การปฏิบัติสู่อริยมรรคอริยผล

มีสติไว้ สติสำคัญที่สุดเลย ถ้าเราขาดสติตัวเดียว ไม่มีทางปฏิบัติธรรมได้ ทำสมถะก็ไม่ได้ เรื่องทำวิปัสสนายิ่งเป็นไปไม่ได้เลย เราจะปฏิบัติธรรมก็ต้องทำให้ครบหลักสูตรของพระพุทธเจ้า ศีลต้องรักษา จิตต้องฝึก ปัญญาต้องเจริญ หลวงพ่อไม่ได้ใช้คำว่าศีลต้องรักษา สมาธิต้องทำ ปัญญาต้องเจริญ ไม่ได้ใช้คำนี้ เพราะบทเรียนของพระพุทธเจ้า ชื่ออธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา

 

สติสัมปชัญญะ

อธิจิตตสิกขา ไปฝึกแล้วเราจะได้สมาธิที่ถูกต้อง สติเป็นธรรมฝ่ายกุศลล้วนๆ เลย สมาธิเกิดได้ทั้งจิตที่เป็นกุศลจิตที่เป็นอกุศล ฉะนั้นสมาธิมันมีหลากหลาย ถ้าไม่เข้าใจตัวนี้ เราจะไปทำมิจฉาสมาธิขึ้นมา มิจฉาสมาธิเป็นสมาธิที่ไม่ประกอบด้วยสติ สงบอย่างเดียวแต่ไม่มีสติกำกับ ฉะนั้นบางทีก็สงบโง่ๆ เซื่องซึมไป บางทีก็ฟุ้งซ่าน เห็นโน่นเห็นนี่ไป ทุกวันนี้ในวงการปฏิบัติมันมีเยอะที่ทำสมาธิที่ไม่ถูก ที่จริงมันมีสมาธิที่ไม่ถูก มีมาตลอดล่ะ ตั้งแต่ 40 กว่าปีก่อน หลวงพ่อเข้าตามวัด ไปภาวนาตามวัดครูบาอาจารย์ พบคนนั่งสมาธิเยอะมาก คืนหนึ่งๆ แต่ละวัดมีเป็นร้อยๆ เลย แต่ว่ามันไม่ใช่สมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิหรอก มันเป็นสมาธิที่เป็นมิจฉาสมาธิ

หาคนที่ทำสัมมาสมาธิได้จริงๆ หายากมาก เพราะถ้ามีสัมมาสมาธิแล้วก็ถัดจากสัมมาสมาธิคือสัมมาญาณะ สัมมาญาณะก็คือสามารถมีปัญญาที่ถูกต้อง ถัดจากสัมมาญาณะคือสัมมาวิมุตติแล้ว จะเกิดอริยมรรคอริยผลแล้ว สัมมาญาณะมันเป็นการเจริญวิปัสสนาจริงๆ แล้ว ถ้าเราไม่มีสัมมาสมาธิเป็นฐานรองรับ การทำวิปัสสนาทำไม่ได้ พวกเราน้อยคนที่จะทำสัมมาสมาธิขึ้นมาได้ อย่างไปดูคนที่ปฏิบัติ ยังนึกในใจไม่เห็นมีใครปฏิบัติจริงเลย

อย่างถ้าเรานั่งสมาธิแล้วเราก็บังคับจิตให้นิ่งๆ นั่งแล้วก็กดข่มบังคับจิตให้นิ่งๆ จิตก็เครียดๆ อันนั้นก็ไม่ใช่สัมมาสมาธิ อันนั้นเป็นการกระทำที่เรียกว่าอัตตกิลมถานุโยค ตึงเครียดเกินไป เกือบร้อยละ 100 ของนักปฏิบัติก็คือคนซึ่งทำอัตตกิลมถานุโยค เครียดจัด บังคับกายบังคับใจ เคร่งเครียดอยู่อย่างนั้น พอเคร่งเครียดมากๆ ถัดจากนั้นก็เป็นอัตวินิบาต อัตวินิบาตกรรม ฆ่าตัวตายไปก็มี เป็นบ้าไปก็มี เพราะว่าทำสมาธิไม่ถูก ทำแล้วเครียด มันกลายเป็นสมาธิที่กดข่มบังคับตัวเอง เราจะได้ยินบ่อยๆ ว่าปฏิบัติธรรมแล้วเป็นบ้า อันนั้นเพราะไปทำมิจฉาสมาธิแบบเคร่งเครียด

อีกพวกหนึ่งทำสมาธิ พอจิตรวมเล็กน้อย สว่างขึ้นมา ออกรู้ออกเห็นอะไรภายนอกไปเรื่อยๆ กลับบ้านไม่ได้ เข้าฐานไม่ได้ พวกนี้ฟุ้งซ่าน สมาธิแบบนี้ไม่ได้เรื่องเหมือนกัน ทำสมาธิแล้วบอกว่าเห็นคนนี้เคยเป็นสามีเรา เคยเป็นภรรยาเราอะไรอย่างนี้ ชาตินี้ไม่ได้เป็น หลงอดีตไปแล้ว ระลึกได้ ระลึกเรื่องโน้นระลึกเรื่องนี้ ระลึกไปตามกิเลสนั่นล่ะ อันนี้ก็เป็นอำนาจของมิจฉาสมาธิ ใจมันหลงตามกิเลสไป

เราจะต้องมาพยายามฝึกจิตของเราให้มันตั้งมั่นจริงๆ จะต้องมีสติ เพราะฉะนั้นเวลาที่จะทำกรรมฐานอันใดอันหนึ่ง ขอแนะนำให้มีสติดูแลรักษาจิตตัวเองไว้ให้ดี การที่เรามีสติ คอยคุ้มครองรักษาจิตไว้เรื่อยๆ ศีลที่ไม่เคยมีก็จะมี สมาธิที่ถูกต้องที่ไม่เคยเกิดก็จะเกิด แล้วก็จะสามารถเจริญปัญญาได้จริงๆ ฉะนั้นสติเป็นตัวธรรมะที่ท่านบอกว่าเป็นธรรมะที่มีอุปการะมาก สำคัญมาก คู่กับสัมปชัญญะ สัมปชัญญะเป็นปัญญาที่จะตีกรอบให้เราว่าเราควรจะเดินทางไหน รู้ว่าธรรมะอะไรมีประโยชน์ อันไหนไม่มีประโยชน์ อันไหนสมควรแก่เรา อันไหนไม่สมควรแก่เรา รู้แล้วก็ลงมือทำ ไม่หลงไม่เผลอไป เป็นตัวกำกับการปฏิบัติไม่ให้ออกนอกรีตนอกรอย

