กิเลสกลัวคนรู้ทัน

ให้เวลากับการภาวนาของเราให้มากๆ หน่อย ไม่ว่าจะเป็นพระหรือเป็นโยม สนใจที่จะปฏิบัติ ต้องใส่ใจ ให้ความสำคัญ มันเป็นงานสำคัญ เราเรียนวิชาทางโลก กว่าจะได้รับปริญญาสักใบหนึ่ง เรียนมาตั้งแต่อนุบาล เป็นสิบๆ ปี ไม่ตั้งใจก็เรียนไม่จบ ศึกษาธรรมะ มันเป็นศาสตร์อันหนึ่ง ต้องลงมือปฏิบัติ ศาสตร์อันนี้ท่องจำเอาก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร เราท่องตำรับตำราได้เยอะ กิเลสไม่กลัว กิเลสไม่กลัวความรู้ทั้งหลาย กระทั่งความรู้ในธรรมะที่เล่าเรียน กิเลสกลัวคนรู้ทัน

กิเลสอยู่ในใจเรา มันอยู่มานานแล้ว นับภพนับชาติไม่ถ้วน เราไม่เคยเห็น มันเป็นเจ้านาย สั่งให้เราทำ สั่งให้เราพูด สั่งให้เราคิด กิเลสมันสั่งทั้งนั้นเลย ทั้งความคิด ทั้งคำพูด ทั้งการกระทำ เราไม่เคยเห็น เรามีแต่ความลำพองว่าเราเก่ง ไม่มีใครบังคับเราได้ ไม่มีใครสั่งเราได้ ไม่กลัวใคร เราไม่เห็นหรอก เป็นทาสอยู่ กว่าจะเรียนรู้ถึงจิตถึงใจตัวเอง กิเลสมันอยู่ที่จิต ต้องเรียนรู้ให้ถึงจิตถึงใจ เราเห็นมัน พอเราเห็นมัน มันถึงจะกลัวเรา เราไม่เห็นมัน มันก็แอบอยู่ในใจเรา เป็นเจ้านายเรา ตกเป็นทาสโดยไม่รู้สึกตัว

 

การภาวนาต้องต่อเนื่อง

ในสังสารวัฏที่ยาวไกล เราเป็นทาสกิเลสมาตลอด ฉะนั้นยากที่จะรู้ตัว เป็นทาสโดยที่ไม่รู้ว่าเป็นทาส ยากที่จะรู้ว่าเราเป็นทาส ต้องใช้การสังเกตเอา ค่อยๆ เห็นไป จิตใจมันถูกกิเลสบงการ สร้างมโนกรรมที่ไม่ดี ก็เกิดวจีกรรม เกิดกายกรรมที่ไม่ดี กรรมทั้ง 3 อย่าง ต้องใช้เวลา เราสะสมกิเลสมานานนับภพนับชาติไม่ถ้วน กิเลสมันเลยเปลือกหนามาก ปุถุชนก็คนหนาคนหยาบ กิเลสมันหนาครอบงำเราไว้ ฉะนั้นเราจะภาวนา ก็ต้องใช้เวลา ค่อยๆ ลอกเปลือกมัน ค่อยๆ กะเทาะเปลือกมันที่มันห่อหุ้มเราไว้ ห่อหุ้มจิตเอาไว้ ต้องใช้เวลา ถ้าเราเพิ่งเริ่ม ไม่เคยฝึกที่จะรู้เท่าทันจิตใจตัวเองเลย ก็ใช้เวลาเยอะหน่อย ถ้าเคยฝึกมาแล้ว มันก็ใช้เวลาน้อยหน่อย

อย่าว่าแต่โยมเลย โยมภาวนาแล้วก็เลิก เลิกแล้วก็ภาวนาอะไรอย่างนี้ หวังจะได้มรรคได้ผล มันไม่ได้ง่ายๆ หรอก วันนี้ลอกกิเลส อีกวันหนึ่งพอกกิเลสใหม่ พอกกลับเข้าไปอีก มักจะพอกหนากว่าเก่าอีก กระทั่งเป็นพระ พระอยู่กับหลวงพ่อ หลวงพ่อควบคุมเรื่องการปฏิบัติ ต้องทำต่อเนื่อง ตื่นมาก็ต้องเริ่มปฏิบัติแล้ว รู้สึกใจ รู้สึกกายไป ก็ตื่นขึ้นมา จิตมันตื่นก่อน ร่างกายมันตื่นทีหลัง สติเราเร็วๆ เราเห็นจิตมันขึ้นจากภวังค์ ค่อยเกิดความคิด คำพูด การกระทำขึ้นมา ฉะนั้นอย่างเป็นพระ ถ้าอยู่กับหลวงพ่อที่นี่ หลวงพ่อไม่ให้วอกแวกไปที่อื่นหรอก ประเภทเข้าๆ ออกๆ เข้ามายาก กว่าจะเข้ามาที่นี่ได้ ถ้าออกไปแล้ว ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เข้ามาอีกแล้ว

