ขั้นแรกเราต้องรู้สึกตัวให้เป็น สภาวะของความรู้สึกตัวนี้ จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว โดยที่ไม่ได้ไปเพ่งไปจ้องเอาไว้ ถึงจะเรียกว่ารู้สึกตัว อย่างบางคนนั่งเพ่งเคร่งเครียด ขยับแล้วก็รู้แต่ว่าใจแข็งทื่อๆ อันนั้นไม่เรียกว่ารู้สึกตัว อันนั้นเรียกว่าบังคับตัวเองอยู่ รู้สึกตัวนั้นใจเราปกติอย่างนี้ รู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย รู้ถึงการมีอยู่ของความรู้สึกนึกคิดต่างๆ พอเรารู้สึกตัวได้ จิตมันจะอยู่กับตัวเอง ไม่เผลอ ในโลกมีแต่คนเผลอ ไม่มีคนรู้สึกตัวหรอก อย่างพวกเราที่นั่งอยู่ตรงนี้ หลวงพ่อไม่เห็นใครรู้สึกตัวเลย กำลังเผลอฟังหลวงพ่ออยู่
สังเกตไหมเวลาฟังหลวงพ่อ ใจมาอยู่ที่หลวงพ่อ พอฟังนิดหนึ่งใจก็ขยับไปคิด หลวงพ่อพูดอย่างนี้หมายความว่าอย่างไร ใจมันทำงานตลอดเวลา แต่เราไม่เคยเห็น ใจหลงมาดูหลวงพ่อก็ไม่รู้ ลืมกายลืมใจของตัวเอง ฟังนิดหน่อยแล้วก็สลับไปคิดก็ไม่รู้ รู้อะไรตอนนั้น รู้เรื่องที่คิด ตอนเห็นหลวงพ่อรู้อะไร รู้หลวงพ่อ รู้รูปทางตา พอฟังข้อความ อันนี้รู้ด้วยหู เสร็จแล้วก็เอาไปคิด ที่ได้ยินอย่างนี้หมายความว่าอย่างไร อันนี้หลงทางใจ จิตของเราร่อนเร่ไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้งวัน เพราะฉะนั้นจิตใจไม่เคยอยู่กับตัวเอง จิตใจหนีไปอยู่ที่รูป ที่เสียง ที่กลิ่น ที่รส ที่สิ่งที่สัมผัสร่างกาย นี้เป็นของภายนอกทั้งหมด ทางใจก็หนีไปอยู่ในโลกของความคิด ความฝัน ซึ่งไม่ใช่ของจริง
วิธีปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด
วิธีที่เราจะหลุดออกจากโลกของความคิดความฝัน หรือ ไม่หลงทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือหัดสังเกตจิตใจตัวเองไว้ ทำกรรมฐานไปสักอย่างหนึ่ง อะไรก็ได้ ย้ำคำว่าอะไรก็ได้ กรรมฐานอะไรก็เหมือนกันหมดล่ะ ถ้าจับหลักถูก จะรู้ลมหายใจแล้วรู้ทันจิตก็ได้ จะขยับมืออย่างหลวงพ่อเทียนก็ได้ จะดูท้องพองยุบก็ได้ ทำอานาปานสติก็ได้ จะเดินจงกรมก็ได้ อย่างเราเดินอยู่นี้ใจเราหนีไปเรารู้ บางทีเดินๆ อยู่ในวัด เดินๆ อยู่เห็นนกยูงเดินมา ใจเราวิ่งไปที่นกยูงแล้ว นี้หลงไปทางตา เดินๆ อยู่ลมเย็นๆ พัดมาถูกผิวกายเพลินๆ ไป หลงกับสิ่งที่มากระทบทางผิวกาย หรือเดินๆ อยู่ใจหนีไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ นี้หลงทางใจ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วจิตเราไปทางไหนเราคอยรู้ทันไว้ อันนี้เป็นวิธีปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุดแล้วล่ะ
