เจริญพร เช้าๆ มาฟังธรรมดี ดีกว่าตอนบ่ายๆ บ่ายๆ นั่งฟังส่วนใหญ่ก็หลับ เช้าๆ เพิ่งจะหลับเสร็จมา ธรรมะพยายามเรียนไว้ เป็นของดีของวิเศษ ในโลกไม่มีอะไรยั่งยืนสักอย่างเดียว ทุกอย่างผ่านมาแล้วก็ผ่านไป คนในโลกก็หลงต่อสู้แย่งชิงกัน ใส่ร้ายป้ายสีกัน เบียดเบียนกัน อยากได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ลืมไปอย่างหนึ่งว่าไม่มีอะไรที่จะได้มาจริง กระทั่งชีวิตร่างกายเรา ได้มาก็ได้มาชั่วคราว ไม่นานเราก็ต้องคืนเจ้าของ ร่างกายเราก็ต้องคืนไปสู่ความเป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมไป
จิตก็เป็นธาตุอันหนึ่ง เป็นวิญญาณธาตุ ก็เกิดดับหมุนเวียนไป จิตดวงใหม่ก็ไม่ใช่ดวงเดิม อย่างพวกคนจำนวนมากก็คิดว่าพวกเรามีจิตวิญญาณอยู่ พอเราตายแล้วจิตใจของเราดวงนี้ ออกจากร่างนี้ไปเข้าร่างใหม่ อันนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ คิดว่าจิตนี่เที่ยงจิตเป็นอมตะ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่รู้หรือกว่าจิตเองเกิดดับตลอดเวลา ถ้าเราภาวนายังไม่ละเอียดพอ เราก็เห็นว่าจิตมีดวงเดียว จิตอยู่กับตัวเรา เดี๋ยวก็วิ่งไปที่ตาแล้วก็วิ่งกลับมา วิ่งไปที่หูแล้วก็วิ่งกลับมา วิ่งไปที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย แล้วก็วิ่งกลับมา วิ่งไปคิดแล้วก็วิ่งกลับมา เราคิดว่าจิตมีดวงเดียว
อันนี้เพราะสติปัญญาของเรายังไม่แก่กล้าพอ ต้องฝึกอีก ถ้าฝึกแล้วเราจะเห็นเลย จิตเกิดที่ไหนก็ดับที่นั่น จิตนั้นเกิดดับสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว เกิดที่ตาก็ดับที่ตา เกิดที่หูก็ดับที่หู เกิดที่ใจก็ดับที่ใจ เกิดตรงไหนก็ดับตรงนั้น จิตที่เกิดที่ตากับจิตที่เกิดที่หูก็คนละดวงกัน ทำหน้าที่ได้แตกต่างกัน จิตที่เกิดที่ตาก็ทำหน้าที่เห็นรูป จิตที่เกิดที่หูทำหน้าที่ฟังเสียง เราจะเอาหูไปเห็นรูป มันทำไม่ได้ จิตมันเกิดดับทางโน้นทางนี้ในทวารทั้ง 6
ขันธ์ 5 เกิดดับหมุนเวียน
เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัย
คนจำนวนมากตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ พวกหนึ่งก็คิดว่าตายแล้วสูญไปเลย ไม่มีอะไรเหลือ อีกพวกหนึ่งคิดว่าตายเฉพาะร่างกายแต่จิตวิญญาณไม่ตาย เดี๋ยวก็จะกลับมาเกิด เหมือนเคยเห็นปูเสฉวนไหม ตัวมันโตขึ้นก็เปลี่ยนเปลือก ไปหาเปลือกหอยอันใหม่เข้าไปอยู่ แล้วคิดว่าตัวเดิมแต่ย้ายบ้าน ก็คิดว่าจิตนี้ก็ดวงเดิมแต่ย้ายบ้าน คือย้ายที่อยู่ย้ายร่างกายใหม่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้แล้วท่านพบว่า การคิดว่าตายแล้วสูญก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ ตายแล้วเกิด ตัวเก่าไปเกิดก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ
แล้วท่านภาวนาท่านก็รู้แจ้งแทงตลอดว่าจริงๆ แล้ว ขันธ์ 5 มันเกิดดับหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน จิตเองก็เกิดดับ แล้วก็เกิดดับรวดเร็วมาก รวดเร็ว อย่างเวลาเราเห็นรูปบางอย่าง แล้วกว่าเราจะคิดได้ว่านี่เป็นรูปอะไร รูปผู้หญิง รูปผู้ชาย รูปหมา รูปดอกไม้ แล้วก็กว่าใจเราจะยินดียินร้ายขึ้นมา มีกระบวนการที่จิตทำงานต่อเนื่องกันจำนวนมาก จิตเกิดดับๆ ต่อเนื่องกันจำนวนหลายดวงเลย เริ่มแต่จิตไปเห็นรูป ตามันมองเห็น จิตอาศัยตาไปดูรูป จิตที่เห็นรูปเกิดแล้วดับทันที ชั่วขณะเดียวเท่านั้นดับพรึ่บไป มีจิตอีกดวงหนึ่งเป็นแมสเซนเจอร์ รับข้อมูลจากภาพที่เห็นส่งเข้ามาสู่จิตส่วนกลาง คนละดวงกัน จิตมันรับข้อมูลเข้ามา มีการประมวลข้อมูล มีการวิเคราะห์ข้อมูลกว่าจะรู้ว่านี่คือรูปอะไร พอรู้ว่ารูปอะไรแล้ว ก็มีจิตมาตัดสินอีกว่าต่อไปนี้จิตจะเกิดกุศลหรือเกิดอกุศล เลือกไม่ได้ เราเลือกไม่ได้
