ธรรมะ เรียนแล้วต้องปฏิบัติ ที่เรามาฟังครูบาอาจารย์ หรือกระทั่งเราเรียนปริยัติอะไรพวกนี้ เพื่อให้รู้วิธีปฏิบัติ ไม่ใช่เรียนแค่เพื่อให้สอบได้ ธรรมะก็มีทั้งในส่วนที่เป็นจริยธรรมและก็ในส่วนที่จะปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ อย่างในส่วนของจริยธรรม ไม่ได้ท่องเอาไว้สอบ ส่วนใหญ่อยู่ในหนังสือนวโกวาท แต่ต้องเอาไปทำ
อย่างเราอยู่ในองค์กร ทำอย่างไรจะอยู่กันร่มเย็นเป็นสุข ก็มีธรรมะที่อยู่รวมกลุ่มกัน ธรรมะ ทำอย่างไรจะเกิดความสามัคคีกัน ก็มีธรรมะ มีเยอะแยะ หน้าที่ของเราต่อพ่อแม่ ต่อครอบครัว ต่อเพื่อน ต่อลูกน้อง อันนี้ก็มีหมดธรรมะเหล่านี้ ถ้าลำพังท่องๆ ไป ไม่ได้เอาไปปฏิบัติก็ไม่มีประโยชน์อะไรเท่าไร อย่างเก่งก็แค่ว่าเอาไปสอบธรรมศึกษาแล้วก็ลืม เพราะฉะนั้นธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนทั้งหมดเป็นไปเพื่อการปฏิบัติทั้งสิ้น จะอยู่กับโลกก็มีธรรมะสำหรับการอยู่กับโลก จะออกจากโลกเข้าสู่ทางด้านโลกุตตระ ก็มีธรรมะสำหรับจะไปสู่โลกุตตระ ฉะนั้นเป็นเรื่องที่ต้องทำ
ธรรมะของพระพุทธเจ้าทั้งหมดเป็นไปเพื่อการปฏิบัติทั้งสิ้น
เมื่อก่อนหลวงพ่อเจอครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ชื่อหลวงปู่มหาเขียน เจ้าคุณอริยเวที อยู่วัดรังสีปาลิวันที่กาฬสินธุ์ เคยไปกราบท่านทีหนึ่ง ได้ยินประวัติว่าท่านเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น เป็นน้องแท้ๆ ของอาจารย์มหาปิ่น ก็เลยอยากฟังธรรมะ ขึ้นไปหาท่าน ท่านเล่าให้ฟังว่าท่านลองท่องพระไตรปิฎก องค์นี้ได้เปรียญ 9 ทีแรกท่านอาจารย์มั่นได้ชวนไปปฏิบัติ ไม่เอา อยากเรียนปริยัติก่อน คืออยากรู้ให้หมด ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ อยากรู้ให้หมดเลย ท่านก็ไปเรียนปริยัติได้เป็นเปรียญ 9 ได้เป็นเจ้าคุณ ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดหลวง พอเรียนจบ อาจารย์มหาปิ่นก็มาตาม บอกว่าเคยสัญญาว่าเรียนปริยัติจบแล้วจะออกปฏิบัติ ท่านก็ทิ้งทุกอย่างเลย ออกปฏิบัติจริงๆ เพราะฉะนั้นท่านจะเชี่ยวชาญทั้งปริยัติและปฏิบัติ
ตอนที่หลวงพ่อไปกราบท่าน ท่านบอกท่านสงสัยอยู่ข้อหนึ่งว่าพระอานนท์ทรงจำธรรมะ คือพระสุตตันตปิฎกได้ทั้งหมดจริงหรือ สงสัยข้อนี้ มันน่าสงสัย มันเยอะมากเลย ท่านก็พิสูจน์ว่าพระอานนท์จะจำได้จริงหรือด้วยการท่องพระไตรปิฎก ไม่ท่องเฉพาะพระสูตร ท่องหมดเลย พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ตอนที่หลวงพ่อไปเจอท่าน ท่านก็เล่าให้ฟังว่าท่านท่องได้หลายสิบเล่มแล้ว ได้เกินครึ่งแล้ว จำจำนวนไม่ได้ ตัวเลข
แล้วท่านก็สรุปอย่างหนึ่ง ธรรมะของพระพุทธเจ้าทั้งหมดเป็นไปเพื่อการปฏิบัติทั้งสิ้น จะอยู่กับโลกก็มีธรรมะภาคปฏิบัติที่จะต้องทำ เพื่อเราจะได้อยู่กับโลกอย่างมีความสุข มีความสงบ มีสันติ ต้องการไปสู่โลกุตตรธรรม ได้มรรคได้ผลอะไรอย่างนี้ ก็มีธรรมะอีกลักษณะหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะธรรมะลักษณะใด จะอยู่กับโลกก็ต้องปฏิบัติ จะพ้นโลกก็ต้องปฏิบัติ
ฉะนั้นธรรมะทุกข้อองค์นี้ท่านบอก หลวงพ่อไม่ได้บอกขนาดนั้นหรอก เราไม่ได้รอบรู้ อาจารย์มหาเขียนท่านบอก ธรรมะทั้งหมดของพระพุทธเจ้า ทุกหัวข้อเป็นไปเพื่อการปฏิบัติ ฉะนั้นพวกเราได้ยินได้ฟังธรรมะแล้วก็ต้องมาลงมือทำ บางคนก็เรียนธรรมะที่จะพ้นโลก แต่เรายังเป็นฆราวาสอยู่ ไม่สนใจธรรมะที่จะอยู่กับโลก ก็เรียกว่าเราทำหน้าที่ของเราไม่สมบูรณ์
อย่างเรามีหน้าที่เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ เลี้ยงภรรยาสามี เลี้ยงลูกอะไรอย่างนี้ แล้วเราบอกว่า ไม่เอา เราไม่ทำหน้าที่แล้ว เราจะปฏิบัติอย่างเดียวเพื่อความพ้นทุกข์ อันนั้นมันก็ไม่ถูก เมื่อเป็นฆราวาสก็ต้องทำงาน ทำหน้าที่ของฆราวาส ปฏิบัติธรรมแบบที่ฆราวาสสมควรทำ ลองไปดู ลองไปเสิร์ชหนังสือ นวโกวาท เป็นธรรมะสำหรับฆราวาส หนังสือนี้ กรมพระยาวชิรญาณวโรรสท่านแต่งขึ้นมาให้พระเรียน เพราะว่าคนไทยแต่ก่อน ผู้ชายทุกคนต้องบวช ฉะนั้นบวชแล้วก็เลยให้เรียนนวโกวาท สึกออกไปจะได้เอาธรรมะไปใช้ จะครองเรือนให้มีความสุขจะเป็นอย่างไร จะอยู่ในองค์กร ด้วยความสันติสุขจะทำอย่างไร สอนละเอียด พวกเราลองไปทำดู
