วิธีฝึกให้ได้ตัวรู้

การปฏิบัติ ถ้าเราสามารถเห็นสภาวธรรมได้ เห็นความเปลี่ยนแปลงของสภาวธรรมได้ มันจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป มันยากตรงที่เรามองสภาวะไม่ออก คอยรู้สึกที่ร่างกาย รู้สึกที่จิตใจ สภาวธรรมที่พวกเราจะเรียนรู้ ก็คือรูปนามกายใจของเรานี่เอง บางคนสะสมความรู้ความสามารถในการปฏิบัติมามากพอ จะพบว่ารู้ได้ง่ายๆ รู้กายรู้ใจไม่ใช่เรื่องยาก คนซึ่งสะสมมาไม่พอ จะรู้สึก แหม มันยากเย็นแสนเข็ญ โดยเฉพาะการรู้เท่าทันจิตใจตัวเอง ยากมาก

 

การปฏิบัติไม่ได้ยาก
ยากตรงที่เราชอบคิดมากไปเอง

หลวงพ่อแต่เดิม หลวงพ่อพูดออกมาจากความรู้สึกจริงๆ มันง่าย การปฏิบัติมันไม่ได้ยาก มันยากตรงที่เราชอบคิดมากไปเอง ว่าต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ หัดรู้ทันความปรุงแต่งบ่อยๆ รูปธรรมนามธรรมก็เป็นธรรมะฝ่ายปรุงแต่ง อย่างความปรุงแต่งในร่างกาย คอยรู้ไป ร่างกายมันก็เป็นธาตุ มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออก อย่างลมหายใจมันปรุงแต่งก้อนธาตุก้อนนี้ไว้ ก้อนร่างกายนี้ ถ้าหยุดหายใจเมื่อไร ก้อนนี้ก็แตกสลาย

ก็มีสติเห็นร่างกายหายใจเข้า เห็นร่างกายหายใจออก มันยากตรงไหน มัวแต่คิดว่าภาวนาจะต้องทำอะไร จะทำอย่างไร คิดเยอะไป รู้สึกไป ร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก ลมหายใจมันปรุงแต่งร่างกายอยู่ อย่างกินอาหารแล้วก็ขับถ่าย คอยรู้สึกไป ยากไหมที่จะรู้ว่า ตอนนี้ร่างกายหายใจเข้า ยากไหมที่จะรู้ว่า ตอนนี้ร่างกายหายใจออก ไม่ยาก นี้ส่วนมากพอเริ่มหายใจ ก็เริ่มตั้งโจทย์เพื่อจะผูกมัดตัวเอง หายใจอย่างไรจะสงบ เริ่มบังคับแล้ว เริ่มแทรกแซงแล้ว เริ่มปรุงแต่งให้มากขึ้นกว่าเก่า ไม่ต้องคิดมาก หายใจไปจะสงบหรือไม่สงบ ก็เรื่องของจิต ไม่ใช่เรื่องของเรา

เรามีสติเห็นร่างกายหายใจออก มีสติเห็นร่างกายหายใจเข้า ไม่ไปเพ่งไปจ้องอะไร แค่รู้สึก รู้สึกด้วยใจธรรมดาๆ ร่างกายหายใจออกก็รู้ด้วยใจธรรมดา ร่างกายหายใจเข้าก็รู้ด้วยใจธรรมดา มันยากตรงไหน ถ้าเราไม่คิดมาก มันก็ไม่ยาก พอเราหายใจไปช่วงหนึ่ง ใจเรามันก็สงบเองล่ะ เมื่อใจมันสงบ มันเห็นร่างกายหายใจออก เป็นของถูกรู้ถูกดู ร่างกายหายใจเข้า เป็นของถูกรู้ถูกดู มันจะเห็นในเวลาอันสั้น ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา การเห็นว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่เรื่องยากอะไร

พระพุทธเจ้าบอกว่า ปุถุชนที่ไม่ได้สดับ คือคนทั่วๆ ไป ที่ไม่เคยฟังธรรมะของพระพุทธเจ้า ก็ยังเห็นได้ว่าร่างกายไม่ใช่เรา ฉะนั้นมันไม่ใช่เรื่องยาก อย่าไปคิดมาก แค่หายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก ลมหายใจนั่นล่ะ มันเป็นตัวความปรุงแต่งร่างกายเราเอาไว้ ทำให้ร่างกายนี้คงสภาพอยู่ ยากไหม ไม่เห็นยากตรงไหนเลย ถ้าเราคิดมาก มันจะมานั่งหายใจ จะกำหนดจิตอย่างไรดี ให้ลมกระทบกี่ฐาน ทำอย่างไรจะสงบเร็ว ถ้าไม่สงบ หายใจอยู่ จะมีอุบายอะไรทำให้มันสงบเร็ว คิดมากไป

หรือทำอย่างไรจะเจริญปัญญา เห็นร่างกายแล้วก็มีปัญญา จะยากอะไร รู้ลงไปในร่างกายเรื่อยๆ เดี๋ยวก็เห็น ร่างกายมันก็แค่ของถูกรู้ถูกดู เห็นอย่างนั้นแล้ว ไม่ใช่เราแล้ว อันนี้เป็นการเห็นถูก เห็นถูกก็ละความเห็นผิด ว่าร่างกายคือตัวเรา แต่มันเป็นคนละสเต็ป คนละขั้นตอนกับการละความยึดถือ ขั้นแรกเราแค่ละความเห็นผิด ร่างกายนี้ก็แค่วัตถุธาตุ มีธาตุหล่อเลี้ยง เช่น ลมหายใจเข้าหายใจออก มันหล่อเลี้ยง

