เมื่อก่อนเข้าไปหาครูบาอาจารย์ เรียนกับท่าน แล้วรู้สึกว่าขี้เกียจไม่ได้ เพราะครูบาอาจารย์แต่ละองค์ๆ อายุเยอะทั้งนั้นเลย ไม่รู้ว่าเราจะมีโอกาสเรียนกับท่านสักกี่ครั้ง เรียนอะไรมาไม่เคยหยุดภาวนา ตั้งอกตั้งใจทำ สิ่งที่เรียนจากครูบาอาจารย์ มันไม่ได้มากมายอะไร มันจะเป็นหัวใจของการปฏิบัติจริงๆ เลย การภาวนามันมี 2 ส่วน ส่วนของสมถกรรมฐาน ทำให้จิตสงบกับทำให้จิตตั้งมั่น ส่วนของวิปัสสนากรรมฐาน พาจิตมันเรียนรู้ความจริงของรูปนามกายใจ ก็มีอยู่เท่านี้เอง
หลวงพ่อเข้าไปหาหลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่อมีสมาธิอยู่แล้ว ฝึกมาแต่เด็ก จิตมันเป็นผู้รู้ หลวงปู่ก็เลยให้หลวงพ่อเดินปัญญา ให้ดูจิตไปเลย เราอย่านึกว่าลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ทุกท่าน ทุกองค์ ทุกคน ดูจิต ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ดูจิต เพราะหลวงปู่ให้ดูกาย ส่วนใหญ่ บางคนก็เริ่มจากพุทโธ ให้พุทโธไป จนเห็นว่าพุทโธมันของถูกรู้ จิตมันเป็นผู้ว่าพุทโธ นี่พุทโธแบบหลวงปู่ดูลย์ พุทโธถูกรู้ ก็ได้จิตผู้รู้ขึ้นมา บางคนท่านก็ให้ดูผม บางคนท่านก็ให้ดูกระดูก ดูผมไปเรื่อยๆ แล้วก็เห็นผมมันไม่ใช่เรา มันเป็นของถูกรู้ถูกดู จิตมันเป็นคนเห็นผม ดูกระดูกก็เห็นกระดูกมันก็ถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่เรา จิตเป็นคนรู้คนดู จิตก็ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา
แต่คนที่ดูจนกระทั่งจิตมันดีดออกมาเป็นผู้รู้ ก็มีส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็กลายเป็นสมถะชนิดสงบไปเฉยๆ เกิดนิมิตพิสดารอะไรต่ออะไร เล่นกันสนุกเชียวตอนนั้น หลวงพ่อไม่เล่นด้วย เล่นไม่เป็น เขาเล่นอิทธิปาฏิหาริย์กัน หลวงปู่ก็ห้ามแล้วห้ามอีก ไปเล่นโดยที่พื้นฐานไม่แข็งแรง มีสมาธิเล็กๆ น้อยๆ อุปจารสมาธิมันเล่นได้แล้ว เล่นแล้วมันเลิกไม่ได้ เล่นง่าย เลิกยาก หลวงพ่อไม่เอาเลยของพวกนั้น ตั้งอกตั้งใจอ่านจิตอ่านใจตัวเองไป
พัฒนาให้มีจิตผู้รู้ขึ้นมาเพื่อใช้งาน
พอหลวงปู่ให้ดูจิตก็เลยดู ดูไปดูมาแล้วก็จับหลักได้ ในขณะที่เราดูจิต จิตเราต้องตั้งมั่น แล้วเห็นอะไร เห็นความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายที่เกิดขึ้น อันนี้เป็นสิ่งที่เกิดร่วมกับจิตเสมอ เรียกว่าเจตสิก จิตนั้นไม่เกิดเดี่ยวๆ ไม่เกิดตามลำพัง จิตต้องมีอารมณ์ แล้วตัวจิตเองเวลาเกิดขึ้น จะต้องเกิดร่วมกับเจตสิก คือองค์ธรรมบางอย่าง จิตโดยตัวของมันไม่มีดี ไม่มีเลว จิตมันดีเพราะมีองค์ธรรมอย่างอื่น ที่เป็นฝ่ายดีมาเกิดร่วมด้วย จิตมันไม่เลว แต่ที่มันเลวขึ้นมา เพราะมันมีองค์ธรรมฝ่ายเลว โลภ โกรธ หลงอะไรเกิดขึ้น แล้วมันมาครอบงำจิตได้ จิตโดยตัวของมันว่าง ค่อยๆ ดู ค่อยๆ สังเกต
แล้วจิตนี้เกิดดับ เราเห็นจิตเกิดดับผ่านเจตสิก คือเห็นว่าจิตที่มีความสุขเกิดแล้วก็ดับ จิตที่มีความทุกข์เกิดแล้วก็ดับ จิตที่เป็นกุศลเกิดแล้วก็ดับ จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ จิตทุกอย่างเกิดแล้วดับ หลวงพ่อหัดทีแรกก็หัดดูอย่างนี้ เห็นจิตมันเกิดดับ ตอนนั้นมันยังเข้าไม่ถึงตัวจิตจริงๆ เพราะตัวจิตจริงๆ เดี่ยวๆ ไร้รูปลักษณ์ ไร้ร่องรอย เราก็ต้องดูความเกิดดับของมัน ผ่านเจตสิกที่เกิดร่วมกับมัน อย่างความโกรธ มันก็เกิดร่วมกับจิตโกรธ พอความโกรธดับ จิตที่โกรธก็ดับ จิตกับเจตสิกเป็นองค์ธรรมที่เกิดร่วมกัน เกิดพร้อมกันแล้วก็ดับพร้อมกัน
