มันมีคน 2 จำพวก พวกหนึ่งอ่อนแอเกินไป จะภาวนาแต่กลัวลำบาก กลัวเหนื่อย กลัวลำบาก ใจอ่อนแอ มันก็เพลินๆ อยู่กับโลก เข้ามาบวชก็มี บางทีพ่อแม่เคี่ยวเข็ญให้มาบวชที่นี่ มี เจ้าตัวไม่ได้อยากบวช เข้ามาใจมันไม่เป็นพระหรอก ใจมันอ่อนแอ คิดแต่จะหาความสุขเท่านั้นเอง คิดว่าการเป็นพระ บวชมาแล้วฉันข้าวเสร็จแล้วก็นั่งๆ นอนๆ ทั้งวัน ชีวิตพระกรรมฐานจริงๆ ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ท่านไม่ได้มานั่งๆ นอนๆ อยู่เฉยๆ หรอก มีเวลาไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม เวลาที่เหลือมีข้อวัตร มีกิจตามพระวินัย ดูแลเสนาสนะอะไรต่ออะไรเยอะแยะ แล้วต้องเจริญสติในชีวิตประจำวันให้ได้
หลวงพ่อถึงสรุปออกมาว่า ถ้าเราอยากปฏิบัติให้ได้ พ้นทุกข์ให้ได้ เราต้องทำ 3 สิ่ง สิ่งที่หนึ่ง ต้องตั้งใจรักษาศีล 5 ข้อไว้ให้ดี ศีล 5 สำคัญมาก ศีลเกินจากศีล 5 มันจะเป็นเรื่องของวินัยมากกว่า ระเบียบแบบแผนสำหรับพระ ศีล 8 ก็เป็นการฝึกในเบื้องต้นที่จะออกจากกาม พระมีทั้งศีล มีทั้งวินัย ศีลสำคัญก็ศีล 5 ข้อนั่นล่ะ วินัยก็ทำให้พระเป็นระเบียบเรียบร้อย เกื้อกูลกับการเจริญสติ ทำให้ผู้พบเห็นเกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนา แต่ตัวสำคัญที่จะทำให้เราบรรลุมรรคผล คือศีล 5 นั่นล่ะ ต้องมุ่งมาที่ตัวนี้
เคล็ดลับการทำกรรมฐานให้จิตใจสงบ
ฉะนั้นตั้งอกตั้งใจรักษาศีล 5 ให้ได้ แล้วทุกวันจะต้องทำในรูปแบบ ในรูปแบบของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้ารูปแบบหลักๆ ก็นั่งสมาธิ เดินจงกรม บางคนนั่งสมาธิ เดินจงกรม ไม่สำเร็จ ก็ต้องดูตัวเอง ทำในรูปแบบแบบไหนแล้วสติดี บางคนบอกว่าไปรดต้นไม้ แล้วจิตใจมีสมาธิรู้เนื้อรู้ตัวดี บางคนกวาดบ้าน ถูบ้าน แล้วจิตใจก็ตื่น รู้ตื่นเบิกบาน เห็นร่างกายทำงานอะไรไป ใจเป็นคนรู้คนดูสบาย มีความสุข สงบ บางคนบอกขับรถยนต์ อันนี้เสี่ยงนิดหนึ่ง ขับรถยนต์แล้วสติดี จิตตื่น รู้เนื้อรู้ตัว ก็ไปดูตัวเอง อยู่กับอะไรแล้วสติเกิดบ่อย
อย่างหลวงพ่ออยู่กับลมหายใจ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ฉะนั้นเวลาต้องการทำในรูปแบบ ก็จะเริ่มหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ เวลาเดินจงกรมก็ยังชินกับพุทโธอยู่ ก้าวไปก็พุทโธๆ ไปเรื่อยๆ ตามจังหวะการก้าว ทำอย่างนี้ไม่ได้มุ่งให้เกิดปัญญาอะไรหรอก มุ่งให้จิตได้พักผ่อน เราเป็นฆราวาส เราทำงานหนัก วันๆ หนึ่งมีเรื่องต้องคิดมากมาย มีเรื่องให้ปวดหัวมากมาย เราก็ต้องรู้จักเบรกตัวเอง รู้จักพัก ถ้าไม่รู้จักพักเลย ใจพลุ่งพล่าน วุ่นวายทั้งวัน เหนื่อย ดีไม่ดีก็เป็นโรคจิตไป
