก็ต่อสู้ทำอย่างไรจะพ้นจากสิ่งเหล่านี้ได้ ทำอย่างไรจะไม่ทุกข์ เพราะความแก่ เพราะความเจ็บ เพราะความตายได้

 

ขาดสติคือขาดการปฏิบัติ มีสติคือมีการปฏิบัติ

ท่านเลยออกจากโลก มาเรียนรู้ธรรมะ เรียนรู้ธรรมะเบื้องต้นก็เรียนรู้แบบคนทั่วไปเขาเรียนนั่นล่ะ คิดถึงการปฏิบัติธรรมเมื่อไรก็นั่งสมาธิเมื่อนั้น ทุกวันนี้พวกเราก็ยังเป็นบางคน คิดถึงการปฏิบัติเมื่อไรก็ต้องคิดถึงการนั่งสมาธิ การเดินจงกรม ถ้านั่งไม่เป็น นั่งแล้วก็ไปทำจิตให้นิ่งๆ สงบไปเฉยๆ เจ้าชายสิทธัตถะบารมีท่านเต็ม ท่านใช้เวลาไม่นาน ท่านก็ทำจิตให้สงบได้ เงียบเลย ไม่คิดไม่นึก ใจว่างๆ สบาย พอออกจากสมาธิมาแล้ว ท่านมีปัญญา ท่านก็พบว่าการทำสมาธิมันหนีทุกข์ไปชั่วคราว เดี๋ยวก็กลับมาทุกข์อีก พึ่งพาอาศัยอะไรไม่ได้จริง เพราะฉะนั้นท่านก็รู้ว่าสมาธิสงบไปเฉยๆ ไม่ตอบโจทย์ ท่านก็แสวงหาเส้นทางอื่นๆ ต่อไป

ท่านก็รู้ว่าความทุกข์มันมาจากความอยากนี้ล่ะ ตรงนี้ศาสนาอื่นเขาก็เห็น อย่างพวกนิครนถ์เขาก็รู้ว่าตัณหามันทำให้เกิดทุกข์ เพียงแต่วิธีที่จะล้างตัณหา แต่ละคนมันไม่เหมือนกัน อย่างพวกเราเวลาใจเราเกิดความอยาก เรารู้ว่าอยากแล้วมันทุกข์ เราก็แก้ตัณหาตัวนี้โดยการสนองความอยาก นี่ก็เป็นวิธีอันหนึ่ง หรือแมวมันหิว มันก็ต้องการอาหาร มันอยากหาอาหาร มันก็ไปฆ่านกกินนกไป สนองความอยากไปก็หายอยาก อิ่มแล้ว นอนได้

บางคนก็เห็นว่าที่มันอยาก เพราะใจเราอ่อนแอ เราต้องฝึกให้มันไม่รักตัวกลัวตาย ก็ทรมานตัวเองไป อยากกินก็อย่าไปกินมันเลย ฝึกจนกระทั่งใจมันด้านชา ไม่กลัวความทุกข์ความยาก อะไรจะเกิดขึ้นใจก็เฉยเลย เพราะว่ามันผ่านความทุกข์มาเยอะแล้ว จนเห็นทุกอย่างอย่างนั้นๆ ล่ะ มันเคยทุกข์มากกว่านี้อีก ใจก็เฉยๆ ไป ไม่ทุกข์ ฉะนั้นเจ้าชายสิทธัตถะก็มาเล่นตรงนี้เหมือนกัน คือฝึกทรมานตัวเอง หวังว่าวันหนึ่งจะละตัณหาได้ ทรมานไปๆ ก็ไม่เห็นมันได้ประโยชน์อะไร เหนื่อยเปล่า ลำบากเปล่า

คือท่านทรมานจนตัวเองถึงขนาดสลบลงไปเลย จะตายแล้ว พอดีมันมีเด็กเลี้ยงแพะมันผ่านมาเห็น มันก็เอาแพะตัวเมีย แม่แพะมา บีบน้ำนมแพะใส่ปากท่าน ทำไมมันไม่อุ้มขึ้นมา ทำไมมันไม่ป้อน ทำไมมันต้องใช้วิธีเอาแพะมาแล้วบีบนมแพะใส่ปากให้หยดลงไป เพราะคนละวรรณะกัน ไปถูกตัวคนวรรณะสูงไม่ได้ เพราะฉะนั้นเด็กมันก็ช่วยเท่าที่มันช่วยได้ แล้วท่านก็รอด พอท่านรอดท่านก็พิจารณา ทรมานตัวเองถึงขนาดนี้ก็ไม่เห็นมันจะพ้นทุกข์ตรงไหนเลย มันก็ยังทุกข์อยู่เหมือนเดิมล่ะ

