ความสม่ำเสมอสำคัญมาก

รู้สึกตัวไว้ นั่งภาวนาแล้วมันก็เคลิ้มๆ ไม่ดี เมื่อก่อนหลวงพ่อภาวนา แล้วก็ไปตามวัดครูบาอาจารย์ เห็นคนภาวนาเยอะแยะเลย บางวัดคืนหนึ่งๆ คนไปอยู่วัดภาวนาเป็นร้อยๆ เลย นั่งสมาธิ เดินจงกรม เหน็ดเหนื่อย ลำบากมากมาย มันไม่ได้หลักก็เหนื่อย ส่วนใหญ่ภาวนาก็นั่งบังคับตัวเองไป ไม่บังคับตัวเองก็นั่งเคลิ้มๆ ไป ที่ผิดมันมี 2 ฝั่งนี้ 2 ด้าน ไม่เผลอก็เพ่ง ใจมันไม่เข้าทางสายกลางเสียที ก็ต้องค่อยๆ ใช้ความสังเกตเอา

ภาวนาทำไปสม่ำเสมอ แรกๆ มันเพ่งทุกคนล่ะ พอเลิกภาวนาก็นั่งเผลอๆ ไป ทำอะไรก็เผลอใจลอย พอลงมือปฏิบัติก็เพ่งเอา จิตมันไม่เข้าทางสายกลาง ตรงเผลอมันย่อหย่อนไป มันตามกิเลสไป ตรงที่ไปเพ่งไว้ บังคับไว้ ทำกายให้ลำบาก ทำใจให้ลำบาก อันนั้นตึงเกินไป อย่างเวลาเราคิดเรื่องภาวนา นั่งสมาธิ บังคับ จิตใจก็อึดอัด บางทีนั่งเสียคอเคล็ด หลังเคล็ด ทรมานกายก็ลำบาก ใจก็ลำบาก อันนั้นตึงเกินไป อีกฝั่งหนึ่งก็นั่งแล้วก็เคลิ้มๆ ลืมเนื้อลืมตัว หรือไม่ก็ใจฟุ้งซ่าน ตัวอยู่ในวัด หรืออยู่ในบ้านภาวนา ใจหนีไปที่อื่น เที่ยวไปเรื่อยๆ ครูบาอาจารย์ท่านว่าใช้ไม่ได้ หลง หลงโลก พยายามฝึกให้มันเข้าทางสายกลางจริงๆ พอจิตเราเดินเข้าทางสายกลางได้ การภาวนาจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

 

วิธีที่จิตจะเข้าสู่ทางสายกลาง

วิธีที่จิตจะเข้าสู่ทางสายกลาง อาศัยสติสังเกตเอา คอยรู้ทันเอา ทำสมาธิภาวนา ทำกรรมฐานอันใดอันหนึ่งที่เราถนัด แต่ปรับเป้าหมายเสีย ไม่ใช่ทำเพื่อสงบ ถ้าทำเพื่อสงบ ส่วนใหญ่ก็ไปเผลอๆ เพลินๆ เคลิ้มๆ ไป ตั้งเป้าหมายใหม่ ภาวนาทำกรรมฐาน คอยรู้ทันจิตตัวเอง จิตตอนนี้มันสุดโต่งไปข้างเผลอไหม หรือมันสุดโต่งไปข้างเพ่ง สังเกตจิตใจตัวเองไป อย่างเรานั่งหายใจเข้าพุท หายใจออกโธอย่างนี้ พอนั่งๆ ไป ใจหนีไปคิดเรื่องอื่น เราก็รู้ทัน อันนี้เผลอไปแล้ว ไปคิดเรื่องอะไร เรื่องโน้น เรื่องนี้ เรื่องอดีต เรื่องอนาคต คิดเรื่องคนอื่น คิดสารพัดจะคิด ใจมันไหลๆๆ ไป มันก็ลืม ลมหายใจ ลืมพุทโธ

ถ้าเราตั้งเป้าแค่ว่าเราทำกรรมฐานแล้วจะคอยสังเกตจิตใจตัวเองไว้ ฉะนั้นทำกรรมฐาน หายใจเข้าพุทออกโธอะไรอย่างนี้ จิตมันหนีไป ไหลไปคิด ส่วนใหญ่ก็ไหลไปคิดนั่นล่ะ ให้มีสติรู้ทันว่าหลงคิดไปแล้ว เวลาหลงคิด หายใจอยู่ก็ไม่รู้แล้ว ลืม ก็ไปคิดเรื่องอื่น ลืมพุทโธ เราหัดทุกวันๆ พอจิตมันไหลไป มันหลงไป เราคอยรู้ทัน ทีแรกก็ใช้เวลาช่วงหนึ่งกว่าจะรู้ ฝึกทุกวันๆ ต่อไป ใจไหลกรึ๊บเดียว ก็เห็นแล้ว ทันทีที่เราเห็นว่าใจเราไหล จิตมันไหลไป จิตที่ไหลก็ดับ มันเกิดจิตที่รู้ขึ้นมาแทน ตั้งมั่นขึ้นมาอัตโนมัติ

ฝึกไปเยอะๆ แล้วพอเรามีจิตที่ตั้งมั่นอย่างถูกต้องแล้ว เราจะรู้เลย จิตที่เราจงใจทำให้ตั้งมั่นขึ้นมานั้นเป็นจิตเพ่ง ไม่ใช่จิตรู้หรอก อย่างเราทำกรรมฐาน หายใจเข้าพุทหายใจออกโธ แล้วเราก็เพ่งลมหายใจไว้ หรือบางคนก็เพ่งเข้าไปที่จิตเลย ไม่ให้จิตคิด นึก ปรุง แต่ง บังคับลมหายใจ นี่ก็บังคับกาย บังคับจิตไม่ให้คิดนึกปรุงแต่ง อันนี้บังคับใจ ก็ตึง ตึงเครียดทำแล้วเหนื่อย อย่างเมื่อวานหลวงพ่อก็พูด พวกเราเกิดมา เราก็หายใจแล้ว เราไม่เหนื่อย แต่พอเราลงมือปฏิบัติหายใจนิดเดียว ประเดี๋ยวเดียว เหนื่อย หรือเราเดินชอปปิงได้ทีหนึ่งหลายๆ ชั่วโมง 3 4 5 6 ชั่วโมงอะไรเดินได้ แต่เดินจงกรมครึ่งชั่วโมง รู้สึกจะแย่แล้ว แข้งขาจะเคล็ดไปหมดแล้ว เพราะเราไปทำผิดธรรมชาติ ธรรมดา ตึงเกินไป ฉะนั้นนักปฏิบัติถ้าไม่ตึงเกินไปก็หย่อนเกินไป