จะเอาแต่ธรรมะภาคโลกุตตระ ทิ้งธรรมะเบื้องต้น มันอยู่ยาก ทำยาก มีผู้หญิงหลายคนมาปรับทุกข์กับคุณแม่ บอกอยากปฏิบัติธรรม แต่ไม่ให้สามีถูกตัวเลย เพราะว่ากลัวจะเป็นมลทิน อยากปฏิบัติ ก็อยู่ด้วยกันทุกวัน แล้วมาร้องห่มร้องไห้บอกคุณแม่ว่าตอนนี้สามีไปมีผู้หญิงอื่นแล้ว อันนี้คล้ายๆ มุ่งโลกุตตระในสภาวะที่ยังไม่พร้อม ฉะนั้นเราต้องระมัดระวัง รู้ว่าเราเป็นอะไร เราเป็นฆราวาส หน้าที่ของฆราวาสทำอะไรบ้าง ย่อๆ เลย ธรรมะของฆราวาส ถ้าย่อๆ ลงมาก็คือทาน ศีล ภาวนา มีทำทาน รักษาศีล ภาวนา เป็นกรอบกว้างๆ
รายละเอียดมันก็มีแจกแจงเป็นหมวดๆ เป็นหัวข้อ การทำทาน ก็ต้องรู้จักทำทาน ทำจนล้มละลาย ไม่มีความสุข ตอนทำมีศรัทธาอยากทำ ระหว่างทำก็ปลื้ม พอทำแล้วก็เศร้าโศกว่าไม่มีเงินจะกินข้าว ไม่มีเงินเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย อันนั้นจิตเศร้าหมอง การที่เราจะทำบุญทำทาน ต้องรู้อย่างหนึ่ง เราจะต้องมีความสุข มีบุญใน 3 กาละ ก่อนทำก็ต้องมีบุญ มีความสุข ระหว่างทำก็ต้องมีความสุข ทำแล้วนึกถึงทีไรก็มีความสุข ถ้าก่อนทำ อยากทำมาก กระเหี้ยนกระหือ พอทำไปแล้ว มานึกทีหลัง ตายแล้ว เอาเงินไปใช้ทำบุญทำทานหมดแล้ว ไม่มีเงินกินข้าว นี่จิตเศร้าหมอง
หรือบางทีพวกเราปฏิบัติแบบครึ่งๆ กลางๆ ก็มีกิจกรรมเยอะ เดี๋ยวก็ทอดผ้าป่า เดี๋ยวก็ทอดกฐิน วุ่นวายกับกิจการงานบุญทั้งหลายมากมาย พอผ่านงานไปแล้ว ก็มานั่งนึก อุ๊ย ตายแล้ว จิตเราฟุ้งซ่าน จิตเราเสียไปหมดแล้ว เตลิดเปิดเปิง ที่นั่งภาวนาไว้ ที่เดินจงกรมไว้ เสียหายไปหมดแล้ว จิตเศร้าหมอง การกระทำ ทำความดี อย่าให้เศร้าหมองทีหลัง ถ้าหากระหว่างทำ ก่อนทำ ระหว่างทำ จิตเราเป็นบุญ แต่ทำแล้ว จิตเราเศร้าหมอง บุญอันนั้นไม่สมประกอบ เป็นบุญที่กระพร่องกระแพร่ง ไม่สมบูรณ์ใน 3 กาละ ก่อนทำ ระหว่างทำ หลังทำ บุญชนิดนี้เป็นบุญที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน แล้วไม่ใช่ว่าดีนักหนาหรอก
ในตำราบอกไว้ชัดเจนเลย ทำบุญแล้วก็เศร้าหมองทีหลัง อาจจะได้เกิดเป็นมนุษย์ จะได้เป็นมนุษย์ได้ แต่มักจะพิการ อันนี้ไม่ได้ตำหนิคนพิการ ไม่ใช่บูลลี่ แต่ว่าบอกแล้วว่าตำราเขาว่าไว้อย่างนั้น หลวงพ่อไม่ยืนยันหรอก เพราะว่าหลวงพ่อไม่มีญาณทัศนะมากมายถึงจะรู้สัตว์โลกทั้งโลกหมุนเวียนอย่างนั้น แต่เขาบอกไว้ชัดเจนในตำรา บอกว่าก่อนทำบุญ แช่มชื่น ระหว่างทำบุญ แช่มชื่น ทำแล้วจิตใจเศร้าหมอง สุดท้ายจิตใจเศร้าหมอง บุญนี้เป็นบุญเล็กน้อย ถ้าหากไม่มีบุญอื่นที่เด่นชัดกว่านี้ให้ผล ตอนที่เราตายถ้าไม่มีบุญอื่นที่เด่นชัดกว่านี้ บุญตัวนี้มันจะให้ผล ให้ผลเราเกิดมาก็จะพิการ เกิดมาแล้วไม่สมประกอบ บางทีก็พิการทีหลังหลังจากเกิด เพราะฉะนั้นไม่แนะนำ เวลาจะทำทาน ทำบุญอะไรก็ตามเถอะ ทำกิจกรรม ทำแล้วอย่าให้เสียใจทีหลัง
บางคนทำแล้วก็เพื่อนไม่ได้ไปทำ เพื่อนขยันภาวนา สตาร์ตด้วยกัน เริ่มต้นด้วยกัน ผ่านไปนานๆ ตัวเอง เอ๊ะ ทำไมไม่ดีขึ้น เพื่อนเขาดีขึ้น นี่จิตใจเริ่มเศร้าหมองแล้ว เพราะฉะนั้นระมัดระวัง ที่เตือนแล้วเตือนอีก ไม่อยากให้พวกเราตกต่ำ ลำบาก เป็นคนดี แต่มันดีไม่ถึงพร้อม มันก็ได้คุณได้ประโยชน์ที่เจือกับโทษอยู่ เพราะฉะนั้นจะทำทานก็ต้องรู้จักประมาณ
การรักษาศีล รักษาศีลสำหรับพวกเราก็คือตั้งใจงดเว้นการทำบาปอกุศลทางกาย ทางวาจา 5 ข้อ 5 ข้อพอแล้ว บางคนไปถือศีล 8 ยังครองเรือนอยู่ ไม่ให้สามีถูกตัวอะไรนี่ ก็ทำผิดหน้าที่ แล้วก็เศร้าหมองทีหลัง สามีหนีไป หาผู้หญิงอื่น ฉะนั้นจะถือศีลก็ถือให้พอดีกับตัวเรา ถือศีล 8 ได้ไหม ได้ แต่ไม่ใช่ถือเป็นนิจศีล ถือเป็นวาระ เช่น ครบรอบวันเกิดเรา ถือศีล 8 หรือว่าเราเกิดวันอาทิตย์ วันอาทิตย์เราถือศีล 8 สักวันหนึ่ง อย่างนี้ยังพอไหว ถ้าถือมันทุกวันๆๆ แล้วถ้าทำงานหนัก โรคกระเพาะมันจะกินเอา แล้วครอบครัวก็จะมีปัญหา ถือศีลก็ต้องรู้จักประมาณ ทำทานก็ต้องรู้จักประมาณฐานะตนเอง ถือศีลก็ประมาณฐานะตนเอง
