ภาวนาตั้งแต่ตื่นจนหลับ

การภาวนา ถ้าอยากดีจริงๆ ให้พ้นทุกข์จริงๆ ต้องเด็ดเดี่ยว ปฏิบัติสม่ำเสมอ แล้วใช้ความสังเกต ใช้ความฉลาด การรู้เท่าทัน ที่ปฏิบัติอยู่มันถูกหรือไม่ถูกสังเกตเอา ประเภทถึงเวลาก็มาฟังเทศน์ ตกค่ำก็เปิดซีดี กลางวันจิตหนีไปตลอดไม่รู้ไม่เห็น มันไม่ได้ผลหรอก อยากได้ผลจริงๆ ภาวนาให้มันต่อเนื่อง ต่อเนื่องไม่ได้แปลว่าภาวนาทุกวัน ต่อเนื่องหมายถึงภาวนาทั้งวันเท่าที่ทำได้ ไม่ใช่แค่ทุกวัน อยากได้ผลจริงๆ ต้องทำทั้งวัน ยกเว้นเวลาที่เราต้องทำงานที่ใช้ความคิด เวลานอกนั้นภาวนาได้ทั้งนั้น ฉะนั้นบางคนเขาฝึกไม่กี่ปีเขาได้ผลแล้ว บางคนฝึก 10 ปี 20 ปี 30 ปีไม่ได้ผล นับจำนวนปีแค่นั้นไม่พอหรอก แต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปี เวลาส่วนใหญ่คือหลง แล้วมาทำตามพิธีการในรูปแบบวันละเท่านั้นเท่านี้ เวลาที่เหลือทิ้งไปตามกิเลสตามโลกไป

ฉะนั้นเราไม่มีทางจะถอนตัวออกจากกระแสของโลก กระแสของกิเลสได้เลย ถ้าเรามุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวจริงๆ เพื่อจะพ้นทุกข์จริงๆ ตั้งแต่ตื่นขึ้นมารู้สึกกายรู้สึกใจไปเลย ถ้าเรารู้สึกช้าก็มารู้สึกที่กาย เช่นกายเราอยู่ในอิริยาบถอะไร ตอนที่ตื่นนอนในท่าทางอย่างไร เช่น นอนยกแขน นอนกางขา นอนตะแคงซ้าย ตะแคงขวา ตอนตื่นนี้รีบรู้สึกเลย ถ้ารู้ละเอียดกว่านั้นอีก มันจะรู้เลยตอนตื่นนี่หายใจออกหรือหายใจเข้า จะรู้ ถ้าใจเราฝักใฝ่ในการภาวนาจริงๆ มันดูง่ายๆ เลย ตื่นนอนมาก็ภาวนาเลย อันนั้นแสดงว่าเคยชินที่จะภาวนาแล้ว ใจจดจ่อ ใส่ใจที่จะภาวนา ตื่นขึ้นมานอนอย่างไรก็รู้เลย อันนี้ยังถือว่าช้านะ ละเอียดขึ้นมาก็คือตอนที่ตื่นหายใจออก หรือหายใจเข้ารู้สึกเลย ถ้าละเอียดกว่านั้นจะเห็นตั้งแต่จิตมันตื่น จิตมันขึ้นจากภวังค์มันผุดขึ้นมา เป็นความรับรู้ สติทำงานตั้งแต่จิตขึ้นจากภวังค์ขึ้นมาปุ๊บเลย สติรู้สึกแล้ว อันนั้นเร็ว

 

“การภาวนา ค่อยๆ ทำทุกๆ กิจกรรมที่เราไม่ต้องใช้ความคิด ไม่ต้องระมัดระวัง
คอยรู้สึกๆ ไปทั้งวัน มันภาวนาได้ทั้งวัน”

 

ถ้าประเภทตื่นมา ก็ยังนอนกลิ้งไปกลิ้งมาบิดไปบิดมา เดี๋ยวค่ำๆ จะไปภาวนาตอนนี้ยังไม่ใช่เวลาภาวนา เป็นเวลาบิดขี้เกียจอะไรอย่างนี้ ไม่ได้ กินหรอก วันๆ อยู่กับความหลงมากกว่าอยู่กับความรู้สึกตัว ตื่นขึ้นมาไปเข้าห้องน้ำขับถ่าย ดูกายดูใจไปเลย ขับถ่ายได้สบายสะดวก ดีใจรู้ว่าดีใจ ขับถ่ายไม่สะดวก รู้สึกอึดอัด กลุ้มใจ กังวล เดี๋ยวจะต้องขึ้นรถไปทำงาน จะไปปวดท้องกลางทางหรือเปล่า อ่านใจได้เลยแค่เรื่องขับถ่ายก็ภาวนาได้

เมื่อก่อนได้ยินเรื่อยๆ คนชอบสอนกัน เวลาเข้าห้องน้ำไม่ต้องภาวนาเดี๋ยวบาป ไม่บาปหรอก มีสติจิตเป็นกุศลอยู่แล้ว มันจะเป็นบาปได้อย่างไร แล้วขาดสตินั่นล่ะมันถึงจะบาปได้ มีสติมันไม่บาปหรอก จะกินข้าวก็มีสติไป เริ่มแต่ตามองเห็น หรือจมูกได้กลิ่น ได้กลิ่นอาหาร กลิ่นนี้ชอบ กลิ่นนี้ไม่ชอบ ใจเรารู้สึกอย่างไร รู้ทันไป กินอาหาร อาหารเข้าปากแล้วรสอย่างนี้ อาหารที่เราชอบแท้ๆ เลย แต่ว่าแม่ครัวคนนี้ทำไม่เอาไหนเลย ไม่อร่อยเลย ทีแรกได้กลิ่นอาหารที่เราชอบ ดีใจ พอลิ้นกระทบรสเท่านั้นโมโหเลย มันไม่อร่อยเลย มาทำมาหากินด้วยการทำครัวได้อย่างไร แค่นี้ก็ทำไม่เป็น อ่านไปเลย อ่านใจตัวเองไป