เราต้องดูตัวเองอันนี้ว่าเราเหมาะกับกรรมฐานชนิดไหน อย่างเราจะทำสมถะให้จิตสงบ กรรมฐานชนิดไหนเหมาะกับเรา เราจะเจริญวิปัสสนากรรมฐานแบบไหนเหมาะกับเรา ตรงนี้เป็นสัมปชัญญะ ต้องรู้ ไม่ใช่อยู่ๆ ก็ เอาล่ะ นั่งสมาธิหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ทำไปเรื่อยๆ อันนี้เหมาะกับคนอื่น อาจจะไม่เหมาะกับเราก็ได้ กรรมฐานที่เหมาะกับตัวเอง เราต้องตรวจสอบตัวเองดู ทำกรรมฐานอะไรแล้วสติเกิดบ่อย เอาอันนั้นล่ะ ถ้าทำกรรมฐานอะไรแล้วขาดสติก็ไม่เอา เอาที่เราทำได้ ดูตัวเอง

สมัยก่อนก็มีครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง คือหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์บารมีท่านเยอะ ท่านเคยปรารถนาจะเป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้า แล้วท่านเลิกเพราะว่าเจอครูบาอาจารย์ที่สอนให้ท่านพ้นทุกข์ได้ ท่านก็เลยไม่เอาแล้ว แต่บารมีเก่าที่สะสมมาสูง ฉะนั้นท่านจะมีความสามารถพิเศษหลายอย่างซึ่งคนทั่วๆ ไปไม่มี คือท่านจะรู้ว่าแต่ละคนควรแก่กรรมฐานอะไร อย่างยกตัวอย่างลูกศิษย์ของท่าน เมื่อก่อนมีองค์หนึ่งชื่อหลวงพ่อคืน หลวงพ่อคืนตอนยังไม่บวช ชอบภาวนากำหนดลมหายใจ ไปนั่งที่ไหนๆ ภาวนาวัดโน้นวัดนี้ เที่ยวไปเรื่อยๆ คือกำหนดลมไปเรื่อยๆ ไปถามหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์บอกให้พิจารณาผมเส้นเดียว เส้นเดียว 2 เส้นก็ไม่ได้

ท่านเล่าให้หลวงพ่อฟังว่าท่านน้อยใจมากเลย หลวงปู่สอนคนอื่นวิจิตรพิสดาร สอนท่านนิดเดียว ให้ดูผมเส้นเดียว ท่านไม่ยอมดู ก็ไปภาวนาตามอย่างที่ท่านอยากจะภาวนา บางทีจิตรวมลงไป จิตมันถอดออกจากร่างกาย ขึ้นไปอยู่เหนือแม่น้ำโขง ตอนนั้นท่านไปภาวนาอยู่วัดหินหมากเป้งของหลวงปู่เทสก์ แล้วก็ขึ้นไป จิตมันถอดออกไปอยู่บนแม่น้ำโขง เหาะอยู่ มองลงมาที่เมืองอุดรฯ เมืองอุดรฯ ก็หายไป สลาย มองไปเวียงจันทน์ เวียงจันทน์ก็สลาย มองไปที่ไหนๆ ก็สลายหมดเลย ท่านก็นึกว่า โอ้ เราบรรลุพระอรหันต์แล้วกระมัง ที่จริงมันเป็นอาการของสมาธิทั้งนั้นเลย นิมิตทั้งนั้นเลย ยังไม่ได้เดินวิปัสสนาสักนิดหนึ่ง ทีนี้มาหาหลวงปู่ดูลย์ก็โดนหลวงปู่ดูลย์แซว พอเจอหน้าหลวงปู่ดูลย์ก็บอก “นิพพานอะไรอยู่บนแม่น้ำโขง” นิพพานหลอกๆ นี่มันเกิดจากสมาธิที่ไม่ถูก

หรืออีกทีหนึ่งท่านก็ได้ยินครูบาอาจารย์สอนให้เผาร่างกาย กำหนดจิตเผา กำหนดเหมือนไฟไหม้ เหมือนเราเป็นศพอย่างนี้ เผา ท่านก็ไปเผาบ้าง เผาอยู่ 3 เดือน มันไม่ไหม้ มันแค่เกรียมๆ ก็ทำไม่สำเร็จ จนกระทั่งถึงเวลาที่จะต้องมาส่งการบ้านกับหลวงปู่ดูลย์แล้ว นึกขึ้นได้ว่าหลวงปู่บอกให้ดูผมเส้นเดียว ยังไม่ได้ดูเลย ก็เลยต้องดูเสียหน่อย ก็นึกถึงผมตัวเอง ผมยังยาวอยู่ ก็จับผมมาเส้นหนึ่ง รู้สึก ผมมีรูปร่างอย่างนี้ มีสีอย่างนี้ มีกลิ่นอย่างนี้ ไม่สวยไม่งาม ไม่สะอาดอย่างนี้ ไม่เที่ยงอย่างนี้ พอหลุดออกจากหัวเรา มันก็ไม่เป็นผมเราแล้ว เป็นของน่ารังเกียจแล้ว ใจพิจารณาผมลงไป รู้สึกมันน่ารังเกียจ จิตก็รวมเป็นสมาธิ ได้สมถะ พิจารณาลงไป ก็ได้สมถะ จิตรวม เข้ามาฟังธรรม ก็เข้าใจธรรมะขึ้นมา

 

เราต้องมีสติกำกับการปฏิบัติของเราตลอด

ถ้าจิตไม่มีสมาธิ ฟังธรรมะแล้วมันก็ฟังหูซ้ายออกหูขวาไป บางทีก็ไหลเข้าไปอยู่ในสมอง แต่มันไม่ได้เข้าไปที่ใจ คนรุ่นเราเรียนธรรมะส่วนใหญ่เข้าสมอง ไม่ค่อยเข้าใจ เข้าใจนี่จิตมันเข้าใจ เข้าสมอง มันก็จำเอาไว้ เมื่อ 2 – 3 วันหลวงพ่อก็เตือนโยมคนหนึ่งแตกฉานมากเลย คิดพิจารณาธรรมะมากมายเลย ธรรมะเต็มสมองเลยแต่ในใจไม่เป็น บอกอย่างนี้ใช้ไม่ได้หรอก การคิดพิจารณาค้นคว้ามากมายทำให้เกิดความแตกฉานรอบรู้เยอะ แต่ไม่พ้นทุกข์หรอก อยากพ้นทุกข์ก็ต้องเจริญสติเจริญปัญญา รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้จิตใจอย่างที่จิตใจเป็น ทำวิปัสสนากรรมฐานไปแล้วจิตมันถึงจะพ้นทุกข์ได้