ครูบาอาจารย์ย้ำตลอดเวลาว่าการปฏิบัตินั้น ถ้าเราได้จิตเราก็ได้ธรรมะ ถ้าเราไม่ได้จิตของตัวเอง เราไม่ได้ธรรมะหรอก เพราะกุศลเกิดที่จิต อกุศลเกิดที่จิต มรรคผลเกิดที่จิต ฉะนั้นเราทำกรรมฐานไป แล้วก็คอยรู้เท่าทันจิตตัวเองไป จิตหลงไปคิดก็รู้ จิตถลำลงไปเพ่ง อย่างเรารู้ลมหายใจ จิตถลำไปเพ่งลมหายใจก็รู้ ต้องซ้อมบ่อยๆ ทำกรรมฐานแล้วคอยรู้ทันจิต แล้วต่อไปพอเรามาอยู่ในชีวิตธรรมดาอย่างนี้ เราเจริญสติในชีวิตประจำวัน เวลาเราทำกรรมฐาน เราก็จะรู้กาย รู้จิตของเราไป แต่เวลาเราอยู่ในชีวิตประจำวัน เราเปิดอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใช้มันหกอันเลย แต่จะใช้ทีละอัน
อย่างมานั่งฟังหลวงพ่อเทศน์ เห็นหลวงพ่อ ใจมาอยู่ที่หลวงพ่อ เราหลงไปทางตา ฟังหลวงพ่อพูด อันนี้ก็จำเป็นต้องหลงก่อน ไม่อย่างนั้นไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าเราภาวนาชำนาญ เราจะเห็นเลย ใจเราไหลไปอยู่ที่เสียง ไปจดจ่ออยู่ที่เสียง อย่างตอนนี้มีเสียงรบกวนเยอะ เสียงเข็นถาด เสียงอะไร เราจะฟังเสียงหลวงพ่อเรารู้สึกว่าต้องตั้งใจ ต้องตั้งใจจดจ่อ ใจเราก็ไปฟังเสียง เราฟังประโยคหนึ่ง สองประโยค เราก็เลิกฟังหันมาคิด สังเกตไหมเราไม่ได้ฟังอย่างเดียว แต่เราฟังไปคิดไป เราใช้อายตนะหลายตัวสลับกันไปมา
หรืออย่างเราดูซีรีส์เดี๋ยวตาเราก็ไปดู ดูพระเอกดูนางเอก เดี๋ยวหูเราก็ฟังว่ามันพูดอะไรกัน ถ้าจิตเราไวพอเราจะเห็นเลย ในขณะที่เราได้ยินเสียง รูปที่เรามองเห็นพระเอกนางเอกไม่ชัดแล้ว จิตไม่สนใจไปจับ มันจับอยู่ที่เสียง พอฟังเสียงเสร็จแล้วก็คิด ที่มันพูดนี้หมายถึงอะไร พูดแล้ว โอ้ ขำดี เราก็เกิดความรู้สึกขำขึ้นมา หัวเราะ มันคุยกัน เราคิด แปลความหมายแล้ว มันกำลังเศร้าโศก ใจเราก็พลอยเศร้าไปด้วย มีความเปลี่ยนแปลงที่จิตใจเกิดขึ้น ฉะนั้นในขณะที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ ใจเราเกิดความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
ทีนี้ตอนทำในรูปแบบเราหัดสังเกตใจเรา ใจหลงไปคิดก็รู้ ใจไปเพ่งก็รู้ พอมาอยู่ในชีวิตจริงได้ยินพระเอกนางเอกร่ำลากัน จะพลัดพราก ใจเราเศร้า เราก็เห็นความเศร้าเกิดขึ้นในใจ เราเห็นผู้ร้ายมาเราเกลียด เห็นแล้วโกรธเลย โกรธเกลียด เราก็มีสติเห็นความโกรธความเกลียดเกิดขึ้น ฉะนั้นเวลาเราฝึกในชีวิตประจำวัน เราจะสังเกตอยู่ที่จิตตัวเอง ให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจทำงานไปตามธรรมชาติ แต่เมื่อมันทำงานไปตามธรรมชาติแล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงที่จิตใจ ให้รู้ทัน เพราะฉะนั้นเราต้องทำในรูปแบบ