เพราะฉะนั้นอย่างแค่ตาเราเห็นรูปมีจิตเกิดดับสืบเนื่องตั้งเยอะ กว่าจิตเราจะเกิดกุศลอกุศลยินดียินร้ายอะไรขึ้นมา เกิดกุศลอกุศลยินดียินร้ายขึ้นมาแล้ว ก็ไม่ได้จบแค่นั้น ก็ยังมีกระบวนการที่จิตทำงานต่อเนื่องไปอีก ก่อนที่มันจะตกภวังค์ มันจะลงจากวิถีที่ขึ้นมารับอารมณ์ทางตาต่อเข้ามาที่ใจ ก่อนที่มันจะตกภวังค์ลงไป มันมีการเซฟข้อมูลคล้ายๆ คอมพิวเตอร์เลย ต้องบอกว่าคอมพิวเตอร์มันคล้ายๆ จิตมากกว่า เพราะจิตมันเกิดก่อนคอมพิวเตอร์ อย่างเวลาเราชัตดาวน์ เครื่อง มันไม่ได้ดับทันที มันต้องเซฟข้อมูลลงไปก่อน แล้วมันถึงจะปิดเครื่องได้
จิตพอมันขึ้นมาเสวยอารมณ์จะเป็นกุศลอกุศลก็ตามเถอะ ก่อนที่มันจะลงภวังค์จบกิจกรรมอันนี้ มันมีการเก็บข้อมูลเอาไว้ บุญหรือบาปที่เราทำไม่ได้สูญหายไป ถูกเก็บบันทึกลงไปในภวังคจิต แล้วก็ถัดจากนั้นเวลากระทบอารมณ์ครั้งใหม่ จิตก็ขึ้นจากภวังค์ จิตขึ้นจากภวังค์ แล้วขึ้นมารับอารมณ์ อย่างเวลาเรานอนหลับลึกๆ จิตอยู่ในภวังค์ไม่รับรู้อะไรข้างนอก อย่างมากก็มีอารมณ์เก่าๆ ฝันอะไรต่ออะไรตามอารมณ์เก่าๆ ไป
ทีนี่พอจิต สมมติว่าเรานอนหลับสนิทอยู่ แล้วมีสิ่งบางสิ่งมากระตุ้นให้ตื่น สังเกตดูให้ดีตอนที่จิตมันขึ้นจากภวังค์ มันยังไม่รู้ว่าอะไรทำให้มันตื่นขึ้นมา ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำให้ตื่นเป็นเสียงแปลกๆ หรือเป็นกลิ่นแปลกๆ อย่างบางคนตื่นขึ้นมา ต้องใช้เวลานิดหนึ่ง ถึงจะรู้ว่าเมื่อกี้ตื่นขึ้นมาเพราะมันมีเสียงคล้ายๆ ผู้ร้ายปีนบ้านเราแล้ว มันค่อยๆ ขึ้นมา ทำงานเป็นช็อตๆๆ ขึ้นมา ทีนี้พอแปลความหมายได้แล้ว ผู้ร้ายขึ้นบ้านใช่ไหม ใจก็กลัว ค่อยทำงานต่อเนื่องกันไป
พอใจกลัวสะสมโมหะเอาไว้ เอ้ย ใจกลัวนี่เป็นโทสะ ใจไม่สบาย เครียด ก็สะสมความเคยชิน คนไหนเคยขี้กลัวจะยิ่งขี้กลัวมากขึ้นๆ คนไหนขี้โลภแล้วตามใจกิเลสเรื่อยๆ ก็จะขี้โลภมากขึ้น คนไหนขี้โกรธ ตามใจโกรธแล้วก็ตามใจตัวเองเรื่อยๆ ก็จะโกรธเก่งขึ้นเรื่อยๆ สะสม นี่ทุกสิ่งทุกอย่างถูกสะสมเอาไว้ในภวังคจิต ภวังคจิตก็เป็นจิตชนิดหนึ่ง เป็นจิตอีกชนิดหนึ่ง เหมือนจิตที่ไปรู้รูป จิตที่ไปได้ยินเสียงอะไรพวกนี้ หรือจิตที่คิดนึกปรุงแต่งว่าอันนี้ชั่วอันนี้ดี
ฉะนั้นจิตมีสารพัดจิต มีมากมายทำงานต่อเนื่องกันเป็นช็อตๆๆๆ ไป อย่างหลวงพ่อตอนหัดภาวนาตอนที่เห็นสภาวะอันนี้ทีแรก นอนหลับอยู่แล้วตอนตื่น จิตมันขึ้นจากภวังค์ เรารู้สึกเลยจิตมันผุดขึ้นมา ผุดขึ้นมาจากความว่างๆ ผุดปุ๊บขึ้นมาทีแรกเหมือนรู้แต่ไม่รู้ว่ารู้อะไร แล้วต่อมาจิตมันขยายความรับรู้ออกมา อ๋อ มันรู้ความรู้สึกนึกคิด แล้วมันขยายความรับรู้ออกไปอีก รู้ร่างกาย เห็นร่างกายนอนท่านั้นท่านี้ เห็นมันทำงานเป็นช็อตๆๆๆ
ค่อยๆ ฝึก แล้วเราจะรู้ว่าจิตไม่ได้มีดวงเดียว แต่จิตมีทีละดวง ทำงานต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ ฉะนั้นจิตนั้นเกิดดับตลอดเวลา ถ้าเราเห็นตรงนี้เราจะรู้เลยว่ามันไม่มีตัวเราที่แท้จริง สิ่งที่เราคิดว่าตัวเราๆ มันผ่านกระบวนการปรุงแต่งมาตั้งช่วงหนึ่งแล้ว ถึงจะมาสรุปว่านี่ตัวเรา เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วตัวเราไม่มี มีแต่ของที่เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไปทั้งสิ้น ไม่มีสิ่งที่จะเป็นตัวตนถาวรอะไรทั้งสิ้น
ฟังดูยาก ที่จริงไม่ได้ยาก แค่ละเอียดเท่านั้นเอง เราก็ต้องพยายามฝึกตัวเอง ให้สติของเราเร็วขึ้นๆ ถ้าสติเราเร็วเราก็จะเห็นกระบวนการเหล่านี้ได้ ถ้าสติเราอืดอาดล่าช้า กว่าสติจะเกิด โอ้ย เนิ่นนาน เราก็จะหลงผิดว่าจิตมีดวงเดียว แล้วจิตดวงนี้วิ่งไปวิ่งมา วิ่งไปทางตาแล้วก็วิ่งกลับมา เคยเห็นแมงมุมไหม แมงมุมชักใย เดี๋ยวก็วิ่งไปข้างซ้าย เดี๋ยวก็วิ่งไปทางขวา แล้วก็กลับมาอยู่ตรงกลางทุกที เราก็คิดว่าจิตนี่วิ่งไปวิ่งมาแล้วก็กลับมาอยู่ตรงกลาง