เราก็เห็นร่างกายมันเป็นของถูกรู้ถูกดูไป ไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง ส่วนขั้นจะหมดความยึดถือร่างกาย เป็นอีกระดับหนึ่ง อันนั้นเป็นภูมิจิตภูมิธรรมของพระอนาคามี ระหว่างความเห็นผิดว่าร่างกายคือตัวเรา กับระหว่างความยึดถือในร่างกาย คนละอัน ระหว่างความเห็นผิดว่าจิตใจคือตัวเรา กับการละความยึดถือในจิตใจ คนละอันกัน คนละขั้นกัน พระโสดาบันก็จะเห็น ละความเห็นผิดได้แล้ว กายกับใจไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา แต่ตรงที่จะละความยึดถือ เป็นอีกระดับหนึ่ง พระอนาคามีละความยึดถือในกายได้ พระอรหันต์ถึงจะละความยึดถือจิตได้ คนละอัน

อย่ารีบร้อน จะมาต้องตั้งคำถาม ทำอย่างไรจะไม่ยึดกาย ทำอย่างไรจะไม่ยึดจิต จะไม่ยึดกายได้ ก็ต้องเห็นทุกข์เห็นโทษ เห็นไตรลักษณ์ของกาย จะไม่ยึดจิตได้ ก็ต้องเห็นทุกข์เห็นโทษ เห็นไตรลักษณ์ของจิต มีเท่านี้ล่ะ มันไม่ใช่เรื่องลึกลับซับซ้อนอะไรเลย แต่มันขี้เกียจ ดูอะไรซ้ำๆ มันเบื่อ อย่างเราดูร่างกายเรานี้ รู้สึกอย่างนี้ทั้งวัน เบื่อ อยากไปดูซีรีส์ ดูซีรีส์เรื่องนี้นานๆ เบื่อ อยากไปดูอย่างอื่น มันวิ่งพล่านๆ ไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่การจะดูกายตัวเอง มันไม่ใช่ยาก แต่มันไม่อยากดู มันอยากไปดูของอื่น

การดูจิตใจก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่มันขี้เกียจดู ไม่อดทนที่จะดู ตรงนี้ที่พวกเราจำนวนมากแตกต่างกับหลวงพ่อ หลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อเป็นคนที่อดทน หลวงพ่อไม่ใช่คนเก่ง ไม่ได้เก่งกว่าพวกเรา ไม่ได้ฉลาดรอบรู้อะไรมากกว่าพวกเราหรอก เป็นคนระดับกลางๆ ไม่ถึงขนาดโง่ แล้วก็ไม่ใช่อัจฉริยะ แต่สิ่งที่หลวงพ่อมีคือความอดทน ยุคแรกยังไม่เจอหลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่อฝึกอานาปานสติ หายใจไปเรื่อย หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ บางวันก็สงบ บางวันก็ไม่สงบ

เราฝึกไปเรื่อยๆ 22 ปี ได้แต่ความสงบ แต่ก็ยังไม่เลิก ทำเรื่อยๆ มาเจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านบอกให้ดูจิต ดูจิตตลอด ดูจิตทั้งวัน เท่าที่มีเวลาจะดูได้ เวลาที่เราดูได้ คือเวลาที่ไม่ต้องนอนหลับ กับเวลาที่ไม่ต้องทำงานที่ใช้ความคิด นอกนั้นเราดูจิตตัวเองได้ หลวงพ่อก็เฝ้ารู้ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของจิตใจไปเรื่อย จิตบางดวงก็สุข บางดวงก็ทุกข์ บางดวงไม่สุขไม่ทุกข์ บางดวงเป็นกุศล เฉยๆ รู้เนื้อรู้ตัวเฉยๆ

บางดวงเป็นกุศลแล้วเจริญปัญญาด้วย ดูความเป็นไตรลักษณ์ของกายของใจไป บางดวงต้องบิลด์ให้เกิด จิตผู้รู้นี้ บางช่วงจิตเราหมดแรง ก็ต้องหาทางทำให้มันเกิดขึ้น ทำสมาธิทำอะไรไป ฝึกเรื่อยๆ ในที่สุดตัวรู้เกิดอัตโนมัติ ไม่ต้องบิลด์ให้เกิด มันเกิดเอง ค่อยๆ เรียน มันจะมีพัฒนาการ บางทีก็เห็นจิตโลภ เห็นจิตโกรธ เห็นจิตหลง เห็นจิตฟุ้งซ่าน เห็นจิตหดหู่ บางทีก็เห็นจิตรู้อยู่ที่จิต บางทีก็เห็นจิตเคลื่อนเข้าไปรู้อารมณ์อย่างอื่นภายใน บางทีก็เห็นจิตออกไปรู้อารมณ์ภายนอก เห็นนิมิต ผีสางนางไม้อะไรอย่างนี้

บางทีก็เห็นจิตวิ่งไปดูรูปทางตา วิ่งไปฟังเสียงทางหู ไปดมกลิ่นทางจมูก ไปรู้รสทางลิ้น ไปรู้สัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ทางร่างกาย เห็นจิตทำงานทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ บางทีก็เห็นจิตเป็นสุข เป็นทุกข์ เฉยๆ บางทีก็เห็นจิตเป็นกุศล เป็นอกุศล พอหัดรู้หัดดู ลืมคำว่าจะดูไปทำไม คำว่าขี้เกียจดูไม่เคยเกิดขึ้นเลย ขยันดู รู้สึกสนุกที่ได้เรียนรู้ มีความพึงพอใจที่จะได้อ่านจิตตนเอง ตัวนี้คือฉันทะ เรามีความพึงพอใจที่จะอ่านจิตใจตัวเอง

 

อ่านใจของตัวเองซ้ำแล้วซ้ำอีก

การพึงพอใจในการทำสิ่งที่ดีงามเรียกว่าฉันทะ เมื่อฉันทะเกิดก็ขยันดู ไม่ขี้เกียจดู มีวิริยะ แล้วการที่เราคอยสังเกตจิตของเรา เวลาอกุศลมีอยู่ เราสังเกตเห็นปุ๊บ อกุศลดับ ในขณะที่เรารู้เท่าทันจิตตัวเองอยู่ อกุศลใหม่ไม่เกิด ในขณะที่เรารู้เท่าทันจิตใจตนเอง กุศลได้เกิดแล้ว แล้วต่อไปกุศลก็แก่กล้าขึ้น ฝึกรู้บ่อยๆ กุศลก็เจริญขึ้นๆ กลายเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ไม่รู้สึกว่าขี้เกียจดู แต่ก็มีเหมือนกัน บางทีก็ จิตมันยังหลงโลกอยู่ บางทีก็ยังอยากดูหนัง อยากอะไรอย่างนี้ แต่เพลงไม่ชอบฟัง อยากดูหนังอยากอะไร อ่านหนังสือ บางทีอยากทำ บางทีก็เบื่อ บางทีก็ขี้เกียจในการที่จะดู