เวลาทำในรูปแบบมันหลงน้อยแบบ น้อยชนิด ส่วนใหญ่ก็หลงไปคิดกับหลงไปเพ่ง หรือบางทีนานๆ ก็ขี้เกียจ ความรู้สึกขี้เกียจแทรกเข้ามา ความรู้สึกเบื่อ ความรู้สึกท้อ แทรกเข้ามา หรือวันไหนภาวนาดี ความรู้สึกดีใจก็แทรกเข้ามา แต่พวกนี้มีไม่มาก เวลาเราอยู่ในชีวิตจริงจิตใจเราเปลี่ยนตลอดเวลา ตามการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกในรูปแบบก่อน ให้เราดูจิตใจตัวเองได้ชำนาญก่อน จิตเผลอไปก็รู้ จิตเพ่งก็รู้ จิตเบื่อก็รู้ จิตรำคาญก็รู้ จิตขี้เกียจก็รู้ ฝึกอย่างนี้ แล้วพอเรามาอยู่ในชีวิตจริงๆ ไม่ว่าอารมณ์ชนิดใดเกิดขึ้น กับจิตเราจะรู้ โดยไม่ได้เจตนาจะรู้ อันนี้เรียกว่าเราสามารถเห็นสภาวะได้แล้ว
อ่านใจตัวเองได้จะเห็นความจริงของสภาวธรรม
สิ่งที่เรียกว่าสภาวะคือ รูปธรรม นามธรรมทั้งหลาย นามธรรม เช่นความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย ถ้าเรารู้และชำนิชำนาญ เรียกว่าเรารู้ตัวสภาวะได้แล้ว ต่อไปเราก็จะพบว่า สภาวะทุกตัวเกิดแล้วก็ดับทั้งสิ้น อย่างความสุขเกิดมา ตาเราเห็นรูป ใจเราพอใจ ใจเรามีความสุข เราก็เห็นความสุขเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ไม่มีความสุขที่ถาวร เราเห็นรถชนกัน คนตายเลือดกระจายเต็มถนน ใจเราสยดสยอง ความรู้สึกสยดสยองใจ กลัว เกิดขึ้น เรามีสติรู้ ไม่ต้องทำอะไร ประเดี๋ยวมันก็ไป เราจะเห็นว่าความรู้สึกทุกชนิด ทั้งสุขและทุกข์ ทั้งดีและชั่ว เกิดแล้วดับทั้งสิ้น ฉะนั้นให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ไป แล้วอ่านใจตัวเองไป เราก็จะเห็นว่าสภาวะทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปทั้งสิ้น
อย่างหลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อก็จะเห็นจิตตัวเอง ทีแรกไม่รู้จักจิต ก็ค่อยๆ ดูไป จิตอยู่ในกาย แต่จิตไม่ใช่กาย จิตรู้เวทนา แต่จิตไม่ใช่เวทนา คือความสุขทุกข์ จิตเป็นคนรู้ ความดีความชั่วเกิดขึ้นก็เป็นสิ่งที่จิตรู้อีก ในที่สุดหลวงพ่อก็คอยรู้ทันจิตตัวเองได้ ตาเห็นรูป จิตโมโหขึ้นมา รู้ หูได้ยินเสียง จิตชอบขึ้นมา รู้ เห็นผู้หญิงสวยๆ ตอนนั้นยังหนุ่ม เห็นผู้หญิงสวยๆ ใจมันชอบ รู้ รู้อยู่ตลอดเลย อ่านใจตัวเองได้เราก็จะเห็นความจริงของสภาวธรรม มี 2 ส่วนเรื่องของสภาวะ
