ความสุขในโลกไม่ยั่งยืน

การระบาดถ้าสังเกตให้ดี มันเริ่มต้นมาจากแหล่งอบายมุขทั้งหลาย อบายมุขชื่อมันก็บอกแล้ว เป็นทางแห่งความเสื่อม เป็นปากทาง มุข ปากทางของความเสื่อม อันแรกก็เรื่องกินเหล้าเมายา สังเกตไหมเชื้อโรคระบาดมาหลายรอบแล้ว ก็เพราะกินเหล้านั่นล่ะ เที่ยวผับ เที่ยวบาร์ กินเหล้า ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน ดูการละเล่น เล่นการพนัน ติดมาจากบ่อนก็มี คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้านในการงาน 6 ตัวนี้เรียกว่าอบายมุข เป็นทางเสื่อม

สังคมมันเป็นแบบนี้ สังคมยุคนี้ศีลธรรมมันถดถอยไป เรามุ่งมาทางความเจริญในด้านวัตถุ แข่งกันบริโภค แล้วธรรมะไม่มี มันก็ไม่สบาย ไม่มีความสุข แก่งแย่งแข่งขัน แสวงประโยชน์ส่วนตัว มันเป็นธรรมดาของโลกในยุคนี้ ไม่ต้องไปตกอกตกใจ ในยุคที่ดูสังคมมันย่ำแย่ มันเป็นยุคที่คนมีศีลมีธรรมมีโอกาสที่จะภาวนาได้เยอะ เวลาทางโลกมันสบาย มีความสุข คนมันก็หลง เวลาชีวิตมันมีปัญหาขึ้นมา ก็จะคิดถึงธรรมะกัน คนที่ใส่ใจในธรรมะก็จะคิดถึงธรรมะ ยิ่งเวลามีวิกฤตต่างๆ เราจะภาวนาได้กระฉับกระเฉง แข็งขันมากกว่าช่วงที่สบาย อย่างหลายคนทำมาหากินลำบาก เครียด ในช่วงที่โควิดระบาด 2 ปีที่ผ่านมา คนไม่มีศีลมีธรรมก็เครียด ไม่มีอะไรขึ้นมา มีแต่ความเครียด ทุกข์ คนมีศีลมีธรรมก็ภาวนา โลกมันมีปัญหาแต่ใจเราไม่มีปัญหาได้ ภาวนา มีเวลาเยอะ Work from home กัน ถ้าไม่เอาเวลาไปเล่นอินเทอร์เน็ตเสียหมด ก็มีเวลาภาวนา

 

ยิ่งเราปฏิบัติธรรมได้มากเท่าไร เราก็ไกลความทุกข์ออกไปเท่านั้น

ฉะนั้นในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ คนมีศีลมีธรรมแสวงหาประโยชน์ได้ อย่างบางคนอยู่ในโลกมีความสุข มีความสบาย ขี้เกียจภาวนา พอเผชิญปัญหาร้ายแรง เช่น อกหัก หรือลูกป่วยหนัก ลูกจะตาย คนที่เรารัก พ่อแม่เราเจ็บป่วยจะตาย คนทั่วไปก็มีความทุกข์ แต่เรานักปฏิบัติจะยิ่งขยันภาวนา แล้วมันไม่มีอะไรเป็นที่พึ่งของเรา ในโลกซึ่งเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน การปฏิบัติธรรม ยิ่งเราปฏิบัติได้มากเท่าไร เราก็ไกลความทุกข์ออกไปเท่านั้น สิ่งที่เรียกว่าโลกๆ คือรูปธรรมนามธรรม ก็คือความทุกข์นั่นล่ะคือตัวทุกข์ รูปนามก็คือตัวทุกข์ สิ่งที่เรียกว่าโลกก็คือรูปนาม โลกก็คือตัวทุกข์นั่นล่ะ พอเราเข้าใจความจริงของโลก เรียกเรารู้ทุกข์ จิตมันจะค่อยๆ คลายความยึดถือออกจากโลก แล้วละสมุทัยได้

ฉะนั้นเราภาวนา แทนที่เราจะทุกข์เหมือนคนอื่นเขาทุกข์ มันมีความสุขอยู่ได้ เราภาวนาให้ดีเถอะ ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นในชีวิต เราก็มีความสุข ความสุขตัวนี้ไม่ใช่ความสุขธรรมดา มันเป็นความสงบสุข ความสุขส่วนใหญ่ที่คนในโลกมันรู้จัก ที่มันอยากได้ มันเป็นความสุขที่ไม่สงบหรอก เป็นความสุขที่เร่าร้อน ความสุขจากการกินเหล้า เที่ยวผับ เที่ยวบาร์ ดูหนัง ฟังเพลง เป็นความสุขที่ไม่สงบ ตอนเสพก็นึกว่ามีความสุข แต่เสพแล้วมันติด การเสพในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะทั้งหลาย เสพแล้วติด มันคือกามนั่นล่ะ ยิ่งเสพก็ยิ่งติด

เมื่อก่อนหลวงพ่อเคยได้ยินบางคนบอกว่า ให้เสพกามให้มากแล้วจะได้เบื่อ อันนี้พูดส่งเดช พระพุทธเจ้าท่านบอก กามนี่ไม่เบื่อหรอก การนอนการอะไรอย่างนี้ ไม่เบื่อ ฉะนั้นมันไม่มีความสงบสุข ดิ้นรนแสวงหาในสิ่งที่นึกว่าจะให้ความสุขเรา ดิ้นรนหามา อยู่ได้ชั่วครั้งชั่วคราวมันก็หายไปแล้ว อย่างบางคนชอบผู้หญิงคนนี้ไปจีบผู้หญิง ได้มามีความสุขแป๊บเดียวเดี๋ยวก็เบื่อแล้ว อยากหาใหม่แล้ว หรือถึงไม่หาใหม่ ความหวือหวาตื่นเต้น เหมือนตอนที่จีบกันใหม่ๆ ก็ไม่มีแล้ว ฉะนั้นความสุขความหวือหวาของโลก มันไม่ยั่งยืนหรอก แต่คนส่วนใหญ่มันก็แสวงหา เพราะมันไม่รู้จัก คำว่าสงบสุข