จะทำอะไรก็คอยรู้สึกกาย คอยรู้สึกใจไป จะแต่งเนื้อแต่งตัว รู้สึก ออกจากบ้านจะไปขึ้นรถไฟ ขึ้นรถเมล์ หรือจะขับรถเอง คอยรู้สึกไป ถ้าขึ้นรถที่ขับเอง อันนี้อย่าไปเข้าฌาน อย่าไปเข้าสมาธิ พยายามรู้สึกตัวไว้อย่าใจลอย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คอยระแวดระวังออกไปข้างนอก ดู จะไปชนใครเขาหรือเปล่า หรือใครเขาจะมาชนหรือเปล่า พอรถติดรถไม่ได้วิ่งแล้ว รถติดตอนนี้อ่านใจตัวเองได้แล้ว รถติดนานหงุดหงิดรู้ว่าหงุดหงิด ภาวนาไม่เว้นวรรคเว้นตอน ภาวนาไป วันนี้รถไม่ติดดีใจรู้ไป เวลาขับรถก็ตั้งใจขับรถไม่ให้จิตรวม เคยมีลูกศิษย์บางคนขับรถ ได้ยินหลวงพ่อบอกตอนขับรถให้มีสติไว้ คอยดูโลกข้างนอกไว้ อย่าหลงทำสมาธิรวมเข้ามาข้างใน เอาไว้รถจอดแล้วค่อยภาวนาดูจิตดูใจ รายนี้มันไปดูอีท่าไหน หลับไปเลย หลับอยู่กลางสี่แยกติดไฟแดงอยู่ หลับอยู่อย่างนั้น รถคันหลังก็บีบแตรก็ไม่ตื่น จิตรวมลึกเหลือเกิน ทำผิดหน้าที่ ตอนที่ต้องยุ่งข้างนอก ต้องพยายามรู้สึกตัวไว้ อย่าให้จิตรวมลึกลงไป

 

ฝึกแทรกการปฏิบัติเข้าในกิจกรรมต่างๆ

การภาวนา ค่อยๆ ทำทุกๆ กิจกรรมที่เราไม่ต้องใช้ความคิด ไม่ต้องระมัดระวังอะไรอย่างนี้ คอยรู้สึกๆ ไป ทั้งวันมันภาวนาได้ทั้งวัน อย่างไปถึงที่ทำงานเปิดคอมพิวเตอร์ ระหว่างนี้ก็จิบกาแฟ มีความสุขรู้ว่ามีความสุขไป คิดถึงงานแล้วเครียดรู้ว่าเครียด พอรู้ว่าเครียดใจจะเป็นกลาง สังเกตดูใจไม่เป็นกลางให้รู้ทัน ถ้าเครียดแล้วใจเป็นกลาง ดีนะอันนั้น ใจเป็นกลางความเครียดมันจะหายไป ก็เหลือความรู้สึกตัว สติ สมาธิ ปัญญา จดจ่อกับการทำงานไป ทำแล้วเบื่อ ทำแล้วเหนื่อย ทำแล้วหงุดหงิด รู้ทัน

ฝึกแทรกการปฏิบัติเข้าในกิจกรรมต่างๆ มากที่สุดที่จะทำได้ ตกเย็นเลิกงานแล้วหรือค่ำๆ บางคนเลิกงานค่ำๆ กลับบ้าน ไม่ต้องไปเที่ยวผับเที่ยวบาร์ที่ไหนหรอก สิ่งเหล่านั้นพระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าอบายมุข เราลูกศิษย์พระพุทธเจ้าเราก็ไม่ไป คนที่เขาไม่ใช่ลูกศิษย์พระพุทธเจ้าเขาก็ไป ก็เรื่องของเขา กรรมใครกรรมมัน เราหมดธุระอะไรเราก็กลับบ้าน อาบน้ำ พักผ่อนนิดหน่อยพอให้หายเหนื่อย หายเครียด ก็ภาวนา นั่งสมาธิ เดินจงกรมไป วันหนึ่งๆ เราภาวนามาตั้งแต่ตื่นนอนเลย แล้วก็แทรกการภาวนาเข้าไปในการใช้ชีวิตประจำวันนี้ล่ะ อย่างหลวงพ่อก็ทำแบบนั้น ประมาณชั่วโมงหนึ่ง หรือชั่วโมงกว่าๆ ถ้างานมันไม่รีบ หลวงพ่อก็ลุกเดินไปห้องน้ำ เดินไปที่อื่นมันดูผิดสังเกตไป เดินไปห้องน้ำ เห็นร่างกายมันทำงานไป ร่างกายมันเดินไป จิตใจเราเป็นอย่างไร เราคอยรู้ไป

