เมื่อเช้ามีโยมที่ช่วยงานวัดมาถาม ก็เป็นคำถามที่ดีและมีประโยชน์กับพวกเราเกือบทุกคน บอกว่า เอ๊ะ ทำไมเป็นฆราวาส ทำไมจิตมันตั้งมั่นยากเหลือเกิน ไม่เหมือนตอนบวช ที่จริงการบวชมันก็บวชแค่เปลี่ยนเครื่องแบบ เครื่องแต่งตัว แล้วใจเราก็คนเดิมนั่นล่ะ เพียงแต่การบวชมันมีความสะดวกที่จะปฏิบัติ คือไม่ต้องห่วงเรื่องทำมาหากิน ไม่ต้องมีปัญหาเรื่องครอบครัวเรื่องอะไร วางเรื่องโลกๆ ไป มีเวลาดูแลจิตใจตัวเองได้เต็มที่ แต่หลวงพ่อก็บอกเขาว่า ส่วนใหญ่เป็นพระบวชเข้ามา มันก็เป็นแค่ฆราวาส ฆราวาสใส่เครื่องแบบพระเท่านั้น ใจยังเป็นฆราวาสอยู่ ก็ต้องสู้กับกิเลสหนักเหมือนกัน
ถ้าฆราวาสจับหลักการปฏิบัติได้แม่น แล้วขยันปฏิบัติ ในขั้นต้นๆ ไม่แพ้พระ เราบอกเราอยู่กับโลกวุ่นวาย วัดมันก็โลกๆ หนึ่งเหมือนกัน วุ่นวายไม่ได้แพ้กันหรอก เพียงแต่มันเป็นโลกที่เล็กหน่อย ทำอย่างไรจิตเราจะตั้งมั่นอยู่ได้ท่ามกลางความวุ่นวาย อันนี้ล่ะเป็นปัญหาที่ท้าทายนักปฏิบัติ ฆราวาสทำได้ ถ้ารู้วิธีที่จะทำแล้วก็ขยันทำ 2 เงื่อนไข รู้วิธีก็คือทำได้ถูกต้อง พอทำถูกแล้วต้องทำต่อเนื่อง ทำเยอะๆ ถ้าฆราวาสเข้าใจ 2 จุดนี้ ไม่แพ้พระหรอก ในขั้นต้นๆ แต่ขั้นที่สูงขึ้นไปสู้พระไม่ได้หรอก ฆราวาสยังหมกอยู่ในกาม
ฉะนั้นถ้ายังเป็นธรรมะในระดับที่ยังอยู่ในกามาวจร ขั้นโสดาบัน สกทาคามี ฆราวาสไม่แพ้พระหรอก ขอให้รู้วิธีแล้วก็ขยัน วิธีการปฏิบัติ ไม่ใช่ตั้งคำถามขึ้นมาว่า ทำอย่างไรจิตจะตั้งมั่น เห็นไหมมันมีคำว่าอะไร มีคำว่า “ทำ” ทำอย่างไรจิตจะตั้งมั่น คำตอบก็คือทำไม่ได้ ทำไมถึงทำไม่ได้ เพราะจิตมันเป็นอนัตตา เราไปทำให้มันตั้งมั่นตามใจชอบไม่ได้หรอก ก็ต้องทำเหตุของมันไป จิตที่ตั้งมั่นก็คือจิตที่มันไม่หลงแส่ส่าย ไปหยิบฉวยอารมณ์นั้นอารมณ์นี้ แส่ส่ายออกไป มันก็ไม่ตั้งมั่น
ทำอย่างไรมันจะไม่แส่ส่าย ก็มีหลายวิธี วิธีหนึ่งก็คือหาอารมณ์ที่มันมีความสุขมาล่อมัน ให้มันเพลิดเพลินยินดีพอใจอยู่ในอารมณ์อันเดียว อย่างหลวงพ่อตอนเด็กๆ อารมณ์ที่ทำแล้วมีความสุข คือหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ พอเรามาหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตใจมันมีความสุข มันก็ไม่แส่ส่ายออกไปข้างนอก มันก็สงบอยู่กับเนื้อกับตัว อีกวิธีหนึ่งก็คืออาศัยสติของเรา คอยรู้ทัน เวลาสภาวะอะไรเกิดขึ้นแก่จิตใจ เช่น จิตฟุ้งซ่าน พอจิตฟุ้งซ่าน ไม่ได้คิดว่าทำอย่างไรจิตจะสงบ ถ้าคิดจะทำ ไม่มีทางสงบเลย เพราะการทำมันก็เหมือนเรากวนน้ำให้ขุ่น น้ำก็ยิ่งขุ่นมากขึ้นไปอีก เราไม่ทำแต่เรารู้ทันจิตใจตัวเอง
จิตมันฟุ้งซ่าน รู้ว่าฟุ้งซ่าน บางคนบอกรู้แล้วก็ยังฟุ้งซ่าน ไม่เห็นมันจะตั้งมั่นตรงไหนเลย นึกถึงประโยคที่หลวงพ่อบอกไว้ว่า “ให้มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง” แล้ววงเล็บ “ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง” จิตเราไม่ยอมตั้งมั่น แล้วเราก็ยิ่งไม่ชอบ ยิ่งอยากตั้งมั่น ตรงนี้เราไม่เป็นกลางต่อความไม่ตั้งมั่น เราอยากจะตั้งมั่น ฉะนั้นวิธีที่ง่ายๆ ง่ายอย่างยิ่งเลย เวลาจิตเราฟุ้งซ่าน หรือจิตเรามีโมหะมืดมัว ดูอะไรไม่รู้เรื่อง สับสนไปหมด ไม่ต้องคิดว่าจะแก้อย่างไร
ไม่ต้องคิดว่าจะต้องแก้ไขอย่างไร จิตฟุ้งซ่านรู้ว่าฟุ้งซ่าน จิตมีโมหะมืดมัว รู้ว่ามืดมัว แล้วก็รู้ทันเข้าไปที่จิตของตัวเอง จิตไม่ชอบความฟุ้งซ่าน จิตไม่ชอบความมืดมัว จิตอยากได้ความสงบ จิตอยากได้ความสว่างแจ่มใส รู้ลงไป จิตมันยินดีข้างหนึ่ง มันยินร้ายข้างหนึ่ง มันยินร้ายกับความไม่สงบ ยินร้ายกับความฟุ้งซ่าน มันรักใคร่ยินดีในความสงบ ในความไม่ฟุ้งซ่าน ในความสงบ ในความสว่างแจ่มใส มันมีความยินดี มีความยินร้ายเกิดขึ้น เมื่อเกิดความยินดียินร้าย จิตก็จะยิ่งดิ้นรนทำงานมากขึ้น แทนที่จิตจะสงบ จิตกลับทำงานมากขึ้น
