สัมมาสติเกิดจากการเจริญสติปัฏฐาน

พรุ่งนี้หลวงพ่อไปเทศน์ที่บ้านจิตสบาย ช่วงนี้ไปบ้านจิตสบายบ่อย ตามแผนงานปกติจะไปบ้านจิตสบาย 3 เดือนครั้งหนึ่ง แล้วก็จะไปงานของมูลนิธิสื่อธรรม สลับกัน มูลนิธิสื่อธรรมฯ 3 ครั้ง บ้านจิตสบายครั้งหนึ่ง ตกลงกันไว้ว่าถ้า มสธ. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ห้องประชุมไม่ว่าง หลวงพ่อจะไปที่บ้านจิตสบายแทน ฉะนั้นได้เข้ากรุงเทพฯ เทศน์เดือนละครั้ง คนที่ไม่สะดวกที่จะมาที่นี่ ก็ไปฟังในกรุงเทพฯ เอา

เมื่อก่อนหลวงพ่อก็ทำแบบนั้น คอยดูข่าวครูบาอาจารย์จะไปเทศน์ที่ไหน ในกรุงเทพฯ เมื่อก่อนเขาจัดกันหลายที่ คึกคักมาก เวลาครูบาอาจารย์ไปเทศน์ คนเต็มศาลาเลยเป็นร้อยๆ ก็จะคอยดู ยุคโน้นครูบาอาจารย์ผู้หลักผู้ใหญ่ท่านยังอยู่ มีหลายองค์ หลวงปู่สิมคนชอบนิมนต์ท่าน หลวงพ่อพุธ ส่วนใหญ่ก็ได้ครูบาอาจารย์ดีๆ บางทีนานๆ เขาก็หลงนิมนต์ของปลอมไป ก็มีเหมือนกัน

เราคนในเมือง ทำมาหากิน บางทีอย่างถ้าเป็นลูกจ้างเขา เป็นข้าราชการ มันลาหยุดได้ไม่เยอะ เลยใช้วิธีไปดักฟังธรรมของครูบาอาจารย์ เวลาท่านเข้ากรุงเทพฯ หลวงพ่อก็เลยใช้อันนี้ เข้าไปให้เดือนละครั้ง ที่จริงฟังธรรมเดือนละครั้งก็พอแล้ว ขอให้ทำเท่านั้นล่ะ ฟังแล้วไม่ปฏิบัติ ฟังทุกวันก็ไม่ได้เรื่อง กิเลสไม่กลัวคนฟังธรรมมาก กิเลสกลัวคนปฏิบัติเยอะ ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติ กิเลสมันกลัว อ่านมาก ฟังมาก คิดมาก กิเลสยิ้มหวาน ไม่กระเทือน

 

มหาสติปัฏฐาน

อ่านมาก ฟังมาก คิดมาก บางทีเป็นเครื่องมือของกิเลสเสียอีก มารชื่ออภิสังขารมาร ความปรุงของเราเอง หลอกลวง ยิ่งห่างไกลธรรมะออกไปอีก จุดสำคัญที่สุดต้องถือศีลให้ได้ รักษาศีล 5 ไว้ แล้วถัดจากนั้นฝึกเจริญสติ ทำไมจะฝึกเจริญสติ ต้องไปรักษาศีล 5 ไว้ก่อน เพราะแรกๆ ที่เราฝึก เรายังสู้กิเลสไม่ไหว บางทีกิเลสมันเล่นงานเรายับเยิน ให้ทำกรรมชั่ว เราก็อาศัยศีลมาเป็นเครื่องเตือนตัวเอง ว่านี่มันไม่ถูกแล้ว จะผิดศีลแล้ว แต่ถ้าเราภาวนาจนสติ สมาธิ ปัญญาอัตโนมัติแล้ว ศีลไม่ต้องพูดถึงเลย ศีลอัตโนมัติมันเกิด ไม่ต้องตั้งใจรักษา มันไม่ทำผิดศีลหรอก

คนทำผิดศีลได้เพราะกิเลสมันครอบงำจิต เราฝึกสติของเราดี กิเลสเกิดปุ๊บเห็นปั๊บ กิเลสครอบงำไม่ได้ รับรองไม่ผิดศีล แต่ในเบื้องต้นที่สติเรายังไม่ไวพอ ฉะนั้นต้องตั้งใจรักษาศีล 5 ข้อไว้ก่อน เราจะไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยกาย ด้วยวาจาของเรา ก็ไม่เบียดเบียนตัวเองด้วย เบียดเบียนตัวเอง ที่สำคัญก็ศีลข้อ 5 นั่นล่ะ เบียดเบียนตัวเอง ร้ายกาจที่สุดเลย คือกินเหล้าเมายา ติดยาเสพติด มันทำลายสติสัมปชัญญะของเรา ไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่ต้องพูดเรื่องการปฏิบัติแล้ว ทำไม่ได้

ฉะนั้นเบื้องต้นตั้งใจรักษาศีล 5 ข้อไว้ให้ดี แล้วก็มาพัฒนาสติ สติเป็นตัวระลึกได้ ระลึกถึงรูปธรรมนามธรรม สติที่ระลึกรูปธรรมนามธรรม เรียกว่าสติปัฏฐาน สติทั่วๆ ไปก็จะระลึกในอารมณ์ที่เป็นกุศล นี่สติ เรียกกุศลทั่วๆ ไป อันนี้ดีไหม ดี อย่างเราอยากทำบุญ ใส่บาตร อยากฟังธรรม จิตเราเป็นกุศล เห็นคนตกทุกข์ได้ยาก อยากช่วยเหลือเขา อันนี้จิตมันเป็นกุศล แต่เป็นกุศลธรรมดา แต่กุศลที่จะพาเราข้ามภพข้ามชาติ ต้องเป็นการฝึกสติปัฏฐาน เป็นสติที่จะพาเราข้ามภพข้ามชาติ ต้องเป็นสติปัฏฐาน

