เตรียมกองทัพของเราให้พร้อม

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของคนมีปัญญา มันไม่ใช่ศาสนาที่จะเชื่ออะไรงมงาย พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าอย่าเชื่ออะไรง่าย อย่าเชื่อกระทั่งตำรา เชื่อเขาพูดต่อๆ กันมา อันนั้นมิใช่วิสัยของชาวพุทธ ชาวพุทธเราเป็นศาสนาของความมีเหตุผล ธรรมะทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าสอนเป็นเรื่องเหตุกับผลทั้งหมด ทำเหตุอย่างนี้ก็จะมีผลอย่างนี้ ทำเหตุอย่างนั้นก็มีผลอย่างนั้น ทำเหตุดีก็มีผลดี ทำเหตุไม่ดี ทำความชั่วก็มีผลของความชั่ว ภาวนาเรียนรู้ความจริงไป เจริญศีล สมาธิ ปัญญาไปก็มีผลคือได้เห็นพระนิพพานพ้นทุกข์ เป็นเรื่องเหตุเรื่องผลทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องเชื่อๆ ตามๆ กัน

ศาสนาพุทธนั้นสอนให้เราพึ่งตนเอง ไม่ใช่พึ่งเทวดา ไม่ใช่พึ่งกระทั่งพระโพธิสัตว์ แต่พึ่งความสามารถของเราเอง เพราะเวลาเราทำชั่วเราก็ทำของเราเองคนอื่นไม่ได้มาทำแทนเรา เวลาเราทำความดีเราก็ทำของเราเองคนอื่นไม่ได้มาทำแทนเรา เวลาเราจะปฏิบัติธรรมเจริญศีล สมาธิ ปัญญาเราก็ต้องทำเอง เทวดาที่ไหนก็มาทำแทนเราไม่ได้ เพราะฉะนั้นศาสนาพุทธนี่เป็นศาสนาของการพึ่งตัวเอง มีเหตุมีผลไม่เชื่ออะไรงมงาย ความงมงายเป็นศัตรูตัวหนึ่ง เป็นกิเลสตัวสำคัญเลยที่พระโสดาบันละได้ เชื่ออะไรงมงาย

 

รักษาศีลเพื่อฝึกใจตัวเองไม่ให้ยอมแพ้กิเลส

เนื้อหาสาระของการปฏิบัติธรรมก็มีอยู่ในเรื่องของศีล สมาธิ ปัญญา จุดสำคัญในการฝึกจิตตัวเองจริงๆ ก็คือเรื่องเหล่านี้ล่ะ เราถือศีลไม่ใช่ว่าเพื่อจะเป็นคนดี แต่เราถือศีลเพื่อฝึกตัวเอง อย่างเราโกรธคนอื่นเราอยากทำร้ายเขา เราถือศีลเราไม่ไปทำร้ายเขา เป็นการฝืนใจตัวเองไม่ยอมทำชั่ว คือศีล ถ้าเราปล่อยใจของเราตามกิเลสไปเรื่อยๆ เราก็ทำชั่วไปเรื่อย ไปทำร้ายคนอื่นทำร้ายสิ่งอื่น ไปลักไปขโมยเขา ไปนอกใจสามีนอกใจภรรยา ไปพูดโกหกหลอกลวงคนอื่น สิ่งเหล่านี้มันเกิดจากกิเลสทั้งหมด ในเบื้องต้นถ้าเรายังฝึกไม่เข้มแข็งเราตั้งใจรักษาศีลไว้ก่อน เราจะไม่ยอมตามใจกิเลส เพราะถ้าตามใจกิเลสครั้งหนึ่งแล้วนี่ โอกาสที่จะตามใจกิเลสครั้งต่อไปมันจะง่ายขึ้นเรื่อยๆ อย่างเราไม่เคยพูดโกหก ไปโกหกครั้งหนึ่ง ทีแรกโกหกยากไม่อยากพูด พูดไม่ถูก พอโกหกเก่งพูดไปเรื่อยๆ โกหกเก่ง โกหกมันทุกคำเลย พูดอะไรความจริงหาไม่ได้แล้ว มันเคยชิน

ฉะนั้นเราตั้งใจรักษาศีลเพื่อฝึกใจตัวเองไม่ให้ยอมแพ้กิเลส กิเลสนั่นล่ะเป็นศัตรูของชีวิตเรา คนอื่นไม่ใช่ศัตรูของเราหรอก สิ่งที่ทำให้จิตใจเราไม่มีความสุขไม่มีความสงบก็คือกิเลสนั่นล่ะ ฉะนั้นเราก็ต้องต่อสู้เอาชนะมันให้ได้ เบื้องต้นกิเลสมันยังเข้มแข็ง สติสมาธิปัญญาของเรายังไม่เข้มแข็งสู้กิเลสไม่ไหว เราก็ตั้งใจรักษาศีลเอาไว้ก่อน ถึงจะโกรธอย่างไรก็ไม่ทำร้ายคนอื่น ถึงจะอยากได้อย่างไรก็ไม่ขโมยคนอื่น ฝึกตัวเองไปไม่ตามใจกิเลส เพราะยิ่งตามใจมัน กิเลสมันจะยิ่งเข้มแข็ง พอเราไม่ตามใจมัน มันก็เอาชนะเราไม่ได้ เราก็มาฝึกจิตใจให้เข้มแข็งมากขึ้นเพื่อจะเอาชนะกิเลส ทีแรกถือศีลนี่เพื่อไม่ให้แพ้กิเลสเท่านั้นล่ะ ถ้าไม่ถือศีลเราก็แพ้กิเลสง่าย แต่การจะเอาชนะกิเลสเป็นเรื่องของการฝึกสมาธิแล้วก็การเจริญปัญญา ชนะได้เด็ดขาดต้องอาศัยปัญญา

 

ฝึกให้จิตใจอยู่กับตัวเองให้ได้ คือการฝึกสมาธิ

การฝึกสมาธิก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร เราเข้าใจสมาธิจริงๆ มันคือสภาวะที่จิตใจเราอยู่กับตัวเองไม่หลงลืมตัวเองไป รู้สึกตัวไปสบายๆ ภาษาไทยเขาเรียกว่าจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว จิตใจอยู่ที่ตัวเองนี่ไม่หนีไป ธรรมชาติของจิตมันหนีตลอดเวลา มันหนีไปได้ 6 ทาง บางทีมันก็หนีไปดู อย่างเราเห็นอะไรน่าสนใจ ใจเราก็ส่งไปดู อย่างเราเห็นดอกไม้สวยๆ หรือเห็นผู้หญิงสวยเห็นผู้ชายรูปหล่อ ใจเราชอบ หรือเห็นดาราภาพยนตร์เห็นนักร้องที่เราชอบ ใจเราก็อยากเห็นเขาอยากดูเขา บางคนเดินตามดูเลย ตรงที่ใจเราอยากดูเขาใจเราจะวิ่งไป ไปดู ขณะที่ใจเราวิ่งไปดูนักร้องนี่ เรามีร่างกายเราก็ลืมร่างกาย เรามีจิตใจเราก็ลืมจิตใจ ฉะนั้นการที่จิตเราหลงไปดูรูปเราก็ลืมกายลืมใจของตัวเอง

ขณะที่เราตั้งใจฟังมีคนเขาคุยเราอยากฟังอยากรู้เรื่อง ขณะที่เราตั้งใจฟังนี่เรามีกายลืมกายมีใจลืมใจ หรือมีเพลงเพราะๆ ที่เราชอบได้ยินเสียงเพลง เพลินมีความสุข ในขณะนั้นเพลินๆ มีร่างกายก็ลืมร่างกายมีจิตใจก็ลืมจิตใจของตัวเอง เวลาเราได้กลิ่น ได้กลิ่นหอมหรือกลิ่นเหม็น จิตใจเราสนใจ เอ กลิ่นอะไร สมมติว่ามีกลิ่นเหม็นๆ อยู่ในบ้านเรา เราก็สงสัยมีสัตว์ตัวเล็กๆ มาตายอยู่ในบ้านเราหรือเปล่า หรือหนูมาตายในบ้านเราหรือเปล่า จิตใจมันสนใจ เอ กลิ่นอยู่ตรงไหน เที่ยวดมว่าตรงไหนกลิ่นแรง ขณะที่ตั้งอกตั้งใจดมกลิ่นเรามีร่างกายเราลืมร่างกายตัวเองเรามีจิตใจเราลืมจิตใจตัวเอง มันมีแต่ความอยากจะดมกลิ่น

