วิมุตติเกิดเมื่อเห็นไตรลักษณ์มากพอ

การปฏิบัติต้องช่วยตัวเองให้มาก ครูบาอาจารย์สอนได้แต่วิธีการว่าจะปฏิบัติอย่างไร ถ้าครูบาอาจารย์รุ่นก่อนท่านสอนนิดเดียว ให้ไปทำอะไร ทำอันนี้แต่ละคน ครูบาอาจารย์บางองค์ก็สอนลูกศิษย์แต่ละคนไม่เหมือนกัน คนนี้ทำอย่างนี้ๆ อันนั้นหลวงปู่ดูลย์จะสอนอย่างนั้น เรียกว่าสอนธรรมะโดยแจกแจงธรรมะให้เหมาะกับแต่ละคน จะไม่ได้สอนแบบนั้นแล้ว ส่วนใหญ่ท่านเคยทำอย่างไร ท่านก็สอนอย่างนั้น จะให้พุทโธ ให้พิจารณากาย สอนคล้ายๆ กัน ครูบาอาจารย์แบบหลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่อไม่เคยเห็นองค์ที่สอง เมื่อก่อนหลายสิบปีก็วนเวียนเข้าหาครูบาอาจารย์หลายสิบองค์ ยุคก่อนครูบาอาจารย์มีมาก เดี๋ยวนี้แทบไม่มีเลย เรียนกับหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์ท่านจะพิจารณาว่าคนนี้เหมาะกับกรรมฐานอะไร ท่านก็สอนตามจริตนิสัย ตามต้นทุนเดิมของแต่ละคน

อย่างบางองค์หลวงปู่ดูลย์สอน บอกให้พิจารณาผมเส้นเดียว ไปนั่งสมาธิอย่างโน้นอย่างนี้ไม่สำเร็จ ท่านบอกให้ไปพิจารณาผมเส้นเดียว อันนี้สอนครูบาอาจารย์องค์หนึ่งชื่อหลวงพ่อคืน หลวงพ่อคืนบอกได้ยินคำสอนแล้วก็เสียใจ หลวงปู่ดูลย์สอนคนอื่นให้ทำอย่างโน้นทำอย่างนี้เยอะแยะเลย ของท่านให้ดูผมเส้นเดียว ท่านน้อยใจว่าครูบาอาจารย์คล้ายๆ ลำเอียง ท่านก็ไม่ทำ ก็ไปภาวนาอยู่หินหมากเป้งทั้งพรรษาหนึ่ง ออกพรรษากลับมาสุรินทร์ จะถึงเวลาต้องเข้าไปพบหลวงปู่ดูลย์แล้ว ก็นึกได้ว่ายังไม่ได้ทำการบ้าน ท่านให้ดูผมเส้นเดียว ก็มาดู ผมมีรูปร่างอย่างนี้ มีสีอย่างนี้ มีกลิ่นอย่างนี้ ไม่เที่ยงอย่างนี้ พิจารณาไป ดูผมเส้นเดียว จิตรวมเลย ได้สมาธิ ไม่ใช่วิปัสสนา อันนี้ยังเป็นสมถะ จิตรวมก็ปฏิบัติดูกายดูใจต่อไปก็เข้าใจธรรมะขึ้นมา

บางคนบางท่านหลวงปู่บอกให้ดูกระดูก ท่านก็ดูกระดูก เดินจงกรมแล้วเห็นกระดูกมันเดิน นั่งอยู่ก็เห็นกระดูกมันนั่ง เห็นทั้งโครง เห็นโครงกระดูกแล้วจิตรวม อันนี้เป็นเรื่องของสมาธิ ครูบาอาจารย์รุ่นก่อนพื้นฐานท่านชาวไร่ชาวนา ชีวิตท่านลำบาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ท่านอยากได้คือความสุขความสงบ พอไปเรียนกรรมฐาน ฝึกให้จิตสงบอะไรอย่างนี้ ท่านชอบ ก็ฝึกกัน ฝึกกันหลายปี บางท่านพุทโธ พุทโธอยู่หลายปี จิตสงบไป แต่มันยังไม่ได้หลักของการปฏิบัติ พุทโธๆ จิตก็นิ่งๆ ว่างๆ ไป แค่นั้นมันไม่พอ มันก็ต้องก้าวไปสู่การเจริญปัญญาให้ได้

สำหรับหลวงพ่อ หลวงปู่ดูลย์ท่านให้ดูจิต เข้าไปกราบท่านเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2525 ไปหาท่านครั้งแรก บอกหลวงปู่ครับ ผมอยากปฏิบัติ ที่จริงปฏิบัติมาตั้งแต่เด็กแล้วแต่ว่ามันรู้สึกตัน ไปไหนไม่ได้ ทำแต่สมาธิ จิตสงบอย่างเดียว เลยไปบอกหลวงปู่ดูลย์ บอกผมอยากปฏิบัติ หลวงปู่ก็นั่งสมาธิของท่านไปเงียบๆ เกือบชั่วโมงหนึ่ง ลืมตามา ท่านก็สอน “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง”

คีย์เวิร์ดจริงๆ ที่ท่านสอนหลวงพ่อคืออ่านจิตตัวเอง นี่คีย์เวิร์ด ไม่ได้สอนหลวงพ่อดูกายดูอะไร ไม่ได้สอนพุทโธ ลมหายใจ ไม่ได้สอนเลย เพราะหลวงพ่อทำสมาธิมาตั้งแต่ 7 ขวบ ทำอยู่ 22 ปี จิตสงบอยู่แล้ว จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอยู่แล้ว ไม่ใช่ผู้หลง ผู้ปรุง ผู้แต่ง ผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง จิตที่มันฝึกสมาธิมาดี มันเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ได้จิตผู้รู้มานานก็เอาไปใช้งานไม่เป็น หลวงปู่ก็ต่อยอดให้บอกว่าให้อ่านจิตตนเอง

ทีแรกหลวงพ่อได้ยินคำว่าอ่านจิตตนเอง ก็คิดว่าเราจะต้องรักษาจิตเอาไว้ รักษาเอาไว้ตลอด ไม่ให้หนีไปไหน ก็ใช้กำลังของสมาธิรักษาจิตให้ตั้งมั่นเด่นดวงอยู่ได้ ฝึกอยู่ 3 เดือน ขึ้นไปกราบหลวงปู่อีกทีหนึ่ง บอกหลวงปู่ผมดูจิตได้แล้ว ท่านถามจิตเป็นอย่างไร บอก โอ๊ย จิตมันทำงานได้สารพัด แต่ผมสามารถทำให้มันนิ่งได้แล้ว มันทรงตัว รู้ตัวนิ่งๆ อยู่อย่างนั้นล่ะ นานเท่าไรก็ได้ ตามใจต้องการ ท่านบอกให้ไปดูจิต นี่ไปแทรกแซงจิต ยังไม่ได้ปฏิบัติเลย ท่านว่าอย่างนี้ ว่ามันเป็นการแทรกแซงจิต จิตมีธรรมชาติคิด นึก ปรุง แต่ง เราไปฝึกเสียไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง เฉยๆ ทำผิดแล้ว ไปทำใหม่ ท่านสอนอย่างนี้ ให้ไปทำใหม่