ทำไมมีระบบพิลึกอย่างนี้ เพราะการภาวนามันต้องต่อเนื่อง วันนี้ภาวนาแล้วก็ขี้เกียจขึ้นมา เบื่อขึ้นมา ออกไปเที่ยว ตระเวนไปโน่นไปนี่ นี่เป็นพระ ถ้าเป็นโยมก็ไปดูหนังฟังเพลงไปอะไร พระก็เที่ยววัดโน้นวัดนี้อะไรอย่างนี้ สิ่งที่สะสมไว้ มันสลายตัวไปหมดแล้ว ความดีทั้งหลาย สมาธิเสื่อม ไปวุ่นวายกับโลกข้างนอกมากๆ ดีไม่ดี ศีลก็เสื่อมอีก ศีลก็เสีย สมาธิก็เสีย อย่ามาพูดเรื่องเจริญปัญญา ไม่มีทาง อย่างออกไปตระเวนมาสักช่วงหนึ่งแล้วกลับเข้ามา มันติดลบเข้ามาแล้ว ไม่ใช่นับหนึ่งใหม่ มันนับติดลบก่อน เพราะว่าไปสะสมพอกพูนกิเลสกลับเข้ามาอีก นี่ขนาดพระ ส่วนโยมในวันเดียวกันใช่ไหม นึกถึงการปฏิบัติก็ปฏิบัติ ประเดี๋ยวเดียวก็เผลอแล้ว ไปเล่นเน็ตเล่นอะไร วุ่นวาย อ่านข่าวที่ทำให้ใจร้อน ข่าวสารที่รับส่วนใหญ่เป็นยาพิษ สิ่งที่ดี มีคุณค่ากับจิตใจ หายาก ไม่ค่อยมีใครผลิตออกมาหรอก

ฉะนั้นอย่างถ้าเราเป็นฆราวาส เราอยากภาวนาให้ได้มรรคได้ผลจริงๆ ต้องตั้งใจให้เด็ดเดี่ยว เป้าหมายในชีวิตเราคืออะไร ไม่ใช่อยู่กับโลกไปเรื่อยๆ ตามเขาไปเรื่อยๆ ใครเขาทำอะไร ก็ทำตามๆ เขาไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิตก็มีแค่นั้น ก็เวียนว่ายตายเกิดตามเขาไปเรื่อยๆ ถ้าตั้งเป้าหมายว่าเราอยากพ้นทุกข์ อยากรู้ทั่วถึงธรรมของพระพุทธเจ้า คำสอนทั้งหลายก็ต้องเด็ดเดี่ยว มีวินัยในตัวเอง ไม่ตามใจกิเลส กิเลสถ้าตามใจมันเข้าทีหนึ่ง กำลังของมันจะเพิ่มขึ้น เวลากำลังของมันมากขึ้น กว่าจะสู้กะเทาะมันออกได้ ไม่ใช่ง่าย

ฉะนั้นเวลากิเลสเกิด ให้รู้ทันไว้ ให้เห็นมันไว้ มันกลัวการเห็น ถ้าเราไม่เห็นมัน มันก็บงการความคิด คำพูด การกระทำ แล้วมันก็พอกพูนมากกว่าเก่า กิเลสมันเติบโตได้ กุศลก็เติบโตได้ แต่กิเลสมันโตไวกว่า มันเหมือนวัชพืช วัชพืชมันโตเร็ว ไม่ได้ตั้งใจเลี้ยงมันสักหน่อย มันโตเอาๆ ต้นไม้ดีๆ โตยากต้องดูแลมาก กุศลนี้เหมือนกันจะพัฒนามันขึ้นมา ต้องดูแลมาก ทำไมเป็นอย่างนั้น เพราะพื้นฐานพวกเรา อกุศลมันเยอะ อกุศลมากๆ จะพัฒนาให้เป็นกุศล แหม มันลำบาก แต่ถ้าเราเคยฝึกฝนมาหลายภพหลายชาติ กุศลมีกำลังกล้า การทำกุศลให้พัฒนาขึ้นไป ไม่ลำบาก แต่ทำชั่วลำบาก สร้างกิเลสลำบาก