ถ้าเราภาวนายังไม่ละเอียดพอ เราก็เห็นว่าความโกรธเกิดขึ้น จิตเป็นคนรู้ ความโกรธดับไป จิตยังอยู่ ตรงนี้ไม่เห็นหรอกว่าจิตมันดับไปแล้ว จิตโกรธดับไปแล้ว เลยคิดว่าจิตมีดวงเดียว ตรงนี้ต้องภาวนาอีก จนเราเห็นจิตมันเกิดดับได้ มันเกิดดับร่วมกับเจตสิกนั่นล่ะ จิตสุขก็เกิดร่วมกับความสุข ความสุขดับ จิตสุขก็ดับ ก็เกิดจิตอีกดวงหนึ่งที่ไม่ได้สุข จิตทุกข์เกิดขึ้น ก็เกิดร่วมกับความทุกข์ พอเราภาวนาเราเห็นความทุกข์ดับไป จิตที่ทุกข์ก็ดับไป พอความทุกข์ดับ จิตทุกข์ก็ไม่มีแล้ว มีไม่ได้
ฉะนั้นจิตกับองค์ธรรมที่เกิดร่วมกับจิตที่เรียกว่าเจตสิกนั้น เกิดด้วยกันแล้วก็ดับด้วยกัน แล้วก็ทำงานด้วยกัน มันรู้อารมณ์อันเดียวกัน อย่างจิตโกรธ มันไปรู้อะไร มันไปรู้สิ่งที่ทำให้โกรธ คนที่ทำให้โกรธ ความโกรธเกิดขึ้น ความโกรธก็เพ่งเล็งลงไป สิ่งที่ทำให้โกรธ คนที่ทำให้โกรธ เพราะฉะนั้นตัวเจตสิกกับจิตมีอารมณ์อันเดียวกัน มีอารมณ์อันเดียวกัน เกิดร่วมกัน ทำงานร่วมกัน แล้วก็ดับร่วมกัน พร้อมๆ กัน หัดทีแรกก็ยังไม่เห็นตรงนี้ ที่หลวงพ่อหัดดู หลวงพ่อก็เห็นว่า ความโกรธมันมาแล้วก็ดับ จิตมันเป็นคนดูอยู่ ความโลภ ความหลง ความทุกข์ ความสุข ความกังวลใจ เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับเกิดแล้วดับไปเรื่อย
ทีแรกก็คิดว่าจิตมีดวงเดียว แล้วต่อมาค่อยสังเกต จิตโกรธมันก็มีลักษณะอย่างหนึ่ง จิตโลภ จิตหลง มันก็ไม่เหมือนกัน มันเป็นคนละตัวกัน มันเกิดพร้อมกับเจตสิก แล้วก็ดับไปด้วยกัน อย่างถ้าเรามีสติ เราโกรธใครสักคนอยู่ ขณะนั้นจิตเราเป็นจิตโกรธ พอสติระลึกได้ว่าตอนนี้ความโกรธกำลังมีอยู่ ความโกรธจะดับทันที ทันทีที่ความโกรธดับไป ในขณะนั้นจิตโกรธก็ดับ แล้วก็เกิดจิตที่ตั้งมั่นขึ้นมาแทน ฉะนั้นจิตที่โกรธกับจิตที่ตั้งมั่น มันคนละดวงกัน จิตที่รักกับจิตที่ตั้งมั่น มันคนละดวงกัน
เราต้องมีจิตที่ตั้งมั่น เราถึงจะเดินปัญญาได้ เห็นจิตเกิดดับได้จริงๆ เพราะจิตตั้งมั่นมันจะมาแทรกคั่นระหว่างจิตทั้งหลาย อย่างจิตสุขเกิดขึ้น จิตตั้งมั่นเป็นคนดู ถ้าจิตสุขตัวนั้นเกิดร่วมกับราคะ จิตสุขตัวนั้นดับทันทีที่สติระลึก พอสติรู้ราคะเมื่อไร ราคะดับ ความสุขที่เกิดจากราคะก็ดับพร้อมๆ กันหมดเลย จิตที่มีราคะก็ดับในขณะนั้นเลย เกิดเป็นจิตผู้รู้ขึ้นมา หรือเวลามีความโกรธเกิดขึ้น สติระลึกรู้ว่า เอ๊ย จิตโกรธแล้ว มันเห็นว่าความโกรธก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง ทันทีที่สติเกิด ความโกรธจะดับทันที ทันทีที่ความโกรธดับ จิตโกรธก็ดับไปด้วย เกิดเป็นจิตผู้รู้ขึ้นมาแทน
ความสำคัญของการที่เราต้องฝึกจนมีจิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มันจะมาคั่นระหว่างจิตที่ปรุงแต่ง ตัวชนิดต่างๆ ทั้งสุข ทั้งทุกข์ ทั้งดีและชั่ว เรามีสติระลึกรู้ไป เราก็จะรู้ว่าจิตทุกอย่างเกิดแล้วดับ แล้วทันทีที่จิตทั้งหลายเกิดแล้วดับ เรารู้อย่างนั้น จิตรู้มันจะเกิดแทรกขึ้นมา ขึ้นมาแทนที่จิตหลง จิตหลงรัก จิตหลงโกรธ จิตโลภ จิตหลงโลภ จิตหลงโกรธ จิตหลงความสุข จิตหลงความทุกข์ ที่จริงหลงทั้งนั้นเลย พอสติระลึกปุ๊บ จิตที่หลงสุข หลงทุกข์ หลงดี หลงชั่วก็ดับทันทีเลย จิตรู้ก็เกิดขึ้นมาแทน ตั้งมั่น
พอหลวงพ่อมาภาวนา ไม่กี่วัน หลวงปู่บอกให้ดูจิตตัวเอง ดูไปเรื่อย ก็สามารถแยกจิตกับเจตสิกออกจากกันได้ แล้วก็เลย โอ้ ต้องให้จิตมันเป็นผู้รู้ตลอดกระมังถึงจะเรียกว่าดูจิต ไม่อย่างนั้นมันดูจิตและเจตสิก ไม่ใช่ดูจิตเฉยๆ ก็เลยพยายามดูจิตเฉยๆ ดูแล้วว่างๆ นิ่ง ว่าง ฝึกอยู่ 3 เดือนไปส่งการบ้าน ไปบอกหลวงปู่ “หลวงปู่ครับ ผมดูจิตเป็นแล้ว” หลวงปู่ถาม “จิตมันเป็นอย่างไร” บอก “โอ๊ย จิตมันวิจิตรพิสดาร มันชอบคิดนึกปรุงแต่ง แต่ผมรู้ทันเลย ผมวางความปรุงแต่ง จิตผมเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ทรงตัวอยู่อย่างนี้ เป็นผู้รู้อยู่” หลวงปู่บอก “ทำผิดแล้ว”