ทำอย่างไรจะเข้าทางสายกลาง ให้ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด แล้วอ่านใจตัวเองให้ออก มันหย่อนคือใจมันหนีไปเที่ยว มันตึงก็คือบังคับตัวเอง บังคับจิตใจ บังคับร่างกาย ฉะนั้นเมื่อไรเราภาวนา จิตมันทิ้งการภาวนา หนีไป เราก็รู้ โอ้ หลงไปแล้ว เผลอไปแล้ว หรือภาวนาไปแล้วรู้สึกอึดอัด แน่นๆ ขึ้นมา นี่เป็นสัญญาณเตือนว่าตึงเกินไปแล้ว ถ้าเราชำนาญในการดูจิตใจของเรา เราจะเห็นว่าตอนที่ตึง เพราะว่าเราจงใจมีโลภเจตนาเกิดขึ้น จิตก็ถลำลงไปเพ่ง ไปจ้อง หรือเข้าไปแทรกแซงจิต ยิ่งจิตมีหน้าที่คิด นึก ปรุง แต่ง เราไปแทรกแซง ไม่ให้คิด ไม่ให้นึก ไม่ให้ปรุง ไม่ให้แต่ง มันจะแน่น อันนั้นตึงเกินไป

พอเรารู้ว่ามันตึงเกินไป ถ้ารู้ได้ชำนาญ มันก็จะเห็นจิตนั่นล่ะ มันมีความโลภเกิดขึ้น อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ อยากดี แล้วก็เกิดการเพ่งจ้องขึ้น แต่ถ้าเรายังดูตัวนี้ไม่เห็น เราก็สังเกตความรู้สึกของเรา ตรงที่เราจงใจปฏิบัติ เราเพ่งจ้อง มันจะอึดอัด มันจะแน่นๆ เริ่มมาจากการแน่นที่กลางอก แน่น เพ่งขึ้นไป ถ้ายังไม่เลิกเพ่ง ประเดี๋ยวหนึ่ง ถัดไปคอเคล็ด หลังเคล็ด ไหล่เคล็ด หรือหัวมึนตึ้บไปเลย นี่เพ่งแรง บางทีเพ่งจนหัวหมุนติ้วๆ เลย เพ่งแรงๆ รู้ทันตัวเองไป ถ้ารู้ทันตัวเองได้ ก็จะค่อยๆ คลายออกได้ ถ้ารู้ถึงจิตจะหายทันที

แต่ถ้ารู้ถึงจิตไม่ได้ อย่างเราเพ่งกาย รู้ถึงจิตไม่ได้ เราสังเกตร่างกายเรา ช่วงนี้ภาวนา ไหล่ ต้นคอตึงเลย อาศัยความรู้สึกทางร่างกาย เราสะท้อนกลับเข้าไปดูถึงสาเหตุทางจิตใจ นักปฏิบัติ เกือบร้อยละร้อย ถ้ามีสติแล้วภาวนา ก็เพ่งนั่นล่ะ อีกพวกหนึ่ง พวกไม่เอาไหน พวกเผลอ ใจลอยหนีไป พวกเอาไหน เพ่งเอาๆ สังเกตไปเรื่อยๆ ถ้าสังเกตจิตใจไม่ออก สังเกตร่างกาย เวลาเราพยายามควบคุมบังคับตัวเอง กระทั่งกิริยาท่าทางเรายังเปลี่ยนเลย เรียกว่าวางฟอร์ม ทำวางฟอร์ม ไม่เป็นธรรมชาติ อันนั้นตึงไป พอเราภาวนา เรารู้ว่าหย่อนไป มันจะพอดี

ตรงที่รู้ว่าตึงไป บางทีมันไม่กลับมาตั้งมั่นหรอก รู้ว่าตึง พวกเราก็จะเริ่มคิดต่อ ทำอย่างไรจะหายตึง ไม่เหมือนหลง ตอนที่จิตหลง เรารู้ว่าหลงปุ๊บ จิตหลงดับ จิตรู้เกิดอัตโนมัติเลย แต่ตรงที่เรานั่งเพ่งๆๆ เรารู้ว่าเพ่ง เรารู้ว่าตึงเกินไปแล้ว มันไม่หายหรอก เพราะว่าการเพ่งการจ้องไม่ใช่เรื่องการทำชั่ว ไม่ใช่อะไรนักหนา ถ้าเป็นกิเลสก็เป็นกิเลสชั้นละเอียด กิเลสของคนอยากดี ถ้าหลงเผลอ กิเลสของคนอยากชั่ว ใจมันชั่ว

ฉะนั้นเวลาใจมันหลงไป สติระลึกรู้ปุ๊บ จิตผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานเกิดขึ้นอัตโนมัติเลย เพ่งอยู่ เพ่ง สมมติเพ่งอยู่ที่ลมแล้วรู้ว่าเพ่ง รู้ทันว่าจิตไปเพ่ง จิตจะค่อยๆ คลายออก ถ้าจิตมันเคยชินที่จะเพ่ง พอลงมือปฏิบัติทีไรก็เพ่งทุกที แต่เรารู้ทัน มันจะค่อยๆ ลดการเพ่งลง แต่ถ้าเรารู้ถึงต้นตอของการเพ่ง ว่าเกิดจากตัวโลภะ อยากดี อยากปฏิบัติ โลภะดับปุ๊บการเพ่งดับปั๊บเลย ความอึดอัดยังหลงอยู่ ยังค้างอยู่อีกช่วงหนึ่งล่ะ