ทุกวันนี้คนเป็นโรคทางจิตใจนี้เยอะมากเลย เยอะจนน่ากลัวเลย มันเป็นล้านๆ ไม่น้อยหรอก เพราะมันเครียดจัด คนโบราณทำไร่ทำนา อดบ้างมีกินบ้าง จับปลาได้บ้างอะไรบ้าง บางมื้อก็อด บางมื้อก็อิ่ม ไม่มีเรื่องให้ต้องกังวลมาก ไม่มีเรื่องต้องคิดมาก ไม่มีข่าวสารอะไรจะมากรอกหู ไม่มีอะไรให้ดูมากมาย จิตใจไม่ได้วุ่นวาย เขาลำบากทางวัตถุ แต่เขาสบายทางจิตใจ คนรุ่นเราสบายทางวัตถุ มีอยู่มีกิน มีของกินของใช้อะไรนับไม่ถ้วน แต่จิตใจของเรามันไม่มีความสุข จิตใจแต่ละคนๆ มันเงียบเหงา มันว้าเหว่ มันรู้สึกว่าเราอยู่ตัวคนเดียว อยู่กับคนอื่นตั้งเยอะแยะ แต่รู้สึกเหมือนเราอยู่คนเดียว ไว้ใจใครก็ไม่ได้สักคน ทำอะไรมันก็เครียดหมด เต็มไปด้วยการแข่งขัน เพี้ยนไปเยอะเลย กระทั่งนักศึกษาแพทย์หรือกระทั่งหมอเอง ที่หลวงพ่อได้รู้ได้เห็น เป็นโรคทางจิตใจเยอะเลย
ถ้าเราจะอยู่กับโลก ก็ต้องรู้จักให้จิตใจได้พักผ่อน หัดทำสมาธิเสียบ้าง เลือกดูเราอยู่กับกรรมฐานอะไร แล้วจิตใจเรามีความสุขก็เลือกอันนั้น ไม่จำเป็นต้องมาหายใจเข้าพุท ออกโธแบบหลวงพ่อ ทางใครทางมัน อย่างหลวงตามหาบัว ท่านไม่เอาลมหายใจ ท่านพุทโธอย่างเดียวเลย ท่านบอกนี่ดีที่สุด พอหลวงพ่อไปลองทำอย่างท่าน ตอนนั้นไปหาท่าน ท่านบอก “ต้องเชื่อเรานะ เราผ่านมาด้วยตัวเราเอง อะไรๆ ก็สู้บริกรรมไม่ได้” หลวงพ่อลองบริกรรม จิตเหมือนจะแตก มันรำคาญ มันทนไม่ได้ แล้วเราเปลี่ยนมาใช้กรรมฐานที่เราคุ้นเคย หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ แป๊บเดียวก็สงบแล้ว
เวลาเราทำกรรมฐานจะให้จิตใจสงบมันมีเคล็ดลับอยู่ อันแรก เลือกอารมณ์กรรมฐานที่เราอยู่ด้วยแล้วเรามีความสุข เลือกอย่างนั้น ไม่ใช่เลือกตามคนอื่น อันที่สอง เราใช้ใจที่ปกติธรรมดานี้ล่ะ ไปรู้อารมณ์อันนั้น ไม่ได้ใช้ใจที่เคร่งเครียด ใจที่เต็มไปด้วยความอยาก อยากสงบอะไรอย่างนี้ แล้วไปหายใจเข้าพุทออกโธ แล้วใจนี้อยากสงบ รับรองไม่สงบ ใจที่มีความอยากมันจะเกิดการดิ้นรน เมื่อมันดิ้นรนมันสงบไม่เป็นหรอก เพราะฉะนั้นเวลาจะทำสมถะ เราก็อยู่กับอารมณ์ที่อยู่ด้วยแล้วมีความสบายใจ
แล้วอยู่กับมันด้วยใจธรรมดาๆ นี่ล่ะ สงบก็ช่างไม่สงบก็ช่าง ตั้งใจไว้อย่างนี้ เราแค่ว่าเราจะปฏิบัติบูชา น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง เป็นอารมณ์ที่มีความสุข ไม่ได้หวังผลอะไร พอเราไม่ได้หวังผล ใจมันก็ไม่ดิ้น พอใจไม่ดิ้นมันก็สงบ แล้วทริคอีกอันหนึ่ง อุบายอีกอันหนึ่ง เวลาที่เราไปรู้อารมณ์ รู้สบายๆ อย่าไปจ้องแรง อย่างถ้าเรารู้หายใจเข้าพุทออกโธ เราไปจ้องแรงๆ มันจะเครียด ถ้าเครียดแสดงว่าเราจ้องแรงไปแล้ว รู้สบายๆ แล้วเวลารู้ก็เป็นกลาง ไม่ได้อยากสงบ ถ้าอยากสงบใจจะยิ่งฟุ้งซ่าน
