เจริญพร ยินดีต้อนรับพวกเรามาจากหลายประเทศ มาจากเมืองลาว 10 กว่าคน ธรรมะมันเป็นของกลาง เป็นของที่มันมีอยู่แล้ว จะมีพระพุทธเจ้าหรือไม่มีพระพุทธเจ้า ธรรมะมันก็มีอยู่ แต่พระพุทธเจ้ามาค้นพบของซึ่งมันมีอยู่แล้ว เอามาสอนพวกเรา ฉะนั้นธรรมะจริงๆ นั้นไม่ใช่ของประเทศไหน ไม่ใช่ของอินเดีย ไม่ใช่ของไทย เป็นของโลก ของประจำโลก
คนส่วนใหญ่ไม่สามารถจะเห็นธรรมะได้ เพราะจิตไม่มีคุณภาพพอ พระพุทธเจ้าก็สอนวิธีที่เราจะพัฒนาจิตใจตัวเอง จนสามารถเห็นธรรมะได้ ท่านสอนเราให้ทำทาน ให้รักษาศีล ให้ภาวนา ทำทานก็เพื่อลดละความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ได้ โดยธรรมชาติของคน ชอบสะสมอะไรที่เกินจำเป็นไว้เยอะๆ มีมากๆ แล้วดี คิดอย่างนั้น ที่จริงมันเกินจำเป็น มีเงินแสนล้าน ใช้ได้จริงเท่าไร ก็ใช้ได้ไม่หมด มีเสื้อผ้ามากก็ใช้ได้ไม่กี่ชุด มีอาหารเยอะแยะ ก็กินได้แค่อิ่มหนึ่งเท่านั้นเอง
คนเราเหน็ดเหนื่อยในการแสวงหาเงิน แสวงหาทรัพย์สมบัติมามากมายจนเกินจำเป็น บางทีที่เขาแสวงหาจนลืมไปว่า สิ่งที่เราต้องการจริงๆ ไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทอง สิ่งที่เราต้องการจริงๆ คือความสุข นี้คนส่วนมากก็เอาความสุขไปผูกไว้กับเงิน มีเงินแล้วจะมีความสุข เลยหาแต่เงิน ไม่ได้เจอความสุขเสียที พระพุทธเจ้าท่านก็สอนให้เรารู้จักให้บ้าง แต่ไม่ใช่ให้จนหมดตัว ตัวเองลำบาก ครอบครัวลำบาก ไม่ใช่ มีส่วนเกินเยอะๆ ก็หัดแจกไป ให้คนที่ขาดแคลน เฉลี่ยกันออกไป ผู้รับเขาก็มีความสุข ผู้ให้ก็มีความสุข อย่างหนาวจัดๆ เรามีเสื้อผ้าเยอะ บางคนไม่มี เราให้เขาไป เขาก็มีความสุข เราเองก็มีความสุข ผู้ให้มีความสุข ฉะนั้นการที่พระพุทธเจ้าสอนเราทำทาน เพื่อให้เราลดละความเห็นแก่ได้ ความเห็นแก่ตัว
แล้วท่านก็สอนเราให้ถือศีล ถือศีลก็เป็นการฝึกตัวเอง ให้เข้มข้นขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง คนมันทำผิดศีลได้ เพราะกิเลสมันครอบงำใจ ถ้ากิเลสมันรุนแรง เรารักษาจิตเอาไว้ มีสติรักษาจิตเอาไว้ กิเลสมันจะครอบงำจิตเราไม่ได้ จิตใจเราก็เข้มแข็งขึ้น มีศีลทำให้จิตใจเราเข้มแข็งขึ้น ไม่ยอมอ่อนแอ ไม่ยอมแพ้กิเลส อย่างทำทานก็เพื่อสู้กับกิเลส คือความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัวอะไรพวกนี้
มีสติรักษาจิตเอาไว้ แล้วเราจะได้ศีล
รักษาศีลก็เพื่อสู้กิเลส ราคะ โทสะ รุนแรงขึ้นมา เรามีศีลเป็นเครื่องกั้น ไม่ให้เราทำตามใจกิเลส จนไปทำความชั่วทางกาย ทางวาจาขึ้นมา ฉะนั้นศีลจะควบคุม ไม่ให้เราทำความชั่วทางกาย ทางวาจา ความชั่วทางกาย ทางวาจา มันก็เกิดจากความชั่วทางใจนั่นล่ะ ถ้าใจไม่ชั่ว กายก็ไม่ชั่ว วาจามันก็ไม่ชั่ว ฉะนั้นการที่เรามีสติคอยรู้เท่าทันจิตใจตัวเองไป กิเลสครอบงำใจเราไม่ได้ เราไม่ผิดศีลหรอก ศีลเราจะสมบูรณ์ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เป็นศีลอัตโนมัติ
สมัยพุทธกาลก็มีพระ ท่านมาบวช ท่านศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้า พอออกมาบวช ท่านพบว่าพระวินัยมีเยอะเหลือเกิน วินัยในปาติโมกข์มี 227 ข้อ วินัยนอกปาติโมกข์มีอีกเยอะแยะเลย ท่านรู้สึกท่านรักษาไม่ไหว มันรักษายากเหลือเกิน มันเยอะเกิน ท่านก็ไปหาพระพุทธเจ้า ท่านบอกท่านขอสึกแล้ว ท่านไม่สามารถรักษาศีลและรักษาวินัย ตามที่พระพุทธเจ้ากำหนดได้ นี้เป็นความดีของท่าน ท่านรู้สึกว่าท่านรักษาไม่ได้ท่านก็ลาออก
อย่างของเรายุคนี้ เห็นมากมายเหลือเกิน อย่างพระรักษาไม่ได้ ก็ยังปลอมเป็นพระอยู่อย่างนั้น หลอกชาวบ้านเขาไป ศีลด่างพร้อย ศีลขาด แต่องค์นี้ท่านไม่เป็น พอท่านรู้สึกท่านรักษาศีลไม่ได้ ท่านก็ไปทูลลาพระพุทธเจ้าขอสึกแล้ว เพราะไม่สามารถรักษาศีลได้ เยอะเหลือเกิน พระพุทธเจ้าก็ถามว่า “ถ้าศีลมีอยู่ข้อเดียว จะรักษาได้ไหม” ไม่ต้องหลายร้อยข้อเอาข้อเดียว องค์นี้ท่านบอก “ถ้ามีศีลข้อเดียว ท่านรักษาได้” พระพุทธเจ้าท่านก็เลยบอก ศีลข้อเดียวของท่านก็คือ “ให้มีสติรักษาจิตเอาไว้”
เพราะฉะนั้นถ้าเรามีสติรักษาจิตเอาไว้ได้ ศีลจะมีกี่ร้อยข้อ มันก็มาเกิดขึ้นเองอัตโนมัติ เพราะเราไม่ทำชั่วทางกาย ทางวาจา ศีลเป็นเครื่องกั้นไม่ให้ทำชั่วทางกาย ทางวาจา เรามีสติรักษาจิตอยู่ จิตมันไม่ชั่ว ความชั่วมันก็ไม่มีโอกาสที่จะล้นออกมาทางกายทางวาจาได้ เพราะฉะนั้นการที่เรามีสติรักษาจิตเอาไว้นั้น เราจะได้ศีล อันนี้ไม่ใช่หลวงพ่อโมเมพูดเอง เป็นคำสอนที่พระพุทธเจ้าสอน แล้วพระองค์นั้นท่านก็รักษาข้อเดียว คือรักษาจิตของท่าน