หลวงพ่อก็เลย ท่านให้ทำใหม่แล้วท่านไม่บอกว่าทำอย่างไร ก็มาคิดถึงคำว่า “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” เราอ่านจิตตนเองเหมือนเราอ่านหนังสือนั่นล่ะ อย่างหนังสือนิยาย เดี๋ยวก็มีบทรัก เดี๋ยวก็มีบทโกรธอะไรอย่างนี้ เราก็ตามรู้ตามเห็นจิตใจของเราไป จิตมันแสดงบทรักขึ้นมา รักโน่นรักนี่ อยากโน่นอยากนี่ ก็รู้ทันมัน จิตมันแสดงบทโกรธ เราก็เห็นตอนนี้ถึงบทโกรธ เราก็เห็นจิตมันแสดงความโกรธขึ้นมา ตามอ่านมันไปเรื่อยๆ มันเป็นอย่างไรก็คอยรู้ไปอย่างที่มันเป็น ไม่ได้ไปดัดแปลงมัน ตัวนี้สำคัญ ให้รู้จิตอย่างที่จิตเป็น ไม่ใช่ให้ไปดัดแปลงจิต

ท่านบอกว่าจิตเป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง ไม่ใช่ไปดัดแปลงให้มันเป็นผู้อยู่เฉยๆ ไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง มีคนที่เคยไปเรียนกับหลวงปู่ดูลย์แต่ว่าตีคำสอนของท่านผิด ว่าดูจิตก็คือไปประคองรักษาจิตให้นิ่งๆ ว่างๆ อยู่อย่างนั้นเป็นเดือนเป็นปี อันนั้นละกิเลสไม่ได้ เจ้าตัวที่ทำแบบนั้น ป่านนี้ก็ยังกิเลสร้ายแรงอยู่เลย เล่นไสยศาสตร์ เล่นอะไร

 

ดูจิตดูใจของเราอย่างที่มันเป็น
พอรู้สภาวะที่เกิดขึ้นกับจิตแล้ว จิตยินดี จิตยินร้ายต่อสภาวะอันนั้น ให้รู้ทัน

ฉะนั้นเราจับหลักของการปฏิบัติให้แม่น ให้อ่านจิตตัวเอง การอ่านจิตตนเองนั้น ถ้าจิตมันมีความสุข รู้ว่ามันมีความสุข จิตมันมีความทุกข์ รู้ว่ามีความทุกข์ จิตมันเป็นกุศล รู้ว่าเป็นกุศล จิตโลภ รู้ว่าโลภ จิตโกรธ รู้ว่าโกรธ จิตหลง รู้ว่าหลง จิตฟุ้งซ่าน รู้ว่าฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ รู้ว่าหดหู่ คอยรู้คอยดูไป อ่านมันไปเรื่อยๆ มันแสดงอะไรให้ดู เราก็ดูไป

พวกเรามีปัญหาข้อหนึ่ง เกือบทุกคนจะต้องเจอปัญหาเวลาเราไปภาวนา บางช่วงจิตเราก็ดี อีกช่วงหนึ่งจิตมันเสื่อมลงไป มันเคยสงบ มันก็ไม่สงบ มันเคยเห็นสภาวะได้ มันก็ไม่เห็น มึนตึ้บไปหมดเลย มืดๆ มัวๆ มึน ไม่สามารถดูจิตดูใจได้ ก็ตกใจ พอตกใจว่าจิตเสื่อม ก็ยิ่งดิ้นรนใหญ่ ทำอย่างไรจะฟื้นขึ้นมา ทำอย่างไรจิตจะกลับมาดี เป็นทุกคนเลยอันนี้

อย่างเราภาวนา บางวันจิตฟุ้งมากเลย เราก็คิดทำอย่างไรจะหายฟุ้ง บางวันหงุดหงิดทั้งวันเลย ก็คิดอีกทำอย่างไรจะหายหงุดหงิด มันไม่ใช่การอ่านแล้วแต่มันเป็นการทำแล้ว จะพยายามดัดแปลงจิตใจตัวเอง หลวงปู่ท่านสอนให้อ่านจิตตัวเอง ไม่ได้ให้ไปแต่งจิต เราเป็นนักอ่าน ไม่ใช่นักประพันธ์ ไม่ต้องไปแต่งจิต

เวลาจิตเราฟุ้งซ่านขึ้นมา เมื่อวานมีโยมถามหลวงพ่อว่าภาวนาแล้วจิตมันเสื่อม มันฟุ้ง แก้อย่างไรก็ไม่หาย ทำอย่างไร หลวงพ่อบอกก็ไม่ต้องไปทำอะไรมัน ให้รู้ทันเลย เวลาจิตมันเสื่อม มันฟุ้งซ่าน หรือมันมืดมัว มันดูอะไรไม่รู้เรื่องแล้ว โอ๊ย มืดไปหมด ใจเราไม่ชอบให้รู้ว่าใจไม่ชอบ ไม่ต้องไปนั่งแก้มัน มันฟุ้งซ่าน ก็รู้ทันมันว่าใจเราไม่ชอบหรอกที่มันฟุ้งซ่าน ไม่ต้องไปแก้ให้มันสงบ ใจมันมืดดูอะไรไม่รู้เรื่อง รู้ว่ามืด ไม่ชอบเลย ไม่ชอบที่ใจมืด รู้ว่าไม่ชอบ

หรือบางทีจิตเรามีความสุข แล้วเราก็เพลินๆ อยู่ในความสุข อันนี้ตรงข้ามกับชนิดแรก ชนิดแรกจิตเสื่อม พอภาวนาแล้วจิตเจริญขึ้นมา ยินดีพอใจแล้วไม่เห็นว่ายินดีพอใจ อันนี้ก็ใช้ไม่ได้ มันก็จะติดสมาธิ ติดความสุข ติดความสงบ ติดในรสชาติของความสงบ ยินดีพอใจ เพราะความสงบมันไม่เที่ยง มันหายไป คราวนี้เดือดร้อนแล้ว มันติดแล้ว แล้วมันไม่ได้อย่างที่มันเคยได้ มันก็เสียอกเสียใจ ทุรนทุราย