สติปัฏฐาน เป็นสติที่ระลึกรู้รูปธรรมนามธรรม รู้กายรู้ใจของเรา จะต้องฝึก ทีแรกสติมันยังไม่เกิด อย่างเราจะรู้สึกกาย แทนที่เราจะรู้สึก เรากลับไปเพ่งกาย นั่งเพ่งกาย จ้องกาย เอาเป็นเอาตาย ใจเคร่งเครียด จิตเป็นอกุศล อย่างเดินจงกรม ยกเท้า ย่างเท้า แล้วเพ่งจนเครียดไปหมด อันนั้นจิตเป็นอกุศล จิตหนักๆ แน่นๆ แข็งๆ ซึมๆ ทื่อๆ ใช้ไม่ได้ เรายังไม่รู้จักสติที่แท้จริง มีฝรั่งคนหนึ่งเคยบวชกับหลวงพ่อชา ตอนนี้อายุเยอะแล้ว เคยมาส่งการบ้าน แล้วเคยไปส่งการบ้านกับพระอาจารย์อ๊า อาจารย์อ๊าสอนเรื่องให้มีสติที่แท้จริง ฝรั่งนี่เขาก็บอก ไม่รู้จักสติที่แท้จริงเป็นอย่างไร

สติที่แท้จริง ความหมายอันนี้คือสัมมาสติ ไม่ใช่สติธรรมดา สัมมาสติเกิดจากการเจริญสติปัฏฐาน ไม่มีวิธีอื่น ขั้นแรกเลยเราต้องมีวิหารธรรม วิหารธรรมแปลว่าเครื่องอยู่ของจิต ไม่ต้องหาว่าอันไหนเป็นวิหารธรรม ไม่ต้องคิดเอง พระพุทธเจ้ากำหนดไว้ให้แล้ว สอนไว้ให้แล้ว ในมหาสติปัฏฐานสูตรก็มี ในสติปัฏฐานสูตรอื่นๆ ก็มี นี้พวกเราได้ยินคำว่า “มหาสติปัฏฐาน” ก็เลยคิดว่าเป็นมหาสติ คนละเรื่อง

มหาสติปัฏฐาน เป็นชื่อพระสูตร สติปัฏฐานมีหลายสูตร ก็มีสติปัฏฐานย่อยๆ สติปัฏฐานเต็มภูมิเลยก็เรียกมหาสติปัฏฐาน วิธีฝึก เราจะต้องมีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ เครื่องอยู่ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ อันแรกเลยเรื่องกาย อันที่สองเรื่องเวทนา คือความรู้สึกสุขทุกข์ อันที่สามเรื่องจิต อันนี้จิตที่เป็นกุศลอกุศลทั้งหลาย อีกอันหนึ่งคือธัมมานุปัสสนา อันนี้กว้างขวางมากเลย ยังไม่ต้องเรียนก็ได้ เบื้องต้นเอาของง่ายๆ เรียนเรื่องกาย เรื่องเวทนา เรื่องจิต พวกนี้ง่าย ง่ายๆ

เวลารู้กาย ท่านสอนละเอียดลงไปอีก อย่างพวกเราส่วนใหญ่ไม่ได้ฌาน ท่านสอนให้รู้ง่ายๆ อย่างหายใจออกก็รู้ หายใจเข้าก็รู้ รู้อะไร รู้ร่างกายที่หายใจออก รู้ร่างกายที่หายใจเข้า รู้ได้ไหมว่าตอนนี้หายใจออก หรือหายใจเข้า ยากเกินไปไหม ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย ที่มันรู้ไม่ได้เพราะใจมันลอย มันหลง โมหะครอบงำ ความฟุ้งซ่านครอบงำ พาจิตเราหนีไปที่อื่น ลืมร่างกายตัวเราเอง

ฉะนั้นเราจะหัดเจริญสติปัฏฐาน อย่างถ้าเราจะเริ่มต้นใช้อานาปานสติ ไม่ได้ทำไปเพื่อความสงบ ไม่ได้ทำเพื่อความสงบ แต่ทำเพื่อให้มีสติ คนละแบบกัน ถ้าทำให้สงบก็ไปทางฌาน ถ้าทำให้มีสติก็คือคอยรู้สึกตัวไว้ หายใจออกก็รู้ หายใจเข้าก็รู้ หายใจยาวก็รู้ หายใจสั้นก็รู้ ก็คอยรู้อย่างที่มันเป็น ตอนนี้หายใจออก หรือตอนนี้หายใจเข้า รู้ได้ไหม ยากไหมที่จะรู้ว่า ตอนนี้หายใจออกหรือหายใจเข้า ไม่ยากที่จะรู้ แต่ละเลยที่จะรู้ เพราะมัวสนใจแต่อย่างอื่น ไม่สนใจการหายใจของตัวเอง

 

วิหารธรรมที่พระพุทธเจ้าท่านสอน

ฉะนั้นอยากฝึกสติปัฏฐาน ถ้าเราใช้วิหารธรรมที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ อันแรกที่ท่านสอนคือเรื่องหายใจ “ภิกษุทั้งหลายให้เธอคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว หายใจเข้ายาว รู้ว่าหายใจเข้ายาว” ตอนที่เราหัดใหม่ๆ ใจเรายังฟุ้งๆ อยู่ เราค่อยสังเกตลม เราเห็นลมมันยาวลงไป บางคนก็ลมไปถึงหน้าอก อันนี้ลมยังตื้นไป หายใจด้วยใจที่ผ่อนคลาย มันจะรู้สึกว่าลมลงไปอยู่ถึงท้องน้อย ลม รู้สึก ลมจริงๆ ไปถึงหรือเปล่าไม่สำคัญ อันนี้เป็นความรู้สึก

พอหายใจไปเรื่อยๆ ใจเริ่มสงบ ลมมันจะค่อยๆ ตื้นขึ้นๆ จนมาหยุดอยู่ที่ปลายจมูกนี้ ฉะนั้นลมมาหยุดอยู่ที่ปลายจมูก เหมือนกับแทบจะไม่หายใจ มันหายใจเล็กๆ นิดเดียว หายใจสั้นๆ หายใจนิดเดียว ท่านบอกหายใจยาวก็รู้ หายใจสั้นก็รู้ ส่วนใหญ่เวลาหัดอานาปานสติ ตั้งใจหายใจอย่างรุนแรง อย่างนี้ หายใจไม่กี่ทีก็เบื่อแล้ว มันเหนื่อย หายใจมาตั้งแต่เกิดไม่เหนื่อย พอจงใจจะทำอานาปานสติ หายใจ จะขาดใจตายแล้ว มันหายใจผิดธรรมชาติ หายใจไปธรรมดา หายใจอย่างธรรมดา ไม่ต้องวางฟอร์มหายใจเฮือกๆ ไม่ได้เรื่องหรอก