ท่านก็เลยคิดถึงการปฏิบัติของท่านตอนเด็กๆ ท่านเคยทำสมาธิตามธรรมชาติของท่าน นั่งอยู่ใต้ต้นหว้าภาวนา แต่ว่าไม่ได้ภาวนาว่าพุทโธๆ แน่ ท่านรู้ลมหายใจเอา เพราะตอนนั้นยังไม่มีพุทโธ พุทโธยังไม่เกิด ท่านก็รู้ลมหายใจ จิตรวมลงไปได้อุปจารสมาธิ ได้ปฐมฌาน ขึ้นไปตามลำดับ ได้ปฐมฌาน ที่จริงถ้าพวกเราเรียนตรงนี้ เมื่อก่อนหลวงพ่อเคยสงสัย พระพุทธเจ้าไปเรียนกับฤๅษีได้ฌานที่แปด ได้ฌานที่แปดมันก็ผ่านฌานที่หนึ่งคือปฐมฌานมาแล้ว แล้วทำไมท่านบอกไม่ใช่ทาง แล้วพอย้อนมาทำปฐมฌาน เอ้า ตรงนี้ก็เป็นทาง ทำไมมันเป็นทางบ้างไม่เป็นทางบ้าง ปฐมฌานอย่างเดียวกันนี้

ปฐมฌานที่ทำไปให้สงบ มันน้อมจิตเข้าหาความสงบ แต่ปฐมฌานที่จะใช้เดินปัญญาต่อ ประกอบด้วยสติ มีความรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ หายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก อย่างที่ท่านเอามาสอนพวกเรา ในสติปัฏฐาน 4 เรื่องอานาปานสติเป็นบทที่หนึ่งเลย ในสติปัฏฐาน 4 “ดูกร พระภิกษุทั้งหลาย ให้เธอคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว หายใจเข้ายาว รู้ว่าหายใจเข้ายาว หายใจออกสั้น รู้ว่าหายใจออกสั้น หายใจเข้าสั้น รู้ว่าหายใจเข้าสั้น ลมหายใจระงับ ก็รู้ว่าลมหายใจระงับไป” เข้าถึงฌานที่สี่ไปเลย

ตรงนี้ท่านประกอบด้วยสติ ไม่ใช่มุ่งไปที่สงบ แต่มุ่งไปเพื่อความมีสติ จิตที่มันมีสติมันสงบอัตโนมัติแถมมาด้วย เพราะมันตั้งมั่น เวลาเข้าฌาน ถ้าเข้าแบบมุ่งไปที่ความสงบให้จิตแน่วอยู่ในอารมณ์อันเดียว จิตก็จะพอใจอยู่อย่างนั้น ไม่เดินปัญญาต่อ ถ้าเรามีสติอยู่ จิตสงบลงไปแล้วมีสติบางทีถึงขนาดโลกทั้งโลกนี้หายไปเลย ร่างกายของเราก็หายไปพร้อมๆ กับโลกข้างนอก เหลือจิตดวงเดียวอยู่ ก็ยังมีสติอยู่

การทำสมาธิที่ดีไม่ทิ้งสติ ฉะนั้นสติจำเป็นในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ ขาดสติคือขาดการปฏิบัติ มีสติคือมีการปฏิบัติ เจ้าชายสิทธัตถะตอนเด็กๆ ทำสมาธิชนิดที่รู้ ตื่น เบิกบานขึ้นมา แล้วท่านก็เลยเอามาทำของท่านเอง ไม่เลียนแบบสมาธิฤๅษีที่น้อมจิตให้ว่างๆ นิ่งๆ แต่ว่ามีสติรู้อารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่องไป จิตก็รวมลงไปจนถึงฌานที่สี่ ฌานที่สี่ จิตเป็นอุเบกขา มีความเป็นหนึ่ง มีความเป็นอุเบกขา มีตัวผู้รู้

 

ปฏิจจสมุปบาทขยายความอริยสัจ

แล้วคราวนี้ท่านก็พิจารณาธรรมะ พิจารณาปฏิจจสมุปบาท ฉะนั้นคำว่าปฏิจจสมุปบาท บางคนสงสัยอีก เอ๊ะ พระพุทธเจ้าตรัสรู้เพราะรู้อริยสัจไม่ใช่หรือ ทำไมบอกพิจารณาปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทก็เป็นบทที่ขยายความในรายละเอียดของอริยสัจ ระหว่างสมุทัยนำไปสู่ทุกข์ ระหว่างทุกข์นำไปสู่การดับทุกข์ คือละสมุทัย มันก็คืออริยสัจ 4 ในสายเกิดกับในสายดับ ในสายเกิดก็คือเรามีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ มีทุกข์ขึ้นมา ในสายดับก็คือถ้าเราดับความปรุงแต่งทั้งหลายลงไป จนถึงดับตัณหา ดับอุปาทาน ดับตัณหา ดับอวิชชาลงไป ความดับทุกข์มันก็เข้ามาถึง จิตก็เข้าถึงความดับทุกข์ ก็สัมผัสพระนิพพาน ตรงที่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจนั่นล่ะ