เวลาเรากินของอร่อยลิ้นเรากระทบรสนี่เราพอใจจิตใจมันชอบมันเพลิดเพลิน ฉะนั้นเวลากินเจอของอร่อยเข้า เราก็ลืมกายลืมใจของเรา กินเอาๆ กิริยามารยาทก็ดูไม่งามแล้วเพราะตะกละอยากกินเยอะๆ อยากกินเร็วๆ ร่างกายเราเคลื่อนไหวไม่สวยไม่งามเราไม่รู้หรอก เราลืมร่างกายของเรา จิตใจเรากำลังเต็มไปด้วยความตะกละเราก็ไม่เห็น ฉะนั้นเวลามันสนใจที่จะลิ้มรสเราก็ลืมกายลืมใจของตัวเอง

เวลามีอะไรมาสัมผัสร่างกายเราบางทีจิตใจเราก็หลงไปทางร่างกาย อย่างอากาศเย็นจัดๆ มาถูกร่างกายเรา เราก็ตัวเราสั่น โอ้ เมื่อไรมันจะหายหนาวสักที ใจไม่ชอบเลย มันหนาวมากเกินไป ร่างกายเราทนไม่ไหวแล้ว กลุ้มใจโดนความหนาวขนาดนี้เดี๋ยวจะเป็นไข้เดี๋ยวจะไม่สบาย ในขณะนั้นมัววุ่นวายอยู่กับความหนาว เราลืมจิตใจของตัวเอง ลืมกายลืมใจของตัวเองไป กำลังกอดอกตัวสั่นอะไรอย่างนี้เราก็ไม่เห็น ลืมไป สั่นๆ เราไม่ได้รู้สึกที่ร่างกายของเรา แล้วก็ไม่รู้สึกว่าจิตใจเรากำลังกังวล ฉะนั้นสิ่งที่มาสัมผัสทางตาหูจมูกลิ้นกายมันมาดึงดูดความสนใจของเราไปในรูปในเสียงในกลิ่นในรสในสิ่งที่สัมผัสร่างกาย พอมันดึงไปแล้วเราก็ลืมตัวเองลืมกายลืมใจของตัวเอง

สนใจที่จะดูนางงามไปชะเง้อดูเขาก็ลืมตัวเอง ไม่เห็นหรอกว่ากำลังทำท่าเขย้อแขย่งน่าเกลียดอะไรอย่างนี้ ไม่เห็น จิตใจกำลังอยากดูไม่เห็นว่าอยาก ฉะนั้นไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นในร่างกายก็ไม่รู้ อะไรเกิดในจิตใจก็ไม่รู้ หรือเวลาเราเห็นคนอื่นเขาโทรศัพท์ เขาเดินถือโทรศัพท์คุยไปเรื่อยๆ บางทีทำท่าทำทางแปลกๆ เวลาคุยโทรศัพท์ใช่ไหมเพลิดเพลินอยู่กับการคุยการฟังการพูด เราเพลินๆ ทำท่าทำทางอะไรตัวเองยังไม่รู้เลย หลวงพ่อเคยเจอผู้หญิงสวยๆ ดูคล้ายๆ ไฮโซเลย ดูเรียบร้อยดูดี โทรศัพท์มาลุกขึ้นรับโทรศัพท์ หมดท่าเลยความสวยความงามไม่เหลือแล้ว โมโหว่าคนพูดมาไม่ถูกอกถูกใจก็แยกเขี้ยวยิงฟันตวาดแว้ดๆ อะไรอย่างนี้ ความเรียบร้อยอะไรไม่เหลือแล้ว เพราะอะไร เขาโกรธแล้วเขาลืมตัวเอง เขาถูกความโกรธครอบงำใจ เขาก็ลืมกายลืมใจของตัวเอง

เวลาเราหลง ไม่ว่าจะหลงไปดูรูปหลงไปฟังเสียงหลงไปดมกลิ่นหลงไปลิ้มรสหลงไปรู้สัมผัสทางร่างกายหรือหลงไปคิดทางใจ เวลาเราหลงไปเราจะลืมกายลืมใจของตัวเอง อย่างเราคุยกับคน เราได้ยินเขาคุยเราตั้งใจฟังเขา ขณะนั้นเราหลงไปฟังทางหูแล้วเราลืมกายลืมใจ พอฟังแล้วโทสะมันขึ้นไม่ชอบเลย เราก็ไม่เห็นว่าใจเรากำลังโกรธ เราไปสนใจคนที่ทำให้เราโกรธ เราสนใจของข้างนอกเราไม่สนใจกายไม่สนใจจิตใจของตัวเอง ฉะนั้นเราจะต้องมาฝึกให้จิตใจอยู่กับตัวเองให้ได้ อันนั่นล่ะคือการฝึกสมาธิ

 

วิธีการฝึกสมาธิ

วิธีการที่จะฝึกสมาธิ ขั้นต้นหลวงพ่อแนะนำ เราต้องทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จะหายใจเข้าพุทหายใจออกโธก็ได้ จะรู้ร่างกายที่เคลื่อนไหวก็ได้ จะรู้ร่างกายที่หายใจก็ได้ จะรู้ร่างกายที่ยืนเดินนั่งนอนก็ได้ หรือจะรู้ความรู้สึกสุขความรู้สึกทุกข์ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ที่เกิดขึ้นที่ใจก็ได้ หรือคนไหนขี้โมโหก็ทำกรรมฐาน ใจเราโกรธขึ้นมาเรารู้ใจเราหายโกรธเรารู้ นี่ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วทันทีที่เราทำกรรมฐานให้เราสังเกตที่จิตใจของเรา ไม่ได้ทำกรรมฐานเพื่อให้จิตสงบ ไม่ได้ทำกรรมฐานให้จิตดี เราไม่ได้มุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อความสุขความสงบความดี เพราะความสุขเป็นของไม่ยั่งยืน ความสงบก็เป็นของไม่ยั่งยืน ความดีก็ไม่ยั่งยืน ทุกอย่างเกิดแล้วดับหมดเลย เราไม่ได้มุ่งเอาของพวกนี้หรอก

เราฝึกทำกรรมฐานเสียอย่างหนึ่ง แล้วเราคอยรู้ทันเวลามันลืมตัวเอง เช่น เราหายใจเข้าพุทหายใจออกโธนี่ทำกรรมฐาน รู้ลมหายใจ หายใจเข้าพุทหายใจออกโธไม่ได้มุ่งที่ความสงบ สงบก็ช่างไม่สงบก็ช่าง พอเราหายใจเข้าพุทหายใจออกโธแล้ว ใจเราหนีไปคิดเรื่องอื่น เรารู้ว่าใจเราหนีไปคิดเรื่องอื่น ทันทีที่เรารู้ว่าใจเราหลงไปความหลงมันจะดับอัตโนมัติ จิตเราจะกลับมาอยู่กับตัวเอง จิตใจมันจะอยู่กับเนื้อกับตัวขึ้นมา กลับมาที่ตัวเองได้โดยที่เราไม่ได้เจตนา มันกลับมาเอง ฉะนั้นเราฝึกเยอะๆ เลยเช่นหายใจไปพุทโธไป จิตมันหนีไปคิดเรื่องอื่นมันลืมพุทโธลืมลมหายใจแล้ว รู้ทันว่ามันหลงไป จิตมันก็จะกลับมามีสมาธิตั้งมั่นอยู่กับตัวเอง

ฉะนั้นเราฝึกทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทันใจของตัวเองไว้ หรืออย่างบางคนขยับมืออย่างสายหลวงพ่อเทียนสอนขยับมือ 14 จังหวะ เคลื่อนไหวแล้วรู้สึกเอา เวลาเคลื่อนๆๆ ให้เรามีสติรู้ทันจิตตัวเอง เราขยับมือเสร็จแล้วใจเราก็เผลอไปคิด ตอนนี้ท่านี้แล้วต่อไปจะเป็นท่าไหนจะเคลื่อนอย่างไร ใจมันหลงไปอยู่ในโลกของความคิดแล้ว มันลืมตัวเองแล้ว อันนั้นขาดสติไปแล้ว ให้เรารู้ทันว่าตอนนี้ขยับมือแล้วจิตหลงไปคิดเรื่องอื่นแล้ว หรือไปคิดเรื่องมือแล้ว พอเรารู้ทันว่าจิตหลงไปคิดเท่านั้น จิตรู้ก็จะเกิดขึ้น จิตรู้ก็คือจิตที่มีสมาธิที่ถูกต้องมันจะเกิดขึ้น

หรือเราเดินอยู่ เราเดินจงกรมเดินไปเดินมา เดินจงกรมไม่ใช่เดินเอาว่าจะให้เดินเท่านั้นชั่วโมงเท่านี้ชั่วโมง เราไม่ได้เดินเอาระยะเวลา ไม่ได้เดินว่าจะเดินกี่รอบ เราไม่ได้เดินเอาระยะทาง เราเดินเพื่อให้มีสติให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว ฉะนั้นเวลาเราเดินจงกรมนี่เดินไป พอใจเราลืมการเดิน ร่างกายมันเดินอยู่ แต่ใจมันหนีไปคิดเรื่องอื่นแล้ว คิดเรื่องจะไปช็อปปิงแล้ว ทั้งๆ ที่กายกำลังเดินจงกรมอยู่ ให้เรารู้ทันว่าจิตใจมันหนีไปแล้ว ลืมรู้ร่างกายที่เดินจงกรมแล้ว พอเรารู้ทันว่าจิตใจมันหนีไป สมาธิหรือความตั้งมั่นของจิตมันก็จะเกิดขึ้น