จิตเกิดที่ไหน จิตดับที่นั่น
ตอนแรกๆ ที่หลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อเห็นจิตมันวิ่งไปวิ่งมา แล้วจิตมันก็รู้ว่าจิตมันไม่ใช่เรา มันทำงานของมันได้เอง คิดนึกปรุงแต่งของมันได้เอง ภาวนามาเรื่อยๆๆๆ ก็เห็นจิตมันไปทางโน้นทางนี้ เกิดที่ตาแล้วก็ดับ เกิดที่หูแล้วก็ดับ เกิดที่จิตแล้วก็ดับ เกิดที่ใจแล้วก็ดับ เกิดที่ไหนดับที่นั่น ก็สงสัย เกิดความสงสัย เราจะภาวนา เราควรจะเอาจิตไปตั้งไว้ตรงไหน เอาจิตไปตั้งไว้ตรงไหนดี ตอนนั้นก็นึกว่าเอาตั้งไว้กลางหน้าอกนี่กระมัง เพราะเราเห็นกิเลสผุดขึ้นจากกลางหน้าอกนี่ กุศลก็ผุดขึ้นจากกลางหน้าอก ผุดขึ้นตรงนี้ อะไรๆ ก็โผล่ขึ้นมาจากกลางหน้าอกนี่ล่ะ ก็เลยคิดว่าเราควรจะเอาจิตไปตั้งไว้ตรงนี้
พอดีได้เจอหลวงปู่ดูลย์ เข้าไปถามท่าน หลวงปู่ครับจิตมันตั้งอยู่ที่ไหน คำตอบในใจเราคือตั้งอยู่ตรงนี้ หลวงปู่ตอบชัดเจน จิตไม่มีที่ตั้ง จิตเกิดที่ไหน จิตดับที่นั่น อ้าว แล้วเวลาเราภาวนาเราจะทำอย่างไร เราก็รู้อย่างที่รู้ได้ ไม่ต้องไปตั้งเอาไว้ก่อนแล้วไปรอดู ถ้าเราเอาจิตไปตั้งไว้ตรงนี้ แล้วรอดูว่าเมื่อไรจะมีอะไรเกิดขึ้น นี่ผิดแล้ว ดูจิตผิดแล้ว ดูจิตที่ถูกต้องก็คือ จิตมันเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้น ไม่ต้องไปรอดู
รอให้ความสุขผุดขึ้นมาแล้วก็รู้ว่ามีความสุข ความทุกข์ผุดขึ้นมาแล้วรู้ว่ามันทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์เฉยๆ ผุดขึ้นมาก็รู้ว่าไม่สุขไม่ทุกข์ กุศลผุดขึ้นมารู้ว่าเป็นกุศล โลภโกรธหลงผุดขึ้นมาก็รู้ว่ามันโลภมันโกรธหรือมันหลง นี่รู้ไปทีละช็อต ทีละช็อต รู้ความรู้สึกทั้งหลายที่เกิดขึ้นมา ถ้าเราคอยดูอย่างนี้เรื่อยๆ เราไม่เอาจิตไปตั้งรอดู หลายคนภาวนาที่หลวงพ่อเห็น พอคิดจะดูจิตมันก็จ้องเลย รอดู พยายามจ้อง บางคนไม่รู้จะจ้องที่ไหน ก็ส่ายไปส่ายมา สแกนไปเรื่อย มีไหม ใครทำ ตรงไหนดี ดูตรงไหนดี ดู เอาละตรงนี้ เอาตรงนี้ ก็จ้องเฝ้าไว้ นี่เป็นการดูจิตที่ผิด
การดูจิตนี่ข้อแรกเลยก็คือ อย่าดักดู อย่าไปดักดู ให้ความรู้สึกเกิดก่อนแล้วค่อยรู้เอา หรือให้จิตทำงานไปก่อนแล้วค่อยรู้เอา อย่างให้มีความสุขผุดขึ้นมาแล้วค่อยรู้เอา ไม่ต้องไปรอดูว่าต่อไปนี้อะไรจะโผล่ขึ้นมา หลายคนที่ภาวนาแล้วดูจิตๆ แล้วดูไม่ได้เรื่องเลย ก็เพราะว่าไปดักดู เพราะฉะนั้นกฏของการดูจิตข้อแรก อย่าดักดู จิตเป็นอย่างไรก็รู้อย่างที่เท่าที่รู้ได้ ไม่ต้องไปฝืน ไม่ต้องไปบังคับจิต
กฎข้อที่ 2 ก็คือ เมื่อมันผุดขึ้นมาแล้ว เวลาดู ดูแบบคนวงนอก อย่าถลำลงไปดู หลายคนถลำลงไปดู หลวงพ่อก็เคยเป็น ที่หลวงพ่อมาพูดให้พวกเราฟังนี่ พูดอย่างองอาจกล้าหาญมั่นใจเพราะเคยผิดมาแล้ว ไม่ใช่เก่ง แต่เพราะเคยโง่มาแล้ว เคยทำผิดมาแล้ว ถึงมาพูดได้เต็มปากว่าอย่างนี้ไม่ถูกหรอก เวลาอย่างหลวงพ่อเป็นคนขี้โมโห สมัยก่อนมันผุดความโกรธผุดขึ้นมานี่ หลวงพ่อไปดูที่ความโกรธแล้วจิตมันเคลื่อนเข้าไปในความโกรธ ความโกรธก็หนี เคลื่อนหนีออกไปอยู่ข้างนอก แล้วเสร็จแล้วความโกรธดับปั๊บลงไป มันก็ดับพร้อมกับจิตที่โกรธนั่นล่ะ คือจิตมันไม่ตั้งมั่นแล้ว เวลาที่มันถลำไปดู จิตมันออกนอก
จิตที่ถลำไปดูมันออกนอก ไม่ว่าจะดูรูป ดูเสียง ดูกลิ่น ดูรส ดูสิ่งที่สัมผัสร่างกาย หรือกระทั่งดูนามธรรมที่เกิดในใจเรา อย่างโกรธแล้วเราไปดูที่โกรธ แล้วเราถลำไปจ้องที่โกรธ อันนี้หลวงปู่ดูลย์เรียกว่าจิตส่งออกนอกแล้ว หรือขณะดูร่างกายเรานี่เห็นหัวใจเต้นตุ๊บๆๆ จิตไหลไปจ้องที่หัวใจ อันนี้ก็ส่งจิตออกนอกเรียบร้อยแล้ว คำว่า “ส่งจิตออกนอก” ไม่ใช่ส่งออกไปนอกร่างกาย แต่ออกไปจากฐานของจิต ออกไปจากสภาวะที่ตั้งมั่นของมัน มันจะเคลื่อนออกไป ตรงนี้จริงๆ แล้วจิตไม่ได้เคลื่อนออกไป แต่จิตที่ตั้งมั่นนั้นมันดับ มันเกิดจิตที่ฟุ้งซ่านออกไปหาอารมณ์ คนละดวงกันแล้ว