ฉะนั้นบางคนคิดมาก สงสัย เอ๊ะ ตรัสรู้เพราะอะไรแน่ บางคนก็ตอบว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้เพราะอานาปานสติ ไม่ใช่ อานาปานสติทำให้จิตของท่านตั้งมั่น แล้วท่านก็เจริญปัญญาด้วยการรู้ปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทสายเกิดมันก็คือสมุทัย เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แล้วท่านก็ทวนกลับ สายดับ อะไรดับทุกข์ถึงดับ ชาติดับ ทุกข์ถึงดับ ไล่ตามลำดับไปจนอวิชชาดับ สังขารคือความปรุงแต่งก็ดับ ตรงอวิชชาดับก็สิ้นทุกข์กันตรงนั้น สิ้นต้นเหตุของทุกข์ ฉะนั้นจะบอกว่าท่านตรัสรู้อริยสัจ 4 ก็ได้ ถ้าขยายความก็คือท่านตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาท

แล้วคนที่จะรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ 4 หรือปฏิจจสมุปบาทได้ต้องเป็นพระอรหันต์ ท่องตำรามองไม่เห็นสภาวะจริงหรอก สภาวะช่วงกลางๆ ถึงปลายๆ ยังดูง่าย อย่างตาเราเห็นรูป หูเราได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส เราจะเห็นว่ามันส่งสัญญาณเข้ามาที่ใจเรา มันเกิดเป็นความสุขเป็นความทุกข์ขึ้นมา พอมีความสุข ราคะก็มักจะแทรก พอมีความทุกข์ โทสะก็มักจะแทรก พอไม่สุขไม่ทุกข์ โมหะมันก็มาแทรก เผลอๆ เพลินๆ ไป

พอมีกิเลสขึ้นมา มันก็ผลักดันให้เกิดตัณหา เวลาราคะเกิดขึ้น ก็อยากได้ อยากมี อยากเป็น อยากให้สิ่งที่เราชอบใจคงอยู่ เวลาสัมผัสอารมณ์ไม่ชอบใจ จิตมีความทุกข์ขึ้นมา ก็อยากให้อารมณ์อันนั้นหมดไปสิ้นไป นี่ก็คือตัณหานั่นเอง ตัณหามันก็คือตัวความอยากที่มีกำลังแรงกล้า มันอยากอะไร มันอยากได้อารมณ์ที่ดี มันอยากอะไร มันอยากรักษาอารมณ์ที่ดีให้คงอยู่ มันอยากอะไร มันอยากให้อารมณ์ที่ไม่ดีหมดไปสิ้นไป นี่ความอยาก 3 อย่าง กามตัณหา อยากให้ได้อารมณ์ที่ดี ภวตัณหา อยากให้อารมณ์ที่ดีๆ คงอยู่ วิภวตัณหา อยากให้อารมณ์ที่ไม่ดีหมดไปสิ้นไป

ตัณหา ถ้ามันมีกำลังแรงขึ้น มันจะกลายเป็นอุปาทาน ความยึดถือ มันอยากอย่างแรง มันจะกลายเป็นความยึดถือ เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าอุปาทาน ความยึดถือ องค์ธรรมของมันก็คือโลภะ เช่นเดียวกับตัณหานั่นเอง ความอยากนั่นล่ะเป็นตัวโลภะ แต่มันมีกำลังรุนแรง ถ้าโลภะเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้นมาแวบดับไปแล้ว โลภะมีกำลังแรงก็จะเกิดเป็นความอยาก ความอยากมีกำลังแรงก็จะเกิดยึด

ถามว่ายึดอะไรบ้าง ก็คืออุปาทาน 4 ตัวที่หลวงพ่อไปเทศน์ที่มสธ. เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ไปย้อนฟังดู พอมีอุปาทานเกิดขึ้น มันจะเกิดภพ อะไรเรียกว่าภพ ความดิ้นรนปรุงแต่งมันจะเกิดขึ้น สังเกตไหมอย่างคนมีทิฏฐุปาทาน ยึดถือความคิดความเห็นรุนแรง ใจมันดิ้นเร่าๆ เลย ใครคิดไม่เหมือนเราเป็นศัตรูเลย โกรธเกลียดรุนแรงขึ้นมาเลย นี่มันเกิดภพของคนบ้าคลั่งแล้ว บ้าอุดมการณ์ ก็เป็นภพอันหนึ่ง ถ้าเราค่อยๆ สังเกต จิตมันจะไปสร้างภพอยู่เรื่อยๆ ด้วยกำลังของตัณหา อุปาทาน