หลวงพ่อแทรกการปฏิบัติลงไปในชีวิตจริงๆ ชั่วโมงหนึ่งแทรกเข้ามาได้ 5 นาที 12 ชั่วโมงเท่ากับเราภาวนาไปแล้ว 1 ชั่วโมง 5 นาทีคูณ 12 ได้ 60 แล้ว ฉะนั้นไม่ใช่น้อยหรอก วันๆ หนึ่งเอาเวลาไปทิ้งเยอะแยะเลย แล้วบอกภาวนามาหลายปีแล้วไม่ได้ผล จริงๆ ภาวนาน้อยมากเลย ถ้าเราแทรกการปฏิบัติเข้าไปในการดำรงชีวิตได้ การภาวนาของเราเยอะแยะเลยวันๆ หนึ่ง คำว่าไม่มีเวลาภาวนาจะไม่มีหรอก หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยบอก “ถ้ามีเวลาหายใจ ก็มีเวลาปฏิบัติ” ถ้าไม่ได้หายใจแล้ว ตายไปแล้วก็ไม่ได้ปฏิบัติ ที่บอกว่าไม่มีเวลาปฏิบัตินั่นมันข้ออ้าง ถ้าเรารวมการปฏิบัติเข้ากับการใช้ชีวิตจริงได้ มีเวลาตลอดเลย อย่างถ้าเราขึ้นรถเมล์อะไรอย่างนั้น ขึ้นรถเมล์เราไม่ต้องขับเอง ไม่ต้องระวังอะไรมาก ระวังคนล้วงกระเป๋าเท่านั้นล่ะ เราหายใจไปพุทโธไป ได้ปฏิบัติ ช่วงไหนจิตวุ่นวาย จิตเหน็ดเหนื่อย ก็ทำสมถะได้เพราะเราไม่ต้องขับรถเอง ช่วงไหนจิตมีกำลังแล้วก็เดินปัญญาไป เห็นจิตกระทบอารมณ์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์แล้ว จิตมันหวั่นไหวเปลี่ยนแปลงขึ้นมา มีสติรู้ไป

ตั้งแต่ตื่นนอนภาวนาไปเรื่อย จนกลับมาบ้าน นั่งสมาธิ เดินจงกรม อย่าเอาแต่หลงโลก ถึงเวลานอนก็นอนอยู่ในสมาธิ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธอะไรก็ได้ ดูร่างกายมันนอน ดูร่างกายมันหายใจ ใจเราเป็นคนดูสบายๆ ไปเรื่อยๆ หลับเมื่อไรก็เมื่อนั้น แต่ถ้าเราไม่ชำนาญ จิตมันเป็นสมาธิขึ้นมามันสว่างขึ้นมา บางทีไม่ได้นอนทั้งคืนเลย คืนเดียวไม่เป็นไร หลายๆ คืนร่างกายก็ทรุดโทรมได้เหมือนกัน ก็ต้องรู้จักผ่อนสมาธิ เวลาเราจะนอน เราภาวนามาช่วงหนึ่งแล้ว นอน นั่งภาวนา หรือเดินจงกรมมาพอสมควรแล้ว ลงมานอนแล้วให้นอนภาวนา แล้วถ้าจิตมันสว่างขึ้นมาไม่ยอมหลับ ต้องรู้จักคลายสมาธิออก คลายสมาธิทำใจให้สบาย วางอารมณ์กรรมฐานตัวนั้นไปก่อน อย่างเรารู้ลมเราก็วางลมไป จิตมันสว่าง สงบ สบายอยู่ ไม่ดึง ไม่รั้งเอาไว้ ไม่ควบคุมเอาไว้ แป๊บเดียวก็หลับแล้ว แต่ถ้าเราคุมเข้ม สติเข้มแข็งจดจ่ออยู่ที่จิตนี้ไม่หลับหรอก สมควรจะหลับก็คลายออกแล้วก็หลับไป ยังไม่สมควรจะหลับยังมีเรี่ยวมีแรงภาวนาอยู่ ก็นอนภาวนา ก็ยืนเดินนั่งมาทั้งวันแล้ว เหนื่อยแล้ว เมื่อยแล้ว เปลี่ยนมาใช้อิริยาบถนอน จนกระทั่งหลับ

ถ้าเราภาวนาอย่างนี้ ตอนที่เราตื่น เราจะรู้ทันทีเลยที่ตื่น เพราะตอนหลับเราภาวนาจนหลับไป ใจสงบ ใจสบาย หลับปุ๊บไป ตอนตื่นดูท่าทางเราเป็นอย่างไร รู้สึกไป หรือหายใจออก หายใจเข้ารู้สึกเลย ถ้าสติเร็วจริงๆ เห็นจิตเคลื่อนขึ้นจากภวังค์เลย ถ้าเราทำอย่างนี้ได้เท่ากับเราภาวนาได้ 24 ชั่วโมงต่อเนื่องไป ตอนหลับก็ได้พักผ่อนจริงๆ ถ้าเราทรงสมาธิแล้วเราหลับ เราหลับไม่นานหรอก มันจะพอ ถ้าพอแล้วเรายังขี้เกียจ คือไม่ตื่นขึ้นมามันจะฝัน บางทีในฝัน ถ้าภาวนาชำนาญฝันขึ้นมาเรามีสติรู้ วางออกไป ใจสว่าง พักอยู่ในความสว่าง พอสมควรแล้วคลายจิตออก หลับลงภวังค์อีก

 

