วันนี้มีงานศพหลวงปู่อินสม ที่วัดจอมทอง แม่สะเรียง ทางวัดเขาก็นิมนต์หลวงพ่อไปงาน แต่ว่าไปไม่ไหว ติดงานทางนี้อยู่ ครูบาอาจารย์ร่อยหรอไปเรื่อยๆ หลวงปู่อินสมเป็นพระที่เข้มแข็ง ตัวท่านนิดเดียว ตัวเล็กๆ แต่ใจท่านใหญ่ เข้มแข็ง ต่อสู้ภาวนาดุเดือดเอาชีวิตเข้าแลก ก็เป็นตัวอย่างที่ดี ท่านเล่าให้ฟัง เคยเจอท่าน 2 – 3 ครั้ง ท่านเล่าประสบการณ์ที่ท่านภาวนา ตัวธรรมะไม่ได้คุยกัน แต่ท่านเล่าเรื่องอื่น
ท่านอยู่ทางแม่สะเรียงอยู่ติดกับสาละวิน บอกสมัยก่อนเป็นป่าใหญ่ สัตว์ป่าดุร้ายเยอะ โรคภัยไข้เจ็บก็เยอะ เป็นกลุ่มชนกลุ่มน้อยอะไรก็มีเยอะแยะ บอกว่าท่านไปเดินธุดงค์เข้าป่าไป กลางวันมันร้อนจัด ท่านก็หาถ้ำเข้าไปหลบ อยู่ในถ้ำมันเย็นหน่อย เข้าไปในถ้ำก็เห็นมันมีซุงอยู่ต้นหนึ่ง มันพาดอยู่ยาวๆ ในถ้ำ ท่านก็ไปนั่ง นั่งพัก พอนั่งแล้วก็รู้สึกแผ่นดินไหว มันสะเทือนๆ ท่านก็ลองสังเกตที่พื้น พื้นมันไม่ไหว ท่อนไม้ที่ท่านนั่งมันไหว
ท่านก็เอาไฟส่อง ส่องไปทางนี้ เจอหัวงู ที่ท่านนั่ง นั่งบนงู บอกงูตัวเท่าซุง มันอยู่ในถ้ำ ส่องไปทางนี้เจอหัวมันเห็นตาแววๆ ส่องไปทางนี้ไม่เห็นหางมัน ท่านก็รู้สึก โอ้ คราวนี้แย่แล้ว มาอยู่ในถ้ำเดียวกับงู ท่านก็ย้ายที่นั่ง มันเป็นโพรงแคบๆ แต่ยาว ท่านก็ย้ายที่มานั่งอีกฝั่งหนึ่ง นั่งที่พื้นพิงผนังถ้ำ แล้วก็อธิษฐานในใจว่า ถ้ามีเวรมีกรรมต่อกัน ก็จะกินก็ไม่ว่าอะไร ถ้าไม่มีเวรมีกรรมต่อกัน ก็อย่าไปทำร้ายกัน แล้วท่านก็เข้าสมาธิ จิตรวม
เวลาจิตรวมจะไม่รู้โลกข้างนอกแล้ว ไม่มีร่างกาย ไม่มีงู ไม่มีถ้ำ เหลือแต่จิตดวงเดียว สงบอยู่ภายใน พอจิตถอนออกจากสมาธิมา งูมันไปแล้ว มันคงอิ่มแล้ว ก็เลยไม่อยากกินแล้ว ก็ไป ท่านเล่าสนุก ท่านเจอเสือ เจอช้าง เจออะไร ของเรายุคนี้ไม่มีให้ดู แค่หมูเด้งเราก็ยังแห่ไปดูเลย เสือ ช้าง อยู่ในเขาดิน อยู่ในสวนสัตว์ ที่ๆ จะภาวนาหายาก ป่าเขาอะไรก็มีเจ้าของไปหมดแล้ว ตรงไหนไม่มีเจ้าของ ป่าไม้ก็เป็นเจ้าของ ที่จะไปภาวนาไม่มี หายาก ครูบาอาจารย์ยุคก่อน ท่านออกธุดงค์เที่ยวป่าเที่ยวเขา ของเรายุคนี้ไม่มี ไปที่ไหนก็มีแต่บ้านคน ไปที่ไหนก็เจอแต่คน ทุกหนทุกแห่งมีสัญญาณมือถือ
อยู่ที่ไหน ปฏิบัติที่นั้น
ในวัดนี้หลวงพ่อไม่ให้พระเล่นมือถือ มีธุระใช้ได้แต่ว่าไม่ให้เล่น ถ้าเล่นแล้วเสียหมด ใจฟุ้งซ่าน ธรรมดามันก็ฟุ้งอยู่แล้ว เล่นมากยิ่งฟุ้งมาก ภาวนาไม่ขึ้น ทุกวันนี้มันไม่มีที่จะไปปฏิบัติแล้ว หลวงพ่อถึงบอกพวกเราบ่อยๆ เราอยู่ที่ไหน ปฏิบัติที่นั้น ไม่ต้องอ้างสถานที่ ตรงนี้ไม่เหมาะ ตรงนั้นดี ตรงนี้ไม่ดี ไม่ต้องอ้างสถานที่ ไม่ต้องอ้างเวลา เวลานี้ดี เวลานี้ไม่ดี ตอนนี้ร้อนไป ตอนนี้หนาวไป ข้ออ้างทั้งนั้น อยู่ที่ไหนก็ต้องภาวนาให้ได้ เมื่อไรก็ต้องภาวนาให้ได้ ฝึกตัวเองอย่างนี้
การจะปฏิบัติธรรม การจะภาวนา จุดสำคัญคือเรื่องสติ ต้องมีสติในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ ครูบาอาจารย์สอนหลวงพ่อมาอย่างนี้ หลวงปู่เทสก์ท่านพูดเลย สติสำคัญ จำเป็น สำคัญ จำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ หลวงพ่อภาวนาก็เน้นที่ความมีสติ ตอนเด็กๆ ก็เหมือนพวกเรา คิดถึงการปฏิบัติก็เน้นที่ความสงบ เอะอะก็จะนั่งให้จิตสงบ ให้จิตสงบ มันคิดแต่เรื่องอย่างนั้น ต่อมาภาวนาไปเรื่อยๆ ถึงรู้ว่าสงบมันมีหลายอย่าง สงบโง่ๆ เยอะเหลือเกิน สงบโง่ๆ สงบเซื่องซึม หรือสงบเคร่งเครียด อันนั้นป่วยการสงบ ยิ่งทำกิเลสก็ยิ่งเยอะ จุดสำคัญเรามีสติ แล้วสงบด้วยความมีสติถึงจะใช้ได้
ครูบาอาจารย์ถึงบอก “สติจำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ” บางที่เขาก็สอนกันว่า อย่างเวลาเราเข้าส้วมอย่าปฏิบัติ เดี๋ยวเทวดาติเตียน เทวดาอะไรจะตามเข้าไปในส้วม เวลาอยู่ในส้วมก็ต้องมีสติ มีสติ ไม่ใช่พื้นที่นี้ยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติ ทำไมบอกอยู่ในส้วมไม่ต้องปฏิบัติ ก็เล่นปฏิบัติสมาธิ เดี๋ยวจิตรวมตกส้วมไป ส้วมโบราณ ขุดหลุม ขุดเป็นโพรงแล้วเอาไม้กระดาน 2 แผ่นพาดปากหลุมไว้ ไปนั่งภาวนา จิตรวม รู้สึกอีกทีอยู่ในหลุมแล้ว ก็เลยไม่อยากให้ไปนั่งในส้วมอย่างนั้น ทุกวันนี้ในส้วมนั่งได้ ไม่มีอันตรายอะไร
