ช่วงนี้ร้อนจัด คนอารมณ์ร้ายเยอะ โมโหง่าย ภาวนาเอาไว้ มีสติสำคัญที่สุด สติ ถ้าเป็นนักปฏิบัติแต่ไม่มีสติ ก็ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติจริง นั่งสมาธิแล้วเคลิ้ม ลืมเนื้อลืมตัว ใช้ไม่ได้ นั่งแล้วเห็น
โน่นเห็นนี่เยอะแยะไปหมด เห็นเทวดา เห็นผี เห็นชาติก่อน เห็นชาติหน้า มันเห็นออกข้างนอก จิตหลอนเอา ส่วนใหญ่ จะรู้จะเห็นได้จริง ก็ต้องทรงฌานได้จริงๆ ยุคนี้แทบไม่มี ส่วนใหญ่ก็จิตหลอนๆ รู้โน่นรู้นี่ สติสำคัญนะ ต้องฝึก
หลักสูตรในการฝึกสติ ก็คือสติปัฏฐานนั่นเอง พระพุทธเจ้าบอกว่านี่เป็นทางสายเอก เป็นทางสายเดียวเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น ฉะนั้นถ้าไม่ใช่เรื่องของสติปัฏฐาน ใครจะมาบอกเราว่า นี่เป็นทางวิเศษวิโสอย่างโน้นอย่างนี้ เชื่อไม่ได้หรอก ทุกวันนี้ชาวพุทธที่แท้จริงเหลือน้อยมากเลย มีหยิบมือเดียว ในเมืองไทยบอกว่าเป็นพุทธๆ เอาเข้าจริงก็ไม่เป็นหรอก ส่วนใหญ่ก็นับถือผี นับถือเทวดา นับถืออะไรพวกนั้นไป ไม่ได้นับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่เคารพในการศึกษาปฏิบัติธรรม ประมาทลุ่มหลงมัวเมาอยู่กับโลก สิ่งเหล่านี้มันทำให้เราเป็นชาวพุทธที่แท้จริงไม่ได้
อย่างคนอ้างพระพุทธเจ้าก็มีอยู่เรื่อยๆ ยุคไหนก็มี ไปเจอพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ พระพุทธเจ้ามอบหมายอย่างนี้ ลืมไปว่าพระพุทธเจ้าท่านเคยบอกไว้ว่า ถ้าท่านปรินิพพานแล้ว เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย หรือสัตว์ทั้งหลาย จะไม่เห็นท่านอีกต่อไปแล้ว ฉะนั้นเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไปเห็นพระพุทธเจ้า แต่เราเห็นพุทธคุณได้ พุทธคุณก็คือถ้าเราตั้งอกตั้งใจปฏิบัติภาวนา ใจเราเข้าถึงความสงบร่มเย็น ไม่ถูกกิเลสตัณหาปรุงแต่งขับดัน ใจเราเข้าถึงสันติสุขที่แท้จริง นั่นล่ะเราจะสัมผัสพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
ศึกษาปริยัติ ทำให้เรารู้ทิศทางของการปฏิบัติ
ถ้าใจภาวนา ใจเราเข้าถึงความสงบร่มเย็น แทบจะอุทานเลยว่าอัศจรรย์จริงๆ เส้นทางอันนี้พระพุทธเจ้าพบมาได้อย่างไร เส้นทางที่ประณีตลึกซึ้งมาก คนซึ่งอินทรีย์อ่อนฟังท่านบอกแล้วยังเดินตามไม่ได้เลย เราจะทำอย่างไรเราจะเดินตามรอยของพระพุทธเจ้าได้ เรายังเข้าไม่ถึงพระพุทธเจ้าตัวจริง ใจเราก็ยังไม่ได้ทรงธรรมะของจริง ใจเรายังไม่ได้เป็นพระสงฆ์ ยังเป็นปุถุชน สิ่งสำคัญก็คือการศึกษา การศึกษาธรรมะ ก็มีการศึกษาเบื้องต้นเรียกการศึกษาปริยัติ ปริยัติจะสอนให้เรารู้ถึงวิธีปฏิบัติ แล้วการปฏิบัติก็จะทำให้เราเข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นเป็นลำดับๆ ไป
เพราะฉะนั้นเราศึกษาธรรมะ ต้องตั้งหลักให้ดีเหมือนกัน บางทีศึกษาแล้วเมา เรียนอะไรต่ออะไรเยอะแยะ รู้หมดทุกเรื่องเลย แต่ไม่ได้ปฏิบัติ เอามาปฏิบัติจริงไม่ได้ รู้สภาวธรรม 72 ตัวนี้ มีลักษณะอย่างไร มีหน้าที่อย่างไร มีผลจากการทำหน้าที่อย่างไร มีอะไรเป็นเหตุเกิด รู้หมด แต่ไม่เคยเห็นสภาวะ ไม่เห็นของจริง จะเห็นของจริงได้ก็ต้องปฏิบัติ ทีแรกเราก็เรียนปริยัติเสียก่อน ปริยัติที่จำเป็นจริงๆ หลวงพ่อก็อ่านมาเยอะ พระไตรปิฎกอ่านตั้งหลายรอบแล้ว
สิ่งที่พวกเราควรจะเรียนรู้จริงๆ มีอยู่ไม่กี่เรื่องหรอก ที่จำเป็นมากๆ รู้เรื่องขันธ์ 5 อายตนะ 6 ธาตุ 18 อินทรีย์ 22 อริยสัจ 4 เรียนเรื่องเหล่านี้ หัดรู้หัดดู เรียนให้เห็นไตรลักษณ์ ถ้าดูขันธ์ 5 ก็ต้องเห็นไตรลักษณ์ ดูอายตนะก็ต้องเห็นไตรลักษณ์ ดูธาตุ ดูอินทรีย์อะไรต่ออะไร ก็ต้องเห็นไตรลักษณ์ให้ได้ ก็ต้องเรียนให้รู้จักไตรลักษณ์ แล้วก็รู้ที่ต้องเรียนเรื่องสติปัฏฐาน อันนั้นคือวิธีการปฏิบัติ