ขณะนี้หายใจอยู่แล้ว ก็แค่รู้สึกว่าร่างกายกำลังหายใจอยู่ ไม่ต้องไปเพ่งลมหายใจ ถ้าเพ่งลมหายใจมันจะไปทางกสิณ ฉะนั้นอย่างทำอานาปานสติ มันกว้างมาก ทำให้เป็นสมถะก็ได้ ทำอภิญญา ทำกสิณอะไรก็ได้ อภิญญามันมาจากกสิณนั่นล่ะ หรือจะทำวิปัสสนาก็ได้ มันเป็นกรรมฐานที่ครอบคลุมกว้างขวาง แล้วถ้าทำเต็มภูมิ อานาปานสติตัวเดียวนี้ ครอบคลุมสติปัฏฐาน 4 กายก็ได้ เวทนา จิต ธรรม เรียงลำดับเข้าไปเลย แต่เราไม่ต้องเรียนยุ่งยากขนาดนั้นหรอก ตอนนี้หายใจออก หรือตอนนี้หายใจเข้า นึกออกไหม ตอนนี้หายใจออกหรือหายใจเข้า รู้สึกไหม หายใจธรรมดา

ถ้าหายใจแล้วรู้สึกแน่นๆ ที่กลางอก แสดงว่าหายใจไม่ธรรมดาแล้ว จงใจ ถ้าจงใจเมื่อไร มันจะแน่นๆ หายใจธรรมดา ร่างกายก็ปลอดโปร่ง กายก็เบา ใจก็เบา สบาย เพราะฉะนั้นหายใจไปธรรมดา นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง ของวิหารธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ อันแรกเลยเรื่องอานาปานสติ

บางคนไม่ชอบอานาปานสติ ท่านก็สอนอย่างอื่น เรื่องกาย ให้รู้อิริยาบถ 4 พวกเรารู้สึกไหม ขณะนี้เรานั่งอยู่ ยากไหมที่จะรู้ว่ากำลังนั่งอยู่ ถ้ายาก โรคจิตแล้ว นั่งอยู่รู้ว่านั่งอยู่ หายใจอยู่รู้ว่าหายใจอยู่ ไม่เห็นมันจะยากตรงไหนเลย เรานั่งอยู่ เราก็รู้สึก เราเดินเราก็รู้สึก เรายืนก็รู้สึก เรานอนก็รู้สึก หลวงพ่อเวลานอนจะพลิกซ้ายพลิกขวา รู้สึกทั้งคืนเลย เพราะสติเรารวดเร็ว นอนจะพลิกตัวจะอะไรรู้หมด ฉะนั้นกระทั่งตอนนอน ก็ไม่ได้นอนทื่อๆ อยู่ ก็ยังมีความเคลื่อนไหว

ฉะนั้นแรกๆ จะดูร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน พอดูละเอียดเข้าไป เราจะเห็นร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง ร่างกายที่นั่งก็ไม่ได้นั่งเฉยๆ สังเกตไหม มีความเคลื่อนไหวในร่างกาย อย่างเราหายใจเข้า หายใจออก ร่างกายมันก็เคลื่อนไหว นั่งไปแล้วมันปวดมันเมื่อยเราก็ขยับ ร่างกายก็เคลื่อนไหว เราคอยรู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก ร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึก อันนี้เป็นบทเรียนที่สาม เป็นวิหารธรรมอันที่สามในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไล่ดูไปเรื่อยๆ เรียกสัมปชัญญะ มีสัมปชัญญบรรพ

ค่อยๆ ฝึกไป ไม่ยากหรอก ถนัดเห็นร่างกายหายใจ ก็รู้ไปเรื่อยๆ หายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก พอรู้บ่อยๆ ต่อไปไม่ได้เจตนารู้สึก มันก็รู้สึกได้เอง ตรงที่ไม่ได้เจตนารู้สึก แล้วมันรู้สึกได้เอง นั่นล่ะสติของเราเกิด เกิดอัตโนมัติขึ้นมาแล้ว ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ได้เจตนาจะรู้ว่ายืน เดิน นั่ง นอน มันก็รู้ สติอัตโนมัติมันเกิด

อย่างนั่งอยู่แล้วจะลุกขึ้นยืน เห็นร่างกายมันลุกขึ้นมา มันจะเห็นเหมือนเห็นคนอื่น เวลาร่างกายมันนั่งอยู่อย่างนี้ ถ้าสติเราดี สมาธิเราดี จะเห็นเหมือนเห็นคนอื่น เห็นวัตถุ เห็นหุ่นยนต์ตัวหนึ่งมันนั่งอยู่ เห็นหุ่นยนต์ตัวนี้มันลุกขึ้น เห็นหุ่นยนต์ตัวนี้มันเดิน ให้ดูเหมือนดูคนอื่นไปเรื่อยๆ ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย ดูยืน เดิน นั่ง นอน บางคนบอก แหม มันหยาบไป ก็ดูที่ละเอียดขึ้น ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก หันซ้าย หันขวา รู้สึก ก้าวไป รู้สึก ถอยหลัง รู้สึก หมุนซ้าย หมุนขวา รู้สึกไป คอยรู้สึกเรื่อยๆ

มีคนมาถามหลวงพ่อ ว่ารำไทเก็กแล้วเจริญสติได้ไหม ถ้าเจริญสติเป็นแล้วไปรำไทเก็ก ได้ แต่ถ้ายังเจริญสติไม่เป็น ไปรำไท้เก๊ก เดี๋ยวก็เคลิ้มไป มันจะเคลิ้มๆ เผลอๆ ไป ฉะนั้นเราทำเท่าที่พระพุทธเจ้าสอนก็พอแล้ว ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก ร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึก ไม่ต้องร่ายรำ ทำใจเคลิ้มๆ ให้จิตใต้สำนึกทำงาน ไม่ใช่ ของเราจะปลุกจิตให้ตื่น ไม่ใช่ทำจิตให้เคลิ้ม

