รู้สึกตัวไว้ รู้สึกตัวไม่เป็น ภาวนาไม่ได้จริงหรอก ได้อย่างมากก็แค่ความสงบ แล้วสงบแบบลืมเนื้อลืมตัว แล้วพลิกไปเป็นมิจฉาสมาธิ เรื่องสมาธิเป็นเรื่องสำคัญ สมาธิเราไม่ถูก ไม่ได้ฝึกให้ดี เราจะถูกหลอก 2 อย่าง อันแรกเกิดนิมิต ทำความสงบไป พอจิตเริ่มสงบนิดหน่อย นิมิตมันก็จะเกิดขึ้น อีกอันหนึ่งไปเจริญปัญญาแล้วสมาธิไม่พอ จะเกิดวิปัสสนูปกิเลส
ฉะนั้นถ้าสมาธิไม่ถูก สมาธิไม่พอ ไปทำสมถะโอกาสพลาดก็สูง หลงนิมิตเอา สมาธิไม่ถูก สมาธิไม่พอ ไปเดินวิปัสสนา ก็ถูกวิปัสสนูปกิเลสเอาไปกิน หลอก คิดว่าบรรลุธรรมแล้ว บางทีคิดถึงขนาดว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว ฉะนั้นเลยต้องเรียนกันให้มากหน่อย เรื่องของสมาธิ คนที่ภาวนาแล้วพลาด ก็เรื่องพวกนี้ทั้งนั้น ภาวนาแล้วเพี้ยนบ้างอะไรบ้าง ไม่ได้เรียนถึงบทเรียนที่ชื่อจิตตสิกขา ถ้าเรียนรู้จิตตัวเองไม่ได้ สมาธิที่ดีที่สมบูรณ์เกิดไม่ได้หรอก
นิมิตจริงหรือนิมิตปลอม
ก็เป็นแค่สิ่งที่ถูกรู้ถูกดู
ตอนหลวงพ่อหัดใหม่ๆ ยังทำวิปัสสนาไม่เป็น เรียนอานาปานสติ ฟังจากท่านพ่อลีท่านสอน ไม่ใช่ท่านไม่ดี ท่านเป็นพระดี เป็นพระแท้องค์หนึ่ง แต่เราเด็กแล้วเราเรียนได้นิดหน่อย พอดีท่านสิ้นไปเสียก่อน ไม่ได้เรียนวิปัสสนา ก็เรียนแต่สมาธิ ก็นั่งหายใจไป ทีแรกก็จิตไปรู้ลมหายใจ รู้ตัวลม ไปรู้ลมหายใจ ทีแรกหายใจยาวลงไปถึงท้อง พอจิตมันสงบมากขึ้นๆ ลมมันก็ตื้นขึ้นมาเรื่อยๆ สุดท้ายมาหยุดอยู่ที่ปลายจมูก ลมมาอยู่ตรงปลายจมูก ใจก็ยังจดจ่ออยู่กับลม ต่อมาลมมันหายไป มันเบาจนเหมือนไม่หายใจ ที่จริงมันหายใจแต่มันหายใจน้อย แล้วมันเกิดแสงสว่างขึ้นมาแทน
ตัวลมหายใจเรียกว่าบริกรรมนิมิต เกิดเป็นแสงสว่างขึ้นเรียกว่าอุคคหนิมิต เป็นเรื่องของสมถะทั้งนั้น เสร็จแล้วสติเราไม่พอ ปัญญาเราไม่พอ จิตมันก็เคลื่อนตามแสงไป ทีแรกมันก็ไปเล่นอยู่กับแสง เวลากำหนดลงไป บางทีเราอยากให้สว่างกว้างๆ เรากำหนดไปเหมือนพระอาทิตย์ เหมือนพระจันทร์ แสงสว่างครอบไปทุกมุมโลก เวลาเราย่อแสงลง บีบแสงลงมาเท่าปลายเข็ม แสงมันจะเข้มข้นมากเลย มันจะเข้มปื้ดเลย เล่นไปเล่นมา ใจก็ไหลไปที่แสง นิมิตมันก็เกิด นี้พอจิตมันเคยมีนิมิต บางทีไม่ได้ตั้งใจ มันก็เกิดนิมิตได้
นิมิตมีตั้ง 6 แบบ ตำราว่าอย่างไรไม่รู้ ไม่ค่อยได้อ่านเจอ นิมิตเป็นรูปก็มี อย่างเรานั่งสมาธิแล้วใจมันสว่างออกข้างนอกไป ไปกระทบ เห็นผี เห็นเทวดา มานั่งอยู่ข้างหน้าเรา นี้เรามองเห็นรูป บางทีก็ได้ยินเสียง เสียงในนิมิตมันจะไม่ดังหรอก เสียงมันจะเบาๆ แต่มันคมชัด ชัดกริบเลย นิมิตเป็นกลิ่นก็มี บางทีอย่างเราอาบน้ำอยู่ น้ำฝักบัวมันหอมออกมาเลย หอมเหมือนน้ำอบ น้ำหอมอะไรอย่างนี้ เหมือนดอกไม้ นิมิตเป็นกลิ่นก็มี นิมิตเป็นรสก็มี อย่างกินข้าวเปล่าๆ บางทีก็อร่อย รู้สึกอร่อยมากเลย มีรสถูกอกถูกใจ นิมิตสัมผัสทางร่างกายก็มี อย่างเรานั่งสมาธิ เราปวด เราเมื่อย ก็นิมิตเห็นรูปว่ามีคนมานวดให้ มองลงมาที่ขา มันบุ๋มลงไปเป็นรอยนิ้วมือเลย
นี่นิมิตทั้งหมด เป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นสัมผัส เป็นสิ่งที่เกิดทางจิตใจก็มี เกิดรู้ เกิดเห็น เข้าใจโน้นเข้าใจนี้อะไรขึ้นมา ฉะนั้นนิมิตมีเยอะแยะเลย เวลาเกิดนิมิตแล้วทำอย่างไรดี เวลาเกิดนิมิต ให้ย้อนกลับเข้ามาที่จิตก่อน อย่างสมมติเรานั่งภาวนา หรือเราเดินจงกรมอยู่ เห็นเทวดามาอนุโมทนา อย่าเพิ่งหลงดีใจ ให้ย้อนกลับเข้ามาที่จิต ดูเข้ามาให้ถึงจิตถึงใจจริงๆ ว่าจิตถึงฐาน แล้วก็ส่ง ขยายจิตออกไป ส่งความรับรู้ออกไป