เรารู้ทฤษฎีแล้ว ว่าเราจะต้องศึกษาอยู่ในขันธ์ ในธาตุ ในอายตนะ ในอินทรีย์อะไรพวกนี้ นี่คือตัวกรรมฐานที่เราจะเรียน ย่อลงมาก็คือรูปธรรมกับนามธรรม แจกแจงรายละเอียดออกไปได้หลายแบบ แจกแจงออกเป็นขันธ์ 5 ก็ได้ อายตนะ 6 ก็ได้ ธาตุ 18 ก็ได้ อินทรีย์ 22 ก็ได้ ก็เรียนสิ่งเหล่านี้ ทำสติปัฏฐานแล้วเราจะเห็น ว่ารูปธรรมนามธรรมทั้งหลายทั้งปวง ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์
ทำสติปัฏฐานไม่ใช่เพื่ออะไร เพื่อให้เห็นความจริง ให้เห็นความจริงของรูปธรรมของนามธรรม สติปัฏฐานในเบื้องต้นทำให้เราได้สติ พอเรามีสติที่ถูกต้อง สมาธิที่ถูกต้องก็จะเกิดร่วมด้วย พอมีสติที่ถูกต้อง มีสมาธิที่ถูกต้อง การเจริญปัญญาหรือการทำวิปัสสนากรรมฐานก็เกิดขึ้น ฉะนั้นสติปัฏฐานนี้เป็นหลักสูตรที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ แล้วบอกว่าเป็นทางสายเดียว ไม่มีหรอกทางอื่น ใครจะมาช่วยให้เราบรรลุมรรคผล ทำไม่ได้จริงหรอก ได้แต่หลอกๆ กันให้สบายใจไปเท่านั้นเอง
ถ้าคนอื่นสามารถช่วยเราให้บรรลุมรรคผลได้ พระพุทธเจ้าช่วยแล้วล่ะ เพราะท่านมีมหากรุณาที่แท้จริง ทำไมท่านไม่มาเชื่อมจิต เชื่อมญาณอะไร ให้เราบรรลุเร็วๆ เพราะมันไม่มีจริง ท่านยังบอกเลย ท่านเป็นแค่คนบอกทาง เราจะต้องเดินในเส้นทางอันนี้ด้วยตัวเอง ต้องศึกษา เรื่องของปริยัติทำให้เรารู้ทิศทางของการปฏิบัติ รู้โดยทฤษฎี แล้วพอศึกษาจากการปฏิบัติ เราจะศึกษา 3 เรื่อง สีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา นี่คือสิ่งที่เราต้องเรียน
ชาวพุทธเราต้องเคารพพระพุทธเจ้า ต้องเคารพพระธรรม คำสอนของท่าน ต้องเคารพพระอริยสงฆ์ อันนี้ลำบากนิดหนึ่ง ไม่รู้ใครเป็นอริยสงฆ์ เราจะรู้ถ้าเราภาวนาให้ดี ให้ใจเราเป็นพระ แล้วเราก็จะดูออก อันไหนจริง อันไหนปลอม อย่างเที่ยวเดินๆ จิ้มๆ อย่างนี้ โธ่ เห็นแวบเดียว ก็รู้แล้วว่าของหลอก ไม่ได้มีพลังอะไรเลยสักนิดเดียว คนมันเชื่อ มันก็รู้สึกศักดิ์สิทธิ์ ความศักดิ์สิทธิ์จริงๆ มันมาจากความเชื่อเท่านั้น ถ้าไม่เชื่อ มันก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์หรอก เพราะฉะนั้นจริงๆ ต้องเชื่อเหตุ เชื่อผล เชื่อกฎแห่งกรรม เชื่อในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ เคารพพระพุทธเจ้า เคารพในพระธรรม เคารพในพระสงฆ์ เคารพในการศึกษาปฏิบัติธรรม เคารพในความไม่ประมาท สิ่งที่เราชาวพุทธเราต้องเคารพคือสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่ผีสางเทวดา
ถ้าเราจะลงมือปฏิบัติจริงๆ อันแรกเลย ไปถือศีล 5 ให้ได้ก่อน ถ้าไม่มีศีล สมาธิจะไม่มั่นคง ศีลทำให้สมาธิของเรามั่นคง แล้วสมาธิที่มั่นคงถึงจะเอาไปเจริญปัญญาได้ อย่างถ้าเราไม่มีศีล ใจเราก็ไหลตามกิเลสไปเรื่อยๆ บางทีหลงไปไหนๆ ทำตามใจกิเลสไป ใจมันก็ฟุ้งซ่าน สมาธิมันก็ไม่มี สมาธิแปลว่าความตั้งมั่นของจิต เพราะฉะนั้นที่นั่งแล้วก็เคลิ้มเงียบๆ สบายๆ อันนั้นสมาธินอกศาสนาพุทธ มีมาก่อนพระพุทธเจ้า สมาธิของพระพุทธเจ้าคือจิตตั้งมั่น ความตั้งมั่นของจิต คือความตั้งมั่นของจิต