แต่จุดเด่นของหลวงพ่อก็คือ เบื่อก็รู้ว่าเบื่อ ขี้เกียจก็รู้ว่าขี้เกียจ ไม่ยอมขี้เกียจนาน อดทน การอ่านจิตใจตัวเอง หรือการมีสติอ่านร่างกายตัวเอง ไม่ใช่เรื่องยาก แต่การที่เราต้องดูอะไรซ้ำแล้วซ้ำอีก วันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า ปีแล้วปีเล่า ต้องอดทนมากๆ เลย เหมือนเราอ่านหนังสือเล่มเดิม อ่านอยู่นั่นล่ะ มีหนังสืออยู่เล่มเดียว อ่านทุกวันๆ ทนได้ไหม ก็เบื่อใช่ไหม เบื่อ หลวงพ่อไม่เลิก หลวงพ่อต่างกับพวกเราตรงนี้ ท้อใจมีไหม บางทีก็ท้อ

แต่ตั้งแต่หันมาดูจิตดูใจ คำว่าท้อไม่มี สู้ตาย มันสนุก พอมันสนุกสักอย่างเดียว มันมีฉันทะ มันไม่ขี้เกียจดู มันไม่เบื่อที่จะดู ไอ้ที่ขี้เกียจดู ก่อนที่จะรู้การดูจิต ก็นั่งสมาธิไปเรื่อยๆ บางทีก็ขี้เกียจ บางทีก็เบื่อ แต่ตั้งแต่ดูจิตเป็น มันมีฉันทะ จิตอยู่กับเรามาตั้งแต่ไหนแต่ไร ทำไมเราไม่รู้จักมัน จิตมันทำงานได้วิจิตรพิสดารเหลือเกิน ไปทำงานทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ได้ จิตมันมีความหลากหลาย เป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ กุศลก็มีหลายอย่าง บางทีเรามีศรัทธาในพระพุทธเจ้า บางวันศรัทธาก็ตก บางทีเรามีความเพียร บางทีเราก็ขี้เกียจ ใจมันก็เบื่อๆ เบื่อก็ไม่เลิก

ค่อยเรียนลงไปเรื่อยๆ เราจะเห็นองค์ธรรมที่เป็นกุศล ศรัทธา วิริยะ สติ ปัญญา ก็เกิดๆ ดับๆ ได้ เห็นมันไปเรื่อยๆ แต่สนุกที่จะเห็น แล้วมันเบื่อได้อย่างไร เวลาที่เราเจริญวิปัสสนา ถึงจุดหนึ่งบางทีมันเกิดความรู้สึกเบื่อขึ้นมา มันเบื่ออะไร มันเบื่อสุขเท่าๆ กับที่เบื่อทุกข์ เบื่อดีเท่าๆ กับที่เบื่อชั่ว มันมี เบื่อ แต่เบื่ออย่างนี้ เกิดจากการที่เราเจริญปัญญา แต่เบื่อแล้วทำอย่างไร เบื่อแล้วไม่เลิก เบื่อแล้วก็ดู จิตมันเบื่อก็รู้ ไม่ให้ความเบื่อมันครอบงำจิต

เฝ้ารู้เฝ้าดูไปเรื่อยๆ มันไม่ยาก ต้องอดทน อ่านหนังสือเล่มเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก อ่านกาย อ่านใจของตัวเองซ้ำไปเรื่อยๆ พระพุทธเจ้าสอนสติปัฏฐาน ท่านถึงบอกให้รู้เนืองๆ รู้เนืองๆ ไม่ใช่นานๆ รู้ทีหนึ่ง ไม่ใช่นั่งจ้อง แต่รู้เนืองๆ รู้กายในกาย กายหายใจออก กายหายใจเข้า รู้สึกไป รู้เนืองๆ ไม่ถึงขนาดนั่งจ้องนั่งเพ่งร่างกาย จ้องร่างกายหายใจออก จ้องร่างกายหายใจเข้า อันนั้นไม่ใช่ อันนั้นเครียด รู้ด้วยใจปกติ คอยรู้ไปเรื่อยๆ แล้วจะเห็นว่าร่างกายเราก็เป็นของที่ถูกปรุงแต่ง มีลมหายใจปรุงแต่งอยู่เสมอ ขาดลมหายใจร่างกายก็แตก สลาย จิตใจเราก็ถูกปรุงแต่งอยู่เสมอ สิ่งที่มาปรุงแต่งใจเรา คือสัญญากับเวทนา 2 ตัวนี้จะมาปรุง ทำให้จิตเกิดความปรุงดีปรุงชั่วขึ้นมา ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ สังเกตไป สุดท้ายก็รู้ ร่างกายมันก็แค่ของปรุงแต่ง จิตใจมันก็แค่ของปรุงแต่ง

ของปรุงแต่งมันมีลักษณะอย่างไร มีลักษณะไม่คงที่ ไม่เที่ยง เกิดแล้วก็ดับ ของปรุงแต่งมีลักษณะอย่างไรอีก มีลักษณะถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ต้องคอยรักษา อย่างเวลาจิตของเราเป็นผู้รู้ ตัวผู้รู้กำลังถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ให้กลายเป็นผู้หลง เราต้องคอยสังเกต คอยรู้ คอยไป แต่ไม่ถึงขนาดคอยประคองเอาไว้ ตรงที่พยายามประคอง อยากประคอง ตรงนั้นตัวผู้รู้ตายไปเรียบร้อยแล้ว กลายเป็นตัวโลภขึ้นมาแทนแล้ว สังเกตเอา