ถ้าเป็นนิมิตปลอม มันจะหายไปหมด ผี 500 ตัวมานั่งอยู่ จิตเราหลอนสร้างขึ้นมา เวลาเจอก็ไม่ต้องไปตกอกตกใจ ลืมมันไปเสีย ย้อนกลับเข้ามาให้ถึงจิตตัวเอง ให้ตั้งมั่นจริงๆ ให้ถึงฐานจริงๆ แล้วย้อนออกไปดูใหม่ พอย้อนออกไป ถ้ามันเป็นของเก๊ มันจะหายไปหมด ไม่มีหรอก แต่ถ้ามันยังมานั่งจ๊ะเอ๋ๆ กับเราได้ เออ อันนี้ค่อยจริงหน่อย จิตเราถึงฐานจริงๆ นิมิตของปลอมมันหายหมด ก็เหลือแต่ของที่มีอยู่จริง
แต่เวลาภาวนาอย่าไปหลงนิมิต เสียเวลา หลวงปู่ดูลย์ท่านเรียกว่าจิตออกนอก นิมิตจริงหรือนิมิตปลอม มันก็เป็นแค่สิ่งที่ถูกรู้ถูกดู เป็นอารมณ์ให้จิตไปรู้เข้า มันมายั่วให้ใจเรากระโดดโลดเต้นออกไป อย่างนั่งสมาธิอยู่ เห็นพญานาคโผล่มา ก็ดีใจว่า แหม เราบุญบารมีมาก นี่มันหลอกเราแล้ว กิเลสมันหลอกเราแล้ว ฉะนั้นเห็นนิมิตใดๆ เกิดขึ้น อย่าเพิ่งเชื่อ ไม่ยอมรับ ไม่ปฏิเสธ ให้ย้อนเข้ามาที่จิตตัวเองให้เป็นเสียก่อน
เพราะฉะนั้นเวลาที่หลวงพ่อสอนพวกเรา สังเกตไหมหลวงพ่อจะสอนให้ฝึกให้จิตตั้งมั่นเสียก่อน ถ้าจิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แล้วไปทำสมถะ ให้จิตไปสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง มีความสุข ก็จะได้ความสงบเกิดขึ้น แล้วตรงนี้ถ้านิมิตเกิดขึ้น เราก็ย้อนกลับเข้ามาที่จิต นิมิตก็หายหมด หรือเราทำสมาธิ ทำกรรมฐานไปแล้วเราคอยรู้ทันจิต จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมา ตรงที่จิตมันตั้งมั่นจริงๆ ตรงนี้มันไม่มีนิมิตแล้ว มันเห็นแต่ของจริง ของปลอมไม่มี
สมาธิไม่พอ ปัญญาไม่เกิด
พอจิตตั้งมั่นระลึกลงในร่างกาย ก็จะเห็นไตรลักษณ์ของร่างกาย ถ้าจิตตั้งมั่นแล้ว ระลึกในเวทนาที่กำลังมีกำลังเป็นอยู่ ก็จะเห็นไตรลักษณ์ของเวทนา ถ้าจิตตั้งมั่นอยู่ เห็นสัญญาเกิดขึ้น ก็ถูกรู้ถูกดู เป็นแค่ของถูกรู้ถูกดู ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์เหมือนกัน เห็นสังขาร ความปรุงดีปรุงชั่วเกิดขึ้นก็เป็นของถูกรู้ถูกดู ถ้าจิตเราตั้งมั่นถึงจะเดินปัญญาได้ จะเห็นว่าขันธ์แต่ละขันธ์ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ทั้งหมดเลย แต่ถ้าจิตเราไม่ตั้งมั่น มันไม่เห็นหรอก เห็นก็แค่มโน คิดๆ เอาเอง ของปลอมไม่ใช่ของจริง ไม่ได้เห็นสภาวะจริงๆ
เพราะฉะนั้นเราจะเดินวิปัสสนา จิตเราต้องตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่นแล้ว อารมณ์ต่างๆ ปรากฎขึ้น จะเป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นสัมผัส หรือเป็นธรรมารมณ์ที่ผุดขึ้นในใจ มันก็จะเห็นความเป็นไตรลักษณ์ไป นี่เราขึ้นวิปัสสนาแล้ว พอเดินวิปัสสนาไปช่วงหนึ่ง กำลังของจิตไม่พอ จิตไม่ตั้งมั่นแล้ว จิตเริ่มเคลื่อนออกจากฐานของมัน เคลื่อนไปที่รูป ที่เสียง ที่กลิ่น ที่รส ที่สัมผัส ตรงนี้ถ้าเดินวิปัสสนาอยู่ แล้วสมาธิเราไม่พอ จิตมันเคลื่อนปุ๊บ บางทีมันสร้างเรียกว่าวิปัสสนูปกิเลสขึ้นมา
คนที่ดูจิตๆ วิปัสสนูปกิเลสที่มีมากๆ เลย จำนวนมากไปเจอคือโอภาส ภาวนาๆ ไป เดินปัญญาไป อยู่ๆ จิตรวมปุ๊บลงมา มันถอนออกจากการเดินปัญญาแล้ว แล้วมันก็ไหลออกข้างนอก มันไม่รวมเข้าฐาน มันไหลออกไปรวมกับอารมณ์ภายนอก คราวนี้เราก็เกิดความหลงผิดแล้ว อันนี้หลวงพ่อก็เคยเป็น ภาวนาเดินปัญญาไปเรื่อยๆ แล้วก็ไม่ยอมทำสมถะ กลัวจะเนิ่นช้า ตอนนั้นยังเป็นโยมอยู่เลย กลัวเนิ่นช้า ก็เดินปัญญารวดไปเลย สุดท้ายกำลังสมาธิไม่พอ
วันหนึ่งเห็นโทสะมันผุดขึ้นจากกลางอก ทางอภิธรรมเขาบอกขึ้นจากหทยรูป หทยวัตถุ นามธรรมจะผุดขึ้นมาจากรูปธรรม จากหทย พอมันผุดขึ้นมา เราก็ดูมัน ปรากฎว่า ปกติถ้าจิตเราตั้งมั่นจริงๆ มีสัมมาสมาธิจริงๆ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา พอสติระลึกรู้โทสะปั๊บ โทสะดับทันที ปัญญามันตัดโทสะขาดสะบั้นเลย สติเป็นตัวคล้ายๆ เป็นยาม ผู้ร้ายมาแล้ว ยามเห็นปั๊บก็รายงานกองกำลัง เข้าไปประหัตประหารคือตัวปัญญา ฉะนั้นสติมันจะจับอารมณ์ ผู้ร้ายมา มันจับตัวไว้เลย แล้วปัญญาเป็นตัวฆ่า ตัดอารมณ์นั้นให้ขาดสะบั้นลงไป กระบวนการทำงานเป็นอย่างนี้