เพราะฉะนั้นถึงตัวผู้รู้เราก็ไม่รักษา แต่มันต้องพัฒนาให้มีขึ้นมาเพื่อใช้งาน เราก็จะเห็นว่าตัวผู้รู้เองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ อย่างจิตเราโกรธ พอเรารู้ว่าโกรธ จิตโกรธดับ จิตผู้รู้เกิด มีอารมณ์มากระทบทางหู มีเสียงเพลงเพราะๆ จิตเกิดราคะขึ้น สติระลึกรู้ จิตที่มีราคะก็ดับ จิตที่รู้ก็เกิด จิตรู้มันจะคั่นจิตที่หลง นานาชนิด มันจะมีตัวรู้แทรกๆๆๆ เข้ามา แล้วมันก็จะทำให้เราเห็นว่า จิตมีราคะอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ จิตมีโทสะ จิตมีโมหะ จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ จิตสุข จิตทุกข์ อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ
เราจะเห็นอย่างนี้ แล้วเราก็เห็นลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง จิตผู้รู้เองก็เกิดดับ เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้หลงไปดูรูป เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็หลงไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปคิดนึกทางใจ เห็นมันเกิดดับอยู่ทางทวารทั้ง 6 พอมันกระทบอารมณ์ทางทวารทั้ง 6 แล้ว มันก็จะเกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศลอกุศลขึ้นมา
ค่อยๆ มีสติตามรู้จิตของตัวเองไปเรื่อยๆ ทีแรกเราก็สามารถแยกจิตกับเจตสิกออก เราก็เห็นจิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว ล้วนแต่เกิดแล้วดับทั้งสิ้น พอสติเราเข้มแข็ง เราก็เห็นจิตผู้รู้ก็เกิดดับ เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้อยู่เฉยๆ เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ที่มีความสุข ผู้รู้มีอารมณ์ มีความรู้สึก มีเวทนา เกิดร่วมกับจิตผู้รู้ 2 ชนิด คือโสมนัสเวทนา คือความสุข กับอุเบกขา เพราะฉะนั้นบางทีเราฝึกมา จิตเราเป็นผู้รู้ บางทีเป็นผู้รู้เฉยๆ มีอุเบกขา บางทีก็มีความสุขแทรกขึ้นมาพร้อมๆ กัน
ฉะนั้นตัวจิตผู้รู้นี้ มันยังมีเวทนาได้ 2 อย่าง ถ้าสติเราเร็ว เราก็จะเห็น จิตผู้รู้ก็เกิดดับ จิตผู้รู้ที่มีความสุขเกิดแล้วก็ดับ จิตผู้รู้ที่เป็นอุเบกขาเกิดแล้วก็ดับ อันนี้ก็อาศัยเจตสิกอีกล่ะดูเกิดดับ ฟังทีแรกก็เหมือนยาก ลงมือทำไปเลย มีสติคอยอ่านใจตัวเองไปเรื่อยๆ จิตใจเรามีความสุข เราก็รู้ พอเรารู้ได้เรื่อยๆ ต่อไปเราก็เห็นความสุขกับจิต เป็นคนละอันกัน แต่เกิดด้วยกัน ดับไปด้วยกัน ค่อยๆ ดู ค่อยเรียนไป ความทุกข์เกิดขึ้น เราก็เห็นความทุกข์กับจิตเป็นคนละอันกัน กุศลเกิดขึ้น อกุศล โลภ โกรธ หลงเกิดขึ้น เราก็เห็นทั้งกุศล ทั้งอกุศล ก็เป็นคนละอันกับจิต จิตเป็นคนรู้ จิตเป็นผู้รู้ ส่วนความสุขความทุกข์อะไรนั้น เป็นสิ่งที่เกิดแทรกเข้ามา มาเกิดด้วยกัน จิตของเราแทนที่จะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ก็เลยกลายเป็นผู้หลง หลงไปกับความสุข หลงไปกับความทุกข์ หลงไปกับความดี หลงไปกับความชั่ว
หลงที่ดูยากสำหรับคนดีคือหลงดี หลงที่ดูยากสำหรับคนชั่วก็คือความชั่ว ฉะนั้นคนชั่วกิเลสมันเยอะ มันบอกว่ามันไม่มีกิเลสหรอก เพราะมันมองไม่ออก ถ้าเราเป็นคนดีมีศีลมีธรรม จิตเราชั่วนิดหนึ่งเราเห็นเลย พอจิตเราเป็นคนดีขึ้นมา มีความสุข มีความอิ่มเอิบเบิกบาน มีเมตตากรุณา แล้วเราก็เพลินอยู่กับความสุข ดูยาก พวกคนดีดูให้เห็นว่าเราติดดีอยู่ดูยาก พวกคนชั่วไม่ต้องพูดถึง มันติดชั่วอยู่ มันยังไม่เห็นเลย มันไม่มีดีจะติด พวกเข้าวัดเข้าวา ถือศีล ฟังธรรม ทำบุญ ทำทาน เป็นคนดี จิตใจมีความสุข อิ่มเอิบ เบิกบาน จะให้เห็นว่ากำลังติดในความดี ติดในความสุขจากบุญกุศล ดูยาก ไม่อยากดู กลัวมันดับ อยากมีความสุขอยู่อย่างนั้น
