เข้าใจปฏิจจสมุปบาท

ก่อนที่หลวงพ่อจะเจอหลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่อก็นั่งสมาธิหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ กำหนดลมหายใจไปเรื่อยๆ ก็ได้แต่ความสงบไปต่อไม่เป็น ไปบวชอยู่กับหลวงพ่อปัญญา ไปได้คำว่าปฏิจจสมุปบาทมา ไปถามใครๆ ก็ไม่มีใครตอบ จะถามหลวงพ่อ หลวงพ่อท่านก็ไม่อยู่คนนิมนต์ท่านทุกวันเลย ก็ตั้งใจว่าจะต้องเรียนให้รู้จักปฏิจจสมุปบาทให้ได้ สึกมาก็ไปหาตำราเกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาท ได้คำอธิบายอวิชชาคือความไม่รู้อริยสัจ แยกละเอียดก็ไม่รู้ 8 อย่าง ไม่รู้ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ไม่รู้เหตุ ไม่รู้ผล ไม่รู้ความสัมพันธ์ของเหตุของผล ไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท

อวิชชาเป็นปัจจัยของสังขาร สังขารก็มีปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร สังขารเป็นปัจจัยของวิญญาณ เป็นปฏิสนธิวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยของนามรูป รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นามรูปเป็นปัจจัยของอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะเป็นปัจจัยของผัสสะ ผัสสะก็มี 6 อันกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วเกิดเวทนา เวทนามี 3 อัน สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ เวทนาทำให้เกิดตัณหา ตัณหามี 3 กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ไล่ๆๆ ไปเรื่อยๆ ถึงอุปาทาน ถึงภพ ถึงชาติ ถึงทุกข์ แต่ละอันๆ ก็แยกย่อย อุปาทานก็มี 4 อะไรอย่างนี้ อ่านจนจบ อ่านแล้วอ่านอีก ไม่เห็นความสัมพันธ์ความเชื่อมโยงระหว่างองค์ธรรมแต่ละตัวๆ รู้สึกแล้วเราจะภาวนาอย่างไร ดูลงมาเท่าไรๆ คลำหาทางไม่เจอ รู้แต่ตำราว่าอันนี้เป็นปัจจัยของอันนี้ๆ แต่ละอย่างเป็นอย่างไร มีจำนวนเท่าไร ก็คลำทางปฏิบัติจริงๆ ไม่ได้ ผ่านมาหลายปีถึงเจอหลวงปู่ดูลย์ ไปหาท่านไม่ได้ไปบอกท่านว่าจะเรียนให้เข้าใจอริยสัจ ปฏิจจสมุปบาท ไม่ได้คิดถึงเลย ถามท่านแค่ว่า “ผมอยากปฏิบัติ” ท่านก็พิจารณา ท่านก็สอนให้ไปดูจิตเอา ตรงไปดูจิตมันเหมือนเราได้กุญแจของการปฏิบัติ

 

“เริ่มที่จิต รู้อยู่ที่จิต เข้าใจความเป็นจริง ละลงที่จิต”

 

อ่านพระไตรปิฎกก็เยอะแยะ อ่านตำรับตำราก็เยอะแต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ไม่รู้จะเริ่มที่ไหน ไปได้คำว่าจิตจากหลวงปู่ดูลย์ โอ้ เริ่มที่จิตนั่นเอง เริ่มที่จิต รู้อยู่ที่จิต เข้าใจความเป็นจริง ละลงที่จิต ดูจิตไปๆ แล้วสิ่งที่เข้าใจขึ้นมาคืออริยสัจ นึกถึงที่หลวงปู่สอนบอก “จิตส่งออกนอกเป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอกเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค ผลที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นนิโรธ” ท่านสอนอย่างนี้ จิตที่ส่งออกนอกเป็นอย่างไร ค่อยๆ ภาวนาแล้วเห็นเอง เราจะเห็นเลยจิตเราเดี๋ยวก็ออกไปรับอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แล้วก็ไปรับอารมณ์ทางใจ พอจิตมันไปรับอารมณ์แล้ว สติ สมาธิ ปัญญาไม่ทัน ก็เกิดความอยาก เกิดความยึดถือ เกิดความปรุงแต่ง แล้วเกิดการหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา เอาไปใช้งาน แล้วความเป็นตัวตนมันก็เกิดขึ้น ความทุกข์มันก็เกิดขึ้น

ค่อยๆ สังเกต ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ไป เป็นลำดับๆ เฝ้ารู้เฝ้าดูเราจะเห็นว่า จิตเราออกไปรับอารมณ์ทั้งวัน เดี๋ยวก็ดูรูป เดี๋ยวก็ฟังเสียง เดี๋ยวก็ดมกลิ่น เดี๋ยวก็ลิ้มรส เดี๋ยวก็รู้สัมผัสทางกาย เดี๋ยวคิดนึกทางใจ เดี๋ยวไปทำกรรมฐานก็ไปเพ่งทางใจ จิตมันออกรับอารมณ์ทั้งวัน จะไม่ให้มันรับอารมณ์ได้ไหม ไม่ได้ หลวงปู่ดูลย์ท่านก็บอก จิตมีธรรมชาติส่งออกนอก คือต้องออกไปรู้อารมณ์ พอส่งออกนอกแล้วเราไม่มีสติ จิตมันก็ปรุงแต่งไปตามอนุสัยกิเลสทั้งหลายของเรา ก็สร้างภพสร้างชาติสร้างทุกข์ขึ้นมา เราเห็นว่าจิตทีแรกก็คิดว่าจิตมันส่ง จิตมีดวงเดียวอยู่ตรงกลาง เดี๋ยวก็วิ่งไปทางตา เดี๋ยวก็วิ่งไปทางหู วิ่งไปแล้วก็วิ่งกลับ วิ่งไปแล้วก็วิ่งกลับทางโน้นทางนี้ หัดใหม่ๆ ไปเห็นอย่างนั้น ดูไปเรื่อยๆ มันไม่ใช่ ตรงที่จิตมันวิ่งไปวิ่งมา ก็สงสัย เอ๊ะ เราควรจะเอาจิตไปไว้ที่ไหนดี ไปกราบหลวงปู่ถามหลวงปู่ “หลวงปู่ครับ จิตมันอยู่ที่ไหน” ตอนนั้นคิดว่าจิตมันอยู่กลางอก เห็นมันทำงานขึ้นมา กลางอก มันหมุนขึ้นมา กุศล อกุศลอะไรมันก็ผุดจากกลางอกนี่เอง เลยคิดว่าจิตอยู่กลางหน้าอกนี่ วัฏฏะมันก็หมุนๆ อยู่ตรงนี้ หลวงปู่บอกว่า “จิตไม่มีที่ตั้ง”