พอสมาธิไม่พอ ปัญญาไม่เกิด สติมันไปแตะอยู่ที่โทสะ แล้วมันไม่ใช่สติที่ดีงามอะไรหรอก เป็นสติที่ไม่มีแรงด้วย ไม่ใช่สติที่แท้จริงอะไรหรอก มันก็จะเห็นโทสะ มันจ่อกัน แล้วโทสะมันเคลื่อนออกไป ไปอยู่ข้างหน้า แล้วมันก็ดับวับลงไป จิตไหลตามโทสะออกไปอยู่ข้างนอกแล้ว ไม่เห็นว่าจิตไหลไปอยู่ข้างนอก เดินปัญญามากไป ทิ้งการทำสมาธิ สมาธิไม่พอไปเดินปัญญา จิตมันเคลื่อนไปแล้วไม่รู้ จิตมันไหลตามกิเลสออกไปอยู่ข้างนอก อยู่ข้างหน้าอย่างนี้ กิเลสดับ จิตก็ค้างอยู่ข้างนอกโดยที่ไม่รู้ตัว ว่าจิตอยู่ข้างนอก จิตไม่เข้าฐาน จิตตรงนั้นก็ว่าง สว่าง สบาย มีความสุข
เวลาภาวนานึกถึงตรงนี้ปุ๊บ จิตก็เข้าไปอยู่ตรงนี้เลย แล้วภาวนาไปเรื่อยๆ วันหนึ่งเฉลียวใจ เสียเวลาไปนานเลย เป็นร่วมปี ภาวนาแล้วก็มีแต่ความสุข มีแต่ความสงบ มีแต่ความดีงาม วันหนึ่งเฉลียวใจ พระพุทธเจ้าบอกจิตไม่เที่ยง ทำไมจิตเราเที่ยง พระพุทธเจ้าบอกจิตเป็นทุกข์ ทำไมจิตเรามีแต่ความสุข พระพุทธเจ้าบอกจิตเป็นอนัตตา ทำไมเราบังคับควบคุมจิตได้ จะทรงสมาธิอยู่อย่างนั้น มันเป็นสมาธิ แต่เราไม่รู้ เราก็คิดว่าจิตเรานี้ว่าง สว่าง บริสุทธิ์ หยุดความปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาของจิต ไม่มีอะไรเลย ไม่เหลืออะไรสักอย่าง
หลวงปู่ดูลย์ท่านชอบพูดถึงจิตพระอรหันต์แบบนี้ เวลาท่านพูดถึงจิตพระอรหันต์ ท่านบอก ว่าง สว่าง บริสุทธิ์ หยุดความปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาของจิต ไม่มีอะไรเลย ไม่เหลืออะไรสักอย่าง พอเกิดวิปัสสนูปกิเลส รู้สึกอันนี้ เออ อันนี้ถ้าจะใช่แล้ว พอนานๆ ไป อาศัยโยนิโสมนสิการ เคยอ่านพระไตรปิฎก ก็รู้ว่าตรงนี้ไม่ใช่หรอก ไม่ได้คิดว่าพระไตรปิฎกผิด ไม่ได้คิดว่าพระพุทธเจ้าสอนผิด เราพลาดตรงไหน ทำไมเราไม่เห็นเหมือนพระพุทธเจ้าบอก ไม่เห็นเหมือนที่พระไตรปิฎกบอก เราผิดตรงไหน นี่ยังมีบุญ ถ้าคิดว่าเราผิดที่ไหน ถ้าไปคิดว่า เออ พระไตรปิฎกไม่สมบูรณ์นี่ เสร็จเลย
อย่างบางคนภาวนา บางที่เขาภาวนา มีนิมิตเป็นพระพุทธรูปขึ้นมา แล้วก็คิดว่าบรรลุ พระใหญ่แค่นี้ได้โสดาบัน พระใหญ่แค่นี้ได้สกทาคามี อนาคามี พระอรหันต์ หน้าตักพระกว้างเท่านี้ๆ นี่มันนิมิตทั้งหมดเลย แล้วก็ไปหลงเชื่อ คิดว่าบรรลุแล้ว แล้วพระไตรปิฎกไม่สมบูรณ์ ทำไมพระไตรปิฎกไม่มีเรื่องนี้ เตลิดไปโน่น พอหลวงพ่อภาวนาแล้ว เอ๊ะ จิตเราเที่ยง จิตเราสุข จิตเราบังคับได้ เราผิดที่ไหน ไม่ได้คิดว่าพระไตรปิฎกผิดเลย ก็พยายามดู ดูอย่างไรก็ดูไม่ออก ทำไมดูไม่ออก ปัญญามันไม่มีหรอก เพราะจิตไม่เข้าฐาน จิตมันไม่ตั้งมั่น ไม่มีสัมมาสมาธิ แล้วปัญญามันจะมาจากไหน สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา
ไม่ดื้อกับพระไตรปิฎก
วันหนึ่ง ติดอยู่อย่างนี้ นาน วันหนึ่งขึ้นไปหินหมากเป้ง แล้วหลวงปู่เทสก์ไม่อยู่ ก็เข้าไปหาหลวงตามหาบัว ตอนนั้นคนที่บ้านตาดยังมีไม่มาก คนส่วนใหญ่ไปหาหลวงปู่เทสก์ วัดหลวงตาก็จะค่อนข้างเงียบๆ เข้าถึงตัวท่านได้ ก็ขึ้นไปหาท่าน ท่านกำลังเตรียมฉันข้าว อยู่ที่ศาลาไม้หลังเล็กๆ ไม่รู้ยังอยู่ หรือว่ารื้อไปแล้ว ตอนหลังนี้ดูหลังใหญ่ขึ้น ตอนนั้นหลังเล็กๆ เห็นหลวงตากำลังควบคุมพระ ให้จัดอาสนะ เสียงดังเชียว หลวงตา ก็ไปนั่งข้างๆ ท่าน
พอท่านหันมามอง บอก “ขอโอกาสครับ พ่อแม่ครูอาจารย์” ท่านบอก “เดี๋ยวก่อนๆ ยังไม่ว่าง นั่งรอก่อน” แล้วท่านก็ควบคุมพระจัดอาสนะ เสร็จแล้วท่านก็หันมา “ว่าอย่างไร มีอะไร” กราบเรียนท่าน “พ่อแม่ครูอาจารย์ให้ผมดูจิต ผมก็ดูจิต แต่ทำไมมันไม่พัฒนาเลย” บอกท่านแค่นี้ ท่านมองหน้าแป๊บ ท่านก็บอกเลย บอก “ที่ว่าดูจิต ดูไม่ถึงจิตแล้ว ต้องเชื่อเรา เราผ่านมาด้วยตัวเราเอง อะไรๆ ก็สู้การบริกรรมไม่ได้หรอก”