เราจะหาวิหารธรรมที่ถนัด อย่างหลวงพ่อตั้งแต่เด็กมา หลวงพ่อฝึกอานาปานสติ แต่ฝึกแบบสมถะ แล้วพอทำวิปัสสนา หลวงปู่ดูลย์บอกให้ดูจิต หลวงพ่อใช้จิตเป็นเครื่องอยู่ ใช้จิตเป็นวิหารธรรม อย่างเราใช้กายเป็นวิหารธรรม สิ่งที่เราได้คือสติและสมาธิ ถ้าใช้จิตเป็นวิหารธรรม สิ่งที่ได้ก็คือสติกับสมาธิเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจะใช้กาย ก็ได้ผลเช่นเดียวกับใช้เวทนา ได้ผลเช่นเดียวกับใช้จิต เหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นสติปัฏฐาน ไม่ว่าเราจะเริ่มต้นจากตัวไหน สุดท้ายเราจะมีสติอัตโนมัติ และก็สมาธิอัตโนมัติ

สมาธิตัวนี้แปลก คนส่วนใหญ่คิดถึงสมาธิ ก็ต้องไปนั่งหลับตา นั่งทำใจให้เคลิ้มๆ ลืมเนื้อลืมตัวไป อันนั้นมิจฉาสมาธิ สมาธิของพระพุทธเจ้าอยู่ตรงนี้เลย ไม่ต้องไปเคลิ้มๆ ที่ไหนเลย รู้เนื้อรู้ตัวอยู่นี่ล่ะ จิตมีสมาธิ สมาธิตัวนี้เกิดจากสติที่ถูกต้อง สติทั่วๆ ไปก็ได้สมาธิธรรมดา สัมมาสติคือสติระลึกรู้รูปนามกายใจ ก็จะทำให้เกิดสัมมาสมาธิ คือสภาวะแห่งความตั้งมั่น จิตมันจะตั้งมั่น รู้ตื่นเบิกบานขึ้นมา โดยที่ไม่ได้เจตนา

อย่างถ้าเราทำจิตตานุปัสสนาอย่างที่หลวงพ่อทำ หลวงพ่อทำอานาปานสติเป็นสมถะ แล้วมาเจริญวิปัสสนาด้วยจิตตานุปัสสนา ควบกับเวทนานุปัสสนาทางใจ ดูจิตมันไม่ได้เห็นแต่กุศลอกุศล บางทีก็จิตมันไปเห็น สติมันไปเห็นเวทนา มันสุข มันทุกข์ มันไม่สุขไม่ทุกข์ ฉะนั้นเวลาที่หลวงพ่อปฏิบัติจริง หลวงพ่อเลย 2 อันควบเลย เวทนานุปัสสนากับจิตตานุปัสสนา ทำไมทำได้ เพราะเราเรียนอยู่ที่จิต แล้วเวทนาตัวนี้ มุ่งไปที่เวทนาทางใจ ไม่ได้เวทนาทางกาย

 

แต่ละคนมีทางของตัวเอง
ทำอันไหนแล้วสติเกิดบ่อยๆ เอาอันนั้น

ถ้ารู้กาย มันจะเห็นเวทนาทางกายได้ ต่อเข้ามาเวทนาทางกาย ถ้าดูจิตมันจะต่อเข้าเวทนาทางจิตได้ นี้หลวงพ่อทีแรกก็เห็นจิตมีโทสะ เพราะเป็นคนขี้โมโห ก็เห็นโทสะมันผุดขึ้นมา มันผุดจากกลางอก มันผุดขึ้นมา ตำราบอกหทย หทยวัตถุ เป็นที่เกิดของนามธรรม มันผุดขึ้นมา แต่ตำรารุ่นหลังๆ ไปเขียนบอกว่า มันอยู่ เป็นน้ำเลี้ยงหัวใจสีนั้นสีนี้ ซึ่งเวลาภาวนา ไม่มีใครไปเห็นกิเลสผุดขึ้นจากหัวใจหรอก มันผุดขึ้นจากกลางอก หทยตัวนี้ ใจ หลวงปู่เทสก์สอนดี คำว่า “ใจ” นี้แปลว่ากลาง เคยได้ยินคำว่า “ใจกลาง” ไหม

เพราะฉะนั้นที่ผุดขึ้นมาจากใจเรา ผุดขึ้นมาจากตรงกลางขึ้นมา หลวงพ่อเห็นโทสะมันผุดขึ้นมา ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป แล้วเห็นว่า เอ๊ะ เราไม่ได้เจตนาให้มันเกิดเลย พอมันกระทบอารมณ์ แล้วมีการแปลความหมาย ว่าอารมณ์นี้ไม่ดี ไม่ถูกใจ โทสะมันก็ผุดขึ้นมา เห็นไหมเราไม่ได้สั่งให้เกิด แล้วถ้ามันกระทบอารมณ์ไม่ดี จิตใจเรามีอนุสัยขี้โมโห เราจะบอกโทสะอย่าเกิด เราก็ห้ามไม่ได้ โทสะจะเกิด หรือโทสะจะไม่เกิด สั่งไม่ได้ นี่คืออนัตตา โทสะเกิดแล้วสั่งให้ดับก็ไม่ได้ หมดเหตุมันก็ดับ มีเหตุมันก็เกิดขึ้นมา เหตุยังดำรงอยู่ มันก็ดำรงอยู่ หมดเหตุมันก็ดับ

ตามอ่านจิตตัวเองไปเรื่อยๆ เริ่มต้นเห็นโทสะนี่ล่ะ พอเห็นโทสะชำนาญ ต่อไปเห็นกิเลสที่ละเอียดมากขึ้นคือราคะ พอราคะ อย่างความยินดีพอใจ วันนี้นั่งสมาธิสงบดี ยินดีพอใจ นี้ราคะ เพราะฉะนั้นวันไหนภาวนาดี แล้วก็ภูมิอกภูมิใจ ปลื้ม ให้รู้ตัว โดนราคะเล่นงานแล้ว หลงยินดีแล้ว วันนี้นั่งสมาธิแล้วไม่สงบเลย หงุดหงิด นี่ยินร้ายแล้ว นี่โทสะ หลวงพ่อก็อ่าน ใช้จิตเป็นวิหารธรรม อย่างพวกเราบางคน ใช้กายเป็นวิหารธรรมก็ได้ ใช้เวทนาเป็นวิหารธรรมก็ได้