มันมีเคล็ดลับของมัน ที่เราจะทำสมาธิให้จิตสงบง่ายๆ ข้อหนึ่ง คือรู้จักเลือกอารมณ์ที่เหมาะกับตัวเอง อยู่กับอารมณ์อะไรแล้วมีความสุข แล้วอารมณ์นั้นไม่ทำให้กิเลสรุนแรงขึ้นมา เราก็อยู่กับอารมณ์อันนั้น ถ้าบอกดูซีรีส์แล้วสงบ อันนี้ใช้ไม่ได้ ดูซีรีส์แล้วจิตมันแกว่งขึ้นแกว่งลง ไม่สงบจริง มันสบายใจแต่มันไม่สงบหรอก เราก็ดูอยู่กับอารมณ์ไหนแล้วจิตใจเราสบาย สงบสบาย ไม่ยั่วกิเลส ก็เลือกอารมณ์ชนิดนั้น แล้วเราก็รู้อารมณ์อันนั้นไป ด้วยใจธรรมดาๆ ไม่ได้ใจที่มีความอยาก อยากสงบๆ ฟุ้งซ่านอยู่ก็โมโห ใช้ไม่ได้ แล้วเวลารู้อารมณ์ รู้แตะๆ ก็พอแล้ว รู้แบบแตะๆ อย่าถลำลงไปจ้อง
ปฏิบัติจนเป็นบ้าเพราะปฏิบัติแบบเคร่งเครียด
ถลำลงไปจ้อง ถลำลงไปเพ่ง มันไปไหนไม่รอด มันก็เพ่งอยู่อย่างนั้น จิตใจก็อึดอัด เครียดๆ อยู่อย่างนั้น ยิ่งปฏิบัติยิ่งเครียด เพราะฉะนั้นที่เคยได้ยินไหม ปฏิบัติจนเป็นบ้า ที่ปฏิบัติจนเป็นบ้าเพราะปฏิบัติแบบเคร่งเครียด ให้รู้อารมณ์ไปสบายๆ รู้ไปด้วยใจปกติ ถ้าใจมันโลภขึ้นมา มันอยากสงบ รู้ทัน ใจมันถลำไปเพ่งไปจ้องอารมณ์ อยากรู้อารมณ์ให้ชัด รู้ทัน
นักปฏิบัติที่ชอบปฏิบัติ ส่วนมากจะไปเพ่งๆๆ แล้วก็จิตเลยหลุดเข้าไปอยู่ เหมือนจิตไปติดอยู่ในถ้ำ เข้าไปค้างอยู่อย่างนั้น อยู่ได้หลายปีตรงนั้น ถ้าจะว่าไปแล้วอยู่ได้เป็นกัปๆ คือถ้าอยู่ตรงนั้นแล้วหลุดไปเป็นพระพรหม อยู่อายุตั้งหลายกัป จักรวาลแตกไปตั้งหลายรอบแล้ว ก็ยังติดอยู่ตรงนั้น เพราะฉะนั้นให้เรารู้ธรรมดาๆ อย่าถลำลงไปรู้ รู้แบบแตะๆ อย่างหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ แล้วก็รู้สึกสบายๆ ไป เห็นร่างกายมันหายใจไป แค่รู้สึกร่างกายมันหายใจ ใจไม่วอกแวกไปที่อื่น นี้ส่วนใหญ่ไม่อย่างนั้น พอรู้ลมจะไปเพ่งลม ใจก็เข้าไปติดนิ่งๆ ซื่อบื้ออยู่อย่างนั้น
มีโยมคนหนึ่ง เมื่อเช้านี้หลวงพ่อเพิ่งตบกระโหลกไป โยมนี้ฟังหลวงพ่อมานาน แล้วตาม ไปเรียนกับผู้ช่วยสอนคนหนึ่งที่อยู่แถวนี้ เรียนกับคุณแม่ คุณแม่ก็สอน สอนๆ มันก็ยังไม่หาย แค่ว่าดีขึ้น มันติดเพ่ง แล้วก็ไปสร้างภพนิ่งๆ อยู่ข้างใน แล้วคิดว่านี่คือการปฏิบัติ แล้วเมื่อเช้าขึ้นมาหาหลวงพ่อ บอกไปเรียนกับแม่มา แล้วตอนนี้จิตดูสบายขึ้น พอบอกจิตมันสบายขึ้น หลวงพ่อบอกมันยังติดอยู่ เขาบอกเขาไม่เห็น ง่ายๆ เลยหลวงพ่อตบหัวโป๊กหนึ่ง มือแบๆ พรึบ เขาไม่ทันระวังตัว อยู่ๆ ถูกตบ ตกใจ พอตกใจ เห็นกระแสตกใจผุดขึ้นมา ไอ้ที่เคยติดอยู่หลุดเลย นี่มือเพชรฆาต ตบทีเดียวจิตตื่นเลย แต่ไม่ใช่ใครๆ เอาหัวมาให้ตบนะ ไม่ตื่นหรอก เพราะว่ามันโง่ มันตื่นเพราะว่า สะกิดนิดเดียวมันตื่นแล้ว เขาไปเรียนมาดีเรียบร้อยแล้ว สะกิดหน่อยเดียวก็ตื่น