การรักษาจิตไม่ใช่ไปนั่งเฝ้าจิต สิ่งที่รักษาจิตคือสติ สติเป็นตัวรู้ทัน ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในกายในใจของเรา ถ้าจะรักษาจิตก็คอยรู้ทันว่า มีอะไรเกิดขึ้นในจิตใจของเรา มีความสุขเกิดขึ้นให้รู้ทัน มีความทุกข์เกิดขึ้นให้รู้ทัน มีกุศลเกิดขึ้นให้รู้ทัน โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นให้รู้ทัน คอยรู้ทันอย่างนี้เรื่อยๆ ไป ศีลอัตโนมัติมันจะเกิด สติจะเป็นผู้รักษาจิต ที่บอกให้มีสติรักษาจิตนั้น ท่านสอนถูก เพราะเรารักษาจิตไม่ได้ จิตเป็นอนัตตา เราสั่งไม่ได้ แต่ถ้าเรามีสติขึ้นมาเมื่อไร อย่างจิตเราโกรธขึ้นมา เรามีสติรู้ว่าจิตโกรธ ความโกรธจะดับทันทีที่สติเกิด อัตโนมัติเลย แล้วใจมันโลภขึ้นมา เรามีสติรู้ว่าจิตกำลังโลภขึ้นมาแล้ว ความโลภเกิดขึ้น ทันทีที่สติเกิด ความโลภก็ดับทันที เพราะสติกับกิเลสเกิดร่วมกันไม่ได้
ถ้ามีสติก็จะไม่มีกิเลส ถ้ามีกิเลสก็จะไม่มีสติ นี่เป็นธรรมชาติธรรมดา เป็นกฎของธรรมะอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเราคอยมีสติรักษาจิตเอาไว้ กิเลสจะเกิดไม่ได้ เมื่อกิเลสเกิดไม่ได้ การทำผิดศีลจะเกิดไม่ได้ ทำอย่างไรเราจะสามารถมีสติรักษาจิตไว้ได้ เราก็ต้องหัดภาวนา หัดภาวนา ภาวนาก็คือการเจริญสตินั่นล่ะ มันมี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเราเจริญสติ ส่วนหนึ่งเราเจริญปัญญา
วิธีหัดภาวนา
เวลาเราจะภาวนา เราก็ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ขอแนะนำว่าทุกคนต้องทำกรรมฐาน ต้องมีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่สักอย่างหนึ่ง อย่างน้อย 1 อย่าง อย่างมากอย่าเกิน 3 อย่าง ถ้ามีเครื่องอยู่หลายอย่าง จิตจะวุ่นวาย เหนื่อย เหมือนคนมีบ้านหลายหลัง วันนี้อยู่หลังนี้ วันนี้อยู่หลังนี้ วันนี้อยู่หลังนี้ ฟุ้งซ่าน วุ่นวาย มีบ้านหลังเดียวก็พอ แล้วบ้านหลังเดียวคับแคบจนไม่พอ มี 2 หลังอย่าเกิน 3
การทำกรรมฐานก็เหมือนกัน เราทำกรรมฐานสักอย่างเดียว เช่น เราหายใจเข้ารู้สึกตัว หายใจออกรู้สึกตัว ทำกรรมฐานไป ให้จิตมีเครื่องอยู่คือการหายใจ เห็นร่างกายหายใจ จิตรู้สึกตัว รู้สึกตัวไปเรื่อย บางคนแค่หายใจจิตก็ยังฟุ้งซ่าน เอาไม่อยู่ ก็ต้องมีบ้านหลังที่ 2 มาช่วย หรือมีเชือกเส้นที่ 2 มาคอยควบคุมจิต ก็หายใจเข้าบริกรรมพุท หายใจออกบริกรรมว่าโธอะไรอย่างนี้ ก็มี 2 อย่างแล้ว หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ เป็นกรรมฐาน 2 อันรวมกัน คืออานาปานสติ อีกอันหนึ่งเป็นการบริกรรม บริกรรมพุทโธๆ ควบเข้าไปกับลมหายใจ
บางคนหายใจเข้าพุทออกโธ จิตก็ยังดิ้นอีก ก็เพิ่มเครื่องมืออันที่ 3 เข้าไป อย่างหลวงพ่อไปเรียนกับท่านพ่อลี ตอนนั้นเด็ก ไปถึงเล็กๆ 7 ขวบ ท่านก็เรียกนั่ง จับนั่งตักแล้วก็สอน “ต่อไปนี้หายใจเข้าพุท หายใจออกโธนับ 1 หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับ 2 นับไปเรื่อยๆ ท่านบอกให้นับถึง10 ก็นับถึง 10 แล้วก็ลงมา 9 8 7 6 5 4 3 2 1” ลมหายใจก็เป็นเชือกเส้นแรก พุทโธเป็นเชือกเส้นที่ 2 การนับเป็นเชือกเส้นที่ 3
พอมาทำ กลับมาบ้านก็มานั่งหายใจเข้าพุทออกโธนับ พอนับไปถึง 10 ยังเด็ก 7 ขวบ นับเลขถอยหลังไม่เป็น นับแล้วต้องคิด เหนื่อย หลวงพ่อก็ดัดแปลงไม่นับถอยหลังแล้ว นับ 1 ถึง 100 ไปเลย แล้วก็เริ่มนับ 1 ใหม่ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธนับ 1 นับไปถึง 100 แล้วก็กลับมาหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับ 1 ฝึกอย่างนี้ ไม่นานหรอก ทำไปแบบไร้เดียงสา ไม่ได้คาดหวังอะไร ครูบาอาจารย์บอกให้หายใจ พุทโธไปให้นับไป ก็ทำ ไม่ได้ถามท่านว่าทำไปทำอะไร ทำแล้วจะได้อะไร ในหัวไม่มีอย่างนั้นเลย มีแต่ท่านให้ทำก็ทำ
พอหายใจเข้าพุทออกโธนับไปด้วย จนจิตมันเริ่มสงบ การนับมันหายไป เชือกเส้นที่หนึ่งหลุดไปแล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมัดมากเกินไปแล้ว จิตนี้เหมือนวัวเหมือนควาย เชือกเส้นเดียวมัดไม่อยู่ มี 3 เส้นมัด มากกว่านั้นควายตาย เอา 3 เส้นพอแล้ว มากกว่านั้นจะฟุ้งซ่าน กรรมฐานเยอะเกินไป ยุ่ง เช่น หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับ 1 แล้วเพ่งกสิณไปด้วย ไปกันใหญ่เลย จะยิ่งฟุ้งซ่าน พอทำไปแล้ว พอจิตมันเริ่มสงบ การนับมันหายไป เหลือแต่หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ
หายใจไปเรื่อยๆ โดยไม่มีความคาดหวังว่า มันจะต้องเป็นอย่างนั้น จะต้องเป็นอย่างนี้ หายใจไปเรื่อยๆ ในที่สุดจิตก็สงบมากขึ้น การนับก็หายไป ก็เหลือแต่หายใจเข้า หายใจออก ไม่มีพุทโธแล้ว พอจิตมันสงบมากขึ้น ลมมันระงับ จิตมันจะค่อยๆ รู้สึก ลมหายใจมันจะตื้นขึ้นๆ ทีแรกเราหายใจไปถึงท้อง พอจิตมันเริ่มสงบ ลมจะตื้นๆๆ ขึ้นมาอยู่ที่ปลายจมูก แล้วพอจิตมันสงบจริงๆ ลมมันก็ดับ จากลมหายใจกลายสภาพเป็นแสงสว่าง แสงสว่างเกิดขึ้นแทนที่ลมหายใจ สว่างอยู่ตรงปลายจมูกนี้ เป็นดวงสว่าง
