คอยรู้ทันความปรุงแต่งของจิตไว้ มันปรุงสุขบ้าง ปรุงทุกข์บ้าง ปรุงดีปรุงชั่ว บางทีก็พยายามจะไม่ปรุง พยายามไม่ปรุงก็ปรุงนั่นล่ะ ตรงที่จิตใจมันดิ้นรนปรุงแต่งนั่นล่ะ ความทุกข์มันจะเกิดขึ้น เวลาจิตมันดิ้นรน เรียกว่าเป็นกรรมภพ มีภพ มีชาติ ชาติคือความเกิด มีชาติแล้วก็มีทุกข์
ตรงความดิ้นรนปรุงแต่งของจิต มันก็ดิ้นไปได้หลายแบบ ดิ้นหลงโลกไป เพลิดเพลินในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสอะไรไป อีกอันหนึ่งก็ปรุงแต่งดิ้นรนไปทางใจ อยากสุข อยากสงบ อยากดี ดิ้น อีกแบบหนึ่งก็พยายามปรุงแบบไม่ยุ่งไม่เกี่ยวอะไรกับใคร ตัดความรับรู้โลกภายนอกออกไป แบบหนีโลก อันนั้นเป็นความปรุงแต่ง ความปรุงแต่งเกิดขึ้นทีไร ชาติก็เกิดขึ้นทีนั้น ชาติก็คือการที่จิตมันไปหยิบฉวยเอาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา ตรงนี้มันละเอียดนิดหนึ่ง พอเราภาวนาเดี๋ยววันหนึ่งก็เห็น
อย่างเวลาจิตมันหลงเพลินไปในรูปที่มองเห็น มันจะไปตะครุบเอาตามาทำงาน ประสาทตา หยิบฉวยขึ้นมา พอจิตมันหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา มันทุกข์ทันที ทำไมมันทุกข์ทันที ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจมันก็ตัวทุกข์นั่นล่ะ ไปหยิบตัวทุกข์ขึ้นมาเอง ไม่มีใครเขาใช้ ใจมันดิ้นๆๆ ไป มันมีความอยาก มีความยึดถือ มีความดิ้นรน แล้วก็ไปตะครุบเอาจิต จิตเป็นของที่ปล่อยยากที่สุด มันยึดเอาไว้
ค่อยๆ ภาวนา ทำไปตามลำดับ ฟังแล้วเหมือนยาก มันยากก็เพราะว่า เราต้องทำมาตามขั้นตอนแล้วมันไม่ยาก ถ้าทำข้ามขั้นตอนมันยาก เรายังไม่ถึงขั้นจะข้ามภพข้ามชาติ ภาวนาค่อยๆ ดูเท่าที่เราดูได้ สิ่งที่เราดูเห็น อะไรที่ยังไม่เห็นไม่ต้องคิดมาก เจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญาไป เดี๋ยววันหนึ่งก็เห็นเอง วันนี้ไม่เห็นไม่เป็นไร
หัดเห็นสภาวธรรมที่เราเห็นได้
ตอนนี้สิ่งที่เราหัดเห็น หัดเห็นสภาวธรรม สภาวะของรูปธรรม สภาวะของนามธรรม หัดรู้หัดเห็นตัวนี้ สภาวธรรมมีอีกอย่างหนึ่งคือพระนิพพาน พวกเรายังไม่สามารถรู้เห็นได้ คนที่เห็นพระนิพพานได้ ต้องพระโสดาบันขึ้นไป อย่างได้โสดาบัน บางทีจะให้จิตไปอยู่กับพระนิพพาน ก็พิจารณาขันธ์ 5 ลงเป็นไตรลักษณ์ แล้วพอมันวางขันธ์ 5 มันจะทวนกระแสเข้ามาที่จิต จะสัมผัสพระนิพพาน เพราะมันวางกระแสของโลกไป
แต่อย่างเราเป็นปุถุชน ยังไม่เห็นนิพพาน เราก็แขวนเอาไว้ก่อน ไม่ต้องไปหา หาเท่าไรก็ไม่เจอ มันไม่มีร่องรอยให้เห็นหรอก เราดูสิ่งที่เราดูได้ อย่างเราดูรูปธรรม เห็นไหม รูปนี้นั่งอยู่ เห็นไหม รูปนี้ขยับ เห็นไหม รูปมันหายใจ ค่อยๆ รู้สึกสิ่งที่มันมีอยู่จริงๆ คือตัวรูปธรรม ถ้าเรียนทางอภิธรรมเขาบอกนี่ยังไม่ใช่ รูปแท้ๆ เรียกมหาภูตรูป เป็นรากเป็นเหง้าของรูปทั้งหลาย คือธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ทีนี้เราไม่ได้เรียนอย่างอภิธรรม เราเรียนแบบพระสูตร คนที่บรรลุมรรคผล เรียนพระสูตรนี่ล่ะ บรรลุ เพราะว่าพระพุทธเจ้าสอนพระสูตรออกมา คนฟังแล้วบรรลุมรรคผลกัน