ทีนี้ไปหัดดูทีแรกเห็นความโกรธ จิตมันไปจ้องที่ความโกรธ มันไปมองความโกรธ จิตส่งออกนอกแล้ว พอความโกรธดับปั๊บ จิตดวงนั้นก็ดับไปด้วย แล้วจิตก็ไปว่างสว่าง เกิดจิตดวงใหม่ว่างๆ อยู่ แต่ว่างอยู่ข้างนอก ฉะนั้นจิตมันเกิดดับๆ
กฏข้อแรกให้ความรู้สึกเกิดแล้วค่อยรู้ อย่าไปดักดู กฎข้อที่สอง เวลาดู ดูแบบคนวงนอกไม่มีส่วนได้เสีย อย่าถลำลงไปจ้อง อย่าลงไปเพ่ง ดูกายก็เหมือนกัน บางคนขยับมืออย่างนี้ ขยับมือแล้วไปเพ่งใส่มือ อันนี้ก็จิตออกนอกแล้ว จิตไปอยู่ที่มือ ดูท้องพองยุบแล้วจิตไหลไปอยู่ที่ท้อง อันนี้ก็ส่งออกนอกแล้ว จิตมันเคลื่อนไปแล้ว จิตที่ไม่เคลื่อนก็คือจิตที่ตั้งมั่น จิตที่ตั้งมั่นก็เป็นจิตชนิดหนึ่ง เกิดแล้วก็ดับเช่นเดียวกับจิตชนิดอื่นนั่นล่ะ ทีนี้เราต้องฝึกให้มีจิตที่ตั้งมั่น เราถึงจะเจริญปัญญาได้จริง
ฝึกให้มีจิตที่ตั้งมั่น
ถึงจะเจริญปัญญาได้จริง
สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา สัมมาสมาธิไม่ใช่แปลว่าสงบ อย่ามักง่าย พวกเราชอบแปลสมาธิว่าสงบ สมาธิแปลว่าความตั้งมั่น ความตั้งมั่นก็ไม่โคลงเคลงคลอนแคลน ไม่วิ่งไปวิ่งมา หลงไปทางโน้นที หลงไปทางนี้ที แต่มันตั้งมั่นมันรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ เป็นสภาวะที่จิตตื่นขึ้นอย่างแท้จริง เราต้องฝึกตัวนี้ แล้วต่อไปเวลาเราภาวนาเราเห็นสภาวะนี่ จิตเรามีความตั้งมั่น มันจะไม่ถลำลงไปดู ไม่ถลำลงไปเพ่ง ฉะนั้นจิตที่ตั้งมั่นถึงสำคัญมาก แล้วพอเราเห็นสภาวะแล้ว สภาวะอยู่ห่างๆ จิตอยู่ต่างหาก จิตกับสภาวะที่ถูกรู้มันแยกออกจากกัน อย่างจิตมันรู้ร่างกายที่เคลื่อนไหว ร่างกายที่เคลื่อนไหวเป็นของถูกรู้ถูกดู จิตเป็นแค่คนเห็นมัน เมื่อจิตกับร่างกายแยกออกจากกันมันจะเกิดปัญญา เห็นว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา มันเป็นของที่ถูกรู้ถูกดูเท่านั้นเอง
เมื่อวานหลวงพ่อยังทำนิ้วมือให้ที่วัดเขาดู เรามีขันธ์ 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ วิญญาณคือจิต เวลาที่เราจะเจริญปัญญานี่ เรามีจิตไปรู้รูป เรามีจิตไปรู้เวทนา เรามีจิตไปรู้สัญญา เรามีจิตไปรู้สังขารคือความปรุงดีปรุงชั่ว ขาดจิตตัวเดียวไม่มีการปฏิบัติแล้ว เพราะฉะนั้นการแยกขันธ์เราไม่ต้องแยก 5 ขันธ์ก็ได้เวลาเดินปัญญาจริง
อย่างเราดูรูป ใครเป็นคนดูรูป จิตเป็นคนดูรูป ต้องอย่างนี้ เราเห็นร่างกายหายใจ จิตเป็นคนดู ร่างกายยืนเดินนั่งนอน จิตเป็นคนดู ร่างกายเคลื่อนไหวหยุดนิ่ง จิตเป็นคนดู ต้องมีจิตเป็นคนดู เวลาเราจะรู้เวทนา ทำนิ้วยากหน่อย ตัวนี้นิ้วแข็งแล้ว แก่ นิ้วนี้ อย่าเห็นนิ้วอื่นเห็นนิ้วเดียว แล้วก็จิตอยู่นี่ เวทนาเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ถ้าเราสามารถแยกได้ จิตมันตั้งมั่นขึ้นมา มันแยกออกมาต่างหาก มันไม่ลงไปคลุกวงใน ไม่รวมเข้าไปกับขันธ์ 5 ไม่รวมกับขันธ์ที่เหลือนี่ มันจะแยกตัวออกมา พอจิตมันแยกตัวออกมาด้วยความตั้งมั่นมีสัมมาสมาธินี่ ขันธ์อื่นๆ มันจะกระจายตัวออกไป มันจะไม่ใช่จิต ร่างกายไม่ใช่จิต สุขทุกข์ไม่ใช่จิต ความจำได้หมายรู้ไม่ใช่จิต ดีชั่วไม่ใช่จิต สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้าเท่านั้นเอง
ฉะนั้นถ้าเรามีจิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู ไม่ว่ามันจะไปเข้าคู่กับรูป เวทนา สัญญา หรือสังขารก็ตาม สิ่งเหล่านั้นจะถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ฉะนั้นต้องดูห่างๆ ถ้ารวมเป็นก้อนอย่างนี้ ไม่รู้เรื่องแล้วอย่างนี้ พวกเราปุถุชนทั้งหลายเป็นมะเหงกเลย ไม่ใช่ก้อนอย่างเดียว ไม่ใช่ก้อนอย่างนี้มันก้อนอย่างนี้เลย เพราะมันแยกขันธ์ไม่ได้ ที่แยกขันธ์ไม่ได้เพราะจิตไม่ตั้งมั่น
