จิตเกิดดับสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว

ช่วงนี้ภาวนากันดีขึ้นเยอะ เห็นหลายคนเลย มีพัฒนาการที่เห็นได้ การปฏิบัติจริงๆ มันไม่ได้ยากเกินไป มันไม่ได้ยากนักหรอก อยู่ที่เรียนรู้วิธีปฏิบัติให้ถูกต้อง แล้วก็ลงมือทำ หลายคนเรียนอย่างเดียว เรียนแล้วก็คิดใหญ่ พอฟังธรรมะก็เอาไปคิดๆๆ หวังว่าจะเข้าใจ ไม่เข้าใจหรอก จนกว่าจะลงมือปฏิบัติ

เมื่ออาทิตย์ก่อนหลวงพ่อไปเทศน์ที่มสธ. เห็นพวกเราคนหนึ่ง ช่วยหลวงพ่อทำงานมานานแล้ว แกบอกว่าแกทำสมาธิไม่เคยได้เลย แล้วก็ไม่เคยเห็นเลย จิตที่เคลื่อนไปเคลื่อนมา พอผ่านมาหลายปี คล้ายๆ มันถึงเวลา ถึงเวลาของเขา ก็ไปนั่งบริกรรม แต่เดิมพยายามบริกรรมพุทโธ จิตไม่รวม ไม่สงบ รอบนี้นึกอย่างไรก็ไม่รู้ ไปบริกรรม นะโมพุทธายะ นะโมพุทธายะ มันยาวขึ้นหน่อยหนึ่ง พุทโธมันสั้นไป ไม่เหมาะกับคุณคนนี้ พุทโธสั้นไป ก็นะโมพุทธายะไปแล้วจิตรวม คราวนี้ก็เห็นจิตเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ไหลไปไหลมาได้

 

สันตติสร้างภาพลวงตา

จริงๆ ที่พูดว่าจิตไหลไปไหลมา จิตไม่ได้ไหลหรอก จิตมันเกิดที่ตาแล้วมันก็ดับ แล้วมันก็มาเกิดที่ใจ เกิดที่ใจแล้วก็ดับ แล้วอาจจะไปเกิดที่หู มันเกิดดับต่อเนื่องกันรวดเร็ว ก็เลยสร้างภาพลวงตาขึ้นมา เหมือนจิตมีดวงเดียว เดี๋ยวก็ไหลไปทางตา เดี๋ยวไหลไปทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือไหลไปคิด เบื้องต้นเห็นจิตที่ไหลไปไหลมาได้ก็ยังดี เริ่มเห็นสภาวะแล้ว แต่สันตติยังไม่ขาด สันตติคือความสืบเนื่อง ที่จริงแล้วจิตเกิดดับรวดเร็วมาก จนกระทั่งสติมองไม่ทัน ว่าจิตมันเกิดดับ

จิตไม่ได้มีดวงเดียว แต่จิตมีทีละดวง ดวงหนึ่งดับไป ดวงหนึ่งเกิดขึ้นมาตลอดเวลา แต่เบื้องต้นยังไม่เห็นก็ไม่เป็นไร ขั้นแรกก็ทำความสงบให้จิตใจไว้ก่อน ทำกรรมฐานอะไรก็ได้ ให้จิตมันมีเครื่องอยู่ไว้ พอจิตมันมีเครื่องอยู่ไปนานๆ ไม่ซนไป ไม่วอกแวกไป จิตก็เริ่มมีกำลังขึ้นมา พอจิตมีกำลังขึ้นมาแล้ว ก็เริ่มแยกขันธ์ได้ หรือเริ่มเห็นสภาวะ เห็นสภาวธรรมได้ พอเห็นสภาวะทีแรก ยังไม่เห็นไตรลักษณ์ เห็นแต่ตัวสภาวะ

อย่างตัวอย่างคนที่หลวงพ่อยกให้ฟัง แต่เดิมไม่ได้เห็นสภาวะเพราะว่าช่างคิด เป็นนักวิชาการ ช่างคิดเอาๆ นี้คิดจนเหนื่อยก็มาบริกรรม จิตก็สงบ ตัวนี้เป็นสมถะ “นะโมพุทธายะ” เขาสวดท่องไปเรื่อยๆ ให้จิตอยู่ในอารมณ์อันเดียว ก็ได้สมถะ พอจิตสงบตั้งมั่นไปเรื่อยๆ ต่อไปจิตมีกำลัง มันจะรู้สึกเหมือนเราตื่นขึ้นมา เป็นคนใหม่ เหมือนมีชีวิตใหม่

เมื่อเช้านี้ก็มีคนหนึ่งหวังพุทธภูมิ มาส่งการบ้าน อันนี้ก็ดีขึ้นเยอะแล้ว จิตตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา บอก โอ้ ภาวนามันก็ต้องอย่างนี้ ภาวนาแล้วจิตหลงไปหลงมา มันไม่ได้อะไรขึ้นมา ถ้าทำสม่ำเสมอ ทำกรรมฐานไป พอจิตมันมีกำลัง พอมีกำลังแล้ว มันก็เริ่มเห็นสภาวะได้ ทีแรกเขาก็เห็นสภาวะ เช่น เห็นจิต หรือเห็นร่างกาย อย่างขณะนี้เราเห็นร่างกายนั่งอยู่ เห็นร่างกายหายใจ เห็นอะไร เห็นร่างกาย หรือเห็นจิตไหลไปไหลมา อันนี้ยังเห็นแค่ตัวสภาวะ

มันมีศัพท์อยู่ 2 คำ คำว่า “ฆน” ความเป็นกลุ่มเป็นก้อน อย่างร่างกายเรานี้ ถ้าฆนไม่แตก ฆนไม่แตกมันเป็นก้อนเดียวอย่างนี้ มันก็เห็นเป็นตัวเราได้ ทางจิตใจก็เห็นสันตติขาด มันก็จะเห็นไตรลักษณ์ได้ ร่างกายนี้ฆนแตกก็เห็นไตรลักษณ์ได้ ถ้าสันตติขาด อย่างเราดูจิต ทีแรกเราเห็นจิตวิ่งไปวิ่งมา แล้วสมาธิเราดีพอ มีกำลัง สติมันระลึกได้ จิตที่รู้สึกตัวเป็นอันหนึ่ง จิตที่ไปดูรูปเป็นอันหนึ่ง มันเห็นเป็นคนละอัน คนละดวง คนละขณะ หรือจิตที่รู้สึกตัวเป็นอันหนึ่ง จิตที่ไปฟังเสียงเป็นอีกอันหนึ่ง เป็นคนละดวง เป็นคนละขณะ ถ้าเห็นอย่างนี้ก็เรียกว่า สันตติขาด