เราไม่ต้องเข้าข้างตัวเอง เราวัดใจตัวเองว่า เวลาเราจะทำชั่วลำบากไหม ถ้าทำได้หน้าตาเฉย แสดงว่า โอ้โห พื้นฐานย่ำแย่ ถ้าจะทำชั่วแล้ว รู้สึกลำบาก แสดงว่าพื้นฐานเราดี จิตเรามีกำลังของกุศลอยู่เยอะ พระพุทธเจ้าถึงบอก คนดีทำดีง่าย ทำชั่วยาก คนชั่วทำดียาก ทำชั่วง่าย เราวัดตัวเราเอง ไม่ต้องให้ใครมาวัดหรอก เวลาเราจะทำความดีอะไรสักอย่าง ยากไหม อย่างจะตื่นมาวัด มาฟังธรรมอะไรอย่างนี้ ยากไหม หรือมีความสุขที่ได้ทำความดี หรือต้องทรมานมากเคี่ยวเข็ญมากกว่าจะเลื้อยขึ้นมาได้ วัดใจตัวเองไปเลย เวลามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ทะเลาะกับใครสักคนอย่างนี้ อาฆาตเจ็บแค้นนานไหม หรือวางได้เร็ว ถ้าจิตใจเป็นกุศล โกรธเขาแป๊บๆ เห็นความโกรธผุดขึ้นมา แค่เห็นมันก็ไปแล้ว กิเลสมันแพ้การเห็น หรือโกรธใครสักคนหลายปี คิดจะเอาชนะ คิดจะเอาคืนให้ได้ ผูกใจเจ็บพยาบาท ละความพยาบาทก็ละไม่ไหว ยาก แสดงว่าจิตมันคุ้นเคยกับกิเลส

 

“กิเลสมันเติบโตได้ กุศลก็เติบโตได้ แต่กิเลสมันโตไวกว่า
มันเหมือนวัชพืช วัชพืชมันโตเร็ว ต้นไม้ดีๆ โตยากต้องดูแลมาก
กุศลนี้เหมือนกันจะพัฒนามันขึ้นมา ต้องดูแลมาก”

 

ฉะนั้นเราไม่ต้องเข้าข้างตัวเองหรอก แล้วก็ไม่ต้องไปประกาศหรอก เราวัดใจตัวเองจริงๆ เลย ทำดียาก หรือทำชั่วยาก ถ้าเรารู้สึกว่าทำดียังยาก ก็ต้องอดทน ดูจิตดูใจของเราไป เห็นเลย กิเลสเป็นตัวบั่นทอนความดีเรา มันแทรกเข้ามาเมื่อไร รู้ทันๆ ไป กิเลสมันจะอ่อนกำลังลง อย่างพื้นเดิมของหลวงพ่อเป็นพวกโทสะ เป็นพวกหงุดหงิด เป็นพวกโทสจริต มาภาวนา มาดูจิตดูใจ โอ๊ย เห็นโทสะเกิดทั้งวันเลย ต่อมาสติมันก็เร็วขึ้นๆ พอโทสะเริ่มงอก งอกออกมาเป็นความขัดใจเล็กๆ ก็เห็นแล้ว คล้ายๆ เราเห็นต้นกล้าของวัชพืช มันขึ้นมาแล้ว ถอนมันทิ้งไป ด้วยสติ ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ถอนมันออก ถ้าเราไม่เห็น มันก็โตขึ้นมา เป็นกิเลสชั่วหยาบรุนแรง

