วางขันธ์ได้ก็คือวางโลกได้

จะสิ้นปีแล้ว ลมหนาวมาแล้วที่นี้ มาเมื่อวาน ตอนเช้า มาพร้อมขี้ฝุ่น ถึงเทศกาลเผาทุ่งเผาป่ากันอีกแล้ว เมื่อก่อนอยู่กรุงเทพฯ ชอบหน้าหนาว พอโตขึ้นมา เห็นความจริงของชีวิต ก็รู้ชีวิตมันมีความทุกข์ทุกฤดู ปัญหามันมีอยู่ทุกฤดูกาล ไม่ใช่มีแต่หน้าร้อน ฤดูร้อนใช่ไหม ไม่ค่อยสบายหงุดหงิดง่ายอะไรอย่างนี้ โมโหง่าย ทะเลาะกันง่าย ฤดูฝนก็น่าเบื่อน่ารำคาญสำหรับคนในเมือง คนต่างจังหวัดอาศัยน้ำฝน ฝนไม่ตกก็กลุ้มใจ ฝนตกมากก็กลุ้มใจ ถึงฤดูหนาว มลพิษเยอะแยะไปหมด รวมความ แล้วชีวิตมนุษย์มันไม่ได้มีความสุขสักฤดูเดียว ปัญหามันเกิดขึ้นตลอดเวลา จบเรื่องนี้ก็มีเรื่องนั้น อย่างพออากาศหนาวๆ เราก็อยากให้ร้อน พอร้อนๆ ก็เบื่อ อยากให้ฝนตก ฝนตกไม่เลิกกลุ้มใจอีกแล้วเมื่อไรจะถึงหน้าหนาว ชีวิตไม่เคยมีความสุข ไม่เคยมีความอิ่มความเต็มอะไร วุ่นวายตลอดเวลา อันนี้แค่ฤดูกาล

แล้วจริงๆ เราไม่ได้มีปัญหาเฉพาะฤดูกาล เรื่องอื่นๆ ก็มีปัญหาสารพัดจะมี เรื่องสุขภาพ เรื่องครอบครัว เรื่องหาอยู่หากิน เรื่องทางสังคม บางคนมีอยู่มีกิน มีทุกสิ่งทุกอย่าง แต่คนเขาเกลียดอะไรอย่างนี้ ไม่ได้มีความสุขอีกแล้ว อยากให้คนชอบเพราะไม่มีใครเขาชอบ เขาเกลียดตลอดอะไรอย่างนี้ ฉะนั้นถ้าเราไม่ใช่เด็กเล็กๆ ที่อยู่กับโลกเพ้อฝัน ก็มองโลกที่มันมีจริงๆ ที่มันเป็นจริงๆ เราจะรู้ว่าชีวิตนี้เต็มไปด้วยปัญหา ไม่น่ารื่นรมย์อะไรนักหนาหรอก

อย่างตอนเด็กก็มีปัญหาแบบเด็ก วัยรุ่นก็มีปัญหาแบบวัยรุ่น เมื่อโตขึ้นมาก็มีปัญหา แต่ละรุ่นๆ แต่ละชั้น แก่แล้วก็มีปัญหาอีก แบบคนแก่ ทุกฤดูกาลก็มีแต่ปัญหา ทุกช่วงวัยก็มีแต่ปัญหา โลกนี้ไม่น่าเอร็ดอร่อยอะไรหรอก โลกนี้สนุกสนานสำหรับคนหลงเท่านั้น คนเห็นโลกตามความเป็นจริงมันจะเบื่อ ใจมันก็จะอยาก ทำอย่างไรเราจะพ้นความวนเวียนวุ่นวายอย่างนี้ ทำอย่างไรจะพ้นไปได้สักที

 

ชาวพุทธไม่ได้เกิดมาใช้กรรม
ชาวพุทธเกิดมาเพื่อทำกรรมที่ดีขึ้นๆ

คนส่วนใหญ่ไม่ได้ยินไม่ได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่มีทางพ้นไป บางคำสอนเขาก็สอนให้ยอมจำนน ถือว่าปัญหาทั้งหลายทุกข์ทั้งหลายอะไรถูกกำหนดมาเรียบร้อยแล้ว เราเกิดมาเพื่อใช้กรรม เกิดมาใช้กรรมไม่ใช่ชาวพุทธ นั่นลัทธิยอมจำนน ชาวพุทธไม่ได้เกิดมาใช้กรรม ชาวพุทธเกิดมาเพื่อทำกรรมที่ดีขึ้นๆ จนวันหนึ่งอยู่เหนือกรรม ฉะนั้นได้ยินเกิดมาใช้กรรม ถ้าคิดอย่างนี้ เวลาชีวิตมีปัญหาก็ถือว่าเป็นกรรมเก่าของเรา สบายใจ ก็หลอกตัวเองไปได้ชั่วครั้งชั่วคราว

หรือบางทีก็สอน เทวดาลองใจพระเจ้าลองใจว่าเราจะศรัทธาจริงไหม เลยมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นมากมาย ถ้าคิดว่าเราถูกลองใจ เราต้องทำให้ดีแล้ววันหนึ่งเทวดาจะเห็นใจอะไรอย่างนี้ ถ้าคิดอย่างนี้ก็สบายใจไปอีกแบบหนึ่ง คือแต่ละคนก็มีทางออกเพราะชีวิตมันมีปัญหามากมีความทุกข์มาก ก็หาทางออกไป

อย่างบางคน พวกที่เชื่อว่าเกิดมาใช้กรรม ก็พยายามใช้กรรมให้เร็วขึ้น อย่างพยายามทรมานตัวเอง พวกลัทธิทรมานกาย กะว่าเป็นการใช้กรรม ใช้หมดแล้วก็เข้าถึงนิพพานได้สบาย เคยมีพวกปฏิบัติแล้วบอกใช้กรรมเก่า พอถูกถามว่าใช้ไปแล้วเท่าไร เหลืออยู่เท่าไร ตอบไม่ถูกเพราะตัวเองก็ไม่รู้เหมือนกัน เชื่องมงายไปอย่างนั้นเอง พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนเราแบบนั้น ไม่ได้สอนให้เรายอมจำนน แต่สอนให้เราเรียนรู้ความจริง ถ้าเราเห็นความจริงว่าชีวิตนี้ไม่มีอย่างอื่นนอกจากทุกข์ ใจมันจะไม่ค่อยดิ้นรน ค่อยๆ คลายออกๆ ไม่ได้เกลียดทุกข์ แต่ให้รู้ทุกข์ เรียนรู้มันไปเรื่อย ร่างกายนี้มีอะไร ร่างกายก็มีแต่ทุกข์ จิตใจกระทบอารมณ์ทีไรก็กระเพื่อมหวั่นไหว