ถ้ามีเวลาหายใจ ก็มีเวลาภาวนา

ฝึกตัวเองทุกวันๆ จนมันชำนิชำนาญ สติเมื่อชำนาญอัตโนมัติ สมาธิก็ชำนาญ จะใช้สมาธิเพื่อกิจการอะไรก็ใช้ได้ เอาสมาธิไปทำงานก็จดจ่อในการทำงานได้ ไม่ได้ขี้เกียจทำงานไปตรอมใจไปอะไรนี้ไม่ใช่ มีความสุขในการทำงานอยู่ งานของเราก็จะดีด้วย สติจดจ่อ สมาธิจดจ่อ เวลาทำอย่างอื่นก็ใช้สติ ใช้สมาธิให้สมควร ภาวนาไปเรื่อยๆ กวาดบ้าน ถูบ้าน เห็นกายมันทำงาน เห็นใจมันทำงานไป รู้สึกอย่างนี้เรื่อยๆ เราจะไม่บ่นหรอกว่าเราไม่มีเวลาภาวนา พวกที่บ่นว่าไม่มีเวลาภาวนาคือพวกไม่ภาวนา หลวงปู่ดูลย์ถึงพูด “ถ้ามีเวลาหายใจ ก็มีเวลาภาวนา” หายใจด้วยความรู้สึกตัว มันก็ภาวนาเรียบร้อยแล้ว รู้สึกไปเรื่อยๆ ทุกลมหายใจเข้าออก หายใจเข้ามา หายใจออกไป ชีวิตก็หมดไปส่วนหนึ่งแล้ว ใกล้ความตายไปส่วนหนึ่งแล้วตลอดเวลา

ภาวนาลึกลับซับซ้อนแบบคนอื่นไม่เป็น แค่หายใจก็ใช้ได้แล้ว หายใจเป็น หายใจไปแล้วก็รู้สึกไป ชีวิตเราสั้นลงๆ เรื่อยๆ แล้วอะไรอย่างนี้ อันนี้เรียกว่าเราเจริญมรณสติไปเรื่อยๆ เห็นร่างกายนี้ไม่มีสาระแก่นสารอะไร ไม่นานก็แตกสลาย ตรงนี้เป็นการเจริญปัญญาแล้ว เฝ้ารู้เฝ้าดูไป แค่นี้ก็ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ กรรมฐานเยอะแยะไปหมด ทำอะไรไม่ได้ก็คิดถึงลมหายใจ ชีวิตเราอยู่ที่ลมนี่เอง ลมหยุดก็ตาย ดูอย่างนี้ก็ได้ รู้สึกไปอย่างนี้ก็ได้ หรือเห็นว่าชีวิตนี้หมดไปสิ้นไป ทุกลมหายใจเข้าออกก็ได้

พระพุทธเจ้าท่านเคยตั้งโจทย์ถามพวกพระทั้งหลายว่า “วันหนึ่งๆ คิดถึงความตายกี่ครั้ง” บางองค์ก็บอกว่า คิดถึงหนึ่งครั้งตอนก่อนจะนอน ท่านบอกประมาท บางองค์ก็คิดหลายครั้งเจ็ดครั้ง สิบครั้ง พระพุทธเจ้าว่าประมาทหมดเลย แล้วท่านบอก ท่านเห็นความตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ตอนหลวงพ่อยังไม่เจอหลวงปู่ หลวงพ่ออ่านพระไตรปิฎกเจอตรงนี้หลวงพ่องง ไม่คิดว่าท่านหลอกหรอก แต่ถ้าท่านเห็นความตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ท่านไม่ต้องทำอย่างอื่นเลยหรือ ทำไมงานท่านก็เยอะแยะ ค่อยภาวนาแล้วเราจะรู้เลยว่า เราตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกจริงๆ เวลาทำงานอื่นๆ ก็ทำไป มีเวลาปุ๊บเราก็เห็นเลย ร่างกายกำลังตายทุกลมหายใจเข้าออก รู้สึกๆ ไป วันหนึ่งได้ร้อยครั้ง พันครั้ง หมื่นครั้ง จะถี่ขึ้นเรื่อยๆ

อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านบอกท่านเห็นความตาย ท่านคิดถึงความตายทุกขณะจิตเลย อันนั้นท่านภาวนาเสร็จแล้ว จบแล้ว จิตท่านอยู่กับธรรมธาตุล้วนๆ มองลงมาที่ขันธ์ จะขันธ์ภายใน หรือขันธ์ของเจ้าชายสิทธัตถะ หรือขันธ์ของคนอื่นของสัตว์อื่น ก็เห็นความตายเกิดขึ้นตลอดเวลา ในขันธ์ของเจ้าชายสิทธัตถะก็มีความตายอยู่ตลอดเวลา จิตที่มันทรงธรรมเต็มที่ก็เห็นธรรมอยู่อย่างนั้น ถ้าพวกเรายังไม่ถึงตรงนั้น เราก็ดูได้ร้อยครั้ง พันครั้ง หมื่นครั้ง หายใจไปแล้วก็รู้สึกไป ชีวิตนี้หมดไปสิ้นไปทุกลมหายใจเข้าออก เราจะไม่ประมาทหรอก คนประมาทคือคนที่ไม่คิดว่าจะตายเร็ว คิดแต่ว่าความตายยังอยู่ไกลตัวเอง

 

อาศัยโยนิโสมนสิการกำกับ ไปได้เร็ว

ค่อยๆ ฝึก ภาวนา บางคนมีศรัทธาขยันภาวนา มีศรัทธา มีวิริยะ แต่มันไม่มีปัญญา ครูบาอาจารย์บางองค์ท่านบอกมัน “ไม่มีหัว” ก็มันไม่มีปัญญา พิจารณาที่ทำอยู่ตรงนี้ เป็นไปเพื่อลดละกิเลสไหม หรือเป็นไปเพื่อสะสมกิเลส กระทั่งนั่งสมาธิ เดินจงกรม บางคนไม่ได้ทำเพื่อลดละกิเลสหรอก บางคนทำเพื่อพอกพูนกิเลส หรือตอบสนองกิเลส นั่งสมาธิมากก็ภูมิใจกูเป็นคนดี คนอื่นเป็นคนเลว กูดีอะไรอย่างนี้ อย่างนี้เรียกนั่งพอกพูนกิเลส ไม่ฉลาดในการปฏิบัติ ถ้าเราฉลาดในการปฏิบัติ การภาวนาเราจะไม่ยาวหรอก ฉะนั้นถ้าเราเดินโดยมีปัญญาประกอบ ภาวนา เดินหมายถึงการเจริญ ถ้าเราเจริญสติ เจริญปัญญาไป มีปัญญาประกอบอยู่มันจะได้ผลเร็ว