เวทนาทางกาย คนที่จะใช้ได้ เป็นวิหารธรรมได้ ควรจะทรงสมาธิ ถ้าไม่ได้ทำฌานมาก่อน ไปดูเวทนาทางกาย เดี๋ยวสติแตก เพราะมันทนไม่ไหว มันเจ็บ แต่เวทนาทางใจ ไม่ต้องใช้สมาธิเยอะ ขณะนี้ใจเราสุขหรือใจเราทุกข์ ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย มันก็เหมือนขณะนี้หายใจออก หรือหายใจเข้า ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย ขณะนี้นั่งอยู่รู้สึกไหม ไม่เห็นจะยากเลย เห็นไหม ขณะนี้เคลื่อนไหว ขณะนี้หยุดนิ่ง ไม่เห็นจะยาก ขณะนี้จิตใจมีความสุข ขณะนี้จิตใจมีความทุกข์ ก็ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย

ขณะนี้อย่างจิตใจสงสัย สงสัยแล้วเที่ยวไปคิดๆๆ ใหญ่ เราก็รู้ทัน ตัวสงสัยนี้ตัวโมหะ แต่ละเอียดเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง ตัวราคะ มันจะดึงอารมณ์เข้ามาหาตัวเอง ตัวโทสะ มันจะผลักอารมณ์ออกไป ตัวโมหะ มันจับอารมณ์ได้ไม่ชัดเจน อย่างเวลาเราฟุ้งซ่าน มันจับอารมณ์โน้น จับอารมณ์นี้ ไม่ชัดเจน เวลาเรางงๆ สงสัย คิดใหญ่เลย ฟุ้งซ่าน ก็จะเป็นตัวโมหะ อย่างถ้าเราดูจิตตานุปัสสนา เราก็จะเห็นจิตมีโทสะ จิตมีราคะ จิตมีโมหะ

ค่อยดูไปเรื่อยๆ ต่อไปมีสิ่งแปลกปลอมเกิดขึ้นในจิต ยังไม่ทันรู้เลยว่ามันคืออะไร แค่มีสิ่งแปลกปลอมเกิดขึ้นมา ผุดขึ้นมา ยังไม่รู้ว่าคืออะไร บางทีไม่ได้ผุดสูงเลย ไหวๆ ขึ้นมากลางอกนี้ สิ่งบางสิ่งเกิดขึ้นแล้ว สติระลึกลงไป ขาดสะบั้นลงไปอีก เราก็ไม่รู้ว่าอะไรเกิด ไม่รู้อะไรดับ เรารู้แค่ว่าสิ่งบางสิ่งเกิดขึ้น แล้วสิ่งนั้นดับไป ทุกสิ่งที่เกิดดับทั้งสิ้น เห็นไหวอยู่ตรงนี้ ตรงนี้เราเดินปัญญาในขั้นที่ละเอียดมาก

เวลาดูจิต ทีแรกเราก็เห็นจิตมีราคะ จิตมีโทสะ จิตมีโมหะ จิตสุข จิตทุกข์ จิตไม่สุขไม่ทุกข์ เห็นอย่างนี้ แต่พอมันละเอียดเข้าไป มันจะเห็นความไหวๆ ขึ้นมาที่กลางอกนี้เท่านั้นเอง ยังไม่ทันรู้เลยว่าที่ไหวๆ นี้ มันจะผุดขึ้นมาเป็นอะไร เหมือนเราเห็นเมล็ดพืชอันหนึ่ง มันตกอยู่ที่พื้น มันยังไม่ทันงอกเลย แล้วเราไปเห็น แล้วจับมาบี้ๆ แล้วสลายไปหมดแล้ว ถ้าดูไม่ทัน มันก็จะงอกขึ้นมาเป็นความสุข เป็นความทุกข์ เป็นความไม่สุขไม่ทุกข์ เป็นกุศล เป็นโลภ เป็นโกรธ เป็นหลง แล้วแต่มันจะผุดขึ้นมา เราเลือกไม่ได้ เราเลือกไม่ได้ เลือกไม่ได้คืออนัตตา

ฉะนั้นการภาวนา ทีแรกก็จะเห็นของหยาบ พอภาวนาไปเรื่อยๆ มันจะละเอียดๆๆ เข้าไป ละเอียดถึงขีดสุด เราจะเห็นว่า สิ่งบางสิ่งเกิดขึ้นแล้วสิ่งนั้นดับไป โดยที่ไม่รู้ ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ยังไม่มีสัญญาเข้าไปแปลความหมายด้วยซ้ำไป สัญญามันไปมองเห็นไตรลักษณ์เข้า ยากไหม

สรุป ไปรักษาศีล 5 ให้ดี ตั้งใจรักษาไว้ ทีแรกก็รักษากระพร่องกระแพร่ง เป็นธรรมดา สติเรายังสู้กิเลสไม่ไหว ก็ตั้งใจไว้ ทุกวันสมาทานศีล ไม่ต้องมาขอที่พระ สมาทานศีล ตั้งใจกับตัวเองก็ได้

หรือที่บ้านมีพระพุทธรูป ไปตั้งใจไว้กับพระพุทธรูปก็ได้ บางคนบอกอย่าไปนับถือพระพุทธรูป นี้เข้าใจอะไรไม่ถูกเลย อะไรก็ได้ ถ้าเป็นสัญลักษณ์ ทำให้เราคิดถึงคุณงามความดี คิดถึงพระพุทธเจ้า อันนั้นดีทั้งนั้นล่ะ อย่างคนโบราณ ยุคแรกไม่มีพระพุทธรูป พระพุทธรูปมาเกิดรุ่นหลังแล้ว รุ่นแรกเขาก็ทำธรรมจักร เป็นรูปธรรมจักร ไปไหว้แล้วก็นึกถึงพระพุทธเจ้า นึกถึงธรรมะ จิตเป็นกุศล ตายไปก็มีสุคติเป็นที่ไป ถ้าจิตเป็นกุศล

