รู้ว่ากายใจเป็นทุกข์จึงหมดความยึดมั่น

ธรรมะเป็นของสำคัญ เป็นของมีคุณค่ามาก มันเป็นศาสตร์ที่สอนเราให้รู้ทำอย่างไรเราจะมีชีวิตโดยไม่ทุกข์ ที่จริงศาสตร์อื่นๆ จำนวนมากเขาก็ตอบคำถามนี้ ทำอย่างไรจะไม่มีความทุกข์ อย่างหมอบอกว่ารักษาโรค ฝ่ายปกครอง ศาสตร์อย่างรัฐศาสตร์ จะปกครองอย่างไรให้คนไม่มีความทุกข์ ให้คนมีความสุข ร่มเย็นเป็นสุข ศาสตร์สาขาต่างๆ เศรษฐศาสตร์ ทำอย่างไรเศรษฐกิจจะดี คนจะได้มีความสุข

จริงๆ แล้วสิ่งที่เป็นโจทย์สำคัญในชีวิตของพวกเรา ของคนทั้งหลาย ทำอย่างไรจะมีความสุข พระพุทธศาสนาก็ตอบโจทย์อันนี้เหมือนกัน คนอื่นเขาก็ตอบ ศาสนาอื่นก็ตอบเหมือนกัน แต่คำตอบมันแตกต่างกันไป ใครชอบใจคำตอบอันไหน ก็ไปยึดถืออันนั้น เมื่อก่อนหลวงพ่อรู้จักพวกนักฟิสิกส์ เขาบอกเขาไม่เอาพุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ ในใจของเขามีแต่ฟิสิกฆัง สะระณัง คัจฉามิ ฟิสิกส์เท่านั้นตอบโจทย์ทุกสิ่งทุกอย่าง ก็แล้วแต่ความรู้ความเข้าใจ

ถ้าเราได้ยินได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า เราก็ยังไม่ต้องเชื่อ ท่านไม่ได้สอนให้เราเชื่อ แต่ท่านท้าให้เราพิสูจน์ พวกเราลองสังเกตดูความทุกข์มันอยู่ที่ไหน ความทุกข์ถ้ามันไม่อยู่ที่กาย มันก็อยู่ที่ใจ ก็มีอยู่เท่านี้เองที่มันอยู่ ให้เราเรียนรู้ลงไปที่กายที่ใจ ท่านสอนบอกทุกข์ให้รู้ ฉะนั้นทุกข์อยู่ที่กาย เรียนรู้ลงที่กาย ทุกข์อยู่ที่ใจ เรียนรู้ลงที่ใจ ดูสิ มันจริงหรือไม่จริง

อย่างเรามีสติรู้เนื้อรู้ตัว จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวไว้ แล้วเราตามรู้ร่างกายของเราไปเรื่อยๆ ร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก หัดรู้สึกไปเรื่อยๆ อย่าเอาแต่ใจลอยเผลอเพลิน คิดเรื่องโน้นเรื่องนี้เพลินๆ ไปเรื่อยๆ ให้รู้สึกลงที่ร่างกายดู เราจะเห็นร่างกายเรามันมีความทุกข์บีบคั้นอยู่เสมอล่ะ นั่งอยู่ก็ทุกข์ นั่งนานๆ เดี๋ยวก็ทุกข์แล้ว ยืนนานๆ ก็ทุกข์ เดินนานๆ ก็ทุกข์ นอนนานๆ ยังทุกข์เลย ถ้าเรามีสติอยู่กับร่างกาย เราก็จะเห็นร่างกายมันมีความทุกข์อยู่ทุกๆ อิริยาบถเลย แล้วทำไมเราต้องขยับตัว ต้องกระดุกกระดิก นั่งเฉยๆ นั่งนิ่งๆ นั่งอยู่ไม่ได้ เดี๋ยวมันก็ปวด มันเมื่อย มันเจ็บตรงนั้นตรงนี้ เดี๋ยวมันก็คัน เราก็ต้องขยับ ไปเกาตรงโน้นตรงนี้ แก้คันแก้ทุกข์

ในความเป็นจริงแล้ว อย่างร่างกายเรามันแสดงความทุกข์ให้เราเห็นได้ตลอดเวลา แต่เราละเลยที่จะรู้ที่จะเห็น เราก็เลยเผลอเพลิน ไม่รู้ความจริงว่าร่างกายนี้มันเป็นตัวทุกข์จริงๆ ถ้าสติเราละเอียดว่องไวพอ เราจะเห็นร่างกายนี้หายใจเข้าก็ทุกข์ หายใจออกก็ทุกข์ ลองดูสิ ลองหายใจดู รู้สึกไหมการหายใจก็เป็นภาระๆ ไม่หายใจก็ไม่ได้ พอหายใจเข้าแล้วไม่หายใจออกก็ไม่ได้ มันทุกข์ หายใจออกแล้วไม่หายใจเข้า ก็ไม่ได้ มันทุกข์ ฉะนั้นความทุกข์มันตามบีบคั้นอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกเลย

แค่เรามีสติคอยรู้สึกอยู่ในร่างกายเราไปเรื่อยๆ เราจะเห็น ร่างกายเราไม่มีอย่างอื่นหรอก มีแต่ทุกข์ ทุกข์มากบ้าง ทุกข์น้อยบ้าง คนซึ่งไม่ได้ฝึกฝนทางจิตใจ มองไม่ออก ต้องให้ร่างกายเจ็บป่วยมากๆ ก่อนถึงจะรู้ว่าร่างกายทุกข์ เวลาร่างกายยังไม่ได้เจ็บป่วยหนักๆ มองไม่ออกว่ามันทุกข์ ทำไมเราต้องขยับ ทำไมเราจะต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ทำไมต้องเปลี่ยนจังหวะการหายใจ หายใจเข้า หายใจออก ทำไมต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

เราเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อหนีทุกข์ ความเคลื่อนไหวของร่างกาย มันปิดบังไม่ให้เราเห็นความทุกข์ อย่างเรานั่งนานๆ มันทุกข์ เราไม่มีสติรู้ว่านั่งนานๆ แล้วทุกข์ เราก็ขยับตัว พอทุกข์ขึ้นมาปุ๊บก็ขยับตัว ความทุกข์มันก็หายไปชั่วคราว ทุกข์ที่แรงๆ หายไป เราขยับตัวไปสักพักหนึ่ง ความทุกข์ก็ตามมาบีบคั้นอีกแล้ว ก็ต้องขยับตัวอีกทีหนึ่ง

ฉะนั้นการที่เราคอยขยับๆๆ มันปิดบังความทุกข์ของร่างกาย ในตำราเขาจะใช้คำว่าอิริยาบถปิดบังทุกข์ แต่อิริยาบถปิดบังทุกข์ของร่างกาย ส่วนจิตใจมันหนีทุกข์โดยการเปลี่ยนอารมณ์ๆ อยู่กับอารมณ์นี้เบื่อ มีความทุกข์แล้ว ไปหาอารมณ์อันใหม่ ทีนี้อยู่กับอารมณ์อันไหน มันก็ไม่มีความสุขจริงทั้งๆ ที่เป็นอารมณ์ที่ดี วิเศษวิโสมากมาย เราไปอยู่กับอารมณ์นั้นนานๆ ใจมันก็เบื่อ อยากเปลี่ยนอารมณ์อีกแล้ว หิวอารมณ์อันใหม่ ใจมันก็วิ่งพล่าน แสวงหาอารมณ์ไปเรื่อยๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มันหิว

มันหิวอารมณ์เพื่ออะไร เพื่อมันจะได้ไม่ทุกข์ เปลี่ยนอารมณ์เสีย อย่างเราฟังเพลงๆ หนึ่ง เพราะๆ ถูกอกถูกใจ ฟังครั้งที่หนึ่งก็เพราะ สองก็เพราะ ฟังครั้งที่หนึ่งร้อย ไม่เพราะแล้ว เบื่อแล้ว รำคาญ พอได้ยินแล้วรำคาญเลย อย่างเมื่อก่อนจำได้ไหมตามวัดชอบเปิดเพลงสวดมนต์ของทิเบต เข้าวัดไหนก็เปิด แรกๆ ก็ฟัง แหม มันเพราะจังเลย ฟังไปฟังมาเมื่อไรจะเลิกฟังเสียที เมื่อไรจะเลิกเปิดเพลงนี้เสียทีรำคาญ เราก็ต้องไปแสวงหาอารมณ์ใหม่ ไปฟังอย่างอื่นแทนอะไรอย่างนี้ เรามีแฟนอยู่ อยู่กันหลายๆ ปี ก็เบื่อแล้ว อยากหาอารมณ์ใหม่

ฉะนั้นใจเราในความเป็นจริงแล้ว มันก็ทุกข์อยู่ตลอดเวลาล่ะ แต่เราไม่เห็นเพราะเราเปลี่ยนอารมณ์ไปเรื่อยๆ ฉะนั้นการที่เราเปลี่ยนอารมณ์มันก็เลยปิดบังไม่ให้เราเห็นว่าจิตใจของเรามีความทุกข์ ทำอย่างไรเราจะเห็นกายนี้ทุกข์ ใจนี้ทุกข์ ให้เรามีสติ มีสมาธิ มีความรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ อย่าล่องลอยไปที่อื่นแล้วก็อย่าไปนั่งเพ่ง อย่าไปนั่งบังคับมัน รู้สึกเอา

 

ทุกข์ให้รู้

คำว่ารู้สึกมันเป็นทางสายกลาง ไม่ได้ย่อหย่อนจนขนาดหลงลืมสภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น แล้วก็ไม่ได้ไปกดข่มบังคับกายบังคับใจ รู้สึกเฉยๆ รู้สึกไป ถ้าเรารู้สึกได้ รู้สึกอยู่ในร่างกายนี้ ไม่นานเราก็จะเห็นร่างกายนี้ มันมีความทุกข์จริงๆ แล้วเราก็ต้องขยับตัวหนีความทุกข์ไปเรื่อยๆ เปลี่ยนอิริยาบถหนีความทุกข์ไปเรื่อยๆ ถ้าเปลี่ยนอิริยาบถไม่ได้ ความทุกข์ก็บีบคั้นรุนแรง รุนแรงมากๆ ถึงตายเลย ไม่ต้องนับเรื่องว่าหายใจเข้าแล้วไม่หายใจออก แค่นอนเฉยๆ แล้วกระดิกตัวไม่ได้ อย่างคนป่วยติดเตียง พลิกตัวก็ไม่ได้ ไม่นานตัวก็เน่า นอนหลังแนบเตียงอยู่อย่างนั้น หลังก็เน่า เพราะอะไร เพราะมันไม่ได้ขยับ

ฉะนั้นเราคอยรู้สึก เวลาความทุกข์เกิดขึ้นในร่างกาย ก่อนที่เราจะขยับตัวหนีความทุกข์ ให้รู้เสียหน่อยหนึ่งว่านี่มันทุกข์แล้ว เราจำเป็นต้องขยับเราก็ขยับ ไม่ใช่ว่าเห็นทุกข์แล้วก็นิ่งๆ ให้มันทุกข์ไปเรื่อยๆ อันนั้นมันทรมานตัวเอง เราต้องการเรียนรู้ความจริง ไม่ใช่ต้องการทรมานตัวเอง เพราะฉะนั้นเรามีสติไว้ เวลานั่งอยู่แล้วมันเมื่อยอย่างนี้ ให้รู้ก่อนว่ามันเมื่อยแล้วค่อยขยับ เดินอยู่แล้วมันเมื่อย ให้รู้ว่ามันเมื่อยแล้วค่อยขยับเปลี่ยนอิริยาบถ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอนอะไร ก่อนจะเปลี่ยนอิริยาบถให้รู้ทันทุกข์เสียหน่อยหนึ่ง อันนี้เป็นการหัด ในเบื้องต้นเป็นการหัดที่จะรู้ทุกข์ในร่างกาย