พอท่านบอกอย่างนี้ หลวงพ่อก็ถอยออกมาหน่อย ห่างท่านไม่มากหรอก ไปนั่งพิงลูกกรงศาลาอยู่ใกล้ๆ ท่าน ท่านให้บริกรรม เราก็มาบริกรรมพุทโธๆๆ ไป จิตมันไม่ชอบ จิตมันไม่ชอบ ท่านบอกอะไรๆ ก็สู้บริกรรมไม่ได้ เราไม่ชอบบริกรรม บริกรรมแล้วรำคาญ ก็นึก เอ๊ะ ทำไมท่านให้บริกรรม แสดงว่าสมถะเราไม่พอ สมาธิเราไม่พอแล้ว เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเพิ่มสมาธิ หลวงพ่อก็ทำสมาธิที่ตัวเองถนัด หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับ 1 หายใจเข้าพุท ออกโธ นับ 2 หายใจอยู่ไม่กี่ที จิตก็รวมปุ๊บ
จิตรวม พอจิตถอยออกมา รู้เลยว่าผิดตรงไหน ที่ผ่านมาเป็นปี จิตไม่เข้าฐาน แล้วมันก็เลยไปว่าง สว่าง สบายอยู่อย่างนั้น ดีที่ไม่ไปกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ กูเป็นพระอรหันต์ไปแล้ว คราวนี้หันไปหันมา อาจจะลงนรกไปเมื่อไรก็ได้ แล้วก็ไม่ได้ไปคิดว่าพระไตรปิฎกผิด คิดว่าเราผิด ตรงนี้ต้องระวัง ถ้าพวกเซลฟ์จัด มันจะบอกพระไตรปิฎกผิด ถ้าเราเคารพ อ่อนน้อมในพระธรรมวินัย เคารพพระไตรปิฎก เราจะรู้ว่าเราผิดที่ไหน
ดูด้วยตัวเองไม่ได้ ก็ไปถามครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านเคยผ่านมาแล้ว ท่านถึงบอกว่า “ต้องเชื่อเรานะ เราผ่านมาด้วยตัวเราเอง อะไรๆ ก็สู้บริกรรมไม่ได้” แสดงว่าท่านก็เคยผ่านสภาวะอย่างนี้ นี้พอจิตมันตั้งมั่นถึงฐาน คราวนี้มันก็เดินวิปัสสนาจริงๆ ต่อได้ ไม่อย่างนั้นก็ติดค้างเติ่งอยู่กลางอากาศ ว่างๆ อยู่อย่างนั้น เราไปเจอพวกภาวนา แล้วก็บอกน้อมจิตไปอยู่ในความว่าง บอก เฮ้ย ไปว่างมันทำไม ดูทุกข์สิไม่ใช่ดูว่าง ดูว่างแล้วมีแต่ความสุข ไปดูมันหาสวรรค์วิมานอะไร
พระพุทธเจ้าสอนให้รู้ทุกข์ อะไรเป็นทุกข์ ขันธ์ 5 เป็นทุกข์ ก็ดูมัน สติ สมาธิ ปัญญา จดจ่อเรียนรู้อยู่ในขันธ์ 5 นี้ เรียนรู้ให้เห็นความจริงของขันธ์ 5 ไม่ใช่ไปทำจิตให้ว่างๆ พวกจิตว่างๆ อะไรก็ว่าง อะไรก็ว่างก็เพี้ยนๆ ไปหมด บางทีเราฟังครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ดี แต่เราฟังแล้วเราเพี้ยนเอง หลวงพ่อก็เคยเป็น นี่ดู ที่เล่ามานี้เรื่องตัวเองโง่ทั้งนั้นเลย ไม่ค่อยเก่งหรอก ไม่ฉลาดหรอก แต่ทน
อ่านหนังสือท่านพุทธทาส โอ้ ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง เราก็ไปทำจิตว่างๆ จิตว่างๆ แล้วอ่านหนังสือท่าน เราก็เข้าใจผิด คิดว่าโอปปาติกะไม่มี เทวดาไม่มี ผีไม่มี ชาตินี้ชาติหน้าไม่มี มีแต่ปัจจุบัน นี่มิจฉาทิฏฐิ แล้ววันหนึ่งไปเจออาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ท่านนี้ที่ท่านแต่งพระไตรปิฎกฉบับประชาชน เอามาย่อๆ น่าอ่านหนังสือเล่มนี้ ใครยังไม่มี ก็ไปหาอ่านเสีย จะได้รู้พระไตรปิฎกแบบคร่าวๆ เป็นการเซอร์เวย์ภาพกว้างๆ ของพระไตรปิฎก ที่ฆราวาสควรจะเรียน ควรจะรู้
อาจารย์สุชีพท่านได้ยินหลวงพ่อพูดเรื่องว่างๆ เราไม่ยึดถืออะไร จิตเราว่าง ไม่ยึดถือ เอะอะก็ไม่ยึดถือๆ โดนท่านเรียกไป ตอนนั้นประชุมอยู่กับท่าน ท่านก็เรียกไป ประชุมเสร็จแล้วท่านเรียกเข้าไป ก็ไปนั่งที่พื้น นั่งพับเพียบเรียบร้อย ท่านเป็นระดับครูบาอาจารย์ ถึงท่านสึก มีเหตุผล สึกออกมา เปรียญ 9 สึกออกมา เราก็เคารพนับถือ เราได้อาศัยภูมิปัญญาของท่าน นั่งพับเพียบเรียบร้อย เหมือนกับนั่งฟังพระองค์หนึ่ง
