รักษาศีล ฝึกสมาธิ เจริญปัญญา

ช่วงนี้พระไปสอบนักธรรมตรีกัน ที่วัดส่งไป 8 องค์ พระบวชแล้วไม่เรียนมีปัญหาเยอะ หรือเรียนแล้วไม่เอาไปปฏิบัติก็มีปัญหาเยอะ ไม่สามารถรักษาศาสนาได้ ดีไม่ดีทำลายศาสนาเสียอีก ฉะนั้นมาที่หลวงพ่อ พระบวชมาอยู่ที่นี่ อันแรกเลยต้องตรวจสอบเรื่องวินัย สอนเรื่องพระวินัยก่อน แล้วค่อยสอนธรรมะ ก็ต้องรู้ทั้งปริยัติ ทั้งปฏิบัติ เรื่องปริยัติก็ส่งไปสอบทุกปี เว้นปีก่อนโควิดระบาด ยังไม่รู้จักกับโรคนั้นพอก็เลยงดส่งไปปีหนึ่ง ที่ผ่านมาเราก็ส่งตลอดก็สอบได้ตลอด ปริยัติก็สำคัญ ไม่รู้ปริยัติปฏิบัติอย่างเดียว ปฏิบัติผิดหรือเปล่าไม่รู้ ไปนั่งสมาธิไม่มีครูบาอาจารย์ดูแล เตลิดเปิดเปิงไปเพี้ยนๆ ไปก็เยอะเลย เรียนปริยัติแล้วไม่ปฏิบัติธรรมก็เพี้ยนได้

ปฏิบัติไม่ได้แปลว่านั่งสมาธิ เดินจงกรม นั่นแคบเกินไป อย่างตั้งใจรักษาศีล รักษาพระวินัยนี่ก็คือการปฏิบัติธรรมแล้ว สำรวมระวังพยายามไม่ให้ผิดศีล ไม่ให้ผิดวินัย อย่างนี้ก็ถือว่าปฏิบัติ ไม่สำรวมไม่ระวัง ก็ไม่ได้ปฏิบัติแล้ว จิตมันก็ฟุ้ง ท่องตำราได้เป็นมหาอะไรได้ มันก็สู้กิเลสไม่ได้หรอก กิเลสไม่ได้กลัวผ้าเหลือง กิเลสไม่ได้กลัวมหา กิเลสมันกลัวคนมีหิริโอตัปปะ ละอายใจที่จะทำผิด เกรงกลัวผลของการทำชั่ว สำรวมระวัง พื้นฐานก็ต้องปฏิบัติ คือรักษาศีลให้ดีนั่นคือการปฏิบัติธรรม ถัดจากนั้นก็เป็นเรื่องของการฝึกจิตให้เกิดสมาธิ ให้เกิดปัญญา ฉะนั้นมาอยู่กับหลวงพ่อก็จะเรียนปริยัติให้อ่านเอา สงสัยให้มาถาม การปฏิบัติหลวงพ่อควบคุมเข้มงวด เดินดูทุกวัน ใครภาวนาหรือไม่ภาวนา เรามองหน้าก็รู้แล้ว คนภาวนากับคนไม่ภาวนามันไม่เหมือนกัน

ฉะนั้นธรรมะ ศาสนาจะมั่นคงได้ ชาวพุทธเราต้องเรียนปริยัติ เรียนปฏิบัติให้ดี เรียนปริยัติให้รู้วิธีปฏิบัติ รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร ไม่ใช่คิดเอาเอง หรือตีความตามใจกิเลส หลวงพ่อสอนพระที่วัด หลวงพ่อสอนง่ายๆ ถ้าทำอะไรแล้วกิเลสของตัวเอง ที่มีอยู่แล้วมันยังมีอยู่แล้วแรงขึ้น ไม่ถูกแล้ว กิเลสที่ไม่เคยมีเกิดมีขึ้นมา กิเลสที่มีแล้วแรงขึ้น นี้แสดงว่าเราปฏิบัติไม่ถูก หรือปฏิบัติแล้วกุศลไม่เกิด กุศลที่เกิดแล้วไม่เจริญขึ้นนี้ไม่ถูก ไม่ได้มองเฉพาะตัวเอง ต้องมองไปถึงคนที่เรามีปฏิสัมพันธ์ด้วย เราเกี่ยวข้องกับคนอื่น แล้วไปทำกิเลสของเขาให้เฟื่องฟูขึ้น อันนี้ไม่ถูก หรือทำกุศลที่เขามีอยู่ให้เสื่อมลง อันนี้ไม่ถูก ฉะนั้นเราภาวนา เราคอยเตือนซึ่งกันและกัน กระตุ้นซึ่งกันและกันให้ภาวนา ให้พัฒนา ลดละอกุศล เจริญกุศลให้มากขึ้นๆ