ส่วนในจิตใจอันนี้มันละเอียดกว่าทางร่างกายมาก ต้องอาศัยกำลังของสติที่ละเอียด กำลังของสมาธิที่แข็งแรง เราถึงจะเห็นความทุกข์ในใจเกิดขึ้น อย่างหลวงพ่อภาวนาตั้งแต่เป็นโยม หลวงพ่อเห็นว่าตาเห็นรูป จิตก็ทุกข์ หูได้ยินเสียง จิตก็ทุกข์ จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด จิตก็ทุกข์ มันทุกข์อย่างไร สังเกตไหมขณะที่ตาเห็นรูป ถ้าจิตเราไวพอ สติเราไว แล้วจิตเรามีสมาธิมากพอ ขณะที่ตาเห็นรูป ตากระทบรูป ความสั่นสะเทือนเกิดขึ้นที่จิต ตาเห็นรูปปุ๊บ สะเทือนเข้ามาที่จิต หูได้ยินเสียง ก็เกิดความสั่นสะเทือนขึ้นที่จิต จมูกกระทบกลิ่น ใจก็กระเทือนขึ้นมา กระเทือนขึ้นที่จิต เพราะฉะนั้นจิตไหวกระเพื่อมตลอดเวลาที่มีผัสสะ เห็น โอ๊ย มันทุกข์จังเลย มันเป็นภาระเหลือเกิน

ตรงนี้ใครเคยเห็นยกมือให้หลวงพ่อดูสิ เห็นไหม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์แล้วมันสะเทือนเข้ามาที่จิตใจ ไหนยกมือหน่อย ยกสูงๆ หน่อย โอ ได้เยอะ ใช้ได้ ไหนคนที่อยู่กลางๆ ที่ยกมือเมื่อกี้ มีใครๆ บ้าง ยกใหม่ เอาล่ะ ยืนให้หลวงพ่อดูสักคนสิ เออ ใช้ได้ เห็นจริงๆ ไม่ได้มโน บางคนถามตอบโชะๆๆ เลย เพราะจำได้ๆ แต่สภาวะมันไม่เห็น มันใช้ไม่ได้หรอก ต้องเห็นจริงๆ เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ เรียกว่ามีผัสสะ มันจะเกิดความสะเทือนขึ้นที่ใจ จิตใจต้องทำงานแล้ว จิตใจก็ต้องทำงานทั้งวัน เพราะผัสสะมีทั้งวัน มันกระเทือนทั้งวัน แล้วมันมีความสุขตรงไหน ดูไปเรื่อยๆ โอ๊ย จิตใจนี้ไม่เห็นมันดีตรงไหนเลย มีแต่ความทุกข์ทั้งนั้นเลย กระเทือนแรงๆ บ้าง กระเทือนเบาๆ บ้าง มีแต่ทุกข์ทั้งนั้นเลย นี่ดูของจริง ไม่ใช่คิดเอา

หัดดูไปเรื่อยๆ ต่อไปปัญญามันก็เกิด เมื่อรู้ความจริง ร่างกายนี้ไม่มีอย่างอื่นหรอก มีแต่ทุกข์ เพียงแต่บางทีก็ทุกข์มาก บางทีก็ทุกข์น้อย จิตใจนี้ก็ไม่มีอย่างอื่นหรอก มีแต่ทุกข์ บางทีก็ทุกข์มาก บางทีก็ทุกข์น้อย เราค่อยๆ เรียน ค่อยๆ สังเกตไป พระพุทธเจ้าบอกทุกข์ให้รู้ วันนี้สอนวิธีรู้ทุกข์แบบหนึ่ง รู้ได้เยอะแยะ วิธีการแต่ละคนทำได้หลากหลาย แต่ที่พูดให้ฟังแบบง่ายๆ ลองนั่งนานๆ สิ ทุกข์หรือสุข ไม่ต้องแกล้งถามตัวเองเลยว่านั่งนานๆ แล้วทุกข์หรือสุข ไม่ต้องคิดหรอก นั่งไปเดี๋ยวก็ทุกข์ให้ดู

ตอนวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2525 หลวงพ่อไปเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ครั้งแรก ท่านสอนให้ดูจิต หลวงพ่อก็มาหัดดู นั่งรถไฟกลับมาจากสุรินทร์ นั่งดูมาเรื่อยๆ ดูๆๆ ไป ค่อยๆ แยกๆๆ ไป ทีแรกดูจิต ท่านบอกให้ดูจิต อยากดู จิตอยู่ตรงไหนหนอ ก็รู้ว่าจิตต้องอยู่ในร่างกาย แล้วกำหนดจิตลงไปที่ผม ในผมไม่มีจิต ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ไม่มีจิต จิตอยู่ในร่างกาย แต่ไม่ได้อยู่ตรงไหนของร่างกาย หรือจิตอยู่ในเวทนา จิตอยู่ในเวทนาหรือเปล่า หลวงพ่อก็ทำใจสบาย ทำสมาธิ จิตมีความสุขแล้วก็ดูลงไปในความสุข ความสุขก็ดับ ก็ไม่เห็นมีจิต หรือจิตอยู่ในความทุกข์

คราวนี้นั่งนิ่งๆ ทำจิตให้ทุกข์ไม่เป็น ทำจิตให้สุขเป็น แต่ทำจิตให้ทุกข์ไม่เป็น ดูทุกข์ของกาย นั่งไม่กระดุกกระดิก รถไฟมันก็โยกไปแกว่งไปแกว่งมา เราก็นั่งนิ่งๆ ดู ดูไปๆ โอ๊ย มันเมื่อย มันปวด มันเมื่อย ดูลงไปในความปวดความเมื่อย ความปวดความเมื่อยหายก็ไม่เจอจิต แต่รู้อย่างหนึ่งแล้วว่าร่างกายนี้ถ้าไม่เคลื่อนไหว แล้วมันทุกข์ ความทุกข์มันจะเด่นขึ้นมา ถึงได้เอามาบอกพวกเรานี้ว่าการที่ร่างกายเราเคลื่อนไหว มันปิดบังไม่ให้เราเห็นความทุกข์ในร่างกาย อันนี้ไม่ได้พูดถึงว่าทุกข์แบบเจ็บป่วย ทุกข์แบบถูกเขาตีหัวอะไรอย่างนั้น ทุกข์แบบเขาตีหัวเอา หรือป่วยไข้ ถึงขยับตัวมันก็ไม่หาย อันนี้เป็นทุกข์พื้นๆ ทุกข์ตอนที่ยังไม่ได้เจ็บป่วยอะไรพิเศษ