เรามาหัดภาวนา มารู้ความจริงของกาย มารู้ความจริงของใจ ความจริงของกายก็คือทุกข์ ความจริงของใจก็คือทุกข์ พอเราเห็นอย่างนี้ใจมันจะค่อยๆ คลายออกจากโลก ความยึดถือในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสทางกายจะลดลง ความดิ้นรนกระดี๊กระด๊าหิวโหยอารมณ์ทางใจ มันก็จะลดลง ใจมันจะหิว ร่างกายเราหิววันหนึ่ง 2 – 3 ครั้งต้องการอาหาร แต่จิตมันหิวตลอดเวลา หิวอาหารของจิต คือตัวอารมณ์ทั้งหลายนั่นล่ะเป็นอาหารของจิต กินอย่างไรก็ไม่อิ่มหรอก

มาหัดรู้หัดดู เบื้องต้นก็รักษาศีล 5 มีศีล 5 พอแล้ว ไม่ต้องศีลอะไรมากมายหรอก 5 ข้อทำให้ได้ รักษาศีล 5 ไว้ แล้วแบ่งเวลาไว้ทุกวันทำในรูปแบบไว้ จะหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หรือจะดูร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ดูได้ทั้งวันร่างกายมันยืน เดิน นั่ง นอน ร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า มันก็ดูได้ทั้งวัน เพราะมันหายใจทั้งวัน มันยืน เดิน นั่ง นอนทั้งวัน มีสติตามระลึกไปเรื่อยๆ แล้วสติเราแก่กล้าขึ้น สมาธิมันก็แก่กล้าขึ้นพร้อมๆ กัน สติที่ถูกต้องเกิดเมื่อไร สมาธิที่ถูกต้องก็เกิดเมื่อนั้น

ฉะนั้นเราเฝ้ารู้สึกลงไป อย่างร่างกายหายใจเรารู้สึกๆ ไป หายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก จนกระทั่งไม่ได้เจตนารู้สึกมันรู้สึกเอง ถ้าเราฝึกให้มากๆ ฝึกให้ดีๆ กระทั่งตอนที่ร่างกายนอนหลับ จะหายใจออกหรือหายใจเข้ายังรู้เลย ยังรู้ได้เลย ร่างกายจะพลิกซ้ายพลิกขวาอะไรนี่รู้ ความปวดความเมื่อยเกิดขึ้นในร่างกายตรงนั้นตรงนี้ รู้ ก็จะพลิกตัวเปลี่ยนท่าทางอะไรอย่างนี้รู้สึกตลอด ใจมันก็สงบเห็นรูปธรรมทำงานไป หรือเห็นใจมันคิด เวลานอนหลับใจมันยังคิดได้ที่เรียกว่าฝัน ถ้าเราภาวนาเราก็จะเห็นบางทีจิตก็ลงภวังค์ลึกไปไม่ฝัน บางทีจิตก็เคลื่อนขึ้นมา มันจะเคลื่อนขึ้นเคลื่อนลงโดยธรรมชาติของมัน เป็นวงจรของมัน ไม่ถึงชั่วโมงรอบๆ หนึ่ง ลงไปพักช่วงหนึ่งแล้วขึ้นมารับอารมณ์แล้วมาคิด เกิดความคิดที่เรียกว่าฝันนั่นล่ะ สลับไปสลับมา

 

มีสติทั้งหลับทั้งตื่น ไม่ต้องกลัวว่าจะไปอบาย

เราฝึกตัวเอง เรามีสติทั้งหลับทั้งตื่นเลย ไม่ต้องกลัวไปอบายหรอก เวลาฝันไม่ดีสติทำงานอัตโนมัติเลย อย่างสมมติว่าฝันเห็นผี กลัว สติระลึกปั๊บเลยความกลัวขาดสะบั้นเลย จิตจะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา ฝึกไปเรื่อยๆ ตายแล้วไม่ไปอบาย เวลาคนเราจะตายมันจะมีนิมิต คือมันฝันนั่นล่ะ มันฝันถึงเรื่องราวที่ก่อกรรมทำเข็ญไว้ก็ได้ หรือทำความดีไว้ก็ได้ มันเคยชินที่จะทำชั่วมันก็ฝันถึงเรื่องชั่วๆ เคยชินกับความดีมันก็ฝันถึงเรื่องดีๆ ก็มีนิมิตเกิดขึ้น บางทีก็เห็นอุปกรณ์ในการทำกรรมของเรา อย่างเห็นเบ็ดตกปลา เดี๋ยวนี้ชอบกัน เห็นไปไหนก็มีเบ็ดตกปลาพกกันไปเท่ดี หรืออุปกรณ์ทำความดีของเราก็มี