อย่างเวลาเราภาวนาแล้วจิตเราไม่สงบ เราพยายามจะให้สงบ ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ มันยิ่งฟุ้งซ่าน ตรงที่อยากทำแล้วก็ดิ้นรนทำนั่นล่ะ มันทำให้ฟุ้งซ่านมากขึ้น แต่ถ้าเราตัดที่ต้นตอของมัน เรารู้ จิตฟุ้งซ่านเราไม่ชอบ รู้ว่าไม่ชอบ ความไม่ชอบดับ จิตเป็นกลาง พอจิตเป็นกลาง ความฟุ้งซ่านมันทนอยู่ไม่ได้ มันดับขาดสะบั้นทันทีเลย พอจิตมันเป็นกลางได้ มันตั้งมั่นอัตโนมัติอยู่แล้ว มันตั้งมั่น มันเป็นกลางขึ้นมา ก็เอื้อให้เกิดปัญญา ปัญญาทำหน้าที่ตัดสิ่งที่ไม่ดีออกไป
อย่างความฟุ้งซ่านอย่างนี้ พอความฟุ้งซ่านเกิด สติรู้ทัน จิตตั้งมั่น จิตเป็นกลาง จะเกิดปัญญา ปัญญาก็ตัดความฟุ้งซ่านขาดสะบั้นออกไป จิตก็ตั้งมั่น สงบ เด่นดวงอยู่ เพราะฉะนั้นไม่ต้องพยายามทำจิตให้สงบ ไม่ต้องทำจิตให้ตั้งมั่น ให้รู้ทันเวลามันไม่สงบ เวลามันไม่ตั้งมั่น พอรู้ทันแล้วสังเกตลงไป จิตยินดีให้รู้ทัน จิตยินร้ายให้รู้ทัน ถ้าเราถอดถอนความยินดียินร้ายเสียได้ ความดิ้นรนปรุงแต่งของจิตมันก็หยุด จิตมันก็สงบ ตั้งมั่น เด่นดวง เป็นกลาง ง่าย ง่ายมาก แต่ถ้าเราไม่รู้วิธี โอ๊ย ยาก อย่างจิตเราฟุ้งซ่าน ไปนั่งสมาธิไปเดินจงกรม เมื่อไรมันจะสงบ เขาฝึกสมาธิก็ฝึกกันเป็นสิบๆ ปี ถึงจะชำนิชำนาญ ไม่ทัน ไม่ทันกิเลสของคนรุ่นนี้
ฉะนั้นอาศัยสติรู้ทันลงไป จิตฟุ้งซ่าน รู้ทัน จิตยินร้ายต่อความฟุ้งซ่าน รู้ทัน แล้วจิตจะสงบเอง ตั้งมั่นเอง อันนี้คือการใช้ปัญญานำสมาธิ หลักตัวนี้ใช้ปัญญานำสมาธิ แต่ตอนที่หลวงพ่อหัด หลวงพ่อใช้สมาธินำปัญญา เพราะยุคนั้น ไม่ได้ยินครูบาอาจารย์องค์ไหน สอนเรื่องปัญญานำสมาธิ ไปที่ไหนก็มีแต่เรื่องหายใจเข้าพุทออกโธ ไม่ก็พุทโธๆ เป็นเรื่องของการทำสมาธิ ปัญหาก็คือคนส่วนใหญ่ ทำสมาธิแล้วมันขึ้นปัญญาไม่ได้ มันก็ติดสมาธิสงบซื่อบื้ออยู่อย่างนั้น เกือบร้อยละร้อยของนักปฏิบัติ ไปทำสมาธิแล้วไปติดสมาธินิ่งๆ ซื่อบื้ออยู่ บางคนก็เคลิ้มๆ บางคนก็เห็นโน่นเห็นนี่ พอเห็นโน่นเห็นนี่แล้วก็ภูมิใจ
อย่างพวกเราบางคนหัดเจริญสติอยู่ดีๆ แล้วก็อยากรู้ ตอนนี้พ่อเราตายแล้วไปอยู่ที่ไหน แม่เราตายแล้วไปอยู่ที่ไหน ใจอยากรู้ ภาวนาแล้วใจอยากรู้อะไรข้างนอก เที่ยวออกรู้ออกเห็น ช่วงแรกกำลังของสมาธิยังดีอยู่ ออกรู้ออกเห็นก็ถูกต้อง ชัดเจน ถูกต้อง แต่ต่อไปพอจิตมันชำนาญ ในการออกรู้ออกเห็นข้างนอก กิเลสมันจะเริ่มเข้ามา มันนึกว่ากูเก่งกว่าคนอื่น กูเหนือกว่าคนอื่น รู้หมดเลยในที่นี้มีอะไรอยู่ ในถ้ำตรงนี้ๆ จะมีถ้ำอยู่ ในถ้ำมีอะไร รู้หมดเลย พอรู้มากๆ ใจมันลำพองว่ากูเก่งๆ กิเลสเริ่มเข้ามาแล้ว พอกิเลสแทรก ต่อไปไอ้ที่รู้ที่เห็นอะไร เชื่อไม่ได้แล้ว เริ่มเพี้ยนแล้ว พอผิดเพี้ยนขึ้นมา ก็ยังหลงว่ากูเก่งๆ อยู่ ฉะนั้นเรื่องออกรู้ออกเห็นอะไร ไร้สาระ ไม่มีประโยชน์หรอก
เพราะฉะนั้นต่อไปเวลาจิตมันฟุ้งซ่าน ไม่ต้องดิ้นรน อย่าไปตามใจมัน ตามใจมันคือ อุ๊ย สนุก ออกรู้ออกเห็น ฟุ้งซ่าน แล้วก็ตามใจกิเลส อีกพวกหนึ่งต่อต้านกิเลส ฟุ้งซ่านแล้วหาทางแก้ไข หาทางแก้ไข ฟุ้งซ่านแล้วก็หายใจไป พุทโธเร็วๆ เดินจงกรมเร็วๆ ทำอะไรขยับตัวยึกยักๆ หวังว่าจิตจะสงบ มันไม่ได้ผลหรอก มันเป็นการหาทางแก้ไขจิต เวลาที่กิเลสเกิด พวกเรา หลวงพ่อพูดหลายทีแล้ว พวกเราไม่ค่อยเก็ตหรอก เวลากิเลสเกิด ไม่คล้อยตาม แล้วก็ไม่ต่อต้าน
ไม่คล้อยตาม ไม่ต่อต้าน อย่างกิเลสเกิด เราเกิดรู้เกิดเห็นอะไรข้างนอก อยากรู้อะไรก็รู้หมด เราคล้อยตาม เรายินดี เราพอใจ หรือเราคุยกับเทวดาได้ ติดต่อกับเทวดาได้ แล้วก็ยิ่งลำพอง อันนี้เราคล้อยตามกิเลส ต่อต้านกิเลสก็คือ จิตไม่สงบ ทำอย่างไรจะสงบ จิตไม่ดี ทำอย่างไรจะดี จิตไม่มีความสุข ทำอย่างไรจะมีความสุข ในหัวสมองมันมีแต่คำว่า “ทำ” ถามว่าทำได้ไหม ก็ได้เหมือนกันแต่ใช้เวลา อย่างจิตไม่สงบ เราก็ไปฝึกสมาธิ 10 ปี 20 ปีก็สงบขึ้นมา ก็ใช้เวลา แล้วส่วนใหญ่สงบแล้วก็ต้องมาแก้อีกที ติดสงบแล้ว จะก้าวขึ้นสู่การเจริญปัญญา จะทำอย่างไร อันนี้อ้อมค้อมเสียเวลา
เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ จิตไม่สงบ รู้ว่าไม่สงบ อยากสงบรู้ว่าอยาก จิตไม่ตั้งมั่น รู้ไม่ตั้งมั่น ไม่ชอบที่ไม่ตั้งมั่น รู้ว่าไม่ชอบ อยากตั้งมั่นรู้ว่าอยาก รู้ทันความยินดี ความยินร้าย เวลากุศลเกิด บุญเกิด มีความสุขอะไรขึ้นมา เราก็รู้ด้วยหลักอันเดียวกัน ยินดีก็รู้ทัน ยินร้ายก็รู้ทัน อย่างจิตใจอยากฟังธรรม จิตเป็นกุศล แล้วก็เราหลง โอ๊ย คลุ้มคลั่ง ทำอย่างไรจะจับสลากได้ ทำอย่างไรจะเข้ามาเรียนทัน เข้าห้องประชุมทัน ใจฟุ้งซ่าน ใจกังวล ให้รู้ทันเลย นี้อยากดีก็ทุกข์แล้ว คอยรู้ทัน รู้ทันความยินดี ความยินร้าย ทั้งหลายทั้งปวง ทั้งต่อความดีและความชั่ว เบื้องต้นดูความชั่วไว้ก่อน เพราะมีเยอะ
จิตโลภขึ้นมา จิตโกรธขึ้นมา จิตฟุ้งซ่านขึ้นมา อยากไม่โลภ อยากไม่โกรธ อยากสงบ ให้รู้ว่าอยาก รู้ว่าไม่ชอบที่มันไม่ดี รู้ว่ามันอยากได้สิ่งที่ดี รู้ตัวนี้ไว้ให้เยอะ แล้วจิตจะสงบอัตโนมัติ เมื่อจิตไม่ยินดี เมื่อจิตไม่ยินร้าย จิตก็เป็นกลาง จิตเป็นกลางจิตก็ตั้งมั่น สงบ ฝึกเรื่อยๆ จิตจะตั้งมั่น มีเรี่ยวมีแรงขึ้นมา การที่จิตเป็นกลางเป็นเรื่องใหญ่ เป็นกลางเบื้องต้น เป็นกลางของสมาธิ ก็คือไม่ยินดียินร้าย ไม่เข้าไปแทรกแซงสภาวะ รู้ไป ความฟุ้งซ่านเกิด รู้ ไม่อยากฟุ้งซ่าน รู้ พอหายฟุ้งซ่าน สงบแล้วดีใจ ชอบใจ รู้ รู้ยินดี รู้ยินร้าย จิตก็เป็นกลาง จิตก็ได้สมาธิขึ้นมา แล้วถัดจากนั้นมันจะมีเป็นกลางที่สูงขึ้นไปอีก คือเป็นกลางด้วยปัญญา พอจิตเราเป็นกลางด้วยกำลังของสมาธิแล้ว เราก็เดินปัญญาต่อ
อย่างเราดูจิตๆ อยู่ วิธีให้จิตสงบ ไม่ต้องไปแก้ไขจิต จิตไม่สงบรู้ว่าไม่สงบ จิตอยากสงบรู้ว่าอยาก จิตยินร้ายต่อความฟุ้งซ่าน รู้ทัน ถ้ารู้ยินดียินร้าย จิตสงบอัตโนมัติเลย พอจิตสงบ ตั้งมั่น รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ ก็ถึงขั้นเดินปัญญา ดูความจริงของกายของใจ ถ้าเราเจริญปัญญาด้วยการดูจิต เราก็ดูจิตต่อไปเลย ถ้าคนไหนจิตมันไปทรงสมาธิขั้นอัปปนาสมาธิ ออกมาดูกายไว้ เพราะถ้าจิตมันเข้าอัปปนาสมาธิ ถอยออกจากสมาธิมาแล้ว จิตมันว่างๆ อยู่อีกนานเลย บางทีอยู่ตั้งหลายวัน ว่างๆ สบาย เพลินๆ มันดูไตรลักษณ์ไม่ได้ รู้สึกดี กูเก่ง กูทำจิตให้สงบตั้งมั่นอยู่ได้ตั้งหลายวัน จะรู้สึกอย่างนั้น แต่ถ้าจิตมันเข้าสมาธิระดับอัปปนาสมาธิ ขอแนะนำให้ดูกาย เพราะร่างกายมันจะฟ้องให้เราเห็นตลอดเวลา ร่างกายนี้ไม่เที่ยง ร่างกายเป็นทุกข์ ร่างกายบังคับไม่ได้
แต่ถ้าเราไม่ได้มีสมาธิลึกอย่างนั้น เราดูจิตเอา จิตไม่เป็นกลาง รู้ว่าไม่เป็นกลาง มันจะสงบ แล้วก็ตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ ถัดจากนั้นเราเจริญปัญญาด้วยการดูจิตต่อไปเลย พอจิตตั้งมั่นแล้ว อย่ารักษาความตั้งมั่นเอาไว้ ตรงนี้ต้องกล้าหาญมากเลย คนจำนวนมากเลยพอจิตตั้งมั่นแล้วก็ประคองตัวผู้รู้เอาไว้ รักษาตัวผู้รู้ไว้ ที่หลวงพ่อชอบถามพวกเราว่า เห็นไหมสิ่งที่ถูกรู้ล้วนแต่ไม่เที่ยง แต่ในตัวเรามีสิ่งหนึ่งที่เที่ยงอยู่ มีตัวหนึ่งที่นิ่งๆ อยู่ ตัวนี้เห็นไหม ตัวที่นิ่งๆ อยู่นั้น คือจิตที่เราไปบังคับมันไว้ ควบคุมมันไว้ เพราะว่ากลัวว่า ถ้าไม่ควบคุมไว้แล้ว เดี๋ยวมันไม่ดี
ถ้าเราฝึกสมาธิเรื่อยๆ จิตหลงแล้วรู้ หลงแล้วรู้ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย จิตฟุ้งซ่านแล้วรู้ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ทำไปเรื่อยๆ จิตจะมีกำลังตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา ถัดจากนั้นอย่ารักษาจิตไว้ ถ้ารักษาจิตไว้ มันก็จะเห็นทุกสิ่งที่จิตไปรู้ ล้วนแต่ไม่เที่ยง แต่ตัวจิตมันเที่ยง มันจะรู้สึกว่าในนี้มีเราอยู่คนหนึ่ง แล้วเราตัวนี้นิ่งๆ แข็งๆ ทื่อๆ อยู่ เกือบร้อยละร้อยของคนปฏิบัติ มาตายอยู่ที่ตัวนี้ เกือบทั้งหมดตายอยู่ที่ตัวนี้ แล้วก็บอกว่าได้เจริญปัญญา เมื่อ 2 วันนี้ก็มีคนมารายงาน เจริญปัญญาได้ดีมากเลย เห็นเกิดดับ เห็นโน่นเห็นนี่ เห็นไหวๆ อยู่กลางอก ที่เห็นถูกไหม