“สันตติ” คือความสืบเนื่อง มันเป็นสร้างภาพลวงตาขึ้นมา ทำให้เรารู้สึกว่า สิ่งนี้เป็นของเที่ยง มีตัวตนอยู่จริงๆ เมื่อก่อนหลวงพ่อยกตัวอย่างเหมือนฟิล์มหนัง รุ่นนี้ไม่มีฟิล์มหนัง ไม่รู้จะยกอะไรแล้ว ถ้ารุ่นหลวงพ่อดูหนัง มันมีฟิล์มหนัง แล้วเราเอาฟิล์มมาดู ฟิล์มแต่ละรูปคล้ายกันมากเลย แต่ละฟิล์มที่ติดๆ กัน มันจะขยับนิดเดียว นิดเดียวๆ ถามว่าฟิล์มแต่ละรูป แต่ละรูป มันอันเดียวกันไหม มันไม่ใช่อันเดียวกัน แต่พอเอาเข้าเครื่องฉาย ฟิล์มมันเคลื่อนไหวรวดเร็ว มันก็สร้างภาพลวงตาขึ้นมาว่าตัวละครตัวนี้เคลื่อนไหวได้ กระดุกกระดิกได้ พูดได้ หัวเราะได้ ร้องไห้ได้ สารพัดจะเป็น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง มันเป็นแค่รูปแต่ละรูปเท่านั้นเอง

ถ้าเรามีสติปัญญา เราเห็นจิตมันขาดออกจากกัน เหมือนเราเห็นฟิล์มหนัง รูปแต่ละรูปของฟิล์มหนัง มันคนละรูปกัน แต่ว่าพอเอามาเข้าเครื่อง มันก็เกิดภาพลวงตา มีตัวละครอยู่ตัวเดียวนี้ล่ะ เคลื่อนไหวไปมาได้ อันนี้เพราะว่ามันเกิดสันตติ คือความสืบต่อสืบเนื่อง เอารูปมาเรียงๆๆ กัน ต่อกันอย่างรวดเร็ว ก็เลยรู้สึกว่ามีตัวตนขึ้นมา ตัวตนนี้ล่ะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง อันนี้เวลาเราหัดดูจิตดูใจ ทีแรกเราก็จะเห็นจิตมีดวงเดียว เดี๋ยวก็วิ่งไปทางตา แล้วก็วิ่งกลับมา วิ่งไปทางหูแล้วก็วิ่งกลับมา อันนี้สันตติยังไม่ขาด ยังไม่ขึ้นวิปัสสนาหรอก ไม่ใช่วิปัสสนา

 

จิตเกิดดับสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว

เรามีสติเห็นตัวสภาวะ เห็นจิต แต่เราไม่มีปัญญา ที่จะแยกว่าจิตที่เกิดขึ้นนี้ มันเกิดดับสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว สันตติขาด เราก็จะรู้ว่าจริงๆ จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ดวงใหม่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ดวงที่ใหม่กว่าเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เราจะเห็นมันเกิดดับๆๆ สืบเนื่องกัน ตัวนี้เรียกว่าเห็นอนิจจังของจิต แล้วมันก็ทำลายภาพลวงตา ที่เดิมเราคิดว่า โอ๊ย จิตมีดวงเดียว จิตคือตัวเราวิ่งไปวิ่งมา ออกไปเสพอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คราวนี้พอมันขาดออกเป็นตัวๆ ไป เป็นดวงๆ ไป เราจะพบว่ามันไม่ใช่ตัวเรา มันมีแต่ของที่เกิดแล้วดับ ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตน เป็นอมตะ ถาวร ตรงนี้เป็นปัญญาชั้นละเอียดของเราชาวพุทธ

พระพุทธเจ้าบอกว่า “ปุถุชนที่ไม่ได้สดับ สามารถเห็นได้ว่าร่างกายไม่ใช่เรา” แต่มีแต่สาวกของท่าน ปฏิบัติไปถูกต้องแล้ว ถึงจะเห็นว่าจิตก็ไม่ใช่เรา เราจะเห็นจิตไม่ใช่เรา เมื่อสันตติของจิตมันขาด จิตดวงหนึ่งคือจิตที่ดูรูป เกิดแล้วก็ดับ จิตที่คิดถึงรูปอันนั้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับ จิตที่ปรุงแต่งไปจากความคิดเรื่องรูปอันนั้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับ อย่างจิตดวงหนึ่งมองเห็นรูป สิ่งที่เรียกว่ารูปก็คือสีนั่นล่ะ สีที่ตัดกันเป็นรูปร่างอย่างนี้ สัญญาก็เข้าไปหมาย โอ้ นี่ผู้หญิง แหม หุ่นดีเลย ที่จริงคือสีที่มันตัดกันเป็นรูปร่างอย่างนั้น

ตรงที่ตาไปเห็นรูป นั่นก็เป็นจิตดวงหนึ่ง มีจิตดวงหนึ่ง เป็นคนรับรู้รูปทางตา มีจิตอีกดวงหนึ่งส่งสัญญาณภาพเข้ามาที่ใจ มีจิตอีกดวงหนึ่งแปลสัญญาณ สัญญาเข้าไปช่วยแปล ทำงานขึ้นมาว่านี่รูปผู้หญิง แล้วก็ให้ค่า มีจิตที่ให้ค่า โอ้ สวย ชอบ ควรจะชอบ ก็มีจิตอีกกลุ่มหนึ่งเกิดขึ้น เป็นจิตที่มีราคะ จิตมันจะเกิดๆ ดับๆ สืบเนื่องกันมาถี่ยิบเลย พอมันมีราคะอยู่ช่วงหนึ่งมันก็ดับ ก่อนจะดับมันจะคล้ายๆ คอมพิวเตอร์เวลาเราปิดเครื่อง ตอน Shutdown มันไม่ดับปุ๊บ มันก็เซฟข้อมูล เซฟข้อมูลก่อน พอเซฟข้อมูลเสร็จ มันถึงจะปิดเครื่องได้ จิตก็ทำงานแบบนั้นเหมือนกัน