เมื่อก่อนหลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อก็ดูลงไป มีสติรู้สึกเราในร่างกาย ร่างกายนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ แต่เราจะทิ้งมันได้อย่างไร ไปไหนมันก็มีร่างกายไปด้วย ทิ้งมันก็ไม่ได้ อยู่กับมันก็ไม่มีความสุข มีแต่ทุกข์ หันมาดูจิตดูใจ ตอนทำสมาธิจิตสงบลงไปก็มีความสุขหรอก พอจิตถอนออกจากสมาธิ พอมีการกระทบอารมณ์เกิดขึ้น ตาเห็นรูป จิตก็ไหว หูได้ยินเสียง จิตก็ไหว จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด จิตก็ไหวกระเพื่อมตลอดเวลา สติก็ระลึกรู้ลงไปเห็นความกระเพื่อมไหว มันไหวอยู่กลางหน้าอกนี่ล่ะ ไหวๆๆ ทั้งวันทั้งคืน

พอเห็นมากเข้าๆ เราจะรู้เลยไม่มีอย่างอื่นเลยนอกจากทุกข์ จิตนั้นมันมีภาระตลอดเวลาพอกระทบอารมณ์แล้วมันก็กระเทือน มันสั่น มันสะเทือน มันไหว ไม่มีวันหยุดนิ่ง ทีแรกเราเห็นว่ากระทบอารมณ์หยาบๆ แล้วมันกระเทือนขึ้นมา มันทุกข์ พอมันกระทบอารมณ์ละเอียด อย่างเราเข้าสมาธิ กระทบอารมณ์ละเอียด เรารู้สึกมีความสุข พอภาวนามากขึ้นๆ ไม่ได้เห็นอย่างนั้น เห็นว่ากระทบอารมณ์หยาบๆ ก็มีความทุกข์รุนแรงขึ้นมา กระทบอารมณ์ละเอียด จิตก็ไหวๆๆ ขึ้นมา

จิตไหว จิตทำงาน จิตกระเพื่อมขึ้นมาทีไร ถ้าสติเราละเอียดพอ สมาธิเรามากพอ ปัญญามันจะหยั่งรู้เลย ทุกคราวที่กระเทือนขึ้นมา ทุกข์ทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้นเวลาสภาวธรรมใดๆ ผุดขึ้นจากหทย ผุดขึ้นมา ตำราเขาบอกอยู่ในหัวใจ แต่เราภาวนา เราเห็นมันอยู่ที่กลางอก มันผุดขึ้นมาจากกลางอก ถ้ากระทบอารมณ์เบาๆ มันก็ไหวๆๆ อยู่ ไม่แปลออกมาไม่ผุดขึ้นมาว่าอันนี้สุขหรือทุกข์ ดีหรือชั่ว หรืออันนี้มันไหวเรื่องอะไร

บางทีนั่งเฉยๆ ไม่มีอะไรมากระทบ อาศัยอารมณ์เก่าๆ อตีตารมณ์ มันก็ยังไหวขึ้นมาได้อีก แล้วเวลามันไหวขึ้นมา เราจะรู้เป็นภาระจริงๆ มันคล้ายๆ เราอยู่บนพื้นซึ่งมันสะเทือนตลอดเวลา อย่างเวลาคนเขาเจาะถนนเคยเห็นไหม เขาเจาะถนน มีเครื่องเจาะทิ่มลงไป แผ่นดินก็กระเทือน ตึ๊บๆ ตึ๊บๆ อย่างนั้น เราเห็นจิตเราไหวเหมือนเราไปยืนอยู่บนที่เขาเจาะถนนอย่างนั้น มันมีความสุขตรงไหน

กระทั่งความไหวอย่างละเอียดที่ผุดขึ้นมาแล้วเป็นกุศล ผุดขึ้นมาแล้วเป็นความสุขอะไรอย่างนี้ มันก็ยังเป็นความแปลกปลอม เป็นความสั่นสะเทือน รู้เลยโลกนี้สุดท้ายโลกนี้ไม่มีอะไร เป็นแค่ความสั่นสะเทือน เป็นแค่คลื่น โลกทั้งโลก จักรวาลทั้งจักรวาล เป็นแค่คลื่น เป็นแค่ความสั่นสะเทือนเท่านั้นเอง พอเราภาวนาเราจะรู้เลย มันทุกข์ทั้งนั้น ไหวแรงก็ทุกข์ ไหวเบาๆ ก็ทุกข์ พยายามจะไม่ไหว ตรงที่พยายามเกิดเจตนาจะไม่ให้มันไหว ก็ทุกข์อีกแล้ว

 

ความพ้นทุกข์อยู่ตรงที่พ้นขันธ์

ภาวนามากๆ เข้า เราจะเห็น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป เราเฝ้ารู้กาย เราก็จะเห็นกายก็มีแต่ทุกข์ตั้งแต่ตื่นจนหลับ หลับแล้วก็ยังทุกข์อีก นอนหลับนี่ยังดิ้นไปดิ้นมา จิตใจก็มีแต่ทุกข์ เวลาจิตเกิดความรู้สึกทุกข์ มันก็ทุกข์ จิตมีความสุขมันก็ทุกข์ มันทุกข์นิ่มๆ เวลาจิตเป็นอกุศล มันทุกข์เร่าร้อน จิตเป็นกุศล มันทุกข์ร่มเย็น มันก็สะเทือนเหมือนกันล่ะ

เราจะเห็นชีวิตนี้ทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรมมีแต่ความสั่นไหว มีแต่ความกระทบกระเทือน โลกทั้งโลกก็เป็นแค่ความสั่นไหว เป็นแค่คลื่น หาสาระแก่นสารไม่ได้ ภาวนาเรื่อยๆ รู้เลยความสุขก็ไม่ใช่ที่พึ่งอาศัย บุญกุศลเป็นกำลังส่งให้เราภาวนา แต่ก็ยังไม่ใช่ที่พึ่งที่อาศัยที่แท้จริง สมาธิส่งผลให้เราภาวนาได้ ก็ยังไม่ใช่ที่พึ่งที่อาศัย ปัญญา ความรู้ถูกความเข้าใจถูก ก็ยังไม่ใช่ที่พึ่งที่อาศัย มันมันรู้ถูกได้ มันก็ยังทำงานอยู่ ก็ยังทุกข์อยู่