ท่านก็สอนให้บอกว่าว่าง ว่างนั้นไม่ใช่ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอน ไม่ได้สอนให้ทำจิตให้ว่าง แล้วท่านก็พูดบาลีให้ฟัง ยกพระสูตรโน้น พระสูตรนี้ มาฟังแล้วก็ ฟังแล้วตาลายไปเลย แบบท่านจำภาษาบาลีได้เยอะแยะไปหมด แม่นเปรี๊ยะๆๆๆ เลย บอกนี่สูตรนี้ชื่อนี้ ว่าอย่างนี้ๆ สูตรนี้ว่าอย่างนี้ๆ หลวงพ่อก็ละความเห็นผิด ละความดื้อ หลวงพ่อไม่ดื้อ ถ้าครูบาอาจารย์ติง ครูบาอาจารย์เตือน ฟังทันทีเลย อ่านพระไตรปิฎกก็ไม่ดื้อกับพระไตรปิฎก ถ้าไม่ตรงกัน เราผิด
ถ้าครูบาอาจารย์ที่ดีเตือนมา เราฟังทันทีเลย เราเข้าใจผิดแล้ว อะไรก็ว่างๆๆ ชาตินี้ไม่มี ชาติหน้าไม่มี เทวดาไม่มี สัตว์นรกไม่มี ไอ้นั่นก็ไม่มี ไอ้นี่ก็ไม่มี ทุกอย่างว่าง พอรู้แล้วว่านี่มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นมิจฉาทิฏฐิ พอดีมีเวลา ลุยลงไปหาท่านอาจารย์พุทธทาสเลย ไปถึงก็ไปกราบท่าน ตอนนั้นเห็นองค์ท่าน องค์ใหญ่ นั่งทีเดียวเต็มเก้าอี้หินตัวหนึ่ง พอท่านออกมานั่งปุ๊บ ไก่มันก็บินมาเกาะที่พนักพิง มันจะเกาะ แต่มันไม่ขัน มันเกาะเฉยๆ ก็เข้าไปนวดขาท่าน
“ท่านอาจารย์ครับ ท่านอาจารย์สอนว่าตายแล้วสูญหรือครับ” ท่านมองหน้าแล้วท่านก็ยิ้มบอก “เธอเห็นเราเป็นมิจฉาทิฏฐิหรือ” พูดประโยคเดียว หลวงพ่อกราบท่านเลย โอ๊ย เรามันโง่เอง อ่านหนังสือของท่านแล้วไม่รู้เรื่อง อ่านแล้วตีความผิด เรียนกับครูบาอาจารย์ชั้นเลิศ ก็ยังตีความผิด หลวงพ่อก่อนจะเจอหลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่อก็เรียน เคยบวชวัดชลประทานฯ ตอนนั้นเรียนหนังสืออยู่ ก็เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อปัญญา ก็เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อพุทธทาสนี่ล่ะ เข้าไปกราบหลวงพ่อพุทธทาสก็หลายหน มีอะไรก็ไปถาม
บางทีก็ไปหาเรื่องท่าน ว่าสอนอย่างนี้หรือ อีกทีหนึ่งเคยไปถามท่าน “หลวงพ่อครับ หลวงพ่อเขียนหนังสือธรรมะเยอะแยะ ถ้าผมอ่านหนังสือของหลวงพ่อทั้งหมด ผมจะได้โสดาบันไหม” ไปถามหลวงพ่อพุทธทาส ท่านก็ยิ้มหวาน เมตตามากเลย “ไม่ได้หรอก” ฟันธงเลย “อ่านหนังสือที่ท่านเขียนทั้งหมด แล้วได้โสดาบันไหม” “ไม่ได้หรอก ต้องปฏิบัติเอา ต้องภาวนาเอา” ท่านว่าอย่างนี้ เห็นไหมครูบาอาจารย์ ไม่ใช่เพี้ยนสักองค์หนึ่ง ที่ครูบาอาจารย์ชั้นเลิศ ขนาดอาจารย์พุทธทาสท่านบอก ยังต้องไปภาวนาเอาถึงจะได้โสดาบัน อ่านเอาไม่ได้
กราบให้ถึงพระพุทธเจ้า
ตอนนี้คนชอบอ้างว่า ท่านพุทธทาส หลวงพ่อปัญญา ไม่ไหว้พระ ไม่ใช่ หลวงพ่อเป็นลูกศิษย์ท่าน ก็เห็นท่านก็กราบพระพุทธรูปอยู่ เพียงแต่ท่านสอนว่า กราบแล้วให้คิดถึงทะลุวัตถุไป กราบให้ถึงพระพุทธเจ้า เวลาเราเห็นพระสงฆ์ เรากราบพระสงฆ์ กราบแล้วให้ทะลุลูกชาวบ้านเข้าไป ให้เข้าไปถึงความเป็นสาวกจริงๆ ไม่ได้ติดอยู่ที่เปลือก กราบพระพุทธเจ้าก็ไปติดแค่พระพุทธรูป กราบพระสงฆ์ก็ไปติดแค่ลูกชาวบ้าน ไม่ได้กราบที่คุณธรรมที่ทำให้คนเป็นพระสงฆ์ ท่านสอนดี แล้วตัวท่านก็กราบพระพุทธรูป
ครูบาอาจารย์ก็กราบ หลวงปู่มั่นถึงขนาดแกะพระพุทธรูปเองเลย เอาไม้มาแกะเป็นพระพุทธรูป ท่านก็กราบของท่านทุกวัน แล้วท่านก็ไม่ได้กราบไม้ ท่านกราบคุณของพระพุทธเจ้า แค่วัตถุเอาเป็นสัญลักษณ์เท่านั้นเอง ให้ระลึกถึง ยิ่งพวกเราเป็นปุถุชนเต็มขั้น การที่เราจะกราบเข้าถึงพระพุทธเจ้าจริงๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย กราบแล้วก็พูดๆ ไปอย่างนั้นล่ะ จิตที่สัมผัสพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง จิตพระโสดาบัน ที่เข้าถึงพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง ยังเป็นปุถุชนเข้าไม่ถึง ก็ต้องอาศัยสัญลักษณ์ต่างๆ