ก็ต้องมีวิธีฝึก ทำอย่างไรจิตจะตั้งมั่น สั่งให้จิตตั้งมั่นได้ไหม สั่งไม่ได้ เพราะจิตเป็นอนัตตา ถ้าจิตเป็นอนัตตา สั่งให้ตั้งมั่นไม่ได้ อย่างนั้นก็ปล่อยให้มันเป็นไปตามยถากรรม แล้วมันจะตั้งมั่นไหม มันก็ไม่ตั้งมั่น เราต้องให้การเรียนรู้กับจิต จิตมันถึงจะตั้งมั่นได้ อาศัยสติคอยรู้เท่าทันจิตตนเอง แล้วสมาธิที่แท้จริง หรือสัมมาสมาธิ หรือสภาวะที่จิตตั้งมั่นถึงจะเกิดขึ้น อาศัยสติระลึกรู้รูปธรรมนามธรรม ที่กำลังมีกำลังเป็นอยู่ อย่างรูปธรรม ขณะนี้ร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก คอยรู้สึกเรื่อยๆ แล้วต่อไป พอร่างกายมันเปลี่ยนจังหวะการหายใจนิดเดียว มันรู้สึกได้เอง สติอัตโนมัติมันเกิดแล้ว หรือเราหายใจอยู่ แล้วจิตเราหลงไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ พอจังหวะการหายใจเปลี่ยนนิดเดียว สติมันจะรู้ทันว่าตอนนี้หลงไปแล้ว ลืมการหายใจไปแล้ว
เพราะฉะนั้นเราต้องทำกรรมฐาน ทำกรรมฐาน แล้วกรรมฐานที่ดีก็คือ ต้องอยู่ในสติปัฏฐาน ที่พระพุทธเจ้าสอนให้ ในสติปัฏฐานมีทั้งสมถกรรมฐาน มีทั้งวิปัสสนากรรมฐาน ในสติปัฏฐาน 4 อย่างเราหายใจออก หายใจเข้า รู้สึกไปเรื่อย อันนี้เราจะได้สติ ต่อไปเวลาเราหลง เราเผลอ จังหวะการหายใจเปลี่ยนนิดเดียว สติจะเกิดเลย รู้เลยว่านี่หลงไปแล้ว หรือเราหายใจอยู่ แล้วจิตถลำจมลงไปในลมหายใจ อันนี้ดูยากนิดหนึ่ง อันนี้เราต้องรู้ทันจิตตัวเอง อันนี้จิตถลำลงไปจ้อง ไปจมอยู่กับลมหายใจแล้ว
พอเรารู้ทันจิต จิตมันก็ดีดตัวขึ้นมาเป็นผู้รู้ผู้ดูได้ สติรู้ทันจิตที่ถลำลงไป เขาเรียกมีสติที่ถูกต้อง สติรู้ทันจิตที่หลงไปคิด นี่มีสติที่ถูกต้อง ไม่ได้เจตนาจะรู้ มันรู้เอง เพราะเราเคยฝึกดูสภาวะบ่อยๆ อย่างเราเห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า เห็นบ่อยๆ แล้วต่อไปเวลาเราเผลอๆ จังหวะหายใจเปลี่ยนนิดเดียว สติมันมาเอง มันรู้เอง หรือเราเคยฝึกรู้อิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอน พอเราเผลอขยับตัวนิดเดียว สติมาเลย รู้ทันเลย
จะเห็นของจริงได้ก็ต้องลงมือปฏิบัติ
หลวงพ่อตอนฝึก หลวงพ่อทำอานาปานสติอันแรก ตอนเด็กๆ แต่ทำแล้วได้สมาธิชนิดสงบเฉยๆ แล้วต่อมาพอจิตตั้งมั่น เพราะไม่ยอมให้จิตมันหลงไป ไหลไปตามนิมิตทั้งหลาย หายใจไปทีแรกก็มีสติ หายใจออกมีสติ หายใจเข้าไป จิตก็รวมสว่างว่างขึ้นมา แล้วจิตมันไหลตามแสงไป ทีแรกไม่รู้ นึกว่าดี วิเศษ รู้โน่นรู้นี่ ต่อมาก็พบว่าไม่เห็นมีประโยชน์อะไรเลย ออกไปรู้โน่นรู้นี่ แล้วมันได้อะไรขึ้นมา ไม่เห็นจะมีประโยชน์อะไร ก็เลยเพิ่มกำลังของสติขึ้น หายใจไปพอจิตมันสว่าง แล้วมันจะตามแสงไป รู้ทัน มีสติรู้ทัน รู้ทันอะไร รู้ทันจิตว่ากำลังจะไหลตามแสงสว่างไปแล้ว พอมีสติรู้ทันจิต จิตก็ดีดผางขึ้นมาเป็นผู้รู้ได้เลย จิตก็เกิดสัมมาสมาธิ สมาธิที่ถูกต้องเกิดขึ้นทันทีเลย
เพราะฉะนั้นเราพยายามฝึก มีสติรู้กาย มีสติรู้ใจของตัวเอง ถนัดอะไรเอาอันนั้น ใช้ได้เหมือนกันหมด ยกตัวอย่าง อย่างที่หายใจเมื่อกี้ เราหายใจไป แล้วใจเราสงบอยู่กับการหายใจ เราได้สมาธิชนิดสงบ หายใจไปแล้วใจเราหนีไปคิดเรื่องอื่น หรือใจเราไหลเข้าไปในลมหายใจ เรารู้ทัน เราจะได้สมาธิชนิดตั้งมั่น คือสมาธิที่ใจมันไม่ไหลไป แล้วถ้าเจริญปัญญา เราก็เห็นร่างกายมันหายใจ ใจเป็นคนรู้คนดู ร่างกายหายใจ ใจเป็นคนรู้คนดู รู้สึกไปเรื่อยอย่างนี้ ต่อไปมันจะเห็นว่าร่างกายไม่ใช่เรา เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออก ตัวนี้เราเริ่มเดินปัญญาแล้ว
แล้วต่อไปเราก็เห็นลึกซึ้งขึ้นไป ร่างกายนี้มีแต่ความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เดี๋ยวหายใจเข้า เดี๋ยวหายใจออก เดี๋ยวยืน เดี๋ยวเดิน เดี๋ยวนั่ง เดี๋ยวนอน เดี๋ยวเคลื่อนไหว เดี๋ยวหยุดนิ่ง เห็นเรื่อยๆ มันก็เริ่มเห็นความเป็นไตรลักษณ์ ก็เห็นมันบังคับไม่ได้ ร่างกายนั้นเป็นแค่วัตถุ เป็นก้อนธาตุ มีธาตุไหลเข้า แล้วก็มีธาตุไหลออก หายใจเข้า หายใจออก กินอาหารแล้วก็ขับถ่าย มีแต่ธาตุที่หมุนไปเรื่อยๆ ตรงนี้เราก็ขึ้นวิปัสสนาเหมือนกัน ตรงขึ้นวิปัสสนา เราเห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวเราของเรา ของร่างกาย ถ้าเริ่มจากกายก็จะเห็นอย่างนี้ได้