แล้วก็ได้ในสิ่งที่อยาก เพราะว่าทำความดี ก็ได้ไปเป็นเทวดา ได้ไปเป็นพรหม มีความสุขยืดเยื้อยาวนาน ไม่ไปนิพพาน เพราะจิตยังหลงอยู่ เวลาใจเราสบายๆ เรารู้สึกว่าตรงนี้ไม่มีกิเลส ใจเราสบาย เบา รู้ตื่น เบิกบาน จิตเราเป็นผู้รู้ เลยคิดว่านี้ไม่มีกิเลส ถ้าเอาเข้าจริงไม่ใช่ ขณะนั้นเรากำลังยินดีพอใจที่จิตเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ยินดีพอใจ ติดอกติดใจ วันไหนผู้รู้ดับ ทุรนทุราย รีบภาวนาใหญ่ ให้กลับมาเป็นผู้รู้ พวกที่ติดดีมองไม่ออก ถ้าเราภาวนาเรื่อยๆ เราก็เห็นจิตเป็นกุศล รู้ว่าเป็นกุศล จิตติดในกุศล รู้ว่าติดในกุศล นี้อีกระดับหนึ่งเลย
จิตยินดีให้รู้ทัน จิตยินร้ายให้รู้ทัน
ทีแรกรู้สภาวะที่มีที่เป็น จิตโลภก็รู้ จิตโกรธก็รู้ จิตหลงก็รู้ จิตสุข จิตทุกข์ก็รู้ พอภาวนาละเอียดขึ้นไป เราเห็นลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง จิตโกรธเกิดขึ้น เราไม่ชอบ อยากดับ อยากละ รู้ว่าไม่ชอบ จิตมีราคะเกิดขึ้น เรารู้ เราไม่ชอบ อยากละ รู้ว่าอยาก หรือจิตมีราคะเกิดขึ้น แหม มันมีความสุข มีความสุข เพลิน เรียกนันทิราคะ มีความสุขแล้วก็เพลินๆ เรามีสติรู้ขึ้นมาอีก ว่าจิตกำลังเผลอเพลินอยู่กับความสุข จิตก็จะพัฒนาขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ไม่ติดในความสุขแล้ว ไม่เผลอเพลินในความสุข
สำหรับพวกเราภาวนา ความทุกข์มันดูง่ายกว่าความสุข กุศล – อกุศล อกุศลดูง่ายกว่ากุศล เพราะฉะนั้นเวลาติด เราติดของดูยาก อย่างเราติดความสุข ไม่มีใครมันติดความทุกข์หรอก มันมีแต่ติดความสุข แต่จิตมันไปติดความทุกข์ นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง จิตมันจมอยู่กับความทุกข์ แต่ถ้าเรารู้ทันปุ๊บ จิตไม่ชอบความทุกข์ ให้รู้ตรงที่ไม่ชอบ ความไม่ชอบดับ จิตจะดีดตัวออกมาเป็นผู้รู้ ความทุกข์ก็จะกระเด็นออกไป แต่พอมีความสุข มีราคะเกิดขึ้น มีความสุขเกิดขึ้น มันเพลิน ให้ดูแล้วเสียดาย กลัวมันหายไป กลัวมันดับ
ลองไปภาวนา แล้วเราลองสังเกตดู เรายังมีความรักใคร่อาลัยอาวรณ์ เสียดายสภาวะบางอย่างหรือเปล่า อย่างบางคนภาวนาจิตรวมลงไป แล้วออกรู้ออกเห็นอะไรเยอะแยะเลย ครูบาอาจารย์บอกไม่ดี จิตฟุ้งซ่าน จิตออกนอก ให้เลิกเสีย ไม่มีใครยอมเลิกง่ายๆ หรอก เพราะอะไร เพราะมันรู้สึกสนุก มันรู้สึกพึงพอใจ แต่ถ้าเราเห็นว่า เรามีหูทิพย์ตาทิพย์ขึ้นมา จิตเราหลงยินดีพอใจ เรารู้ทันจิตที่ยินดีพอใจปุ๊บ ความยินดีพอใจดับ จิตก็ไม่ติดแล้ว แต่ยาก เห็นไหมละของชั่วง่าย ละของดีสำหรับคนดียาก นั่งสมาธิจิตสงบ มีความสุข มีความสงบ มีอุเบกขา นิ่ง สบาย ว่างๆ ตื่น เบิกบาน ให้บอกว่านี่จิตมันชอบเห็นไหม จิตมันชอบในรสของสมาธิ เห็นไหม ไม่เห็น มองยาก สิ่งเหล่านี้ก็ต้องอาศัยการฝึกปรือ
ค่อยๆ หัดดูสภาวะทั้งหลายไป สภาวะโลภ โกรธ หลง เกิดขึ้น รู้ทัน เห็นว่ามันเป็นของถูกรู้ ไม่ใช่จิตหรอก สภาวะสุขทุกข์เกิดขึ้น รู้ทัน เห็นว่าสุขทุกข์ก็ไม่ใช่จิตหรอก ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ค่อยๆ ฝึกไป แล้วต่อไปเราก็จะเห็นได้ประณีตขึ้น เวลาจิตเราได้รับอารมณ์ที่ไม่พอใจ จิตจะผลักอารมณ์ทิ้ง ปฏิเสธ อันนี้โทสะมันแทรกแล้ว เวลาจิตมันเจออารมณ์ที่ชอบใจ อย่างมันสงบ มันมีความสุข มันไม่ยุ่งอะไรกับใคร สบาย พอเราเห็น โอ้ จิตมันชอบ จิตมันติด พอเห็นตรงนี้จิตไม่ติด จิตกับความสุขก็แยกส่วนกัน ถ้าความสุขอันนั้นเกิดจากฌานสมาบัติ ฌานสมาบัติก็ไม่ได้เสื่อม แต่จิตไม่ติด มีดีแต่จิตไม่ติดดี ไม่ใช่ว่าเห็นดีๆ แล้วก็พอไปดูแล้วดับหมดเลย กลายเป็นชั่ว ไม่ใช่