อย่างตอนหลวงพ่อเด็กๆ ผู้ใหญ่พาไปวัด เราก็ต้องช่วยถือปิ่นโตไป ปิ่นโตก็เป็นอุปกรณ์ทำความดี ไปวัด แต่เดี๋ยวนี้คงถือถุงพลาสติก ถุงก๊อบแก๊บ หิ้วอาหาร หิ้วข้าวของไปทำบุญ เวลาจะตายมันนึกถึงอุปกรณ์พวกนี้ได้ ทั้งที่ใช้ทำบุญทำบาป ก็ไปสู่ภพภูมิที่พอดีๆ กับบุญบาปของเรา บางทีก็นิมิตเห็นที่ๆ เราจะไปเกิด เห็นเทวดา เห็นสวรรค์ หรือเห็นนรก บางทีก็เห็นทุ่งหญ้า เห็นอะไรเป็นวัว เป็นควายกินหญ้าอยู่ในทุ่ง แหม สบาย ตายแล้วก็ไปเกิดในทุ่งนั่นล่ะ เป็นสัตว์ตัวเล็กตัวน้อย เห็นที่ๆ ไปเกิดก็ได้ จิตมันทำงาน มันสร้างนิมิตทั้ง 3 แบบ นิมิตถึงกรรมที่เคยทำ นิมิตถึงอุปกรณ์ที่ใช้ทำกรรม นิมิตถึงที่ๆ จะไปเกิด แล้วพอตายลงจิตมันไปเกิดตรงนั้นเลย ตรงที่นิมิตนั้นพาไป

ถ้าเราภาวนาชำนิชำนาญ อะไรเกิดขึ้นในจิตใจเรา เรารู้สึกได้ นอนหลับฝัน ถ้าฝันร้ายแล้วสติเกิดอันนี้ดีเชียวละ เป็นเครื่องวัดตัวหนึ่งเลยว่า ถ้าจะไปอบายยังพอเอาตัวรอดได้ อย่างฝันไปเห็นต้นงิ้วกระทะทองแดงจิตกลัวขึ้นมา เห็นกลัว นิมิตไม่ดีดับทันทีเลย จิตผู้รู้มันเกิดเลย ตายไปก็ไปสุคติเลย

 

ฉะนั้นเราพยายามฝึกตัวเอง แล้วก็เป็นประโยชน์มันจะมีความสุข ตั้งแต่ชาตินี้จนชาติต่อๆ ไปก็มีความสุขได้ ฝึกตัวเองทุกวันๆ ไปให้มันใกล้ต่อมรรคผลนิพพานเข้าไปตามลำดับ คนไหนบารมีแก่กล้าก็บรรลุมรรคผลนิพพานในชีวิตนี้ ถ้าได้โสดาบันอนาคตก็ปลอดภัยมากขึ้น แต่บางคนก็ประมาท ได้โสดาบันแล้วก็อยากไปเกิดอีก เพื่อจะไปเสพความสุข มีบุญเยอะอะไรอย่างนี้ พวกนี้ยังประมาท

ในสังสารวัฏเราไม่ได้สร้างแต่บุญ บาปเราก็สร้าง เป็นโสดาบันแล้วก็ไม่ไปเกิดในอบายก็จริง อาจจะเกิดเป็นคนแต่ลำบากยากจนอดอยากย่ำแย่ ถมเถไปที่เป็นอย่างนั้น บางท่านระดับครูบาอาจารย์ที่หลวงพ่อไปเรียนด้วย บางท่าน ท่านเจริญปัญญามาก ท่านไม่ค่อยสนใจเรื่องทาน ฉะนั้นชาติสุดท้ายเราก็คิดว่าคือชาติสุดท้ายของท่านแล้ว ท่านมีปัญญาแตกฉานมากเลย ปรากฏว่าอาหารการกินอะไรของท่าน อัตคัดขาดแคลนไม่ค่อยมี แต่ท่านก็ไม่ทุกข์ อันนี้เพราะว่าทานท่านไม่ค่อยได้สร้างไว้เท่าไร ทำนิดหน่อย ครูบาอาจารย์บางองค์ เราดูคนไปหาท่านมากมาย ทำบุญกับท่านล้นหลาม จนท่านออกปากว่าสมัยท่านหนุ่มๆ ท่านมีแรงฉันแต่ไม่มีจะฉัน อยู่ในป่าในเขา ตอนแก่นี่ท่านไม่มีแรงจะฉันแล้ว คนก็เอามาให้เยอะแยะไปหมดเลย ไอ้โน้นไอ้นี้ ไข่ปลาคาเวียร์ใส่ในชามคริสตัลสวยงาม อันนี้เป็นผลที่ท่านทำมาไม่เท่ากัน ฉะนั้นเรากระทั่งได้ธรรมะแล้ว เราก็ประมาทไม่ได้ นึกว่าได้ธรรมะแล้วทำอะไรก็ได้ ไม่ใช่ เข้าใจผิดแล้ว อย่างไรกรรมก็มีผลนั่นล่ะหนีไม่พ้นหรอก

ถ้าเราเข้าใจสิ่งเหล่านี้ เราก็มาพัฒนาตัวเองทุกวันๆ ถือศีล 5 ไว้ ทุกวันไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม เวลาที่เหลือถ้าไม่นอนหลับไป หรือทำงานที่ต้องคิด เวลาที่เหลือนั้นเราเอามาเจริญสติในชีวิตประจำวัน เจริญสติในชีวิตประจำวัน ทำตั้งแต่ตื่นนอนจนนอนหลับ ทำได้ ถ้าฝึกให้มากๆ เข้า ตอนตื่นเราจะเห็นเลยจิตมันตื่นก่อนร่างกาย จิตมันเริ่มเคลื่อนขึ้นจากภวังค์ก่อน เคลื่อนขึ้นมาแล้วมันก็จะไปกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วแต่ว่ามันจะกระทบ เราเลือกไม่ได้หรอก พอมันกระทบอารมณ์แล้วความคิดก็เกิด เสร็จแล้วความรู้สึกตัวมันจะขยายตัวออกไป มันจะแผ่ออกเหมือนเปิดสวิตช์ขึ้นมา เป็นความรู้สึกทางใจ พอเปิดสวิตช์ครั้งที่สอง มันแผ่ออกมากระทบร่างกาย ร่างกายนอนอยู่อย่างไร ร่างกายกำลังหายใจออก หรือกำลังหายใจเข้า มันเห็นของมันเอง