กราบต้นโพธิ์ กราบรอยพระบาทอะไรอย่างนี้ รอยพระบาทใหญ่เบ้อเร่อ พระบาทใครมันจะใหญ่อย่างนั้น ก็เป็นสัญลักษณ์ กราบพระพุทธรูป กราบเสมาธรรมจักร สมัยโบราณไม่สร้างพระพุทธรูป ก็ทำเสมาธรรมจักรบ้าง ทำพระบาทบ้าง ตอนกรีกเข้ามาแล้ว ถึงได้มาสร้างพระพุทธรูป ครูบาอาจารย์ท่านก็พาทำอย่างนี้ หลวงพ่อก็กราบทุกวัน วันหนึ่งไหว้พระบ่อยมากเลย หลายรอบวันๆ หนึ่ง ไหว้พระ สวดมนต์ 5 – 6 ครั้งวันหนึ่ง เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าเรากราบวัตถุหรอก เรากราบเข้าไปถึงพระจริงๆ
ถ้าจิตเรา ภาวนาลดละทิฏฐิมานะ ลดละกูเก่ง กูดี กูถูก คนอื่นผิด ใจเราก็จะอ่อน ใจจะนุ่มนวล อ่อนโยน ถ้าใจแข็ง ใจกระด้าง ก็เป็นอกุศลจิต จิตที่เป็นกุศลเบา บางคนเราเข้าใกล้ หนักอึดเลย เคยรู้สึกไหม เราเข้าใกล้บางคน เรารู้สึกอึดอัด หนัก ถ้าจิตหนักๆ เป็นอกุศล จิตที่เป็นกุศล มันเบา อ่อนโยน นุ่มนวล คล่องแคล่ว ว่องไว ไม่ขี้เกียจ ไม่ขี้คร้าน ควรแก่การงาน ซื่อตรงในการรู้อารมณ์ เรียกอุชุกตา ซื่อตรงในการรู้อารมณ์ รู้แล้วก็ไม่หลงยินดี ไม่หลงยินร้าย ไม่เข้าไปแทรกแซง
จิตดวงนี้ จิตชนิดนี้ที่เป็นมหากุศลจิต แล้วพร้อมที่จะเดินปัญญา แล้วถ้ามันอัตโนมัติ เกิดโดยเราไม่ได้เจตนาให้เกิด เรียกว่าอสังขาริกัง ไม่ได้เจตนาปรุงมันขึ้นมา เราไม่ได้ปรุงจิต แต่เราพัฒนาจนเราได้จิตชนิดนี้ขึ้นมา จิตอย่างนี้ครูบาอาจารย์วัดป่ารุ่นก่อน ท่านเรียกว่า “จิตผู้รู้” ทำไมต้องรุ่นก่อน เพราะรุ่นนี้ท่านสอนอะไร หลวงพ่อไม่รู้ ไม่ได้เข้าไปหาครูบาอาจารย์ ไม่รู้ว่าท่านสอนอะไรกันแล้ว รุ่นก่อน 40 ปี 50 ปีก่อนอะไรนี้ เข้าไปเรียน ท่านสอนผู้รู้ๆ สอนให้มีจิตผู้รู้
จิตที่เป็นผู้รู้ เป็นจิตที่รู้ตื่นเบิกบาน เป็นจิตที่เป็นกุศล เบา อ่อนโยน นุ่มนวล คล่องแคล่ว ว่องไว ซื่อตรงในการรู้อารมณ์ ไม่ขี้เกียจขี้คร้าน ก็ภาวนา ใช้จิตอย่างนี้เดินปัญญา จิตอย่างนี้เราได้มาด้วยการฝึกจิตตสิกขา เรียนรู้จิตตัวเอง วิธีที่จะเรียนรู้จิตตัวเอง ทำกรรมฐานอะไรก็ได้ที่ถนัดสักอย่างหนึ่ง แล้วถ้าต้องการความสงบ เราก็โฟกัสความรู้สึกของเราไปที่อารมณ์กรรมฐาน เช่น เราอยู่กับลมหายใจเข้าพุทออกโธ เราโฟกัสลงไป พอมันจะหนีไปที่อื่น โยนมันทิ้งไป กลับมาอยู่ที่ลมใหม่ น้อมใจ ให้มันเคล้าเคลียอยู่กับอารมณ์อันเดียว
พอจิตมันติดอยู่ในอารมณ์อันนั้นแล้ว เรียกมันมีวิตก มันเข้าไปจับอารมณ์อันนั้น มันเคล้าเคลียอยู่กับอารมณ์อันนั้นเรียกว่าวิจาร จะเกิดปีติ เกิดความสุข เกิดความเป็นหนึ่งขึ้น จิตมันก็จะเดินไปในทางสมถกรรมฐาน มีสมาธิเกิดขึ้น ถ้าเดินลึกลงไป มันก็ยังเห็นอีก การที่จิตไปจับอยู่กับอารมณ์กรรมฐาน ยังเป็นภาระอยู่ จิตก็วางอารมณ์กรรมฐาน ทวนกระแสเข้ามาหาตัวจิตผู้รู้ จิตก็จะมีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่ง ละวิตกวิจารไป ได้จิตผู้รู้มา
ภาวนาไปก็เห็นปีติมันเป็นของหวือหวา เป็นภาระ จิตก็โยนปีติทิ้ง เหลือแต่ความสุขกับความเป็นหนึ่ง ภาวนาไปเรื่อยๆ ก็เห็นความสุขก็ยังเป็นภาระ เป็นของหวือหวาอีก จิตก็เข้าไปสู่ความเป็นอุเบกขา ถ้าเราเดินการปฏิบัติเต็มรูปแบบ ก็จะเดินมาแนวนี้ จิตเป็นอุเบกขาแล้ว พอจิตเป็นอุเบกขาแล้ว ก็โน้มน้อมจิตอย่างนี้ไป เพื่อให้เกิดญาณทัสสนะ จิตตัวนี้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เราเอาไปเดินวิปัสสนา
ให้มีสติรู้เข้ามาที่จิตใจ แล้วจะเห็นธรรมะ
เรามีจิตตั้งมั่นแล้ว ตัวนี้ ตรงที่จิตมันตั้งขึ้นมา ไม่ไหลไปตามอารมณ์นั้นล่ะ ก็ได้จิตที่ตั้งมั่น ได้จิตผู้รู้ แล้วก็ไปเดินปัญญา สติระลึกรู้ลงในกาย ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ปัญญาก็จะเกิด เห็นไตรลักษณ์ของกาย สติระลึกรู้ในเวทนา สัญญา สังขาร ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ก็จะเห็นไตรลักษณ์ของเวทนา สัญญา สังขาร สติระลึกรู้จิต ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ก็จะเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของจิต ของวิญญาณ จิต วิญญาณ ตัวเดียวกัน มีหลายชื่อ