คราวนี้ยิ่งหนักกว่าเก่าอีก จิตไม่มีที่ตั้ง เราจะเอาจิตไปตั้งที่ไหน ท่านบอกไม่มีที่ตั้ง ก็เลยตามรู้ตามดูเรื่อยๆ ตอนหลังก็เห็นที่จริงแล้วจิตมันเกิดที่ไหนมันก็ดับที่นั่น จิตเกิดที่ตาก็ดับลงที่ตา จิตเกิดที่หูก็ดับลงที่หู จิตเกิดที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย เกิดตรงไหนก็ดับตรงนั้น จิตเกิดทางใจก็ดับลงที่ใจ ฉะนั้นจริงๆ แล้วจิตนั้นเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ดวงหนึ่งเกิดขึ้นดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน ระหว่างจิตดวงหนึ่งกับจิตอีกดวงหนึ่ง มีช่องว่างเล็กๆ มาคั่นอยู่ มันทำให้เห็นว่าจิตไม่ได้มีดวงเดียว แต่มันเกิดดับๆ อย่างรวดเร็ว ตรงที่เราเห็นว่ามันมีช่องว่างมาคั่น มันทำให้เห็นว่า จิตดวงหนึ่งกับจิตอีกดวงหนึ่ง มันคนละดวงกัน มีช่องว่างมาคั่นอยู่

 

จุดสำคัญคือความมีสติ

เฝ้ารู้เฝ้าดูมันก็เข้าใจจิตมากขึ้นๆ เราก็เห็นจิตมันไปเกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดที่ไหนดับที่นั้น แต่เกิดแล้วบางทีสติไม่เกิด สติไม่เกิดจิตหลงไปรู้รูปมันก็หลงรูป แล้วก็ต่อด้วยหลงคิดเรื่องรูป จิตไปเกิดทางหูไปได้ยินเสียง มันก็หลงไปตามเสียง แล้วก็หลงไปในความคิดเกี่ยวกับเสียงอันนั้น มันมีความหลงซ้อนๆๆ ไปเรื่อยๆ เฝ้ารู้เฝ้าดูไปนานๆ ก็ค่อยเข้าใจขึ้นมา จิตออกรับอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เป็นไร เป็นธรรมชาติที่จิตจะต้องเป็นอย่างนั้น จุดสำคัญคือความมีสติต่างหาก ถ้าเราไม่มีสติ จิตส่งออกไปแล้วเราไม่มีสติ มันจะปรุงความอยากปรุงความยึดขึ้นมา แต่ถ้ามันส่งออกไปแล้วมันกระทบอารมณ์แล้ว เรามีสติรู้เท่าทันตัวเองอยู่ มีสมาธิ มีจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวอยู่ จิตนี้ไม่ไปหลงปรุงแต่ง เห็นความคิดนึกปรุงแต่งเกิดขึ้น แต่จิตไม่ไปหลงอยู่ในโลกของความปรุงแต่ง จิตถอดถอนตัวเองออกจากโลกของความปรุงแต่ง เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นแค่ผู้เห็น ก็เห็นรูปเกิดแล้วรูปก็ดับ จิตที่ไปรู้รูปเกิดแล้วก็ดับ เวลามี ผัสสะการกระทบทางหูได้ยินเสียง แล้วก็เห็นเสียงเกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไปรู้เสียงเกิดแล้วก็ดับ

ฉะนั้นไม่ว่าอายตนะภายในคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายนอกคือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ หรือจิตที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ความรับรู้ทั้ง 6 ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เกิดแล้วก็ดับ ภาวนาไปเรื่อยๆ แล้วก็เห็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์เกิดแล้วก็ดับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเกิดแล้วก็ดับ วิญญาณคือจิตที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดแล้วก็ดับ ผัสสะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดแล้วก็ดับ เวทนาที่เนื่องมาจากการกระทบ เวทนาทั้งหลายทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เกิดแล้วก็ดับอีก ดูลงไปองค์ธรรมทั้งหลายค่อยแจ่มชัดขึ้นเป็นลำดับๆ ทีแรกมันไม่ได้แตกละเอียดอย่างที่หลวงพ่อเล่านี้หรอก เราก็เห็นแค่ว่าจิตเดี๋ยวก็รู้ เดี๋ยวมันก็หลง เดี๋ยวมันก็โกรธ เดี๋ยวมันก็ไม่โกรธ