เพราะฉะนั้นเรื่องจิตตั้งมั่นเป็นเรื่องใหญ่ ตอนหลวงพ่อภาวนากับหลวงปู่ดูลย์ ภาวนาอยู่ 7 เดือน หลวงปู่บอกว่าเข้าใจการปฏิบัติแล้ว ช่วยตัวเองได้แล้ว ต่อไปไม่ต้องมาเรียนกับท่านก็ไปได้ด้วยตัวเอง ท่านบอกอย่างนี้ หลวงพ่อก็เที่ยวไปดูที่โน้นที่นี่ สำนักโน้นสำนักนี้ เราไปหาประสบการณ์ ไปดูว่าเขาภาวนากันอย่างไร หลวงพ่อพบว่าปัญหาใหญ่ก็คือไม่มีตัวนี้ ไม่มีจิตที่ตั้งมั่น ไม่มีสัมมาสมาธิ
พวกหนึ่งไม่เอาสมาธิเลย คิดพิจารณาร่างกายอย่างเดียวเลย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา อันนั้นสมาธิออกนอก สิ่งที่ได้คือสมถะเหมือนกัน แต่สงบเฉยๆ สงบสบายมีความสุขไป แต่จิตไม่ได้ตั้งมั่น มันไม่ได้เห็นอย่างแท้จริงว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ไม่ใช่ตัวเราของเรา แต่มันเห็นด้วยการคิด เพราะฉะนั้นถ้าจิตไม่ได้ตั้งมั่น ปัญญาที่เกิดอย่างมากก็เป็นปัญญาจากการคิด ไม่ใช่ปัญญาจากการเห็น ไม่ใช่ปัญญาจากการรู้ เพราะฉะนั้นต้องฝึกให้ได้ตัวนี้
ไปดูสำนักต่างๆ บางที่เขาไม่เอาสมาธิเลย เขาไม่ฝึกเลย ไปบางที่ฝึกสมาธิแต่เป็นสมาธิที่เพ่งจ้อง จ้องๆๆ มุดลงไปเรื่อยๆ จิตไม่ได้ตั้งมั่น จิตเคร่งเครียดไปหมดเลย จิตที่เคร่งเครียดเป็นอกุศลจิต เพราะมหากุศลจิตจะมีลักษณะเบา รู้สึกไหมเวลาใจเราเป็นบุญเป็นกุศล ใจเราเบา มันถึงลอยขึ้นสวรรค์ได้ ใจบาปหยาบช้ามันหนัก มันลงข้างล่าง หนัก จิตที่เป็นกุศลมันเบา มันอ่อนโยนนุ่มนวล ถ้าแข็งกระด้างจิตเป็นอกุศล
นี่วิธีดูง่ายๆ เลย ถ้าวันนี้ใจเราแข็งกระด้างมากเลย นี่ใจเราเป็นอกุศล หรือวันนี้ใจเราหนักมากเลย ทั้งๆ ที่นั่งสมาธิ เดินจงกรม แต่หนักมากเลย นี่ก็อกุศล ลักษณะของจิตที่เป็นกุศลจะเบา อ่อนโยน นุ่มนวล แล้วก็ไม่เซื่องซึม ถ้านั่งแล้วก็ ไม่ใช่ ต้องไม่เซื่องซึม คล่องแคล่วว่องไว แล้วก็ไม่ขี้เกียจ ขยันที่จะเรียนรู้รูปรู้นาม แล้วก็เวลารู้รูปรู้นามก็รู้ซื่อๆ รู้แล้วไม่เข้าไปแทรกแซง นี่ลักษณะของจิตที่เป็นกุศลอย่างแท้จริง
แล้วจิตที่ทรงสัมมาสมาธิเป็นจิตที่เป็นกุศลชั้นเลิศเลย เป็นจิตที่สามารถเอาไปเจริญปัญญาทำมรรคผลนิพพานให้แจ้งได้ ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิไม่ต้องพูดเรื่องการเจริญปัญญา เป็นไปไม่ได้ อย่างมากก็ไปคิด คิดธรรมะจะไม่ได้เข้าใจธรรมะหรอก ฉะนั้นที่หลวงพ่อเคี่ยวเข็ญพวกเรานักหนา เฮ้ย หลงไปแล้ว นี่เพ่งไปแล้ว เพื่อจะตบเรา ตบซ้ายทีตบขวาที มันจะได้เข้าทางสายกลาง ทางแห่งความรู้ตื่นเบิกบาน ทางที่จิตมันตั้งมั่นขึ้นมา
ทีนี้ทำอย่างไรจิตจะตั้งมั่น ทำไม่ได้ ทำไม่ได้เพราะจิตเป็นอนัตตา ให้เราอาศัยสติรู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น ฉะนั้นเราคอยฝึกถ้าจิตเราหลงไปดูรู้ทัน จิตหลงไปฟังรู้ทัน จิตหลงไปคิดรู้ทัน หัดรู้ไปเรื่อยๆ จิตหลงเมื่อไรก็รู้ไปๆ หัดรู้ไป หรือจะช่วยด้วยการทำกรรมฐานอันใดอันหนึ่งก่อนก็ได้ อย่างหายใจเข้าพุท หายใจออกโธอย่างนี้ แต่ไม่ได้มุ่งให้สงบ มุ่งให้สงบเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย
รู้สภาวะที่จิตไม่ตั้งมั่นแล้วจิตจะตั้งมั่นเอง
เราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป จิตหนีไปคิดเรื่องอื่น ลืมการหายใจ ลืมพุทโธแล้ว รู้ว่าจิตหนีไป นี่รู้ว่าจิตหลงไปคิดแล้ว ทันทีที่รู้ว่าจิตหลงไปคิด จิตที่หลงคิดจะดับ แล้วจิตที่รู้ตื่นเบิกบานจะเกิดขึ้นอัตโนมัติ หรือจิตหลงไปฟัง จิตหลงไปดมกลิ่น ถ้าเรามีสติรู้ทัน เมื่อไรมันไม่หลงเมื่อนั้นก็ตื่นนั่นล่ะ มันก็ตั้งมั่นขึ้นมา ไม่ไหลไปโดยที่ไม่ได้บังคับไว้ ไม่ได้จงใจให้มันตั้งมั่น ถ้าจงใจให้ตั้งมั่น ใจจะแน่นๆ จิตจะเป็นอกุศลเลย มันอึดอัด