อย่างเราไปเพ่งตัวเอง จนคอเคล็ดอย่างนี้ พอเรารู้ทันว่าเพ่งแล้ว เราเลิกเพ่ง เลิกเพ่งแล้วคอก็ยังไม่หายเคล็ดหรอก ต้องรับวิบากไปอีกช่วงหนึ่ง มันทำกรรมไปแล้ว มีกิเลสคือยากดี เกิดการกระทำกรรม คือการเพ่ง เกิดวิบากคือความทุกข์ วิบากมันก็ให้ผลไป จนกระทั่งมันหมดกำลังของกรรมที่เราทำ ถ้าเราเพ่งแรง วิบากมันก็แรง เคล็ดนาน ถ้าเราทำกรรมน้อย เพ่งน้อยๆ อะไรอย่างนี้ วิบากก็น้อย ประเดี๋ยวเดียวก็หาย ฉะนั้นไม่ใช่ไปแก้ได้ แก้ไม่ได้หรอก วิบากชดใช้เอา

หลวงปู่ดูลย์ท่านสอน “เหตุต้องละ ผลต้องละใช้ หนี้ก็หมด พ้นเหตุเกิด” นี้ภาษาของท่านภาษาเฉพาะตัวท่าน เหตุต้องละ เหตุคืออะไร เหตุคือโลภะอยากจะดี พอมีโลภะอยากดี ก็ลงมือเพ่งจ้องไว้ ผลต้องละใช้ ผลคือตัวทุกข์ ตัวอึดอัด ตัวเคร่งเครียด ต้องละใช้ มันละด้วยการชดใช้เอา เรียกใช้วิบาก แต่ถึงจุดหนึ่งมันก็หาย ไม่ต้องดิ้นรน ไม่ต้องปฏิเสธ ทำกรรมไว้แล้ว อย่างไรก็ต้องรับ เพราะฉะนั้นเราไม่ปฏิเสธ นั่งภาวนาแล้วอึดอัดอย่างนี้ เครียดอะไรอย่างนี้ อย่าไปคิดว่าจะหาย ถ้าเราไม่ไปทำเหตุเพิ่มขึ้นมา มันก็ค่อยๆ หมดไป วิบากมันก็หมด

ค่อยๆ ดู ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ไป ทุกวันๆ สังเกตเอา หัดทีแรก เราก็ไม่ค่อยเข้าใจหรอก หลวงพ่อก็ทำผิด หลวงพ่อไม่ใช่คนเก่ง หลวงพ่อบอกแล้ว แต่หลวงพ่อเป็นคนทน หลวงพ่อไม่เก่งหรอก หลวงปู่ดูลย์สอนให้ดูจิต หลวงพ่อก็ไปเพ่งจิต ตึงเกินไป แต่ตึงแบบชำนิชำนาญ พอจิตเข้าไปสร้างภพละเอียดๆ อยู่ ว่าง สว่าง ผ่องใส ภพของพรหม จิตมันไปอยู่อย่างนั้น ถามว่ามันทุกข์ไหม ภาวนายังไม่ชำนาญก็รู้สึกมีความสุขมาก ถ้าภาวนาชำนาญแล้ว เรารู้เลย กระทั่งจิตทรงสมาธิอยู่ก็ทุกข์ เป็นภาระ หัดทีแรกมันก็อดจะรักดีไม่ได้ โบราณบอกว่ารักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา ระหว่างจั่วกับเสาไม่รู้อะไรหนักกว่ากัน อย่างหน้าบันจั่ว อันเบ้อเร่อเลย เสาก็ใหญ่ จั่วก็ใหญ่ มันเป็นภาระทั้งคู่ล่ะ ทั้งรักดีรักชั่ว รักชั่วก็คือหลงตามโลกไป เผลอไป รักดีก็เพ่งก็จ้องเอาไว้ ก็อึดอัด ทุกข์เหมือนกัน

 

กายกับจิตเนื่องกัน สังเกตจิตใจไม่ได้ก็อาศัยสังเกตทางกาย

ค่อยๆ สังเกต สังเกตไปเรื่อยๆ สังเกตจิตใจได้ก็พัฒนาเร็วหน่อย สังเกตจิตใจไม่ได้ ก็อาศัยสังเกตทางกายเอา ร่างกายมันก็พอจะสังเกตย้อนกลับไปหาจิตได้ อย่างเวลาเราโกรธอย่างนี้ เราดูว่าจิตโกรธไม่เป็น เราดูจิตโกรธไม่เป็นไม่ใช่โกรธไม่เป็น แต่ดูไม่เป็น เราดูไม่เป็นว่าจิตโกรธ เราสังเกตหน้าตาเรา เวลาเราโกรธ หน้าตาเราเป็นอย่างไร หน้าตาถมึงทึง แยกเขี้ยวยิงฟันอะไรอย่างนี้ ถ้าเราดูจิตไม่ออก ก็ดูกาย เวลาจิตเรามีราคะ เราสังเกตหน้าตัวเอง ไม่ต้องส่องกระจก สังเกตด้วยความรู้สึก เวลาจิตเรามีราคะ ทำตาเยิ้มๆ อะไรอย่างนี้ สังเกตจากกาย พอเราสังเกตจิตไม่ออก มาสังเกตที่กาย มันจะย้อนกลับไปเห็นจิตได้ หรือเราเพ่งเกินไป ร่างกายเราตึงเครียด เราสังเกตตรงนี้ออก มันก็ย้อนกลับไปได้ว่า จิตมันไปบังคับอยู่ จิตมันอยากดี ไปบังคับจิต