เฝ้ารู้เฝ้าดูง่ายๆ อย่างนี้ แล้วความรู้ถูกความเข้าใจถูกมันก็เกิดขึ้นเอง ผัสสะเกิดแล้วก็ดับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันเกิดดับอย่างไร เราเห็นตาก็มีอยู่ตั้งแต่เกิดจนตาย แล้วตาไม่เห็นมันจะดับ จริงๆ แล้วมันไม่ได้ทำงานตลอดเวลา ตาเห็นรูปมันเห็นชั่วขณะเท่านั้นเองแล้วมันก็ดับ ประสาทตานั้นที่ว่าดับคือมันไม่ทำงาน ประสาทหูกระทบเสียงแป๊บเดียวก็ดับ มันไม่ทำงาน คือจิตมันหยิบฉวยเอาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมาเป็นช็อตสั้นๆ ช็อตสั้นๆ มันหยิบขึ้นมา ตรงมันหยิบตาขึ้นมาตรงนั้นเรียกว่าชาติ ความเกิด หยิบหูขึ้นมาก็เป็นความเกิด การที่จิตมันไปหยิบฉวยอายตนะขึ้นมาคือความเกิด คือตัวคำว่าชาติ ก่อนที่มันจะเกิดชาติ มันเกิดภพคือความปรุงแต่งของจิตขึ้นก่อน ก่อนจะเกิดภพมันมีอุปาทานความยึดถือเกิดขึ้น ก่อนจะมีอุปาทานมันมีความอยากเกิดขึ้น ก่อนที่จะมีความอยากเกิดขึ้นมันมีความรู้สึกสุขทุกข์เกิดขึ้น ก่อนจะมีความรู้สึกสุขทุกข์เกิดขึ้น มันมีผัสสะการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

เฝ้ารู้เฝ้าดู ก็ดูมาง่ายๆ เริ่มต้นก็แค่เห็นจิตเดี๋ยวก็รู้ เดี๋ยวก็หลง เดี๋ยวก็รู้ เดี๋ยวก็หลง เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็ไม่โกรธ เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็ไม่โลภ เดี๋ยวก็หลง เดี๋ยวก็ไม่หลง เริ่มต้นหัดแค่นี้เอง แล้วความรู้ความเข้าใจมันค่อยแจ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งมันจะเห็น สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นแล้วดับไปทั้งสิ้น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดแล้วก็ดับ ตรงที่มันดับคือเราปิดการใช้งาน ไม่ได้ใช้งาน มีตาลืมตาอยู่นี่ล่ะแต่ไม่มีจิตเกิดขึ้นที่ตา ตาก็ไม่เห็นรูป ผัสสะไม่มี สิ่งที่เรียกว่าผัสสะนั้นก็คือมีตา มีรูป มีวิญญาณทางตา มีความใส่ใจที่จะสนใจ แล้วจะเกิดการเห็นรูปขึ้นมา เฝ้ารู้เฝ้าดูก็จะเห็น สุดท้ายจิตมันก็สรุปได้ “สิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา” รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สิ่งใดเกิดสิ่งนั้นก็ดับ เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป ตรงที่เราเห็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ความรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างละ 6 – 6 – 6 (6 คูณ 3 = 18) ตัวนี้มีชื่อเรียกว่าธาตุ ธาตุ 18

เราภาวนาไปเรื่อยๆ เราก็เห็น ถ้าเราเห็นน้อยหน่อยก็เห็นอายตนะ 6 เห็นขันธ์ 5 เห็นละเอียดขึ้นไปมันก็เป็นธาตุ 18 ต่อไปก็เห็นไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันก็จะเห็นปฏิจจสมุปบาทจนได้ เพราะกระบวนการที่มันทำงานนั่นล่ะเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท สิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี สิ่งนี้ไม่มีสิ่งนี้ไม่มี เกิดดับสืบเนื่องกันไปเรื่อยๆ เฝ้ารู้เฝ้าดู เวลาเราดูจิตดูใจ ไม่ใช่อยู่ๆ ก็นึกอยากดูก็ดู จิตไม่มีรูปร่าง จิตไม่มีตัวตน จิตเป็นอรูป เราจะเห็นจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปได้ เราไปเห็นตัวมันตรงๆ ไม่ได้เพราะมันไม่มี มันไม่มีตัวตนให้ดู ไม่มีรูปลักษณ์อะไรเลย มันเป็นแค่ความรู้สึกความรับรู้อารมณ์เท่านั้นเอง

 

 

เราจะเห็นว่าจิตดวงนี้กับจิตดวงนี้เป็นคนละดวงกันได้ เราก็จะต้องอาศัยสิ่งที่มาประกอบกับจิต เช่นจิตดวงนี้มีความสุข จิตที่มีความสุขมันมีกิริยาอาการไม่เหมือนจิตที่มีความทุกข์ จิตที่มีความสุขความทุกข์ก็ไม่เหมือนจิตที่เฉยๆ ก็ค่อยๆ เห็นแล้วมันจะรู้ว่าจิตแต่ละดวงๆ มันเกิดแล้วดับไป จิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ จิตดีจิตชั่วก็เหมือนกัน จิตเป็นกุศลเกิดแล้วก็ดับ จิตโลภ โกรธ หลง จิตโลภเกิดแล้วก็ดับ จิตโกรธเกิดแล้วก็ดับ จิตหลงเกิดแล้วดับ อาศัยสิ่งที่เกิดร่วมกับจิตที่มันเปลี่ยนไป อย่างความสุขเกิดขึ้นแล้วมันเปลี่ยนไป กลายเป็นเฉยๆ หรือกลายเป็นทุกข์ มันทำให้เห็นว่าจิตที่เกิดร่วมกับองค์ธรรมที่มาร่วมกัน เรียกว่าเจตสิก จิต กับเจตสิกมันเกิดด้วยกันดับด้วยกัน เกิดพร้อมกันดับพร้อมกันอยู่อย่างนั้น มันก็เลยเห็นว่า โอ้ จิตมันเกิดดับ เพราะมันแสดงออกมาทางเจตสิกที่เกิดร่วม

