ใครชอบความหนาว วันนี้มีให้บริการ คนแก่ไม่ชอบหรอก หนุ่มๆ สาวๆ ก็หนาวๆ ดี สดชื่น คนแก่ๆ พอเข้าหน้าหนาวจัดๆ จะรอดไหมปีนี้ ความรู้สึกนึกคิดก็ต่างกันไป
เทศกาลปีใหม่เป็นเรื่องสำคัญของชาวโลก นักปฏิบัติมันก็สำคัญเหมือนกัน มันเป็นเวลาที่จะตั้งเป้าหมายในชีวิตเรา ในปีใหม่นี้ เราจะทำอะไรให้มันดีขึ้นกว่าเก่าได้ วันสิ้นปีมันเป็นวันประเมินผลว่า 1 ปีที่ผ่านมาเราได้อะไรมาบ้าง มีคุณงามความดีอะไรติดเนื้อติดตัวบ้างไหม พอถึงปีใหม่ก็ตั้งความปรารถนา ทำอย่างไรชีวิตมันจะดีขึ้น
เป็นชาวโลกก็ต้องมอง จะอยู่อย่างไร ทำมาหากินอย่างไร ก็ต้องคิดทั้งนั้น ที่ครูบาอาจารย์บอกว่า ให้รู้เอา ไม่คิดเอา อันนั้นมันธรรมะในขั้นการเจริญวิปัสสนา อยู่กับโลกก็ต้องคิด วางแผน พวกนี้ต้องทำ อย่างพระ เมื่อออกจากโลกแล้ว เวลาพระจะทำงาน พระก็ต้องคิดเหมือนกัน พระพุทธเจ้าตอนเช้ามืด ท่านจะพิจารณาแล้ว พิจารณาว่าวันนี้ท่านจะไปโปรดใคร กำหนดกลุ่มเป้าหมาย จะไปโปรดใคร จะไปโปรดอย่างไร จะไปโปรดที่ไหน จะไปโปรดอย่างไร แล้วก็พิจารณา ถ้าท่านทำอย่างที่คิดไว้ จะมีผลอย่างไร จะมีผลดีไหม
ขนาดพระพุทธเจ้า ท่านก็มีการวางแผน ไม่ใช่ไม่วางแผน ท่านตรัสรู้อยู่แถวแคว้นมคธ พอแคว้นมคธตั้งหลักได้แล้ว ท่านก็มุ่งไปที่โกศล ที่นั่นมีเจ้าลัทธิอยู่เยอะ ส่งสาวกไปจะลำบาก ท่านก็ไปเอง ท่านทำงานมีขั้นมีตอน ค่อยๆ ขยายงานออกไป พวกเราก็อย่าใช้ธรรมะมั่วๆ ไม่ใช่อะไรก็ไม่ต้องคิดเอา รู้เอาๆ ทำธุรกิจก็เจ๊ง รู้เอาๆ เลยเจ๊งเอาๆ ก็ต้องรู้จักวางแผน อยู่กับโลกมันคนละเรื่องกับการทำวิปัสสนา
อยู่ในชีวิตเรา ปีใหม่ เราจะวางแผน ตั้งเป้าจะทำธุรกิจ จะทำอะไรอย่างไร จะมุ่งไปทางไหน ธุรกิจใหญ่ๆ ในโลก บางทีล้มระเนระนาดเอาง่ายๆ เลย วางแผนผิด เดินเกมส์ผิด มีตัวอย่างให้เราดูเยอะแยะเลย ไม่อยากเอ่ยชื่อ เป็นบริษัทระดับล้านล้าน ล้านล้านบาท ต้นทุน ทำไปทำมา รายได้หายไป 40 เปอร์เซ็นต์แล้ว แนวโน้มลดลงๆ มันเดินเกมผิดแล้ว
ฉะนั้นเราอยู่ในโลก เราก็ต้องรู้จักประเมินให้ดี การที่ประเมินผิด ส่วนหนึ่งเพราะว่ากิเลสมันหลอกเอา อย่างคิดว่าลงทุนตัวนี้น่าจะดี ไม่ได้รอบคอบ กิเลสมันหลอก คิดแต่ว่าจะได้ๆ ไม่ได้คิดว่ามันจะเสียอะไร บางครั้งเรื่องเล็กๆ แค่เรื่องโฆษณา ยังกระทบธุรกิจเลย
เคยมีบริษัทเสื้อเชิ้ตชื่อดัง ไปทำโฆษณา ขายได้อันดับหนึ่งแล้วในเมืองไทย ไปทำโฆษณา เข้าไปนั่งในโรงหนังแล้วผู้หญิงที่นั่งอยู่ข้างๆ หลงใหล มาลูบไล้อะไรอย่างนี้ คนไม่ซื้อเลย ไม่ได้ประเมินให้ดีว่าคนที่ซื้อเสื้อเชิ้ตไม่ใช่ผู้ชายซื้อ ภรรยาซื้อให้สามี ถ้าซื้อแล้ว ใส่แล้ว ผู้หญิงอื่นมายุ่งด้วย ไม่เอาดีกว่า ในญี่ปุ่นก็มีบริษัทใหญ่ๆ ทำอุปกรณ์ไฟฟ้า ทำอะไรพวกนี้ พอจีนเปิดประเทศขึ้นมา ทำได้ถูกกว่า อยู่ไม่รอด ก็เลยคิดไปทำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บ้างอะไรบ้าง สุดท้ายเจ๊ง
เพราะฉะนั้นถ้าเราภาวนาให้ดี เวลาพิจารณาจะทำอะไร มันจะใช้เหตุใช้ผล ไม่ใช่ใช้ความโลภนำหน้า แล้วมันจะเหลือเหตุเหลือผล ธรรมะมันจะช่วยเราเวลาอยู่ในโลก บางครั้งได้มา ธรรมะก็สอนเราว่ามันอาจจะไม่ได้ตลอดไป ก็ต้องรู้จักระมัดระวังตัวเอง บางครั้งเสีย สูญเสีย ธรรมะก็สอนเรา มันคงไม่สูญเสียทั้งหมดหรอก ส่วนไหนเสียแล้วก็แล้วไป สร้างเอาใหม่ เรามาตัวเปล่าๆ เราจะไปกลัวอะไร เวลาเกิดความสูญเสียขึ้นมา มันคงไม่เสียตลอดไป ถ้าใจไม่ท้อแท้ ล้มแล้วก็ทำใจสงบ พิจารณา ดำเนินชีวิตต่อไป
