ช่วงนี้ที่วัดก็เริ่มหนาวหน่อย เย็นๆ กลางคืนก็ 19 องศา สบายๆ สำหรับคนที่มีเสื้อหนาวใส่ สบาย พระก็ลำบากหน่อย พระก็มีอยู่แค่นี้ มีอังสะไหมพรมอีกตัวหนึ่ง โลกข้างนอกมันร้อน นานๆ เราเจออากาศเย็นที เราก็พออกพอใจ มีความสุข คนยากคนจน คนบ้านนอก หนาวๆ ไม่มีความสุขหรอก คนในเมือง คนมีเงินมีเสื้อผ้า ไปเที่ยวกันสนุก คนต่างจังหวัดหน้าหนาวลำบาก น้ำจะใช้ น้ำจะกินอะไรก็อัตคัด อาหาร พวกผักพวกอะไร ปลูกไม่ได้ ลำบาก
เขาเผาป่าเผาไร่กัน ฝุ่นตลบอบอวลเลย ทั้งกลางวัน ทั้งกลางคืน ก็ยังแก้ไม่ตกเรื่องเผา เผาไร่ รณรงค์ว่าอย่าเผาๆ เขาก็เผา มันไม่มีวิธีกำจัดวัชพืช วิธีอื่นไม่มี ชาวบ้านไม่รู้จะทำอย่างไรก็เผา บางคนก็เผาป่า เผาป่าสัตว์จะได้วิ่งมา เราจะได้ยิง บางที่ไม่มีสัตว์ ทางเหนือหลวงพ่อเคยไป ถึงปีก็แอบไปเผาป่า เสร็จแล้วเห็ดมันจะขึ้น จะเอาเห็ด เอาป่าไปแลกเห็ด วิถีชีวิตจริงๆ มันยังเป็นอย่างนั้น ถ้าคนในเมือง มันไม่รู้หรอก หน้าหนาวสบาย แต่งตัวสวยงาม ไปเที่ยว
ที่จริงถ้าเราภาวนา ความร่มเย็นข้างนอกนี้ มันเป็นของที่ไม่ยั่งยืนอะไร ยิ่งเมืองไทยมันหนาวแป๊บเดียว เดี๋ยวก็ร้อนแล้ว บางทีเช้าๆ เย็นๆ อากาศเย็นตอนเช้า สายๆ ก็ร้อนแล้ว บ่ายๆ ก็ร้อนจัดแล้ว ก็ไม่ค่อยมั่นคงอะไร ทางจิตใจเราสามารถทำให้เกิดความร่มเย็นได้ตลอดเวลา ทางร่างกายเราควบคุมไม่ได้ อากาศภายนอกมันแปรปรวน โลกมันร้อนมากขึ้น ดินฟ้าอากาศรุนแรง พายุก็แรง ฝนเวลาตก ตกแรง ตกเป็นหย่อมๆ ไม่กระจาย ผู้คนก็ตั้งหลักยาก โลกมันแปรปรวน มันเย็นประเดี๋ยวเดียว เดี๋ยวมันร้อนอีกแล้ว ฝึกจิตใจของเราให้มันเย็นดีกว่า
ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นของร่มเย็น ถ้าใครอยู่ในแวดวงธรรมะแล้วเร่าร้อน แสดงว่าผิดแล้ว ไม่ได้รับประโยชน์จากธรรมะเท่าที่ควรแล้ว จำนวนมากเลยเรียนธรรมะแล้วเอาไปทะเลาะกัน เถียงเอาเป็นเอาตาย มุ่งไปชนะคนอื่น ไม่ได้มุ่งชนะตัวเอง แขวนป้ายว่าเป็นชาวพุทธ รักศาสนาพุทธ แต่เอาเข้าจริงไม่ได้ทำตามที่พระพุทธเจ้าบอก ไม่ได้ชำระล้างจิตใจตัวเอง ไม่เอาชนะใจตัวเอง ไปเอาชนะผู้อื่นกันก็วุ่นวาย ผู้ชนะก็ก่อเวร ผู้แพ้ก็เจ็บแค้น นี่เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ได้ส่งเสริม
ฉะนั้นเราเรียนธรรมะ เราเรียนสู้กับกิเลสตัวเอง ไม่ต้องไปทะเลาะวิวาทอะไรกับใคร เสียเวลา เอาชนะคนอื่นได้ กิเลสเราจะยิ่งตัวใหญ่ขึ้น ถ้าชนะใจตัวเองได้ กิเลสมันก็หดตัวลง เพราะฉะนั้นภาวนา โลกข้างนอกมันยุ่งอย่างไรช่างมันเถอะ จำเป็นต้องอยู่กับมันก็อยู่ไป แต่ว่าโลกภายในของเรา ดูแลให้ดี มีสติไว้ อ่านใจตัวเองไป จิตใจมีความสุขก็รู้ จิตใจมีความทุกข์ก็รู้ไป จิตใจไม่สุขไม่ทุกข์ก็รู้ไป จิตใจเป็นกุศลก็รู้ จิตใจเป็นอกุศล มันโลภ มันโกรธ มันหลงอะไรขึ้นมา ก็คอยรู้ไป ให้ตามรู้ตามเห็นอย่างที่มันเป็นไปเรื่อยๆ พอรู้จริงก็จะเห็นไตรลักษณ์
ถ้าเราอยากเอาชนะกิเลสให้เด็ดขาด
ต้องทำวิปัสสนากรรมฐาน
ทีแรกรู้เฉยๆ ยังรู้ไม่จริง ก็เห็นรูปธรรม เห็นนามธรรม เห็นสภาวะอะไรต่ออะไรไป เห็นตัวรูปธรรมนามธรรม อันนั้นรู้เหมือนกัน แต่ยังรู้ไม่ลึกพอ หัดรู้หัดดูเรื่อยๆ ต่อไป ก็เห็นลึกซึ้งลงไปอีกชั้นหนึ่ง อย่างพอเราเห็นรูปธรรม เห็นร่างกายเรา สัญญาก็เข้าไปหมายรู้ มันเป็นของไม่สวยไม่งาม เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คอยรู้สึกไปเรื่อยๆ ทำความรู้สึกอยู่ในร่างกายนี้ ให้เห็นว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่ถ้าจิตเรามีราคะมาก ก็ดูปฏิกูลอสุภะเข้าไปด้วย การหมายรู้ร่างกายว่ามันไม่สวยไม่งาม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา การหมายรู้อันนี้เป็นการหมายรู้ถูก เป็นสัญญาที่ถูก