สมาธิไม่ได้แปลว่าสงบ สมาธิแปลว่าความตั้งมั่นของจิต ความตั้งมั่นของจิตมันตรงข้ามกับความไม่ตั้งมั่นของจิต ความไม่ตั้งมั่นของจิตคือการที่จิตมันหลงไปไหลไปทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายหรือไหลไปคิดทางใจ นั่นคือความไม่ตั้งมั่น เมื่อไรเรารู้ทันว่าจิตไม่ตั้งมั่น ความตั้งมั่นของจิตจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นสมาธิที่ถูกต้องเราอย่าไปทำขึ้นมา ไม่จำเป็นต้องทำขึ้นมา ให้เรารู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น จิตมันหลงไปดูเรารู้ทัน จิตมันหลงไปฟังเรารู้ทัน จิตหลงไปดมกลิ่นเรารู้ทัน จิตหลงไปลิ้มรสเรารู้ทัน จิตหลงไปรู้สัมผัสที่ร่างกายเรารู้ทัน จิตหลงไปคิดเรารู้ทัน พอเรารู้ทันเท่านั้นเอง จิตรู้หรือสภาวะที่จิตตั้งมั่นก็จะเกิดขึ้น สมาธิชนิดตั้งมั่นเกิดขึ้นก็ทำให้จิตตั้งมั่น

 

ทำกรรมฐานเพื่อเตรียมจิตให้พร้อมที่จะเจริญปัญญา

ตัวนี้ต้องฝึกให้มากๆ เลย เพราะจิตที่ตั้งมั่นเป็นจุดสำคัญที่จะก้าวไปสู่การเจริญปัญญา ถ้าจิตใจของเราวอกแวกเดี๋ยวก็วิ่งไปดูวิ่งไปฟังวิ่งไปคิด เราไม่สามารถเจริญปัญญาได้ ต้องให้จิตใจตั้งมั่นให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวเสียก่อน เราถึงจะเจริญปัญญาได้จริง ในตำราเขาจะสอนบอกสัมมาสมาธิคือสมาธิที่ทำให้จิตใจตั้งมั่นเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ฉะนั้นถ้าจิตใจเราไม่อยู่กับเนื้อกับตัวเราไม่สามารถจะเกิดปัญญาได้ ฉะนั้นสิ่งที่หลวงพ่ออยากฝากพวกเราก็คือ ทุกวันเราจะต้องแบ่งเวลาเอาไว้ปฏิบัติในรูปแบบ จะเดินจงกรม จะนั่งสมาธิ จะรู้ลมหายใจ หรือจะทำกรรมฐานอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะทำกรรมฐานอะไรสิ่งที่เราต้องรู้คือจิตใจของตัวเอง

เช่น เรานั่งหายใจเข้าพุทหายใจออกโธ จิตเราหนีไปคิดเรารู้ทัน จิตเราไหลไปอยู่ที่ลมหายใจ อย่างรู้ลมแล้วจิตมันก็ไหลจมลงไปอยู่ที่ลมเรารู้ทัน อย่างนี้ก็ใช้ได้ ตรงที่รู้ทันว่าจิตไหลไปนั่นน่ะ จิตจะหยุดไหลแล้วมันจะตั้งมั่นขึ้นโดยอัตโนมัติ เราไม่ได้เจตนาให้ตั้งมั่น สมาธิที่ดีเกิดอัตโนมัติ หรือเราดูท้องพองดูท้องยุบ ในเมืองไทยก็มีสอนท้องพองท้องยุบ เอามาจากพม่าอีกทีหนึ่ง ส่วนใหญ่พอไปเห็นท้องพองท้องยุบ จิตมันไหลไปอยู่ที่ท้อง อันนั้นไม่ใช่สมาธิที่ดีเลย เป็นสมาธิที่หลงไปนิ่งไปแช่อยู่ที่ท้อง จิตไปจมนิ่งๆ อยู่ อันนั้นไม่ใช่สมาธิที่ดี เป็นสมาธิที่ไม่ดีหรอกจิตมันหลงไป หลงไปอยู่ที่ท้อง วิธีการก็คือถ้าเราถนัดจะดูท้องพองยุบเราก็ดู แต่เรารู้ทันจิตของตัวเอง อย่างท้องพองเรารู้ท้องยุบเรารู้ ดูไปดูมาจิตเราไหลจมลงไปอยู่ที่ท้อง รู้ทันว่าจิตไหลลงไปที่ท้อง ทันทีที่รู้ว่าจิตไหลไปที่ท้อง จิตที่ไหลไปจะดับจะเกิดจิตรู้ขึ้นมาแทน จิตที่มีสัมมาสมาธิก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ จิตใจจะอยู่กับเนื้อกับตัวตั้งมั่นขึ้นมา

ฉะนั้นเราทำกรรมฐาน เราคอยรู้ทันจิตที่มันไหลไปไหลมา กรรมฐานอะไรก็ได้ขอให้รู้ทันจิตเท่านั้น ถ้าเราไม่รู้ทันจิตไม่ว่าทำกรรมฐานอะไรก็ไม่ถูกทั้งสิ้น หรือเราขยับมืออย่างหลวงพ่อเทียน ขยับมือแล้วจิตเราไหลไปอยู่ในมือ เราไม่เห็นว่าจิตไหลไปที่มือ อันนี้ใช้ไม่ได้ หรือขยับมือแล้วจิตหนีไปคิดเรื่องอื่น อันนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าขยับมือแล้วจิตเราไหลไปที่มือ เรารู้ทันว่าตอนนี้จิตมันถลำลงไปอยู่ที่มือแล้ว จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมา มันจะตั้งมั่นเหมือนที่เราหายใจแล้วเรารู้ว่าจิตมันจมลงไปในลมหายใจ เหมือนกับเห็นท้องพองยุบแล้วรู้ว่าจิตจมลงไปอยู่ที่ท้อง จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมา เพราะฉะนั้นกรรมฐานอะไรนี่ใช้ได้ทั้งนั้น ขอให้รู้ทันจิต ถ้าไม่รู้ทันจิตก็ใช้ไม่ได้เหมือนกันหมด ไม่มีอันไหนดีกว่าอันไหนหรอก เพราะเราทำกรรมฐานเพื่อเตรียมจิตของเราให้พร้อมที่จะเจริญปัญญา

ฉะนั้นเราคอยรู้ทัน ต้องทำ ทุกวันทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง หรือเราเดินจงกรม เดินๆๆ ไป เดินเราเห็นร่างกายมันเดิน แล้วเดินอยู่ดีๆ จิตมันลงไปเพ่งที่เท้า เท้ายกเท้าย่างเท้าลงอะไรอย่างนี้ จิตมันลงไปอยู่ที่เท้าแล้ว ให้รู้ทันว่าจิตไหลไปอยู่ที่เท้าแล้ว จิตรู้ก็จะเกิดขึ้น จิตที่อยู่กับเนื้อกับตัวมีสมาธิเกิดขึ้นเอง หรือเดินจงกรมอยู่หนีไปคิดเรื่องอื่น หนีไปคิดเรื่องโควิดจะระบาดไหมอะไรต่ออะไร ใจเราหลงไป เรารู้ว่าใจเราหลงไปคิด ทันทีที่รู้ว่าใจหลงไปคิด ใจรู้จิตรู้ก็จะเกิดขึ้น คือจิตที่มีสมาธิมีความตั้งมั่น จิตใจที่อยู่กับเนื้อกับตัวมันจะเกิดขึ้น เมื่อเรามีจิตใจที่อยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว อันนี้ต้องฝึก ใช้เวลาทำทุกวันๆ พอจิตใจเราอยู่กับตัวเองแล้วมันจะเผลอสั้นๆ เผลอแวบเดียวรู้สึกแล้ว