 

ความสุขในโลกไม่ยั่งยืน

เราค่อยฝึกๆ ไปเรื่อยๆ ใจเราเคล้าเคลียอยู่กับธรรมะ ใจก็ไม่ไปหลงโลก ใจไม่อยู่กับธรรมใจก็ต้องไปอยู่กับโลก ก็ใจมันต้องมีที่อยู่ ฉะนั้นเราเพลินอยู่กับโลกไม่มีวันจบวันสิ้น ความสุขของโลกเร่าร้อนไม่ยั่งยืน แสวงหามาอย่างยากลำบาก แล้วก็ยากลำบากที่จะรักษาเอาไว้ ความสุขทั้งหลายในโลก กระทั่งโลกที่ละเอียด ความสุขของฌานอย่างนี้ อยู่ในพรหมโลกได้มาก็ลำบาก ก็ฝึกกันนานกว่าจะเข้าฌานได้ รักษาไว้ก็ลำบาก มีกามนิดเดียว หรือมีโทสะนิดเดียว พรหมนั้นก็ตกสวรรค์แล้ว ตกพรหมโลกแล้ว เสื่อม

ความสุขของโลก ตั้งแต่กามโลก ความสุขในโลกธรรมดาอย่างที่พวกเรารู้จัก ความสุขจากการดูรูป จากการฟังเสียง จากการดมกลิ่น จากการลิ้มรส จากการสัมผัสทางกาย ความสุขอย่างนี้เร่าร้อนไม่ยั่งยืน ได้มายากเสียไปง่าย รักษาไว้ยาก ความสุขที่สูงขึ้นไป ความสุขในสมาธิได้มาก็ยาก ฝึกกันแรมปีเลยกว่าจะเข้าสมาธิเป็น แล้วก็เสื่อมง่าย สูญเสียง่าย เราเพลินในกามนิดเดียวเท่านั้นเสื่อมหมดเลย ฉะนั้นความสุขของโลก ไม่ว่าจะเป็นกามโลก รูปโลก อรูปโลก ไม่ยั่งยืนหรอก ได้มายากเสียไปง่าย

ความสุขในธรรมะค่อยๆ ภาวนาไป หัดภาวนาทีแรกเรารู้สึก แหม มันทุกข์จังเลย ตอนมีชีวิตอยู่กับโลกธรรมดา ไม่เห็นมันจะทุกข์เหมือนตอนที่มาหัดภาวนา อย่างเราเกิดมาเราอยู่กับโลก เกิดมาแล้วหายใจ หายใจมาตั้งแต่เกิดไม่เห็นทุกข์เลย พอมาลงมือปฏิบัติหายใจ 2 – 3 ทีรู้สึกทุกข์ๆ อึดอัดแน่นไปหมดเลย อันนั้นเพราะยังภาวนาไม่เป็น ถ้าภาวนาเป็นไม่ทุกข์หรอก อันนั้นภาวนายังไม่เป็น แต่เบื้องต้นหัดภาวนามันก็เริ่มจากไม่เป็นนั่นล่ะ เราไม่ได้บุญบารมีมากถึงขนาดว่าเราสะสมมาเต็มที่แล้ว พอปฏิบัติปุ๊บถูกปั๊บเลย ส่วนใหญ่มันก็ทำผิดก่อน หัดภาวนาเช่นหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หายใจมาแต่เด็กไม่เดือดร้อนอะไร สบายดี พอมาหัดนั่งสมาธิหายใจไม่กี่ที อึดอัดมันแน่นไปหมดเลย มันธรรมดา ชั่วโมงบินเรายังน้อยยังฝึกน้อย

ถ้าเราฝึกเยอะชำนิชำนาญจริงๆ หายใจปุ๊บก็มีความสุขมีความสงบทันทีเลย ค่อยๆ ฝึกทีแรกมันก็ล้มลุกคลุกคลาน รู้สึกว่าการปฏิบัติธรรมนี้ แหม มันลำบาก เดินจงกรมครึ่งชั่วโมง โอ๊ย เหนื่อย ทีเดินช็อปปิง 5 ชั่วโมงไม่เป็นอะไร เดินช็อปปิงแล้วเพลินไปได้ทั้งวันเลย ไม่เป็นอะไร แต่เดินจงกรมไม่กี่นาทีแทบจะขาดใจแล้ว หายใจมาตั้งแต่เกิดไม่เป็นไร มานั่งภาวนาหายใจไม่กี่ที โอ๊ย อึดอัดจะแย่แล้ว ก็เป็นแทบทั้งนั้นที่หลวงพ่อพูดนี้ หลวงพ่อไม่ได้พูดมั่วๆ ก็พูดมาจากประสบการณ์ ประสบการณ์ที่เห็นพวกเราเยอะแยะ

 