กายกับจิตมันเนื่องกัน ถ้าดูจิตได้ ดูจิตไปเลย ลัดสั้นกว่า อย่างถ้าเราโกรธอย่างนี้ เรามีสติรู้ว่าจิตโกรธ ความโกรธมันจะดับทันทีเลย อัตโนมัติเลย ถ้าดูไม่ออก เราเห็นหน้าตากำลังโกรธ เห็นกิริยาท่าทางกระทืบเท้าโครมๆ อะไรนี่ ดูตรงนี้ได้ แล้วมันค่อยสังเกตกลับมา โอ้ มันโกรธอยู่นี่ กำลังกระทืบเท้าโครมคราม แยกเขี้ยว ยิงฟัน มันต้องทำงานเพิ่มอีกช็อตหนึ่ง ดูกายแล้วค่อยกลับเข้าไปเห็นจิต ถ้าสังเกตที่จิตได้เลยก็ดี สั้นหน่อย ขั้นตอนเดียว

ฉะนั้นเวลาเราภาวนา จิตเผลอรู้ว่าจิตเผลอ ดี ถ้าจิตเผลอจนกระทั่งราคะเกิดแล้วไปสังเกตหน้าตาตอนมีราคะอะไรอย่างนี้ มันยาวๆ กว่าจะรู้ทันใช้เวลา หรือนั่งภาวนา จิตไปเพ่ง รู้ว่ามันถลำลงไปเพ่งอยู่ รู้ว่ารากของมันคือโลภะ อยากปฏิบัติแล้ว อยากดี ก็เกิดการเพ่ง เห็นไหม มันมีอยากก่อนแล้วค่อยเพ่ง ถ้าสติเราเร็ว แค่มันอยาก เราก็เห็นแล้ว ถ้าตรงอยากเรายังไม่เห็น ก็ไปเห็นตอนที่จิตมันถลำลงไปเพ่ง ถ้าจิตถลำลงไปเพ่งก็ยังไม่เห็นอีก ก็ดูที่กายเรานี้ กายเริ่มอึดอัดแล้ว เริ่มตึงเครียด ส่วนใดส่วนหนึ่งในกายตึงเครียดขึ้นมาแล้ว บางทีก็แน่นขึ้นมา แน่นกลางหน้าอก แน่น ค่อยๆ ดูย้อนกลับมาก็จะเห็นจิต

มันเริ่มจากกิเลส แล้วก็เกิดการกระทำกรรม แล้วก็เกิดวิบาก กิเลสหลงโลก ติดใจในโลก มีความพัวพันในโลก ติดในกามนั่นล่ะ เกิดการกระทำกรรมก็คือการหลงโลก จิตมันไหลเข้าไปตะลุมบอนกับอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เกิดวิบาก ความทุกข์มันจะเกิดขึ้น ถ้าเห็นตั้งแต่กิเลส ก็ดีที่สุด ตรงกิเลสไม่เห็น เห็นตอนที่จิตกระทำกรรม ก็ดีรองลงมา หลังจากนั้นก็ถึงตัววิบากแล้ว ตัววิบากแก้ไม่ได้ เราไม่ไปทำเหตุซ้ำ เดี๋ยววิบากมันก็หมดไป

ทางกายก็เหมือนกัน มีกิเลส อยากดี อยากปฏิบัตินี้ล่ะ กิเลสของผู้ปฏิบัติ เรียกเสียโก้เลยว่า ฉันทะ เกิดการกระทำกรรมคือการเพ่งจ้อง เกิดวิบากคือความทุกข์กายทุกข์ใจเกิดขึ้น เห็นตั้งแต่กิเลสได้ดีที่สุด เห็นตอนมีกิเลสไม่ทัน ก็เห็นตอนจิตกระทำกรรม คือตอนที่ถลำลงไปเพ่ง ถ้าตรงนี้ดูไม่ทัน อย่างไรก็มีวิบาก ทำกรรมแล้วอย่างไรก็ต้องเกิดวิบาก ถ้ามีวิบาก ต้องทนเอา ต้องใช้หนี้ เป็นหนี้แล้ว เหตุนั่นล่ะ หลวงปู่ดูลย์ท่านบอก เหตุต้องละ ผลต้องละใช้ ละด้วยการใช้ หนี้ก็หมด พ้นเหตุเกิด ท่านว่าอย่างนี้ กระทำกรรมใหม่ก็คือสร้างหนี้ใหม่ ก็ไม่พ้นเหตุเกิด เหตุเกิดก็คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เป็นเหตุให้เกิด

ค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ สังเกตเอา เราเรียนเข้าที่จิตที่ใจได้เลยก็สั้นหน่อย ลัดสั้น ตอนนี้เห็นแล้วก็น่าสงสารเดี๋ยวนี้ แต่ก่อนไม่มีคนพูดเรื่องจิตหรอก มีแต่ครูบาอาจารย์ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ท่านชำนาญ ภาวนาชำนาญแล้ว ท่านจะลงมาที่จิต อย่างหลวงปู่ดูลย์ เรียนกับท่านแล้ว ท่านสอนหลวงพ่อเรื่องดูจิตทั้งนั้น แต่ท่านอื่นสอนกายก็มีหลวงปู่เทสก์ ตอนหนุ่มๆ ท่านก็สอนพุทโธพิจารณากายอะไรนี่ ตอนท่านอายุเยอะขึ้นท่านสอนแต่เรื่องจิตกับใจ ลงมาเหลือนิดเดียว พวกที่ทันเรียนกับหลวงปู่เทสก์ จะคุ้นภาษาของท่านเลย บอก “จิตอันใดก็ใจอันนั้น แต่จิตเป็นผู้คิด นึก ปรุง แต่ง ใจเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน” ท่านจะสอนอย่างนี้ประจำเลย จะได้ยิน