แล้วอีกตัวหนึ่งคือการภาวนา ภาวนาไม่ใช่แปลว่าท่องพุทโธๆ ภาวนาแปลว่าเจริญ เจริญอะไร การที่เราตั้งใจรักษาศีล แล้วศีลเราดีขึ้น อันนั้นก็เป็นการภาวนา ภาวนามันแปลว่าทำให้เจริญขึ้น เราภาวนาอย่างที่เราเข้าใจ ก็คือทำสมาธิ บางคนก็คิดว่าการภาวนา ต้องนั่งสมาธิ ต้องเดินจงกรมเสมอไป ไม่จำเป็น
เส้นทางที่ผิด
ถ้าเรานั่งสมาธิ เข้าสมาธิลึกๆ ไม่เป็น ไม่มีครูบาอาจารย์ ไม่ควรจะไปนั่งเล่น อันตราย เพราะว่าการทำสมาธิส่งเดช มันมีกับดักมากมาย กับดัก เช่น เห็นนิมิตต่างๆ บางทีภาวนาไป เห็นตัวเองเป็นโครงกระดูกขึ้นมา ตกใจกลัว หรือภาวนาอยู่ เห็นผีโผล่ขึ้นมา จริงๆ ไม่มีผีหรอก จิตมันหลอนขึ้นมา แยกไม่ออกว่าอะไรของจริงของปลอม สติแตก ที่เขาเรียกว่ากรรมฐานแตก ทำแตก เพี้ยนไปเลย เพราะตกใจมาก
ภาวนาอย่างง่ายๆ ที่ปลอดภัย ไหว้พระสวดมนต์ไป สวดยาวๆ แล้วเหนื่อย ก็สวดย่อๆ พุทโธ ธัมโม สังโฆ ว่างขึ้นเมื่อไรก็พุทโธ ธัมโม สังโฆ พุทโธ ธัมโม สังโฆ บริกรรมไปเรื่อยๆ อันนี้ก็ภาวนาที่พอดีๆ ปลอดภัย บริกรรมไปเรื่อยๆ ปลอดภัย ไม่ค่อยมีนิมิตทั้งหลายหรอก แต่ถ้าอย่างจะนั่งสมาธิจริงจัง ทำอานาปานสติอะไร ก็เสี่ยงนิดหนึ่ง เสี่ยงตรงไหน หลวงพ่อเคยเดินมาแล้ว แล้วเดินไปในเส้นทางที่ผิด ดีว่ากลับตัวกลับใจทัน
ตอนแรกๆ หัดนั่งสมาธิ หายใจ ลมหายใจจะยาว หายใจลึกๆ ลงไป ทีแรกก็หายใจเข้าก่อน หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ลมก็ยาวถึงท้องน้อย พอจิตเริ่มสงบ ลมก็เริ่มตื้นๆๆ ขึ้นมา จนมาหยุดอยู่ที่ปลายจมูก แล้วลมมันก็ระงับไป กลายเป็นแสงสว่าง พอมีแสงสว่าง เราไม่มีครูบาอาจารย์ควบคุมสั่งสอน จิตมันก็ถลำลงไปในแสงสว่าง คราวนี้อยากรู้อยากเห็นอะไร มันรู้มันเห็นได้สารพัดเลย จะดูสวรรค์ ดูอะไรอย่างนี้ ดูได้หมด มันเป็นนิมิต มันเป็นสวรรค์จริง หรือสวรรค์ที่จิตหลอน ตอบไม่ถูกหรอก หรือเห็นผีโผล่ขึ้นมา เห็นเทวดาโผล่ขึ้นมา เห็นน่ะเห็นจริง แต่สิ่งที่ถูกเห็นจริงหรือไม่จริง ไม่รู้ พอเราเพลิดเพลินอย่างนี้มากๆ จิตมันไม่เข้าฐานเลย จิตมันไปข้างนอก พอนั่งสมาธิทีไร จิตก็ออกไปข้างนอก ไปดูโน่นดูนี่ไปเรื่อยๆ ถ้าเราภาวนาจนเราเข้าถึงฐานของจิตได้แน่นแฟ้นมั่นคงจริงๆ ออกรู้ออกเห็นข้างนอกไม่มีโทษ ไม่เป็นปัญหา
มีพระอรหันต์อยู่องค์หนึ่ง ท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว ที่จริงตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ท่านชอบส่งจิตออกนอก ไปดูสัตว์ตัวนี้ตายแล้วไปเกิดที่ไหน อย่างพวกเราจะอยากรู้ เพื่อนเราตายแล้วจะไปที่ไหน ญาติเราตาย พ่อแม่ตายจะไปอยู่ที่ไหน จิตมันอยากรู้อย่างนี้ องค์นี้พอท่านภาวนาได้ธรรมะขั้นต้น คือพระอนุรุทธะนั่นล่ะ คนไทยเรียกพระอนุรุทธ ท่านก็เที่ยวส่งจิตออกนอก เที่ยวดูไปเรื่อยเลยในจักรวาล เที่ยวดูๆๆ ไปเรื่อย
สมัยนั้นยังดีว่ามีพระพุทธเจ้า มีครูบาอาจารย์ มีพระอรหันต์อะไรอยู่มากมาย พระอนุรุทธ บุญบารมีท่านสูง อย่างเราถ้าไปเล่น บุญบารมีไม่พอ เตลิดเลย คราวต่อไปก็ไม่รู้เลย ที่เห็นคนหรือผี แยกไม่ออก พระอนุรุทธ บุญบารมีท่านเต็มแล้วชาตินี้ อย่างไรท่านก็บรรลุพระอรหันต์แน่นอน ท่านก็เกิดเฉลียวใจขึ้นมา เอ๊ะ ทำไมเราไม่บรรลุพระอรหันต์เสียที
ท่านก็ไปถามพระสารีบุตร ข้าแต่ท่านพระสารีบุตรผู้เจริญ กระผมมีทิพยจักษุ คือมีตาทิพย์ กระผมมีทิพยจักษุเลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย กระผมสามารถเห็นโลกธาตุตั้งพันโลกเกิดดับในเวลาครู่เดียว ทำไมผมไม่บรรลุพระอรหันต์เสียที จำได้ไหม ท่านถามอะไร กระผมมีทิพยจักษุเลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ผมเห็นโลกธาตุตั้งพันโลกเกิดดับในเวลาครู่เดียว
สิ่งที่เรียกว่าโลกก็คือรูปนาม ท่านเห็นรูปนามเป็นพันๆ คู่เกิดดับในเวลาไม่นาน อย่างเห็นผู้คนมากมาย ท่านก็เห็น คนนี้ตายแล้วไปไหนๆ รู้หมดเลย รวดเร็วมาก แล้วท่านก็สงสัยว่าทำไมท่านไม่บรรลุพระอรหันต์เสียที นี่เป็นผลของสมาธิ ได้สมาธิแล้วก็เกิดปฏิภาค มีแสงสว่างเกิดขึ้น ก็ตามแสงออกไปรู้ไปเห็น