เพราะฉะนั้นเราจับหลัก เราจะดูจิตดูใจของเรา อ่านมันอย่างที่มันเป็น มันโลภ รู้ว่ามันโลภ มันโกรธ รู้ว่ามันโกรธ มันหลง รู้ว่ามันหลง มันสงบ รู้ว่าสงบ มันฟุ้งซ่าน รู้ว่าฟุ้งซ่าน มันสุข รู้ว่าสุข มันทุกข์ รู้ว่าทุกข์ พอรู้สภาวะที่เกิดขึ้นกับจิตแล้ว รู้ลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง จิตยินดี จิตยินร้ายต่อสภาวะอันนั้น ให้รู้ทัน

มีความสุขเกิดขึ้น อันแรกเลยรู้ว่ามีความสุข ถัดมารู้ลึกซึ้งเข้ามาอีกชั้นหนึ่ง เรากำลังยินดีพอใจในความสุขที่เกิดขึ้น เราชอบ เราชอบความสุขให้รู้ทัน ถ้ารู้ไม่ทันก็เรียกว่าเราเสียท่าแล้วล่ะ ทำท่าเหมือนจะดี รู้ว่าจิตใจตัวเองมีความสุข ตรงนี้ดูว่าดี แต่มันไปติดความสุข มันไม่เห็น มันก็เลยดีไม่จริง ดีครึ่งๆ กลางๆ หรือเวลาจิตมันมีความทุกข์ขึ้นมา แล้วก็ดิ้นรนอยากให้หาย แทนที่จะดิ้นรนว่าทำอย่างไรจะหายทุกข์ ไม่ต้องดิ้นรน ให้รู้เลยว่าใจมันไม่ชอบ ใจมันไม่ชอบ จิตมีความทุกข์ มันอยากให้จิตมีแต่ความสุข ให้รู้ทัน จิตที่ชอบ จิตที่ไม่ชอบ รู้ลงไปอีกชั้นหนึ่ง

เพราะฉะนั้นเวลาที่สภาวะอันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นกับจิตแล้ว ช็อตแรก รู้ว่ามีสภาวะอะไรเกิดขึ้น ช็อตต่อไป รู้ปฏิกิริยาของจิตต่อสภาวะอันนั้น เป็นความยินดีบ้างเป็นความยินร้ายบ้าง ถ้าเราบอกเราดูจิตๆ เราเห็นจิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง เราก็ดูได้แค่นี้ มันไม่พอ มันจิตโลภ โกรธ หลงขึ้นมา เราไม่ชอบ ตัวนี้ต้องรู้ ถ้าจิตมันดี เป็นกุศลขึ้นมา เราชอบ เราต้องรู้ จะไปรู้แค่จิตเป็นกุศลอกุศล ยังพัฒนายาก ยังต้องก้าวไปอีกเยอะเลย

พอจำได้ไหม อันแรก รู้สภาวะที่กำลังมีกำลังเป็นกับจิต อันที่สอง ถ้าจิตเกิดปฏิกิริยายินดียินร้ายต่อสภาวะอันนั้น ให้รู้ทัน ให้มีสติรู้ทัน ความรู้สึกทั้งหลายมันเกิดกับจิตทั้งวันล่ะ มันเกิดตามหลังผัสสะ คือการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พอกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจแล้ว ก็เกิดเป็นความสุขบ้าง เป็นความทุกข์บ้าง เกิดเป็นกุศลบ้าง เป็นโลภ โกรธ หลงบ้าง หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไป เรามีสติรู้ตัวนี้ก็ดีได้ครึ่งทาง ให้รู้ลึกลงไป ยินดีให้รู้ทัน ยินร้ายให้รู้ทัน แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร ความเป็นกลางจะเกิดขึ้น

ตรงที่เราอาศัยกำลังของสติ รู้ทันจิตตนเองที่มันยินดีที่มันยินร้าย ความยินดีความยินร้าย จะดับโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องดับมัน มันดับอัตโนมัติ ดับเอง อย่างจิตเราฟุ้งซ่าน เราภาวนามา จิตเราดี วันนี้อยู่ๆ จิตฟุ้งซ่าน ช็อตที่หนึ่ง รู้ว่าขณะนี้จิตฟุ้งซ่าน ช็อตที่สอง จิตไม่ชอบ รู้ว่าไม่ชอบ ผลที่ตามมาก็คือพอจิตเรารู้ทันความชอบความไม่ชอบ ความชอบความไม่ชอบดับ จิตเป็นกลาง สภาวะทั้งหลายที่เป็นอกุศลมันดับเอง เพราะจริงๆ มันพร้อมจะดับอยู่แล้ว มันเกิดดับอยู่ทุกขณะอยู่แล้ว

บางทีเราบอก เอ๊ะ จิตโกรธ โกรธมาตั้งนานแล้ว ไม่หายเสียที เพราะอะไร เพราะจิตเราไม่ตั้งมั่นแล้วก็ไม่เป็นกลาง จิตไม่ตั้งมั่น จิตไม่เป็นกลาง ปัญญาไม่เกิด ตัวที่จะไปล้างกิเลสคือตัวปัญญา ไม่ใช่ตัวสมาธิ แต่ว่าอาศัยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง คือจิตที่มีสมาธิเกื้อกูลให้เกิดปัญญา

ฉะนั้นเราหัดอ่านจิตตนเอง เราเห็นผู้หญิงคนนี้ จิตเราชอบ มีราคะเกิดขึ้น เราชอบผู้หญิงคนนี้ จิตมีราคะ ช็อตที่หนึ่ง รู้ว่าจิตมีราคะ แล้วต่อไปพอรู้แล้ว เราก็จะเห็น พอกิเลสเกิด จิตจะมีทางเลือก 2 ทาง คล้อยตามกิเลสกับต่อต้านกิเลส อย่างเราเห็นผู้หญิงสวย ใจมันชอบ เราไม่เห็นว่าใจชอบ ความชอบความรักอันนั้นก็ครอบงำจิต จิตก็คล้อยตามอำนาจของราคะไป วิ่งตามเขาไป ไปตามจีบเขาไป หรือเห็นคนนี้น่าเกลียด จิตไม่ชอบ คนนี้ศัตรูเรา โทสะขึ้น จิตก็พยายามผลักคนนี้ออกไป ต่อต้าน อันหนึ่งก็รักษาเอาไว้ อันหนึ่งก็ต่อต้าน ผลักไส ก็เกิดเรื่องยินดียินร้ายนั่นล่ะ