แล้วจิตสร้างภพขึ้นมาแล้ว สิ่งที่ได้มาคือชาติ อะไรเรียกว่าชาติ ถ้าตามตำราก็บอก ความได้มาซึ่งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่าชาติ ฟังแล้วยาก ที่จริงก็คือการที่จิตเราไปหยิบฉวยเอาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา ตัวที่ดูยากที่สุดคือการหยิบฉวยจิต ถ้าเราภาวนาไปช่วงหนึ่ง เราจะเห็นจิตมันเข้าไปหยิบฉวยจิต นั่นล่ะคือตัวชาติ ทันทีที่จิตไปหยิบฉวยจิตขึ้นมา หรือหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กายขึ้นมา ทุกข์เกิดขึ้นทันที ถ้าเรายึดตา เราก็จะทุกข์เพราะตา ยึดหูก็ทุกข์เพราะหู ยึดจมูก ยึดลิ้น ยึดกาย ก็ทุกข์เพราะจมูก เพราะลิ้น เพราะกาย ยึดจิต ก็จะทุกข์เพราะจิต ตัวนี้เป็นตัวที่ดูยากที่สุด ตัวยึดจิต ดูยากมากๆ เลย

 

การที่จะปล่อยวางจิตได้นั้น
คือจุดสุดท้ายของการปฏิบัติ

ตอนหลวงพ่อภาวนา ตอนนั้นเป็นโยม ภาวนาอยู่แล้ววันหนึ่งก็เห็น จิตเราวางลงไปได้แหะ พอวางลงไปได้ มันโล่งไปหมด มันว่าง ทุกสิ่งทุกอย่างว่างหมดเลย โลกธาตุก็ว่าง อะไรก็ว่างไปหมดเลย ใจเข้าถึงสันติสุข มีความสุข มีความสงบจริงๆ พอเราวางจิตลงไปได้ เพราะจิตมันเป็นหัวโจกของขันธ์ เราวางจิตได้ เราก็วางขันธ์ได้ แต่มันวางได้เดี๋ยวเดียว เดี๋ยวมันก็หยิบใหม่ แต่ดูไม่ออกว่าทำไมมันถึงไปหยิบ คือดูไม่ออกว่าทำไมมันเกิดชาติขึ้นมา ตอนนั้นดูไม่เป็น ปัญญามันยังไม่ถึง

วันหนึ่งภาวนา จิตมันวางจิตลงไปแล้ว พอดีได้ข่าวหลวงปู่สุวัจน์ ท่านมาจากอเมริกา ท่านไปพักอยู่ที่ไม่เอ่ยชื่อ เขาห้ามเอ่ย ก็อยู่ใกล้ๆ วัดกู้ เป็นร้านอาหารแห่งหนึ่ง เขามีสถานที่ เจ้าของเขาใจบุญ ก็สร้างที่ให้พระไปพัก ตอนหลังหลวงปู่บุญฤทธิ์ท่านก็ไปพักอยู่ที่นั่นเป็นประจำ หลวงพ่อรู้ว่าหลวงปู่สุวัจน์มาอยู่ที่นั่นก็ดีใจ ชวนคุณแม่ชี ยังไม่ได้บวช ขับรถจากบ้านที่เมืองนนท์ จะไปถามหลวงปู่ว่าผมวางจิตลงไปแล้ว ทำอย่างไรจะไม่หยิบมันขึ้นมาอีก

พอขึ้นรถเท่านั้น ขับรถยังไม่ทันจะพ้นรั้วเลย จิตก็หยิบฉวยจิตขึ้นมาอีกแล้ว กลุ้มใจมากเลยทำอย่างไรมันก็ไม่วาง ขับรถมา ดูมาตลอดทางเลย จะใช้วิธีไหนก็ตาม จิตก็ไม่ยอมปล่อยวางจิต จนกระทั่งเข้าปากซอยวัดกู้แล้ว เราหมดปัญญา หมดสติหมดปัญญา ไม่สามารถจะปล่อยวางจิตได้ ก็ถอนใจ เฮ้อ จิตนี้เป็นอนัตตา เราบังคับมัน เราจะปล่อยวางมัน ยังทำไม่ได้เลย มันเป็นอนัตตา พอพิจารณาว่าจิตเป็นอนัตตาปุ๊บ จิตมันวางเลย มันวางจิตได้ทันทีเลย

