แก้มิจฉาทิฏฐิด้วยวิปัสสนา

อีก 15 ชั่วโมง ปี 2564 ก็จะผ่านไป ไม่มีอีกแล้วปี 2564 จบ เวลาผ่านไปเรื่อยๆ เอาคืนไม่ได้ ปกติสิ้นปีจะเป็นเวลาทบทวน ประเมินผลว่าช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา กิจกรรมที่เราทำกิจการทั้งหลาย ได้ผลบวกหรือผลลบ กำไรหรือขาดทุน ข้าราชการเขาก็ใช้ปีงบประมาณ ทางโลกก็ปีปฏิทินอันนี้ พอสิ้นปีทีก็มาประเมินว่า ดูงบดุลกำไรขาดทุนอะไรอย่างนี้ พวกเรานักปฏิบัติก็ประเมินเหมือนกัน ในทางธรรมหนึ่งปีที่ผ่านมากำไรหรือขาดทุน ดูจากอะไรกำไรขาดทุน ดูต้นทุนที่เรามีที่เราลงไป หนึ่งปีที่ผ่านมาเราลงทุนด้วยอะไร ด้วยเวลา เวลาหนึ่งปีก็คือชีวิตเราที่หมดไปหนึ่งปี นี่คือต้นทุนที่เราลงไปในปีที่ผ่านมา แล้วเราได้อะไรมาระหว่างบุญกับบาป ได้อะไรมากกว่ากัน ถ้าหนึ่งปีที่ผ่านมาทำบาปเยอะก็คือขาดทุนเยอะ ถ้าทำบุญเยอะก็ต้องดูอีก บุญมันระดับไหน บุญธรรมดาๆ หรือบุญใหญ่คือบุญจากการภาวนา

การทำบุญทำความดีเล็กๆ น้อยๆ อะไรมีโอกาสทำก็ทำไป แต่ก็อย่าไปประกอบกิจการประเภทต่ำเตี้ยเรี่ยดินอยู่อย่างนั้น บางคนก็ทำบุญแบบทำทาน ถือศีล ถามว่าดีไหม ดีทั้งนั้น นั่งสมาธิทำความสงบดีไหม ดี มันมีบุญที่ใหญ่กว่านั้น บุญที่ประกอบด้วยสติด้วยปัญญาคือเป็นบุญใหญ่ บุญใดไม่ประกอบด้วยปัญญาเป็นบุญเล็กน้อย เราทำบุญก็ทำบุญให้มันใหญ่ ไม่ใช่ว่าจ่ายเงินเยอะ ทำบุญที่มีสติมีปัญญาไว้ ก็คล้ายๆ การประกอบกิจการ สติปัญญาเรามีแค่นี้เราก็ทำกิจการเล็กๆ กำไรก็เล็กๆ สติปัญญาเราสูงมีความสามารถสูง รู้จักแสวงหาโอกาส เราก็ทำบุญที่ใหญ่ขึ้นไปได้ ประกอบด้วยสติปัญญา

ชาวพุทธเราไม่รอโอกาส รอโอกาสมันต่ำต้อยไป เราแสวงหาโอกาสให้กับตัวเอง อย่างการที่เรามาฟังธรรม คือการแสวงหาโอกาสให้กับตัวเอง การที่เราลงมือปฏิบัติธรรมคือการให้โอกาสกับตัวเอง แล้วเราก็กำไรเยอะ ภาวนาได้กำไรมาก มีกำไรมากเราก็มีความสุข ทำกิจการแล้วขาดทุนเอาๆ เจ้าของมันก็ไม่มีความสุข ถ้าหนึ่งปีที่ผ่านมาเราพิจารณาแล้ว เราภาวนาได้กำไรมาก เราก็มีความสุขเป็นผลตอบแทน ทำบุญ สิ่งที่ได้จากบุญก็คือความสุข แล้วถ้าเราพัฒนาการทำบุญของเราขึ้นสู่จุดสูงสุด ในบุญ 10 ข้อ จุดสูงสุดของบุญคือการทำสัมมาทิฏฐิให้เกิดขึ้น ทำทิฏฐิทำความเห็นให้ถูกต้องนั้น เป็นบุญใหญ่ที่สุดแล้ว เพราะประกอบด้วยปัญญา บุญประกอบด้วยปัญญาเราก็ต้องรู้วิธี ค่อยๆ เรียนรู้วิธีที่จะปฏิบัติธรรม ทำทาน ถือศีล นั่งสมาธิอะไรมันก็ดีหรอก ไม่ใช่ไม่ดี แต่การจะทำทิฏฐิให้ตรงเป็นบุญสูงสุด ทำทิฏฐิให้ตรงก็ต้องฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

 

มิจฉาทิฏฐิ

ถ้าเราไม่ได้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน อย่างไรทิฏฐิเราก็ไม่ตรง เริ่มเบี้ยวไปเบี้ยวมา อย่างคนมีมิจฉาทิฏฐิ บางระดับมีมิจฉาทิฏฐิ แต่เขาก็เป็นคนดีไม่ใช่เป็นคนชั่ว อย่างคนส่วนใหญ่ชาวพุทธเราส่วนมาก เราก็เชื่อว่าตายแล้วไปเกิด พอเราตายปุ๊บจิตใจดวงนี้ออกจากร่างนี้ไป ไปเกิดในร่างใหม่ก็จิตดวงเดิม อันนี้ทิฏฐิยังไม่ตรงเพราะยังไม่ได้เจริญวิปัสสนาจริง ถ้าเราเจริญวิปัสสนาจริงเราจะเห็น จิตไม่ได้มีดวงเดียวแต่จิตมีทีละดวง ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป อีกดวงหนึ่งก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป รับช่วงกุศลหรืออกุศลวิบากของจิตดวงก่อน บางทีก็รับมาจากจิตดวงก่อนๆๆๆ อย่างกรรมชั่วบางอย่างกว่าจะให้ผลก็ใช้เวลา กรรมชั่วบางอันให้ผลทันที ทำแล้วก็ได้ผลทันที บางอย่างไปได้ผลในชาติต่อไป บางอย่างก็ได้ผลในอีกหลายๆ ชาติ