ค่อยๆ ภาวนา เราเห็นความปรุงแต่งทั้งหลายเกิดขึ้นทีไร ความทุกข์เกิดขึ้นทุกที จะเข้าใจคำว่าสังขารทั้งหลายสงบเสียได้เป็นสุข ความปรุงแต่งทั้งหลายสงบลงไป ระงับลงไป สงบระงับนั้นโดยตัวของมัน ร่างกายอะไรต่ออะไรมันเป็นของโลก จิตใจมันก็เป็นของโลก ไม่ใช่ของเราเหมือนกัน เราภาวนา เมื่อไรที่เราเห็นแจ่มแจ้ง กายนี้ทุกข์ จิตมันก็วางกาย ถ้าเห็นจิตนี้มันทุกข์ มันกระเพื่อมหวั่นไหวอยู่ตลอดเวลา จิตมันก็วางจิต ความพ้นทุกข์ก็อยู่ตรงที่พ้นขันธ์

ขันธ์ก็คือตัวความปรุงแต่งทั้งรูปธรรมนามธรรมนั้นล่ะ จิตจะพ้นจากขันธ์ได้ก็ต้องเห็นทุกข์ ขันธ์นี้ไม่มีอะไรนอกจากทุกข์ เห็นอย่างนี้ได้จิตถึงจะวางขันธ์ จิตจะเข้าถึงความสงบร่มเย็น ไม่มีความกระเพื่อมหวั่นไหว หลวงปู่ดูลย์ท่านอธิบายบอกว่ามันว่าง สว่าง บริสุทธิ์ หยุดความปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาของจิต อย่างความไหวนั้นยังเป็นกิริยาของจิต ไม่เหลืออะไรเลย ไม่มีอะไรเลย ไม่เหลืออะไรสักอย่างที่จะเอาไว้เกาะเกี่ยวยึดถือ ไม่ว่ารูปธรรมหรือนามธรรม

สภาวะที่มันพ้นจากทุกข์ไป มันก็พ้นจากธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมไป ไม่มีพระอาทิตย์ไม่มีพระจันทร์ ไม่มีกลางวันไม่มีกลางคืน เสถียร มันเป็นความสุขที่ไม่มีอะไรเสียดแทง ความสุขของโลกเป็นความสุขที่มีความเสียดแทงตลอดเวลา ถ้าเรามีสติมีปัญญา พยายามขวนขวายเข้า ศาสนาพุทธไม่ใช่ศาสนาที่จะยั่งยืนหรอก เป็นศาสนาของคนซึ่งมีบุญจริงๆ มีบารมีจริงๆ ถึงจะเข้าใจได้ คนส่วนใหญ่ก็ยังต้องใช้เวลาอีก สะสมเรียนรู้ชีวิตต่อไป จนกระทั่งเห็นว่านอกจากทุกข์ไม่มีอะไร นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีอะไรตั้งอยู่ ไม่มีอะไรดับไป เห็นอย่างนั้น จิตถึงจะพ้นจากขันธ์

ฉะนั้นต่อไปความทุกข์เกิดขึ้น อย่าไปเกลียดมัน ในร่างกายเราอย่างนี้ มันเจ็บป่วย อย่าเสียอกเสียใจ อย่าไปเกลียดชังร่างกายด้วย อย่าไปรัก อย่าไปหวงแหนมันด้วย ดูอย่างที่มันเป็น ร่างกายจริงๆ มันเป็นอะไร ก็เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม ดิน น้ำ ไฟ ลม มันมีมาตั้งแต่ก่อนเราจะเกิดแล้ว มันเป็นสมบัติของโลก เรามายืมเขาใช้ชั่วครั้งชั่วคราว ดูลงไปอย่างนี้ เวลามันเจ็บป่วย ทุกข์ทรมาน ดูลงไปเลยร่างกายนี้มันของโลก ไม่ใช่ของเราหรอก เจ้าของเขาส่งคำเตือนมาด้วยความเจ็บป่วย ด้วยความแก่ ด้วยความเจ็บ นี่เป็นคําเตือนจากธรรมชาติ จากเจ้าของร่างกายนี้ ว่าเขาจะเอาคืนแล้ว

ถ้าเรายังหวงแหนสมบัติที่ยืมเขามาใช้ เราก็จะทุกข์มาก ความทุกข์จะอัพเกรดจากความทุกข์ทางร่างกายมาสู่ความทุกข์ทางจิตใจ ถ้าเรียนรู้ลงในกายให้มากพอแล้วกายมันก็แค่วัตถุ ใจมันยอมรับได้ เจ้าของเขาจะทวงแล้ว เขาส่งสัญญาณเตือนแล้วด้วยความเจ็บ ด้วยความแก่ ก็ยอมรับสภาพ เขาทวงแล้ว คืนเขาไป ใจก็ไม่หวั่นไหว ในด้านจิตใจ ทีแรกเราว่าจิตมันเป็นตัวเราเป็นของเรา ยิ่งจิตสงบทรงฌานทรงสมาธิ โอ๊ย มีความสุข ภาวนาเรื่อยๆ เราจะเห็น จิตมันไม่มีอะไร มันกระเพื่อมหวั่นไหว เกิดดับ หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รู้ไปจนแจ่มแจ้ง จิตนั่นก็คือตัวทุกข์นั่นล่ะ ก็จะวาง ทีแรกก็ดูยากหน่อย ค่อยๆ ฝึกไป หัดสังเกต หัดรู้หัดดูไป

เมื่อเช้าก็มีทีมงานคนหนึ่ง เป็นทิดเก่า ส่งการบ้าน น่าฟัง เขาเห็นจิตเขาเป็นผู้รู้ มีจิตผู้รู้ แล้วจิตผู้รู้นั้นมันก็ค่อยๆ เลือนๆๆ ค่อยๆ เฟดลงไปแล้วก็ไหลออกไป บอกเห็นไหมกระทั่งจิตผู้รู้เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป เวลาเราภาวนา เราไม่ต้องรู้อะไรมากมาย ถ้าเราสามารถเห็นกระทั่งว่าจิตผู้รู้เอง เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วดับไป เห็นจริงๆ ไม่ใช่คิดเอา แค่นี้ก็พอแล้ว การปฏิบัติสำหรับคนๆ หนึ่ง ไม่ได้มีอะไรมากมายหรอก