สัญญาที่ผิดก็คือหมายรู้ผิดนั่นล่ะ หมายรู้ของไม่สวยไม่งาม ว่าสวยว่างาม อย่างเห็นผู้หญิงสักคน นางงามทั้งหลาย เดี๋ยวนี้เห็นมีนางงามหลายอย่าง ประกวดกันมากมาย เมื่อก่อนมี 2 อันเอง นางสาวไทยกับนางงามจักรวาล เดี๋ยวนี้มีอะไรต่ออะไรไม่รู้เยอะแยะเลย พอเราเห็นคนสวยคนงาม เรามาดูให้ดี อย่ามัวแต่หลงเปลือก อะไรเป็นเปลือกของเขา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ก็เป็นเปลือก มันปกปิดซ่อนเร้นความสกปรกไว้ภายใน
นางงามขี้หอมหรือขี้เหม็น นางงามก็เหมือนคนอื่นนั่นล่ะ เหงื่อออกมาสกปรกไหม ก็สกปรก ทำไมต้องพอกแป้งหนาๆ เอาไว้กลบ กลบเกลื่อนสิ่งที่มันไม่สวยไม่งาม พอเราเห็นถ่องแท้ ราคะมันก็ระงับไป นี้การเห็นร่างกายเป็นปฏิกูลอสุภะ สิ่งที่เราได้ก็คือความสงบ ใจไม่ดิ้นไปด้วยอำนาจของราคะแล้ว แต่ถ้าเราอยากให้ใจเกิดปัญญาอย่างแท้จริง แล้วปล่อยวางได้จริง ต้องดูให้เห็นไตรลักษณ์ จะเกิดวิปัสสนาปัญญาได้
ลำพังเห็นปฏิกูลอสุภะ สิ่งที่ได้ก็คือได้ทำสมถะ ใจก็สงบระงับจากกิเลสชั่วคราว แต่ถ้าลึกซึ้งลงไป เราหมายรู้ร่างกายนี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนี้เรียกว่าเราทำวิปัสสนากรรมฐาน แล้วมันจะปล่อยวางได้จริง อย่างลำพังดูไม่สวยไม่งาม สกปรก กิเลสเรายังแรง ราคะมันสงบชั่วคราว แต่เดี๋ยวเดียวกิเลสมันก็สอนเรา ยังไม่สะอาด ไม่เป็นไร ไปอาบน้ำเสียก็สะอาดแล้ว ก็เอามากกมากอดอะไรได้เต็มใจ มันไม่ละกิเลสจริง มันข่มกิเลสได้ชั่วคราวเท่านั้น
ฉะนั้นสมถกรรมฐานมันข่มกิเลสชั่วคราว ถ้าเราอยากเอาชนะกิเลสให้เด็ดขาด ต้องทำวิปัสสนากรรมฐาน มีใจที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู มีสติระลึกรู้ลงไปในร่างกาย มีสัญญาหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของร่างกาย ไตรลักษณ์ของร่างกายดูอย่างไรดี อย่างร่างกายเราที่มันกำลังนั่งอยู่ ดูมันไป เห็นไหมมันไม่คงที่หรอก เดี๋ยวมันก็หายใจเข้า เดี๋ยวมันก็หายใจออก สลับสับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ นั่งนานๆ เมื่อย ก็ต้องขยับไปขยับมา
ร่างกายนิ่งๆ ไม่เที่ยงหรอก เดี๋ยวก็ต้องขยับตัวเพราะมันทุกข์ ขยับหนีทุกข์ไปเรื่อยๆ บางทีก็ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ อิริยาบถก็มี 2 อัน อิริยาบถใหญ่กับอิริยาบถย่อย อิริยาบถใหญ่ก็ยืน เดิน นั่ง นอน ทั้งวันเราก็มีแต่ยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถปลีกย่อย อย่างกระโดดก็มีไม่มาก ส่วนใหญ่มันก็แค่ยืน เดิน นั่ง นอน เราก็มีสติรู้ลงไป ร่างกายที่ยืนก็ไม่เที่ยง ร่างกายที่นั่ง ร่างกายที่นอนก็ไม่เที่ยง ร่างกายที่เดินก็ไม่เที่ยง หมายรู้ลงไปเรื่อยๆ
แล้วจะดูให้เป็นทุกข์ดูอย่างไร ก็สังเกตลงไป นั่งนานๆ มันทุกข์ไหม นั่งนานๆ มันก็ทุกข์ โอ้ ร่างกายนั่งทีแรกก็สบาย ซื้อเก้าอี้ตัวละ 100,000 บาทมานั่ง นึกว่าจะสบาย มันสบายเดี๋ยวเดียว เก้าอี้ก็ยังเหมือนเดิม ที่ไม่เหมือนเดิมคือร่างกายเรา มันถูกความทุกข์บีบคั้น นั่งนานๆ ก็เมื่อย เดินนานๆ ก็ทุกข์ นอนนานๆ ก็ทุกข์ ต้องพลิกไปพลิกมา มีสติรู้สึกอยู่ในร่างกายเรื่อยๆ จะเห็นร่างกายนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ แล้วเราต้องเคลื่อนไหวเพื่อจะหนีความทุกข์ตลอดเวลา