ถ้าเราคิดๆ ไปเรื่อยๆ บางคนไม่ทำสมาธิเลย พวกที่ทำสมาธิก็มี 2 พวก พวกหนึ่งทำแล้วเคร่งเครียด อีกพวกหนึ่งทำแล้วก็ออกรู้ออกเห็นอะไรข้างนอก รู้อดีตรู้อนาคตอะไรต่ออะไร เห็นผีสางเทวดา เห็นนรก เห็นสวรรค์อะไรพวกนี้ไป อันนี้ก็ฟุ้งซ่านไป อีกพวกหนึ่งไม่เอาสมาธิเลย คิดว่าถ้าเราเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ เดี๋ยวสมาธิเกิดเอง แล้วก็ไปกางตำราด้วย บอกสมาธิในตำราเขาเรียกเอกัคคตา แล้วเอกัคคตาคือความเป็นหนึ่ง เป็นองค์ธรรมที่เกิดร่วมกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้นจิตทุกดวงมีสมาธิอยู่แล้ว ก็ถูก

จิตทุกดวงมีสมาธิแน่นอนคือรู้อารมณ์ได้ครั้งละอย่างเดียว ตั้งมั่นขึ้นมารู้อารมณ์ได้ครั้งละอย่างเดียวเท่านั้น จิตทุกดวงก็เป็นอย่างนั้น จิตหมาจิตแมวก็เป็นอย่างนี้ แต่นั่นมันไม่ใช่สัมมาสมาธิ เป็นสมาธิธรรมดาๆ ฉะนั้นบางทีไม่เอาเลย ไม่เอาสมาธิเลย ไม่ปฏิบัติ คิดพิจารณาธรรมะอย่างเดียว ใจก็ฟุ้ง ฟุ้งซ่านในธรรมะ แล้วพวกนี้จะเซลฟ์จัด อันนั้นก็รู้ อันนี้ก็รู้ แต่ว่าไม่รู้อย่างเดียวคือไม่รู้ว่าตอนนี้กิเลสอะไรครอบงำจิตใจตัวเองอยู่

เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะทำสมาธิ ขอแนะนำอย่าทิ้งสติ ถ้าสมาธิใดไม่ประกอบด้วยสติ สมาธินั้นเป็นมิจฉาสมาธิทันทีเลย ก็ต้องมีสติกำกับ แล้วการที่เราเจริญสติให้มาก ทำให้มาก จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ อันนี้พระพุทธเจ้าบอกไว้ว่าสัมมาสติเมื่อเราทำให้มาก เจริญให้มาก จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ เพราะฉะนั้นเราต้องมีสติกำกับการปฏิบัติของเราตลอด

อย่างเวลาเราจะทำความสงบ เราจะทำสมาธิ สมาธิมี 2 อัน สมาธิชนิดที่หนึ่ง จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว เอาไว้พักผ่อน เป็นสมาธิที่ดี จำเป็น อีกสมาธิหนึ่งเป็นสมาธิที่จิตตั้งมั่น แล้วสามารถเห็นสภาวธรรมทั้งหลายเคลื่อนผ่านต่อหน้าต่อตา เกิดดับๆ ไปเรื่อยๆ จิตตั้งมั่นเป็นคนรู้คนดูอยู่ อันนี้ก็เป็นสมาธิที่ดีอีกชนิดหนึ่ง สมาธิที่ดีมี 2 อัน อันหนึ่งเรียกว่าอารัมมณูปนิชฌาน น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง จิตก็ไม่วอกแวกไปที่อื่น จิตก็สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว อีกอันหนึ่งจิตตั้งมั่น เด่นดวงขึ้นมา เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

วิธีฝึกสมาธิ 2 อย่างนี้ต้องมีสติทั้งคู่ล่ะ แต่การให้ความสำคัญอยู่คนละจุด ถ้าเราต้องการสมาธิชนิดสงบ สิ่งที่สำคัญคืออารมณ์กรรมฐาน ถ้าเราต้องการให้จิตตั้งมั่น สิ่งที่สำคัญคือการรู้เท่าทันจิตตนเอง จิตกับอารมณ์นั้นเป็นธรรมชาติที่คู่กันเสมอ เมื่อไรมีจิตเมื่อนั้นต้องมีอารมณ์ เมื่อไรมีอารมณ์เมื่อนั้นต้องมีจิต เพราะฉะนั้นในมรรคจิตในผลจิตมีจิตไหม มีจิต มีอารมณ์ไหม มี มีอารมณ์คือนิพพานเป็นอารมณ์ บางคนก็เพี้ยนคิดว่าจิตวูบขาดสติ ลืมเนื้อลืมตัว นั่นล่ะบรรลุมรรคผลแล้ว บรรลุมรรคผลอะไรกันไม่มีจิต มันต้องมีมรรคจิตมีผลจิต อันนั้นจิตขาดสติอย่างแรงเลย ขาดความรู้เนื้อรู้ตัวอย่างแรง นั่งสมาธิแล้ววูบลงไป ลืมเนื้อลืมตัวไป

วิธีที่เราจะฝึกให้ได้สมาธิชนิดสงบ จิตสงบเอาไว้พักผ่อน เราให้ความสำคัญกับตัวอารมณ์กรรมฐาน อย่างหลวงพ่อยกตัวอย่างตัวเอง หลวงพ่อถนัดอารมณ์กรรมฐานก็คือหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ถนัดอย่างนี้ แรกๆ ก็หัดหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับ 1 หายใจเข้าพุทออกโธนับ 2 แล้วนับไปเรื่อยๆ ต่อมาพอจิตมันเริ่มสงบมีสติอยู่ พอจิตมันสงบลง การนับเลขหายไป เหลือแต่หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ พอจิตสงบมากขึ้น พุทโธหายไป เหลือแต่การหายใจ พอจิตสงบมากขึ้น ลมหายใจหายไป กลายเป็นปฏิภาคนิมิต เป็นอุคคหนิมิต เป็นแสงสว่างขึ้นมาแทน

อย่างเวลาพวกเรานั่งหายใจเรารู้สึกไหม บางทีมันสว่างขึ้นมา สว่างขึ้นมาได้ ลมระงับลงไป ลมมันละเอียดลงไป แต่ตรงนี้ถ้าเราขาดสติเมื่อไร มันจะไม่ใช่สมาธิที่ถูกต้องทันทีเลย อย่างนั่งหายใจไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ พอเกิดแสงสว่างขึ้นมา ไม่มีสติ จิตตามแสงสว่างออกไปรู้เห็นอะไรข้างนอก ฟุ้งซ่านไปเลย หรือไม่จิตก็รวมวูบลงไป หมดความรู้สึกตัว ลืมเนื้อลืมตัวไปเลย อันนั้นใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีสติกำกับอยู่ตลอดเวลา หายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก รู้สึกไป เห็นร่างกายหายใจออก รู้สึก เห็นร่างกายหายใจเข้า รู้สึกไป อย่าทิ้งความรู้สึกตัว