ของง่ายๆ มันไม่มีอะไรยุ่งยากเท่าไร ทำไมหลวงพ่อไปตบ เขาไม่ทันระวังตัว เขานึกไม่ถึง พอตบปุ๊บตกใจ ตกใจนี่เป็นสภาวะที่ดูง่ายที่สุดเลย โคตรง่ายเลย มันอยู่ในตระกูลโทสะก็จริง แต่ว่ามันดูง่าย มันเป็นอารมณ์ที่รุนแรง หลวงพ่อตอนเด็กๆ ไฟไหม้ข้างบ้าน จิตมันตกใจ แล้วมันก็เห็นจิตที่ตกใจ เมื่อก่อนมีพระองค์หนึ่งเคยมาเล่า ตอนเป็นวัยรุ่นไปดูเขาลอยกระทง เขาจุดพลุ ไม่ทันระวังไปยืนข้างๆ จุดที่เขาจะจุดพลุ ไม่รู้หรอก พอเขาจุดเปรี้ยงขึ้นมา ตกใจ สะเทือนขึ้นมาแล้วเห็น ไหวพรึบขึ้นมา ฉะนั้นเลยดูเป็น ดูสภาวะเป็นเลย
ถามว่าเห็นไหม ความตกใจเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป บอก “เห็นครับ” “เห็นไหมตอนนี้จิตมีปีติขึ้นมาแล้ว” “เห็น” “ดูสิ มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเหมือนกัน” เพราะฉะนั้นสภาวะทั้งหลายทั้งปวง ที่เกิดขึ้นกับจิตใจเรา ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ไม่ว่าดีหรือชั่ว จะเป็นปีติ เป็นสุข หรือเป็นเอกัคคตา หรือเป็นอะไรก็ตาม มันก็มีอาการอันเดียวกันทั้งหมด คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ถ้าอย่างนี้เรียกว่าเราภาวนาเป็นแล้ว จิตมันตื่นขึ้นมา ถอนตัวออกมาจากโลกที่เราไปสร้างขึ้นมา ไปติดอยู่ในภพของนักปฏิบัติ
แล้วเขาก็บอก เขาคิดว่านักปฏิบัติ ต้องเอาจิตไปไว้นิ่งๆ ทื่อๆ อยู่ข้างใน ถึงจะเรียกว่าปฏิบัติ อันนั้นมันความหลงผิด จิตมันไม่ได้ตื่นขึ้นมา โดนตบทีเดียวจิตตื่นเลย แล้วเห็นสภาวะได้ คุ้มค่ามากกับการตบ นี่ต้องเอาทองมาปิดแล้ว (หลวงปู่ชูมือ) ฉะนั้นเราพยายาม ถ้าเราอยู่กับโลก มันเครียดทุกวัน แบ่งเวลาไว้ทำในรูปแบบ ทำในรูปแบบสำหรับคนที่ทำงาน ใจมันยังวุ่นวายอยู่ ทำสมถะ ทำความสงบไว้ ไม่ต้องเดินปัญญา
เมื่อวานก็มีผู้หญิงคนหนึ่ง แต่เดิมดี๊ด๊าตลอดเวลา ถูกหลวงพ่ออัดอย่างรุนแรง ในที่สุดก็นั่งสมาธิได้ทีละ 6 ชั่วโมง นั่งไปเรื่อยๆๆๆ แล้วเป็นคนชอบคิด พอนั่งไปๆ จิตมันไม่ยอมพัก พอเริ่มนั่งสมาธิสงบนิดเดียว จิตก็ขึ้นมาพิจารณาโน่นนี่ไปเรื่อยๆ บอก เอ้ย พิจารณามากไป ฟุ้งซ่าน ให้กลับมาทำความสงบ บอกทำไม่เป็น ทำไม่เป็นก็ทำไปเถอะ เดี๋ยววันหนึ่งก็เป็น น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง อารมณ์นั้นต้องไม่ยั่วกิเลส แล้วอย่างเราไปอยู่กับพุทโธๆ สบายใจ พุทโธไป พอจิตมันหนีไปจากพุทโธ รู้ทัน แล้วโยนมันทิ้งไป ไม่ต้องไปแก้ไขอะไร กลับมาพุทโธใหม่ เริ่มต้นใหม่อย่างนี้ ทำไปเรื่อยๆ ในที่สุดจิตมันก็สงบลงมาได้ เดินปัญญารวดไม่ได้ แล้วฆราวาสวันๆ มีแต่เรื่องคิดอะไรวุ่นวาย