จิตที่สุขเกิดแล้วดับเพราะอะไร เพราะว่าความสุขเกิดแล้วมันดับ จิตที่มีความสุขมันก็เลยเกิดแล้วก็ดับไปพร้อมๆ กัน จิตทุกข์เกิดแล้วก็ดับ เพราะว่าความทุกข์มันเกิดแล้วดับเหมือนกัน เกิดพร้อมกันแล้วก็ดับพร้อมกัน เฝ้ารู้ลงไปเรื่อยในที่สุดก็เห็นว่า จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ พอเราเห็นว่าจิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ จิตสุข จิตทุกข์ จิตเฉยๆ เกิดแล้วก็ดับเหมือนกัน จิตที่เป็นกุศล หรือจิตที่เป็นอกุศลทุกๆ ชนิดเกิดแล้วก็ดับเหมือนกัน จิตที่ดูรูป จิตที่ไปฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส รู้สัมผัสทางกาย รู้การกระทบธรรมารมณ์ทางใจ เกิดแล้วก็ดับเหมือนกัน สุดท้ายเราก็จะเห็นจิตทั้งหมดเกิดแล้วดับ ตรงนี้เรียกว่าเราเห็นอนิจจังแล้ว มันเกิดแล้วมันดับ เกิดแล้วดับซ้ำๆๆ ไป ถึงจุดหนึ่งจิตมันปิ๊งขึ้นมา ตรงที่มันปิ๊งขึ้นมาคือมันเข้าใจขึ้นมา จิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา ตัวเราไม่มี มันมีแต่ของที่เกิดแล้วดับ สิ่งที่นึกว่าเป็นตัวเรามีแน่นอน มีถาวร มันไม่ได้มีจริงหรอก มันมีแต่ว่าสิ่งบางสิ่งเกิดขึ้น แล้วสิ่งนั้นทั้งหมดดับไป จะเห็นอย่างนี้

เพราะฉะนั้นที่อ่านพระไตรปิฎกมา ที่อ่านตำรับตำรามา อ่านอย่างไรมันก็ไม่เข้าใจ ต้องลองภาวนาลงมือภาวนา เอาเป็นเอาตายเลยสู้ตายจริงๆ ดูแล้วดูอีกทุกวันๆ มันถึงจะเข้าใจได้ ธรรมะเข้าใจไม่ได้ด้วยการท่อง ด้วยการอ่าน ด้วยการฟัง อย่างเรื่องอริยสัจ สมัยหลวงพ่อมันมีวิชาศีลธรรม ยุคนี้ได้ข่าวว่าไม่มีแล้ว หรือมีก็ไม่รู้ ไม่รู้ว่าเด็กเขาเรียนอะไรกัน ยุคหลวงพ่อมีวิชาศีลธรรม แล้วก็มีการสอนเรื่องอริยสัจ 4 ด้วย ทุกข์คืออะไร ทุกข์คือความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย นี่คือตัวทุกข์ สมุทัยคือตัวความอยาก คือตัณหา เรียนกันเด็กๆ ก็เรียนอย่างนี้ นิโรธคือตาย แหม อยากเขกกบาลคนแต่งตำรายุคนั้นจริงๆ นิโรธคือตาย นิพพานคือตาย มรรคมีองค์ 8 อย่าง อ่านแล้วก็ไม่รู้เรื่องเลยก็คิดว่ารู้อริยสัจแล้ว เพราะจำไว้แล้วก็ไปสอบ สอบได้ด้วย สอบได้คะแนนดีเลย คิดว่าทุกข์คือเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์

ตอนโตแล้วมาบวชอยู่วัดชลประทานฯ ก็เรียนละเอียดขึ้น สิ่งที่เรียกว่าทุกข์มันก็คืออุปาทานขันธ์ทั้ง 5 คือตัวทุกข์ ขันธ์ที่เป็นที่ตั้งของความยึดมั่นได้คือตัวทุกข์ ก็เรียนละเอียดขึ้นหน่อย ก็คิดว่าเรารู้จักอริยสัจแล้ว ขันธ์ที่เราไปยึดมั่นมันทุกข์ ฉะนั้นขันธ์ที่เราไม่ยึดมั่นมันไม่ทุกข์ ก็คิดอย่างนี้ มาภาวนาอยู่นาน มันเข้าใจเป็นอีกแบบหนึ่ง ก็ขันธ์นั่นล่ะตัวทุกข์ เราจะยึดหรือเราจะไม่ยึด ขันธ์อย่างไรก็ทุกข์นั่นล่ะ ถ้าเรายังมีขันธ์ที่ไม่ทุกข์ มันก็ยังยึดขันธ์ที่ไม่ทุกข์อยู่อีก ฉะนั้นบางทีเรียนๆ ท่องๆ ไว้ แล้วพอเราภาวนาพัฒนาขึ้น สิ่งที่นึกว่าเข้าใจมันไม่เข้าใจ อย่างพอมาเรียนเรื่องจิตก็เข้าใจว่า โห จิตนี่ถ้ามันขาดสติ มันไปยึดอารมณ์มันถึงจะทุกข์ ถ้าจิตไม่หลง จิตมีสติ มีความตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอยู่ เป็นจิตผู้รู้อยู่ ตัวนี้ไม่ทุกข์ ฉะนั้นจิตมี 2 ตัว จิตที่ทุกข์คือจิตที่เข้าไปเสพอารมณ์ จิตที่ไม่ทุกข์คือจิตที่รู้อารมณ์แล้วก็ไม่เข้าไปเสพ เห็นอย่างนี้ ค่อยภาวนาไปวันหนึ่งก็พบอีกว่าไม่ใช่หรอก จิตผู้รู้เองก็ยังทุกข์อยู่ คือตัวทุกข์ที่ยิ่งกว่าทุกข์อื่นๆ ด้วย