เริ่มจากเวทนาจะทำอย่างไร มีสติรู้เวทนา อย่างถ้าเรารู้เวทนาในกาย ทีแรกเราก็มีสติ รู้สึกตัวทั่วพร้อมไปสบายๆ อย่าไปเพ่งไว้ นั่งไปเรื่อยๆ นั่งไปสักพักหนึ่ง มันก็ปวด มันก็เมื่อย มันก็เจ็บ มันก็คัน ตรงโน้นตรงนี้ในร่างกายนี้ เราก็เห็น เออ เวทนานี้มันเกิดขึ้นในกาย มันหมุนอยู่ในกาย เดี๋ยวก็เกิดตรงนั้น เดี๋ยวก็เกิดตรงนี้ อย่างเรานั่งนานๆ มันเมื่อย คนส่วนใหญ่พอเมื่อยปุ๊บก็ขยับ ขยับตัวไปก็หายเมื่อย นอนนานๆ ก็ไปพลิกตัว ก็หายเมื่อย เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว อิริยาบถหรือการเปลี่ยนแปลงท่าทางของเรา มันปิดบัง มันปิดบังไม่ให้เราเห็นว่า ร่างกายนี้คือตัวทุกข์ มันบังไว้
ฉะนั้นคอยสังเกต ร่างกายก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เวทนาเกิดขึ้นในร่างกาย เดี๋ยวก็เจ็บตรงนั้น เดี๋ยวก็หาย เดี๋ยวคันตรงนี้ เดี๋ยวก็หาย เดี๋ยวปวดที่นั้น ปวดที่นี้ เกิดขึ้นแล้วก็หายไป เดี๋ยวก็หิว เดี๋ยวก็อิ่ม ก็เห็นเวทนาที่เกิดขึ้น หิวก็ทุกข์ อิ่มก็ทุกข์ ค่อยรู้สึกไป กระหายน้ำก็ทุกข์ กินน้ำเยอะก็ทุกข์ ปวดอึปวดฉี่ก็ทุกข์ คอยรู้สึกอยู่ในกายอย่างนี้ก็ได้ แล้วก็เห็นความทุกข์ที่หมุนเวียนอยู่ในร่างกายนี้ มาเองไปเอง บังคับมันไม่ได้หรอก นั่งสมาธิบอกอย่าเมื่อย ห้ามไม่ได้ เพราะว่าเวทนามันก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์เหมือนกัน สั่งไม่ได้ เวทนาทางกายจะดูจะยากนิดหนึ่ง เพราะว่าถ้าสมาธิเราไม่พอ ดูเวทนาทางกายนั้น สติมันจะรับไม่ไหว จิตมันรับไม่ไหว
เวทนาที่ดูง่ายคือเวทนาทางใจ อย่างขณะนี้ใจเราสุข ใจเราทุกข์ ใจเราเฉยๆ รู้ทันไป เราก็จะเห็น ใจเราสุข หรือใจเราทุกข์ หรือใจเราเฉยๆ สภาวะทั้งหลายไม่เที่ยง ความสุขในใจเกิดขึ้นชั่วคราว ความทุกข์ในใจก็ชั่วคราว ความเฉยๆ ในจิตใจก็เป็นของชั่วคราว มันไม่เที่ยง ความสุขที่เกิดขึ้นในใจเรา ก็กำลังถูกบีบคั้นให้หมดไปสิ้นไป ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจเรา ก็กำลังถูกบีบคั้นให้หมดไปสิ้นไป ไม่ต้องไปทำอะไรหรอก ตามรู้ตามเห็นไป
เวลาใจเราทุกข์มากๆ ไม่ต้องหาทางแก้หรอก ตามรู้ตามดูไปเรื่อย ว่า เอ๊ะ มันจะทุกข์ถึงเมื่อไร ดูสิ ถ้าใจเรากล้าหาญ ความทุกข์เกิดขึ้นในใจ เรากล้าหาญถึงขนาดจะดูสิมันจะทุกข์ได้นานแค่ไหน ความทุกข์นั้นก็จะถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ไม่ต้องไปทำอะไรหรอก มันดับของมันเอง พอหมดเหตุมันก็ดับ หรือความเฉยๆ ในใจเรา เราสั่งให้เฉยตลอดก็ไม่ได้ เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไปในเวทนาทางใจ เราก็จะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
หรือเราจะดูสังขารก็ได้ อยู่ในเรื่องของจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน สังขาร ความปรุงดี ความปรุงชั่ว ความปรุงไม่ดีไม่ชั่ว ทุกสิ่งล้วนแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปทั้งสิ้น ล้วนแต่บังคับไม่ได้ทั้งสิ้น ใจเราจะเป็นกุศล หรือใจเราเป็นอกุศล เราเลือกไม่ได้ พอเป็นกุศลแล้วเราก็รักษาไว้ไม่ได้ เดี๋ยวมันก็ดับ เป็นอกุศล เราห้ามมันอย่าเกิด เราก็ห้ามมันไม่ได้ เป็นอกุศลแล้วเราบอก จงหายไปเร็วๆ อย่างเวลาเราโกรธขึ้นมา จงหายโกรธ มันสั่งไม่ได้ เป็นอนัตตา เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไปเรื่อยๆ กุศลอกุศลในจิตใจเรา ที่จริงไม่ต้องมีคำว่า “ในจิตใจเรา” ก็ได้ เพราะกุศลอกุศลเกิดที่จิตอย่างเดียว