หรืออย่างปู่เหรียญ มีรูปหลวงปู่เหรียญอยู่ข้างหลัง หลวงปู่เหรียญ หลวงพ่อเจอท่านตอนแรกๆ เข้าวัด พบท่าน ท่านก็พูดแต่พุทโธ พิจารณากาย ตอนหลังๆ ที่ท่านมาสอนที่ศาลาลุงชิน มีแต่เรื่องจิตทั้งนั้นเลย ไม่พูดเรื่องกายแล้ว พูดแต่เรื่องจิต ครูบาอาจารย์ บางทีท่านผ่านประสบการณ์ แล้วถึงจุดสุดยอดลงมา จะลงมาที่จิตเลย หลวงพ่อก็เรียนจากท่าน หลวงพ่อไม่ใช่คนเก่งหรอก แต่หลวงพ่ออาศัยอดทน ครูบาอาจารย์สอน หลวงพ่อก็ทำเอา แล้วค่อยๆ เข้าใจเตาะแตะ ล้มลุกคลุกคลาน เรียนรู้ตัวเองไปเรื่อยๆ จนเข้าใจขึ้นมา ครูบาอาจารย์ท่านก็บอกให้หลวงพ่อไปสอนต่อ หลวงพ่อพุธ ท่านสั่งให้หลวงพ่อไปสอนต่อ ถึงได้ออกมาสอน มิฉะนั้นหลวงพ่อก็อยู่ของหลวงพ่อสบาย ไม่ยุ่งยาก ไม่เหน็ดเหนื่อยอย่างนี้

 

ความยากอยู่ที่ว่าทำอย่างไรจะเลิกเพ่ง

พอหลวงพ่อพูดเรื่องดูจิตๆ มากขึ้น คนเรียนเรื่องจิตเยอะขึ้น ตอนนี้ก็มีทั้งด้านดีและด้านไม่ดีเกิดขึ้น ด้านดีก็คือคนไปเอาธรรมะของครูบาอาจารย์ ธรรมะรุ่นเก่าๆ ครูบาอาจารย์รุ่นเก่าๆ ท่านสอนเรื่องจิตเอาไว้เยอะแยะเลย สอนเรื่องนี้เอาไว้เยอะเลย เอามาฟื้นฟูขึ้นมาอีก อันนี้เป็นเรื่องดี เรื่องที่ไม่ดีก็คือบางคนยังไม่ได้รู้เรื่องจิตจริง ออกเที่ยวสอนเรื่องจิต สอนแล้วมันก็น้อมไปทางเพ่งทั้งนั้นเลย ไปคิดๆ เอา เข้าลักษณะคนตาบอดจูงคนตาบอดนั่นล่ะ พวกเราเรียนอย่าไปวอกแวกๆ เรียนที่นู่นที่นี่ เรียนเข้าที่จิตของเราเองเลย สังเกตที่จิตที่ใจของเราเอง ไม่ต้องไปฟังใครมาก สำนักนั้นว่าอย่างนี้ สำนักนี้ว่าอย่างนี้ เดี๋ยวนี้เอาคำว่าดูจิตเป็นคล้ายๆ เป็นสินค้าที่ขายดีมีสินค้าเลียนแบบเพียบเลย เยอะแยะไปหมดเลย อันไหนถูก อันไหนผิด วิญญูชนรู้ด้วยตนเอง วัดเอาว่าเราก้าวหน้าจริงไหม

หลวงพ่อเห็นบางที่เขาดูจิตๆ เขาก็ไปนั่งเพ่งจิตเอา หรือไปนั่งแต่งจิตเอา แต่งจิตให้เป็นอย่างนี้ๆ ใช้ไม่ได้หรอก ที่ไปนั่งแต่ง มันสุดโต่งไปข้างบังคับทั้งนั้น สุดโต่งไปข้างอัตตกิลมถานุโยค ยังไม่เข้าทางสายกลางจริงหรอก เราสังเกตเอา ตอนนี้เราย่อหย่อนไป หรือเราตึงเครียดเกินไป สังเกตตัวเองเอา แล้วเรารู้ด้วยตัวเองแล้ว ถ้าย่อหย่อนไป เราก็หลงโลก ถ้าตึงเกินไป เราก็ลำบากกายลำบากใจ แล้วทำอย่างไรจะพอดี พอดีทำไม่ได้ ให้เรารู้ทันตรงที่มันไม่พอดีแล้ว มันจะค่อยๆ พอดีเอง ยิ่งตอนหลงแล้วเรารู้ว่าหลงปุ๊บ พอดีทันทีเลย แต่ตอนเพ่ง รู้ว่าเพ่ง จิตมันเคยชินที่จะเพ่ง กว่ามันจะแก้ความเคยชินอันนี้ได้ ใช้เวลา

อย่างเมื่อก่อนหลวงพ่อสอนใหม่ๆ อยู่แถวเมืองกาญจน์ อยู่ที่สวนโพธิ์ฯ หลวงพ่อก็สังเกตอย่างหนึ่ง คนที่ไม่เคยภาวนา มันจะเรียนง่ายกว่าคนที่เคยภาวนาเข้าวัดเข้าอะไรมามากๆ คนไม่เคยภาวนา จิตมันฟุ้งซ่าน พอสอนกรรมฐานให้หน่อยเดียว รู้ว่าฟุ้งเท่านั้น จิตมันก็ตั้งมั่นขึ้นมาได้แล้ว ส่วนพวกที่ชอบเข้าวัดถนัดเพ่ง กว่าจะแก้การเพ่งการจ้องได้ใช้เวลา ฉะนั้นในจุดตั้งต้น คนไม่เคยฝึกจะเร็วกว่าพวกเคยฝึก เพราะพวกที่เคยฝึกเกือบร้อยละร้อยคือนักเพ่ง กระทั่งพวกดูจิตๆ ก็เพ่งจิตแทบทั้งนั้น กว่าจะเลิกก็ใช้เวลา แต่ไม่ต้องเสียใจ คนที่เคยเพ่งมาก่อน พอปรับจิตใจเลิกเพ่งได้ กำลังที่เกิดจากการฝึกเพ่งมาก่อน มันมีกำลัง มันหนุน มันเสริม ทำให้เราดูจิต หรือดูกายได้ต่อเนื่อง ส่วนพวกที่ไม่เคยฝึก นิสัยสันดานมันไม่ได้อยากภาวนาเท่าไหร่หรอก ก็เลยไม่เคยยอมไปฝึก พวกนี้ถึงจะจุดสตาร์ทง่าย แต่พอลงมือปฏิบัติจริง ไปไม่ค่อยรอดหรอก เพราะขี้เกียจ ทำแล้วก็เลิกๆ ไปเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้นมันมีข้อดีข้อเสียคนละด้านกัน พวกไม่เคยฝึกมาเริ่มฝึกง่าย เพราะจิตใจไม่คุ้นเคยกับการบังคับเพ่งจ้อง แต่พอฝึกแล้วจะให้ภาวนาต่อเนื่อง ทำไม่ค่อยได้หรอก ใจมันจะเตลิดเปิดเปิงง่าย ไม่เคยสนใจ ในขณะที่พวกนักเพ่งทั้งหลาย พวกนี้ชอบภาวนา ชอบปฏิบัติ ชอบเข้าวัด ชอบเข้าคอร์สอะไรอย่างนี้ จะมาเรียนให้เกิดทางสายกลางยาก บอกแล้ว อย่างถ้าเผลอ รู้ปุ๊บ เข้าทางสายกลางทันที แต่เพ่ง รู้ปุ๊บไม่เข้าหรอก ต้องปรับอีกช่วงหนึ่งเลย ฉะนั้นจุดสตาร์ทพวกนี้ช้ากว่า แต่ว่าพอจิตเขาเข้าทางสายกลางแล้ว กำลังสมาธิที่ฝึกไว้ มันหนุน มันเสริม แล้วพวกนี้ใจชอบที่จะภาวนา ถึงได้ไปฝึกเพ่งมา เพราะฉะนั้นพวกนี้จะขยันภาวนา จะขยันกว่า สมาธิดีกว่า วิริยะจะดีกว่า ก็จะมาได้เปรียบกันตอนท้ายนี้ล่ะ ความยากมันอยู่ที่ว่าทำอย่างไรมันจะเลิกเพ่ง