อย่างเราหายใจเข้า หายใจเรื่อยๆ เข้าไปเรื่อยมันก็ทุกข์ เราก็ต้องเปลี่ยนอิริยาบถย่อยๆ คือหายใจออก หายใจออกก็เพื่อแก้ทุกข์ของการหายใจเข้า หายใจออกนานๆ มันก็ทุกข์ ก็ต้องหายใจเข้าเพื่อแก้ทุกข์ของการหายใจออก หรือการเปลี่ยนอิริยาบถก็เพื่อแก้ทุกข์ การเคลื่อนไหว การหยุดนิ่ง อันนี้บางทีก็ใช้ร่างกายทำงาน มันก็จำเป็น แต่สมมติเรานั่งเฉยๆ มันคันตรงโน้นตรงนี้ เราก็ต้องเกา สังเกตไปเรื่อยๆ มีแต่ทุกข์ แล้วดูอย่างไรให้เห็นร่างกายเป็นอนัตตา ถ้าจิตเราทรงสมาธิจริงๆ มองลงไปในร่างกาย เราจะเห็นร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นวัตถุก้อนหนึ่ง เหมือนเป็นหุ่นยนต์ตัวหนึ่ง
แล้วถ้าจิตเรามีกำลังสมาธิมากพอ มองลงมาในกายนี้ มันจะแยกเป็นธาตุเลย แยกเป็นธาตุได้ อย่างที่หลวงพ่อเคยเล่าให้พวกเราฟัง แค่ขี้หมากองเดียว ก็มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ครบเลย ถ้าจิตมันทรงสมาธิจริงๆ สติจ่อลงไปในกองขี้หมา จิตมีกำลังสมาธิมากพอ มันจะแยกธาตุได้ ธาตุน้ำที่เห็นเปียกๆ มันก็แยกออกไป กลิ่นของมันตามลมมา มันก็สลายไป ลมพัดผ่านมาผ่านไป อุณหภูมิมันก็เปลี่ยนไป ถ่ายใหม่ๆ มันก็ร้อน ถ่ายนานๆ มันก็เท่าอุณหภูมิห้อง ธาตุไฟก็ไม่ยั่งยืน แยกๆๆ ไปก็เหลือแต่ธาตุดิน เป็นก้อนแห้งๆ
เฝ้ารู้เฝ้าดู ดูในร่างกายก็เหมือนกัน ดูความเป็นธาตุในร่างกาย ถ้าดูแบบพระสูตร ก็ไม่ยาก ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ถือเป็นธาตุดิน น้ำเลือด น้ำหนอง น้ำลาย ก็เป็นธาตุน้ำ ในอาการ 32 เป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ละเอียดลงไปก็มีไฟ ธาตุไฟ ธาตุไฟที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น ธาตุไฟที่ย่อยอาหาร อย่างเวลากระเพาะย่อยอาหาร มันจะร้อนขึ้นมา จะรู้สึกที่กระเพาะ นี้การดูเป็นธาตุ ดูแบบพระสูตรยังง่าย ถ้าดูแบบอภิธรรมต้องทรงฌาน จิตต้องทรงฌาน มันถึงจะแยกธาตุออกไปได้
ตามในพระสูตร ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นธาตุดิน น้ำเลือด น้ำหนอง เสลด น้ำลายอะไรพวกนี้ เป็นธาตุน้ำ แต่ตามนัยยะแห่งอภิธรรม ในผมเส้นเดียวมีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมครบเลย ในแค่ผมเส้นเดียว เห็นไหมจะแยกผมเส้นเดียว ให้เห็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่ทรงฌานจริงๆ ไม่เห็นหรอก เพราะฉะนั้นแยกตามนัยยะพระสูตรก็แล้วกัน มันทำได้ เพราะพระสูตรเป็นคำสอนที่พระพุทธเจ้า หรือพระอรหันตสาวกท่านสอนคนธรรมดานี่ล่ะ ส่วนพระอภิธรรมพระพุทธเจ้าท่านเอาไปสอนเทวดา สอนในดาวดึงส์
เพราะฉะนั้นเทวดา สมาธิเขาก็ดี สติเขาก็ดี ใจเขาเป็นกุศล ก็เรียนธรรมะที่ประณีต แล้วท่านเทศน์ให้เทวดาฟัง เป็นอภิธรรมอย่างกว้างขวาง พิสดาร ละเอียด แล้วถึงเวลาพระสารีบุตรก็ขึ้นไปเฝ้า ท่านก็จะเทศน์ให้พระสารีบุตรฟัง จะเทศน์อภิธรรมแบบย่อ เพราะพระสารีบุตรปัญญามาก มากกว่าเทวดา เทศน์ให้เทวดาฟัง ท่านเทศน์อภิธรรมแบบละเอียด เทศน์ให้พระสารีบุตรฟัง เป็นอภิธรรมอย่างย่อ แล้วพระสารีบุตรก็เอามาสอนลูกศิษย์ของท่าน ไม่ได้สอนโยมหรอก ส่วนใหญ่ก็จะสอนลูกศิษย์ของท่าน ก็จะเป็นอภิธรรมแบบปานกลาง ไม่ละเอียดเกินไป แล้วก็ไม่หยาบเกินไป