ฉะนั้นเริ่มนั่งทีแรกไหว้พระสวดมนต์ นักมวยก่อนจะชกยังไหว้ครูเลย เราก็ไหว้พระสวดมนต์เสียก่อน พอไหว้พระสวดมนต์เสร็จ ก็ทำกรรมฐานที่เราถนัด จะพุทโธ จะหายใจ อะไรก็ได้ จะเดินจงกรมอะไรก็ได้ แต่ไม่ได้มุ่งไปดูความเกิดดับของรูปนาม น้อมจิตไปอยู่อารมณ์อันเดียว ให้จิตมันได้พักผ่อนทีแรกมันไม่ยอมพัก น้อมลงไปนิดเดียวเด้งออกมา จะไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้อีกแล้ว โยนมันทิ้งไปไม่ต้องไปว่ามัน น้อมจิตกลับเข้าไปใหม่ กลับไปดูอารมณ์อันนั้นใหม่ ฝึกเรื่อยๆ จนกระทั่งต่อไปมันชำนาญ เราอยากสงบ เราก็น้อมจิตเข้าหาความสงบได้ทันทีเลย เราจะเดินปัญญา เราก็ถอยออกมาจากความสงบ มาดูความเปลี่ยนแปลงของรูปนามกายใจไป อย่างนี้เราก็จะก้าวหน้าไปง่าย แล้วการภาวนาจะไม่เคร่งเครียด
เมื่อวานก็เจอคนหนึ่งผู้ชาย เป็นคนซึ่งเก่ง เก่งในทางโลก วิเคราะห์อะไรเก่งมากเลย หาตัวจับยาก เวลาเรียนธรรมะก็ไปเขียนธรรมะขึ้นมา อธิบายธรรมะได้เป็นฉากๆ เลย เขียนได้ดี เขียนถูกไหม ถูก เป็นส่วนมาก ถูก หลวงพ่อก็เลยเตือน เฮ้ย ธรรมะ ถ้าเราค้นคว้าพิจารณาไตร่ตรองมาก สิ่งที่เราได้คือปัญญา พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เราเอาปัญญา ถ้าเราคิดพิจารณาไตร่ตรอง สิ่งที่ได้ก็คือความแตกฉาน มีความฉลาดรอบรู้ในธรรมะ แต่ถ้าเรารู้สภาวะ เราจะพ้นจากความทุกข์ ถ้าเราคิดพิจารณาใคร่ครวญ เราจะได้ความฉลาดรอบรู้ แต่ถ้าเราตามรู้ตามเห็นสภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น เราจะพ้นทุกข์
พระพุทธเจ้าสอนเราให้มุ่งไปสู่ความพ้นทุกข์ ปัญญาเป็นของสำคัญ แต่ถ้าไปหลงกับมัน ปัญญาเป็นยาพิษ มันก็จะค้นคว้าอยู่อย่างนั้นไม่เลิก คิดไปไม่เลิก เพราะฉะนั้นโยนมันทิ้งไป ความรู้ไม่เอา พระพุทธเจ้าบอกไม่เอาหรอก เราอยากได้แก่นไม้ ปัญญามันเหมือนเนื้อไม้เท่านั้นเอง ถ้าพวกศีลพวกอะไรก็เหมือนใบไม้ เหมือนสะเก็ดไม้ เหมือนอะไรพวกนี้ ไม่มี ไม่ใช่เป้าหมายหลักของเรา ถือศีลดีแล้วก็พอใจอยู่กับศีล ยังห่างไกลกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าต้องการ ทำสมาธิเก่งก็ยังห่างไกลสิ่งที่พระพุทธเจ้าต้องการ เจริญปัญญาเก่ง แตกฉานรอบรู้ ก็ยังไม่ใช่ ปัญญา ถ้าเราไปหลงกับมัน มันก็ใช้ไม่ได้