ภาวนาโดยไม่คาดหวัง

หลวงพ่อภาวนาตั้งแต่เด็กๆ เริ่มแต่เด็กภาวนาง่าย เริ่มตอนโตแล้วภาวนาลำบากนิดหนึ่ง ถ้าเริ่มตอนเด็กๆ มันไม่มีมารยา ไม่มีมารยาว่าภาวนาจะต้องเป็นอย่างนั้น จะต้องเป็นอย่างนี้ จะต้องได้อันนั้น จะต้องได้อันนี้ หลวงพ่อไปเจอท่านพ่อลี ท่านสอนหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับหนึ่งอะไรอย่างนี้ นับสอง นับสาม ตอนนั้น 7 ขวบเอง ไปแล้วจับนั่งตักสอน ท่านน่ารัก ท่านเมตตา ท่านก็สอนหลวงพ่อก็มาทำหายใจเข้าพุท หายใจออกโธนับหนึ่ง ไม่ได้คิดว่าทำแล้วมันจะได้อะไร ไม่ได้มีความอยากว่าทำแล้วจะต้องสุข ต้องสงบ ต้องบรรลุมรรคผลนิพพานอะไรไม่เคยคิดเลย เพราะมันเด็กจนกระทั่งไม่รู้จักอะไรเลย ครูบาอาจารย์ให้ทำก็ทำ ทำไม่นานจิตก็สงบ เริ่มจากการนับหายไป เหลือแต่หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ต่อไปการบริกรรมพุทโธก็หายไป เหลือแต่ลมหายใจ ภาวนาไปเรื่อยๆ ลมหายใจก็ระงับเป็นแสงขึ้นมา ไม่ได้คิดไม่ได้นึกว่ามันจะต้องได้นั่นได้นี่ เด็กๆ มันไม่มีมารยา

ฉะนั้นฝึกตั้งแต่เด็กๆ ฝึกง่าย โตขึ้นแล้วชั้นเชิงเยอะมารยามาก ภาวนานิดหน่อยก็อยากได้มรรคผล อยากได้อภิญญา อยากได้โน้น อยากได้นี้ เริ่มต้นก็อยากเต็มไปหมดแล้ว มันก็เลยไม่ได้ มันเลยยาก ก็ต้องอดทนภาวนาไปนานเลยจนมันหมดอยากนั่นล่ะ ทีแรกภาวนามันอยากสงบ อยากโน้นอยากนี้ มันทำไม่สำเร็จ แต่อดทนไม่เลิก วันหนึ่งก็ภาวนาไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้อยากไม่ได้คาดหวังว่าจะได้แล้ว ตรงที่ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้ มันจะได้ ตรงที่คาดหวังอยู่มันไม่ได้หรอก อย่างหลวงพ่อภาวนามันเคยเห็นจิตมันแหวกออก มันสว่างขึ้นมา มันว่าง โล่งเลย ครั้งแรกอินโนเซนต์เลย ไม่ได้คิดฝัน อีกทีหนึ่งมันก็เป็นไปเอง เราไม่ได้รู้เรื่องอะไร ไม่ได้คิดว่ามันจะต้องเป็น คราวนี้มันจำได้แล้ว ก่อนที่จิตมันจะรวมแบบนี้ มันมีอาการอย่างนี้ๆ พอมันจะเริ่มอย่างนี้ ลุ้นแล้วเดี๋ยวมันจะเกิดอีกแล้ว นั่งลุ้นอย่างนี้ ไม่มีหรอก ไม่ได้กินหรอก ฉะนั้นถ้าทำด้วยอยากไม่ได้กินหรอก แต่ถ้าไม่มีความอยากมันก็ไม่ทำอีกล่ะ

เพราะฉะนั้นเบื้องต้นจะอยากก่อนก็ไม่เป็นไรหรอก อยากแล้วก็ทนเอาทำไป จนวันหนึ่งมันหมดความจงใจ หมดความอยากนั่นล่ะมันจะได้ สมาธิมันก็จะเกิดขึ้นตอนที่เราไม่ได้จงใจ ค่อยภาวนาไปเรื่อยๆ แล้วก็พอจิตมันมีสมาธิแล้ว มันว่างๆ นิ่งๆ เราก็กระตุ้นให้มันเดินปัญญา เราก็มาคิดพิจารณากาย พิจารณาจิต แล้วแต่สะดวกแล้วแต่ถนัด คิดพิจารณาให้มันลงไตรลักษณ์ให้ได้ คือคิดอย่างไรก็ได้ แต่ให้ลงไตรลักษณ์ให้ได้เท่านั้น อย่างนี้นั่งมโนเอาว่าเราไปประกวดนางงาม ได้เป็นนางงามจักรวาลแล้ว เสียดายไม่มีจักรวาลอื่นให้ไปประกวดด้วย ภูมิใจ นั่งคิดไปเรื่อยๆ เป็นนางงามแล้ว โอ๊ย สปอนเซอร์ทั้งหลายมาติดต่อ รวย อะไรอย่างนี้ ต่อไปก็หาแฟนได้ เป็นหนุ่มรูปหล่อถูกอกถูกใจ มีลูกมีหลาน มโนไป แต่มโนแล้วอย่าไปหยุดอยู่ตรงแค่นี้ คิดต่อไปอีก อยู่ไปเรื่อยๆ ตีนกามันชักจะขึ้นแล้วจะต้องไปดึง จะต้องทำอย่างโน้น จะต้องทำอย่างนี้ เริ่มจะวุ่นวายแล้ว

คิดพิจารณาไปเรื่อยๆ จนหนังเหี่ยว ฟันหัก ผมหงอก คิดไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็ตาย พอตายแล้วก็ไม่สวยไม่งามแล้ว เคยเป็นนางงามจักรวาล ทั้งๆ ที่ตายยังสาว ตายตอนสาวๆ นี้ก็ได้ สักพักเดียวเราตายปุ๊บยกให้ใครเขาก็ไม่เอาแล้ว คนที่เคยแย่งมันก็วิ่งหนีหมดเลย คราวนี้แย่งกันหนี ไม่อยากดู ไม่อยากได้ พิจารณาไปเรื่อยๆ ใจให้ลงไตรลักษณ์ เห็นเลยมันเป็นของไม่ดี เป็นของไม่ยั่งยืน เป็นของที่มีความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา เป็นของที่ควบคุมบังคับไม่ได้ พิจารณาไปให้มันลงไตรลักษณ์ให้ได้ จะพิจารณาอะไรก็ได้ คิดไปแต่ลงไตรลักษณ์แล้วก็ใช้ได้เหมือนกันหมด