ท่านพระสารีบุตร ท่านก็บอกว่าถ้าพูดสำนวนหลวงปู่ดูลย์ก็บอกส่งจิตออกนอก แต่ท่านพระสารีบุตร ท่านปัญญากล้า เก่งกล้า ท่านแจกแจงให้ฟัง บอกท่านอนุรุทธ ที่ท่านบอกว่าท่านมีทิพยจักษุเลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย นี่เป็นความเซลฟ์จัดของท่าน เป็นกิเลสตัวที่หนึ่ง กูเก่งๆ มีมานะที่แบบกูเก่งๆ ท่านไม่เห็นกิเลสตัวนี้ ท่านเห็นโลกธาตุตั้งพันโลกเกิดดับในเวลาครู่เดียว เห็นไหมท่านเที่ยวดูโลกธาตุตั้งพันโลก ดูมันเกิดมันดับ นั่นคือความฟุ้งซ่านของท่าน คืออุทธัจจะเป็นกิเลสตัวที่สองที่ท่านไม่เห็น แล้วตรงที่ท่านสงสัยว่า เอ๊ะ ทำไมผมไม่บรรลุพระอรหันต์สักที ตรงนั้นเป็นกิเลสชื่อกุกกุจจะ รำคาญใจ ปกติพอฟุ้งซ่านแล้วมันจะต่อด้วยรำคาญใจ ฟุ้งๆๆ ไป ทำไมเราไม่บรรลุพระอรหันต์เสียที
ท่านพระสารีบุตรท่านก็ชี้ให้ดู พูดประโยคสั้นๆ นิดเดียว ท่านแจกแจงกิเลสออกมาได้ตั้ง 3 ตัว ข้าแต่ท่านพระสารีบุตรผู้เจริญ กระผมมีทิพยจักษุเลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย นี่กูเก่ง กูเหนือคนอื่น ผมเห็นโลกธาตุตั้งพันโลกเกิดดับในเวลาครู่เดียว นี่ฟุ้งซ่าน มัวแต่ไปดูข้างนอก ทำไมไม่ดูตัวเอง ทำไมผมไม่บรรลุพระอรหันต์เสียที นี่เป็นความหงุดหงิดใจ เป็นความหงุดหงิดใจ ทำไมไม่ได้สักทีวะ ทำไมไม่ได้สักที
อย่างพวกเราภาวนาใช่ไหม นั่งสมาธิเดินจงกรมไปช่วงหนึ่ง ก็หงุดหงิดใจแล้ว จิ๊ ทำไมมันไม่พัฒนา ต้องมีเสียงอย่างนี้ด้วย จิ๊ อย่างนี้ มันหงุดหงิด เราไม่เห็นกิเลส เพราะเราไม่เห็นกิเลส อันนี้ทำสมาธิแล้วมันก็ออกรู้ออกเห็น อันตราย ท่านพระอนุรุทธบารมีท่านเต็ม ท่านก็แก้ได้ ก็บรรลุพระอรหันต์
พอบรรลุพระอรหันต์ เครื่องอยู่ของท่านก็คือดูโลกธาตุดูจักรวาลทั้งหลายนั่นล่ะ คราวนี้ไม่มีใครว่าท่านแล้ว เพราะจิตท่านไม่ไหลออกไปไหนแล้ว จิตท่านกลืนเป็นอันเดียวกับความว่าง ไม่มีการเคลื่อนไปเคลื่อนมา ไหลไปไหลมาอีกต่อไปแล่ว ท่านก็เลยเป็นเอตทัคคะได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้า เป็นเอตทัคคะในด้านทิพยจักษุ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย
ทิพยจักษุ ตาทิพย์ไม่ได้แปลว่าเห็นหวยเห็นอะไร ทิพยจักษุก็คือเห็นว่าสัตว์ตัวนี้ตายแล้วไปเกิดที่ไหน ตัวนี้ตายแล้วไปเกิดที่ไหน อย่างนี้เรียกทิพยจักษุ เอาของใส่กล่องไว้แล้วก็ให้ดูว่าอะไรอยู่ในกล่อง อันนั้นก็ไม่สำคัญเท่าไร คำว่าทิพยจักษุจริงๆ จะรู้ความตาย ความเกิดของสัตว์ทั้งหลาย ดูไปแล้วก็สัตว์นี้มันเป็นไปตามกรรมของมันเข้าใจอย่างนี้ จิตไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เตลิดเปิดเปิง
พวกเราภาวนา หลวงพ่อถึงพยายามเล่าให้พวกเราฟัง เราไม่ได้อยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ แล้วครูบาอาจารย์ที่อยู่ใกล้แล้วปลอดภัย ทุกวันนี้ ไม่รู้จะหาที่ไหน หายากเต็มที เพราะฉะนั้นถึงสอนหลักเอาไว้ให้แม่นๆ ถ้าเราภาวนาแล้ว มันมีแสงสว่างเกิดขึ้น อย่าตามมันไป สอนแล้วสอนอีก ตามไปนิมิตมันจะเกิด มันจะเห็นโน่นเห็นนี่ เห็นจริงก็ได้ เห็นไม่จริงก็ได้ บางทีตอนต้นเห็นจริง แล้วต่อมา พอเห็นจริงๆ แล้วกิเลสเกิด พอกิเลสเกิดคราวนี้เห็นไม่จริงแล้ว
มีครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ชื่ออาจารย์ทองอินทร์ เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่สิม อาวุโสที่สุดในบรรดาลูกศิษย์ทั้งหลาย แล้วตอนหลังท่านมาเป็นเจ้าอาวาสวัดสันติธรรมที่เชียงใหม่ อยู่ใกล้ประตูช้างเผือก หลวงพ่อคุ้นกับท่าน เพราะว่าคุยธรรมะกันรู้เรื่อง ท่านก็เห็นจิตมันแหวกออกมา ท่านเคยเห็น จิตมันแหวก สว่าง ว่างออกมา หลวงพ่อภาวนาก็เห็นอย่างเดียวกันนั้น ก็เลยคุยกันเข้าใจกัน คุ้นเคย