ถ้าเราเห็น เราจะพบว่าไม่ว่าจิตจะดีจะวิเศษแค่ไหน มันก็ยังเอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ ฉะนั้นจิตทั้งหลายก็ยังเป็นขันธ์อยู่ เป็นสังขารอยู่ เอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยอะไรไม่ได้จริง มีแต่เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับไป พอรู้ถ่องแท้ จิตมันวาง คราวนี้จิตมันแปรสภาพกลายเป็นธรรมธาตุ เป็นธาตุ เป็นวิญญาณธาตุ เป็นธาตุรู้ที่บริสุทธิ์ขึ้นมา ธาตุรู้ที่บริสุทธิ์ มันไม่มีอะไรปนเปื้อนได้ ความสุขเข้ามาก็ไม่ปนเปื้อน ความทุกข์เข้ามา ความทุกข์ก็ไม่เข้ามาปนเปื้อน กุศลหรืออกุศลก็ไม่เข้ามาปนเปื้อน จิตมันเข้าถึงความสุขความสงบ เข้าถึงสันติภาพสันติสุขอย่างแท้จริง เพราะว่ามันพ้นความปรุงแต่งสิ้นเชิง

 

หลักสูตรเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น ก็คือตัวไตรสิกขา

นี่เป็นเส้นทางของเราชาวพุทธ ตั้งอกตั้งใจศึกษา ทำอย่างไรมันจะมาถึงจุดที่หลวงพ่อบอกได้ เจริญไตรสิกขาไว้ หลักสูตรเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น ก็คือตัวไตรสิกขานั่นล่ะ อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ถ้าเราไม่ทิ้งการศึกษา 3 ข้อนี้ ศึกษาว่าทำอย่างไรศีลจะเกิด ทำอย่างไรศีลที่เกิดแล้วจะตั้งมั่น มั่นคง ไม่คลอนแคลน ไม่ใช่ศีลกลับกลอก ทำอย่างไรจิตเราจะสงบมีกำลัง ทำอย่างไรจิตเราจะตั้งมั่น ทำอย่างไรจิตที่ตั้งมั่นแล้วจะเรียนรู้ความจริงของรูปธรรมนามธรรมทั้งหลายได้

ทีแรกก็รู้อย่างหยาบ ต่อมาก็รู้อย่างละเอียด พอถึงขั้นละเอียด มันไม่มีอะไรหรอก มันเหลือแต่คลื่น อย่างกระทั่งร่างกายหรือวัตถุ แล้วจิตเราทรงสมาธิจริงๆ ดูเข้าไป ธาตุมันแตกออก ดินส่วนดิน น้ำส่วนน้ำ ลมส่วนลม ไฟส่วนไฟ สุดท้ายก็สลายเป็นคลื่นไปหมดเลย จิตใจก็ไหวกระเพื่อม มีเป็นคลื่นอยู่ภายใน เรียนรู้ไป จนมันวาง

การที่จะทำให้เกิดปัญญา อธิปัญญาสิกขา จะไม่ทิ้งหลักของวิปัสสนากรรมฐาน อธิจิตตสิกขานั้นจะเป็นเรื่องของการทำสมถกรรมฐาน สมถกรรมฐานทำแล้วจะได้ 2 อย่าง หนึ่ง จิตได้พักผ่อนมีกำลัง โดยการฝึกจิตให้สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง อีกอันหนึ่งคือฝึกให้จิตมันตั้งมั่นทรงตัวขึ้นมาโดยที่ไม่ได้เจตนา ทรงตัวอยู่โดยไม่ได้เจตนา อย่างนั้นถึงจะเรียกว่าจิตมันมีสมาธิ ทำสมาธิเป็นจริงๆ

ถ้ายังต้องคอยประคับประคองก็ยังใช้ไม่ได้ ต้องฝึกอีก ใครเคยขี่จักรยานไหม เด็กเดี๋ยวนี้ขี่หรือเปล่าไม่รู้ แต่เด็กรุ่นหลวงพ่อไปหัดขี่จักรยานที่สนามหลวง ไปเช่าจักรยานขี่ ก็ล้มลุกคลุกคลานไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งก็ขี่เป็น เราภาวนาก็เหมือนกัน ล้มลุกคลุกคลาน เรื่องปกติ อดทน จิตเรา เหมือนเราขี่จักรยาน หัดทีแรกไม่เป็น พอเริ่มเคลื่อนที่ก็ล้มเลย เหมือนฝึกสมาธิ ทีแรกจิตเรายังไม่มีกำลัง ไม่มีสมาธิ ลงมือปฏิบัติ แป๊บเดียวหลงไปแล้ว เผลอไปแล้ว เพ่งไปแล้ว คล้ายๆ ล้มลุกคลุกคลานไปเรื่อยๆ ก็ต้องอดทน

ฝึกสมาธิก็คล้ายๆ เราฝึกขี่จักรยาน ล้มลุกคลุกคลานไม่เป็นไร ล้มลงไปแล้วก็ลุกขึ้นมา จูงจักรยานขึ้นมาขี่อีก ทำสมาธิก็เหมือนกัน แรกๆ มันก็ล้มลุกคลุกคลานทุกคนล่ะ แล้วต่อไปพอมันภาวนาเป็นแล้ว จิตมันมีสมาธิอัตโนมัติ เราไม่ต้องจงใจมีสมาธิ ไม่ต้องจงใจรักษาเลย คล้ายๆ เราขี่จักรยานเก่งแล้ว เราไม่ต้องคอยระวังว่ามันจะล้มไม่ล้ม ขี่ไปยังดูโน่นดูนี่ได้ บางทีปล่อยมือจักรยานยังไม่ล้มเลย นี่เพราะเราขี่เป็นแล้ว