 

“…เหมือนลูกตุ้มนาฬิกา เหวี่ยงข้างซ้ายไปแรง เหวี่ยงกลับมาข้างขวามันก็แรงด้วย
หลงแรงก็เพ่งแรง ในทางกลับกัน เพ่งแรง พอปล่อยออกมาหลงแรง”

 

บางคนหลวงพ่อก็แก้ให้ได้ บางคนก็ไม่ได้แก้ให้ มีคุณยายท่านหนึ่ง ท่านอายุ 87 ไปหาหลวงพ่อที่สวนโพธิ์ฯ ท่านภาวนาตั้งแต่ยังสาวๆ เป็นครูบาอาจารย์เดียวกับหลวงพ่อ ลูกศิษย์หลวงปู่เทสก์ แล้วแกก็นั่งเพ่งของแกมา 60 ปีแล้ว แล้วแกมาฟัง ตอนนั้นเป็นเทป ยังไม่มีซีดี ฟังเทป แกได้ฟัง แกรู้ว่าแกเพ่ง อุตส่าห์ไปหาหลวงพ่อที่เมือง กาญจน์ บอกว่าให้ท่านอาจารย์ช่วยแก้ให้หน่อย จิตมันติดเพ่ง แกเก่งถึงขนาดว่าพอนั่งโลกธาตุดับ ทุกอย่างดับหมดเลย ชำนาญมาก ชำนาญกว่าหลวงพ่อเยอะเลย เพราะชั่วโมงบินแกเยอะ

ตอนนั้นหลวงพ่อดูแล้ว แก้ไม่ทันแล้ว คนที่ติดเพ่งมานานๆ อยู่ในโลกของความสงบสงัดภายใน โลกของฌาน ถ้าติดอยู่ตรงนั้นแล้วตอนที่ถอยออกมา ตอนที่แก้จิตจะฟุ้งซ่านมากกว่าคนปกติ คล้ายๆ มันไปติดความสงบอยู่แล้ว พอจะแก้ มันคิดดอกเบี้ยเรา มันฟุ้งเยอะกว่าคนธรรมดาอีก ฉะนั้นอย่างพวกเราจะเห็นบางคนเข้าวัด ชอบนั่งสมาธิ แต่มันขี้โมโห ขี้โมโหมากกว่าคนธรรมดาอีก หงุดหงิดเก่ง โมโหเก่ง ทั้งๆ ที่บอกชอบนั่งสมาธิ นั่นล่ะพวกมิจฉาสมาธิ พวกนั่งเพ่ง

คุณยายท่านนี้ ท่านเพ่งมา 60 ปี ดูแล้วอายุมากขนาดนี้แล้ว แก้ไม่ทัน ต้องใช้เวลาในการแก้ ถ้าแก้แล้วจิตหลุดออกมา ตอนที่จะจ่ายดอกเบี้ย จะต้องชดใช้ มันจะฟุ้งสุดขีดเลย แล้วแก้ไม่ทัน ตายไปด้วยจิตที่ฟุ้งซ่านจะไปอบาย หลวงพ่อแก้ให้แกนิดเดียว บอกต่อไปนี้อย่าให้ร่างกายหายไป นั่งสมาธิจิตรวม แต่เดิมรวมปุ๊บเดียว ร่างกายหายเลย โลกทั้งโลกก็หายหมดเลย เหลือแต่จิตอยู่ดวงเดียวอันนั้นเป็นอรูปพรหม ก็แนะแกบอกว่าอย่าทิ้งกาย ให้รู้สึกกายไว้ รวมลงไปก็ให้มีกาย แล้วพอพระเมตไตรยมาตรัสรู้ อธิษฐานไว้เลยว่าพระเมตไตรยมาตรัสรู้เมื่อไร ให้รู้ขึ้นมา แล้วรีบมาฟังธรรม ตอนนั้นก็ให้พระเมตไตรยท่านแก้ให้ ตรงนั้นล่ะทัน ฉะนั้นบางทีก็แก้ไม่ไหว แก้แล้วเป็นโทษ

 