ธรรมะช่วยเราได้สารพัด แต่เราไม่เข้าใจคำว่า ธรรมะๆ คิดว่าธรรมะคือการนั่งสมาธิ เดินจงกรม อันนั้นตื้นเกินไป การใช้ชีวิตอย่างมีเหตุมีผลก็เป็นธรรมะแล้ว เป็นธรรมะเพื่อการอยู่กับโลก ธรรมะที่อยู่กับโลก พระพุทธเจ้าสอนเอาไว้เยอะแยะ จะดูแลครอบครัวอย่างไร ดูแลลูกน้องอย่างไร จะปฏิบัติต่อพ่อแม่อย่างไร ท่านสอนไว้เยอะแยะ เอาไปทำได้ก็ดี ถ้าง่ายที่สุดก็คือเรียนรู้ทันจิตใจตัวเอง ไม่ว่าจะคิดอะไร จะพูดอะไร จะทำอะไร อย่าให้กิเลสมันครอบงำ
ช่วงปลายปีเราก็ได้ยินข่าว คนใหญ่คนโตทำไม่ดีๆ เบียดเบียนลูกน้องอะไรอย่างนี้ นึกว่าไม่มีอะไร ทำได้ ถึงเวลาที่กรรมให้ผล ย่อยยับหมดเลย ชื่อเสียง เกียรติยศ หรือผู้ใหญ่บางคนพูดไม่ดี พูดไม่ระวัง ชื่อเสียงที่ทำมาตลอดชีวิตจนจะเกษียณอยู่แล้ว เสียไปอีกแล้ว
ทำไมถึงพูดไม่ดี ทำไมถึงทำไม่ดี เพราะมันจากความคิด อย่างคนทำไม่ดี อาจจะเพราะความโลภมันบงการจิต ทำให้คิดไม่ดี คิดจะตักตวงในทางที่ไม่ถูกต้อง คนที่พูดไม่ดี สังเกตดู ก็ไม่ได้ว่าไม่ดีอะไรนักหนา แต่คะนอง พูดไปด้วยความคะนอง ไม่สำรวมวาจา เจอลูกน้องก็ด่าๆๆ ด่าไปยิ้มไปๆ มีตัวอย่างให้เราเห็นช่วงสิ้นปี เราก็เห็นตัวอย่าง ทำไม่ดีก็มีผลไม่ดี พูดไม่ดีก็มีผลไม่ดี เราก็อย่าไปทำ
วิธีที่เราจะไม่ทำก็คือระวังความคิดของเราไว้ ก่อนจะพูดไม่ดี ก่อนจะทำไม่ดี มันมาจากความคิดทั้งนั้นล่ะ มันไม่ใช่ปากมันพูดได้เอง แต่จิตมันสั่งต่างหากให้พูดอย่างนั้นพูดอย่างนี้ หรือจะโกงเขาอะไรอย่างนี้ จิตมันคนสั่ง เพราะฉะนั้นเราดูแลรักษาจิตของเราให้ดี แล้วคำพูดของเราก็จะดี การกระทำของเราก็จะดี แล้วชีวิตของเราก็จะสะอาดหมดจดมากขึ้นๆ ฉะนั้นการที่คอยรู้ทันจิตตัวเองไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เอาไว้อยู่กับโลกก็อยู่ได้ดี จะเอามาปฏิบัติธรรม ยิ่งจำเป็นใหญ่เลย
คิดดีก็ใจเย็น
พระพุทธเจ้าท่านสอนบอกว่า ถ้าอยากได้มรรคผล ทำให้สิ้นอาสวกิเลส บรรลุพระอรหันต์มีธรรม 4 ประการ ถ้าคนไหนมีธรรมะ 4 ประการนี้ ก็มีแนวโน้มที่จะไปสู่อริยมรรค แล้วก็จะล้างอาสวกิเลสได้ เป็นพระอรหันต์ได้ พ้นทุกข์ได้ ธรรมะ 4 ประการนี้ 3 ข้อ 3 ข้อแรก คิด ที่สอง พูด ที่สาม การกระทำ ก่อนจะถึงตัวนี้ มันจะมีธรรมะที่อยู่ในใจเรา 3 เรื่อง ให้เราสังเกตความคิดของเรา 4 ข้อจะเป็นเรื่องการรู้ทันความคิดของตัวเอง 3 ข้อ 3 ใน 4
เวลามันคิดอะไรขึ้นมา รู้ลงไปเลยว่านี่มันคิดเพราะราคะหรือเปล่า นี่มันคิดเพราะโทสะหรือเปล่า นี่มันคิดเพราะโมหะหรือเปล่า มันคิดไปในทางกามวิตกไหม ในทางพยาบาทวิตกไหม ในทางวิหิงสาวิตกไหม ตัวนี้ก็คือตัวสัมมาสังกัปปะ ถ้าคิดไปในทางเนกขัมมะ หมายถึงไม่ติดอกติดใจในโลกมากนัก ไม่ติดใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสมากนัก ไม่หงุดหงิดรำคาญในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส
คอยสังเกตใจเรา หงุดหงิดขึ้นมา รู้ทัน ชอบขึ้นมา รู้ทัน หรือบางทีก็มีความคิดเบียดเบียนด้วยความหลงผิดของตัวเอง เรียกวิหิงสาวิตกๆ เบียดเบียนผู้อื่นด้วยไม่คิดว่าตัวเองเบียดเบียน บางทีเข้าใจผิด อย่างมีลัทธิ มีอุดมการณ์อย่างนี้ ใครมีความเชื่อไม่เหมือนเรา เอาไปฆ่าทิ้ง จะทำให้บ้านเมืองเจริญ อย่างนี้เรียกวิหิงสาวิตก ถ้าเราไม่มีกามวิตกมากนัก ไม่มีพยาบาทวิตก ไม่มีวิหิงสาวิตก นี่คือ 3 ข้อที่เป็นเบื้องต้น ข้อที่สี่ก็คือรู้จักสัมมาทิฏฐิ มีทฤษฎีชี้นำความคิดของเราอย่างถูกต้อง
ทฤษฎีชี้นำที่สำคัญก็คือสิ่งทั้งหลายมาจากเหตุทั้งนั้นเลย ชาวพุทธเราพูดแต่เรื่องเหตุกับผล ไม่มีอะไรที่งมงาย ถ้าเราทำเหตุที่ชั่ว เราก็ได้รับผลที่ชั่ว เราทำเหตุที่ไม่ชั่ว ทำเหตุที่ดี อย่างเจริญมรรค ผลที่จะได้มันก็ดี เหตุชั่วคือตัณหา ผลของตัณหาคือทุกข์ เหตุดีคือมรรค ผลของเหตุดีคือนิโรธความดับทุกข์