เราก็เรียนแบบพระสูตร เราเห็นรูปนี้มันยืน เดิน นั่ง นอน ถ้าอภิธรรมบอก อันนี้ไม่ใช่รูปจริง เรียกวิญญัติรูป รูปที่เคลื่อนไหว ใช้ไม่ได้ ใช้ไม่ได้ก็เรื่องของเขา พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ ท่านสอนให้รู้สึก “ภิกษุทั้งหลาย ให้เธอคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว หายใจเข้ายาว รู้ว่าหายใจเข้ายาว” อะไรเป็นตัวหายใจ รูปคือร่างกายนี้มันหายใจ ลมหายใจก็เป็นรูปอีกอย่างหนึ่ง
ดูของที่ท่านบอกให้ดู รู้สึกไป ร่างกายมันหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก รู้ไปเรื่อยๆ แล้วจะเห็นว่าตัวที่หายใจคือรูปมันหายใจ ไม่ใช่เราหายใจ ค่อยๆ ล้างสัญญา ความหมายรู้ผิดๆ ไป คนทั่วไปมันเคยชิน มันเป็นเรานั่ง แต่ถ้าเราวางใจให้ดี ค่อยๆ หัดไป เดี๋ยวมันก็วางได้ วางใจได้ วางใจว่าร่างกายมันนั่ง
จะไม่เรียกว่ารูปก็ได้ เรียกว่าอะไรก็ได้ เรียกว่าร่างกายมันนั่งอยู่ จิตใจเราเป็นคนเห็น จิตใจเราเป็นคนรู้คนดู เห็นร่างกายมันนั่งอยู่แล้วมันไม่ได้นั่งเฉยๆ มันนั่งหายใจออก จิตใจเราเป็นคนรู้คนดู ร่างกายหายใจเข้า จิตใจเราเป็นคนรู้คนดู สายอภิธรรมบางที่เขาก็สอน รูปมันหายใจ นามเป็นคนรู้ รูปมันยืน เดิน นั่ง นอน นามเป็นคนรู้ ก็พูดให้มันฟังยากขึ้นเท่านั้นล่ะ เนื้อหาสาระก็คือตัวนี้มันทำอะไรอยู่ รู้สึกไว้ อย่าใจลอย รู้สึกลงไป
แล้วสังเกตให้ดี เวลาเรารู้สึกถึงร่างกายที่นั่ง เรารู้สึกว่าตัวเรานั่ง หรือรู้สึกว่าร่างกายนั่ง 2 อันนี้ไม่เหมือนกัน ถ้ารู้สึกว่าตัวเรานั่ง อันนี้เรายังหลง ยังมีสัญญาที่ผิดว่ามีตัวเรา ร่างกายนี้ เราค่อยหัดทำความรู้สึกใหม่ หัดหมายรู้ใหม่ ร่างกายมันนั่ง ไม่ใช่เรานั่ง ค่อยๆ ดูไป ร่างกายมันหายใจ ไม่ใช่เราหายใจ ร่างกายไม่ใช่เรา ค่อยๆ ดูไป
ที่จริงถ้าทำอย่างที่หลวงพ่อสอน คือฝึกจนกระทั่งเรามีจิตที่เป็นผู้รู้แล้ว มันจะเห็นทันทีเลย ร่างกายมันของถูกรู้ ร่างกายมันนั่งอยู่ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ร่างกายหายใจออก หายใจเข้า ไม่ใช่เรายืน เดิน นั่ง นอน ไม่ใช่เราหายใจออก หายใจเข้า ถ้าจิตเรามีสมาธิไม่พอ ก็ช่วยมันนิดหนึ่ง ช่วยมันหมายรู้ลงไป ร่างกายมันนั่ง มันเป็นของถูกรู้ถูกดู ใจเป็นคนรู้คนดู ค่อยๆ สอนมันไปเรื่อยๆ แต่ถ้าให้ดีที่สุดก็คือฝึกจิตให้ตั้งมั่น ถ้าฝึกจิตให้ตั้งมั่นแล้วไม่ต้องจงใจน้อมจิตไปหมายรู้หรอกว่าร่างกายไม่ใช่เรา มันเห็นเองล่ะ
หัดรู้ทันบ่อยๆ สมาธิจะค่อยๆ แข็งแรงขึ้น
เพราะฉะนั้นฝึกให้จิตตั้งมั่น ถ้าไม่ได้ฝึกให้จิตตั้งมั่น อยู่ๆ ก็ไปหมายรู้ว่าร่างกายไม่ใช่เราๆ มันจะกลายเป็นคิดเอา มันไม่ใช่หมายรู้ เลยขั้นหมายรู้ไป ไปขั้นคิด ยากไปไหม มันละเอียดนิดหนึ่ง ใจเย็นๆ บอกแล้วว่ารู้เท่าที่รู้ได้ เห็นเท่าที่เห็นได้ เอาง่ายๆ ร่างกายมันนั่งอยู่ รู้สึก ร่างกายมันยืน มันเดิน มันนอน รู้สึก ร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก เอ้า ทดสอบ ร่างกายหายใจอยู่ รู้สึกไป รู้สึกไหม ร่างกายหายใจ