ก็เข้าไปหาหลวงปู่สุวัจน์ เข้าไปกราบท่าน ไปรอ ท่านเป็นอัมพาตแล้วก็ต้องไปรอที่กุฏิท่านอยู่พักหนึ่ง พระก็เข็นรถท่านมา เข็นรถเข็นของท่านออกมา ออกมาทุกคนก็กราบ ท่านก็มองหลวงพ่อแวบหนึ่ง แล้วก็ยิ้มไปยิ้มมา แล้วท่านก็พูดบอก “การปฏิบัติ บางครั้งเราก็ปล่อยวางจิตลงไป จิตมันก็ปล่อยวางจิต พอจิตมันปล่อยวางจิตแล้ว จิตมันก็หยิบฉวยจิตขึ้นมาอีก คราวนี้ทำอย่างไรๆ มันก็ไม่ยอมวาง จนกระทั่งมันเห็นไตรลักษณ์แล้วมันก็วาง” ไม่ทันถามเลย

สมัยหลวงพ่อเรียนจากครูบาอาจารย์ไม่ต้องถามอะไรมากหรอก ไปถึงก็ไปภาวนาไปเถอะ เดี๋ยวท่านก็บอกให้เอง แต่ว่าหลวงพ่อไม่เก่งอย่างครูบาอาจารย์ อย่ามานึกว่าหลวงพ่อเหมือนครูบาอาจารย์ ยิ่งแต่ละรุ่นๆ ยิ่งถดถอยลงเรื่อยๆ หาคนเก่งๆ อย่างรุ่นครูบาอาจารย์ หาไม่ได้ ที่หลวงปู่บอกมันตอบคำถามของหลวงพ่อแล้ว เรารู้ว่าจิตปล่อยวางจิตได้เพราะเห็นไตรลักษณ์

จิตมันเป็นตัวอะไร จิตมันเป็นตัวทุกข์ มันอยู่ในกองทุกข์ ในขันธ์ 5 ส่วนใหญ่เป็นตัวทุกข์ ยกเว้นตัวโลภะอย่างแรงๆ เป็นตัวสมุทัย เป็นตัณหา นอกจากนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นตัวทุกข์ จิตก็เป็นตัวทุกข์ ถ้าเรารู้แจ้งแทงตลอดว่าจิตเป็นตัวทุกข์ เรียกว่ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง เราก็ละสมุทัย ละความอยาก เมื่อละความอยากได้ เราก็ละความยึดถือจิตได้ เมื่อเราละความยึดถือจิตได้ ภพคือความดิ้นรนที่จะแสวงหาจิต หรือที่จะปล่อยวางจิต หรือที่จะรักษาจิต มันก็ไม่มี พอเราหมดความยึดถือจิต มันก็ไม่มีการที่จะต้องเที่ยวแสวงหาจิต ไม่มีการรักษาจิต ไม่มีความพยายามจะต้องปล่อยวางจิต

เมื่อเราไม่มีความดิ้นรนของจิต คือไม่มีภพ จิตก็จะไม่หยิบฉวยจิตขึ้นมา คือไม่มีชาติ ทันทีที่ไม่มีชาติ ความทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้น สิ้นชาติก็สิ้นทุกข์กันตรงนั้นล่ะ เพราะชาติคือการหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไม่ใช่ของดีของวิเศษ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจคือตัวทุกข์ ถ้าเราภาวนาจนเราแจ้งตรงนี้ เรียกว่าเราล้างอวิชชาได้แล้ว รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจแล้ว ก็คือขันธ์ 5 นี้คือตัวทุกข์ จิตก็อยู่ในขันธ์ 5 นั่นล่ะ ก็คือตัวทุกข์ แต่ว่าตัวจิตมันเป็นหัวหน้า

ท่านบอกจิตเป็นใหญ่ จิตเป็นประธาน จิตเป็นหัวหน้าของธรรมะทั้งปวง ธรรมะทั้งปวงก็คือขันธ์ 5 นั่นล่ะ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จิตนี้มันเป็นประธาน จิตมันก็อยู่ในวิญญาณ แต่มันมีคุณสมบัติพิเศษ มันไม่ใช่จิตชนิดที่ออกรับอารมณ์ว่อนๆ ไป ร่อนเร่ไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันนั้นเรียกว่าวิญญาณ จิตตัวนี้เป็นตัวรู้ ตัวตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา พอเราทวนกระแสเข้ามาจนถึงตัวนี้ แล้วเรารู้แจ้งแทงตลอดลงในตัวจิต จิตนี้ไม่ใช่สิ่งอื่น จิตนี้คือทุกข์ เช่นเดียวกับขันธ์อื่นๆ นั่นเอง