เพราะฉะนั้นต่อไปนี้เราพัฒนาการดูจิตของเราให้ประณีตลึกซึ้งมากขึ้น ไม่ใช่แค่รู้ว่าจิตกำลังสุข กำลังทุกข์ กำลังดี กำลังชั่ว ไม่ใช่แค่นั้น รู้ลงไปอีก มีความสุขแล้วจิตยินดีพอใจ รู้ทัน มีความทุกข์ จิตไม่พอใจ รู้ทัน จิตเป็นกุศล เกิดความยินดีพอใจ รู้ทัน จิตเป็นอกุศล เกิดยินร้าย ไม่พอใจ รู้ทัน รู้ลงมาให้ถึงตัวนี้ ทันทีที่เรารู้ทันความยินดียินร้าย ความยินดียินร้ายจะดับอัตโนมัติ จิตจะตั้งมั่นแล้วก็เป็นกลางขึ้นมา จิตมันจะเป็นกลาง อันนี้เป็นกลางด้วยกำลังของสติ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นกลาง เขาเรียกว่าเป็นกลางด้วยสมาธิๆ อาศัยกำลังของสติรู้ทันความไม่เป็นกลางของจิต จิตก็ตั้งมั่น เป็นกลางอัตโนมัติขึ้นมา อันนี้เป็นวิธีฝึกของคนซึ่งไม่ได้ฌาน ถ้าได้ฌาน ฝึกฌาน ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง

 

สมาธิที่ดีสมบูรณ์แบบ

พวกเรายุคนี้พวกสมาธิสั้น อย่าใฝ่ฝันเลยว่าจะเข้าฌาน ไม่ต้องทำ ทำกี่ปีมันไม่ค่อยจะสำเร็จหรอก มันฟุ้ง วอกแวกตลอดเวลา ฉะนั้นเราจะทำสิ่งที่เราทำได้นั่นล่ะ ถ้าเราฟุ้งซ่านมาก เราก็ไหว้พระสวดมนต์ ท่องพุทโธ รู้ลมหายใจอะไรก็ทำไป เสร็จแล้วก็พัฒนาขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง เป็นสมาธิที่ตั้งมั่นขึ้นมา อันนั้นสมาธิสงบ เราไปไหว้พระสวดมนต์ ท่องพุทโธ กำหนดลมหายใจ ดูท้องพองยุบอะไร สิ่งที่ได้คือสมาธิชนิดสงบ

เราก็พัฒนาต่อให้ขึ้นสู่สมาธิชนิดตั้งมั่นและเป็นกลาง เวลาที่เรารู้ทันสภาวะทั้งหลายที่กำลังมีกำลังเป็น จิตมันจะตั้งมั่นอัตโนมัติ อย่างเราท่องพุทโธๆๆ อยู่ เป็นเครื่องอยู่ของจิต พอจิตหนีไปคิด มันลืมพุทโธแล้ว ไปคิดเรื่องอื่นแล้ว เรารู้ทันว่าจิตหนีไปคิด ในขณะนั้นจิตที่หนีไปคิดจะดับ จิตที่ตั้งมั่นจะเกิด ถือว่าเราเริ่มได้สมาธิที่ดีขึ้นมาแล้ว

เราจะพัฒนาสมาธิให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ไม่ใช่แค่ตั้งมั่นเฉยๆ ต้องเข้าไปสู่ความเป็นกลางด้วย จำสิ่งที่หลวงพ่อพูดบ่อยๆ ได้ไหมว่าพวกเราจะปฏิบัติ ให้มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง จิตที่ตั้งมั่นถ้าเรารู้สภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น จิตมันจะตั้งมั่นอัตโนมัติ อย่างจิตเราหลงไป เรารู้ว่าจิตหลง จิตหลงจะดับ จิตตั้งมั่นจะเกิด เราโกรธอยู่ รู้ว่าโกรธ ความโกรธจะดับไป จิตที่ฟุ้งไปด้วยอำนาจความโกรธก็ดับ จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมา

พอเราภาวนาไปช่วงหนึ่ง เราก็จะเริ่มเห็นว่าลึกขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง ตั้งมั่นอย่างเดียว แต่มันยังไม่เป็นกลาง ตั้งมั่นแล้วมันก็ยังยินดีกับกุศล ยินร้ายกับอกุศล ตั้งมั่นแล้วมันก็ยังยินดีในความสุข ยินร้ายในความทุกข์ ตัวนี้อาศัยกำลังของสติอีกแล้วล่ะ รู้ทันลงไป ยินดีให้รู้ทัน ยินร้ายให้รู้ทัน ความยินดียินร้ายจะดับ จิตจะเป็นกลาง

นึกออกไหมที่หลวงพ่อพูดเรื่อยๆ ต้องมีจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง จิตที่ตั้งมั่นเกิดจากเรามีสติรู้ทันสภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น แล้วจิตตั้งมั่นอัตโนมัติ ส่วนความเป็นกลางนั้น อาศัยสติรู้ทันจิตที่ไม่เป็นกลาง แล้วจิตจะเป็นกลางขึ้นมาเอง คราวนี้เราได้จิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง เรียกว่าเราได้สมาธิที่ดีสมบูรณ์แบบแล้ว

เมื่อเราได้สมาธิที่ดีสมบูรณ์แบบแล้ว งานถัดไปคืองานเจริญปัญญา งานทำสมาธินั้น เป้าหมายก็คือพัฒนาให้ได้จิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง งานเจริญปัญญานั้น ก็เพื่อพัฒนาความรู้ของจิตให้เกิดความรู้ถูกเข้าใจถูกว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่จิตไปรู้เรียกว่าอารมณ์ แล้วกระทั่งตัวจิตเองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์

ฉะนั้นในขั้นของการที่เราทำสมถะ ทำสมาธิ เราคอยรู้ทันจิตใจตัวเอง มันจะเข้าสู่ความตั้งมั่นและเป็นกลาง ได้สมาธิที่ดีขึ้นมา ถัดจากนั้นเราไม่ได้ดูตัวจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลางหรอก สติระลึกรู้กาย ก็เห็นไตรลักษณ์ของกาย แต่เรารู้กายแล้วเห็นไตรลักษณ์ของกายได้ เราต้องมีจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

สติระลึกรู้เวทนา คือความรู้สึกสุขทุกข์ทั้งหลาย ถ้าจิตเราตั้งมั่นและเป็นกลาง เราก็จะเห็นไตรลักษณ์ของเวทนา ถ้าจิตเราตั้งมั่นและเป็นกลางอยู่ สติระลึกรู้กุศลอกุศลที่เกิดขึ้น เรียกว่าสังขารทั้งหลายที่เกิดขึ้น เรารู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง เราก็เห็นไตรลักษณ์ของสังขารทั้งหลาย

เพราะฉะนั้นตรงทำสมถะ ทำสมาธิ วัตถุประสงค์เพื่อให้เราได้จิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง วิปัสสนานั้น ทำไปมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เห็นว่าความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม รวมทั้งจิตเอง ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ สิ่งที่เราต้องการเห็นคือทุกสิ่งนั้นแสดงไตรลักษณ์