เวลาหลวงพ่อไปธุระข้างนอก จะแวะเข้าห้องน้ำที่มอเตอร์เวย์ มีห้องน้ำอยู่ 2 – 3 แห่ง ห้องน้ำไม่ค่อยว่าง คนเข้าไปนั่ง นั่งเล่นมือถือ ห้องน้ำก็ไม่ว่าง เราจะรีบไป ไม่ได้เข้าบางที มือถือมันตามเข้าไปถึงในห้องน้ำ แทนที่จะมีสติ มันจะไปมีสติอะไรได้ มีแต่หลง พยายามฝึกสติให้ดี มีสติเราจะได้ศีล มีสติจะได้สมาธิ มีสติแล้วจะเกิดปัญญา มีสติ พอศีล สมาธิ ปัญญาสมบูรณ์ มันจะเกิดวิมุตติ เกิดอริยมรรคอริยผล
ฉะนั้นสติถึงสำคัญมาก เอะอะก็จะเอาแต่ความสงบ ไม่ถูกหรอก สมาธิที่ดีต้องประกอบด้วยสติ สมาธิที่ไม่ประกอบด้วยสติ มันเป็นมิจฉาสมาธิ นั่งแล้วก็เคลิ้มลืมเนื้อลืมตัว อันนั้นเป็นมิจฉาสมาธิ เสียเวลา ไปทำทำไม ธรรมดามันก็ไม่ค่อยมีสติอยู่แล้ว จะไปนั่งสมาธิให้มันขาดสติหนักเข้าไปอีก พูดถึงสติๆ สติหน้าตาเป็นอย่างไร สติเองก็เป็นอนัตตา สั่งให้เกิดไม่ได้ เราต้องรู้ว่าสติมีอะไรเป็นเหตุใกล้ให้เกิด
สติมีการที่จิตเราจำสภาวะได้แม่นเป็นเหตุใกล้ให้เกิด สิ่งที่เรียกว่าสภาวะก็คือรูปธรรมนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้นนั่นล่ะ เรียกว่าสภาวะ ฉะนั้นจิตมีการจำสภาวะได้แม่นยำเป็นเหตุใกล้ให้เกิด ฉะนั้นเราจะต้องมาหัดรู้สภาวะ สภาวะมีรูปธรรมมีนามธรรม สภาวะก็คือสิ่งที่ประกอบกันขึ้น เป็นร่างกายจิตใจของเรานี้เอง พยายามเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ให้มาก รู้สึกให้มาก อย่างร่างกายเราหายใจออก รู้สึก ร่างกายเราหายใจเข้า รู้สึก ต่อไปเวลาเราขาดสติ ลืมการหายใจไปแล้ว ไม่รู้ว่าตอนนี้หายใจออกหรือหายใจเข้า เรียกขาดสติ
เราเคยหายใจออกรู้สึกตัว หายใจเข้ารู้สึกตัวเรื่อยๆ มันจะหลงไม่ยาว ขาดสติประเดี๋ยวเดียว ก็นึกได้ เฮ้ย ลืมการหายใจแล้ว พอนึกได้แล้วก็กลับมาหายใจต่อ หายใจไปสักพักก็ลืมอีกแล้ว ลืม คราวนี้ลืมไม่นาน ก็นึกขึ้นได้ อ้าว ลืมหายใจ ลืมการหายใจอีกแล้ว พอรู้ว่าลืมก็ช่างมัน ลงมือหายใจแล้วรู้สึกใหม่ ไม่ต้องไปแก้ไขว่า เฮ้ย จิตฟุ้งซ่าน ทำอย่างไรมันจะสงบ ทำอย่างไรมันจะไม่ลืมการหายใจ ทำไม่ได้ จิตมันเป็นอนัตตา ไม่ต้องทำหรอก ทำกรรมฐานไป อย่างหายใจไปอย่างนี้ แล้วจิตมันหลงไป มันลืมการทำกรรมฐาน พอรู้ทันเราก็กลับมาทำกรรมฐานของเรา
เวลาที่กลับมาทำกรรมฐานต่อ ต้องฉลาดนิดหนึ่ง เกือบทั้งหมดทำผิด อย่างพอจิตเราหลงไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ พอเรารู้ว่าหลงคิด เราไปดึงจิตคืน ไปดึงปุ๊บกลับมา ไปเอา หวง ไปเอาคืนมา ไปหวงมันทำไม มันเป็นอกุศลจิต โยนมันทิ้งไปเลย แล้วเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ทำกรรมฐานใหม่ แล้วหนีไปอีกก็รู้ทัน โยนมันทิ้งไป จิตดวงที่หนีไปหลงไป จิตไม่ได้มีดวงเดียว อย่าไปคิดว่าจิตมีดวงเดียว เพราะฉะนั้นจิตของเราหนีไป เราต้องเอาคืน แท้จริงแล้วจิตเกิดดับตลอดเวลา จิตบางดวงก็เป็นกุศล บางดวงก็เป็นอกุศล จิตที่หลงไปเป็นจิตอกุศล ไม่ต้องไปหวงมัน
เพราะฉะนั้นเราทำกรรมฐาน อย่างรู้ลมหายใจออกหายใจเข้า พอจิตมันหลงไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ ลืมการหายใจ พอรู้ทันก็เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ นับหนึ่งเลย หมายถึงเริ่มต้นรู้การหายใจเอาใหม่ ไม่ต้องไปแก้ไข จิตหลงแล้วทำอย่างไรจะไม่หลง ถ้าทำได้จิตก็เป็นอัตตา มันทำไม่ได้ จิตมันเป็นอนัตตา มันทำไม่ได้ ฉะนั้นจิตมันหลงไปแล้วก็แล้วกันไป จิตดวงนั้นดับไปแล้ว ตรงที่เรามีสติรู้ทันว่า อ้าว เมื่อกี้มันหลงไปคิด ตรงที่รู้ทันว่ามันหลงไปคิด ตรงนั้นเรียกว่าเรามีสติ เรารู้ทันสภาวะ สภาวะอะไร สภาวะหลง สภาวะฟุ้งซ่าน เรียกว่าอุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านของจิต