พอเห็นตรงนี้จิตก็ปล่อยวางจิต ทันทีที่ปล่อยวางจิตได้ ก็ปล่อยวางขันธ์ได้ เพราะจิตดวงเดียวสร้างขันธ์ 5 ขึ้นมาได้ทั้งหมด วางจิตได้ก็คือวางขันธ์ทั้งหมด ครูบาอาจารย์ท่านจะชอบเทียบจิตเหมือนจอมแห ยุคนี้ไม่รู้จักจอมแห แหที่เราเห็นมันจะมีตรงกลางที่เขาผูกเชือกไว้ ตรงนั้นเรียกว่าจอมแห อย่างเจดีย์ทรงจอมแหก็ขึ้นไปอย่างนี้ ข้างบนแหลมๆ เจดีย์ตรงนี้ จอมแห ปล่อยตัวนี้ตัวเดียว จิตมันเหมือนจอมแห ถ้าปล่อยตัวนี้ตัวเดียว แหทั้งหมดร่วงลงเลย ปล่อยจิตดวงเดียวขันธ์ 5 ร่วงลงไปหมดเลย เพราะฉะนั้นการที่จะปล่อยวางจิตได้นั้นคือจุดสุดท้ายของการปฏิบัติ

ครั้งสุดท้ายที่หลวงพ่อเข้าไปกราบหลวงปู่ดูลย์ ท่านก็สอนตั้งแต่บ่ายๆ สอนไปเรื่อยๆ จนท่านหอบ เหนื่อย หอบ หลวงพ่อบอกหลวงปู่ หลวงปู่เหนื่อยมากแล้ว ตอนนั้นสักทุ่มหนึ่งแล้ว เดี๋ยวผมจะกลับแล้ว ท่านบอกจะกลับแล้วหรือ ยังกลับไม่ได้ ต้องจำธรรมะอันนี้ไว้ก่อน “พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง” ท่านถามเข้าใจไหม บอกท่าน ไม่เข้าใจครับแต่ผมจะจำไว้ ท่านบอก เออ จำไว้ ก็ลาท่าน

วันรุ่งขึ้นลงมาที่โคราช แวะหาหลวงพ่อพุธ หลวงพ่อพุธถามว่านักปฏิบัติ หลวงพ่อพุธท่านไม่รู้จักชื่อหลวงพ่อ ท่านเรียกหลวงพ่อว่านักปฏิบัติ “นักปฏิบัติ รอบนี้หลวงปู่สอนอะไร” ท่านรู้ว่าไปหาหลวงปู่ดูลย์ ก็บอกหลวงปู่สอนบอก “พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง” หลวงพ่อพุธท่านก็บอกว่าเมื่ออาทิตย์ก่อนท่านก็ไปกราบหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ก็บอกท่านว่า “เจ้าคุณ การปฏิบัติจะยากอะไร พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง” ธรรมะอันนี้หลวงปู่สอนอยู่ 2 คน คือหลวงพ่อพุธกับหลวงพ่อ คนอื่นไม่เคยได้ยิน ตั้งแต่สมัยหลวงปู่ยังอยู่ ไม่เคยได้ยินเลย

หลวงพ่อพุธท่านก็บอกว่าตรงนี้คือจุดสุดยอดของการปฏิบัติ ทำลายผู้รู้ แต่การทำลายผู้รู้ อย่าไปทำลายมันตรงๆ ให้เจริญปัญญาไป ไม่ยึดถือเมื่อไร นั่นล่ะที่เรียกว่าทำลายผู้รู้ คือไม่ยึดถือผู้รู้ ท่านบอกอย่างนี้ หลวงพ่อก็จำไว้ เออ ทำลายผู้รู้ ไม่ใช่อยู่ๆ ไประเบิดมัน พวกเราบางคนได้ยินคำว่า ทำลายผู้รู้ ไปกำหนดจิตเพื่อจะทำลายผู้รู้ สติแตกเลย บ้าเลย เคยมีพระองค์หนึ่ง ตอนหลวงพ่ออยู่สวนโพธิ์ ได้ยินหลวงพ่อพูดเรื่องทำลายผู้รู้ ไปทำลายมาเรียบร้อยแล้ว เดินน้ำลายยืดมาเลย น้ำลาย อ้าปาก “บอกตั้งสติให้ดี ให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวไว้” พังพินาศไปหมดแล้ว เพราะว่าความโลภมันนำไป ยังไม่ทันจะมีผู้รู้เลย ไปทำลายผู้รู้เสียแล้ว

 