ค่อยภาวนาค่อยเห็น ในที่สุดก็รู้เลย จิต กระทั่งจิตที่ดีที่สุดวิเศษที่สุด จิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ประกอบด้วยสติ ประกอบด้วยสมาธิ ประกอบด้วยปัญญา ก็ยังเอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ เราไม่มีที่พึ่งที่อาศัยเลย ในขันธ์ 5 นี้จะเอาอะไรมาเป็นที่พึ่งที่อาศัย หาไม่ได้ ไม่มี ค่อยๆ ฝึก แล้ววันหนึ่งก็จะเข้าใจ หลวงพ่อบอกเหมือนกางแผนที่ให้เราดูเท่านั้นเอง เราจะต้องเดินไปตามเส้นทาง

 

จิตละเอียดเกินไป ดูไม่เห็นก็ไปดูกายเสียก่อน

ถ้าเราเรียนเข้ามาถึงจิตถึงใจได้ ก็จะไปได้รวดเร็วหน่อย แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเรียนเข้ามาที่จิตตรงๆ ได้ คนจำนวนหนึ่งก็ต้องไปผ่านของที่หยาบกว่านั้น จิตมันละเอียดเกิน ดูไม่เห็นก็ไปดูกายเสียก่อน อย่างในวัดนี้พระจำนวนหลายองค์ ดูกายไม่ใช่ดูจิต บางองค์หลวงพ่อบอกอย่าดูจิต ดูจิตแล้วกำลังไม่พอ สติ สมาธิอะไรมันไหลออกข้างนอกหมดเลย จิตผู้รู้มันดับไปมันเป็นจิตผู้ไปหลงอยู่ในความว่าง ความสว่างอะไรข้างนอก หรือเคลิ้มๆ ไปนั้นใช้ไม่ได้หรอก

ฉะนั้นถ้าเราดูจิตดูใจไม่ออกดูกายไป ไม่ได้เสียหายอะไร รู้สึกร่างกายไป การดูกายก็ได้สมาธิ แล้วการดูกายให้เกิดปัญญาก็ทำได้ อย่างถ้าเราเห็นกายมันเป็นแค่ก้อนธาตุ มันเห็นกายมันเป็นวัตถุธาตุ นั่นคือการเจริญปัญญา แต่ถ้าเราไปเพ่งตัววัตถุอยู่เฉยๆ เป็นสมาธิ เป็นสมถะ อย่างที่หลวงพ่อเคยเล่าให้ฟัง ที่หลวงพ่อไปวัดป่าสาลวันจะไปกราบหลวงพ่อพุธ แล้วเข้าหลังวัดไปเจอขี้หมาเต็มไปหมดถนนเลย เกลื่อนไปหมดเลย ใจมันก็รังเกียจ ใจขยะแขยงขึ้นมา เสร็จแล้วสติ สมาธิ มันรวมตัวเข้ามา มันมองออกไปในกองขี้หมาเละๆ นั้น มันเห็นว่าสีมันก็อันหนึ่ง กลิ่นมันก็อันหนึ่ง ธาตุดินมันก็อันหนึ่ง ธาตุน้ำมันก็อันหนึ่ง ธาตุไฟ ธาตุลม มันก็คนละอันๆ มันแยกๆๆๆ ออกไป มันไปถึงตัวธาตุ มันไม่มีขี้หมา ไม่มีสะอาด ไม่มีสกปรก ฉะนั้นปฏิกูลอสุภะอะไรนี่ไม่ใช่ของจริง มันยังไม่ใช่ของจริง มันเป็นบัญญัติ ตัวที่เป็นของจริงคือตัวธาตุ เป็นธาตุ ธาตุดินมีสกปรกไหม ธาตุน้ำมีสกปรกไหม ไม่มี ตัวธาตุจริงๆ ล้วนๆ เฝ้ารู้เฝ้าดู ก็แยกๆๆ ออกไป