เพราะฉะนั้นอาศัยสติคอยรู้ทันจิตที่ไหลไปไหลมานี่ล่ะดี ยังไม่ต้องกังวลว่าจิตมีกี่ดวง อันนั้นละเอียดขึ้นมาถึงจะเห็นว่าคนละดวงกัน จิตที่ไปดูก็ดวงหนึ่งแล้ว จิตที่ส่งสัญญาณกลับมาเป็นอีกดวงหนึ่ง จิตที่แปลความหมายเป็นอีกดวงหนึ่ง จิตที่ให้ค่า อันนี้ดี อันนี้ไม่ดี อันนี้ชอบไม่ชอบ เป็นอีกดวงหนึ่ง แล้วจิตที่เสพอารมณ์เป็นอีกดวงหนึ่ง จิตที่เซฟข้อมูลก่อนจะลงภวังค์ก็เป็นอีกดวงหนึ่ง แล้วมีจิตที่ลงภวังค์ ไม่ต้องเรียนอย่างนั้นก็ได้ ยังไม่เห็นหรอก เอาเท่าที่เห็นได้ เราก็จะเห็น อ้าว จิตหลงไปคิดแล้ว
วิธีที่ง่าย ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง อะไรก็ได้ แล้วเมื่อไรจิตเราหลงไปจากอารมณ์กรรมฐานที่เราทำอยู่ ให้รู้ว่าหลงแล้ว อย่าหลงยาว หลงได้แต่อย่าหลงยาว หรือจิตเราทำกรรมฐานอยู่ เราดูท้องพองท้องยุบอย่างนี้ จิตเราไหลลงไปอยู่ที่ท้อง ให้รู้ทันว่าจิตไหลไปอยู่ที่ท้องแล้ว ทันทีที่รู้ว่าจิตไหลไปแล้ว จิตที่ไหลจะดับ จะเกิดจิตที่ตั้งมั่น เกิดสัมมาสมาธิขึ้นทันทีเลย เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว ไม่มีกรรมฐานอะไรดีกว่ากรรมฐานอะไร ถ้าเรามีสติรู้เท่าทันจิตของเรา กรรมฐานอะไรก็ใช้ได้เหมือนกันหมดเลย
อย่างขยับมืออย่างนี้ บางคนขยับมือสายหลวงพ่อเทียน หลวงพ่อเทียนก็ดี ลูกศิษย์เก่งๆ ท่านก็มีอย่างหลวงพ่อคำเขียน หลังจากนั้นหลวงพ่อไม่รู้จักแล้ว รู้จักแค่หลวงพ่อคำเขียน ท่านก็ภาวนาเก่ง ขยับแล้วรู้สึกตัว ส่วนพวกขยับไม่เป็น ขยับแล้วก็ไปเพ่ง เพ่งใส่มือ จ้องเอาเป็นเอาตาย พวกหนึ่งก็นั่งคิด ท่านี้ต่อไปท่าไหน อ๋อ ท่านี้ ท่านี้แล้วต่อไปท่าไหน ท่านี้ อันนี้ก็ไม่ได้ภาวนา นั่งคิดเอา ฟุ้งซ่าน จิตกำลังฟุ้งซ่าน อีกพวกหนึ่งนั่งเพ่งมือ อีกพวกหนึ่งใจลอยหนีออกไปนอกวัด พวกนี้ไม่มีสติ
แต่ถ้าเราเคลื่อนไหวอย่างนี้ จิตเราไหลไปที่มือเรารู้ทัน จิตเราจะตั้งมั่นขึ้นมา จิตเราลืมมือหนีไปคิดเรื่องอื่นเรารู้ทัน จิตจะตั้งมั่นขึ้นมา จับหลักตัวนี้ให้แม่น ดูท้องพองยุบจิตหนีไปคิดเรื่องอื่นรู้ทัน จิตก็จะตั้งมั่น จิตถลำไปเพ่งท้องรู้ทัน จิตก็ตั้งมั่น ยากไหม ก็ยังยากอยู่ดี จิตมันถลำมันดูหน้าตามันเป็นอย่างไร จิตที่ไหลไปไหลมาดูได้อย่างไร นี่เรียนถึงขั้นประถมแล้ว ลดลงมาเรื่อยๆๆๆ ทีแรกเรียนขั้นมหาวิทยาลัย เห็นจิตเกิดดับทีละดวง นี่เอาใจตลาด หลวงพ่อลดลงมา ลงมาจิตตั้งมั่นนี่ระดับกลางๆ แล้ว
ตอนนี้ทำอย่างไรจิตจะตั้งมั่น ก็บอกแล้วว่าทำไม่ได้ ก็รู้สภาวะที่จิตไม่ตั้งมั่นแล้วมันตั้งมั่นเอง แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าตอนนี้มันไม่ตั้งมั่น นี่ปัญหามากจังเลย ฝึก มีวิธีฝึก ทำใจสบายก่อน ไม่ต้องแกล้งสบาย ใจขณะนี้สบายอยู่แล้ว ไม่ต้อง สบาย นั่นเพี้ยนแล้ว ไม่ต้องแกล้งทำ
ลองนึกถึงหูข้างขวาของตัวเองสิ คงมีหูทุกคนแต่บางคนอาจจะหูแหว่ง ลองนึกถึงหูข้างขวา รู้สึกไหมใจเรา Concentrate ไปที่หู ใจเราจดจ่ออยู่ที่หู นึกออกไหม เห็นสภาวะตรงนี้ไหมว่าเรากำลังจดจ่อไปที่หู ย้ายไปหูซ้ายสิ เมื่อกี้อยู่หูข้างขวา ตอนนี้ย้ายไปข้างซ้าย แค่รู้สึก เอาความรู้สึกไปไว้ที่หู ลองย้ายต่อไปอีก ลองย้ายความรู้สึกของเรามาอยู่ที่หัวแม่มือข้างขวาสิ ไม่ยากขนาดนั้นหรอกหนู ไม่ขนาดนั้น รู้สึกด้วยใจปกตินี่ล่ะ แค่รู้สึกๆ ความรู้สึกของเราไปอยู่ตรงนี้ รู้สึก แค่รู้สึก ลองย้ายสิ ย้ายไปอยู่นิ้วข้างซ้าย ย้ายไปรู้สึกข้างซ้าย