อันแรกเราเห็นตัวสภาวะ เช่น ความโกรธเกิดขึ้น ความโลภเกิดขึ้น ความหลงเกิดขึ้น ความฟุ้งซ่าน ความหดหู่เกิดขึ้น ความสุขความทุกข์เกิดขึ้น นี้เป็นสภาวธรรม แต่พอเราดูไปชำนิชำนาญ เราจะเห็นว่าสภาวธรรมทุกตัวเกิดแล้วดับทั้งสิ้น ความสุขที่พวกเรามีอยู่ เห็นไหมในชีวิตเราความสุขผ่านมาตั้งเยอะแยะ แล้วดับทั้งสิ้น ความทุกข์ในชีวิตของเรามากมาย แต่ความทุกข์ทุกชนิดเกิดแล้วก็ดับทั้งสิ้น กุศล อกุศล ทั้งหลาย โลภ โกรธ หลง เราก็โกรธวันหนึ่งหลายครั้ง แต่ว่ามันก็อยู่ชั่วคราวแล้วมันก็ดับ
ขั้นที่หนึ่งเราเห็นสภาวะ ขั้นที่สองเราเห็นความจริงของสภาวะ ว่าเกิดแล้วก็ดับทั้งสิ้น ทีแรกก็เห็นว่า โกรธเกิดแล้วดับ โลภเกิดแล้วดับ หลงเกิดแล้วดับ สุขเกิดแล้วดับ ทุกข์เกิดแล้วดับ เห็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ตัวไหนเกิดก็รู้ไป แล้วก็เห็นมันดับไป ถึงจุดหนึ่งปัญญามันแก่กล้า มันสรุปได้ด้วยตัวของมันเอง ว่าทุกสิ่งที่เกิดล้วนแต่ดับทั้งสิ้น พระโสดาบันไม่ได้ว่ารู้อะไรเยอะ พระโสดาบันรู้แต่ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มันเกิดมาธรรมดามันต้องเกิด สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา นี้เป็นความรู้รวบยอดของจิต ไม่ใช่โลภเกิดแล้วดับ โกรธเกิดแล้วดับ อย่างที่เห็นทีแรกแล้ว แต่มันเห็นว่า ทุกสิ่งที่เกิดนั้นล้วนแต่ดับทั้งสิ้น เป็นปัญญารวบยอด ถ้าจิตเรามีปัญญารวบยอดอันนี้ขึ้นมาแล้วอย่างแท้จริง นั่นล่ะคือพระโสดาบัน
อย่าไปวาดภาพพระโสดาบัน พระอรหันต์ผิดมนุษย์มนา ก็คนอย่างเรานี่ล่ะ แต่ท่านได้พัฒนาจิตใจ ฉลาด เข้าใจความจริงของชีวิตมากขึ้นๆ เท่านั้นเอง เบื้องต้นก็เข้าใจว่าทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเรา มันอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับไป ร่างกายของเราอยู่ชั่วคราวแล้วก็ต้องแตกสลาย ต้องตาย เป็นเรื่องธรรมดา ร่างกายของเราแข็งแรงอยู่ ก็แข็งแรงชั่วคราว มันก็ต้องเจ็บไข้เป็นธรรมดา เดี๋ยวมันก็สุข มันก็สุขไปธรรมดาๆ ไม่นานก็ดับ จิตใจนี้ก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเป็นธรรมดา ทั้งสุขทั้งทุกข์ ทั้งดีทั้งชั่ว หมุนอยู่ในใจ พอเราเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมดา เราอยากได้ธรรมะใช่ไหม แต่เราไม่รู้ว่าธรรมะคืออะไร ธรรมะก็ธรรมดานี้ล่ะ ที่เราไม่เข้าใจธรรมะ เพราะเราอยากไม่ธรรมดา