ตรงที่เราหายใจเข้าหายใจออก อันนี้เรียกว่าบริกรรมนิมิต ตรงที่มันเกิดดวงสว่าง แล้วมันดับลมไปแล้ว สว่างขึ้นมา เรียกอุคคหนิมิต พอจิตมันสว่าง เราอยู่กับแสงสว่างจนชำนาญ ทรงตัวอยู่ได้เท่าที่ต้องการ กำหนดจิตลงไป จะแผ่ความสว่างของแสงนี้ให้กว้างออกไป ตัวเราเหมือนพระอาทิตย์ เหมือนพระจันทร์ แผ่แสงสว่างออกไปทั่วโลก หรือบางทีก็ย่อแสงสว่างลงมาเท่าปลายเข็ม ตรงที่เราสามารถเล่นกับแสงได้ตามใจชอบ อันนี้เรียกว่าปฏิภาคนิมิต ตรงที่ได้ปฏิภาคนิมิตคือได้อุปจารสมาธิ เพราะฉะนั้นที่เรานั่งแล้วก็โยกๆ เคลิ้มๆ บอกได้อุปจาระ อันนั้นไม่ใช่ อุปจารสมาธิไม่ได้กระจอกงอกง่อย แบบนั่งเคลิ้มๆ ลืมเนื้อลืมตัวอย่างนั้นหรอก สติไม่ขาดสายเลย
จากปฏิภาคนิมิต จิตมันตรึก มีวิตกอยู่ที่แสง มันมีวิจารคือมันเคล้าเคลียอยู่กับแสง โดยที่เราไม่ได้เจตนา จิตก็เกิดปีติ เกิดความสุข เกิดความเป็นหนึ่งขึ้นมา จิตก็เข้าปฐมฌานไป จากปฐมฌาน สติแข็งแรงขึ้นอีกก็ยังเห็น ในปฐมฌานนี้จิตยังไปยุ่งอยู่กับแสง ไปตรึกอยู่ที่แสง ไปตรองอยู่ที่แสง มีวิตก วิจารอยู่กับแสง เป็นภาระ จิตก็วางแสงสว่าง ทวนกระแสเข้าหาจิต เพราะฉะนั้นในฌานที่ 2 จิตผู้รู้ที่แท้จริงก็จะเกิดขึ้น จะเกิดตั้งแต่ฌานที่ 2 เพราะอะไร เพราะไม่ส่งออกนอกแล้ว ไม่ส่งไปที่แสงสว่าง อันนี้เป็นเส้นทางเดินสำหรับคนที่จะใช้สมาธินำปัญญา หรือใช้สมาธิและปัญญาควบกัน
จากฌานที่ 2 เราก็จะเห็นต่อไปอีกว่า จิตมันมีปีติ เช่น ตัวโคลงๆ ขนลุกขนพอง บางทีรู้สึกตัวใหญ่ ตัวโตเท่าภูเขา บางทีรู้สึกตัวหนักมากเลย นี้เป็นอาการที่ปีติมันเกิด บางทีก็น้ำหูน้ำตาร่วง ก็ยังเห็น สติระลึกลงไปอีก ปีตินี้เป็นของวุ่นวาย ทำให้จิตวุ่นวาย เป็นภาระ จิตก็วางปีติ มีความสุข ต่อไปก็เห็นว่าความสุขก็ยังเป็นภาระอีก ก็วางความสุข ก็เป็นอุเบกขา นี้เข้าถึงฌานที่ 4 ส่วนใหญ่ในพระสูตร พระพุทธเจ้าจะสอนถึงฌานที่ 4 แล้วก็โน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัศนะ คือเจริญปัญญา อันนี้สำหรับคนซึ่งเดินแนวสมาธิ
วิธีที่เราจะได้ขณิกสมาธิ
ถ้าเราเดินแนวสมาธิไม่ได้ เราก็ใช้สมาธิอีกชนิดหนึ่งเรียกขณิกสมาธิ สมาธิมี 3 อัน อัปปนาสมาธิ คือสมาธิระดับฌาน อุปจารสมาธิคือสมาธิที่ใกล้ๆ จะเข้าฌาน อย่างทำไปแล้วปฏิภาคนิมิตเกิด กำหนดแสงสว่างได้ ย่อได้ ขยายได้ อันนั้นเป็นตัวอุปจาระ แล้วก็มีอีกอันหนึ่งเรียกขณิกสมาธิ ขณิกสมาธิ คือสมาธิชั่วขณะ ที่จริงสมาธิทุกอย่างก็เกิดทีละขณะ แม้แต่อัปปนาสมาธิ อย่างจิตเข้าฌานที่ 8 จิตก็เกิดดับตลอดเวลา แต่ว่าดวงที่เกิดถัดมา มันก็ยังเป็นจิตที่เข้าฌานที่ 8 อยู่
หรือจิตเข้าฌานที่ 4 จิตก็เกิดดับเป็นขณะๆ เหมือนกันกับคนอยู่ข้างนอกนี้ เพียงแต่ว่าจิตดวงใหม่ที่เกิดขึ้น มันก็ยังเป็นจิตที่ประกอบด้วยฌานที่ 4 อยู่ เราก็เลยเกิดสำคัญมั่นหมายว่าสมาธิของเรายาว ที่จริงสมาธิก็เกิดทีละขณะ เหมือนกันหมดทั้ง 3 ชนิด เพราะฉะนั้นอย่าดูถูกขณิกสมาธิ ท่านผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่ที่บรรลุพระอรหันต์ ท่านใช้แค่ขณิกสมาธินี้ล่ะ รู้เป็นขณะๆ ไป
วิธีที่เราจะได้ขณิกสมาธิ ก็ไม่ยากอะไร เราอาศัยสติคอยรู้ทันจิตใจของตัวเองไป ง่ายมากเลย อย่างจิตใจเรามีความสุข เรารู้ จิตใจเรามีความทุกข์ เรารู้ จิตใจไม่สุขไม่ทุกข์ เรารู้ จิตใจเป็นกุศล เรารู้ จิตใจโลภ จิตใจโกรธ จิตใจหลง จิตใจฟุ้งซ่าน จิตใจหดหู่ รู้ไปอย่างที่มันเป็น ทันทีที่สติรู้ทันสภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น ในขณะนั้นขณิกสมาธิจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ฉะนั้นส่วนใหญ่ครูบาอาจารย์จะชอบสอนว่า ให้รู้จิตที่คิด ให้รู้จิตมันหลงไปคิด รู้จิตโกรธได้ไหม ได้ รู้จิตโลภได้ไหม ได้ รู้จิตสงบได้ไหม รู้จิตสุขได้ไหม ได้หมด ขอให้รู้สภาวะตรงตามความเป็นจริง ขณิกสมาธิก็จะเกิด
แต่ส่วนใหญ่จิตของเราคิดทั้งวัน มันชอบคิดทั้งวัน มันไม่ได้โกรธทั้งวัน มันไม่ได้โลภทั้งวัน แต่มันคิดทั้งวัน เพราะฉะนั้นครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่ จะเน้นลงมาที่จิตคิด อย่างหลวงปู่ดูลย์ท่านก็สอน “คิดเท่าไรก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงรู้ แต่ก็อาศัยคิด” เห็นไหม ท่านมีคำว่า “อาศัยคิด” ด้วย “อาศัยคิด” หมายถึงว่าอย่าไปห้ามความคิด ถ้าไม่มีความคิด นิ่งเฉยๆ อยู่มันเป็นสมาธิ แต่ปัญญามันไม่เกิด ก็ปล่อยให้จิตมันคิด แต่ตรงที่จิตมันคิด ปัญญายังไม่เกิด แต่พอจิตมันไปคิดแล้ว เรามีสติรู้ว่าจิตคิด ตรงนั้นความคิดจะดับทันที แล้วสติ สมาธิ ปัญญามันจะเกิด ก็เกิดตรงนี้