รู้สึกไหมเวลาเราย้ายความรู้สึกไป ความรู้สึกเรามันย้ายที่ได้ บางทีก็รู้สึกอันนี้ บางทีก็รู้สึกที่รูป บางทีรู้สึกที่เสียง บางทีรู้สึกที่กลิ่น บางทีรู้สึกที่รส บางทีรู้สึกที่ร่างกายมีอะไรมาสัมผัส บางทีก็รู้สึกทางใจ ความรู้สึกมันย้ายที่ได้ ตัวความรู้สึกนั่นล่ะ จิต อย่างนั้นไปคิดแล้วรู้ไหม เห็นไหมมันไปรู้อะไร มันไปรู้เรื่องที่คิด ไปคิด ให้คอยฝึก ลองไปฝึกดู ย้ายไปย้ายมานี่ล่ะ ย้ายความรู้สึกของเราไปตรงนั้นตรงนี้
ต่อไปพอเราชำนาญขึ้น แล้วจิตขยับไปทางไหน เรารู้เองเลย ไม่ต้องเจตนาจะรู้ เพราะเราเคยฝึกแล้ว จิตไปอยู่ที่ผมก็รู้ อยู่ที่ขนอย่างขนคิ้วอย่างนี้เราก็รู้ อยู่ที่ตา อยู่ที่จมูก อยู่ที่ปาก อยู่ที่มือ อยู่ที่เท้า อยู่ที่ท้อง รู้สึกไล่ๆๆ ไป ฝึกซ้อมไปซ้อมเข้า ย้ายความรู้สึกของตัวเองไปตามจุดต่างๆ ในร่างกาย ขอเน้นว่าเอาในร่างกายก่อน ที่จริงย้ายไปอยู่ที่ไหนก็ได้ แต่ถ้าย้ายไปข้างนอกเดี๋ยวมันเตลิด อย่างไปเห็นสาวสวย เอาจิตไปไว้ที่เขาอย่างนี้ เดี๋ยวก็เสร็จเท่านั้นเอง ลืม มองไม่เห็นแล้วว่าจิตไปอยู่ที่เขา เห็นแต่เขา นี่ลองฝึก ฝึกบ่อยๆ จิตเราไปอยู่ตรงไหนเรารู้ จิตเราไปอยู่ที่ไหนเรารู้ แล้วต่อไปพอจิตมันเคลื่อนนิดหนึ่งเราก็จะเห็นแล้ว จิตมันขยับนิดหนึ่งเราก็เห็นแล้ว ขยับไปคิดปุ๊บก็รู้ทันแล้ว
ระหว่างความสงสัยกับความคิดอะไรเกิดก่อนกัน ลองภูมิ ไม่เฉลย เฉลยข้อสอบก็กลายเป็นติวเตอร์หน้ารามอย่างเมื่อก่อน นักเรียนก็ท่องๆ เอาไว้ ไม่เก่งจริง ต้องไปหัดดูเอาเอง เพราะฉะนั้นให้การบ้าน ไปคอยรู้ ไปฝึกซ้อมที่จะเคลื่อนความรู้สึกหรือจิตใจของเราไปอยู่ตามจุดต่างๆ ในร่างกาย ต่อไปพอชำนาญมันเคลื่อนกริบเดียว เคลื่อน ไม่ว่าจะเคลื่อนไปไหนมันรู้เองเลย แล้วทันทีที่รู้ว่าเคลื่อนปั๊บ สภาวะที่จิตมันเคลื่อนจะดับทันที จิตจะตั้งมั่นขึ้นทันทีเลย จิตเราจะรู้ จะตื่น จะเบิกบานในฉับพลันนั้นเลย สมาธิเกิดโดยไม่ต้องนั่งก็ได้
กำลังตีกอล์ฟอยู่ สมมติตีกอล์ฟอยู่สมาธิก็เกิดได้ ก็เห็นร่างกายมันตีกอล์ฟ ใจเป็นคนดู ตีแล้วสู้เขาไม่ได้ชักโมโห อ่านใจตัวเองออก ใจมันโกรธแล้ว ฉะนั้นทำอะไรๆ ยกเว้นแต่ทำชั่ว อย่าทำชั่วก็แล้วกัน ทำชั่วจิตเศร้าหมอง สมาธิเสื่อมหมด ทำอะไรก็ได้ที่มันไม่เลว ฝึกไปเรื่อยๆ แล้วก็อ่านใจตัวเองไปเรื่อยๆ อย่างพอเราอ่านใจตัวเองออก เราจะรู้สภาวะที่จิตมันถลำลงไปเพ่งไปจ้อง
รู้แล้วจบลงที่รู้ รู้ด้วยความเป็นกลาง
นักปฏิบัติร้อยละร้อยจิตถลำลงไปเพ่งทั้งนั้นเลย แต่ถ้าเรารู้ทันจิตที่เคลื่อนได้ เราก็จะไม่เพ่งแล้ว ที่สอนให้รู้การเคลื่อน จะได้เลิกเพ่งเสียที น่าเบื่อ เพ่งเอาเป็นเอาตาย ก็เพ่งกันจนตายนั่นล่ะ ไม่ได้อะไรขึ้นมา ได้แต่ความลำบาก ความรู้สึกเกิดแล้วค่อยรู้ ระหว่างรู้อย่าถลำลงไป ให้จิตเราตั้งมั่นไม่ไหลเข้าไป ถ้าไหลเข้าไปรู้ทัน มันจะตั้งมั่นขึ้นมา เมื่อรู้แล้วจบลงแค่นั้น ไม่ต้องหาทางแก้ไข อย่างเราเห็นจิตมีโทสะเกิดขึ้น ไม่ต้องหาทางแก้ไข ทำอย่างไรจะหายโกรธอะไรอย่างนี้ ไม่หายหรอก ไม่ต้องแก้มัน
ดูมันไปเรื่อยๆ เดี๋ยวจะเห็นจิตทุกชนิดเกิดแล้วก็ดับ ไม่ต้องไปรักษา ไม่ต้องไปแก้ไขมัน รู้แล้วจบลงที่รู้เลย รู้ด้วยความเป็นกลาง ไม่ไปยินดีกับมัน ไม่ไปยินร้ายกับมัน ถ้าสภาวะอะไรถูกอกถูกใจเราก็ยินดีกับมัน เราก็อยากรักษาเอาไว้ อย่างมีความสุขเกิดขึ้นอย่างนี้ เราพอใจ มีความสงบเกิดขึ้น เราพอใจ เราอยากรักษาเอาไว้ อันนั้นไม่ใช่นักดูจิตที่ดี นักดูจิตที่ดีก็คือ จิตใจสงบก็รู้ จิตใจมีความสุขก็รู้ ไม่ต้องรักษามัน แล้วมันจะสอนธรรมะเรา สอนว่าอะไร สอนว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