เดินจงกรมก็เดินไป ก้าวเท้าขวาไป รู้สึก ก้าวเท้าซ้ายไป รู้สึก ไม่ต้องท่องว่าขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ แรกๆ จะท่องก็ได้ แต่พอจิตสงบมากขึ้น คำบริกรรมพวกนี้หายหมด ไม่มี ก็รู้แต่ว่ารูปมันเคลื่อนไหวไป จิตก็รู้อารมณ์อันเดียว คือรู้ร่างกายอันเดียว การที่จิตอยู่ในอารมณ์อันเดียว จิตไม่วอกแวกไปที่อื่น จิตก็ได้พักผ่อน จิตของพวกเราที่มันไม่มีกำลัง ไม่มีพลัง เพราะมันวอกแวก เดี๋ยวก็คิดเรื่องโน้น เดี๋ยวก็คิดเรื่องนี้ เดี๋ยวก็หลงไปดู เดี๋ยวก็หลงไปฟัง เดี๋ยวก็ไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้อีกแล้ว จิตมันทำงานตลอดเวลา เมื่อจิตมันทำงานตลอดเวลา จิตมันก็หมดแรงเพราะฉะนั้นเราอยากให้จิตมีแรงก็พาให้จิตมันพักเสีย อยู่กับอารมณ์กรรมฐาน

 

อยู่กับกรรมฐานที่เรามีความสุข

ไปดูตัวเอง เราอยู่กับอารมณ์กรรมฐานอะไรแล้วมีความสุข เราก็อยู่กับอารมณ์กรรมฐานอันนั้นไป บางคนคิดถึงพระพุทธเจ้าไปเรื่อยๆ พุทโธๆ คิดถึงพระพุทธเจ้า มีความสุข จิตก็สงบ พอจิตมันมีความสุขอยู่ในอารมณ์อันเดียว มันจะไม่วิ่งพล่านไปหาอารมณ์อื่นๆ เมื่อมันไม่วิ่งพล่านไปหาอารมณ์อื่นๆ มันก็สงบ แล้วพอมันได้พักผ่อนสงบ จิตมันจะมีแรงขึ้นมา จะมีกำลังขึ้นมา แต่ถ้าปล่อยให้จิตทำงานตลอดเวลา จิตไม่เคยได้พัก จิตจะไม่มีกำลังหรอก ถ้าจิตไม่มีแรง จะไปทำอะไรได้ เพราะฉะนั้นการทำสมถกรรมฐานให้จิตสงบไม่ใช่เรื่องที่จะละเลย จะต้องศึกษา จะต้องเรียนบทเรียนที่จะช่วยเรา อันนี้เรียกว่าอธิจิตตสิกขา เรียนรู้จิตตัวเอง มีสติรู้ทันจิตตัวเองไป

เราทำกรรมฐาน เรารู้ว่าจิตเราชอบอารมณ์อันนี้ เราก็มีสัมปชัญญะ รู้ว่าตัวเองเหมาะกับอารมณ์อันนี้ ก็น้อมจิตไปอยู่กับอารมณ์อันนั้นไป แล้วถ้าจิตมันหนีไปจากอารมณ์อันนั้น คอยรู้ทันมัน อย่างเราอยู่กับพุทโธๆ จิตหนีไปที่อื่น รู้ทันมัน โยนมันทิ้งไป ไม่ต้องไปนั่งแก้ไขว่าทำอย่างไรจะเอาจิตคืนมา ไม่ต้องเอาคืน โยนทิ้งไปเลย สมมติว่าหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ แล้วจิตหนีไปคิดเรื่องอื่น อย่าไปดึงจิตคืน โยนทิ้งไปเลย เพราะจิตมันมีนับไม่ถ้วน เดี๋ยวมันก็เกิดใหม่ เริ่มต้นใหม่ กลับมาหายใจใหม่ กลับมาพุทโธใหม่ หนีไปอีก ก็โยนมันทิ้งไป กลับมาหายใจใหม่ มาพุทโธใหม่ ไม่ต้องไปดึง ไม่ต้องไปดึงจิตคืนมา ถ้าดึงคืนมา จิตจะแน่นไปหมดเลย อันนั้นทำผิดแล้วล่ะ

ฉะนั้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่จิตมันชอบ ถ้าจิตมันชอบจริงๆ แล้ว มันจะไม่หนีไปไหน มันสบายใจ ก็อยู่ตรงนั้นล่ะ การที่จิตมันได้พักอยู่ในอารมณ์อันเดียวนานๆ จิตมันจะมีกำลังขึ้นมา แต่ถ้านานเกินไปก็จะมีข้อเสีย จิตมันจะติดความสุขความสงบอันนี้ ผู้ปฏิบัติจำนวนมากเหมือนกันที่เขาเข้าสมาธิได้ เข้าฌานได้ เขามีความสุข แล้วจิตก็เลยไปติดนิ่งอยู่อย่างนั้นล่ะ นานๆ

เมื่อตอนหลวงพ่อบวชใหม่ๆ อยู่ที่เมืองกาญจน์ ก็มีคุณยายคนหนึ่ง อายุ 87 แกมาหาหลวงพ่อให้ลูกหลานพามา มาบอกหลวงพ่อว่าได้ฟังซีดี ไม่ใช่ซีดี ตอนนั้นเป็นเทป ยุคนั้นยังไม่มีซีดี ได้ฟังเทปที่หลวงพ่อเทศน์เรื่องสมาธิ แล้วไปติดอยู่นิ่งๆ ว่างๆ เฉยๆ แกบอกแกฝึกมาตั้งหลายสิบปีแล้ว แกอายุ 87 แกฝึกมาตั้งแต่ยังรุ่นๆ ฝึกอยู่กับครูบาอาจารย์นี้ล่ะ แต่ว่าไม่ได้เดินปัญญาเลย ทำแต่ความสงบ พอนั่งสมาธิปุ๊บ จิตรวมเข้าอรูปฌานทันทีเลย ร่างกายหายไป โลกทั้งโลกหายไป เหลือแต่จิตว่างๆ สบาย แล้วก็เพลินอยู่อย่างนั้น แล้วต่อมาแกรู้ว่าอันนี้ไม่ถูกแล้ว เพราะแกอยู่ตรงนี้มาหลายสิบปี แล้วไม่มีอะไรพัฒนาขึ้นเลย มาบอกให้หลวงพ่อช่วยแก้ให้