เมื่อวันอังคารหลวงพ่อออกไปข้างนอก มีผู้ชายคนหนึ่งเขาเจอหลวงพ่อในร้านอาหารริมถนน เขาก็เข้ามากราบ เขาบอกว่าเขาดูเห็นสภาวะ ความรู้สึกอันนั้นเกิดดับๆ ได้ เห็นในอกก็หมุนๆ ไหวๆ แล้วก็มีสภาวะผุดขึ้นมา เขาถามว่า “เห็นถูกไหม” บอกว่า “เห็นถูก แต่จิตที่เห็นยังไม่ถูก สังเกตไหม สภาวะทั้งหลายเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง แต่มันมีตัวนิ่งๆ อยู่ตัวหนึ่ง” เห็นถูก ตัวโน้นตัวนี้แสดงไตรลักษณ์ เห็นถูก แต่ตัวที่ไปเห็น ตัวจิตมันไม่ถูก ไปบังคับจิตให้นิ่งๆ ทื่อๆ อยู่อย่างนั้น ให้รู้ทัน ตัวนี้เกิดเพราะว่าเราอยากให้จิตมันดี
อยากให้จิตรู้เห็น อยากให้จิตรู้ถูก เห็นถูก เข้าใจถูก ก็เกิดจากความอยากขึ้นมาเหมือนกัน ยินดีพอใจที่จิตจะตั้งมั่น ยินร้ายไม่พอใจที่จิตจะเคลื่อนไปเคลื่อนมา เห็นไหม ยังไม่เป็นกลาง ไม่ใช่ไม่เป็นกลางต่อความฟุ้งซ่าน ความมืดมัว อันนั้นยังง่ายๆ อันนี้ไม่เป็นกลางต่อตัวจิตเอง อยากให้จิตมันรู้เนื้อรู้ตัวตลอดเวลา ไม่ชอบเลยที่มันจะเผลอ ให้รู้เข้าไป มันยังไม่เป็นกลางจริง มันเกิดการประคองรักษาจิตเอาไว้ ตราบใดที่ยังมีการสงวนรักษาขันธ์ 5 ตัวใดตัวหนึ่ง ยังเดินปัญญาที่แท้จริงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสงวนรักษาจิตไว้
เพราะฉะนั้นเราภาวนา พอเรารู้ทันสภาวะด้วยจิตเป็นกลาง จิตเรารู้ทันยินดียินร้าย จิตก็เป็นกลาง จิตจะทรงสมาธิขึ้นมา พอจิตทรงสมาธิขึ้นมาแล้ว ให้จิตมันทำงาน ไม่ใช่ประคองให้มันนิ่ง ตาเห็นรูป มีรูปให้เห็นก็เห็นรูป จิตยินดียินร้ายรู้ทัน หูได้ยินเสียง จิตรู้ จิตเป็นคนรับรู้เสียง แล้วต่อมาก็เกิดยินดียินร้ายกับเสียง รู้ทัน ได้กลิ่น ได้กลิ่น จมูกสัมผัสกับกลิ่น มีจิตเกิดขึ้นที่จมูกที่ประสาทจมูก รับรู้กลิ่น ถัดจากนั้นจิตก็ยินดียินร้ายในกลิ่นขึ้นมา ให้รู้ทัน
ถ้าเราไปติดสมาธินิ่งๆ จิตนิ่งเฉยๆ ตาเห็นรูป จิตนิ่งๆ หูได้ยินเสียง จิตนิ่งๆ จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส จิตนิ่งๆ ใจคิดนึกอะไร จิตก็นิ่งๆ อันนี้ใช้ไม่ได้ ใช้ไม่ได้ มันติด การที่ไปประคองรักษาจิตให้มันนิ่งๆ พอเรามีสมาธิแล้ว จิตเป็นกลาง ตั้งมั่นเป็นกลางแล้ว อย่ารักษาจิต เราไม่มีหน้าที่รักษาจิต ผู้ที่จะรักษาจิตคือสติ สติจะเป็นผู้รักษาจิต ฉะนั้นหน้าที่ของสติคืออารักขา สติทำหน้าที่อารักขา คุ้มครองรักษาจิต เราไม่ต้องไปรักษาจิต ถ้าเรารักษาจิตเมื่อไร จิตจะแข็งทื่อๆ อยู่ข้างใน นิ่งๆ อยู่ ตัวเดียว ทำผิด
เพราะฉะนั้นตรงที่เราจะเจริญปัญญา จิตเราตั้งมั่นอยู่อย่างนี้ ตาเห็นรูป ความรู้สึกอะไรเกิดขึ้นกับจิตใจ รู้ทัน หูได้ยินเสียง ความรู้สึกอะไรแปลกปลอมเกิดขึ้นกับจิตใจ รู้ทัน เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศล เกิดอกุศล เกิดยินดี เกิดยินร้าย รู้ทันไป ตากระทบรูป จิตเปลี่ยนแปลง รู้ทัน หูได้ยินเสียง จิตเปลี่ยนแปลง รู้ทัน จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด จิตเกิดความเปลี่ยนแปลง รู้ทัน ไม่ใช่ตากระทบรูป หูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบธรรมารมณ์ จิตนิ่งๆ เฉยๆ นิ่ง นิ่งทั้งวันทั้งคืน ปัญญาไม่เกิดหรอก ปัญญาจะไม่เกิด มันจะเกิดความหลงผิดด้วยซ้ำไปว่ากูเก่ง