จุดสำคัญคือความสม่ำเสมอ

พวกเรายุคนี้หน้าตาเพ่งไม่เก่งหรอก ส่วนใหญ่พวกขี้เกียจ ทำบ้างไม่ทำบ้าง ส่วนใหญ่เป็นพวกฟุ้งซ่าน พอลงมือทำก็จะไปเพ่ง มันจะเหวี่ยงอย่างนั้น ฟุ้งมาก พอลงมือปฏิบัติจะเพ่งอัตโนมัติเลย ถ้าไม่ฟุ้ง ลงมือปฏิบัติ มันจะไม่เพ่งแรง อันนี้ในตำราไม่เจอ อาจจะมี แต่ไม่เจอ แต่เห็นมาจากพวกเรานี้ล่ะ ช่วงไหนพวกเราปล่อยใจฟุ้งซ่านมาก พอตอนที่เรามาลงมือทำ ลงมือปฏิบัติ เราจะเพ่งแรง เพราะถ้าเพ่งไม่แรง จิตมันเตลิดเปิดเปิงหนีไปเลย แต่ถ้าเราภาวนาของเราทุกวันๆ สม่ำเสมอ ฝึกมีสติ มีจิตตั้งมั่น สม่ำเสมออยู่ เวลาเราลงมือปฏิบัติ มันจะไม่ต้องเพ่ง ก็ใช้จิตธรรมดาของเรานี้ล่ะ ภาวนาเข้าไปเลย ถ้าเราวันๆ เราปล่อยตัวปล่อยใจตามกิเลสไปเรื่อย แล้วมาลงมือปฏิบัติค่ำๆ มาลงมือปฏิบัติ อย่างไรก็เพ่ง เหมือนลูกตุ้มนาฬิกา เหวี่ยงข้างซ้ายไปแรง เหวี่ยงกลับมาข้างขวามันก็แรงด้วยล่ะ หลงแรงก็เพ่งแรง ในทางกลับกัน เพ่งแรง พอปล่อยออกมาหลงแรง หลงแรงกว่าคนธรรมดาอีก น่าสงสาร

ฉะนั้นอะไรที่จะดีกับเรา ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้เท่าทันจิตใจตัวเองไป จุดสำคัญก็คือสม่ำเสมอ ถ้าทุกวันเราทำ แล้วเราเจริญสติอยู่เรื่อยๆ ในชีวิตประจำวัน เราก็เจริญสติอยู่ ทำอะไรเราก็เจริญสติอยู่ จะกินข้าว จะขับถ่าย จะอาบน้ำ จะนอน จะแต่งเนื้อแต่งตัวอะไรอย่างนี้ มีสติไปเรื่อยๆ มีจิตใจตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ปล่อยตามกิเลส ตามอินเทอร์เน็ตไป ตกค่ำเรามานั่งภาวนา ไม่ใช่เรื่องยาก จะภาวนาสบายไปเลย สงบสบาย หรือบางทีก็ไปเดินปัญญา ตอนค่ำๆ ภาวนา ก่อนนอนอย่างนี้ แต่ถ้ากลางวันเราปล่อยจิตฟุ้งซ่านสุดขีด มานั่งภาวนา ถ้าไม่เพ่งอย่างแรงก็หลับ มันฟุ้งซ่านเต็มที่แล้ว จิตมันจะพักแล้ว ก็หลับ กลัวมันหลับ ไม่อยากให้มันหลับ ก็เพ่งให้แรง มีแต่เรื่องไม่พอดีทั้งนั้น

เพราะฉะนั้นคำว่าสม่ำเสมอสำคัญมากๆ ปฏิบัติให้มันสม่ำเสมอไป จิตมันจะตั้งมั่นโดยที่ไม่ได้เจตนา ไม่ได้บังคับ เพราะฉะนั้นอย่าทิ้งคำว่าสม่ำเสมอ ตั้งใจปฏิบัติทุกวันๆ มีเวลาเมื่อไรภาวนาเมื่อนั้นแล้วการภาวนาจะง่ายขึ้นๆ ถึงจุดที่เราได้จิตผู้รู้ ที่เข้มแข็งมาแล้ว เข้มแข็งไม่ใช่แข็งทื่อ เข้มแข็งหมายถึงมีจิตผู้รู้อยู่โดยไม่ได้เจตนาจะต้องมี มันมีเอง เราฝึกรู้เท่าทันจิตตัวเองเรื่อยๆๆ สมาธิที่ดีมันก็เกิดง่าย การดูจิตๆ มันได้สมาธิ ส่วนการดูจิตให้เกิดปัญญาเป็นอีกแบบหนึ่ง

การดูจิตเพื่อให้มีสมาธิ หัดทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วรู้ทันจิตตัวเองไป แล้วเราจะได้จิตที่มีสมาธิที่ถูกต้อง ได้จิตผู้รู้อย่างรวดเร็ว ส่วนจะเดินปัญญา จะดูจิตหรือดูกายแสดงไตรลักษณ์ ค่อยว่ากันอีกที ฉะนั้นบางคนบอกไม่ชอบดูจิต ใช้ไม่ได้ พวกนี้ไม่เข้าใจ ตอนหลวงพ่อสอนใหม่ๆ กระทั่งพระยังโวยวายว่าหลวงพ่อสอนข้ามขั้น จะดูจิตค่อยไว้ดูตอนเป็นพระอนาคามี ฟังครูบาอาจารย์มา ที่แท้การดูจิตดูใจ เรียนรู้จิตตัวเองมันคือจิตตสิกขา บทเรียนของพระพุทธเจ้า จิตตสิกขาทำให้เราได้สมาธิที่ถูกต้อง พอเรามีสมาธิถูกต้องแล้ว ก็ถึงขั้นปัญญาสิกขา จะรู้ไตรลักษณ์ของรูป หรือจะรู้ไตรลักษณ์ของนาม ค่อยว่ากันอีกทีแล้วแต่ถนัด เพราะฉะนั้นคนละส่วนกัน จะชอบคำว่าดูจิตหรือไม่ชอบก็ตาม ต้องเรียนเรื่องจิต มิฉะนั้นเราไม่มีทางได้สมาธิที่ถูกต้องหรอก หรือมี ก็มีโอกาสน้อย

 

 