ตรงนี้ก็จะน่าสงสัย อย่างจิตเห็นร่างกายก็พอเข้าใจ จิตเห็นเวทนา แยกกันเป็น 2 อันก็ยังเข้าใจ จิตเห็นสัญญา เห็นสังขาร จิตเป็นคนเห็นก็ยังเข้าใจ แต่จิตเห็นวิญญาณ เห็นจิตเกิดดับ เห็นท่าไหน ตรงนี้ถ้าสมาธิเราไม่พอ จิตเราไม่ตั้งมั่นพอ สติเราไม่เร็วพอ เราจะไม่เห็น ฉะนั้นเราจะต้องฝึกจนจิตของเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จนอัตโนมัติ ครูบาอาจารย์รุ่นก่อน ท่านจะเรียกเป็นมหาสติ มีมหาสติ อันนี้ศัพท์เฉพาะของท่าน
พอจิตเราตั้งมั่นโดยไม่ได้เจตนา แล้วมันจะเห็นว่า จิตผู้รู้เอง แป๊บเดียวกลายเป็นจิตผู้คิดแล้ว จิตผู้รู้ดับ เกิดเป็นจิตผู้คิด จิตผู้คิดอยู่ชั่วขณะก็ดับ เกิดเป็นจิตผู้รู้ จิตผู้รู้อยู่ชั่วขณะก็เกิดเป็นจิตผู้ไปดูรูป จิตไปดูรูปชั่วขณะก็ดับ เกิดเป็นจิตผู้รู้ เห็นไหมมันต้องมีจิตผู้รู้แทรกๆๆ ถ้ามีแต่จิตผู้หลงไปดูรูป แล้วต่อด้วยจิตผู้หลงไปฟังเสียง จิตผู้หลงไปดมกลิ่น จิตผู้หลงไปคิด อย่าคุยเลยเรื่องภาวนา มันก็มีแต่หลงนั่นล่ะ
แต่ถ้ามันมีตัวจิตรู้แทรกเป็นระยะๆๆ ไป มันถึงเห็นว่าจิตแต่ละชนิดเกิดแล้วดับ กระทั่งจิตผู้รู้ก็เกิดแล้วดับ จิตที่ไปดูรูปเกิดแล้วก็ดับ จิตที่ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส รู้สัมผัสทางกาย เกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไปคิดเกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไปเพ่งเกิดแล้วก็ดับ ตรงนี้เราจะเห็นจิตมันเกิดดับได้ แต่สมาธิเราต้องดีพอ แล้วสติต้องไวจริง เพราะจิตเป็นของที่ว่องไวมาก ร่างกายนี้ช้ากว่าจิต ตำราบอกว่าร่างกาย รูปๆ หนึ่ง ใช้เวลาทั้งหมด 17 ขณะจิต มีจิตเกิดดับ 17 ดวง มีรูปปรากฎรูปหนึ่ง แวบเดียวนั่นล่ะ มันเร็วกว่ากันเยอะ
เพราะฉะนั้นถ้ายังดูจิตไม่ออก ดูรูปไป เห็นร่างกายนั่ง เห็นร่างกายเดิน เห็นร่างกายขยับ เห็นร่างกายหายใจ ดูไปเรื่อยๆ พอจิตมันมีกำลังขึ้นมาแล้ว ต่อไปสมาธิมันมากขึ้น สติมันไวขึ้น มันก็จะเห็นจิตได้ หลวงปู่มั่นท่านถึงบอกว่า “ดูกายก็เพื่อให้เห็นจิต ดูจิตก็เพื่อให้เห็นธรรม” ดูจิตแล้วเห็นธรรมอะไร อกุศลธรรมเกิดที่จิต กุศลธรรมเกิดที่จิต มรรคผลก็เกิดที่จิต ธรรมทั้งฝ่ายโลกียะ ทั้งโลกุตตระ ก็เกิดที่จิตนั่นล่ะ ให้มีสติรู้เข้ามาที่จิตใจ แล้วจะเห็นธรรมะ
แต่อยู่ๆ จะไปเห็นจิต เห็นไม่ได้ จิตไม่มีรูปร่าง ไม่มีรูปลักษณ์ ไม่มีร่องรอยอะไรให้เราดูได้ตรงๆ หรอก เราอยากเห็นจิต เราต้องดูผ่านสิ่งที่ปลอมปนกับจิต สิ่งที่ปลอมปนเรียกว่าเจตสิก อย่างเราเห็นจิตโดยตัวมันเอง เห็นไม่ได้ มันไม่มีอะไรให้ดู แต่ถ้าเราอาศัยเจตสิก เราจะเห็นตอนนี้จิตโกรธ ตอนนี้จิตไม่โกรธ ตอนนี้จิตโลภ ตอนนี้จิตไม่โลภ ตอนนี้จิตหลง ตอนนี้จิตไม่หลง ตอนนี้จิตฟุ้งซ่าน ตอนนี้จิตหดหู่ ตอนนี้จิตสุข ตอนนี้จิตทุกข์ ตอนนี้จิตไม่สุขไม่ทุกข์
เราจะค่อยๆ ดูอย่างนี้ แล้วเราจะเห็นว่า จิตสุขอยู่ชั่วคราวแล้วก็หาย จิตทุกข์เกิดชั่วคราวแล้วก็หายไป จิตไม่สุขไม่ทุกข์ อยู่ชั่วคราวแล้วก็หายไป จิตมีราคะเกิดชั่วคราวแล้วก็หาย จิตมีโทสะ มีโมหะ จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ หัดดูไปเรื่อยๆ สุดท้ายเราก็จะสามารถแยกได้ว่า อะไรเป็นความปรุงแต่งของจิต อะไรเป็นจิต เราก็จะรู้เลย สุข ทุกข์ ดี ชั่วทั้งหลาย ไม่ใช่จิตหรอก เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า