บางคนบอกปฏิบัติไม่มีอะไร ไม่ต้องยึดถืออะไรเลย พูดง่ายทำไม่ได้จริง ถ้าอยู่ๆ ก็ไม่ยึดถือได้ ไม่ต้องปฏิบัติธรรมแล้ว พระพุทธเจ้าก็ไม่มีจริงเพราะเราไม่ยึดถือ ธรรมะก็ไม่สำคัญเพราะเราไม่ยึดถือ พระสงฆ์ก็ไม่มีเราไม่ยึดถือ เอะอะอะไรก็ว่างๆๆ นั่นว่างแบบไม่มีสติปัญญา ว่างแบบว่างเปล่า ใช้ไม่ได้ ลดละกิเลสไม่ได้จริง อย่างเราคอยคิดทุกอย่างในโลกนี้ว่างเปล่าๆ ใจมันสบาย แล้วก็ติดอยู่ตรงนั้น มันติดในทิฏฐิว่าโลกนี้ว่างเปล่า แล้วติดในราคะมีความสุขที่เห็นแต่ความว่าง จิตใจมีความสุข ไม่ประณีตในการปฏิบัติจริงๆ ไปลงมือปฏิบัติจริงๆ ทิ้งไม่ได้เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา ศีลต้องรักษา สมาธิต้องฝึก ปัญญาต้องเจริญ ถ้าเราทำอย่างนี้เราก็จะค่อยๆ มีปัญญา เห็นความจริงของธาตุของขันธ์เป็นลำดับๆ ไป พอเราฝึกรักษาศีลให้ดี สมาธิมันก็ฝึกง่าย ศีลเสียสมาธิก็ไม่มี แตกหมด

ฉะนั้นพระเราถึงเข้มงวดเรื่องพระวินัย ถ้าทำผิดวินัย อย่ามาพูดเรื่องภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญาอะไร มันไม่มีเลย ฉะนั้นเบื้องต้น ตั้งอกตั้งใจรักษาศีล ถ้าเป็นฆราวาสก็ถือศีล 5 ให้ได้ รักษาไว้ไม่ใช่ไม่ยึดถือ ไม่ต้องถือศีล นั่นมันโง่แล้ว อ้างความว่างสุญญตา อ้างผิดที่ เบื้องต้นต้องเรียนจากสิ่งที่มีก่อน กายนี้เรารู้สึกเป็นตัวเรา จิตนี้เรารู้สึกเป็นตัวเรา จะไปนั่งนึกว่ามันไม่ใช่ตัวเราของเรา มันไม่ใช่ของจริง กายนี้ว่าง จิตนี้ว่าง ทุกอย่างว่าง อันนี้คิดเอาเองไม่ได้เห็น

 

ฝึกสมาธิให้ดี

ฉะนั้นเบื้องต้นฝึกรักษาศีลให้ดี แล้วก็ฝึกสมาธิให้ดี สมาธิมี 2 อันที่เราจะฝึก อันหนึ่งฝึกให้จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุข ได้พักผ่อน ไม่ได้น้อมไป รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ มีสติ มีจิตตั้งมั่นอยู่ แล้วก็อยู่ในอารมณ์อันเดียว ให้จิตมันรวมลงไปเอง จิตมันรวมสงบลงไป สงบ สว่างขึ้นมา ผ่องใส แต่ไม่สะอาด สงบ สว่าง แต่ยังไม่สะอาด ตัวที่ทำให้สะอาดคือตัวปัญญา

สมาธิอีกอันหนึ่งก็คือ สมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่น เอาไว้เจริญปัญญา วิธีฝึกจิตให้ตั้งมั่นทำได้ 2 แบบ แบบที่หนึ่งเข้าฌาน จนถึงฌานที่ 2 วางวิตก วิจารลงไป ตราบใดที่ยังมีวิตก ยังมีวิจารอยู่ จิตผู้รู้ยังไม่เกิดขึ้นในฌาน พอวางวิตก วางวิจาร นี้มันของนอก จิตมันทวนเข้ามามีปีติ มีความสุข มันเห็นปีติเกิด ความสุขเกิด จิตเป็นคนรู้คนดู จิตไม่ตรึก จิตไม่ตรอง ตรึกก็คือนึกถึง จิตไม่นึกถึงอารมณ์กรรมฐาน จิตไม่เคล้าเคลีย เรียกว่าวิจาร จิตไม่เคล้าเคลียอยู่กับอารมณ์กรรมฐาน จิตวางอารมณ์กรรมฐาน มันทวนกระแสเข้ามาที่ตัวรู้ ตัวรู้มันจะเด่นดวงขึ้นมา ฉะนั้นในฌานที่ 2 ในพระไตรปิฎกท่านจะเขียนไว้ ถึงฌานที่ 2 จะเกิดเอโกทิภาวะขึ้น

เราไปเรียนบางทีเราละทิ้งพระสูตรกัน เอาแต่อภิธรรม พอละวิตกได้ได้ฌานที่ 1 ละวิจารได้ได้ฌานที่ 2 ละปีติได้ได้ฌานที่ 3 ละสุขได้ได้ฌานที่ 4 จิตไปทรงอุเบกขาอยู่เป็นฌานที่ 5 อะไรอย่างนี้ ค่อยๆ ละไปทีละตัวๆ อันนั้นเรียนตามทฤษฏี เรียนการปฏิบัติต้องดูจากพระสูตร พอวางวิตกวิจารมันจะเกิด เอโกทิภาวะขึ้น ภาวะแห่งความเป็นหนึ่ง ก็คือภาวะของจิตผู้รู้นั่นเอง จิตมันตั้งมั่นเป็นหนึ่งขึ้นมา นั่นเป็นวิธีที่หนึ่ง วิธีมาตรฐานสูงสุดในการฝึกให้ได้ตัวผู้รู้