อยู่เฉยๆ อย่างนี้ทุกข์ แต่ถ้าเราไม่สบาย เห็นไหม คนไม่สบายมากๆ พลิกไปพลิกมาตลอดเวลา รู้สึกไหม เคยเจอไหม เวลาไม่สบายหนักๆ ดิ้นไปทางโน้นดิ้นไปทางนี้ ถามว่าดิ้นหาสวรรค์วิมานอะไร ไม่ได้ดิ้นหาสวรรค์วิมาน มันดิ้นหนีทุกข์ แต่มันหนีไม่รอด เพราะมันป่วยมากแล้ว ฉะนั้นจริงๆ แล้วการที่เราขยับร่างกายเพื่อหนีทุกข์

เพราะฉะนั้นเราคอยรู้สึกอยู่ที่ร่างกายเรื่อยๆ ต่อไปเราก็จะไม่ถูกหลอกลวงด้วยการขยับร่างกาย เราจะเห็น นั่งอยู่ก็ทุกข์ พอรู้ว่าทุกข์แล้วก็ขยับไป หิวข้าวก็ทุกข์ เออ ก็รู้ว่าทุกข์ แล้วก็ไปกินข้าว กินมากไปก็ทุกข์ ท้องแน่นก็ทุกข์ อึไม่ออกก็ทุกข์ อึมากไปไม่เลิกก็ทุกข์อีก ดูลงมาอยู่อย่างนี้ มีสติรู้สึกอยู่กับร่างกายอย่างนี้ ความทุกข์มันจะเยอะแยะไปหมดเลย มีตั้งแต่ทุกข์ประจำวันอย่างปวดอึปวดฉี่อะไรอย่างนี้ ทุกข์ธรรมดา หิวข้าว บางทีก็มีความทุกข์เพราะความหนาว ความร้อน ทุกข์เพราะสิ่งอื่นมากระทบ ถูกมดกัด ถูกงูกัดอะไรอย่างนี้ หรือทุกข์เพราะเจ็บป่วย

เฝ้ารู้เฝ้าดู ร่างกายนี้เป็นที่ตั้งของความทุกข์อันมากมาย เฝ้าดูไปเรื่อยๆ แล้วความหลงว่าร่างกายของเราเป็นของดีของวิเศษมันก็จะหมดไป มันจะเห็นความจริง กายนี้ไม่ดีหรอก กายนี้มีแต่ทุกข์ ส่วนทางจิตใจเราคอยสังเกตไป จิตใจเราพอกระทบอารมณ์ เกิดความรู้สึกสุขบ้าง เกิดความรู้สึกทุกข์บ้าง เกิดอารมณ์ที่ดีบ้าง เกิดโลภ โกรธ หลงบ้าง เราจะเห็นมันทำงานไปเรื่อยๆ มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อันนี้เป็นวิธีดูทุกข์ของจิตอีกแบบหนึ่ง ดู เราเห็นเลยว่าจิตใจเดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็เฉยๆ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หลง หาที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้เลย

อย่างเราทำสมาธิ จิตเรามีความสุข มีความสงบ แต่ถ้าเรามีสติปัญญา เราก็จะเห็นความสุขความสงบจากการนั่งสมาธิก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน หรือเราชอบใครสักคน เราก็ไปจีบเขา จีบมาได้แล้ว มีความสุข ความสุขนั้นอยู่ชั่วคราว เดี๋ยวก็เฉยๆ แล้วก็นานๆ ไปกลายเป็นทุกข์เสียอีกแล้ว เราวิ่งหาความสุขมาตอบสนองจิตใจเราแทบเป็นแทบตาย ความสุขมันอยู่ชั่วคราวแล้วมันก็หายไป จิตใจเราต้องเหน็ดเหนื่อยมากมายในการแสวงหาความสุข จิตใจเราเหน็ดเหนื่อยมากมายในการวิ่งหนีความทุกข์ แต่สุดท้ายหาความสุข ความสุขก็ไม่อยู่กับเราจริง หนีความทุกข์ ก็หนีไม่รอดจริง ดูอย่างนี้

วิธีที่เจริญปัญญาด้วยการการดูกายหรือดูจิต แต่ละอย่างมันทำได้หลากหลาย มีลูกเล่นแพรวพราวเลย แต่ละคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ตรงนี้ล่ะที่ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าทางใครทางมัน แต่ในหลักมันหลักอันเดียวกันที่พระพุทธเจ้าสอน คือทุกข์ให้รู้ ทุกข์ให้รู้ บางท่านก็รู้กายก่อน บางท่านก็รู้จิตก่อน บางท่านรู้กายโดยการมองในมุมนี้ อีกท่านหนึ่งมองอีกมุมหนึ่ง มองคนละมุมกัน แต่สุดท้ายก็คือเห็นว่ากายเป็นทุกข์

คนที่อ่านจิตอ่านใจ ดูจิตดูใจ บางทีก็มอง เอ๊ะ ใจเที่ยวหิวอารมณ์ไปเรื่อยๆ ก็ทุกข์ ใจเกลียดอารมณ์อย่างนี้ก็ทุกข์ อย่างนี้ก็เห็นจิตใจมีทุกข์ หรือถ้าละเอียดขึ้น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ ใจก็กระเทือนขึ้นมา อันนี้ก็ทุกข์แล้ว เป็นทุกข์ที่ประณีตมากเลย หลวงพ่อเคยเห็นตัวนี้ตั้งแต่เป็นโยม ใจที่ไหว พอตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ ใจมันไหวขึ้นมา พอมันเห็นตัวนี้สะเทือนขึ้นมา มันตามรู้ตามดูไม่เลิก ดูอยู่เป็นเดือนเลย โอ๊ย ทรมานมาก ทุกข์เหลือเกิน แต่ไม่รู้ว่าจะพ้นจากจุดตรงนี้ได้อย่างไร