ฉะนั้นจุดประสงค์ของการทำสมถะ ทำเพื่อให้จิตตั้งมั่นและเป็นกลาง จุดประสงค์ของการทำวิปัสสนา เพื่อเห็นไตรลักษณ์ พอจิตเราตั้งมั่นและเป็นกลางแล้ว ไม่ว่าสติจะระลึกรู้กาย หรือสติระลึกรู้เวทนา หรือสติระลึกรู้สังขารที่เป็นความปรุงดีปรุงชั่ว กระทั่งสติระลึกรู้จิต จิตตรงนี้เป็นผู้รู้ จิตตรงนี้เป็นผู้คิด จิตตรงนี้เป็นผู้รู้ จิตตรงนี้เป็นผู้ไปดูรูป จิตตรงนี้เป็นผู้รู้ จิตตรงนี้เป็นผู้ไปฟังเสียงอะไรอย่างนี้

แล้วเราจะเห็นอะไร เห็นว่าสังขารทั้งหลาย ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม รวมทั้งจิตด้วย ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เห็นไหม ผู้รู้ก็ไม่เที่ยง ผู้คิดก็ไม่เที่ยง ผู้ดูรูปก็ไม่เที่ยง ผู้ฟังเสียงก็ไม่เที่ยง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็ไม่เที่ยง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่เที่ยง ใจก็คือตัวจิตใจเรานั่นเอง

เฝ้ารู้เฝ้าดูจนเห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏขึ้นต่อหน้าต่อตาเรา คำว่าปรากฏต่อหน้าต่อตา หมายถึงปรากฏในปัจจุบัน คำว่ารู้อยู่ปัจจุบันธรรมนั่นเอง อย่างร่างกายเราเคลื่อนไหวอยู่ในปัจจุบัน ถ้าจิตเราตั้งมั่นและเป็นกลาง มันจะเห็นทันทีเลย ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา นี่เห็นอนัตตาเลย หรือเรานั่งอยู่ จิตเราตั้งมั่น เป็นกลาง นั่งๆ อยู่ เอ๊ะ ร่างกายนั่งทีแรกก็สบาย นั่งไปนั่งมามันเมื่อยแล้ว เออ ร่างกายนี้มันถูกความทุกข์บีบคั้น เอาแน่เอานอนไม่ได้ว่าสบายๆ ดีๆ ถูกความทุกข์บีบคั้นแล้ว

เราจะเห็นไตรลักษณ์ได้ ถ้าจิตเรามีสมาธิที่ถูกต้อง คือตั้งมั่นและเป็นกลาง ถ้าจิตไม่ตั้งมั่น ไม่เป็นกลาง เรียกว่าเราไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง คือไม่มีสัมมาสมาธิ การจะเห็นไตรลักษณ์นั้นเป็นไปไม่ได้ ในตำราจะสอนเอาไว้ ตำราอภิธรรมบอกสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจสัมมาสมาธิ กระทั่งพวกเรียนอภิธรรมก็ไม่รู้จักสัมมาสมาธิ

อย่างพวกที่ชอบนั่งสมาธิ ก็คิดว่าสมาธินิ่งๆ คือสัมมาสมาธิ อันนี้มันสมาธิธรรมดา ไม่ใช่สัมมาสมาธิ ถ้าพวกเรียนมากก็คิดว่า จิตทุกดวงมีองค์ธรรมชนิดหนึ่งเกิดขึ้นร่วมกับจิตทุกดวง คือเอกัคคตา เอกัคคตาคือสมาธิ เพราะฉะนั้นจิตทุกดวงมีสมาธิอยู่แล้ว เราไม่ต้องฝึกสมาธิ นี่เตลิดไปอีกข้างหนึ่ง ไม่รู้จักคำว่าสัมมาสมาธิ ฉะนั้นหมามันก็มีสัมมาสมาธิหรือ ถ้าหมามีสัมมาสมาธิ หมาก็เกิดปัญญาได้ ถ้าหมาเกิดปัญญาได้ หมาก็บรรลุมรรคผลได้ มันทำไม่ได้

ฉะนั้นเอกัคคตาเจตสิกไม่ใช่ตัวสัมมาสมาธิแท้ๆ มันสมาธิพื้นๆ ซึ่งเกิดร่วมกับจิตทุกดวง เราต้องพัฒนาสัมมาสมาธิขึ้นมา ต้องฝึก วิธีฝึกก็ทำกรรมฐานอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตัวเองไว้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตสงบก็รู้ จิตฟุ้งซ่านแล้วก็ไม่พอใจ รู้ จิตสงบแล้วพอใจ รู้ จิตก็จะตั้งมั่นแล้วก็เป็นกลางขึ้นโดยที่เราไม่ได้ทำขึ้นมา ตั้งมั่นเอง เพราะมันรู้ทันจิตที่ไหลไป มันก็เลิกไหลไป ก็ตั้งมั่นขึ้นมา

ถ้ามันยินดีในความตั้งมั่น ยินร้ายในการที่จิตไหลไป ยินดียินร้าย พอรู้ทันด้วยสติ ความยินดียินร้ายดับ จิตก็เป็นกลาง พอเรามีจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง เราสะสมตัวนี้ไปเรื่อยๆ ทำทุกวันๆๆ จิตมีกำลัง ตั้งมั่น เด่นดวงขึ้นมา ต่อไปพอสติระลึกรู้กาย ก็เห็นไตรลักษณ์ของกาย สติระลึกรู้เวทนา เห็นไตรลักษณ์ของเวทนา สติระลึกรู้สังขาร ก็เห็นไตรลักษณ์ของสังขาร สติระลึกรู้วิญญาณ คือจิตที่เกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็รู้ความเป็นไตรลักษณ์ของวิญญาณ ไม่มีรูปธรรมนามธรรมใดๆ ที่เที่ยง ไม่มีรูปธรรมนามธรรมใดๆ ที่เป็นสุข ไม่มีรูปธรรมนามธรรมใดๆ ที่บังคับได้ เป็นตัวเราของเรา ถ้าเห็นอย่างนี้ก็จะได้พระโสดาบัน

 

พื้นฐาน 5 ตัว เพื่อพันฒนาองค์ธรรม 5 ระดับ

เพราะฉะนั้นเราพยายามฝึกตัวเองทุกวันๆ ขั้นต้น ถือศีล 5 ไว้ แล้วก็มีเงื่อนไขที่เกื้อกูลในการฝึกสมาธิอยู่หลายอย่าง อย่างมักน้อยๆ สันโดษ ยินดีพอใจตามมีตามได้ อันนี้ไม่ได้สอนให้ขี้เกียจ สันโดษ เป็นฆราวาส ทำมาหากินเต็มที่แล้วมันได้แค่นี้ ได้แค่นี้ก็โอเค มันได้แค่นี้ เต็มฝีมือแล้ว อย่างนี้เรียกว่าสันโดษ สันโดษไม่ได้แปลว่าขี้เกียจ