หลวงพ่อเป็นพวกโทสะ เห็นโทสะมันเกิดเรื่อยๆ เดี๋ยวก็เกิดๆ ตาเห็นรูป ก็หงุดหงิดแล้ว ก็โมโหแล้ว หูได้ยินเสียงก็รำคาญแล้ว จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด เต็มไปด้วยความไม่พอใจ อาศัยการเห็น เห็นโทสะเกิดแล้วเห็นๆๆ ต่อไปสติมันเร็วขึ้นๆ ก่อนที่โทสะตัวใหญ่จะเกิด มันก็เป็นโทสะตัวเล็กมาก่อน เราเห็นเร็ว มันก็คล้ายเห็นตั้งแต่ต้นอ่อนของมัน ก็ทำลายมันได้ หรือเราเห็นลูกเสืออย่างนี้ ลูกเสือ เราสู้ไหว ถ้าเห็นพ่อเสือ แม่เสือ กิเลสตัวใหญ่แล้ว เหมือนพ่อเสือแม่เสือ สู้ยาก มีแต่จะยับเยิน แต่พอสติเราเร็วขึ้น เราเห็นตั้งแต่มันเป็นลูกเสือ จัดการง่าย

อาศัยการเห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ดูทุกวันๆ ด้วยความมีวินัยในตัวเอง ไม่ละเลย รู้เลยว่าเราอยู่กับโลก ทำมาหากินอะไรนี่ ทำเต็มที่ ถ้าทำแล้วขี้เกียจอะไรอย่างนี้ มันเอาเปรียบคนอื่นเขา มันโกงเขา หลวงพ่อรับราชการ ถ้าขี้เกียจคือคอรัปชัน โกงแล้ว ฉะนั้นถึงเวลาทำงาน เราทำเต็มที่ แต่ว่าเรารู้ว่านี่เป็นเครื่องอยู่กับโลก หรือจะทำธุรกิจอะไรก็ทำให้เต็มที่ แต่รู้ว่ามันเป็นเครื่องอยู่กับโลก ตามหน้าที่ แต่งานหลักของเราคือการยกระดับจิตใจ ให้พ้นจากกิเลส พ้นกิเลสได้ มันก็พ้นทุกข์ ตัวที่ทำให้มันทุกข์ ก็ตัวกิเลสนั่นล่ะ

 

วิธีต่อสู้กิเลส

ค่อยๆ เรียนไป ค่อยๆ เห็นไป กิเลสอะไรเกิดก็รู้เอา ทุกวันๆ พยายามรู้ตั้งแต่ตื่นจนหลับนั่นล่ะ ยกเว้นตอนทำงานที่ต้องใช้ความคิด ถ้าทำอย่างนี้ สติของเราก็จะไวขึ้นๆ สมาธิก็จะเข้มแข็งขึ้น จิตไม่ค่อยโคลงเคลง จิตพวกเราโคลงเคลงทั้งวัน แกว่งขึ้นแกว่งลงอะไรอย่างนี้ จิตมันไม่มีสมาธิ กิเลสมาตั้งนานแล้ว ยังไม่เห็นเลย มันไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ ปัญญาซึ่งเป็นตัวล้างกิเลส มันก็ไม่เกิดหรอก ตัวที่ล้างกิเลสจริงๆ คือตัวปัญญา ความรู้ถูก ความเข้าใจถูก ฉะนั้นอาศัยพัฒนาสติ พัฒนาสมาธิ ต้องทำทุกวัน ฝึกตัวเองไป หัดรู้สภาวะ สภาวะอะไรเกิดแล้วรู้ๆ ทุกทีเลย สติเราก็จะดีขึ้น จิตเราโคลงเคลงไหลไปไหลมา รู้ทัน จิตมันจะตั้งมั่นไม่ไหล สมาธิมันก็เกิด

สมาธิไม่ใช่ของยากหรอก ถ้ารู้เคล็ดมัน ไม่รู้เคล็ดลับมัน โอ๊ย นั่งสมาธิกันเป็นปี ยังไม่ยอมสงบเลย เคล็ดของมันมีนิดเดียวเอง ใช้ใจที่สบายๆ ใจที่เป็นธรรมดานี้ล่ะ ไปรู้อารมณ์ธรรมดา รู้อย่างธรรมดา อารมณ์ที่รู้ก็รู้ไปอย่างที่มันเป็น รู้สบายๆ อย่างหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ รู้การหายใจด้วยใจที่สบาย สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง รู้ด้วยใจที่มีความสุข แป๊บเดียวก็สงบแล้ว ฝึกเรื่อยๆ แค่กระพริบตา สมาธิก็เกิดแล้ว ให้สงบอยู่อย่างไร ก็สงบอยู่อย่างนั้น ส่วนสติอาศัยการรู้ทันสภาวะบ่อยๆ โกรธขึ้นมาแล้วรู้ๆ สติก็จะเกิดเร็ว สมาธิ รู้ทัน จิตที่มันไหลไปไหลมา โคลงเคลง รู้ไปเรื่อยๆ อยู่กับอารมณ์กรรมฐานของเราเสียก่อน แล้วพอจิตมันไหลไปที่อื่นรู้ทัน จิตมันจมลงไปในอารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน จิตมันเคลื่อนไป