แต่ถ้าจิตเราชั่ว เรารู้เท่าทันจิตเรากำลังถูกความชั่วครอบงำ กำลังหลงตามความชั่ว เรารู้เท่าทันจิตตัวนี้ จิตก็ไม่ถูกความชั่วครอบงำ ความชั่วจะกระเด็นหายไปฉับพลัน ไม่ต้องไปไล่มัน ไม่ต้องละ เพราะฉะนั้นในหลักของการหัดดูจิตดูใจ จะบอกให้เลย ซื่อๆ ตรงๆ ก็คือไม่ได้ฝึกเพื่อจะละกิเลสหรอก ฝึกให้มีสติรู้ทัน อันแรกรู้ทันกิเลส อันที่สองรู้ทันจิต จิตยินดีพอใจหรือจิตไม่พอใจกับกิเลส รู้ทันเข้าไป เมื่อจิตเป็นกลางปุ๊บ ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา กิเลสทั้งหลาย ความวิเศษวิโสทั้งหลาย กระเด็นหายไปเอง ไม่ต้องทำอะไร
เพราะฉะนั้นถ้าเราเจริญสติเป็น เราไม่ต้องละกิเลส เพราะจะไม่มีกิเลสให้ละ กิเลสมีอยู่ สติระลึกรู้ปั๊บ กิเลสดับแล้ว ไม่ทันจะละเลย ค่อยๆ สังเกต แต่ถ้าสมมติเรากลุ้มใจ เราก็ไปนั่งดูเมื่อไรจะหายกลุ้ม เมื่อไรจะหายกลุ้ม อันนี้ไม่มีสติ จิตก็ไม่ตั้งมั่น ถ้ากลุ้มใจแล้วเรามีสติรู้ ว่าความกลุ้มใจเป็นส่วนหนึ่ง จิตเป็นส่วนหนึ่ง แล้วจิตเป็นตั้งมั่นขึ้นมา เป็นแค่คนเห็นความกลุ้มใจ ความกลุ้มใจมันเจือด้วยอกุศลทั้งหลาย เจือด้วยโทสะทั้งหลาย มันจะดับทันทีเลย เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องละความกลุ้มใจ ไม่มีใครละได้หรอก
เวลากลุ้มใจขึ้นมา หาทางละ บางทีก็ไปดูหนังฟังเพลง ไปหาของอร่อยกิน ไปคุยกับเพื่อน ไปเล่นกับหมา เล่นกับแมว หาอะไรเพลินๆ อันนั้นเป็นการหนีไปหาผัสสะอันใหม่ เพื่อจะลืมผัสสะอันเก่า แล้วจะได้หายกลุ้มใจ แต่ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติ กลุ้มใจ เราให้เห็นเลย ตอนนี้กลุ้มใจ เห็นลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง ใจไม่ชอบ รู้ตรงที่ใจชอบ ใจไม่ชอบ ตัวนี้สำคัญ ถ้าเราดูจิตดูใจ แล้วเราดูทะลุเข้ามา จนถึงตัวชอบตัวไม่ชอบได้ ตัวชอบตัวไม่ชอบมันจะดับ
ฉะนั้นเราภาวนา ทีแรกรู้สภาวะ ต่อไปตัวสภาวะอย่างสุขทุกข์ ดีชั่ว เรารู้ ต่อไปเราก็รู้ปฏิกิริยาของจิตต่อสภาวะอันนั้น มันชอบมันไม่ชอบสภาวะอันนั้น มันยินดีมันยินร้ายต่อสภาวะอันนั้น รู้ตรงนี้เข้าไปอีก จิตก็จะเป็นกลาง คราวนี้สภาวะทั้งหลายแล้วก็จิตก็จะแสดงธรรมะให้เราดูเอง ไม่ต้องดิ้นรนเลย เรียนธรรมะไม่ต้องคิดมาก คิดอย่างไรก็คิดไม่รู้เรื่องหรอก ต้องเห็นของจริงเอา
เพราะฉะนั้นพยายามมีสติ จิตใจเราสุข รู้ทัน จิตใจเราทุกข์ รู้ทัน จิตเป็นบุญเป็นกุศล รู้ทัน จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง รู้ทัน ทีแรกก็รู้ได้แค่นี้ ก็ยังดี ก็จะเห็นว่าสุขทุกข์ดีชั่วกับจิต เป็นคนละอันกัน สังเกตต่อไป พอจิตสุขเกิดขึ้น เรายินดีพอใจ ให้รู้ทันความยินดีพอใจ ความยินดีพอใจจะดับ จิตจะเป็นกลาง แล้วมันก็จะเห็น ความสุขอะไรเอาเป็นที่พึ่งอะไรไม่ได้หรอก เป็นของข้างนอก เป็นของภายนอก เกิดแล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับไป
สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นดับ ไม่ละเว้นกระทั่งจิตผู้รู้