อีกวิธีหนึ่งอนุโลมอนุเคราะห์ให้คนซึ่งเข้าฌานไม่ได้ อาศัยสติรู้ทันสภาวธรรมที่กำลังปรากฏ อย่างความฟุ้งซ่านความคิดมันเกิดขึ้น เรามีสติรู้ทันว่าจิตหลงคิด จิตคิดจะดับ จิตรู้จะเกิด จะเกิดเป็นขณะๆ ไป จิตโกรธขึ้นมา เรามีสติรู้ว่าจิตโกรธ จิตโกรธจะดับจิตรู้จะเกิด จิตมีความสุขเกิดขึ้น เรามีสติรู้ทัน ถ้าเป็นความสุขที่เกิดจากราคะ มันจะดับ แต่ถ้ามันเป็นความสุขที่เป็นกุศล ไม่จำเป็นต้องดับ เพราะจิตมันเป็นกุศลมันมีความสุขอยู่ด้วยตัวของมันเองได้ ทันทีที่รู้ว่าจิตมีความสุข จิตก็ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ขึ้นมาอัตโนมัติ ฉะนั้นหัดรู้สภาวะไว้ ร่างกายขยับอย่างนี้ รู้สึกถึงร่างกายที่เคลื่อนไหว ผู้รู้มันก็เกิดขึ้นมา

ฉะนั้นจิตผู้รู้วิธีที่สองนี้ ก็คือการที่อาศัยสติรู้ทันสภาวะ สภาวธรรมที่กำลังปรากฏ รูปกำลังเคลื่อนไหวเรามีสติอยู่ ตัวรู้มันจะเกิด แต่ตัวนี้จะพลาดง่าย รูปเคลื่อนไหวสติระลึกปุ๊บเพ่งปั๊บเลย อันนี้ตัวรู้ไม่เกิด มันเกิดตัวเพ่ง ต้องระวังขยับแล้วรู้สึก ขยับแล้วรู้สึก เห็นท้องพอง เห็นท้องยุบ มีสติรู้ท้องพอง มีสติรู้ท้องยุบ จิตลงไปเพ่งอันนี้ตัวรู้ไม่เกิด จะเกิดสมาธิชนิดที่หนึ่ง สงบไปเฉยๆ หรือบางทีฝึกให้มันเครียดจัดๆ ทำกรรมฐานให้เครียดจัด ในที่สุดจิตดับ อันนั้นก็เป็นสมาธิชนิดที่ไม่ดีเลย เป็นพรหมลูกฟัก สงบก็ไม่สงบ จิตมันหายไป ใช้ไม่ได้

 

จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ถึงจะแยกขันธ์ได้

สิ่งเหล่านี้เราก็ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ ทำความเข้าใจ หลวงพ่อเทศน์เรื่องเหล่านี้เอาไว้มากมาย พวกเราไปทบทวนไปฟังดู เพื่อเราจะได้มีสมาธิที่ถูกต้อง สมาธิที่จิตสงบในอารมณ์อันเดียวเอาไว้พักผ่อน เวลาเราเดินปัญญาไปจิตมันจะเหนื่อย แล้วกลับมาทำความสงบมาอยู่กับพุทโธ อยู่กับลมหายใจไป หรืออยู่กับท้องพองยุบ อยู่กับการเคลื่อนไหวร่างกาย อะไรก็ได้ที่เราถนัด อยู่แล้วมีความสุขก็ใช้ได้หมด เป็นสมาธิที่จิตสงบ อีกอันหนึ่งก็คือรู้ทันสภาวะไป จิตจะตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ จะเห็นอย่างร่างกายเคลื่อนไหวจิตเป็นคนรู้ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน จิตเป็นคนรู้ ร่างกายหยุดนิ่งจิตเป็นคนรู้ ร่างกายหายใจออกหายใจเข้า จิตเป็นคนรู้ ค่อยๆ แยกขันธ์ จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ มันถึงจะแยกขันธ์ได้ ถ้าจิตไม่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้แยกขันธ์ไม่ได้จริงหรอก ชอบพูดกันเรื่อยเปื่อย คนนั้นได้ญาณโน้นญาณนี้ ได้นามรูปปริจเฉทญาณอะไรอย่างนี้ จิตไม่ได้เป็นผู้รู้ไม่สามารถแยกขันธ์ได้

หลวงตามหาบัวท่านถึงพูดฟันธงเลยว่า “ถ้าแยกธาตุแยกขันธ์ไม่ได้ อย่ามาคุยอวดเราว่าเจริญปัญญา” ตรงแยกธาตุ แยกขันธ์ได้ จิตมันต้องตั้งมั่น เคล็ดลับมันอยู่ตรงนี้เอง หลวงพ่อภาวนาหลวงพ่อได้ตัวผู้รู้ ตั้งแต่ยังไม่เจอหลวงปู่ดูลย์ ได้มาแต่เด็กๆ ตั้งแต่ 10 ขวบ ไฟไหม้ข้างบ้าน ตกใจแล้วเห็นว่าตกใจ มันย้อนมาเห็นความตกใจแทนที่จะไปเห็นไฟไหม้ ย้อนมาเห็นจิตที่ตกใจ จิตที่ตกใจดับปุ๊บตัวรู้เด่นดวงขึ้นมาเลย โอ๊ย ตัวนี้เคยเห็นมาแล้ว ตอนนั่งสมาธิเราก็เห็นอยู่ มาเจอหลวงปู่ดูลย์ท่านสอนเดินปัญญา พอจิตมันตั้งมั่นแล้วมันเดินปัญญาได้ง่ายไม่ยากแล้ว ของเราที่มันยังเดินปัญญากันไม่ได้จริง เพราะจิตยังไม่ตั้งมั่นจริง ฉะนั้นเราต้องฝึกให้จิตเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ขึ้นมา