ก็คล้ายๆ ฝึกสมาธิ แรกๆ มันก็ล้มลุกคลุกคลาน ล้มแล้วก็ลุกขึ้นมา ทำต่อไป ใช้กรรมฐานที่เราถนัดของเราไป สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง ล้มแล้วต้องลุกให้ได้เท่านั้นล่ะ ไม่ยอมแพ้ บางคนขี้ขลาด ขี่จักรยานล้มทีเดียว หัวเข่าถลอก มือถลอก เลิกแล้ว ไม่เอาแล้ว ชาตินี้ไม่ฝึกแล้ว อันนี้มันก็ไม่เป็นตลอดไป หรือเราหัดว่ายน้ำ ทีแรกมันก็สำลักน้ำบ้างล่ะ ก็เหมือนกัน คือต่อไปสบายมากเลย ว่ายน้ำ มันสามารถหายใจได้โดยที่ไม่ได้เจตนา อย่างเราว่ายฟรีสไตล์ ตอนที่ตัวเอียงเราก็หายใจได้แล้วพ้นน้ำขึ้นมาแล้ว ไม่ได้เจตนาว่าตอนนี้จะหายใจ ตอนนี้จะก้มหน้าลงไปในน้ำ มันเป็นอัตโนมัติไปหมด

สมาธิ ถ้าเราฝึกไปทุกวันๆ ให้จิตอยู่ในอารมณ์กรรมฐานของเราไป แล้วจิตมันไม่วอกแวกไปโดยที่เราไม่ได้เจตนา อันนี้ถือว่าใช้ได้แล้ว แล้วเราก็พัฒนาสมาธิของเราขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ให้มันเป็นสมาธิชนิดตั้งมั่นขึ้นมาให้ได้ สมาธิสงบไม่ยากอะไร ศาสนาอื่นเขาก็มี แต่สมาธิตั้งมั่นไม่มี ไม่ได้มี ของคนอื่นเขามีสมาธิ แต่ในศาสนาพุทธเรามีสัมมาสมาธิ คนอื่นเขารู้จักสมาธิสงบ เรารู้สมาธิตั้งมั่น ไม่เหมือนกัน 2 อันนี้ อย่างตอนเจ้าชายสิทธัตถะเด็กๆ ไปนั่งใต้ต้นหว้าอะไร จำไม่ได้ต้นอะไร น่าจะต้นหว้าล่ะกระมัง แล้วก็อยู่คนเดียว ท่านก็นั่งทำสมาธิหายใจไป แล้วจิตท่านเข้าปฐมฌาน ในตำราก็พูดไว้แค่นี้

ตอนที่ท่านไปเรียนกับฤๅษี ตอนนั้นเป็นหนุ่มแล้วออกจากวังมาบวช เป็นนักบวชแล้ว ไม่ใช่เจ้าชายแล้ว ก็มาหัดนั่งสมาธิ ก็ทำฌาน 1 2 3 4 5 6 7 8 ถึงฌานที่แปดเลย ถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน จะได้ฌาน 8 มันก็ผ่านฌาน 1 มานั่นล่ะ ท่านกลับพบว่ามันไม่ใช่ทาง สมาธิอย่างนี้ไม่ใช่ทาง สมาธิมันมีทั้งที่เป็นสมาธิกับที่เป็นสัมมาสมาธิ มันคนละอันกัน เสร็จแล้วเจ้าชายสิทธัตถะท่านนึกถึงสมาธิที่ท่านได้ตอนเด็กๆ ได้มาโดยไม่ได้เจตนา มันเป็นบุญเป็นบารมีที่ท่านสะสมข้ามภพชาติมา

ท่านระลึกถึงสมาธิดั้งเดิมของท่านได้ ท่านก็ลงมือทำสมาธิของท่าน ใช้อานาปานสติ ด้วยความมีสติกำกับอยู่ตลอดสายของการปฏิบัติ ไม่ได้มุ่งที่สงบ แต่มุ่งที่ความรู้สึกตัว ถ้าทำสมาธิแล้วมุ่งไปที่สงบ โอกาสจะไปเป็นมิจฉาสมาธิมันสูง ถ้าทำสมาธิแล้วเน้นที่ความรู้สึกตัวไม่ขาดสติ จิตจะได้สัมมาสมาธิ มีสติรู้สึกตัว เรียกมีสัมมาสติ สติไประลึกรู้อารมณ์ที่เป็นกุศลอย่างอื่น ไม่ใช่รูปธรรมนามธรรมอย่างนี้ อันนั้นก็เป็นสติธรรมดา ถ้าเป็นสติระลึกรู้รูปธรรมนามธรรม เขาเรียกว่าสัมมาสติ

 

ถ้าไม่มีสัมมาสติ ก็ไม่มีสัมมาสมาธิ

ถ้าเรามีสติระลึกรู้ อย่างร่างกายมันหายใจอยู่ ระลึกรู้อยู่ ใจมันตั้งมั่นขึ้นมา ก็จะได้สัมมาสมาธิ ฉะนั้นสัมมาสติก็จะทำให้เกิดสัมมาสมาธิ ถ้าไม่มีสติ อย่าพูดเรื่องสัมมาสมาธิ อันนี้เป็นสมาธิพื้นๆ แมวจะจับหนู แมวก็มีสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิ แมวก็จับหนูไม่ได้ ฆาตกรจะไปดักยิงคน มันก็ต้องมีสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิมันก็ยิงผิด จะยิงหูเข้าไปถูกหัว เอ๊ย จะยิงหัว ไปโดนหูมัน สมาธิมันไม่พอ

ฉะนั้นสมาธิมันเกิดร่วมกับจิตทุกดวง ทั้งดีและชั่ว แต่สัมมาสมาธิไม่ได้เกิดกับจิตทุกดวง ถ้าไม่มีสัมมาสติ ก็ไม่มีสัมมาสมาธิ มีสติเฉยๆ สติแล้วกำหนดไปเรื่อย กำหนดลงไปเรื่อย มันก็ไม่เกิดสัมมาสมาธิ เพราะตรงที่กำหนดนั้น จิตยังเจือด้วยโลภะอยู่ ไม่ใช่สติที่แท้จริง กำหนดมือ กำหนดเท้า กำหนดท้องอะไรอย่างนี้ ยังจงใจกำหนดอยู่ ยังมีโลภเจตนาอยู่ มันก็ไม่ใช่สติที่แท้จริง ไม่ใช่สัมมาสติ

สติทำหน้าที่แค่ระลึกรู้ ระลึกรู้ร่างกายที่หายใจออก ระลึกรู้ร่างกายที่หายใจเข้า ระลึกรู้ความสุขความทุกข์ในร่างกาย ระลึกรู้ความสุข ความทุกข์ ความไม่สุขไม่ทุกข์ในจิตใจ ระลึกรู้กุศลอกุศลที่เกิดขึ้นในจิตใจ ระลึกรู้ความเกิดดับของตัวจิต เราจะเห็นจิตเกิดดับได้ต้องมีจิตผู้รู้ ถ้าไม่มีจิตผู้รู้ เรามีแต่จิตผู้หลง