ศึกษาปริยัติบ้าง เวลาภาวนาจะไม่พลาด
ที่พวกเราเรียนๆ กัน จะเป็นตำราพวกนี้ ไม่ได้ละเอียดมาก แต่แค่นี้ก็แย่แล้ว แล้วจะเรียนแล้วเอามาเห็นธาตุ เห็นสภาวะอะไรจริงๆ ยากมากเลย ถ้าไม่ทรงฌานจริงๆ ดูไม่ออก เพราะฉะนั้นเราเรียนเท่าที่เรียนได้ ถ้าจะดูร่างกายก็ดูตามนัยยะของพระสูตร ธาตุดินก็มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ลองไปดูในอาการ 32 ก็จะเป็นเรื่องของธาตุ แยกธาตุ ถ้าแยกแล้วอะไรจะเกิดขึ้น ก็แยกๆๆ ไป ถ้ายังเป็นการคิดพิจารณาอยู่ก็ได้สมถะ การแยกร่างกายเรียกกายคตาสติ ถ้าเรายังคิดพิจารณาแยกอยู่ มันเป็นสมถะ แต่ถ้าจิตมันทรงพลัง แล้วมันแยกลงไปจริงๆ ด้วยตัวของมันเอง มันเดินปัญญา เจริญปัญญา
เมื่อไม่กี่วันนี้ก็มีผู้หญิงคนหนึ่งเขามาเล่า เขาดูลงไปร่างกาย เห็นเป็นก้อนธาตุ แล้วสุดท้ายก็สลายไปหมดเลย เหลือแต่จิตดวงเดียว คนไหนภาวนาจนร่างกายสลาย มันสลายด้วยกำลังของสมาธิ ไม่ใช่วิปัสสนา แล้วจิตรวมลงที่จิต แล้วพอจิตถอนออกจากสมาธิ กลับมามีร่างกาย มันจะรู้สึกอย่างสมบูรณ์แบบ ว่าร่างกายกับจิตคนละอันกัน นับแต่นั้นขันธ์จะแยกอัตโนมัติ ขันธ์ 5 มันจะแยกกระจายตัวออกไป โดยที่เราไม่ต้องพยายามอีกแล้ว จะเห็นเลยกายก็ส่วนหนึ่ง จิตก็ส่วนหนึ่ง เวทนาที่แทรกเข้าในกายก็ส่วนหนึ่ง เวทนาที่แทรกเข้าในจิตก็อีกส่วนหนึ่ง สัญญาอยู่ที่จิตก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง สังขารอยู่ที่จิตก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง แล้วตัวจิตเองก็เกิดดับ
การภาวนา มันไม่ได้มากมายอย่างที่หลวงพ่อเล่า ที่เล่าให้ฟังย่อๆ เป็นตัวอย่าง เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนเอาไว้มากมาย ในสติปัฏฐานลองไปหาอ่าน เป็นชาวพุทธที่ดีต้องอ่านสติปัฏฐาน ต้องอ่านเรื่องอริยสัจ เรื่องสติปัฏฐาน เรื่องไตรลักษณ์ เรื่องขันธ์ 5 อายตนะ 6 อะไรพวกนี้ ศึกษาเป็นพื้นฐานไว้ เวลาภาวนามันจะได้ไม่พลาด ถ้าไม่ศึกษาปริยัติเลย ปริยัติอาจจะไม่ต้องไปเข้าโรงเรียนอะไรหรอก ไปอ่านเอา อ่านเรื่องหลักๆ ที่หลวงพ่อบอกนี่ล่ะ แล้วเวลาภาวนามันจะไม่พลาด
อย่างถ้าเราชำนิชำนาญเรื่องไตรลักษณ์ เราภาวนาแล้วจิตเราว่างเฉยๆ อยู่ เราก็ต้องรู้เลย โอ้ นี่มันไม่เป็นไตรลักษณ์แล้ว แสดงว่าทำผิดแล้ว ถ้าภาวนาแล้วไม่เหมือนพระไตรปิฎก ต้องรู้เลยว่าเราทำผิด เพราะพระไตรปิฎกไม่ใช่ของธรรมดา เป็นของจากพระพุทธเจ้า จากพระอรหันตสาวกทั้งหลาย การสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรก มีพระอรหันต์มาชุมนุมกันสังคายนาตั้ง 500 องค์ ครั้งที่สอง 700 องค์ ครั้งที่สาม 1,000 องค์ พระอรหันต์ช่วยกันพัฒนาพระไตรปิฎกขึ้นมา รวบรวมประมวลขึ้นมา ไม่ใช่ของเล่นๆ
เพราะฉะนั้นถ้าเราภาวนาแล้วไม่ตรง อย่านึกว่าเราเก่งกว่าพระอรหันต์เป็นพันๆ องค์ เราต้องผิด ไม่ใช่พระไตรปิฎกผิด เราไม่เข้าใจเอง อย่างหลวงพ่ออ่านพระไตรปิฎก หลวงพ่อก็ไม่รู้ทั่วถึงพระไตรปิฎก พระอภิธรรมปิฎกอ่านไม่รู้เรื่อง อ่านได้แต่พระวินัย พระสูตร แล้วอ่านทีแรกก็ได้แค่ทรงจำไว้ ตอนก่อนสมัยหนุ่มๆ จำแม่น เป๊ะๆๆ เลย พระสูตรนี้ชื่อนี้ อย่างนี้ๆ อ่านพระสูตรแล้วก็ดูอรรถกถาเทียบไปเรื่อย ขยายความแต่ละช่วงๆ ก็พยายามทำไปเรื่อยๆ ความรู้ก็กว้างขวาง