ฉะนั้นทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตัวเองไป สมาธิมันจะเกิด ต้องฝึกแต่ถ้าเราไม่รู้ว่าเป้าหมายในชีวิตของเรา คือการปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ ก็หลงโลก วันนี้ภาวนา ก็หลงไปอีกเดือนหนึ่ง หรือรู้สึกตัวแวบหนึ่ง หลงไปทั้งวันเลย สู้กันไม่ไหว มันอยู่ที่ใจ เข้มแข็งพอไหม จะสู้ไม่สู้ ไม่สู้ก็ไม่มีใครช่วยได้หรอก ถ้าเข้มแข็งคิดจะสู้ มันก็พอสู้ได้ เพราะเราได้ยินได้ฟังธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนแล้ว รู้วิธีต่อสู้กับกิเลส

ในศาสนาอื่นเขาก็มีวิธีต่อสู้กิเลส ไม่ใช่ไม่มี แต่มันไม่ใช่วิธีของพุทธ คนละมรรคกัน อย่างศาสนาคริสต์ เขาสู้กับกิเลสด้วยความรัก ให้รักเพื่อนบ้าน ให้อะไรอย่างนี้ พอรักเพื่อนบ้าน อะไรเกิดขึ้น ก็ไม่ไปทำร้ายเขา ก็ไม่ไปคิดร้ายเขา ความดีมันก็เกิดขึ้น หรือเกิดความเมตตากรุณา รักเขานี่ เขาลำบากก็ไปช่วยเขา ถามว่าดีไหม ดี ศาสนาทั้งหลาย เขาก็มีมรรคของเขาเอง อย่างพวกฤๅษี เขาก็มีมรรคของเขา เข้าฌาน ระหว่างเข้าฌานไม่ทำชั่วอะไรหรอก อยู่กับความสงบของตัวเองก็มรรคแบบของเขา บางพวกเขาก็มีมรรคแบบของเขา อย่างมันอยากสบายก็อยู่ให้มันลำบาก มันอยากกินก็อดมันเสีย มันอยากมีเสื้อผ้าสวยๆ แก้ผ้ามันเลย แบบพวกนิครนถ์ เขาก็สู้กับกิเลส สู้กับกิเลสตัณหาของเขา แต่สู้ด้วยมรรคแบบของเขา พระพุทธเจ้าก็มีมรรคแบบของพระพุทธเจ้า คือศีล สมาธิ ปัญญา ไม่มีการร้องขอ ไม่ใช่มรรคของพุทธ ร้องขอโน่นร้องขอนี่ บนบานศาลกล่าวอะไร ไม่ใช่มรรคของชาวพุทธหรอก

 

ปัจจัย 4 ของจิต

ถ้าเรารู้จักเส้นทางที่พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้แล้ว เรามีจิตสำนึกว่าเราจะต้องสู้กิเลส ต้องเป็นอิสระจากกิเลสให้ได้ ก็เจริญในเส้นทางที่พระพุทธเจ้าสอนนี้ จิตใจเราก็จะค่อยๆ อิ่ม ค่อยๆ เต็มขึ้นมา จิตใจมันก็ต้องการปัจจัย 4 เหมือนกัน อาหารของใจก็คือบุญทั้งหลาย ฉะนั้นความดีทั้งหลายมีโอกาสทำ ให้ทำเสีย แต่ถ้าทำบุญแล้วบ้าบุญ มันก็เหมือนกินอาหารมากเกินไป ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องแตกตาย ฉะนั้นอย่างถ้าบ้าบุญวันๆ คิดแต่เรื่องจะทำบุญโน้นทำบุญนี้ ฟุ้งซ่าน อันนั้นกินอาหารเป็นพิษแล้ว อาหารมากเกินไปแล้ว