บางคนภาวนาไม่ได้ผลเลย เพราะภาวนาแบบศรัทธางมงาย ภาวนาไปสนองกิเลสเลย ทำไปด้วยความงมงาย ความงมงายมันกิเลส เพราะฉะนั้นทำไปด้วยกิเลสไม่ได้อะไรขึ้นมา ก็ได้กิเลสนั่นล่ะ ได้ทุกข์ บางคนมีหัว ฉลาด ภาวนาอยู่จิตสว่างว่างขึ้นมายินดีพอใจ โอ้ ตรงนี้ดี อาศัยความสังเกต อาศัยโยนิโสมนสิการ เรียกว่ามีหัว มีปัญญา มีโยนิโสมนสิการ ตรงนี้เราไปติดความว่างแล้ว ติดความสว่าง ติดโอภาส ติดความว่าง อากาศ โอภาสคือความสว่าง อากาศคือช่องว่าง เราไปติดอยู่ตรงนี้ก็ใช้อะไรไม่ได้ สบายอย่างเดียวแต่โง่ๆ อยู่อย่างนั้น มีโยนิโสมนสิการกำกับ สังเกตไปนี่เรียกว่าเรามีหัวในการปฏิบัติ ไม่มีโยนิโสมนสิการ ทำตะบี้ตะบันไป ลำบาก เหนื่อย พอไปได้ไหม ไปได้แต่ช้าหน่อย ถ้ามีโยนิโสมนสิการกำกับอยู่ไปได้เร็ว

 

“โยนิโสมนสิการไม่ได้แปลว่าฟุ้งซ่าน ไม่ใช่คิดพิจารณา ไม่ใช่
มันแค่คอยสังเกตสิ่งที่มี ที่เป็น ที่ทำอยู่นี่ มันเป็นไปเพื่อการลดละกิเลส เพื่อเจริญกุศลหรือเปล่า”

 

แต่โยนิโสมนสิการไม่ได้แปลว่าฟุ้งซ่าน ไม่ใช่คิดพิจารณา ไม่ใช่ มันแค่คอยสังเกตสิ่งที่มี ที่เป็น ที่ทำอยู่นี่ มันเป็นไปเพื่อการลดละกิเลส เพื่อเจริญกุศลหรือเปล่า สังเกตตัวเองไป หรืออย่างบางคนตั้งปณิธาน พรรษานี้จะทำอย่างโน้นอย่างนี้ บังคับตัวเองมากมาย ถ้าสังเกตดู มีโยนิโสมนสิการก็สังเกต ทำไปเพื่ออะไร อย่างบางคนเป็นพระ ในพรรษานี้สมาทานธุดงค์ข้อนั้นข้อนี้ ถ้าโยนิโสมนสิการแล้วก็รู้ว่าทำไปเพื่อฝึกตัวเอง ฝึกจิตใจให้มันไม่ติดในกาม อย่างนี้เรียกว่าทำโดยรู้วัตถุประสงค์ อย่างนี้ทำ ฉลาดนะ ทำแล้วรู้เหตุรู้ผล อย่างนี้เรียกว่ามีโยนิโสมนสิการ ทำแล้วคงจะดีน่าเห็นพระพุทธเจ้าก็ว่าดี พระมหากัสสปะก็ว่าดี ครูบาอาจารย์ก็ว่าดี ทำไปแล้วเราจะได้ดีบ้าง นี่โลภแล้วไม่ได้ดีเท่าไรหรอก แต่ทนไปเรื่อยๆ วันหนึ่งปิ๊งขึ้นมา ฉลาดขึ้นมาก็เป็นได้เหมือนกัน

ฉะนั้นเราภาวนาตั้งแต่ตื่นจนหลับ มีโยนิโสมนสิการกำกับตัวเองไว้ ทำนี้เป็นไปเพื่อลดละกิเลส เพื่อเจริญกุศลหรือเปล่า สิ่งที่เรียกว่ากุศลคืออโลภะ อโทสะ อโมหะ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง นั่นล่ะคือตัวกุศล ตัวอกุศลก็คือตัวโลภ โกรธ หลง ฉะนั้นเราดูสิ่งที่เราทำเป็นไปเพื่อความโลภ โกรธ หลง หรือเพื่อความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ถ้าใจเรามันโลภมาก บางทีก็ต้องมีอุบายช่วย ลำพังเจริญสติ เจริญปัญญาดู บางทีสู้ไม่ไหว ใจมันโลภมาก ก็ฝึกตัวเอง ฝึกอย่างไร ฝึกด้วยการทำทาน มันหวงนักหรือ หวงก็สละ ฝึกตัวเองให้รู้จักสละ ก็ค่อยๆ ดีขึ้น ค่อยๆ พัฒนาขึ้น ความตระหนี่หวงแหนอะไรมันค่อยๆ ลดลง อกุศลลดลง