เราไม่มีหน้าที่ทำลายผู้รู้

ผู้รู้จำเป็น จิตผู้รู้ เราต้องมีจิตผู้รู้ เราถึงจะเจริญปัญญาได้ จิตผู้รู้เหมือนเรือ อย่าเพิ่งทำลายเรือในขณะที่อยู่กลางมหาสมุทร คือระหว่างที่เดินทางในวัฏสงสาร เอาไว้ถึงฝั่งก่อนค่อยวาง หลวงพ่อพุธท่านก็บอกหลวงพ่อว่า มันคือความไม่ยึดในตัวผู้รู้ ไม่ใช่ไปทำลายอย่างอื่น หลวงพ่อก็ทรงจำไว้ ท่านก็บอกว่า “คุณกับอาตมาทำกติกากัน ใครทำลายได้ก่อนให้มาบอกกัน” ท่านว่าอย่างนี้ หลวงพ่อรู้ว่านี่เป็นมารยาทที่ดีของท่าน เพราะหลวงพ่อเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ อยู่ๆ ท่านจะมาบอกมานี่เราจะสอนเธอเอง เขาไม่ทำกัน มันเสียมารยาท เพราะหลวงปู่ดูลย์อาวุโสกว่าท่าน ท่านก็เลยพูดอ้อมๆ ว่า ใครทำลายได้ก่อน จะบอกกันอย่างนี้ คือแทนที่จะบอกว่าจะสอนเรา ไม่พูด นี่คือมารยาทที่งดงามในวงการกรรมฐานเลย งามมากๆ เลย

ผ่านวันผ่านเวลามานานหลายปี ช่วงหลังๆ ท่านเป็นมะเร็ง ท่านก็หลบไปอยู่ที่อื่น ไม่ได้อยู่วัดป่าสาลวันแล้ว จนก่อนท่านมรณภาพไม่นาน ท่านไปเทศน์ที่ทีโอที ตอนนั้นหลวงพ่อทำงานอยู่ทีโอที ฟังเทศน์จบก็เข้าไปกราบท่าน บอกหลวงพ่อครับ ผมไม่เจอหลวงพ่อนานแล้ว ท่านบอกหลวงพ่อจำได้ นักปฏิบัติมีไม่มากหรอก ก็เรียนท่านอีก หลวงพ่อครับ ผมยังทำลายผู้รู้ไม่ได้

ท่านก็บอก ตอนนั้นท่านฮึกเหิมขึ้นมาเลย ใจท่านทรงตัวเด่นดวง จากที่เหนื่อยๆ ตอนเทศน์หายทันทีเลย แล้วท่านก็บอก “จิตผู้รู้เหมือนฟองไข่ เมื่อลูกไก่เติบโตเต็มที่ มันจะเจาะทำลายเปลือก ออกมาเอง” ฉะนั้นเราไม่มีหน้าที่ทำลายผู้รู้ มันทำลายตัวของมันเอง เมื่อลูกไก่มันเติบโตเต็มที่คือธาตุรู้ของเรามันสะอาดหมดจดขึ้นมา มันจะแหวกอาสวกิเลสออกมาได้ ฟองไข่คือเปลือกไข่อย่างนี้ สิ่งที่เป็นเปลือกห่อหุ้มจิตเอาไว้ก็คือตัวอาสวกิเลส เมื่อไรที่ล้างอาสวะได้ จิตมันก็จะเป็นอิสระขึ้นมา พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด พ้นจากความปรุงแต่ง ทั้งหลายทั้งปวง

จิตที่ล้างอาสวะได้เพราะรู้แจ้งแทงตลอดอวิชชา รู้แจ้งแทงตลอดอวิชชาที่เป็นหัวโจก รู้แจ้งแทงตลอดจิตนั่นเอง บอกแล้วว่าจิตเป็นหัวโจกของธรรมะทั้งปวง เป็นประธานธรรมะทั้งปวง ถ้าจิตรู้แจ้งจิต หลวงปู่ดูลย์ถึงบอก “จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค” อันนี้ท่านพูดแบบออมๆ ถ้าพูดเต็มยศก็คือจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นอรหัตตมรรค เพราะมันคือหัวโจกของขันธ์ 5 เลย

ฉะนั้นเรามี มีหน้าที่ตามรู้ตามเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของจิตใจไป ที่หลวงปู่สุวัจน์บอก แล้วดูไปเรื่อยๆ ดูแล้วมันก็วาง วางแล้วมันก็หยิบ ก็ไม่เลิกดู ดูไปเรื่อยๆ จนมันรู้แจ้งแทงตลอดจริงๆ ว่าตัวจิตนั้นคือตัวทุกข์ ทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้น ทุกข์เพราะว่าบังคับไม่ได้ สั่งไม่ได้ จิตถึงจะปล่อยวางจิตได้จริง เพราะปัญญาอันยิ่งคือการรู้แจ้งแทงตลอดปฏิจจสมุปบาท หรือรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจนั่นเอง