 

การปฏิบัติต้องให้พร้อมทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน

วันหนึ่งก็ขึ้นไปกราบหลวงพ่อพุธ เดือนธันวาคม 1 ธันวาคมมันเป็นวันที่วัดป่าสาละวันเขาจะมีงาน วันบูรพาจารย์ ญาติโยมก็มาเต็มศาลาเลย หลวงพ่อพุธก็เตรียมตัวจะไปสอน หลวงพ่อเข้าไป หลวงพ่อขอโอกาสถามท่าน ผมเห็นจิตมันกระทบอารมณ์แล้วมันสะเทือนทั้งวัน มันมีแต่ทุกข์ ทำอย่างไร ผมทนไม่ไหวแล้ว มันเครียดมากเลย กลางวันก็เห็น กลางคืนก็เห็น นอนหลับอยู่ยังเห็นเลย จิตมันเอาเรื่อง มันไม่ยอม มันกัดไม่ปล่อย มันดูๆๆ

หลวงพ่อพุธท่านก็พยายามแก้ให้ ท่านบอกว่านั่นล่ะการปฏิบัติพอถึงขั้นละเอียดมันก็เหลือแต่ยิบยับๆ อยู่อย่างนั้นล่ะ เหลือแค่นั้นล่ะ มันไม่มาทุกข์ใหญ่ๆ โตๆ อะไรอย่างที่เราเคยเห็น แค่จิตมันไหว มันก็ทุกข์แล้ว ฟังแล้วมันแก้ไม่ตก ก็มันทุกข์ มันอยากหาที่พักซักหน่อย ให้ดูทั้งวันทั้งคืน ถึงท่านจะบอกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา การปฏิบัติพอถึงขึ้นละเอียดแล้ว ก็เห็นจิตมันไหวยิบยับๆ มีแต่ทุกข์ แต่เราอยากหยุดพักบ้าง มันเหนื่อยเต็มทีแล้ว ดูทั้งวันทั้งคืนมาเป็นเดือน

ท่านพยายามแก้ให้ร่วมชั่วโมง พระก็มาตามอยู่เรื่อย บอกได้เวลาต้องไปเทศน์แล้ว ได้เวลาแล้วๆ มาตามเป็นระยะๆ ท่านบอกคนมารอเยอะแยะเลย ท่านบอกเอาไว้ก่อน พวกที่นั่งเต็มศาลานั้นมาฟังธรรมะมาฟังเทศน์ตามประเพณี แต่หลวงพ่อปฏิบัติจริงๆ คนเดียวก็น่าสนใจกว่าคนที่ฟัง พอพระเทศน์จบก็สาธุ ถามว่าเทศน์อะไร ไม่รู้ ท่านบอกนั่งแก้กรรมฐานสำคัญ ท่านแก้จนท่านเหนื่อย ท่านเหนื่อยมากเลย จิตหลวงพ่อมันไม่รู้ มันไม่ลง มันรู้สึกทุกข์จนสยดสยอง ในที่สุดก็ต้องบอกท่านว่านิมนต์หลวงพ่อไปเทศน์เถอะ เดี๋ยวผมหาทางแก้เอาเอง ท่านก็เลยไป

กลับมาบ้านหลวงพ่อเขียนจดหมายไปถามหลวงตามหาบัว หลวงตามหาบัวสมัยโน้น เราเขียนจดหมายไปถามธรรมะท่าน ท่านก็เขียนตอบ เคยเขียนไปถามท่านหลายครั้งอยู่ คราวนี้ไปถามท่าน จะแก้อย่างไรจิตมันกระเทือนแล้วมันทุกข์อยู่ทั้งวันทั้งคืนอย่างนี้ ท่านก็ตอบมาสั้นๆ บอกว่าเราเพิ่งไปทำตามา ท่านไปผ่าต้อ เราเขียนหนังสือยาวๆ ไม่ได้ เอาหนังสือไปอ่านเอาเอง ให้หนังสือธรรมเตรียมพร้อมมาเล่มหนึ่ง หนังสือเล่มหนา

หลวงพ่อเป็นคนไม่ชอบอ่านหนังสือเทศน์ทั่วๆ ไป อ่านก็อ่านพระไตรปิฎก ได้เห็นหนังสือโตๆ เมื่อไรเราจะเจอคำตอบ เราสงสัยจุดเดียว ท่านให้หนังสือมาตั้งเล่มหนึ่ง ไหนๆ ท่านให้เราก็ต้องอ่านล่ะนะ เอาหนังสือวางบนโต๊ะลงกราบ คิดถึงท่าน หยิบหนังสือมาเปิดผัวะ หน้านั้นเลย หน้านั้นคือการตอบปัญหาที่ว่าใจมันกระเทือนทั้งวันทั้งคืน คำตอบของท่านบอกว่าการปฏิบัติพอถึงขั้นละเอียด เหลือแต่ยิบยับๆ เหมือนที่หลวงพ่อพุธบอก เราถอนใจเลย ไม่ได้ผลแหะ คำตอบนี้ยังไม่ตอบโจทย์เรา ทุกข์อย่างนี้เราจะผ่านมันอย่างไร มีแต่ว่าทนไปๆ

วันนั้นจะไปทำงาน ขึ้นรถเมล์ ไปรอรถเมล์อยู่ รถยังไม่มา หลวงพ่อก็เห็นใจมันทำงาน ทุกข์ ก็นึกขึ้นมา เฮ้อ เหนื่อยเต็มทีแล้ววันนี้ ทำสมาธิหน่อยดีกว่าไม่ได้ทำมานานแล้ว เดินปัญญารวดเลย ไม่ยอมทำสมถะ ยืนอยู่ที่ป้ายรถเมล์ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับ 1 หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับ 2 หายใจไม่กี่ทีจิตรวม พอจิตรวมลงไป ร่างกายเราก็ไม่มี โลกข้างนอกก็ไม่มี เหลือแต่จิตดวงเดียว พอจิตถอยออกจากสมาธิ จิตมันเย็นฉ่ำเหมือน long weekend เลย เหมือนช่วง long weekend มีความสุข