ทีแรกอย่างเราให้เสื้อผ้า ให้อาหารคนยากคนจน ทีแรกอาจจะเจือกิเลส ให้แล้วเพื่อเราจะได้บุญเยอะๆ ชาติหน้าเราจะได้รวย อันนี้เจืออกุศล พอเราให้แล้วเรารู้สึก ตลอดเวลาที่เราให้เรามีความสุข มันเป็นบุญ บุญนั้นนำความสุขมาให้ แล้วเราก็เห็นคนที่ได้รับเขาก็มีความสุข ใจมันเริ่มอิ่มเริ่มเต็ม ไม่ใช่ทำแล้วเพื่อตัวเองจะได้รวย จะได้อย่างโน้นอย่างนี้ แต่เราทำความดีไปแล้ว เราพบว่าสิ่งตอบแทนที่เราได้ทันทีคือความสุข แล้วคนที่ได้รับความช่วยเหลือจากเรา เขาก็ได้ความสุข เราดูใจเราค่อยๆ อิ่ม ต่อไปไม่ได้ทำเพราะโลภแล้ว รู้สึกว่านี้เป็นสิ่งที่ควรทำ ทำแล้วตัวเองก็มีความสุข คนอื่นก็มีความสุข ไม่ใช่ทำเพื่อกูจะดี กูจะเด่น กูจะเหนือคนอื่น กูจะรวยกว่าคนอื่น ใจมันจะค่อยๆ พัฒนา

ทีแรกเริ่มจากกิเลสก่อนไม่เป็นไรหรอก ทำไปเรื่อยๆๆ แล้วค่อยสังเกตดู เวลาทำความดีมันจะมีความสุข อย่างพวกเราบางทีไปปล่อยปลา รู้สึกไหมตอนเราปล่อยปลาเรามีความสุข แต่พวกหนึ่งมันไปตกปลา มันจับปลาได้มันก็มีความสุข แต่ปลาไม่มีความสุข แต่เราปล่อยปลาเราก็มีความสุข ปลาก็มีความสุข คนขายปลาก็มีความสุข ความสุขเผื่อแผ่ทั่วๆ กัน เราค่อยๆ สังเกตไป ใจมันจะค่อยร่ม ค่อยเย็น มีความสุข มันค่อยๆ ลดละความโลภลงไป ความเห็นแก่ตัวก็ลดลง อกุศลลดลงกุศลก็เจริญขึ้น หรืออย่าง ขี้โมโห ขี้โมโห เราก็หัดมองคนอื่นด้วยความเมตตาบ้าง เข้าใจเขาบ้าง ใจเราก็เกิดความเมตตาขึ้นมาแทนที่โทสะ

อย่างดูประวัติครูบาอาจารย์หลายองค์ พื้นจิตท่านเป็นคนขี้โมโห โทสะแรง พอท่านภาวนาจนจบ ท่านเมตตาแรงมากเลย แรงกว่าคนทั่วๆ ไป หรือพระทั่วๆ ไปที่ฝึกมาธรรมดาๆ เสียอีก ทั้งๆ ที่พื้นเดิมโทสะทั้งนั้นเลย พลิกจากอกุศลสุดโต่งข้างอกุศล โทสะอย่างรุนแรง พลิกกลับมาเป็นกุศล คือเมตตาอย่างรุนแรงเลย กระแสเมตตาของท่านกว้างขวาง แค่คิดถึงท่านเราก็ร่มเย็นขึ้นมาแล้ว มีครูบาอาจารย์หลายองค์ที่เป็นอย่างนั้น ท่านอยู่กับเมตตา เมตตาของท่านไม่ใช่เมตตาพรหมวิหารแล้ว เป็นระดับเมตตาอัปปมัญญา

เมตตาพรหมวิหารอย่างพ่อแม่เมตตาลูก คือเมตตาแบบจำกัดกลุ่มเป้าหมาย เมตตาเฉพาะลูกเรา แต่เมตตาอัปปมัญญา เมตตาไม่มีประมาณ ไม่จำกัดกลุ่มเป้าหมาย เมตตาไปทั่วถึงทุกสรรพสัตว์ เมตตากระทั่งศัตรู คนที่เราเคยเกลียด เคยอะไร ถึงจุดหนึ่งก็เมตตาขึ้นมาแทน น่าสงสารจังเลยทำไมเป็นอย่างนี้ แล้วตัวหนึ่งที่เมตตาด้วยคือตัวนี้ บางคนเมตตาตัวอื่นหมดเลย ลืมเมตตาตัวเอง ตัวนี้ก็สัตว์ตัวหนึ่งเหมือนกัน ความเมตตามันจะทั่วถึง

 