เหมือนเมื่อก่อนหลวงพ่อฝึกมันก็เผลอเหมือนกัน ตอนยังเป็นโยมอยู่ อย่างวันหนึ่งเห็นเพื่อนเดินอยู่คนละฝั่งถนน เห็นเพื่อนคนนี้ไม่เจอหลายปีแล้ว ดีใจ ดีใจแล้วไม่เห็นว่าตัวเองดีใจ นี่ขาดสติ ใช้ไม่ได้ พอก้าวเท้าจะข้ามถนนไปหาเพื่อน พอเท้ามันเคลื่อนเท่านั้นล่ะ ความรู้สึกตัวมันเกิด เรารู้ เราเคยฝึกเคลื่อนไหวแล้วรู้สึกตัว เคลื่อนไหวแล้วรู้สึกตัว พอเราเคลื่อนไหวปุ๊บไม่ได้เจตนาจะรู้สึกตัวเลย ความรู้สึกตัวเกิดขึ้นเอง จิตที่ตั้งมั่นเกิดขึ้นเอง กลับมารู้สึกกายรู้สึกใจได้ ฉะนั้นต้องฝึกให้เยอะๆ ทำกรรมฐานไปสักอย่างหนึ่งแล้วจิตมันไหลไปแล้วรู้ จิตมันไหลไปแล้วรู้ ต่อไปพอจิตไหลปุ๊บมันจะรู้อัตโนมัติ ตรงนั้นเราได้สติได้สมาธิที่ดีแล้ว ถัดจากนั้นก็คือขั้นสุดท้ายแล้ว ขั้นของการเจริญปัญญา

 

เจริญปัญญา

จำได้ไหมทีแรกหลวงพ่อบอกให้มีศีลเพื่อเราจะได้ไม่ยอมแพ้กิเลส เราไม่ปล่อยให้กิเลสซึ่งมันเข้มแข็งนี่มาทำร้ายจิตใจของเราให้ตกเป็นทาสของมันด้วยการตั้งใจรักษาศีล ต่อมาเราก็มาฝึกเรื่องของสมาธิ คราวนี้เราจะเตรียมต่อสู้เอาชนะกิเลสแล้ว การฝึกสมาธิเหมือนเราสะสมกำลัง เหมือนเราเตรียมทหารเตรียมกองทัพสะสมอาวุธเพื่อจะไปโจมตีข้าศึกคือกิเลส การเข้าไปต่อสู้ทำลายล้างข้าศึกจริงๆ คือการเจริญปัญญา การทำสมาธิเหมือนการเตรียมอาวุธเตรียมทหารเตรียมความพร้อมที่จะต่อสู้ ฉะนั้นพอเราฝึกสมาธิอย่างที่หลวงพ่อบอก ทำกรรมฐานแล้วจิตไหลแล้วรู้ ไหลแล้วรู้ไป พอเรามีสมาธิจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว อันนี้ล่ะจิตใจเราเป็นทหารที่พร้อมจะทำสงครามแล้ว พร้อมที่จะเจริญปัญญา

การเจริญปัญญาคือการทำลายล้างกิเลส ศีลเป็นแค่หนีเข้าป้อม กิเลสมันเข้มแข็งเราสู้ไม่ไหว หนี ไม่สู้มัน หนีมัน เวลาสมาธิเกิด ฝึกสมาธิ ช่วงไหนมีสมาธิเราก็ผลักกิเลสถอยไป ช่วงไหนสมาธิเราตกกิเลสก็รุกเข้ามาอีก ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ แต่ช่วงที่จะเผด็จศึกนี่คืองานเจริญปัญญา ฉะนั้นเราเตรียมกองทัพของเราให้พร้อม คือเตรียมจิตใจของเราให้มีสติให้มีสมาธิให้มากๆ แล้วเราถึงจะเจริญปัญญาได้ เตรียมสติเตรียมสมาธิก็ทำกรรมฐานอย่างที่หลวงพ่อบอกนั่นล่ะ ทำกรรมฐานอย่างหนึ่งจิตไหลแล้วรู้ๆ ตรงที่มันรู้ได้เอง ตรงนั้นล่ะมีสติ ตรงที่มันกลับมาตั้งมั่นตรงนั้นมันมีสมาธิ เพราะฉะนั้นการที่ทำกรรมฐานอย่างที่หลวงพ่อบอก สิ่งที่เราจะได้คือสติและสมาธิ นี่คืออาวุธสำคัญที่จะไปสู้กับกิเลสในขั้นของการเจริญปัญญา

ทีนี้การเจริญปัญญาทำอย่างไร ในเบื้องต้น การเจริญปัญญาในเบื้องต้นงานแรกที่เราต้องทำคือเราต้องแยกให้ออกว่า อะไรคือจิตที่เป็นผู้รู้ อะไรเป็นสิ่งที่ถูกรู้ เรียกว่าแยกขันธ์ให้ออก แยกรูปแยกนามให้ออก อย่างเรานั่งอยู่นี่เราทุกคนตอนนี้ ก็กำลังนั่งอยู่ วิธีการก็คือถ้าใจเราอยู่กับเนื้อกับตัว เราเห็นร่างกายมันนั่งหรือเราเห็นร่างกายมันกำลังหายใจ แล้วเราก็มีความรู้สึกขึ้นมา ร่างกายที่นั่งอยู่นี่มันถูกรู้อยู่ ร่างกายที่หายใจนี่มันถูกรู้อยู่ เราไม่ต้องไปหาว่าผู้รู้อยู่ที่ไหนหรอก แค่เรารู้ว่าร่างกายกำลังถูกรู้ จิตซึ่งมันมีสมาธิอยู่ดีแล้วมันจะเห็นเองว่า ร่างกายนี้เป็นส่วนหนึ่งเป็นของถูกรู้ จิตซึ่งตั้งมั่นอยู่นี่เป็นผู้รู้ผู้ดู จิตกับร่างกายก็จะแยกออกจากกัน

การแยกขันธ์ แยกกาย แยกใจ แยกรูป แยกนาม คือจุดตั้งต้นของการเจริญปัญญาก่อนจะเกิดวิปัสสนาปัญญา ก่อนจะเกิดโลกุตตรปัญญา ปัญญามีหลายระดับ ก่อนจะเกิดวิปัสสนาปัญญาเราต้องฝึกแยกรูปแยกนามให้ได้ก่อน อย่างตอนนี้ร่างกายมันนั่งเรารู้สึกลงไป เออ ร่างกายมันนั่ง ร่างกายที่นั่งถูกรู้อยู่ บางคนกำลังหาว หาวอย่างนี้ เราเห็นร่างกายที่กำลังหาวเป็นของถูกรู้ถูกดู หรือเวลาเราเดิน เดินจงกรมหรือเราจะไปเดินช็อปปิงก็ได้ เดินตรงไหนก็ได้ แล้วเราก็รู้สึกขึ้นมาร่างกายมันเดินใจเราเป็นคนรู้สึก กายกับใจมันเป็นคนละอันกัน ฉะนั้นเราแยกให้ออกกายกับใจเป็นคนละอันกัน อย่างนี้เรียกว่าเราเริ่มแยกรูปแยกนามได้แล้ว เป็นการเจริญปัญญาในขั้นต้นแล้ว เป็นขั้นต้นแล้ว

เราฝึกให้จิตใจเราตั้งมั่นขึ้นมา พอเราเดินเราก็รู้เห็นร่างกายมันเดินด้วยจิตใจที่ตั้งมั่นแล้ว มันจะรู้สึกเลยร่างกายนี้อันหนึ่งจิตใจนี้เป็นอีกอันหนึ่งคนละอันกัน อย่างหลวงพ่อขยับมืออย่างนี้ เรามีสติอยู่เรารู้สึกร่างกายที่เคลื่อนไหวมันถูกรู้อยู่ มันถูกรู้ ใครเป็นคนรู้ จิตมันเป็นคนรู้ เวลาร่างกายเคลื่อนไหวเรารู้สึก อย่างเดินจงกรมแล้วเห็นร่างกายมันเดิน นั่งอยู่เราเห็นร่างกายมันนั่งใจเป็นคนรู้ เดินอยู่ร่างกายเป็นคนเดินใจเป็นคนรู้ ไม่ต้องหาว่าใจอยู่ที่ไหน แค่รู้ว่าร่างกายมันถูกรู้ ตัวรู้มันจะมีขึ้นมาเอง แต่ถ้าเราฝึกสมาธิมาเป็นลำดับๆ อย่างที่หลวงพ่อบอกทีแรก ตัวรู้เราจะเด่น เราจะรู้เลยตัวรู้มันเด่นดวงขึ้นมา ร่างกายนี้มันถูกรู้ถูกดู ตรงนี้เป็นจุดตั้งต้นที่จะเจริญวิปัสสนาแล้ว ตรงนี้เป็นปัญญาขั้นต้น ปัญญาขั้นที่หนึ่ง

 

 