ธรรมดาของร่างกาย ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เราอยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตาย ธรรมดาของจิตใจต้องกระทบอารมณ์ที่ชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง เราไม่เอา อารมณ์ที่ไม่ชอบมาเราอยากไล่ให้ไป อารมณ์ที่ชอบเราอยากได้มาแล้วก็อยากรักษาเอาไว้ มันไม่ได้ยอมรับความจริงของธรรมชาติ ยังไม่เห็น ว่าสิ่งทั้งหลายเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ เราก็ยังอยากได้สิ่งที่ดี สิ่งที่สุข เราเกลียดสิ่งที่ชั่วสิ่งที่ทุกข์ ใจเราก็เกิดความดิ้นรน เมื่อใจเราดิ้นรน ใจเราไม่สงบ ใจเราก็ไม่เข้าถึงพระนิพพาน
นิพพาน คือ สันติ ถ้าพูดจริงๆ นิพพานมีลักษณะสงบ แต่ไม่ใช่สงบแบบที่คนทั่วไปสงบ คนทั่วไปมีความทุกข์แล้วทุกข์ก็หายไป อันนั้นสงบไปตามธรรมชาติ เกิดแล้วดับ แต่คนที่เข้าใจพระนิพพานคือเข้าใจถึงตัวธรรมะว่า ทุกสิ่งที่เกิดดับทั้งสิ้น นี้ในเบื้องต้น ในเบื้องปลายจะรู้ลึกซึ้งขึ้นไปอีก บรรดาสิ่งที่เกิดที่ดับนั้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ ถ้าเราเห็นว่านอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ นั้นคือภูมิจิตภูมิธรรมของพระอรหันต์ คือรู้แจ้งแทงตลอดว่าสิ่งที่เกิดมีแต่ทุกข์เกิด สิ่งที่ดับมีแต่ทุกข์ดับ
อย่างร่างกายเรานี้ คนทั่วไป ร่างกายเราเป็นที่รักที่หวงแหน พอจะตายของดีของวิเศษของเราจะตายแล้ว ร่างกายนี้วิเศษเหลือเกิน ในสายตาพระอรหันต์ เวลาจะตายทุกข์มันจะดับ การที่เราเห็นว่าทุกข์มันกำลังจะดับนั้นจิตใจจะร่าเริง ไม่ได้เศร้าโศกหรอก อย่างพระอรหันต์รู้แจ้งแทงตลอด ว่าขันธ์ 5 มันตัวทุกข์ แต่วิบากกรรมเก่าที่ทำให้เราได้ขันธ์ 5 อันนี้มา ยังไม่หมด ท่านก็ไม่ปฏิเสธ คล้ายๆ มีหนี้อยู่ ก็ยังใช้หนี้อยู่ แต่ก็ฉลาดก็อยู่กับร่างกายนี้ไป เห็นมันทุกข์แต่ใจไม่ทุกข์ด้วย เพราะรู้ว่ามันไม่ใช่ของที่ดีวิเศษอะไรหรอก มันเป็นธรรมดาอย่างนี้ มันเห็นธรรมดา
พอร่างกายจะตาย ขันธ์มันจะแตก คล้ายๆ ภาระที่ต้องแบกหามมาตลอดยาวนานในสังสารวัฏถึงเวลาสิ้นสุดลงแล้ว เพราะฉะนั้นในขณะที่พระอรหันต์จะนิพพาน ร่าเริงเลย คล้ายๆ ภาระหนักที่ต้องแบกมานับภพนับชาติไม่ถ้วน กำลังจะหมดไปแล้ว ฉะนั้นคนทั่วไปตายเศร้าโศก พระอรหันต์ตายไม่เศร้าโศก เบิกบาน เวลาพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์จะนิพพาน ถ้าเราสังเกตให้ดี วันนั้นท่านจะผ่องใสมากเลย คล้ายๆ ภาระทั้งหลายจะวางลงทั้งหมดแล้ว พระอรหันต์ท่านวางภาระทางใจได้ตั้งแต่ขณะที่บรรลุพระอรหันต์ เหลือแต่ภาระในร่างกายต้องดูแลรักษาไป ทีนี้ภาระในร่างกายจะแตกดับก็จะหมดภาระ สบายแล้ว จะไม่เศร้าโศกหรอก