ฉะนั้นดูกายแล้วดูลงไปเลย ร่างกายมันก็แค่วัตถุธาตุเท่านั้นเอง ดูหยาบๆ ก็เห็นตัวนี้ทั้งตัวนี้เหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่ง ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา หุ่นยนต์ตัวนี้กำลังนั่ง กำลังยืน กำลังเดิน กำลังนอน หุ่นยนต์ตัวนี้หายใจออก หายใจเข้า หุ่นยนต์ตัวนี้เคลื่อนไหว หุ่นยนต์ตัวนี้หยุดนิ่ง หัดดูทีแรกดูอย่างนี้ก็ได้ ถ้าดูอย่างนี้เราจะเห็นตัววัตถุคือตัวร่างกายนี้ ถ้าเราเห็นตัววัตถุอย่างนี้ยังเป็นสมาธิอยู่ เป็นสมถะ ดูเรื่อยๆๆๆ ใจจะค่อยๆ สงบลงมา แต่ถ้าดูทะลุลงไปเห็น จริงๆ แล้วมันก็แค่ธาตุเท่านั้นเอง ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ที่มาประกอบกัน มารวมกันอยู่ชั่วคราว ด้วยกำลังของวิบากกรรม ด้วยชนกกรรม ให้รวมตัวนี้ขึ้นมา รูปร่างเป็นอย่างนี้ ดูเข้าใจมันก็วางเป็นลำดับไป บางคนภาวนาแล้วก็ดูร่างกาย เห็นมันเป็นปฏิกูลอสุภะแล้วก็บอกไม่ยึดถือร่างกาย ก็ไปเจอร่างกายที่ไม่มีปฏิกูลอสุภะแล้วจะทำอย่างไร ร่างกายที่ไม่มีปฏิกูล ไม่มีอสุภะ มีนะ พวกกายของเทพ ของพรหม ไม่มีเน่าไม่มีเหม็นอะไรอย่างนี้ ไม่เหมือนกายมนุษย์ กายสัตว์ กายผีเปรต สัตว์นรกอะไรพวกนี้ พวกนี้เหม็นสกปรก

ฉะนั้นบางทีพิจารณาปฏิกูล พิจารณาอสุภะ สิ่งที่ได้มาคือการข่มราคะลงไปชั่วครั้งชั่วคราว พอทำจนชำนาญมากๆ พิจารณาปฏิกูลอสุภะจนใจมันแน่วแน่ มันเชื่อเลยกายนี้มันเป็นปฏิกูลอสุภะจริงๆ กามราคะมันไม่เกิดนี้คิดว่าตรงนี้ได้พระอนาคามี เพราะว่าพิจารณาอสุภกรรมฐาน จริงๆ ไม่ใช่หรอก ถ้าดูให้ละเอียดลงไป มันไปได้เพราะการเห็นธาตุ เห็นขันธ์ เห็นไตรลักษณ์ ไม่ใช่เห็นอสุภะ เพราะว่ารูปบางอย่างไม่มีอสุภะ รูปของพวกเทพไปดูอย่างไรมันก็สวย มันก็ไม่น่าเกลียด รูปมนุษย์ต่างหากน่าเกลียด สกปรก เหม็น เหม็นมากรูปมนุษย์ เวลาสมาธิเราดีๆ คนเดินผ่านใกล้ๆ เรายังรู้สึกเหม็นเลย พวกเทพเคยไปทูลพระพุทธเจ้าว่า ร่างกายมนุษย์นี้เหม็น 100 โยชน์ แล้วทำไมพวกเทพเห็นอสุภะขนาดนั้น แล้วทำไมไม่บรรลุพระอนาคามี ก็มันกายคนอื่น มันไม่ใช่กายของตัวเอง ของตัวเองไม่มีอสุภะ

 

จะละได้ต้องเห็นไตรลักษณ์ จะวางได้ถาวรต้องเห็นอริยสัจ

 

ฉะนั้นถ้าพิจารณาปฏิกูลอสุภะเหมือนๆ เหมือนๆ ได้พระอนาคามี ไม่มีกาม แค่เหมือนๆ หรอก จะละได้จริงๆ ก็ต้องเห็นไตรลักษณ์ เห็นไตรลักษณ์ก็ค่อยๆ วาง วางแล้วก็หยิบๆ ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ในขั้นสุดท้าย อย่างวางจิตได้เห็นจิตเป็นไตรลักษณ์ก็วางจิต เดี๋ยวก็หยิบอีกแล้ว จะวางได้ถาวรต้องเห็นอริยสัจ มีเห็นหลายระดับ ตอนที่เราทำวิปัสสนาอยู่เราเห็นไตรลักษณ์ไหม เห็นจิตมันเกิดดับ เห็นรูปมันเกิดดับ เห็นจิตไม่ใช่ตัวเรา เห็นรูปไม่ใช่ตัวเรา เห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ กำลังถูกบีบคั้นให้หมดไปสิ้นไป เรียกเห็นทุกขตา เห็นทุกข์ สิ่งทั้งหลายก็ถูกบีบคั้นให้หมดไปสิ้นไป เห็นอย่างนี้ใจค่อยวางๆๆ แต่วางแล้วก็ยังหยิบได้อีกเป็นระดับๆ ไป ตรงที่มันวางขาดจริงๆ มันต้องเห็นอริยสัจ รู้แจ้งขันธ์ 5 นี้ไม่ใช่อื่นไกล ขันธ์ 5 นี้คือตัวทุกข์ เห็นอย่างนี้

อย่างตอนที่ภาวนาใหม่ๆ รู้สึกจิตผู้รู้มันเป็นตัวสุข จิตผู้หลงมันเป็นตัวทุกข์ จิตยังมี 2 อัน ตัวสุขกับตัวทุกข์ ภาวนาจนถึงจุดหนึ่งจะแจ้งเลย จิตนั้นล่ะคือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย กายนี้คือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ไม่มีตัวสุข อันนั้นเรียกว่าเรารู้ทุกข์จริงๆ แล้ว พอรู้ทุกข์จริงๆ มันจะวางเลย จะวางจริงๆ วางวัฏฏะลงไป วัฏสงสารถล่มลงตรงนั้น ตรงที่รู้แจ้งในกองทุกข์ของขันธ์ 5 นั้น หรือของอายตนะ 6 หรือของธาตุ 18 ของอินทรีย์ 22 ก็จะเข้าใจปฏิจจสมุปบาท สิ่งที่เรานึกว่ามี มันแค่การประชุมกันขององค์ธรรมจำนวนมาก อยู่ชั่วคราวก็แตกสลายออกไป ทุกสิ่งทุกอย่างชั่วคราวไปหมดเลย