ปัญญามีทั้งหมด 16 ขั้น ปัญญาขั้นที่หนึ่ง คือการแยกได้ กายกับใจแยกออกจากกันได้ รูปนามแยกออกจากกันได้ ต่อไปเราก็แยกละเอียดต่อไปอีก ร่างกายนี้ถ้าจะแยกให้ละเอียดออกไป ร่างกายเป็นอะไร ร่างกายเป็นธาตุ มีธาตุดินธาตุน้ำธาตุไฟธาตุลม แต่เราไม่ต้องเรียนเยอะขนาดนั้น เราก็แค่รู้สึกว่าร่างกายกับจิตใจมันคนละอันกัน คอยรู้สึกอยู่แค่นี้ ทุกคนลองทดลอง ลองยิ้มสิยิ้ม ยิ้ม ยิ้มหวานๆ ยิ้มเหมือนมีคนมาบอกรักเรา ยิ้ม ลองยิ้มสิ รู้สึกไหมร่างกายยิ้ม ต้องส่องกระจกไหมถึงจะรู้ว่ากำลังยิ้มอยู่ ไม่ต้อง เรารู้ รู้ไหมร่างกายยิ้ม ลองทำหน้าบึ้งสิเหมือนกำลังโกรธ ลองทำหน้าโกรธ เรียนกรรมฐานเสร็จแล้วไปเป็นดาราได้เลย สั่งให้โกรธก็หน้าโกรธได้ ทำหน้าบึ้งหน้าโกรธ รู้สึกไหมหน้าเรา หน้าโกรธเป็นอย่างนี้ หน้ายิ้มเป็นอย่างนี้ เห็นไหมร่างกายนี้มันถูกรู้ เห็นไหมหน้าตาเราตอนนี้มันถูกรู้ มันเป็นอย่างไรคอยรู้ไว้ แล้วเราจะเห็นเลยว่าร่างกายกับจิตใจมันคนละอันกัน

ร่างกายมันถูกรู้ ยกมือๆ ก็เห็นร่างกายมันเคลื่อนไหว มันก็รู้ด้วยความรู้สึก ไม่ต้องไปนั่งดูอย่างนี้ ไม่ต้อง รู้ได้ด้วยความรู้สึก อย่างหน้ายิ้มหน้าบึ้งอะไรอย่างนี้เราไม่ต้องส่องกระจก ไม่ได้ดูด้วยตาแต่เรารู้ด้วยความรู้สึก ร่างกายมันขยับเราก็รู้ด้วยความรู้สึก ร่างกายมันยืนมันเดินมันนั่งมันนอนเราก็รู้ด้วยความรู้สึก แล้วเราจะเห็นเลยว่าร่างกายกับจิตใจนี้เป็นคนละอันกัน จิตใจเป็นผู้รู้ผู้ดู ร่างกายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ถูกดู การแยกขันธ์ยังแยกให้ละเอียดต่อไปได้ อันแรกแยกกายกับใจออกจากกันได้เรียกว่าแยกรูปกับวิญญาณออกจากกันได้ ได้ 2 ขันธ์แล้ว ทีนี้มาดูในใจเรา ในใจเราเดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็ทุกข์เดี๋ยวก็เฉยๆ สังเกตดูใจเราตอนนี้มันสุขหรือมันทุกข์หรือมันเฉยๆ

ยากไหมที่จะรู้ ไม่เห็นยากตรงไหนเลย กำลังกลุ้มใจรู้ว่ากลุ้มใจ กำลังสบายใจรู้ว่าสบายใจ ไม่เห็นจะยากเลย แต่มันยากสำหรับคนทั่วไป เพราะเวลากลุ้มใจมันจะไปคิดถึงเรื่องราวที่ทำให้กลุ้ม เวลาสบายใจมันก็เพลินดูต้นไม้สวยๆ ดูทะเลสวยๆ ดูผู้หญิงสวยๆ มันเพลินไป มันไม่ได้ดูว่าตอนนี้ใจกำลังมีความสุขอยู่ การที่จะดูว่าใจเราสุขหรือใจเราทุกข์หรือใจเราเฉยๆ ทุกคนดูได้ ง่ายที่สุดเลยไม่มีอะไรลึกลับเลย เพียงแต่ใส่ใจสนใจที่จะรู้เท่านั้นเอง

คนทั่วไปพอมีความสุข อย่างมีความสุขในใจเกิดขึ้นก็ไม่ยอมรู้ว่าใจกำลังมีความสุข แต่กลับไปสนใจสิ่งที่ทำให้ใจมีความสุข เช่น ได้ยินเสียงเพลงเพราะๆ อะไรอย่างนี้ มัวแต่เพลินหลงไปฟังเพลง ไม่รู้ว่าใจกำลังมีความสุขอยู่ เพราะฉะนั้นการที่เราจะคอยรู้ว่าตอนนี้ใจเราสุขหรือใจเราทุกข์หรือใจเราเฉยๆ อะไรนี่ไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไร ถ้าเราดูหัดดูอย่างที่หลวงพ่อบอกเรื่อยๆ ต่อไปเราก็จะเห็นความจริง ความรู้สึกสุขมันผ่านมาแล้วก็ไป ความทุกข์ผ่านมาผ่านไป ความเฉยๆ ผ่านมาผ่านไป มันเป็นของถูกรู้ถูกดูทั้งหมดเลย มันเหมือนร่างกายเรา เหมือนร่างกายที่ยืนเดินนั่งนอนหายใจออกหายใจเข้าเคลื่อนไหวหยุดนิ่งเป็นของถูกรู้ถูกดู จิตเป็นคนรู้คนดู พอความสุขความทุกข์ความเฉยๆ ก็ของถูกรู้ถูกดูเหมือนกัน ความสุขเกิดขึ้นเรารู้ ความทุกข์เกิดขึ้นเรารู้ เฉยๆ เกิดขึ้นเรารู้ พอเราเห็นว่ามันเป็นแค่ของถูกรู้ถูกดู จิตผู้รู้ผู้ดูมันก็เกิดขึ้นเองมันก็จะมีขึ้นมา

เราพยายามฝึกตัวเอง ฝึกเรื่อยๆ สังเกตไป ค่อยๆ แยกไป ความสุขความทุกข์ความเฉยๆ ไม่ใช่จิต มันเป็นแค่สิ่งที่จิตไปรู้เข้า คนในโลกมันหลงอยู่ที่ความสุขความทุกข์นี่ล่ะ อยากจะมีความสุขมันก็ดิ้นรนวุ่นวาย บางทีก็ทำร้ายผู้อื่นทำร้ายสัตว์อื่นสารพัดที่จะทำเลยทุกสิ่งทุกอย่าง หวังว่าจะมีความสุข อย่างอยากรวยเยอะๆ คิดว่ารวยแล้วจะมีความสุข คนรวยแล้วกลุ้มใจเยอะแยะไป ไม่ได้มีความสุขเสมอไปหรอก แทนที่เราจะมาวุ่นวายกับโลกข้างนอกเราสังเกตจิตใจของเรา มันมีความสุขเกิดขึ้นเรารู้ มันมีความทุกข์เกิดขึ้นเรารู้ เฉยๆ เกิดขึ้นเรารู้ หัดรู้ไปเรื่อย เราจะเห็นว่าความสุขความทุกข์ยังไม่ใช่จิตใจของเราหรอก เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาชั่วคราวเท่านั้นเอง

 

 

ต่อไปเราก็หัดแยกทางจิตใจของเราให้ละเอียดขึ้นไปอีก สิ่งที่อยู่ในใจเราไม่ได้มีแค่ความสุขความทุกข์ แต่มันมีกุศลอกุศลด้วย อย่างโลภโกรธหลงนี่ก็เกิดในใจเรา เราก็สังเกตไป อย่างใจเราโกรธขึ้นมาเราก็เห็นความโกรธมันเกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไปดับไป ความโลภมันเกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไป ค่อยๆ เห็นไป ความโลภความโกรธความหลงอะไรนี่มันไม่ใช่จิตหรอก มันเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ฉะนั้นเวลาโกรธคนทั่วไปคิดว่า คนทั่วไปจะไม่รู้เลยกายใจของตัวเอง มันจะไปสนใจคนที่ทำให้เราโกรธ คนทั่วๆ ไปจะเป็นอย่างนั้น ผู้ปฏิบัติที่ดีขึ้นมาหน่อยก็จะเห็นว่าเราโกรธ ตอนนี้เรากำลังโกรธแล้ว ผู้ปฏิบัติที่เก่งขึ้นไปอีกก็จะเห็นเลยว่า ตอนนี้ความโกรธเกิดขึ้นจิตเป็นคนรู้ว่าโกรธ จิตไม่ได้โกรธ จิตเป็นแค่คนรู้ว่าโกรธ มันจะค่อยๆ พัฒนาความสามารถของจิตใจเราขึ้นมา