อันนี้ก็ไม่ใช่หลวงพ่อโมเมเอาเอง ครูบาอาจารย์องค์หนึ่งของหลวงพ่อ ท่านก็สอนเรื่องสมาธิ 2 อย่างนี้ คือหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ถัดจากหลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่อไปเรียนกับหลวงปู่เทสก์ เรียนกับหลวงปู่ดูลย์อยู่ซักค่อนปี แล้วขึ้นไปกราบหลวงปู่เทสก์ ตอนนั้นเราไปด้วยความมั่นใจแล้วว่าเราภาวนา ครูบาอาจารย์บอกภาวนาเป็นแล้ว ถึงออกไปดูครูบาอาจารย์องค์อื่น หาประสบการณ์ หลวงปู่เทสก์จะสอนอยู่เรื่อยๆ เรื่องฌานกับสมาธิ เรื่องจิตกับใจ ท่านสอนอยู่ 2 อันนี้เป็นหลักเลย ฌานกับสมาธิ ก็คือสมาธิ 2 ชนิด สมาธิอันหนึ่งมันเพ่งอารมณ์ หลวงปู่เทสก์ท่านเรียกว่าฌาน ถ้าภาษาปริยัติจริงๆ ก็เรียกว่า อารัมมณูปนิชฌาน การเพ่งอารมณ์ ส่วนสิ่งที่ท่านเรียกว่าสมาธิ ภาษาปริยัติเขาเรียก ลักขณูปนิชฌาน จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แล้วก็เห็นสภาวธรรมเกิดดับเปลี่ยนแปลงไป เห็นไตรลักษณ์ของรูปธรรมนามธรรมที่กำลังปรากฏ

ท่านก็สอน คนไปฟังก็ฟังไปอย่างนั้นไม่ค่อยเข้าใจที่ท่านบอกกัน ไม่ลงมือทำจริงๆ ไม่รู้เรื่องหรอก ท่านสอนเรื่องฌานกับสมาธิ แล้วสอนเรื่องจิตกับใจ จิตยังเป็นส่วนของขันธ์อยู่ คือตัววิญญาณในขันธ์ 5 นั่นล่ะ แล้วภาวนาเรียนรู้ขันธ์ 5 แจ่มแจ้งในขันธ์ 5 จิตปล่อยวางขันธ์ 5 ได้มันก็จะเข้ามาที่หลวงปู่เทสก์เรียกใจ ตัวนี้หลวงตามหาบัวท่านเรียกธรรมธาตุ สมเด็จพระญาณสังวรฯท่านเรียกวิญญาณธาตุ หลวงปู่เทสก์เรียกว่าใจ ท่านพุทธทาสเรียกว่าจิตเดิมแท้ หลวงปู่ดูลย์เรียกว่าจิตหนึ่ง หลวงปู่บุดดาท่านเรียกว่าใจเดียว คือสภาวะอันเดียวกัน แต่ภาษาที่ครูบาอาจารย์ท่านใช้เรียกก็แตกต่างกันไป

 

จิตตั้งมั่นแล้ว ค่อยๆ เรียนรู้รูป-นาม

เวลาเราภาวนาจิตตั้งมั่นแล้วค่อยๆ เรียนรู้ลงไป สติระลึกรู้รูปก็เห็นว่ารูปเป็นของถูกรู้ถูกดู จิตเป็นคนรู้คนดูรูป รูปมันหายใจจิตเป็นคนรู้ รูปยืน เดิน นั่ง นอน จิตเป็นคนรู้ รูปเคลื่อนไหว รูปหยุดนิ่ง จิตเป็นคนรู้ รู้ไปเรื่อยๆ หรือเวทนา ความสุข ความทุกข์เกิดขึ้นในร่างกาย จิตเป็นคนรู้ ความสุข ความทุกข์ ความไม่สุข ไม่ทุกข์ เฉยๆ เกิดขึ้นในจิตใจ จิตก็เป็นคนรู้ กุศลเกิดขึ้นในจิตใจ จิตก็เป็นคนรู้ อกุศล โลภ โกรธ หลงเกิดขึ้น จิตก็เป็นคนรู้ ก็เห็นโลภ โกรธ หลงไม่ใช่จิตหรอก เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้าว่านี่คือตัวสังขาร ค่อยๆ เรียนก็จะเห็นรูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ตัวรูปสิ่งที่จะเด่นชัด ดูได้ง่ายคือตัวทุกข์ กับตัวอนัตตา ตัวอนิจจังดูยากนิดหนึ่ง เพราะรูปมันอายุยืนกว่าจิต มันเกิดดับช้ากว่าจิต จิตเป็นคนดูอยู่นี่รูปยังไม่ดับ จิตดับไปหลายรอบแล้ว ก็เลยไม่ค่อยเห็นอนิจจังเท่าไร แต่ไปดูแล้วจะเห็นตัวทุกข์ รูปที่หายใจออกเป็นทุกข์ รูปที่หายใจเข้าเป็นทุกข์ รูปที่ยืน ที่เดิน ที่นั่ง ที่นอนเป็นทุกข์ รูปที่เคลื่อนไหวเป็นทุกข์ รูปที่หยุดนิ่งเป็นทุกข์ อยากรู้ว่ามันทุกข์จริงไหม ก็ลองดู อย่างรูปหายใจเข้าเป็นทุกข์ ลองหายใจเข้าไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ทุกข์แล้ว รูปหายใจออกเป็นทุกข์ ก็ลองดูหายใจออกเรื่อยๆ ไป เดี๋ยวก็ทุกข์แล้ว รูปยืน ยืนนานๆ ก็ทุกข์ใช่ไหม นั่งนานๆ ก็ทุกข์ เดินนานๆ ก็ทุกข์ นอนนานๆ ก็ทุกข์ ค่อยๆ มีสติ ค่อยๆ รู้ลงไปในตัวรูป มันทุกข์ทั้งนั้นเลย มันทุกข์ทุกลมหายใจเข้าออก มันทุกข์อยู่ทุกๆ อิริยาบถ มันเห็นแต่ทุกข์