เพราะฉะนั้นเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง เช่น จิตมันหลงไปคิดแล้วรู้ หายใจไป หายใจเข้าพุทออกโธไป จิตไปคิดเรื่องอื่นแล้ว รู้ทัน หายใจเข้าพุทออกโธ จิตไปคิดอีกเรื่องหนึ่งแล้ว รู้ทัน ให้รู้ทันจิตที่คิด ไม่ใช่รู้เรื่องที่จิตคิด รู้ว่าจิตกำลังคิด ไม่ใช่รู้เรื่องจิตว่าไปคิดเรื่องอะไร จิตคิดอะไรไม่สำคัญ สำคัญที่รู้ว่าจิตกำลังคิด จับหลักตรงนี้ให้แม่นๆ แล้วไปทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง เช่น หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ แหม คิดจะไปเที่ยวเมืองจีน บอกเมืองจีนเปิดประเทศแล้ว ก็รู้ทันว่าจิตหลงไปในโลกของความคิดแล้ว ลืมหายใจเข้าพุท ลืมหายใจออกโธแล้ว
หัดอย่างนี้เรื่อยๆ ต่อไปเวลาจิตมันหลงคิด มันจะหลงไม่นาน คนทั่วไปเวลาหลงคิด มันหลงตั้งแต่ตื่นจนหลับ แต่เราหัดทำกรรมฐาน เราคอยรู้ทันจิตที่หลงคิด ทีแรกอาจจะหลงคิดไปชั่วโมงแล้วเพิ่งรู้ว่าหลง หัดทุกวันๆ ต่อไปหลง 10 นาทีก็รู้แล้ว หลง 5 นาทีก็รู้ หลง 1 นาทีก็รู้ ต่อไปจิตหลงปุ๊บรู้ปั๊บเลย ตรงที่จิตหลงปุ๊บรู้ปั๊บนี้ดีมาก ไม่ใช่ว่าจะดีต่อเมื่อไม่หลง ไม่ใช่ หลงแล้วรู้ๆ ดีกว่าไม่หลงเลย ไม่หลงเลยมันเป็นภูมิของพระอรหันต์ ไม่ใช่ภูมิของเรา ภูมิจิตของพวกเราก็คือ เดี๋ยวก็หลงๆ นี้คนในโลกนั้นมันมีแต่หลงๆๆ มันไม่ใช่หลงแล้วรู้ๆ อย่างที่พวกเราฝึก
เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตหลงไปจากอารมณ์กรรมฐาน ไปคิดเรื่องอื่นแล้ว รู้ทันไป จิตที่หลงคิดก็จะดับ จิตที่รู้เนื้อรู้ตัวจะเกิดขึ้น จิตทรงสติ ทรงสมาธิ ชนิดขณิกสมาธิขึ้นมาแล้ว ถ้าหลงรู้ๆ ถี่ๆๆ สมาธิก็เกิดถี่ยิบขึ้นมา พอสมาธิเกิดถี่ยิบขึ้นมา จิตจะเริ่มมีกำลัง จนเราจะรู้สึกได้เลย จิตเราเปลี่ยนไป จิตมันตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา รู้เนื้อรู้ตัวสว่างไสว ร่มเย็นเป็นสุขขึ้นมา อาศัยทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไว้ ส่วนใหญ่ก็จิตหลงไปคิด แต่ถ้าจิตไปปรุงอย่างอื่นก็ได้ จริงๆ แล้วก็คือจิตปรุงอะไรขึ้นมา เรารู้ ก็จะมีผลเหมือนกัน สติ สมาธิ ก็จะเกิดขึ้นเหมือนกัน เพียงแต่ว่าจิตหลงคิด มันเกิดบ่อยที่สุดเท่านั้นเอง
เมื่อก่อนหลวงพ่อสอนอย่างนี้ ตอนนั้นหลวงพ่ออยู่เมืองกาญจน์ฯ ก็มีหนุ่มคนหนึ่งมาเรียนด้วย หลวงพ่อบอก “จิตหลงไปคิดแล้วรู้ หายใจเข้าพุทออกโธ จิตหลงไปคิดแล้วรู้” เขาบอกเขาไม่ชอบหรอก เขาจะทำอย่างอื่นได้ไหม หลวงพ่อถาม “จะทำอะไร” บอกว่า “ถ้าฟ้าร้องแล้วจะรู้” บอก โอ๊ย ไม่ได้กินหรอก ปีหนึ่งฟ้าร้องกี่ครั้ง นานๆ ร้องทีหนึ่ง เวลาที่เหลือเธอจะหลง หลายๆ วัน หลายๆ เดือนเลย กว่าฟ้าจะร้องทีหนึ่ง แต่จิตหลงคิดมันเกิดตลอดเวลา เดี๋ยวก็หลงๆ
เพราะฉะนั้นครูบาอาจารย์ ท่านถึงแนะนำให้รู้จักจิตหลงคิด หลวงปู่ดูลย์ก็สอน “คิดเท่าไรก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงรู้ แต่ต้องอาศัยคิด” คือให้จิตมันคิดไป แล้วก็รู้ทันว่ามันคิด ความคิดก็ดับ จิตรู้ก็เกิด “คิดเท่าไรก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงรู้” นั่นล่ะตัวรู้มันเกิด หลวงพ่อเทียนก็สอน “คิดเหมือนหนู รู้เหมือนแมว” ความคิดมันผุดขึ้นมา สติรู้ทัน แมวก็ตีหนูตายแล้ว ก็คือพอสติเกิด ความฟุ้งซ่านหลงคิดก็ดับทันที ครูบาอาจารย์หลายองค์ที่ท่านภาวนาดีๆ ท่านก็สอนลงมาตรงนี้กัน
พวกเราเอาไปทำดู ไปทำดูไม่ยากหรอก แต่ตอนที่หลวงพ่อฝึก หลวงพ่อฝึกมาอย่างแรก ทำสมาธิเยอะ ท่านพ่อลีท่านสอนอย่างนั้น เราเด็กเราไม่รู้เรื่องอะไร เราก็ทำไป พอมาเจอหลวงปู่ดูลย์ ตอนนั้นอายุ 29 ปีแล้ว ไปกราบท่าน ท่านก็สอนให้ดูจิตตัวเอง หลวงพ่อก็มาดูจิต ดูอย่างที่พวกเราดู ที่สอนพวกเรานี่ล่ะ หายใจไปพุทโธไป จิตหลงไปคิดแล้วรู้ๆ ในที่สุดจิตรู้มันก็ตั้งมั่นขึ้นมา พอจิตรู้มันตั้งมั่นขึ้นมาแล้วรู้เลย โอ๊ย มันตัวเดียวกัน กับจิตที่ทรงสมาธิที่ทำมาแต่เด็ก อันเดียวกัน แต่ที่ผ่านมาเราไม่รู้วิธีที่จะไปต่อ พอจิตตั้งมั่นเด่นดวงแล้วก็หยุดอยู่ตรงนั้น ไปต่อไม่เป็น เดินปัญญาไม่ได้
จิตมีกำลังแล้ว จะสามารถเจริญสติในชีวิตประจำวันได้
ทำสมาธิมากไม่ได้ทำให้เกิดปัญญา สมาธิมันทำให้จิตมีกำลัง แล้วเราก็ต้องรู้จักวิธีเดินปัญญา ไม่ใช่ทำสมาธิแล้วจะเกิดปัญญา ไม่อย่างนั้นหลวงพ่อเกิดปัญญาไปแต่เด็ก ทำสมาธิมาตั้งแต่ 7 ขวบจนถึง 29 ปี ทำ 22 ปี เพราะว่าเดินปัญญาไม่เป็น มันก็ได้แค่นั้น เดี๋ยวก็สงบ เดี๋ยวก็ฟุ้งซ่าน เดี๋ยวก็ออกรู้ออกเห็นอะไรโน่น ผีสางเทวดาอะไร เที่ยวรู้ออกไปข้างนอก รู้อย่างโน้น รู้อย่างนี้ ไม่รู้อันเดียว ไม่รู้กิเลสตัวเอง ใช้ไม่ได้ มาเจอหลวงปู่ดูลย์ท่านให้ย้อนดูที่จิตใจตัวเอง มีสติรักษาจิตตัวเองไว้ ทีแรกก็ฝึก ไปหัดๆ จิตหลงคิดแล้วรู้ หลงแล้วรู้ ในที่สุดจิตก็เด่นดวงขึ้นมา แล้วก็จำได้ เออ นี่ของเก่า เคยได้มาแต่เด็กแล้ว คราวนี้สามารถเจริญสติในชีวิตประจำวันได้แล้ว จิตมีกำลังแล้ว