อย่างคนทั่วไปเห็นไหม โกรธนี่มันก็ไปสนใจคนที่ทำให้โกรธ รักมันก็ไปสนใจคนที่ทำให้เรารัก ปฏิบัติในเบื้องต้นมันก็จะเห็นว่า ตอนนี้เรากำลังรักตอนนี้เรากำลังโกรธ พอปฏิบัติเข้มแข็งขึ้นจะเห็นว่าความรักหรือความโกรธมันเป็นของแปลกปลอมเข้ามาในใจเรา ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปชั่วคราวเท่านั้นเองเดี๋ยวก็ไปแล้ว เฝ้ารู้เฝ้าดูจะเห็นว่าจิตใจที่เป็นคนรู้มันอยู่ต่างหากไม่เกี่ยวกัน พอเราแยกอย่างนี้ได้ แยกรูปคือร่างกายออกไป แยกเวทนาออกไป แยกสังขารคือความปรุงดีปรุงชั่วออกไป แยกจิตวิญญาณเป็นตัวรับรู้ออกไป แยกออกจากกัน เราก็จะเจริญปัญญาได้ในขั้นวิปัสสนาแล้ว ต่อไปนี้ แยกกายแยกใจแยกเวทนาแยกสังขารแยกจิตวิญญาณอะไรอย่างนี้ อันนี้เป็นปัญญาเบื้องต้นยังไม่เห็นยังไม่ถึงขั้นเจริญวิปัสสนา ตรงที่จะเจริญวิปัสสนานี่คือพอเราแยกกายออกไปส่วนหนึ่งเวทนาออกไปส่วนหนึ่งสังขารความปรุงดีปรุงชั่วส่วนหนึ่งจิตอยู่ส่วนหนึ่ง

พอแยกออกจากกันแล้วค่อยๆ สังเกตไป ทุกๆ สิ่งนั้นเป็นของที่เกิดแล้วดับทั้งสิ้น ค่อยๆ ดูอย่างนี้ นี่เรียกว่าเราเริ่มดูเจริญปัญญาแล้ว เช่นเราเห็นร่างกายที่หายใจออก หายใจออกแล้วร่างกายที่หายใจออกก็ดับมีร่างกายที่หายใจเข้าขึ้นมาแทนที่ ร่างกายหายใจเข้าอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับมีร่างกายที่หายใจออกมาแทนที่ หรือเราเห็นร่างกายนั่งอยู่มันก็ไม่ได้นั่งตลอด ประเดี๋ยวมันก็ต้องลุกขึ้นมาเดินหรือลงไปนั่งแล้วเดี๋ยวก็นอน ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ทำไมมันต้องเปลี่ยนอิริยาบถ เพราะมันทุกข์ มันถูกความทุกข์บีบคั้น เราดูลงในร่างกายเรื่อยๆ จิตเป็นคนรู้คนดู เราก็จะเห็นร่างกายเดี๋ยวก็ต้องหายใจออกร่างกายเดี๋ยวก็หายใจเข้า ร่างกายเดี๋ยวก็ยืนเดี๋ยวก็เดินเดี๋ยวก็นั่งเดี๋ยวก็นอน ร่างกายเดี๋ยวก็เคลื่อนไหวร่างกายเดี๋ยวก็หยุดนิ่ง เคลื่อนไหวตลอดแล้วเป็นอย่างไร เคลื่อนตลอดเวลาทุกข์ไหม ขยับมืออย่างนี้ทั้งวันทุกข์ไหม มันก็ทุกข์ ร่างกายก็ทรมาน ฉะนั้นเราต้องหยุดขยับ นิ่งๆ เพื่อแก้ทุกข์ของการเคลื่อนไหว

 

การเห็นความจริงเรียกว่าวิปัสสนา

ถ้าเรามีสติรู้อยู่ในร่างกายเรา จิตเป็นคนรู้คนดูอยู่นี่ ต่อไปเราจะเห็นความจริงของร่างกาย การเห็นความจริงนั่นล่ะเรียกว่าวิปัสสนา การที่เราเห็นกายการที่เราเห็นใจตรงนั้นเรามีสติ แต่ตรงที่เราเห็นว่าร่างกายมีแต่ความทุกข์บีบคั้นอยู่ ตรงนี้เราขึ้นเจริญปัญญาในขั้นวิปัสสนาปัญญาแล้ว เราเห็นร่างกายนี้ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา หรือบางคนก็เห็นร่างกายเป็นแค่วัตถุ หายใจเข้าแล้วก็หายใจออก หายใจออกแล้วก็หายใจเข้า มีธาตุไหลเข้า ธาตุอะไรไหลเข้าไป มีธาตุลมไหลเข้าไปแล้วก็มีธาตุลมไหลออกไป กลับไปกลับมา ร่างกายนี้เป็นวัตถุเป็นก้อนธาตุเท่านั้นเอง หรือกินอาหารเข้าไปใช่ไหม เสร็จแล้วก็ขับถ่ายออกมา ร่างกายเป็นแค่วัตถุธาตุ มีธาตุไหลเข้าไปแล้วก็มีธาตุไหลออกมา ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเราของเราหรอก วัตถุมันเป็นสมบัติของโลก เพราะฉะนั้นร่างกายมันเป็นวัตถุมันก็เป็นของโลกมันไม่ใช่ของเรา เราเริ่มเห็นสิ่งที่เรียกว่าอนัตตาแล้ว ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเราเป็นสมบัติของโลก ตรงนี้เรียกว่าเราเจริญวิปัสสนา

การเจริญวิปัสสนานี่จะต้องเห็นไตรลักษณ์อันใดอันหนึ่ง เห็นกายเห็นใจเป็นอนิจจังก็ได้ เห็นกายเห็นใจเป็นทุกขังก็ได้ เห็นกายเห็นใจเป็นอนัตตาก็ได้ เห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง เห็นอย่างใดอย่างหนึ่งว่าอนิจจังก็ได้หรือทุกขังก็ได้หรืออนัตตาก็ได้ อย่างดูร่างกายนี่ตัวที่เห็นได้ง่ายคือตัวทุกข์ ลองนั่งแล้วไม่ขยับสิ แป๊บเดียวก็ทุกข์แล้ว เมื่อย ที่เรานั่งแล้วต้องขยับไปขยับมาเพราะมันเมื่อยมันทุกข์ ร่างกายนี้ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเรามีสติระลึกรู้อยู่ในกายเนืองๆ เราจะเห็นเลยร่างกายนี้ไม่ใช่ของดีของวิเศษ ร่างกายนี้เป็นตัวทุกข์ ถ้ารู้อย่างนี้มันได้อะไรขึ้นมา วันหนึ่งเราแก่ร่างกายเราเคลื่อนไหวไม่ค่อยไหวแล้ว หรือเราไม่สบายมาก นอนติดเตียงแล้วทรมานมากเลย คนซึ่งไม่เคยฝึกกรรมฐานมันจะทุรนทุรายกลุ้มใจ แต่คนที่เคยฝึกกรรมฐานมันจะเห็นว่าธรรมดาของร่างกายมันเป็นอย่างนี้ คือธรรมดาของร่างกายมันต้องแก่มันต้องเจ็บมันต้องตาย เราเคยฝึกกรรมฐานเราเคยรู้แล้วร่างกายไม่ใช่ของวิเศษอะไร มีแต่ความทุกข์ เพราะฉะนั้นมันจะแก่มันจะเจ็บมันจะตายเป็นเรื่องธรรมดา

พอเราเห็นว่าร่างกายมีธรรมดาต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ยอมรับตรงนี้ได้ พอเราแก่มันจะไม่กลุ้มใจเพราะมันเรื่องธรรมดา เวลาเราเจ็บเราก็ไม่กลุ้มใจเพราะมันเรื่องธรรมดา เราเห็นร่างกายเจ็บอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว หายใจเข้าก็เจ็บใช่ไหมเดี่ยวก็ทรมานก็ต้องหายใจออก หายใจออกก็เจ็บอีกแล้วก็ต้องหายใจเข้าแก้ทุกข์ นี่มันมีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา คนทั่วไปมันไม่เคยเห็น แต่เรามาฝึกกรรมฐานเราเห็น ร่างกายมันมีความทุกข์ตลอดเวลาอยู่แล้ว ฉะนั้นการที่มันจะเจ็บมันจะป่วยอะไรใจมันไม่หวั่นไหวหรอก มันรู้สึกว่าธรรมดา ถ้ายอมรับคำว่าธรรมดาได้ คำว่าธรรมะกับคำว่าธรรมดานี้คำเดียวกัน คำว่าธรรมะธรรมดา เฝ้ารู้เฝ้าดูจนใจมันยอมรับความจริง ร่างกายมีธรรมดาต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย มีแต่ความทุกข์บีบคั้นอยู่

เวลาจะตายจริงๆ มันจะไม่กลุ้มใจไม่เสียดายแล้ว ตัวทุกข์มันจะตายเสียดายไหม ตัวทุกข์จะตายเราไม่เสียดาย แต่ถ้าตัวดีๆ ของเราตายเราถึงจะเสียดาย แต่เพราะเราเห็นความจริงเสียแล้ว ร่างกายมันตัวทุกข์ มันทุกข์จริงๆ คนในโลกมันหนีความจริง มันทำเป็นเผลอๆ เพลินๆ ไป แต่ถ้าเรามีสติรู้สึกในกายจริงๆ มันคือทุกข์ทั้งนั้นเลย ฝึกตัวเองให้เห็นความจริง พอเราเห็นความจริงของกายแล้วเราจะไม่ทุกข์เพราะร่างกายอีกต่อไปแล้ว ร่างกายเจ็บมันเรื่องของร่างกาย ร่างกายแก่ก็เรื่องของร่างกาย ร่างกายจะตายก็เรื่องของร่างกาย ใจเราสบายใจเราเป็นกลางมีความสุขมีความสงบ ในขณะที่คนอื่นทุกข์ทรมานแทบแย่เราสบาย นี่ค่อยๆ ฝึกตัวเอง