หรือเห็นว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเราของเราหรอก มันเป็นของถูกรู้ถูกดู มันเป็นวัตถุ ร่างกายนี่เหมือนถุงหนังใบหนึ่ง มีธาตุไหลเข้า แล้วก็มีธาตุไหลออกตลอดเวลา เป็นแค่ธาตุเท่านั้นเอง เช่นหายใจเข้าแล้วหายใจออก กินอาหารเข้าไปแล้วก็ขับถ่าย ดื่มน้ำเข้าไปแล้วก็เป็นเหงื่อ เป็นน้ำลาย เป็นปัสสาวะอะไรออกไป มีธาตุเข้าไปก็มีธาตุออกมา ถ้าธาตุไหลเข้าแล้วไม่ออกมันก็ตาย ธาตุออกแล้วไม่เข้าก็ตายอีก ไม่ใช่ตัวใช่ตนอะไร ค่อยๆ ดูอย่างนี้ ถ้าดูรูปตัวทุกข์มันจะเด่น แล้วก็ตัวอนัตตา มันเป็นแค่วัตถุมันจะเด่น ถ้าดูนามธรรม ความรู้สึกสุข ทุกข์ ความรู้สึกดี รู้สึกชั่ว ความดี ความชั่ว แล้วจะเห็นมันเกิดดับ ความสุขเกิดแล้วก็ดับ ความทุกข์เกิดแล้วดับ ตรงที่เห็นเกิดดับๆ เห็นอย่างรวดเร็วเลย ความสุขเกิดขึ้น พอเรารู้ปุ๊บบางทีหายไปแล้ว ความทุกข์เกิดขึ้นปุ๊บ รู้เฉยๆ รู้ถูกต้อง มันดับทันทีเลย กุศลเกิดรู้ไปบางทียังไม่ดับ บางทีค่อยๆ เพิ่มดีกรี บางทีลดดีกรี บางทีก็หายไป อกุศลเกิดแล้วสติระลึกปุ๊บดับทันทีเลย ค่อยๆ รู้ไปก็เห็นมีแต่เกิดดับ จะดับช้าดับเร็ว ก็ดับเหมือนกัน อนิจจังมันเด่น

แล้วดูจิต ดูใจ ดูนามธรรม เราจะเห็นอนัตตาได้เหมือนกัน เราเห็นความสุข ความทุกข์ มันของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเราของเรา สั่งให้เกิดไม่ได้ สั่งให้ดับไม่ได้อย่างนี้ กุศล อกุศล จิตมันจะมีกุศล หรืออกุศล เราก็สั่งไม่ได้ มันเกิดเอง มันดับเอง รักษาไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ นี่คืออนัตตา ค่อยๆ เรียนลงไปในรูป ในเวทนา ในสังขาร อีกตัวหนึ่งคือตัววิญญาณ นี้เป็นส่วนของขันธ์ทั้งหมดเลย วิญญาณก็คือจิตที่เกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราจะเห็นเดี๋ยวจิตก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวจิตก็ไปดูรูป เดี๋ยวจิตเป็นผู้รู้ เดี๋ยวจิตไปฟังเสียง เดี๋ยวจิตเป็นผู้รู้ เดี๋ยวจิตไปดมกลิ่น

 

ภาวนาจนเห็นความจริงของรูปนาม

ถ้าภาวนามันจะต้องมีจิตผู้รู้แทรกเข้ามาเป็นระยะๆ ถ้าจิตมันหลง จิตผู้หลงมันเกิดขึ้น จิตมันหลงไปในความคิด ถ้าเราไม่มีจิตผู้รู้ มันก็จะหลงอยู่อย่างนั้นทั้งวัน หลงตั้งแต่ตื่นจนหลับ หลับไปก็ฝันหลงๆ ต่อไปอีก ฉะนั้นที่มีจิตผู้รู้ เพื่อจะตัดตอนจิตให้มันขาดเป็นช่วงๆๆ ไป จิตผู้รู้ก็อันหนึ่ง จิตผู้ไปดูรูปก็อันหนึ่ง จิตผู้รู้ก็อันหนึ่ง จิตที่ไปฟังเสียงก็อันหนึ่ง จิตผู้รู้ก็อันหนึ่ง จิตที่ไปดมกลิ่นก็อันหนึ่ง จิตผู้รู้ก็อันหนึ่ง จิตที่ไปรู้รสก็อันหนึ่ง อันนี้จิตตัวนี้เขาเรียกวิญญาณ วิญญาณนี้มันทำให้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมย์ ปรากฏขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตรงนี้ยังเป็นส่วนของขันธ์อยู่

ค่อยภาวนาๆ ไป จนเห็นความจริงของรูปนาม เบื้องต้นแยกรูป แยกนามก่อน รูปก็ส่วนรูป นามก็ส่วนนาม แยกนามละเอียดลงไปอีก เวทนาก็เป็นนามชนิดหนึ่ง สังขารก็เป็นนามชนิดหนึ่ง จิตก็เป็นนามชนิดหนึ่ง จิตเป็นนามรู้ ที่เหลือมันเป็นนามเรียกว่าเจตสิก เป็นส่วนประกอบจิต มันจะเห็นว่าแต่ละอันๆ เกิดแล้วดับๆ พอแยกรูปแยกนามได้แล้ว เราถึงจะเริ่มเห็นไตรลักษณ์ได้ แยกรูปแยกนามไม่ได้ ไม่มีทางเห็นไตรลักษณ์หรอก อย่างเราจมอยู่ในความหลงไม่ขาดเลย ความหลงครอบงำจิตใจอยู่ สังขารนี้ต่อเนื่องไปเรื่อยเลย มันไม่มีทางเห็นไตรลักษณ์หรอก ได้แต่คิดเรื่องไตรลักษณ์ แต่ถ้ามันหลงไปคิดปุ๊บ สติรู้ว่าหลงไป จิตตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นทันทีเลย มันจะเห็นว่าจิตหลงเกิดขึ้นแล้วก็ดับ จิตรู้เกิดขึ้นแทน แล้วจิตรู้อยู่ชั่วคราวก็ดับอีก