เราก็รู้ โอ๊ย แทบเขกหัวตัวเองเลย เรารู้ทุกข์ตลอดเวลา เรียกเราเจริญปัญญาตลอดเวลาโดยไม่ยอมให้จิตพัก ไม่ได้ทำสมถะ มันก็ทุกข์จนกระทั่งจิตมันรับไม่ไหว เพราะฉะนั้นการที่เราจะดูทุกข์ของกายก็ดี ดูทุกข์ของจิตก็ดี ถ้าดูรวดเดียวเลย ไม่ได้ให้จิตทำสมาธิ ไม่ได้ให้จิตพักเลย ถึงจุดหนึ่งมันทนไม่ไหว ดูกายก็ทนไม่ไหว ดูจิตหยาบๆ พอดูได้ แต่พอถึงขั้นละเอียด มันดูไม่ไหว มันไหวยิบยับๆ ทั้งวันทั้งคืน มันทรมาน

เพราะฉะนั้นถ้าเราเกิดสภาวะอันนั้นขึ้นมา เราก็กลับไปทำสมถะ เคยทำสมถะแบบไหน แล้วจิตสงบจิตสบาย ก็ทำอย่างนั้นให้จิตได้พักผ่อน หลวงพ่อทำสมาธิ ทำสมถะมาตั้งแต่เด็ก ทำอยู่ 22 ปีแล้วมันไม่ได้อะไร จิตลึกๆ ยุคก่อนจิตลึกๆ มันดูถูกสมาธิ พอมาเจอหลวงปู่ดูลย์ เจริญปัญญาแล้วโอ๊ย มันพัฒนาเร็ว ก็เลยไม่ทำสมาธิเลย ผ่านไปนานๆ กำลังของสมาธิที่สะสมไว้หมด มันเดินปัญญาต่อไม่ได้จริงแล้ว เกิดสภาวะแบบนี้ผิดพลาดแบบนี้หลายครั้ง เกิดอย่างนี้หลายครั้ง

เพราะฉะนั้นเลยเอามาเตือนพวกเรา ถึงเราจะเจริญปัญญาดูทุกข์ของกายหรือดูทุกข์ของจิต แบ่งเวลาไว้ ถึงเวลาก็ทำความสงบเข้ามาบ้าง ให้จิตใจได้พักผ่อน ไม่ใช่ดูทุกข์ตะพึดตะพือไป เรียกตะบี้ตะบันดู สุดท้ายจิตมันจะทนไม่ไหว ฉะนั้นดูทุกข์ของกายดูทุกข์ของจิตไม่ได้ดูตลอดเวลา ดูพอสมควรแล้วก็น้อมจิตเข้ามาพักผ่อนเป็นระยะๆ ไป คล้ายๆ เราเดิน 2 ขา ขาซ้ายก้าวไป ขาขวา หยุดอย่างนี้ 2 ขา ต้องทำด้วยกัน ต้องเดินด้วยกัน คือเดินสมาธิกับเดินปัญญา เดินสลับกันไป ค่อยๆ ทำ ถึงเวลาก้าวขาซ้าย สมมตินี่เดินปัญญา เสร็จแล้วก็หยุด ขาซ้ายก็หยุด ขาขวาก้าว ทำสมาธิ สลับกันไป ถ้าเดินแต่ขาซ้ายข้างเดียว หรือเดินแต่ขาขวาข้างเดียว คงกลิ้งอยู่ที่นั่น ไปไหนไม่ได้

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติต้องให้พร้อมทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน พระพุทธเจ้าท่านถึงสอนบอกว่าธรรมะที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง คือสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ธรรมะมันมี 4 ตัว ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ นิโรธทำให้แจ้ง มรรคทำให้เจริญ มรรคมีองค์ 8 ท่านย่อลงมา มีครั้งหนึ่งท่านเทศน์สิ่งที่ต้องเจริญคือตัวมรรค คือสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน แต่ต้องเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง ไม่ใช่เจริญส่งเดชมั่วซั่ว

เจริญด้วยปัญญาอันยิ่งก็คือมีสัมปชัญญะ รู้ว่าตอนนี้ควรทำสมถะ ตอนนี้ควรเจริญปัญญา ต้องรู้ เวลาทำสมถะก็จะไม่หลงไปทำวิปัสสนา เวลาทำวิปัสสนาก็ไม่หลงไปทำสมถะ รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ทำเพื่ออะไรอยู่ อย่างนี้เรียกว่าเราทำด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำสมถะ ทำวิปัสสนาโดยมีสัมปชัญญะเป็นตัวปัญญาคอยกำกับว่าตอนนี้เราควรจะทำอะไร ทำเพื่ออะไร จะทำอย่างไร ทำแค่ไหน ไม่หลงไม่ลืมที่จะทำ ค่อยๆ ทำไป แล้วเราจะค่อยเจริญขึ้นๆ

 

รู้ทุกข์เมื่อไร ก็เป็นอันละสมุทัยเมื่อนั้น

ทดลองนั่งสิ นั่งนานๆ นั่งไป แล้วดูสิสุขหรือทุกข์ พอแล้ว นั่งเป็นตัวอย่างหน่อยเดียวเท่านั้น รู้สึกไหมว่ามันทุกข์ ใครเห็นบ้าง ยกมือให้ดูหน่อยสิ เออ พวกที่เห็น พวกที่ยังไม่เห็นลองไปนั่งให้นานกว่านี้ แล้วอย่างไรความจริงมันก็ต้องปรากฏ เรามีสติรู้สึกกายไปเรื่อยๆ เดี๋ยวความจริงของกายก็ต้องปรากฏ ความจริงของมันก็คือทุกข์นั่นล่ะ ไม่ใช่อย่างอื่นหรอก แล้วถ้าจะดูจิตดูใจ ก็สังเกตไป จิตใจมันทำงานทั้งวันทั้งคืน มีแต่ทุกข์ทั้งนั้น ค่อยๆ ดู ค่อยๆ สังเกตไป