หลวงพ่อดูแล้ว โอ้ อายุ 87 แล้ว จะอยู่ได้อีกสักกี่ปีก็ไม่รู้ แล้วคนที่ติดสมาธิสงบนิ่งๆ มานานๆ พอหลุดออกจากสมาธิตรงนี้ จะร้ายมากกว่าคนปกติ จิตมันคล้ายๆ มันถูกเก็บกดมานาน มันจะอาละวาดน่ากลัวมากเลย ก็เลยรู้สึกแก้อย่างนี้ไม่ไหว เดี๋ยวไม่ทัน อย่างขณะนี้ที่แกฝึก แกไปสุคติ แต่ถ้าไปแก้ให้แกหลุดออกมาแล้ว แกคุมตัวเองไม่ได้ ฟุ้งซ่านแหลกลาญไป จะไปทุคติ เลยช่วยแกได้นิดเดียว บอกว่าต่อไปนี้เวลาเข้าฌานให้มีร่างกายไว้ อย่าทิ้งกาย อย่างน้อยเข้ารูปฌาน อย่าเข้าอรูปฌาน เป็นพรหมชนิดมีรูป พอพระศรีอริยเมตไตรยมาตรัสรู้ ให้มาเรียนกับพระเมตไตรยต่อ ที่จะเดินปัญญา แต่ถ้าเป็นอรูปพรหม พระพุทธเจ้าตรัสรู้ก็ไม่รู้ อะไรเกิดขึ้นก็ไม่รู้ ว่างๆ อยู่อย่างนั้น อย่าไปติดว่าง อันตรายมากเลย เสียเวลา

การทำสมาธิถ้าทำไม่ถูก จิตมันก็ไปหลงกับความสุขของสมาธิ ไม่ก็เคร่งเครียดอยู่กับสมาธิ สุดโต่งไป 2 ข้าง เพราะฉะนั้นเราจะต้องเดินในทางสายกลางให้ได้ ทำกรรมฐานที่จิตใจเราถนัดสักอย่างหนึ่ง อะไรก็ได้ แต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะท่อง “ก. เอ๋ย ก. ไก่ ข. ไข่อยู่ในเล้า” ท่องแล้วสบายใจ ท่องแล้วสบายใจก็เอา บางคนท่อง “นะ มะ พะ ทะ” แล้วสบายใจก็เอา “สัมมา อะระหัง” ก็ได้ “ยุบหนอ พองหนอ” จะอะไรก็ได้ “พุทโธ” อะไรก็ได้ เหมือนกันหมดล่ะ แต่ทำไปด้วยความมีสติ ไม่ได้ฝึกไปเพื่อให้จิตมันเคลิ้ม แล้วก็ถ้าจิตมันไม่สงบ ก็ไม่ต้องไปว่ามัน เดี๋ยวมันเครียด ทำไปเรื่อยๆ สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่มีสติไว้ไม่ให้เผลอไม่ให้ลืมเนื้อลืมตัว

แล้วถึงจุดหนึ่งจิตมันจะรวม มันจะรวมด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว บางทีมันรวม บทมันจะรวมมันไม่เลือกที่จะรวม บางครั้งยืนรอรถเมล์อยู่อย่างนี้ แล้วเราก็รู้สึก ไม่ได้เดินทำสมถะนานแล้ว ทำเสียหน่อย หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ อยู่ที่ป้ายรถเมล์ จิตรวมร่างกายหายไป โลกทั้งโลกหายไป เหลือแต่จิตดวงเดียว ก็สงบอยู่อย่างนั้น พอจิตถอนออกมาถึงจะรับรู้ว่า โอ้ ตอนนี้ยังอยู่ที่ป้ายรถเมล์ มีสติกำกับกระทั่งร่างกายหายไปแล้ว โลกหายไปแล้ว ยังไม่ขาดสติเลย ต้องฝึก ค่อยๆ ฝึกไป จนกระทั่งจิตเรามีพลังอย่างแท้จริง สงบ ต้องการพักเมื่อไรก็ต้องพักได้ สมควรพักเมื่อไรก็พัก ตอนนี้พอพักเพียงพอแล้วก็อย่าติดเฉยๆ อยู่ ให้ออกมาเจริญปัญญา

 

วิธีที่จะก้าวจากสมาธิขึ้นสู่ปัญญา

การเจริญปัญญาทำอย่างไร การเจริญปัญญากับการทำความสงบของจิตเป็นบทเรียนคนละบทกัน ไม่เหมือนกัน ถ้าเราอยากให้จิตสงบ มีสติดูแลจิตตัวเองไว้ ทำกรรมฐานไปพอจิตไหลไปคิด รู้ทัน จิตถลำลงไปเพ่งเคร่งเครียดขึ้นมา รู้ทันไป พอรู้ทันไปเรื่อยๆ จิตก็เป็นกลาง จิตรู้อารมณ์ด้วยความเป็นกลาง ไม่ดิ้นรนต่อ จิตก็สงบ พอจิตสงบแล้ว เราต้องเดินปัญญาต่อ อย่าติดในความสุขความสงบของสมาธิ มันจะเสียเวลา มันจะเนิ่นช้า แล้วถ้าหลุดไปเป็นพระพรหม ช้ามาก เพราะพวกนี้อายุยืนมาก ใครที่อยากอายุยืนก็ไปเป็นพระพรหมเอา อายุยืนจนเบื่อแล้วเบื่ออีก ไม่รู้จักตายสักที คนรู้จักเวียนว่ายตายเกิดไปตั้งหลายภพหลายชาติแล้ว ตัวเองก็ยังอยู่

วิธีที่จะก้าวจากสมาธิขึ้นสู่ปัญญา คือพอจิตเราสงบมีเรี่ยวมีแรงพอสมควรแล้ว ทำได้ 2 อย่าง อันหนึ่งเจริญปัญญาในสมาธิไปเลย คือเราก็ยังทรงสมาธิอยู่ แต่ไม่ได้ไปเน้นที่ความสงบของจิตแล้ว เราดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นในสมาธิ เช่น บางทีก็เกิดแสงสว่างขึ้น แล้วก็ดับไป บางทีก็เกิดปีติขึ้น แล้วก็ดับไป บางทีมีความสุขผุดขึ้นมาแล้วก็ดับไป บางทีจิตเป็นหนึ่งนิ่งๆ สงบอยู่ เป็นอุเบกขา แล้วเดี๋ยวไม่อุเบกขาแล้ว เดี๋ยวมีความสุขขึ้นมาแทนแล้ว

เราดูอย่างนี้ ดูองค์ธรรมในสมาธิมันเกิดดับได้ แต่ตรงนี้จะทำได้ ต้องมีเงื่อนไขอันหนึ่ง ต้องชำนาญในฌาน ถ้าไม่ชำนาญ พอเห็นปุ๊บ จิตหลุดออกมาข้างนอกเลย จิตไม่ทรงอยู่ ไม่สามารถเจริญปัญญาในสมาธิได้ อีกเงื่อนไขหนึ่งก็คือต้องชำนาญในการดูจิต เพราะเวลาเราเข้าไปอยู่ในฌาน เราจะไปดูความเกิดดับขององค์ฌาน ดูวิตกวิจาร ดูปีติ ดูสุข ดูเอกัคคตา ดูให้เห็นมันเกิดดับ