บางคนฟุ้งซ่าน บางคนรู้สึกได้ แต่ส่วนใหญ่รู้สึกได้แป๊บเดียว แล้วก็เริ่มฟุ้งซ่านแทนว่านี่กำลังสมาธิไม่พอ รู้สึกอีก เห็นไหมร่างกายหายใจ สังเกตไหมว่าดีกว่าเมื่อกี้นี้ เมื่อกี้นั่งได้แป๊บเดียว ฟุ้งซ่านไปแล้ว ตอนนี้เริ่มนั่งได้นานขึ้น ถ้าเราฝึกเรื่อยๆ จิตเราจะค่อยมีกำลัง สมาธิมันจะเกิด เห็นร่างกายมันนั่ง เห็นร่างกายมันหายใจไป รู้สึกไปเรื่อยๆ เดี๋ยวกำลังสมาธิมันจะเพิ่มขึ้น ใช้ได้ ส่วนใหญ่ใช้ได้ ดี หมอใช้ไม่ได้ ฟุ้งซ่าน หนีไปคิดแล้ว พวกเราไปฝึกเอา หายใจออก หายใจเข้า ยืน เดิน นั่ง นอนอะไรนี่ เห็นร่างกายมันทำงานไป
ตรงที่เราเห็นร่างกายมันทำงานไป จิตมันจะค่อยๆ มีกำลังขึ้นมา มันตั้งมั่นขึ้นมา พอจิตมีกำลังมากๆ แล้ว ต่อไปมันเห็นร่างกายกับจิตคนละอันกัน แล้วบางทีมันหมายรู้ต่อไปได้เลย ไม่ได้เจตนา มันเห็นร่างกายไม่ใช่เรา ร่างกายเป็นแค่วัตถุธาตุ ไม่ใช่ตัวเรา ส่วนใหญ่ฟุ้งแล้ว รู้สึกไหม ส่วนใหญ่แอบไปคิดแล้ว เราห้ามจิตคิดไม่ได้ แต่จิตหนีไปคิดให้รู้เอา นั่งไป นั่งเห็นร่างกายหายใจไป วันนี้เรียนภาคปฏิบัติ
พอเรานั่งเห็นร่างกายหายใจ บางทีจิตมันก็ตั้งมั่นขึ้นมา บางทีจิตก็หนีไปคิดเรื่องอื่น ให้เรารู้ทัน นั่งไป เห็นร่างกายมันเคลื่อนไหว มันหายใจ มันของถูกรู้ถูกดู พอนั่งไปอย่างนี้สักพัก จิตมันเริ่มมีสมาธิขึ้นมา พวกเราดูอีกที ดูอีกชั้นหนึ่ง รู้สึกไหมร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา อย่าคิด แค่รู้สึก หมอหลงคิดแล้ว นั่งดูร่างกายนั่ง นั่งดูร่างกายหายใจ แล้วจิตมันจะหนีไป รู้ทัน จิตมันปรุงอะไรขึ้นมา รู้ทัน
เราจะรู้ทันความปรุงแต่งได้ มันก็ต้องเห็นตั้งแต่มันยังไม่ทันจะปรุงแต่ง อย่างเราภาวนาของเราไปเรื่อยๆ เห็นกายหายใจ จิตมันแวบไป ไปคิดนึกอะไรอย่างนี้ เราก็จะเห็นได้ง่าย นี่จิตมันปรุงแต่งแล้ว สังเกตไหม เราเห็นร่างกายนั่ง เราเห็นร่างกายหายใจ จิตมันหนีไปทำงานได้ บางทีมันก็รู้สึกที่ร่างกาย บางทีก็หนีไปคิดเรื่องอื่น ตรงนี้คือจิตมันปรุงแต่งแล้ว ให้เรารู้ทัน ต่อไปมันปรุงอะไรนิดๆ หน่อยๆ เราก็เห็น ปรุงสุขขึ้นมา เราก็เห็น ปรุงทุกข์ขึ้นมา เราก็เห็น ปรุงดี ปรุงชั่ว มันก็เห็นเองล่ะ
ให้จิตมันมีบ้านอยู่ไว้ก่อน อย่างนี้ให้ใช้กาย ที่หลวงพ่อสอนวันนี้ ร่างกายเราหนีไปไหนไม่ได้หรอก เอาจิตเป็นวิหารธรรมยาก จิตมันหนีเก่ง หายใจออก รู้สึกตัว หายใจเข้า รู้สึกตัว หายใจแล้ว จิตหนีไปคิดเรื่องอื่น รู้สึกตัว รู้สึก รู้ ไม่ห้าม หนีไปคิด รู้ว่าหนีไปคิด เท่านั้นจบแล้ว ไปทำเอา กลับไป มีเวลาเมื่อไรก็ทำ หายใจออก รู้สึกตัว หายใจเข้า รู้สึกตัว ยืน รู้สึกตัว เดิน รู้สึกตัว นั่ง รู้สึกตัว นอนรู้สึกตัวไป พอจิตหนีไป รู้ทัน รู้สึกๆ อยู่ หนีแวบ รู้ทัน