นี่คือเส้นทางที่พวกเราจะต้องเดินไปในวันข้างหน้า หลวงปู่ดูลย์บอกธรรมะอันนี้หลวงพ่อมาตั้งแต่ปี 2526 ก็คลำทางเตาะแตะมาเรื่อยๆ ทีนี้ก็มาบอกแผนที่เอาไว้ให้พวกเรา เพราะฉะนั้นอย่าทิ้งจิต มีสติรักษาจิตไว้ให้ดี มีสติดูแล มีอะไรเกิดขึ้นในจิตในใจ คอยรู้คอยเห็นไปตามลำดับๆ วันไหนไม่สามารถรู้เห็นจิตได้ ไม่ต้องหา เที่ยวแสวงหาจิตก็คือตัณหาอีกล่ะ ถ้าวันไหนดูจิตไม่ออก มองจิตไม่เห็น ช่างมัน รู้สึกร่างกายไป เห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน เห็นร่างกายเคลื่อนไหว เห็นร่างกายหยุดนิ่ง ดูมันไป แล้วพอจิตมันมีกำลัง มันก็จะไปเห็นจิตเอง เพราะฉะนั้นเราดูกายแล้วเราจะเห็นจิต ถ้าดูกายแล้วเห็นกาย นี่ยังไม่ตอบโจทย์ของการปฏิบัติจริง ถ้าดูกายอย่างถ่องแท้แล้วมันจะเห็นจิต

หลวงพ่อก็เคยดูกาย ไม่ใช่ไม่ดู จำไม่ได้แล้วว่ามันปีไหน ไปไหนๆ ก็ได้ยินแต่คนเขาดูกาย เราก็ดูบ้าง ดูลงไปที่ผม สมาธิมันแรง ดูปุ๊บ ผมหายไปหมดเลย เห็นหนังศีรษะ ดูหนังศีรษะ หายไปเลย เห็นหัวกะโหลก ดูหัวกะโหลก หัวขาดหายไปเลย ดูตัวลงมา เนื้อหนังหายหมด เหลือแต่กระดูก ดูกระดูก กระดูกระเบิด กลายเป็นก้อนกรวดเล็กๆ น้อยๆ กระจายๆ ดูลงไปอีก มันกลายเป็นคลื่นแสง สลายไปหมดคืนสู่โลกธาตุ กลับสู่ธรรมชาติเดิมของมัน เคยดูอย่างนี้แต่ใจไม่ชอบ ดูแล้วก็แป๊บๆ เดี๋ยวก็มาตรงนี้อีกแล้ว ไม่ชอบ รำคาญ รู้สึกน้อยไป

หลวงปู่ดูลย์ท่านเลยสอนหลวงพ่อดูจิต พอดูจิตแล้ว แหม มันมีอะไรให้เรียนให้รู้เยอะแยะไปหมดสนุกมากเลย ก็เลยขยันดู ขยันดูเพราะใส่ใจที่จะดู ใส่ใจที่จะดู คอยรู้คอยเห็นอะไร จิตมันก็พิจารณา ใคร่ครวญ รู้เหตุรู้ผลของมัน ตรงนี้เรียกว่าอิทธิบาท 4 มีฉันทะคือมีความพอใจที่จะเรียนรู้จิตใจตัวเอง พอพอใจที่จะเรียนรู้ ก็เกิดวิริยะ ขยันรู้ขยันดู ขยันเอง ไม่ต้องบังคับ เกิดจิตตะ มีความใส่ใจ มีความจดจ้อง คือมีสมาธิในการที่จะดูจิตตัวเอง มีการเจริญปัญญา ใคร่ครวญเห็นเหตุเห็นผล สภาวะอันนี้คืออะไร สภาวะอันนี้ทำหน้าที่อะไร สภาวะอันนี้เมื่อทำหน้าที่แล้วมีผลเป็นอย่างไร สภาวะอันนี้เกิดขึ้นมาได้เพราะอะไร

ฉะนั้นเวลาหลวงพ่อภาวนา เห็นสภาวะอะไรสักอย่างหนึ่ง จิตมันจะค้นคว้าใคร่ครวญอยู่อย่างนี้ ตอนนั้นไม่รู้ว่ามันคืออะไรการพิจารณาอย่างนี้ ตอนหลังภาวนารู้เรื่องแล้ว ก็ลองไปอ่านอภิธรรม องค์ 4 มีลักษณะเป็นเบื้องต้น ก็คือตัวมันมีลักษณะอย่างไร อย่างความโกรธมีลักษณะอย่างไร หรือจิตมันมีลักษณะอย่างไร จิตมันทำหน้าที่อะไร ถ้าเรื่องจิต จิตมีลักษณะรู้อารมณ์ มันทำหน้าที่อะไร ทำหน้าที่แล้วมีผลเป็นอย่างไร อะไรทำให้มันเกิดขึ้น พิจารณา 3 ตัวแรก 3 ตัวแรกพิจารณาแล้วจิตยังไม่ลง ยังไม่แจ้งสภาวะอันนี้ จนถึงตัวที่สี่ รู้ว่าสภาวะอันนี้เกิดเพราะอะไร จิตถึงจะแจ้งในสภาวะอันนั้นแล้วจะวางสภาวะอันนั้นลง พอสภาวะอันนั้นเกิด จิตไม่มีความสงสัยอีกต่อไป

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
28 เมษายน 2567