ถ้าพวกเราทำไม่ได้ หรือเราเข้าฌานไม่ได้ เราทำความสงบพอสมควรแล้ว อย่าติดความสงบ ถอยจิตออกมาอยู่กับโลกข้างนอกนี้ มาเจริญปัญญา วิธีเจริญปัญญาที่ง่ายๆ คืออ่านจิตตัวเองไป จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของจิตใจ เวลาที่ตาเรามองเห็นรูป จิตเราก็เกิดความเปลี่ยนแปลง อย่างเห็นผู้หญิงสวยอย่างนี้ จิตเราก็เกิดราคะ เราก็มีสติรู้ว่าเมื่อกี้ไม่มีราคะ ตอนนี้มีราคะ ราคะอยู่ชั่วคราวแล้วราคะก็ดับ เมื่อกี้มีราคะ ตอนนี้ไม่มีราคะอีกแล้ว เราก็จะเห็นความเกิดดับ

เห็นหมาขี้เรื้อน วิ่งมาหาเรา ใจรู้สึกขยะแขยง ความรู้สึกขยะแขยงเกิดขึ้น มีสติรู้ตอนนี้จิตมันเกิดความรู้สึกขยะแขยงขึ้นแล้ว รู้ลงไปก็จะเห็นความขยะแขยง ไม่ได้เจตนาให้เกิด เลย เกิดเอง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ช่วงหนึ่งก็ดับไป ทุกอย่างมีแต่เกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นเวลาเราจะเจริญปัญญาจริงๆ แล้วเราไม่สามารถเจริญปัญญาในฌานได้ เราออกมาเจริญปัญญาในโลกข้างนอกนี้ที่เราอยู่จริงๆ

วิธีทำก็คือเมื่อตาเห็นรูป เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นที่จิต มีสติรู้ทัน เมื่อหูได้ยินเสียง เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นที่จิต ให้มีสติรู้ทัน อย่างเสียงเช่น ได้ยินเสียงคนชม จิตเราก็พอง ดีใจ เรารู้ว่าจิตมันพอง ฟู มันดีใจ ได้ยินเขาด่า จิตมันโกรธ มันหงุดหงิดขึ้นมา เรามีสติรู้ว่าจิตโกรธ จิตหงุดหงิด เราขับรถอยู่ เห็นคันหนึ่งปาดหน้าไป เราโกรธ เรารู้ว่าโกรธ อย่างเราขับรถอยู่แล้วกำลังใจลอย คนปาดหน้าไป มีตาลืมอยู่ แต่ไม่รู้หรอกว่าคนเขาปาดหน้าไปแล้ว ไม่โกรธ ฉะนั้นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พอกระทบอารมณ์ แล้วมันจะส่งสัญญาณเข้ามาที่จิตใจของเรา มันกระทบได้ทีละอย่าง อย่างขณะนั้นเราขับรถอยู่ แต่เรากำลังคิดอะไรเพลินๆ จิตมันรู้เรื่องราวที่คิดอยู่ คนมาขับรถปาดหน้า เราไม่โกรธหรอก เพราะเราไม่รู้ แต่ถ้าเรากำลังดูถนนอยู่ คนมาขับรถปาดหน้าเรา เราโกรธ

เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องห้ามว่าอย่าโกรธ โกรธไม่ดี ไม่ต้องห้าม โกรธขึ้นมา รู้ว่าโกรธ หูได้ยินเสียง ได้ยินเสียงชม รู้สึกพอใจ ได้ยินเสียงด่า ไม่พอใจ ก็รู้ไปพอใจก็รู้ ไม่พอใจก็รู้ ได้ยินเสียงเพื่อนเรา เพื่อนเราบางคน มันพูดไม่ค่อยเพราะ บางทีมันก็ด่าไอ้สัตว์ สมมติบางคนด่าไอ้เหี้ย เราได้ยินแต่เราจำได้ว่านี่เพื่อนรักของเรา ได้ยินแล้วโกรธไหม ไม่โกรธ พอตีความแล้ว นี่เพื่อนเราทักทายด้วยความรัก ไม่โกรธ ให้ค่า ดีใจเสียอีก ดีใจรู้ว่าดีใจ อีกคนหนึ่งมายกย่องเรา โอ้ พ่อสุดหล่อ เรารู้ว่ามันแกล้งว่ากระแหนกระแหน เพราะเราน่าเกลียดอย่างนี้ เขาพูดไพเราะ แต่เราก็โมโหได้ เราตีความได้ว่านี่ว่าเรา กระแหนะกระแหนเรา โทสะเกิด เราก็รู้ว่าตอนนี้จิตมันโกรธแล้ว

เพราะฉะนั้นเวลาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ จิตมีความเปลี่ยนแปลง ให้เรามีสติรู้ทันไป แล้วเราก็จะเห็นจิตทุกชนิด จิตสุขเกิดแล้วก็ดับ จิตทุกข์เกิดแล้วก็ดับ จิตดี จิตชั่ว เกิดแล้วดับทั้งหมด จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง เกิดแล้วก็ดับเหมือนกันหมด จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับเหมือนกันหมด หัดเจริญปัญญา จนกระทั่งในที่สุดจิตมันก็เป็นกลางต่อทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างมันเคยเห็นความสุขเกิดแล้วก็ดับ ความทุกข์เกิดแล้วดับ จิตก็เป็นกลางต่อความสุข และความทุกข์ ความสุขเกิดขึ้น จิตก็ไม่หลงยินดี เพราะรู้ว่าไม่นานก็ดับ ความทุกข์เกิดขึ้น จิตก็ไม่ยินร้าย เพราะรู้ว่าไม่นานก็ดับเหมือนกัน จิตเข้าสู่ความเป็นกลางด้วยปัญญา ตัวนี้สำคัญมากมันคือประตูแห่งการบรรลุมรรคผล จิตที่เข้าถึงความเป็นกลางด้วยปัญญา เข้าถึงสังขารุเปกขาญาณ เป็นจุดสูงสุดของการเดินวิปัสสนากรรมฐานของเราแล้ว ถัดจากนั้นจะขึ้นอริยมรรคอริยผลแล้ว

 

กระบวนการที่จะเกิดอริยมรรคอริยผล

เพราะฉะนั้นเวลาเจริญปัญญาไม่ยากหรอก จุดสำคัญคือจิตเราต้องมีพลังก่อน ตั้งมั่นก่อน เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อันนี้ก็ต้องฝึกจากเรื่องของการฝึกอธิจิตตสิกขา ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วจิตหนีไปก็รู้ จิตไปเพ่งก็รู้ พอรู้ๆๆ ไปเรื่อย จิตก็จะสงบตั้งมั่นขึ้นมา แล้วพอจิตเราสงบตั้งมั่น เราก็เดินปัญญาออกมาอยู่กับโลกข้างนอกนี้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ก็ให้มันกระทบไป มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น มีลิ้นก็รู้รส มีกายก็รู้สัมผัสทางกาย มีใจก็คิดนึกไป ไม่ห้ามหรอก เพราะมันทำงานตามธรรมชาติธรรมดา เราห้ามไม่ได้ เป็นวิบากทั้งหมดเลย