เข้าใจอย่างนี้ ชีวิตเราไม่ได้มีใครมาบงการ ไม่มีใครมาลิขิต เราลิขิตชีวิตของเราเอง เราบงการชีวิตของเราเอง เพราะฉะนั้นเราเชื่อในเรื่องเหตุกับผล เชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรม กรรมคือการกระทำของเรานั่นล่ะ การกระทำทางใจเรียกมโนกรรม การกระทำทางวาจา เรียกวจีกรรม ทางร่างกายเรียกกายกรรม
เราคอยเรียนรู้ คอยสังเกตตัวเองให้มากๆ แล้วก็ไม่เอาความคิดของเราไปคิดตามอำนาจของกิเลสตัณหา ไม่พูดตามอำนาจของกิเลสตัณหา ไม่ทำตามอำนาจของกิเลสตัณหา แต่ทำไปด้วยความมีเหตุผล อะไรที่ทำแล้วจิตใจของเราเจริญขึ้น อันนั้นล่ะดี อะไรที่ทำแล้วจิตใจของเราเลวลง อันนั้นไม่ดี ฉะนั้นถ้าเราคิดดี พูดดี ทำดี ผลมันก็ดี เราจะทุกข์น้อยลงๆๆ
อย่างคนคิด คิดเกลียดคนโน้น เกลียดคนนี้ หงุดหงิดไปเรื่อยๆ ไม่ได้มีความสุข ปรับทัศนคติของตัวเองเสียใหม่ มองคนอื่นอย่างเป็นมิตรบ้าง มองด้วยความเมตตากรุณาอะไรอย่างนี้ ใจตัวเองล่ะจะเริ่มมีสมาธิขึ้นมา จะเริ่มร่มเย็นเป็นสุขขึ้นมา เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่ใจเรา
หลวงพ่อเกษม เขมโก หลวงพ่อก็นับถือเป็นครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง เคยสอนธรรมะหลวงพ่อเหมือนกัน ท่านสอน “คิดดีก็ใจเย็น คิดไม่เป็นจะเย็นสบาย” คิดดีก็ใจเย็น คิดไปในทางไม่หลงโลก ไม่ทางพยาบาทเบียดเบียนใคร คิดไปด้วยเหตุด้วยผล ไม่ใช่ด้วยความโง่เขลา อย่างนี้ใจจะเย็น คือใจมีความร่มเย็นเป็นสุข อย่างเราคิดถึงคนอื่นด้วยความเมตตา ใจมันเย็น ใจมันร่มเย็น มีความสงบ มีความสุข ในวัดนี้ก็มี หลวงพ่อก็สอนพระบางองค์ทำกรรมฐานด้วยการเจริญเมตตา ใจมันก็ร่มเย็น แล้วก็ค่อยเดินวิปัสสนาเอา
ส่วนอีกประโยค คิดไม่เป็นจะเย็นสบาย อันนี้เป็นเรื่องขั้นสูงขึ้นมาแล้ว คิดไม่เป็นมันมี 2 ระดับ อันหนึ่งก็คือเวลาคิดไม่ใช่เราคิด ไม่มีตัวมีตน คิดแล้วไม่เกิดตัวตนขึ้นมา ในขณะที่คนซึ่งไม่ได้ภาวนา คิดทีไรก็กูคิดทุกทีเลย เป็นกูคิด เป็นเราคิด เวลาคิดไม่ค่อยมี ดิฉันคิด อะไรอย่างนี้ ไม่มี เราไม่พูดกับตัวเองว่าดิฉัน ไม่กูก็เราอะไรอย่างนี้
คิดไม่เป็นจะเย็นสบาย
เวลาคิดแล้วมันรู้สึกลงไป กายนี้ไม่ใช่เรา ใจนี้ไม่ใช่เรา ถ้าคิดอย่างนี้จะเย็นสบาย เย็นสบายตัวนี้หมายถึงความดับสนิทแห่งทุกข์ เบื้องต้นคอยดูลงไป คิดแล้วไม่มีตัวมีตนขึ้นมา ไม่ใช่คิดแล้วก็หลงว่า นี่ตัวเราๆ นี่ของเราอะไรอย่างนี้ แล้วสุดท้ายมันคิดไม่เป็นจริงๆ คือมันเหนือความคิด เหนือความปรุงแต่ง สมองมันก็ยังคิดได้ล่ะ เวลามีความจำเป็นจะต้องคิดก็คิดล่ะ แต่เวลาไม่มีความจำเป็นจะต้องคิด อยู่เฉยๆ ก็ได้ มันร่มเย็น สงบ มีความสุขอยู่อย่างนั้น อิ่มเอิบอยู่อย่างนั้น
ฉะนั้นเรื่องความคิดของเรา คอยระมัดระวัง สังเกตเอา ที่คิดอยู่คิดเพราะอะไร คิดเพราะกาม ความรักใคร่ผูกพัน หรือคิดที่จะออกจากความรักใคร่ผูกพันทั้งหลาย ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เรื่องของกาม ครอบคลุมสัตว์โลกไว้ทั้งหมดเลย เก่งจริงๆ ครอบคลุม จะหนีออกจากโลก เจอด่านของกาม ไปไม่รอดเลย
ถ้าเรายังไม่ได้คิดจะถึงพระนิพพานในชีวิตนี้ เราก็ไม่ต้องตกใจ เมื่อวานหลวงพ่อบอกแล้วว่าเราภาวนา เราทำไปเป็นลำดับ เป็นขั้นเป็นตอนไป เบื้องต้นรักษาศีล 5 ให้ได้ก่อน ทุกวันทำในรูปแบบ เราคอยรู้ทันจิตของตัวเองไว้ ต่อไปก็คอยสังเกตจิตใจของเรา ในชีวิตธรรมดา เวลามันจะคิดมันคิดเพราะอะไร มันพูดเพราะอะไร มันทำเพราะอะไร สังเกตๆ เอา ใจมันจะค่อยเข้มแข็ง สติก็จะดีขึ้น สมาธิดีขึ้น