การปฏิบัติ หลวงพ่อก็ได้แต่บอกวิธีให้ พวกเราก็ต้องทำเอาเอง อย่างได้ยินบอกว่าอิริยาบถปิดบังทุกข์อย่างนี้ แล้วเราไม่เคยสนใจจะดู เคลื่อนไหวส่งเดชไปทั้งวัน แล้วบอกไม่เห็นทุกข์เสียทีเลย เพราะมันหนีทุกข์ไปเรื่อยๆ มันจะไปเห็นทุกข์ได้อย่างไร ต้องรอจนกระทั่งไม่มีแรงจะหนีทุกข์ เช่น ป่วยหนักๆ อะไรอย่างนี้ ขยับตัวไม่ได้ อันนั้นถึงจะรู้สึกว่าทุกข์

เราไม่ต้องรอให้เจ็บหนักขนาดนั้นหรอก อยู่ในชีวิตธรรมดานี้ ถ้าจะดูเมื่อยมันใช้เวลา พวกเรารู้สึกไหมในตัวเรานี้มันคัน มันมีจุดที่คันตรงนั้นตรงนี้อยู่เรื่อยๆ ลองดูสิ คัน มีคันไหม พอพูดปุ๊บ คันปั๊บเลยรู้สึกไหม แต่ที่ผ่านมาไม่รู้สึกว่าคันแล้วทุกข์ คันปุ๊บขยับเหมือนลิง เมื่อกี้หลวงพ่อเห็นเยอะเลย นั่งๆ ขยับ

ถ้ามีสติอยู่กับร่างกาย รู้สึกไป ไม่นานเราก็จะเห็นความทุกข์ ร่างกายมีแต่ทุกข์ มีสติรู้สึกจิตไปเรื่อยๆ ไม่นานเราก็จะรู้สึกว่าจิตนั้นก็เป็นตัวทุกข์ มีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา เฝ้ารู้เฝ้าดู ถ้ารู้ทุกข์เมื่อไร ก็เป็นอันละสมุทัยเมื่อนั้น สมุทัยคือตัวความอยาก เรารู้สึกไหม เรารักร่างกายเรามาก หวงแหนมาก เรามีตัณหา มีโลภะเหนียวแน่นอยู่ในร่างกาย อยากให้มันมีแต่ความสุข อยากให้มันอายุยืนยาว อยากให้มันแข็งแรง สารพัดจะอยากเลย เพราะอะไร เพราะเรารักมันมาก แต่ถ้าเรามีสติ รู้สึกกายมากๆ เราจะรู้สึกว่ากายนี้มันตัวทุกข์ พอรู้ว่ากายมันเป็นตัวทุกข์ นี่เรียกว่ารู้ทุกข์แล้ว มันก็จะละความอยาก ละตัณหา ละโลภะ ละราคะ มีชื่อเยอะเลยหลายแบบ มันก็ตัวเดียวกันนั่นล่ะ คือตัวราคะ ความรักใคร่หวงแหน

อย่างเรายึดกายมากเพราะเราเห็นว่ากายเป็นตัวสุข เป็นตัวดี พอเรามีสติรู้สึกอยู่ในกายเนืองๆ กายนี้เป็นตัวทุกข์ ความรักใคร่หวงแหนในร่างกาย ก็จะลดลงจนกระทั่งวันหนึ่งมันไม่ยึดถือในร่างกาย ร่างกายแก่ก็เป็นร่างกายแก่ ไม่ใช่เราแก่ ร่างกายเจ็บก็เป็นร่างกายเจ็บ ไม่ใช่เราเจ็บ ร่างกายตายก็เป็นร่างกายตาย ไม่ใช่เราตาย ร่างกายจะเป็นอย่างไรมันก็ไม่ใช่เรา ดูอย่างไรมันก็ไม่มีเรา แล้วก็ใจมันไม่รักใคร่หวงแหน ฉะนั้นรู้ทุกข์เมื่อไร ก็ละความรักใคร่ผูกพัน คือละสมุทัยเมื่อนั้น ละความรักใคร่ผูกพันก็หมดความยึดถือ จิตก็วาง ไม่ยึดไม่ถือ

ตัวนั้นเป็นตัวนิโรธ วาง นิโรธ มี 5 ระดับ นิโรธ วางเพราะสมถะ วางเพราะวิปัสสนา วางเพราะอริยมรรค วางเพราะอริยผล แล้วก็นิโรธสูงสุดคือพระนิพพาน เราไม่ต้องแจกแจงเยอะ เราดูจากของจริงๆ ไป ใจมันไม่ยึดกายแล้วมันสบายขึ้นไหม หรือมันทุกข์มากขึ้น ถ้าใจมันไม่ยึดร่างกาย มันก็สบาย หมดภาระส่วนใหญ่ไปเลย วันๆ หนึ่งภาระหนักเลยเรื่องร่างกาย

ต่อไปก็ดูจิตใจไป เห็นจิตใจเป็นตัวทุกข์ เรียกรู้ทุกข์ มันก็ละสมุทัย ละความรักใคร่หวงแหนในจิตใจ ก็วางตรงที่วางนั่นล่ะคือตัวนิโรธ ปล่อยวางได้ เป็นนิโรธ แล้วเราจะเข้ามาสู่จุดนี้ได้ด้วยการที่ทำสมถะ วิปัสสนาไปเรื่อยๆ เราจะทำสมถะในเวลาที่ควรทำ คือตอนไหนจิตไม่มีแรง จิตฟุ้งซ่าน จิตเหน็ดเหนื่อย ทำสมถะ ตอนไหนจิตมีเรี่ยวมีแรงแล้ว ก็ออกมารู้ความจริงของกาย ออกมารู้ความจริงของจิตใจสลับกันไปเรื่อยๆ จนกระทั่งในที่สุดมันจะรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง มันจะละความรักใคร่หวงแหนผูกพันในกายในใจ มันจะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในกายในใจ แล้วก็ไม่หยิบฉวยอะไรขึ้นมายึดถืออีก ตรงนั้นล่ะคือที่สุดของทุกข์ ที่สุดของทุกข์ก็อยู่ตรงที่เราสามารถวางความถือมั่นในกายในใจนี้ได้