ธรรมะคือความจริง
ฉะนั้นต่อไปเราภาวนา ต่อไปไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในชีวิตเรา เราจะไม่เศร้าโศก เรียก “อโสกํ” ไม่เศร้าโศก ไม่เศร้าหมอง เราสามารถยอมรับความจริงได้ ธรรมะก็คือความจริงนั่นล่ะ ความจริงที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ความจริงเบื้องต้นก็คือทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดล้วนแต่ดับทั้งสิ้น ความจริงในขั้นสูงสุดก็คือบรรดาสิ่งที่เกิดที่ดับ ก็คือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์ทั้งสิ้น
ร่างกายเราเป็นตัวทุกข์หรือตัวสุข ดูให้ดี ตื่นเช้ามาเห็นไหมต้องล้างหน้าล้างตาเพราะมันสกปรก ต้องขับถ่าย เดี๋ยวหิวข้าวต้องไปกินข้าว ร่างกายเต็มไปด้วยภาระมากมาย ต้องหาเสื้อผ้ามาใส่ หน้าหนาวก็ต้องใส่เยอะหน่อย หน้าร้อนก็ใส่น้อยหน่อย บางคนไม่มีจะใส่ หน้าหนาวตัวสั่นทรมาน ร่างกายไม่ใช่ของวิเศษหรอก ร่างกายเป็นภาระอย่างยิ่งเลย
ความรู้สึกในใจก็เป็นเครื่องพะรุงพะรัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์แล้วในใจเราเต็มไปด้วยของพะรุงพะรัง รกรุงรังเกิดขึ้น ความสุขความทุกข์ ความดีความชั่ว หมุนเวียนอยู่อย่างนี้ เป็นเครื่องทำให้จิตใจเรามีภาระ ต้องดูแลต้องรักษาไป ถ้าดูแลไม่ดี โทสะเกิดก็ไปไล่ตีกับคนอื่นเขา ต้องคอยควบคุม ต้องดูแลมากมาย ต้องอบรมมันด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา จนวันที่เข้าใจความจริงถ่องแท้ ขันธ์ 5 ทั้งร่างกายทั้งจิตใจก็คือตัวทุกข์ ไม่ใช่ตัวดีหรอก เรียกว่ามีปัญญาขั้นสุดยอดแล้ว รู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ก็เป็นอันละสมุทัย ละความอยากทั้งหลายทั้งปวงได้ ละความอยากที่เกี่ยวกับร่างกาย ละความอยากที่เกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายได้
เพราะฉะนั้นรู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไร ก็เป็นอันละสมุทัยเมื่อนั้น ละสมุทัยคือละความอยากออกจากใจได้ จิตก็ถึงนิโรธ คือนิพพานเมื่อนั้นเลย นิพพานเดี๋ยวนี้เลย นิพพานในทันทีนี้เลยที่จิตพ้นจากอำนาจของความอยาก ที่จิตพ้นอำนาจความอยากได้เพราะจิตเห็นความจริง คือรู้ทุกข์ กายนี้ใจนี้คือทุกข์ ฉะนั้นการรู้ทุกข์ก็จะทำให้ละสมุทัยอัตโนมัติ เมื่อละสมุทัยอัตโนมัติ ละความอยากอัตโนมัติ นิโรธคือนิพพานจะปรากฏขึ้นต่อหน้าต่อตาโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องแสวงหา