พอสติ สมาธิเราดีขึ้น เราก็ชกกับคู่ต่อสู้ที่แข็งแรงขึ้น ตอนไหนฝีมือเรายังไม่ดี เราก็สู้กับพวกฝีมือน้อยๆ ด้วยกัน เราภาวนาเก่งๆ เราสู้กับคู่ต่อสู้ที่ร้ายกาจ ไปสู้กับโมหะ สู้กับอวิชชา สู้กับโมหะ สู้กับความไม่รู้ทั้งหลาย อันนี้ประณีตมาก พวกเรายังไม่ต้องตกใจ มันยังไม่ต้องถึงขั้นนั้นหรอก ขั้นต้นคอยรู้สึกลงในกาย คอยรู้สึกลงในใจ ร่างกายมันเคลื่อนไหวได้เพราะจิตมันสั่ง จิตมันสั่งอย่างโน้นอย่างนี้ เพราะจิตมันคิด จิตมันคิดเพราะอะไร เพราะกุศล หรือเพราะอกุศล คอยรู้ไปอย่างนี้ ง่ายๆ ไม่มีอะไรยุ่งยากเลย ต่อไปสติ สมาธิมันก็จะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ
เวลารู้สึกลงในร่างกาย ไม่คิดว่าเป็นตัวเป็นตนอะไร ก็เห็นว่ามันเป็นแค่รูปอันหนึ่งเท่านั้นเอง ที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวหายใจเข้า เดี๋ยวหายใจออก เดี๋ยวยืน เดิน นั่ง นอน ร่างกายไม่เคยบอกเลยว่าร่างกายคือตัวเรา แต่จิตที่หลงผิดต่างหากเป็นคนบอก อย่างเรานั่งนานๆ มันปวดมันเมื่อยอะไรอย่างนี้ ร่างกายก็ไม่ได้บอกว่าปวดว่าเมื่อย จิตมันบอก หรือนั่งภาวนาอยู่ ขี้เกียจ ลงนอน ร่างกายไม่ได้สั่งตัวเองให้นอน จิตมันสั่งให้นอน เพราะมันขี้เกียจ มันถูกกิเลสบงการมา มันก็เลยคิดไปว่านอนดีกว่า
ค่อยๆ สังเกต จิตใจเรามันทำงาน มีขั้นมีตอนของมัน เบื้องต้นก็ดูเท่าที่ดูได้ ไม่ต้องข้ามขั้น ข้ามขั้นคล้ายๆ เป็นมวยรุ่นเล็กจะไปชกกับมวยรุ่นใหญ่ก็ตายเปล่าๆ ก็ชกกับพวกระดับเดียวกันก่อน เราเหนือระดับนี้ขึ้นไปได้ ก็เลื่อนชั้นขึ้นไป สู้กับสิ่งที่มันเหนือขึ้นไปอีก
ฉะนั้นตอนนี้สิ่งที่สำคัญ ตั้งใจ ตั้งความปรารถนาไว้ ปีใหม่นี้ เราจะถือศีล 5 เห็นไหมศีล 5 ไม่ได้มากอะไร ไม่ได้บอกให้ถือศีล 8 บอกถือศีล 5 ไว้ เห็นไหมไม่ยาก ขอให้ตั้งใจเท่านั้น แต่ต้องข่มใจเวลากิเลสมันมา มันคิดไม่ดี มันจะทำผิดศีล คิดไปด้วยราคะก็ผิดศีลได้ คิดไปด้วยโทสะก็ผิดศีลได้ คิดไปด้วยโมหะมันก็ผิดศีลได้ เราคอยรู้ทันความคิดของเราไว้ รู้ทันจิตใจของเราไว้ มันก็จะถือศีล 5 ได้
ถือศีล 5 อย่างเดียวไม่พอ
ต้องพัฒนาเครื่องมืออีกตัวหนึ่ง ก็คือสมาธิ
ถือศีล 5 อย่างเดียวไม่พอ ถือศีลเฉยๆ ไม่บรรลุมรรคผลอะไรหรอก ก็ต้องพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้นไปอีก พัฒนาเครื่องมืออีกตัวหนึ่ง ก็คือสมาธิ หลวงพ่อสอนอยู่แทบทุกวัน แทบทุกครั้งที่เทศน์ การฝึกสมาธิไม่ใช่การนั่งสมาธินานๆ ไม่ใช่การเดินจงกรมนานๆ ถ้านั่งสมาธิไม่ถูก มันไปเกิดมิจฉาสมาธิ ไม่ฝึกเสียดีกว่า เดินจงกรมนานๆ ไปก็อีโก้จัด เซลฟ์จัด กูเดินได้ตั้ง 10 ชั่วโมงอะไรอย่างนี้ อย่างนั้นอย่าเดินดีกว่า
เราจะทำกรรมฐานที่จิตจะมีสมาธิขึ้นมาได้จริงๆ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง อย่าอยากสงบ อย่าอยากดี อย่าอยากมีความสุข ให้ถือว่าเราทำเป็นการปฏิบัติเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าเสีย ไม่ได้ทำเพื่อเข้าตัวเอง ไม่ได้เอาอะไรทั้งสิ้น ตั้งใจทุกวัน ทำในรูปแบบนั่นล่ะ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง เคล็ดลับมันอยู่ที่เวลาเราทำกรรมฐาน ให้คอยรู้ทันจิตใจตัวเองไว้
เช่นเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไปคิด เรารู้ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตถลำลงไปเพ่ง เรารู้ เสร็จแล้วจิตจะค่อยๆ เกิดสมาธิขึ้น แล้วสะสมทีละขณะๆ ในที่สุดมันก็ต่อเนื่อง แข็งแรงขึ้นมา จิตใจมันจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา อย่างนี้เราจะได้สมาธิที่ดีขึ้นมา อันนี้สอนอย่างนี้ สำหรับคนซึ่งทำฌานไม่ได้ ถ้าทำฌานได้ก็จะสอนอีกแบบหนึ่ง ทีนี้พวกเรารุ่นนี้ทำไม่ได้ ทำไม่ได้เราก็สร้างขณิกสมาธิขึ้นมา