เราภาวนาเราก็จะเห็น มันไม่ได้จิตมี ดวงเดียว จิตมันเกิดดับอยู่ตลอดเวลา จิตที่รู้สึกตัว เราต้องมีจิตที่รู้สึกตัวก่อน ถ้าเราไม่มีจิตผู้รู้เราจะไม่เห็นหรอกจิตเกิดดับ เพราะเราจะมีแต่จิตผู้หลง มันก็จะหลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็สะสมมิจฉาทิฏฐิไป ว่าจิตมีดวงเดียว จิตมีดวงเดียวแต่วิ่งไปทางตาแล้วก็วิ่งกลับมา วิ่งไปทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจแล้วก็วิ่งกลับมา แต่ถ้าเรามีตัวจิตผู้รู้ขึ้นมา เราจะเห็นเลยว่าจิตผู้รู้ทรงตัวตั้งมั่นเด่นดวงอยู่ อยู่ๆ ก็ดับลงไปเกิดจิตทางตาไปดูรูปแล้วก็ดับ กลับมาเกิดจิตทางใจจิตที่คิด แล้วเรามีสติรู้ทันจิตที่คิด จิตที่คิดก็ดับเกิดจิตผู้รู้อีก เราจะเห็นว่าจิตแต่ละดวงๆ มันไม่ใช่จิตดวงเดิม จิตผู้รู้ก็อันหนึ่ง จิตที่ดูรูปก็อันหนึ่ง จิตที่ฟังเสียง จิตที่ดมกลิ่น จิตที่ลิ้มรส จิตที่รู้สัมผัสทางกาย จิตที่คิดนึกทางใจ จิตที่ไปเพ่งอารมณ์กรรมฐานก็เป็นคนละอันๆ กัน แล้วทุกๆ ดวงเกิดแล้วดับ

เราเรียกจิตเป็นดวงๆ พอได้ยินอย่างนี้ เราก็เลยคิดว่ามันเป็นดวงจริงๆ มันเป็นภาษาเท่านั้นเอง จิตมีเท่านั้นดวงเท่านี้ดวง เราก็ไปนึกถึงหลอดไฟ มันแค่ภาษาเท่านั้น จิตมันไม่ได้มีรูปร่าง ฉะนั้นมันมีดวงไม่ได้หรอก ไม่ได้เป็นดวงไฟ แต่มันเป็นวิธีเรียก เหมือนเราเลี้ยงช้างเรียกๆ ช้างที่เราเลี้ยงไว้ เรียกเป็นเชือกๆ 3 เชือก 4 เชือก เพราะแต่ละตัวก็มีเชือกมัดเอาไว้ ถ้าช้างป่าเราก็เรียกเป็นตัวๆ เรียกหมา เรียกแมว เราก็เรียกเป็นตัว เรียกคนเราก็เรียกเป็นคนๆ 5 คน 10 คน จิตนี้ก็เรียกเป็นดวงๆ ก็แค่ภาษาเท่านั้น ที่จริงมันไม่มีดวงเพราะมันไม่มีรูปร่าง มันเป็นนามธรรม มันเป็นความรู้สึก

 

“สัจจะความจริงไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเห็นของใครทั้งสิ้น”

 

ถ้าเราภาวนาให้ได้จิตที่เป็นผู้รู้ขึ้นมา เราถึงจะเห็นได้ ว่าจิตผู้รู้มันก็อันหนึ่ง จิตที่ไปดูมันก็อันหนึ่ง จิตที่ไปฟังก็อันหนึ่ง จิตที่ไปดมกลิ่น ลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย จิตที่ไปคิดทางใจ ก็แต่ละอันๆ คนละอันกัน ฉะนั้นเราจะเห็นจิตนั้นมันเกิดดับ เกิดทางไหนก็ดับทางนั้น เกิดที่ตาก็ดับที่ตา เกิดที่หูก็ดับที่หู เกิดที่จมูกก็ดับที่จมูก เกิดที่ใจก็ดับที่ใจ เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป นี่เราเจริญปัญญาเห็นความเกิดดับของจิตทางทวารทั้ง 6 เราก็จะเกิดทิฏฐิที่ตรงว่าจิตไม่ได้มีดวงเดียว ไม่ใช่ร่างกายนี้ตายแล้ว จิตดวงนี้ดวงเดิมนี้ล่ะไปเข้าร่างใหม่ อันนี้ยังไม่ใช่ทิฏฐิที่ตรง

พอเราสำคัญมั่นหมายว่าจิตเรามีอยู่จริงๆ แล้วก็ถาวรอยู่อย่างนี้ เราไม่เห็นมันเกิดดับรู้สึกมันถาวร มันเป็นอยู่ข้างในตัวเรานี้ล่ะ จิตของเราเมื่อวานกับจิตเราวันนี้มันก็ดวงเดิม จิตเราวันนี้กับจิตพรุ่งนี้มันก็ดวงเดิม แล้วก็เห็นว่าถ้าไปทำกรรมชั่ว จิตใจก็ไม่มีความสุข เราอยากจะทำสิ่งที่ดีๆ ฉะนั้นคนที่ทิฏฐิยังไม่ตรงก็ไม่แน่ว่าเขาจะต้องทำชั่ว บางทีเขาก็ทำดีแต่ทำไปแบบไม่ฉลาด แล้วมีบุญไหม มี แต่มีบุญที่ยังไม่สมบูรณ์ทีเดียว อย่างคนไปทำทานใส่บาตร บริจาคเงินในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ถามว่าได้บุญไหม ได้ แต่เขาประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ เขาคิดว่าถ้าเขาทำแล้ว ชาติหน้าเขาจะได้ดีขึ้นจะได้มีความสุข มันคิดว่ามีอะไรบางอย่างที่คงที่อยู่ คือจิตวิญญาณของเรานี้คงที่อยู่ เราทำความดี เดี๋ยวจิตวิญญาณเราจะได้มีความสุข ไปเกิดในที่ดีๆ ได้เป็นเทวดาได้เป็นอะไร พวกนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิว่าจิตมันเที่ยง จิตมันเที่ยงมันไม่รู้จักตาย