ศีลเป็นเครื่องนุ่งห่มของจิต ถ้าจิตใจเรามีศีล มันจะไม่มีอะไรที่น่าละอาย ถ้าศีลเราเสีย เจอหน้าครูบาอาจารย์มันจะละอาย มันเหมือนคนไม่นุ่งผ้าหรือแต่งตัวไม่เรียบร้อยอะไรอย่างนี้ ฉะนั้นศีลมันก็เป็นเหมือนเสื้อผ้า ทำบุญมันเป็นอาหาร ศีลมันเป็นเสื้อผ้า สมาธิมันเป็นบ้าน เป็นที่อยู่อาศัย เวลาเรามีสมาธิ จิตมันก็ไม่ร่อนเร่ไป คล้ายๆ มันมีบ้านอยู่ มีความสุข อยู่ในบ้านเราสบาย ส่วนปัญญาคือยารักษาโรคของจิต โรคของจิตก็คือโรคกิเลสนั่นล่ะ ปัญญาเป็นตัวฆ่ากิเลส ตัวอื่นๆ ไม่ได้ช่วยฆ่ากิเลสโดยตรงหรอก แต่เมื่อไรเราเห็น ปัญญามันเกิดจากการเห็น ถึงเรียกว่าวิปัสสนาปัญญา ปัสสนะ แปลว่าเห็น การเห็น วิแปลว่าแจ้ง เห็นแจ้ง เห็นจริงคือเห็นไตรลักษณ์ เห็นถูกต้องนั่นเอง

ฉะนั้นตัววิปัสสนา สิ่งที่เราได้มาคือปัญญา แล้วเป็นปัญญาที่จะล้างกิเลสได้จริงๆ ส่วนปัญญาทางโลก บางทีพอกพูนกิเลส เรายืมศัพท์คำว่า ปัญญา จากศาสนาพุทธไปใช้ คนนี้มีปัญญามาก คอรัปชันโดยคนไม่จับ จับไม่ได้อะไรอย่างนี้ อันนั้นไม่ใช่ปัญญา ปัญญามันต้องรู้เหตุรู้ผล รู้ผิดชอบชั่วดี อาศัยการภาวนา เจริญปัญญาไป มีสติ มีสมาธิแล้วปัญญามันจะเกิด ฉะนั้นสัมมาสติที่บริบูรณ์ก็จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ สัมมาสมาธิที่บริบูรณ์จะทำให้สัมมาญาณะบริบูรณ์ขึ้นมา สัมมาญาณะบริบูรณ์ ​สัมมาวิมุตติ เกิดมรรคเกิดผลก็เกิดขึ้นมา ก่อนจะมีสัมมาสติก็ต้องมีสัมมาวายามะ รู้เป้าหมายว่าเราจะต้องสู้กับกิเลส ต้องพัฒนากุศล ความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงให้เกิดขึ้น ถ้าเราปล่อยใจตามโลภ โกรธ หลงไปเรื่อยๆ ไม่พัฒนา มีแต่เลวลงๆ

ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ฟังเฉยๆ ไม่ได้ ต้องลงมือทำ มีโอกาสทำความดีอะไรก็ทำไปเถอะ บุญไม่ใช่ต้องเอาเงินมาถวายวัด ถวายพระ เราเห็นหมาอดอยาก ให้อาหารมันก็เป็นบุญแล้ว เห็นคนหลงทาง เด็กหลงทางอะไรอย่างนี้ พาไปแจ้งความ ไม่ให้เด็กถูกผู้ร้ายจับเอาไป ก็เป็นบุญแล้ว หน้าบ้านเราขยะเยอะ ใบไม้ริมถนนตกลงมาเยอะแยะ ไม่ต้องไปรอคนของ กทม. มากวาด กวาดมันเสียเองก็เป็นบุญแล้ว พอหน้าบ้านเราสะอาดใช่ไหม ใจเราก็สบาย เคยรู้สึกไหม เวลาเราทำความสะอาดบ้านเรา พอบ้านเราสะอาดแล้ว รู้สึกมีความสุขไหม ใจมีความสุข นี่ทำความดี เห็นไหม ไม่ได้คิดแต่ว่าคนอื่นมันก็อยู่กับเราทำไมมันไม่ทำ มันไม่ทำ เราก็ไม่ทำ สุดท้ายก็บ้านเน่าเชื้อโรคเยอะแยะ เพราะฉะนั้นบุญมีตั้งเยอะตั้งแยะ มันมีตั้ง 10 ประการ ค่อยๆ ฝึก บุญใหญ่ที่สุด คือการทำความเห็นให้ถูก ทำความเห็นให้ตรง คือทำสัมมาทิฏฐิให้เกิดนั่นล่ะ เป็นบุญที่โตที่สุด