ที่จริงเราบอกว่า จิตทำงานเหมือนคอมพิวเตอร์ พูดไม่ถูกหรอก คอมพิวเตอร์มันมาทำงานเหมือนจิต คือพอจิตมันออกมารับอารมณ์ เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศลอกุศลช่วงหนึ่ง มันก็จะเซฟข้อมูลเอาไว้ ลงไปในภวังคจิต นี่เป็นฮาร์ดดิสก์ที่ใหญ่มาก บางคนสามารถขุดคุ้ยข้อมูล เมื่อตั้ง 4 อสงไขยแสนมหากัปก่อนได้ อย่างพระพุทธเจ้าคุ้ยข้อมูลได้เกินนั้นอีก ท่านสร้างบารมีทั้งหมด 20 อสงไขยแสนมหากัป ได้รับพยากรณ์ 4 อสงไขยแสนมหากัป มันสะสมอยู่ในภวังคจิต ข้อมูลทั้งดีและชั่ว เป็นตัวที่เก็บข้อมูล เก็บวิบากเอาไว้ ถึงเวลามันก็จะทำงานขึ้นมา กรรมดีให้ผลบ้าง กรรมชั่วให้ผลบ้าง แทรกแซงขึ้นมา

พอมันเซฟข้อมูลเสร็จ จิตก็ตกภวังค์ จิตตกภวังค์คือตัดกระแสความรับรู้ภายนอก ตัดทิ้งไป แล้วเดี๋ยวก็ขึ้นมา ขึ้นมาใหม่ ถ้าเราภาวนา เราจะเห็นเลย จิตมันทำงานเป็นช็อตๆๆๆ คือเป็นทีละดวงๆ เราจะพบว่า จิตที่รู้กับจิตที่หลงไปดูรูป คนละดวง จิตที่รู้กับจิตที่หลงไปฟังเสียง คนละดวง จิตที่รู้กับจิตที่หลงไปดมกลิ่น คนละดวง จิตที่รู้กับจิตที่ไปรู้สัมผัสทางร่างกาย คนละดวง จิตที่รู้กับจิตที่ไปรู้รส ก็คนละดวง จิตที่รู้กับจิตที่คิด ก็คนละดวง จิตที่รู้กับจิตที่เพ่ง ก็คนละดวง แล้วสิ่งที่เกิดร่วมกับจิตเสมอ ก็คือตัวเวทนา ฉะนั้นบางทีจิตดวงนี้มีความสุข เกิดแล้วก็ดับ จิตดวงนี้มีความทุกข์ เกิดแล้วก็ดับ จิตดวงนี้เฉยๆ เกิดแล้วก็ดับ

สิ่งที่เกิดร่วมกับจิตอีกอย่าง ก็คือตัวสังขาร ความปรุง เพราะฉะนั้นจิตบางดวงก็เป็นกุศล บางดวงก็เป็นอกุศล จิตอกุศลบางดวงก็โลภ บางดวงก็โกรธ จิตอกุศลทุกดวง หลง เราจะเห็นจิตมันเกิดดับๆ หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไป มีจำนวนมากนับไม่ถ้วน ฝ่ายปริยัติเขาชอบพูดบอกว่า “ลัดนิ้วมือเดียว มีจิตเกิดดับแสนโกฎิขณะ” คำว่า “แสนโกฎิ” ก็คือคำว่าล้านๆ ล้านๆ ขณะ ลัดนิ้วมือเดียวเป็นอย่างไร (ดีดนิ้ว) นี่ลัดนิ้วมือหนึ่ง บอกจิตเกิดดับแสนโกฎิขณะ อันนี้มันก็ over ไป วิทยาศาสตร์เขาทดสอบได้แล้วว่า จิตที่ออกมารับรู้อารมณ์ได้ ใช้เวลาเท่าไร

ฉะนั้นนักวิทยาศาสตร์ค้นพบได้ มันเร็วมาก แต่มันไม่ใช่แสนโกฏิขณะ อันนั้นนับแบบแขก แขกชอบนับตัวเลขให้เยอะๆ นับให้มากๆ อย่างพวกเรามานั่งอยู่ในห้องนี้ 200 – 300 คน ถ้าพูดสำนวนแขกเขาบอก วันนี้มีคนฟังธรรม 500 คน สำนวนแขก ถ้ามากกว่า 500 ก็ 84,000 มากกว่า 84,000 ก็แสนโกฎิ โห อัตราเร่งนี้เยอะมากเลย สำนวน แต่จุดสำคัญก็คือ จิตไม่ได้มีดวงเดียว มันจะเร็วแค่ไหน วิทยาศาสตร์มันพิสูจน์ได้ มันตามหลัง ตามหลังพิสูจน์มาเรื่อยๆ มันน่าอัศจรรย์ตรงที่ วิทยาศาสตร์พัฒนาขึ้นมาเท่าไรๆ มันก็พบว่าพระพุทธเจ้าสอนเอาไว้แล้ว พระพุทธเจ้าสอนเอาไว้ก่อนแล้ว อย่างความเกิดดับของจิตอะไรพวกนี้ พระพุทธเจ้าท่านสอน

ท่านสอนเรื่องจักรวาล บอกมีดวงดาวนับไม่ถ้วน แต่มีดวงดาวที่มีสัตว์อาศัยอยู่ ขนาดใหญ่ๆ นั้นมี 500 ดวง ตัวเลขหลวงพ่อจำไม่ได้แม่น แล้วขนาดเล็กๆ ขนาดโลกของเรานี้ มีเยอะแยะเลย มีเยอะแยะ ก็ค่อยๆ พิสูจน์ไป ตามหลังไป ท่านบอกเพื่อให้เห็นว่าอะไร ทำไมมีดวงดาว มีอะไรเยอะแยะ เพื่อให้เห็นว่าตัวเราเล็กนิดเดียว ตัวเราเล็กกว่าขี้ฝุ่นของจักรวาลอีก เล็กนิดเดียว อย่าใหญ่อย่าโตนักเลย ไม่ได้สาระหรอก ท่านสอนให้เรารู้จักเจียมเนื้อเจียมตัว มนุษย์เทียบกับโลก เทียบกับจักรวาล เทียบกับกาแล็กซี ใหญ่กว่ากาแล็กซีก็มีเยอะแยะ