ความทุกข์เกิดขึ้น เราก็รู้ทัน จิตไม่ชอบ เห็นความไม่ชอบของจิต ความไม่ชอบก็จะดับไป แล้วจิตมันก็จะเห็นสภาวะเหล่านั้น จริงๆ มันก็มีอยู่ประจำโลกของมัน กิเลสมันก็กิเลสของเก่าประจำโลกนั่นล่ะ ไม่เคยหมดโลกเลย แต่เราเองเสียท่าโดนมันครอบ นี้พอจิตเราตั้งมั่นขึ้นมา เราเห็นมันแยกออกไป ไม่ครอบ แล้วใจเรายังยินดียินร้าย ใจยินดียินร้ายก็คือใจไม่ปล่อยวาง ถ้าใจยังไม่ปล่อยวาง ใจก็ไม่พ้นทุกข์ เพราะฉะนั้นถ้าเราเห็นใจยินดี ใจยินร้ายปุ๊บ รู้ทัน หมดความยินดียินร้าย มันก็ปล่อยวาง
พอปล่อยวางแล้ว สุขทุกข์ดีชั่วเป็นของประจำโลก มาแล้วก็ไป ไม่เห็นเกี่ยวอะไรกับเราเลย เหมือนลมพัด พัดมาแล้วก็พัดไป ไม่เห็นเกี่ยวอะไรกับเราเลย ค่อยๆ ฝึก จิตมันจะเป็นอิสระมากขึ้นๆ ไม่ถูกครอบงำด้วยความสุขหรือความทุกข์ ไม่ถูกครอบงำด้วยความดีหรือความชั่ว พวกเราต้องระวังเรื่องติดดี บางคนได้ยินว่าอย่าติดดีก็เลยคิดว่าชั่วก็ได้ ไม่ใช่หรอก กระทั่งดียังไม่ติดมันจะไปติดชั่วได้อย่างไร ฉะนั้นคอยรู้ทันจิตตนเอง จิตยินดีให้รู้ทัน จิตยินร้ายให้รู้ทัน
การเจริญสติปัฏฐาน ทีแรกก็ให้เรามีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ จะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ได้ เอาที่เราถนัด ใช้กายหรือใช้เวทนา หรือใช้สังขาร กุศล อกุศล หรือใช้จิตที่เกิดดับทางอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ได้ แล้วเฝ้ารู้เฝ้าดูลงไปให้เห็น สภาวะทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปเนืองๆ แต่ช่วงแรกอินทรีย์ยังไม่แก่กล้า พอสภาวะที่ดีที่สุขเกิดขึ้น ก็หลงยินดี ให้รู้ทันความยินดีก็ดับ จิตก็เป็นกลาง เวลาสภาวะทุกข์เกิดขึ้น ความชั่วเกิดขึ้น จิตของเรานักปฏิบัติ เราไม่ชอบ จิตยินร้าย จิตไม่ชอบ ให้รู้ตรงที่ไม่ชอบนี้ ตัวสุขทุกข์ดีชั่วเป็นอดีตไปแล้ว ตัวไม่ชอบเป็นปัจจุบัน
เวลาภาวนา คำว่า “ปัจจุบัน” มันประณีตมาก ปัจจุบันไม่ใช่ว่าอยู่ในนาฬิกาตั้งตรงเป๊ะ เที่ยงตรงอะไรอย่างนี้เป็นปัจจุบัน ไม่ใช่ สภาวะปัจจุบันที่กำลังมีกำลังเป็น ถ้าหยาบๆ หน่อย ตาเห็นรูป ตาไปเห็นรูป รูปเป็นอะไร รูปเป็นอารมณ์ที่รู้ด้วยตา พอตาเห็นรูปแล้ว แปลความหมายได้ ผู้หญิงสวย ใจเราเกิดราคะ เรามีสติรู้ราคะที่เกิดขึ้น นี่ประณีตมากขึ้นแล้ว ผู้หญิงเป็นของข้างนอก ราคะเป็นของข้างใน ทีแรกเราเห็นผู้หญิง ผู้หญิงเป็นอารมณ์มายั่วจิตใจ จิตใจเกิดปฏิกิริยา เกิดราคะขึ้น เรารู้ทันว่าจิตมีราคะ
ถ้าภาวนาได้ละเอียดยิ่งกว่านี้ เราก็จะเห็นว่า ตอนที่ราคะเกิดขึ้น จิตเราไม่ชอบราคะแล้ว นี่รู้ลงมา ลึกลงมาอีกชั้นหนึ่ง รู้เข้าไปถึงจิตถึงใจ ระดับลึกอีกชั้นหนึ่ง คือความยินดียินร้าย เพราะฉะนั้นตัวผู้หญิงนั้น ที่เราไปดูทีแรก เป็นอารมณ์ที่ตาไปเห็นเข้า พอเกิดราคะ ผู้หญิงนั้นเป็นอดีต ราคะเป็นปัจจุบัน รู้ด้วยใจ ราคะเป็นธรรมารมณ์ เป็นอารมณ์ตัวใหม่แล้ว นึกออกไหม ทีแรกเราเห็นผู้หญิง ผู้หญิงเป็นอารมณ์ที่เรารู้ด้วยใจ ต่อมาพอเกิดราคะ เราลืมผู้หญิงนั้นแล้ว เราภาวนาแล้วเห็นราคะเกิดขึ้น ราคะเป็นธรรมารมณ์คือเป็นสิ่งที่รู้ด้วยใจ เกิดที่ใจเรา ดูตรงนี้ เรียกว่าเราเข้าใกล้จิตใจของเรามากขึ้นแล้ว
แล้วพอเราภาวนา เราเห็นจิตมีราคะ อุ๊ย เราไม่ชอบ เกิดปฏิกิริยาซ้อนเข้ามาในจิตเรา ตัวราคะที่มีอยู่เป็นอดีตไปแล้ว ตัวไม่ชอบเป็นปัจจุบัน เราก็รู้ทันจิตที่ไม่ชอบ เห็นไหมแค่ตาเห็นผู้หญิง ผู้หญิงเป็นอารมณ์ตัวแรก เกิดปฏิกิริยา เกิดราคะ สติรู้ราคะ ราคะเป็นอารมณ์ตัวที่ 2 แล้วก็จิตมันเห็นราคะแล้วมันไม่ชอบ ไม่ชอบเป็นอารมณ์ตัวที่ 3 มันจะเข้าใกล้จิตเรามากขึ้นๆๆ ถ้าภาวนา ไม่ใช่เห็นไม่ชอบ ดูออกไปข้างนอก ดูทะลุออกไปที่รูป เสียง กลิ่น รส ข้างนอก อันนั้นกลับหัวกลับหางแล้ว ใช้ไม่ได้หรอก