แล้วมันจะไปรู้ได้อย่างไรว่ามันหลง เพราะว่ามันหลงมาตลอด เมื่อไรมีจิตผู้รู้ เราถึงจะรู้จักจิตผู้หลง แล้วทําอย่างไรจะเกิดจิตผู้รู้ มีสติรู้ทันจิตผู้หลงแล้วมันจะเกิดจิตผู้รู้ เอาสิแปลกดีไหม มีสติรู้ทันจิตผู้หลง จิตผู้หลงดับ มันจะเกิดจิตผู้รู้ พอเรามีจิตผู้รู้แล้ว ต่อไปนี้จิตผู้หลงเกิดขึ้นมันจะรู้ทันทีเลย ฉะนั้นเราคอยหัดสังเกตเวลาจิตเราหลง หัดสังเกตเรื่อยๆ จิตผู้รู้มันจะเกิดเอง

ฝึก รีบตั้งอกตั้งใจ ฟังแล้วอย่าฟังเฉยๆ เอาไปตั้งใจทำไว้ อย่าทิ้งหลักของไตรสิกขา เบื้องต้นถือศีลแบบจงใจ ตั้งใจงดเว้นการทำบาปอกุศล 5 อย่าง บางคนมันรู้มาก ท่องตำรามา ไม่ได้ธรรมะ ไม่เข้าใจ เอาแต่ศีล ไม่มีเอาธรรม อย่างบอกมุสาวาท พูดหยาบคายไม่ได้เป็นมุสาวาท เพราะมันอยู่ในอกุศลกรรมบท ไม่ได้อยู่ในศีล ถ้าศีลไม่ครอบคลุมที่จะล้างอกุศลกรรมบท มันจะเป็นศีลได้อย่างไร อันนี้แบบตีความตามใจกิเลสไปเรื่อยๆ ตีความเอาแพ้เอาชนะกัน

อย่างพูดส่อเสียดให้เขาตีกัน พูดคำหยาบ อย่าว่าแต่พูดคำหยาบเลย แค่พูดเพ้อเจ้อ ศีลยังด่างพร้อยเลย ด่างพร้อย ถ้าศีลด่างพร้อย สมาธิมันจะเกิดไหม ไม่เกิดหรอกสัมมาสมาธิไม่เกิด สมาธิพื้นๆ เกิดได้ ฉะนั้นเบื้องต้น ตั้งใจรักษาศีลให้ดี ให้สะอาดให้หมดจดจนเราไม่สามารถตำหนิตัวเองได้ ครูบาอาจารย์ก็ไม่ตำหนิเรา ตั้งใจ เบื้องต้นตั้งใจไว้ก่อน เรียกว่ามีเจตนาวิรัช เจตนางดเว้นการทำบาปอกุศลทางกาย ทางวาจา 5 ประการนั้น

ถัดจากนั้นให้เราฝึกสติให้ดี ถือศีลแล้วก็รีบมาฝึกสติไว้ วิธีฝึกสติมีอารมณ์กรรมฐานอันหนึ่งแล้วก็เรียนรู้มันไป ร่างกาย อย่างเราใช้กายเป็นเครื่องมือฝึกสติอย่างนี้ ร่างกายหายใจ รู้สึก ร่างกายเปลี่ยนอิริยาบถ รู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหวร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึก หัดรู้สึกๆๆ ไปเรื่อยๆ แล้วต่อไป อย่างเราโกรธคน เราขยับจะชกหน้าเขา ร่างกายเราไหวตัวปุ๊บ สติมันเกิด มันรู้ว่านี่ขยับแล้ว ขยับด้วยอำนาจโทสะ จะไปชกเขาแล้ว ศีลมันจะเกิดอัตโนมัติ มันไม่ไปชกเขาแล้ว เพราะสติมันเกิดแล้ว โทสะมันจะดับ ก็ไม่รู้จะชกทำไม

หรือถ้าเราหัดมีสติ อ่านจิตอ่านใจให้ตัวเองให้ชำนาญ ร่างกายยังไม่ทันขยับเลย แต่ใจโมโหขึ้นมาแล้ว อยากฆ่าเขาแล้ว แค่ใจมันคิดเท่านั้น สติก็รู้ทัน มโนกรรมของเราดับ กรรมชั่วทางใจก็ดับทันทีเลย มันก็ไม่ล้นออกมาทางกาย ทางวาจา ศีลมันสมบูรณ์ขึ้นมาโดยการที่เรามีสติ สำรวมดูแลจิตใจตัวเองไว้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ เกิดความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในจิต มีสติรู้ทันไว้ แล้วเราจะได้ศีลอัตโนมัติ

ถ้ายังดูจิตใจไม่ทัน เบื้องต้นจะมาดูกายก่อนก็ได้ อยากจะต่อยเขาเต็มทีแล้ว ร่างกายชักขยับแล้ว รู้สึก สติเกิด รู้กาย สติมันรู้กายก็ได้ รู้เวทนา รู้จิตอะไรได้ทั้งนั้น ในรูปธรรมนามธรรมของเรานี้ จิตมันก็ไม่ถูกความโกรธครอบงำ ก็ไม่ไปต่อยเขา แต่ถ้าชำนาญจริง ดูเข้ามาที่จิต ไม่ต้องรอให้กายเคลื่อนไหวก่อน แค่จิตมันไหวขึ้นมาก็เห็นแล้ว หัดอ่านไปเรื่อยๆ มีสติดูแลรักษาจิตของเราไปเรื่อยๆ จิตสุขก็รู้ จิตทุกข์ก็รู้ จิตดีจิตชั่วก็รู้ ตามรู้อย่างที่มันเป็นไปเรื่อยๆ ไม่ต้องไปควบคุมมัน ไม่ต้องเอาดี แล้วสติเราจะเข้มแข็ง ศีลอัตโนมัติจะเกิด

 