อย่างตาเราจะเห็นรูปที่ดีหรือรูปที่ไม่ดีก็เป็นวิบาก วิบากดีให้ผลมา เราก็เห็นรูปที่พอใจ วิบากไม่ดีให้ผลมา เราก็เห็นรูปที่ไม่พอใจ วิบากดีให้ผลมา เราก็ได้ยินที่พอใจ วิบากไม่ดี เราก็ได้ยินสิ่งที่ไม่น่าพอใจ หรือได้กลิ่นได้รสอะไรอย่างนี้ อย่างกลิ่นก็มีตัวอย่าง บางคนเขาไม่มีอกุศลวิบาก เดินไปในที่เหม็นๆ ก็ไม่ได้กลิ่น คนอย่างนี้มี ได้แต่กลิ่นหอม กลิ่นเหม็นไม่ได้กลิ่น เคยเจอบ้างไหม หลวงพ่อเคยเจอพวกนี้ ประหลาดมากเลย เรารู้สึกตรงนี้เหม็นจังเลย เขาเฉยๆ เขาไม่ได้กลิ่น แต่ถ้าหอมอะไรนี่ เขาได้กลิ่น เพราะฉะนั้นจะได้กลิ่นที่ชอบใจ หรือไม่ชอบใจ อยู่ที่วิบากของแต่ละคน อยู่ที่กรรมเก่าของแต่ละคน พอกรรมเก่าให้ผลมาแล้ว เรากระทบรูป กระทบเสียง กระทบกลิ่น กระทบรส กระทบสัมผัสทางกายแบบนี้ นี่กรรมเก่าให้ผลมา

คราวนี้จิตมันก็จะทำงาน ปรุงเป็นความพอใจ ไม่พอใจ อันนี้เป็นกรรมใหม่แล้ว เป็นการทำงานใหม่ของจิตแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาเราจะเจริญสติในชีวิตประจำวัน เจริญปัญญานี่ล่ะ ให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบแล้วคอยรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของจิตใจตัวเองไป บางทีไม่ได้มีการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย บางทีใจมันคิดเรื่องราวขึ้นมาเฉยๆ อยู่ๆ มันก็คิดถึงคนนี้ขึ้นมา โอ๊ย คนนี้เคยโกงเรา โทสะก็ขึ้น ตรงที่มันไปคิดถึงคนๆ นี้ เราไม่ได้เจตนาคิด เราห้ามไม่ได้ อกุศลวิบากให้ผลแล้ว เราต้องคิดถึงคนที่เราไม่ชอบ เป็นอกุศลวิบากมันให้ผลมา แล้วใจเราเกิดโทสะ อันนี้เป็นกรรมใหม่ของเราแล้ว ถ้าเรามีสติรู้ตรงที่จิตใจของเรามีปฏิกิริยาเกิดโมโหขึ้นมาแล้ว ก็รู้ตรงนี้

หรือเราอยู่ดีๆ นั่งคิดอะไรเพลินๆ อยู่ๆ หน้าของคนนี้โผล่ขึ้นมา คนนี้คนที่เราชอบ หรือคนนี้เป็นปู่ย่าตายาย พ่อแม่ของเราที่ตายไปแล้ว จิตผุดขึ้นมา คิดถึงพ่อแม่ที่ตายแล้ว คนที่เรารักที่ตายแล้ว จิตเศร้าขึ้นมาแล้ว จิตเศร้า โอ้ ตายเสียแล้วอะไรอย่างนี้ ให้เรามีสติรู้ว่าจิตเราเศร้า

การที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์แล้วจิตเราเกิดความเปลี่ยนแปลง แล้วเราตามรู้ตามเห็น เราก็จะรู้ว่าความปรุงแต่งของจิตทุกชนิด ไม่ว่าความสุขหรือทุกข์หรือดีหรือชั่ว เกิดแล้วดับทั้งสิ้น พอเห็นซ้ำๆๆ ไป จิตจะเข้าสู่ความเป็นกลาง ความสุขเกิดขึ้น จิตก็ไม่หลงยินดี ความทุกข์เกิดขึ้น จิตก็ไม่หลงยินร้าย กุศลเกิดขึ้น จิตก็ไม่หลงยินดี อกุศลเกิดขึ้น จิตก็ไม่หลงยินร้าย จิตเป็นกลางต่อความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง ทั้งสุข ทั้งทุกข์ ทั้งดีและชั่ว ตรงนี้เป็นปัญญาขั้นสูง เวลาเราทำวิปัสสนา ดูเกิดดับอะไรต่ออะไร ที่หลวงพ่อสอนนี้รวบยอดมากแล้ว อ่านลงที่จิตเลย แล้วสุดท้ายจิตมันจะเป็นกลาง ตัวนี้เราได้สังขารุเปกขาญาณ ถ้าจิตเราเข้าถึงความเป็นกลาง ต่อความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง ทั้งสุขและทุกข์ ทั้งดีและชั่วแล้ว จิตเราจะหมดการดิ้นรน จิตจะหยุดการดิ้นรน การดิ้นรนของจิตก็คือภพนั่นเอง

จิตก็จะหลุดออกจากภพ เข้ากระบวนการที่จะเกิดอริยมรรคอริยผล อริยมรรคอริยผลเกิดนอกภพ แต่ว่าอาศัยภพมาเจริญศีล สมาธิ ปัญญาให้สมบูรณ์ แล้วพอมันสมบูรณ์ จิตมีปัญญาแก่รอบจริง เห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรุงแต่งเกิดขึ้นมาเท่าเทียมกันหมด จิตหยุดความดิ้นรนเลย จิตก็หมดความดิ้นรน จิตรวมเข้าไป เกิดกระบวนการที่จะเกิดอริยมรรคขึ้น อริยมรรคเกิดขึ้นชั่วขณะก็จะต่อด้วยอริยผลอัตโนมัติทันทีเลย แล้วถัดจากนั้นจิตจะถอยออกมา แล้วก็ทวนกลับเข้าไปอีกทีหนึ่ง เข้าไปดูว่าเมื่อกี้เกิดอะไรขึ้น เมื่อกี้กิเลสตัวไหนถูกทำลายล้างไปแล้ว กิเลสตัวไหนยังอยู่ จิตมันจะทวนเข้าไป ตัวนี้เรียกว่าปัจจเวกขณญาณ