 

สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ

พระพุทธเจ้าสอน “สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ” วิทยาศาสตร์ก็มาเจอหลุมดำ เจออะไร ดูดกลืนดวงดาวเข้าไปได้ทั้งดวงเลย มันก็คือสิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ เราไม่ต้องเรียนไกลขนาดนั้นหรอก เราเรียนลงมาที่จิตของเราเอง เราจะเห็นว่าจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น แล้วก็ดับไปทั้งวันทั้งคืน แล้วมีดวงใหม่เกิดขึ้นแทน จิตไม่ได้มีดวงเดียว การที่เราเห็นว่าจิตเกิดแล้วดับนั้น เราเห็นอนิจจัง การที่เราเห็นว่าจิตไม่ได้มีดวงเดียว เป็นอมตะ ถาวร เราเห็นอนัตตา เราจะรู้เลย มันไม่ใช่ตัวเราหรอก

มันมีเหตุ มันก็เกิด พอหมดกำลังของเหตุ มันก็ดับ มีแต่ความเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ไม่มีสิ่งใดเที่ยงแท้ถาวร เป็นอมตะ เพราะฉะนั้นอย่างที่พวกเราภาวนา แล้วบางทีบางคนภาวนาผิด ไปเพ่งเอาไว้ มีตัวหนึ่งนิ่งๆ คงที่อยู่ กลางวันก็อยู่ กลางคืนก็อยู่ อันนั้นเพ่งเอาไว้ ที่หลวงพ่อเจอทีไร หลวงพ่อจะต้องเล่นงานเลย “เฮ้ย ภาวนาอย่างนั้นยังไม่เข้าทาง ยังใช้ไม่ได้หรอก” เขาก็บอกว่า “เอ๊ะ เขาก็เห็นเกิดดับ เห็นสุขเกิดแล้วก็ดับ ทุกข์เกิดแล้วก็ดับ ดีเกิดแล้วก็ดับ ชั่วเกิดแล้วก็ดับ” บอก “เห็นอย่างนั้นยังไม่พอ ทำไมมันยังไม่เห็นว่า จิตเกิดแล้วก็ดับ”

มันเห็นว่าจิตเที่ยง มันรู้สึกในนี้มีตัวหนึ่งคงที่ถาวรอยู่ นี่คือตัวเรา แล้วมันรู้สึก ตัวนี้ตอนเด็กๆ กับเดี๋ยวนี้เป็นตัวเดิม แล้วก็ยังเชื่อต่อไป ตัวนี้กับเมื่อชาติก่อน มันก็ยังเป็นตัวเดิมอยู่ ตัวนี้กับชาติต่อๆ ไป ก็ยังเป็นตัวเดิม เราก็จะมีความรู้สึก มีความเชื่อ ว่าพอเราตายจิตก็ออกจากร่าง จิตดวงเดิมออกจากร่างไปเกิดใหม่ ไปหาที่อยู่ใหม่ อันนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ แล้วส่วนใหญ่พวกเราที่บอกเป็นชาวพุทธๆ เราเชื่อแบบนี้ คือเราเชื่อมิจฉาทิฏฐิ เพราะว่าเรายังไม่ได้เห็นของจริง ว่าจิตมันเกิดแล้วดับ

เราเลยคิดว่าจิตมันเที่ยง จิตมันเที่ยง จิตเป็นตัวตน ยิ่งถ้าเข้าสมาธิผิดประเภท จะรู้สึกว่าจิตเป็นอัตตา จิตเป็นอาตมัน เป็นอมตะ ศาสนาอื่นเขาจะรู้สึกว่าจิตเป็นอมตะ มีแต่พระพุทธศาสนานี้ล่ะถึงจะเห็น จิตนี้ไม่ใช่อมตะหรอก จิตเกิดดับตลอดเวลา ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านถึงบอกว่า มีแต่ในคำสอนของท่านนี้ล่ะ พวกเราถึงจะสามารถเห็นได้ว่าจิตไม่ใช่ตัวเรา ส่วนร่างกายไม่ใช่เรา คนศาสนาอื่นก็เห็น นี้เราภาวนา ถ้าเราอยากเข้าใจศาสนาพุทธจริงๆ ลัดสั้นที่สุด ก็เรียนเข้ามาให้ถึงจิตถึงใจตัวเองให้ได้ ถ้าเรียนเข้าถึงจิตใจตัวเอง เราจะเกิดความรู้ถูก ความเข้าใจถูกอย่างรวดเร็ว

ถ้าเรียนยังไม่ถึงจิต ก็เรียกว่าได้ส่วนที่ผิวเผิน ยังละได้ไม่เด็ดขาด ละอะไร ละความเห็นผิด ละความเห็นผิดได้ไม่เด็ดขาด อย่างเราภาวนา เราดูร่างกาย แยกแยะร่างกายเป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ แต่จิตเที่ยง ยังไม่ได้โสดาบันหรอก จะได้โสดาบันก็ต้องเห็น จิตเองก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน จิตเองก็ไม่ใช่ตัวเราเหมือนกัน ไม่มีตัวเราในขันธ์ 5 ขันธ์ 5 มีอะไรบ้าง ก็มีรูป มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณคือตัวจิต ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่มีตัวเราในขันธ์ 5 ไม่มีตัวเรานอกเหนือจากขันธ์ 5 ไม่มีตัวเราตรงไหนเลย อันนั้นถึงจะได้โสดาบัน

เพราะฉะนั้นถ้าเราไปภาวนา แล้วเราก็ทำจิตนิ่งๆ แข็งๆ ทื่อๆ อยู่ เกือบร้อยละร้อยของนักปฏิบัติทำแบบนั้น แล้วจะรู้สึกว่าจิตมันเที่ยง ฉะนั้นค่อยภาวนา ทีแรกก็เห็นสภาวะให้ได้ก่อน สภาวะของจิต ต่อไปก็ฝึกให้มีสติว่องไว มีกำลังสมาธิแข็งแรงพอ สันตติจะขาดให้ดู เราจะเห็นว่าจิตสุขก็ดวงหนึ่ง จิตทุกข์ก็ดวงหนึ่ง จิตไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดวงหนึ่ง จิตดีก็ดวงหนึ่ง จิตโลภก็ดวงหนึ่ง จิตโกรธก็ดวงหนึ่ง จิตหลง จิตหลงมันเกิดร่วมกับจิตโลภก็ได้ จิตโกรธก็ได้ เกิดเดี่ยวๆ ก็ได้ มันเก่ง เป็นพ่อเป็นแม่ของกิเลส ตัวโมหะ ตัวหลง