แล้วจิตคืออะไร จิตคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ เราเข้ามาถึงตัวจิตแล้ว พอเราเข้ามาถึงตัวนี้ได้ เรามีจิตผู้รู้ที่แข็งแรง ก็เดินปัญญาในขั้นละเอียดต่อไปอีก เห็นว่าจิตผู้รู้เองก็ไม่เที่ยง จิตผู้หลงก็ไม่เที่ยง จิตที่ไหลไปทางอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นอนัตตาหมายถึงเราไม่ได้บังคับ บังคับไม่ได้ จิตจะเห็นรูปหรือไม่เห็นรูป เราจงใจไม่ได้ จิตจะได้ยินเสียงหรือไม่ได้ยินเสียง เราสั่งไม่ได้ จิตจะคิดหรือไม่คิด เราก็สั่งไม่ได้ เราจะดูไปเรื่อย
เพราะฉะนั้นหัดดูจิตทีแรก ดูจิตที่เกิดร่วมกับเจตสิก สุข ทุกข์ ดี ชั่วทั้งหลาย จิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว ดูไปเรื่อยๆ ต่อไปเราจะมีจิตรู้ที่แข็งแรงขึ้นมา มันจะแยกเอาสิ่งที่แปลกปลอม สิ่งที่ปรุงแต่ง ออกไปจากจิต คราวนี้จิตเราจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา แล้วเราก็จะเห็น ตัวจิตผู้รู้ที่ตั้งมั่นอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับเหมือนกัน ตรงนี้เราจะดูจิตเกิดดับผ่านทางอายตนะทั้ง 6 ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หัดใหม่ๆ เราจะรู้สึกว่าจิตมีดวงเดียว วิ่งไปดูรูปที่ตา แล้วก็วิ่งกลับมาเป็นผู้รู้ วิ่งไปฟังเสียงแล้วก็วิ่งกลับมาเป็นผู้รู้ วิ่งไปคิดแล้วก็วิ่งกลับมาเป็นจิตผู้รู้ เราก็คิดว่าจิตมีดวงเดียว
ถ้าคิดว่าจิตมีดวงเดียวเป็นมิจฉาทิฏฐิร้อยเปอร์เซ็นต์ อันนั้นเป็นสัสสตทิฏฐิเลย จิตเที่ยง จิตเป็นอมตะ จิตไม่รู้จักตาย แต่ถ้าสติปัญญาเราแข็งแรงพอ สันตติคือความสืบเนื่องขาด เราจะเห็นว่าจิตรู้มันก็ดวงหนึ่ง เป็นคนละดวงกับจิตที่ไปดูรูป เป็นคนละดวงกับจิตที่ฟังเสียง เป็นคนละดวงกับจิตที่ดมกลิ่น ลิ้มรส รู้สัมผัสทางกาย เป็นคนละดวงกับจิตที่หลงไปคิด เราจะเห็นจิตแต่ละดวงๆ ไม่ใช่อันเดียวกัน เพราะฉะนั้นจิตเองเกิดดับ แล้วก็เราบังคับไม่ได้ จะเป็นจิตดูรูป หรือจะเป็นจิตฟังเสียง หรือจะเป็นจิตคิด หรือจะเป็นจิตผู้รู้ สั่งขึ้นมาไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจ นี่เป็นการทำวิปัสสนาในขั้นละเอียด เป็นขั้นละเอียดแล้ว
เพราะฉะนั้นไปหัด แต่สมาธิต้องพอ ถ้าสมาธิไม่พอ ทำสมถะแล้วจิตไม่ตั้งมั่นจริงๆ นิมิตมันจะหลอกเรา ก็คิดว่ากูเก่ง โอ๊ย กูรู้สารพัดเลย รู้โน่นรู้นี่ รู้จิตคนอื่น รู้เทวดา รู้ชาตินี้ รู้ชาติหน้า ก็มัวแต่หลงอย่างนั้น ไม่รู้กิเลสตัวเองเท่านั้น รู้อย่างอื่นทั้งจักรวาล แต่ไม่รู้กิเลสตัวเอง ใช้ไม่ได้ รู้กิเลสตัวเองไม่ได้เพราะอะไร เพราะจิตมันไม่เข้าบ้าน กิเลสมันอยู่ที่จิต ถ้าจิตมันล่องลอยไปตามภพภูมิต่างๆ มันจะไปเห็นได้อย่างไร จิตต้องตั้งมั่นถึงฐาน ถึงจะเห็นได้ นิมิตทั้งหลายก็จะหลอกเราไม่ได้
นิมิตจริงก็มี ปลอมก็มี ถ้าจิตตั้งมั่นถึงฐานแล้ว เราถึงจะแยกออก แล้วก็ถ้าสมาธิไม่พอ ไปทำวิปัสสนาจะเกิดวิปัสสนูปกิเลส มี 10 ชนิด บางทีปัญญามาก พอปัญญามากใจมันจะกำเริบ เพ่งเอาไว้ เพ่งไว้ แล้วไปเดินปัญญา ตัวที่เพ่งนี้มันไม่ใช่สมาธิที่ถูก เพราะฉะนั้นปัญญาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ปัญญาที่เป็นวิปัสสนาปัญญาจริง บางทีพูดธรรมะแล้วใจพลุ่งพล่านขึ้นมา พื้นฐานจิตมันก็มืดๆ แน่นๆ หนักๆ นิ่งๆๆ อย่างนั้น นิ่ง อะไรมากระทบก็พลุ่งพล่านขึ้นมา อันนี้จิตมันติดวิปัสสนูปกิเลส แต่มันไม่ใช่เรื่องที่แก้ง่าย
ที่นี่ก็มีพระ ไปเรียนมาจากที่อื่น แล้วก็ติดอย่างรุนแรงเลย ติดตั้งแต่นิมิต แล้วติดความเข้าใจผิดอะไรมากมาย หลวงพ่อใช้เวลาตั้ง 4- 5 เดือนในการแก้ ฉะนั้นคนหนึ่งๆ จะแก้นี้ยาก จะแก้ได้ เจ้าตัวต้องยินยอมพร้อมใจ ถ้าเจ้าตัวไม่ยินยอมพร้อมใจ ไม่มีใครเขาแก้ให้หรอก ก็ติดไปเรื่อยๆ พูดธรรมะได้ เพราะว่าใจมันผุดๆๆ ขึ้นมา มันคุมไม่อยู่
วัดสวนสันติธรรม
2 พฤศจิกายน 2567