หัดรู้ให้เห็นถึงตัวสภาวะให้ได้ แล้วสติตัวจริงถึงจะเกิด
การที่เราเห็นสภาวะบ่อยๆ บางคนมันชอบใจลอย ก็ฝึกกรรมฐานของเราไป ใจลอยไปแล้วก็รู้ ใจลอยแล้วก็รู้ไป ต่อไปพอใจมันลอยปุ๊บ สติมันจำได้ว่าสภาวะใจลอยมันเป็นอย่างนี้เอง มันถูกดูดไปในโลกของความคิด หรือไหลพรวดไปที่โน่นที่นี่ พอจิตมันจำสภาวะได้ มันไหลไป พอไหลปุ๊บ สติจะเกิดเองเลย เราไม่ต้องไปทำจิตให้สงบ ไม่ต้องทำจิตให้ตั้งมั่น จิตมันสงบเอง มันตั้งมั่นเอง เมื่อมันมีสติรู้ทันสภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น รู้สภาวะ ไม่ใช่รู้เรื่องที่คิด อย่างใจลอย เราไปคิดถึงหมาถึงแมวที่เรารัก คิดไป แล้วพอรู้ว่าคิดถึงหมา ก็ โอ้ เมื่อกี้หลง หลงอะไร หลงคิดถึงหมาอะไรอย่างนี้ ไม่ใช่ คิดถึงอะไรไม่สำคัญ สำคัญที่รู้ว่าหลงไปคิด
อย่างตอนที่หลวงพ่อไปเจอหลวงปู่ดูลย์วันแรก ท่านให้ดูจิต หลวงพ่อก็ไม่รู้จะดูจิตอย่างไร หลวงพ่อก็บริกรรมในใจ “พุทโธ สุสุทโธ กะรุณามะหัณณะโว” ตรงที่บริกรรม “พุทโธสุสุทโธ กะรุณามะหัณณะโว” พวกเราจะทำได้หลายแบบ คนทั่วไปถ้าบอกให้บริกรรม “พุทโธสุสุทโธ กะรุณามหัณณะโว” ก็จะไปจ้องอยู่ที่คำพูด ถ้าเราไปจ้องคำพูดที่บริกรรม อันนั้นยังใช้ไม่ได้ สิ่งที่หลวงพ่อเห็น ไม่ใช่เห็นว่ามันพูดเรื่อง “พุทโธสุสุทโธ” แต่หลวงพ่อเห็นว่า จิตมันกำลังคิด จิตมันกำลังคิดบริกรรม “พุทโธสุสุทโธ”
ถ้าเราไปรู้คำบริกรรม ยังไม่รู้สภาวะ คำบริกรรมไม่มีสภาวะ เขาเรียกอารมณ์บัญญัติ รูปธรรมนามธรรมถึงเป็นสภาวะ ในขณะที่เราคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ เรารู้เรื่องที่คิด อันนั้นเรียกรู้อารมณ์บัญญัติ ไม่ทำให้เกิดสติหรอก คิดได้ทั้งวัน คิดไปเรื่อยๆ แต่ถ้าทันทีที่เรารู้ว่าจิตคิด จิตที่คิดจะดับ จิตที่รู้จะเกิดขึ้นแทนที่ทันทีเลย จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมา ทันทีที่สติเกิด สัมมาสมาธิคือความตั้งมั่นของจิต ก็จะเกิดร่วมด้วยเสมอ มันเป็นอัตโนมัติเลย
เพราะฉะนั้นเราหัดรู้อะไร หัดรู้สภาวะ การที่จิตจำสภาวธรรมได้แม่นยำ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติ สติเกิดจากจิตจำสภาวะได้แม่น สภาวะคือรูปธรรมนามธรรม ไม่ใช่เรื่องที่คิด อย่างเราท่องพุทโธๆๆ แล้วเราไม่ลืมพุทโธ นี่สงบเฉยๆ แล้วก็ท่องไปเรื่อยๆ ได้แต่ความสงบ แต่ถ้าเราพุทโธๆ เราเห็นว่าจิตกำลังคิดพุทโธ เห็นว่าจิตกำลังคิดพุทโธปุ๊บ สติเกิดเลย แล้วสัมมาสมาธิก็จะเกิดร่วมด้วยเสมอ จิตจะตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมาทันที
เพราะฉะนั้นพวกเราจะต้องฝึกสติ วิธีฝึกสติคือหัดรู้สภาวะไป สภาวะคือตัวรูปธรรมนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้นนั่นล่ะ แล้วดูไปร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึก รู้สึกไปเรื่อยๆ อย่างนั่งฟังหลวงพ่อพูด บางทีพอรู้สึกเข้าใจ แล้วพยักหน้าอย่างนี้ แต่พยักหน้าแล้วขาดสติ ไม่รู้ว่าร่างกายกำลังเคลื่อนไหว เราเห็นรูปเคลื่อนไหวอย่างนี้ถึงจะใช้ได้
แต่ถ้าคิดไปหลวงพ่อเทศน์เรื่องนี้ คิดๆ เข้าใจแล้ว อันนี้ไม่ใช่ ไม่ได้เป็นสภาวะ เรื่องราวที่คิดไม่ใช่สภาวะ เป็นอารมณ์บัญญัติ อาการที่จิตคิด ถึงจะเป็นสภาวะ ตอนที่หลวงพ่อหัดดูสภาวะแรกๆ หลวงพ่อไม่ได้ใช้อานาปานสติหรอก หลวงพ่อใช้จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะหลวงปู่ดูลย์ท่านให้หลวงพ่อดูจิต หลวงพ่อก็ดูจิต จิตโทสะขึ้นมา มีโทสะรู้ว่ามีโทสะ ไม่ได้รู้ว่าโกรธเรื่องอะไร ไม่ได้สนใจตรงนั้น
สมมติเราเห็นคนๆ นี้ เราเกลียดมากเลย แล้วเราบอกเรารู้เลยว่า เรากำลังเกลียดคนนี้ อันนี้ยังเจือการคิดอยู่ แต่ถ้าเห็นสภาวะคือ เราเห็นความโกรธมันผุดขึ้นมา มันผุดจากกลางอกเรานี้พุ่งขึ้นมา ถ้ามันโกรธแรงมันขึ้นหัวเลย มันครอบหัวเราเลย เรียกว่ามันกดหัวเราได้เลย สั่งให้เราทำโน่นทำนี่ ให้เราพูดไม่ดี ให้เราคิดไม่ดี ให้เราพูดไม่ดี ให้เราทำไม่ดีได้ แต่ถ้าเราเห็นกระแสของโทสะมันผุดขึ้นมา เห็นมันผุด รู้ทัน มันดับทันทีเลย ดับ