ค่อยๆ ฝึกไป ทำทาน ถือศีลก็เป็นบุญ ช่วยเหลือกิจการของผู้อื่นของสังคม กิจการที่มีประโยชน์ ช่วยกันก็เป็นบุญ อย่างคนไทยเมื่อก่อนนี้ เวลามีอะไรก็มาช่วยกันทำงาน ไปตั้งโรงทานไปอะไร ตอนพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ก่อนสวรรคต กระแสบุญมหาศาลเลยในบ้านในเมืองเรา ทุกคนพยายามเสียสละทำเพื่อพ่อ พอทำเพื่อพ่อแล้ว ใครได้ เราก็ได้ เราได้ความดีในใจของเราเอง ถ้าเราสร้างความดีให้สม่ำเสมอ ใจเรามีความสุข มันเหมือนใจเราได้อาหารที่ดี เรารักษาศีลไว้ เราไม่ต้องอายครูบาอาจารย์ ไม่ต้องอายเพื่อนสหธรรมิก ลูกศิษย์หลวงพ่อที่รู้ทันจิตคนอื่นมีเยอะแยะ ฉะนั้นใครชั่วมาอะไรนี่ ทำเป็นวางฟอร์มดี มองกันปราดมันก็รู้แล้ว พวกชั่วๆ มันจะละอาย ไม่กล้าสู้หน้าหรอก ยกเว้นหน้าด้านจริงๆ หน้าด้านจริงๆ ไม่กลัว ยิ้มไปอย่างนี้ ไม่กลัว แต่ส่วนใหญ่จะกลัวหลวงพ่อ พวกเราจะกลัวหลวงพ่อ ทำไมต้องกลัวหลวงพ่อ บางทีศีลเราด่างพร้อย ถ้าใจเราวอกแวกๆ ไม่มีสมาธิ ถ้าไม่เห็นสภาวะ ไม่เห็นกิเลส ก็ไม่เกิดปัญญา

 

มีวินัย รู้เป้าหมายในชีวิต

ฝึกตัวเอง มีวินัยไว้ สำคัญมาก รู้เป้าหมายในชีวิต หลวงพ่อตอนเด็กๆ ภาวนา เจอท่านพ่อลี นั่งภาวนาทุกวันเลย ถามว่าภาวนาเพื่ออะไร ไม่รู้เหมือนกัน ยังเด็กเล็กเกิน ไม่รู้หรอกว่าเป้าหมายคืออะไร แต่รู้อย่างเดียวว่าต้องภาวนา ทำทุกวันๆๆ พอโตขึ้นมาหน่อย ได้ฟังธรรมะได้อะไร ได้ยินคำว่านิพพาน ไม่รู้มันคืออะไร ใจลึกๆ มันแสวงหาอะไรบางอย่าง แต่ไม่รู้ว่าหาอะไร เป็นอย่างนั้น มันจะไม่อยู่ตรงนี้ ไม่อยู่กับที่ จะพยายามทำสมาธิไปเรื่อยๆๆ มันเป็นการแสวงหาอะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นยังไม่รู้ว่าคืออะไร พอโตขึ้นมาแล้วถึงรู้ เราแสวงหาความพ้นทุกข์นั่นเอง สิ่งที่ต้องการคือความพ้นทุกข์