ตรงที่รู้ทันบ่อยๆ สมาธิจะค่อยๆ แข็งแรงขึ้น ทำกรรมฐานไว้สักอย่างหนึ่ง ที่แนะนำวันนี้ก็คือนั่งดูร่างกาย กายนั่งก็ได้ กายหายใจก็ได้ แล้วจิตหนีไปคิด รู้ทัน จิตไปทำอะไร รู้ทัน ตรงที่เรารู้ทันพฤติกรรมของจิตนั่นล่ะ สมาธิมันจะเกิดขึ้น พอเราสะสมมากๆ จิตมันจะมีกำลัง ตั้งมั่น เด่นดวงขึ้นมา มันมีกำลังมากพอแล้ว เวลามันย้อนมาดูกาย มันจะเห็นทันทีเลย กายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่คิดเอา ถ้าจิตมีกำลังสมาธิพอแล้ว พอรู้สึกลงในกายปุ๊บ สติระลึกรู้กาย จิตตั้งมั่นพอ ปัญญาจะเกิดทันที เห็นความจริงของกาย ไม่ใช่เรา
ก่อนจะถึงจุดที่มันเห็นไม่ใช่เรา เห็นไตรลักษณ์ตัวนี้ จิตต้องตั้งมั่น จิตเราจะตั้งมั่นได้ดี ทำกรรมฐานไปอย่างที่สอน หายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก นั่งอยู่ รู้สึก เคลื่อนไหว รู้สึก หยุดนิ่ง รู้สึก รู้สึกๆ อยู่กับอารมณ์กรรมฐาน พอจิตมันหนีไปคิดเรื่องอื่น ก็ให้รู้ทันเอา นั่งไปๆ เกิดความรู้สึกขี้เกียจ จิตมันปรุงความขี้เกียจ มีสติรู้ทัน
ตรงที่เรารู้ทันจิตตัวเองนั่นล่ะ สมาธิมันจะเกิด ฉะนั้นบทเรียนที่จะสร้างสมาธิถึงชื่อว่าอธิจิตตสิกขา เป็นเรื่องจิตตสิกขา เรียนรู้จิตตัวเอง แล้วเราจะได้สมาธิ เมื่อเราได้สมาธิแล้ว สติระลึกรู้ลงในร่างกาย เราจะเห็นร่างกายไม่ใช่ตัวเรา พอสติระลึกรู้ในเวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ ก็จะเห็นเวทนา ไม่ใช่ตัวเรา สติรู้จิตที่เป็นกุศล รู้กุศล รู้โลภ โกรธ หลงที่เกิดขึ้น ก็จะเห็นกุศล หรือโลภ โกรธ หลง ก็ไม่ใช่ตัวเรา มันจะเห็น เห็นถูก เราจะล้างความเห็นผิดด้วยการเห็นถูก เราจะเห็นถูกได้ จิตต้องเป็นผู้เห็น จิตต้องเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นผู้เห็นนั่นล่ะ
จิตจะเป็นผู้เห็นได้ ก็อาศัยการฝึก ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วรู้สึกไปเรื่อย ร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึกไปเรื่อยๆ ระหว่างรู้สึกนั้น ถ้าจิตมันแวบไปทำอะไร เช่น มันเกิดแวบไปคิด รู้ทัน สมาธิจะเกิด จิตเบื่อหน่าย ขี้เกียจดูแล้ว รู้ทัน สมาธิก็จะเกิด นั่งไปๆ เกิดขนลุกขนพอง มีปีติขึ้นมา รู้ทันว่าจิตมีปีติ ผู้รู้ก็เกิด จิตรู้ก็จะเกิด สมาธิก็จะเกิด
เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานไป เห็นร่างกายหายใจ เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน เห็นร่างกาย เคลื่อนไหว หยุดนิ่ง ทำไปเรื่อยๆ แล้วจิตมันทำอะไรขึ้นมา มันปรุงอะไรขึ้นมา คอยรู้ไว้ พอรู้ไปเรื่อยๆ จิตจะเริ่มมีกำลัง สมาธิมันจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา
พอจิตเราตั้งมั่นแล้ว คราวนี้ปัญญามันจะเกิด แต่เดิมสติระลึกรู้ร่างกาย เห็นร่างกายหายใจออก หายใจเข้า พอจิตมันตั้งมั่นมีกำลังแล้ว สติระลึกลงในกาย มันไม่ได้มีแค่สติเห็นร่างกายหายใจออก หายใจเข้าอีกต่อไปแล้ว แต่มันมีปัญญาเกิดขึ้น เห็นว่าตัวที่หายใจอยู่ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ปัญญา มันเกิดจากอำนาจของสมาธิที่ถูกต้อง ถ้าปราศจากสมาธิที่ถูกต้อง ปัญญาไม่เกิดหรอก เพราะสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา
เมื่อราวๆ ปี 2526 – 2527 อะไรอย่างนี้ 2527 ตอนนั้นหลวงปู่ดูลย์มรณภาพแล้ว หลวงพ่อก็ไปเรียนกับครูบาอาจารย์องค์อื่น ที่เป็นหลักๆ เลยก็หลวงปู่เทสก์กับหลวงปู่สิม 2 องค์นี้ ที่วัดหลวงปู่เทสก์คนเยอะ ญาติโยมเยอะ ไปนั่งสมาธิ ไปเดินจงกรม เยอะมากเลย คืนหนึ่งๆ เป็นร้อยๆ คนเลย ไม่ใช่เทศกาล เป็นเรื่องปกติเลยที่ญาติโยมไปอยู่ที่นั่นเป็นร้อยๆ ไปเดินดู ภาวนาแบบนี้ยากๆ จิตไม่ได้มีสมาธิที่ถูกต้อง
บางคนก็นั่งหายใจไปแล้วก็เครียดมากเลย ข่มตัวเองให้เครียด ร่างกายก็เครียด จิตใจก็เครียด นั่นสุดโต่งไปในทางอัตตกิลมถานุโยค ไปทางบังคับตัวเอง พวกนี้ทำตัวเองให้ลำบาก ทำกายให้ลำบาก ทำจิตให้ลำบาก เหนื่อยเปล่า พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าเหนื่อยเปล่า อีกพวกหนึ่งนั่ง ใจก็ล่องลอย กลับมาบ้านบ้าง ไปเที่ยวที่อื่นบ้างอะไรนี่ ใจล่องล่อย คือใจมันลืมร่างกาย ลืมจิตใจของตัวเอง หลงคิดอะไรเพลินๆ ไป อันนั้นย่อหย่อนไป เป็นกามสุขัลลิกานุโยค หย่อนไป ก็ฟุ้งซ่านอย่างนั้น มันจะดีได้อย่างไรๆ
ไม่พัก ไม่เพียร
ฉะนั้นนักปฏิบัติเกือบร้อยละ 100 สมาธิไม่ถูก ถึงไม่บรรลุมรรคผลกันสักที ถ้าสมาธิถูก เป็นสัมมาสมาธิจริงๆ การเจริญปัญญาจะไม่ยืดเยื้อยาวนานเลย มันจะเห็นอย่างรวดเร็วเลยว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันทำวิปัสสนาได้จริง แต่ถ้าจิตยังติดความฟุ้งซ่านอยู่ คิดโน่นคิดนี่ไป หลง อันนี้ย่อหย่อน ก็ไม่เห็นไตรลักษณ์ อย่างมากก็คิดเรื่องไตรลักษณ์ ถ้านั่งเพ่ง ทำตัวเองลำบาก เหนื่อยกายเหนื่อยใจ ก็ไม่เห็นไตรลักษณ์
ในพระไตรปิฎกก็เคยมีเทวดาองค์หนึ่งไปทูลถามพระพุทธเจ้า เทวดาองค์นี้ท่านคิดว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์ แล้วไปถามพระพุทธเจ้า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ข้ามโอฆะได้อย่างไร” โอฆะคือห้วงน้ำ ก็คือกิเลสนั่นล่ะ ท่านพ้นกิเลสได้อย่างไร คล้ายๆ มาชวนคุยแลกเปลี่ยนความรู้กัน แลกประสบการณ์กัน
พระพุทธเจ้าท่านรู้ เทวดานี้ยังไม่เข้าใจอะไรเลย ท่านก็แกล้งเทวดา ตอบให้เทวดางงเล่น เทวดาถามว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ข้ามโอฆะได้อย่างไร ท่านตอบว่า “ดูก่อนเทวดา เราข้ามโอฆะได้เพราะเราไม่พักอยู่ และเราไม่เพียรอยู่” เทวดาฟังแล้วงงเลยคราวนี้ แต่เทวดานี้มีข้อดี งงแล้วกล้าถาม ไม่ใช่วางฟอร์ม ไม่รู้เรื่องก็ทำเป็นวางฟอร์มรู้เรื่อง พวกเราหลายคนจะเป็นอย่างนั้น ไม่รู้เรื่องแต่วางฟอร์มรู้เรื่อง อย่างฟังหลวงพ่อเทศน์พยักหน้าไปเรื่อยๆ เข้าใจๆ จริงๆ ไม่เข้าใจ แต่บางคนก็เข้าใจ พยักหน้า อย่างนี้เข้าใจเสื้อขาวนี่