 

วิธีที่เราจะเห็นจิต เรียกว่าฝึกให้มีสติ

เราค่อยๆ เรียน ค่อยๆ ดูไป ให้เห็นว่าจิตดวงหนึ่งเกิดแล้วก็ดวงหนึ่งดับ อันแรกเลยวิธีที่เราจะเห็นจิต เรียกว่าฝึกให้มีสติ รู้ความมีอยู่ของจิต วิธีฝึกทำอย่างไร วิธีฝึกก็คือ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตใจของตนเอง เราจะเรียนรู้จิต ไม่ต้องไปเที่ยวหาจิต หลวงปู่ดูลย์บอกว่า “ใช้จิตแสวงหาจิต อีกกัปหนึ่งก็ไม่เจอ” เพราะฉะนั้นเวลาเราจะลงมือปฏิบัติ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ได้โปรดเถอะ ทำสักอย่างหนึ่ง ไม่ใช่นั่งคิดไปเรื่อยๆ

ทำกรรมฐานอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่ง ขออย่างเดียว ทำกรรมฐานแล้วรู้ทันจิตตัวเอง เช่น เราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หายใจไปพักหนึ่ง หนีไปคิดเรื่องจะไปดูซีรีส์ หรือจะไปดูหนัง หรือจะไปฟังเพลง หรือหายใจเข้าพุทออกโธแป๊บเดียว ลืมพุทโธไปแล้ว วันนี้นัดกับเพื่อนตอนเย็น เดี๋ยวจะไปกินข้าวที่ไหนดี อย่างนี้จิตมันหลงแล้ว ถ้าเราทำกรรมฐานไป แล้วจิตหลงไป แล้วเรารู้

ทีแรกรู้ช้าไม่เป็นไร ต่อไปมันจะรู้ได้เร็ว อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป จิตหลงไปคิด ทีแรกคิดไปตั้งชั่วโมง แล้วเสร็จแล้วเพิ่งนึกได้ เฮ้ย ลืมพุทโธ กลับมาพุทโธ กลับมาหายใจใหม่ ต่อไปลืมครึ่งชั่วโมง ก็จะนึกได้ เราก็หายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป มีสติคอยระลึกรู้ ตามรู้ร่างกายหายใจ จิตใจบริกรรม คอยรู้ๆๆๆ ต่อไปพอมันลืมการหายใจ ลืมการบริกรรม มันลืมได้ไม่นาน สติมันจะเกิด เฮ้ย ลืมหายใจเข้า หายใจออก ลืมพุทโธไปแล้ว

เพราะฉะนั้นการที่เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตัวเองไว้ จิตหลงไป ช่างมันไม่ว่ามัน ก็กลับมาทำกรรมฐานใหม่ ก็ทำไปเรื่อยๆ ต่อไปมันจะหลงสั้นลงๆ มันจะรู้สึกตัวได้เร็วขึ้นๆ ตรงที่จิตหลงสั้นลงๆ รู้สึกตัวได้เยอะขึ้นๆ จิตก็ฟุ้งซ่านน้อยลงๆ พอจิตฟุ้งซ่านน้อย จิตก็จะเริ่มมีกำลัง จิตที่ไม่มีกำลัง ก็เพราะจิตมันใช้กำลังไปหมด เดี๋ยวก็วิ่งไปดูรูป เดี๋ยววิ่งไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปคิดนึกทางใจ มันก็เลยไม่มีแรงเสียที จิต เพราะมันใช้แรงไปหมด

ถ้าเราน้อมจิตอยู่กับกรรมฐานของเราไปเรื่อยๆ หลงแล้วรู้ไป หลงแล้วรู้ไป จิตก็ไม่ค่อยแกว่งออกไป ไหลออกไปก็ไหลสั้นๆ จิตก็ค่อยๆ มีกำลังขึ้นมา เหมือนอย่างคนที่หลวงพ่อพูดถึงเมื่อกี้ นั่นเขาใช้บริกรรมเอา นะโมพุทธายะ นะโมพุทธายะไป พอจิตมันรวมลงไป จิตมีกำลังสะสม จิตมีเรี่ยวมีแรง จิตหลงไปคิดแล้วรู้ หลงไปคิดแล้วรู้ได้ ต่อไปมันก็เห็น เดี๋ยวจิตก็หลงไปคิด เดี๋ยวก็จิตหลงไปรู้ ไปฟังเสียง ไปดูรูป ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปคิดทางใจ ไปเพ่งทางใจ เราก็จะเริ่มเห็นพฤติกรรมของจิต หรือเห็นความรู้สึก จิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว

ดูจิตเราจะเห็นได้ 2 อย่าง เราดูผ่านเจตสิกคือความรู้สึกสุข ทุกข์ ดี ชั่ว แล้วเราจะเห็นจิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ จิตดี จิตชั่ว เกิดแล้วดับ อีกอันหนึ่งก็ดูผ่านอายตนะ จิตที่รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ เกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไปดูรูป เกิดแล้วก็ดับ ไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดแล้วดับ จะดูผ่านเจตสิกก็ได้ เห็นจิตเกิดดับผ่านทางเจตสิก คือความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ กุศลอกุศลทั้งหลาย แล้วจะเห็นจิตมีหลากหลาย วิจิตรพิสดาร เดี๋ยวก็เป็นจิตสุข เดี๋ยวก็เป็นจิตทุกข์ เดี๋ยวก็เป็นจิตเฉยๆ