หัดรู้ให้เห็นถึงตัวสภาวะให้ได้ แล้วสติตัวจริงถึงจะเกิด สติตัวจริงเกิดเมื่อไร สัมมาสมาธิ สมาธิที่ถูกต้องก็จะเกิดร่วมด้วยเสมอ เพราะฉะนั้นจับหลักให้แม่น หัดดูสภาวะไป ถนัดดูรูปธรรมก็ดูไป ถนัดดูนามธรรมก็ดูไป อันนี้ที่หลวงพ่อสอน สอนในนัยยะของพระสูตร ถ้าสอนในนัยยะของอภิธรรม รูปธรรมนี้ดูยากที่สุดเลย ดูลงมาแล้วเห็นร่างกายหายใจออกหายใจเข้า เขาบอกยังไม่ใช่ ยังไม่ใช่รูปที่แท้จริง รูปที่เคลื่อนไหวไม่ใช่รูปที่แท้จริง รูปที่แท้จริงคืออะไร คือดิน น้ำ ไฟ ลม ที่มารวมกันอยู่
ถ้าเรียนแบบอภิธรรม ต้องเรียนลงไปให้ถึงธาตุ ซึ่งถ้าเราไม่ทรงสมาธิจริง เรียนไม่ถึงหรอก เพราะฉะนั้นในตำราถึงบอกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐานเหมาะกับสมถยานิก จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานเหมาะกับวิปัสสนายานิก ตำราเขาบอกอย่างนั้น แต่ถ้าเราเรียนแบบพระสูตร ร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึก พระสูตรสอนอย่างนี้
แล้วท่านที่บรรลุพระอรหันต์ เพราะท่านเรียนพระสูตรกัน ฟังพระพุทธเจ้าเทศน์ ท่านก็คือตัวพระสูตร ส่วนใหญ่ มีน้อยที่จะสอนเข้าไปถึงตัวอภิธรรม อย่างท่านสอนทีฆนขะเรื่องเวทนา อยู่ในพระสูตรก็จริง แต่เนื้อหามันเป็นอภิธรรม เพราะพระสารีบุตรภูมิปัญญาท่านสูง ของเราก็เรียนเท่าที่คนทั่วๆ ไปจะเรียนได้ ถ้าเราเห็นร่างกายที่หายใจออกไม่ใช่เรา ร่างกายที่หายใจเข้าไม่ใช่เรา ร่างกายทั้งหมดมันก็ไม่ใช่เราแล้ว ไม่ต้องรู้มาก แยกธาตุ แยกลงไป เป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่ใช่แยกง่าย
วิธีเรียนร่างกายแบบง่าย
การแยกธาตุ แยกแบบพระสูตรก็อย่างหนึ่ง แบบพระอภิธรรมก็อย่างหนึ่ง แบบพระสูตรก็แยก ธาตุดินมีอะไร ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก นี่เป็นธาตุดิน ธาตุน้ำก็มีเสมหะ น้ำลาย น้ำมูก ปัสสาวะอะไรพวกนี้ น้ำเลือด น้ำหนอง นี่ธาตุน้ำ แต่ถ้าในนัยยะแห่งอภิธรรม แค่ผมเส้นเดียวนี้มีดิน น้ำ ลม ไฟ มีธาตุทั้ง 4 ครบเลย เราบ้วนน้ำลายปรี๊ด ไม่ใช่มีแต่ธาตุน้ำ ในน้ำลายเรามีกลิ่นไหม มีกลิ่นก็เป็นรูปตัวหนึ่ง มีสีไหม สีก็เป็นรูปอีกตัวหนึ่ง มีรสไหม เราก็คงไม่ไปเลียหรอก จริงๆ น้ำลายก็มีรส นี่เป็นตัวรูป
แยกรูปออกมา แยกละเอียดยิบเลย เป็นธาตุ เป็นธาตุ 4 ดิน น้ำ ไฟ ลม ถ้าแยกละเอียดออกไป รูปมีจำนวนตั้งเยอะแยะ องค์ประกอบของมันมีเยอะแยะ ถ้าเรียนอย่างนั้น เรียนแล้วเอาไว้สอบ ดี แต่ถ้าเรียนเอาไว้ให้พ้นทุกข์ ยากหน่อย ถามว่าทำได้ไหม ทำได้ถ้าจิตทรงสมาธิจริงๆ อย่างที่หลวงพ่อเคยเล่าว่า หลวงพ่อเห็นขี้หมากองหนึ่ง ขี้หมาเปียกๆ นี่ล่ะ แมลงวันหัวเขียวก็ตอม เห็นแล้วขยะแขยง พอจิตมันขยะแขยงปุ๊บ ถ้าเป็นปกติพอเห็นความขยะแขยง จะดูที่ความขยะแขยง ความขยะแขยงดับ ใจเป็นกลาง
แต่วันนั้นจิตมันพิสดาร จิตมันเป็นอนัตตาจริงๆ มันเกลียดขี้หมากองนี้มาก มันพุ่งเข้าใส่เลย จิตมันพุ่งเข้าไปในกองขี้หมา แล้วมันเข้าไปแยก สีส่วนสี กลิ่นส่วนกลิ่น รสไม่รู้ จิตไม่ยอมแยก สีส่วนสี กลิ่นส่วนกลิ่น ธาตุ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุน้ำ ดูแล้วธาตุมันแยกๆๆๆ สุดท้ายเหลือแต่ธาตุดินแห้งๆ มันเป็นขี้หมาแห้งๆ ทั้งๆ ที่มันก็ยังเปียกอย่างเดิม แต่จิตมันพิสดาร เข้าไปแยกธาตุ แค่ขี้หมากองเดียว มันแยก เออ มันมีดิน น้ำ ไฟ ลม อยู่ในขี้หมา 1 กองนี้
แล้วถ้าเราทำสมาธิแล้วดูลงในกาย มันก็แยก ในกายเราอย่างหัวใจนี้ ก็มีดิน น้ำ ไฟ ลม ในตับ ในปอดเราก็มีดิน น้ำ ไฟ ลม ค่อยๆ ดู แต่ว่ามันยาก ถ้าเราไม่ได้ไปทางสมถยานิก จะดูให้ถึงธาตุ ดูยาก เพราะฉะนั้นดูแบบง่าย ดูแบบง่ายพระพุทธเจ้าสอนไหม สอน ในกายานุปัสสนาช่วงแรกของง่ายๆ ทั้งนั้นเลย ของง่าย อย่างร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก ถ้าเห็นร่างกายหายใจออกไม่ใช่เรา ร่างกายหายใจเข้าไม่ใช่เรา ร่างกายทั้งหมดก็ไม่ใช่เรา