จะดูจิตดูใจบางทีจิตมันฟุ้งซ่าน ดูไปจิตมันฟุ้งซ่าน ทำอย่างไรมันก็ไม่สงบ นี่ล่ะมันสอนอนัตตาเรา พิจารณาอย่างนี้แล้วเห็นอนัตตา ทีแรกก็คิดเรื่องอนัตตา พอใจมันลงเท่านั้นรวมปุ๊บลงไป คราวนี้มันเห็นอนัตตาโดยไม่ได้คิดแล้ว เมื่อไรที่จิตมันหมดความคิด มันรู้สภาวะอย่างที่กำลังเป็นโดยไม่คิด ตรงนั้นล่ะวิปัสสนามันจะเกิด ถ้ายังคิดอยู่ยังไม่เป็นหรอก

 

มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

หลวงพ่อพุธท่านสรุปดีนะบอก “สมถะเริ่มเมื่อหมดความจงใจ วิปัสสนาเริ่มเมื่อหมดความคิด” แต่ก่อนจะหมดความคิด มันก็ต้องคิดก่อน มันคิดแล้วเราพามันลงไตรลักษณ์ให้ได้ ลงไตรลักษณ์ได้จิตจะรวม จิตจะสงบลงมา แล้วคราวนี้มันเคยพิจารณากาย พิจารณาจิตเป็นไตรลักษณ์มาแล้ว พอมันสงบจิตมันจะพิจารณาเอง มันจะไปพิจารณากาย พิจารณาจิตเป็นไตรลักษณ์เอง ตรงที่มันพิจารณาเองนั่นล่ะ มันเดินปัญญาอย่างแท้จริงแล้ว ใช้เวลาไม่มากหรอก ถ้าเดินตรงนี้ได้ ที่มากก็คือตอนที่ฝึกให้จิตมันตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู ตรงนี้เราฝึกกันนาน ให้มันมีสมาธิที่ถูกต้อง แล้วก็มีสติระลึกรู้ความเปลี่ยนแปลงของกายของใจ พวกนี้ต้องฝึก แต่พอจิตมันมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางแล้ว ตรงนี้ไม่ต้องฝึกแล้ว จิตมันเดินของมันเองแล้ว

ฉะนั้นที่หลวงพ่อสอน “มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง” แล้ววงเล็บ “ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง” ถ้าไม่มีจิตตั้งมั่นและเป็นกลาง จะรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงไม่ได้ จะทำได้แค่รู้กายรู้ใจ แต่จะไม่เห็นความจริงคือไตรลักษณ์หรอก จะเห็นไตรลักษณ์ได้จิตต้องตั้งมั่นและเป็นกลาง ค่อยๆ ฝึก สุดท้ายมันก็จะเห็นว่า โลกนี้คือรูปนาม หรือทุกสิ่งทุกอย่างที่แวดล้อมเราอยู่นี่ หาสาระแก่นสารไม่ได้ ใจมันค่อยคลายความยึดถือออกไปเป็นลำดับๆ ยิ่งเราห่างโลกเท่าไร เราก็ยิ่งเข้าใกล้ความสงบสุขมากเท่านั้น เพราะโลกมันไม่สงบ ความสุขของโลกก็เป็นความสุขที่ไม่สงบ

เราภาวนาเห็นความจริง โลกนี้ไม่มีสาระแก่นสาร กายนี้ไม่ได้มีสาระแก่นสาร จิตใจนี้ไม่มีสาระแก่นสาร อย่างเราอยากได้อารมณ์ที่มีความสุขทางใจ ก็ไม่มีสาระแก่นสาร สุขประเดี๋ยวประด๋าว เดี๋ยวก็ไม่สุขแล้ว อย่างบางคนเปียแชร์ สมัยหลวงพ่อรับราชการ เขาชอบเล่นแชร์ หลวงพ่อไม่เล่นหรอกไม่รู้จะเล่นทำไม เขาเล่นแชร์กันแล้วก็พอเปียได้ หน้าใสอยู่หนึ่งวัน ถัดจากนั้นหน้าซีดคือส่งตลอด ไม่ได้เงินแล้วมีแต่เสียเงิน ความสุขนะแวบเดียวแล้วทุกข์อยู่ตั้งนาน เราไม่สนใจสุขอย่างนั้นหาสาระไม่ได้

 

“ความสุขอะไรไม่เท่าความสงบ
ความสงบก็คือพระนิพพานนั่นเอง”

 

เราภาวนาของเราทุกวันๆ มีความสุข เดินไปไหนก็มีแต่ความสุข ทำอะไรก็มีความสุข เดินไปทำงานมีความสุข หน้าตาก็ยิ้มแย้มแจ่มใสเบิกบาน ใครมาเข้าใกล้เราก็มีความสุขไปด้วย ถ้าใจเราร่มเย็น ความร่มเย็นมันก็แผ่ซ่านออกไป ค่อยๆ ฝึกตัวเองก็ได้รับความสุขในปัจจุบัน มีความสุขอยู่ในปัจจุบัน จะตายไปก็มีความสุข ในอนาคตอย่างที่บอกเมื่อกี้ นิมิตไม่ดีเกิดสติเกิดเลย จิตตั้งมั่นขึ้นมาเกิดนิมิตที่ดีขึ้นแทน ฉะนั้นเราภาวนาทุกวันๆ เรามีความสุขในปัจจุบัน มีความสุขในอนาคต และยิ่งถ้าเราภาวนาดีได้มรรคผลนิพพาน เราจะมีความสุขอันยิ่งใหญ่ ความสุขอะไรก็ไม่เท่าความสงบ ความสงบก็คือพระนิพพานนั่นเอง