 

 

ทีนี้มาดูทางด้านจิตใจบ้าง เราไม่ได้มีแต่ร่างกายเรามีจิตใจด้วย เราก็เฝ้ารู้เฝ้าดูไปเลย ความสุขมันมาแล้วก็ไปความทุกข์มันมาแล้วก็ไป ฉะนั้นเราจะบ้าแสวงหาความสุขอะไรนักหนา บางคนก็ดิ้นรน เหนื่อยแทบแย่เลย ทำมาหากินหวังว่ารวยเยอะๆ แล้วจะมีความสุข หลวงพ่อก็เห็นเยอะแยะคนรวยๆ ไม่ได้มีความสุขก็มี กลุ้มใจ รวยมากแล้วไม่รู้จะเอาเงินไปไว้ที่ไหน จะไปฝากธนาคารเดี๋ยวธนาคารก็จะล้ม จะไปลงทุนอะไรดี เดี๋ยวหุ้นก็ตก อย่างโน้นอย่างนี้มีเรื่องกลุ้มตลอดเลยหรือโจรมันจะมาปล้น คนรวยๆ ก็มีความทุกข์ ฉะนั้นเราดูให้ดีเถอะ คนในโลกนี้อยากได้ความสุข คนในโลกนี้อยากพ้นทุกข์อยากไม่เจอความทุกข์ แล้วคนมันไม่ฉลาดก็คิดว่าถ้ารวยๆ แล้วจะสุข ทั้งๆ ที่ความจริงรวยแล้วก็ยังไม่สุข

มีเมียสวยๆ แล้วจะมีความสุข ลองมีดูสิแล้วก็จะรู้ว่ามันยังไม่สุขหรอกเดี๋ยวมันก็ทุกข์อีก อย่างเรารักใครสักคน เราคิดว่าเราอยู่กับคนที่เรารักแล้วเราจะมีความสุข แต่เวลาเราไปอยู่กับคนที่เรารัก เราจะเสียอิสรภาพบางส่วนไป เราจะต้องเอาใจเขาใช่ไหม ต้องคอยเอาใจ พูดไม่เข้าท่าเราก็ต้องทำเป็นยิ้มๆ อะไรอย่างนี้ หรือสามีเราเอะอะโวยวาย เราก็รักเขาไม่กล้าทิ้งเขา เราก็เสียความเป็นตัวของเราเอง ฉะนั้นเราคิดว่ามีความรักแล้วจะมีความสุข ในความเป็นจริงไม่ใช่ เวลาเรามีความรัก เราก็เสียอิสรภาพของเราไปบางส่วนแล้ว ฉะนั้นเวลาคนในโลกนี้มันเที่ยวหาความสุข แต่มันหาแบบไม่ฉลาด มันคิดว่าถ้ามีอันนี้แล้วจะมีความสุข ถ้าไม่มีอันนี้ถึงจะมีความสุข มันไม่เห็นความจริงหรอก ความสุขไม่ใช่ของที่ต้องดิ้นรนหาหรอก เพราะดิ้นรนหาแทบตายมันอยู่แป๊บเดี๋ยวมันก็ไปแล้ว

ความสุขไม่อยู่กับเราตลอดหรอก อยู่ชั่วคราว เราลองทบทวนในชีวิตเราลองนึกย้อนหลังไป ลองนึกย้อนไปตรงไหนที่เรามีความสุขที่สุด นึกออกไหม ตรงที่เราว่ามีความสุขๆ สุดท้ายมันก็ผ่านไปหมดแล้ว ไม่มีอะไรยั่งยืนหรอก ฉะนั้นการที่จะเอาความสุขมาเป็นเป้าหมายในชีวิตอะไรนี่ไม่ได้เรื่องหรอก สู้มาเรียนรู้ความจริงของความสุขไม่ได้ เพราะความสุขเองเป็นของชั่วคราว เราจะได้ไม่หิวความสุข ถ้าเราไม่หิวความสุข เราก็ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยในการแสวงหาความสุข แล้วเรามาเรียนรู้ความจริง ความทุกข์มันก็อยู่ชั่วคราวเดี๋ยวมันก็ไปเหมือนกัน เราก็จะไม่เกลียดความทุกข์ เราก็ไม่เหน็ดเหนื่อยในการวิ่งหนีความทุกข์ จิตใจเราก็เป็นอิสระไม่ต้องดิ้นรนเพราะความสุขเพราะความทุกข์อีกต่อไป

เราเฝ้าดูลงไปในใจเรานี่ เดี๋ยวความสุขก็เกิดแล้วก็ดับความทุกข์เกิดแล้วก็ดับ นี่เรียกเห็นอนิจจัง มันเกิดแล้วมันก็ดับ มันเกิดแล้วมันก็ดับ เฝ้ารู้เฝ้าดูไป ในที่สุดก็รู้ความสุขก็ไม่ใช่สาระแก่นสาร เป็นของที่เกิดแล้วดับ ฉะนั้นความหิวโหยจนทำให้เราต้องดิ้นรนหาความสุขอย่างมากมาย แล้วก็นำความทุกข์มาให้ตัวเองหรือนำความทุกข์มาให้คนอื่นตั้งเยอะแยะเพื่ออยากจะได้ความสุข เราไปอยากได้ของซึ่งไม่ยั่งยืนเลย เดี๋ยวเดียวมันก็หายไปแล้ว ใจที่ฉลาดมันก็ไม่หิว ไม่หิวความสุขแล้วมันก็ไม่เกลียดความทุกข์ด้วย เพราะมันก็รู้ความทุกข์มันมาชั่วคราวแล้วมันก็ไปเหมือนกัน

 

ยิ่งภาวนาเราจะยิ่งเห็นความทุกข์มากขึ้น

เราลองนึกดูในชีวิตเรา ตรงไหนที่ทุกข์ที่สุด บางคนอกหัก รักเขาแล้วเขาไม่รักหรือเมียนอกใจอะไรอย่างนี้มีความทุกข์ขึ้นมา เฝ้าดูสิความทุกข์ โอ๊ย โลกจะแตกแล้ว กลุ้มใจมากอยากฆ่าตัวตายมาก พอผ่านวันผ่านเวลาไปช่วงหนึ่งก็เฉยๆ แล้วไม่ทุกข์ เห็นไหมความทุกข์ก็ไม่ยั่งยืนความสุขก็ไม่ยั่งยืน ฉะนั้นเราจะไปหาความสุขหาความทุกข์มาเป็นเป้าหมายในชีวิตเรานี่ไม่ได้เรื่องหรอก มันยังน้อยไป สิ่งที่เหนือกว่านั้นยังมีอยู่ เราดู ค่อยๆ ดู ความสุขเกิดรู้ความทุกข์เกิดก็รู้มันดับไปก็รู้ ในที่สุดจิตก็เป็นกลางต่อความสุขความทุกข์ จิตก็ไม่ดิ้นรนแล้ว ถ้าจิตไม่เป็นกลางมันก็ดิ้น ดิ้นแสวงหาความสุขดิ้นหนีความทุกข์ไปเรื่อยๆ จิตใจที่ดิ้นรนนั่นล่ะจิตใจไม่มีความสุข ใจกลุ้ม กลุ้มใจตลอดเวลา

ในโลกนี้คนไม่มีความสุขจริงหรอก รวยแค่ไหนก็ไม่สุข มีอำนาจแค่ไหนก็ไม่มีความสุข ใจมันไม่พอ เราเฝ้ารู้เฝ้าดู ความสุขความทุกข์เราก็เห็น หรือความดีความชั่วในใจเรา เราดูลงไปกิเลสในใจเรานี่เป็นของแปลกปลอม เราเห็นแต่แรกแล้วกิเลสเป็นของแปลกปลอมเข้ามา มาแล้วก็ไปๆ เฝ้าดูอย่างนี้ เดี๋ยวก็โกรธเดี๋ยวก็หาย เดี๋ยวก็โกรธเดี๋ยวก็หาย ตั้งใจจะไม่โกรธหรือตั้งใจจะไม่รัก จิตใจมันก็ดันไปรักมันดันไปโกรธได้เอง เราจะเห็นเลยเราบังคับจิตใจเราไม่ได้ อย่างเราเคยเกลียดคนๆ หนึ่ง แล้วเราตั้งใจว่าต่อไปนี้เราเจอเขาเราจะไม่เกลียด ปรากฏว่าเจอปุ๊บเกลียดปั๊บเลย เราสั่งใจเราไม่ได้ห้ามใจเราไม่ได้ ไม่มีใครห้ามใจตัวเองได้หรอก ไม่มีใครบังคับใจตัวเองได้หรอก เพราะจิตใจเราเป็นอนัตตา อนัตตาแปลว่าไม่อยู่ในอำนาจบังคับ จิตใจจะโกรธเราบังคับว่าอย่าโกรธไม่ได้ จิตใจจะโลภบังคับว่าอย่าโลภก็บังคับไม่ได้