หรือดูร่างกายยืน ร่างกายเดิน ร่างกายนั่ง ร่างกายนอน อย่างขณะนี้เรานั่งอยู่อย่างนี้ ถ้าจิตเรามีสมาธิระดับขณิกสมาธิ ขณิกสมาธิ ไม่ใช่คะนิ ขะณิ ขณิกสมาธิ ขณะ ชั่วขณะ เราก็สามารถเห็นได้ว่า ร่างกายนี้ถูกรู้ถูกดู พวกเราเวลาฟังหลวงพ่อ ฟังธรรมหลวงพ่อ ได้สมาธิอยู่ในตัวเองแล้ว ฉะนั้นเรารู้สึกลงไปที่ร่างกายสิ ลองดู รู้สึกไหมร่างกายเป็นของถูกรู้ ร่างกายไม่ใช่เรา อะไรถูกรู้ อันนั้นไม่ใช่เรา ร่างกายมันถูกรู้ ร่างกายไม่ใช่เรา
นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา นิพพานเป็นสิ่งที่ถูกรู้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นนิพพานก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตา อะไรถูกรู้อันนั้นเป็นอนัตตาหมด อันนั้นสภาวะทั้งหลาย เพราะฉะนั้นขณะนี้นั่งอยู่ ร่างกายที่นั่งอยู่เป็นแค่วัตถุ เป็นเหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่ง มันตั้งอยู่บนเก้าอี้นี้ หุ่นตัวนี้มันหายใจออก มันหายใจเข้าได้ หุ่นตัวนี้มันไม่ใช่เราหรอก มันไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ลองรู้สึกลงไปในร่างกายสิ จะรู้สึกทีเดียวทั้งตัวก็ได้ รู้สึกไหมตัวนี้มันถูกรู้ มันไม่ใช่เรา หรือจะดูทีละส่วนก็ได้ ลองกำหนดจิตไปที่ผม ผมมันบอกไหมว่ามันเป็นเรา เห็นไหมมันถูกรู้ ผมมันถูกรู้ ไม่เห็นมันบอกเลยว่ามันเป็นเรา
เมื่อก่อนเคยขึ้นไปกราบหลวงปู่สิมกับพวกพี่ๆ หลายคน ท่านก็ให้นั่งขัดสมาธิเพชร นั่งสมาธิเป็นชั่วโมงเลย ท่านก็เทศน์ไปเรื่อยๆ พอเทศน์จบท่านก็ถาม ตอนนั้นเหลืออยู่ 2 คนที่นั่งได้ หลวงพ่อกับพี่อีกคนหนึ่ง เขาอยู่ไฟฟ้าภูมิภาค เหลือ 2 คน ท่านก็ถาม “เป็นอย่างไรนั่งขัดสมาธิเพชร เป็นอย่างไรบ้าง” พี่เขาก็ตอบบอกว่า “ปวดครับ ปวดขามากเลย” หลวงปู่ก็ถามต่อ “ขามันบอกว่าปวดหรือ” เราฟังแล้วเราเข้าใจ เพราะเราภาวนา
ขามันไม่ใช่เรา ที่ปวดก็ไม่ใช่ขา ขาไม่ได้ปวด แต่ความปวดมันแทรกอยู่ในขา ความปวดมันเป็นอีกขันธ์หนึ่ง เป็นเวทนาขันธ์ ขาอยู่ในรูปขันธ์ ขาไม่เคยปวดเลย แล้วขาก็ไม่เคยบ่นด้วย ตัวที่บ่นคือจิต เราดูได้ พี่คนนั้นแกไม่เข้าใจ พอหลวงปู่ถามว่า “ขามันบอกว่าปวดหรือ” แกก็ตอบซื่อๆ น่ารักบอกว่า “ปวดจริงๆ ครับ ผมไม่หลอกหลวงปู่หรอก” หลวงปู่ก็ยิ้มไม่ว่าอะไร ท่านใจดี หลวงปู่สิม น่ารัก น่ารักมาก ครูบาอาจารย์แต่ก่อนน่ารัก บางองค์ดูดุก็ดุน่ารัก
อย่างหลวงตามหาบัวดูดุ แต่น่ารักถ้าดูให้ดี แล้วเมตตานี้ไม่น้อยกว่าองค์อื่น อย่างเราเรียนกรรมฐาน เราติดขัดอะไรก็ไปถาม โอ้ ตอบให้โช๊ะๆๆ ว่องไวเลย เรามีสติ รู้สึกลงไป ร่างกายมันนั่งอยู่ แล้วเดินปัญญาต่อเลย ร่างกายไม่ใช่เรา พอมีสติเราก็ต่อเข้าปัญญาได้ ร่างกายไม่ใช่เรา ร่างกายที่หายใจออกไม่ใช่เรา ร่างกายที่หายใจเข้าไม่ใช่เรา หรือจะดูไม่เที่ยงก็ได้ ร่างกายที่หายใจออกไม่เที่ยง ร่างกายที่หายใจเข้าไม่เที่ยง ดูอย่างนี้ก็ได้
เพราะฉะนั้นพยายามหัดดูสภาวะบ่อยๆ อย่างเห็นสภาวะหายใจออกหายใจเข้า พอเราขาดสติแป๊บเดียว มันจะรู้สึกเลย เอ๊ย หลงไปแล้ว แล้วก็เห็นร่างกายหายใจต่อ แล้วต่อไปจิตมันขึ้นสู่การเดินปัญญา มันเห็นร่างกายที่หายใจอยู่ไม่ใช่เรา เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เวลาเดิน เดินกันอย่างนี้ ไม่ใช่ไปทำจิตนิ่งๆ ว่างๆ เฉยๆ งี่เง่าอยู่อย่างนั้น เสียเวลา ทำไมบอกงี่เง่า ไม่ได้ด่าคนอื่น ด่าตัวเอง