 

จิตพ้นแรงดึงดูด

นิพพานมีลักษณะอย่างไร ถ้าตั้งคำถามบางคนว่านิพพานมีลักษณะอย่างไร นิพพานเป็นโลกๆ หนึ่ง มีปราสาทสวยงาม มีพระพุทธเจ้านั่งอยู่ข้างใน นิพพานอย่างนั้นนิพพานปลอม สิ่งที่เรียกว่านิพพานๆ มันมีสันติลักษณะ มันมีลักษณะสงบ สงบจากกิเลส สงบจากความปรุงแต่ง สงบ จากรูปธรรมนามธรรมทั้งหมด เป็นบรมสุข ค่อยๆ ฝึก แล้วเราจะเข้าใกล้ พระนิพพานไปเรื่อยๆ โลกมันก็พยายามต่อต้าน มันพยายามดึงดูดเราไม่ให้ไปนิพพาน ก็ต้องอดทนสู้กับมัน ค่อยๆ ต่อสู้ สะสมของเราทุกวันๆ เหมือนเขาปล่อยจรวด ไปดูเวลาเขายิงจรวด ตอนที่ติดเครื่องยนต์ ให้จรวดเขยิบตัว โอ้โห ขึ้นยาก พ่นไฟพ่นควันอะไรออกมาเยอะแยะเลย พอมันขึ้นไปแล้วมันก็วิ่งเร็วขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ พอออกนอกโลกไปแล้ว หมดแรงดึงดูด วิ่งเร็วจี๋เลย

การภาวนานี้ก็เหมือนกัน เริ่มต้นนี้อืดมากเลยกว่าจะสงบสักนิดหนึ่ง ก็ยาก ทำอะไรก็ยากไปหมดเลย พอฝึกมากเข้าๆ มันเหมือนจรวดที่ปล่อยไปช่วงหนึ่งแล้ว ลอยสูงขึ้นไปแล้วห่างโลกออกไปแล้ว มันยิ่งเร็วขึ้นๆ จิตนี้ ก็เหมือนกันมันยิ่งเบา ยิ่งสบาย ยิ่งโปร่ง เพราะใจมันไม่ยึดถือ มีความสุข ความยึดถือก็เป็นแรงดึงดูด ยึดถือโลกมันก็ดึงดูดอยู่กับโลกนี่ล่ะ ยึดถือในกามโลก โลกอย่างที่คนทั่วไปรู้จัก ก็ติดอยู่ตรงนี้ ล้มลุกคลุกคลานไปอย่างนั้น นึกว่ามีความสุขเสียเต็มประดาแล้ว ไปกินเหล้าเฮฮา มีความสุขเหลือเกิน

คนที่พัฒนาจิตใจแล้วสูงขึ้นมาจากตรงนั้น ก็เห็นว่ามันไม่มีสาระ ก็มีความสุขจากสมาธิแทน ความสุขจากความสงบระดับสมาธิ จนกระทั่งค่อยฝึกตัวเองต่อไปก็เห็นอีก ความสุขจากในสมาธิปัญญาหยั่งรู้ลงไปแล้ว มันก็ยังไม่ยั่งยืนอีกแล้ว ใจมันก็คลายคล้ายๆ ห่างโลกอันที่สอง ห่างโลกอันที่สามออกไป ในที่สุดก็พ้นโลก คำว่าพ้นโลกก็คือคำว่า โลกุตตระนั่นล่ะ ใจก็มีความสุข มีความสงบมากขึ้นๆ เป็นลำดับไป

พระโสดาบันเทียบกับคนในโลกนี้ เทียบกันไม่ได้เลย คนในโลกน่าสงสารมากเลย พอเป็นพระสกิทาคามีแล้วย้อนไปดูพระโสดาบัน พระโสดาบันก็น่าสงสารเหมือนกัน เป็นพระอนาคามีก็เห็นพระสกิทาคามี ก็ยังน่าสงสาร พอเป็นพระอรหันต์แล้วดูพระอนาคามี พระอนาคามีก็น่าสงสาร ยังเจือทุกข์อยู่ ยังเจือความปรุงแต่งอยู่ ยังไม่รู้ไม่เห็นปล่อยไม่ได้ เราค่อยๆ ฝึกจนกระทั่งวันหนึ่ง จิตเราหลุดพ้น หลุดพ้นจากอะไร จากโลก จากรูปธรรมนามธรรมทั้งหยาบ ทั้งละเอียด จิตมันพ้น มันมีความสุข มันมีความสงบอยู่ในตัวเอง เป็นความสุขความสงบที่ไม่ต้องไปเที่ยวหาที่ไหน อยู่ตรงไหนก็มีตรงนั้น