นิพพานที่ยังต้องแสวงหาไม่ใช่ของจริง อย่างส่งจิตไปเข้านิพพาน ออกจากนิพพาน เข้านิพพาน อันนั้นไม่ใช่นิพพานหรอก อันนั้นเป็นนิมิตทั้งหมดเลย หลวงพ่อก็เคยเป็น ทำสมาธิจนกระทั่งทุกสิ่งทุกอย่างดับหมดไป เหลือแต่ธาตุรู้อันเดียวเลย เลยคิดว่าอยู่ตรงนี้นานๆ แล้วจะนิพพานได้ พอถึงเวลาจิตก็ถอนออกมา พอถอนออกมาแล้วก็กลับเข้าไปอีก เข้าๆ ออกๆ ไปเจอครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ชื่อหลวงปู่บุญจันทร์ ไม่เคยรู้จักท่าน ท่านให้พระมาเรียกหลวงพ่อไป แล้วท่านก็เล่นงานเลย ที่ทำอยู่นิพพานอะไร มีเข้ามีออก ฉะนั้นเราไม่ต้องไปคิดว่านิพพานแล้วต้องเข้านิพพาน ออกจากนิพพาน นิพพานอยู่ต่อหน้าต่อตานี้อยู่แล้ว เราไม่เห็นเพราะใจเรามีแต่ตัณหานั่นเอง มีแต่ความอยาก มีแต่ความหลงผิด
ความอยากเกิดจากความหลงผิด ฉะนั้นตัณหานี้รากของมันคืออวิชชา เราไม่รู้แจ้งเห็นจริงว่า ขันธ์ 5 เป็นทุกข์ ฉะนั้นเราเรียนรู้กายรู้ใจนั้นล่ะ จนกระทั่งเรารู้ว่ามันคือตัวทุกข์ มันก็จะละสมุทัยอัตโนมัติ เพราะความอยากมันเกิดจากความไม่รู้ความจริง อยากให้กายเป็นสุข อยากให้กายไม่ทุกข์ มันไม่รู้ความจริงว่ากายคือตัวทุกข์ อยากให้จิตสุข อยากให้จิตไม่ทุกข์ เพราะมันไม่รู้ความจริงว่าจิตคือตัวทุกข์ เพราะฉะนั้นถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ก็เป็นอันละความอยากได้หมด ละความอยากได้เมื่อไรนิพพานปรากฏขึ้นต่อหน้าเลย ไม่ได้เกิดขึ้น นิพพานไม่มีการเกิด ไม่มีการดับ เพียงแต่คุณสมบัติของจิตเราไม่พอ เรามีตัณหาห่อหุ้มอยู่ เราก็เลยไม่เห็นนิพพาน ทันทีที่ความอยากดับสนิท จิตเราก็ถึงความสงบสันติแล้ว ไม่กระเพื่อมหวั่นไหวต่อไปแล้ว นั่นล่ะคือพระนิพพาน
รีบภาวนาตั้งแต่วันนี้ก่อนที่จะสายเกินไป
เวลานักปฏิบัติตาย ครูบาอาจารย์ตาย เราอย่าเชยๆ ประเภทอวยพรท่าน ขอน้อมส่งเข้าสู่แดนนิพพาน คนที่พูดประโยคนี้ไม่รู้จักนิพพานแน่นอน ท่านถึงนิพพานตั้งแต่วันบรรลุพระอรหันต์แล้ว ไม่ต้องไปส่งท่านเข้านิพพานหรอก ส่งตัวเองนี้ล่ะ บางคนก็แต่งสำนวนไพเราะ น้อมส่งกลับสู่ธรรมชาติ กลับสู่ธรรมชาติอะไรล่ะ ขณะนี้ก็ธรรมชาติอยู่แล้ว คือพูดออกมาสะท้อนเลยว่าไม่เข้าใจธรรมะหรอก
ฉะนั้นเราภาวนาให้ดี ขั้นแรกรู้ตัวให้ได้ ขั้นที่สองพอรู้ตัวแล้วก็หัดดูสภาวะทั้งหลาย สุขทุกข์ ดีชั่ว อะไรเกิดขึ้นก็รู้ไป ต่อไปก็เห็น สภาวะทั้งหลายเกิดแล้วดับทั้งสิ้น แล้วต่อไปก็จะรู้เลยว่าสิ่งที่เกิด สิ่งที่ดับนั้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป จิตก็จะเข้าถึงพระนิพพาน ไม่ต้องรอให้ตาย ถึงตอนนี้เลย คือพ้นจากความอยากสิ้นเชิงนั้นล่ะ