ตรงสังขารุเปกขาญาณมันมีทางแยก มันเป็นประตูไปสู่การบรรลุมรรคผลก็จริง แต่สำหรับพวกพระโพธิสัตว์มาถึงจุดนี้จิตจะไม่ไปต่อแล้ว ถ้าไปต่อแล้วเดี๋ยวจะไม่ได้เป็นโพธิสัตว์แล้ว อีกพวกหนึ่งอินทรีย์ยังไม่แก่กล้าพอ พอสังขารุเปกขาญาณแล้วก็เสื่อม ยังเสื่อมได้ ยังเป็นโลกิยญาณอยู่ยังเสื่อมได้อีก ฉะนั้นตรงนี้เลยยังไม่แน่นอน จนกว่าจะเกิดอริยมรรคอริยผลถึงจะแน่นอน แต่ว่าจะเกิดอริยมรรคอริยผลได้ ปัญญาของเรานี้ต้องสมบูรณ์แล้ว ปัญญาสมบูรณ์จนจิตเป็นกลางต่อทุกสิ่งทุกอย่าง อริยมรรคอริยผลถึงจะมีโอกาสเกิด เรียกว่าต้องได้สังขารุเปกขาญาณ ทีนี้เราได้ตรงนี้ได้ เพราะเราเห็นสุขเกิดแล้วก็ดับ ทุกข์เกิดแล้วก็ดับ ดีเกิดแล้วก็ดับ ชั่วเกิดแล้วก็ดับ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้น สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับ เห็นอย่างนี้ก็จะได้เป็นพระโสดาบัน จะเข้ากระบวนการ อริยมรรคอริยผล

 

ถ้าทำอย่างที่หลวงพ่อบอก ผลที่จะเกิดขึ้นไม่ธรรมดา

วันนี้เทศน์ให้ฟังแบบเบสิกเลย แต่ว่าผลที่จะเกิดขึ้นไม่ธรรมดา ถ้าทำอย่างที่หลวงพ่อบอก อันแรกเลยศีล 5 ต้องรักษา ทุกวันต้องทำในรูปแบบ เลือกอารมณ์กรรมฐานมาสักอย่างหนึ่งที่เราถนัดที่เราอยู่ด้วยแล้วเรามีความสุข เราก็อยู่กับอารมณ์อันนั้นไปด้วยความมีสติ ไม่เพลิดเพลินในอารมณ์อันนั้น ไม่ไปเพ่งจ้องในอารมณ์อันนั้น ไม่หลงลืมอารมณ์นั้น จำได้ไหม ไม่หลงลืมมัน ไม่ใช่พุทโธๆ หลงไปแล้วลืมไปแล้ว อันนี้ใช้ไม่ได้ แล้วก็ไม่เพลิดเพลิน หายใจไปแล้วก็เพลิน มีแต่ความสุข อันนี้ก็ใช้ไม่ได้ ไม่เพลินเพลิน ไม่หลงลืม แล้วก็อยู่กับมันด้วยความเป็นกลางสบายๆ จิตก็จะสงบ จิตได้พักผ่อน จิตจะมีแรงขึ้นมา

แล้วการที่เราทำกรรมฐานแล้วเราคอยรู้เท่าทันจิตตัวเองด้วย นอกจากจะสงบ เรายังจะได้สมาธิอีกชนิดหนึ่งแถมมาด้วย คือจิตจะตั้งมั่นอัตโนมัติ ถ้าเราทำกรรมฐาน อยู่กับอารมณ์ที่มีความสุขแล้วก็สงบลงไปเลย อันนั้นได้สมาธิชนิดสงบเฉยๆ แต่ถ้าเราไม่ทิ้งจิต เรามีสติ คอยรู้ทันจิต ตอนนี้จิตลืมอารมณ์กรรมฐาน เรารู้ จิตถลำลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน เรารู้ จิตจะไปแทรกแซงอารมณ์กรรมฐาน เรารู้ รู้อย่างนี้ด้วย รู้จิตด้วย จิตจะตั้งมั่น

พอจิตเราตั้งมั่นเด่นดวงมีกำลังด้วย ตัวสงบจะทำให้เกิดกำลัง แล้วการที่เรารู้เท่าทันจิตที่เคลื่อนไหวไปมา จะทำให้ตั้งมั่น พอตั้งมั่นแล้วก็มีแรงแล้วก็ต้องเดินปัญญา พวกเราเดินปัญญาในฌานได้ไม่กี่คนหรอก เราก็เดินปัญญาอยู่ข้างนอกนี้ล่ะ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิดนึกปรุงแต่ง แล้วจิตเราเกิดปฏิกิริยาขึ้นมา เกิดสุขให้รู้ เกิดทุกข์ก็ให้รู้ เกิดกุศลก็ให้รู้ เกิดโลภก็ให้รู้ เกิดโกรธก็ให้รู้ เกิดหลงก็ให้รู้ ฟุ้งซ่านก็รู้ หดหู่ก็รู้ ตามรู้ตามเห็นไปเรื่อยๆ แล้วต่อไปปัญญามันก็พอกพูนขึ้น ถึงจุดหนึ่งก็จะเข้าสู่สังขารุเปกขาญาณ

มันรู้จริงแล้วว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วดับ มันก็เลยเป็นกลาง ไม่หลงยินดีกับสุข ไม่หลงยินร้ายกับทุกข์ ไม่หลงยินดีกับกุศล ไม่หลงยินร้ายกับอกุศล ถ้าเดินปัญญาถึงจุดนี้ เราเข้ามาสู่ประตูของอริยมรรคอริยผลแล้ว ถ้าบุญบารมีเราสะสมมาเพียงพอ อริยมรรคอริยผลจะเกิดขึ้นไม่มีใครสั่งจิตให้เกิดอริยมรรคอริยผลได้ จิตเกิดอริยมรรคอริยผลของจิตเอง เมื่อศีล สมาธิ ปัญญานั้นสมบูรณ์แก่รอบแล้ว

วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ ไม่ยาก แต่ต้องทำ อดทนไว้

ขอให้ทุกคนเจริญในธรรม ด้วยการตั้งอกตั้งใจปฏิบัติ รักษาศีล 5 ไว้ สำคัญมาก ทุกวันต้องปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า แบ่งเวลาไว้เลยทุกวันๆ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง วันไหนจิตใจฟุ้งซ่าน ก็น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง เราก็จะสงบ วันไหนจิตเรามีกำลังมากขึ้น เราก็ไม่ไปน้อมจิตให้อยู่ในอารมณ์นิ่งๆ เรามีสติตามรู้จิตไป ทำกรรมฐานไป จิตเคลื่อนไปแล้วรู้ จิตไปเพ่งแล้วรู้ เราจะได้จิตที่ตั้งมั่นขึ้นมา

พอเรามีศีล มีการทำในรูปแบบ ที่เหลือเรามาเจริญสติเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ ให้มันกระทบไป กระทบแล้วมีอะไร เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ ขึ้นในจิตใจ มีสติรู้ไป แล้วเราก็จะเกิดปัญญารู้ว่าทุกอย่างที่เกิดล้วนแต่ดับทั้งสิ้น ถ้าเห็นอย่างนั้นได้ เราจะได้เป็นพระโสดาบัน พระโสดาบันไม่ต้องกรี๊ดๆ ได้โสดาบัน ไม่ใช่แล้ว อันนั้นต้องไปหาจิตแพทย์แล้ว

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
17 ธันวาคม 2566