ท่านเล่าให้ฟัง สมัยที่ท่านออกธุดงค์ใหม่ๆ ออกมาจากหลวงปู่สิมแล้วไปธุดงค์ ท่านนั่งสมาธิอยู่ในถ้ำ อยู่องค์เดียว พอเช้ามาเวลาไปบิณฑบาต ชาวบ้านชอบถามท่านว่าเห็นเลขไหม ไม่เห็น ไม่ได้ดู ไม่เคยสนใจเรื่องเลข เลขคือเลขลอตเตอรี่ ทุกวันชาวบ้านก็ชอบถาม เห็นเลขไหม ฝันอะไรไหม ไม่เห็นเลข ไม่อะไรทั้งสิ้น เสร็จแล้วใจมันเกิดพะวงขึ้นมา เอ๊ะ มันเห็นเลข มันเห็นอย่างไร ก็นั่งสมาธิ แล้วใจมันคิดถึง มันเห็นอย่างไร เลข ท่านเล่าให้ฟังว่าท่านเห็นเลข 6 ตัวขึ้นบนผนังถ้ำ ขึ้นไม่ใช่ 2 ตัว 3 ตัว อย่างที่อื่น เห็นทีเดียว 6 ตัวเลย
ช่วงนั้นลอตเตอรี่ มันมี 6 ตัว ตอนหลังมันเป็น 7 ตัว ตอนหลังก็กลับมาเป็น 6 อะไรนี่ หลวงพ่อไม่เคยซื้อลอตเตอรี่ ที่ไม่ซื้อเพราะเราเรียนวิทยาศาสตร์ เรารู้ มันเป็นโอกาส โอกาสถูกกินมากกว่าโอกาสได้เงิน มันเป็นเรื่อง probability พอท่านเห็นเลข 6 ตัว พอชาวบ้านถาม ท่านบอก 6 ตัว เขาหัวเราะกันทั้งหมู่บ้าน พระอะไรวะให้หวยทีหนึ่งตั้ง 6 ตัว ไม่มีใครซื้อเลย ปรากฏว่าพอลอตเตอรี่ออก รางวัลที่หนึ่ง 6 ตัวนี้ คราวนี้ชาวบ้านแตกตื่น โถ ดูสิ ท่านอุตส่าห์ให้ เราไม่ซื้อ ชาวบ้านก็เริ่มมาล้อมถ้ำท่าน มาคอยถามท่าน เห็นเลขหรือยัง เห็นครั้งที่สอง 6 ตัวอีกแล้ว ถูก ชาวบ้านไปซื้อกัน โหย รวยกันทั้งหมู่บ้าน เจ้ามือเริ่มมามองแล้ว จะต้องเก็บแล้ว เอาไว้ไม่ได้ ให้ทีละ 6 ตัว
ชาวบ้านยิ่งมามากกว่าเก่าอีก มาทีหนึ่งหลายหมู่บ้านแล้วคราวนี้ ท่านบอกตอนนั้นใจท่านมันลำพอง ใจมัน โหย เรานี้เห็นหวยแม่นมาก ครั้งที่สาม 6 ตัวปุ๊บ เจ้ามือเตรียมจะฆ่าท่านอยู่แล้ว เลขขึ้น 6 ตัว ชาวบ้านทุ่มซื้อกันสุดฤทธิ์สุดเดช ไม่ถูกสักตัวเลย ชาวบ้านก็จะเล่นงานท่าน ท่านก็กลับมาหาหลวงปู่สิม บอกหลวงปู่เล่นงานยับเยิน ไม่ต้องรายงานไปทำอะไรมา กลับมาโดนทันทีเลย
ท่านเล่าให้ฟังหลายเรื่องสนุกดี มีคราวหนึ่ง ฟังไหม มันไม่ค่อยเกี่ยวกับธรรมะเท่าไร เรื่องหวย สอนบอกว่าอย่าไปเชื่อนิมิต นิมิตเกิดก็แค่รู้แค่เห็น แล้วก็โยนทิ้งไป มีคราวหนึ่งท่านออกไปธุดงค์ ยังหนุ่มอยู่ ไปอยู่ในป่าในอะไรอย่างนี้ จิตมันเกิดราคะขึ้นมา มันห้ามไม่ได้ เป็นกลไกของร่างกาย ร่างกายมีฮอร์โมนเพศ จิตมันเกิดราคะขึ้นมา ก็เห็นผู้หญิงสวยเกิดขึ้น แล้วผู้หญิงคนนั้นสวยๆ มันกลายเป็นผี ที่จริงมันเป็นผี มันก็จะบีบคอท่าน ท่านก็ตกใจ ไล่อย่างไรก็ไม่ไป ท่องบทสวดอะไร มันก็ไม่ไป มันบีบแรงขึ้นๆ
ท่านก็นึกถึงหลวงปู่สิมบอก หลวงปู่ช่วยลูกด้วย ท่านก็เห็นภาพหลวงปู่สิมลอยมา นั่งสมาธิ แล้วก็ลอยมา ผีมันก็หนีไป ท่านก็รีบกลับมาหาหลวงปู่สิม พอมาถึงโดนด่าเช็ดเลยว่าออกไปภาวนา ทำไมไม่ดูแลจิตตัวเอง ดีที่ผีมันไม่หักคอตาย ถ้าทำอย่างนี้ทีหลัง จะปล่อยให้ผีหักคอไปเลย ถูกท่านดุเอา หลวงปู่สิมท่านจะเก่งเรื่องพวกนี้ รู้เยอะ เรื่องของนิมิต ทำสมาธิเก่ง พอกิเลสเกิดก็สู้ไม่ไหวแล้ว ฉะนั้นเรื่องของสมาธิอย่างเดียวข่มกิเลสได้เป็นครั้งเป็นคราว บางทีพอกิเลสแรงขึ้นมาก็สู้มันไม่ได้เหมือนกัน
ตัวที่จะขุดรากถอนโคนกิเลสได้คือตัวปัญญา
ตัวที่จะขุดรากถอนโคนกิเลสได้คือตัวปัญญา ปัญญาคือการเห็นความจริง ปัญญาไม่ใช่เรื่องความเฉลียวฉลาดรอบรู้อะไร รู้ทฤษฎีฟิสิกส์ทุกสิ่งทุกอย่างอะไร ในทางศาสนาพุทธก็ไม่เรียกว่าปัญญา ปัญญาที่ดีก็เป็นปัญญาจากการทำวิปัสสนากรรมฐาน เรียกวิปัสสนาปัญญา การเห็นความจริงของกาย การเห็นความจริงของจิตใจไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็เห็นขันธ์ 5 รูปคือร่างกาย เวทนา ความสุขทุกข์ สัญญา ความจำได้หมายรู้ สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงไม่ดีไม่ชั่ว วิญญาณก็คือจิต คือความรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขันธ์ 5 ทั้งหมดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่างนี้เป็นปัญญาสำคัญ ถ้าฝึกอย่างนี้แล้ว ต่อไปเข้าสู่โลกุตตระ พ้นทุกข์ได้
ถ้าจิตเราภาวนาไปเรื่อย เราภาวนา จิตมันเห็นถ่องแท้ กายนี้คือตัวทุกข์ จิตก็จะหมดความถือมั่นในกาย จิตหมดความถือมั่นในกาย สมมติยังหนุ่มๆ อยู่อย่างนี้ ฮอร์โมนเพศมันยังทำงานต่อเนื่องอยู่ช่วงหนึ่งทั้งๆ ที่ได้ธรรมะขั้นที่สามแล้ว บางทีความรู้สึกของราคะก็ผ่านมา แต่จิตมันเห็นแล้ว ว่ากายนี้ไม่มีสาระแก่นสารอะไร