การเจริญสติในชีวิตประจำวัน จะแตกต่างกับการทำในรูปแบบ อย่างการทำในรูปแบบ ถึงเวลาเราก็ไปนั่งสมาธิ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ รู้ทันจิต หรือนั่งสมาธิรู้ท้องพอง รู้ท้องยุบ แล้วก็ถ้าจิตเป็นอะไรขึ้นมา แล้วรู้ทันจิต หรือไปเดินจงกรมแล้วจิตเป็นอย่างไร แล้วรู้ทันจิต อันนี้ใช้ได้หมด กรรมฐานอะไรก็เหมือนกันหมด ขอให้รู้ทันจิตเท่านั้น อันนี้มันก็อย่างหนึ่ง ก็สงบขึ้นมา มีเรี่ยวมีแรงขึ้นมา แต่ตอนเจริญปัญญานั้นมันเป็นอีกแบบหนึ่ง เราไม่ได้ทำจิตให้นิ่ง แต่เราเห็นอยู่ในชีวิตประจำวัน เราจะเห็นการทำงานของจิต
ถ้าเราฝึกในรูปแบบจนชำนาญ หายใจเข้าพุทออกโธ จิตไปคิดแล้วรู้ หายใจเข้าพุทออกโธ จิตโลภ รู้ จิตโกรธ รู้ จิตหลง รู้ หัดไปเรื่อยๆ ต่อไปพอมาอยู่ในชีวิตประจำวัน เราจะเจริญสติในชีวิตประจำวันได้ บางคนคิดว่าการเจริญสติในชีวิตประจำวัน เป็นของง่าย ไม่ง่ายหรอก ถ้าง่าย ทุกคนบรรลุพระอรหันต์ไปหมดแล้ว หลวงปู่มั่นถึงขนาดสอนบอกว่า “ทำสมาธิมาก เนิ่นช้า คิดพิจารณามาก ฟุ้งซ่าน หัวใจสำคัญของการปฏิบัติ คือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน”
หลวงพ่อไม่ทันหลวงปู่มั่นหรอก แต่ว่าอันนี้หลวงปู่สุวัจน์ ท่านเรียนกับหลวงปู่มั่น แล้วท่านเล่าให้หลวงพ่อฟังว่า “ทำสมาธิมาก เนิ่นช้า” อย่างที่หลวงพ่อทำ 22 ปีไม่ได้อะไร นั่นทำสมาธิมากเนิ่นช้า เพราะต่อไม่เป็น ต่อขึ้นปัญญาไม่เป็น “คิดพิจารณามาก ฟุ้งซ่าน” บางคนไม่ทำสมาธิ คิดพิจารณาไตรลักษณ์อย่างเดียว จิตฟุ้งซ่าน แล้วนึกว่ากูเก่ง อันนั้นใช้ไม่ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราทำสมาธิพอให้จิตมีเรี่ยวมีแรง ทำแล้วคอยรู้ทันจิตที่มันเคลื่อนไป หรือมันปรุงไป พอเราชำนาญตรงนี้ เราจะทำ เจริญสติในชีวิตประจำวันได้
ในเวลาที่ทำในรูปแบบนั้น เราจะเน้นอยู่ที่อายตนะ 2 อัน คือกายกับใจ อย่างร่างกายเรานั่ง เรารู้สึก ร่างกายเราหายใจ เรารู้สึก เรารู้สึกอยู่ที่กาย หรือจิตเราเคลื่อนไหวไป ไปคิดนึกปรุงแต่ง ปรุงดี ปรุงชั่ว เรารู้ทัน เรารู้อยู่ที่ใจ แต่เวลาออกมาเจริญสติในชีวิตประจำวัน เราใช้ 6 อายตนะ ไม่ได้ฝึก เวลาฝึกเวลาซ้อมใช้ 2 อายตนะ คือกายกับใจ กายมันนั่ง ใจเป็นคนรู้ กายมันเดิน ใจเป็นคนรู้ ฝึก พอออกมาอยู่ในชีวิตจริง มาเจริญสติในชีวิตประจำวันนี้ คราวนี้เรามาสังเกตดู เดี๋ยวตาก็ไปดูรูป เดี๋ยวไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปคิดนึกทางใจ มันทำงานตั้ง 6 ช่อง มันดูยาก
แต่ตอนที่เราฝึกในรูปแบบ เราคอยรู้ทันจิตตัวเองไว้ ตอนออกมาอยู่ในชีวิตจริง เราไม่ต้องดูทั้ง 6 ช่อง เราดูช่องเดียวคือดูใจของเรา ดูจิตดูใจของเราอย่างเดียว พอตาเห็นรูปเกิดความสุข ให้รู้ทัน ตาเห็นรูปเกิดความทุกข์ ให้รู้ทัน ตาเห็นรูปเกิดเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ ให้รู้ทัน ตาเห็นรูปเกิดกุศลให้รู้ทัน อย่างเราเห็นพระพุทธรูป จิตใจเราเป็นกุศลขึ้นมา เรารู้ทัน ตาเห็นรูป จิตเกิดอกุศล เรารู้ทัน เห็นคนนี้เราเกลียด จิตมีโทสะขึ้นมา เรารู้ว่าจิตมีโทสะ หูได้ยินเสียงก็เหมือนกัน หูได้ยินเสียงอย่างนี้ มีความสุขอย่างนี้ ทุกข์อย่างนี้ เฉยๆ อย่างนี้เป็นกุศล อย่างนี้โลภ โกรธ หลง ก็รู้ทัน
สุข ทุกข์ ดี ชั่ว ทั้งหลาย มันเกิดอยู่ที่เดียว เกิดอยู่ที่จิต ให้ดูที่จิต สุขทุกข์ทางกายมีอยู่ แต่ไม่ต้องสนใจ มันเล่นยาก อันนั้นเอาไว้ให้คนเล่นฌานเขาเล่นกัน ของเรารักษาที่จิตอันเดียวเลย มีสติคอยรู้ทันจิตตัวเองไป ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด อย่างเราคิดเรื่องนี้ จิตมีความสุข เรารู้ทัน คิดเรื่องนี้ จิตมีความทุกข์ เรารู้ทัน คิดเรื่องนี้จิตเป็นบุญ เรารู้ทัน คิดเรื่องนี้จิตโลภ โกรธ หลง เรารู้ทัน รู้อยู่ที่จิตอันเดียว พอการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดขึ้น มันเกิดความเปลี่ยนแปลงที่จิต ให้มีสติรู้ทันที่จิต
นี่ล่ะการที่มีสติรักษาจิต แล้วต่อไปปัญญามันจะเกิด มันจะเห็นจิตสุขก็อยู่ชั่วคราว ก็ดับ จิตทุกข์ก็อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ จิตที่เป็นกุศลอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ จิตโลภ โกรธ หลง อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ แล้วจิตสุขเราสั่งไม่ได้ สั่งให้สุขไม่ได้ จิตทุกข์เราก็ห้ามไม่ได้ ควบคุมบังคับไม่ได้ จิตจะดี เราสั่งให้เกิดก็ไม่ได้ เกิดแล้วเราบอกให้ดีตลอด มันก็ไม่ได้ จิตจะชั่ว เราสั่งว่าอย่าชั่ว มันก็ไม่ได้ ชั่วแล้วเราสั่งว่า “จงเลิกชั่ว” มันก็สั่งไม่ได้ อย่างโกรธแล้วบอก “จงหายโกรธ” ไม่หายหรอก เพราะฉะนั้นจิตเป็นอนัตตา อนัตตาคือบังคับไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจ เป็นอนิจจังคือมันหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง เกิดดับไปตลอดเวลา เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้ายไป อย่างนี้เรียกว่าเราได้เจริญปัญญาอยู่