เมื่อเช้าก่อนจะออกมาเทศน์ หลวงพ่อยังพูดกับพระอาจารย์อ๊า บอกจะเทศน์อะไรดี จิตใจไม่มีธรรมะ จิตใจว่างๆ พระอาจารย์บอกเทศน์อะไรก็เทศน์ไปเถอะ ดู ไม่ให้กำลังใจเลย แล้วพระอาจารย์ก็บ่น มันก็แปลกนะ ตัวผู้รู้นี้เราสร้างมันขึ้นมาด้วยความยากลำบาก สุดท้ายเราก็ต้องทำลายมัน ด้วยความยากลำบากอีก ก็ต้องหัด

ทีแรกเรามีแต่ผู้หลง มีผู้หลง หลงอะไร หลงความปรุงแต่ง หลงว่าร่างกายนี้คือตัวเรา เวลามีความสุขความทุกข์ ก็เราสุขเราทุกข์ เวลาโลภ โกรธ หลง ก็มีเราอีก แล้วตัวจิตใจก็เป็นเรา เราอย่างโน้น เราอย่างนี้ทั้งวัน มันมีแต่หลง หลงๆๆๆ ตื่นมาก็หลงไปจนหลับ ทุกวันๆ ก็อยู่กับความหลง เราจะต้องตัดตอนความหลงให้ขาด ตัวที่จะตัดตอนความหลงให้ขาดก็คือตัวรู้

ที่เราฝึกให้มีตัวรู้ไม่ใช่เพื่อจะเอาตัวรู้ แต่เพื่อจะให้เห็นว่า ความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป อย่างความสุขเกิดขึ้น ความทุกข์เกิดขึ้น หรือจิตเราหลงไป อยู่ในโลกของความคิดความฝัน เดี๋ยวหลงไปทางตา เดี๋ยวหลงทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีแต่หลงกับหลง มันจะไม่มีทางเห็นเลยว่า ขันธ์ 5 กายนี้ใจนี้ไม่ใช่เรา ไม่เห็นหรอก เพราะมันมีแต่หลง ตัวหลงมาปิดบังความจริง เราก็เลยต้องฝึกให้ได้ตัวรู้ขึ้นมา

 

วิธีฝึกให้ได้ตัวรู้

วิธีฝึกให้ได้ตัวรู้ สอนทุกวันเลย สอนแล้วสอนอีก อันหนึ่งเข้าฌานให้ได้ ซึ่งเรายุคนี้เล่นยาก ถ้าได้ถึงฌานที่ 2 ตัวผู้รู้จะเด่นดวงขึ้นมาเลย แล้วยิ่งฌานสูงขึ้นๆ ตัวรู้ก็ยิ่งแข็งแรง เวลาออกจากฌานมา ตัวรู้จะเด่นดวงอยู่ได้หลายวัน ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องรักษา แต่พวกเราทำฌานไม่เป็น ก็ใช้อีกวิธี อาศัยสติรู้ทันความปรุงแต่งของใจตัวเอง รู้มันไปเรื่อยๆ รู้ทันความปรุงแต่งของกายก็ได้ ร่างกายหายใจออกรู้สึก ร่างกายหายใจเข้ารู้สึก แล้วพอมันหลงลืมที่จะรู้ร่างกาย เราเคยฝึกที่จะรู้สึก ร่างกายหายใจออกหายใจเข้า พอมันหลงลืมร่างกายแป๊บเดียว มันก็จะกลับมารู้สึกได้

อย่างเราเคยฝึกหายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก ต่อมาเราไปเห็นสาวสวย จิตเราเกิดราคะขึ้น ขณะนั้นเราลืมการหายใจแล้ว เราไปมองสาว แหม ความรู้สึกชอบมันเกิด หัวใจเต้นตุบๆๆ ลมหายใจแรงขึ้น จังหวะหายใจเปลี่ยนปุ๊บ สติเกิดเลย เพราะเราเคยฝึกรู้การหายใจมาจนชำนาญ พอจังหวะการหายใจเปลี่ยนนิดเดียว สติเกิดเลย รู้ทันแล้ว อ้าว นี่มันหลง ตรงที่เรารู้ทันสภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น ตัวผู้รู้จะเกิดขึ้น

สภาวะอะไรก็ได้ ถ้าเรารู้ร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า พอเราลืม หลงไปแล้วก็จังหวะการหายใจเปลี่ยน สติจะเกิดเองเลย จิตจะรู้ตัวขึ้นมา ตื่นขึ้นมา หรือจิตใจเรา เราเคยอ่าน มันสุขบ้าง มันทุกข์บ้าง เฉยๆ บ้าง เรารู้ทันความปรุงแต่งที่มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ พอเราหลง จิตมีความทุกข์ขึ้นมา ทุกข์ดูง่ายกว่าสุข อย่างดูเวทนา ทุกข์มันดูง่ายกว่าสุข เฉยๆ ดูยากที่สุดเลย เฉยๆ

ฉะนั้นทีแรกเราจะเห็นทุกข์ก่อน พอใจเราทุกข์ขึ้นมา มันแน่นๆ ขึ้นมา ก็มีสติรู้ทัน อย่างสมมติเรากำลังเผลอๆ อยู่ แล้วใจมันโมโหโกรธขึ้นมา เวลาโกรธขึ้นมา ใจมันมีความทุกข์เกิดร่วมด้วย เราเคยดูความทุกข์ความสุขของจิตใจชำนาญ พอโกรธปุ๊บ ใจมันมีความทุกข์ขึ้นมาแล้ว มันก็จะเห็น มีสติรู้ทันขึ้นมา โอ๊ย จิตมีความทุกข์แล้ว จะเห็นอย่างนี้ สติเกิดเอง ทันทีที่รู้ว่ามีความทุกข์ จิตจะดีดผางขึ้นมา ตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้เลย