หลวงพ่อไปนั่งสมาธิงี่เง่าอยู่ 22 ปี มันสงบอยู่เฉยๆ อย่างนั้น เดินปัญญาไม่เป็น เสียเวลา พอนั่งปุ๊บสงบเลย ใช้เวลาแป๊บเดียว แล้วก็เข้าออกๆ ให้ชำนาญ แต่เวลาเราจะเดินปัญญา ก็มีสติระลึกลงไป ถ้าเรามีสติเห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า รู้สึกไป ร่างกายหลงไป รู้สึกไป ต่อไปร่างกายเราจะขยับเขยื้อนอะไร มันรู้สึกเอง ไม่ได้เจตนารู้สึก รู้สึกเอง นี่รู้สึกเอง แล้วบางคนก็ฝึก ร่างกายเคลื่อนไหวแล้วรู้สึก โอ๊ย ร้อยละร้อยมันแทบไม่รู้สึกเลย มันไปเพ่งมือบ้าง ไปคิดเรื่องมือบ้าง แอบไปคิดเรื่องอื่นบ้าง เอาแค่รู้สึก
เลือกกรรมฐานที่เราถนัดที่เราทำได้
หลวงพ่อคำเขียนลูกศิษย์หลวงพ่อเทียน ท่านเคยเล่าว่าหลวงพ่อเทียนยุคแรก สอนเรื่องสติ แต่คนมันทำไม่ค่อยได้ ท่านก็เลยไปบัญญัติเรื่องกระบวนท่าขยับมือ 14 จังหวะ หลวงพ่อคำเขียนบอก 14 จังหวะนี้มาทีหลัง แต่เดิมหลวงพ่อเทียนสอนแต่เรื่องสติ คนส่วนใหญ่ทำไม่ได้ ท่านก็เลยคิด 14 จังหวะมาให้ทำ พอทำ 14 จังหวะก็ไปติด 14 จังหวะอีก ไม่มีสติอีกแล้ว ไปเพ่งมืออีกแล้ว สุดท้ายมันอยากเพ่ง มันก็เลยต้องเพ่งล่ะ ให้รู้ทัน สมมติว่าเราขยับมืออย่างนี้ เราใช้การเคลื่อนไหวเป็นวิหารธรรม
ถ้าเราเห็นแค่รูปมันเคลื่อนไหว ใจเป็นคนรู้ อันนี้เราจะเดินปัญญาโดยการดูรูป ถ้าเราขยับมืออย่างนี้ แล้วจิตเราไหลไปอยู่ที่มือ รู้ทัน จิตหนีไปคิดเรื่องมือ รู้ทัน จิตหลงไปเรื่องอื่น รู้ทัน อันนี้เราขยับมือแต่เรารู้ทันจิต อันนี้เราจะเข้ามาดูจิต เห็นไหมกรรมฐานอันเดียวกัน บางคนใช้ดูกาย บางคนใช้ดูจิต อย่างหลวงพ่อพอหายใจๆ หายใจไปจิตหนีไปแล้วรู้ หนีแล้วรู้ อันนี้เราดูจิต แต่อาศัยกายเป็นเหยื่อล่อ แต่ถ้าจะดูกาย ก็หายใจไป แล้วเห็นร่างกายมันเป็นของถูกรู้ถูกดู เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ อันนี้เดินปัญญาด้วยการดูกาย จะแตกต่างกัน
เพราะฉะนั้นกรรมฐานอันเดียวกันนี้ล่ะ ให้คนหลายๆ คนทำ บางทีทำกันคนละแง่คนละมุม ไปคนละเรื่องเลยก็มี แต่ว่ามีทั้งไปถูกและไปผิด อย่างตาเห็นรูป ตาเห็นรูปมันดูได้ตั้งหลายแบบ บางคนพอตาเห็นรูป ไปเห็นรูป อย่างเห็นไก่ จิตไปอยู่ที่ไก่แล้ว อันนี้หลง อันนี้คนทั่วไปเป็นอย่างนั้นล่ะ หมาแมวก็เป็นอย่างนั้น เวลามันเห็นอะไร จิตก็ไปอยู่ที่นั้น ถ้าเรามีสติรู้ว่าจิตไหลออกไปดูรูป นี่เรียกเราว่ารู้ทันจิต
บางคนกำหนดประสาทตา ไม่รู้กำหนดเข้าไปได้อย่างไร ก็คือคิดเอาว่าประสาทตานี้รู้ รู้ด้วยความรู้สึก ไม่ได้รู้ด้วยตา กำหนดลงไป พอตาเห็นรูป กำหนด กำหนดอยู่ที่ประสาทตา มันก็เรื่องเยอะไป เรื่องเยอะไป จะมาดูประสาทตาว่าไม่ใช่ตัวเรา โอ้ แล้วเมื่อไรมันจะหมดตัว มันได้ดูทีละจุดนิดๆๆ เสียเวลา อย่างตาเห็นรูป บางคนเห็น เห็นตัวรูป จิตไปอยู่ที่ตัวรูป บางคนจิตมาอยู่ที่ตา ไปอยู่ที่ประสาทตา
บางคนเห็นที่จิต จิตไปดู จิตไปดูรูป รู้ที่จิต เห็นไหมแค่ตาเห็นรูป ยังทำได้ตั้งหลายแบบ นิดเดียวจุดเล็กนิดเดียว ทำได้ตั้งเยอะแยะ เพราะฉะนั้นกรรมฐานจริงๆ ถ้าเราเรียนแล้วจะสนุกมากเลย แต่ทางใครทางมัน ไม่จำเป็นว่าเราต้องทำทุกอย่างหรอก เอาให้ได้สักอย่างหนึ่ง ให้รู้แจ้งเห็นจริงสักอย่างหนึ่ง ที่เหลือไม่ใช่ของยากแล้ว อย่างกสิณ 10 ข้อ ถ้าเราได้กสิณสักอย่างหนึ่ง อีก 9 ข้อไม่ใช่เรื่องยากแล้ว ทำแป๊บเดียวก็ได้แล้ว
ฉะนั้นเราทำกรรมฐาน เลือกกรรมฐานที่เราถนัดที่เราทำได้ ถนัดหายใจก็หายใจไป ถนัดพุทโธก็พุทโธไป พูดถึงถนัดพุทโธ พวกที่เรียนมากๆ เรียนปริยัติ เขาบอก โอ๊ย เป็นสมถะ ท่องพุทโธๆ เป็นสมถะ ถามว่าถูกไหม ก็ถูก แต่ทำให้เป็นวิปัสสนาได้ไหม ได้ ถ้ารู้จักวิธี ถ้าท่องพุทโธๆ ให้จิตสงบ อันนั้นเป็นสมถะ ถ้าท่องพุทโธๆ แล้วรู้ทันจิต จิตอยู่กับพุทโธก็รู้ จิตหนีไปคิดเรื่องอื่นก็รู้ อันนี้คือจิตตานุปัสสนา เดินปัญญาด้วยการดูจิตเอา