เราเฝ้ารู้เฝ้าดู ความโกรธเกิดขึ้นเราก็รู้ เราก็เห็นว่ามันมาเองแล้วมันก็ไปเอง ความโลภเกิดขึ้นเราก็รู้มันมาเองมันก็ไปเอง เฝ้ารู้เฝ้าดู ในที่สุดใจมันก็ปล่อย มันคล้ายๆ เหมือนลมพัดผ่านมา บางทีลมพัดมาก็พากลิ่นดอกไม้หอมๆ มา แล้วมันก็ไป บางทีมันก็พากลิ่นอะไรเหม็นๆ มาแล้วมันก็ไป ทุกสิ่งในชีวิตเราที่ผ่านเข้ามาจะดีหรือจะเลวจะสุขหรือจะทุกข์จะชั่วหรือจะไม่ชั่วอะไรก็ตาม มันมีแต่ของที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปตลอด ฉะนั้นการที่เราเจริญปัญญาคือเฝ้ารู้ความจริงลงในกายในใจเราไปเรื่อย ในกายนี้ก็มีแต่ความไม่ยั่งยืน มีแต่ความทุกข์ ในความสุขทั้งหลายในความรู้สึกสุขรู้สึกทุกข์ทั้งหลายอะไรนี่ก็ไม่ยั่งยืนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่เที่ยง จิตใจของเราเป็นอนัตตาเราสั่งมันไม่ได้ สั่งว่าอย่ารักมันก็รัก สั่งว่าอย่าโกรธมันก็โกรธ

เฝ้าดูความจริงไปเรื่อยเราจะเห็นเลยในขันธ์ 5 นี่คือในกายในเวทนาในสังขารในจิตใจเรานี้มีแต่ของห้ามไม่ได้บังคับไม่ได้ เฝ้าดูไปเรื่อยๆ ในที่สุดจิตมันก็วาง เบื้องต้นมันจะวางร่างกายก่อน คือดูไปเรื่อยๆ เห็นเลยร่างกายไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา ร่างกายเป็นสมบัติของโลก เบื้องต้นเรายืมเชื้อสายพันธุ์ของพ่อของแม่มาคนละนิด มาประกอบกันขึ้นมาเป็นร่างกายนี้ อาศัยอาหารอาศัยน้ำอาศัยอากาศของโลกเลี้ยงมันจนมันตัวโตขึ้นมา แล้ววันหนึ่งมันก็แตกสลาย ดินไปสู่ดินน้ำไปสู่น้ำลมไปสู่ลมไฟไปสู่ไฟ คืนให้โลกไปทุกสิ่งทุกอย่าง ร่างกายไม่ใช่ของดี เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป ร่างกายเป็นวัตถุของโลกเป็นอนัตตา ร่างกายนี้มีแต่ความทุกข์บีบคั้นให้แตกสลายอยู่ตลอดเวลา หนาวมากเกินไปก็ตายร้อนมากเกินไปก็ตาย อิ่มมากก็ตายหิวมากก็ตาย พร้อมจะแตกสลายอยู่ตลอดเวลา ร่างกายไม่ใช่ของดีของวิเศษ

พอเห็นอย่างนี้ลึกซึ้งอย่างนี้ จิตใจไม่ยึดถือร่างกาย จิตใจก็เป็นอิสระจากร่างกาย พอมาดูถึงจิตใจเราก็พัฒนาต่อไป ก็จะเห็นเลยจิตใจเราจะสุขหรือจะทุกข์ จะดีหรือจะชั่วก็เป็นของชั่วคราว เป็นของบังคับไม่ได้ห้ามไม่ได้ หาสาระแก่นสารไม่ได้ มันทุกข์อยู่โดยตัวของมันเอง เฝ้าดู ในที่สุดจิตก็ปล่อยวางจิต ถ้าจิตปล่อยวางจิตเราก็เป็นอิสระจากจิตใจของตัวเอง เราเข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นจริงๆ เราพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง ยิ่งภาวนาเราจะยิ่งเห็นความทุกข์มากขึ้น จะเห็นว่ากายนี้ทุกข์ใจนี้ทุกข์ แต่ในขณะเดียวกันขณะที่เราเห็นว่ากายนี้ทุกข์ใจนี้ทุกข์ ความสุขมันก็เริ่มผุดขึ้นมาเริ่มงอกงามขึ้นในใจเรา พุทธะผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานก็ปรากฏขึ้น ค่อยๆ เด่นชัดขึ้น ค่อยภาวนาไป พอเราวางความยึดถือในกายในใจได้ พุทธะที่แท้จริงก็ปรากฏเด่นดวงขึ้นมาในใจเรา เป็นอิสระ มีอิสรภาพมีสันติภาพสงบมีความสุขที่ยิ่งใหญ่ ในความสงบนั้นไม่ใช่สงบแบบแห้งแล้ง เป็นสงบที่มีความสุขไม่มีอะไรเหมือน ความสุขที่เทียบด้วยความสงบไม่มีหรอก

เราภาวนาในที่สุดจิตเราก็สงบ พระนิพพานชื่อว่านิพพานๆ ถ้าจะแปลว่ามันมีลักษณะอย่างไร อธิบายว่ามันเป็นอย่างไร นิพพานคือความสงบ สงบจากกิเลส สงบจากการดิ้นรนปรุงแต่งแสวงหา สงบจากธาตุขันธ์ เป็นอิสระจากรูปนามกายใจ สงบจากทุกข์ไม่ทุกข์อีกต่อไปแล้ว พ้นจากทุกข์เด็ดขาด เพราะทุกข์มันอยู่ที่กายทุกข์มันอยู่ที่ใจ จิตที่มันพ้นทุกข์แล้วมันไม่ทุกข์ไปกับกายกับใจหรอก กายกับใจมันก็ทุกข์ของมันต่อไป แต่จิตที่มันถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้วมันไม่ทุกข์ด้วยหรอก ฉะนั้นเราฝึก ทำอย่างที่หลวงพ่อบอกนี่ล่ะ เราไปฟังสิ่งที่หลวงพ่อสอนวันนี้ ฟังหลายๆ รอบ ฟังทีเดียวจำได้นิดเดียวเข้าใจนิดเดียว ฟังหลายๆ รอบ ถ้าเข้าใจแล้วการปฏิบัติที่เหลือไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปแล้ว

 

 

พวกเราฟังแล้วก็เอาไปปฏิบัติเอา ไม่มีใครช่วยเราให้พ้นทุกข์ได้นอกจากตัวเราเอง ไม่มีใครทำเราให้ถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นได้นอกจากตัวเราเอง นี่คือกฎแห่งกรรม เราทำเหตุอย่างนี้เราก็ได้ผลอย่างนี้ ถ้าเราทำเหตุของความมีศีล เราก็ไม่แพ้กิเลส ไม่แพ้กิเลสหยาบๆ ถ้าจิตใจเรามีสมาธิ เราก็มีความพร้อม มีสติมีสมาธิ เราพร้อมที่จะเจริญปัญญาแล้ว พร้อมจะเข้าสงครามเอาชนะกิเลสแล้ว ตรงที่ขั้นเจริญปัญญาคือการทำสงคราม แล้วก็ชนะกิเลสในที่สุด

พอเราชนะกิเลสนี่เราชนะศัตรูแล้ว จิตใจไม่มีเครื่องเสียดแทงอีกต่อไปแล้ว จิตใจก็เข้าถึงสันติสุข มีความสุขมีความสงบมีอิสรภาพที่แท้จริง ค่อยฝึกไป วันนี้ยังไม่ถึงแต่วันหน้าก็ถึงถ้าเราฝึกไม่เลิก แต่ถ้าเราไม่ฝึกเราก็จมอยู่ในโลกต่อไป ทุกข์อยู่กับชาวโลกนั้นต่อไป คนในโลกไม่มีความสุขที่แท้จริงหรอก ความสุขในโลกนั้นไม่ยั่งยืนสักอย่างเดียว ฉะนั้นเราหาความสุขที่ยั่งยืนยิ่งกว่านั้นดีกว่า ความสุขของธรรมะยั่งยืน ค่อยๆ ฝึกเอา.

 

หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
25 กุมภาพันธ์ 2565