ดูตอนแรกๆ มันก็ยังเห็นว่าจิตมีดวงเดียว เดี๋ยวก็มีความสุขเข้ามา แล้วก็หายไป ความทุกข์เข้ามาแล้วก็หายไป แต่พอกำลังของสมาธิเรามากพอ จิตตั้งมั่นมากพอ เป็นผู้รู้ผู้ดูจริงๆ เราจะเห็นเลย ความสุขไม่ใช่จิต ความสุขเป็นสิ่งที่ผ่านเข้ามา เหมือนเมฆผ่านเข้ามาบังดวงจันทร์ แล้วก็ผ่านออกไป เดี๋ยวเมฆก้อนอื่นก็เข้ามา แล้วก็ผ่านออกไป เห็นอย่างนี้ก่อน ก็จะเห็นเลยจิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ

ค่อยๆ หัดดูไป ฝึกดู แต่เปรียบเทียบกับพระอาทิตย์พระจันทร์ ก็ยังไม่ดี เพราะว่าพระอาทิตย์พระจันทร์มันไม่ดับให้เราดู แต่จิตมันดับ จิตสุขดับพร้อมๆ กับความสุข จิตทุกข์ดับพร้อมๆ กับความทุกข์ จิตไม่สุขไม่ทุกข์ ดับพร้อมๆ กับความไม่สุขไม่ทุกข์ จิตที่เป็นกุศลดับพร้อมกับกุศล จิตที่โลภดับพร้อมกับโลภ จิตที่โกรธดับพร้อมกับโกรธ จิตที่หลงดับพร้อมกับหลง มันดับไปพร้อมๆ กัน ระหว่างจิตกับเจตสิก เป็นสิ่งที่เกิดร่วมกัน แล้วก็ดับร่วมกัน

ค่อยๆ ฝึกเรื่อยๆ การที่เราทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง แล้วจิตเคลื่อนไปเคลื่อนมาเราเห็น อันนั้นเรามีสติรู้ตัวสภาวะคือรู้จิต แล้วเรายังเห็นจิตมันเคลื่อนไปเคลื่อนมา พอเราฝึกไปเรื่อยๆ จิตมีกำลังมากขึ้นๆ ไม่หลงยาว จิตก็มีแรงขึ้นมา พอจิตตั้งมั่นมีแรงขึ้นมา ต่อไปมันจะเริ่มแยกได้ ตอนนี้จิตมันตั้งมั่นอยู่ เอ้า เผลอแวบเดียวหนีไปคิดแล้ว มันจะเห็นว่าจิตที่ตั้งมั่นกับจิตที่คิด คนละดวงกัน มันจะเห็นได้ ตรงนี้สันตติขาดแล้ว เราเริ่มขึ้นวิปัสสนาจริงๆ แล้ว

 

“ค่อยๆ เดิน ถือศีลไว้ ทุกวันทำในรูปแบบไป ไม่ขี้เกียจ อดทนไว้”

 

พอรู้เรื่องไหม มันละเอียดนิดหนึ่ง แต่เบสิกหลวงพ่อสอนมาเยอะแล้ว ไปดูยูทูปเอา คนที่ดูยูทูปเอา แล้วภาวนาเป็นเยอะแยะเลย นับจำนวนไม่ถูกแล้วตอนนี้ เพราะฉะนั้นอย่างเราดูจิต มันก็ดูได้ 2 ระดับ อันหนึ่งเราเห็นสภาวะของจิต วิธีเห็นสภาวะของจิต คือทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไป ตรงนี้มันยังเห็นว่าจิตไหลไปไหลมา แล้วต่อมาพอกำลังของสมาธิเราแข็งแรงขึ้น จิตมีกำลัง แล้วสติว่องไวขึ้น เราจะเห็นจิตมันขาดเป็นดวงๆ ได้ มันจะหมายรู้ถูกแล้วว่า จิตนั้นเองก็เกิดดับ มีความไม่เที่ยง หมายรู้ถูกเกิดขึ้นแล้ว

ค่อยๆ ฝึก ฟังแล้วเหมือนยาก แต่เริ่มต้นเสียก่อน แล้วค่อยเดินไปทีละก้าว ไม่ยาก ถ้าฟังหลวงพ่อพูดอย่างนี้ เหมือนเราจะขึ้นภูเขาทอง คนโบราณเขาพูดอย่างนั้น ขึ้นภูเขาทอง อยู่กับพื้นดิน แล้วมองเจดีย์บนภูเขาทอง จะก้าวทีเดียวให้ถึงไหม ก็ตกลงมาแข้งขาหักตายเท่านั้นเอง เดินไปทีละก้าว เดินไปทีละก้าว เดินไปเรื่อยๆ ไม่รีบร้อน เดี๋ยวหกคะเมนลงมา เดินไปเรื่อยๆ เดี๋ยววันหนึ่งก็ถึง การภาวนาเหมือนกัน เดินไปเรื่อยๆ เดินให้ถูก เดี๋ยววันหนึ่งก็ถึง ก็จะเข้าใจสิ่งที่หลวงพ่อบอก

พวกเราหลายคนที่บอก ฟังหลวงพ่อเข้าใจ ฟังหลวงพ่อเข้าใจ พอภาวนาไปถึงช่วงหนึ่ง แล้วพบว่าของเก่าที่ว่าเข้าใจ ไม่เข้าใจหรอก มีความเข้าใจใหม่ ที่ชัดเจนแจ่มแจ้งมากกว่าเก่า ค่อยภาวนาไปอีก แล้วบอกตอนนี้เข้าใจแล้ว ต่อไปก็พบว่า ยังมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งกว่านั้นอีก เป็นลำดับๆ ไป เหมือนเราเดินขึ้นภูเขา ค่อยๆ เดินไป ไม่ต้องพรวดเดียวขึ้นยอดเขา ค่อยๆ เดิน ค่อยๆ เดินอย่างไร ถือศีลไว้ ทุกวันทำในรูปแบบไป ไม่ขี้เกียจ อดทนไว้

ทำในรูปแบบ ก็คือทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตใจตัวเองไว้ จิตสงบก็ได้ ฟุ้งซ่านก็ได้ ไม่ใช่ไปนั่งเพื่อให้จิตสงบ ถ้าตั้งเป้าจะนั่งให้จิตสงบ จิตจะไม่สงบหรอก เหมือนเราอยากหลับ มันจะไม่ยอมหลับ ไม่ได้เจตนาหลับ หลับเอาๆ อยู่ในห้องเรียนอยากจะตื่นใช่ไหม เดี๋ยวก็หลับ แต่เวลาถึงเวลานอน อยากหลับไม่หลับหรอก จิตก็เหมือนกัน