เทวดาก็ถามว่าเป็นอย่างไร ไม่พักกับไม่เพียร พระพุทธเจ้าท่านก็ตอบ บอก “ถ้าเราพักอยู่ เราจะจมลง ถ้าเราเพียรเราจะลอยขึ้น เราไม่พัก เราไม่เพียร เราก็ข้ามกิเลสได้ด้วยวิธีนี้” เทวดาฟังแล้วปิ๊งเลย เข้าใจธรรมะแล้ว แต่พวกเรายังไม่เข้าใจ
คำว่าพักอยู่ก็คือการปล่อยเนื้อปล่อยตัว ปล่อยกายปล่อยใจตามกิเลสไปเรื่อยๆ เรียกว่ากามสุขัลลิกานุโยค ถ้าปล่อยเนื้อปล่อยตัว ปล่อยจิตใจตามกิเลสไปเรื่อยๆ เรียกว่าพักอยู่ ท่านบอกพักอยู่จะจมลง จมอย่างไร จิตมันมีแนวโน้มไปสู่อบาย อย่างถ้าเราปล่อยเนื้อปล่อยตัว ปล่อยกายปล่อยใจมั่วซั่วไปเรื่อยๆ โอกาสไปอบายสูง พักอยู่แล้วจะจมลง จมลงในอบาย
ถ้าเพียรอยู่ เพียรคืออะไร เพียรคืออัตตกิลมถานุโยค จะลอยขึ้น อย่างเราอุตส่าห์เป็นคนดี ทุกวัน แหม เคร่งเครียด รักษาศีล ภาวนาอะไร เคร่งเครียดไปหมดเลย ควบคุมจิตใจตัวเองอย่างเข้มงวด อยากกินไม่กิน อยากนอนไม่นอน ไม่ตามใจกิเลสสักเรื่องหนึ่ง ทรมานมันไปเรื่อยๆ จะลอยขึ้น หมายถึงก็จะไปสู่ภพภูมิที่สูงขึ้นได้
อย่างเราคอยควบคุมตัวเอง บังคับตัวเอง ไม่ให้ทำผิดศีล 5 เราก็มาเป็นคนได้ หรือเราบังคับจิตใจของเราให้อยู่ในความสุขความสงบได้ ก็ไปเป็นพรหมได้ ถ้าเราฝึกจิตฝึกใจ ควบคุมทุกวันๆ มีกำลังมากขึ้น มีหิริมีโอตัปปะอะไรขึ้นมา ละอายบาป เกรงกลัวต่อผลของบาปอะไรอย่างนี้ เราก็เป็นเทวดาได้ พวกนี้ลอยขึ้น การเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นรูปพรหม อรูปพรหม ยังไม่ใช่ทางที่จะนิพพาน อันนั้นเป็นการมีความเพียร แต่ว่าเพียรแบบไม่เป็นทางสายกลาง ถ้าอยากเข้าถึงมรรคผลนิพพาน เราก็ต้องเดินในทางสายกลาง ไม่พักอยู่ ไม่เพียรอยู่
ตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะออกมาบวช เดิมท่านเสพสุขอยู่ในวัง มีความสุขเยอะแยะ อันนั้นเรียกว่ากาม ท่านทิ้งกามสุขแล้วก็มาฝึกจิตใจ มาอยู่กับฤๅษี มาฝึกใจ ฝึกจนให้มันสงบ ท่านเห็นว่ามีความเพียรเสียขนาดนี้ ก็ยังไม่เห็นจะพ้นทุกข์ตรงไหนเลย ท่านก็เลิกฝึกทางจิต มาทรมานร่างกาย ฝึกทางจิตไม่สำเร็จ มาฝึกทางร่างกาย ทรมานร่างกายไปเรื่อยๆ คิดว่าการทรมานกาย วันหนึ่งจะล้างกิเลสได้ อยากกินไม่กิน อยากนอนไม่นอนอะไรอย่างนี้ แล้วต่อไปจะชนะกิเลส แล้วท่านพบว่ามันเหนื่อยเปล่า มันไม่ได้ประโยชน์
ท่านก็หวนระลึกถึงตอนที่ท่านเด็กๆ ในวันที่พระเจ้าสุทโธทนะ พ่อของท่านไปทำพิธีแรกนาขวัญ ท่านอยู่คนเดียวใต้ต้นไม้ อายุไม่มาก ยังเล็กๆ ทีนี้บุญบารมีเก่าท่านเยอะ ท่านอยู่ใต้ต้นไม้ แทนที่จะนั่งขุดดินเล่น จับแมลงเล่นอะไร ไม่ทำ ท่านนั่งหายใจ หายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก จิตรวมๆ ได้ปฐมฌานที่ถูกต้อง ปฐมฌานที่เป็นสัมมาสมาธิ ไม่ใช่ฌานแบบฤๅษีที่เพ่ง มุ่งไปที่ความสงบ อันนี้ท่านนั่งหายใจ ท่านไม่ได้อยากได้อะไรเลย นั่งหายใจไปด้วยความรู้สึกตัว ในที่สุดจิตก็เข้าปฐมฌานได้