ขณิกสมาธิคือสมาธิทีละขณะ อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไปคิดอย่างนี้ เรามีสติรู้ทันว่าจิตหนีไปคิด จิตที่หนีไปคิดจะดับ จิตรู้คือจิตที่มีสมาธิที่ถูกต้องจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เวลาใจเราโกรธ เรามีสติรู้ว่าโกรธ เราไม่ได้ดับมัน แค่รู้ว่ามันโกรธ ความโกรธมันจะดับเองแล้วตัวผู้รู้มันจะเกิดขึ้นเอง ตัวผู้รู้ก็คือจิตที่มีสมาธิที่ถูกต้องมันจะเกิดขึ้น มันจะเกิดทีละขณะ เวลาเรารู้สภาวะอย่างถูกต้องเป็นปัจจุบันเมื่อไร ตัวรู้จะเกิด จิตจะมีขณิกสมาธิเป็นขณะๆ
ฉะนั้นครูบาอาจารย์ชอบสอน หลงแล้วรู้ๆ ไม่ได้ห้ามหลง หลงได้ แต่หลงแล้วรู้เร็วๆ อย่างเราพุทโธๆ อยู่ พอหลงไป มันลืมพุทโธไปคิดเรื่องอื่น พุทโธเป็นแค่เครื่องเตือนใจ พอลืมพุทโธเมื่อไร มันก็แสดงว่าหลงไปคิดเรื่องอื่นแล้ว พอรู้ว่าหลงไปคิด จิตที่หลงคิดจะดับ จิตรู้จะเกิด ตรงนั้นล่ะ สมาธิชนิดที่ดี คือขณิกสมาธิจะเกิด ถ้ามันหลงแล้วรู้ๆ ถี่ๆ สมาธิก็จะเกิดถี่ยิบขึ้นมา ในที่สุดมันจะตั้งมั่นเด่นดวง
ขณิกสมาธิเป็นสมาธิที่เกิดทีละขณะ แต่ถ้าฝึกแล้วมันต่อกันถี่ยิบได้ อัปปนาสมาธิที่ว่าเป็นสมาธิที่ยาวนาน มันก็เกิดดับทีละขณะเหมือนกัน เกิดดับทีละขณะเหมือนกัน อย่างคนเข้าฌาน เข้าฌานที่หนึ่ง มันก็มีจิตที่ตั้งมั่น มีเอกัคคตา มีความเป็นหนึ่ง เป็นขณะๆๆ ไปเหมือนกัน มันไม่ใช่จิตที่อยู่ในฌาน แล้วดวงเดียวยาวได้เป็นวันๆ เป็นเดือน เป็นปี เป็นโกฏิปี อย่างพวกพรหม อยู่เป็นกัปๆ อันนั้นมีจิต จิตอยู่ในพรหมโลก เกิดดับสืบเนื่องกันไปนับจำนวนไม่ถ้วน มันก็เหมือนขณิกสมาธินี่ล่ะ แต่พวกเราวอกแวกมากกว่าเขา เขาเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ เพราะฉะนั้นเราอย่าดูถูก ที่จริงแล้วสมาธิทุกชนิดก็เกิดทีละขณะจิตเหมือนกันนั่นล่ะ
เราหัดทำกรรมฐาน จิตเคลื่อนแล้วรู้ จิตไหลไปแล้วรู้ หัดรู้ไปเรื่อย จิตสุขแล้วรู้ จิตทุกข์แล้วรู้ ก็จะเกิดขณิกสมาธิ เป็นขณะๆๆ ไป เกิดขึ้นพร้อมกับสติเลย มีสติปุ๊บ สมาธิเกิดปั๊บเลย อกุศลดับตรงนั้นเลย พอฝึกมากจิตมันตั้งมั่นเด่นดวง ก็เดินปัญญา ถึงขั้นเจริญปัญญา เรียนรู้ความจริงของร่างกาย เรียนรู้ความจริงของจิตใจไป
พอฝึกมากจนจิตตั้งมั่นเด่นดวง ก็เดินปัญญา
เรียนรู้ความจริงของร่างกาย เรียนรู้ความจริงของจิตใจไป
สุดท้ายมันก็เห็นว่าร่างกายไม่ใช่เรา ร่างกายเป็นสมบัติของโลก เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ จิตใจมันก็เป็นธาตุเหมือนกัน เรียกวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ ก็เป็นธาตุ อย่างดิน เราไม่ได้รู้สึกว่าดินเป็นเรา น้ำเราก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเรา ลม ไฟ เราก็ไม่รู้สึกว่าเป็นเรา สเปซคือช่องว่าง เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นตัวเรา แต่ตัววิญญาณธาตุ มันอาภัพอะไรก็ไม่รู้ มันรู้สึกว่าเป็นเรา ดิน น้ำ ไฟ ลม มันจะรู้สึกว่าเป็นเราต่อเมื่อมันมารวมกันๆ
อย่างร่างกายมันเกิดจากดิน น้ำ ไฟ ลมมารวมกัน ตั้งอยู่ในช่องว่างคือสเปซ มีที่ตั้ง แล้วสัญญา ความหมายรู้ผิดๆ ก็ไปหมายรู้ว่าก้อนนี้คือตัวเรา แต่พอตัววิญญาณธาตุ ไม่ต้องไปรวมอะไรกับใครเลย ตัวมัน มันพร้อมที่จะหมายรู้ผิด พร้อมที่จะคิดผิด พร้อมที่จะเชื่อผิดว่านี่คือตัวเรา เวลาเราภาวนา เรารู้สึกไหม ในนี้มีเราอยู่คนหนึ่ง เคยรู้สึกไหม ในนี้มีเราอยู่คนหนึ่ง แต่อยู่ตรงไหนไม่รู้ล่ะ แต่ว่ามีเราอยู่ ในตัววิญญาณธาตุมันไม่สะอาด มันยังเจือปนด้วยอวิชชา ความโง่ ฉะนั้นที่เราภาวนาจะเป็นจะตายขึ้นมา สู้ตาย เพื่อทำลายตัวความโง่นี้ออกไป วิญญาณธาตุมันก็จะบริสุทธิ์ขึ้นมา