วันนี้เทศน์ให้ฟังเล็กๆ น้อยๆ เล็กน้อยไหม เทศน์ทีไรก็ถึงพระนิพพานทุกทีเลย เล่านิทานแล้ว เล่านิทาน ไม่ต้องเคร่งเครียด หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยบอก การแสดงธรรมนี้ต้องได้อรรถรส ต้องสมบูรณ์ด้วยปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ
ปริยัติก็คือ ไม่ใช่ไปเรียนเยอะๆ ปริยัติต้องสอนให้ถูกให้ตรงแนวทางที่อยู่ในพระไตรปิฎก บางทีก็เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า บางทีก็เป็นคำสอนของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย แล้วก็พระอรหันต์ 500 องค์ ช่วยกันประมวล รวบรวมขึ้นมาเป็นพระไตรปิฎก ฉะนั้นปริยัติก็คือ สอนอย่าให้ผิดพระไตรปิฎก อย่างสอนว่านิพพานเป็นอัตตานี้ไม่ใช่ เพราะนิพพานเป็นอนัตตา นี้ปริยัติ ปฏิบัติ สอนแล้วก็ไม่ใช่สอนเพ้อเจ้อ สอนแล้วต้องเอาไปทำได้ แล้วเวลาทำไปก็สอนวิธีปฏิบัติทำอย่างไรอะไรอย่างไร แล้วสอนปฏิเวธ คือผลจากการปฏิบัติจะเป็นอย่างไร
หลวงปู่ดูลย์ท่านบอกหลวงพ่อ และก็บอกลูกศิษย์ว่าเวลาแสดงธรรม ต้องถึงพร้อมด้วยปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ มันถึงจะมีพลัง ฟังแล้วใจจะฮึกเหิม รู้สึกไหม เราฟังแล้วใจจะฮึกเหิม ถ้ามีแต่ปริยัติ เหี่ยวที่สุดเลย หรือมีแต่ปฏิบัติ ท้อแท้ใจ ไม่รู้จะปฏิบัติไปอย่างไร เมื่อไร แต่ถ้าเราได้ฟังครบสูตร ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ อย่างที่หลวงปู่ดูลย์ท่านบอก ใจเราจะฮึกเหิม
สังเกตหรือเปล่าเวลาฟังหลวงพ่อเทศน์ ใจมันมีพลัง ไม่ใช่เพราะหลวงพ่อส่งพลังไปให้ หลวงพ่อส่งธรรมะให้ แล้วใจของเรามัน alert ขึ้นมา ตื่นตัวขึ้นมา แต่ว่าส่วนใหญ่มันตื่นตัวตอนอยู่ใกล้ๆ หลวงพ่อ ออกข้างนอกมันก็ตื่นตามโลกไปต่อไป ต้องดัดนิสัยตัวเอง อย่าตามใจกิเลส ตั้งอกตั้งใจ รีบภาวนาเข้า วันเวลาที่ธรรมะจะอยู่กับโลก มีไม่มากหรอก เราอาจจะต้องภาวนาชาติหนึ่ง สองชาติ สามชาติไป ถ้าเราไม่รีบภาวนา ต้องใช้เวลาอีกพันชาติ อาจจะกลายเป็นแสนชาติ เพราะไม่มีใครสอนให้เรา กว่าพระพุทธเจ้าองค์ใหม่จะมาตรัสรู้ ไม่ใช่ง่ายๆ เพราะฉะนั้นรีบทำตั้งแต่วันนี้ก่อนที่จะสายเกินไป แล้วจะได้ไม่ต้องเสียใจทีหลังตอนเราจะตาย อันนี้ก็ยังไม่ได้ทำ อันนั้นก็ยังไม่ได้ทำ ไม่ได้ทำก็ไปทำเอา ต้องทำเสียก่อนที่จะตาย
วันนี้เทศน์เท่านี้ จบรอบสองแล้ว รอบแรกเทศน์เนื้อธรรมะ รอบนี้รอบปลุกใจ
วัดสวนสันติธรรม
5 ธันวาคม 2566