ส่วนที่ครูบาอาจารย์สอน ส่วนใหญ่ให้ดูหลง เพราะหลงนั้นเกิดบ่อยที่สุด แต่ก็ดูยากเหมือนกัน ต้องหัด ค่อยๆ ฝึก อย่างเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตหลงไปคิดรู้ทัน ฝึกเรื่อยๆ จิตถลำลงไปเพ่งไปจ้องภายใน อารมณ์กรรมฐานบ้าง อะไรที่แปลกปลอมไหวๆ ขึ้นข้างในบ้าง จิตไหลไปเพ่งไปจ้อง รู้ทัน ตรงที่เรารู้ทันจิตที่ไหลไปไหลมา รู้ทันหลงแล้ว จิตจะดีดผางขึ้นมาเป็นผู้รู้ พอมีจิตเป็นผู้รู้ คราวนี้การภาวนาจะง่ายแล้ว

เราจะเห็นร่างกายหายใจ ไม่ใช่เราหายใจ เราจะเห็นว่าร่างกายมีความสุขความทุกข์ ไม่ใช่เราสุขเราทุกข์ เราจะเห็นว่าจิตใจมีความสุข มีความทุกข์ มีความเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่ใช่เราสุข เราทุกข์ เราเฉยๆ เราจะเห็นว่าจิตใจเป็นกุศล ไม่ใช่เราเป็นกุศล เห็นจิตใจโลภ โกรธ หลง ไม่ใช่เราโลภ โกรธ หลง ถ้าเราไม่มีตัวรู้ มันจะกลายเป็นเราไปหมดแล้ว กลายเป็นเรากระทบอารมณ์ปุ๊บ ไม่มีตัวรู้ มีตัวหลง โกรธขึ้นมา ไม่เห็น จะไปเห็นคนที่ทำให้โกรธ รักขึ้นมาไม่เห็นว่าจิตกำลังรัก จะไปมองสิ่งที่เรารัก จะไปอย่างนั้น

ฉะนั้นเราต้องฝึก ฝึกเรื่อยๆ ฝึกไป รู้ทันความปรุงของจิตไป ร่างกายมันก็ของปรุงแต่ง ลมหายใจเป็นตัวปรุงแต่งร่างกาย รู้ไป วิตก วิจาร เป็นตัวปรุงแต่งคำพูด สัญญา เวทนา เป็นตัวปรุงแต่งจิต ทำให้จิตเกิดเป็นกุศลอกุศลทั้งหลาย อาศัยสัญญา เวทนา ค่อยๆ เรียน ไม่ต้องเรียนรู้ทีเดียวทั้งหมดที่หลวงพ่อบอกหรอก ขั้นแรกก็หัดไป ดูไป ร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก แล้วต่อมาพอจิตมันมีกำลังขึ้นมา มันจะเห็นว่าร่างกายเป็นของถูกรู้

ตรงที่ร่างกายเป็นของถูกรู้ จิตผู้รู้มันจะเกิดขึ้นแล้ว ฉะนั้นจิตกับร่างกายจะแยกออกจากกัน มันเริ่มเดินปัญญาแล้ว เริ่มแยกรูปแยกนามได้แล้ว แล้วถัดจากนั้นมันจะเห็น ร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนี้ขึ้นวิปัสสนาแล้ว ถ้าเราเห็นว่ากายเป็นอันหนึ่ง ใจเป็นอันหนึ่ง อันนี้ยังไม่ขึ้นวิปัสสนา เป็นปัญญาเบื้องต้น ถ้าเห็นกายแสดงไตรลักษณ์ เห็นจิตแสดงไตรลักษณ์ อันนั้นขึ้นวิปัสสนา แต่ก่อนจะขึ้นวิปัสสนาได้ ก็เห็นกายเห็นใจก่อน เห็นว่ามันเป็นคนละอันกับจิต

ฉะนั้นการเจริญปัญญา ถ้าเราไม่มีจิตผู้รู้ ไม่ได้เจริญปัญญาจริง มีคนบอกทำวิปัสสนาๆ มีคอร์สวิปัสสนาเยอะแยะเลย มันไม่เป็นวิปัสสนาหรอก กลายเป็นสมถะไปหมดแล้ว แล้วนึกว่าวิปัสสนา เพราะจริงๆ ไม่ได้มีจิตเป็นคนรู้ อย่างสอนกันว่าแยกรูปนาม ต้องมีแยกรูปแยกนามได้ มีนามรูปปริจเฉทญาณ เริ่มเดินปัญญาขั้นแรก บอกยกเท้าก็รูปหนึ่ง ย่างเท้าก็รูปหนึ่ง เหยียบลงไปก็รูปหนึ่ง อันนี้มันแยกรูปกับรูป มันไม่ใช่แยกรูปกับนาม หรือเห็นว่าท้องพองก็อันหนึ่ง ท้องยุบก็อันหนึ่ง นี่ก็คือรูปกับรูป หายใจออกก็อันหนึ่ง หายใจเข้าก็อันหนึ่ง นี่ก็คือรูปกับรูป

ต้องฝึกให้ได้มีจิตเป็นผู้รู้ขึ้นมาก่อน ถึงจะเรียกว่าแยกรูปแยกนามได้ มันจะเห็นร่างกายที่มันนั่งอยู่ ร่างกายที่มันหายใจอยู่ มันเป็นแค่ของถูกรู้ถูกดู ใครเป็นผู้รู้ผู้ดู ก็จิตนั่นล่ะเป็นผู้รู้ผู้ดู นี่คือการแยกรูปแยกนามตัวจริง เกือบร้อยละร้อยของคนที่บอกทำวิปัสสนา ไม่ได้ทำวิปัสสนาหรอก ไม่ได้ทำจริง ได้สมาธิ แล้วพอเกิดนิมิตต่างๆ ขึ้นมา ก็คิดว่าบรรลุมรรคผลกัน ก็หลงกัน มันเห็น พอเห็นว่างๆ บางทีเห็นว่างๆ ได้โสดาบัน ว่างครั้งที่ 2 ได้สกทาคามี ครั้งที่ 3 ได้อนาคามี ว่างครั้งที่ 4 เป็นพระอรหันต์ พอกลับบ้านก็ร้ายเหมือนเดิม บางทีร้ายกว่าเดิมอีก ถ้าพวกติดสมาธินี่