อีกพวกหนึ่งเป็นพวกนักฟิสิกส์ ส่วนใหญ่จะเป็นนักฟิสิกส์ ก็มองว่าความรับรู้ไม่อยากเรียกว่าจิต ความรับรู้ที่เรามี พอร่างกายแตกดับมันก็สูญไปเลย พวกหนึ่งก็ตายแล้วก็ยังเป็นอมตะไปเกิดอีก จิตดวงเดิมนี่ล่ะไปเปลี่ยนร่างเกิด นี่ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่ง แล้วพวกนี้จะพยายามทำความดี เพื่อจะได้ไปเกิดที่ดีๆ อีกพวกหนึ่งเห็นว่าตายแล้วสูญไปเลย มันไม่มีอะไร ความรู้สึกนึกคิด ความรับรู้อะไร มีอยู่ในชีวิตปัจจุบัน หลังจากนี้ไม่มีแล้วสูญไปเลย พวกนี้โอกาสที่จะทำชั่วก็เยอะ เมื่อชีวิตมันมีชีวิตเดียวก็ต้องเสพมันให้มากที่สุด โกงได้ก็ไม่เป็นไร รวยขึ้นมาจะได้ทำอะไรอย่างที่อยากทำ เพราะอนาคตไม่มีตายแล้วสูญไม่เป็นไร ฉะนั้นระหว่างมิจฉาทิฏฐิชนิดตายแล้วเกิด กับมิจฉาทิฏฐิชนิดตายแล้วสูญ หลวงพ่อดูแล้วตายแล้วสูญโทษเยอะ มันทำชั่วได้เต็มที่เลยมันไม่กลัวอะไร แล้วคนทั่วไปมันดูไม่ออกว่ามันเป็นมิจฉาทิฏฐิ คิดว่าเป็นทิฏฐิที่ถูกแล้ว ตายแล้วเกิด บางพวกนักวิทยาศาสตร์ นักฟิสิกส์ มันตายแล้วสูญ เขาก็บอกว่าของเขาถูก แต่สัจจะความจริงมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับที่ความเห็นของใครทั้งสิ้น สัจธรรมไม่ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของใคร

เราภาวนาเราจะรู้เลยว่า จิตนั้นเกิดดับๆๆ สืบเนื่องกันไปเรื่อยๆ ตอนที่ชีวิตนี้จะตาย จิตดวงสุดท้ายในชีวิตนี้เขาเรียกว่าจุติจิต จิตที่เคลื่อน เคลื่อนจากภพนี้ดับลงไป มีพลังเหนี่ยวนำให้เกิดปฏิสนธิจิตในภพใหม่ มันขึ้นมารับทันทีเลย เกิดขึ้นมาสืบเนื่อง อย่างเวลาเราตายจิตสุดท้ายดับลงไป ก็ถือว่าเราตายแล้ว ร่างกายก็ตาย จิตก็ตาย มันตายไปด้วยกัน อาศัยพลังงานของกรรมเหนี่ยวนำให้เกิด จิตอีกดวงหนึ่งในชีวิตใหม่ อย่างถ้าเป็นคน ไปเกิดเป็นคนก็ไปปฏิสนธิอยู่ในท้องแม่ ฉะนั้นตอนที่เด็กอยู่ในท้องถือว่ามีชีวิตแล้ว เขามีขันธ์ 5 เรียบร้อยแล้ว รูปเขาก็มีแล้ว เริ่มตั้งแต่มีเซลล์ 1 เซลล์ก็คือมีรูป มีจิตวิญญาณเกิดขึ้นหยั่งลงไปแล้ว แต่มันหยั่งชั่วขณะเดียวเท่านั้นเองตอนลงปฏิสนธิ แล้วถัดจากนั้นมันจะลงภวังค์ มันเหมือนหลับลึกลงไป ช่วงที่อยู่ในท้องบางทีจิตมันลงภวังค์อยู่ยาว แล้วก็บางช่วงก็รู้สึกขึ้นมา

เคยมีคนหนึ่งมาเล่าให้หลวงพ่อฟัง เขาภาวนาเก่งอยู่ เขาบอกเขาจำได้ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ รู้ว่าตัวเองอยู่ในที่แคบๆ มืดๆ อึดอัด ขยับตัวยาก แล้วมันก็เมื่อย พอเมื่อยมันก็พยายามกระดุกกระดิกอยู่ในท้อง เขาบอกเด็กมันดิ้น ทำไมเด็กมันต้องดิ้น เพราะเด็กมันทุกข์ มันดิ้นขยับตัวเพื่อจะหนีความทุกข์ แล้วมันก็หนีไม่ได้จริง ถูกขังอยู่ คนนี้อินทรีย์เขาแก่กล้า เขาระลึกได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง แล้วตอนคลอดออกมา บอกตอนคลอดแสงสว่างมันจ้าขึ้นมากระทบเปลือกตา แสงสว่างจ้า สิ่งแวดล้อมมันเปลี่ยน ตกใจร้องไห้ออกมา ตรงที่ร้องไห้ทำให้ปอดมันทำงานได้ เขารู้ว่าเวลาจิตมันมีปฏิสนธิ ถัดจากนั้นมันจะตกภวังค์อยู่ช่วงหนึ่ง ถ้าไม่ได้เป็นคนล่ะ เป็นเทวดา ตายในภพนี้ปุ๊บไปปฏิสนธิในเทวโลก จิตก็ลงภวังค์เหมือนกัน ลงภวังค์อยู่ช่วงหนึ่งแล้วค่อยขึ้นมา ค่อยมารู้ว่าตัวเองอยู่ที่ไหนเป็นอะไร เป็นอะไร เป็นอะไรกับใครค่อยมารู้ทีหลัง อย่างนี้คนทั่วๆ ไป ถ้าไม่ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า จะหลงว่านี่จิตดวงเดิม จิตดวงเมื่อชาติก่อนนั่นล่ะมาเกิดในชาติใหม่