อารมณ์ สังเกตดู ตา หู จมูก ลิ้น กาย กระทบอารมณ์ เกิดอารมณ์ใหม่ขึ้นที่ใจเรา เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศลอกุศล นี้เป็นอารมณ์ใหม่ เราก็ดูอารมณ์ใหม่ อารมณ์ปัจจุบัน พอเราเห็นอารมณ์ใหม่แล้ว จิตเกิดปฏิกิริยาอีกแล้ว เกิดชอบ เกิดไม่ชอบ ตัวสุขทุกข์ดีชั่วเป็นอดีตไปแล้ว เป็นอตีตารมณ์ อารมณ์ในอดีต เช่นเดียวกับผู้หญิงคนนั้น เป็นอดีตไกลโพ้น ไกลไปแล้ว เราก็จะเห็นชอบไม่ชอบ เป็นอารมณ์ตัวใหม่ที่เกิดขึ้นกับจิต ดูลงไปปั๊บ มันขาดออกไป จิตเข้าสู่ความเป็นกลาง
พอจิตเป็นกลางคราวนี้ อะไรแปลกปลอมนิดหนึ่งก็จะเห็นแล้ว นี่คือความปรุงแต่งเกิดขึ้นแล้ว ก็จะเห็นความปรุงแต่งทั้งหลายไม่เที่ยง ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ความปรุงแต่งทั้งหลาย ไม่ว่าสุขทุกข์ดีชั่ว ก็ถูกบีบคั้นให้แตกสลายเหมือนๆ กัน ความปรุงแต่งทั้งหลายมาตามเหตุ ก็ไปตามเหตุ มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ เป็นอนัตตา ใจก็เห็นความจริงมากขึ้น ผู้หญิง เราเห็นเดินอยู่สวยๆ อยู่ริมถนน มันเที่ยงไหม รูปที่เราเห็นเที่ยงไหม แวบเดียวมันก็เดินไปที่อื่นแล้ว ตรงนี้กลายเป็นหมาขี้เรื้อนเดินมาแทน รูปสวยๆ นั้นไม่มีแล้ว เปลี่ยนไปแล้ว ใจที่ชอบผู้หญิงนั้น มองตามไป เอ้า ไปเจอเอาหมาขี้เรื้อนเข้ามาแทนที่ ราคะเปลี่ยนเป็นโทสะแล้ว อันนี้ก็ถือว่าภาวนาพอได้แล้ว
ถ้าละเอียดประณีตขึ้นไป เราจะเห็นความยินดียินร้าย ยินดีในอารมณ์ ยินร้ายในอารมณ์ที่กำลังมีกำลังเป็นอยู่ เราเห็นผู้หญิงสวย ใจเรายินดี รู้ทัน ราคะเกิด เราไม่ชอบ ใจเรายินร้าย รู้ทัน รู้ลงไปที่ยินดีที่ยินร้าย ถ้าภาวนา สติเราดี สมาธิเราพอ ตัดตรงมาดูที่ยินดียินร้ายเลย มันยินดียินร้ายทั้งวัน เฝ้ารู้ลงไป ความยินดียินร้ายดับ จิตจะดีดตัวขึ้นมา ตั้งมั่นเด่นดวง สงบ รู้ตื่นเบิกบานขึ้นมา แล้วก็ไม่รักษา เดี๋ยวมันก็ดับ สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นดับ ไม่ละเว้นกระทั่งจิตผู้รู้ แต่เราต้องมีจิตผู้รู้ เราถึงจะแยกสภาวะพวกนี้ได้ ถ้าเราไม่มีจิตผู้รู้ เรามีจิตผู้หลง เห็นผู้หญิงมาก็หลงตามเขาไป เห็นผู้หญิงไปแล้วหันมาอีกที เจอหมา เอ้า จิตตามหมาไปอีกแล้ว มันมีแต่ผู้หลง
เราภาวนาเพื่อลดละกิเลส
ฉะนั้นพยายามฝึก มีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่เสียก่อน กาย เวทนา จิต ธรรม อะไรก็ได้ที่เราถนัด มีเครื่องอยู่แล้ว มีสติอยู่ แล้วเราก็รู้ว่า เราปฏิบัติธรรมเพื่อสู้กิเลส ไม่ใช่เพื่อเอาดีอะไรหรอก ปฏิบัติธรรมที่เราทำอยู่นี้ มันจะสู้กิเลสหรือมันตามใจกิเลส ไปดูตัวนี้ด้วย ตัวนี้เรียกว่า อาตาปี มีกาเย กายานุปัสสี วิหะระติ ใช้กายในกายเป็นเครื่องอยู่ อาตาปี เป็นเครื่องอยู่เพื่อแผดเผากิเลส ทำให้กิเลสทนอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ภาวนาเพื่อสนองกิเลส ไปภาวนาแล้วเราสังเกตดู ที่เราภาวนานี้สนองกิเลสหรือคิดจะสู้กิเลส ส่วนใหญ่มันก็ภาวนาสนองกิเลส อยากดี อยากเป็นพระอริยะ ถ้าเป็นพระอริยะแล้วจะได้ดัง อริยะ อริแยะ เต็มไปหมดเลย
นี่ได้ข่าวว่ามีเด็กอะไร พูดธรรมะ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับศาสนาพุทธสักนิดหนึ่งเลย คนก็ยังหลง คนเราไม่มีภูมิคุ้มกันทางจิตใจเลย ใครเขาพูดอะไรก็เชื่อ มันเป็นมาตั้งแต่โบราณแล้ว นิสัยคน สมัยก่อนพวกผีบุญ เคยได้ยินไหม ผีกบฎ ผีบุญ อยุธยามีเยอะเลย บอกตัวเองเป็นพระศรีอาริย์มาเกิดแล้ว จะมากอบกู้ให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข ก็รวมพลเข้าไปทำสงครามแย่งบ้านแย่งเมือง คอนเซ็ปต์นี้มีมาตลอด ประเทศอื่นก็เป็น มันก็คล้ายพวกผีบุญ ก็หลอก อาศัยศรัทธาที่งมงาย ศรัทธาของคนที่ไม่รู้จักพระพุทธศาสนา เป็นเหยื่อ พวกนี้กลายเป็นเหยื่อ ก็เป็นเครื่องมือให้เขา ชาวพุทธจริงๆ ร่อแร่เต็มทีแล้ว