จิตรู้มันเป็นมโนวิญญาณ เป็นวิญญาณทางใจเรา พอเรียนรู้ไปเรื่อยในที่สุดก็รู้ว่า จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ จิตปล่อยวางจิต ตรงจิตปล่อยวางจิตได้ มันจะเกิดตามหลัง หลังจากที่จิตปล่อยวางรูปได้ก่อน รูปเป็นของหยาบมันปล่อยวางได้ก่อน แล้วมันก็มาปล่อยวางจิตทีหลัง พอมันปล่อยวางจิตได้ มันจะเข้าถึงธรรมธาตุ ธาตุตัวนี้จะเรียกว่ามันเป็นขันธ์ก็ได้ แต่มันเป็นขันธ์ที่มันเลยส่วนที่เป็นโลกิยะไปแล้ว ครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่ท่านก็เรียกตัวนี้มันพ้นจากขันธ์

อย่างพวกเราเวลาเราทำงาน หรือเวลาจิตเรามีกิเลสอะไรขึ้นมา พอกิเลสนั้นดับไปแล้ว อย่างสมมติเรามีราคะรุนแรงอย่างนี้ พอราคะดับไปแล้วจิตเรายังกระเพื่อมหวั่นไหว เศร้าหมองไปอีกช่วงหนึ่ง ตรงที่จิตเรามีกิเลสเราก็ทำโน่นทำนี่ไป จิตวุ่นวายไป มันเกิดวิบาก มีวิบากเกิดขึ้น จิตมันเป็นทุกข์ขึ้นมา อย่างมีราคะแรงๆ จิตเศร้าหมองไปอีกช่วงหนึ่ง มีโทสะแรงๆ เกิดขึ้น โทสะหายไปแล้ว จิตยังเศร้าหมองอยู่อีกช่วงหนึ่ง อย่างเราไปโมโหพ่อ โมโหแม่เราอะไรอย่างนี้ เราไปว่าพ่อว่าแม่เรา พอเราหายโมโหจิต เราเศร้าหมองอีกช่วงหนึ่ง ถึงตัวอื่นก็เหมือนกัน ถ้าจิตเรามีกิเลสแล้ว หลังจากนั้นจิตยังเศร้าหมองไปอีกช่วง ต้องรับวิบาก

แต่ถ้าจิตเราเข้าถึงธรรมธาตุ พอมันทำงาน ขันธ์มันทำงาน ขันธ์มันทำงานไป แล้วพองานของขันธ์เสร็จมันวางขันธ์ปุ๊บ ธรรมธาตุมันเด่นขึ้นมารู้ตรงนี้แทน ตัวนี้ไม่เคยกระเพื่อมหวั่นไหวเลย ไม่มีวิบากเกิดขึ้น ฉะนั้นการกระทำของพระอรหันต์ไม่มีวิบากเกิดขึ้น ก็เลยเรียกเป็นมหากิริยาจิต ฉะนั้นถ้าเราไม่ใช่พระอรหันต์ ขันธ์มันทำงาน พอเลิกแล้ว ขันธ์ก็ยังทำงานต่ออีก แต่ถ้าภาวนาสุดขีดไปแล้ว พอขันธ์ทำงานเสร็จก็คือเสร็จเลย ไม่มีวิบากต่อ

 

อดทนและไม่ดื้อ

ค่อยๆ ฝึก วันหนึ่งเราก็ได้รู้ได้เห็น หลวงพ่อก็เรียนมาจากครูบาอาจารย์ ท่านสอนให้ เรามันโง่ หลวงพ่อไม่ใช่คนเก่งหรอก แต่หลวงพ่อไม่ดื้อ หลวงพ่ออดทน ธรรมะ 2 ตัวนี้สำคัญ ถ้าเราหัวดื้อ ครูบาอาจารย์ไม่สอนเราหรอก ท่านสอนแล้วเราก็อดทนพากเพียรไป บางทีสิ่งที่ท่านสอนกว่าจะรู้กว่าจะเห็น ใช้เวลานานเป็นสิบๆ ปี บางเรื่องกว่าจะเข้าใจได้ มันจะแน่มาจากที่ไหน ประเภทฟังปุ๊บบรรลุปั๊บ บุญบารมีของพวกเรามันไม่ได้แก่กล้าขนาดนั้น ถ้าแก่กล้ามันคงไม่หลุดมาเรียนกับหลวงพ่อปราโมทย์นี้หรอก คงบรรลุพระอรหันต์ไปตั้งแต่ยุคที่พระพุทธเจ้ายังอยู่แล้ว ฉะนั้นอาศัยอดทน อดทนต่อคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ อดทนต่อความขี้เกียจขี้คร้าน อดทนต่อความลังเลสงสัย พากเพียรทำเข้าไป ทำให้มาก ทำให้พอ