ฉะนั้นตัวที่จะช่วยแก้มิจฉาทิฏฐิเราได้มีตัวเดียวเอง คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เราจะเห็นรูปธรรมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป รูปก็มีเหตุสัมพันธ์สืบเนื่องกันไป อย่างร่างกายเราอาศัยธาตุมาประชุมกัน มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออก ร่างกายเราก็ค่อยๆ ปรับค่อยๆ เปลี่ยนไป จากตัวเล็กก็ตัวโตขึ้น โตเต็มที่แล้วก็เริ่มตัวฝ่อลงไป อย่างคนแก่ตัวจะงอๆ ลงไปแล้ว มันทรงตัวไม่ไหวแล้ว สุดท้ายก็แตกสลาย จิตใจนี้ก็เหมือนกัน เราภาวนาเราก็จะเห็น จิตทุกชนิดเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป จะจิตที่เป็นกุศลก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จิตที่เป็นอกุศลก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จิตที่เป็นกลางๆ ก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จิตที่มีความสุขเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จิตที่ทุกข์เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จิตเฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ก็แบบเดียวกัน จิตที่เกิดทางตาก็เกิดแล้วก็ดับ เกิดทางหูเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แต่จิตที่เกิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น มันเกิดแวบเดียวเท่านั้น ชั่วขณะหนึ่งแล้วก็ดับ

จิตที่เกิดยาวๆ คือจิตที่เกิดทางใจ อย่างเวลาเราคิด จิตหลงคิด เกิดจิตหลงคิดจำนวนมหาศาล ไม่ใช่จิตดวงเดียวหลงคิดยาวๆ เป็นชั่วโมงได้ ในขณะที่เราหลงคิด มันเกิดจิตที่มีความหลง มีความฟุ้งซ่านอยู่นับจำนวนไม่ถ้วน เป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้านอะไรก็แล้วแต่จะนับเอา ถ้าไม่ภาวนาไม่เห็นหรอก

 

ฝึกให้จิตตั้งมั่น มีสติที่ว่องไว

ถ้าภาวนาแล้วเราจะเริ่มเห็น เราจะเห็นจิตเกิดดับได้ เราต้องมีจิตสำคัญตัวหนึ่ง จิตผู้รู้ให้เกิดก่อน ถ้ามีแต่จิตผู้หลงๆๆ มันแยกแยะไม่ออก จิตผู้รู้มันเป็นตัวตัด ตัดกระแสลงมา กระแสที่หลงขาด เกิดรู้ขึ้นมาชั่วขณะก็ดับ เกิดจิตที่ทำงานต่อไป หลงบ้าง เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง มันเกิดดับ แล้วจิตแต่ละดวงเวลามันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป แล้วจะเกิดจิตดวงใหม่ ถ้าเราภาวนาให้ดีเราจะเห็นมันมีช่องว่างเล็กๆ มาคั่น ระหว่างจิตดวงหนึ่งกับจิตอีกดวงหนึ่ง ค่อยๆ ภาวนาเราจะเห็น เรามีจิตผู้รู้อยู่อย่างนี้ ก่อนที่มันจะเกิดจิตผู้ดูรูป มันจะมีช่องว่างแป๊บหนึ่งสั้นนิดเดียวเลย จากจิตผู้รู้มันจะดับลงไป มีช่องนิดเดียว เกิดจิตที่ดูขึ้นมาแทน ตรงที่เราเห็นมีช่องว่างมาคั่น เรียกว่าสันตติขาด ถ้าสันตติขาดแล้วเราถึงจะรู้ว่า จิตดวงนี้กับจิตอีกดวงหนึ่ง มันคนละดวงกัน ถ้าเราภาวนาสันตติเรายังไม่ขาด เราก็รู้สึกจิตยังมีดวงเดียววิ่งไปวิ่งมา วิ่งไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ฉะนั้นเราต้องฝึกให้จิตมันตั้งมั่นจริงๆ มีสติที่ว่องไว ทำไมต้องมีสติว่องไว เพราะจิตมันเกิดดับรวดเร็ว ถ้าสติเราไม่ว่องไวพอ เราไม่เห็นหรอก เราจะเห็นตอนที่มันเกิดไปแล้ว แล้วตอนที่มันดับก็ไม่เห็น เพราะสติเราอ่อน เราเห็นจิตที่ดูเกิดแล้ว อ้าว เดี๋ยวมีจิตที่คิดเกิดแล้ว ไม่ทันเห็นจิตที่ดูดับหรอก เห็นแต่เกิดไม่เห็นดับ สติเรายังไม่พอ ถ้าสติพอเราจะเห็นจิตที่ดูก็ดวงหนึ่ง จิตที่คิดก็เป็นอีกดวง คนละดวงกัน เกิดดับ มีช่องว่างมาคั่นอันนี้เรียกว่าสันตติ มันขาด ฆนะ คือความเป็นกลุ่มก้อนของขันธ์ก็แตก รูปก็ส่วนรูป รูปไม่ใช่จิต เวทนาก็ส่วนเวทนา เวทนาไม่ใช่กาย ไม่ใช่จิต สังขารก็ส่วนสังขาร ไม่ใช่รูป ไม่ใช่เวทนา ไม่ใช่จิต จิตก็อยู่ส่วนจิต อย่างนี้เรียกว่าแยกขันธ์ออกมาได้

ฆนะ คือกลุ่มก้อนของความเป็นตัวตนมันแตก แล้วเราก็ดูเห็นสันตติมันขาดไป ค่อยๆ ฝึกถึงจุดหนึ่งมันก็เห็นของมันเอง ทำอย่างที่หลวงพ่อแนะนำเรานั่นล่ะ ถือศีล 5 ไว้ ทุกวันปฏิบัติในรูปแบบ ต้องปฏิบัติ บางคนบอกไม่ต้องปฏิบัติ เจริญสติในชีวิตจริงไปเลย ไปไม่รอดหรอก ถึงจุดหนึ่งจิตก็ฟุ้งซ่าน หลวงพ่อพูดเต็มปากเลยว่ามันไปไม่ได้หรอก เพราะว่าเราผ่านประสบการณ์นี้มาด้วยตัวเอง หลวงพ่อนั่งสมาธิมาตั้งแต่ 7 ขวบทำมาตลอด เดินปัญญาไม่เป็น จนอายุ 29 ปีถึงไปเจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านสอนให้ดูจิตเห็นจิตมันเกิดดับได้ พอหลวงพ่อเจริญปัญญาไป หลวงพ่อตื่นเต้นกับการเจริญปัญญา