จิตตานุปัสสนาก็มีทั้งสมถะทั้งวิปัสสนา กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนา ทั้งหมดมีทั้งสมถะทั้งวิปัสสนา อยู่ที่ว่าถ้าเราไปรู้อารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่องก็เป็นสมถะ ถ้าเราเห็นไตรลักษณ์มันก็ขึ้นวิปัสสนา อย่างหลวงพ่อดูจิต เวลาดูจิต ตามองเห็นรูป เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จิต มีสติรู้ทัน หูได้ยินเสียง เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นที่จิต เกิดสุข ทุกข์ ดี ชั่วอะไรขึ้นมา มีสติรู้ทัน รู้ทันจิตใจที่เปลี่ยนแปลง ตามหลังการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เราใช้จิตตานุปัสสนา ตามอ่านมันไปเรื่อยๆ แล้วเราก็เห็น เออ จิตไม่ใช่เรา จิตก็เป็นแค่ธรรมชาติ ที่ทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ จิตคืออะไร จิตคือธรรมชาติที่ทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ จิตไม่ได้มีดวงอะไรหรอก ทีเรียกเป็นดวงๆ เรียกไปตามความเคยชิน ของคนไทยเราจะต้องมี เขาเรียกอะไร ลักษณะนามหรือเรียกอะไร อย่างช้าง ช้างตัวเดียว ถ้าเป็นช้างบ้านเรียกเชือก ทำไมต้องเป็นเชือก ก็เอาเชือกมัดมันไว้ ถ้าช้างป่าไม่เรียกเชือก เรียกเป็นตัว ถ้าช้างหลายตัวเรียกโขลง มันมีคำเรียก น้ำ เราก็มีน้ำกี่แก้วอะไรอย่างนี้ มันก็มี มีคนกี่คน มีหมากี่ตัว คำว่า “ตัว” คำว่า “คน” เป็นลักษณะนาม
จิตนี้ก็เหมือนกัน จิตมันไม่มีรูปร่าง ไม่มีตัวตน เพราะฉะนั้นจิตจริงๆ ไม่มีดวงหรอก แต่เราไม่รู้จะเรียกมัน จิต 1 จิต ฟังแล้วก็งงๆ ไม่คุ้นภาษาอย่างนี้ จิต 75 จิตอะไรอย่างนี้ ฟังแล้วเวียนหัว เราก็บอกจิตเท่านั้นดวงเท่านี้ดวง จิตที่เป็นกุศล มหากุศลจิต 8 ดวง อกุศลจิตอีก 8 ดวงอะไรอย่างนี้ นับวิบากจิตมีอีก 8 ดวง นี่นับเป็นดวงๆ จริงๆ ไม่มีดวงหรอก ถ้าลงเป็นดวงนั้นคือนิมิต ไม่ใช่จิต ฉะนั้นจิตจริงๆ ไม่มีจุด ไม่มีดวง ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีการไป ไม่มีการมา เกิดตรงไหนก็ดับตรงนั้น
เราค่อยๆ เรียน อย่างหลวงพ่อหลวงปู่ดูลย์ท่านให้เรียนเข้ามาที่จิตเลย หลวงพ่อก็เห็น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จิต บางทีก็มีความสุข บางทีก็มีความทุกข์ ตรงนี้คือเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่เป็นเวทนาทางนามธรรม ทางใจ เป็นเวทนาทางใจ เวทนาทางกายกับทางใจมี 2 ที่ เวทนาที่หลวงพ่อดูตอนที่เรียนกับหลวงปู่ดูลย์ คือเวทนาทางใจ ตาเห็นรูปมีความสุข รู้ หูได้ยินเสียงมีความทุกข์ รู้ พอดูตรงนี้ได้ ต่อไปมันละเอียดเข้าไปอีก เราเห็นเลยว่าเวลามีความสุข ราคะมันมักจะแทรก เวลามีความทุกข์เกิดขึ้นในใจเรา โทสะมักจะแทรก นี้เห็นกิเลส อันนี้มันเป็นจิตตานุปัสสนา
เพราะฉะนั้นที่พระพุทธเจ้าท่านเรียงลำดับไว้ ท่านเรียงไว้สวย สติปัฏฐาน เริ่มที่กาย แต่ถ้าเราถนัด เราจะเริ่มตรงไหนก็ได้ ถ้าเราเริ่มต้น ไม่รู้จะเริ่มอะไร เอากายไว้ก่อน ร่างกายหายใจออก หายใจเข้านี้บทที่หนึ่งเลยในกายานุปัสสนา อันแรกเลยคืออานาปานสติ เพราะเราหายใจไหม เราหายใจตลอดเวลา
ถ้าหายใจออกแล้วรู้สึกตัว หายใจเข้ารู้สึกตัว เรารู้สึกตัวทั้งวันอยู่แล้ว เราหายใจไป หายใจไป แล้วใจเรามีความสุขขึ้นมาแล้ว เราเปลี่ยนจากการรู้ลมหายใจ มาเห็นใจที่มีความสุข นี้ขึ้นเวทนานุปัสสนา แล้วดูละเอียดเข้าไปอีก เวลามีความสุข ราคะมักจะแทรก เวลามีความทุกข์ โทสะมักจะแทรก เวลาเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ โมหะมักจะแทรก หลงๆ ไป ขึ้นมาเห็นกิเลส นี้คือจิตตานุปัสสนา ต่อไปก็เห็นละเอียดขึ้นไป กิเลสแต่ละตัวก็มีเหตุ กุศลแต่ละตัวก็มีเหตุ จะรู้ลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง รู้ถึงเหตุถึงผลของมัน ถ้ารู้ถึงเหตุถึงผล ขึ้นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ธัมมานุปัสสนา