แล้วสังเกตดูที่ทำมันถูกหรือไม่ถูก บางคนทำมากแต่ทำผิด จะไปเชียงใหม่แต่หันหน้าไปทางพนมเปญ เดินให้ตายมันก็ไม่ถึงเชียงใหม่ ฉะนั้นถ้าทำถูก ตรงนี้ปริยัติช่วยเราได้ รู้ทิศทาง ตรวจสอบได้ที่ทำอยู่ถูกไม่ถูก หลวงพ่อก็ใช้ปริยัติตรวจสอบ เพราะหลวงพ่อไม่ค่อยได้อยู่กับครูบาอาจารย์เท่าไร เราคนกรุงเทพฯ แล้วทำงานด้วย เป็นเดือนกว่าจะได้ขึ้นไปกราบครูบาอาจารย์ทีหนึ่ง เวลาที่เหลืออาศัยความสังเกตเอา โดยการที่เราเคยอ่านปริยัติมา ไม่ได้ไปสอบอะไรกับใครเขาหรอก แต่ว่าอ่านแล้วก็มาสังเกตเอา

อย่างมีช่วงหนึ่งภาวนาไป จิตว่าง สว่าง สบาย คงที่อยู่อย่างนั้น อยู่ได้เป็นปีเลย มีความสุขอยู่อย่างนั้น หลวงพ่อก็สังเกตนี่มันใช่หรือ นี่มันนิพพานหรือมันอะไร ทำไมพระพุทธเจ้าสอนว่าจิตนี้ไม่เที่ยง ทำไมตัวนี้เหมือนเที่ยง พระพุทธเจ้าสอนว่ามันเป็นทุกข์ ทำไมตัวนี้เป็นสุข พระพุทธเจ้าสอนว่าเป็นอนัตตา ทำไมเราบังคับได้ เราผิดตรงไหน เฉลียวใจว่าเราผิดตรงไหน ไม่ใช่คิดว่าคัมภีร์ผิดที่ไหน พวกกิเลสหนาภาวนาไปแล้วเห็นไม่เหมือนตำรา บอกตำราผิด ที่จริงก็คือเราภาวนาผิดที่ไหน หลวงพ่อจะมองอย่างนี้ตลอด สังเกตข้อบกพร่องของตัวเองไป บอกแล้วว่าไม่ใช่คนเก่ง แต่อดทน แล้วก็ไม่ดื้อกับคำสอนของครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์บอกอย่างไรก็จบตรงนั้นเลย

อย่างมีคราวหนึ่งภาวนา เมื่อปี 2526 เดือนกรกฎาคม นั่งสมาธิก็หลับ เดินจงกรมก็หลับ ทำอย่างไรก็หลับ แก้ไม่ตก ขึ้นไปกราบหลวงปู่สิม ไปเล่าให้ท่านฟัง “ผมจนปัญญาแล้ว จะนั่งขัดสมาธิเพชรที่เจ็บแสนเจ็บก็หลับ เดินจงกรมก็หลับ เดินชนฝา ชนเสาเลย ทำอย่างไรก็ไม่หาย ผมจะทำอย่างไรดี ผมจะแก้ไขอย่างไรดี” หลวงปู่พูดสั้นๆ เลย “ผู้รู้ๆ จะสงสัยอะไร ปฏิบัติไปเถอะ แล้วจะได้ของดีในพรรษานี้ล่ะ” ตอนนั้นเข้าพรรษามาแล้วเดือนสิงหาคม พอท่านบอกจะสงสัยอย่าสงสัย “ผู้รู้จะสงสัยอะไร ไม่ต้องสงสัยหรอก ให้ปฏิบัติ” ครูบาอาจารย์บอกไม่สงสัย หลวงพ่อไม่ดื้อเลย เลิกสงสัยเลย ท่านให้ปฏิบัติก็ปฏิบัติไป ไม่คิดแล้วว่าทำไมเป็นอย่างนี้ ไม่คิดแล้วว่าจะแก้อย่างไร ไม่วิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ วิพากษ์อะไรทั้งสิ้นเลย มันจะหลับก็เรื่องของมัน เราจะคอยรู้สึกไปๆ

 

ธรรมะ 2 ตัวนี้สำคัญ ถ้าเราหัวดื้อ ครูบาอาจารย์ไม่สอนเราหรอก ท่านสอนแล้วเราก็อดทนพากเพียรไป

 

ท่านสอนเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม วันที่ 6 ยังอยู่ที่เชียงใหม่ ตระเวนไหว้พระอยู่ในเมือง วันที่ 7 ขึ้นรถทัวร์ตอนเช้ามากรุงเทพฯ นั่งสมาธิปุ๊บหลับปั๊บ หลับก็หลับ ครูบาอาจารย์ไม่ให้สงสัยเราก็ไม่ดื้อ ไม่สงสัยก็ไม่สงสัย ภาวนามาเรื่อยๆ พอใจเราไม่ดิ้น ใจเริ่มชาร์จตัวเอง มันมีกำลังขึ้นมา มีกำลังขึ้นมามันก็ค่อยๆ ตื่นขึ้นมา แล้วก็ตื่นขึ้นมาได้ ฉะนั้นที่หลวงพ่อต่อสู้มา หลวงพ่อไม่ดื้อกับคำสอนของครูบาอาจารย์ อย่างท่านพ่อลีบอกให้หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ให้นับไปด้วย หลวงพ่อก็ทำตั้งแต่ 7 ขวบ พ่อพาไปกราบท่านพ่อลี ก็ภาวนาตลอด หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ทำทุกวันเลยไม่ดื้อ แล้วก็ไม่ขี้เกียจ อดทน ทำไปเรื่อย ไม่เห็นผลก็ทำ พากเพียรไปเรื่อยๆ