 

รู้ทันความปรุงแต่งของกายของใจ

ฉะนั้นเราไม่ต้องคิดเยอะ เริ่มต้นง่ายๆ ไปก่อน ฝึกให้เรามีสติ รู้สึกกายรู้สึกใจไป รู้สึก แล้วถ้าสติเราเกิดจริง สมาธิคือความตั้งมั่นจะเกิด จิตมันจะเป็นผู้รู้ขึ้นมา เพราะฉะนั้นเวลา สมมติเราหายใจ อย่างหลวงพ่อทำมาทางหายใจ หลวงพ่อก็เลยยกตัวอย่างทีไรก็หายใจเป็นหลัก เราใช้กรรมฐานอื่นก็ได้ เห็นท้องพอง เห็นท้องยุบ อย่าไปถลำลงไปจ้องมัน รู้สบายๆ แล้วก็เห็นว่าท้องพองก็ถูกรู้ ท้องยุบก็ถูกรู้ ถ้าอย่างนี้ไปได้ ไปได้เหมือนกัน ไม่ต่างกันหรอก กรรมฐานอะไร ถ้าจับหลักให้แม่นว่าอันหนึ่งเป็นผู้รู้ อันหนึ่งเป็นสิ่งที่ถูกรู้ สิ่งที่เป็นผู้รู้ก็คือจิต สิ่งที่ถูกรู้เรียกว่าอารมณ์ อารมณ์อาจจะเป็นรูปธรรม หรือนามธรรมก็ได้ แล้วแต่ความถนัด

ฉะนั้นฝึก ค่อยๆ ฝึก ไม่ยาก เอาอีกแล้วเห็นไหม พูดออกมาจากจิตใต้สำนึก ไม่ยาก แล้วก็รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ ไม่ยาก แต่ดูพวกเรา ทำไมมันยาก เพราะพวกเราไม่มีจิตที่ตั้งมั่น พวกเราไม่มีสติที่แท้จริง อย่างเวลาเราลงมือปฏิบัติ เริ่มต้นมีโลภะแล้ว อยากปฏิบัติ โลภ ปฏิบัติแล้วจะต้องรู้ ต้องเห็น ต้องเป็น ต้องได้ ต้องดีอะไรอย่างนี้ มีแต่คำว่าต้องอย่างนั้น ห้ามอย่างนี้ ห้ามฟุ้งซ่าน มีแต่คำว่า “ต้อง” กับคำว่า “ห้าม” มันไม่ใช่คำว่า “รู้”

ฉะนั้นเวลารู้สึกกายก็รู้สึกไป ร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้ารู้สึกไป รู้สึกไปๆ แล้วต่อไป มันจะรู้สึกเหมือนกับว่า เราเห็นคนอื่นหายใจ ไม่ใช่เราหายใจแล้ว ร่างกายมันจะไม่เป็นเราแล้ว มันเป็นของถูกรู้ถูกดู มันแยกกายกับจิตออกจากกันได้ คนละอันกัน เวลาเราไปทำฟัน หวาดเสียวใช่ไหม เสียงตึงตังโครมครามดังลั่นเลย แล้วหมอมาจิ้มๆ จับเราถ่างอ้าปาก เมื่อยจะแย่เลย จิ้มตรงโน้น จิ้มตรงนี้ หวาดเสียว

ถ้าเราชำนิชำนาญในการภาวนา เราก็จะเห็น ร่างกายที่นอนอ้าปากอยู่ก็อันหนึ่ง ความเจ็บที่เกิดขึ้นก็อันหนึ่ง ความสะดุ้งหวาดเสียวก็เป็นอีกอันหนึ่ง อันนี้เป็นเรื่องทางจิตใจแล้ว แล้วก็จิตมันเป็นคนรู้คนเห็น มันแยกขันธ์ได้เวลาทำฟัน ไปฝึกนะ ตอนทำฟันนี้ดีมากเลย เพราะอารมณ์มันรุนแรงมากเลย ไม่ต้องรอว่าถูกรถชนแล้ว ค่อยแยกขันธ์

ฝึกไปเรื่อยๆ บางทีมันเจ็บมากจริงๆ ไม่ไหวแล้ว ก็ใช้สมถะ กำหนดจิตเอาไปไว้ที่หัวแม่เท้า เห็นไหม หมอไม่ยุ่งกับหัวแม่เท้าเรา จิตเราไปอยู่ที่หัวแม่เท้าแล้ว จิตไม่ได้มาสนใจอยู่ที่ปากนี้ ไม่รู้สึกหรอก ความรู้สึกเหลือเบาบาง เหลือแผ่วๆ ถ้าชำนาญจริง ไม่รู้สึก ค่อยๆ ฝึก แยกขันธ์ไปเรื่อยๆ รู้ทันความปรุงแต่งของกาย ความปรุงแต่งของจิต ลมหายใจนี่ล่ะ เป็นตัวความปรุงแต่งของร่างกายเรา ขาดลมหายใจเมื่อไร ร่างกายก็หยุด หยุดก็แตกสลาย

ฉะนั้นเราเห็นร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก ร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู เหมือนเห็นคนอื่นหายใจ ค่อยๆ ฝึก ไม่ชอบหายใจ ก็อาจจะยืน เดิน นั่ง นอน ร่างกายที่กำลังนั่ง ขณะนี้กำลังนั่งอยู่ รู้สึก ยากไหมที่จะรู้สึกว่าร่างกายกำลังนั่ง ต้องกำหนดจิตไหม ถึงจะรู้ว่าร่างกายนั่ง ไม่เห็นจะมีอะไรเลย ก็นั่งอยู่นี่ ก็รู้สึกอย่างนี้ล่ะ ร่างกายมันนั่งอยู่ก็รู้สึก หรือร่างกายมันเคลื่อนไหว มันเคลื่อนไหว รู้สึก อย่าไปเพ่ง อย่าไปจ้องมัน อย่าไปเอาเป็นเอาตาย เอาแค่รู้สึก แล้วก็อย่าลืมมัน