หรือรอยพระบาท รอยพระบาทสังเกตไหม เขาทำอันใหญ่ๆ ไปเห็นแล้วก็คิดถึงพระพุทธเจ้า ท่านทิ้งรอยเท้าเอาไว้ให้ ตัวท่านนิพพานไปแล้ว ท่านยังทิ้งรอยพระบาทไว้ให้ รอยพระบาทนี้ก็คือธรรมวินัยนั่นเอง ศีลธรรมที่ท่านสอน เพราะฉะนั้นเราจะต้องเดินตามรอยเท้าของท่าน เวลาไหว้พระบาท ต้องตั้งใจอย่างนี้ เราจะเดินตามรอยพระพุทธเจ้า ตามรอยพระอรหันต์ไป ไหว้อย่างนี้เป็นกุศลหรืออกุศล บางคนบอกพระบาทปลอม คนอะไรเท้าใหญ่เป็นเมตรๆ ไม่มีหรอก พระพุทธเจ้าก็ตัวเท่าคนธรรมดานี้เอง ไม่เข้าใจสัญลักษณ์ สัญลักษณ์ ไฉนมาออกเรื่องนี้ได้ สงสัยเก็บกด

รู้สึกไหมจิตใจมีความสุข รู้สึกไหม ทั้งห้องเลย ยกเว้นเบอร์ 8 ทำไมไม่มีความสุข เพ่งเอาเป็นเอาตายอยู่ ไม่มีความสุข ใจเรามีความสุข รู้ว่ามีความสุข ยากไหม ไม่ยากแต่ละเลยที่จะรู้ จำไว้เลย การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ หลวงปู่ดูลย์สอนประโยคแรก ที่สอนหลวงพ่อเลย “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ” ประโยคที่สอง “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” ไม่ใช่ทุกคนที่หลวงปู่ดูลย์จะสอน แล้วให้อ่านจิตตนเอง ลูกศิษย์ท่านบางคนท่านก็ให้พุทโธ ให้หายใจ ให้ดูกระดูก เป็นเรื่องของสมถะทั้งหมดเลย ให้พิจารณาผมเส้นเดียว เรื่องของสมถะ

แล้วการเจริญวิปัสสนา บางท่านก็ดูกาย บางท่านก็ดูจิต ครูบาอาจารย์ชั้นเลิศอย่างนั้น ไม่ได้สอน มีหลักสูตรอยู่อันเดียว ก็สอนทุกคนเหมือนกัน ไม่ใช่ ท่านสอนคนตามจริตนิสัย เป็นความเก่งของครูบาอาจารย์ อย่างพระพุทธเจ้าสอนคน ก็สอนตามจริตนิสัย ไม่ได้สอนทุกคนเหมือนกันหมด ไม่ใช่ทุกคน เอ้า เริ่มต้นนั่งสมาธิ หายใจไป ไม่ได้สอนอย่างนั้น ไม่ใช่ทุกคนต้องทำ แต่ละคนมีทางของตัวเอง ทำอันไหนแล้วสติเกิดบ่อยๆ เอาอันนั้นล่ะ

เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้สึกกาย แล้วสติเกิดบ่อยๆ รู้สึกกายไป ผลที่ได้ก็อันเดียวกัน ได้สัมมาสติ ได้สัมมาสมาธิ ถนัดรู้เวทนาก็รู้ไป ผลที่ได้ก็คือสัมมาสติกับสัมมาสมาธิ ถนัดดูจิตที่เป็นกุศลอกุศล ก็ดูไป สิ่งที่ได้ก็อันเดียวกัน สัมมาสติกับสัมมาสมาธิ เพราะฉะนั้นที่เรามีรูปแบบ มีวิธีการ มีอารมณ์กรรมฐานที่แตกต่างกันนั้น ไม่มีนัยยะสำคัญ ทางใครทางมันเลย ถ้าทำถูกแล้ว เราจะเข้ามาที่เดียวกัน มีสัมมาสติ มีสัมมาสมาธิ

 

ตั้งต้นด้วยการฝึกสัมมาสติให้ดี

สัมมาสติ เป็นสติที่ระลึกรู้รูปนาม ที่กำลังมีกำลังเป็นอยู่ ไม่ใช่รูปนามในอดีต อันนั้นสัญญาจำเอา ไม่ใช่รูปนามในอนาคต อันนั้นวิตก คิดเอา แต่รู้สึกอยู่กับปัจจุบันนี้ รู้รูปรู้นามในปัจจุบัน ขณะนี้รูปมันนั่งอยู่ ขณะนี้รูปมันหายใจอยู่ เราทำสติปัฏฐานอยู่ หรือขณะนี้จิตเราหลงไปคิด ตรงที่รู้ว่าจิตหลงคิดปุ๊บ จิตที่หลงคิดจะดับทันที แล้วจิตรู้จะเกิดทันทีเลย จิตที่รู้นั้นคือจิตที่ทรงสัมมาสมาธิ ที่หลวงพ่อเรียกว่าจิตผู้รู้ ที่จริงไม่ใช่หลวงพ่อเรียก ครูบาอาจารย์ของหลวงพ่อท่านเรียกว่า “จิตผู้รู้” เรียกอย่างนี้ทุกองค์เลย

สมัยเมื่อ 30 – 40 ปีก่อน หลวงพ่อเข้าไปเรียนกับครูบาอาจารย์ เข้าไปหาองค์ไหน ท่านก็สอนแต่เรื่องจิตผู้รู้ ท่านไม่ได้มาสอนหลวงพ่อ ให้พุทโธพิจารณากายสักองค์เลย กระทั่งหลวงตามหาบัว ว่าหลวงตาชอบสอนพุทโธพิจารณากาย หลวงพ่อไปเรียนกับท่าน ท่านสอนให้ดูจิต แล้วบอกเราด้วย เราดูจิตผิดแล้ว ดูไม่ถึงจิตแล้ว แล้วท่านเรียกจิตผู้รู้ จิตผู้รู้คืออะไร คือจิตที่ทรงสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิคือความตั้งมั่นของจิต เกิดจากกำลังของสติ เกิดจากสัมมาสติ