บัณฑิตปรารถนาความพ้นทุกข์
เพราะฉะนั้นการที่เรามีสติรักษาจิต เราจะได้มาตั้งแต่ต้นเลย เบื้องต้นการจะทำทาน เกิดความตระหนี่เกิดขึ้นในจิต เรารู้ทัน ความตระหนี่ดับ เราก็สามารถทำทานได้ สมัยพุทธกาลก็มี มีคนจนคนหนึ่ง เขามีผ้าห่มอย่างนี้ ทั้งบ้านมีผืนเดียว สามีภรรยาผัวเมียกัน เวลาจะออกจากบ้านก็ต้องผลัดกันออก เพราะมีผ้าที่จะคลุมไหล่ผืนเดียว วันหนึ่งสามีไปฟังเทศน์ของพระพุทธเจ้า ตอนหัวค่ำไปฟังเทศน์ วันนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลเพิ่งไปทำสงครามชนะกลับมา ก็มาหาพระพุทธเจ้าเหมือนกัน พระพุทธเจ้าท่านต้อนรับทุกคนเหมือนกัน พระเจ้าแผ่นดินมาก็มาฟังเทศน์ นั่งเหมือนกัน คนยากคนจนมา ก็มานั่งเหมือนๆ กัน ฟังเทศน์ด้วยกัน ท่านไม่ได้แบ่งแยกอะไร
พระเจ้าปเสนทิโกศล ไปทำศึกมา ชนะ กำลังฮึกเหิม ฮึกเหิมในชัยชนะของตัวเอง ส่วนยาจกนั้นนั่งฟังเทศน์แล้วก็ศรัทธาเกิดขึ้น “โอ๊ย เราจะเอาอะไรถวายบูชาพระพุทธเจ้าดี เราไม่มีสมบัติอะไร มีผ้าคลุมไหล่อยู่ผืนเดียวนี้เอง จะถวายไปเราก็ไม่มีจะใช้ เดี๋ยวเมียด่าด้วย เมียก็ไม่มีใช้” เพราะทั้งบ้านมีอยู่ผืนเดียว ใจมันเกิดสงครามภายในอยู่ สงครามระหว่างความอยากบริจาคทานอันนี้ให้พระพุทธเจ้า กับความตระหนี่ มันสู้กันอยู่ในใจ ประเดี๋ยวก็อยากให้ เดี๋ยวก็รู้สึกให้ไม่ได้ เดี๋ยวก็อยากให้ เดี๋ยวก็ให้ไม่ได้ สู้ไปสู้มาจนใกล้สว่าง ตั้งแต่หัวค่ำ
วันนั้นพระพุทธเจ้าก็สอนไปเรื่อยๆ ไม่หยุด จนใกล้สว่าง ในที่สุดจิตของแกห้าวหาญขึ้นมา แกถวายผ้านั้นได้ พอแกถวายผ้าแล้วแกก็ดีใจ ปีติ ตะโกนออกมาว่า “ชัยยะๆ” ชัยยะ คือชัยชนะ “ชนะแล้วๆ” พระเจ้าปเสนทิโกศลนั่งฟังอยู่ก็หมั่นไส้ คนที่ชนะคือเราต่างหาก เราไปทำสงครามชนะมาแล้ว นี่ยาจกมาร้องชนะๆ อะไรได้ต่อหน้าพระเจ้าแผ่นดิน ก็เขม่น ก็ถามว่า “ชนะอะไร” บอก “ชนะใจตัวเอง” พระเจ้าปเสนทิโกศลไปทำสงครามชนะคนอื่น แต่ยาจกคนนี้ทำสงครามชนะใจตัวเองได้ พอถึงตรงนี้ปุ๊บ พระพุทธเจ้าเลิกเทศน์แล้ว ท่านโปรดยาจกนี้สำเร็จแล้ว
เพราะฉะนั้นเราดูจิตใจของเรา จิตใจของเรามันจะต่อสู้กัน ว่ากุศลจะชนะ หรืออกุศลจะชนะ แต่ว่าที่พูดอย่างนี้ ไม่ใช่บอกให้พวกเราไปทำทาน จนไม่มีผ้านุ่งผ้าห่ม อันนั้นคนเขาบารมีเยอะแล้ว เขาเจอพระพุทธเจ้า ของเราถ้าเจอพระพุทธเจ้า หลวงพ่อก็ยอมเหมือนกัน ถวายหมดล่ะ ถ้าเจอพระอย่างนี้ เออ เอาไว้ก่อนก็แล้วกัน ก็ถวายเท่าที่จำเป็น ทำทานไม่จำเป็นต้องให้พระ ทำทานให้กับคนยากคนจนก็ได้ ให้คนที่ลำบาก อย่างหลวงพ่อ ญาติโยมถวายเงินมา หลวงพ่อก็ได้มาๆ หลวงพ่อก็เอาไปทำต่อ ส่วนใหญ่ไปทำโรงพยาบาล ช่วยคนยากคนจน ไม่ทำกับวัด เพราะถือว่าวัด ถ้าพระตั้งอกตั้งใจปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ญาติโยมเขาเลี้ยง ไม่ต้องมาเรี่ยไรหรอก ฉะนั้นเลือกทำ เราไม่ได้มีเงินเยอะ ทำอะไรก็ได้ เราก็เลือก อันไหนที่จะเกิดประโยชน์ เกิดความสุขกับคนจำนวนมาก เราก็ทำอันนั้น
เราทำไม่ใช่เพื่อเอาบุญ เราทำทานไม่ใช่เพื่อเอาบุญ อย่างนั้นยังใจแคบ เราทำทานเพื่อสงเคราะห์โลก สงเคราะห์คนอื่น สงเคราะห์สัตว์อื่น วางใจเสียใหม่ ถ้าทำทานแล้วเพื่อจะรวย เพื่อจะเกิดเป็นเทวดา อันนี้ทำด้วยความโลภ ได้บุญไหม ได้ แต่ได้ไม่มาก ถ้าทำด้วยความเสียสละความเห็นแก่ตัวของเรา อันนี้มันประกอบด้วยกุศล ถ้าทำแล้วลดละกิเลสได้ ไม่ใช่แค่เป็นบุญ กลายเป็นกุศลทันทีเลย เพราะกุศลมันช่วยลดละกิเลสได้
ทำบุญก็คือทำความดี แล้วสิ่งที่ได้มาคือความสุขความเจริญทั้งหลาย แต่ถ้าเราไปมุ่งอยากได้ความสุข อยากได้เป็นเทวดา เป็นมหาเศรษฐี เราก็ทำๆๆ อันนั้นได้บุญเล็กน้อย แต่ถ้าทำไปด้วยจิตใจที่เป็นกุศล ฉลาด กุศลแปลว่าความฉลาด มีปัญญานั่นล่ะถึงจะเป็นกุศล อย่างเราทำทาน เราทำไปสงเคราะห์คนยากคนจน คนลำบาก ไม่ได้ทำแล้วเราจะได้อะไร ทำเพื่อจะให้ อันนี้จิตทำทานโดยประกอบด้วยปัญญา คือมีกุศลด้วย สิ่งที่เป็นบุญที่ใหญ่ที่สุด ไม่ใช่ทาน ไม่ใช่ศีล ไม่ใช่สมาธิ สิ่งที่เป็นบุญใหญ่ที่สุดคือปัญญา
ทำทาน รักษาศีล ทำสมาธิ ก็จะทำให้เราไปเกิดในภพภูมิที่ดี มีความสุข แต่การเจริญปัญญาจะพาเราข้ามภพข้ามชาติได้ พ้นทุกข์ วันก่อนหลวงพ่อถึงถาม พวกเราลองวัดใจเราเอง ที่เรามาปฏิบัตินี้ เราอยากมีความสุข หรืออยากพ้นทุกข์ คนส่วนใหญ่อยากมีความสุข นั่งสมาธิก็อยากมีความสุข ทำทานก็อยากมีความสุข ถือศีลก็อยากมีความสุข คนที่อยากพ้นทุกข์มีน้อย คนที่อยากพ้นทุกข์ก็คือ พวกมีปัญญาแก่กล้า เห็นเลยในโลกนี้ ถึงเราร่ำรวยแค่ไหน เราก็หนีความทุกข์ไม่พ้น ถึงเรามีตำแหน่งหน้าที่ใหญ่โตแค่ไหน เราก็หนีความทุกข์ไม่พ้น