สังเกตไหม ช่วงแรกเราฝึกให้จิตตั้งมั่น พอจิตเราตั้งมั่นแล้ว ปล่อยให้มีการกระทบอารมณ์ทางทวารทั้ง 6 แล้วเห็นความเปลี่ยนแปลงของจิต นี้สำหรับคนที่จะดูจิต ถ้าพวกดูกาย จิตตั้งมั่นแล้วก็เห็นกายมันทำงาน เห็นกายมันเป็นแค่ธาตุแค่ขันธ์ เป็นดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นอะไร อันนั้นสายที่เขาดูกาย จะดูกายจนเห็นดิน น้ำ ไฟ ลมได้ ต้องทรงฌาน ถ้าทรงฌานไม่ได้ จิตไม่มีกำลังพอ ที่จะแยกตัวนี้ออกมาเป็นธาตุหรอก เพราะฉะนั้นกายานุปัสสนา เหมาะกับพวกทรงฌาน จิตตานุปัสสนาเหมาะกับพวกใช้ปัญญานำ เป็นพวกช่างคิด พวกทิฏฐิจริต
พวกเรารุ่นนี้ไม่ใช่พวกทรงฌานหรอก ฟุ้งซ่านจะตายไป แต่ว่าทุกวันทำในรูปแบบ แล้วก็สังเกตไป ทำกรรมฐานไป จิตสงบก็รู้ ถ้าสงบแล้วยินดี รู้ทัน วันนี้จิตฟุ้งซ่านก็รู้ ฟุ้งซ่านแล้วไม่ชอบ รู้ทัน รู้ทันยินดี รู้ทันยินร้าย ในที่สุดจิตเป็นกลาง พอจิตเป็นกลางตั้งมั่นมีกำลังพอ ก็ออกมาต่อสู้ในชีวิตจริง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ ให้มันกระทบ กระทบแล้วจิตกระเทือนขึ้นมา มันปรุงดี ปรุงชั่ว ปรุงสุข ปรุงทุกข์ ให้รู้ทันความเปลี่ยนแปลง เราจะไม่สงวนรักษาตัวผู้รู้ให้นิ่งๆ คงที่อยู่ตลอดกาล อย่าไปรักษาจิตไว้ แต่สติจะเป็นผู้รักษาจิต
อย่างเวลาตาเราเห็นผู้หญิงสวยๆ จิตเรายินดี ชอบ อยากจะจีบ สติรู้ทันปฏิกิริยา เห็นรูปที่สวย ใจอยากได้เป็นเจ้าของ สติรู้ทันนี่ยินดีแล้ว ความยินดีมันดับเอง ถ้าสติรู้ทัน จิตก็ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของราคะ ที่จะดูดเราไปตะเกียกตะกายหารูปนั้น เห็นไหมสติมันรักษาจิตด้วยวิธีนี้ แต่ถ้าเรารักษาจิต ก็คือไปทำจิตให้แข็งทื่อๆ อันนั้นผิด อย่าไปรักษาจิตให้แข็งทื่อๆ เราไม่ต้องรักษาจิต เราฝึกสติให้ดี แล้วสติจะเป็นผู้รักษาจิต ถ้าเรารักษาจิต จิตจะแข็งทื่อ อันนั้นใช้ไม่ได้ อันนั้นคืออัตตกิลมถานุโยค แต่ถ้าเราไม่รักษาจิตด้วย แล้วไม่มีสติด้วย อันนั้นเป็นกามสุขัลลิกานุโยค เราจะหลงอารมณ์
แต่ทางสายกลางก็คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จิต มีสติรู้ จิตเราเกิดความเปลี่ยนแปลง บรรดาอกุศลทั้งหลายที่มีอยู่จะดับทันทีเลย แล้วแม้กระทั่งตัวกุศลทั้งหลาย ก็แสดงไตรลักษณ์ให้ดู ทั้งสุขและทุกข์ ทั้งดีและชั่ว จะแสดงไตรลักษณ์ให้เราดู อย่างเราภาวนา จิตเรามีความสุข เรารู้ ยินดีในความสุข เรารู้ จิตก็เป็นกลาง แล้วจิตก็เห็นความสุขเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เวลาจิตมีความทุกข์ เรารู้ จิตไม่ชอบ เรารู้ จิตเป็นกลางตั้งมั่น เห็นความทุกข์เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
ต่อไปพอดูซ้ำๆๆ ไปเรื่อย จิตมันเริ่มฉลาด จิตมันก็ไม่ได้โง่ตลอดกาลหรอก จิตเป็นอนัตตา สั่งไม่ได้ บังคับไม่ได้ แต่จิตเป็นธรรมชาติที่ฝึกได้ สั่งมันไม่ได้ แต่ฝึกได้ เราฝึกมัน มีสติรู้ทันมันไปเรื่อยๆ พอกระทบอารมณ์ ยินดียินร้าย รู้ทันไป มันเห็นความสุขเกิดแล้วดับ ความทุกข์เกิดแล้วดับ ต่อไปจิตมันเป็นกลาง ความสุขเกิดขึ้น จิตก็เป็นกลาง ความทุกข์เกิดขึ้น จิตก็เป็นกลาง จิตเป็นกลางเป็นตัวที่สำคัญมาก ตั้งแต่เริ่มทำสมถะ เป็นกลางต่ออารมณ์ที่ดี ที่ไม่ดี ที่สุข ที่ทุกข์
แล้วในขั้นเจริญปัญญา พอปัญญาแก่รอบขึ้นจริงๆ จิตจะเป็นกลาง จะเป็นกลาง คราวนี้เป็นกลางโดยไม่ต้องรักษาแล้ว เป็นกลางเอง ทีแรกตรงสมถะ มันเป็นกลางเพราะเรารู้ทันความยินดียินร้าย แต่ตรงที่เราเจริญปัญญา จิตมันเป็นกลางเพราะเห็นความจริง ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ มันเป็นกลางเพราะปัญญา อันแรกเป็นกลางด้วยสมาธิ คอยรู้ทัน แล้วจะรู้ทันจิตตัวเอง มันยินดี รู้ มันยินร้ายก็รู้ไป พอจิตมันตั้งมั่นเด่นดวงแล้ว ต่อไปไม่ว่ากระทบอารมณ์อะไร จะเห็นทุกสิ่งนั้นตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ความสุขที่เราหิวโหยมาตลอด นั่งสมาธิก็อยากมีความสุข เราก็ยังเห็นความสุขก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์