วางใจเสียใหม่ ว่าเราจะภาวนาตั้งแต่ตื่นจนหลับ

พยายามฝึกตัวเองทุกวันๆ ตั้งแต่ตื่น ฝึกอยู่ในศีลในธรรมไปเรื่อยๆ จนถึงนอนหลับ วันหนึ่งๆ เราจะไม่บ่นเลยว่าไม่มีเวลาภาวนา เราภาวนาแทบทั้งวันเลย มีงานวิจัยอันหนึ่งนานมาก เดี๋ยวนี้ตัวเลขนี้ข้อมูลนี้อาจจะ ใช้ไม่ได้แล้ว บอกวันหนึ่งๆ คนที่บอกว่าทำงานวันละ 8 – 10 ชั่วโมง ทำงานจริงๆ ที่ใช้สมองจริงๆ 4 ชั่วโมงครึ่งประมาณนั้น เวลาที่เหลือเอาไว้ฟุ้งซ่าน ไม่ได้ทำงานหรอก ฉะนั้นสมมติตั้งแต่เราตื่นจนเราหลับกี่ชั่วโมง สมมติเราหลับ 8 ชั่วโมง มีเวลาที่ตื่นอยู่เท่าไร 16 ชั่วโมง 16 ชั่วโมงนี้เอาไว้ทำงานจริงๆ 4 – 4 ชั่วโมงครึ่ง เหลือเท่าไร ตรงนั้นล่ะเอาไปภาวนาได้ 10 กว่าชั่วโมง เราจะไม่พูดหรอกไม่มีเวลาภาวนา แล้วเราจะไม่บ่นว่า ทำไมคนโน้นเขาภาวนาเร็ว เราภาวนาตั้งหลายปีสู้เขาไม่ได้ ภาวนาหลายปี วันหนึ่งทำตอนก่อนนอนครึ่งชั่วโมง เวลาที่เหลือเอาไว้หลง ในขณะที่อีกคนหนึ่งภาวนาวันหนึ่งตั้ง 10 กว่าชั่วโมง จะไปสู้กันได้อย่างไร ฉะนั้นใครเขาเร็ว ไม่ต้องไปอิจฉาใครเลย

คนที่เขาภาวนาได้เร็วด้วยเหตุผล 2 อย่าง หนึ่ง เขาเคยทำมาแล้ว คล้ายๆ น้ำมันจะเต็มแจกัน ใส่น้ำลงไปมันจะเต็มอยู่แล้ว เติมนิดหน่อยมันก็เต็มแล้ว กับคนซึ่งมันไม่เคยฝึก มันต้องเริ่มต้นนับหนึ่งเลย ต้องสะสม ฉะนั้นบุญเก่า ปุพเพกตปุญญตา มีบุญเก่าอยู่ช่วยให้เราภาวนาได้เร็ว อีกอันหนึ่งคือกรรมใหม่ของเรา ภาวนาวันหนึ่งๆ ภาวนาถูกหรือผิดนี่ตัวแรกเลย อันที่สอง ถ้าภาวนาถูก ภาวนาแค่ไหน ภาวนานิดๆ หน่อยๆ จะไปได้ผลอะไรนักหนา วันหนึ่งตามใจกิเลสเสีย 15 ชั่วโมงแล้ว ภาวนาครึ่งชั่วโมง ไม่ได้อะไรหรอก แต่ก็ดีกว่าไม่ทำเลย เรียกว่าทำพอเป็นนิสัย ผ่านพระพุทธเจ้าไปอีกหลายๆ องค์เลย ก็อินทรีย์แก่กล้ากว่านี้ ก็ภาวนาง่ายขึ้นๆ

เพราะฉะนั้นตั้งใจเสียใหม่ วางใจเสียใหม่ ว่าเราจะภาวนาตั้งแต่ตื่นจนหลับ ตอนไหนที่ไม่ต้องใช้ความคิดในการทำงาน ไม่ต้องคิด ตอนนั้นภาวนาไว้ อยู่กับเครื่องอยู่ของเราไป เช่น หายใจออก หายใจเข้ารู้สึกตัวไป หรือรู้สึกถึงความตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าเราก็ตายไปทีหนึ่งแล้ว หายใจออกเราก็ตายเพิ่มขึ้น ค่อยๆ ตายๆๆ ไปเรื่อยๆ พิจารณาอย่างนี้ ใจจะมีกำลังออกจากโลก คนที่มันวุ่นวายอยู่กับโลก หลงโลก แย่งชิงทุกสิ่งทุกอย่างในโลก เพราะมันไม่เคยพิจารณาความตาย ถ้ารู้ว่าไม่นานมันจะตาย จะมาแย่งอะไรกันนักหนาในโลก แย่งทรัพย์สินเงินทอง แย่งอำนาจ แย่งชื่อเสียงอะไรต่ออะไร หาสาระไม่ได้เลย ตอนตายก็สูญเสียทุกอย่างที่เคยไปแย่งเขามาได้ คนโง่เขาเป็นอย่างนั้นล่ะ เหน็ดเหนื่อย วุ่นวายอยู่กับโลก ตอนที่ช่วงชิงก็ทำบาปอกุศลมากมาย สร้างความวุ่นวายเดือดร้อนให้ตัวเอง แล้วก็แพร่ความเดือดร้อนไปให้คนอื่น บางทีก็ใช้คนอื่นเป็นเครื่องมือ คนอื่นบาดเจ็บล้มตายติดคุกติดตะรางไม่เป็นไร กูได้ประโยชน์ กูฉลาด ไอ้พวกนั้นเป็นเครื่องมือ มันโง่ ที่จริงไอ้โง่ที่สุดคือคนที่ทำชั่วนั่นล่ะ มันโง่ ถ้ามันไม่โง่มันไม่ชั่วหรอก แต่ว่าสัตว์โลกก็อย่างนั้นล่ะ เราไปแก้ที่เขาไม่ได้ เราก็พัฒนาตัวเราเอง