ในส่วนของจิต จิตมันมีปัญญาหยั่งรู้อย่างหนึ่ง จิตอยาก จิตยึด จิตทุกข์ จิตไม่อยาก จิตไม่ยึด จิตไม่ทุกข์ จะเห็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเวลาราคะเกิด แล้วจิตทะยานไปตามราคะ มันเห็นว่าทุกข์เกิดขึ้น พอเห็นทุกข์เกิดขึ้นปุ๊บ ราคะนั้นถล่มทลายไปทันทีเลย ไม่สามารถทำงานต่อไปได้ จิตก็พ้นจากราคะไป มันแค่ไหวแวบมา แล้วก็ขาดสะบั้นออกไป แต่ถ้าบอกว่าพอจิตมีราคะเกิดขึ้น เราพิจารณาปฏิกูลอสุภะแล้วราคะหายไป อันนี้ยังไม่ใช่ของจริง อันนั้นเป็นสมถกรรมฐาน
ถ้าเป็นของจริง เพราะว่าราคะมันเกิด ตั้งอยู่ไม่ได้ ราคะ กามราคะ มันตั้งอยู่ที่ไหน ก็ตั้งอยู่ที่กายนี้ สิ่งที่เรียกว่ากายคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ราคะ กามราคะถ้าจะตั้งก็ตั้งอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ถ้าสติปัญญามันแก่รอบ มันไม่ยึดตา หู จมูก ลิ้น กาย ราคะก็ไม่มีที่ตั้ง ไหวสะเทือนขึ้นมา เพราะฮอร์โมนเพศมันผลักดัน ก็ดับทันทีเลย ไม่ต้องพิจารณาอสุภะอะไรหรอก ถ้ายังต้องมีอุบายไปแก้จิตอะไร แสดงว่ายังไม่ขาดจริง ยังต้องนั่งแก้จิตอยู่ ถ้าขาดจริง ไม่ต้องนั่งแก้แล้ว อะไรไหวขึ้นมาก็ขาดสะบั้นตรงนั้นไปเลย
เพราะฉะนั้นเวลาภาวนา ถ้าเราเดินมาทางกาย เราจะเห็นว่ากายนี้เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วมันก็วางกาย ถ้าเราเดินทางจิต ดูจิตมาเรื่อยๆ พอถึงจุดตรงนี้ มันจะเห็นว่าจิตอยาก จิตยึด จิตทุกข์ จิตไม่อยาก จิตไม่ยึด จิตไม่ทุกข์ เห็นอย่างนี้แล้วสภาวธรรม ผลที่ได้มาเสมอกันเหมือนกัน คือพ้นจากกามราคะและพ้นจากปฏิฆะเหมือนกัน ก็ไม่รู้จะโกรธทำไม พอโกรธแล้วจิตทุกข์ มันเห็นอย่างนี้ ก็ไม่เอาแล้ว
ถ้าเราได้ยินใครพูดว่า จิตอยาก จิตยึด จิตทุกข์ จิตไม่อยาก จิตไม่ยึด จิตไม่ทุกข์ อย่าเพิ่งอนุโมทนา อย่านึกว่าคนที่พูดอย่างนี้คือพระอรหันต์ เพราะจิตยังมี 2 อย่าง คือจิตที่ทุกข์กับจิตที่ไม่ทุกข์ อันนั้นยังไม่รู้แจ้งแทงตลอดในธรรมะ ถ้ารู้แจ้งแทงตลอดในธรรมะ จิตคือทุกข์ ไม่มีจิตที่ทุกข์กับจิตไม่ทุกข์ ไม่มีหรอก แต่ว่าธรรมะมันเป็นขั้นๆ ความรู้ความเข้าใจมันจะค่อยๆ พัฒนาแตกต่างกันออกไป
พวกเราเป็นฆราวาส หลวงพ่อแนะนำ ท่องไป พุทโธ ธัมโม สังโฆ อะไรก็ท่องไป เวลาราคะรุนแรงก็พิจารณาปฏิกูลอสุภะอะไรก็ทำไปเถอะ มันไม่ค่อยอันตรายอะไรเท่าไร แต่ตรงพิจารณาปฏิกูลอสุภะก็จะมีอันตรายอยู่ช่วงหนึ่ง ต้องระวัง เล่าให้ฟัง เผื่อพวกเราปฏิบัติห่างครูบาอาจารย์ ได้ยินหลวงพ่อบอกไว้จะได้เดินไม่อันตราย
อย่างพิจารณาปฏิกูลอสุภะ บางทีเห็นอะไรน่ากลัว เห็นตัวเองเน่าขึ้นมา เหมือนเห็นผีอะไรอย่างนี้ ตกใจ ถ้าเวลาตกใจให้รู้ นั่นคือนิมิต ให้ย้อนกลับมาที่จิตตนเอง จิตตกใจให้รู้ว่าตกใจ จำตรงนี้ไว้ จิตตกใจให้รู้ว่าตกใจ หรือเรานั่งสมาธิแล้วแสงสว่างเกิด แล้วจิตไปเห็นเทวดา จิตดีใจ ให้รู้ว่าดีใจ อย่าทิ้งจิตตัวเอง ถ้าปฏิบัติแล้วทิ้งจิตตัวเอง อันตรายที่สุดเลย มันบ้าเอาง่ายๆ เลย เพราะฉะนั้นเราอย่าทิ้งจิตตนเองแล้วไม่พลาดหรอก
ฉะนั้นทานต้องรู้จักทำอย่างฉลาด ทำแล้วอย่าให้เศร้าหมองทีหลัง ศีล ต้องรู้จักรักษา ตั้งใจงดเว้นบาปอกุศลให้พอดีกับสถานะของเรา จะถือศีล 8 ก็ถือเป็นคราวๆ ไปถือตลอดเวลาอันตราย อยู่กับโลกลำบาก แล้วก็ภาวนา เอาภาวนาแบบที่ไม่ค่อยอันตราย อย่างพุทโธ ธัมโม สังโฆอะไร บริกรรมไปเรื่อยๆ ก็ไม่มีอันตราย มันไม่มีนิมิตอะไร
หรือเจริญเมตตา เจริญเมตตาเข้าถึงอัปปนาสมาธิได้ แต่ไม่ผ่านปฏิภาคนิมิต อย่างเราเจริญเมตตาในใจเรา เบื้องต้นอาจจะบริกรรม เมตตา คุณณัง อะระหัง เมตตา เมตตา คุณณัง อะระหัง เมตตา บริกรรมไป แล้วจิตมันรวมลงไป มันไม่ผ่านแสงสว่าง มันพาสเข้าอรูปฌานไปเลย ก็ทำได้ถึงอรูปฌานชั้นที่สามๆ ขึ้นไปถึงโน่นได้ ก็ไม่ค่อยอันตราย อันตรายมันจะมาทีหลัง ก็ต้องระวังอีก
จับหลักให้แม่น ย้อนกลับมาที่จิตตัวเอง