แต่พอมาภาวนา หลวงพ่อวางความรู้จากการศึกษาปริยัติ เรามาเรียนของจริงในกายในใจของเรานี้ พอเรียนของจริงในกายในใจแล้วค่อยไปดู มันก็ตรงกัน รู้สึกนับถือพระปริยัติเลย พระปริยัติส่วนใหญ่ไม่ได้ภาวนา ท่านสามารถรักษาพระไตรปิฎกเอาไว้ได้ ไม่ธรรมดาจริงๆ อย่างถ้าเราต้องท่องอะไร ซึ่งเราไม่รู้เรื่อง มันจำยาก ถ้าเราท่องอะไรที่เรารู้เรื่องก็จำง่าย ท่านท่องมา ท่านไม่ได้เห็นสภาวะจริงๆ บางที ยังอุตส่าห์ทรงจำเอาไว้ได้ รักษาเอาไว้ได้ คัดลอกกันเอาไว้ได้ ต้องเคารพนับถือเลยล่ะ
เราภาวนา ค่อยๆ เรียนรู้ไป เรียนรู้ ถ้าเรามีสติรู้ลงในร่างกาย แล้วหยุดอยู่แค่นั้นก็ได้สมถะ มีสติรู้ลงไปที่จิต แล้วหยุดอยู่แค่นั้นก็เป็นสมถะ อย่างเราดูจิตแล้วมันก็ว่าง แล้วเราก็อยู่กับว่าง อันนี้เป็นสมถะชื่ออากิญจัญญายตนะ ค่อยๆ ดู แต่ถ้าสติระลึกลงไป แล้วสัญญาหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ ปัญญาก็จะเกิดขึ้น บางท่านท่านก็เห็นว่าสัญญากับปัญญา มันมีคำว่าญาเหมือนกัน ก็เลยคิดว่าเป็นสิ่งตรงข้ามกัน เลยบอกว่าสัญญามันปิดกั้นปัญญา อันนั้นท่านแปลความเคลื่อนไป
สัญญาไม่ใช่แปลว่าคิดเอา สัญญาเป็นการหมายรู้เอา เป็นมุมมองที่จิตมันมอง มองถูกหรือมองผิด ปัญญาเป็นความรู้ถูกความเข้าใจถูก ถ้าไม่มีสัญญาจะทำวิปัสสนาไม่ได้ ท่านพระสารีบุตรท่านเคยบอก กระทั่งเราเข้าฌานที่ 8 ชื่อเนวสัญญานาสัญญายตนะ เข้าฌานที่ 8 ก็สามารถทำวิปัสสนาได้ เพราะยังเหลือสัญญาอยู่นิดหนึ่ง สัญญายังไม่ดับ สัญญาดับนั้นก็เป็นภูมิของพรหมลูกฟัก สัญญาดับ จิตดับ พอจิตดับสัญญาก็ดับ เวทนามันก็ดับ ในเนวสัญญาฯ ในฌานที่ 8 ยังมีจิตอยู่ ก็ยังมีสัญญาอยู่ แต่มันเบา มันบาง มันแผ่ว ไม่สามารถจงใจได้
ฉะนั้นจะเดินวิปัสสนาในเนวสัญญาฯ จะต้องมีคุณสมบัติหลายข้อเลย อันแรกต้องชำนาญในฌานจริงๆ มีวสีจริงๆ อันที่ 2 ต้องชำนาญในการดูจิตจริงๆ เพราะไม่มีกายให้ดูหรอก เหลือแต่จิต ตรงนี้มันยากไป สำหรับพวกเราในยุคนี้ ซึ่งเข้าฌานไม่ค่อยจะได้ แค่ปฐมฌานเราก็ทำไม่ค่อยได้แล้ว ที่บอกเข้าฌานๆ ส่วนมากไปนั่งเพ่งเอา แล้วก็มโนเอาว่าเป็นฌาน นั่งแล้วเครียด เคร่งเครียดจะเป็นฌานอะไร ไม่ใช่ฌานหรอก บังคับใจตัวเองมากไป บังคับ ไม่มีแรงบังคับเมื่อไร ก็บ้าเลย ก็เหลวไหล
ใช้กรรมฐานที่พอเหมาะพอดี
คนในรุ่นเราเป็นพวกสมาธิสั้น เราก็ต้องใช้กรรมฐานที่พอเหมาะพอดี กับทรัพย์สมบัติที่เรามี คือสมาธิซึ่งมันสั้น ก็ต้องใช้กรรมฐานที่พอดีกับของตัวเอง อย่างแค่คอยรู้สึกในร่างกาย ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก ร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึก อันนี้เป็นอิริยาบถย่อย ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก อันนี้เป็นอิริยาบถใหญ่ ร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก คอยรู้สึกไป รู้บ้าง หลงบ้าง ไม่เป็นไร หัดรู้เนืองๆ ทีแรกก็รู้สึกร่างกาย ต่อไปก็หมายรู้ร่างกาย ไม่สวยไม่งาม เป็นปฏิกูล เป็นอสุภะ
ทีแรกก็จงใจคิด จงใจคิดนำก่อน ก็ไม่เป็นไร คิดนำได้ ถ้าใจมันเฉยๆ มันไปดูร่างกายแล้วก็เฉยๆ อยู่ คิดพิจารณาลงไป ความเป็นไตรลักษณ์อะไร คิดลงไปเลย เลยคิดอสุภะไปเลย นี้พอจิตมันคุ้นเคยที่จะหมายรู้ถูก หมายรู้ถูกคือเห็นปฏิกูลอสุภะ เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คราวนี้เราไม่ต้องเจตนา จิตมันจะหมายรู้เอง อย่างพอมันระลึกร่างกายปุ๊บ มันหมายรู้เลย ถ้าอย่างหลวงพ่อฝึก หลวงพ่อจะเห็นอนัตตา