ฉะนั้นเราไม่ได้ปฏิบัติอย่างนั้น เพื่อเอาศีล สมาธิ ปัญญาอะไรหรอก เราปฏิบัติเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น ถ้าติดปัญญาแล้วไม่หลุดพ้นก็ไม่ได้ จะหลุดพ้นได้ก็ต้องเห็นสภาวะแสดงไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆ แล้วพอเห็นสภาวะแสดงไตรลักษณ์ไปช่วงหนึ่ง จิตมันหมดแรง กลับมาทำความสงบให้จิต น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง พอจิตมีกำลังพอ ได้พักผ่อนแช่มชื่น เราก็ออกมาเดินปัญญาต่อ มาดูความเกิดดับของรูปนามกายใจนี้ต่อ ถนัดดูกายก็ดูกาย ถนัดดูเวทนาก็ดูเวทนา ถนัดดูจิตก็ดูจิต ถนัดเจริญธัมมานุปัสสนา ก็เจริญธัมมานุปัสสนาไป ถนัดอะไรเอาอันนั้นล่ะ แล้วผลสุดท้ายมันอันเดียวกัน คือความบริสุทธิ์หลุดพ้นอันเดียวกัน จะเดินทางไหนก็ได้ทั้งนั้น
เลือกอารมณ์กรรมฐานที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ
ยากไปไหม ไม่ยากหรอก ไปฝึกนะ ถือศีล 5 แล้วทุกวันกลับมาบ้าน อย่ามัวแต่เถลไถล เลิกงานแล้วไม่ต้องไปเถลไถล รีบกลับบ้านอาบน้ำอาบท่า พักผ่อน ไหว้พระสวดมนต์ ถ้าใจมันเครียดมาก เหนื่อยมาก ก็หาอะไรให้ผ่อนคลายเล็กน้อย อย่างหลวงพ่อตอนเป็นโยม ทำงานที่ต้องคิดหนักทั้งวันเลย ข้อมูล อยู่กับข้อมูล อยู่กับการวิเคราะห์ อยู่กับการถกเถียง วันๆ หนึ่งทำงานหนัก เครียด ก่อนกลับบ้านหลวงพ่อก็แวะร้านหนังสือ ซื้อขายหัวเราะ ซื้อมหาสนุก ซื้อหนังสือซึ่งเบาๆ ไม่เอาเคร่งเครียด เมื่อก่อนมีต่วยตูนอะไรพวกนี้ ก็ซื้อหนังสือพวกนี้ไป เอาไปนั่งอ่าน อ่านขำบ้างไม่ขำบ้างก็ช่างมันเถอะ มันเปลี่ยนอารมณ์ จากอารมณ์ที่เคร่งเครียด มานั่งอ่านการ์ตูน อ่านอะไร หัวเราะสักทีสองที ใจก็เริ่มสบายแล้ว
พอใจสบาย คราวนี้ก็เริ่มภาวนา ไหว้พระสวดมนต์ไป ทำกรรมฐาน หลวงพ่อถนัดนั่ง ที่จริงเดินก็ได้ แต่บ้านมันบ้านโบราณเป็นไม้ เวลาเดินร้องเอี๊ยดๆๆ ไปเรื่อยๆ หนวกหูชาวบ้านเขา หนวกหูคนอื่น ก็เลยนั่งเอา เลยนั่งหายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป จากจิตที่เคร่งเครียด มาผ่อนคลายด้วยการดูการ์ตูน มีแทคติกมีกลยุทธ์ พอใจผ่อนคลายแล้ว คราวนี้ก็ทำกรรมฐาน ทำความสงบไม่ยากแล้ว ถ้าใจกำลังเหมือนน้ำเชี่ยว แล้วก็จะไปขวางเรือ เรือล่ม ใจกำลังฟุ้งเต็มที่ แล้วจะไปนั่งทีเดียวจะให้สงบ ไม่สงบ เหน็ดเหนื่อย
เราก็รู้จักผ่อนคลายบ้าง บางคนชอบฟังเพลง ใจเคร่งเครียดแล้ว ไปฟังเพลงสักเพลง 2 เพลงพอสบายใจ เอาแค่พอสบายใจ แล้วก็ลงมือปฏิบัติเลย ไหว้พระสวดมนต์เป็นการตัดตอนว่าต่อไปนี้ถึงเวลาปฏิบัติแล้ว ไหว้พระสวดมนต์เหมือนนักมวยไหว้ครู เดี๋ยวจะถึงเวลาชกจริงแล้ว ไหว้พระสวดมนต์เสร็จแล้ว ทำกรรมฐาน หลวงพ่อหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง หายใจไปเรื่อยๆ พอฝึกทุกวันๆ ต่อไปพอคิดถึงการปฏิบัติ อยากให้จิตสงบก็น้อมจิตไป ยังไม่ทันหายใจก็สงบได้แล้ว อยู่ที่การฝึกของเรา พอจิตเราสงบ จิตเราแช่มชื่นเบิกบาน ตัวนี้สำคัญสำหรับฆราวาส เราจะได้ไม่เป็นโรคประสาท โรคจิต วิปลาสอะไรพวกนี้ มันเครียดเกินไป หาที่ผ่อนคลายบ้าง