เราหัดภาวนา ทีแรกต้องฝึกให้จิตตั้งมั่น มีจิตเรียกว่าจิตผู้รู้ จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เห็นรูปธรรม เห็นนามธรรม เคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงไป ฝึกอย่างนี้เรื่อยๆ ถึงวันหนึ่งมันก็จะเห็น รูปธรรมทั้งหลาย คือร่างกายนี้ ไม่มีอะไรเลยนอกจากทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย พอจิตมันเห็นอย่างนี้ มันรู้ความจริงในรูปธรรม มันหมดความยึดถือในรูปธรรม คราวนี้มาถึงนามธรรม ก็ดูลงไป ความสุข ความทุกข์ที่คนให้ค่ามากมาย อย่างความสุข คนก็ให้ค่าว่าดี ดิ้นรนแสวงหา อยากได้ ความทุกข์เป็นสิ่งที่คนให้ค่าว่ามันไม่ดี ก็เกลียดชังมัน อยากผลักไสมันอะไรอย่างนี้
ถ้าเราภาวนาเรื่อยๆ เราก็เห็นสุขหรือทุกข์ มันก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน อยากได้ความสุข ดิ้นรนแทบเป็นแทบตาย หวังว่าจะมีความสุข มันสุขอยู่ไม่นาน ความทุกข์มันก็ตามมาแล้ว อย่างคอร์รัปชันได้เงินหมื่นล้าน แสนล้านอะไร ตอนได้มาก็ลำพองนึกว่าจะดี เสร็จแล้วก็หัวซุกหัวซุน ลำบาก มีบ้านก็ไม่ได้อยู่บ้าน มีครอบครัวก็ไม่ได้อยู่กับครอบครัว หนีไปเรื่อยๆ อะไรอย่างนี้ ทุกข์มันให้ผล
ถ้าเรารู้ความสุขมันก็ไม่ยั่งยืน ไม่ต้องไปหลงใหลกับมัน แสวงหามันจนกระทั่งคิดผิด พูดผิด ทำผิด ไปทำบาปอกุศลขึ้นมา มันเป็นของไม่ยั่งยืน ไปอยากได้อะไรหนักหนา ถ้าบุญให้ผล มันก็ได้มา บุญไม่ได้ให้ผลมา ความสุขอันนั้นก็หายไป เวลาความทุกข์เกิดขึ้นก็เหมือนกัน เราภาวนาเรื่อยๆ เราก็เห็นความทุกข์ก็ของชั่วคราว
อย่างใครเคยอกหักจะรู้ ถ้าอกหักครั้งแรก หูย ทุกข์นานมากเลย ยิ่งคาดหวังสูง ทุกข์เป็นปีๆ เลย คาดหวังไว้เยอะ ไม่ได้อย่างที่หวัง ความสุขสลายไป กลายเป็นความทุกข์อันมหาศาล ยืดเยื้อยาวนาน คิดว่าชีวิตนี้คงไม่มีวันมีความสุขอีกแล้วล่ะ ขาดเธอคนเดียว โลกนี้มืดมนตลอดกาล ไม่จริงหรอก ไม่นานก็ลืม ผ่านไป ถ้ารักมากๆ ก็ปี 2 ปี 3 ปีอะไร เดี๋ยวก็ลืม ใจมันก็ไปหาความสุขอย่างอื่นต่อ ใครมันจะไปนอนอยู่กับความทุกข์ตลอด
ฉะนั้นในชีวิตเราที่ว่ามีความทุกข์เยอะๆ มันก็อยู่ชั่วคราว หลวงพ่อเคยรู้จักหลายคน ลูกตาย ในทางโลก จัดอันดับให้เลย ลูกตายทุกข์ที่สุดเลย อันนี้สำหรับคนทั่วๆ ไป บางคนลูกตายแล้วดีใจ ลูกอยู่ในท้อง ทำให้มันตาย ไปทำแท้ง เสียตังค์ด้วย ดีใจ มันตายแล้ว แต่ถ้าลูกโตๆ มา เลี้ยงมาตั้งแต่เล็ก รักมาก ปุบปับมันตายไป โห ทรมานใจมาก ทุกข์ ทุกข์แสนสาหัสเลย ทุกข์ยิ่งกว่าทุกข์ เรื่องพ่อแม่ตายยังไม่ทุกข์เท่าลูกตายเลย พอผ่านไปหลายๆ ปี ใจมันก็เฉยๆ เวลานึกถึง ใจมันก็ไม่เจ็บปวด
ฉะนั้นกระทั่งความทุกข์ที่ว่ารุนแรงก็ไม่ยั่งยืน ความสุขก็ไม่ยั่งยืน ความทุกข์ก็ไม่ยั่งยืน ฉะนั้นจะไปรักความสุขอะไรมากมาย จะไปเกลียดความทุกข์อะไรมากมาย มันของไม่ยั่งยืน ใจเราจะค่อยๆ เข้าใจความจริงของเวทนา มันไม่ยั่งยืนหรอก แล้วมันก็รักษาไว้ไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ มันเป็นอนัตตา ตรงที่มันไม่ยั่งยืนอยู่ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ อันนั้นเรียกอนิจจัง
หรือกุศล อกุศลในใจเรา บางคนบ้าบุญ เคยเจอไหมพวกบ้าบุญ วันๆ คิดแต่จะทำบุญ ถือซองเที่ยวเรี่ยไรคนโน้นคนนี้ตลอดเวลา ถ้าใครเขาให้ก็ปลื้ม อนุโมทนา เขาบอกเขาไม่ไหวแล้ว เรี่ยไรทุกวันเลย กินยังไม่มีจะกิน ไม่เอาแล้ว ก็ยิ้มหวาน ไม่เป็นไร เดี๋ยวพร้อมเมื่อไรค่อยทำ แต่ในใจด่าไปแล้ว ไอ้ขี้งก นึกว่าเป็นกุศล ที่จริงโลภ อยากได้สมบัติคนอื่น