ค่อยๆ เรียนไปแล้ววันหนึ่งจะเห็น อย่างที่หลวงพ่อบอกนั่นล่ะ วันนี้แค่เห็นว่าเดี๋ยวจิตรู้ เดี๋ยวจิตหลง แค่นี้ยังดีเลย ใช้ได้ หรือเห็นว่าเดี๋ยวจิตก็สุข เดี๋ยวจิตก็ทุกข์ เดี๋ยวจิตก็เฉยๆ แค่นี้ก็ใช้ได้ หรือเห็นว่าเดี๋ยวจิตก็โกรธ เดี๋ยวจิตก็ไม่โกรธ แค่นี้ก็ใช้ได้ เดี๋ยวเห็นจิตก็โลภ จิตก็ไม่โลภ แค่นี้ก็ใช้ได้ เวลาเรียน เรียนจุดเล็กๆ นิดเดียวนั่นล่ะ เวลาเข้าใจเข้าใจทั้งหมด จะเข้าใจปฏิจจสมุปบาท เข้าใจอริยสัจ หลวงปู่ดูลย์ท่านเรียน ท่านสรุปออกมาท่านเลยเรียกว่าอริยสัจแห่งจิต หลวงปู่มั่นสอนท่านดูจิต ท่านก็ดูๆ ไป หลวงปู่มั่นสอนบอก “สัพเพสังขารา สัพพสัญญาอนิจจา สังขารทั้งหลาย สัญญาทั้งหลายไม่เที่ยง” “สัพเพสังขารา สัพพสัญญา อนัตตา สังขารทั้งหลาย สัญญาทั้งหลายเป็นอนัตตา” สังเกตไหมไม่มีทุกขัง มีแต่อนิจจา อนิจจัง อนัตตา ก็นามธรรม ตัวที่เด่นอนิจจัง อนัตตา ท่านสอนหลวงปู่ดูลย์อย่างนี้

หลวงปู่ดูลย์ก็มาภาวนา “สัพเพสังขารา สัพพสัญญา อนิจจา” สังขาร สัญญาอะไรพวกนี้มันทำงานร่วมกัน มันไม่ทิ้งกันหรอก สัญญาหมายรู้ผิด สังขารมันก็ปรุงไป มีตัวมีตนขึ้นมา แต่ว่าสัญญาจะดีแค่ไหน สังขารจะดีแค่ไหน ก็ไม่เที่ยง จะปรุงวิเศษแค่ไหนก็ไม่เที่ยง จะวิเศษแค่ไหนก็ไม่ใช่ตัวเรา เป็นสภาวะที่เกิดจากการประชุมกันขององค์ธรรมต่างๆ แล้วก็แยกตัวออกจากกันสลายไป มีแต่เกิดแล้วก็ดับทั้งสิ้น ท่านเลยเข้าใจจิตของท่าน ท่านเลยสอนเรื่องอริยสัจแห่งจิตขึ้นมา

 

 

พวกเราก็ค่อยๆ สังเกตจิตของตัวเองไป แต่ทุกวันที่ต้องตั้งใจให้ดี ต้องรักษาศีล 5 ถ้าไม่มีศีล 5 ล้มเหลวแน่นอน อย่างทุกวันนี้มีข่าวพระทำอะไรไม่ดีไม่งามเยอะแยะไปหมดเลย เพราะแกลืมถือศีล 5 กัน ลืม ไปบวชอย่างนั้นล่ะเป็นอาชีพอันหนึ่ง ก็ไปบวชไม่ได้คิดจะรักษาศีล ไม่ได้คิดจะฝึกสมาธิ ไม่ได้คิดเจริญปัญญา มันก็เป็นฆราวาสแต่ว่าห่มจีวรเข้าไปเท่านั้นเอง ฆราวาสทำชั่วอะไรได้ พระอย่างนั้นมันก็ทำชั่วได้เหมือนๆ ฆราวาส เพราะจริงๆ คือฆราวาส เพียงแต่เอาจีวรมาห่มเท่านั้นเอง แล้วเราภาวนา วันหนึ่งทั้งๆ ที่เราไม่ได้ห่มจีวร แต่ใจเราเป็นพระได้ อย่างพระโสดาบันไม่ได้แปลว่าต้องบวช ฆราวาสก็เป็นได้ ให้มันมีศีลมีธรรมไว้

ศีลขั้นต่ำเลยศีล 5 รักษาให้ดี ทุกวันแบ่งเวลาทำในรูปแบบ ถ้าไม่ทำในรูปแบบจิตจะไม่มีพลัง จิตจะป้อแป้ๆ ไม่มีเรี่ยวมีแรง ต้องทำในรูปแบบ แล้วก็เจริญปัญญาไป การเจริญปัญญาก็คือการเห็นการทำงานของกายของใจไป ร่างกายมันก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป จิตใจมันก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป มีแต่ของไม่เที่ยง มีแต่ของทนอยู่ไม่ได้ มีแต่ของบังคับไม่ได้ ดูความจริงไปเรื่อยๆ ความจริงมันจะแสดงตัวตอนไหน ตอนมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไปกระทบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ตอนที่มีผัสสะ พอมีผัสสะกระบวนการทำงานมันก็จะเกิดขึ้น ถ้าไม่มีผัสสะมีตาก็เหมือนไม่มี มีหูก็เหมือนไม่มี มีใจก็เหมือนไม่มี จิตก็ตกภวังค์ไปไม่มีการกระทบอารมณ์หยาบๆ มันจะไปกระทบอารมณ์เก่าๆ อย่างเวลาจิตมันตกภวังค์ลึกๆ ถามว่ามีอารมณ์ไหมจิตที่ตกภวังค์ลึกๆ เลย มี แต่มันเป็นอารมณ์เก่าๆ เรียก อตีตารมณ์ มีจิตเมื่อไรต้องมีอารมณ์เมื่อนั้น อย่างเวลาเกิดมรรคเกิดผลก็มีจิต แล้วอารมณ์ของมรรคผล อารมณ์ของจิตดวงนั้นก็คือตัวนิพพาน ฉะนั้นมีจิตก็มีอารมณ์