เมื่อก่อนสมัยเริ่มพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ๆ มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจ พ.ศ. 2504 ฉบับที่หนึ่ง พัฒนาเศรษฐกิจ ยุคนั้นจอมพลสฤษดิ์เป็นนายกฯ จอมพลสฤษดิ์ไม่เข้าใจธรรมะ ก็ไปบอกพวกพระสั่งพระว่าต่อไปนี้อย่าสอนเรื่องสันโดษ ต้องสอนให้คนขยัน สันโดษไม่ได้แปลว่าขี้เกียจ สันโดษหมายถึงว่าเราทำงานทำการอะไรของเราเต็มที่แล้วล่ะ แต่มันได้อย่างนี้ ได้แค่นี้ ก็ยินดีพอใจในสิ่งที่เรามีที่เราเป็น อย่างเรายังจนอยู่ เราก็ไม่ต้องไปหาไอโฟน 15 อันละ 6 หมื่น 7 หมื่นอะไรหรอก มันก็ไม่จำเป็น อย่างนี้เราก็พอใจ เราใช้โทรศัพท์จีนถูกๆ ก็ใช้ได้เพราะว่าเรามีเท่านี้ เหมาะกับเราแค่นี้ อย่างนี้ถึงจะสันโดษ

ฉะนั้นเราต้องมักน้อย หมายถึงว่าอย่าโลภมากไม่มีที่สิ้นสุด พวกโลภมากไม่มีที่สิ้นสุด ไม่เคยมีความสุข ไปสังเกตให้ดี อย่างอยากรวย พอรวยแค่นี้ ก็อยากรวยมากกว่านี้อีก ตลอดชีวิตก็วิ่งหาเงินๆ จนกระทั่งไม่มีเวลาหาความสุขให้กับชีวิต หรือบางคนก็อยากใหญ่อยากมีอำนาจ เป็นนายกฯ อะไร อยากเป็นกัน ถามว่ามีความสุขไหม ไม่ได้มีความสุข

มักมากก็ไม่ได้มีความสุข ให้พวกเรามักน้อยหน่อย อะไรที่จำเป็นกับชีวิตเรา อันนี้เราก็แสวงหา อะไรที่เกินจำเป็น เอาเวลาอันนั้นมาพัฒนาคุณค่าทางจิตใจของเรา มีความมักน้อย มีความสันโดษ ฝักใฝ่ในความสงบ ความวิเวก รู้จักปลีกตัว รู้จักอยู่คนเดียวบ้าง ไม่ใช่เฮฮาปาร์ตี้ทุกวันๆ สิ่งเหล่านี้เป็นเงื่อนไขพื้นฐาน มักน้อย สันโดษ ฝักใฝ่ในความสงบสงัด ปรารภความเพียร รู้ว่าตัวเอง หน้าที่เราจะต้องขยันภาวนา

มันจะมีพื้นฐาน 5 ข้อ มักน้อย สันโดษ ฝักใฝ่ในความวิเวก ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร อย่างพวกเราภาวนา อย่างหลวงพ่อ พวกเราเป็นหรือเปล่าไม่รู้ อย่างหลวงพ่อทุกวันเลยตั้งแต่ตื่นนอน ตั้งแต่เป็นโยม ใจมันจะคิดวันนี้เราจะปฏิบัติอย่างไรดี ใจมันคิดถึงเรื่องว่าอยากปฏิบัติ ปรารถความเพียร

สิ่งที่เราจะพัฒนาขึ้นมา 5 ข้อเป็นพื้นฐาน สิ่งที่จะต้องพัฒนา 5 ข้อ ศีลรักษาไว้ สมาธิต้องฝึก ฝึกให้จิตตั้งมั่นและเป็นกลาง มีศีล มีสมาธิ มีปัญญาตามรู้ตามเห็นความเกิดดับเปลี่ยนแปลง ความเป็นไตรลักษณ์ ในที่สุดก็เกิดตัวที่สี่คือวิมุตติ เกิดอริยมรรคอริยผล ตัวที่ห้าเรียกวิมุตติญาณทัสสนะ เป็นการประเมินผลตัวเอง

เวลาบรรลุโสดาบัน จิตมันจะออกจากกระบวนการแล้ว จบกระบวนการแล้ว จิตมันจะทวนกลับเข้ามาพิจารณาว่าเมื่อกี้นี้เกิดอะไรขึ้น เมื่อกี้ละสังโยชน์ 3 ตัวไปแล้ว ยังเหลือสังโยชน์ 7 ตัว อันนี้เรียกวิมุตติญาณทัสสนะ

ฉะนั้นพื้นฐาน 5 ตัวควรจะพัฒนาขึ้นมา องค์ธรรม 5 ระดับ ควรจะพัฒนาขึ้นมา ศีล รักษาศีล 5 ไว้ สมาธิทำอย่างที่หลวงพ่อบอก ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง ถ้าเรารู้ทันจิตตัวเอง จิตจะตั้งมั่น แล้วเรารู้ทันจิตตัวเองลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง เวลาจิตมันไปรู้สภาวะอันนี้ มันยินดีให้รู้ทัน มันยินร้าย ให้รู้ทัน คราวนี้มันจะได้ทั้งตั้งมั่นและเป็นกลาง ถัดจากนั้นก็จะเจริญปัญญาได้ ศีล สมาธิ ตัวที่สาม ปัญญา

ปัญญาก็คือการเห็นไตรลักษณ์ ถ้าจิตเราตั้งมั่น เป็นกลาง พอสติระลึกรู้รูป ก็จะเห็นไตรลักษณ์ของรูป สติระลึกรู้นาม เช่น สุข ทุกข์ ดี ชั่วทั้งหลาย ก็จะเห็นไตรลักษณ์ของนาม สติระลึกรู้จิต ก็จะเห็นไตรลักษณ์ของจิต เพราะฉะนั้นทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรม ทั้งขันธ์ 5 ล้วนแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปทั้งสิ้น นี่คือการเจริญปัญญา

เมื่อเราเจริญปัญญาแก่กล้าเต็มที่แล้ว อริยมรรคจะเกิดเอง นี่คือตัววิมุตติ ตัวที่สี่ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติคือเกิดมรรคเกิดผล แล้วจะเกิดวิมุตติญาณทัสสนะ มันเกิดการประเมินตัวเอง ตอนนี้เราละกิเลสตัวไหนได้เด็ดขาดแล้ว ตัวไหนยังละไม่ได้ ตัวไหนยังครึ่งๆ กลางๆ อะไรนี่ มันจะพิจารณา

แต่ถ้าตรงวิมุตติ มันถึงระดับพระอรหันต์ตรงวิมุตติญาณทัสสนะ มันทวนกลับเข้ามา มันไม่มีอะไรให้ทำอีกต่อไปแล้ว มันรู้ว่ากิจที่ต้องทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นไม่มีอีกแล้ว เพราะฉะนั้นในพระไตรปิฎกเราจะเห็นเวลาท่านบรรลุพระอรหันต์ ท่านจะอุทานกัน ส่วนมากท่านจะรู้ตัวขึ้นมาว่ากิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว พรหมจรรย์คือการประพฤติปฏิบัติธรรมจบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นไม่มีอีกแล้ว