ถ้าตัดตรงเข้ามาที่จิตได้ การปฏิบัติจะลัดสั้นที่สุด

ตรงที่เรามีสติรู้เท่าทันจิตของเรา จิตหลงไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อย่างหลงไปคิด หลงทางใจ เรามีสติรู้ทันจิตที่หลง จิตที่หลงแส่ส่ายแสวงหาอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ดับ มันจะเกิดจิตผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นี่คือจิตที่ทรงสัมมาสมาธิเต็มที่แล้ว เห็นไหมอาศัยสติ เราก็จะได้จิตที่ทรงสัมมาสมาธิขึ้นมา ได้จิตที่มีศีลขึ้นมา พอจิตมันมีสัมมาสมาธิแล้วก็เรียนรู้ความจริงของรูปธรรมนามธรรมไป

อย่างพอจิตเราตั้งมั่น ร่างกายเราขยับ สติระลึกรู้ เห็นร่างกายเคลื่อนไหว จิตเป็นคนดู เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน จิตเป็นคนดู เห็นร่างกายหายใจออกหายใจเข้า จิตเป็นคนดู ต่อไปปัญญามันก็จะเกิด ร่างกายนี้เป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา แล้วมาฝึกไปเรื่อย ก็จะเห็นความสุขความทุกข์ กุศลอกุศล เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา แล้วสุดท้ายเข้ามาที่จิต จิตนี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเหมือนกัน แต่ตัวนี้จะทำได้ต้องมีจิตผู้รู้

ถ้ามีแต่จิตผู้หลงๆ หลงๆๆ มันดูไม่ออกหรอก คล้ายๆ คนกำลังหลงเมาหมัดอยู่ ชกไม่ถูกแล้ว เป็นนักมวยขึ้นไปชก ชกแล้วเมาหมัด เห็นอะไรไหวๆ อยู่ ชกโครมไป ไปชกกรรมการหงายท้องไปแล้ว ทำอะไรไม่ถูก เพราะฉะนั้นจิตเราต้องตั้งมั่น เป็นจิตผู้รู้ให้ได้ก่อน พอมีจิตผู้รู้แล้ว เมื่อไรจิตผู้รู้มันดับ มันเกิดจิตผู้คิด เราก็จะรู้ เออ จิตผู้รู้ไม่เที่ยง แล้วมันก็ไม่ได้เจตนาให้เกิดจิตผู้คิด หรือจิตผู้ดูรูป หรือจิตผู้ฟังเสียง ไม่ได้เจตนา มันเกิดของมันเอง

เฝ้าดูไปเรื่อย เห็นจิตมันก็เกิดดับ สุดท้ายเห็นจิตก็ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราฉะนั้นในขันธ์ 5 ถ้าตัดตรงเข้ามาที่จิตได้แล้ว ตัดตรงเข้ามาเลย ถ้ายังตัดตรงเข้ามาไม่ได้ ก็ไล่ลงไป ดูตั้งแต่กาย บางคนดูกายแล้วพาสก้าวกระโดดเข้ามาเห็นจิตเลย บางคนดูกายแล้วก็ยังไม่เห็นจิต ดูมานานๆ ดูต่อไปที่เวทนา บางคนดูถึงเวทนาแล้วก็เข้ามาเห็นจิต บางคนดูเวทนาแล้วยังไม่เห็นจิตอีก จากเวทนา จิตก็พัฒนาไปเป็นกุศลอกุศล ไปเห็นกุศลอกุศลแล้วถึงจะเข้ามาเห็นจิต

ถ้าคนซึ่งสติ สมาธิ ปัญญาแข็งแรงพอ ไม่ต้องไปเริ่มที่กาย เวทนา หรือกุศลอกุศลใดๆ ทั้งสิ้น รู้เข้ามาที่จิตเลย จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ก็รู้ จิตไม่ตั้งมั่นก็รู้ อันนี้จะอยู่ในจิตตานุปัสสนาที่สูงขึ้นมา มันไม่ใช่จิตตานุปัสสนาท่อนแรก ท่อนแรก จิตมีราคะก็รู้ ไม่มีราคะก็รู้ มีโทสะก็รู้ ไม่มีโทสะก็รู้ มีโมหะก็รู้ ไม่มีโมหะก็รู้ ฟุ้งซ่านก็รู้ หดหู่ก็รู้ อันนี้ช่วงแรกๆ แต่พอเราภาวนาชำนิชำนาญ เราจะเห็นเลย จิตเป็นผู้รู้ เราก็รู้ จิตไม่ใช่ผู้รู้ เราก็รู้ แต่ตรงนี้สมาธิเราต้องแข็งแรงพอ สติเราต้องไวพอ

แต่ก่อนจะถึงตรงนี้ ก็ฝึกมาอย่างที่ว่าล่ะ เริ่มจากกายเลยก็ได้ เริ่มจากเวทนาก็ได้ เริ่มจากจิตก็ได้ เริ่มจากจิตตานุปัสสนา จิตที่เป็นกุศลอกุศล เริ่มจากตรงไหนก็ได้ หรือจะเล่นตามลำดับให้เต็มภูมิเลยก็ได้ ดูจากกาย ก้าวไปเวทนา ก้าวไปสู่จิต ขึ้นไปสู่ธัมมานุปัสสนา พระพุทธเจ้าสอนการปฏิบัติไว้อันหนึ่ง น่าทึ่งมากเลย คืออานาปานสติ 16 ขั้น อานาปานสติ 16 ขั้นครอบคลุมการเจริญสติปัฏฐาน 4 ทั้งหมดเลย ครอบคลุมทั้งหมด ทำยากมาก ของเรา 4 ขั้นแรกก็ไม่ค่อยผ่านแล้ว

ในสติปัฏฐาน มหาสติปัฏฐานสูตรหรือสติปัฏฐานสูตรทั้งหลาย ท่านไม่ได้เน้นให้ขึ้นมาถึง 16 ขั้น เพราะคนส่วนใหญ่ทำไม่ได้ ท่านเอาแค่ 4 ขั้น ทำความสงบ พอจิตเป็นอุเบกขาแล้วก็โน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ เอาจิตที่ตั้งมั่น จิตผู้รู้นั่นล่ะเป็นจิตที่มีกําลังมากมันตั้งมั่นขึ้นมา แล้วจิตผู้รู้มันยังมี 2 ระดับ อันหนึ่งมีความสุข อันหนึ่งเป็นอุเบกขา แต่ว่าทั้ง 2 อันมันตั้งมั่น จิตที่ตั้งมั่นนี่ล่ะ เอาไว้ทำกรรมฐานในขั้นละเอียดได้ เราจะเห็นว่าจิตที่ตั้งมั่นอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ รักษาไว้ไม่ได้ สั่งให้เกิดก็ไม่ได้ จิตที่ไม่ตั้งมั่นเกิดแล้วก็ดับ กลายเป็นจิตตั้งมั่นขึ้นมาอีก สั่งไม่ได้รักษาไม่ได้