ท่านนึกถึงสภาวะอันนี้ขึ้นมาได้ ตรงที่ท่านหายใจอยู่ แล้วก็ไม่ได้บังคับบีบเค้นตัวเอง แล้วก็ไม่ได้ปล่อยจิตใจล่องลอยไป รู้เนื้อรู้ตัวหายใจอยู่ สภาวะอันนี้มีอยู่ ไม่สุดโต่งไป 2 ข้าง แล้วอย่างที่หลวงพ่อสอนเรา คือเรื่องนี้ล่ะ วันนี้ สภาวะ หายใจไป แล้วก็เห็นร่างกายมันหายใจ ไม่ไปบังคับร่างกาย ไม่บังคับจิตใจ ให้สงบ แล้วก็ถ้าจิตมันหลงไป รู้ทัน จิตมันหลงไป รู้ทัน จิตมันจะค่อยๆ ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา
เราปฏิบัติให้ถูก แล้วปฏิบัติให้พอ
จะถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ในวันหนึ่งข้างหน้า
พอพระพุทธเจ้าท่านนึกถึงสมาธิชนิดนี้ได้แล้ว สัมมาสมาธิ ท่านก็ทำต่อเลย ท่านก็ใช้อานาปานสตินั่นล่ะ หายใจไปเรื่อยๆ จนกระทั่งจิตผ่าน เคยผ่านฌานที่หนึ่งมาแล้ว ฌานสอง สาม สี่ขึ้นมา ถึงฌานที่สี่ จิตของท่านก็ตั้งมั่นเด่นดวง มีความเบา นุ่มนวล อ่อนโยน คล่องแคล่ว ว่องไว ควรแก่การงาน ซื่อตรงในการรู้อารมณ์แล้ว ไม่มีนิวรณ์ ไม่มีกิเลสอะไรแทรกแล้ว
ท่านโน้มน้อมจิตนี้ไปเพื่อญาณทัศนะ ท่านดูเอา ความทุกข์มันเกิดจากอะไร ความทุกข์มันเกิดจากจิตนี้เข้าไปหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา ทำไมจิตถึงไปหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา คือจิตมันหลงปรุงแต่ง ทำไมมันถึงหลงปรุงแต่ง เพราะว่ามันเข้าไปยึดถือ ยึดถือในสิ่ง 4 สิ่ง อันหนึ่ง ยึดในกาม ยึดในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทั้งหลาย เรียกยึดในกาม ยึดในทิฏฐิ ความคิดความเห็นทั้งหลาย พวกเรายุคนี้ชอบยึดทิฏฐิ ยึดแต่ความคิดความเห็น ถ้ายึดตรงนี้เมื่อไร จิตก็ดิ้น จิตดิ้นก็คือจิตมันสร้างภพ ก็จะหยิบฉวยยึดถือเอาจิตขึ้นมาเป็นตัวเราของเรา แล้วมันก็เลยทุกข์ขึ้นมา
ท่านก็ดูไปเรื่อยๆ มันมีอุปาทาน 4 ตัว อุปาทานในกาม อุปาทานในทิฏฐิ ยึดในความคิดความเห็น ยึดในวาทะว่าตัวเรามีอยู่จริงๆ เห็นไหม นั่งอยู่ ตัวอะไรนั่งอยู่ เรานั่งอยู่ มันเป็นอย่างนี้ มันจะเห็นว่าตัวเรามีจริงๆ แต่ท่านข้ามตัวนี้ได้แล้ว ท่านไม่ได้ยึดในวาทะว่าตัวเรามีอยู่ แล้วท่านละความยึดมั่นในศีล ในการบำเพ็ญพรตที่งมงาย การบำเพ็ญพรตที่งมงาย เช่น คิดว่าอดข้าวแล้วจะดี ไม่กินข้าว หรือกินแต่ถั่วเขียวแล้วจะดีอะไรอย่างนี้ พวกนี้งมงาย หรือคิดว่าจะภาวนาบรรลุมรรคผล ต้องขอให้เทพเทวดามาช่วย อย่างนี้เรียกว่าประพฤติยึดถือในความงมงาย
พระพุทธเจ้าท่านเห็น อุปาทาน ความยึดถือ 4 อย่างนี้ มันทำให้จิตดิ้นรนเกิดภพ เกิดภพแล้วก็เกิดความยึดถือจิตขึ้นมา หยิบฉวยจิตขึ้นมา มันตะครุบจิตขึ้นมา มันหยิบจิตขึ้นมาได้จริงๆ พอหยิบขึ้นมาปุ๊บ มันก็คือหยิบเอาก้อนทุกข์ขึ้นมา จิตมันเหมือนถ่านไฟร้อนๆ เรานึกว่าของดี หยิบขึ้นมา มันลวกมือเอา แต่มันเผาลนจิตใจของเราอีกทีหนึ่ง