คนในโลกผ่อนคลายด้วยวิธีที่ไม่ค่อยฉลาด เครียดจัดก็ไปร้องคาราโอเกะ คนอื่นเขาได้ยิน เขายิ่งเครียดจัดกว่าเราอีก เราร้องแล้วเราสบายใจ แต่คนอื่นเขาฟังแล้ว โอ้ ไม่รู้มันร้องทำไม หนวกหู ไม่ได้เรื่องอะไร ไปกินเหล้าเพื่อความผ่อนคลาย พวกนั้นไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่เป็นการหนีปัญหา ไปร้องคาราโอเกะก็หนีปัญหา หลอกตัวเองให้ลืมความทุกข์ไปชั่วคราว หยุดร้องเดี๋ยวมันก็คิดเรื่องเดิม มันก็ทุกข์อีก เพราะใจมันยังไม่ได้ล้างสิ่งสกปรกออก ที่เราติดปนเปื้อนมาแต่ละวัน ฉะนั้นเวลาทำงานทำการอะไรเสร็จแล้วก็กลับบ้าน หาอะไรที่ผ่อนคลายสักนิดหน่อย บางคนก็เล่นกับแมว เล่นกับหมา รดต้นไม้ หลวงพ่อก็ดูการ์ตูน รดต้นไม้อะไรพวกนี้ ต้นไม้ก็มีไม่กี่ต้น คนในเมือง ก็นั่งดูการ์ตูน
พอใจผ่อนคลาย คราวนี้ไหว้พระสวดมนต์แล้ว เป็นการบอกตัวเองว่าถึงเวลาปฏิบัติแล้ว ลืมการ์ตูนเสีย พอลงมือปฏิบัติ ก็หายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง หายใจไปอย่างรู้เนื้อรู้ตัว จิตมันไม่วอกแวกไป ไม่มีความอยาก จิตก็รวม สงบ หายใจไม่กี่ทีจิตก็สงบ พอจิตสงบ จิตได้พักผ่อน ความเครียดที่สะสมมาตลอดวัน ได้ถูกชำระล้างเรียบร้อยแล้ว จิตใจเราผ่องแผ้ว พอถอยออกจากสมาธิ หรือบางทีอยู่ในสมาธิ ก็เดินปัญญาต่อไปเลย เห็นความเกิดดับภายในจิต หรือถอยออกมาข้างนอก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จิต ให้มีสติรู้ทัน ทำได้หลายแบบ
ฉะนั้นมันอยู่ที่การฝึก แล้วพยายามฝึกเข้า แรกๆ ก็ยากหน่อย แต่ต่อไปมันก็ง่าย แล้วเราก็จะรู้ตัวเอง ตอนไหนควรทำความสงบ ตอนไหนควรเจริญปัญญา ช่วงที่จิตใจยังวุ่นวายอยู่ ต้องทำความสงบ ไม่ใช่ไปเจริญปัญญา แต่มันมีการทำความสงบอยู่ชนิดหนึ่ง พิจารณาธรรมะจิตก็สงบได้ แต่ว่ามันเล่นยาก เหมือนบุรุษลึกลับที่หลวงพ่อเล่าให้ฟังเมื่อกี้ นั่นใช้พิจารณาธรรมะแล้วจิตมีความสุข แล้วก็เพลิน เพลินกับปัญญา ก็มีโทษเหมือนกัน
ฉะนั้นง่ายๆ เลยก็ทำกรรมฐานไป เลือกอารมณ์กรรมฐานที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ รู้อารมณ์กรรมฐานนั้นด้วยใจธรรมดาๆ ทำไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็สงบ จิตได้พักผ่อน จิตได้พักผ่อนโรคบ้าที่ควรจะเป็นมันก็ไม่เป็นแล้ว ส่วนที่ภาวนาแล้วเป็นบ้าก็เพราะอะไร เพราะไปทำกรรมฐานแล้วก็ยิ่งบังคับจิตใจตัวเองให้มากขึ้นๆ จิตไม่สงบจะบังคับให้สงบอย่างนี้ เหมือนน้ำเชี่ยวไปขวางเรือ เอาเรือไปขวางน้ำ เรือก็ล่ม เราไม่ได้ทำแบบนั้นหรอก ที่ทำกรรมฐานแล้วเพี้ยน เพราะว่าทำแล้วเครียด ถ้าทำตามหลักที่หลวงพ่อบอก ไม่เครียด ไม่บ้า