กระทั่งจะหาเงินมาเข้าวัด อยากทอดกฐินอย่างนี้ ก็ไปทำซองแจกๆๆ ไป ถ้าแจกโดยเจตนาว่าจะทำบุญแล้วให้คนเขารู้ ถ้าเขาสนใจเขาอยากร่วมทำบุญ ก็อนุโมทนากับเขา แต่เอาซองไปยื่น เหมือนไปหักคอเขา อันนี้ใจต้องการอะไร ต้องการให้เขารู้ข่าว ให้เขาเกิดศรัทธาของเขา ให้เขาทำบุญของเขา หรือต้องการได้เงินของเขามาเยอะๆ กองใหญ่ๆ เป็นเจ้าภาพแล้วเอาไปให้วัด กระทั่งหาเงินให้วัด ยังเป็นอกุศลได้เลย
เคยเจอไหมแบบนี้ หลวงพ่อเห็นบ่อยไป อยากได้เงิน ไม่ได้เอาเข้ากระเป๋าด้วย จะเอาไปเข้าวัด จะไปเข้ามูลนิธิ จะไปเลี้ยงหมา จะไปเลี้ยงแมวอะไรอย่างนี้ จริงๆ ไม่ได้อยากให้คนอื่นเขาได้บุญอะไรเท่าไรหรอก แต่อยากได้เงินของเขา ใจของเรา อะไรที่อยู่เบื้องหลังความคิดสังเกตให้ดี ถ้าสังเกตดีๆ แล้วใจเราจะค่อยสะอาดๆๆ ขึ้น จะหมดจดมากขึ้นๆ กิเลสก็หลอกลวงเราไม่ได้ กุศลมันก็เจริญขึ้น
ค่อยๆ ฝึก ทุกวันๆ ถือศีล 5 ไว้ ทุกวันทำในรูปแบบ แล้วคอยสังเกตจิตใจของเราตัวเอง คอยสังเกตไม่ใช่นั่งเฝ้า เช่น เราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ เราก็หายใจไปอย่างนั้นล่ะ ทำไปเรื่อยๆ ถ้าขี้เกียจเกิดขึ้น มีสติรู้ว่าขี้เกียจ อย่างนี้ถึงจะใช้ได้ หายใจไปๆ เกิดความสุขขึ้นมา มีปีติ มีความสุขขึ้นมา รู้ว่ามีปีติ รู้ว่ามีความสุข อย่างนี้ก็ใช้ได้
พอมีปีติ มีความสุขแล้ว เกิดความยินดีพอใจ เกิดโสมนัสเวทนา ปลื้มอกปลื้มใจขึ้นมา ก็มีสติรู้ ถ้าไม่รู้ก็คือโมหะทั้งนั้น โมหะคือความไม่รู้ ฉะนั้นอะไรเกิดขึ้นในจิตในใจเรา ฝึกทุกวันๆ ไป เดี๋ยวมันก็ชำนาญ แรกๆ นานๆ ถึงจะรู้ที ถ้าฝึกทุกวัน มันก็รู้เร็วขึ้นๆ แล้วจะรู้ว่าการปฏิบัติมันไม่ยากอะไรเลยใช่ไหม ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย ทำให้มันสม่ำเสมอมันก็เป็นเองล่ะ ไม่เห็นต้องส่งการบ้านเลย
เราช่วยกันสร้างพลังงานที่ดีให้กับโลกนี้
ปีใหม่ทั้งที ตั้งอกตั้งใจ ดูแลความคิดของเราให้ดี อย่าคิดร้ายกับคนอื่น คิดถึงผู้อื่น คิดถึงคนอื่น โดยตั้งความปรารถนาดีต่อผู้อื่น อย่างตอนนี้มีคนซึ่งเป็นที่รักของคนจำนวนมากไม่สบาย องค์ภาไม่สบาย เราไม่ต้องไปแผ่ส่วนบุญให้ท่าน ท่านไม่ใช่ผี ท่านเป็นมนุษย์ แผ่ส่วนบุญไม่มีประโยชน์เท่าไรหรอก เราส่งกระแสจิตของความปรารถนาดีไปให้ท่าน จิตใจซึ่งมันมีสมาธิ จิตใจซึ่งเป็นบุญเป็นกุศล เรานึกถึงท่านว่าขอให้ท่านมีความสุข ขอให้ท่านพ้นจากทุกข์ทั้งปวง
นี่ตัวอย่าง ไม่ได้ทำกับองค์ภาคนเดียว กับคนอื่นเราก็รู้สึกอย่างนั้นเหมือนกัน นึกถึงเขา ขอให้เขามีความสุข ขอให้เขาพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง อย่าให้เขาต้องพลัดพรากจากสิ่งที่ดีงามทั้งหลายที่เขามีอยู่ ค่อยพิจารณา ใจเราร่มเย็น ส่งความปรารถนาดีไปยังผู้อื่น หรือกับสัตว์อื่น ส่งความปรารถนาดีไป
จิตมันมีพลัง จิตมันมีพลังงาน คนเราชอบพูดถึงปาฏิหาริย์ หลวงปู่ดูลย์บอกปาฏิหาริย์ไม่มี มีแต่พลังงานของจิต ฉะนั้นอย่างเวลาจิตเราเป็นบุญเป็นกุศลขึ้นมา แล้วเราจะส่งให้สัตว์พวกเปรต พวกผี พวกอะไรอย่างนี้ อย่างนี้เราอุทิศส่วนบุญได้ แต่กับมนุษย์อุทิศส่วนบุญไม่ได้ เขาไม่รับหรอก เขาไม่รู้เรื่อง แต่เราส่งกระแสของความปรารถนาดี ภาษาโบราณก็แผ่เมตตา ถ้าพูดยุคของเราก็คือส่งความปรารถนาดีไป ต้องปรารถนาดีจริงๆ ไม่ใช่ปรารถนาปลอมๆ
กระแสของความปรารถนาดี มันเป็นพลังงานของจิต ถ้าเรามีความปรารถนาดีจริงๆ พลังนี้แรง แล้วถ้าหลายๆ คนตั้งความปรารถนาด้วยกัน พลังงานยิ่งเยอะใหญ่เลย วัตถุทั้งหลาย มันก็มาจากพลังงานอีกทีหนึ่ง ฉะนั้นเราช่วยกันสร้างพลังงานที่ดีให้กับโลกนี้ อย่าสร้างพลังงานที่เลว โลกก็จะสกปรกไม่น่าอยู่มากขึ้นๆ เพราะฉะนั้นทุกวันภาวนาแล้วก็ส่งความปรารถนาดีไปยังสัตว์โลกทั้งหลาย