เหมือนพระมหาชนกเรือแตกอยู่กลางทะเล ท่านก็ว่ายน้ำไปเรื่อย ยังไม่รู้ทิศทางก็ไม่ยอมเลิก นางเมขลาเขามาแซวบอก “ไม่รู้ทิศทาง ไปว่ายน้ำทำไม เหนื่อยเปล่าๆ” ท่านบอกว่า “นักต่อสู้ก็ต้องสู้ สู้ได้แค่ไหนก็แค่นั้น แต่ที่จะให้งอมืองอเท้าจมน้ำตายเฉยๆ ไม่ทำหรอก บัณฑิตไม่สรรเสริญหรอก พวกไม่มีความเพียร” เห็นไหมท่านไม่รู้ทิศทาง ไม่รู้เหนือรู้ใต้ท่านก็ไม่ยอมแพ้ ฉะนั้นพวกเราระลึกถึงคุณธรรมที่ท่านสร้างมา เป็นตัวอย่างให้เราเดินตาม เราภาวนาทุกวันๆ ยังไม่เห็นผลก็ไม่เลิก ต้องต่อสู้เอา หลวงพ่อเอาตัวรอดมาได้ก็เพราะไม่ดื้อ ครูบาอาจารย์สั่งอย่างไรก็อย่างนั้นเลย แล้วก็อดทน วันนี้ไม่เข้าใจ พรุ่งนี้ก็เข้าใจ พรุ่งนี้ไม่เข้าใจ เดือนหน้าก็เข้าใจ ปีหน้าก็เข้าใจ ตั้งใจไว้ถึงขนาดว่า ชาติหน้าก็เอา ถ้าชาตินี้ไม่เข้าใจ ชาติหน้าค่อยไปเข้าใจก็ยอม ขอทำไปก่อน อดทนมา ภาวนามาก็ต่อสู้มาอย่างนี้

ในที่สุดเราก็เห็น พอจิตมันวางขันธ์ได้มันก็เข้าไปถึงธรรม ตัวขันธ์นั่นล่ะเรียกว่าโลก ตัวขันธ์ก็คือตัวโลก ตัวรูป ตัวนาม รูปนามนั่นก็คือตัวโลก พอวางรูป วางนามได้ก็คือ สิ้นโลก ทันทีที่สิ้นโลก มันเหลือธรรม หลวงปู่เทสก์สอน “สิ้นโลก เหลือธรรม” สิ้นโลกไม่ใช่คิดเอาเอง โลกนี้ว่างเปล่านั่นได้แต่คิด ใช้ไม่ได้หรอก หลวงปู่เทสก์ท่านเคยวิจารณ์ ว่าพวกเดินสายแบบ คิดเอาเลยว่างๆ อันนั้นก็ว่าง อันนี้ก็ว่าง ท่านบอกจะเอาแต่ปัญญา ไม่เอาศีล ไม่เอาสมาธิ ไปไม่รอดหรอก ท่านบอกอย่างนี้เลย

 

 

ฉะนั้นเราทำให้มันถึงพร้อมด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ศีลนั้นเป็นฐานให้สมาธิมั่นคง สมาธิที่มั่นคงเป็นฐานให้เดินปัญญาได้ พอปัญญามันแก่รอบจริงๆ วิมุติมันก็เกิด จิตเริ่มวาง เบื้องต้นวางความเห็นผิด เบื้องกลางวางความยึดถือในกาย เบื้องปลายวางความยึดถือในจิต พอวางความยึดถือในจิตมันจะเข้าถึงธรรมธาตุ จะรู้เลยสุญญตาคืออะไร ว่างมันอยู่ตรงนี้ต่างหาก ไม่ใช่อยู่ที่พูด ว่างมันอยู่ตรงที่จิตมันพ้นจากขันธ์ จิตมันหมดความยึดถือขันธ์ มันถึงจะเห็นว่าง ก่อนหน้านั้นไม่เห็นว่างหรอกได้แต่พูดถึงว่าง แต่ไม่ได้เห็นว่าง แล้วถัดจากนั้นก็ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง

อย่างที่ท่านพุทธทาสท่านบอกนั่นล่ะ คือไม่ว่าเอาขันธ์ไปทำงานอย่างไร ธรรมธาตุนี้ไม่ได้กระเพื่อมเลย ไม่ได้มีผลตกค้างมาถึงเลย อย่างของเราตกค้างใช่ไหม โกรธแล้วก็มีผลต่อมา มีราคะแล้วมันก็มีผลต่อมา หลังจากที่ราคะผ่านไปแล้วอะไรอย่างนี้ แต่จิตที่เข้าถึงธรรมธาตุนั้น ไม่มีผลต่อเนื่องมา ว่าง สว่าง บริสุทธิ์ หยุดความปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาของจิต ไม่มีอะไรเลย ไม่เหลืออะไรสักอย่าง ไม่มีอะไรเลย หมายถึงไม่มีขันธ์ ไม่เหลืออะไรเลย ก็ไม่เหลือความปรุงแต่งใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อพ้นจากความปรุงแต่ง อันนี้หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนมา หลวงพ่อก็มาเล่าให้ฟัง หลวงพ่อโง่ก็จำๆ ครูบาอาจารย์มาบอกพวกเรา เอาไปภาวนาเอา แต่สอนด้วยความมั่นใจ ไม่คิดว่ามั่วนะ เพราะเชื่อมั่นในครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านสอน.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
16 ตุลาคม 2564