เพราะฉะนั้นสิ่งที่บัณฑิตทั้งหลายปรารถนา ไม่ใช่ความสุข แต่ปรารถนาความพ้นทุกข์ อะไรเป็นทุกข์ กายนี้มันทุกข์ ใจนี้มันทุกข์ ทำไมจิตใจมันทุกข์ขึ้นมาได้ เพราะมันมีความอยาก ทำไมมันถึงมีความอยากเกิดขึ้น เพราะมันไม่เห็นความจริง ว่าโลกนี้ไม่มีอะไรยั่งยืนเลย โลกนี้ไม่มีอะไรน่ายึดถือ นอกจากทุกข์ โลกนี้มีแต่ทุกข์ ไม่มีอะไรหรอก ถ้าปัญญาแก่กล้าอย่างนี้ ในโลกนี้ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ ในโลกนี้ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ ในโลกนี้ไม่มีอะไรดับไป นอกจากทุกข์ จิตที่เห็นถึงขนาดนี้ มันจะออกจากโลก จะพ้นจากโลก
ภาวนาไปเรื่อยๆ ถึงวันหนึ่งมันจะเป็นอย่างนี้ อย่างที่หลวงพ่อบอก แล้วพอถึงสภาวะอันนั้น เราจะพบความแปลกใหม่ในจิตใจ ซึ่งเราไม่เคยพบเคยเห็น ตรงที่จิตเราคลายออกจากโลกแล้ว มันจะเห็นโลกทั้งหลาย เป็นแค่ปรากฏการณ์ที่ไหลผ่านมา แล้วผ่านไปตลอดเวลา เหมือนน้ำไหลผ่านไปเรื่อยๆ ถ้าสมัยก่อนจีนยังไม่สร้างเขื่อน ก็เหมือนแม่น้ำโขงไหลไปเรื่อยๆ ไหลไปทั้งปี ตอนนี้พอมีเขื่อนกั้น เลยเปรียบแม่น้ำโขงไม่ได้แล้ว เพราะบางทีก็แห้ง
โลกมีสิ่งที่เกิดดับ ในธรรมมีสิ่งที่ไม่เกิดไม่ดับ
โลกเป็นแค่ปรากฏการณ์ที่ไหลผ่านไปเรื่อยๆ ไม่เคยหยุดนิ่งเลย ปรากฏการณ์อันนี้ไม่มีจุดตั้งต้น ไม่มีที่สิ้นสุด ไหลๆๆ ผ่านไปเรื่อย อย่างถ้าเราเรียนประวัติศาสตร์ เราก็จะว่าบ้านเมืองสมัยก่อนเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวนี้เป็นอย่างนี้ มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ผู้คนก็เปลี่ยนไป อย่างถ้าเราไปดูรูปเก่าๆ รูปเมื่อ 100 ปีก่อน คนในรูปทั้งหมด ตายไปหมดแล้ว ภาพบรรยากาศบ้านเมืองก็เปลี่ยนไปหมดแล้ว อย่างเมืองลาวเมื่อก่อน ก็เป็นแบบชนบทเยอะ มีต้นหมากรากไม้ มีสัตว์อะไรอย่างนี้ ร่มเย็น เดี๋ยวนี้ก็เหมือนเมืองไทยแล้ว เริ่มมีถนน มีรถไฟ มีตึกอะไรต่ออะไรขึ้นมา บรรยากาศอะไรทุกสิ่งทุกอย่าง มันเปลี่ยนไปหมดแล้ว
ปรากฏการณ์ในยุคไชยเชษฐา กับในยุคสว่างวัฒนา ก็ไม่เหมือนกัน ในยุคนี้กับยุคก่อนก็ไม่เหมือนกัน ทุกสิ่งทุกอย่างมันเคลื่อนไหวไปตลอดเวลา เพราะฉะนั้นโลกนี้ไม่มีอะไรหรอก มันเป็นแค่ปรากฏการณ์ที่ไหลผ่านเราไปตลอดเวลา มีความไม่เที่ยงตลอดเวลา ถ้าเราเห็นตรงนี้ได้ เราจะพบสิ่งซึ่งไม่ไหล สิ่งซึ่งมันเที่ยงอยู่ ก็คือตัวธรรม จิตยังเข้าถึงธรรมธาตุ ตัวธรรมธาตุ เวลาภาวนาสุดขีดไปแล้ว มันจะเห็นโลกทั้งโลกนี้เป็นปรากฏการณ์ เหมือนฝันอยู่ จิตมันแยกตัวออกมาต่างหาก แต่มันก็ไม่ได้แยกไปตั้งไว้ที่ใดที่หนึ่ง มันก็ทรงตัวของมันอยู่อย่างนั้น มันจะรู้ว่าโลกไม่มีที่สิ้นสุด แต่ธรรมนั้นมีที่สิ้นสุด หมดที่จะไปต่อแล้ว มันถึงจุดนั้น ตรงนั้นเป็นที่ ที่สิ้นทุกข์จริงๆ เพราะปรากฏการณ์ทั้งหลายนั้น มันคือปรากฏการณ์ของทุกข์ ไม่มีอย่างอื่นหรอก
ฉะนั้นเราค่อยๆ ภาวนา เราจะเข้าใจโลก เข้าใจชีวิตมากขึ้นๆ ไม่มีอะไร มีแต่ทุกข์ ถ้าเห็นอย่างนี้ปัญญามันเกิดแล้ว จิตมันก็ถอนตัวออกจากโลก เป็นอิสระจากโลก แต่ไม่ได้ถอนออกมาเป็นดวงๆ ไม่ใช่เหมือนตอนทำสมาธิจิตถอดออกจากร่าง เกิดกายทิพย์ขึ้นมา ไม่ใช่ อันนั้นยังเป็นนิมิตอยู่ อันนี้จิตที่มันเป็นอิสระ ไม่มีขอบ ไม่มีเขต ไม่มีจุด ไม่มีดวง ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีการไป ไม่มีการมา ไม่มีการจุติคือการตาย ไม่มีการอุบัติคือการเกิด ในโลกมีสิ่งที่เกิดดับ ในธรรมมีสิ่งที่ไม่เกิดไม่ดับ
เราฝึกนะ แล้ววันหนึ่งเราจะได้ของวิเศษ วันนี้ยังไม่ได้ไม่สำคัญ ขอให้เดินอยู่ในเส้นทางสายกลาง ทางของอริยมรรค มีสติรักษาจิตไว้ ศีลเราก็จะดี สมาธิเราก็จะดี ปัญญาก็จะค่อยๆ เกิดขึ้น ปัญญาเกิดจากการเอาสติคอยรู้กายรู้ใจ ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง มีปัญญาเกิดก็จะเกิดการปล่อยวาง ในที่สุดก็วางโลกลงไป โลกเป็นแค่ความฝัน โลกเหมือนภาพลวงตา โลกเป็นแค่ปรากฏการณ์ ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับของใคร ไหลไปเรื่อยๆ ไม่มีจุดตั้งต้น ไม่มีจุดสิ้นสุด
เวลาที่ก่อนพระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ ท่านก็ระลึกชาติไป ระลึกไปในอดีต อยากรู้ว่าจุดตั้งต้นของชีวิตมันอยู่ที่ไหน ถ้ารู้จุดตั้งต้นแล้วจะได้ไปละมัน ท่านไล่ๆๆ ไป ท่านพบว่าสังสารวัฏนี้ ไม่มีจุดตั้งต้นที่จะปรากฏเลย ระลึกไป สัตว์ทั้งหลายเวียนว่ายตายเกิดไป ก็ไม่เห็นมันมีที่สิ้นสุดตรงไหนเลย ท่านก็เลยโน้มน้อมจิตมาสู่ทางสายกลาง กำหนดอานาปานสติ หายใจเข้า หายใจออก แต่ท่านคงไม่บริกรรมพุทโธหรอก เพราะตอนนั้นยังไม่มีพุทโธ ท่านก็หายใจไปจนจิตสงบ จิตรวม สว่างไสว สงบ ไม่มีนิวรณ์ ไม่มีกิเลสรบกวน