การเจริญปัญญา ของไม่เคยรู้ได้รู้ ของไม่เคยเห็นได้เห็น ของไม่เคยเข้าใจได้เข้าใจ ใจลึกๆ มันไปดูถูกการทำสมาธิ ดูถูกสมถะไม่ทำเลย อาศัยกำลังของการฝึกสมาธิ 22 ปี มาเจริญปัญญาอยู่ได้ 2 ปีเองกำลังของสมาธิไม่พอแล้ว พอกำลังสมาธิไม่พอวิปัสสนูปกิเลสมันเกิด อย่างเราดูจิตอยู่เราเห็นโทสะผุดขึ้นมาอย่างนี้ เราเห็นมันเคลื่อน แทนที่เห็นปุ๊บมันขาดปั๊บ มันไม่ขาด เพราะกำลังของสมาธิเราไม่พอ เมื่อสมาธิไม่ดีพอปัญญาไม่เกิด ปัญญานั่นล่ะเป็นตัวตัดสภาวะให้ขาด เห็นโทสะมันผุดๆ ขึ้นมาไปดูมัน มันก็เคลื่อนๆๆ ออกไปข้างหน้า แล้วมันก็ดับไป

 

ถ้าสมาธิตกเราเดินปัญญาไม่ได้จริง วิปัสสนูปกิเลสจะเอาไปกิน ฉะนั้นศีลต้องรักษา ทุกวันทำในรูปแบบไว้

 

ตอนที่จิตมันไหลออกไปอยู่ข้างนอก ไม่รู้ไม่เห็นว่าจิตไหลไป เพราะมัวแต่สนใจตัวโทสะที่มันถอยออกไป จิตก็เลยไปว่างสว่างอยู่ข้างนอก จิตสงบไหม สงบ จิตสว่างไหม สว่าง แต่ดูไปๆ มันยังมีตะกอนซ่อนอยู่ในจิตอยู่ จิตนี้ไม่สะอาด ก็ไม่รู้จะไปอย่างไร มันก็สว่าง สบาย มีความสุขอยู่อย่างนั้น ได้ครูบาอาจารย์ท่านมาบอก หลวงตามหาบัวท่านแก้ให้ ไปกราบท่านบอกว่า “พ่อแม่ครูอาจารย์ให้ผมดูจิต ผมก็ดูจิตอยู่ แต่สงสัยว่าทำไมช่วงนี้ไม่มีพัฒนาการเลย ว่างๆ สว่างอยู่อย่างนั้น” ท่านบอกว่า “ที่ว่าดูจิตนั้นดูไม่ถึงจิตแล้ว ต้องเชื่อเรานะตรงนี้สำคัญนะ เราผ่านมาด้วยตัวเราเอง อะไรๆ ก็สู้บริกรรมไม่ได้” เพราะบริกรรมใจมันไม่ชอบ มันก็กลับมาหายใจเข้าพุท-ออกโธ กรรมฐานที่เราถนัด จิตรวม พอจิตรวมมันจะหดตัวกลับเข้ามา แต่ไม่ใช่จมลึกลงไป

เมื่อวานก็มีคนมาเล่าว่าจิตมันหดเข้ามาแล้วมันจมลึกลงไป สงสัยว่าจะเกิดมรรคผลไหม ไม่เกิดหรอก จิตส่งออกนอกแล้ว ส่งออกแต่เข้าไปข้างในก็เรียกออกนอกเหมือนกัน กำลังของสมาธิไม่พอ มันจะเกิดวิปัสสนูปกิเลส ตัวที่หลวงพ่อเคยเจอ วิปัสสนูปกิเลสตัวนั้นเรียกว่าโอภาส สว่าง ว่าง สบาย มีความสุขอยู่อย่างนั้น อยู่ได้เป็นปีเลย นี่จิตไม่เข้าฐานหรอก พอกลับมาหายใจเข้าจิตรวมเข้าฐานปุ๊บ รู้เลยว่าเราเสียเวลาเปล่าไปตั้งนาน ไปหลงอยู่ในวิปัสสนูปกิเลส แล้วรู้ว่ามันไม่ใช่หรอก เพราะมันนิ่งมันว่างเกินไป มันไม่เห็นไตรลักษณ์อะไรอย่างนี้ แต่ไม่รู้ว่ามันเกิดจากอะไร มันพลาดตรงไหนดูไม่ออก ครูบาอาจารย์ท่านแนะให้ก็เลยสังเกตออก อ๋อจิตไม่ตั้งมั่น พอหายใจไม่กี่ครั้ง หายใจเข้าพุท ออกโธนับหนึ่ง พุทโธนับสอง นับไป 28 ครั้งจิตก็รวม จิตรวมแล้วรู้เลยว่า ก่อนหน้านี้มันออกไปอยู่ข้างนอก ใช้ไม่ได้

ฉะนั้นเราต้องทำในรูปแบบ ไม่อย่างนั้นสมาธิเราจะตก ถ้าสมาธิตกเราเดินปัญญาไม่ได้จริง วิปัสสนูปกิเลสจะเอาไปกิน ฉะนั้นศีลต้องรักษา ทุกวันทำในรูปแบบไว้ มีอารมณ์กรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด แล้วเราก็รู้อารมณ์กรรมฐานนั้นไปด้วยใจสบายๆ ไม่ไปบังคับจิตให้สงบ ไม่ไปเค้นไม่ไปบีบคั้นให้จิตสงบ แค่มีอารมณ์กรรมฐานอันหนึ่ง แล้วเราไปรู้อารมณ์นั้นสบายๆ ด้วยจิตใจที่ธรรมดาที่สุดเลย ไปบอกว่ารู้ด้วยใจสบาย ก็ไปแต่งสบายขึ้นมาอีก ไปทำใจสบายก็ใช้ไม่ได้อีก รู้ด้วยใจธรรมดา แล้วใจมันจะได้พักมันสงบลงไปรวมลงไป สว่างขึ้นมา พักผ่อน ไม่คิด ไม่นึก ใจก็มีเรี่ยวมีแรง พอออกจากสมาธิมาแล้วคราวนี้ถึงช็อตที่สาม ถึงบทเรียนที่เราต้องเรียนอันที่สาม ต้องปฏิบัติ คือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน

 