อย่างภาวนากันเป็นร้อยเป็นพัน กว่าจะหลุดขึ้นมาเป็นผู้รู้สักคนหนึ่ง จิตเป็นผู้รู้ทรงสมาธิที่ถูกต้อง ร้อยคนพันคนจะมีสักคนหนึ่งหรือเปล่ายังไม่แน่เลย แต่ถ้าเราเรียนสังเกตจิตไปเรื่อย ถือว่าเราเรียน จิตตสิกขา ทำกรรมฐานอย่างหนึ่งแล้วรู้ทันจิตตัวเองไป เราจะได้จิตที่มีสมาธิตั้งมั่นในเวลาอันสั้น นี่บทเรียนของพระพุทธเจ้า ท่านวิเศษตรงนี้ล่ะ เราต้องมีศีลสิกขา จิตตสิกขา แล้วมันถึงปัญญาสิกขา

พอเรามีจิตที่ตั้งมั่นแล้ว ก็เจริญปัญญา การเจริญปัญญาในขั้นต้นก็คือ การแยกรูปแยกนาม กายส่วนกาย เวทนาส่วนเวทนา จิตส่วนจิต กุศลอกุศลส่วนกุศลอกุศลไป เฝ้ารู้เฝ้าดูไป ถัดจากนั้นก็เจริญวิปัสสนา ตรงที่เราแยกขันธ์ได้เป็นการเจริญปัญญาขั้นต้นแต่ยังไม่ถึงวิปัสสนา ตรงที่เราเห็นขันธ์แต่ละขันธ์ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ อันนั้นเราขึ้นวิปัสสนาแล้ว วิปัสสนานั้นมีอานิสงส์มาก ถ้าเราทำได้ 7 วัน 7 เดือน 7 ปีโอกาสเป็นพระอรหันต์หรือพระอนาคามีนี่มี แต่ถ้าเราเอาจิตซึ่งไม่มีคุณภาพ บอกว่าเจริญวิปัสสนา เห็นท้องพองเห็นท้องยุบ เพ่งท้อง นั่นสมถะ เห็นว่ารูปพองก็อันหนึ่ง รูปยุบก็อันหนึ่ง อันนั้นไม่ใช่แยกรูปแยกนาม อันนั้นรูปกับรูป แยกรูปแยกนาม ได้นามคือคนรู้ รูปเคลื่อนไหว นามเป็นคนรู้ แยกรูปแยกนาม หรือเห็นเวทนาผุดขึ้นมา กายก็ส่วนหนึ่ง เวทนาก็ส่วนหนึ่ง จิตก็ส่วนหนึ่ง พอมีเวทนาแล้วสังขารมันก็ตามมาอีกแล้ว มันเกิดยินดียินร้ายชอบไม่ชอบขึ้นมาอีก ตัวสังขารก็เป็นอีกอันหนึ่ง มันจะค่อยๆ แยกๆๆ ขันธ์ออกไป

พอขันธ์มันแตกออก มันจะพบว่าตัวเราไม่มีหรอก อย่างเราแยกได้ กายกับใจมันคนละอันกัน ร่างกายเคลื่อนไหว ใจเป็นคนรู้ มันจะเห็นเลย ร่างกายเหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่ง ไม่ใช่ตัวเราแล้ว จิตยังสำคัญมั่นหมายว่าเป็นเราอยู่ แต่กายไม่ใช่เราแล้ว ภาวนาสักแป๊บเดียวก็เห็นแล้ว ถ้าแยกขันธ์ได้ แล้วเห็นเวทนาก็ไม่ใช่เรา เห็นสังขารที่เป็นกุศล อกุศลก็ไม่ใช่เรา เหลือแต่จิตเป็นเราอันเดียว ค่อยภาวนาไปก็เห็น กระทั่งจิตก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้เพ่ง เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้หลง สุดท้ายมันก็เห็นจิตผู้รู้เองก็แสดงไตรลักษณ์ เห็นถึงตรงนี้ก็ไม่มีอะไรให้ดูต่อแล้ว ขันธ์ทั้ง 5 นี้ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ไม่มีตัวเราไม่มีของเรา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา

เพราะฉะนั้นต้องฝึก พวกเราพยายามฝึกตัวเอง ทำกรรมฐานไว้อย่างหนึ่งแล้วเผลอก็รู้เพ่งอยู่ก็รู้ พยายามไปฟังซ้ำๆ มีรีรันใน YouTube ในอะไรพวกนี้ มีให้ฟัง ฟังซ้ำๆๆ ที่สอนวันนี้ พอเราเข้าใจตรงนี้แล้ว การภาวนาจะไม่ใช่เรื่องยากแล้ว เรามีผู้รู้แล้ว ขันธ์มันแยกง่ายเลย พอมีผู้รู้เมื่อไร มันก็มีสิ่งที่ถูกรู้ อะไรถูกรู้ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั่นล่ะของถูกรู้ วิญญาณก็คือจิตที่เกิดดับทางอายตนะทั้ง 6 อะไรถูกรู้ อันนั้นล่ะมันฟ้องตัวเองอยู่แล้ว มันไม่ใช่ตัวเราของเราหรอก มันเป็นของถูกรู้ถูกดูอยู่เท่านั้นเอง

ฉะนั้นถ้าแยกขันธ์ได้ มันจะเห็นไตรลักษณ์ แยกขันธ์ไม่ได้ ไม่เห็นหรอกจะแยกขันธ์ได้ จิตต้องมีคุณภาพ จิตต้องตั้งมั่นพอ จิตจะตั้งมั่นพอ ฝึกจิตตสิกขา ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วรู้ทันจิตไป จิตหลงไปก็รู้ จิตไปเพ่งอยู่ก็รู้ ฝึกอย่างนี้ สอนให้ดูเป็นลำดับ ไล่จากข้างล่างขึ้นข้างบน ไล่จากข้างบนลงข้างล่าง พูดกลับไปกลับมาหลายรอบ ไปจับประเด็นเอา ถ้าทำได้ มรรคผลนิพพานไม่หนีเราไปไหนหรอก.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
9 มกราคม 2564