ท่านก็โน้มน้อมจิตไปพิจารณาธรรมะ ความทุกข์มันเกิดจากอะไร ความทุกข์มันเกิดจากความเกิด ถ้าไม่เกิดมันก็ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ก็ไม่ทุกข์ ความเกิดมันเกิดจากอะไร เกิดจากความดิ้นรนปรุงแต่งของจิต คือเกิดจากภพ ภพเกิดจากอะไร เกิดจากตัณหา เกิดจากอุปาทาน อุปาทานก็คือตัณหาที่รุนแรง อุปาทานเกิดจากตัณหา ความอยาก ตัณหานั้นเกิดตามเวทนา คือความรู้สึกสุขทุกข์มา เวทนาเกิดจากผัสสะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ ก็เลยเกิดสุข เกิดทุกข์
เวทนามาจากผัสสะ ผัสสะมาได้เพราะมีอายตนะคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีได้ก็เพราะมีจิตหยั่งลง อย่างเรามีตา แต่ถ้าจิตไม่หยั่งลง ตาก็มองอะไรไม่เห็น อย่างเรานั่งลืมตาอยู่ ใจลอยอยู่ คนเดินผ่านเรา เราไม่เห็น วิญญาณไม่ได้หยั่งลง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำงานไม่ได้ วิญญาณหยั่งลงได้เพราะสังขาร ความปรุง ปรุงดี ปรุงชั่ว ความพยายามจะไม่ปรุง ความปรุงทั้งหลายเกิดจากอวิชชา ความไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ไม่รู้ว่ากายนี้คือทุกข์ ใจนี้คือทุกข์ ก็เลยเกิดดิ้นรนปรุงแต่ง อยากให้กายเป็นสุข อยากให้กายไม่ทุกข์ขึ้นมา ก็เลยดิ้นๆ ยิ่งดิ้นยิ่งทุกข์
พระพุทธเจ้าท่านพิจารณาลงมา ในที่สุดท่านก็ละอวิชชาได้ ก่อนจะไปละอวิชชา ท่านมีสมาธิ จิตท่านตั้งมั่นก่อน เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกจิตให้ตั้งมั่น วิธีฝึกจิตให้ตั้งมั่นก็คือ อาศัยสติคอยรู้ทันจิตที่มันหลงนั่นล่ะ หลงคิดรู้ หลงไปคิดรู้ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตหลงไปคิดแล้วรู้ๆ ฝึกนะ แล้วศีล สมาธิ ปัญญา จะสมบูรณ์ขึ้น บางคนก็คิดว่าศีล สมาธิ ปัญญา เป็นบันได 3 ขั้น พูดอย่างนั้นก็ได้เหมือนกัน แต่ตอนที่เกิดอริยมรรคจริงๆ ศีล สมาธิ ปัญญา เกิดพร้อมกัน ในขณะจิตเดียวกัน เกิดที่เดียวกันคือที่จิต ไม่ได้แยก ขั้นที่ 1 ถือศีล ขั้นที่ 2 ทำสมาธิ ขั้นที่ 3 มีปัญญา แต่ศีล สมาธิ ปัญญา เกิดในขณะจิตเดียวกันนั้นเลย
ปีใหม่แล้วนะ ปีใหม่แล้ว อะไรๆ ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ไม่มีอะไรหยุดนิ่ง ไม่มีอะไรคงที่ สิ่งที่เรารู้จัก สิ่งที่เราเคยรู้ เคยเห็น เคยคุ้นเคย ก็กำลังเลื่อนเคลื่อนผ่านเราไปตลอดเวลา วันหนึ่งมันก็ผ่านไป ปรากฏการณ์ใหม่ๆ ก็เข้ามาแทนที่ คนรุ่นใหม่มันก็มาแทนที่คนรุ่นเก่า โลกมันหมุนเวียนไปเรื่อยๆ เราก็ทำความเข้าใจกับมัน อย่าไปคร่ำครวญถึงอดีตซึ่งมันเลยไปแล้ว มันผ่านไปแล้ว ไม่ต้องไปห่วงอนาคตมากเกินไป ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ คอยรู้ คอยดู
ถ้าใจเราเข้าใจความจริงตรงนี้ ใจจะค่อยๆ คลายออกจากโลก อย่างร่างกายเรามันก็เปลี่ยนแปลงทุกวัน จิตใจเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เฝ้ารู้เฝ้าดู โลกข้างนอกก็เหมือนกัน ก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เดี๋ยวก็ปีหนึ่งๆ หนึ่งปีผ่านไป โลกข้างนอกก็เปลี่ยนไป ร่างกายเราก็เปลี่ยนไป จิตใจเราก็เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ วุ่นวายไปเรื่อยๆ ถ้าคนไหนทำกรรมฐาน 1 ปีผ่านไป จิตใจเราก็สงบ ตั้งมั่น แข็งแรงมากขึ้น ถ้าตามใจกิเลส 1 ปีผ่านไป จิตใจก็ยิ่งลำบากมากขึ้น ไม่มีอะไรคงที่ ชั่วหรือดีก็ไม่คงที่เหมือนกัน
เรียนรู้ให้เห็นความจริง เราไม่ได้มุ่งไปที่ความดี ความสุข ความสงบอะไรหรอก เพราะความดีไม่เที่ยง ความสุขไม่เที่ยง ความสงบไม่เที่ยง เราทำกรรมฐานเพื่อให้จิตมันเห็นความจริง ป้อนความจริงไว้ให้จิตดู ความจริงของร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ความจริงของจิตใจก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แม้แต่โลกภายนอกก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ป้อนข้อมูลที่ดีๆ อย่างนี้ ข้อมูลที่ประกอบด้วยไตรลักษณ์ ป้อนเข้าไปให้จิตมันเรียนรู้ไป พอมันรู้ความจริง เดี๋ยวมันก็วางโลกเอง โลกไม่มีอะไรนอกจากทุกข์
พวกเราฝึกนะ พยายามฝึกตัวเองเข้า วันนี้รู้สึกยาก ไม่เป็นไร หัดกรรมฐานใหม่ๆ มันก็ยาก หัดขับรถทีแรกยังยากเลย ไม่ว่าทำอะไรครั้งแรก มันยากทั้งนั้นล่ะ พอฝึกมากเข้าๆ อีกหน่อยมันก็ง่าย แล้วจะรู้สึกเลยกรรมฐานมันง่ายๆ ไม่เห็นต้องทำอะไรเลย มีสติไว้ รู้ทันจิตใจตัวเองไป ศีล สมาธิ ปัญญา ก็จะสมบูรณ์ขึ้นมา
เราค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ เรียนไป ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไว้ ให้การบ้านแล้ว อย่ามาบอกว่าหลวงพ่อไม่ได้สอนอะไร สอนแล้ว
วัดสวนสันติธรรม
7 มกราคม 2566