ค่อยๆ เรียนไปเป็นลำดับๆ ไม่ต้องอยาก ทีแรกก็ทำกรรมฐานไปสักอย่างหนึ่ง แล้วจิตมันฟุ้งซ่าน คิดโน่นคิดนี่ ไม่ยอมอยู่กับหายใจเข้าพุทออกโธ จิตฟุ้งซ่านไป โมโหดีไหม โมโหไม่ดีหรอก แต่มันชอบโมโห ห้ามไม่ได้ หงุดหงิด โอ๊ย ฟุ้งซ่านจังเลย พอฟุ้งซ่านแล้วต่อด้วยรำคาญใจ รำคาญ ไม่ต้องไปโกรธมัน ที่เราโมโหก็เพราะเราอยากสงบ เพราะฉะนั้นหายใจไป ปฏิบัติไป จิตฟุ้งซ่าน รู้ว่าฟุ้งซ่าน ไม่ชอบที่จิตฟุ้งซ่าน รู้ว่าไม่ชอบ อยากให้จิตสงบ รู้ว่าอยาก รู้เข้าไป

ฉะนั้นเบื้องต้นรู้สภาวะที่มีที่เป็น รู้ความรู้สึก รู้อารมณ์ที่เกิดขึ้น คือเบื้องต้นของการปฏิบัติ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันอารมณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นมา แล้วก็รู้ทันปฏิกิริยาของจิต ที่ยินดีต่ออารมณ์ ที่ยินร้ายต่ออารมณ์อันนั้น แล้วจิตจะสงบอย่างรวดเร็วเลย อย่างถ้าเราภาวนา เราหายใจ เราอยากให้จิตสงบ ไม่สงบ แต่ถ้าเราวางใจว่าสงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่เราทำกรรมฐานของเราไปสบายๆ รู้เนื้อรู้ตัว ไม่ให้ขาดสติ แล้วสงบอย่างรวดเร็วเลย

เคล็ดลับมันอยู่ตรงนี้ล่ะ อยากก็ไม่สงบหรอก แต่ถ้าเป็นกลางแล้วสงบ เป็นกลางสงบทันทีเลย ฟุ้งซ่านอยู่ เห็นความฟุ้งซ่าน ไม่พอใจรู้ว่าไม่พอใจ ความไม่พอใจดับ จิตเป็นกลางต่อความฟุ้งซ่าน จิตสงบทันทีเลย วันก่อนก็มีคนหนึ่งถามว่า “จิตฟุ้งซ่าน จะทำอย่างไร” บอก “โอ้ ทำได้หลายอย่าง” เขาก็ชักงงเหมือนกัน เพราะบางวันก็ได้ยินหลวงพ่อสอนคนหนึ่ง ฟุ้งซ่านก็ทำสมถะ อีกวันหนึ่งบอก ฟุ้งซ่านให้รู้ว่าฟุ้งซ่าน เอาอย่างไรดี อันไหนถูก อันไหนถูกก็ไปดูตัวเอง วิธีไหนใช้ได้ก็ใช้วิธีนั้น

เพราะฉะนั้นเวลาฟุ้งซ่าน อย่างสมมติฟุ้งซ่านหรือโกรธ หรือโลภอย่างรุนแรง มีความใคร่อย่างรุนแรง ถ้าเรายังมีกำลังพอ เราก็รู้เข้าไปตรงๆ เลย จิตมีราคะรุนแรงขึ้นมา รู้ ไม่ต้องอยากหาย รู้เฉยๆ แล้วก็อยากหายขึ้นมา ไม่ชอบเลยมีราคะรุนแรง ให้รู้ที่ไม่ชอบ พอความไม่ชอบดับไป จิตเป็นกลางต่อความที่มีราคะรุนแรง พอจิตเป็นกลางปุ๊บ มันขาดสะบั้นทันทีเลย หรือจิตโกรธ หงุดหงิด รำคาญ ไม่ต้องไปนั่งให้มันหาย

ถ้าจะเดินด้วยวิธีใช้ปัญญา ไม่ได้ใช้สมาธินำ ใช้ปัญญา เช่น จิตมันโกรธขึ้นมา จิตมันหงุดหงิดขึ้นมา รู้เข้าไปเฉยๆ โอ้ กำลังหงุดหงิดอยู่ ถัดจากนั้นสังเกตเห็น จิตมันเห็นเอง ไม่ต้องพยายามสังเกต พยายามสังเกตเมื่อไรเละทันทีเลย ฟุ้งซ่านทันทีเลย ได้ยินหลวงพ่อพูดอย่างนี้ เวลาจิตมีโทสะ จิตมีราคะ จิตฟุ้งซ่านอะไรอย่างนี้ ไม่ต้องไปอยากหาย แต่ถ้าอยากขึ้นมา อยากให้มันหาย ให้รู้ที่อยาก

 

เมื่อไรรู้ทันความไม่เป็นกลาง จิตที่ไม่เป็นกลางจะดับ
เกิดจิตที่เป็นกลางขึ้นเองโดยอัตโนมัติ

ตรงที่ได้ยินหลวงพ่อพูดบอกว่า ให้รู้ด้วยความไม่ยินดียินร้าย รู้ด้วยความเป็นกลาง จิตที่ได้ยินธรรมะอย่างนี้แล้ว เวลาเราภาวนา เวลามันเกิดความโกรธเกิดขึ้น แล้วมีความอยากให้หายโกรธเกิดขึ้น มันเคยได้ยินได้ฟังธรรมะที่ว่าให้รู้ ถ้ายินร้ายขึ้นมาก็ให้รู้ มันจะรู้เอง มันจะรู้เอง เพราะมันเคยได้ยินธรรมะอันนี้แล้ว พอได้ยินธรรมะอันนี้แล้ว มันจะไปหมายรู้เอาเอง