ค่อยๆ เรียนไป เดี๋ยวก็เห็นด้วยตัวเอง ค่อยๆ ฝึก จุดเริ่มต้นก็ไม่มีอะไรมากถือศีล 5 ไว้ ทุกวันทำในรูปแบบ เวลาที่เหลือเจริญสติในชีวิตประจำวัน เจริญสติในชีวิตประจำวันทำอย่างไร เมื่อตาเห็นรูปมีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นในกายในใจ รู้สึก ในกายก็ได้ ในใจก็ได้ อย่างเราเห็นรูป เห็นหน้าคนๆ หนึ่งจิตใจเรามีความโกรธเกิดขึ้น เรารู้ทัน โอ้ จิตมันโกรธแล้ว ถ้ารู้ไม่ทันตรงนี้หน้าเราก็จะออกแล้ว หน้าของคนโกรธดูออกไหม หน้าของคนมีราคะดูออกไหม พวกหื่นจัดๆ ดูหน้าก็รู้แล้ว เพราะฉะนั้นเวลาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ ใจมันเปลี่ยนเรามีสติรู้ทัน ถ้ารู้ทันที่จิตใจไม่ได้ รู้ทันที่กาย อย่างโทสะเกิดรู้ทันจิตไม่ได้ว่าจิตโกรธ โมโหแล้วกำลังจะชกเขาแล้ว เห็นร่างกายขยับ รู้สึก เห็นรูปมันเคลื่อนไหวแล้ว อย่างนี้ก็ใช้ได้ ดูจิตไม่ได้ก็ดูกาย แล้วเราจะเห็นเลยทุกอย่างมันเกิดดับ กำลังจะชกขยับมืออย่างนี้ จิตตั้งมั่นปุ๊บขึ้นมา เห็นเลย นี่รูปมันเคลื่อนไหว ไม่ใช่คน ไม่มีเรา ไม่มีเขา

ฉะนั้นการเจริญสติในชีวิตประจำวัน มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น มีลิ้นกระทบรส มีกายกระทบสัมผัส มีใจกระทบความคิดนึกปรุงแต่ง กระทบแล้วเกิดปฏิกิริยาอะไรขึ้นในจิต รู้ทัน ถ้าเกิดปฏิกิริยาในจิต มองไม่เห็นรู้ไม่ทัน ปฏิกิริยาเกิดขึ้นทางกายรู้ทัน จิตมีราคะร่างกายมันก็มีความเปลี่ยนแปลงแล้ว รู้สึกเอา ค่อยๆ ฝึก 3 อัน รักษาศีล 5 ทุกวันแบ่งเวลาทำในรูปแบบ เวลาที่เหลือเจริญสติในชีวิตประจำวัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์แล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงในจิต ให้รู้ทัน หรือถ้าดูจิตไม่ทัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์แล้ว เกิดความเปลี่ยนแปลงในร่างกาย รู้ทัน อย่างเวลาโกรธหัวใจเต้นตุ้บๆ หน้าร้อนขึ้นมาเลย รู้สึกไป จะเห็น เอ๊ะ ร่างกายนี้มันเป็นเอง เราไม่ได้สั่งมันเลย หน้านิ่วคิ้วขมวดไม่ได้สั่งให้มันทำ กิเลสมันสั่ง

ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ไป ถึงจุดหนึ่งมันจะเข้าใจ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นดับทั้งสิ้น สิ่งที่เกิดขึ้นนอกจากทุกข์ไม่มีอะไร นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป เห็นอย่างนี้ ค่อยๆ ฝึกไป พอเห็นความจริงแล้วต่อไปมันก็ละ การละมันเป็นหน้าที่ของปัญญา ปัญญาเป็นตัวละ พอมันเข้าใจความเป็นจริงแล้วมันยึดถือไม่ลงแล้ว ก็มันเป็นตัวทุกข์เราจะไปยึดมันทำไม ยึดก็โง่แล้วไปยึดก้อนทุกข์ไว้ เพราะฉะนั้นถ้าเราเห็นทุกข์แจ่มแจ้ง มันละเอง ละความอยากเอง รู้ทุกข์เมื่อไรก็ละสมุทัยเมื่อนั้น ละสมุทัยเมื่อไรก็แจ้งนิโรธเมื่อนั้น เข้าถึงความสงบสุขโดยที่ไม่มีอะไรมาล่อมันเลย ไม่มีเหยื่อล่อเลย มันสงบสุขเพราะมันเห็นความจริงแล้ว ตรงที่เรารู้ทุกข์จนมันละสมุทัยแจ้งนิโรธได้ นั่นล่ะคือมรรค คือการเจริญมรรค

สรุปแล้วง่ายๆ ถือศีล 5 ทุกวันทำในรูปแบบ เวลาที่เหลือเจริญสติไป ดูกายดูใจมันทำงานไป ดูไตรลักษณ์ให้เห็นไป.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
26 มีนาคม 2565