เคยอ่านหนังสือเจอบอก “พระอรหันต์อยู่ที่ไหน ที่ตรงนั้นเป็นที่สัปปายะ ที่ตรงนั้นร่มรื่น ถ้าคนมีกิเลสอยู่ตรงไหน ที่ตรงนั้นเดือดร้อนวุ่นวาย เร่าร้อน” อันนี้ในคัมภีร์มหายานเขาก็มี ในคัมภีร์มหายานเขาพูดถึงพุทธเกษตร พุทธเกษตรโลกของพุทธะ เรียกว่าโลกไปอย่างนั้นล่ะจริงๆ ไม่มีโลกหรอก สมมติให้มันเป็นรูปธรรมขึ้นมา เพื่อให้คนส่วนใหญ่เข้าใจง่าย เรียกพุทธเกษตรดินแดนของพระพุทธเจ้า บอกว่าสาวกของพระพุทธเจ้าก็บอก ทำไมพระพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้ พุทธเกษตรของท่านลุ่มๆ ดอนๆ สูงๆ ต่ำๆ เป็นเหว เป็นห้วย เป็นภูเขา ดูไม่ดีเลย เต็มไปด้วยสัตว์ที่แย่ๆ มากมาย ทำไมพุทธเกษตรของพระพุทธเจ้าบางองค์สบาย ราบเรียบ ไม่มีปุ่มปม ไม่มีอะไรวุ่นวาย สบาย บอกสาวกเห็นอย่างนี้ คิดว่าพระพุทธเจ้าของเราบารมีน้อย พุทธเกษตรของท่านไม่งาม นี้พวกพระโพธิสัตว์

ทางมหายานเขานับถือพระโพธิสัตว์ เขาจะดูถูกกระทั่งพระสารีบุตร พระสารีบุตรจะพูดอะไรโง่ๆ ตลอดเลยในคัมภีร์มหายาน พระโพธิสัตว์บอกว่า โอย นี่เข้าใจผิดแล้ว พุทธเกษตรของพระพุทธเจ้าเราก็เสมอกับพุทธเกษตรที่อื่นนั่นล่ะ มองไม่เห็นเอง พุทธเกษตรตัวนั้นคืออะไร คือมหาสุญญตา มหาสุญญตาที่พระพุทธเจ้ากี่พระองค์สัมผัสมันก็อันเดียวกัน เสมอกันหมด ไม่มีสูง ไม่มีต่ำ ไม่มีดำ ไม่มีขาวหรอก ไม่มีมืด ไม่มีสว่าง ฉะนั้นไม่ว่าพระพุทธเจ้าอยู่ตรงไหน หรือพระอรหันต์อยู่ตรงไหน ที่ตรงนั้นก็คือพุทธเกษตร ที่ตรงนั้นล่ะสัปปายะ ถ้าพูดภาษาของเรา

ฉะนั้นบางที่สมัยหลวงพ่อภาวนาใหม่ๆ เคยได้ยินครูบาอาจารย์ท่านเล่าว่า ท่านเที่ยวแสวงหาติดตามหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นหลบไปจากจังหวัดอุบลฯ แต่เดิมสอนอยู่ที่จังหวัดอุบลฯ แล้วท่านภาวนาไปถึงจุดหนึ่ง บอกว่า ท่านได้พระอนาคามีแล้วไปต่อไม่ได้เพราะภาระเยอะ ลูกศิษย์ลูกหาเยอะ ท่านเลยหนีออกธุดงค์ไปเลย พวกลูกศิษย์ภาวนาไปช่วงหนึ่ง ติดขัดขึ้นมาคิดถึงหลวงปู่มั่น เที่ยวแสวงหาเที่ยวตาม เดินตามไปเรื่อยๆ ไปอยู่ป่าอยู่เขา ลำบากอย่างไรก็ตามที่ตรงนั้นเป็นที่ร่มรื่น เป็นที่ๆ ผู้ปฏิบัติเข้าไปอยู่แล้วมีความสุข ทางร่างกายอาจจะอดๆ อยากๆ ไข้ป่าเยอะ ไม่สบาย แต่ทางจิตใจแล้วมันร่มเย็นเป็นสุข คล้ายๆ มีที่พึ่งที่อาศัย ฉะนั้นอย่างพระพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์ท่านอยู่ที่ไหน ที่นั่นร่มรื่น ทั้งๆ ที่เป็นแผ่นดินที่แห้งแล้ง กันดาร อดอยากอะไรก็ตามเถอะ แต่เข้าไปแล้วใจมันจะร่มรื่น

 

เราค่อยๆ ฝึกตัวเอง ธรรมะอันนี้ไม่ใช่เฉพาะของพระ ไม่ใช่เฉพาะของผู้ใดผู้หนึ่งหรอก พวกเราทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ขอเพียงเราอย่าหลงโลก แล้วตั้งอกตั้งใจภาวนาทุกวันๆ พอเราไม่หลงโลก เราภาวนาไปเรื่อยใจก็คลายออกจากโลกเป็นลำดับไป เราจะเข้าถึงความสงบสุข แล้วต่อไปไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนก็สงบสุขตรงนั้น แล้วใครเข้าใกล้เรา ไม่ว่าจะลำบากแค่ไหนก็สงบสุขด้วย เข้ามาใกล้ก็มีความสุข ค่อยๆ ฝึก เดี๋ยววันหนึ่งเราจะได้รู้จักความสุขที่แท้จริง รู้ความสุขของโลกไม่มีสาระ ความสุขของฌานสมาบัติก็ยังไม่มีสาระที่แท้จริง ความสุขจากการปล่อยวางรูปนามได้ ปล่อยวางโลกได้ เป็นความสุขที่มีสาระแก่นสาร เรายังไม่ถึงจุดนั้น เราภาวนาทุกวันๆ เราก็มีความสุขในปัจจุบัน ถ้าจะตายเราก็มีความสุข ไปเกิดในที่ๆ ดี ถ้าบุญบารมีเราพอ เราก็บรรลุมรรคผลนิพพาน โดยเฉพาะถึงพระนิพพานในชีวิตนี้ เป็นบรมสุข ฉะนั้นเส้นทางเดินนี้เต็มไปด้วยความสุข แต่ก็เต็มไปด้วยขวากหนาม คือกิเลสทั้งหลายของเรา พยายามต่อสู้เอา.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
8 มกราคม 2565