ไม่เหมือนเวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์เกิดที่กายก็ได้ เกิดที่จิตก็ได้ ก็เลยต้องแยกว่า นี่เป็นเวทนาทางกาย นี่เวทนาทางจิต แต่กุศลอกุศลเกิดที่จิตอย่างเดียว ไม่ไปเกิดที่กายหรอก ถ้าเรามีสติเห็น ก็จะเห็นจิตโกรธก็ไม่เที่ยง จิตโลภ จิตหลงก็ไม่เที่ยง จิตเป็นกุศลก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เห็นไปเรื่อยๆ ตามรู้ตามดูไปเรื่อย ดูกายดูใจไปแล้วก็เห็นไตรลักษณ์ของมัน เราขึ้นมาสู่การเจริญวิปัสสนากรรมฐานแล้ว
พอเราเจริญวิปัสสนากรรมฐานมากๆ นี่เรียกว่าเราปฏิบัติแล้ว ทีแรกก็ฟังหลวงพ่อ หรืออ่านพระไตรปิฎก อ่านธรรมะครูบาอาจารย์ สอนวิธีปฏิบัติ นั่นคือปริยัติ แล้วเราก็ลงมือปฏิบัติ เจริญสติ ทีแรกก็ฝึกให้มีสติ คอยรู้ทันสภาวะรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย พอสติเราดี คุณธรรมความดีมันก็จะงอกงาม ศีลที่เคยด่างพร้อยง่าย ก็จะเริ่มไม่ด่างพร้อย เพราะเรามีสติรักษาจิต สมาธิที่ทำยาก ทำไม่ค่อยจะได้สมาธิ ไม่ค่อยจะสงบ ไม่ค่อยจะตั้งมั่น ถ้าเรามีสติมันก็จะสงบง่าย ตั้งมั่นง่าย ถ้าไม่มีสติ สงบก็สงบแบบโมหะ เคลิ้มๆ โง่ๆ ไป จะตั้งมั่นไม่มีทางเลย
พอสติระลึกรู้รูปธรรมนามธรรม
ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ปัญญาจะเกิด
ฉะนั้นเรามีสติระลึกรู้ความเป็นไปของรูปธรรมนามธรรม มีจิตตั้งมั่นเป็นกลาง จิตไม่ยินดี ไม่ยินร้ายในสิ่งที่สติไประลึกรู้ ปัญญามันจะเกิด ปัญญามันเห็นอะไร ปัญญามันเห็นไตรลักษณ์ ฉะนั้นตัวที่เห็นไตรลักษณ์ ไม่ใช่สติ ตัวที่เห็นไตรลักษณ์คือตัวปัญญา สติเห็นอะไร เห็นรูปธรรม เห็นนามธรรม แล้วพอสติเห็นรูปธรรมนามธรรมตรงตามความเป็นจริง สมาธิคือสัมมาสมาธิ และความตั้งมั่นจะเกิดอัตโนมัติ พอสติระลึกรู้รูปธรรมนามธรรม ด้วยจิตที่ตั้งมั่น ปัญญามันจะเกิด
ปัญญาขั้นต้นมันจะเห็นว่า รูปธรรมนามธรรมทั้งหลายมันแยกเป็นส่วนๆ ร่างกายก็อยู่ส่วนหนึ่ง ความสุขความทุกข์ก็อยู่ส่วนหนึ่ง กุศลอกุศลก็อยู่ส่วนหนึ่ง จิตก็อยู่ส่วนหนึ่ง แยกกันเป็นส่วนๆ คำว่า “ส่วน” ภาษาบาลีเรียกว่า “ขันธ์” อย่าไปตกใจกับคำว่า “ขันธ์” คำว่าขันธ์พูดง่ายๆ คือแยกเป็นส่วนๆ ร่างกายก็อยู่ส่วนหนึ่ง ก็เรียกเป็นขันธ์อันหนึ่ง ความสุขทุกข์ก็เป็นอีกขันธ์หนึ่ง เป็นอีกส่วนหนึ่ง ฉะนั้นไม่ต้องตกใจกับภาษาบาลีหรอก ใช้ภาษาไทย เอาคำว่า “ส่วน” มาแทนที่คำว่า “ขันธ์”
ร่างกายอยู่ส่วนหนึ่ง แล้วอะไรอยู่อีกส่วนหนึ่ง จิตที่เป็นคนรู้อยู่อีกส่วนหนึ่ง เวทนาก็อยู่อีกส่วนหนึ่ง เวทนาไม่ใช่ร่างกาย แล้วเวทนาก็ไม่ใช่จิต สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่ว ก็ไม่ใช่ร่างกาย แล้วก็ไม่ใช่เวทนา แล้วก็ไม่ใช่จิต แล้วดูไปเรื่อย เราก็จะเห็นจิตเองก็ไม่ใช่รูปธรรม ไม่ใช่ร่างกาย จิตเองไม่ใช่เวทนา สุขทุกข์ จิตไม่ใช่กุศลอกุศล จิตเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ แยกออกมาอีกส่วนหนึ่ง เราสามารถแยกออกมาได้ แล้วถ้าเราแยกออกมาแล้ว เราจะเห็นว่าทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมนามธรรม หรือเป็นจิต ล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรา
ถ้าเรายังแยกส่วนไม่ออก จะไม่เห็นไตรลักษณ์จริง ได้แต่คิดเรื่องไตรลักษณ์ จะไม่เห็นไตรลักษณ์หรอก เพราะฉะนั้นเราต้องฝึก จนขันธ์มันแยกได้ ถ้าขันธ์ยังแยกไม่ได้ เดินปัญญาไม่ได้จริง ทำอย่างไรขันธ์จะแยก จิตต้องตั้งมั่น แล้วสติระลึกรู้ขันธ์อะไร มันจะเห็นว่าขันธ์อันนั้นถูกรู้ จิตตั้งมั่นอยู่เป็นผู้รู้ผู้เห็น เคล็ดลับมันอยู่ตรงนี้ล่ะ คือต้องฝึกให้ได้จิตที่ทรงสัมมาสมาธิจริงๆ จิตที่ทรงสัมมาสมาธิจริงๆ มาจากจิตที่เจริญสติได้ถูกต้อง อย่างคนทั่วไปบอกว่า ขับรถต้องมีสติ เวลาจะผ่านไฟแดง มองซ้ายมองขวาแล้วค่อยไป อันนั้นสติอย่างโลกๆ ยังไม่ใช่สติปัฏฐาน สติปัฏฐาน ต้องเป็นสติที่รู้รูปรู้นามของตัวเองถึงจะดี
การรู้รูปรู้นาม บางครั้งก็เป็นสมถะ บางครั้งก็เป็นวิปัสสนา ค่อยๆ ฟัง มันประณีต อย่างเรารู้ลมหายใจ แล้วจิตเราสงบ ไม่วอกแวกไปที่ไหน ได้สมถะ เรารู้ลมหายใจ ถ้าจิตเคลื่อนไปเรารู้ จิตถลำลงไปเพ่งลม เรารู้ จิตเราจะตั้งมั่นขึ้นมา เราจะได้สมาธิที่ตั้งมั่น พอมีสมาธิตั้งมั่นแล้ว มันจะเห็นว่าร่างกายที่หายใจ ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ตัวนี้จะขึ้นวิปัสสนาตรงนี้ ธรรมะมันประณีต แต่ว่าไม่ลึกลับ ลึกซึ้งแต่ไม่ลึกลับ วิญญูชนรู้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องให้คนอื่นมาบอก ฝึกตัวเองไป ยากไปไหม ทีแรกมันก็ยาก ฟังบ่อยๆ แล้วค่อยๆ สังเกตของจริงไป ถึงจุดหนึ่งมันก็ไม่ยาก
ชาวพุทธเราร่อยหรอเต็มทีแล้ว ชาวพุทธเราไม่ได้เชื่อฟังพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ได้ใส่ใจในการศึกษา ชาวพุทธเรายังตกอยู่ในความประมาท ใช้ชีวิตร่อนเร่ไปวันๆ หนึ่ง แล้วก็หวังพึ่งคนอื่น หวังพึ่งสิ่งอื่น ไม่เชื่อกรรม ไม่เชื่อผลของกรรม ไม่ใช่ชาวพุทธหรอก มันเป็นพุทธแต่ชื่อหรอก ไม่มีการศึกษาอย่างยิ่งเลย อย่างพระพุทธเจ้าบัญชาให้มาทำโน้นนี้ ไร้สาระ หรือเป็นพระอนาคามีมาเกิด โกหกซึ่งหน้า “อนาคา” แปลว่า “คนไม่กลับมาแล้ว” ไม่กลับมาสู่โลกนี้แล้ว มันจะมาได้อย่างไร พระอนาคามีละกามคุณอารมณ์ได้แล้ว ละกามาวจรได้แล้ว
โลกนี้เป็นกามาวจร กามาวจรภูมิ ภูมิของคนที่ยังเสพกามอยู่ พระอนาคามีพ้นไปแล้ว ขึ้นไปสู่รูปภูมิ อรูปภูมิโน่น ฉะนั้นเชื่อกันแบบไม่มีการศึกษา เชื่องมงาย หวังแต่จะพึ่งปาฏิหาริย์ ไม่ใช่ชาวพุทธหรอก ชาวพุทธเชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อในการศึกษาปฏิบัติ ไม่ประมาทในการดำรงชีวิตของเรา ถ้าทำอย่างนี้ได้ เราก็จะเป็นชาวพุทธที่แท้จริงได้ ถ้าหวังพึ่งปาฏิหาริย์ หวังพึ่งคนอื่นให้มาช่วยเรา ต้องรู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอก
ครูบาอาจารย์รุ่นเก่า ท่านเด็ดเดี่ยว ท่านเคยสอน หลวงพ่อเคยได้ยิน หลวงพ่อพุธ ท่านเคยสอนว่าคนชอบไปไหว้ศาลปู่ตา ไหว้พระภูมิเจ้าที่ ไปไหว้เทวรูปอะไรพวกนี้ ถึงเวลาก็ไปไหว้ ถึงเวลาก็เอาของไปเซ่น ไปบวงสรวง ต้องสร้างศาลให้อยู่ บอก โธ่ บ้านตัวเองยังต้องให้เราสร้างให้เลย อาหารก็ต้องให้เราเอาไปให้ มันจะมาช่วยอะไรเรา ท่านพูดขนาดนั้นเลย ครูบาอาจารย์รุ่นก่อน ดุมากเลย เด็ดขาดมากเลย
แต่ยุคนี้มิจฉาทิฏฐิมันมีกำลังกล้า พูดตรงไปตรงมาก็พูดไม่ได้ คนส่วนน้อยหรอกที่จะเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ คนส่วนใหญ่จะเข้าใจไม่ได้หรอก นี่เป็นเรื่องปกติ เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาของสติของปัญญา เป็นศาสนาของคนที่พึ่งตัวเอง ของคนที่เข้มแข็ง ไม่ใช่ศาสนาร้องขอ ให้เขาร้องขอ ให้เขาช่วยโน้นช่วยนี้ไปเรื่อย ไร้สาระ ต่อไปนี้เราเรียนธรรมะแล้ว รู้วิธีปฏิบัติ หลวงพ่อสอนมาเยอะแล้ว ลองไปฟังดู
ธรรมะมีขั้นมีตอน อย่ารีบร้อน