เพราะฉะนั้นเวลาที่หลวงพ่อเทศน์ บางทีพวกเราไม่ต้องกังวลว่า มันจะทำได้อย่างไร หลวงพ่อเทศน์ด้วยจิตของหลวงพ่อ เราฟังด้วยจิตของเรา เข้าใจหรือไม่เข้าใจ ไม่สำคัญหรอก ฟังไว้ก่อน ฟังด้วยจิตที่สงบ จิตที่เปิดรับ ไม่ใช่จิตที่ต้าน ถ้าจิตที่ต้าน ทำอย่างไรก็รับธรรมะไม่ได้ เหมือนหลวงปู่แหวนท่านบอก “เหมือนตักน้ำใส่หลังหมา” หมาสะบัดทีเดียวน้ำไปหมดแล้ว ไม่ซึมเข้าถึงหนังหมาหรอก ติดขนหมาก็หมดแล้ว

แล้วใจที่ปิดมันรับธรรมะไม่ได้ ใจที่เปิดเป็นอย่างไร คือใจที่พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ ไม่เป็นชาล้นถ้วย ใจที่เปิด แล้วพอได้ยินหลวงพ่อบอกว่า ต่อไปเรานั่งสมาธิ จิตฟุ้งซ่าน ไม่ต้องไปอยากหายหรอก ถ้ามันมีความอยากเกิดขึ้น อยากสงบ อยากให้ไม่ฟุ้งซ่าน ให้รู้เข้าไปเลย มันไม่ชอบความฟุ้งซ่าน มันชอบความสงบ มันอยากให้หายฟุ้งซ่าน มันอยากให้เกิดความสงบ ให้รู้ตัวนี้เข้าไป ในที่สุดจิตมันจะเป็นกลางเอง เป็นกลางเอง ไม่ต้องไปทำให้มันเป็นกลาง

ถ้าเมื่อไรรู้ทันความไม่เป็นกลาง จิตที่ไม่เป็นกลางจะดับ เกิดจิตที่เป็นกลางขึ้นเองโดยอัตโนมัติ แล้วตรงที่จิตมันเป็นกลาง จิตจะหมดความดิ้นรน ทันทีที่จิตหมดความดิ้นรน จิตสงบทันที จิตที่ไม่สงบเพราะมันดิ้นรน ทำไมมันดิ้นรน เพราะมันอยากได้อารมณ์อันนี้ มันอยากรักษาอารมณ์นี้ไว้ มันอยากผลักไสอารมณ์นี้ออกไป มันชอบอารมณ์อย่างนี้ มันเกลียดอารมณ์อย่างนี้ มันมีรัก มันมีชัง มันก็เลยเกิดตัณหา อยากได้ อยากเป็นอยู่ อยากให้สิ้นไป

ถ้าเรารู้ทัน มันยินดี รู้ทัน ยินร้าย รู้ทัน จิตก็ไม่ได้มีความอยากเกิดขึ้น จิตก็ไม่ถูกผลักดันให้ดิ้นรน เมื่อจิตไม่ดิ้นรน อะไรจะเกิดขึ้น จิตก็สงบ รู้หรือยังว่าวิธีทำความสงบที่แสนง่าย รู้ทันจิตที่ไม่สงบ รู้ด้วยความเป็นกลาง รู้ปุ๊บสงบปั๊บ ทำให้ดู นี่เสร็จแล้ว ฝึกเอา จงใจแรงไป รู้ด้วยใจที่ปกติ พอฝึกๆ อย่างนี้ ในที่สุดใจมันจะตั้งมั่น มีสมาธิขึ้นมา แล้วต่อไปค่อยๆ แยกขันธ์ แยกกายกับจิตคนละอัน ความสุขความทุกข์ทางกายกับจิต คนละอัน ความสุขความทุกข์ทางใจกับจิต คนละอัน กุศลอกุศลกับจิต คนละอันกัน จิตเองก็เกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ถ้าทำได้อย่างที่หลวงพ่อบอก มรรคผลไม่ไกลหรอก ในชีวิตนี้โอกาสจะเข้าถึงมรรคผล เป็นไปได้สูง เพราะเดินถูกเส้นทางแล้ว ฉะนั้นเดินไปตามลำดับ เบื้องต้นฝึกให้จิตตั้งมั่นเสียก่อน ไม่ใช่ฝึกบังคับให้สงบ สอนวิธีไปแล้ว ให้รู้ทัน จิตฟุ้งซ่าน ให้รู้ทัน ไม่ชอบที่ฟุ้งซ่าน อยากสงบ ชอบอันหนึ่ง เกลียดอันหนึ่ง ให้รู้ทันลงไป แล้วจิตจะเป็นกลางและสงบเอง พอสะสมไปเรื่อยๆ จิตจะมีแรงขึ้นมา ที่มีแรงเพราะมันไม่ฟุ้งซ่าน พอมันมีกำลังขึ้นมาแล้ว

จริงๆ ตัวที่ทำให้จิตไม่มีแรง ไม่เฉพาะความฟุ้งซ่านหรอก มันก็คือตัวนิวรณ์ทั้ง 5 ตัวนั่นล่ะ ไปถามหลวงตากูเกิลดู นิวรณ์ 5 ตัว ไอ้ตัวนี้มันทำให้จิตเราไม่มีสมาธิ ถ้ารู้ทันก็ดับหมด กิเลสมันสู้สติ สู้ปัญญาไม่ได้หรอก รู้ทันมันก็ดับ พอจิตตั้งมั่นมีแรงแล้ว แยกขันธ์ไป ถ้าแยกจิตยังไม่ออก แยกสุขทุกข์ ดีชั่ว กับจิตยังไม่ออก แยกจิตที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ยังไม่ออก ก็ดูแยกจิตกับกายไปก่อน หัดแยกอย่างนั้นไปก่อน แล้วต่อไปมันก็จะเข้าไปแยกจิตได้เอง

ค่อยๆ สะสม พอสติ สมาธิ ปัญญาแก่กล้าพอ มันก็แยกได้เอง แยกขันธ์ได้ทั้งหมด แล้วก็เห็นขันธ์ทั้งหมดตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ไม่มีตัวเราในขันธ์ทั้ง 5 นี้ เราก็จะเป็นพระโสดาบัน ไม่ยากหรอก ง่าย สมัยพุทธกาลก็ฟังเทศน์พระพุทธเจ้า ก็เป็นพระโสดาบันทีหนึ่งตั้ง 1,000 คน ก็ยังเป็นได้ เราก็ไม่ได้โง่กว่าคนยุคโน้นหรอก แต่เราฟุ้งซ่านกว่าเขาเท่านั้นล่ะ สิ่งยั่วยวนมันเยอะ

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
23 กันยายน 2566