ชาติคือความเกิด ความเกิดได้แก่การที่จิตไปหยิบฉวยจิตขึ้นมา หยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา นี่ฟังยากนิดหนึ่ง แล้วชาติก็สิ้นแล้ว พรหมจรรย์ การประพฤติปฏิบัติจบแล้ว ภพต่อไปไม่มีอีกแล้ว ภพต่อไปไม่มีอีกแล้ว ไม่ใช่ว่าตอนนี้ยังมีภพ แล้วตายแล้วไม่มีภพ ไม่ใช่อย่างนั้น ทันทีที่บรรลุพระอรหันต์ จิตพ้นจากภพแล้ว เพราะไม่มีอวิชชา ตัณหา อุปาทานที่จะมาสร้างภพต่อไปแล้ว จิตพ้นจากภพไปแล้ว เพราะฉะนั้นไม่มีภพต่อไป คือไม่มีขณะจิตต่อไป นี่ก็ไม่เป็นภพแล้ว ไม่ใช่ชาติหน้าไม่เป็นภพ เพราะมันไม่มีชาติหน้า

พวกเราเรียนธรรมะ พัฒนาพื้นฐาน 5 ข้อไว้ให้ดี มักน้อย สันโดษ ฝักใฝ่ในความสงัดวิเวก ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร เล่นอินเทอร์เน็ตทั้งวันนี่คลุกคลี เล่นเฟซบุ๊คเล่นไลน์นี่คือคลุกคลี ไม่จำเป็นต้องไปเจอหน้าใครหรอก เล่นอยู่คนเดียวในบ้านก็เรียกว่าคลุกคลี ถ้าเรามีเงื่อนไข 5 ข้อนี้การรักษาศีลจะง่าย แล้วมี 5 ข้อนั้นศีลรักษาง่ายอย่างเดียวไม่พอหรอก สมาธิก็เกิดง่าย แล้วการเจริญปัญญาสะดวก

ถ้าหากเราเจริญปัญญาอยู่ แล้วเดี๋ยวสัญญาณเตือนแจ้งมาติ๊ง หมดแล้ว ไม่ได้เจริญปัญญาแล้ว อย่าว่าแต่ปัญญาเลย สมาธิยังกระจายเลย เพราะฉะนั้นควรจะรู้จักปลีกตัว หาความสงบสงัดเสียบ้าง อย่าตามใจกิเลสเกินไป สนองกิเลสเรื่อยๆ ไม่มีทางรักษาศีล ไม่มีทางเจริญปัญญา ไม่มีทางเกิดวิมุตติหรอก ฉะนั้นเราค่อยๆ ฝึก ฝึกไป

 

เมื่อจิตหมดความยินดียินร้าย จิตจะหมดความปรุงแต่ง

อย่างพอเราเจริญปัญญามากเข้าๆ ต่อไปมันจะเห็น อย่างความสุขเกิดขึ้น ความสุขก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ความทุกข์เกิดขึ้น ความทุกข์ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เห็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นความสุขกับความทุกข์เท่าเทียมกัน คือตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์เหมือนๆ กัน จิตมันก็จะหมดความยินดีในความสุข หมดความยินร้ายในความทุกข์ เมื่อจิตหมดความยินดียินร้าย จิตจะหมดความปรุงแต่ง

อย่างเราพอใจอะไรสักอย่าง เห็นไหม ใจมันดิ้นใหญ่เลย มันปรุงแต่งใหญ่ มันชอบผู้หญิงสักคน มันก็ปรุงใหญ่เลย ทำอย่างไรจะจีบเขาได้ ทำอย่างไรจะขอเบอร์ขอไลน์เขาได้ ขอเฟซบุ๊คเขาได้ ขอไอจีอะไรของเขาได้ นี่ปรุงอุตลุดเลย ทีนี้เราภาวนา เราเห็นสุขมันก็อย่างนั้นๆ ล่ะ ทุกข์มันก็อย่างนั้นๆ จิตมันก็ไม่ปรุงต่อแล้ว มันเห็นทุกอย่างเสมอกัน สุขกับทุกข์ก็เสมอกัน กุศลอกุศลก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์

อย่างเราเคยติดในกุศล เราภาวนาแล้วจิตเราสว่างไสว อุ๊ย เราชอบ พอมันเสื่อมเราก็ทุกข์ร้อนแล้ว แต่พอเราภาวนาไปนานๆ เราเห็นจิตเจริญได้ จิตก็เสื่อมได้ จิตเองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เพราะฉะนั้นเวลาเจริญ จิตก็ไม่หลงยินดี เวลาเสื่อมจิตก็ไม่ยินร้าย เหมือนอย่างที่เวลาสุข จิตก็ไม่หลงยินดี เวลาทุกข์ จิตก็ไม่ยินร้าย เพราะมันของเสื่อมด้วยกันทั้งหมด ทั้งดีทั้งชั่ว ทั้งสุขและทุกข์

พอจิตไม่ยินดียินร้าย จิตนี้เป็นกลาง แต่เป็นกลางด้วยปัญญา ไม่เหมือนทีแรก ทีแรกที่หลวงพ่อพูดนั้น เป็นกลางด้วยสติแล้วเราจะได้สมาธิที่ดี ได้จิตตั้งมั่นและเป็นกลาง อันนั้นเป็นเรื่องของสมาธิ มีสติรู้ทันจิตที่ไม่เป็นกลาง แล้วจิตเป็นกลางเอง ส่วนในขั้นเจริญปัญญา ถ้ามีปัญญาเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของสภาวะทั้งหลาย สุขกับทุกข์ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์เหมือนกัน จิตก็เป็นกลางต่อสุขและทุกข์ อันนี้เป็นกลางเพราะปัญญา คนละอันกัน

เมื่อจิตเป็นกลางด้วยปัญญาแล้ว จิตจะหยุดความปรุงแต่งโดยอัตโนมัติ เป็นกลางแล้วมันก็ไม่ต้องดิ้นรนแล้ว มีความสุขเกิดขึ้น ก็รับรู้ว่าสุขเกิดขึ้นแล้วก็เห็นมันดับไป ไม่ได้ตะเกียกตะกายดิ้นรนที่จะรักษาความสุขเอาไว้ ไม่ได้ตะเกียกตะกายดิ้นรนที่จะแสวงหาความสุขใหม่ เวลาความทุกข์เกิดขึ้น จิตเป็นกลาง มันเห็นความทุกข์เองก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตก็ไม่ดิ้นรนที่จะผลักไสความทุกข์ ไม่กังวลว่าต่อไปความทุกข์จะมาอีกหรือไม่มา