ฝึกเรื่อยๆ ต่อไปเราก็จะรู้ทัน ความปรุงแต่งของกาย ร่างกายเป็นของไม่เที่ยง ร่างกายหายใจออกไม่เที่ยง ร่างกายหายใจเข้าไม่เที่ยง ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ไม่เที่ยง ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง ไม่เที่ยง แล้วก็ไม่ใช่ตัวเรา เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ ร่างกายที่หายใจออก ก็มีแต่ความทุกข์ ก็ต้องหายใจเข้า หายใจเข้าแล้วก็มีความทุกข์ ก็ต้องหายใจออก ร่างกายนั่งนานๆ ก็ทุกข์ ก็ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ นอนนานๆ ก็ทุกข์ ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ เคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ ก็ทุกข์ หยุดนิ่งนานๆ ก็ทุกข์ ดูลงไปร่างกายก็มีแต่ทุกข์

ฉะนั้นเรามีสติรู้สึกอยู่ในกาย มีจิตเป็นคนรู้คนเห็น เราก็จะเห็นร่างกายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พอจิตเราเป็นคนรู้คนเห็น แล้วมีอะไรแปลกปลอม มีความปรุงแต่งทางใจเกิดขึ้น มันปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงดี ปรุงชั่ว เราก็จะเห็นความปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงดี ปรุงชั่ว เป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่จิต จิตเป็นคนเห็น เราก็แยกนามได้อีก แยกนามละเอียดออกไปอีก ในที่สุดเราก็จะเห็น จิตสุขก็ชั่วคราว จิตทุกข์ก็ชั่วคราว จิตเป็นกุศลอกุศลก็ล้วนแต่ชั่วคราว อันนี้คือการเห็นความไม่เที่ยงของนามธรรม ของจิต

ส่วนการเห็นทุกข์ เห็นทุกข์นี่จะทำได้ดี ถ้าเราทรงสมาธิมากพอ อย่างจิตใจเรามีความสุข แต่สุขอันนี้เป็นสุขจากสมาธิ เรามีสติรู้ลงไป เราจะเห็นความสุขค่อยๆ ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย บางทีก็ถอยออกมากลายเป็นปีติ ไม่สุขแล้ว หวือหวา บางทีก็ประณีตเข้าไปกลายเป็นอุเบกขา มันทนอยู่ไม่ได้ ความสุขก็ทนอยู่ไม่ได้ จิตที่สุขก็ทนไม่ได้ จิตที่ทุกข์ก็ทนไม่ได้ จิตที่ดีก็ทนอยู่ไม่ได้ จิตที่ชั่วก็ทนอยู่ไม่ได้ ตรงที่จะเห็นทุกข์ของนามธรรม จะทำได้ดีถ้าสมาธิเรามากพอ ถ้าเราทรงฌาน มันจะเห็นชัด

 

ปล่อยวางตัวจิตผู้รู้ได้ เพราะเห็นทุกข์เห็นโทษ

อย่างตัวที่ แหม มันมีความสุขที่สุดเลย เป็นตัวสุดยอดของจิต ก็คือตัวจิตผู้รู้ นั่นล่ะเป็นยอดของจิตเลย ดีที่สุดเลย จิตคือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้าเราทรงฌาน จิตมันก็จะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อยู่เกือบตลอดเวลา ถ้าเราภาวนาเรื่อยๆ สติ สมาธิ ปัญญาเราแก่รอบ เราก็จะเห็นจิตที่ทรงสมาธิอยู่ ทรงฌานอยู่ กำลังถูกบีบคั้นให้แตกสลายไป ตัวจิตผู้รู้เองก็ตกอยู่ใต้กองทุกข์ ตัวจิตผู้รู้ที่เป็นของดี ของวิเศษ ของสุดยอดในสังสารวัฏนี้ ในโลกธาตุนี้ ไม่มีอะไรประเสริฐเท่าตัวจิตผู้รู้เลย โดยเฉพาะจิตผู้รู้ที่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตชนิดที่เลิศที่สุดเลย มันเป็นจิตผู้รู้ที่ประกอบด้วยปัญญา แต่ว่าถ้าเราภาวนาถึงจุดหนึ่ง ซึ่งกำลังมันพอแล้ว ศีล สมาธิ ปัญญาแก่รอบแล้ว ตัวจิตผู้รู้มันจะพลิกตัวทีเดียว จากตัวที่มีความสุขที่สุด จะกลายเป็นตัวทุกข์ที่สุดเลย ไม่มีจิตดวงไหนทุกข์เท่าดวงจิตผู้รู้เลย ถึงตรงนั้นที่เราจะปล่อยวางตัวจิตผู้รู้ได้ นี้สำหรับคนทรงฌาน

ถ้าคนไม่ได้ชำนาญในฌานก็เห็น จิตผู้รู้เองก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด หรือจิตผู้รู้ก็บังคับมันไม่ได้ เดี๋ยวมันก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด อย่างนี้ก็ใช้ได้เหมือนกัน ผลออกมาเท่าเทียมกัน มีแต่ลีลาการปฏิบัติของแต่ละคน มันแตกต่างกัน เพราะเงื่อนไขพื้นฐาน ของแต่ละคนไม่เท่ากันเท่านั้นล่ะ แต่สุดท้ายความบริสุทธิ์ที่เข้าถึงนั้น ก็เป็นอันเดียวกัน ความบริสุทธิ์เป็นสิ่งเดียว ที่สาวกสามารถมีได้เท่าๆ กับพระพุทธเจ้า คุณงามความดีนอกจากนี้ ไม่มีทางเท่าพระพุทธเจ้าเลย