ที่พวกเรามาเรียน หลวงพ่อพอใจ ยินดีด้วยที่มาเรียนกรรมฐาน ฝึก เราภาวนาเพื่อลดละกิเลส ไม่ใช่เพื่อจะแบบเทวดาส่งมาเกิดอะไรอย่างนี้ ไร้สาระที่สุดเลย เกิดเป็นอะไร พญานาคอะไรอย่างนี้ เป็นพระอนาคามี อนาคามีบ้าอะไรมาเกิดในโลกมนุษย์ ไม่มีความรู้สักนิดหนึ่งสักจุดหนึ่ง เพี้ยนหมดเลย แล้วคนก็ โอ๊ย สาธุ สาธุ กราบไหว้ มีเงินมีทองทูนหัวให้ นี่เป็นความอ่อนแออย่างยิ่งของชาวพุทธ คือไม่ได้ศึกษาศาสนาพุทธ
เราศึกษาแล้วภาวนา การศึกษามี 2 อัน ศึกษาปริยัติ กับศึกษาปฏิบัติ ทั้ง 2 อันมีประโยชน์ ทีแรกก็ หลวงพ่อเริ่มจากปฏิบัติ แล้วก็ตันไม่รู้จะไปอย่างไร หลวงพ่อก็เลยอ่านพระไตรปิฎก อ่านอะไรอย่างนี้ เพื่อหาทางที่จะไปต่อ แล้วก็ไม่เจอ ไปเจอหลวงปู่ดูลย์ท่านสอน ต่อยอดการปฏิบัติให้ พอภาวนาพอรู้เรื่อง พอเข้าใจแล้ว กลับไปอ่านปริยัติ เออ ปริยัติเขาดีนะ หลายส่วนเลยดีมากๆ เลย อภิธรรมบางเรื่องดีมากๆ เลย โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับจิต อธิบายได้ละเอียดดี บางส่วนก็เป็นความคิดความเห็นของคนโบราณ ไม่ได้เป็นปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าหรอก อย่างเรื่องโลกแบน ไม่เกี่ยว พระพุทธเจ้าไม่มาสอนเรื่องโลกอะไรอย่างนั้นหรอก
ฉะนั้นเราภาวนาเพื่อลดละกิเลส มีความรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ อย่าหลง แล้วมีอะไรเกิดขึ้นในกาย มีสติรู้ทัน มีอะไรเกิดในจิต มีสติรู้ทัน ทีแรกก็รู้ได้ของหยาบๆ ก่อน ต่อมาก็รู้ได้ละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น จนเห็นปฏิกิริยาของจิตที่มันยินดียินร้าย เรียนไปจนจิตเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริง สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ สุขเกิด สุขดับ ทุกข์เกิด ทุกข์ดับ ดีเกิดดีก็ดับ ชั่วเกิด ชั่วก็ดับ จิตมันเห็นถึงขนาดนี้ จิตมันก็เข้าสู่ความเป็นกลาง ด้วยปัญญาอย่างยิ่ง คราวนี้ไม่ต้องรักษาจิต จิตเป็นกลางเอง ไม่ต้องไปนั่งดูยินดียินร้าย ไม่มีให้ดูแล้ว เพราะจิตไม่ยินดียินร้ายแล้ว
จุดตรงที่จิตเข้าสู่ความเป็นกลาง ด้วยปัญญาอันยิ่งที่เห็นไตรลักษณ์ เรียกว่าสังขารุเปกขาญาณ ตรงนี้มีรอยแยก มีทางแยก 3 ทาง ทางที่หนึ่ง ไปแล้วก็วกกลับ ทางที่สอง สำหรับพวกปรารถนาพุทธภูมิ ก็จะไปทรงอยู่ตรงนั้นก็ได้ แล้วก็เสื่อม แล้วก็ขึ้นมาอีก แล้วก็เสื่อม พวกที่ไม่ปรารถนาพุทธภูมิ ปรารถนาความหลุดพ้น พอมาถึงสังขารุเปกขาญาณ จิตก็จะเกิดอริยมรรค อริยผลต่อไป เป็นทางแยก
ค่อยฝึกนะ แล้วเราจะรู้เลยว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าอัศจรรย์อย่างยิ่ง รู้ได้ยากอย่างยิ่ง ประณีตอย่างยิ่ง ไม่ใช่เรื่องที่กิเลสหนาปัญญาหยาบจะรู้จะเข้าใจได้ ก็ต้องค่อยๆ เรียน ค่อยๆ สะสม หลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อกลับมาดูปริยัติด้วย ทดสอบ ตรงกันไหม แล้วก็เอาศัพท์ทางปริยัติมาใช้แทนศัพท์ ที่ครูบาอาจารย์รุ่นก่อนท่านใช้ ท่านใช้อัตโนมัติ แล้วสื่อภาษาไม่เป็นสากล หลวงพ่อก็แค่ว่า เอาภาษาที่เขาบัญญัติเป็นสากล เอามาใช้เท่านั้นเอง แต่เนื้อหาภายในอันเดียวกัน ระหว่างปริยัติกับปฏิบัติ เดินไป ไปบรรจบกันได้
สังเกตไหมใจเราทำงานตลอดเวลา ดูออกไหม ไม่ห้ามนะ มีสติตามรู้ตามเห็น ว่าจิตใจเราทำงานอยู่ตลอดเวลา ดูไปเรื่อยๆ
วัดสวนสันติธรรม
27 เมษายน 2567