ฝึก ฝึกตัวเองทุกวัน ถ้าทำได้อย่างที่หลวงพ่อบอก เราไม่ต้องพูดเรื่องสมาธิเลย สมาธิมีอยู่แล้ว ในขณะจิตที่เรามีความปรารถนาดีต่อผู้อื่น จิตเป็นกุศล จิตมีสติ จิตมีสมาธิ แต่ถ้าเจืออกุศลลงไป เช่น อยากให้คนนี้เขาได้ดี แต่อย่าดีเกินไป อย่าดีกว่าเรา อย่างนี้ไม่ใช่แล้ว ปรารถนาดี ก็ให้เขาดีเต็มที่ไปเลย ตั้งใจไว้ จิตของเราจะมีพลัง แล้วพลังของจิตตัวนี้ มันมหาศาลจริงๆ
หลวงพ่อเห็นครูบาอาจารย์หลายองค์ หลวงปู่เทสก์ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี มีรูป ครูบาอาจารย์อีกองค์หนึ่งของหลวงพ่อ ท่านอยู่กับเมตตาอัปปมัญญา เมตตาไม่มีประมาณ กว้างขวาง ใครนึกถึงท่านก็มีความสุขแล้ว จะรู้สึกถึงกระแสของความสุข กระแสเมตตาของครูบาอาจารย์ มันแผ่ครอบโลกอยู่แล้ว แต่ถ้าใจเราสงบ ใจนึกถึงท่านปุ๊บ มันเชื่อมต่อพลัง ใจเรามีความสุข มีความสงบ สมาธิเกิดทันทีเลย ฉะนั้นเราใช้พลังของจิตมาช่วยตัวเอง ช่วยครอบครัว ช่วยเพื่อนๆ ช่วยสัตว์โลกทั้งหลาย
วันนี้ลองดู ลองส่งความปรารถนาดีไปให้องค์ภาดู ดูสิ จิตใจท่านจะสดชื่นขึ้นไหม ร่างกายก็เป็นเรื่องของหมอดูแล
ปีใหม่ก็ขอให้เป็นคนดีๆ ถ้าเคยไม่ดี ก็ขอให้เป็นคนใหม่ ให้เป็นคนดี ถ้าเคยดีอยู่แล้ว ก็ให้เป็นคนเก่าที่ดีกว่าเก่า แล้วชีวิตเราก็จะมีความสุข ใครเข้าใกล้เราก็มีความสุข ใครนึกถึงเราก็มีความสุข
ชีวิตคนเราไม่ยืนยาว มีโอกาสทำดี มีโอกาสทำประโยชน์ก็ทำ ลดละกิเลสได้ก็ดีที่สุดเลย คนในโลกหาความสุขหาความสงบไม่ได้ กิเลสมันบงการใจ มันอยากได้โน้น มันอยากได้นี้ไปเรื่อย พระพุทธเจ้าเลยสอนให้เราทำทาน แทนที่อยากได้อย่างเดียว ก็รู้จักให้ รู้จักแบ่งปัน แทนที่จะตามใจกิเลส ท่านก็สอนให้เรารักษาศีล ไม่ทำตามใจกิเลสจนทำความชั่ว ท่านสอนให้เราภาวนา สู้กับความโง่ของเราเอง เพราะฉะนั้นทาน ศีล ภาวนา มันเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กิเลสที่พระพุทธเจ้าประทานมาให้พวกเรา
อย่างเมื่อกี้หลวงพ่อพูดถึงทานใช่ไหม เราจะทำทาน อยากชวนคนมาทำอะไรอย่างนี้ เราสังเกตตัวเอง ต้องการให้เขาได้บุญ หรือว่าต้องการได้เงินของเขา สังเกตให้ละเอียด แล้วจิตใจเราจะสะอาดมากขึ้นๆ สติเราจะแหลมคมมากขึ้น รู้ทันกิเลสที่ละเอียดๆ ได้เยอะขึ้นๆ พวกเราเป็นนักปฏิบัติ ราคะ โทสะ โมหะมันทำอะไรเราไม่ได้ง่ายๆ หรอก เรารู้ แต่กิเลสชั้นละเอียด กิเลสที่ส่งพฤติกรรมให้ดูเป็นคนดี ตัวนั้นดูยาก ฉะนั้นเราค่อยๆ สังเกต ค่อยๆ รู้เอา ใจเราก็จะสะอาดจริงๆ สะอาดมากขึ้นๆ ค่อยๆ ดูไป
แล้วก็มีชีวิตอยู่ด้วยการปรารถนาดีกับคนอื่น กับสัตว์อื่น ถ้ามีชีวิตโดยปรารถนาจะเอาทุกสิ่งทุกอย่างเข้าตัว ความทุกข์มันจะมาจะท่วม ได้มามาก ก็ทุกข์มาก ในตู้เซฟในที่ทำงาน มีตั้ง 5 ล้าน ทุกข์มากไหมตอนนี้ ทุกข์นับจำนวนไม่ถ้วนเลย สละออก มันเบา เอาเข้า มันหนัก แต่พูดอย่างนี้ ไม่ใช่บอกให้เราทำบุญทำทานให้หมดเนื้อหมดตัว อันนั้นเรียกว่าไม่มีเหตุผล ไม่รู้จักประมาณ ต้องรู้จักประมาณ แค่ไหนพอดี แค่ไหนทำไปเพื่อลดละกิเลส แค่ไหนทำแล้ว ไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
การรักษาศีลก็เหมือนกัน รักษาเพื่อสู้กิเลสของเรา ไม่ใช่เพื่ออวดคนอื่น การภาวนาก็เพื่อลดละกิเลสของเราเอง ไม่ใช่เอาไว้คุยอวดคนอื่น ค่อยๆ สังเกตไป แล้วปีถัดไป ปี 2566 ใช่ไหม พอสิ้นปีเราจะมาประเมินผลตัวเองอีกรอบหนึ่ง ว่าที่หลวงพ่อบอกเราทำได้กี่เปอร์เซ็นต์ ได้สักแค่ไหน ได้นิดๆ หน่อยๆ ดีกว่าไม่ได้เลย บางคนก็ได้เร็ว บางคนก็ได้ช้า
วัดสวนสันติธรรม
1 มกราคม 2566