เหตุผลที่สูงที่สุดก็คือปฏิจจสมุปบาท ความทุกข์เกิดจากอะไร ความทุกข์เกิดจากชาติ ชาติคืออะไร ชาติคือการได้มาซึ่งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าเราภาวนา มันจะวางตา หู จมูก ลิ้น กายไปก่อน แล้วมันต้องวางใจทีหลัง ปล่อยวางใจ ไม่ใช่วางใจภาษาไทย ปล่อยวาง ไม่ยึดใจ นี่มีชาติ ทำไมมีชาติ เพราะว่ามีภพ ภพคืออะไร ภพคือการทำงานของจิต ทำไมมันทำงาน เพราะมันยึด มันยึดว่านี่ตัวเราของเรา มันก็เลยพยายามรักษา พยายามหวงแหนเอาไว้ ดิ้นรนต่อสู้เพื่อจะรักษาความสุข เพื่อจะหนีความทุกข์อะไรของมัน ดิ้นพรวดพราดอยู่นั่นคือตัวภพ แล้วมันก็ยึดจิตเอาไว้ นั่นคือตัวชาติ
แล้วทำไมมันถึงยึด เพราะมันอยาก มันอยากอะไร มันอยากได้ความสุข มันอยากไม่ทุกข์ มันอยากตรงเวทนานี้เอง ฉะนั้นเวทนาเลยเป็นปัจจัยของตัณหา มีเวทนาก็มักจะมีตัณหาตามมา เราภาวนา เราก็จะเห็นกระบวนการ ถ้าเราเห็นกระบวนการมีเหตุมีผล มีเหตุมีผล มันขึ้นธัมมานุปัสสนา อย่างในธัมมานุปัสสนาแรกๆ มีเรื่องของนิวรณ์ 5 นิวรณ์ก็เป็นกิเลสที่เราคุ้นเคย เป็นกิเลสซึ่งขวางกั้นพัฒนาการทางจิตวิญญาณ นิวรณ์นี้ จริงๆ นิวรณ์เป็นกิเลสที่ขวางกั้นความดีงามทั้งหมด กระทั่งการขยันทำงาน ถ้ามีนิวรณ์มันก็ขี้เกียจทำงาน
ฉะนั้นนิวรณ์ เราภาวนาถ้าขึ้นธัมมานุปัสสนา เราจะรู้เลย กามฉันทนิวรณ์เกิดจากอะไร นี่จะเห็น ทำอย่างไรมันไม่เกิด รู้อย่างนี้ แต่ถ้ารวบยอดเลย คือถ้าจิตเข้าฌาน นิวรณ์ก็หมดสภาพแล้ว แต่ถ้าแยกทีละตัว แยกทีละตัว หรือทางกุศลก็คือโพชฌงค์ 7 อยู่ในสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในโพชฌงค์แต่ละตัว สติสัมโพชฌงค์ ไม่เหมือนสติทั่วไป ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ ไม่ใช่การคิดพิจารณา
ทั้งหมด กระทั่งวิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ถึงจะเรียกว่าโพชฌงค์ ถ้าอุเบกขาแล้วสงบเฉยๆ ไม่เรียกว่าโพชฌงค์ ไม่อยู่ในโพชฌงค์ อยู่ในโพชฌงค์ อุเบกขานี้ เพื่อจะสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้น ถ้าจิตเข้ามาถึงตัวนี้ มันจะเข้าถึงสังขารุเปกขา มันจะเป็นกลางเพราะปัญญาอันยิ่ง ถ้าเป็นกลางเพราะปัญญา อย่างเราเห็นความจริง ร่างกาย จิตใจเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวเรา เป็นตัวทุกข์ มันมีปัญญา มันวาง เข้าถึงการปล่อยวางได้ อันนี้โพชฌงค์ว่าเป็นคุณงามความดี ที่จะนำเราไปสู่การตรัสรู้ มันจะเรียนละเอียด
ปกติหลวงพ่อก็ไม่ค่อยสอนเรื่องธัมมานุปัสสนา มันเกินภูมิของเรา เอาของง่ายไว้ คนไหนขี้โมโห อ่านใจตัวเองไป จิตโกรธแล้วรู้ จิตไม่โกรธก็รู้ รู้มันแค่นี้พอแล้ว เมื่อวานยังสอนพระ พระไปถูกระจกที่ห้องหลวงพ่อ ไปทำความสะอาดกัน ตอนเย็นๆ บางทีไปหลายองค์ช่วยกันทำ บอกว่าภาวนา เห็นไหมใจมันอยากตลอดเวลาเลย อยากโน้นอยากนี้ อยากปฏิบัติ อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ อยากดี อยากหลุดพ้น รู้อยากเข้าไปเลย
มันอยากบ่อยก็ย้อนศร ดูอยากไปเลย จิตอยากอะไรขึ้นมาก็รู้ทัน อยากอะไรแล้วรู้ทัน ทำแค่นี้พอไหม พอ อันนี้อยู่ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตมีราคะรู้ว่ามีราคะ ตัวอยาก ตัวตัณหา ก็คือตัวราคะที่มีกำลังแรงกล้าเท่านั้นเอง ฉะนั้นแค่ตัวเดียวแค่คู่เดียว อยากกับไม่อยาก อยากกับไม่อยาก เรียนมันอยู่แค่นี้ ทำไมมันจะบรรลุมรรคผลไม่ได้ ค่อยๆ ฝึกไป ยากไปไหมวันนี้ที่เทศน์ ยากเนอะ มีคนบอกยาก มันก็ยาก มันยากเพราะเราไม่เคย ถ้าเราเห็นแล้วมันก็ง่าย ยังไม่เคยเจอ ไม่เคยเห็นก็ยากเหมือนกัน ก่อนที่คนอื่นเขาจะง่าย เขายากมาแล้ว
เพราะฉะนั้นวันนี้พวกเรายาก ไม่เป็นไร วันข้างหน้ามันจะง่าย ถ้าวันนี้ยากแล้วท้อแท้ ไม่เรียน ไม่ทำไว้ ชาติหน้ายิ่งแย่กว่านี้อีก เพราะจิตใจเราอ่อนแอมากขึ้นเรื่อยๆ มันเคยชินที่จะงี่เง่า มันจะงี่เง่าไปเรื่อยๆ แต่สู้เสียตั้งแต่วันนี้ ยอมลำบากตั้งแต่วันนี้ แล้วอนาคตมันง่ายกว่านี้ กว่าคนๆ หนึ่งจะพ้นทุกข์ สะสมมาไม่ใช่น้อย สะสม ต้องทำ ของฟรีไม่มี วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ ลงท้ายบอกของฟรีไม่มี ฉะนั้นถ้าใครเขาโฆษณา ว่าอันนี้ฟรีกดปุ่มเลย อย่าไปเชื่อมัน
วัดสวนสันติธรรม
1 มีนาคม 2568