 

“สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น”
นี่เป็นหัวใจคำสอนของพระพุทธเจ้า

 

เคยมีคนไปถามพระพุทธเจ้า เทวดาเคยไปถามด้วยว่าอะไรเป็นคำสอนรวบยอดของท่าน อะไรเป็นคำสอนรวบยอดในพระพุทธศาสนา ขอให้ท่านพูดในประโยคเดียว พระพุทธเจ้าตอบบอกว่ามี พูดได้ ประโยคเดียวก็พูดได้ “สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” นี่เป็นหัวใจคำสอนของพระพุทธเจ้า

คำว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงก็คือรูปธรรมนามธรรม ไม่ใช่สิ่งที่ควรยึดมั่นถือมั่น คือกายกับใจเรานี้ล่ะไม่ควรยึดมั่นถือมั่น มันยึดมั่นถือมั่นเพราะมันไม่รู้ว่ากายนี้คือทุกข์ จิตนี้คือทุกข์ มันก็เลยรักใคร่หวงแหนเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ถ้าเราทำสมถะวิปัสสนา เรื่อยๆ ไป มันรู้ความจริง กายนี้คือตัวทุกข์ จิตนี้คือตัวทุกข์ มันก็หมดความรักใคร่หวงแหน หมดความยึดมั่นถือมั่น

ตรงที่ไม่ยึดถือสิ่งใดนั่นล่ะคือคำสอนรวบยอดของพระพุทธเจ้า ถ้าใครเขาถามเราว่าอะไรเป็นแก่นคำสอนที่แท้จริง ก็คือธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น วิธีที่จะไม่ยึดมั่นถือมั่นได้ก็คือต้องรู้ทุกข์จนกระทั่งมันละสมุทัย ละความรักใคร่หวงแหนแล้วมันก็ปล่อยวาง มันก็พ้นทุกข์กันตรงนั้นล่ะ นี่คือคำสอนทั้งหลายทั้งปวงทั้งหมดทั้งสิ้นที่สำคัญ เป็นแก่นคำสอนของพระพุทธเจ้า

ถ้าหมดความยึดมั่นถือมั่นในกาย เราจะไม่ทุกข์เพราะกาย กายทุกข์แต่เราไม่ทุกข์ หมดความถือมั่นในจิตใจ คราวนี้ไม่มีที่ตั้งของความทุกข์อีกต่อไปแล้ว เพราะจิตใจก็ไม่ใช่เรา ทุกข์อยู่ในอากาศ ไม่เกี่ยวอะไร จิตใจเข้าถึงสันติสุข สันติสุขก็คือคำว่านิพพานนั่นล่ะ สันติคือนิพพาน นิพพานเป็นบรมสุข เป็นสุขที่ไม่มีสิ่งใดเสียดแทง ความสุขในร่างกายเป็นสุขที่ถูกเสียดแทง สุขแป๊บเดียว ก็ถูกบีบคั้นจนทุกข์อีกแล้ว ความสุขในจิตใจก็มีความเสียดแทง ถ้าเราภาวนาดีๆ เราจะเห็นเลยเวลาจิตมีความสุขก็ทุกข์

เพราะฉะนั้นทำเอาจนวันหนึ่งเราจะไปสู่จุดที่ว่าเราไม่ยึดมั่นถือมั่นในธรรมะทั้งปวง ทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรม ทั้งกายทั้งใจนี้ นิพพานก็ไม่ใช่เป็นที่ตั้งของความยึดมั่นถือมั่น เพราะถ้ายังยึดมั่นถือมั่น ก็ไม่เจอนิพพาน ถ้าหมดความยึดมั่นถือมั่น ก็เจอนิพพาน นิพพานเป็นอนัตตา แล้วก็ไม่เป็นที่ตั้งของความยึดมั่นถือมั่นด้วย สิ่งที่เป็นที่ตั้งของความยึดมั่นถือมั่นได้ก็กายกับใจของเรานี้ล่ะ ขันธ์ 5 นี้ล่ะ

วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ เทศน์ทีไรยากทุกที ทนเอาหน่อยๆ ค่อยๆ ทำไป ค่อยๆ ปฏิบัติไป แล้ววันหนึ่งจะเข้าใจสิ่งที่หลวงพ่อพูด สิ่งที่หลวงพ่อเอามาสอน หลวงพ่อไม่ได้มโนขึ้นมา ไม่ได้กางตำราเอามาสอน หลวงพ่อภาวนาเอา อยู่กับครูบาอาจารย์ ได้ยินได้ฟัง ได้ลงมือทำ ไม่สงสัยอะไร ก็เอามาบอกพวกเราลองทำดู

หัดใหม่ๆ หัดรู้สึกตัว รู้กายรู้ใจ ทุกข์มันก็น้อยลง สั้นลงอะไรอย่างนี้ รู้สึกชีวิตมีความสุขมากขึ้นๆ ต่อไปพอปัญญาแก่กล้า ก็พบว่าความสุขจริงๆ ไม่มี มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ถ้าเห็นว่ากายนี้ใจนี้มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย มันก็จะวางแล้วล่ะ มันก็จะละสมุทัยได้ ละความรักใคร่หวงแหนในร่างกายจิตใจได้ ก็ปล่อยวางได้ ก็จะเข้าใจว่า โอ้ พระพุทธเจ้าสอนธรรมะมาตั้งมากมายก็เพื่อมาสู่จุดนี้ล่ะ สอนเราจนกระทั่งเห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ก็มาสู่จุดนี้ล่ะ ที่ทุกข์ก็เพราะยึดนั่นล่ะ ที่เข้าไปยึดก็เพราะอยาก ที่อยากก็เพราะโง่ ไม่เห็นทุกข์ ก็แค่นั้นล่ะ คำว่าอวิชชาๆ คือโง่ ไม่รู้ทุกข์

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
24 กันยายน 2566