เวลาจิตที่เป็นอกุศลเกิดขึ้นมา ก็รู้ไปอย่างที่มันเป็น ไม่ต้องแทรกแซง ไม่ต้องหาทางละ รู้อย่างที่มันเป็น เราก็จะเห็นอกุศลทั้งหลายก็สอนธรรมะเราเช่นเดียวกับกุศลนั่นล่ะ คือสอนว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สอนเหมือนกัน สอนสิ่งเดียวกัน ฉะนั้นกุศลอกุศลอะไรก็เป็นธรรมะด้วยกันทั้งคู่ เห็นไหมอกุศลยังเรียกอกุศลธรรมเลย ก็คือธรรมะอกุศล อย่าไปเกลียดมัน แต่อย่าให้มันครอบงำใจเราจนเราทำผิดศีล 5 ข้อ แค่นั้นพอแล้ว
ใจเราโกรธ ใจเราไปด่าเขาในใจ อันนี้มโนกรรม แต่มันห้ามยาก ก็ไม่ต้องห้าม ก็รู้ว่ากำลังโกรธเขา เราก็ดูไปสิ ความโกรธนี้เที่ยงหรือไม่เที่ยง ดูไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็สอนธรรมะเรา ความโกรธก็ไม่เที่ยง ความดีก็ไม่เที่ยง อย่างอยากฟังเทศน์นี้ ตอนเช้าก็อยากเยอะหน่อย ฟังไปนานๆ อยากไปที่อื่นแล้ว เห็นไหมมันก็ไม่เที่ยงกุศล
ฉะนั้นพยายามฝึกตัวเองทุกวันๆ ถือศีล 5 ไว้ ทำในรูปแบบทุกวัน ถ้าใจเราฟุ้งซ่านเวลาทำในรูปแบบก็น้อมใจไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง บางทีเราก็ใช้อารมณ์ตรงข้าม อย่างโทสะเกิดเราก็เจริญเมตตา เราทำสิ่งที่ตรงข้ามกัน มีน้ำกรดเกิดขึ้นเราเอาด่างไปใส่ ก็เป็นกลางขึ้นมา มีราคะเกิดขึ้นเราก็แก้ด้วยการพิจารณาอสุภะ ใจชอบคิดนับถือพระพุทธเจ้ามาก ก็คิดพิจารณาคุณของพระพุทธเจ้า นี่ใช้สิ่งเหล่านี้ เราต้องการให้จิตสงบ เราก็เอาไปคิดบางเรื่องเราสงบได้ มีการดัดแปลงแก้ไขจิต นี่การทำสมถะ
ฉะนั้นวันไหนที่จิตเราฟุ้งซ่านมาก ทำความสงบเข้าไป อย่างหลวงพ่อจะทำความสงบไม่ยาก หลวงพ่อก็หายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป หายใจ 1 – 2 ทีก็สงบแล้วเวลาฟุ้งสมัยเป็นโยม แล้ววันไหนจิตเรามีแรงพอ เราก็พัฒนาตัวเองอีก เวลาทำในรูปแบบเราสามารถเห็นสภาวะที่จิตเคลื่อนไปมาได้ เราก็ดูไปเลย พอเรารู้ว่าจิตเคลื่อนไปทางนี้ พอรู้ปุ๊บจิตมันจะตั้งมั่น เราจะได้สมาธิอีกชนิดหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้นในรูปแบบบางทีวันไหนฟุ้งซ่านมากก็ทำความสงบ ได้สมาธิสงบ วันไหนจิตเราสงบแล้วมีแรงดีแล้ว เราก็ฝึกให้จิตตั้งมั่นด้วยการรู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น จิตที่ไหลไปไหลมา ทีนี้พอเราชำนิชำนาญ จิตเราขยับเขยื้อนอะไรเราเห็นหมดเลย มีความรู้สึกอะไรเกิดขึ้นในจิตในใจเราเห็นได้ง่ายๆ
คราวนี้เราถึงพร้อมในบทเรียนบทที่ 3 ซึ่งยากที่สุด คือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน ยากยิ่งกว่าการนั่งสมาธิอีก เวลานั่งสมาธิเราใช้อายตนะแค่กายกับใจ 2 อัน อยู่ในชีวิตประจำวันเราใช้ 6 อายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ทุกอายตนะ แต่กระทบทีละอายตนะ ไม่ใช่ทีละ 6 เพราะว่ากระทบทีละ 6 มันก็กลายเป็นจิตเกิดพร้อมกัน 6 ดวง จิตเกิดทีละดวง เกิดที่ตา หรือที่หู หรือที่ใจ ทีละดวง
ถ้าเราฝึกในชีวิตประจำวัน ตาเราเห็นรูป ความรู้สึกเราเปลี่ยนเรารู้ทัน หรือตาเห็นรูป จิตไหลไปที่รูปเรารู้ทัน หูได้ยินเสียง จิตไหลไปที่เสียงรู้ทัน หรือได้ยินเสียงแล้วจิตเกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศลอกุศลที่จิตรู้ทัน รู้อย่างนี้ก็ได้ รู้ทันจิตที่ไหลไปก็ได้ รู้ทันความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับจิตก็ได้ ฝึกไปเรื่อยๆ หรือนั่งอยู่ นั่งพุทโธๆ แต่ใจหนีไปคิด ก็รู้ว่าใจหนีไปคิด อยู่ในชีวิตประจำวันเคยไหม เดินอยู่ริมถนนแล้วเหม่อ เหม่อมันเกิดอะไรขึ้น ใจมันหนีไปเที่ยว หนีไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ เรามีสติรู้ ใจก็จะตั้งมั่นขึ้นมา แล้วเราก็จะเห็น ต่อไปปัญญาจะเกิด จะเห็นว่าจิตเป็นของไม่เที่ยง ไม่ว่าจิตจะดีวิเศษแค่ไหน กระทั่งจิตผู้รู้เองก็ไม่เที่ยง แล้วจิตทุกดวงเป็นอนัตตา สั่งไม่ได้ ค่อยๆ ดูไป ค่อยดูไป ฝึกไป
บ้านจิตสบาย
15 ธันวาคม 2567