ความทุกข์ที่เราเกลียดชัง เราภาวนาไปเรื่อยๆ จิตมีปัญญา มันก็เห็นความทุกข์ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ สุขกับทุกข์เสมอกัน เพราะฉะนั้นจิตก็จะยุติความปรุงแต่ง เมื่อจิตมีปัญญาแก่รอบแล้ว ความปรุงแต่งจะดับ จิตมีปัญญาแก่รอบแล้ว ความปรุงแต่งของจิตจะดับลง แต่เดิมนั้นหิวโหยอยากได้แต่ความสุข เกลียดชังความทุกข์ จิตก็ดิ้นๆ ไป มีราคะบ้าง มีโทสะบ้าง อยากได้ความสุขก็ราคะ เกลียดความทุกข์ก็โทสะ แต่คราวนี้มันเห็น สุขกับทุกข์มันเสมอกัน ด้วยความเป็นไตรลักษณ์ จิตก็หมดความหิวโหยในความสุข หมดความเกลียดชังในความทุกข์ สุขกับทุกข์เท่าเทียมกัน จิตก็หมดความดิ้นรน ที่จะแสวงหาความสุข จิตหมดความดิ้นรน ที่จะประคับประคองรักษาความสุขที่มีอยู่ จิตหมดความดิ้นรนที่จะผลักไสความทุกข์ จิตก็จะเป็นกลางต่ออารมณ์ทั้งปวง
อารมณ์ที่มากระทบเรา บางอันเป็นสุข บางอันเป็นทุกข์ เราเห็นว่าสุขดีเราชอบ แต่ปัญญามันเกิด มันรู้ว่าสุขมันก็อย่างนั้นๆ เดี๋ยวก็ดับ เสียแรงเที่ยวแสวงหา เสียแรงเที่ยวรักษา ตรงที่เที่ยวแสวงหานั้น ด้วยอำนาจของกามตัณหา ตรงที่พยายามรักษาไว้ ด้วยอำนาจของภวตัณหา ตรงที่เราเกลียดชังความทุกข์ อยากให้หมดไปสิ้นไป เรียกว่าวิภวตัณหา พอมีตัณหาจิตก็จะดิ้นรนใหญ่ ดิ้น ความสุขยังไม่มาก็แสวงหาความสุข ความสุขมาแล้วก็ดิ้นรนที่จะรักษา ความทุกข์เกิดขึ้น ก็ดิ้นรนที่จะผลักไส แล้วก็ความทุกข์ยังไม่มา ก็กังวลกลัวมันจะมา ดิ้นรนทำอย่างไรความทุกข์จะมาไม่ได้อีก
ความดิ้นรนคือตัวภพ ตัณหาเป็นผู้สร้างภพ มันสร้างด้วยวิธีนี้ มีตัณหาเกิดขึ้นก็เกิดการดิ้นรนของจิต ความดิ้นรนของจิตนั่นล่ะคือภพ มีภพ ความทุกข์เกิดทันทีเลย ทันทีที่มีภพขึ้นมา เราจะหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขึ้นมาเป็นตัวกูของกูแล้ว คราวนี้ตัวกูมันจะแรงขึ้นมา มันหวงแหนอารมณ์อันนี้ เกลียดชังอารมณ์อันนี้ ก็ดิ้นๆๆๆ ทุกครั้งที่จิตดิ้น จิตทุกข์แล้ว จิตต้องทุกข์แล้ว เพราะฉะนั้นความปรุงแต่งเกิดขึ้นเมื่อไร ความทุกข์ก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น ความปรุงแต่งเรียกว่าสังขาร ฉะนั้นตรงที่พระองค์หนึ่งท่านบรรลุพระอรหันต์ แล้วท่านก็อุทานว่า “สังขารทั้งหลาย สงบเสียได้เป็นสุข” สังขารตัวนี้คือความปรุงของจิต ความปรุง ทั้งปรุงดี ปรุงชั่ว ปรุงความไม่ปรุง อยากจะว่างๆ นั่นคือความปรุงแต่ง
ตราบใดที่จิตยังหลงอยู่ในความปรุงแต่ง ก็ยังเวียนว่ายตายเกิดไม่เลิก ถ้าหลงความปรุงแต่งฝ่ายชั่ว เราก็เกิดวนเวียนอยู่ในข้างอกุศล ข้างที่เป็นอกุศล มันอยู่ในอบายภูมิ ถ้ามีความปรุงแต่งฝ่ายดี ระดับที่ยังเพลิดเพลินในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอะไรพวกนี้อยู่ เราก็เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา ถ้าเป็นความปรุงแต่งทางจิตใจ รู้สึกรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางร่างกาย ไม่มีสาระอะไร ทิ้งมันไปได้ มันไปพอใจในความสุขความสงบ ของฌานสมาบัติ ของสมาธิ นี่คือไปติดความปรุงแต่งขั้นละเอียดในรูปฌาน อรูปฌาน เป็นภูมิธรรมของพระอนาคามีขึ้นไป จะไปติดตัวนี้
พวกเราค่อยๆ ฝึก รู้ทันไปเรื่อยๆ ปัญญา ทีแรกก็ให้จิตมันอยู่กับเนื้อกับตัว ตั้งมั่นก่อน จิตมันฟุ้งอุตลุด ไม่ต้องตกใจ เป็นกลางกับมันไว้ เดี๋ยวมันก็สงบไปเอง ทำบ่อยๆ จิตก็จะมีกำลังขึ้นมา ตั้งมั่นเด่นดวง เป็นผู้รู้ผู้ดูขึ้นมา เราก็เดินปัญญาไป วิธีเดินปัญญาก็คือมีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ได้กลิ่น มีลิ้นก็กระทบรส มีกายกระทบสัมผัส มีใจกระทบธรรมารมณ์ทั้งหลาย แต่กระทบแล้ว หมูหมามันก็กระทบเหมือนกัน เราต่างกับหมูหมาตรงไหน กระทบแล้วจิตยินดีให้รู้ทัน จิตยินร้ายให้รู้ทัน รู้ทันเข้าไป ถ้ารู้ไม่ทันอะไรจะเกิดขึ้น ถ้ารู้ไม่ทันจิตจะสร้างภพ จะเกิดความดิ้นรนของจิต ถ้ารู้ทันมันก็ตัดวงจร