ถ้าสติทั่วๆ ไป สมาธิก็เป็นสมาธิทั่วๆ ไป ถ้าเป็นสัมมาสติ สติระลึกรู้กายรู้ใจ สัมมาสมาธิที่เกิดขึ้นเป็นความตั้งมั่น แล้วก็ขันธ์มันจะแยก พอจิตเราตั้งมั่นปุ๊บ เราจะเห็นเลย ร่างกายก็ส่วนหนึ่ง จิตก็ส่วนหนึ่ง ร่างกายที่หายใจอยู่เป็นส่วนหนึ่ง จิตเป็นคนเห็น ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน เป็นส่วนหนึ่ง จิตเป็นคนเห็น ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง เป็นของถูกรู้ถูกดู จิตเป็นคนเห็น เป็นอีกส่วนหนึ่ง คนละ แยกกัน แยกกันเป็นคนละส่วนกัน หรือความสุขความทุกข์เกิดขึ้นในร่างกาย จิตเป็นคนเห็น แล้วความสุขความทุกข์ก็ไม่ใช่ร่างกาย

อย่างเรานั่งอยู่ ทีแรกสบายๆ ไม่ปวดไม่เมื่อย นั่งนานๆ ปวดเมื่อยขึ้นมา อันนี้แสดงว่าปวดเมื่อยกับร่างกายนี้ เป็นคนละอันกัน ร่างกายมันตั้งอยู่นี้ แล้วความปวดความเมื่อยมันมาแทรกเข้ามา ฉะนั้นปวดเมื่อยในร่างกาย ก็เป็นคนละอันกับร่างกาย ร่างกายเป็นวัตถุ มันเป็นวัตถุ มันไม่ได้รับรู้ความปวดความเมื่อย ตัวที่รับรู้คือจิต นี้พอจิตมันมีความรักใคร่ผูกพันในร่างกายมาก พอมีความเจ็บปวดเกิดขึ้นในร่างกาย จิตมันก็หลงผิด หมายรู้ผิดว่า โอ๊ย ร่างกายของเราเจ็บปวด จิตใจก็กลุ้มใจไปด้วย จิตใจเลยปวดไปด้วย

แต่ถ้าเรามีจิตตั้งมั่น เราจะเห็นเลยร่างกายก็อันหนึ่ง ความปวดเมื่อย ความเจ็บก็อีกอันหนึ่ง คนละอันกัน แต่ละอันมีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ หรือเห็นเวทนาทางใจ สุข ทุกข์ เฉยๆ ทางใจเกิดขึ้น เราก็เห็นสุข ทุกข์ เฉยๆ ทางใจ เป็นของถูกรู้ถูกดู เป็นส่วนหนึ่งไม่ใช่จิต จิตเป็นคนไปเห็นเข้า กุศลอกุศลที่เกิดขึ้น คนทั่วไปมันโกรธ มันไม่รู้ว่าตัวเองโกรธ มันโลภไม่รู้ว่าตัวเองโลก มันหลง ไม่รู้ว่าตัวเองหลง

นักปฏิบัติโกรธแล้วรู้ว่าโกรธ ทีแรกยังรู้ผิดว่าเราโกรธ ตอนนี้เราโกรธแล้ว ตอนนี้เราโลภแล้ว พอภาวนาละเอียดเข้า เราก็จะเห็นความโกรธกับจิต มันคนละอันกัน เรารู้สึกว่าจิตคือตัวเรา ความโกรธมันเป็นของถูกรู้ ความโกรธไม่ใช่เราแล้ว ค่อยๆ แยกๆๆ ไป แล้วสุดท้ายเราจะเข้ามาที่จิต แล้วเราจะรู้เลยว่า จิตเองก็ไม่ใช่เรา แต่ว่ามันหมายรู้ผิด มันก็เลยคิดว่าเป็นเรา เลยเชื่อว่าเป็นเรา มันเกิดจากหมายรู้ผิดๆ นี่สัญญาวิปลาส หมายรู้ผิด

ไม่ยากหรอก ธรรมะ การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ หายใจอยู่ รู้สึกไหม ยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึกไหม เคลื่อนไหว หยุดนิ่ง รู้สึกไหม สุข ทุกข์ รู้สึกไหม แนะนำให้รู้สึกสุขทุกข์ทางใจ ทางกายพวกเราไม่ได้เล่นฌาน เดี๋ยวสติแตก ทนไม่ไหว มันเจ็บมาก เวลาถ้าเราชำนาญในสมาธิ แล้วร่างกายเราเจ็บตรงนี้ เราย้ายที่ได้ ไม่ได้ย้ายความเจ็บ แต่ว่าย้ายจิต อย่างเวลาเราไปทำฟัน ทำแล้ว โอ้ มันเจ็บ เราก็ทำได้หลายแบบ อันหนึ่งดูไปเรื่อยๆ นั่งแยกขันธ์ไป แต่ถ้าเราเหนื่อยแล้ว ขี้เกียจดูแล้ว เราก็ย้ายเอาจิตไปไว้ที่หัวแม่เท้า หมอฟันไม่เคยไปยุ่งกับหัวแม่เท้าเราใช่ไหม มันยุ่งอยู่นี่ จิตเราไปอยู่ตรงโน้น เราไม่เจ็บแล้ว

เรื่องของสมาธิ เรื่องของสมาธิก็เป็นอจินไตยอันหนึ่ง พระพุทธเจ้าสอน อย่างเรื่องของคนได้ฌานสมาบัติ มันเป็นอจินไตย คิดเอาไม่ออก อย่างตอนนี้ก็มีคนคิดว่าหูทิพย์ ตาทิพย์อะไรนี้ เป็นของนอกศาสนาพุทธ ไม่ใช่ศาสนาพุทธ ในอภิญญา 6 มีเรื่องหูทิพย์ ตาทิพย์ มีเรื่องเจโตปริยญาณ มีเรื่องอิทธิวิธี ในวิชชา 3 ก็มีเรื่องระลึกชาติ มีเรื่องรู้ว่าใครตายแล้วไปเกิดที่ไหน สิ่งเหล่านี้มี คนไม่ได้ทรงฌาน ประเมินไม่ถูกก็บอกไม่มี เพราะตัวเองไม่มี