ค่อยๆ ภาวนาไปตามลำดับ
ขั้นแรกรักษาศีล 5 ไว้ให้ได้ ทุกวันทำในรูปแบบ ต้องทำ ถ้าไม่ทำจิตจะไม่มีกำลัง อาจจะสงบ ไม่ทำในรูปแบบ พอมานั่งปุ๊บเคลิ้มๆ ไปเลย สงบแบบโมหะ ใช้ไม่ได้หรอก ต้องทำให้สม่ำเสมอ จิตถึงจะมีกำลังตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา พอจิตเรามีกำลังตั้งมั่นแล้ว ต้องรู้วิธีเดินปัญญา วิธีเดินปัญญาก็คือ มีสติระลึกรู้รูปธรรมนามธรรม ที่มีอยู่เป็นอยู่ แต่ระลึกรู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่น แล้วถ้าจิตเกิดยินดียินร้ายขึ้นมา ให้รู้ทัน จิตก็จะเป็นกลาง คราวนี้เราก็จะมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง “ตามความเป็นจริง” คือเห็นไตรลักษณ์ เห็นไม่ใช่คิดเรื่องไตรลักษณ์
บางท่านก็สอน มันจะเคลื่อนนิดๆ อย่างบอกพระอนาคามี พิจารณาอสุภะตลอดเวลา ก็เลยราคะไม่เกิด ถ้าอนาคามีจริง ไม่ต้องพิจารณาอสุภะราคะก็ไม่เกิด เพราะว่ากิเลสกามาสวะมันถูกทำลายไปแล้ว แต่ถ้ายังต้องคอยพิจารณาปฏิกูลอสุภะเรื่อยๆ แล้วบอกราคะไม่เกิด อันนี้คือสมถกรรมฐาน เป็นการแก้ ราคะมันเกิดเพราะว่า จิตมันไปหลงของสวยของงาม เราก็กลับข้าง เอาของไม่สวยไม่งามมาให้มันดู ฉะนั้นถ้าผ่านจริงๆ กามาสวะมันไม่มาครอบจิตแล้ว ไม่ต้องห่วง ถ้ากามาสวะครอบจิตแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น มันจะเกิดกามวิตกขึ้น มีกามวิตก มันก็เกิดกามราคะที่รุนแรงขึ้นมา ล้นออกไปทางกาย ทางวาจา ฉะนั้นถ้าเราตัดต้นตอจริงๆ แล้ว มันก็ไม่ต้องมานั่งรักษามันหรอก มันจะมีอะไรที่เคลื่อนๆๆ เต็มไปหมดเลย ในบ้านในเมืองเราทุกวันนี้
ถือศีล 5 ทุกวันทำในรูปแบบ ทำกรรมฐานอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง การที่เราทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตัวเอง เรียกว่าอธิจิตตสิกขา การที่เราตั้งใจรักษาศีล 5 ไว้ ต่อไปศีลอัตโนมัติมันเกิด อันนี้เป็นอธิสีลสิกขา แล้วเราทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง เราจะได้อธิจิตตสิกขา ผลของอธิจิตตสิกขาก็คือ เราจะได้สมาธิ 2 ชนิด เมื่อต้องการพักผ่อน เราทำสมาธิชนิดที่จิตสงบ อยู่ในอารมณ์อันเดียว
เมื่อถึงเวลาสมควรเจริญปัญญา เราใช้สมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่น ต้องทำให้ได้ทั้ง 2 อย่าง จิตตั้งมั่นแล้วเดินปัญญารวดไปเลย เดี๋ยวเดียวก็หมดแรงแล้ว คล้ายๆ ใช้แบตเตอรี่ไปเรื่อยแล้วไม่ได้ชาร์จ แล้วถัดจากนั้นพอจิตเราตั้งมั่นแล้ว ก็ถึงบทเรียนสุดท้ายชื่ออธิปัญญาสิกขา อาศัยสติรู้กายรู้ใจ รู้อย่างที่มันเป็น ไม่ใช่ไปอาศัยสติไปบังคับกายบังคับใจ คอยรู้กายอย่างที่กายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็น
เวลารู้กายกับรู้จิตใจจะมีความต่างกันนิดหนึ่ง รู้กายจะรู้เป็นปัจจุบันขณะ ขณะนี้กำลังยกมือ ขณะนี้กำลังหันหน้า ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ Now ถ้าดูจิตมันจะดูในลักษณะ เรียกปัจจุบันสันตติ โกรธแล้วรู้ว่าโกรธ โลภแล้วรู้ว่าโลภ บางคนบอกว่า เฮ้ย อย่างนี้ไม่เป็นวิปัสสนา เพราะตอนที่โกรธทำไมไม่มีสติรู้ มารู้ทีหลัง ก็ถ้ามีสติมันก็ไม่โกรธสิ อันนี้การดูนามธรรม มันจะไม่ใช่ปัจจุบันขณะ ไม่ใช่เดี๋ยวนี้ แต่จะเป็นปัจจุบันสันตติ คือสืบต่อกับปัจจุบัน โกรธแล้ว โลภแล้ว หลงแล้ว ฟุ้งซ่านแล้ว หดหู่แล้ว มีสติรู้อย่างรวดเร็ว เมื่อวานโกรธวันนี้รู้ อันนี้ไม่ใช่ปัจจุบันสันตติแล้ว ไม่ได้ต่อเนื่องกันแล้ว