อย่างตัณหาผุดขึ้นมา อยากได้อารมณ์ที่ดี อยากรักษาอารมณ์ที่ดี อยากให้อารมณ์ไม่ดีดับไป รู้ทันแล้ว ขาดสะบั้นลงไป จิตเป็นกลางอยู่ จิตก็ไม่ดิ้นรนต่อ ไม่ปรุงสังขารต่อ ไม่ปรุงภพต่อ แต่ถ้าไม่รู้ทัน ความสุขเกิดขึ้น ดิ้นรนจะรักษาเอาไว้ ความสุขหายไป เสียอกเสียใจ อยากให้มันคืนมา ก็ดิ้นรนทำอย่างไรความสุขจะกลับมา จิตเคยสงบแล้วตอนนี้ไม่สงบ ดิ้นรน ทำอย่างไรจะสงบอีก มันมีคำว่า “ทำ” เกิดขึ้น คำว่า “ทำ” ทำเมื่อไรก็คือสังขารเมื่อนั้น ก็ปรุงขึ้นมา ศัพท์มันก็คือปรุงขึ้นมา ถ้าพูดภาษาพวกเราฟังง่ายๆ มันทำขึ้นมา มันทำขึ้นมา พอรู้ทันไปเรื่อย เห็นเลย ทุกอย่างที่จิตไปปรุงขึ้นมา หาสาระแก่นสารไม่ได้เลย สุขทุกข์ ดีชั่ว หาสาระแก่นสารไม่ได้ สุขกับทุกข์ก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ดีกับชั่วก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์
แต่ตรงนี้ฟังให้ดี ดีกับชั่วเสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ไม่ใช่ดีกับชั่วเสมอกัน ระหว่างดีกับชั่ว ถ้าต้องทำให้ทำดี อย่าทำชั่ว แต่ในขั้นของการเจริญปัญญา เราจะเห็นดีก็ชั่วคราว ชั่วก็ชั่วคราว เกิดแล้วก็ดับเหมือนกัน จะปรุงดีก็ทุกข์อย่างคนดี ปรุงชั่วก็ทุกข์อย่างคนชั่ว ก็เห็นปรุงทีไรก็ทุกข์ทุกที ความปรุงแต่งเกิดขึ้นทีไรก็ทุกข์ทุกที จิตมันก็เลิกปรุง เพราะมันฉลาด มันเลิกปรุงแต่งได้ เพราะมันมีปัญญาเห็นไตรลักษณ์ ถ้าวันใดที่พวกเราสามารถเห็นสังขารทั้งหลายแสดงไตรลักษณ์อย่างแจ่มแจ้ง ทุกตัวจะสุขหรือทุกข์ จะดีหรือชั่ว ก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ จิตจะหยุดความปรุงแต่ง จิตที่หยุดความปรุงแต่ง มันจะสัมผัสพระนิพพานในขณะนั้นเลย ไม่ต้องรอให้ตายแล้ว ถึงจะไปสัมผัสพระนิพพาน ไม่ต้องรอเข้าฌานก่อน แล้วถึงจะสัมผัสพระนิพพาน มันสัมผัสต่อหน้าต่อตานี่ล่ะ
เมื่อก่อนหลวงพ่อก็เคยเข้าใจผิด คิดว่านิพพานนี้ เราต้องกำหนดจิตเข้าไปอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เคยฝึก หลวงปู่ดูลย์บอก “อย่าส่งจิตออกนอก” หลวงพ่อก็เลยส่งเข้าข้างใน หลวงปู่สิมเห็นหลวงพ่อส่งจิตเข้าข้างใน ท่านบอก “เฮ้ย กิเลสไม่ได้อยู่ข้างใน ออกมาข้างนอกนี่” เอ๊ะ ข้างนอกหลวงปู่ดูลย์ก็ห้าม ข้างในหลวงปู่สิมก็ห้าม ฉะนั้นเรารักษาไว้ตรงกลางก็แล้วกัน หลวงปู่เทสก์บอกว่า “ผู้ใดเข้าถึงความเป็นกลาง จะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง” เรารักษาไว้เป็นกลาง เป็นกลางนี้กลางละเอียดมากเลย กลางขนาดสิ่งที่เป็นคู่กัน อารมณ์เป็นของถูกรู้ จิตเป็นผู้รู้ ไม่ยึด ไม่จับอารมณ์ ไม่จับผู้รู้ ไม่จับทั้งผู้รู้ ไม่จับทั้งสิ่งที่ถูกรู้ แล้วจิตรวมปุ๊บลงไป
ไม่มีความคิด ไม่มีเวลา ไม่มีอะไรเลย สงบสงัด แต่ว่ามันมีสติอยู่ มีจิตอยู่ อัตโนมัติอยู่อย่างนั้น แล้วพอจิตถอยออกมา โอ้ พระนิพพานเป็นอย่างนี้เอง ก็เล่นเข้าออกๆ อยู่อย่างนี้ จนวันหนึ่งรู้ว่านี่เป็นสมถะ เป็นสมถะอย่างหนึ่ง เข้าไปดับความคิดนึกปรุงแต่งลงไปหมดเลย ว่างๆ อยู่อย่างนั้น ก็ไปกราบเรียนหลวงปู่เทสก์บอก “ผมคิดว่าตัวนี้เป็นสมถะ” ท่านบอก “เป็นสมถะ แต่ฝึกไว้ มันเป็นสมาธิอย่างหนึ่ง ยุคนี้ไม่มีใครเล่นแล้ว ไปเล่นไว้ ให้รู้จัก ให้ชำนาญไว้” บอก “ผมกลัวติด” ท่านบอก “ถ้าติด อาตมาจะแก้ให้” ท่านบอกอย่างนี้ เราก็เล่นอย่างนั้นเรื่อยๆ
วันหนึ่งไปเจอหลวงปู่บุญจันทร์ ไม่เคยรู้จักท่าน อยู่ๆ ท่านให้พระมาตามหลวงพ่อไปหาท่าน แล้วท่านชี้หน้าเลย “ภาวนาอย่างไร” ก็บอกท่าน “ไม่ยึดอารมณ์ ไม่ยึดจิต จิตว่างๆ” ท่านตวาดเอา “เฮ้ย นิพพานอะไรมีเข้ามีออก“ นี่พูดเสียงไม่ใช่เสียงแบบของท่าน ท่านตวาด “เฮ้ย” อย่างนี้ “เฮ้ย นิพพานอะไรมีเข้ามีออก” ท่านตวาด แล้วท่านถาม “จะภาวนาอย่างไร” ตอนนั้นนึกว่าท่านฟังที่เราพูดไม่รู้เรื่อง เพราะว่าสำเนียงไม่เหมือนกัน เราก็ฟังท่านไม่ค่อยรู้เรื่อง ท่านก็คงฟังเราไม่ค่อยออกเหมือนกัน ก็เล่าซ้ำ โดนท่านตวาดครั้งที่ 2 จิตมันเลิกเลย ไม่เอาแล้ว ตัวนี้มันเป็นสมาธิเฉยๆ ไม่เอา แล้วเลยรู้นิพพานจริงๆ ไม่มีเข้ามีออกหรอก