เจริญสติเจริญปัญญาอยู่ในชีวิตประจำวันได้ ถึงจะเก่งจริง

ฉะนั้นที่เราต้องเรียน ก็ต้องมีศีล ตั้งใจรักษาไว้ ต้องมีเจตนางดเว้นการทำบาปอกุศลทางกาย ทางวาจา 5 ข้อนั่นล่ะ ทุกวันทำกรรมฐาน นั่นคือการเพิ่มพลังของสมาธิ ถัดจากนั้นเรามาเจริญปัญญา อยู่ในโลกข้างนอก นี่ล่ะ ตาเห็นรูปก็เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในจิตใจ หูได้ยินเสียงก็เกิดความเปลี่ยนแปลงในจิตใจ จิตไปคิดก็เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในจิตใจ เปลี่ยนแปลงอย่างไร บางทีก็เกิดสุข บางทีก็เกิดทุกข์ บางทีก็เฉยๆ บางทีก็ดี บางทีก็โลภ บางทีก็โกรธ บางทีก็หลง บางทีก็ฟุ้งซ่าน บางทีก็สงบ นี่เป็นความเปลี่ยนแปลง

เราเฝ้ารู้เห็นความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ อย่างเราใช้ชีวิตธรรมดาอย่างนี้ เราขับรถยนต์อยู่ เห็นมอเตอร์ไซค์มาปาดข้างๆ รถเรา เราหงุดหงิด สติเกิดเลยจิตมันหงุดหงิด ความหงุดหงิดดับจิตสบาย ขับรถไปเห็นไฟเขียวดีใจ พอเข้าไปใกล้ๆ ไฟแดงเสียแล้ว หงุดหงิดรู้ว่าหงุดหงิด เห็นจิตใจมันเปลี่ยนอยู่ในชีวิตประจำวันนี้ล่ะ ไปเห็นแมวสวยๆ สมมติเป็นคนชอบแมว พอเห็นแมวแล้วชอบใจสติเกิดเลย ชอบรู้ว่าชอบ เห็นหมาขี้เรื้อนวิ่งเข้ามารู้สึกรังเกียจ ความรังเกียจเกิดสติรู้เลยว่ารังเกียจ นี่คือการฝึกกรรมฐานจริงๆ เลย ตัวนี้ตัวสำคัญเลย ถ้าเราเก่งเฉพาะตอนนั่งสมาธิ ยังไม่เก่งจริงหรอก ตัวที่ยากที่สุด คือการเจริญสติเจริญปัญญาอยู่ในชีวิตประจำวัน ถ้าทำได้ถึงจะเก่งจริง

แต่บางคนถ้าไม่ถนัดจริงๆ ไม่ถนัดแต่ว่าเขาชำนาญในฌาน เขาก็นั่งในรูปแบบ ทำสมาธิไปคืนหนึ่งหลายๆ ชั่วโมง บางช่วงจิตก็รวม บางช่วงจิตก็เจริญปัญญาในฌาน อย่างนั้นก็มี แต่ว่ายุคของเราแทบไม่มีแล้ว คนรุ่นเราที่จะทรงฌานจริงๆ มีนับตัวได้เลย ไม่มีเท่าไรน้อยจริงๆ เลย ลูกศิษย์หลวงพ่อมีไม่รู้กี่หมื่นคนทั่วโลกเยอะแยะ ที่หลวงพ่อเห็นแล้วเจริญปัญญาในฌานได้ เห็นมีอยู่คนสองคนเอง มีไม่มาก เพราะยุคนี้มันเป็นยุควุ่นวาย จะเอาเวลาที่ไหนมานั่งเข้าฌาน นั่งอย่างไรก็ไม่สงบเสียที ฉะนั้นถ้าไปฝากเป็นฝากตายไว้กับการเข้าฌาน ชาตินี้ก็ตายเปล่าแล้วคือมันไม่ได้เข้าหรอก

 

ยุคนี้มันเป็นยุควุ่นวาย จะเอาเวลาที่ไหนมานั่งเข้าฌาน นั่งอย่างไรก็ไม่สงบเสียที
ฉะนั้นถ้าไปฝากเป็นฝากตายไว้กับการเข้าฌาน ชาตินี้ก็ตายเปล่าแล้วคือมันไม่ได้เข้าหรอก
กรรมฐานที่มันเหมาะกับคนยุคนี้ ก็คือการเจริญสติในชีวิตประจำวันนี้ อ่านจิตอ่านใจตัวเองไปเลย

 

กรรมฐานที่มันเหมาะกับคนยุคนี้ ก็คือการเจริญสติในชีวิตประจำวันนี้ อ่านจิตอ่านใจตัวเองไปเลย เมื่อก่อนหลวงพ่อไปเจอพระองค์หนึ่ง ท่านเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อชา ท่านก็เล่าให้ฟังบอกว่า หลวงพ่อชาท่านเคยบอกว่า สอนพวกมีปัญญาอย่าไปเน้นที่สมาธิ มันไปไม่ได้หรอก พวกมีปัญญากล้ามันจะชอบคิดพิจารณา มันไม่สงบหรอก ต้องให้เขาดูจิต หลวงพ่อชาบอกเอง บอกลูกศิษย์ท่าน พวกที่เขามีปัญญาก็ต้องให้ดูจิต หลวงปู่ดูลย์ท่านไม่ได้เรียกพวกมีปัญญา ท่านเรียกคนเมือง เพราะคนเมืองบางคนมันก็ไม่มีปัญญา มันไม่ภาวนา

แล้วคนเมืองกรรมฐานที่เหมาะกับคนเมือง ก็คือการดูจิต แต่ก่อนเป็นสังคมเกษตรทำไร่ทำนา ทำนากันปีละครั้ง หมดหน้านาแล้วก็ว่างยาวเลยคราวนี้ คนส่วนหนึ่งก็ไปกัดปลา ตีไก่อะไรอย่างนั้น เข้าบ่อน เล่นถั่ว เล่นโป อีกพวกหนึ่งก็เข้าวัดสวดมนต์ ทำบุญ ทำทาน นั่งภาวนา ปีหนึ่งๆ เขามีเวลาทำความสงบตั้งหลายเดือน ว่างๆ อยู่ช่วงที่ไม่ได้ทำนา พอสังคมมันเปลี่ยน ตอนนี้ทำนาไม่ได้ปีละครั้งแล้ว ทำนาปีหนึ่ง 3 ครั้ง ไม่มีเวลาไปนั่งสมาธิหรอก ยิ่งคนในเมืองทำมาหากินด้วยการใช้สมอง คิดโน้นคิดนี้ทั้งวัน ไม่มีเวลานั่งสมาธิ นั่งอย่างไรก็ไม่รวม