กรรมฐาน เหมือนเดินบนปากเหว ถ้าเดินตามรอยเท้าครูบาอาจารย์ไป ท่านเดินไต่ขอบเหวไป ท่านไต่มุมนี้เราไต่ตาม ก็ค่อนข้างปลอดภัย ถ้าไม่มีคนไต่นำ เราไต่ โอกาสพลาดมันก็มี ต้องระมัดระวัง หลวงพ่อถึงพยายามสอนจุดที่ผิดๆ ต้องระวัง ทำสมาธิจุดที่ผิดทั้งหลาย คือเรื่องนิมิต นิมิตมีทั้งนิมิตที่เป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นสัมผัสทางกาย หรือนิมิตเป็นความรับรู้ทางใจ มีได้ 6 อายตนะเลย นิมิตที่เกิด
นิมิตเป็นรูปก็มี หลวงพ่อเคยเจอ ตอนนั้นบวชอยู่วัดชลประทานฯ ก็ขยัน ภาวนา นั่งสมาธิ ที่วัดตอนนั้นเขาสอน พองหนอ ยุบหนอ หลวงพ่อไม่เอา หลวงพ่อทำสมาธิที่เราคุ้นเคย หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ก็นั่งไปเรื่อย ทนมาก ปวดก็ทนเอาๆ พอปวดมาก ก็คลายจากนั่งขัดสมาธิ ก็เหยียดขาออกไป หลังก็พิงผนังหน่อย ผ่อนคลายอิริยาบถหน่อย ก็นิมิตเห็นคนหนึ่งเดินเข้ามาหา มาถึงก็ยกมือไหว้ แล้วเขาก็นวดขาให้ รู้สึก ตอนนั้นหลับตาทำสมาธิอยู่ รู้สึกว่าถูกนวด กดลงไป เหมือนนิ้วโป้งกด ลืมตาขึ้นมาดู เห็นขายุบลงไป เป็นรอยนิ้วเลย ยุบลงไป เขากดอยู่ประมาณ 40 วินาที พอปล่อยปุ๊บ ขาที่เป็นเหน็บอยู่ หายทันทีเลย เราก็ เอ๊ะ อะไรวะ เทวดามานวดให้หรือ แต่ไม่สนใจ ก็ถือว่าอันนี้คือนิมิตอันหนึ่ง
นิมิตเป็นรูปก็มี กระทบทางร่างกาย นั่งๆ อยู่ ร้อนวูบมา เย็นวูบมา นั่งอยู่เหมือนลมพัด นั่งอยู่เหมือนมดมาไต่ตัวอะไร นี่นิมิตทั้งหมดเลย อย่างนั่งสมาธิแล้วคันยิบยับเหมือนมดมาไต่อะไรนี่ ส่วนมากเป็นเศษกรรมจากปานาติบาตที่เคยทำมา เป็นเศษเล็กๆ น้อยๆ เศษใหญ่ๆ รับไปแล้ว ตัวใหญ่ เหลือแต่เศษๆ นิมิตเป็นรูปก็มี เป็นเสียงก็มี ได้ยินเสียง เสียงจริงก็มี เสียงปลอมก็มี ถ้าจิตเรายังกิเลสเยอะ อย่าเชื่อ เสียงปลอมมันเยอะกว่าเสียงจริง ถ้ากิเลสเราเบาบาง เสียงจริงมันก็เยอะกว่าเสียงปลอม ถ้าไม่มีกิเลสก็เหลือแต่เสียงจริงๆ จิตไม่หลอน
นิมิตเป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น นั่งๆ อยู่ก็ได้กลิ่นดอกไม้ อาบน้ำอยู่จากฝักบัว มันกลายเป็นน้ำหอมออกมาอย่างนี้ รู้สึกหอมฟุ้งไปหมดเลย อย่างนี้ก็นิมิต หรือนั่งๆ อยู่ก็ได้กลิ่นซากศพ ตัวเอง เหม็นตัวเองเหมือนซากศพ หรือได้กลิ่นเหม็นมาจากข้างนอก อันนี้ก็นิมิต นิมิตกลิ่น นิมิตรสก็มี อย่างอาหารที่เรากินแต่ละคำ บางทีมันมีนิมิตรสขึ้นมา โอ๊ย อันนี้อร่อยพิเศษเลย อร่อย ตำราเขาก็พูดถึง แหม รสทิพย์ พวกเทวดาเอารสทิพย์มาใส่ เราเคยได้ยินอย่างนั้น เราก็นึก นี่มีรสทิพย์ ที่แท้แค่โรดทริป หลงอยู่ข้างถนนโน่น ออกนอกลู่นอกทาง ฉะนั้นนิมิตเป็นรสก็มี ของธรรมดา อร่อยเลยก็ได้
นิมิตรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย นิมิตที่เกิดทางใจ คือเห็นโน่นเห็นนี่ รู้โน่นรู้นี่ อย่าเชื่อ ถือหลักไว้ก่อน อย่าเชื่อ ถึงมันเป็นความจริง มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร แล้วส่วนใหญ่มันไม่ค่อยจริงหรอก อย่างนิมิตว่าคนนี้เคยเป็นเมียเรามาแต่ชาติปางก่อนอะไรนี่ นี่กิเลสหลอกแสนสาหัส พังไปเยอะแล้วนักปฏิบัติ คนนี้เคยเป็นเมียเรา คนนี้เป็นลูกเรา คนนั้นเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ รู้หมดเลย ล้วนแต่ญาติวงศ์พงศาทั้งนั้นเลย ถ้าคนไหนเราไม่ชอบ คนนี้เป็นศัตรูเราแต่ชาติปางก่อน จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ จิตหลอนได้ง่ายๆ เลย
เพราะฉะนั้นนิมิตทั้งหลายอย่าไปเชื่อมัน ให้ย้อนกลับมาที่จิตเวลานิมิตเกิด จับหลักให้แม่น ย้อนกลับมาที่จิตตัวเอง อย่างรู้สึกมีรสอร่อยผิดปกติ อุ๊ย ดีใจ รู้ว่าดีใจ สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น รู้ว่าสงสัย ตัดเข้ามาที่จิตตัวเองแล้วจะปลอดภัย จำหลักได้ไหม ไปปฏิบัติถ้านิมิตใดๆ เกิด ไม่ต้องไปค้นคว้าว่าจริงหรือปลอม ให้ย้อนกลับมาที่จิตตนเอง นิมิตนั้นจะสลายไปหมดเลย เสื่อมสลายไปหมดเลย
อย่างเวลาเรานั่งสมาธิอยู่ แล้วเราเห็นเทวดามาเยอะแยะอย่างนี้ เราอย่ามัวไปดูเทวดา ย้อนมาที่จิต จิตสงสัยว่าจริงหรือปลอม พอเราเข้าถึงจิตแล้วกลับย้อนออกไปดู อันนี้เป็นศิลปะที่เราไม่แนะนำให้ฝึก แต่ว่ามันออกไปรู้