อย่างพระปัญญาธิคุณ เราอย่างกับแสงหิ่งห้อย ปัญญาของเราที่ว่ารู้เยอะแยะ เรารู้ตัวเลยว่ากิ๊กก็อกมากเลย เทียบกับพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า อย่างพอเราภาวนา จนเราเข้าใจพระนิพพานแล้ว ไม่มีการกำหนดจิตเข้านิพพานนะ นิพพานอยู่ต่อหน้าต่อตานี้ ถ้ายังทำจิตอย่างไรจะทรงพระนิพพาน ยังไม่จบหรอก พอจิตเราเข้าถึงตัวนี้แล้ว มันเข้าถึงความว่าง ความสงบที่แท้จริง ไม่มีอะไรปรุงแต่งเสียดแทงได้ มันมีความสุขอันมหาศาล เป็นความสุขที่ไม่มีอะไรเหมือน ไม่ใช่สุขอย่างโลกๆ ไม่ใช่สุขอย่างฌานสมาบัติ

ในตำราเขาแยกความสุขอย่างโลกๆ เรียกกามสุข เป็นความสุขที่มีอามิส คือมีกามมาล่อ ฌานสมาบัติก็เป็นความสุขที่ไม่มีอามิส นิพพานมันเหนือกว่านั้นอีก มันเหนือกว่านั้นอีก มันไม่ต้องมีอารมณ์อื่นมา เพราะตัวนิพพานมีความสุข เป็นอารมณ์ที่มีความสุขในตัวเองอยู่แล้ว “นิพพานัง ปรมัง สุขัง” ฉะนั้นจิตไม่ได้ทำอะไร จิตเราไม่ต้องทำอะไร นี้ถ้าเราปล่อยวางจิตได้ ก็เข้ามาถึงตัวนี้ เราปล่อยวางจิตได้ เพราะเราเห็นทุกข์เห็นโทษของจิต เห็นไตรลักษณ์ ปล่อยวางกายได้ ก็เพราะเห็นทุกข์เห็นโทษของกาย คือเห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ

ขั้นแรกแยกกายแยกจิตให้ได้ แยกนามธรรมทั้งหลาย พวกเจตสิกกับจิตแยกออกจากกัน สุข ทุกข์ ดี ชั่ว ไม่ใช่จิต ค่อยๆ หัดดูไป หัดสังเกตไป พอแยกแล้ว ต่อไปก็เห็นสภาวธรรมทั้งหลาย ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม ทั้งจิต ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เฝ้ารู้เฝ้าดูไป แล้วก็จะรู้ความจริงว่าไม่มีเรา ตรงที่มันไม่มีเราอย่างแท้จริงนั้น เป็นพระโสดาบัน แล้วก็การภาวนาถัดจากนั้น ก็ภาวนาเหมือนเดิม มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

ภาวนาอย่างเดิม ไม่ใช่ไปนั่งปรุงแต่ง ส่วนใหญ่ก็คือทำอย่างไรจิตจะบรรลุพระอรหันต์ หรือพอคิดว่าบรรลุพระอรหันต์แล้ว ทำอย่างไรจะทรงอยู่ได้ นี่ก็ปรุงแต่งไม่เลิก ถ้าเราสามารถ ชำนิชำนาญ รู้ทันความปรุงแต่งได้ เราจะไม่โดนหลอก ไม่อย่างนั้นเราก็จะหลอก ให้วิ่งหานิพพานไปเรื่อยๆ นิพพานต้องเป็นอย่างนั้น นิพพานต้องเป็นอย่างนี้

พระพุทธเจ้าบอกอยู่แล้วนิพพานเป็นอะไร นิพพานเป็นความสงบ สันติ นิพพานเป็นบรมสุข นิพพานว่าง ว่างตัวนี้ไม่ใช่ว่างเปล่า โลกธาตุก็มีอยู่อย่างนี้ล่ะ แต่ใจมันไม่เข้าไปปรุงแต่ง ไม่เข้าไปเกาะเกี่ยว ไม่เข้าไปยึดถือ มันก็เห็นโลกทั้งโลกว่าง มองออกไปก็เห็นแต่ว่าง มองลงในกายก็ว่าง มองลงในจิตก็ว่าง ค่อยๆ ฝึก แล้ววันหนึ่งก็จะรู้จะเห็นเป็นลำดับๆ ไป

ที่หลวงพ่อสอน เหมือนหลวงพ่อให้แผนที่ไว้อันหนึ่ง ที่พวกเราจะต้องเดินไป ทีแรกก็หัดแยกรูปนาม แยกกายแยกใจไป ฝึกเรื่อยๆ ก็จะเห็นความจริงของกายของใจ วันนี้สอนตั้งแต่เบื้องต้นเลย จนถึงวิมุตติญาณทัสสนะ วิมุตติแล้ว หลุดพ้นแล้ว เป็นอย่างไร หลวงพ่อก็เรียนมาจากครูบาอาจารย์ ไม่ได้เก่ง บอกแล้วไม่ใช่คนเก่ง แต่ทน ถ้าเราทนได้ เราก็จะได้แก่น ทนไม่ได้ก็ไม่ได้แก่น ได้แต่เปลือก ผู้ใดทนได้ก็จะได้แก่น เทศน์เอาไว้ให้พวกเราใช้เป็นแผนที่ ที่จะคลำทางของเราออกไปข้างหน้า

พวกที่อยู่ในห้อง ในศาลานี้ รู้สึกไหม ตอนที่หลวงพ่อตรวจการบ้าน จิตพวกเราไปไหน รู้สึกไหม พอหลวงพ่อหยุดการตรวจการบ้าน รีบเรียกให้จิตกลับมา ส่วนใหญ่ เมื่อกี้ฟังเพลินไปเลย กรรมฐานเป็นเรื่องเฉพาะตัว คอยรู้สึกของเราไว้ คนอื่นอย่างไรก็ช่างเขาเถอะ คอยรู้สึกของเราเรื่อยๆ ไม่ยาก แต่อย่าละเลย อดทน ดูแล้วดูอีก อดทน เราก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลง

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
23 มีนาคม 2567