พระพุทธเจ้าท่านเป็นพระธรรมราชา ท่านเป็นเจ้าของธรรมะ ท่านเลยสอนธรรมะไว้หลากหลาย ไม่ได้สอนเฉพาะคนในยุคของท่านเท่านั้น ธรรมะที่ท่านสอนเผื่อแผ่มาจนถึงยุคของเรา คือการเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การดูจิตดูใจของเรานี่ล่ะ มันเหมาะกับคนที่ทำงานที่ต้องคิดทั้งวัน ฉะนั้นเราก็หัดทุกวันๆ ตั้งอกตั้งใจไว้ศีล 5 ต้องรักษา แบ่งเวลาไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม ทำให้ได้ทุกวันจิตจะได้มีกำลัง แล้วถ้าเก่งจริงก็เจริญปัญญาในฌาน ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่เสียใจ ทำสมาธิให้จิตมีเรี่ยวมีแรง ตั้งมั่นเด่นดวง เกิดผู้รู้ขึ้นมาโดยไม่ต้องรักษาไว้ จิตทรงตัวเป็นจิตผู้รู้โดยไม่ต้องรักษา ทำได้ ฆราวาสก็ทำได้ หลวงพ่อทำได้ตั้งแต่เป็นโยม จิตที่เป็นผู้รู้ ไม่ได้เจตนาให้มันเกิด อาศัยการที่เราฝึกทุกวันๆ มันเกิดเอง

หลวงปู่สิม ท่านไม่รู้จักชื่อหลวงพ่อ ท่านเรียกหลวงพ่อเป็นฉายาว่าผู้รู้ ผู้รู้ๆ ทำอย่างนี้ ผู้รู้อย่าทำอย่างนี้ คนงง เพื่อนๆ ไปด้วยกันทำไมท่านเรียกหลวงพ่อว่าผู้รู้ หลวงพ่อรู้อะไร หลวงพ่อรู้ตัว หลวงพ่อรู้สึกตัวไม่ใช่มานั่งฟุ้งใจลอยทั้งวันเลย นั่นมันผู้หลงไม่ใช่ผู้รู้ ฉะนั้นฆราวาสก็ทำได้ขอให้ตั้งใจจริงๆ เถอะ ฝึกตัวเองทุกวันๆ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธไว้ก็ได้ หรือยืน เดิน นั่ง นอน คอยรู้สึกไปก็ได้ แล้วถ้าจิตมันหนีไปรู้ทันว่าจิตมันหนีไป หายใจเข้าพุทออกโธ จิตมันหนีไปคิดเรื่องอื่นรู้ทันมัน ตรงที่เรารู้ทันๆๆ ตัวรู้มันจะมีกำลังขึ้นมา

พอเรามีศีล เรามีการทำในรูปแบบ เราได้สมาธิที่ดีมาแล้ว เราก็เจริญปัญญาอยู่ในชีวิตนี้ล่ะ ตาเห็นรูป ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นที่จิตเรารู้ทัน หูได้ยินเสียง ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นที่จิตเรารู้ทัน ที่จริงความเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดเฉพาะจิตหรอก ที่กายมันก็เกิด อย่างเราเห็นหน้าคนนี้ ใจมันเกลียดขึ้นมาหน้าตาเราก็เปลี่ยน เจอศัตรูคู่อาฆาตใจเต้นตุ้บๆๆ ร่างกายก็เปลี่ยน เจอสาวสวยใจมันหื่นขึ้นมาหน้าตามันก็เปลี่ยน บางคนเห็นหน้ารู้เลย ไอ้นี่ไอ้หื่นดูออกเลย เพราะฉะนั้นจริงๆ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ มันเกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งกายทั้งใจ

ฉะนั้นถ้าเราดูความเปลี่ยนแปลงของใจไม่ได้ เรารู้ความเปลี่ยนแปลงของกายไว้ก็ได้ อย่างเวลาเราโกรธ เราโกรธหน้าตาเราจะเปลี่ยนเป็นยักษ์ หน้าตาจะถมึงทึงน่าเกลียดขึ้นมา ถ้าเราดูจิตไม่ออกว่าจิตโกรธ ดูหน้าตัวเองกำลังเปลี่ยน หน้าตาหน้าบึ้งแล้ว หรือตอนที่เราทำบุญใส่บาตร หน้าตาเราก็จะเปลี่ยน จะยิ้มแย้ม เขาเรียกอะไร ต้องทำท่านี้ใช่ไหม มันดูยิ้มมีความสุข ฉะนั้นเวลาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ ถ้าเห็นความเปลี่ยนแปลงของจิตได้ก็เห็นไปเลย ถ้ามองไม่ออกเห็นความเปลี่ยนแปลงของกายก็ยังได้ เอามันสักอย่างหนึ่ง เห็นความเปลี่ยนแปลงของกายก็ได้ ของจิตก็ได้ ถ้าดูจิตได้ดูจิตไปเลย ถ้าดูจิตไม่ได้ดูกายไปก่อน ต่อไปก็เห็นจิตชัด อย่างบางคนดูจิตไม่ออก โกรธเห็นหน้าตัวเองเป็นยักษ์แล้ว ไม่ต้องส่องกระจก รู้ด้วยความรู้สึกตอนนี้หน้าตาโหดเหี้ยมมากแล้ว พอเห็นหน้าอย่างนี้ ต่อไปมันรู้เลยนี้มันโกรธแล้ว มันมาอีกช็อตหนึ่ง แล้วมันเห็นจิตที่โกรธได้

 