ถ้าเป็นนิมิตปลอม มันจะหายไปหมดแล้ว นิมิตปลอมจะดับหมด ในทันทีที่เราย้อนเข้ามาที่จิตตนเอง ฉะนั้นเวลานิมิตเกิด ย้อนมาที่จิตตนเองก่อน แล้วถ้าจะต้องการรู้ข้างนอก ค่อยกลับออกไปรู้ ถ้าเป็นของจริงก็ยังอยู่ ถ้าเป็นของเก๊ก็หายหมด แต่ว่าไม่มีสาระอะไร รู้ว่าเทวดาจริงๆ มา แล้วมันได้อะไร ได้มานะอัตตา กูใหญ่ กูเก่ง โหย เทวดายังมาไหว้กู มีแต่เรื่องกิเลส ฉะนั้นอย่าไปหลงนิมิต ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นให้ย้อนเข้าที่จิตตนเองไว้
ธรรมะไม่ปฏิบัติก็ไม่มีประโยชน์อะไร
สอนกว้างๆ เป็นหลักพื้นฐานที่สำคัญ ฉะนั้นพวกเราจะต้องเอาไปปฏิบัติ ธรรมะไม่ปฏิบัติก็ไม่มีประโยชน์อะไรหรอก เรียนอย่างเดียว ก็มีแต่กิเลสมากขึ้นๆ ช่วยอะไรตัวเองก็ไม่ได้ แล้วก็ระรานชาวบ้านได้ ไปรู้จักทำทาน ทำทานก็ไม่ใช่แค่จ่ายเงิน ทำทาน เช่น โกรธเขาก็อภัยทาน ไม่รู้จะโกรธทำไม โกรธแล้วจิตเราเศร้าหมอง ไม่โกรธ หรือเวลาเราโกรธใคร เราหัดมองเขาในมุมของเขาเอง ทำไมคนนี้มันร้ายอย่างนี้ ถ้าเรามอง โอ้ พื้นฐานเขาเป็นอย่างนี้ พื้นฐานเขาลำบากอย่างนั้นอย่างนี้ เขาขาด ชีวิตเขาขาดความอบอุ่นอย่างนี้ๆ พอเราเข้าใจเท่านั้น เราอภัยได้ทันทีเลย ไม่ต้องเจตนาเลย อภัยเอง อัตโนมัติ มีอภัยทาน อภัยแล้วประกอบด้วยปัญญาของตนเอง นี่เลิศเลย ได้บุญใหญ่ บุญใดประกอบด้วยสติ ประกอบด้วยปัญญา เป็นบุญใหญ่ บุญใดไม่มีสติปัญญากำกับไว้ เป็นบุญเล็กน้อย กะพร่องกะแพร่ง
จะรักษาศีล ก็ต้องรู้จักรักษาให้พอดี พอดีกับตัวเอง จะภาวนา ถ้าเราไม่มีครูบาอาจารย์อยู่ใกล้ตัว อาศัยหลักที่เราได้ยินได้ฟัง เอาตัวให้รอด ภาวนาหากรรมฐานสักอย่างหนึ่งเป็นเครื่องอยู่ของจิต เครื่องระลึกของสติ เช่น พุทโธ ธัมโม สังโฆอะไร บริกรรมไปเรื่อยๆ แล้วจิตหนีไป ไปคิดเรื่องอื่น ลืมพุทโธ ธัมโม สังโฆ รู้ทันว่าจิตหนีไป พุทโธ ธัมโม สังโฆ แล้วจิตถลำลงไป จมลงไป รู้ว่าจิตจมลงไปแล้ว จิตมันก็จะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา พอฝึกมากเข้าๆ จิตจะมีกำลังขึ้นมา คราวนี้จะทำสมาธิอะไร จิตก็จะไม่หลงไม่ไหลง่ายๆ แล้ว เบื้องต้นก็ฝึกสมาธิที่ปลอดภัยเอาไว้ก่อน ถ้าอยู่ลำพัง ถ้ามีครูบาอาจารย์ ให้เราถามได้อะไรได้ มันก็ไปอีกแบบหนึ่ง แต่ว่ามันน่าหนักใจ ทุกวันนี้ไม่รู้จะถามใคร ปัญหามันอยู่ตรงนี้
เพราะฉะนั้นจับหลักให้แม่น ปลอดภัยที่สุด กัลยาณมิตร ไม่รู้ว่าใครเป็นกัลยาณมิตร สิ่งที่จะช่วยเราได้คือโยนิโสมนสิการ การแยบคายในการสังเกตตัวเอง ฉะนั้นนิมิตเกิดขึ้นก็แยบคาย ย้อนเข้ามาที่จิตตนเอง อย่าทิ้งจิตตนเอง แล้วจะไม่พลาด
กิเลสมันก็มีทุกคน มากบ้างน้อยบ้าง ก็ของที่เราสะสมมาเองนั่นล่ะ เราตามใจมันมาก มันก็มีกำลัง เราคอยรู้เท่าทันมัน เล่ห์กลมารยาของมัน มันก็อ่อนกำลัง วันนี้ล้มลุกคลุกคลาน ไม่เป็นไร ภาวนาไม่เลิก ปฏิบัติไม่เลิก เดี๋ยววันหนึ่งเราก็ชนะ ทำสงครามทีแรก กำลังยังน้อยก็ตีโฉบฉวยก่อน ยังไม่ตีเมืองหลวง ตีอ้อมๆ ไปก่อน สู้กิเลสตัวเล็กตัวน้อยไป จนกำลังเราเข้มแข็ง ก็เข้ามาทำลายกิเลสที่อยู่ในจิตผู้รู้ของเรา อันนั้นยากที่สุดแล้ว เราจะพบว่าหัวหน้าโจรไม่ได้อยู่ที่อื่น หัวหน้าโจรอยู่ในเมืองหลวง อยู่ในจิตเรานี้เอง ก็ค่อยๆ ตีอ้อมเข้ามา ตีมาจากของหยาบไปสู่ของละเอียด
การปฏิบัติฟังแล้วต้องทำ ไม่ทำก็ไม่ได้อะไรหรอก แล้วก็ไม่พัฒนาด้วย ถ้าปฏิบัติไปเรื่อยๆ จิตเราก็สูงขึ้นเรื่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ รู้สึกไหมจิตมันพัฒนาขึ้น เห็นไหม มันต้องอย่างนี้ มีภารกิจก็ทำ หมดภารกิจที่จำเป็นแล้ว เหลือเรื่องไม่จำเป็น ไม่เอาแล้ว ย้อนกลับมาที่ตัวเองแล้ว มันก็จะไปต่อได้ ถ้าจิตใจเราฟุ้งซ่าน มีเรื่องโน้นเรื่องนี้ ฟุ้งซ่านวุ่นวาย ไม่จำเป็น เราก็เนิ่นช้า
มีธรรมะหมวดหนึ่ง ชื่อปปัญจธรรม คือธรรมะที่ทำให้เนิ่นช้า ตัณหา มานะ ทิฏฐิ 3 ตัว ทำให้เนิ่นช้า อยากโน้นอยากนี้ เนิ่นช้า มานะ อยากเด่น อยากดัง อยากใหญ่ ทิฏฐิ เจ้าความคิด เจ้าความเห็น ตัวนี้ 3 ตัวนี้ ใครมี 3 ตัว แค่ตัวใดตัวหนึ่งก็แย่แล้ว ถ้าผ่าน 3 ตัวนี้ได้ ตัณหา มานะ ทิฏฐิอะไรพวกนี้ ก็จะไปได้ราบรื่น
วัดสวนสันติธรรม
23 กรกฎาคม 2566