ค่อยพัฒนาๆ ไป สร้างความดีไป พัฒนาศีล สมาธิ ปัญญาของเราไป ใจเราก็จะค่อยๆ ลอกเปลือก เปลือกที่ชั่วๆ ทั้งหลาย ค่อยๆ กะเทาะๆ ไป ในที่สุดก็เข้ามาถึงใจดวงที่มันสะอาดขึ้นๆ การภาวนามันคล้ายๆ เราลอกเปลือกต้นกล้วย เคยเห็นต้นกล้วยไหม ต้นกล้วย เราลอกเปลือกมันไป ลอกๆๆ เราจะไปหาแก่นของมัน ลอกจนอันสุดท้าย แก่นของต้นกล้วยคือว่าง ไม่มี ความไม่มี ไม่มีอะไร ไม่มีเปลือก มันสะอาดหมดจดถึงขีดสุดเลย เพราะมันไม่มี ถ้ามันมีอยู่ มันก็มีที่รองรับกิเลสอยู่ ค่อยลอกเปลือกของจิตออกไปเรื่อยๆ จนเข้าถึงเนื้อแท้ของจิต เนื้อแท้ของจิตมันว่าง มันไม่มีอะไรหรอก มันสะอาดหมดจด ไม่มีกิเลสอะไรมาเกาะได้

เหมือนนิทานเซน เรื่องของเซน บางคนก็บอกว่า ภาวนาเหมือนเราคอยเช็ดฝุ่นละอองที่กระจก ท่านชินเชาเป็นพระเซน บอกว่าการปฏิบัติธรรมก็เหมือนเราคอยเช็ดกระจกไม่ให้ฝุ่นละอองจับ คือรักษาใจของเราไว้ให้ดี แปลว่ารักษาใจไว้ให้ดี เวยหล่างไปอีกชั้นหนึ่ง ไม่มีกระจก ขี้ฝุ่นก็ไม่มีที่จะจับ ถ้าเราภาวนาจนเข้าไปถึงแก่นแท้ของจิต มันว่าง มันไม่มีที่ตั้งให้กิเลสแทรกอยู่ ตัวเล็กตัวน้อยอะไร เกาะไม่ติด ไม่มีที่จะเกาะ

สิ่งเหล่านี้มีได้ ต้องมีความเด็ดเดี่ยวว่าเราจะมุ่งไปสู่ความพ้นทุกข์ มุ่งชนะกิเลส มุ่งลอกเปลือกของตัวเอง ไม่ใช่รักษาหน้า ปอกเปลือกตัวเองให้ออก แล้วต่อสู้ไปด้วยการสร้างคุณงามความดีตามโอกาส ศีลต้องรักษาประจำ เป็นนิจศีล สมาธิต้องฝึกทุกวันให้จิตมันมีเครื่องอยู่ แล้วก็เรียนรู้ความจริง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในความรับรู้ของเรา มันเที่ยงหรือไม่เที่ยง มันสร้างภาระให้จิตหรือว่าไม่ได้สร้าง มันเป็นของที่บังคับได้หรือบังคับไม่ได้ ดูลงไปเลย อย่างกุศลหรืออกุศลเกิดขึ้นกับจิต จิตไปรับรู้ กุศล อกุศลนั้นก็ไม่เที่ยง เกิดแล้วก็ดับได้ อกุศลเกิด เป็นภาระกับจิตไหม เป็น เป็นเยอะด้วย กุศลเกิดเป็นภาระกับจิตไหม เป็น ไม่ใช่ไม่เป็น ค่อยดูไป เห็นแล้วเราก็สั่งมันไม่ได้ บังคับมันไม่ได้ อันนั้นอนัตตา ตรงที่มันบีบคั้น มันเป็นภาระ เรียกว่าทุกขัง ดูของจริง ซ้ำๆ ไป ในที่สุดจิตมันก็ฉลาด มันก็รู้ ทุกสิ่งที่เกิดล้วนแต่ดับทั้งสิ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป เห็น ไม่ใช่คิด

ค่อยๆ ฝึกอย่างที่หลวงพ่อบอก เดี๋ยววันหนึ่งก็เห็น ขยันฝึก มีเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่ท้อถอย โอกาสที่จะเห็นในชีวิตนี้ มันก็มี ทำบ้างไม่ทำบ้างก็รอสะสมบารมีไป อีกหลายๆ พระพุทธเจ้าก็อาจจะเห็นบ้าง ถ้าใจแข็ง เอาตั้งแต่ตอนนี้ก็ได้ตอนนี้ ฉะนั้นต้องเด็ดเดี่ยว อดทน ฝึกตัวเอง พัฒนาใจของตัวเองไป จากความไม่รู้ไปสู่ความรู้ จากความมืดไปสู่ความสว่าง จากความรกรุงรังไปสู่ความว่าง ความสะอาด ค่อยๆ ฝึกไป.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
20 มีนาคม 2565