แต่ถ้าอยู่ๆ ตั้งใจจะไปฝึกหูทิพย์ ตาทิพย์ อันนี้ไม่เข้าท่าเลย ไม่แนะนำ ฝึกสิ่งเหล่านี้ จะฝึกแล้วได้จริงๆ ต้องทรงฌาน ที่นั่งๆ แล้วเคลิ้มๆ เห็นโน่นเห็นนี่ มโนเอา ไร้สาระ ไม่มีสาระแก่นสาร อย่างถ้ามีสมาธิ แล้วก็เห็นผี เห็นนรก เห็นสวรรค์ ในศาสนาพุทธมีไหม มี โอปปาติกะมีไหม โอปปาติกะ อย่างเทวดา พรหม ผีอะไรพวกนี้ สัตว์นรกเป็นโอปปาติกะ เปรต อสุรกาย โอปปาติกะก็มี แต่ว่าพอมองไม่เห็นก็บอกไม่มี ทำไมเชื่อว่าเชื้อโรคมี ใครมองเห็นเชื้อโรคบ้าง ก็เชื่อเอา เพราะหมอเขาบอกว่าเชื้อโรคมี เขาเอากล้องส่อง

กล้องที่จะส่องโอปปาติกะก็มี ไม่ใช่ไม่มี คือทิพยจักษุ สิ่งเหล่านี้ไม่ต้องฝึกหรอก เสียเวลา เอาของจริง อันนี้ของเล่น อย่างเราภาวนา เจริญสติไป ได้มรรคได้ผลขึ้นมา ของเล่นเก่าๆ ที่เคยฝึกไว้ มันจะกลับมาเอง ไม่ต้องฝึก ถ้าลงมือฝึก ยังไม่เคยฝึกเลย ฝึกกันเป็นร้อยๆ ชาติกว่าจะได้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องฝึกหรอก ทำวิปัสสนาไป แล้วถ้าได้มรรคได้ผล แล้วของเก่าเราเคยมี มันจะกลับมา แล้วแต่ละระดับของจิต ก็รู้ได้ไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน อย่างพระโสดาบันก็รู้ได้ระดับหนึ่ง พระสกทาคามีรู้ได้อีกระดับหนึ่ง พระอนาคามีรู้อีกระดับหนึ่ง

อย่างพระอรหันต์ที่ท่านมีอภิญญา จิตท่านไม่มีกิเลส ไม่มี Bias เหลืออยู่ ความรู้นี้จะเที่ยงตรง แต่อย่างพวกเราปุถุชนเต็มร้อย เราจะไปฝึกหูทิพย์ ตาทิพย์ จะดูโน่นดูนี่ กิเลสพาไปหมด ฉะนั้นบางท่าน ท่านก็หวังดี ท่านก็บอก “อย่าไปเล่นเลย อย่าไปฝึกเลย เอาของจริงดีกว่า” คือฝึกสติปัฏฐาน แต่ว่าถามว่าพวกนั้นมีไหม มี หลวงพ่อเรียนกับครูบาอาจารย์ ได้เห็น ได้เห็นอยู่เนืองๆ แล้วเราใกล้ชิดท่าน แล้วเราภาวนา ตั้งอกตั้งใจจริงๆ เราได้เห็นว่าอภิญญาอะไรพวกนี้มีจริง มี

ครูบาอาจารย์บางองค์ โห เหลือรับประทาน ไม่ใช่ทางไม่ดี หมายถึงสยดสยองเลย เข้าใกล้ท่าน รู้หมด ไปทำอะไรมา รู้หมด หลวงพ่อไม่รู้ ไม่ต้องมากลัวหลวงพ่อ พวกเราเข้าใกล้หลวงพ่อแล้วเกร็ง หลวงพ่อไม่รู้ด้วยหรอก เพราะหลวงพ่อไม่อยากรู้ ไม่รู้จะรู้ไปทำไม

สรุป รักษาศีล 5 ไว้แล้วก็ต้องลงมือเจริญสติปัฏฐาน มีสติระลึกรู้กาย มีสติระลึกรู้เวทนา มีสติระลึกรู้จิตที่เป็นกุศลอกุศล รู้เรื่อยๆ แล้วต่อไปไม่ได้เจตนาจะรู้ มันรู้ได้เอง ตรงนั้นสติจริงๆ มันเกิดแล้ว แล้วพอสติตัวจริงเกิด สมาธิตัวจริงจะเกิดร่วมด้วยเสมอ

อย่างจิตเราหลงไปอย่างนี้ แล้วเรารู้ว่าจิตหลงปุ๊บ จิตหลงดับ จิตตั้งมั่นเลย จิตทรงสัมมาสมาธิทันทีเลย เพราะฉะนั้นสัมมาสติ สัมมาสมาธิ มันก็เกิดด้วยกัน ขอให้มันได้สัมมาสติจริงๆ เถอะ พอมีสัมมาสมาธิแล้ว เอาไปเจริญปัญญา ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิ ไปเจริญปัญญาไม่ได้จริงหรอก มันจะเจือความคิดเอา เจือกิเลสตัวเองลงไป แล้วถ้าจิตเราตั้งมั่น ไม่มีอคติ 4 เราเจริญปัญญาได้ เห็นความจริงของกาย เห็นความจริงของจิตใจ เรียกว่ามีสัมมาญาณะ มีความหยั่งรู้ที่ถูกต้อง เมื่อหยั่งรู้อย่างถูกต้องเพียงพอแล้ว สัมมาวิมุตติ คือมรรคผลจะเกิดเอง ไม่มีใครสั่งให้เกิด เพราะฉะนั้นตั้งต้นด้วยการฝึกสัมมาสติให้ดี ทำสติปัฏฐานไว้ แต่ก่อนอื่นรักษาศีล 5 ให้ดี เอาละ สรุปแค่นี้พอ

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
23 พฤศจิกายน 2567