พอจิตเป็นกลาง จิตหมดความดิ้นรน เมื่อจิตหมดความดิ้นรน นั่นล่ะอริยมรรคจะเกิด ถ้าจิตยังมีความอยาก ก็ยังมีความดิ้นรน ชอบอันนี้ เกลียดอันนี้ เกิดตัณหาขึ้นมา ชอบอันนี้ก็อยากได้อยากมี อยากเป็น ไม่ชอบอันนี้ ก็อยากให้หมดไปสิ้นไป พอมีตัณหา จิตก็เกิดความดิ้นรน เรียกว่าจิตมันสร้างภพ ก็ดิ้นๆๆ ไป พอจิตสร้างภพขึ้นมา จิตก็มีความทุกข์ มันมีภาระ ขันธ์ทั้ง 5 เป็นภาระ บุคคลทั้งหลายแบกภาระไว้ ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวง พระอริยเจ้า คือพระอรหันต์ วางภาระลงแล้ว วางสังขารลงแล้ว วางภาระลงแล้วก็พ้นจากทุกข์

เพราะฉะนั้นถ้าเราภาวนา เดินอยู่ในแนวทางอย่างที่หลวงพ่อบอก ทีแรกฝึกให้จิตตั้งมั่นและก็เป็นกลางด้วยสติ ทำกรรมฐานไปแล้วมีสติรู้ทันจิตไป รู้ทันใน 2 ระดับ อันแรกรู้ทันว่ามีอะไรเกิดขึ้น อันที่สอง รู้ทันความยินดียินร้ายของจิต จิตจะตั้งมั่นและเป็นกลาง เราจะได้สัมมาสมาธิที่เต็มที่แล้ว

ถัดจากนั้นเราเจริญปัญญา สติระลึกรู้กายด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง สติระลึกรู้เวทนาด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง สติระลึกรู้สังขารด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง สติระลึกรู้จิตด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ต่อไปมันก็จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ไม่ได้น่ารักน่าหวงแหน ทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งสุขและทุกข์ ทั้งดีและชั่วเสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์

พอมันยอมรับว่าทุกอย่างเสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ จิตจะยุติการดิ้นรนทันทีเลย เรียกยุติสังขารหรือยุติการสร้างภพ สังขารในใจเราคือภพ เรียกว่าภพ เรียกว่ากรรมภพ พอไม่มีความดิ้นรนอันนี้ จิตก็หมดภาระ จิตก็เป็นอิสระต่อสังขาร จิตที่เป็นอิสระต่อสังขาร เรียกว่าวิสังขาร จิตที่ไม่หลงตามกิเลสตัณหาทั้งหลาย เรียกว่าวิราคะ ตัวตัณหา ตัวราคะ

วิราคะก็ชื่อของนิพพาน วิสังขารก็ชื่อของนิพพาน วิมุตติ จิตหมดความยึดถือในรูปนาม ก็เป็นความหมายของนิพพานนั่นเอง ฉะนั้นเมื่อไรจิตเราสิ้นตัณหาเมื่อนั้นเราก็สัมผัสพระนิพพาน เมื่อไรจิตเราพ้นจากความปรุงแต่ง จิตเราก็สัมผัสพระนิพพาน เมื่อไรจิตปล่อยวางรูปนามขันธ์ 5 ได้หมด ปล่อยวางจิตได้ จิตก็สัมผัสพระนิพพาน ฉะนั้นค่อยๆ ภาวนา เบื้องต้นก็เป็นกลางด้วยสติ ได้สมาธิเกิดขึ้น เบื้องปลายเป็นกลางด้วยปัญญา ก็จะได้วิมุตติ ได้ความหลุดพ้น

ยากไปนิดหนึ่ง แต่ว่าหลวงพ่อช่วงหลังๆ เริ่มสอนยากขึ้นๆ หัดใหม่ๆ ก็ลองไปฟังยูทูปที่หลวงพ่อเทศน์เอาไว้ก่อนๆ พวกเราจำนวนมากที่มันเก่งขึ้นมา อัพเกรดภาวนาดีขึ้นๆ หลวงพ่อก็เลยต้องสอนธรรมะที่ประณีตมากขึ้นๆ ส่วนคนซึ่งหัดใหม่ หัดใหม่ก็สอน ไม่ใช่ไม่สอน อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้ไปอ่านจิตตัวเองไป จิตสุขก็รู้ ทุกข์ก็รู้ ดีก็รู้ ชั่วก็รู้ นั่นล่ะหัดใหม่ๆ ก็ไปดูอย่างนั้น แล้วก็ทำสมถะบ้าง ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรมอะไรก็ทำไปเถอะ ของดีทั้งนั้นล่ะ พอสู้ไหม แนะนำว่าเดี๋ยวมูลนิธิสื่อธรรมฯ เขาก็จะเอาไปลงเฟซบุ๊ค ลงยูทูปอะไร พวกเราไปฟังซ้ำๆ ที่หลวงพ่อเทศน์ๆ ไว้ ฟังเข้าไปเถอะ ไม่เสียหรอก คนจำนวนมาก ไม่เคยเจอหลวงพ่อ อย่างหลวงพ่อไปธุระนั่งรถไป บางทีต้องไปกินข้าวแกงข้างถนนอะไรอย่างนี้ คนยังเข้ามาหาเลย ชาวบ้าน เขาฟัง ดูยูทูป เขาภาวนา บางคนภาวนาดีมากๆ เลย บางคนก็ดีบ้างไม่ดีบ้าง ครึ่งกลางๆ มีหลายระดับ ไปฟังซ้ำๆ แล้วสังเกตของจริงเอา

ธรรมะที่หลวงพ่อเทศน์ให้ฟัง หลวงพ่อไม่ได้บอกว่าพวกเราต้องเชื่อ แต่หลวงพ่อท้าให้พวกเราพิสูจน์ ลองปฏิบัติดูสิ พวกเราจำนวนมากเลยมาหาหลวงพ่อบอกว่าสามารถเป็นพยานว่าสิ่งที่หลวงพ่อสอนมันเป็นไปได้จริง เพราะชีวิตเขาเปลี่ยนจริงๆ

ถ้าเราอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้น ให้ทุกข์น้อยลง ให้ทุกข์สั้นลง ฟังแล้วก็เอาไปปฏิบัติเข้า อ่านจิตตัวเองไป อ่านให้ลึกซึ้งไป ทีแรกก็รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับจิต ต่อไปลึกซึ้งลงไป จิตยินดียินร้าย รู้ทัน ในที่สุดจิตตั้งมั่นเป็นกลาง แล้วคราวนี้สติระลึกรู้อะไร ก็จะเห็นไตรลักษณ์ เห็นไตรลักษณ์มากพอ ปัญญาพอแล้ว วิมุตติก็เกิดเองล่ะ

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช
17 กันยายน 2566