แต่คนบ้าอยู่แล้วให้หาหมอ เมื่อวานก็มีคนมาจากแดนไกล จากจังหวัดที่ไกลมากๆ เลย มา จิตใจไม่ปกติ เขาบอกว่าหลวงพ่อส่งจิตไปเรียกให้เขามาบวชที่นี่ ประเภทหลวงพ่อส่งจิตไปเรียก ขอแถลงการณ์หน่อย ไม่ทำหรอก หลวงพ่อไม่ส่งจิตออกนอก ไม่รู้จะส่งไปหาอะไร นี่เพราะจิตหลอน จิตมันหลอน จิตใจก็วุ่นวายไม่รู้เนื้อรู้ตัว หลวงพ่อไปยืนใกล้ๆ ใจเขาก็ค่อยสงบลง ก็บอกเขาบอก นิมิตทั้งหลายอย่าไปเชื่อมัน ธรรมะไม่ได้อยู่ที่หลวงพ่อ ธรรมะไม่ได้อยู่ที่วัด ธรรมะไม่ได้อยู่ที่กระทั่งพระพุทธเจ้า ธรรมะอยู่ที่ตัวเอง อ่านใจตัวเองไปเรื่อยๆ อย่าเชื่อนิมิต เขาฟังเท่านี้จิตก็รวมแล้ว จิตรวม สงบระงับลงได้แล้ว แล้วก็กลับบ้านไป
ที่จริงมันไม่ยากหรอก จับหลักให้เป็น ง่ายๆ แต่บอกก่อนถ้าบ้าแล้วอย่าพามา ไปหาหมอ หมอจิตแพทย์เยอะแยะตอนนี้ แล้วจิตแพทย์หลายคนก็มาหาหลวงพ่อ เพราะว่าเขาต้องปรึกษาจิตแพทย์คนอื่นเหมือนกัน ในโลกนี้เต็มไปด้วยความทุกข์จริงๆ ไม่รู้หลงกันอยู่ได้อย่างไร มันเต็มไปด้วยความทุกข์ หลงกันอยู่นั่นล่ะ เห็นแล้วก็น่าสงสาร แต่ว่ายังจำเป็นต้องอยู่กับโลกก็อยู่ไปก่อน
เมื่อเช้าก็มีคนหนึ่งเขาเป็นดารา เดี๋ยวนี้เขาเรียกนักแสดง เป็นนักแสดง เมืองจีนจะจ้างจะทำสัญญา 8 ปีอะไรต่ออะไร ลังเลทำดีไม่ดี ดีไม่ดี อยากภาวนา หลวงพ่อก็บอกว่าตอนนี้มันเป็นเวลาทำมาหากิน เราต้องเลี้ยงชีวิตตัวเองให้ได้ มีโอกาสทำมาหากินอะไร ที่มันไม่ทุจริตก็ทำไป ทำไปก่อน แล้วการทำมาหากินของเรานั้น ถ้ามันไม่ใช่เรื่องทุจริต มันไม่ได้ขวางการปฏิบัติหรอก อย่างเราเล่นละคร เราก็เล่นไป เล่นแล้วเราก็ต่อไปก็สังเกต จริงๆ เราเล่นละครอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เล่นเฉพาะตอนที่ผู้กำกับสั่งหรอก แต่ละคนเล่นละครอยู่ทั้งวัน แอคอาร์ตในท่าต่างๆ เป็นพ่อก็ต้องเล่นบทอย่างนี้ เป็นแม่ก็เล่นบทอย่างนี้ เป็นลูกก็ต้องมีบทบาทอย่างนี้ เป็นเพื่อนกันก็มีบทบาทอย่างนี้ โลกนี้คือโรงละคร ทุกคนกำลังเล่นละครอยู่แล้ว แต่ว่าไม่รู้ ถ้ารู้เสียอย่างก็ไม่เป็นอะไรแล้ว รู้ว่าเล่นอยู่ ไม่มีโทษแล้ว ถ้ารู้ว่าเล่น เรียกว่ารู้ทันความปรุงแต่ง มีหน้าที่ก็ปรุงแต่งไปตามเรื่องตามราวของมัน
อย่างบางทีหลวงพ่อก็ต้องปรุงแต่ง ต้องทำหน้าดุๆ ใส่ บางทีชี้หน้า ทำท่าทำตาถลนๆ อะไรอย่างนี้ นี่เราก็เล่นบทบาท บทบาทของครู แต่ว่าเล่นให้เป็น เล่นแล้วอย่าให้อารมณ์มันย้อมใจได้ เรียกเล่นให้เป็น ถ้าเล่นไม่เป็นมันก็ถูกความปรุงแต่ง ย้อมจิตใจของเราไป ก็ตกเป็นทาสของความปรุงแต่ง จิตสร้างความปรุงแต่งขึ้นมา แล้วจิตก็ตกเป็นทาสของความปรุงแต่งมันโง่ไม่โง่ล่ะ ฝึกนะ
วัดสวนสันติธรรม
16 ธันวาคม 2566