แต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคน อย่างหลวงพ่อถ้ารู้สึกอยู่ในกาย จะรู้สึกเลยกายไม่ใช่เรา กายนี้ว่าง ไม่มีอะไร หรืออย่างมากก็เห็น กายนี้เป็นแค่เป็นธาตุที่ไหลเข้าไหลออก ไม่ใช่เรา อย่างเวลาดูกายหายใจ ก็เห็นลมหายใจไหลเข้าไป ไหลออกมา กินอาหารเข้าไป แล้วก็ขับถ่ายออกมา เห็นธาตุมันหมุนเวียน ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เห็นอนัตตา ดูไปเรื่อยๆ จะเห็นอะไรก็ได้ หมายรู้ให้ถูกก็แล้วกัน ทีแรกจิตไม่ยอมหมายรู้ จิตจะเฉยๆ ก็ช่วยมันคิดพิจารณาลงไป พิจารณาลงไปซ้ำๆๆ จนจิตมันเคยชิน
อย่างแต่เดิมพอเห็นผู้หญิงสวย ก็ โอ้ มันสวยอย่างนั้นสวยอย่างนี้ ผมมันก็สวย ขน เล็บ ฟัน หนัง มันสวยไปหมดเลย เราก็มาหมายรู้ใหม่ หัดหมายรู้ สวยตรงไหน มันสวยแต่เปลือก ข้างในสกปรก แค่ลอกหนังออกก็ดูไม่ได้แล้ว เป็นผู้หญิงสวยงาม เกิดเป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อมๆ มันสวยไหม มันก็ไม่สวยแล้ว อันนี้ช่วยมันคิด หรือตาหวานหยาดเยิ้ม อยู่ๆ ตาเหล่ ตาปลิ้นถลนออกมา ไม่เห็นจะสวยเลย ทีแรกอาจจะคิดนำ คิดนำ
ครูบาอาจารย์แต่ก่อน ท่านเคยมี อันนี้หลวงพ่อไม่เคยเจอองค์ท่านนะองค์นี้ ท่านเครื่องบินตกตายไปก่อน มรณภาพไม่ใช่ตาย เครื่องบินตก ตอนท่านหนุ่มๆ ท่านก็ไปชอบสาวคนหนึ่ง แล้ววันหนึ่งท่านไปเห็นสาวนี้ไปอึ คนโบราณไปอึในท้องนา ในทุ่ง มีกอไม้มีอะไรบังๆ หน่อย นั่งอึกัน ท่านไปเห็น โอ้ ผู้หญิงแสนสวย ที่เราว่าดีวิเศษ มันอึออกมา น่าเกลียดที่สุด ใจของท่านก็คลายจากราคะ หมดความรักในรูปจอมปลอม เคยนึกว่ามันสวย ที่แท้ข้างในมันสกปรก ของดี อาหารอย่างดีใส่เข้าไปในปาก ตอนมันออกมาแล้ว มันก็ดูไม่ได้เหมือนหมดเลย
ตัวที่แปรอาหารอย่างดี ของสวยของงามให้เป็นของสกปรก ก็คือร่างกายนี่เอง เหมือนโรงงานชั้นเลว มีผลผลิตออกมาเป็นของที่ไม่ดีเลย ใจท่านก็ไม่เอาแล้ว ท่านออกบวช มุ่งทำที่สุดแห่งทุกข์ เมื่อปี 2523 กระมัง ท่านก็รับนิมนต์มากรุงเทพฯ กัน 5 องค์ ครูบาอาจารย์รุ่นนั้น ตอนจะขึ้นเครื่องบินจากอุดรฯ ท่านก็พูดกันว่า มีนิมิตไม่ดี เครื่องบินลำนี้ไม่ถึงกรุงเทพฯ เราจะไปไหม องค์หนึ่งท่านก็บอก เป็นพระกรรมฐานตายก็ตายสิ รับนิมนต์ไว้แล้ว ตายก็ยอม
ทั้ง 5 องค์ก็เลยตกลงขึ้นเครื่องบิน แต่ท่านไล่พระติดตาม ไล่ลูกศิษย์ไม่ให้ขึ้น ให้กลับวัดไปให้หมดเลย แล้วท่านก็มากันเอง เครื่องบินมาตกที่ทุ่งรังสิต มรณภาพไป จิตของท่านเหล่านี้ ท่านเข้มแข็ง ก็อาศัยภาวนากัน พุทโธๆ บางองค์ก็พุทโธแล้วก็หายใจด้วย แล้วพิจารณาร่างกายเป็นปฏิกูลอสุภะ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จนหมดความรักในร่างกาย ก็ไม่ยึดถืออะไร สุดท้ายก็มาปล่อยวางที่จิต
ตรงที่จิตปล่อยวางจิต หลวงปู่ดูลย์ท่านเรียกว่าทำลายจิต เป็นสำนวนท่านเท่านั้น หลวงพ่อพุธท่านเคยบอกว่า อย่าไปทำลายจริงๆ อยู่ๆ ไปทำลายจิตก็เป็นบ้าเลย ทำลายจิตก็คือ เห็นจิตมันเป็นไตรลักษณ์ไป แล้วทำลายความยึดถือจิต ที่เรียกว่าทำลายจิต ไม่ได้ทำลายตัวจิตหรอก ทำลายความยึดถือจิต ตัวจิตผู้รู้มันจะแตกสลายไป กลายเป็นจิตที่ไม่ได้มีการกำหนด ไม่ต้องกำหนด ไม่ต้องระวัง ไม่ต้องรักษา ถามว่าเป็นจิตไหม มันก็เป็นจิต เป็นจิตอีกชนิดหนึ่ง
คิดนำร่องให้จิตหัดดูไตรลักษณ์