ท่านมีกำลังของสมาธิมากพอ ท่านมองย้อนลงไป จากผลที่มีอยู่ คือทุกข์ อะไรเป็นเหตุของมัน ไล่ๆๆๆ ไปจนถึงอวิชชา ก็ไม่รู้ความจริงว่ากายนี้คือทุกข์ จิตนี้คือทุกข์ มันก็เลยเกิดตัณหา เกิดความอยาก อยากให้กายเป็นสุข อยากให้กายไม่ทุกข์ อยากให้จิตเป็นสุข อยากให้จิตไม่ทุกข์ ก็เพราะไม่รู้ตัวนี้เท่านั้นเอง
ฉะนั้นที่เราฝึกวิปัสสนากรรมฐาน เรามารู้สึกกาย รู้สึกจิตของเรา เพื่อวันหนึ่งเราจะได้เห็น กายนี้คือทุกข์ จิตนี้คือทุกข์ ตอนนี้ยังไม่เห็น ตอนนี้เห็นว่ากายนี้คือทุกข์บ้างสุขบ้าง จิตนี้ทุกข์บ้างสุขบ้าง ยังเห็นอย่างนี้อยู่ ไม่เป็นไร ไม่ต้องตกใจ เห็นอย่างที่มันเป็นเท่าที่รู้สึกได้นั่นล่ะ แล้วมันจะค่อยๆ แก่กล้าขึ้น ถึงวันหนึ่งเราจะเห็นเลย มันทุกข์อยู่เพราะเราไปหยิบฉวยจิตขึ้นมา ถึงจุดที่แตกหักข้ามวัฏฏะ จะเหวี่ยงจิตทิ้งไป กายเป็นธาตุรู้ขึ้นมา ไม่ใช่จิตที่เป็นตัวกูของกูอีกต่อไปแล้ว จะเป็นธาตุรู้ เป็นธรรมธาตุ
ค่อยๆ ฝึก ค่อยฝึกไป วันนี้เล่าให้ฟังตั้งแต่จุดตั้งต้น จนถึงจุดที่จะจบไป จุดที่จบแล้ว พอจิตเราวางจิตลงไปแล้ว มันจะเห็นโลกทั้งโลก รวมทั้งร่างกายเรานี้ มันก็ส่วนหนึ่งของโลก มันเป็นแค่ปรากฏการณ์ที่ไหลเรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุดเท่านั้นเอง อย่างร่างกายเรานี้ว่าของเราๆ พอตายปุ๊บไป ก็กลายเป็นสมบัติของโลกไปแล้ว ไปอยู่กับดิน ต้นไม้ก็เอาไปกิน คนไปกินต้นไม้ ส่วนที่เคยเป็นเซลล์ เป็นร่างกาย เป็นวัตถุของเรา กลายไปอยู่ในร่างคนอื่นก็มี มันหมุนๆ ไปเรื่อยๆ ทั้งจักรวาลเป็นแค่ปรากฏการณ์ที่ไหลไปเรื่อยๆ ไม่มีจุดตั้งต้น ไม่มีจุดสิ้นสุด
แต่ธรรมธาตุที่ไปเห็นจักรวาลที่เคลื่อนไหว เห็นจักรวาลภายในคือรูปนาม ขันธ์ 5 จักรวาลภายนอกก็ตั้งแต่โลกข้างนอกจนถึงจักรวาลกว้างใหญ่อะไรนั่น ตัวที่ไปรู้ไปเห็นนั้นไม่มีความเคลื่อนไหว ที่สุดของทุกข์มันอยู่ตรงนั้นล่ะ เราจะเข้าไปถึงจุดนี้ได้ในวันหนึ่งข้างหน้า ถ้าเราปฏิบัติให้ถูก แล้วปฏิบัติให้พอ
ตอนนี้เราก็เริ่มปฏิบัติให้ถูกเสียก่อน นั่งอยู่ รู้สึกไหม ร่างกายมันนั่ง ขยับ สมมติขยับอย่างนี้ รู้สึกไหม ร่างกายมันขยับ หายใจอยู่ รู้สึกไหมร่างกายมันหายใจ นี่เรากำลังเรียนรู้ทุกข์อยู่ ต่อไปเราจะรู้เลย ร่างกายนี้มีแต่ทุกข์ ไม่มีอย่างอื่นหรอก แต่ไม่ใช่คิดเอา ต้องเห็น ถ้าไม่เห็นล้างกิเลสไม่ได้ คิดเอาเป็นเครื่องมือของกิเลส ความคิดเป็นเครื่องมือของกิเลส กระทั่งคิดดีๆ คิดไปคิดมาก็กูเป็นคนดีขึ้นมา คนอื่นคิดไม่ดี เป็นคนเลว มีคน มีสัตว์ มีเรา มีเขาขึ้นมา
ฉะนั้นวิปัสสนาเราไม่คิดเอา เรารู้สึกเอา รู้สึกไหมร่างกายมันนั่ง รู้สึกไหมร่างกายมัน รู้สึกไหมร่างกายมันหายใจ ไปทำเอาๆ แล้วลองไปรีรันฟังที่หลวงพ่อเทศน์วันนี้แล้วทำไปทุกวันๆ หลวงพ่อท้าเลย ถ้าทำถูกแล้วทำมากพอ ความพ้นทุกข์ ไม่เหลือวิสัยที่มนุษย์ธรรมดาจะทำได้
วัดสวนสันติธรรม
8 มกราคม 2566