มาถึงวันนี้ภาวนามาถึงจุดหนึ่ง เราจะรู้เลยว่าโลกนี้ไม่มีอะไร โลกนี้มีแต่ทุกข์ โลกนี้ไม่มีอะไร มีแต่การแก่งแย่งทำร้ายกันตลอดเวลา ไม่มีอะไรหรอกนอกจากทุกข์ ใจมันก็รู้สึกว่าไปให้พ้นเสียดีกว่า ถ้ากำลังบารมีเราพอเราก็พ้นไปเลย บรรลุมรรคผลไป ถ้าไม่พอหลายๆ คนตั้งปณิธานเลย ช่วงนี้จะไม่กลับมาเกิดในโลกมนุษย์ ตั้งใจไว้อย่างนั้นเลย ไว้รอพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้แล้วค่อยกลับมาเกิด อธิษฐานอย่างนั้นเลย เวลาทำความดีภาวนาไปด้วยก็ตั้งจิตอธิษฐานไป โลกตอนนี้มันอยู่ไม่ไหวแล้ว น้ำก็จะท่วมแล้ว อะไรๆ ก็รุนแรงไปหมดเลย เบียดเบียนกันก็เยอะ ขอไม่อยู่กับมันแล้ว ขอไปอยู่ในเทวโลก ในพรหมโลก แล้วถ้าพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งมาตรัสรู้ ขอให้เรารู้แล้วมาศึกษาธรรมะต่อ แต่ไปอยู่ในเทวโลก พรหมโลก อย่าไปประมาท ต้องไปภาวนาต่อ ค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ ก็จะสบาย

เมื่อก่อนก็มีพระองค์หนึ่ง สมัยก่อนๆ ท่านก็ตั้งความปรารถนาเอาไว้ว่า ไม่อยู่กับโลกหรอกไปอยู่ในพรหมโลก ถ้ากัปใดมีพระพุทธเจ้าขอให้ลงมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ ตั้งใจอย่างนั้นก็มีไม่ใช่ไม่มี แต่ตอนอยู่ในพรหมโลกก็ภาวนาไม่ใช่ไม่ภาวนา ทำให้ได้นะค่อยๆ ฝึกตัวเอง อย่าอยู่กับเขาเลย โลกนี้ก็ปล่อยให้ชาวโลกเขาอยู่ไปเถอะ เมื่อ 30 กว่าปีก่อน มีครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ท่านบอก ท่านนั่งๆ อยู่แล้วท่านก็พิจารณา แล้วท่านก็บอกว่า โอ้ตอนนี้สัตว์นรกขึ้นมาเกิดในบ้านในเมืองนี้เยอะแยะเลย ช่วง 30-40 ปีก่อนคนภาวนาเยอะ คนมีศีลมีธรรมยังเยอะอยู่ แต่ครูบาอาจารย์ท่านออกปากเลยว่า สัตว์นรกมันกำลังขึ้นมา ต่อไปบ้านเมืองมันจะร้อน มันจะอยู่ไม่ได้หรอก ท่านบอกพวกเราอย่าอยู่กับเขาเลย ภาวนาไปให้พ้นจากสิ่งเหล่านี้ เราไปแก้มันไม่ได้หรอก สัตว์ในนรกมันขึ้นมาเยอะแยะ มันถึงวาระที่มันจะขึ้นมาแล้ว เราก็จะดูได้ทุกวันนี้ จิตใจแบบนรกมันเต็มบ้านเต็มเมือง นรกมันเป็นอย่างไร นรกมันเร่าร้อน รู้สึกไหมบ้านเมืองยุคนี้มันเร่าร้อนเหลือเกิน อยู่ดีๆ ก็หาเรื่องให้เร่าร้อนขึ้นมา หลอกคนโน้นหลอกคนนี้ใช้เป็นเครื่องมือ ไม่มีความสงบสุขแล้ว อันนี้ท่านบอกมาตั้ง 30 กว่าปีแล้ว

ที่จริงท่านเล่าเยอะกว่านั้น แต่พูดไปแล้วมันจะกระทบระหว่างประเทศ เอานิดหน่อยก็พอ ท่านเคยบอก ท่านบอกในวาระเดียวกันนี้ ท่านบอกเมื่อก่อนพวกเราอยู่อินเดีย คนมีบุญอยู่ที่นั่นเยอะเลย พอคนมีบุญเยอะๆ รัศมีมันแผ่ซ่านออกไป พวกจะขึ้นจากนรกมันเห็นแสง จิตมันเกาะขึ้นมา ท่านบอกสุดท้ายเราก็หนีมาอยู่เมืองไทยนี่ล่ะ ตอนนี้มันขึ้นมาอีกแล้ว ตอนนี้จะขึ้นข้างบน หนีต่อไปอีกถ้าไม่จบ ไม่จบก็ไปภาวนาบนโน้น เราไปแก้ที่คนอื่นไม่ได้หรอก เขาก็มีพื้นฐานของเขามาแบบนั้น บางคนทำมาทั้งบาปทั้งบุญ ทำบุญมาอย่างเคยทำทานอะไรอย่างนี้ เกิดมาชาตินี้ร่ำรวย แต่ก็เคยทำบาปอกุศลไว้ อยากใหญ่ อยากโต โลกก็เป็นอย่างนี้ล่ะ คนมันก็มีทั้งดีทั้งชั่วในตัวเอง พวกเราก็เหมือนกันก็มีทั้งดีทั้งชั่วอยู่ในตัวเอง แต่สัดส่วนมันเป็นอย่างไร เราภาวนาส่วนที่ชั่วก็ลดเสีย ส่วนที่ดีก็พัฒนาเสีย คนอื่นก็ปล่อยเขาไป สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม วันนี้เทศน์เท่านี้ก็พอ เทศน์มากกว่านี้ เดี๋ยวจะกลายเป็นเล่านิทานที่ครูบาอาจารย์เล่า แต่ครูบาอาจารย์รุ่นนี้ท่านก็บอก บอกว่าคนรุ่นพวกเรา จำนวนมาก จำนวนมากๆ จะลงนรก เคยขึ้นมาไหนก็จะกลับไปที่นั้น ท่านบอกอย่างนี้ พวกเราหนีขึ้นไปเสียอย่าอยู่เลย.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
15 มกราคม 2564