พยายามฝึก รู้สึกร่างกายไป ร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึก ร่างกายกินอาหาร ร่างกายขับถ่าย รู้สึก รู้สึกไปเรื่อยๆ แล้วถ้ามันรู้สึก แล้วใจมันเข้าไปนิ่งเฉยๆ อยู่ ก็ช่วยมันพิจารณา คิดมันเข้าไป คิดนำ หลวงพ่อพุธท่านใช้คำว่า “นำร่อง” คิดนำร่องให้จิตมันหัดดูไตรลักษณ์ แล้วพอมันเคยดูไตรลักษณ์แล้ว ต่อไปมันดูเอง ตรงที่มันเห็นไตรลักษณ์ โดยที่ไม่ได้เจตนาจะเห็นนั้น ของจริงมันเกิดแล้ว เป็นการทำวิปัสสนาจริงๆ วิปัสสนาคือเห็นอย่างถูกต้อง ไม่ใช่คิดอย่างถูกต้อง ไม่เจือความคิดแล้ว
ค่อยฝึก ค่อยทำ ฉะนั้นเริ่มต้น จะเริ่มจากกายก็ได้ หลวงพ่อเวลาทำสมถะ หลวงพ่อใช้อานาปานสติกับพุทโธ แล้วเวลาเจริญปัญญาหลวงพ่อดูจิตเอา เวลาดูจิตมันก็ดูได้หลายอย่าง ถ้าดูจิตให้เป็นสมถะ ก็น้อมจิตให้นิ่งๆ อยู่กับความว่างๆ ดูจิตมันว่างๆ ดูช่องว่าง เรียกอากาสานัญจายตนะ หรือดูตัวผู้รู้ อันนี้ไม่แนะนำ อันตราย ไปดูตัวผู้รู้มันจะกลายเป็นวิญญานัญจายตนะ ไม่มีที่สิ้นสุด ดูไปอย่างนั้นเสียเวลานาน อย่าไปทำ
ฉะนั้นถ้าแค่ต้องการให้จิต อย่างเราเป็นคนดูจิต เราจะทำสมถะ ถ้าเราชำนาญการดูจิตจริง ไม่ต้องกลับมาที่ลมหายใจเลย เราดูเข้าไปในช่องว่าง มันมีความว่างๆ อยู่ รู้สึกไหมข้างหน้าเราว่างๆ ดูเข้าไปตรงนั้น แต่ถ้าจิตไหลเข้าไปตรงนั้นต้องรู้ทัน ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวไปติดอยู่ในช่องว่าง กลับบ้านไม่ได้ จิตเข้าฐานไม่ได้ ฉะนั้นควรจะฝึกจิตให้ตั้งมั่นเสียก่อน แล้วก็มาดูจิตมันทำงาน แล้วชำนาญสมาธิแล้ว ต้องการพัก ไม่ต้องมาอยู่ที่ลมแล้ว อยู่กับจิตนั้น อยู่กับความว่างอะไรต่ออะไร ก็อยู่ได้ ก็ได้สมถะ
ดูจิตอย่างไรให้เป็นวิปัสสนา ก็ใช้หลักเดียวกันนั้นล่ะ ก็ต้องดูให้เห็นไตรลักษณ์ ดูกาย ก็ดู หัดดูให้เห็นปฏิกูลอสุภะ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่จิตไม่มีปฏิกูลอสุภะ จิตไม่มีรูปร่าง ไม่มีตัวตน ฉะนั้นมันไม่มีอสุภะหรอก มันมีแค่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะฉะนั้นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เลยเป็นสามัญลักษณะ เป็นลักษณะทั่วไป ลักษณะร่วมของรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ไม่เอาอสุภะมาเป็นสามัญลักษณะด้วย เพราะมันอยู่ได้บางที่เท่านั้น แต่ไตรลักษณ์นี้อยู่ได้ทั้งรูปทั้งนาม มีครบหมด
ฉะนั้นอย่างเราจะดูจิต ถ้าเราดูจิตไปแล้ว จิตเราเกิดว่างๆ เฉยๆ ติดอยู่ในช่องว่าง เงียบๆ ว่างๆ พอจิตเคลื่อนออกมาจากตรงนั้น สอนมันเข้าไปเลย คิดเลย ใช้หลักเดียวกับที่พิจารณากายนั่นล่ะ พิจารณาจิตเข้าไปเลย จิตเมื่อกี้เฉย ตอนนี้ไม่เฉย นี่จิตมันไม่เที่ยง เมื่อกี้เฉยมันก็ไม่ได้เจตนาจะเฉย มันเฉยได้เอง นี่มันเป็นอนัตตา มันเฉยอยู่แล้ว มันถอนออกมา มันก็ถอนเอง นี่ก็เป็นอนัตตา สอนๆ มันไปก่อนทีแรก
แต่ถ้าจิตมันเคยจะเจริญปัญญามาแต่ชาติปางก่อน ไม่ต้องสอน ภาวนาไปแล้วก็เห็นจิตเกิดดับไป จิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ จิตที่เป็นกุศลอกุศลทั้งหมดทั้งปวงเกิดแล้วดับ แล้วพอถึงขั้นละเอียด เราจะเห็นตัวจิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ กระทั่งตัวจิตผู้รู้ที่ว่าดีวิเศษ จิตที่เป็นมหากุศลจิต ญาณสัมปยุต อสังขาริกัง ไม่ได้เจตนาให้เกิด มันเกิดแล้วดับหมด ไม่ว่าของดีวิเศษแค่ไหน ก็มีแต่เกิดแล้วก็ดับ สิ่งใดเกิดสิ่งนั้นดับ