ค่อยดูอย่างนี้ ค่อยๆ ดูไป แล้วเราจะค่อยเห็นไตรลักษณ์ รูปธรรมก็แสดงไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา นามธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา จิตเองเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เป็นนามธรรมที่เป็นหัวโจก จิตเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า เป็นประธานในธรรมะทั้งปวง มันเองก็ไม่ใช่เรา
เมื่อ 1 – 2 วันมีผู้ช่วยสอนคนหนึ่ง มาส่งการบ้านหลวงพ่อ หลวงพ่อคราวก่อนที่เจอ หลวงพ่อบอกให้ดูจิตที่มันแอบไปสร้างภพ จิตมันสร้างภพตลอดเวลา เขาไปดู ดูแล้วจิตมันก็หลุดออกมาจากภพ แล้วตั้งมั่นขึ้นมา แล้วดูไปเรื่อยๆ เห็นว่าทุกครั้งที่จิตสร้างภพ เป็นภาระทั้งสิ้นเลย จิตนั้นมีภาระมากมาย มันเป็นทุกข์ ผู้ช่วยสอนนั้นก็เลยมาถามหลวงพ่อว่า ตรงนี้คือตรงที่หลวงพ่อบอกว่า เห็นจิตเป็นทุกข์ใช่ไหม บอกมันก็ใช่นะ แต่มันยังไม่ถึงที่สุดหรอก ที่เราภาวนา เราเห็นจิตมันทำงาน นี่เป็นเรื่องของขันธ์ จิตมันทำงานอุตลุด แล้วเราเห็นว่ามันทุกข์ ตรงนี้เราก็ยังอยากให้มันเลิกทำงาน
แต่ถ้าเราภาวนาไปเรื่อย รู้ความจริงของกาย รู้ความจริงของเวทนา รู้ความจริงของจิตตสังขาร รู้ความจริงของจิตที่หมุนเวียนเกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้ไปเรื่อยๆ จิตมันถอนตัวออกจากขันธ์ ถอนตัวออกจากขันธ์ที่เรามีที่เราเป็น ขันธ์อันนี้มันยังอยู่ในกามาวจรที่เราเป็น มันถอนตัวออกมา คราวนี้จิตมันจะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ที่แท้จริง แล้วจิตดวงนี้เป็นบรมสุข นี้จิตที่เป็นบรมสุข
พอเราภาวนาต่อไปเรื่อยๆ ศีล สมาธิ ปัญญา สมบูรณ์เต็มที่ เราจะเห็นว่าตัวจิตผู้รู้นั่นล่ะเป็นบรมทุกข์ ไม่ใช่บรมสุขอีกต่อไปแล้ว ตรงนี้ที่บอกว่า “จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง” ตรงที่เห็นว่าจิตทำงานแล้วมีความทุกข์ ยังไม่แจ้งทีเดียว ตรงที่แจ้ง จิตนั่นล่ะคือตัวทุกข์ มันจะทำภาระอะไรหรือไม่ทำอะไร มันก็คือตัวทุกข์ มันเห็นถึงระดับนี้ มันถึงจะปล่อยวางจิตได้จริง
ธรรมะมันมีขั้นมีตอน อย่ารีบร้อน ค่อยๆ ภาวนาไปตามลำดับ ของเราตอนนี้ยังถือศีลไม่ได้ ก็ไปตั้งใจถือเสีย ยังขี้เกียจภาวนา ก็ต้องตั้งใจทำให้ได้ทุกวัน ทำในรูปแบบทุกวันๆ แล้วก็มีสติคอยรู้กาย คอยรู้ใจของตัวเองไป ในชีวิตประจำวันรู้สึกกายรู้สึกใจไป ถ้าตอนไหนรู้สึกใจได้ก็รู้สึก ตอนไหนรู้สึกใจไม่ได้ก็รู้สึกกาย ตอนไหนหมดเรี่ยวหมดแรง รู้สึกกายก็ไม่ได้ รู้สึกจิตก็ไม่ได้ ทำสมถะ
ต้องฝึก ค่อยๆ ทำไป จิตมันจะก้าวหน้าเป็นลำดับไป ปริยัติเรียนสิ่งที่พระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ พระไตรปิฎก ตำรับตำราสอนไว้ ปฏิบัติก็คือมาลงมือพัฒนาศีล พัฒนาสติ พัฒนาสมาธิ พัฒนาปัญญาขึ้นมา แล้วต่อไปมันก็จะเกิดปฏิเวธ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เราจะรู้ด้วยตัวเอง อย่างใครมาบอกว่าเป็นพระอนาคามี แล้วยังโมโหโทโส ไม่ใช่หรอก ไม่ใช่ของจริงหรอก แต่ดูที่กิริยาไม่ได้ บางท่านกิริยาท่านเอะอะตึงตัง แต่ใจท่านสงบประณีต
หรือครูบาอาจารย์บางองค์ท่านแก่มาก มือไม้สั่น เวลาตักอาหารหกเรี่ยราดเลย เราจะบอกนี่ไม่สำรวม ไม่ได้ ใจของท่านสะอาด แต่ทางร่างกายท่านสกปรก เพราะว่ามือไม้ท่านสั่น แก่มาก อายุเยอะ อันนั้นเป็นเรื่องของขันธ์แล้ว ทางร่างกายก็เปรอะเปื้อนโน่นนี่ แต่ใจท่านสะอาด ค่อยๆ ฝึก ถ้าใจเราสะอาดพอ เราก็จะเข้าใจคนที่เขาสะอาดพอ หรือถ้าใจเราสะอาดระดับหนึ่ง เราเห็นของปลอม เราก็รู้เลยว่าปลอม ฝึกที่ตัวเราเอง แล้วเราจะรู้ด้วยตัวเราเอง ไม่ต้องเชื่อใครทั้งสิ้น
วัดสวนสันติธรรม
4 พฤษภาคม 2567