ฝึกไปเรื่อย ถ้าตัดตรงเข้ามาที่จิตได้ การปฏิบัติจะลัดสั้นที่สุดเลย ครูบาอาจารย์นับแต่หลวงปู่มั่นมาและครูบาอาจารย์ที่หลวงพ่อเรียนด้วยหลายองค์เลย อย่างหลวงปู่สุวัจน์ท่านก็บอก หลวงปู่มั่นบอก ดูจิตมันเป็นการปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุดแล้ว หลวงปู่ดูลย์ก็สอนอย่างนั้น ให้ดูจิต มันลัดสั้น ฉะนั้นถ้าเราดูจิตได้ ให้ดูจิต ดูจิตไม่ได้ ดูกายไปก่อน ใช้หลักอย่างนี้เอา ฝึกไป

ถ้าดูจิตได้ ไม่นานเราก็จะเห็นจิตไม่ใช่ตัวเรา มันไม่ใช่ตัวเราเพราะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา บังคับอะไรไม่ได้ ถ้าจิตไม่ใช่เรา ขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา ขันธ์ 5 จะไม่ใช่เราเลย เพราะจิตไม่เป็นเราแล้ว ขันธ์ 5 มันก็อาศัยจิตเกิดขึ้นมา วิญญาณะปัจจะยา นามะรูปัง วิญญาณก็คือจิตนั่นล่ะ ทำให้เกิดขันธ์ 5 ขึ้นมา ถ้าเราเห็นว่าตัวต้นตอคือจิตไม่ใช่ตัวเรา ผลผลิตของจิตมันก็ไม่ใช่ตัวเรา ขันธ์ 5 มันก็ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ตรรกะอันนี้ ต้องเห็นจริงๆ คิดเอาไม่ได้หรอก คิดเอาก็ถูกอภิสังขารมารหลอก

ถ้าเมื่อไรเราเห็นว่าจิตไม่ใช่เรา ขันธ์ 5 ก็จะไม่ใช่เรา โลกทั้งโลก จักรวาลทั้งจักรวาลก็ไม่ใช่เรา แล้วถ้าวันใดที่ภาวนาจนเห็นความจริงว่าจิตคือตัวทุกข์ เห็นความจริงว่าจิตคือตัวทุกข์ ขันธ์ 5 ก็คือทุกข์ โลกก็คือทุกข์ จักรวาลทั้งหมดก็คือทุกข์ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเลย จิตก็จะวางจิต วางจิตได้ก็คือวางขันธ์ได้ วางขันธ์ได้ก็คือวางโลกได้ ฉะนั้นหลุดพ้นที่จิตที่เดียวนี้เอง ก็จะหลุดพ้นจากขันธ์ 5 ทั้งหมดได้

ฉะนั้นการปฏิบัติมันแตกหักลงที่จิตนี่ล่ะ ปล่อยวางจิตได้เพราะปัญญาอันยิ่ง เห็นจิตเองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์แล้วมันวางลงไป มันเป็นทุกข์ มันเป็นทุกข์เพราะความไม่เที่ยง เป็นทุกข์เพราะถูกบีบคั้น เป็นทุกข์เพราะควบคุมไม่ได้ อย่างการที่เราเห็นจิตมันไหวๆๆ กระเทือนตลอดเวลา นี่มันทุกข์ทั้งไม่เที่ยง ทั้งถูกบีบคั้น มันถูกบีบคั้นตลอดเวลาเลยจิต มันไหวมันสะเทือนอยู่ตลอดเวลา

เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป ไม่อยู่ในอำนาจบังคับเลย จิตรู้แจ้งเห็นจริง จิตก็สลัดคืนจิตให้โลก การสลัดคืนเรียกว่าปฏินิสสัคคะ สลัดคืน เห็นไหมคืนไป มันไม่ใช่ของเรา ยืมเขามาทั้งหมดขันธ์ 5 เป็นของที่ปรุงแต่งหลอกลวงให้สัตว์หลงอยู่ สอนให้อันนี้วันนี้เรายังทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ฟังเอาไว้ก่อนอย่างน้อย ครั้งหนึ่งได้เคยฟัง แล้ววันที่เราภาวนาเข้ามาถึงตรงนี้ สิ่งที่เราเคยฟังมันจะกลับมาหาเราเอง

ตอนที่หลวงพ่อเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ ท่านสอนหลวงพ่อบอกว่า “พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง” หลวงพ่อไม่เข้าใจ แล้วก็ไม่นานก็ลืมธรรมะอันนี้ไป ก็ภาวนาไปเรื่อยๆ ภาวนามานานเลย ธรรมะอันนี้ที่ท่านสอนทิ้งให้มันก็กลับมา เราได้ใช้ประโยชน์แล้ว ที่หลวงพ่อสอนวันนี้ เมื่อก่อนบางทีครูบาอาจารย์บางองค์ท่านก็แย้งหลวงพ่อ บอกว่าหลวงพ่อสอนละเอียดเกินไป โยมทำไม่ได้หรอก ว่าอย่างนี้ เราก็ไม่ได้คิดว่าโยมจะทำได้ในวันนี้ แต่โยมที่รักดีมันคงไม่โง่ตลอดกาลหรอก ตั้งอกตั้งใจฝึกไป วันหนึ่งก็จะเข้าใจ

ถ้าเข้าใจก็จะสามารถเป็นพยานได้ว่าสิ่งที่หลวงพ่อบอกไม่ได้โกหกเลย ไม่ได้มุสา ไม่ได้จินตนาการ เรียนมาจากครูบาอาจารย์อย่างนี้ล่ะ ก็เลยเอามาบอกต่อให้ มิฉะนั้นธรรมะแบบนี้มันจะสูญหายไป จะเหลือแต่ธรรมะที่ร้อน สังเกตไหมว่าคนที่รักศาสนาพุทธร้อน บอกว่าปกป้องศาสนาอะไรใจเร่าร้อน ไม่ได้ลิ้มรสของธรรมะ น่าสงสาร แล้วก็พาคนอื่นร้อนไปด้วย ศาสนาพุทธอยู่ได้ไม่นานหรอก เรียนแล้วก็ลงมือปฏิบัติเข้า

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
3 พฤศจิกายน 2567