เมื่อไรสิ้นตัณหา เมื่อนั้นสิ้นความปรุงแต่ง เมื่อไรสิ้นความปรุงแต่ง เมื่อนั้นนิพพานปรากฎอยู่ต่อหน้าต่อตา ไม่ต้องส่งจิตเข้านิพพาน พวกเราชอบพูดเพ้อเจ้อ เวลาพระตาย หรือแม่ชีตาย โอ๊ย น้อมส่งสู่นิพพาน ถ้าท่านนิพพาน ท่านนิพพานของท่านแล้ว ตั้งแต่ยังไม่ตาย ไม่ต้องส่ง ถ้าท่านยังไม่นิพพาน ไปน้อมส่งท่านนิพพาน ท่านก็ไม่นิพพาน เป็นคำพูดซึ่งไม่มีสาระ ฟังแล้วโก้ๆ แต่ว่าไม่มีสาระอะไรเลย เพราะฉะนั้นนิพพานไม่มีใครส่งใครไปได้หรอก ต้องส่งตัวเอง เรียนรู้ไป ถ้าเมื่อไรจิตเห็นความจริง ของความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง ของสังขารทั้งหลายทั้งปวง ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม เห็นความจริงของมันว่าเป็นไตรลักษณ์ จิตก็หมดความอยาก
อย่างมันรู้ความจริงว่ากายนี้คือตัวทุกข์ มันก็หมดความอยากที่ให้กายเป็นตัวสุข หมดความอยากที่จะให้กายไม่ทุกข์ มันรู้ความจริงว่าจิตเป็นตัวทุกข์ มันก็หมดความอยากให้จิตมีความสุข หมดความอยากให้จิตพ้นทุกข์ ไม่มีตัณหา เมื่อไม่มีตัณหา ความดิ้นรนของจิตไม่เกิด เมื่อความดิ้นรนของจิตไม่เกิด จิตก็เข้าถึงความสงบสันติ นิพพาน นิพพานมันคืออะไร นิพพานมีลักษณะอย่างไร นิพพานมีลักษณะสันติ สันติลักษณะ เรียกว่ามีสันติ มีสันติลักษณะ วัดนี้ชื่อวัดสวนสันติธรรม ถ้าเขาถามว่าแปลว่าอะไร “สันติธรรม คือพระนิพพาน” ไม่ใช่เลื่อนๆ ลอยๆ อะไรหรอก
เมื่อไรรู้ความจริงของสังขาร เมื่อนั้นจะตัดความอยาก ตัดตัณหาได้ ตัดตัณหาได้ก็ตัดภพ คือความปรุงแต่งได้ ถ้าตัดภพได้ ก็สัมผัสพระนิพพานในขณะนั้นเลย นิพพานคือสภาวะที่สิ้นตัณหา เรียกว่า “วิราคะ” นิพพานคือสภาวะที่สิ้นความปรุงแต่ง พ้นจากสังขาร เรียกว่า “วิสังขาร” สิ่งเหล่านี้คือชื่อของนิพพานทั้งสิ้น นิพพานพ้นจากทุกข์สิ้นเชิง เรียกว่า “วิมุตติ” เพราะฉะนั้นภาวนา
เบื้องต้นวันนี้เทศน์ตั้งแต่ต้นจนจบแล้ว เบื้องต้นทำกรรมฐานไป จิตฟุ้งซ่านแล้วไม่ชอบ รู้ทัน จิตมัวๆ อยากให้สว่าง รู้ทัน จนกระทั่งจิตเป็นกลาง จิตเป็นกลางแล้ว จิตจะมีสมาธิดีขึ้นมาเอง ตั้งมั่นขึ้นมา เราฝึกบ่อยๆ มันจะมีกำลังตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา ถัดจากนั้นเจริญปัญญา ถ้าเจริญปัญญาด้วยการดูจิต ก็คือปล่อยให้จิตทำงาน อย่ารักษาจิตเอาไว้ อย่าสงวนรักษาตัวหนึ่งให้นิ่งๆ คงที่เอาไว้ กล้าหน่อย
เมื่อก่อนหลวงพ่อเปรียบเทียบบอกว่า การที่เราปล่อย ไม่ไปจับจิตเอาไว้แน่นๆ เหมือนเราเดินข้ามคลอง ตามบ้านนอกยุคก่อน คลองข้ามด้วยสะพานไม้ไผ่ ใช้ไม่ไผ่ลำเดียวพาดไป ข้ามคลอง แล้วมีไม้ไผ่อีกลำหนึ่งเอาไว้จับ ถ้าเราเดินจะข้ามสะพานไม้ไผ่ แล้วเรากลัวตก เราก็จับ มือจับแน่นๆ อยู่อย่างนั้น มือจับแน่นๆ เท้ามันเดินไม่ได้ มันก้าวหน้าต่อไปไม่ได้หรอก มันต้องกล้าๆ ปล่อย ปล่อย ถ้าปล่อยอย่างนี้ คือปล่อยให้จิตมันทำงาน
แต่ช่วงไหนมันจะตุปัดตุเป๋ตกน้ำแล้ว ก็คว้าเอาไว้ หมายถึงอะไร หมายถึงช่วงนี้จิตเละเทะ ดูไม่รู้เรื่อง ทำสมถะไว้ จับหลักเอาไว้ก่อน หลักนี้คือสมถะ พอจิตมีแรงทรงตัวขึ้นได้แล้วเดินต่อ มือปล่อย เดินต่อ กระทบอารมณ์ไปตามธรรมชาติ ดูปฏิกิริยาของจิตไปตามธรรมชาติ อย่างนี้ล่ะปัญญาถึงจะเกิด จะเห็นว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พอเห็นแล้วตัณหาจะดับ พอตัณหาดับ สังขารคือภพก็จะดับ สังขารหรือภพดับ ทุกข์มันก็ดับ
พอรู้เรื่องไหม ยากไปไหม วันนี้รู้สึกไม่ยาก ง่ายๆ ก็วางสังขารก็ถึงนิพพาน ง่ายไหม ง่ายแล้ว ก็ไปทำเอาก็แล้วกัน
วัดสวนสันติธรรม
16 กันยายน 2566