เวลาเดินปัญญา ที่ดูจิตเราก็ดูจิตเกิดดับ ทีแรกกำลังเรายังไม่พอ เราก็เห็นจิตเกิดดับไปพร้อมกับเจตสิก จิตสุขเกิดร่วมกับความสุข จิตมันเกิดร่วมกับความสุข เราก็รู้สึกเป็นจิตสุข เกิดร่วมกับความทุกข์ ก็เป็นจิตทุกข์ เกิดร่วมกับจิตดี ก็เป็นจิตที่เป็นกุศล เกิดร่วมกับความโกรธ ก็เป็นจิตโกรธ จิตโลภ จิตหลง ตัวที่มาประกอบจิต ปริยัติเขาเรียกว่าเจตสิก เกิดร่วมกับจิต จิตทุกดวงต้องมีเจตสิก กระทั่งโลกุตตรจิตก็มีเจตสิก ถือเป็นโลกุตตรเจตสิก
ฉะนั้นถ้าไม่มีเจตสิก ไม่มีสัญญา อันนั้นก็ไม่มีจิต เป็นพรหมลูกฟักแล้ว ฉะนั้นเวลาเราดูจิต ถ้าจิตมันเฉยก็สอนมันไป สอนมันในแง่ของไตรลักษณ์ ไม่ต้องมีอสุภะ เพราะมันไม่มีร่างกาย สอนไปเรื่อย มันไม่เที่ยงอะไรไป แต่ถ้าเรามีของเก่า พอเรามาดูจิตดูใจ เราเห็นไตรลักษณ์เลย ไม่ต้องคิด ไม่ต้องคิดนำ แต่ถ้ามันไม่ดูไตรลักษณ์ มันจะดูจิตเฉยว่างๆ ให้คิดนำ จะได้ไม่ติดเฉย ฝึกไปเรื่อย จะเริ่มจากกายก็ได้ จะเริ่มจากที่จิตเลยก็ได้
ฉะนั้นในสติปัฏฐาน 4 จะเริ่มจากกาย หรือเวทนา หรือจิต หรือธรรม อะไรก็ได้ สุดท้ายมันก็ไปลงที่เดียวกัน พอรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งใดมันก็วางสิ่งนั้น ไม่ยึดถือ รู้แจ้งในกายก็วางกาย รู้แจ้งในกาม พวกนี้ถ้ารู้แจ้งในกาย ก็จะรู้แจ้งกาม กามราคะ มันก็วางไปด้วยกัน ถ้ารู้แจ้งจิตก็วางทุกสิ่งทุกอย่างกระทั่งตัวจิตเอง วางของนอกไม่ยาก แต่วางตัวจิตเองยากที่สุดเลย วาง ไม่ใช่เอาไปวางที่โน่นที่นี่ วางนี้หมายถึงไม่ยึดมั่นถือมั่นมัน ฉะนั้นต้องรู้แจ้งเห็นจริง ตัวจิตผู้รู้เองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์
ดูอย่างไรจะเห็นจิตผู้รู้ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ง่ายๆ เลย ก็ดูจิตเดี๋ยวก็เป็นผู้รู้แล้วก็ดับ เกิดจิตดูรูป จิตดูรูปเกิดแล้วก็ดับ เกิดจิตผู้รู้ จิตผู้รู้แล้วก็ดับ เกิดจิตผู้ไปฟังเสียง จิตผู้ฟังเสียงเกิดแล้วก็ดับ เกิดเป็นจิตผู้รู้ จิตผู้รู้ก็ดับ เกิดเป็นจิตผู้คิด ได้เห็นจิตมันเกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันนี้เราไม่ได้อาศัยการดูทางเจตสิกแล้ว อันนี้ละเอียดขึ้นมา เราดูผ่านอายตนะ เกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้ารู้แจ้งเห็นจริงอย่างนี้จะวางจิต มันรู้ว่าจิตไม่ใช่ของดีของวิเศษ เขาเรียก หลวงปู่ดูลย์ท่านเรียกว่าทำลายผู้รู้
เพราะผู้รู้นี้เป็นศัพท์เฉพาะ หมายถึงเป็นจิตที่เราพัฒนามันขึ้นมา เอามาใช้งาน ถึงอย่างไรวันหนึ่งเราก็ต้องปล่อยวาง ถ้าไม่ปล่อยวาง เราก็จะไปเกิดเป็นพระพรหม แล้วสูงสุดของผู้ปฏิบัติ ถ้ายังไม่วางจิต ก็จะไปเป็นพรหม หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยบอกว่า ท่านพิจารณาแล้วนักปฏิบัติส่วนใหญ่เป็นผีใหญ่ ภาษาท่าน ผีใหญ่คือเป็นพรหม ภาวนาแล้วก็ไปเป็นพระพรหมกัน ต้องเดินปัญญาให้ถ่องแท้ ถึงจะเอาตัวรอดได้ “บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา” ไม่ใช่ด้วยสมาธิ สมาธิเป็นแค่เครื่องมือตัวหนึ่ง
เทศน์ให้ฟังเท่านี้ก็แล้วกัน แค่นี้ก็น่าจะยากแล้ว เห็นไหมยกมือไหว้ ตัวอะไรไหว้ ถ้าเราไหว้แสดงว่ายังหมายรู้ผิดอยู่ ถ้าเห็นรูปมันเคลื่อนไหว เห็นร่างกายมันเคลื่อนไหว เหมือนเห็นหุ่นยนต์ตัวหนึ่ง เออ มันหมายรู้ถูกแล้ว มันไม่ใช่เรา ฉะนั้นมันเคลื่อนไหวได้ มันไม่เที่ยง เมื่อกี้มันเป็นอย่างนี้ ตอนนี้มันเป็นอย่างนี้ หัดนะ หัด ไม่ใช่ไหว้ ไหว้แบบพญาวานร
วัดสวนสันติธรรม
21 ธันวาคม 2567