ชีวิตที่มีสิริมงคล

ฉะนั้นเราพยายามฝึกตัวเอง ทำอย่างที่หลวงพ่อบอก ทำ 3 อย่างนี้ ตั้งใจรักษาศีล ต้องตั้งใจไว้ก่อน เรียกว่ามีเจตนาวิรัติ เจตนางดเว้นการทำบาปอกุศลทางกายวาจา 5 ประการ จะปีใหม่ชอบนักเชียวเคานต์ดาวน์ พากันไปกินเหล้าเคานต์ดาวน์ หาสาระอะไรไม่ได้ กินเหล้าเคานต์ดาวน์ ก็คือยอดเยี่ยมมาก กินเหล้าตั้งแต่ปี 2564 ยันปี 2565 เลย บางท่าน ท่านก็โอ้ให้คนไปกินเหล้าเคานต์ดาวน์ไม่ดี ให้มาสวดมนต์ข้ามปีดีกว่า ในกรุงเทพฯ ปีนี้เขาไม่ให้สวดมนต์ข้ามปี วัดหลวงพ่อก็ไม่ค่อยได้จัดหรอกสวดมนต์ข้ามปี ถ้าจะทำข้ามปีให้ภาวนาข้ามปี คือทำอย่างอื่นไม่เป็นสวดมนต์ไว้ก็ยังดี ดีกว่าไปกินเหล้า ก็เป็นอุบายของพระผู้ใหญ่ ท่านก็บอกให้ไปจัดสวดมนต์ข้ามปี ถ้าทำได้ก็คืออย่างน้อยวันนี้ก็ไม่ชั่ว ไม่ใช่เมาตั้งแต่ปี 2564 ยันปี 2565 ได้ทำความดี สวดมนต์ตั้งแต่ปี 2564 ยันปี 2565 เราทำที่บ้านก็ได้ ปีนี้โควิดระบาดทำที่บ้านก็ได้ หรือจะไม่สวดมนต์ จะนั่งสมาธิก็ได้ เดินจงกรมก็ได้ ทำอะไรก็ได้ที่มันดี ๆ

เราอยากได้ชีวิตที่มีสิริมงคล สิริมงคลให้ใครเขาให้พรเรา ไม่ได้เรื่องหรอก ต้องทำเอาเอง ความดีทำเมื่อไรมันก็ดี ยิ่งทำข้ามปีก็คือดีข้ามปี ไม่ใช่เรื่องโชคลางนะ ทำความดีทำเมื่อไรมันก็ดีเมื่อนั้น ทำไว้ ถ้าเราภาวนา เรารู้เลยว่าทั้งหมดเป็นไปตามกรรม เราทำกรรมที่ดีไว้ ทำบุญทำอะไรอย่างนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราสามารถปรับทิฏฐิของเราให้ตรงได้ เป็นบุญสูงสุดเลย แล้วก็เป็นกุศลด้วย การทำทิฏฐิให้ถูกเป็นทั้งบุญ เป็นทั้งกุศลในตัวเองเลย ถ้าเราทำได้อย่างนี้ก็ดี ทำไม่ได้ก็ทำบุญรองๆ ลงมา ทำทาน ถือศีล นั่งสมาธิอะไรอย่างนี้ ก็ได้บุญทั้งนั้น สังคมสงเคราะห์ช่วยเหลือคนยากคนจน ช่วยเหลือสัตว์ลำบากก็เป็นบุญทั้งหมด ทำแล้วก็ดี ฟังธรรมะก็เป็นบุญ นั่งฟังธรรมะ แสดงธรรมะก็เป็นบุญ ฉะนั้นเรื่องบุญมีตั้งเยอะแยะ บุญจากการช่วยเหลือกิจการที่ดี อย่างไปช่วยบำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ ที่มันเป็นประโยชน์จริงๆ ก็เป็นบุญ

ฉะนั้นบุญมีตั้งเยอะตั้งแยะไม่เสียสตางค์หรอก ไม่จำเป็นต้องเสียสตางค์ แล้วบุญสูงสุดจริงๆ ก็ขึ้นไปเป็นกุศลให้ได้ ปรับทิฏฐิให้ตรง เราไปทำเอาถ้าทำได้ เราจะไม่ขอหรอกพรใครหรอก หลวงพ่อไม่ขอพรใครมานานแล้ว ไม่รู้จะขอทำไม เราเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม ถ้าเราทำกรรมชั่ว เราไปขอพรผู้วิเศษที่ไหนให้พรเราว่าจงมีความสุข เป็นไปไม่ได้หรอกมันผิดกฎแห่งกรรม ถ้าเราทำความดี เราก็ไม่ต้องขอพรใคร เดี๋ยวเราก็มีความสุข มันเป็นเรื่องของกรรม

ฉะนั้นชาวพุทธเราไม่สนใจหรอก เรื่องขอพรรับพรปีใหม่อะไรอย่างนี้ แต่บางทีครูบาอาจารย์พระผู้หลักผู้ใหญ่ท่านก็ให้นะ อนุเคราะห์โลก คนที่อินทรีย์อ่อนๆ เขายังอยากได้พรแบบนั้นอยู่ แต่พวกเราเป็นนักกรรมฐาน ไม่เอาพรเหลวไหลพวกนั้น ไม่ได้ประโยชน์อะไร ท่านเจ้าคุณนรฯ ท่านพูดดี ท่านบอก “ทำดี ดีกว่าขอพร” ท่านพูดตรงเป๊ะเลย ฉะนั้นเราพยายามทำบุญที่ดี ทำสิ่งที่ดีของเราไว้ มันเป็นพรให้ตัวของเราเอง คือชีวิตเราจะได้มีความสุข ทำดีแล้วอย่างไรก็มีความสุข ทำชั่วอย่างไรก็ทุกข์ แล้วถ้าเราดีสุดขีด ถึงขนาดเราปรับสัมมาทิฏฐิให้เกิดขึ้นมาได้ พัฒนาสัมมาทิฏฐิได้เราจะพ้นทุกข์ ตรงที่เราพ้นทุกข์นั่นล่ะ เรามีความสุขที่ปลอดภัย เป็นความสุขที่เกษมเลย ปลอดภัย ความสุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือพระนิพพาน

พรไม่ให้หรอกปีนี้ เสียเวลา สอนถึงขนาดนี้ ถ้ายังอยากได้พรก็ไม่ฉลาดเท่าไรแล้ว แต่คนไม่ฉลาดมันก็เยอะ เอา ให้สักหน่อย “ทำความดีนะ ทำความดีให้เยอะๆ แล้วเป็นการให้พรตัวเราเอง” เท่านี้ล่ะ นี่ล่ะพรตัวจริง ขอให้อย่างโน้น ขอให้อย่างนี้ ไม่จริงหรอก.

 

หลวงพ่อปราโมทย์​ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
31 ธันวาคม 2564